ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เคารพตน

๑๓ ส.ค. ๒๕๕๙

เคารพตน

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๙

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : เรื่อง “กราบขอขมาหลวงพ่อ

กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมกราบขอขมาที่ผมได้เคยนอนฟังธรรมะของหลวงพ่อ ขอหลวงพ่อจงงดโทษให้กระผมด้วยครับ

ตอบ : งดโทษให้ เรางดโทษให้อยู่แล้ว การงดโทษให้ เพราะภาษาเรา การที่เราแสดงธรรมหรือการที่มันมีสื่อออกไป สื่อนี้เวลาคนที่เขาศรัทธาความเชื่อ สื่อนั้นจะมีคุณค่ามาก เวลาสื่อนี้ ถ้าพูดถึงเขาไม่เชื่อหรือเขาดูถูกดูแคลน สื่อนั้นเขาจะทิ้งๆ ขว้างๆ ไง

นี่ก็เหมือนกัน เวลาหลวงตาเมื่อก่อนนะ ตอนก่อนที่หลวงตาท่านออกมาโครงการช่วยชาติฯ ท่านจะไม่ให้ใครถ่ายรูปเลย แล้วท่านจะไม่ให้ใครอัดรูปไปแจกเลย ท่านบอกว่า ท่านเรียนอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วเห็นรูปครูบาอาจารย์วางอยู่ตามฟุตพาท แล้วเห็นประชาชนถนนคนเดินเขาเดินผ่านไปผ่านมา ชายกระโปรงเขาไปคลุมถึงรูปพระต่างๆ ท่านเห็นน่ะ

ที่ท่านไม่ยอมให้ใครถ่ายรูป ท่านไม่ยอมให้ใครเอารูปไป เพราะว่าเวลาถ้าเขาศรัทธาเขาก็เก็บไว้บนหิ้ง พอเขาไม่ศรัทธาเขาก็โยนทิ้งกลางถนนให้รถมันเหยียบย่ำ ให้คนเดินเหยียบไปเหยียบมา อันนี้พูดถึงว่าถ้ามันศรัทธาไง ฉะนั้น เวลาศรัทธา เขาก็เคารพบูชาของเขา แต่ถ้าศรัทธาของเขาเสื่อมถอยลงไป เขาก็ดูถูกดูแคลน

อันนี้ก็เหมือนกัน ที่เวลาเราแสดงธรรมออกไป มันมีแผ่นซีดีออกไป มันมีสื่อออกไป ถ้าเขาฟังแล้วเขาถูกใจของเขา เขาก็เก็บไว้ฟังของเขา แต่ถ้าเขาฟังแล้วเขาบอกว่า เอออันนี้มันใช้ไม่ได้ เขาก็โยนทิ้ง คำว่า “โยนทิ้ง” แล้วเราจะไปโกรธใครล่ะ เราจะไปโกรธใคร เราไม่โกรธใครเพราะเราผลิตสื่อออกไป คำว่า “ผลิตสื่อออกไป

ฉะนั้น สิ่งที่เขาบอกว่าเขาขอขมาลาโทษเพราะว่าเขานอนฟังเทศน์ของเรา ขอหลวงพ่องดโทษด้วย

งด งดตั้งแต่ยังไม่ได้ขอนู่นน่ะ เพราะเราทำเป็นสื่อออกไปใช่ไหม สื่อออกไปเขาก็ใช้ประโยชน์ของเขา ถ้าใช้ประโยชน์ของเขา เราไม่ถือโทษโกรธใครทั้งสิ้น สิ่งที่ทำออกไปแล้ว พอเราทำออกไปแล้วสิ่งนั้นเป็นสื่อ สื่อมันไม่มีชีวิตจิตใจ แต่เวลาเราทำขึ้นมา เราทำด้วยความหวังดีของเรา

ความหวังดีของเราอยู่ที่ไหน ความหวังดีของเรา ตอนที่เราบวชใหม่ๆ เราบวชใหม่ๆ เราประพฤติปฏิบัติ เราไปหาครูบาอาจารย์ เพราะคนบวชใหม่ คนปฏิบัติใหม่มันมืดแปดด้าน เราไปหาองค์ไหนๆ เวลาไปหา ฐานของเจดีย์มันกว้างไง พระที่บวชใหม่ๆ ด้วยกันฐานมันกว้างไง แต่ถ้าห้าพรรษาสิบพรรษามันก็แคบลง ยิ่งครูบาอาจารย์ที่เป็นจริง ยอดเจดีย์แหลมๆ อันเดียวแต่ฐานมันกว้าง ทีนี้เราอยู่ที่ฐานมันกว้าง เวลาไปศึกษากับใครคุยกับใครมันก็ผิดๆ ถูกๆ ไอ้ตรงนี้แหละทำให้เห็นน้ำใจมาก เห็นใจของคนที่ปฏิบัติไง

ทีนี้อันนี้มันก็ย้อนกลับไปที่หลวงตา หลวงตาท่านบอกว่าท่านปรารถนาจะปฏิบัตินะ เวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เชื่อมั่นหมด แต่เวลาจะปฏิบัติจริงๆ มันก็สงสัย สงสัยแล้ว ท่านก็เลยบอกว่า ขอให้มีอาจารย์องค์ใดก็แล้วแต่ที่แก้ความสงสัยของท่านได้ ใจของท่านก็ปักลงที่หลวงปู่มั่นน่ะ แล้วท่านก็ไปหาหลวงปู่มั่น

เวลาหลวงปู่มั่นชี้เข้ามา “มหา มาหาอะไร มาหามรรคผลนิพพานใช่ไหม มรรคผลนิพพานไม่ใช่มหาวิ่งหาหรอก มันอยู่ในใจของมหานั่นแหละ” มันอยู่ในหัวใจของเรา อยู่ที่ความรู้สึกเรานี่แหละ เราอยากได้เราก็วิ่งหาๆ แต่ความจริงก็อยู่ในใจเรานี่แหละ ฉะนั้น เวลาท่านสอนพุทโธๆ กลับเข้ามาในใจของหลวงตา

เวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริงท่านก็สอนของท่านอย่างนั้น คำสอนอย่างนั้น แล้วเวลาสอนแล้วถ้าเราปฏิบัติไปมันรู้ชัดๆๆ ขึ้นมามันยิ่งเคารพยิ่งบูชา มันยิ่งเคารพยิ่งบูชามาก ทีนี้การเคารพบูชา จะย้อนกลับมาตรงนี้แล้ว ตรงที่เวลาที่ว่า เรานอนฟังเทศน์ได้หรือไม่ เรานอนฟังเทศน์ได้หรือไม่

เรานอนฟังเทศน์ไม่ได้ แต่ถ้าเราพิการเราต้องนอนแหมะอยู่อย่างนี้ แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะ เราเป็นคนแบบว่าเส้นเลือดสมองแตกแต่ยังรับรู้เสียงได้ แล้วเรานอนอยู่อย่างนี้ แล้วเขาก็เอาเทศน์มาเปิดให้เราฟัง ต้องให้เรานั่งฟังใช่ไหม ถ้าเรานั่งฟังแสดงว่าเทศน์นี้มหัศจรรย์เลย พอฟังเทศน์แล้วลุกได้เลย หายจากการนอนเลย มันเป็นไปไม่ได้ไง

ยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถ ๔ เป็นอิริยาบถของการปฏิบัติ นอนปฏิบัติก็ได้นะ แต่ส่วนใหญ่นอนแล้วหลับหมด เขาถึงไม่ควรนอน แต่บางคนนอนได้ น้อยมาก แต่มี ที่นอนปฏิบัติก็มี ยืน เดิน นั่ง นอน มันเป็นอิริยาบถของการประพฤติปฏิบัติ

ทีนี้อิริยาบถของการประพฤติปฏิบัติ แต่เวลานอนฟังเทศน์ๆ ที่ครูบาอาจารย์ท่านไม่ให้นอนฟัง ไม่ให้นอนฟังเพราะอะไร เพราะการนอนฟังมันประมาทไง การนอนฟังมันประมาทเลินเล่อ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้ตั้งแต่แรกนะ เวลาท่านจะปรินิพพาน เป็นคำเทศน์คำสุดท้ายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด ความไม่ประมาทเถิด

แล้วเราฟังเทศน์ด้วยความประมาทความเลินเล่อ เปิดเทศน์ไว้แล้วก็นอนคร่อกๆ แล้วฟังเทศน์ไว้ นี่มันมีผลเสียตรงนี้ มันมีผลเสียตรงที่ประมาทๆ ไง ความประมาททำให้ไม่สมควร ความประมาทคือกิเลส พอกิเลสของคนในใจของคนมันคุ้นชินกับใจของเรา เราทำอะไรก็ทำด้วยกิเลส พอทำด้วยกิเลส ทุกอย่างมันก็ทำแล้วมันก็ไม่ประสบความสำเร็จใช่ไหม

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ของเรา ดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรมๆ ท่านเคารพบูชาธรรมะอันนั้น ถ้าท่านเคารพบูชาธรรมะอันนั้น ฉะนั้น เวลาการเคารพบูชา เวลาทางภาคอีสาน เขาเขียนไว้บนอาสน์สงฆ์ ห้ามผู้หญิงขึ้นๆ แล้วเดี๋ยวนี้ประชาธิปไตยนะ ตอนนี้เขาจะไปสร้างวัดผู้หญิงหมดเลย ผู้หญิงขึ้นได้ ผู้หญิงขึ้นได้ ผู้หญิงสร้างวัดกันเองแล้ว สร้างวัดของผู้หญิง

แล้วเวลาเขาเขียน ไปทางภาคอีสานสิ เขาจะเขียนไว้เลยที่อาสน์สงฆ์ที่พระน่ะ ผู้หญิงห้ามขึ้น ห้ามผู้หญิงขึ้น นั่นน่ะเวลาห้ามผู้หญิงขึ้นๆ แล้วตอนนี้เราก็ไปคิดว่าประชาธิปไตยๆ ทำไมผู้หญิงขึ้นไม่ได้ ทำไมผู้หญิงขึ้นไม่ได้ เราก็เลยไปสร้างวัดกัน สร้างวัดผู้หญิง เออผู้หญิงสร้างกันเอง แล้วผู้หญิงก็เทศน์กันเอง ผู้หญิงก็สอนกันเอง แล้วผู้หญิงก็สำเร็จกันไปเอง มันเป็นไปได้ มันเป็นไปได้ทั้งนั้นน่ะถ้ามันเป็นธรรมๆ ไง

ฉะนั้นว่าการนอนฟังๆ มันเป็นประเพณีวัฒนธรรม มันเป็นวัฒนธรรมที่เราทำตามกันมา ทำตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรมๆ ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านเคารพมาก เวลาเคารพมากมันก็เหมือนตั้งสติมาก การเคารพยกย่อง ใจมันลง พอใจมันลง ฟังมันก็เข้าใจ

แต่ถ้าจะนอนฟังๆ นอนฟังก็ได้ คนที่พิการก็นอนได้ อิริยาบถ ๔ ในการยืน เดิน นั่ง นอนก็ได้ นอนปฏิบัติก็ได้ ถ้าเขานอน เขาพุทโธเขาชัดเจนของเขา เขาเปิดฟังแล้วเขาชัดเจนของเขาล่ะ แต่มีกี่คน

ทีนี้พอมีกี่คนปั๊บ โดยจำนวนแล้ว โดยสถิติมันเป็นไปได้ยาก พอเป็นไปได้ยาก ครูบาอาจารย์ท่านก็เลยเริ่มปิดช่องทางที่เราจะเสียเวลา ปิดช่องทางที่เราจะเสียโอกาส ท่านถึงบอกว่า ควรทำอย่างนี้ ตั้งใจอย่างนี้ เคารพๆ เคารพคือมันตั้งใจ เคารพคือการฟัง เคารพคือการนอบน้อม เคารพคือการกตัญญู เคารพๆ ทำด้วยความเคารพ ถ้าทำด้วยความเคารพ ถ้าเคารพมันก็เท่ากับเคารพตน ตนก็มีค่าขึ้นมาไง

ไอ้นี่ทำสักแต่ว่า ถ้าทำอย่างนั้นมันก็เหมือนทำสักแต่ว่า แต่ของเรา เราไม่ได้ทำสักแต่ว่า เพราะเมื่อก่อนเราก็เหลวไหล เราไม่ได้ทำอะไรเลย พอเดี๋ยวนี้เราได้ฟังเทศน์ขึ้นมา เราจะเป็นคนดีขึ้นมาบ้าง มันเป็นความดีของเรา ถ้าเป็นความดีของเรามันก็เป็นประโยชน์ มันเป็นประโยชน์ของเขา ถ้าประโยชน์ของเขา ว่าการนอนฟังเทศน์

แต่ถ้าคนที่เป็นปกติ คำว่า “นอนฟังเทศน์” เราก็ได้ยินได้ฟังใช่ไหม ธรรมะของครูบาอาจารย์ของเรา เราได้ยินได้ฟัง แต่ถ้าเรานั่งสมาธินะ แล้วจิตของเรามันกำลังลงสงบ แล้วถ้ามันมีเสียงธรรมขึ้นมามันเป็นการจุดประกาย จุดประกายนะ

ฉะนั้น เวลาฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ อย่างที่หลวงตาท่านพูด คนที่ปฏิบัติมาจะเห็นตรงนี้มีคุณค่ามาก ท่านบอกเลยนะ เหมือนโคทั้งฝูงเลย มันโดนล้อมคอกไว้ ตัวที่อยู่ใกล้ปากคอก แล้วถ้าใครเปิดประตูคอกได้ ไอ้โคที่อยู่ใกล้ประตูนั้นก็ออกก่อนๆ

นี่ก็เหมือนกัน ความอัดอั้นตันใจ กิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจมันปั่นป่วนไปหมดเลย แล้วเราทำความสงบของใจ เราจะหาทางออกตลอดเลย แล้วถ้ามันมีความเคารพ มีความตั้งใจ ถ้าธรรมะไปสะกิด เป๊าะประตูเปิด ผัวะตรงนี้ที่ครูบาอาจารย์ท่านปรารถนา ปรารถนาตรงนี้ไง ถึงให้ฟังด้วยความเคารพ ฟังด้วยความบูชา มันจะมีโอกาสไง

เราตั้งใจใช่ไหม แล้วใครมาเปิดคอก ผัวะกิเลสไหลพรวดไปหมดเลย โอ้โฮสุดยอดไหม ถ้าสุดยอด นี่ไง ที่ครูบาอาจารย์ท่านบอกไม่ให้นอนฟังๆ ท่านหมายถึงตรงนี้ ท่านหมายถึงว่า ความตั้งใจ ความจงใจ ความเคารพบูชา แล้วเกิดมีการกระทำขึ้นมามันจะพรั่งพรูออกมาเลย ธรรมจะพรั่งพรูออกมาเลย

แล้วครูบาอาจารย์ที่ท่านทำท่านปฏิบัติมา ท่านเคยได้ผลอย่างนี้มา คนที่เคยได้ผลอย่างนี้มา ถ้าคนอื่นทำมันก็จะได้ผลอย่างนี้ ถ้าคนอื่นทำจะได้ผลอย่างนี้ ท่านก็บอกใช่ไหม บอกว่าควรทำอย่างนี้ๆ แต่เรา เราทำแล้วมันจะได้ผลอย่างนั้นไง แต่ถ้านอนฟังมันดี ดีก็นอนได้

นอนฟังเทศน์ได้หรือไม่

ถ้าพูดถึงการนอนฟังเทศน์นะ ถ้านอนฟัง ได้ ถ้านอนของเขา แต่ถ้าในข้อเท็จจริง ในข้อเท็จจริงเราบอกเรื่องโลกๆ ไง อย่างเรื่องการเคารพบูชา อย่างเช่นพวกใครชอบสิ่งใดเขาก็ชอบสิ่งนั้น ถ้าชอบสิ่งนั้น ถ้าตรงจริตกับเขามันก็เป็นความดี ถ้าเขาไม่ชอบสิ่งใด สิ่งนั้นเขาก็ไม่ชอบของเขา อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งนะ เป็นเรื่องหนึ่ง

แต่พูดถึงว่าการที่เขาถามมานี่เขาเข้าใจแล้ว แล้วเพียงแต่เขียนมาเพื่อขอขมาลาโทษ แต่มันเป็นโอกาสที่เราจะได้พูดไง เป็นโอกาสที่เราจะได้พูดว่า เวลาฟังเทศน์ๆ ก็เหมือนคนเวลาทำบุญๆ เวลาทำบุญนะ เวลาเราไปทำบุญ ถ้าไม่มาทำบุญก็ต้องล่อ ล่อด้วยให้ของ สุดท้ายแล้วเราไปเห็นนะ เคยเห็นนะ มีจับฉลากเอารถพิกอัปนะ ล้วงเบอร์เพื่อดึงคนเข้าวัด โอ้โฮไปขนาดนั้นน่ะ นี่พูดถึงเวลาคนมันชอบ ชอบอย่างนั้น

แต่ถ้าเรามีศรัทธามีความเชื่อของเรานะ เราไปวัดที่สงบสงัด นี่ไง ที่ว่าเคารพในสถานที่ เคารพในครูบาอาจารย์ เคารพในธรรม ถ้าเคารพๆ จิตใจเรามันต้องสูงส่ง จิตใจเราต้องมีคุณธรรมมันถึงเคารพ ถ้าจิตใจไม่มีคุณธรรมมันไม่เคารพ นี่พูดถึงว่า การฟังธรรมให้เคารพตน ถ้าเคารพตนมันจะได้ประโยชน์มาก การเคารพตน เคารพธรรม นี่ด้วยความเคารพ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรม คำว่า “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรมๆ” เราพูดบ่อยมาก หลวงตาก็พูดบ่อยมาก พูดบ่อยมากเพราะอะไร เพราะเห็นคุณค่าของสัจธรรมไง ธรรมเหนือโลกๆ มันเหนือธรรมชาติ เหนือทุกอย่าง

ถ้าธรรมชาติยังแปรปรวนอยู่ เขาว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ มันก็เป็นส่วนหนึ่ง ส่วนหนึ่งของความสื่อสารให้เข้าใจได้ แต่จริงๆ แล้วเวลาธรรมที่มันเป็นจริงขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรมๆ กราบธรรมอันนั้นน่ะ

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาจะฟังธรรมๆ ไง ถ้าจิตใจคนที่สูงส่งมันยิ่งเห็นคุณค่า แต่จิตใจของเรามันก็หาของเราไปเพื่อประโยชน์กับเราเนาะ นี่พูดถึงว่าการนอนฟังเทศน์

ถาม : เรื่อง “หนูจะต้องเป็นเปรตไหม

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ หนูมีปัญหาทะเลาะกับเตี่ยบ่อยมาก และหลายครั้งหนูก็พยายามทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นในสิ่งที่เตี่ยทำ แต่บางครั้งทนไม่ได้ พอพูดก็ถูกด่ากลับมา หนูก็เถียงกลับไปว่า เมื่อไหร่จะตายสักที ทำไมต้องเป็นมารของหนู

ด้วยหนูภาวนามาก็นานแล้ว แต่รู้สึกว่ามันอยู่กับที่ ไม่ดีขึ้นเลย หนูผิดมากๆ เลยที่ทำให้เขาดูถูกคนภาวนาว่าเป็นคนไม่ดี แต่หนูก็ทำดีให้เขาเห็นไม่ได้ แม้แต่ความโกรธยังตามมันไม่ทันเลย หนูคงหมดโอกาสได้เข้าถึงธรรมแล้วใช่ไหม และหนูจะต้องเป็นเปรตด้วยหรือเปล่า หนูเคยขอขมาเตี่ยหลายครั้งแล้ว จนไม่อยากจะทำแล้ว เพราะเดี๋ยวก็เป็นอีก

ตอบ : นี่พูดถึงความทุกข์ระทมในใจนะ ความทุกข์ระทมในใจ อยากเป็นคนดีมาก หนูภาวนามาก็ตั้งนานแล้ว ภาวนามาแล้วมันก็ต้องเป็นคนดี ต้องมีสติมีปัญญา แต่ทำไมหนูภาวนามาตั้งนานแล้วทำไมมันไม่เห็นดีขึ้นเลย มันมีความทุกข์ความยากในหัวใจ เวลากลับไปอยู่บ้านไปอยู่กับเตี่ย เตี่ยก็ทำสิ่งนี้ให้เห็นๆ

มันเป็นกรรมของสัตว์ๆ ไง แต่ถ้าเราไม่ได้ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เราอยู่ใกล้เตี่ย เตี่ยพาทำอะไร เราก็ทำกับเตี่ยไปใช่ไหม มันก็เลยเป็นเหมือนกับกฎกติกาเดียวกัน คนชอบเหมือนกัน คนทำเหมือนกัน มันก็เหมือนกันไง แต่นี่มันกฎกติกาแตกต่างกันไง

คำว่า “กฎกติกาแตกต่างกัน” กีฬา กีฬาแต่ละประเภทเขาก็มีกฎกติกาของเขา กฎกติกาของเขาแต่ละประเภทก็ไม่เหมือนกัน ถ้าไม่เหมือนกัน เวลาลงสนามแต่ละสนามก็ไม่เหมือนกัน กีฬาแต่ละประเภทที่แข่งขันก็ไม่เหมือนกัน ถ้าไม่เหมือนกัน เอามาอยู่ในสนามเดียวกัน แล้วให้เล่นกีฬาแต่ละประเภทอยู่ในสนามเดียวกัน โอ๋ยมันวุ่นวายไปหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน เตี่ยเขาอยู่ทางโลก เตี่ยเขาอยู่ทางโลกเขาก็มีมุมมอง มีมุมมองว่าลูกของเราจะต้องมีครอบครัว ลูกของเราต้องประสบความสำเร็จ ลูกของเราจะต้องมีเชิดหน้าชูตา ลูกของเรา ลูกของเรานี่ความคิดของพ่อแม่ พ่อแม่ก็มีความปรารถนาอย่างนั้น นี่พูดถึงทางโลกไง

แต่เวลาเรามาปฏิบัติธรรมเราก็อีกกติกาหนึ่ง เรามาปฏิบัติธรรม เรามาปฏิบัติธรรม เรามีศีล มีสมาธิ มีปัญญาของเรา ถ้ามีศีล มีสมาธิ มีปัญญาของเรา นี่มันอีกกติกาหนึ่ง พอไปอยู่ด้วยกันมันไปเห็นเข้าไง มีแต่ทำแล้วเราก็ว่าไปๆ ถ้ามันมีสติมีปัญญา เห็นไหม นั่นกติกาของเขา

ดูสิ เวลาเราเกิด เราเกิดมาๆ พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก เราได้ชีวิตมาจากพ่อจากแม่นะ ยิ่งตอนนี้วันแม่ๆ เราดูข่าว หลายๆ คนเลยนะ ขอบคุณพ่อแม่มากที่หาเงินให้หนูใช้ โอ้โฮขอบคุณมากๆ

ถ้าเราไปดูตรงนั้นน่ะๆ เราไปดูตรงนั้น ชีวิตนี้ได้มาจากนั่น นั่นเป็นพระอรหันต์ของเราแล้ว ถ้ามันคิดอย่างนี้ได้นะ สิ่งที่ท่านกระทำมันไม่ดี แล้วสิ่งที่ท่านทำมันไม่ดีตรงไหนล่ะ

มันมีนะ เราเป็นลูกใช่ไหม พ่อแม่เล่นการพนัน พ่อแม่กินเหล้าเมายาดีตรงไหน มันไม่ดีอยู่แล้ว พ่อแม่เล่นการพนันก็ผิด พ่อแม่กินเหล้าเมายาก็ผิด แต่พ่อแม่เขาก็ทำ แล้วพ่อแม่ของเรา เราไปต่อว่าอะไรล่ะ เพราะพ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของเรา

อ้าวพ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของเรานะ ให้ชีวิตนี้มานะ หาเงินให้ใช้นะ ไอ้นี่มันเป็นบุญเป็นคุณอันหนึ่ง แต่นิสัยของท่านๆ ไง ความชอบของท่าน นิสัยของท่านเป็นอย่างนั้นไง ถ้าท่านกินเหล้าเมายา ท่านเล่นการพนันน่ะ เราคุยกันโดยปกติ บางทีพ่อแม่รู้นะ เออพ่อก็รู้นะว่ามันไม่ดี แต่พ่อก็อดไม่ได้ ก็รู้ว่ามันไม่ดี ก็ค่อยๆ คุยกัน ค่อยๆ คุยกัน มันอยู่ที่กฎกติกาอย่างนั้น มันคนใกล้ชิดกัน มันกฎกติกาอย่างหนึ่ง กฎกติกาของโลก

แล้วเรา เราอยู่กับพ่อกับแม่ ถ้าเรามีสติปัญญานะ เราต้องยอมรับอันนี้ ต้องยอมรับ แล้วเราทำคุณงามความดีของเรา ทำคุณงามความดีของเรา มันเป็นเรื่องบุญเรื่องกุศล ถ้าบุญกุศลมันเกิดจากพ่อแม่ที่ดี พ่อแม่ที่เข้าวัดเข้าวามาก่อน แล้วพาลูกเข้ามา ลูกมันก็อยากจะไปยิงนกตกปลา พ่อแม่ก็พยายามห้ามไว้ๆ ก็มี มันก็มีความขัดแย้งกัน แต่ถ้าเป็นอย่างนั้น

นี่พูดถึงว่า “หนูเคยทะเลาะเบาะแว้งกับเตี่ยบ่อยมาก บางครั้งหนูก็พยายามทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น

สิ่งที่ทำไม่รู้ไม่เห็น...รู้ มันรู้มันเห็นทั้งนั้นน่ะ แต่ยับยั้งชั่งใจ ยับยั้งชั่งใจไว้ อโหสิกรรมไง นั้นคือพระอรหันต์ของเรา ท่านทำด้วยความเคยชิน ทำด้วยความเคยชินนะ เก็บอย่างนั้นน่ะ เก็บของแล้วเก็บเล่า ไอ้เราไปจัดให้เรียบร้อย เดี๋ยวก็เก็บอยู่อย่างนั้นน่ะ ทำอยู่อย่างนั้น อยู่อย่างนั้นก็ต้องอยู่อย่างนั้น ค่อยๆ ให้มันเป็นไปไง ค่อยๆ ให้มันเป็นไป

ความเป็นโลกๆ นะ มีความขัดแย้งทั้งนั้นน่ะ มีความขัดแย้ง ปัญหาสังคมมีความขัดแย้ง ความเห็นของคนมันไม่เหมือนกันหรอก แล้วนี่อารมณ์ของเรามันก็แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา แล้วอีกอย่างหนึ่งระหว่างเตี่ยกับลูกด้วย เราเป็นลูกอีกต่างหาก เป็นลูกอีกต่างหาก มันเหมือนกับว่าเราเป็นสมบัติของเขา เขาจะทำอย่างไรก็ได้ เคยทำมาอย่างนั้นใช่ไหม แต่ตอนนี้พอเราโตขึ้นมาเราก็มีความเห็นของเราความรู้ของเราไง

ถ้าความรู้ของเรา ถ้าเรามีสติปัญญา เราทำตัวเราให้ดี ทำตัวเป็นแบบอย่าง ทำตัวเป็นแบบอย่าง เขารู้ เขาเลี้ยงมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก เขารู้หมดน่ะ เราอยากได้อะไร เขารู้ เพียงแต่เขาไม่กล้าพูด เขาไม่พูดกับเรา เป็นไปไม่ได้ที่เขาไม่รู้

เราดีขึ้น เราเลวลง เขาเห็นหมดน่ะ เราดีขึ้น เขาก็รู้ เราเลวลง เขาก็รู้ แต่มันจะยอมรับกันไม่ยอมรับกันเท่านั้นเอง แล้วการยอมรับกันมันแสนยาก บางทีไปยอมรับกันตอนวันจะสิ้นลมเท่านั้นน่ะ ถ้ายังไม่สิ้นลม เราก็ทนของเราไป เราทำของเรา ทำคุณงามความดีของเรา เราทำของเราขึ้นไปเพื่อประโยชน์กับเรานะ

นี่พูดถึงนะ แต่นี้มันมีปัญหาหนึ่งไง บางครั้งก็เถียงกัน “เวลาหนูเถียงกลับไปว่าเมื่อไหร่จะตายสักที

อย่างนี้มันก็เหมือนกับอยากจะพ้นจากภาระ อยากจะพ้นจากสิ่งจำเจ แต่ของอย่างนี้ ยิ่งบอกว่าเมื่อไหร่เตี่ยจะตายสักที เขาอยู่อีก ๑๐๐ ปี ไม่ตายหรอก ไม่มีตาย ยิ่งแช่งให้ตายยิ่งอายุยืน ยิ่งแช่งให้ตายยิ่งไม่ตาย เกิดสำนึกได้ ไปดูแลดีๆ ๒ วันตาย เป็นอย่างนั้นน่ะคน เวรกรรมยังไม่จบไม่สิ้น ไม่มีจบสิ้นหรอก ถ้าวันไหนเวรกรรมจบสิ้น เออจบสิ้น แต่ถ้าเวรกรรมยังไม่จบไม่สิ้น เมื่อไหร่จะตายสักที อยู่อีก ๑๐๐ ปี ยิ่งแช่งที ๒๐๐ ไม่มีตาย อยู่ค้ำฟ้าเลย ค้ำฟ้าให้มันเผาไหม้ใจเราไง ให้ใจเราเผาไหม้เลย

ฉะนั้น กรณีอย่างนี้มันเป็นอารมณ์ชั่ววูบ ด้วยความโกรธก็พูดไปอย่างนั้นน่ะ ด้วยความคิดไป แต่เวลาสำนึกได้ก็เสียใจทุกคนน่ะ เวลาสำนึกได้นะ คอตกเลยนะ ไม่น่าคิดไม่น่าทำเลย ไม่น่าเลย นี่ไง แต่เพราะมันขาดสติ มันขาดการฝึกไง

ทีนี้มันก็ย้อนกลับมาที่เราพูด “หนูเป็นคนภาวนา หนูรู้สึกว่ามันไม่มีอะไรดีขึ้นเลย

มันไม่มีอะไรดีขึ้นเลย ถ้าพูดถึงเราขาดสติ ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย เห็นไหม เวลาคนภาวนาทุกคนบอกเมื่อก่อนเป็นคนดี๊ดี เดี๋ยวนี้ภาวนาเป็นคนหงุดหงิดมาก เป็นคนที่ขี้โกรธมาก

มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เป็นอย่างนั้นจริงๆ นะ ในสังคมที่ปฏิบัติ เขาเรียกชวนะ ตาหูจมูกลิ้นมันคล่องตัว แต่ก่อนมันเหมือนคนเมา อะไรมันก็ได้หมดน่ะ แต่พอฝึกหัดๆ ทุกอย่างมันจะไวมาก เหมือนไฟ ไฟมันจะดีมาก อะไรกระทบมันแปล๊บๆๆ เลย เขาเรียกชวนะมันดี ฉะนั้น ในสังคมปฏิบัติมันจะกระทบกระเทือนบ่อยมาก สังคมปฏิบัติมันจะมีการกระทบกระเทือนเต็มที่เลย

แต่ถ้าเป็นสังคมข้างนอกนะ นั่งเล่นไพ่ได้ทั้งวันๆ ไม่เป็นไร นั่งลูบหัวกัน นั่งอย่างไรก็ไม่เป็นไรเพราะว่าเป็นสังคมของคนพาล พอมาสังคมของบัณฑิตนะ กระทบทันทีเลยนะ นู่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ดี นู่นก็ไม่ดี ไม่ดีทั้งนั้นเลย

ไอ้กรณีอย่างนี้ นี่พูดถึงคนปฏิบัติทุกคนจะสงสัยไง เมื่อก่อนเป็นคนดีๆ อารมณ์ดีทั้งวันเลย เวลามาปฏิบัติขึ้นมาน่ะหงุดหงิดๆ อะไรกระทบไม่ได้เลย

อ้าวก็เรารักษามันน่ะ ดูแลให้มันสะอาดอยู่น่ะ แล้วฝุ่นมันมาเปรอะใช่ไหม เวลาบ้านสะอาดๆ ลูกมันมาเล่น โอ้โฮโกรธน่าดูเลย เวลามันสกปรกให้มันเล่นก่อน เล่นเสร็จเดี๋ยวจะเก็บสะอาดเลย กวาดเสร็จแล้วอย่ามาเล่นนะ อย่ามาเล่นนะ ถ้ามันเข้ามาน่ะโกรธ อู้ฮูหัวฟัดหัวเหวี่ยงเลย

ใจเหมือนกัน ใจเหมือนกัน ถ้าใจเหมือนกันปั๊บ เราดูเราแลขึ้นมาแล้ว เห็นไหม “หนูปฏิบัติมาตั้งนานแล้ว แต่หนูไม่รู้สึกว่ามีอะไรดีขึ้นเลย รู้สึกว่าผิดมาก ทำให้เขาดูถูกคนภาวนา

นี่ไง ถ้าคนภาวนาๆ สังคมภาวนามันจะเข้าใจได้ เหมือนผ้าขี้ริ้วมันสกปรกก็วางไว้นั่นแหละ แต่เวลาซักสะอาดแล้วไม่ให้ใครเช็ดเลยนะ ผ้าขี้ริ้วเขาเอาไว้เช็ดเท้า ถ้าสะอาดแล้วห้ามเช็ดๆ ห้ามเช็ด มันสะอาดแล้ว ห้ามเช็ด

ก็ผ้าขี้ริ้วเขาเอาไว้เช็ดเท้า ก็ผ้าขี้ริ้วเขาเอาไว้เช็ดเท้า ก็ต้องเช็ด สะอาดก็ต้องเช็ด นี่ก็เหมือนกัน “หนูไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นเลย

คำว่า “หนูไม่มีอะไรดีขึ้นเลย” มันสภาพแบบนั้นเราก็จะไหลไปตามเขา แต่ถ้าเรามีสติมีปัญญาขึ้นมา มันกระทบ ชวนะมันกระทบ มันรู้ถูกรู้ผิดไง ถ้ารู้ถูกรู้ผิด ฉะนั้น คนเราวุฒิภาวะมันไม่ใช่อยู่ที่อายุ วุฒิภาวะมันอยู่ที่คุณธรรมในใจ ถ้าวุฒิภาวะอยู่ที่คุณธรรมในใจ เขามีคุณธรรมในใจ มันแยกถูกแยกผิดได้

แต่เตี่ยอายุขนาดนั้นแล้วเขายังแยกถูกแยกผิดไม่เป็นเลย แต่ถ้าเขาแยกถูกแยกผิดเป็น แต่แบบลูกของฉัน ฉันจะทำอย่างนี้ จะทำไม เขาแยกถูกแยกผิดได้แต่เขาเก็บไว้อีกชั้นหนึ่ง แต่การแสดงออกก็อีกชั้นหนึ่ง เห็นไหม นี่พูดถึงเรื่องเวรเรื่องกรรมมันมีร้อยแปด

เราถึงบอกว่า เวลาเล่นกีฬาไง เวลาเล่นกีฬามันอยู่ที่กติกาอะไร กติกาชนิดใดก็เล่นได้ชนิดนั้น ทีนี้กติกาในบ้านเรามันโอเพน มันทุกกติกาใช้ได้หมดเลย มันก็เลยมีปัญหาไง

เราจะบอกว่า เวลาอยู่ในบ้านมันจะมีปัญหาอย่างนี้ แล้วปัญหาอย่างนี้มันจะบรรเทาได้ด้วยธรรมที่เราฝึกหัดนี่ไง ด้วยธรรม ด้วยสติปัญญา ด้วยการเอามาค้นคว้า แต่มันจะมีนะ มันจะมีกระทบ ใหม่ๆ ก็ทนได้

เราจะบอกว่า ก่อนบวชเราก็เป็นแบบนี้ เราก็มีปัญหาเหมือนกัน เพราะเราจะบวช โอ้โฮในบ้านเขาก็ขัดแย้งกันไปหมดน่ะ ปัญหาเยอะมาก แล้วมันเหมือนเด็กๆ ทะเลาะกัน เด็กๆ ทะเลาะกันก็วุฒิภาวะมันเท่าๆ กันไง ปุถุชนเหมือนกันไง ต่างคนก็ทิฏฐิคนละอัน เหมือนกับมีดคนละเล่มล่อกันเลย

ทุกบ้าน ทุกบ้านน่ะเป็นอย่างนั้นน่ะ ถือมีดคนละเล่มแล้วก็ฟันกัน มาๆ ฟันกันอย่างนั้นน่ะ ก็เหมือนเด็กๆ ทะเลาะกัน ปุถุชนเหมือนกันไง คนมีความคิดเหมือนๆ กันไง แล้วมันก็จะทะเลาะกันอยู่อย่างนั้นน่ะ

แต่กว่าจะคิดได้อย่างนี้เราต้องฝึกหัดจนเรายกจิตเราสูงขึ้น แล้วถึงมอง อืมเหมือนคนเล่นกีฬาแล้วเดินออกจากสนามมาแล้วมานั่งอยู่ข้างสนามแล้วมองดูคนเล่นในสนามน่ะ แต่ถ้ายังอยู่ในสนามอยู่ มันยังวิ่งอยู่นั่น ถ้าอยู่ในสนามอยู่ มันยังวิ่งไล่กวดเขาอยู่นะ

แต่พอมันออกนอกสนาม เออไอ้พวกนั้นมันบ้า วิ่งไล่ลูกบอลลูกเดียวน่ะบ้า พวกนั้นมันบ้า เราคนดี เพราะออกมาแล้วไง ออกมาอยู่ข้างสนามเห็นเลย ไอ้พวกนั้นมันบ้า แต่ถ้าเราอยู่ในสนาม เราก็บ้ากับเขา กูก็วิ่งอยู่กับมัน

เราจะบอกว่า กงกรรมกงเกวียน ถ้ากงกรรมกงเกวียนเป็นอย่างนี้ เราอยู่ในกงกรรมกงเกวียนอย่างนี้น่าเศร้าไหม จริงๆ แล้วเศร้านะ มันน่าเศร้า น่าเศร้าเพราะอะไร เพราะเด็กๆ ทะเลาะกัน วุฒิภาวะมันเหมือนกัน ปุถุชนเหมือนกัน แล้วเมื่อไหร่มันจะโตขึ้นมาล่ะ

นี่เวลาว่า “หนูภาวนาตั้งนานแล้วรู้สึกว่ามันไม่มีอะไรดีขึ้นเลย หนูผิดมากที่ทำให้เขาดูถูกคนภาวนา เป็นคนไม่ดี เพราะหนูทำดีให้เขาเห็นไม่ได้

แม้แต่โกรธ เวลาเขาเห็นสภาพ ยิ้มเลย ทำอะไรไม่ถูกใจ ยิ้มเลย พอใจ แต่ความจริงมันก็ยิ้มยากอยู่ เพราะมันโดนซ้ำๆ ซากๆ ไง เรานี่โดนสักหนสองหนทนได้นะ แต่โดนบ่อยๆ ไม่ไหวหรอก ขีดจำกัดของคนมันมี ความอดทนของคนมันมีขีดจำกัด แล้วพอขีดจำกัดมันก็อยู่ที่เวรกรรม มันอยู่ที่เวรที่กรรมของเรา แต่ถ้าเราเจอพ่อแม่ที่ดี เราก็จะดีกับเรา เราทำความดีของเราเนาะ นี่พูดถึงว่า เราก็ทำของเรา รักษาของเรา

อันนี้เพียงแต่ว่า นี่คงจะเต็มที่แล้วล่ะถึงเขียนมาถาม ฉะนั้น สิ่งต่างๆ เราทำของเรา เราทำความดีไม่ได้ แม้แต่ความโกรธก็ยับยั้งไม่ได้ แต่คำถามสุดท้ายและหนูจะต้องเป็นเปรตด้วยใช่หรือเปล่า หนูเคยขอขมาเตี่ยหลายครั้งแล้ว จนไม่อยากจะทำ เพราะเดี๋ยวก็เป็นอีก

คำว่า “เป็นเปรต” ในพระไตรปิฎก แม่อุ้มลูกไว้ด้วยความรักไง ไอ้ลูกมันก็ตบหน้าแม่เล่น ผัวะโอ๊ยๆ น่ะ มือเท่าใบตาล มือใหญ่ ไอ้นี่ขนาดมันเล่นนะ เพราะพ่อแม่มีบุญมีคุณไง ทีนี้เด็กมันก็เล่นประสาเด็ก นี่พูดถึงว่าในพระไตรปิฎกมันมีอย่างนั้น ถ้ามีอย่างนั้นปั๊บ

ทีนี้ว่า “ถ้าหนูติเตียนพ่อแม่ อย่างนี้หนูต้องไปเป็นเปรตหรือเปล่า

ข้ออย่างนี้ ถ้าเป็นเปรตหรือเปล่า ก็ขอขมาลาโทษในใจของเราสิ เพราะเวลามันทำขึ้นมามันทำด้วยการขาดสติไง แต่ก็ทำแล้ว ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ทำสิ่งใดแล้วระลึกได้ภายหลังเสียใจ สิ่งนั้นไม่ดีเลย สิ่งนั้นไม่ดีเลย” เราก็ยับยั้งชั่งใจอย่างนี้ แล้วเรายับยั้งชั่งใจของเรา ความเป็นเปรตมันก็น้อยลง

ความเป็นเปรตนะ ถ้าจิตใจในปัจจุบันนี้ จิตใจในปัจจุบันนี้ถ้ามันปลอดโปร่ง สวรรค์ในอก นรกในใจ สวรรค์กับนรกในหัวอกเราถ้าเราได้ผ่อนคลายออก เราได้ขอขมาลาโทษ เราได้สูบมันออกไป ถ้าสวรรค์ในอก นรกในใจ มันเป็นสวรรค์ มันไม่เป็นนรก มันไม่ลงเปรต ไม่ลงอเวจี เห็นไหม ถ้าเราทำ เราทำที่นี่ไง ขอขมาลาโทษแล้วเราทำคุณงามความดีของเรา สิ่งใดบุญกุศล ไอ้ความสิ่งนั้นนั่นเป็นวิบากกรรม กรรมเป็นอจินไตย

คำว่า “กรรมเป็นอจินไตย” นะ เวลาคนทุกคนบอกว่า ทำดีแล้วไม่เห็นได้ดี เพราะในปัจจุบันนี้ทำดี ที่เราทำนี่เป็นความดี ความดีเพราะอะไรล่ะ ความดีเพราะเราศึกษาแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นความดี เราทำความดีแล้วทำไมเราไม่ได้ความดีล่ะ

อ้าวความดีอันนี้มันมีสิ มันมีที่มาที่ไป เพราะกรรมเป็นอจินไตย กรรมเป็นอจินไตยว่ามันกี่ภพกี่ชาติล่ะ คนทำกรรมมันซับซ้อนกันมาๆ เวลามันให้ผลทำไมมันให้ผลก่อนล่ะ สิ่งที่เราเกิดเป็นคนๆ อยู่นี่ เพราะว่าบุญกุศลถึงได้เกิดเป็นคน เกิดเป็นคนแล้ว กรรมที่มันต่อเนื่องมาๆ คนเกิดมาแล้วประสบความสำเร็จ คนเกิดมาแล้วเชิดชู บางคนเกิดมาแล้วทุกข์จนเข็ญใจ กรรมมันก็ซ้อนๆๆ มาไง ถ้ากรรมมันซ้อนๆ มา มันยังมีของมัน

จะว่าเป็นเปรตไหม เราทำกับเตี่ยๆ

เราไม่อยากจะพูดคำนี้นะ เวลาเราทำกับเตี่ยๆ แล้วพูดถึงถ้าชาติไหนเตี่ยทำกับเราไว้อย่างไรมันถึงต้องเรามาทำกับเตี่ย มันมีนะ มันต้องมีที่มาที่ไปทั้งนั้นน่ะ แต่คำว่า “มีที่มาที่ไปแล้ว” ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสรุปลงตรงนี้ “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร

ถ้ามันคิดอย่างนี้แล้วมันก็จะผูกพันกันไปใช่ไหม สิ่งที่เป็นอยู่นี่ก็เป็นเพราะอันนั้นมันถึงมีอันนี้ แล้วถ้ามีอันนี้ไปมันจะมีอันนู้น อันนู้นมันจะมีอันนี้ไง มันต้องระงับลงไง เราต้องระงับลง นี่ไง ขอขมาลาโทษไง เราขอขมาลาโทษ เราขออภัยต่อกันแล้วพยายามยับยั้งของเราให้มันระงับลงๆ แต่นี่ระงับลงก็ระงับเฉยๆ สิ่งที่มันมีอยู่เดิม มันมีอยู่เดิมเราก็มีสติปัญญาดูแลรักษาของเราไป

ฉะนั้น ทำอย่างนี้ปั๊บ จงใจเลยว่าเราต้องไปเกิดเป็นเปรต มันก็เลยคิดแต่เปรตๆๆ ทำอะไรก็เปรตๆๆ อยู่นั่นน่ะสิ แล้วบุญไม่มีใช่ไหม ไม่เคยตักอาหารให้เตี่ยกินเลยหรือ ไม่เคยให้น้ำให้ท่าเตี่ยกินเลยหรือ โอ๋ยถ้าให้ก็เป็นเทวดาไง แล้วเป็นเทวดา เวลาเราหาสิ่งใดอุปัฏฐากอุปถัมภ์ เราก็เป็นเทวดาไง อ้าวบางอารมณ์เราก็เป็นเทวดา ถ้าด่าถ้าต่อสู้กัน เราเป็นเปรต อารมณ์ไหนล่ะ มันไม่ใช่อารมณ์เปรตอารมณ์เดียวนี่ เราอยู่ในบ้าน เราอารมณ์เปรตนี่จำแม่นเชียว แต่เวลาเป็นเทวดานี่จำไม่ได้ว่าตอนไหนเป็นเทวดา อ้าวเราเป็นเทวดา เราดูแล ดูแลพ่อดูแลแม่เรา เราดูแลของเรา เราก็เป็นเทวดา เทวดามันก็ต้องมาลบล้างความเป็นเปรตออกไปสิ ถ้าเทวดามาลบล้างความเป็นเปรตแล้วมันก็ดีขึ้น

ฉะนั้น “หนูจะต้องเป็นเปรตใช่หรือเปล่าเจ้าคะ

ไม่ยืนยัน ไม่ยืนยันเพราะว่ามันยังมีโอกาส ยังมีเวลาเยอะแยะเลยที่เราทำคุณงามความดีที่จะลบล้างกัน คุณงามความดีที่ลบล้างกัน ลบล้างกันไปได้ แล้วถ้าลบล้าง เราต้องทำความดีอะไรไปลบล้างอันนั้น

หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ สำรอกคายออกสะอาดหมดเลย ไปทำที่ไหน เวลาไปทำขึ้นมานะ ไอ้นี่มีกรรมใช่ไหม ก็ต้องเอากรรมดีๆ ไง กรรมดี กรรมอันไหน

ทำทานร้อยหนพันหนไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง ถือศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหนไม่เท่ากับเกิดทำสมาธิขึ้นมาได้หนหนึ่ง มีสมาธิร้อยหนพันหนไม่เท่าเกิดภาวนามยปัญญาขึ้นมาหนหนึ่ง แล้วเราเกิดภาวนาขึ้นมาแล้วภาวนามันสำรอกมันคายออก ลบหมด

นี่ว่าแก้กรรมๆ แก้กรรมที่นี่ แก้กรรม เวลาหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ จิตมันสงบระงับเข้ามา สำรอกคายออกหมดเลย ไอ้ที่ว่าหนูต้องเป็นเปรตน่ะจบเลย เพราะหนูก็ไม่มี ถ้าหนูไม่มีแล้ว ความจะไปเป็น วิถีที่จะไปไม่มี ผลที่จะได้รับเหมือนเราดับไฟ ไฟมันติดได้อย่างไร เราปิดสวิตช์ ไฟไม่ติดหรอก ไฟนั่นคือเปรตใช่ไหม เปิดสวิตช์ นู่น เปรตอยู่นู่น ปิดสวิตช์ เปรตหายเลย พอปิดสวิตช์มันไม่ไปแล้ว นี่ไง ถ้าแก้กรรมๆ แก้ตรงนี้ไง ถ้าไปเป็นเปรต ก็หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ พยายามรักษาของเรา เห็นไหม

หนูจะต้องไปเป็นเปรต

ไอ้นี่มันเป็นอย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ อย่าเอานรกสวรรค์มาขู่กัน แล้วทางวิทยาศาสตร์เขาไม่เชื่ออย่างนี้ไง เชื่อว่าเอานรกสวรรค์มาขู่ เวลาจะล่อก็ล่อ ทำบุญเท่าไรจะได้ไปสวรรค์ชั้นนั้นๆ ทำบุญแล้วเอ็งได้ไปหรือ

เวลาหลวงตาท่านพูด โครงการช่วยชาติฯ ท่านบอกว่าสิ่งที่เสียสละมันกองอยู่นี่มันของประเทศชาติ หัวใจของคนต่างหาก หัวใจของคนต่างหาก ที่มันจะได้ผลน่ะหัวใจของคนต่างหาก ความเป็นไปอันนั้น บุญกุศลนั้นต่างหากมันจะเป็นไป ถ้ามันเป็นไป สิ่งที่เราทำๆ เราทำขึ้นมา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า คำว่า “เอามาขู่กันๆ” ขู่กันเพราะว่าเขาต้องการผลประโยชน์ เขาต้องการเขาก็เลยขู่กัน แล้วเราไปฟังแล้วเราก็ฟังเป็นวิทยาศาสตร์เลย หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง สองบวกสองเป็นสี่ เป็นคณิตศาสตร์เลย

แต่เวลาในสมัยพุทธกาล ทุคตะเข็ญใจไปรับจ้างอาชีพไถนา แล้วลูกจะมาส่งอาหาร รอจนโกรธมาก เวลาอาหารมาถึง พระกัสสปะออกจากสมาบัติ อาหารที่ลูกเอามา ด้วยความหิวโหย ถวายพระกัสสปะไปหมดเลย ลงกลับไปไถนา พอดินมันพลิกขึ้นมาเป็นทองคำหมดเลย

ข้าวหนึ่งมื้อกับทองคำแปดสิบเล่มเกวียน มันต่างกันไหม หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสองไหม ข้าวถ้ามันได้มาก็ได้ทองคำหนึ่งกระติ๊บสิ ทำไมทองคำแปดสิบเล่มเกวียนล่ะ หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสองไหม นี่เราคิดแบบวิทยาศาสตร์ไง แต่บุญกุศลเวลามันทำขึ้นไปแล้วมันบวกมันทบต้น มันมหาศาล ถ้ามหาศาล มันเป็นความจริงๆ ขึ้นมาไง

นี่พูดถึงว่า “หนูต้องไปเป็นเปรตไหม” เพราะอะไร เพราะหนูทำกับเตี่ยไว้ หนูเห็น หนูรู้

มันยอมรับเหตุผล หนูทำ หนูรู้ว่าหนูจะต้องไปเป็นเปรต แต่เวลาเราอุปัฏฐากเตี่ยล่ะ เราทำคุณงามความดีล่ะ แล้วถ้ากลัวความเป็นเปรต

หนูภาวนามาตั้งนานแล้ว แต่หนูยังรู้สึกว่าหนูยังไม่เห็นดีขึ้นเลย

ก็ถ้าเรามีวิบากกรรมที่ไม่ดี เราไม่อยากต้องเป็นอย่างนั้น เราจะล้างวิบากอันนี้เลย เราพยายามกำหนดพุทโธของเราเลย เราพยายามภาวนาของเราเลย เราจะลบล้างของเราให้หมดเลย เห็นไหม ปิดสวิตช์ ไม่มีพลังงานที่จะไป ไฟมันไม่ติด ไฟไม่เกิด ความเป็นเปรตอยู่ไหน ไม่มี ถ้าความเป็นเปรต

นี่พูดถึงว่า เราจะไม่บอกว่ามันไม่เกิดหรือมันเกิด แต่มันอยู่ที่วิธีที่เราจะประพฤติปฏิบัติให้พ้นจากทุกข์ ให้พ้นจากความวิตกกังวล พ้นจากสิ่งที่มันจะเป็นไป ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่นี่ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามหัศจรรย์ที่นี่ มหัศจรรย์ที่ว่า ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายเลย ไม่ต้องไปคิดวิตกวิจารณ์ไปเรื่องนี้เลย

แต่ขณะที่เขียนมาถาม เพราะเรื่องเตี่ยกับหนูสองคนก็ปวดหัวขนาดนี้แล้ว แล้วยังบอกไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายอีก มันเกินไป ก็เลยเขียนมาถามไง

นี่เราพูดถึงเหตุผล เหตุผลเพราะเขาคิดเป็นวิทยาศาสตร์ คิดถึงคณิตศาสตร์เลย ต้องเป็นอย่างนั้นๆ เพราะเขาเป็นคนทำเองไง แต่เวลาลบล้าง ลบล้างอย่างไร

ถ้าลบล้างของเรา เราปฏิบัติของเรา ทำดีของเราเพื่อประโยชน์กับเรา แล้วจะไม่ต้องไปเป็นเปรต เอวัง