เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๔ พ.ค. ๒๕๕๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อ้าว! ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ ธรรมะนี้สำคัญ จะทุกข์จะยากขนาดไหน เราขวนขวายกันอยู่ก็เพื่อหาความสุขทางใจไง ความสุขทางหัวใจทำไมต้องไปหาล่ะ เราอยากหาความสุขทางโลก ความสุขทางโลกเขาแสวงหากันอยู่นี่ เราจะหาความสุขกัน เพราะเขาคิดว่าจะเป็นความสุขไง เสร็จแล้วมันก็เป็นความทุกข์ทั้งนั้นแหละ มันไม่พอหรอก ตัณหามันล้นฝั่ง มันได้สิ่งใดมามันก็จะต้องให้มากขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ นั่นล่ะ มันไม่มีความสุขหรอก

ถ้าความสุข ความสุขที่เราจะหาได้ หาได้จากหัวใจของเรา หาได้จากหัวใจของเราได้อย่างไร หาได้จากหัวใจของเราต่อเมื่อเราประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถ้ามันสมควรแก่ธรรม สัจจะความจริงอันนั้นมันจะมีความสงบระงับอันนั้น แต่ถ้าเราแสวงหาอันนี้ เรายังไม่ได้สัจจะความจริงอันนั้น เราก็ต้องมีความทุกข์ความยากต่อไป ความทุกข์ความยากอย่างนี้ ความทุกข์ความยากเพื่อจะหาความสุขไง แต่ความทุกข์ความยากของเราที่แสวงหาเพื่อจะเป็นความสุขๆ ทางโลก ยิ่งแสวงหาเท่าไรมันก็ยิ่งมีความทุกข์ความยากต่อเนื่องกันไป

แต่ถ้าความทุกข์ความยาก ความทุกข์มันทุกข์ยิ่งกว่าการทำมาหากินทางโลกอีก ถ้าจะเอาความจริงกัน เพราะความจริง เพราะกิเลสมันปลิ้นปล้อน จะทำอย่างนั้น จะได้อย่างนี้ มันเฉียดไปเฉียดมา เฉียดไปเฉียดมานะ เวลาประพฤติปฏิบัติ มันไม่ลงมัชฌิมาปฏิปทาสัจจะความจริงสักทีหนึ่ง ถ้าไม่ลงสัจจะความจริงสักทีหนึ่ง มันเป็นเพราะอะไรล่ะ เป็นเพราะอำนาจวาสนานี่ไง

ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาที่นี่ ทาน ศีล ภาวนา ถ้าเราได้ทำมานะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย เพราะทำมาอย่างนั้นๆ เวลาอาฬารดาบส อุทกดาบสยกย่องสรรเสริญเลย “เจ้าชายสิทธัตถะมีความรู้เหมือนเรา มีความสามารถเหมือนเรา เป็นศาสดาสอนได้”

เจ้าชายสิทธัตถะปฏิเสธนะว่าฉันทุกข์ๆ เพราะอำนาจวาสนาอันนั้นไง ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขยนั่นน่ะมันสร้างมา บารมีแก่กล้า อินทรีย์แก่กล้า ใครจะมายกยอปอปั้นอย่างไรมันก็ไม่เชื่อ ไม่หลงไปกับเขา

ไอ้ของเราประพฤติปฏิบัติเกือบเป็นเกือบตาย เฉียดไปเฉียดมา เฉียดไปเฉียดมาอยู่นี่ เฉียดไปเฉียดมา มันก็อยู่ที่การกระทำไง เฉียดไปเฉียดมามันก็เวไนยสัตว์ เวไนยสัตว์มันต้องขวนขวาย การขวนขวายนะ ไม่ใช่ขิปปาภิญญา

ขิปปาภิญญาปฏิบัติง่ายรู้ง่าย แต่กว่าจะปฏิบัติง่ายรู้ง่าย เขาต้องทุ่มเทมา สิ่งที่ทุ่มเทมามันต้องมีเหตุมีผลทั้งนั้นน่ะ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ไม่มีอะไรลอยมาจากฟ้า ความรู้สึกนึกคิดของเราที่มันอยู่ในหัวใจเราก็เราทำมาทั้งนั้น เราทำของเรามา มันจะมีความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ ความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ คนอื่นทำไมเขานึกคิดแต่เรื่องดีๆ คนอื่นเขานึกคิด เขาคิดของเขา เขาคิดเป็นประโยชน์ของเขา ไอ้เราคิดทีไรหัวทิ่มบ่อทุกทีเลย คิดทีไรมีแต่ความทุกข์ความยาก คิดทีไรมีแต่ความทุกข์ความยาก

ความทุกข์ความยาก จริตนิสัยไง พันธุกรรมมันแต่งมาอย่างนี้ไง ถ้าพันธุกรรมมันแต่งมาอย่างนี้ ถ้าคนเขาแต่งมาดี ทำไมคนเขาแต่งมาดี ดูสิ เจ้าชายสิทธัตถะจะได้เป็นกษัตริย์ พ่อแม่ดูแลอย่างดีเลย แต่จิตใจมันเรียกร้อง เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย มันต้องมีฝั่งตรงข้าม ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย กำลังจะได้สถาปนาเป็นกษัตริย์นะ มีครอบครัวร่มเย็นเป็นสุขทั้งนั้น ลูกเพิ่งเกิด ทุกอย่างสมบูรณ์หมดไปเลย แต่ทำไมท่านคิดออกล่ะ ท่านไม่คิดอยู่ล่ะ ทำไมท่านคิดออกล่ะ เพราะท่านคิดออกของท่าน นี่ไง คนสร้างอำนาจวาสนาบารมีมาไง

แต่ของเราคิดไม่ได้ โอ้โฮ! ทุกข์ เพราะอะไร เพราะพระเวลาบวชมาแล้วนะ เวลาจะออกธุดงค์ไม่กล้า ออกธุดงค์ โอ๋ย! มันทุกข์มากๆ มันทุกข์มากนะ ก็เราอยากจะเผชิญกับความจริงไง อะไรมันทุกข์นะ ทุกข์มันอยู่ไหน ไอ้ที่ว่าทุกข์ควรกำหนดๆ เราพยายามแสวงหามันอยู่นี่ เราแสวงหามันอยู่นี่แล้วยังไม่เจอสักทีไง ออกไปธุดงค์ ออกไปธุดงค์ ไปทุกข์ไปยากขึ้นมา ไปทุกข์ไปยากก็เพื่อหาหัวใจของตน เพราะสิ่งที่เราปกป้องมันไว้ ความวิตกกังวลที่ปกป้องมันไว้ มันเลยไม่เห็นสักทีหนึ่ง ไปเผชิญกับความจริงสักทีเลย พอเผชิญกับความจริงสักทีเลย เวลาเผชิญกับความทุกข์ความยากขึ้นมา ความทุกข์ความยากมันก็แค่ถ้าเรามีสติปัญญา มันก็ผ่านพ้นไปได้ ถ้าเราผ่านพ้นไปได้ มันจะมีอะไรมาหลอกลวงอีกวะ มันจะมีอะไรมาหลอกว่ามันจะมาปิดกั้นเราได้อีกล่ะ ถ้าเราเผชิญกับมันแล้ว เราได้แก้ไขแล้ว เราได้ผ่านไปแล้ว มันจะมีอะไรมาหลอกเราอีกล่ะ

แต่ถ้าเรายังไม่เผชิญกับมันเลย ทุกอย่างมีแต่ความวิตกกังวล นิวรณธรรม นิวรณธรรมมันปิดกั้นไปหมดเลย เราจะขวนขวายทำสิ่งใดเราก็ทำไม่ได้ เราวิตกกังวลไปทั้งนั้นเลย แต่ถ้าเราเผชิญกับความจริงไปแล้ว ความจริงมันมีอะไรล่ะ ความจริงมีแต่ความคาดหมาย มีแต่ตัณหาความทะยานอยาก มีแต่ความกลัวทั้งนั้นเลย แต่ถ้าเราเผชิญกับความจริงแล้วมันไม่เห็นมีอะไรน่ากลัวเลย มันก็เรื่องธรรมดา ก็เรามาหาของเราไง เรามาหาธรรมะวิเวกไง ถ้าวิเวกมันก็สงบสงัดอย่างนี้ไง ความสงบ กายวิเวก จิตวิเวก ถ้ามันวิเวกมาจากภายในได้ ถ้าภายในวิเวกได้ พอมันได้ขึ้นมา จะเอาอีก ไม่ได้แล้ว กิเลสมันรู้ทันไปทั้งนั้นเลยนะ เวลาจะเอาจริงขึ้นมาต้องให้หนักกว่านั้น ต้องให้หนักกว่านั้น นี่การทุ่มเทของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเป็นอย่างนั้นไง

เวลาปฏิบัติไปแล้วมันเคยได้ แล้วมันเคยได้ ได้มาเพราะเหตุใด แล้วถ้าจะเอาอีก จะเอาให้ได้กว่านั้น มันต้องให้มากกว่านั้นๆ ถ้ามากกว่านั้น พระเราจะทุ่มเท อดนอนผ่อนอาหารเป็นเครื่องปกติเรื่องธรรมดา เรื่องปกติธรรมดาจะแลกมาด้วยอะไรล่ะ เราแลกมาด้วยอาบเหงื่อต่างน้ำ แลกมาด้วยปัจจัยเครื่องอาศัย

นี่ก็เหมือนกัน อาบเหงื่อต่างน้ำมา แลกด้วยข้อวัตรปฏิบัติ แลกมาเพื่อความสงบระงับในหัวใจ ถ้าความสงบระงับในหัวใจ สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี ถ้ามันสงบระงับขึ้นมาแล้วเราใช้สติปัญญาของเราแยกแยะขึ้นไป มันจะเกิดภาวนามยปัญญา ถ้าภาวนามยปัญญาคือวิปัสสนาปัญญา ปัญญาวิปัสสนาคือปัญญารู้แจ้ง รู้แจ้งในอะไร รู้แจ้งในความวิตกกังวล รู้แจ้งในอุปาทาน รู้แจ้งกิเลสที่มันหลอกในใจ มันรู้แจ้งไปหมด มันไม่เห็นมีอะไรเลย พอไม่มีอะไร คนที่เขาคิดดี เขามีแต่ปัญญา ไปไหนไม่ต้องติดอะไรไปเลย เขาเอาตัวรอดได้ตลอดเวลา ไปที่ไหนเขาไม่เคยวิตกกังวลใดๆ ทั้งสิ้น เขามีปัญญาในหัวเขาไป เขาเดินไป เขาเผชิญสิ่งใด เขาแก้ไขของเขาไปได้ เขาไม่เคยวิตกกังวลอะไรกับสิ่งใดๆ เลย ไอ้เรามันบ้าหอบฟาง นู่นก็กลัว นี่ก็กลัว ขนไปทั่วเลย จะไปไหน สิบล้อขนไม่หมดแล้วกันแหละ แล้วไม่ได้ใช้ ไม่ได้ใช้ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เลย นี่มันวิตกกังวลไปหมดเลย เรากลัวไปหมดเลย แต่ถ้ามันไปเจอความจริงแล้วมีอะไร มันมีอะไร ไม่เห็นมันมีอะไรเลย มันก็เป็นเรื่องปกติทั้งนั้นน่ะ มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้ไง

สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา มันเป็นอนิจจัง เป็นอนิจจังแล้วถ้าเรามีสติปัญญาไปแล้ว เราเท่าทันไปแล้วเราไม่ทุกข์ สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ แต่ถ้าเราเท่าทันด้วยปัญญา สิ่งใดเป็นอนิจจัง อนิจจังมันก็แปรปรวนเป็นธรรมดา ธรรมดา มันไม่ทุกข์ ถ้ามันไม่ทุกข์ขึ้นมา ไม่ทุกข์ ไม่วิตกกังวลขึ้นมา เรามีมากกว่านั้นอีก ความรู้สึกของเรา ปัญญาของเรามันเปลี่ยนแปลงไปเร็วกว่านั้นอีก มันเปลี่ยนแปลงไปเร็วกว่าความเป็นอนิจจังที่มันจะแปรสภาพให้เราเห็นอีก ปัญญาเราไปล่วงหน้าแล้ว เราไปดักหน้าแล้ว ปัญญาเราไปดักหน้าแล้ว เดี๋ยวมันจะเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวจะเป็นอย่างนั้น รู้เท่าหมดเลย แล้วมันเป็นมาๆ มันก็เป็นมาอย่างนั้นจริงๆ แล้วมันมีอะไรล่ะ

ดูปัญญา เวลาปัญญามันเกิดแล้ว เพราะปัญญาเราล่วงหน้าไปแล้ว ปัญญาเรารู้เท่าหมดแล้ว สรรพสิ่งมันจะเป็นอย่างนั้น มันจะแปรสภาพอย่างนั้น มันถึงเป็นอย่างนั้น แล้วเรารู้ไปหมดแล้ว มันไม่มีอะไรจะมาหลอกลวงเราได้ ถ้าไม่มีอะไรหลอกลวงเราได้ เวลาประพฤติปฏิบัติ อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค นี่ไง รู้ล่วงหน้าไปๆ เวลาเรารู้ธรรมะ รู้ตอบโจทย์ไป มันก็เลยไม่ได้ธรรมะไง มันก็รู้ไปหมดแล้ว ปฏิบัติ ไอ้นี่ก็รู้แล้ว เทศน์มา ฟังจนหูเปื่อยแล้ว

พูดจนชินปาก ฟังจนชินหู แต่หัวใจมันด้าน หัวใจมันด้าน หัวใจมันดื้อมันด้านไง ถ้ามันไม่เป็นปัจจุบันไง มันไม่เป็นสมบัติของเราไง ไม่เป็นสมบัติ เรายืมมาไง ดูสิ เวลาเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่ามันเป็นการเล่านิทาน มันเป็นนิทาน มันฟังก็สนุกดีนะ

แต่ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา เป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกของเราล่ะ มันฆ่ากิเลสซึ่งๆ หน้าเลย กิเลสมันฆ่าต่อหน้าเลย ยถาภูตํ กิเลสมันตาย เกิดญาณทัสสนะ เกิดความรู้ เกิดความรู้แจ้ง นี่กิเลสมันตายไปแล้วยังรู้ว่ากิเลสมันตายอย่างไรเลย แล้วมันตายไปแล้ว กิเลสมันตายไปแล้ว กิเลสตายแล้วมันจะเกิดมาได้อีกไหม ถ้ากิเลสมันเกิดอีกไม่ได้เลย นี่ความรู้แจ้ง ความรู้แจ้งอันนั้น อกุปปธรรมๆ ความคงที่อันนี้

ถ้ามันมีความจริงๆ ขึ้นมา เวลาประพฤติปฏิบัติ สันทิฏฐิโก มันรู้จำเพาะตน มันสำคัญมาก สำคัญขึ้นมา แต่เวลาประพฤติปฏิบัติมันยากไปหมด เพราะเราต้องมีการศึกษาไง พอเราปฏิบัติไป เราก็กลัวเราจะผิดพลาดไป เราจะมีการศึกษา ถ้ามีการศึกษานะ เริ่มต้นปฏิบัติงุ่มง่ามๆ ไปซ้ายก็ไม่ได้ ขวาก็ไม่ได้ ทำอะไรไม่ถูกสักอย่าง

เราก็ต้องศึกษา เวลาศึกษามาแล้ว ยิ่งตอนนี้เลยยุ่งเป็นสองเท่าเลย เพราะธรรมดากิเลสมันก็พายุ่งอยู่แล้ว แล้วศึกษามาจะทำถูกหรือไม่ถูก ทำแล้วจะได้หรือไม่ได้ ทำแล้วจริงหรือไม่จริง ฉะนั้น ศึกษามาแล้ววางไว้ ศึกษามาเป็นแนวทาง เพราะศึกษาแล้วกิเลสมันหยิบฉวยมาเป็นโทษเราหมดเลย วางให้หมด ศึกษามาแล้ว พอมีแนวทางแล้ว เริ่มต้นโดยพื้นฐาน หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ต้องทำความสงบของใจเข้ามาให้ได้ ถ้าใจสงบเข้ามาได้ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติใหม่ เริ่มต้นขวนขวายไปเรื่อย ถ้ามันมีอำนาจวาสนาบารมีขึ้นมา มันมีจริตนิสัย มันก็รู้มันก็เห็นของมันไป แต่มันรู้มันเห็นไปทางโลก แต่พยายามเทียบเคียงกับธรรมะไง มันก็เลยกลายเป็นอุปาทานไปเรื่อย แต่พอปฏิบัติไป พออุปาทานมันหลอก หลอกจนเหนื่อย หลอกจนล้มลุกคลุกคลานแล้ว พอปฏิบัติจะรู้เท่าแล้ว พอเป็นความจริงขึ้นมานะ เออ! ไอ้ที่รู้ๆ มานั่นไม่ใช่เลย ไอ้ที่รู้ต่อหน้านี่ใช่ ใช่เพราะอะไร ใช่เพราะจิตมันสงบแล้ว จิตสงบแล้วมันเห็นความจริงแล้ว

ถ้าเห็นความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา จับต้องแล้ว เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็มีอาการไข้ใช่ไหม อาการไข้ แล้วอาการไข้นั้นหายไป เราก็รู้อาการไข้นั้นหายไปใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน เวลาคนเราไม่เจ็บไข้ได้ป่วยก็คิดว่าเราเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็เตรียมวัคซีนฉีดแล้วฉีดอีกเลย แต่เวลามันจะเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาแล้ว วัคซีนอะไรก็ต้านไม่ได้ เพราะมันป่วยแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตมันสงบแล้ว ถ้ามันจับต้องได้ เหมือนคนป่วย คนป่วยที่มันเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วมันรักษาตัวมันเอง เวลาไข้มันหายไป มันแตกต่างกันไหม แตกต่างกับคนที่ไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาแล้วนึกว่าตัวเองเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาทำอะไรไปก็คิดว่าหายอย่างนั้น คิดว่าหายอย่างนี้ แล้วมันหายไหม เพราะมันไม่ได้ป่วยจริงๆ ไง เวลามันป่วยจริงๆ ขึ้นมามันจะรู้ไง เพราะจิตสงบแล้วมันเห็นตามความเป็นจริง มันจะรู้ไง

พอจิตมันสงบเห็นความจริง อ๋อ! ภาวนามยปัญญาเป็นอย่างนี้ เพราะภาวนามยปัญญามันสำรอกมันคายอย่างนี้ แล้วมันหาย มันหายอย่างนี้ แล้วมันหายแล้วมันจะมีเชื้อไขอยู่ในหัวใจ มันยังไม่จบสิ้นไป ภาวนาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ การซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพราะอะไร เพราะคนเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วเดี๋ยวก็หาย หายแล้วเดี๋ยวก็ป่วย ป่วยแล้วก็หาย มันอยู่อย่างนี้ ยังไม่ตาย ถ้าตายแล้วจบ ถ้าตายแล้วจบ

แต่มันก็ยังไม่ตาย ยังไม่ตาย ร่างกายนี้เป็นรวงรังของเชื้อโรคไง จิตใจก็เหมือนกัน จิตใจถ้ามันยังมีกิเลสอยู่ ถ้ากิเลสยังไม่ตายไป มันก็เหมือนกับร่างกายที่ยังไม่ตาย มันยังฟื้นได้ นี่ก็เหมือนกัน เวลามันเสื่อมของมัน พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ไป รักษาแล้วรักษาเล่าๆ จนกว่ามันจะหายขาด ถ้ามันหายขาด มันไม่มีเชื้อโรค ไม่มีอะไรสิ่งใดทั้งสิ้น นี่ก็เหมือนกัน ไม่มีอวิชชา ไม่มีความสงสัยไง มันแจ่มแจ้งในหัวใจไง ถ้ามันแจ่มแจ้งในหัวใจ นี่ไง ที่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไปแล้ว

เวลาหลวงปู่มั่น เวลาหลวงตาท่านพูดประจำ อยู่หน้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ถาม ถ้าคนจริงไม่เคยถามเลย จริงตลอด ถ้ามันจริงนะ มันไม่มีช่องว่าง ไม่มีช่องว่าง ไม่มีสิ่งใดให้กิเลสมันทิ่มเข้ามาได้เลย ไม่มี ไม่มีช่องว่างให้กิเลสมันหลอกลวงได้เลยถ้ามันเป็นจริง

ถ้ามันไม่จริง มันหลอก กิเลสไม่ต้องหลอกหรอก ไปเชิญมันมาเลย เฮ้ย! จริงหรือเปล่าวะ สงสัย เฮ้ย! มันจริงหรือเปล่า

ไม่ต้องให้กิเลสมันหลอกหรอก ตัวเองไปกว้านมันมาเอง

แต่ถ้ามันเป็นจริงแล้วนะ ไม่มีช่องว่างให้กิเลสมันได้ทิ่มได้ตำเลย นี่ถ้าเป็นความจริง แล้วความจริงอย่างนั้นเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงให้เป็นผู้ที่รู้จริง ให้เป็นสันทิฏฐิโก ให้เป็นความจริงในหัวใจดวงนั้น มันเหมือนกับเรื่องของสงฆ์ เทวทัตจะไปขอปกครองสงฆ์ๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้ปกครองสงฆ์ ให้สงฆ์ปกครองกันเอง ให้สงฆ์ปกครองกันเองคือคนที่มีชีวิตด้วยกัน คนที่เป็นสงฆ์ด้วยกันมันมีความรู้สึกเหมือนกัน มันดูแลกัน

นี่ก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเป็นสัจจะความจริงๆ ให้มันรู้ในใจดวงนั้น ดวงใจที่กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันครอบงำอยู่นั่นน่ะ ถ้ามันเปิดเผยขึ้นมาในดวงใจนั้นน่ะ ให้มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ให้มันรู้ในดวงใจนั้น แล้วรู้ในดวงใจนั้น เวลาจะกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบแล้วกราบเล่า กราบแล้วกราบเล่าคือกราบจากใจของเขาไง กราบจากความเป็นจริงอันนั้นไง ถ้าเป็นความจริงอันนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ได้อย่างไร

คนที่จะรู้อย่างนี้ได้ เพราะคนที่ล้มลุกคลุกคลานนะ คนที่ล้มลุกคลุกคลานแล้วมันแจ่มแจ้งในหัวใจ คนที่จะเป็นจะตายแล้วมันรู้ขึ้นมา มันจะเห็นค่าเลยว่า แล้วคนอื่นรู้ได้อย่างไร แล้วครูบาอาจารย์ชี้นำมันเป็นอย่างไร นี่ไง เอาชีวิตแลกมาๆ การที่เอาชีวิตแลกมาแล้วมันจะเป็นจริงขึ้นมา มันทำมาขนาดนั้น แต่มันก็เป็นความรู้เฉพาะตนในใจอันนั้น แล้วถ้าครูบาอาจารย์ของเรามีคุณธรรมในใจอย่างนี้ ถ้ามีคุณธรรมในใจอย่างนี้ มันแลกมาด้วยอะไรล่ะ

มันแลกมาด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา แลกมาด้วยข้อวัตรปฏิบัติ แลกมาด้วยสัมมาทิฏฐิ แลกมาด้วยความกตัญญูกตเวที แลกมาจากความรู้บุญคุณ รู้บุญรู้คุณพ่อแม่ครูจารย์ เป็นทั้งพ่อ เป็นทั้งแม่ เป็นทั้งครูบาอาจารย์ เป็นผู้ที่อบรมสั่งสอน เป็นผู้ที่ให้อุบาย เป็นผู้ที่ชักนำ มันแลกมาด้วยอะไรล่ะ เวลาระลึกถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์ พวกนี้จะสะอึกเลยล่ะ สำนึก

เวลาเราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ เวลาเราอยู่กับหลวงตา เวลาพูดเรื่องหลวงปู่มั่นทีไรท่านน้ำตาไหลทุกที หลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกพูดถึงหลวงปู่มั่นไม่ได้เลย ถ้าพูดถึงหลวงปู่มั่น น้ำตาไหลพรากเลย ท่านเคารพบูชาของท่าน เอวัง