เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๖ เม.ย. ๒๕๕๙

เทศน์เช้า วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๙

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ อากาศร้อนมาก อากาศร้อนมาก เห็นไหม เราบอกในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเกิดเป็นมนุษนย์เกิดมาพบพระพุทธศาสนานะ เราเกิดในประเทศอันสมควร เกิดในประเทศเขตร้อน อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ความเป็นอยู่ ฤดูกาล นี่เราเกิดในประเทศอันสมควร ถ้าเกิดในประเทศอันสมควร ใครพาเกิด กรรมดีพาเกิดนะ กรรม การกระทำ ทำแล้ว ทำดีทำชั่ว กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน คนเราไม่ได้ดีเพราะการเกิด คนเราดีเพราะการกระทำ ถ้าการกระทำคุณงามความดีของเรา คุณงามความดีแบบโลกก็เป็นแบบโลกนะ 

ในครอบครัวครอบครัวหนึ่ง ลูกหลานเรา เราอบรมดูแลรักษา ลูกหลานเรามันจะมั่นใจ มันจะตัดสินใจได้ เราไม่เคยทำสิ่งใดเลย ยกให้แต่โรงเรียน ยกให้แต่โรงเรียน เสร็จแล้วลูกหลานเราไม่กล้าตัดสินใจสิ่งใดเลย พวกเรา เวลาบอกว่า เด็กๆ การศึกษาของเรา ศึกษาแล้วเด็กมันไม่มีปัญญา มันท่องจำๆ มันท่องจำเพราะมันไม่มีความอบอุ่นไง ถ้ามันท่องจำของมันนะ มันมีความอบอุ่นของมัน มันอบอุ่นคือว่ามันกล้าตัดสินใจมาตั้งแต่เด็กแต่น้อย เราให้มันทำ ทำงานบ้านน่ะ ทำงานบ้านงานเรือน มีการตัดสินใจไง ไอ้นี่ก็ว่าเรารักลูกหลานของเรา เราไม่ให้ทำสิ่งใดเลย โอ๋ๆ เลย เราอยากให้ลูกเราฉลาด ให้ลูกเราตัดสินใจเป็น

มันตัดสินใจอะไรของมันเป็นล่ะ เพราะมันไม่เคยตัดสินใจ ถ้ามันตัดสินใจ ให้มันฝึกหัดตัดสินใจของมันมา นี่พูดถึงว่าในครอบครัวของเรา เราดูแลของเราเพื่อความอบอุ่นในครอบครัวของเรา ถ้าความอบอุ่นในครอบครัวของเรา ในครอบครัวที่เข้มแข็ง ในครอบครัวที่เข้มแข็ง เราออกไปเผชิญกับสังคมได้ เราเผชิญกับสังคมได้ เกิดในประเทศอันสมควรไง

เกิดในประเทศอันสมควร คือคนเราเกิดในพระพุทธศาสนา มีความเมตตา มีความกรุณาต่อกัน พอมีความเมตตากรุณาต่อกันเป็นประเพณีวัฒนธรรม ยิ้มสยามๆ ยิ้มสยามเพราะว่ามันมีหัวใจที่เปิดกว้าง หัวใจที่เปิดกว้าง เปิดกว้างมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เปิดกว้างมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ในเมืองไทยของเราจะนับถือศาสนาสิ่งใดก็ได้ จะทำสิ่งใดก็ได้ ให้ทำตามความเชื่อของตน ถ้าทำตามความเชื่อของตนนะ ความเชื่ออันนั้น เราเกิดในประเทศอันสมควร ความเชื่ออย่างนั้น บรรพบุรุษของเราท่านมีปัญญาของท่าน ท่านนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ศาสนาประจำชาติ ประจำชาติเพราะว่าสิ่งนั้นทำให้ชนชาติ ชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ ศาสนามาเกลี้ยกล่อม ศาสนามาขัดเกลา ขัดเกลาให้จิตใจของคน จิตใจของคน เห็นไหม จิตใจของคนถ้ามันระลึกได้ ตั้งแต่ ไม่ใช่เขียนเสือให้วัวกลัวไง ทำบาปต้องตกนรก ทำคุณงามความดีจะไปสวรรค์ เขาบอกว่าเขียนเสือให้วัวกลัวไง

มันเป็นความจริง สวรรค์ในอก นรกในใจ ถ้าสวรรค์ในอก ในครอบครัวเราอบอุ่น เราทำคุณงามความดีของเรา นี่สวรรค์ในอก เราพูดกัน เราอยู่ด้วยกันยิ้มแย้มแจ่มใส เราอยู่ด้วยกันโดยการเปิดเผย นรกในใจ ทำสิ่งใดแล้วก็ต้องปิดไว้ กลบเกลื่อนไว้ ดูแลรักษาไว้ นรกในใจ

สวรรค์ในอก นรกในใจ นี่คือการกระทำ คือกรรม แต่เวลามันไปแล้ว ถ้ามันตายไปแล้วมันไปสวรรค์จริงๆ สวรรค์จริงๆ มันเป็นภพภูมิไง ถ้าไม่เป็นภพภูมิ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ อยู่ชั้นดุสิต รอมาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วเวลาเทวทัตทำความชั่วแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น จะเอาอำนาจจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตกนรกอเวจี ธรณีสูบไปเลย แล้วเขาบอกว่า ธรณีสูบจริงหรือเปล่า เขาไปเที่ยวอินเดียกันนะ กลับมาเล่าให้ฟัง เขาไปดูที่เขาบอกตรงนี้เทวทัตโดนสูบไปตรงนี้ เขาไปดูสถานที่กัน

สวรรค์ในอก นรกในใจ คือกรรม คือการกระทำของเรา แต่ถ้าถึงที่สุดแล้ว เวลาภพชาติ เวลาหมดอายุขัยไปมันเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ถ้าเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ว่าเขียนเสือให้วัวกลัวๆ ไง เขาเขียนเสือให้วัวกลัว มันเป็นวัฒนธรรม ให้คนเรามันมีจิตใจที่อ่อนโยน มีจิตใจที่ละอายต่อบาป มีจิตใจที่ไม่ก้าวล่วงศีล สมาธิ ปัญญา ให้ฝึกหัวใจของเราไว้ไง ถ้าฝึกหัวใจไว้ นี่เป็นประเพณีวัฒนธรรม

ฟังธรรมๆ ฟังธรรมเพื่อเหตุนี้ ฟังธรรมเพื่อเหตุนี้ ใครเขาหยาบ จิตใจเขาหยาบกระด้าง เป็นวัตถุ เขาก็วิทยาศาสตร์ ต้องพิสูจน์ นั่นจิตใจเขาหยาบ ถ้าจิตใจเราละเอียดอ่อน จิตใจละเอียดอ่อน ความรู้สึกไง

สวรรค์ในอก นรกในใจ เราก็รู้ได้ใช่ไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรื่องทุกข์ ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริงนะ ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง แต่เราก็พยายามจะสร้างกันไง สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกไง คุณภาพชีวิต คุณภาพชีวิตเพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตของเราไง ถ้าคุณภาพชีวิต เวลานั่งภาวนาก็พยายามส่งเสริมกัน แต่ถ้าเป็นความจริงๆ เราจะแก้ไขหัวใจของเรา

ลูกหลานในบ้านของเรา ถ้ามันตัดสินใจได้ มันรู้จักมีความอบอุ่น มันมีปัญญาของมัน มันเอาตัวรอดของมันได้ จิตใจของเราๆ อารมณ์ความรู้สึกอยู่กับใจดวงนี้ มันเป็นอาการของใจ อาการของใจทั้งหมดน่ะ เวลาภาวนาไปรู้นั่นรู้นี่ อาการทั้งหมด ความรู้สึกนี่สัญญาอารมณ์ ถ้าสัญญาอารมณ์ ไปรู้ไปเห็นสิ่งใด มันเห็นสิ่งใดมันเห็นด้วยความงงๆ ทั้งนั้นน่ะ

แต่ถ้ามันทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันเป็นอิสระ ถ้าใจเป็นอิสระแล้ว มันเหมือนกับทางโลก ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ทุกข์ด้วยความเป็นหนี้

เวลาเราเป็นหนี้เป็นสินเขา เรามีความรับผิดชอบใช่ไหม เราต้องหาไปคืนเขาใช่ไหม แต่ถ้าเราพ้นจากหนี้ เรามีความสุขไหม จิตใจของเรา อาการของใจ อาการของใจมันเป็นหนี้เป็นสิน เป็นหนี้เป็นสินเพราะจริตนิสัยมันสร้างสมของมันมา นี่ด้วยความเป็นหนี้ไง ถ้าความเป็นหนี้มันทบดอกเบี้ย ดอกเบี้ยมันทบต้น

นี่ก็เหมือนกัน ภาวนาไปแล้วรู้นู่นรู้นี่ จิตใจมันก็สงสัยอยู่แล้ว จิตใจมันก็มีความวิตกกังวลอยู่แล้ว เรารู้สิ่งใดๆ ไป มันรีบขวนขวายจะเอานะ มันเป็นอาการของมันทั้งหมด นั่นน่ะเป็นลูกหนี้

พุทโธๆ ใช้ทั้งดอกเบี้ย ใช้ทั้งเงินต้น ใช้หมดเลย มันจะพ้นจากความเป็นหนี้ พุทโธๆ จนจิตมันสงบเข้ามาได้

เจ้าหนี้ เจ้าหนี้เวลาเขาคุย เจ้าหนี้กับลูกหนี้คุยกัน เจ้าหนี้เขาต้องมีอำนาจมากกว่าอยู่แล้ว ลูกหนี้ไปเจรจากับเจ้าหนี้ต้องประนีประนอม เพราะขอความเห็นใจทั้งนั้นน่ะ นี่ลูกหนี้

นี่ก็เหมือนกัน เราภาวนาด้วยการเป็นลูกหนี้ใช่ไหม ภาวนาไปน่ะ อยากรู้นั่นรู้นี่ ด้วยความประนีประนอมกับกิเลสใช่ไหม ต้องการให้กิเลสมันผ่อนคลาย ต้องการให้กิเลสมันยกหนี้ให้ แล้วมันจะยกหนี้ให้ไหมล่ะ มันยกหนี้ให้ไม่ได้หรอก

ฉะนั้น เราพุทโธๆ ของเรา เราทำความเป็นอิสระของเรา พ้นจากความเป็นหนี้ ถ้าพ้นจากความเป็นหนี้ เราพ้นจากความเป็นหนี้แล้วเราหาทุนหารอนของเรา หาทุนหารอนของเรา เราจะประกอบสัมมาอาชีวะของเรา เราจะประกอบความมั่นคงในชีวิตของเรา

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่มันเป็นความจริงได้ เรากำหนดพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเรา ให้มันพ้นจากความเป็นหนี้ พ้นจากความเป็นหนี้ รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร จิตมันรับรู้ด้วยอะไรล่ะ

ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติแล้ว ท่านบอกจิตเรามันเปรียบเหมือนน้ำ น้ำใสสะอาด อยู่ในภาชนะที่ใสสะอาด เราจะไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่าในแก้วน้ำนั้นมีน้ำหรือไม่มีน้ำไง แต่ถ้ามันเติมสีลงไป เราจะเห็นเลยว่า อ๋อ! ในแก้วมันมีน้ำ เพราะอะไร เพราะมันละลาย มันมีสีสันของมัน เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน ความเป็นลูกหนี้ ตัวเองเป็นอิสระก็ไปไม่ได้ ยอมเป็นทาสเขาตลอด เวลาเขาปลดจากความเป็นทาสแล้วไปไม่รอด ขอเป็นทาสอย่างเดิม หากินไม่เป็น ขอให้เขาคอยเขาจูงโซ่

นี่ก็เหมือนกัน เวลาพุทโธๆ น่ะเป็นอิสระไม่ได้ เป็นอิสระไม่เป็น เป็นอิสระแล้วจะทำอย่างไร เป็นอิสระแล้วเลี้ยงตัวเองไม่เป็น แล้วเลี้ยงตัวเองไม่เป็นมันก็ไม่พ้นจากความเป็นหนี้ไง มันก็เป็นลูกหนี้เขา เป็นทาสเขาตลอดไปน่ะ

ถ้าเป็นทาสๆ เป็นทาสเวรทาสกรรม จริตนิสัยของคน คนชอบสิ่งใดนะ โทสจริต โมหจริต โลภจริต ไอ้พวกโลภจริตเรรวนตลอด มีอะไรเขาคิดไม่เป็น ไปตามกระแส คนเยอะๆ ดี คนเยอะๆ ดี คนเยอะๆ ต้องดี ไปกับเขาตลอด คนที่ไม่มีสติปัญญา โลภจริต โทสจริตใครก็แตะไม่ได้เลย โทสจริต ความลุ่มความหลงของมัน ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่มันมีจริตนิสัยของมัน ถ้ามีจริตนิสัยของมัน เวลาคนชอบสิ่งใด คนเป็นสิ่งใด รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ถ้ารูป รส กลิ่น เสียง

ครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติแล้วพ้นจากรูป รส กลิ่น เสียง ไปแล้ว ก็อาศัยรูป รส กลิ่น เสียงนั้นน่ะสื่อสารความหมายไง ถ้ามันมีสติมีปัญญา เราใช้เขาเป็นประโยชน์ แต่ถ้าเราเป็นลูกหนี้ มันทบต้นทบดอกน่ะ ทบต้นทบดอก เป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น แล้วก็ยิ่งเกิดความวิตกกังวล ยิ่งเกิดความลังเลสงสัย ทำสิ่งใดก็สร้างแต่บาปแต่กรรมไปไง นี่นรกในใจ นรกในใจเลยล่ะ แต่พ้นจากความเป็นหนี้ มันปลอดโปร่งหมด แล้วมันปลอดโปร่ง

ความเป็นเจ้าหนี้ คนเป็นเจ้าหนี้มีอำนาจนะ มีเงิน มีอำนาจด้วย ใครต้องมาเจรจากับเราเพื่อต่อรอง นี่ถ้ามันเป็นจริง ถ้ามันเป็นอิสระของมันจริงๆ มันต้องมีอำนาจอย่างนั้น ถ้ามีอำนาจอย่างนั้น จิตถ้านั้นรักษาไว้ ถ้าเป็นเจ้าหนี้ๆ ถ้าไม่มีสติปัญญา เงินทองก็ใช้ไม่เป็น เดี๋ยวเขามาหลอกลวงไปเล่นการพนันทีเดียวก็หมดแล้ว จะเงินมีมากน้อยขนาดไหน เข้าบ่อนน่ะหมดเลย แล้วถ้าเข้าบ่อนหมดแล้วมันจะเป็นหนี้เป็นสินเขาอีก ทีนี้เขาแบล็กเมล์เอา ยุ่งเลย

นี่ก็เหมือนกัน จิตสงบแล้วยกขึ้นวิปัสสนาอย่างไร ถ้าจิตสงบแล้วเราจะรักษาสมบัติของเราอย่างไร ถ้าเรารักษาสมบัติของเราได้ เรามีเงินมีทองของเรา เราจะต่อยอดสมบัติของเราได้อย่างไร จิตสงบแล้วเดี๋ยวมันก็เสื่อมไง

เศรษฐีธรรมๆ ถ้าเป็นเศรษฐีธรรม เราไปดูสมบัติของคนอื่นไง เวลาเราจะเกิดธรรมะในหัวใจของเราบ้าง เรารักษาธรรมะของเราได้อย่างไร

ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย” เราก็ไปศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นเป็นทฤษฎีทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าเธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด เธอมีสติ มีสมาธิ มีปัญญาในหัวใจ ถ้าเธอมีสติ มีสมาธิ มีปัญญาในหัวใจ ชำนาญในวสี ชำนาญในการรักษา ชำนาญในการสร้างสรรค์ ความสร้างสรรค์ สร้างสรรค์ขึ้นมา เห็นไหม

ตึกรามบ้านช่อง ใครเป็นคนสร้าง มนุษย์สร้างทั้งนั้นน่ะ สัจธรรม สัจธรรมในหัวใจใครเป็นคนสร้าง ด้วยความเพียรไง ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ สติปัญญามันก่อสร้างขึ้นมาไง มันก่อสร้างขึ้นมาอย่างไร ก่อสร้างขึ้นมาเพราะมันพ้นจากความเป็นหนี้ พอพ้นจากความเป็นหนี้แล้วมันใช้ปัญญาของมัน ใช้ปัญญาในที่ไหนล่ะ

ถ้าเป็นหนี้เป็นสิน เพราะวิตกกังวล เห็นไหม กายก็ของเรา สรรพสิ่งก็ของเรา สรรพสิ่งของเรา อารมณ์ก็เป็นของเรา ตัวตนก็เป็นของของเรา ถ้ามีสติปัญญามันพิจารณาของมันไป ถ้ามันพิจาณาได้ แล้วพิจารณามันพิจาณาที่ไหน ก็ต้องพิจารณาในภวาสวะ สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน

ความคิดเกิดจากจิต อวิชชามันอยู่ที่จิต แล้วความคิดเกิดจากจิต อวิชชามันพาคิด พอพาคิดขึ้นไปมันก็ไปกว้านเอาแต่ความทุกข์ความกังวลเข้ามา

แต่ถ้าเป็นวิชชา ถ้ามันพ้นจากความเป็นหนี้มันเป็นวิชชานะ วิชชาเพราะกำลังของมัน มันพิจารณาของมันไป มันเป็นไตรลักษณ์ของมัน มันจะย่อยสลายของมัน ถ้ามันเป็นธาตุ มันจะย่อยสลายของมัน ถ้ามันเป็นความรู้สึกนึกคิด มันจะมีปัญญาแยกแยะ ถ้ามันเป็นสังขาร เป็นวิญญาณ มันพิจารณาของมัน มันจับของมัน เพราะมันจับได้หลากหลายไง สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม

เวลาพิจารณากายๆ พิจารณากายยังพิจารณากายหลากหลาย พิจารณากายไปเห็นเป็นรูปกาย พิจารณากายเห็นเป็นอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง พิจารณากายโดยนามธรรม พิจารณากายโดยปัญญา การพิจารณากายมันยังแตกแขนงไปอีกมหาศาลเลย

การพิจารณาเวทนา เวทนา เวทนาร่างกายของเรา เวลาคนภาวนาแล้วบอกว่า ภาวนาไม่ได้ จับไม่ได้ ไม่มีสิ่งใดจะใช้ปัญญา

วิตกกังวลนั่นน่ะเวทนาทั้งนั้นน่ะ แต่เป็นลูกหนี้ ลูกหนี้เพราะเป็นเราไง เวลาเราคิดวิตกกังวล เราคิดความทุกข์ความยาก นั่นน่ะถ้ามีสติมีปัญญานะ ถ้ามันเป็นเจ้าหนี้นะ มันสงบไปแล้ว ไอ้ความวิตกกังวลมันจะจับวิตกกังวลนั้นน่ะ วิตกกังวลนี้เป็นอาการ เหมือนร่างกายเรากับเงา เงาจะเกิดขึ้นเมื่อมีแสง ถ้าเราเข้าสู่ที่ไม่มีแสง เงาก็ไม่มี ถ้าเรามีสติปัญญาพ้นจากความเป็นหนี้ มันก็ไม่มีอาการ มันก็ไม่มีแสง ถ้าไม่มีแสง มันก็ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก แต่มันจะมีแต่ธาตุรู้ สิ่งที่รู้ที่มันรู้ในตัวมันเอง นี่ถ้ามันเป็นเจ้าหนี้ ฉะนั้น เวลาถ้ามันมีสติปัญญา เวทนา สิ่งต่างๆ ที่มันจับต้องได้ เวลาพิจารณากายก็อย่างหนึ่ง พิจารณาเวทนา เวทนากาย เวทนาจิต

แล้วพิจารณาธรรม เวลาธรรม ธรรมะมันเกิดขึ้น ถ้าจิตมันสงบ มันมีสติปัญญาขึ้นไปแล้วมันมีปัญญาของมัน ถ้ามีปัญญาของมัน ความเป็นเจ้าหนี้มันพิจารณาน่ะ จับอาการนั้นพิจารณา จับอาการนั้น แต่ถ้าอาการนั้นเป็นเรา สรรพสิ่งที่เป็นเรา ที่ว่าความทุกข์ความยากเป็นเรา ธรรมะก็เป็นเรา รู้ธรรมะรู้ไปหมดเลย

รู้ก็ศึกษาไง รู้ก็เราเรียนมาไง รู้มา เพราะเรียนมาด้วยการฟัง การฟัง มุขปาฐะ ออกจากปาก แล้วเราก็จำได้ พอจำได้ กิเลสมันร้ายกาจ มันสร้างภาพนะ กลับไป โอ้โฮ! เหมือนหลวงพ่อเทศน์เลย เหมือนกันเปี๊ยบ

สัญญาทั้งนั้น อาการทั้งนั้น เพราะมันไม่พ้นจากความเป็นหนี้ เพราะมันไม่พ้นจากความเป็นหนี้ มันไม่เป็นอิสระไง ถ้าเป็นอิสระ ถ้ามันจับของมันเอง ถ้ามันจับของมันเอง มันจับของมันเอง เห็นไหม

ดูสิ เวลาคนเป็นหนี้ เวลาเจ้าหนี้มามันวิ่งหนี มันหลบซ่อนนะ เพราะอะไร เพราะกลัวเจ้าหนี้เขาจะมาทวงหนี้ ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันสงบแล้ว จิตสงบแล้ว ถ้ามันจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ถ้ามันเห็นนะ เจ้าหนี้ เจ้าหนี้ไปเห็นลูกหนี้แล้วทวงเงินได้จากลูกหนี้น่ะ มันมีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร

จิตเห็นอาการของจิต ถ้าจิตเห็นอาการของจิต จิตมันจับต้องของมัน มันมีความรู้สึกอย่างไร ไอ้นี่ไม่มีอะไรเลย นึกเอาจินตนาการเอา ว่ากันไป ดูหนังสารคดีไง หนังสารคดีเขาสอนอย่างนั้น แต่ไม่เคยในพื้นที่ ไม่เคยเห็น ไม่เคยเป็น ถ้ามันเห็นมันเป็นขึ้นมามันจะเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา พ้นจากความเป็นหนี้ นี่พูดถึงพ้นจากความเป็นหนี้ เป็นหนี้เวรหนี้กรรม

กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน กรรม การกระทำของเรา ทำให้เราเกิดจริตนิสัย นิสัยใจคอเรานี่แหละ เราเป็นคนทำมาทั้งนั้นน่ะ พันธุกรรมของพ่อของแม่มันเป็นเรื่องโครงสร้างของร่างกาย แต่ความรู้สึกนึกคิด ครอบครัวครอบครัวหนึ่งมีลูกมาหลายๆ คน ลูกจะนิสัยไม่เหมือนกัน นิสัยจะให้เหมือนกันหาได้ยากมาก แต่ในครอบครัวนั้นพันธุกรรมพ่อแม่หมด มีแต่ว่าหนักทางพ่อ หนักทางแม่ทั้งนั้น

พันธุกรรมของจิตๆ การกระทำของเรา เราทำของเรามาไง ฉะนั้น เราทำของเรามา เวลาเรามีความรู้สึกไม่พอใจความคิดของเรา เรามีความรู้สึกไม่พอใจความเป็นไปของเรา เราโทษคนนู้น โทษคนนี้

โทษใครไม่ได้ ทำมาเองทั้งนั้น ทำมาเองทั้งนั้น แต่ทำมาเอง ขณะทำ เราไม่รู้ว่าทำแล้วได้ผลสิ่งใดไง เหมือนพ่อแม่สอนลูก ไม่ควรทำอย่างนั้น ไม่ควรทำอย่างนั้น ไอ้ลูกมันเถียงตลอดเลย ลูกมันเถียงทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาพอจริตนิสัยมันชอบอย่างนั้นแล้ว ไม่อยากเป็นอย่างนั้น ไม่อยากเป็น

ไม่อยากเป็นอย่างนั้นก็ทำมาเอง ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นก็ไม่ทำมาตั้งแต่ต้น ถ้าต้นไม่ทำมา ไม่ฝึกมาอย่างนั้น ไม่มีการซับซ้อนมาอย่างนั้น จิตมันก็ไม่มีความรู้สึกนึกคิดอย่างนั้น ถ้ามันมีความรู้สึกนึกคิดอย่างนั้น แล้วก็มาโต้แย้ง มาไม่พอใจมันไง

นี่ก็เหมือนกัน พอเวลาพ่อแม่เขาสั่งเขาสอน พ่อแม่สอนเพราะต้องการให้ลูกเป็นคนดีไง ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติมาท่านรู้ของท่านเลยนะ บุคคล ๔ คู่ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล บุคคล ๔ คู่ มรรค ๔ มรรค ๔ พัฒนาการของจิต มันวิวัฒนาการของมันน่ะ มันวิวัฒนาการของมันอย่างไร แล้วท่านพยายามเปิดทาง เปิดทางให้ ท่านสอนมาตลอด แต่เราไม่รู้ไม่เห็นไง อยากมีคนนับหน้าถือตา อยากมีคนรู้จักเยอะๆ อยากทำอะไรคนก็เชื่อถือ อยากทำอะไร คนก็เห็นด้วย

ไอ้นั่นมันโลกธรรม ๘ มันไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติเลย เวลาปฏิบัติเขาหลีกเร้น เขาหาที่สงบระงับ เพราะอะไร เพราะไม่ให้มันฟูขึ้นมา ไม่ให้ใจมันฟูขึ้นมา นี่ไง เวลาพ่อแม่สอน ลูกมันก็ขัดแย้ง พ่อแม่สอน ลูกมันก็ดิ้นรนไง เวลาครูบาอาจารย์ท่านจะสอนสัทธิวิหาริก ท่านสอนในหมู่สงฆ์ของท่าน มันต้องคนมีบารมี

มันถึงบอกว่า เวลาหลวงตาท่านแสวงหาครูบอาจารย์ของท่าน ท่านบอกว่าท่านแสวงหาครูบาอาจารย์ของท่าน ท่านแสวงหาครูบาอาจารย์ของท่าน แสวงหาครูบาอาจารย์ที่ว่าท่านชี้เข้ามาในใจของเราได้ แสวงหาครูบาอาจารย์ที่ท่านบอกได้จริง นี่ท่านแสวงหาของท่าน คนที่เขามีหลักมีเกณฑ์เขาแสวงหาอย่างนั้น แล้วถ้ามันชี้เข้ามาด้วยความจริง มันเป็นความจริงขึ้นมา นี่พูดถึงว่าเวลาเป็นความจริง

ฉะนั้น เวลาถ้าเราปฏิบัติไปมันก็เป็นความเห็นของเราทั้งนั้นน่ะ มันเป็นหนี้เป็นสิน เป็นหนี้เป็นสินคืออาการทั้งหมด คือความรู้สึกนึกคิดทั้งหมด คือการกระทำของเรา เราจินตนาการของเราไป เพราะมันไม่มีความจริง

ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา ความจริงน่ะมันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกนะ สะอึกทุกทีล่ะ ถ้าไปรู้ไปเห็น ผงะทั้งนั้นน่ะ เวลาผงะขึ้นมา มันนึกไม่ถึง ของอยู่กับเรา ของละเอียดลึกซึ้งอยู่กับเรา แต่เรารู้ไม่ได้ ทำไมต้องให้คนอื่นบอก แล้วคนอื่นบอก เราก็ยังรู้ไม่ได้

คนอื่นบอกแล้วเราพยายามขวนขวาย พยายามกระทำของเรา แล้วถ้าวันไหนมันทวนกระแสกลับ ความคิดที่มันทวนกระแสกลับเข้าไปในธาตุรู้ ความคิดที่มันย้อนตัวมันกลับเข้าไปสู่ต้นเหตุของความคิด พอมันเห็นนะ โอ้โฮ! มันสะอึก มันสะอึก แล้วมันสะอึก โอ้โฮ! โอ้โฮ! ทำไมมันโง่ได้ขนาดนี้ ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติแล้วท่านบอกทำไมมันโง่ได้ขนาดนี้ ทำไมโง่ได้ขนาดนี้

มันก็โง่จริงๆ น่ะ เพราะมันเป็นวิทยาศาสตร์ มันเป็นสัจจะ มันเป็นวัฏฏะ คือธรรมชาติของมันเป็นอย่างนี้ ธรรมชาติ ธรรมชาติคือสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตทุกประเภทปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ แต่ทุกคนหาเวรหากรรม สร้างกรรม เอาความทุกข์ใส่ตนทั้งนั้นเลย ไม่มีเลย มีแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วถึงได้สอนวิธีการของเรา

เรามาเสียสละกันอยู่นี่ เรามาทำสวนกระแสทางโลกหมดเลย ทางโลกเขาต้องกว้านเข้ามาเป็นของเราหมดเลย ของเรา เราจะสละออกไปหมดเลย แล้วสละ สละแต่วัตถุ แต่ถ้ามันฝึกหัดไปถึงจริงๆ แล้วมันจะไปสู่ภายใน ถ้าสู่ภายในมันเป็นความจริงขึ้นมา มันจะเกิดมรรคเกิดผล

มนุษย์มีคุณค่าที่นี่ คุณค่าของมนุษย์คือหัวใจ คือความรู้สึกอันนั้น ความรู้สึกอันนั้นหมดอายุขัยตายไป ความรู้สึกอันนั้นเคลื่อนออกจากตนนี้ แล้วมันยังเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ สิ่งที่มีค่าที่สุดคือหัวใจของเรา คือความรู้สึกของเรา แล้วความรู้สึกของเรามันจะหล่อหลอมด้วยอะไร มันจะหล่อหลอมด้วยทาน

การหล่อหลอม การวิวัฒนาการ เราหล่อหลอมมา เราทนให้ครูบาอาจารย์โขกสับ ให้พ่อแม่คอยทะนุถนอม แล้วพยายามทำของเรา แต่เราไม่รู้ไม่เห็น เราทำของเราไม่ได้ แต่ถ้าฝืนทำๆ ต่อไป ถ้าฝืนทำต่อไปแล้ว ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรม ครูบาอาจารย์เราท่านกราบธรรม กราบธรรมๆ ธรรมที่ไหนล่ะ

เวลากิเลสในหัวใจมันเป็นกิเลสทั้งหมด ถ้าเป็นธรรม ธรรมทั้งแท่ง ธรรมทั้งแท่งก็อยู่กับความรู้สึกอันนั้นน่ะ ความรู้สึกเป็นธรรมธาตุ สิ่งนั้นเป็นธาตุธรรม เป็นธาตุธรรมที่ไม่เคลื่อนไหว คงที่ตายตัว อกุปปธรรม เอวัง