เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๒ มี.ค. ๒๕๕๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อ้าว! วันนี้วันพระ ตั้งใจฟังธรรม ธรรมะนะ ธรรมะคือสัจจะ สัจจะคือสัจจะ นี้เป็นสัจจะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่สัจจะทางโลกวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์เขาใช้ปัญญาของเขา ปัญญาของเขาปัญญารอบรู้สิ่งต่างๆ ทั้งหมดเลย แต่ไม่รู้จักตัวเอง

แต่ถ้ามรรคขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนนะ เวลาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ย้อนอดีตชาติไปตั้งแต่พระเวสสันดรไป เห็นแล้วมันสังเวชไหม คนนี้มาจากไหน คนนี้เกิดมาจากไหน

คนมันก็เกิดมาจากเวรจากกรรมของตน เพราะตนได้ทำเวรทำกรรมอันนั้น จิตนี้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ เพราะเวรกรรมอันนั้นทำให้เกิดดีและเกิดชั่ว การเกิดอันนั้น ในบุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อนาคตมันจะเวียนว่ายตายเกิดไปนะ ถ้าคนไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์มันจะเวียนว่ายตายเกิดไปนะ

อาสวักขยญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันชำระล้าง มันสำรอกคายกิเลสอันนี้ออกไปไง ถ้าคายกิเลส กิเลสมันคืออะไร คืออวิชชา อวิชชาคือความไม่รู้ตัวไง เราไม่รู้สึกตัวของเรานะ เราคิดแต่พรุ่งนี้ คิดแต่สิ่งที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันนี้เราไม่ได้คิดถึงเลย ถ้าเราคิดถึงปัจจุบัน ถ้าคนคิดถึงปัจจุบันนี้ เราทำคุณงามความดีกัน มาวัดๆ มาเพื่ออะไร มาเพื่อมาขวนขวายเอาทรัพย์สมบัติของตน ทรัพย์สมบัติของตนอยู่ที่ไหน เสียสละเป็นทรัพย์สมบัติของตนหรือ เสียสละออกไปเป็นของเราหรือ

เสียสละออกไปมันเป็นสมบัติของโลกใช่ไหม คนเกิดมาหาปัจจัยเครื่องอาศัย ทุกคนก็หาได้ใช่ไหม แต่คนหาได้แล้วก็เก็บไว้สะสมไว้ว่าเป็นของตนๆ ไม่ใช่ของตนแม้แต่น้อย แต่ถ้าเป็นของตนๆ เสียสละออกไปเป็นของตน ของตนมันเป็นที่ไหน ของตนมันเป็นที่ใจไง เรารับรู้ใช่ไหมว่าเราเสียสละออกไป ถ้าเราเสียสละออกไปมากน้อยแค่ไหน เป็นทิพย์ๆ เป็นทิพย์เพราะมันอยู่ที่ในใจนั้น เราเป็นคนเสียสละออกไป เราเป็นคนขวนขวายมาใช่ไหม เราเป็นคนขวนขวายมา เราเป็นเจ้าของใช่ไหม แล้วเราเสียสละออกไป เสียสละออกไปแล้วมันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่ใจไง

อยู่ที่ใจ เป็นทิพย์สมบัติๆ ลองระลึกถึงที่เราเคยทำบุญมาสิ เราระลึกถึงที่เราเคยทำบุญมามันยังสดๆ ร้อนๆ นะ อาหารนี้เป็นของบูดเน่า แต่ถ้าของที่มันเป็นทิพย์แล้วไม่เคยบูดไม่เคยเน่า ของที่อยู่ในใจเรากี่สิบปียังสดๆ ร้อนๆ อยู่ในใจนั้น สิ่งนั้นเป็นของเราๆ ที่มาขวนขวาย ขวนขวายอันนี้ไง ขวนขวายบุญกุศลของเราไง บุญกุศล สิ่งที่เป็นกุศล คนเรามีน้ำใจต่อกัน

ดูสิ พ่อแม่ ลูกอยากให้พ่อแม่มีความเข้าใจลูกนะ ลูกอยู่ในบ้านอยากให้พ่อแม่เข้าใจเรา อยากให้พ่อแม่เป็นที่อบอุ่น เราทำหน้าที่การงานก็อยากมีเจ้านายที่ดีใช่ไหม ในครอบครัวเขาต้องอยากมีคนที่คุยกันเข้าใจใช่ไหม สิ่งต่างๆ มันเกิดมาจากไหนล่ะ มันเกิดจากเวรจากกรรม มันเกิดมาจากจริตนิสัย นิสัยคนมันแตกต่างกัน นิสัยของคนมันแตกต่างกันนะ มันแตกต่างกัน มันมาจากไหนล่ะ การย้ำคิดย้ำทำ การกระทำนี่แหละมันฝึกฝน การกระทำนี่แหละ

ฉะนั้น เวลาพระมาบวช พระมาบวชมาจากไหน ก็มาจากฆราวาส มาจากโยมนี่แหละ พอมาจากโยมก็มีความคิดแตกต่างหลากหลายใช่ไหม เวลาบวชมาแล้ว ธรรมวินัยเป็นอันเดียวกันไง สัปปายะ ๔ หมู่คณะเป็นสัปปายะ ครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะ เราแสวงหาสัปปายะ แสวงหาที่ความเข้าใจกัน ที่ความร่มเย็นกัน นี่ไง พอเรามาแล้วจะมีความคิดแตกต่างขนาดไหน พอบวชเข้ามาแล้วธรรมวินัยมันเป็นบรรทัดฐาน ถ้าธรรมวินัยเป็นบรรทัดฐาน ทำข้อวัตรปฏิบัติทำร่วมกันๆ คนหนึ่งก็ขยันหมั่นเพียร ก็รีบขวนขวายกระทำ คนขี้เกียจขี้คร้านก็ถ่วงเขา มันก็เข้ามาดัดแปลงๆ ดัดแปลงตรงนี้ไง ดัดแปลงให้มันเสมอกัน ให้มันมีความเห็นกัน

เวลาเราจะมีความคิด รู้สึกนึกคิดมาขนาดไหน ทุกคนปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ แล้วความสุขมันหาที่ไหนล่ะ ไขว่คว้ากันๆ แล้วไม่ได้เลย ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกชีวิตครอบครัวมันเหมือนกับวิดทะเลทั้งทะเลไง ชีวิตครอบครัววิดทะเลทั้งทะเลเลย ทะเลนี่วิดทั้งทะเลเลย วิดขึ้นมาทำไม เพื่อเอาปลาตัวหนึ่ง วิดทะเลทั้งทะเลเอาปลาตัวหนึ่ง

นี่ก็เหมือนกัน ขวนขวายกันๆ เพื่อจะหาความสุข ความสงบ ความดีของเรา ขวนขวายกันๆ แล้วความสุขมันอยู่ไหน ความสุขที่เราหากันมันเจอไหม ถ้ามันไม่เจอ มันไม่เจอเพราะเราโดนกิเลสหลอกไง กิเลสมันบอกว่าถ้าทำอย่างนั้นแล้วจะได้อย่างนี้ ทำอย่างนั้นจะได้อย่างนั้น จะทำอย่างนั้นแล้วจะได้อย่างโน้น ทำอย่างโน้นได้อย่างนั้น ไปเรื่อย แล้วได้ไหม

ได้แล้วก็ไม่พอใจ เพราะถ้ามันเป็น ดูสิ สมณะ สมณะบวชมา ฉันเพื่อดำรงชีวิตเท่านั้นแหละ ฉันเพื่อดำรงชีวิต ดำรงชีวิตไว้ทำไม ดำรงชีวิตไว้ค้นคว้าหาสัจจะหาความจริงของเรา

ทางโลกฉันเพื่อเกียรติ เกียรติยศนะ “ฉันไม่มีเกียรติยศ ฉันกินไม่ได้ ไม่มีเกียรติยศ” กินเพื่อศักดิ์ศรี โอ้โฮ! กินนี่ต้องศักดิ์ศรีนะ แล้วดำรงชีวิต นั่นน่ะทางโลก

ถ้าสมณะ สมณะฉันเพื่อดำรงชีวิต ดำรงชีวิตไว้ทำไมล่ะ ดำรงชีวิตไว้เพื่อขวนขวาย ไว้ค้นคว้า ไว้แสวงหาสัจจะความจริงอันนั้น ถ้าสัจจะความจริงอันนั้น มันจะทุกข์ยากขนาดไหน ศาสนานี้เป็นที่พึ่งนะ คนจะทุกข์จนเข็ญใจขนาดไหนก็มาพึ่ง คนถ้ามีภัยอะไรก็เข้ามาพึ่งศาสนา ศาสนาเป็นที่พึ่งๆ แล้วเป็นที่พึ่ง เราบวชเป็นพระ เราพึ่งได้ไหม ถ้าเราจะพึ่งนะ เราจะพึ่ง เรามีสติมีปัญญาของเรา

สิ่งที่ทำๆ ทั้งหมดมันก็เหมือนโยม เวลาโยมเสียสละ เสียสละมาก็เพื่อหัวใจอันนั้น การเสียสละมาเพื่อหัวใจอันนั้นให้หัวใจควรแก่การงานไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการนะ อนุปุพพิกถาให้ทำทานก่อน พอให้ทำทาน พอทำทานแล้วจิตมันเป็นสาธารณะ จิตมันยอมรับความเห็นต่าง ถ้ามันไม่ทำทานขึ้นมามันตระหนี่มันถี่เหนียวนะ กูถูกๆ กูถูกอยู่คนเดียว คนอื่นผิดหมด แต่กูถูกอยู่คนเดียว

แต่ถ้าเราหัดเสียสละ หัดฟังเหตุผลเขา หัดฟังๆ ไง การเสียสละมาฝึกใจของตัวทั้งนั้นน่ะ การทำทานนี่ฝึกใจของตนไง ฝึกใจของตนให้เห็นประโยชน์คนอื่นก่อน ไอ้เราก็ได้ประโยชน์นั่นแหละ แล้วให้เห็นประโยชน์คนอื่นบ้าง คนอื่นที่เป็นคนเหมือนกัน ให้เห็นประโยชน์เขาบ้าง เราเสียสละไปเพื่อประโยชน์กับเขา เพื่อประโยชน์กับสาธารณะ แล้วสังคมก็ร่มเย็นเป็นสุข เราเสียสละอย่างนี้ เราฝึกฝนเรา

ทาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดเรื่องทาน พอเรื่องทาน จิตใจมันยอมความเห็นต่าง คน ถ้าความเห็นต่าง มันมีบารมี ทุกคนเป็นคนดี คนนี้ไม่เอาเปรียบกันนะ คนนี้เป็นคนดี เขามีบารมีไหม แต่คนที่เอาเปรียบคน ใครจะคิดถึง นี่เราฝึกหัดของเรา เรามีบารมี พอมันมีทาน พอมีทาน มันมีศีล มันมีศีล เวลาสิ้นไปได้ไปสวรรค์ คนทำคุณงามความดีจะได้ความดีตอบแทน ถ้าได้ตอบแทนแล้ว จิตใจควรแก่การงานแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเทศน์อริยสัจ พอเทศน์อริยสัจนะ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เราก็เข้าใจหมด ทุกคนท่องได้หมดแหละ แต่ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร แล้วจิตใจมันขัดแย้ง ทุกข์ก็ทุกข์คนอื่นเว้ย ไม่ใช่ทุกข์ของกู กูจะมีความสุขๆ แล้วมันสุขจริงหรือเปล่าล่ะ

สิ่งนี้กิเลสมันหลอกง่ายๆ หลอกง่ายๆ คือมันกลืนกินเวลาของเราไปไง วันหนึ่งๆ มันกินไปเรื่อยๆ พรุ่งนี้จะทำดี มะรืนจะทำดี ปีหน้าจะทำดี ชาติหน้าจะทำดี มันผลัดไปเรื่อย แต่ถ้าเราเห็นเป็นปัจจุบันนะ เห็นโทษของมัน เห็นภัยของมัน เรามาทำทานกัน ทำทานเพื่ออะไร ทำทานเพื่อสมบัติของโยมเอง สมบัติของคนทำ เพราะมันทำไปแล้วเป็นสมบัติของมัน ใครแย่งชิงไม่ได้

ของนี้วางไว้ยังแย่งชิงกันได้นะ แต่ความรู้สึกในใจ ใครแย่งชิงกันไม่ได้หรอก นั่นน่ะมันเป็นทิพย์ๆ มันแย่งชิงกันไม่ได้ มาเสียสละเพื่อประโยชน์กับตน พอประโยชน์กับตนแล้ว ถ้าเราต้องการๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นถึงกษัตริย์ ละทิ้งมาเพื่ออะไร ละทิ้งมาเพื่อโมกขธรรม โพธิญาณ แล้วโพธิญาณมันอยู่ที่ไหน โพธิญาณเราก็ศึกษาในตู้พระไตรปิฎก ตู้พระไตรปิฎกก็ชี้ไปที่ใจเรานี่แหละ เราศึกษาก็ศึกษาในใจเรานี่แหละ ถ้าใจของเรามีทาน มีศีล มีภาวนาขึ้นมา มันพอใจ มันอบอุ่น มันทำของมันได้ใช่ไหม

เวลาทำหน้าที่การงานกัน โอ๋ย! อาบเหงื่อต่างน้ำ บ่นทั้งนั้นน่ะ เวลาพระทำงานเขานั่งสมาธิเฉยๆ แล้วบอก “พระวันๆ ไม่เห็นทำอะไรเลย เห็นนั่งเฉยๆ เดินไปเดินมา พระไม่เห็นทำอะไรเลย”

พระนั่นแหละทำงานอริยสัจ พระเราทำงานในหัวใจ เขาหว่านเขาไถในพื้นที่นา พระนั่นแหละหว่านไถในหัวใจ มันจะตัดความรกชัฏของมัน ความรกชัฏของเขา เขาต้องตัดความรกชัฏของเขา มันเป็นวัชพืช

เวลาความฟุ้งซ่านของเรา ความคิดของเรา ไอ้สิ่งที่มันกระทบหัวใจ เราจะทำให้มันสงบขึ้นมา เราจะปรับพื้นที่ของเรา นั่นแหละสัมมาสมาธิ ถ้าทำสมาธิได้ ถ้าจิตสงบขึ้นมา สงบมันก็มีความสุขทั้งนั้นน่ะ ถ้ามีความสุข สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี ไอ้เราก็วิ่งกัน หากัน ความสุขหากันทั่วโลกทั่วสงสาร ไม่เจอ มานั่งเฉยๆ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ จิตมันเกาะอยู่กับพุทกับโธ จิตมันเกาะอยู่กับลมหายใจ ลมหายใจนะ

ลมพายุมันพัดในบ้านเรือนพังพินาศไปหมดเลย ลมอันนั้นมันเป็นลมธรรมชาติไง แต่ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกมันให้ชีวิตคนนะ คนเราหายใจเข้าแล้วไม่หายใจออกก็ตาย หายใจออกแล้วไม่หายใจเข้าก็ตาย สิ่งที่ลมหายใจ ออกซิเจนฟอกเรื่องร่างกาย แต่จิตถ้ามันเกาะ มันเป็นอานาปานสติ อานาปานสติมันเกิดประโยชน์ขึ้นมาจากไหนล่ะ เกิดประโยชน์ขึ้นมาจากจิตดวงนี้มันเกาะ จิตดวงนี้เป็นของใคร จิตดวงนี้เป็นของใคร

จิตดวงนี้เป็นของเรา แล้วเรามองข้ามมันไป เรามองไปเห็นสมบัติอย่างอื่นมีค่าหมดเลย แต่เราไม่มองเห็นจิตของเรามีเลย เวลาเรามีสติปัญญา มันของอยู่กับเรา แต่มองไม่เห็น เวลาเราจะสอนให้ทำมันก็บอกมันรู้หมดทุกอย่าง แต่มันไม่รู้จักตัวมันเอง มันทำของตัวมันเองไม่ได้เลย ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงอนุปุพพิกถาสอนเขาก่อน ให้รับความเห็นต่าง ความเห็นต่าง จิตเป็นสาธารณะ จิตเป็นสาธารณะ เรายอมรับความจริง ถ้ายอมรับความจริงขึ้นมา ทีนี้ให้ภาวนาแล้ว พอให้ภาวนา ทำไม่ได้ งานอื่นงานอะไรทำได้หมด งานอะไรให้มาเถอะ ทำได้ทั้งนั้น แต่งานหาจิตของตนเองหาไม่เจอ หาไม่ได้ ทั้งๆ ที่อยู่กับเรา ทั้งๆ ที่มันพาเราเกิด ทั้งๆ ที่มันพาให้เราเวียนว่ายตายเกิด แล้วมันเป็นสมบัติของเราด้วย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านรื้อค้นที่นี่ ท่านเห็นที่นี่ ท่านทำที่นี่ได้

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์ ตรัสรู้อยู่องค์เดียวนะ เวลาเทศน์ครั้งแรกเทศน์ธัมมจักฯ มีปัญจวัคคีย์ ๕ คนเท่านั้น เวลาเทศน์ไปแล้วได้อัญญาโกณฑัญญะมาองค์เดียว พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม ๔ องค์นั้นยังไม่ได้ ยังไม่ได้ เทศนาว่าการซ้ำๆ จนปัญจวัคคีย์ได้เป็นพระโสดาบันทั้งหมด เทศนาว่าการเรื่องอริยสัจ เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา พอเป็นพระอรหันต์ขึ้นมามันก็เป็นการชำระล้างกิเลสในใจ จบ

พอจบแล้ว เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเทศน์ยสะได้อีก ๕๔ องค์ พอเทศน์เป็นพระอรหันต์หมด “เธอทั้งหลายพ้นจากบ่วงที่เป็นโลก” บ่วงที่เป็นโลกคือชื่อเสียงเกียรติศัพท์เกียรติคุณ สิ่งที่โลกเขาแสวงหากัน นี่บ่วงที่เป็นโลก เพราะกิเลสมันจะไปยึดไปเหนี่ยวว่าเป็นของมันๆ

“เธอพ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและพ้นจากบ่วงที่เป็นทิพย์”

บ่วงที่เป็นทิพย์ ทิพย์สมบัติ ผลของวัฏฏะ “เธอพ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและบ่วงที่เป็นทิพย์” จิตใจมันมั่นคงเพราะเป็นพระอรหันต์ “เธอจงไปอย่าซ้อนทางกัน โลกนี้เร่าร้อนนัก โลกนี้เร่าร้อนนัก” โลกนี้อยู่กับกิเลสตัณหาความทะยานอยาก อยู่กับการแย่งชิง อยู่กับการชิงดีชิงเด่น อยู่กับการแก่งแย่งกัน โลกนี้เร่าร้อนนัก โลกนี้เร่าร้อนนัก เธอจงอย่าไปซ้อนทางกัน ต่างคนต่างไปเพื่อไปโปรดหัวใจของสัตว์โลก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเทศนาว่าการ เวลาธรรมเป็นประโยชน์เป็นประโยชน์อย่างนี้ แล้วประโยชน์อย่างนี้มันอยู่ที่ไหนล่ะ มองไม่เห็น งานอะไรทำได้ทั้งนั้น แต่เวลางานของเราจริงๆ กลับทำไม่ได้

ดูชาวไร่ชาวนาสิเขาทำไร่ทำนาของเขา เขาได้ผลประโยชน์ของเขา ไอ้เราเป็นชาวพุทธ แล้วสัจธรรม อริยสัจมันจะเกิดที่ไหนล่ะ ไปกราบครูบาอาจารย์ก็ไปดูคุณสมบัติของท่าน ไปเที่ยวหาครูบาอาจารย์ก็เที่ยวไปดูสมบัติของพระ แล้วสมบัติของเราล่ะ

ใช่ เวลาไปกราบนี่ศรัทธาความเชื่อมันกระตุ้น มันกระตุ้นให้เรามั่นคง กระตุ้นให้เราแข็งแรง มันกระตุ้นขึ้น แต่นี่กระตุ้นมันก็เป็นศรัทธาใช่ไหม ความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้ ความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้ แต่ความเชื่อเป็นอริยทรัพย์ ความเชื่อเป็นหัวรถจักรชักนำให้ชีวิตของเราไปตามความเชื่อ แล้วเราเข้าไปแสวงหาของเรา การที่เข้าไปแสวงหาของเราคือการประพฤติปฏิบัติ เราต้องทำของเราขึ้นมาให้ได้

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ วางธรรมวินัยไว้ให้เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ปัจจัตตังคือรู้แจ้งในใจของตน สันทิฏฐิโกคือการรอบรู้ความเป็นจริง สันทิฏฐิโกมันสว่างกระจ่างแจ้งกลางหัวใจ สิ่งนั้นไม่ต้องให้ใครเป็นคนตัดสิน แต่ของเราจะไปสอบก็ต้องมีกรรมการ จะทำอะไรก็ต้องมีคนตัดสินๆ ทั้งนั้นน่ะ เพราะอะไร เพราะมันไว้ใจกันไม่ได้ไง แต่เวลาเป็นความจริงๆ ขึ้นมา ถ้ามันไปเจอความจริงกลางหัวใจขึ้นมา มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกขึ้นมาในหัวใจ มันจบสิ้นที่นี่ไง ถ้ามันจบสิ้นที่นี่ นี่กระบวนการของการประพฤติปฏิบัติไง

วันนี้วันพระๆ วันพระ ถ้าสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดคือหัวใจของสัตว์โลก หัวใจของโยมนั่นแหละมันมีค่าที่สุด แล้วเอามาทำความสะอาด เอามาทำความกระจ่างแจ้งในใจ อันนั้นมีค่าที่สุด ถ้าไม่มีค่าที่สุด ชาตินี้เป็นของเรานะ ชาติหน้าใครไปเกิด ไอ้จิตดวงนี้ไปเกิด ไม่ใช่เราไป จิตมันไป เพราะสถานะนี้มันเป็นสถานะ นาย ก. ตายไป ไปเกิดเป็นนาย ข. นาย ข. กับนาย ก. มันเกี่ยวอะไรกันล่ะ

นาย ข. กับนาย ก. ไม่เกี่ยวกัน แต่จิตนาย ก. กับนาย ข. เป็นจิตอันเดียวกัน เพราะจิตนาย ก. มันตายไปก็ไปเกิดเป็นนาย ข. แล้วนาย ก. ทำอะไรไว้ นาย ข. ไม่รับรู้เรื่องเลย นาย ข. ต้องรับการกระทำของนาย ก. ด้วย เพราะอะไร เพราะจิตดวงนั้น จิตของนาย ก. ก็คือจิตดวงนี้คือจิตที่เป็นคนกระทำ พอจิตดวงนี้มันตายไป มันไปเกิดนาย ข. มันไม่รู้เรื่องอะไรเลย

นี่ไง บุพเพนิวาสานุสติญาณ สิ่งที่มันทำไปเป็นจริตเป็นนิสัย เราถึงมีสติมีปัญญากันไง เราจะทำคุณงามความดีของเราไง เราจะทำคุณงามความดีเพื่อใจดวงนี้ จะไปเกิดเป็นนาย ก. นาย ก. ก็ทำของนาย ก. นาย ก. ตายไป ไปเกิดเป็นนาย ข. นาย ข. ก็ทำประโยชน์ของนาย ข. ไป แต่จิตดวงนี้ จิตไม่เคยตายๆ จิตเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ มันเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ แล้วเวลาถึงที่สุดแล้วมันพ้นหมดเลย

นาย ก. ทำดีของนาย ก. นาย ก. ประพฤติปฏิบัติจนสิ้นกิเลสไป นาย ข. ไม่มี นาย ก. รอผลของวัฏฏะให้สิ้นชีวิตนี้ไป จิตดวงนี้มันไม่ไป ไม่เกิดอีกแล้ว เป็นนาย ก. นาย ก. ทำดีที่สุดแล้ว จบสิ้นกระบวนการของการประพฤติปฏิบัติแล้ว นาย ข. ไม่มี

แต่ถ้าเราปฏิบัติของเราไม่ถึงที่สุด นาย ข. มันรออยู่ข้างหน้า ในเมื่อมีภวาสวะ มีภพ มีความรู้สึก ไม่มีอาวุธสิ่งใด ไม่มีสัจจะอันใดทำลายความรู้สึกได้ มีแต่อริยสัจทำลายภวาสวะ ทำลายภพ ทำลายความรู้สึกนี้หมดสิ้นไป เหลือแต่ธรรมธาตุ ธรรมแท้ๆ แล้วมันอยู่ที่ไหนล่ะ อยู่ในใจของเรานี่แหละ ไอ้ใจโง่ๆ นี่แหละ ไอ้ใจที่ไม่รู้เรื่องต่างๆ นี่แหละ ประพฤติปฏิบัติไป ไอ้ใจโง่ๆ มันจะฉลาดได้ ไอ้ใจโง่ๆ มันจะสว่างโพลงได้ ไอ้ใจโง่ๆ มันจะพ้นจากทุกข์ได้ เอวัง