เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๒ มี.ค. ๒๕๕๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อ้าว! ตั้งใจฟังธรรมะนะ ธรรมะทำให้อบอุ่น ทำให้ไม่เดือดร้อนในหัวใจ เวลาถ้ามันเดือดร้อนในหัวใจ มันเดือดร้อนไปหมด ถ้ามันเดือดร้อนในหัวใจเพราะมันมีอวิชชา อวิชชาตัณหาความทะยานอยากมันล้นฝั่งนะ มันต้องการตามความพอใจของมัน เวลาร้อนก็อยากจะเย็น เวลาเย็นมันก็อยากจะอบอุ่น มันอยากไปข้างหน้าทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้ามันมีสติปัญญานะ มันก็เป็นของมันอย่างนี้ มันเป็นของมันอยู่ แต่เราไม่พอใจเรา ขัดใจไปตลอดเลย

ธรรมะนะ ธรรมะมาด้วยเหตุด้วยผล ด้วยสัจจะด้วยความจริง สัจจะความจริง เราต้องเผชิญกับความจริงไง ถ้าเราเผชิญกับความจริงได้นะ เราจะไม่กลัวสิ่งใดๆ เลย ดูสิ เวลาเขาลุยไฟ เขาลุยไฟไปได้ด้วยอะไร ด้วยความมั่นใจของเขา เขามั่นใจของเขา เขาลุยไฟของเขา ถ้าลุยไฟของเขาออกมา โอ๋ย! ไม่เป็นอะไรเลยๆ ไม่เป็นอะไรเลย เราก็ว่ามันศักดิ์สิทธิ์ๆ มันศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนล่ะ

ใจของคนนี้สำคัญมาก ใจของคนนี้สำคัญมาก สิ่งใดศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ที่หัวใจของเรา ถ้าหัวใจเราศักดิ์สิทธิ์ เวลาจับทุกข์มาขัง เราเป็นชาวพุทธ เราจะภาวนา เราจะเห็นอริยสัจ เห็นไหม เห็นทุกข์ เห็นสมุทัย เห็นนิโรธ เห็นมรรค เอาทุกข์มาขัง ขังไว้ในหัวใจ แต่ระบายมันออก ระบายมันออกด้วยสัจธรรม สัจธรรมที่เราเป็นชาวพุทธ เรามาวัดมาวากัน มาวัดมาวาเพื่อวัดหัวใจของเราไง

ถ้าวัดหัวใจของเรานะ เราขยันหมั่นเพียร มันมีอุปสรรค อุปสรรคสิ่งใดก็แล้วแต่ เราจะเคี้ยวกินมันเลย ถ้าเคี้ยวกินมันเลย มันผ่านไปได้หมด แต่คนเรา ดูสิ เวลาวินัยบังคับไว้ ภิกษุต้องด้วยความไม่รู้ ถ้าไม่รู้แล้วฝืนทำก็ต้องอาบัติ นี่ต้องด้วยความผิดพลาดของเรา เว้นไว้แต่ภิกษุที่เจ็บไข้ได้ป่วย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมันทำอะไรไม่ได้ไง ถ้ามันทำอะไรไม่ได้ เว้นไว้แต่ผู้ป่วย เวลาป่วยแล้ววินัยยกเว้นนะ แต่เวลาหายจากการเจ็บไข้แล้วไม่ยกเว้น

นี่ก็เหมือนกัน เวลาชราคร่ำคร่าขึ้นมา เวลามันชราคร่ำคร่าขึ้นมาแล้วเราฝืนทนไม่ไหว เราฝืนทนสิ่งนี้ไปไม่ได้ เพราะมันชราคร่ำคร่า จิตใจมันอยากทำๆ แต่มันทำไม่ได้ ถ้ามันทำไม่ได้ แต่ถ้าเราทำหัวใจของเราให้มันเข้าใจตั้งแต่เริ่มต้นเสียแล้ว ถ้ามันทำไม่ได้ เราก็รู้ว่ามันทำไม่ได้ มันสุดวิสัย สิ่งที่มันสุดวิสัยนะ ถ้ามันสุดวิสัย เราทำสิ่งนั้นไม่ได้ ถ้าทำสิ่งนั้น นี่วินัยยกเว้นๆ ยกเว้นแต่ผู้ที่ทำไม่ได้ ถ้ามันทำไม่ได้แล้ว แต่เราเข้าใจไง

ดูสิ เวลาหลวงปู่มั่นท่านชราภาพของท่าน เวลาหลวงตาท่านอุปัฏฐากอยู่ ให้ท่านผ่อนคลายๆ ท่านบอกว่าท่านทำเพื่ออนุชนรุ่นหลังไง ไอ้ตาดำๆ มันมองอยู่ ตาดำๆ มันมองอยู่ ท่านก็ฝืนทนของท่าน แต่ถึงเวลาสุดท้ายแล้วท่านก็ต้องสุดวิสัยๆ ไอ้นี่เวลามันสุดวิสัย ถ้าเรามองคนอย่างนั้น เวลามันสุดวิสัย คนเรามันชราคร่ำคร่าไป มันเป็นแบบนั้น แต่ถ้าเรายังมีกำลังอยู่ เรายังทำของเราได้ ถ้าเราทำของเราได้

การฝึกฝน เราจะฝึกฝนที่ไหน เราฝึกฝนฝึกฝนที่ใจของเรา ถ้าใจของเรามันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่ร่างกายนี้ ถ้าร่างกายนี้ ถ้าอุดมสมบูรณ์ กินอิ่มนอนอุ่นมันก็ขี้เกียจขี้คร้าน เวลาเราผ่อนอาหาร เวลาเราผ่อนกัน กินพออยู่ พอดำรงชีพ แล้วเราก็ฝึกฝนของเราๆ ไง ฝึกฝนของเรา ดูสิ เขาลับมีด เขาลับมีดลงที่หินนั้นน่ะ ถ้าหินลับมีด ลับแล้วมีดมันจะคม

นี่ก็เหมือนกัน หัวใจคนจะมีปัญญาได้ๆ ก็ด้วยการฝึกฝนนี่ไง เวลาฝึกฝนได้นั่งสมาธิ ได้ภาวนา ฝึกฝนหัวใจของเราขึ้นมาไง ที่เราเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาอยู่นี่มันทุกข์มันยาก มันทุกข์ยากเพื่อเหตุใด มันทุกข์ยากเพื่อฝึกหัวใจให้มันเข้มแข็ง ฝึกหัวใจให้มันฉลาดขึ้นมา ฝึกให้หัวใจมันปล่อยวางขึ้นมา ถ้ามันฝึกขึ้นมาได้ หัวใจเราๆ ฝึกฝนขึ้นมาๆ แต่เวลามันฝึกฝนมันต้องลงทุนลงแรงไง มันต้องนั่งสมาธิ มันต้องเดินจงกรม เวลามันฝึกฝน มันทุกข์มันยากไง

ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ เวลาทำหน้าที่การงานของเรา เราก็ทำหน้าที่การงานของเราด้วยความทุกข์ความยากอยู่แล้ว แต่คนเราเกิดมา คนเรา เขาจะคนดีคนชั่ว เขาดูที่ความรับผิดชอบ ดูที่การทำงานอันนั้น ถ้าเขารับผิดชอบของเขา เขาทำงานของเขา เขาทำด้วยสติด้วยปัญญาของเขา เขาก็เป็นคนดีของเขา เราจะฝึกหัวใจของเรา เราเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เราฝึกหัดหัวใจขึ้นมา

เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เห็นเขาทำก็ทำตามเขา หลวงตาท่านบอกเลย หมามันมี ๔ เท้ามันเดินดีกว่าเราอีก เดินแบบหมา หมามันไม่มีสมองเหมือนมนุษย์ มันไม่มีสติปัญญาเหมือนมนุษย์ไง

เราเดินจงกรมๆ นั่งสมาธิภาวนา เราเดินจงกรมเพื่อฝึกหัดจิตของเรา จิตของเราถ้ามันยังรู้ไม่ได้ มันก็ต้องว่าเป็นสมอง คนที่สมองใหญ่ คนที่มีความรู้สึกนึกคิด คนที่สมองดี ถ้าคนที่สมองดี แต่คนที่สมองเล็ก เวลาจิตใจมันยิ่งใหญ่ จิตใจมันยิ่งใหญ่ เวลามันคิดขึ้นมา มันคิดขึ้นมาจากภายในนะ ในหัวใจที่มันยิ่งใหญ่ หัวใจมันยิ่งใหญ่ มันทำอะไรมันของเล็กน้อยหมดเลย ถ้ามันของเล็กน้อย ทำสิ่งใดก็ทำได้ไง แต่หัวใจที่มันเล็กน้อย ทำสิ่งใดล้มลุกคลุกคลาน ทำสิ่งใดไม่ได้เลย เราจะฝึกหัดหัวใจของเรา เราก็ฝึกหัดหัวใจด้วยข้อวัตรปฏิบัติ

ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามัน ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้วนะ มันสดๆ ร้อนๆ สดๆ ร้อนๆ เวลาเราทำได้ขึ้นมาจริงไง ถ้าจิตมันสงบขึ้นมาจริง เรามีสติปัญญา เรามีความรื่นเริงในหัวใจ มันสดๆ ร้อนๆ ไง ถ้ามันสดๆ ร้อนๆ ทุกข์มันก็อันเดียวกันกับสมัยพุทธกาล แต่สมัยปัจจุบันนี้โลกมันเจริญๆ ความทุกข์ก็ซับซ้อนขึ้น ถ้ามันซับซ้อนขึ้น เราก็ต้องมีสติปัญญามากขึ้น

เวลาการศึกษา การศึกษาเมื่อก่อนศึกษามุขปาฐะ ศึกษามาจากปาก มันต้องมีผู้บอก เพราะมันไม่มีหนังสือ ไม่มีตำรับตำรา ในปัจจุบันนี้ตำรับตำราเจริญขึ้นมา เราพิมพ์หนังสือ เรามีต่างๆ เราค้นคว้าของเราได้ทั้งนั้นน่ะ การค้นคว้ามา ตำราถ้ามันจดจารึกมาผิดตั้งแต่แรกมันก็ผิดมาตลอด แต่ถ้าเราศึกษามาแล้ว ศึกษามาๆ ยิ่งเจริญ โลกยิ่งเจริญ เราศึกษายิ่งมากขึ้นไปเท่าไร กิเลสมันก็ยิ่งเจริญขึ้นมามากขึ้นเหมือนกัน กิเลสมันยิ่งซับซ้อนมากขึ้น กิเลสซับซ้อนมากขึ้น เราก็ต้องมีสติปัญญามากขึ้น ในการประพฤติปฏิบัติของเรา เราต้องจริงจังกับเรา

การทำทานๆ มันก็ต้องลงทุนลงแรง เราต้องหุงหาอาหารของเรา เราต้องทำของเรา มันทำเพราะอะไร เพราะเจตนาไง คนเราเกิดมามันดีที่ไหนล่ะ มันดีที่การกระทำ มันดีที่การฝึกหัด เวลาลูกของเรา เราฝึกเราหัดของเรา อบรมบ่มเพาะของเราขึ้นมา มันก็เป็นคนดีขึ้นมา นี่ก็เหมือนกัน เราจะบ่มเพาะหัวใจของเรา เราก็ต้องทำของเรา เราจะบ่มเพาะหัวใจของเรา บ่มเพาะหัวใจของเรา

“นั่นก็เล็กน้อย นี่ก็เล็กน้อย ไม่สำคัญอะไร ไม่มีอะไรสำคัญสักอย่างเลย” สิ่งใดก็ไม่สำคัญ หัวใจเอ็งถึงไม่สำคัญไง แต่ถ้ามันมีความสำคัญขึ้นมา ทุกอย่างสำคัญหมด หัวใจก็สำคัญขึ้นมาไง ถ้าหัวใจสำคัญขึ้นมา หัวใจมันจะไม่ก้าวล่วงไง อะไรที่ผิดพลาด อะไรที่ต่างๆ เรายับยั้งๆ ยับยั้งนั่นล่ะคือสติ ยับยั้งนั่นล่ะคือการกระทำ

เรายับยั้งๆ ยับยั้งอะไรที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม ไม่ใช่ของเรา ไม่เอา ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็นของเรา ไม่ใช่ ไม่เอา แต่สิ่งที่ควรจะเป็นของเราต้องขวนขวาย เราขวนขวาย เราต้องรีบทำ ถ้าทำขึ้นมามันเป็นสุจริต มันเป็นธรรมาภิบาล มันเป็นความถูกต้องดีงาม ความถูกต้องดีงามมันก็ต้องขวนขวาย ขวนขวายมาเป็นของเราๆ

เหรียญมันมีสองด้าน ใจมันก็มีสองความรู้สึก มีดีและชั่วในหัวใจของเรา แล้วเราจะเอาอะไรเป็นของของเราล่ะ เวลาประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์ ข้ามพ้นทั้งดีและชั่ว ดีก็ข้ามพ้นมันไป ชั่วก็ข้ามพ้นมันไป

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าดีข้ามพ้น ทำไมต้องไปทำดีล่ะ

ก็ทำดีเป็นแนวทาง เป็นมรรค เป็นเครื่องดำเนิน ถ้าจิตที่ไม่ทำสิ่งใดเลย ที่ปฏิบัติกันปัจจุบันนี้ ว่างๆ ว่างๆ ไม่ทำอะไรเลย แล้วมันลัดสั้น ดีไปหมด นิพพานมันมีอยู่แล้ว สมาธิก็มีอยู่แล้ว จิตก็มีอยู่แล้ว...จิตมันมีอยู่แล้ว แต่มันมีโดยอวิชชา ถ้ามีอวิชชา จะไปหา มันหลบเลี่ยง มันปลิ้นปล้อน กิเลสมันปลิ้นปล้อนในหัวใจของเราแล้วบอกนิพพานมันมีอยู่แล้ว สติปัญญามันมีอยู่แล้ว แล้วมันอยู่ไหนล่ะ ไอ้ที่มันคิดๆ กันอยู่นี่มันกิเลสทั้งนั้นน่ะ มันตัณหาความทะยานอยากทั้งนั้นน่ะ

ถ้ามันตัณหาความทะยานอยาก เราต้องศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษานั้นเป็นวิธีการ พอเป็นวิธีการแล้วเราก็ต้องยับยั้งมันด้วยสติ ด้วยสมาธิ ด้วยฝึกฝนปัญญาของเรา ถ้าด้วยสติ ก็ยับยั้งความคิดนี้ไว้ก่อน ความคิดไว้ก่อนๆ เราจะสร้างบ้านสร้างเรือน ที่ยังไม่ได้ปรับ จะสร้างได้อย่างไร คนจะสร้างบ้านสร้างเรือนต้องปรับที่ของเขา เขาต้องตอกเสาเข็มของเขา เวลาเขาทำสิ่งใด คานคอดิน สิ่งที่อยู่ในดินมีราคามากกว่าตัวบ้านอีก

นี่ก็เหมือนกัน ในหัวใจของเรา เราจะปรับพื้นที่ของเรา เราก็ต้องมีการกระทำ ต้องมีคำบริกรรม ต้องพุทโธ ต้องใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ทำสมาธิคือปรับพื้นที่ ปรับพื้นที่ที่เราจะปลูกบ้านปลูกเรือนของเราไง ถ้าเราไม่ปรับพื้นที่สร้างขึ้นมามันก็ล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนั้นน่ะ สร้างขึ้นมาแล้วเดี๋ยวมันก็พังทลายไปอย่างนั้นน่ะ แล้วกิเลสมันก็หลอกกันอยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วเราก็บอกว่า “นี่ไง นิพพานมันมีอยู่แล้ว เดินเข้าไปชนมันเลย” มันเลยแบบว่า เดี๋ยวก็ลุ่มๆ ดอนๆ มันอยู่ของมันไม่ได้หรอก

แต่ถ้าเป็นความจริงๆ อกุปปธรรม มันจริงของมันในหัวใจนะ จิตเรามีอยู่แล้ว เรามีจิตอยู่แล้ว เรามีชีวิตอยู่แล้ว แต่จิตของเรา เพราะมันเวียนว่ายตายเกิดมันถึงมีอวิชชา อวิชชาคือความไม่รู้ ทีนี้พอศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็เห็นนะ เศรษฐี ในโลกมีเศรษฐีมหาศาลเลย แล้วเศรษฐีเขาทำอย่างไรมา เศรษฐีเขาก็ต้องทำหน้าที่การงานของเขา เขาถึงประสบความสำเร็จของเขา เขาถึงเป็นเศรษฐี

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปรื้อค้นมา ๖ ปี แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้เองโดยชอบ นั่นล่ะท่านทำของท่านมา แล้วเราไปเห็นเศรษฐีก็นึกว่าเราจะเป็นเศรษฐีไปกับเขา นี่ก็เหมือนกัน ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราบอกว่าเรารู้เราเข้าใจ เป็นของเรา

เราศึกษา ศึกษามาเป็นวิธีการ ศึกษามาเพื่อจะประพฤติปฏิบัติเท่านั้นแหละ แล้วเวลาจะประพฤติปฏิบัติก็ต้องทำความจริงขึ้นมา ถ้าทำความจริงขึ้นมา เราจะฝึกหัด ฝึกหัดตั้งแต่ระดับของทาน ระดับของทานก็เป็นภาคปฏิบัติอันหนึ่ง เป็นภาคปฏิบัติของโลก โลกที่จิตใจของเขาฝักใฝ่ จิตใจของเขาฝักใฝ่แต่ความดี เขาจะทำความดีของเขา เขาฝึกหัดดัดแปลงใจของเขาให้เข้าสู่สัจจะ เข้าสู่ความดี

แต่ถ้าไม่ฝึกหัดสัจจะของเรา บางคนบอกว่า “ฉันก็เป็นคนดีอยู่แล้ว ทำไมฉันต้องทำ”

ถ้าเป็นคนดีอยู่แล้วก็ดีให้มันจริงสิ ถ้าดีอยู่แล้ว ทีนี้มันดีอยู่แล้ว ถ้าเวลามันน้อยเนื้อต่ำใจ เวลามันมีสิ่งใดเข้ามาในใจ กิเลสมันก็ชักจูงไปทันที แต่ถ้าเราฝึกหัดของเราๆ เราทำของเราให้จิตใจมันเข้มแข็ง จิตใจมันแข็งแรง ถ้าจิตใจแข็งแรง ใครจะมาชักจูงเราไปไหนก็ไม่ได้ ถ้าใครจะชักจูงไป มันต้องชักจูงด้วยเหตุผล ชักจูงด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ชักจูงให้เราทำดีมากขึ้นไปกว่านี้ มันจะชักจูงเราได้ เพราะอะไร เพราะว่าเขามีเหตุมีผลดีกว่าเรา แต่ถ้าเขาไม่มีเหตุมีผลดีกว่าเรา เราจะไม่ไปตามเขา ถ้าเราฝึกหัดใจของเรา มีสติมีปัญญาขึ้นมาก็จะเป็นประโยชน์อย่างนี้ไง

นี่ฝึกหัดตั้งแต่ระดับของทาน เวลาระดับของทาน ทานก็ต้องมีสติมีปัญญาของเรา เราหามาด้วยน้ำพักน้ำแรงของเรา เราจะเสียสละ เสียสละ ปฏิคาหก เราได้มาด้วยความบริสุทธิ์ สิ่งที่เราจะทำบุญด้วยความบริสุทธิ์ ทำไปแล้วเราก็บริสุทธิ์ใจของเรา ทำไปแล้วเพื่อบุญกุศล เพื่อหัวใจที่เข้มแข็ง ไม่หวังสิ่งใดตอบแทนเลย มันยิ่งได้มหาศาลเลย ถ้าหวังสิ่งใดตอบแทน กิเลสมันแบ่งไปแล้ว แล้วก็บอกไม่ได้ดั่งใจๆ แล้วอยากได้อย่างไรล่ะ ดั่งใจอย่างไรล่ะ ปฏิคาหก ผู้รับรับแล้วสะอาดบริสุทธิ์ รับแล้ว ผู้ที่สะอาดบริสุทธิ์มันก็ดำรงชีพด้วยเป็นภัตกิจ ภัตกิจมันกิจกรรมการดำรงชีพ แต่เวลาจะเกิดปัญญาขึ้นมา มันเกิดปัญญาขึ้นมา เวลาจะทำขึ้นมา มันก็ต้องเกิดปัญญาขึ้นมาจากจิต นี่ไง พระพุทธศาสนาๆ ศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาอันนั้นปัญญาอันประเสริฐ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรมๆ กราบธรรม ศีล สมาธิ ปัญญา สัจธรรม สัจธรรมนั้นอยู่ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เสวยวิมุตติสุขอยู่องค์เดียว

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักฯ เท่านั้นแหละ เทวดา อินทร์ พรหมได้ยินน่ะ ได้ยินถึงได้รู้ ได้รู้ถึงได้ส่งข่าวเป็นชั้นๆๆ ขึ้นไป ศาสนาเกิดแล้ว ธรรมจักรเกิดแล้ว ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดแล้ว พระพุทธเจ้าเกิดแล้ว ทุกคนที่รออยู่ ธรรมโอสถมันได้ประโยชน์แล้ว แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ท่านเสวยวิมุตติสุขอยู่นั่นน่ะ นั่นน่ะมีใครรู้ด้วยล่ะ นี่ไง กราบธรรมๆ กราบธรรมๆ กราบธรรมอันนั้นไง

แล้วทีนี้ในหัวใจของเรามันมีแต่ความทุกข์ความยาก ในหัวใจเรามีความรู้สึกไหม จิตคือความรู้สึก จิตคือธาตุรู้ แล้วมันรู้โดยไม่รู้ รู้โดยอวิชชา รู้โดยลังเลสงสัยไปหมดเลย แล้วเรารู้ไหม เราก็รู้ แล้วเวลาเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัจธรรมขึ้นมาก็เพื่อให้มีความรู้ ให้ความรู้ที่มันวิชชา อวิชชา อวิชชานี่รู้โดยไม่รู้ รู้ ธรรมชาติรู้ แต่รู้โดยที่ไม่รู้เรื่อง

แต่ถ้าเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วิชชาๆ รู้โดยสัจจะ รู้โดยความจริง รู้โดยสัจจะ โดยความจริง แล้วมันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกต่อเมื่อกระทำ อ๋อ! สติ เห็นไหม ดูสิ เราหลงผิดไป โอ้โฮ! เราหาแต่ความทุกข์มาใส่ตัวเราเลย พอมีสติรู้เท่า โอ้โฮ! เราเข้าใจผิดหมดเลย เราพุทโธๆ จนจิตมันสงบขึ้นไป จิตสงบ อ๋อ! จิตเราเป็นอย่างนี้เอง เราฟังครูบาอาจารย์มามหาศาลว่าสมาธิมันจะมีความร่มเย็นเป็นสุขๆ เราก็ตะครุบเงามาตลอดเลย ถ้ามันเป็นจริงๆ มันไม่เหมือนที่เรารู้เลย ไม่เหมือนที่เราเรียนมาเลย ไม่เหมือนกับที่เขาบอกเลย เห็นไหม มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก แล้วถ้าเกิดปัญญาภาวนามยปัญญาเกิดขึ้น สิ่งนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้มาแล้ว ๒,๐๐๐ กว่าปีนะ แต่ถ้าผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มันเป็นปัจจุบันเดี๋ยวนี้ มันเป็นปัจจุบันกับชีวิตเรานะ

ชีวิตของเราลุ่มๆ ดอนๆ มา เวลาข้าวยากหมากแพงก็เกิดความอัตคัดขาดแคลนเสียทีหนึ่ง เวลาโลกเจริญขึ้นมามีความอุดมสมบูรณ์ทีหนึ่ง เราก็มีความอบอุ่นเสียทีหนึ่ง แล้วมันก็อนิจจัง มันก็เปลี่ยนแปลงของมัน วัฏฏะ ผลของวัฏฏะ ผลของการเวียนว่ายตายเกิด ผลของการหมุนเวียนไปโดยธรรมชาติสภาวะแวดล้อม แล้วหัวใจของเราล่ะ เรารักษาหัวใจของเรา ดูแลหัวใจของเราด้วยสัจจะด้วยความจริง

ศึกษา ศึกษามาแล้วฝึกฝน ศึกษามาด้วยสติปัญญา ถ้าเรารักษาใจของเรา เราจะอยู่ในสภาพแบบใด เราจะอยู่ในสภาพของเรา เห็นไหม อยู่กับปัจจุบันนี้ ชีวิตนี้อยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ มีลมหายใจเข้าและลมหายใจออก เรายังมีบุญกุศลอยู่ ยังมีสติสัมปชัญญะแยกถูกแยกผิด แยกคุณงามความดี แยกการกระทำของเรา โลกธรรม ๘ เขาจะติฉินนินทาอย่างไรมันเรื่องของเขา โลก โลกมันเป็นธรรมะเก่าแก่ของดั้งเดิม มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีการติฉินนินทา มันมีมาอย่างนั้นตลอดไป แต่เราฝึกฝน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรื่องกาลามสูตร ให้ฝึกหัด ให้ประพฤติปฏิบัติ ให้เชื่อสัจจะความจริงที่จิตได้สัมผัส นี่เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ความเป็นจริงในหัวใจของเรา แล้วฟังคนที่เทศนาว่าการออกหมด เข้าใจหมด ถ้าเขาไม่ได้พูดเรื่องสัจจะความจริงอันนั้นออกมาจากใจ เขาจะไม่รู้หรอก ถ้าเขาไม่มีความจริงในใจ เขาจะไม่รู้อย่างนั้น ถ้าเขารู้จากความจริงในใจ แล้วในใจของเราก็มีความรู้ทุกๆ คน คนยังมีชีวิตอยู่มีหัวใจทั้งนั้น แต่หัวใจมันโดนปกปิดไว้ด้วยอวิชชา ฉะนั้น ถ้ามันทำจริงๆ ขึ้นมา ถ้ามันรู้จริง มันก็เข้าไปสัจธรรมความจริงอันนั้น

แต่ถ้าเรายังไม่รู้จริง มันก็ยัง เออ! จริงหรือเปล่า จริงหรือเปล่า จริงหรือไม่จริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้พิสูจน์ คนจะดี ดีด้วยการกระทำ พระจะดีได้ ดีด้วยการภาวนา สมบัติของพระคือคุณธรรมในใจ สมบัติของเราคือบุญกุศล สมบัติของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเขาอยากได้สัจจะความจริงขึ้นมา เราทำขึ้นมาให้ในใจของเราเป็นความจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรม กราบธรรมอันนี้ไง กราบธรรมที่เป็นสัจจะความจริงในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอวัง