เทศน์เช้า วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจฟังธรรม วันนี้วันพระ เวลาวันพระ วันโกนมันเป็นสากล สากลเพราะอะไร สากลเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้ เวลาสมัยพุทธกาลนะ อนาถบิณฑิกเศรษฐีหรืออุบาสกไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าลัทธิต่างๆ เขามีวันทำบุญของเขา แล้วพระพุทธศาสนาเอาอย่างไร นี่ไปขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบัญญัติวันพระ วันโกนนี่ไง
วันพระ วันโกนให้ชาวพุทธเรามีโอกาสได้ทำบุญกุศล ได้ทำบุญกุศลของตน ได้ทำบุญกุศลของตน สิ่งที่โยมเสียสละมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของเราทั้งนั้นน่ะ ของเราหามานะ ดูสัตว์สิ สัตว์ป่าที่มันออกมาจากป่าเพราะอะไรล่ะ เพราะมันไม่มีอาหาร เวลาคนเรารุกป่าๆ จนสัตว์ป่ามันไม่มีที่อยู่ที่อาศัยของมัน เวลามันไม่มีอาหารกินมันต้องออกมาหาอาหารจากภายนอก มันต้องเสี่ยงภัยกับชีวิตของมันนะ ๑ มื้อของมันต้องเสี่ยงภัยกับชีวิตของมัน นั่นคืออาหารของมัน
นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เราหามาๆ สิ่งนี้มันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย มันน้ำพักน้ำแรงของเรา เราเสียสละไปๆ เสียสละไปเพื่ออะไร เสียสละไปเพื่อหัวใจของเราไง หัวใจของเรา เรามีจิตใจเป็นสาธารณะ เรามีจิตใจที่เป็นธรรม เราเสียสละอย่างนี้ เสียสละอย่างนี้เพื่อเป็นบุญกุศลของเราไง นี่ไง สิ่งที่ทำๆ สิ่งที่เราเสียสละไปมันเป็นของเราๆ นี่ไง ของเราที่ไหน ของเราที่เราเคยทำแล้วใช่ไหม ถ้าเราเคยทำแล้ว สิ่งใดจิตใจที่มันเป็นสาธารณะมันฟังสิ่งใดก็ได้ไง เขาจะติฉินนินทา เขาจะให้ร้ายป้ายสีนั่นน่ะ อันนั้นคือเขาใส่ไข่ มันเป็นความจริงหรือเปล่า
ความจริงเป็นความจริงไง ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย แต่คนพูดมันตาย ความจริงเป็นสิ่งไม่ตายอยู่แล้ว ถ้าเราทำสัจจะความจริงของเรา ความจริงเป็นความจริงไง สิ่งที่เขาป้ายสีอย่างนั้น ไอ้นั่นมันเรื่องของเขา โลกธรรม ๘ ไม่มีใครสามารถที่จะให้คนไม่ป้ายสีได้หรอก นี่ถ้าไม่ได้
แต่ถ้าจิตใจเรามี เราเคยมีบุญกุศลของเรา เราได้สร้างอำนาจวาสนาบารมีของเราขึ้นมา จิตใจมันเข้มแข็งอย่างนี้ไง เวลาลมพัดผ่านหูซ้ายทะลุหูขวาไป ความจริงคือเราทำไง ความจริงคือความจริงของเราไง เรารู้ไง เรารู้ เราเป็นคนทำใช่ไหม เราไม่ได้ทำแล้วเขาป้ายสีๆ นั่นมันเรื่องของเขา แต่ถ้าหัวใจเราเป็นโลก เราต้องตามไปแก้แค้นเขา เราต้องตามไปจัดการ เพราะอะไร เพราะเขาพูดไม่จริงๆ ไง
เขาพูดไม่จริง เขาพูดไม่จริง มันคำพูดของเขา นั่นน่ะเพราะคนเรา ดูสิ เวลาทุกข์ของบัณฑิต ทุกข์ของบัณฑิต ความทุกข์ของบัณฑิตคืออยู่ใกล้คนพาล คนพาล คนที่ไม่มีเหตุผลเป็นความทุกข์ยาก พูดอะไรมันก็ไม่ฟัง พูดอะไรมันไม่ฟังหรอก มันเป็นคนพาล แต่คนที่เป็นบัณฑิตเขาไม่ต้องพูดนะ เขาสังเกต ที่นี่ควรทำไหม ที่นี่ทำได้ไหม ที่นี่เขาทำกันอย่างใด เราเข้าไปสังคมนี้ นี่บัณฑิต แล้วเราทำของเราๆ ทำเสร็จแล้วเราไปหาเหตุหาผล คนทำเสร็จแล้วไปหาเหตุหาผลแล้วมันซาบซึ้งใจนะ อ๋อ! ทำอย่างนี้แล้วมันดีอย่างนี้ ทำอย่างนี้แล้วมันดีอย่างนี้ ทำอย่างนี้แล้วมันดีอย่างนี้ แต่ถ้าเป็นคนพาลๆ มันไม่ฟังใคร มันขวางเขาไปทั่ว นี่ไง ถ้ามันเป็นคนพาลหรือเป็นบัณฑิตในหัวใจของเรา
ทีนี้เรามาเสียสละอยู่นี่ เสียสละอยู่นี่ เราก็สอนใจเราไง สอนหัวใจให้เป็นบัณฑิตไง แล้วมันสอนมันก็ยากไหม ยากนะ การหาอยู่หากินอาบเหงื่อต่างน้ำ มันไม่ทุกข์ไม่ยากหรือ มันทุกข์ยากทั้งนั้นน่ะ การอาบเหงื่อต่างน้ำมามันของทุกข์ยากทั้งนั้นน่ะ แล้วจิตใจที่มันคิดจะเสียสละ จิตใจที่มันจะฝึกหัดหัวใจของเรา ฝึกหัดๆ สิ่งนี้เป็นทาน
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมนะ ถ้าเป็นฆราวาส ท่านจะแสดงอนุปุพพิกถา คือให้เสียสละ ฝึกหัดให้เสียสละ ให้จิตใจกว้างขวาง ถ้าเสียสละ อนุปุพพิกถา เรื่องของทาน ถ้าผลของมันล่ะ ผลของมันสังคมร่มเย็น สังคมร่มเย็น ถ้าคน เวลาคนดับขันธ์ไป ทำความดีด้วยกัน เขาไปเกิดเป็นเทวดา ใครที่เป็นคนชักนำ ใครที่เป็นคนมีอำนาจวาสนาเขาจะเกิดเป็นพระอินทร์เพื่อปกครองไง ถ้าเราเป็นคนทุกข์คนยากใช่ไหม เราหาอยู่หากินมันไม่สมปากสมท้องใช่ไหม เราไม่มีโอกาสจะทำใช่ไหม เห็นเขาทำบุญกุศลกัน อนุโมทนากับเขา สาธุ! สาธุ! เวลาเขาไปเกิดเป็นเทวดา เราก็ไปด้วย แต่เราไปเป็นบริวารเขา
แต่ถ้าเราสาธุไปกับเขา แม้แต่ไม่มี ถ้ามันมีสติปัญญามันก็ทำได้ แต่ที่จะสาธุๆ คนเรามันไม่ให้ใครดีเกินหน้าหรอก มันรับได้ยาก แต่ถ้าจิตใจเป็นธรรมๆ นะ เราหาอยู่หากินไม่พอปากพอท้อง แต่เขาทำของเขา เขาไปวัดไปวากัน เขาทำบุญกุศลกัน จิตใจเขาเป็นสาธารณะกัน เราเห็นดีเห็นงามไปกับเขา เราสาธุไปกับเขา สาธุในใจเรานี่แหละ สาธุดังๆ ในใจเรานี่แหละ ถ้าสาธุแล้วเราได้บุญกุศลอันนั้นไง เพราะจิตใจมันเปิดกว้างขึ้นมาไง ไม่จำเป็นต้องปากกัดตีนถีบแล้วเราต้องทำของเราอย่างนั้นไง นี่เวลาทำบุญกุศลอยู่ที่เจตนาไง เจตนาของใครสะอาด เจตนาของใครบริสุทธิ์ เจตนาของใครที่เป็นคุณงามความดีไง เจตนาอันนั้นน่ะมันฝึกหัดใจ
เวลาเราทำงานในโลกนี้ทำด้วยมือ แต่เวลาเราจะรักษาหัวใจของเรามันจะมีสติมีปัญญา ปัญญาทางโลก ปัญญาที่ใช้ทางสมอง สมองก็สถิติ แต่ถ้าเราจะเป็นปัญญาในพระพุทธศาสนา สุตมยปัญญา ปัญญาคือการศึกษา ศึกษาทางสมอง จินตมยปัญญา นักวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ต่างๆ เขาจินตนาการของเขา แล้วเขาพยายามค้นคว้าของเขา จินตมยปัญญาๆ แล้วถ้าเกิดภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากจิต ปัญญาที่เกิดจากจิต เราต้องการค้นหาจิตของเราให้ได้ก่อน ถ้าค้นหาจิตของเราให้ได้ แล้วปัญญามันเกิดจากที่ไหน
เกิดดับๆ ความคิดเกิดดับๆ เกิดดับก็มีแต่ความทุกข์ทั้งนั้นน่ะ เกิดดับเพราะอะไร เกิดดับเพราะไม่มีต้นไม่มีปลาย เกิดดับเพราะไม่มีพวงมาลัยไง ไม่มีเบรก ไม่มีคันเร่งไง ไม่มีสิ่งใดทั้งสิ้นไง เพราะมันเกิดดับเองไง แต่ถ้าเราฝึกหัดใช้ปัญญาของเราๆ ถ้าเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ จิตมันสงบเข้ามา จิตสงบเข้ามา เราจะมีถนนหนทางของเรา มัคโค ทางอันเอกๆ ไง
จิตใจถ้ามันไม่มีทางก้าวเดินมันจะเดินไปอย่างไร มรรคก็อยู่ในตำราใช่ไหม เวลามรรค เวลาคนที่ภาวนาไม่เป็น เวลาพูดถึงมรรคมันจะพูดถึงข้างนอก พูดถึงเปรียบเทียบข้างนอก ข้างนอกเพราะอะไร ข้างนอกเป็นสสารเป็นวัตถุที่เปรียบเทียบได้ไง แต่มันไม่เห็นสติ ไม่เห็นสมาธิ ไม่เห็นงานชอบ เพียรชอบ ความชอบธรรมไง เพราะความไม่ชอบธรรมมันเลยเป็นความผิวเผิน เป็นเรื่องของภายนอกไง เห็นไหม ว่างจากภายนอกๆ ว่างจากความฟุ้งซ่านไง ใช้ปัญญาอบรมสมาธิว่างจากความฟุ้งซ่าน ว่างจากความคิดจากภายนอกไง แล้วมันว่างแล้วทำอย่างไรต่อ ว่างแล้วทำอย่างไรต่อ เพราะมันยังไม่เป็นสมาธิเข้ามาไง ถ้าเป็นสมาธิเข้ามา เวลามันว่างจากความฟุ้งซ่าน ตัวมันเด่นชัดขึ้นมามันจะรู้จักเลยว่า อ๋อ! สมาธิเป็นอย่างนี้ สมาธิเป็นอย่างนี้
สมาธิคืออะไร สมาธิคือจิตไง ถ้าจิตมันสงบระงับขึ้นมาแล้วฝึกหัดใช้ปัญญาๆ มันต้องเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง เห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความจริงเพราะเหตุใด เพราะสมบัติของมนุษย์ มนุษย์มีกายกับใจๆ ไง กาย สติปัฏฐาน กาย เรื่องเวทนา เรื่องจิตมันเป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรม ถ้าจิตมันสงบแล้ว แม้แต่ร่างกายที่เป็นวัตถุมันเห็นของมัน ถ้ามันไปเห็นจิต เห็นเวทนา เห็นจิต มันก็เห็นจากภายในไง
เวทนา มันมีเวทนานอก เวทนาใน เวทนาของร่างกาย นั่งนานๆ ไปมันก็เจ็บปวด เวลาอยู่เฉยๆ มันคิดขึ้นมาว่าใครติเตียนเรา นี่เวทนาของจิต เวทนาของจิตมันไม่มีใครว่ามัน มันก็เจ็บปวดของมัน ถ้าเวทนาของกาย มันเจ็บปวดของมัน ถ้าจิตมันสงบ จิตมันรู้มันเห็นของมัน ทั้งๆ ที่จิตมันเป็นนามธรรม แต่เวลาเวทนากาย เวทนาจิต ทำไมมันเหมือนกันล่ะ มันเหมือนกันต่อเมื่อคนที่มีสติมีปัญญาที่จับต้องได้นะ มันจะไม่เหมือนกันต่อเมื่อเราไม่รู้เรื่องสิ่งใดๆ เลย นี่พูดถึงว่า ภาวนามยปัญญา ปัญญาอย่างนี้มันจะเกิดขึ้น เกิดขึ้นอย่างไร
นี่ไง ก็เกิดขึ้นจากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาสอนฆราวาส อนุปุพพิกถา ให้เขาเสียสละทานก่อน ให้เขาเสียสละทานก่อน เสียสละทานแล้วจิตใจมันเปิดกว้างไง ของกูๆ ไม่ให้ใครเลยไง มันก็ไม่ฟังใครเลยเหมือนกัน ใครจะพูดอะไรมาน่ะ รู้แล้ว คนเราส่วนมากจะบอกเลยว่าฉันเป็นคนดี ฉันต้องไปวัดทำไม
ใช่ เป็นคนดี คนดีหรือคนเลวมันอยู่ในคนคนนั้น คนคนนั้นนะ ถึงเวลาเป็นคนดีก็ได้ มีสิ่งใดกระทบขึ้นมา เป็นคนเลวก็ได้ เพราะอะไร เพราะมันไม่มีสติสัมปชัญญะควบคุมดูแลเขา ใจดวงนั้นดีก็ได้ ร้ายก็ได้ จะเป็นเทวดาก็ได้ มนุสสเทโว เป็นเทวดา มนุสสติรัจฉาโน มันเป็นสัตว์ มนุสสเปโต มันเป็นเปรต อารมณ์ที่มันเกิดขึ้นๆ ขณะนั้นเป็น ขณะนั้นเป็น ดูสิ มนุษย์เป็นได้หลากหลาย ถ้าเป็นหลากหลาย ถ้าเรามีสติปัญญา เรารักษาของเรา
เราเป็นคนดี เราไม่ต้องไปวัดๆ...ใช่ ในเมื่อบุญกุศล ในเมื่อสิ่งต่างๆ มันยังรองรับอยู่ไง แล้วถึงเวลาไปเจอผลกระทบที่มันรุนแรงขึ้นมา ไปเจอผลกระทบที่มันเจ็บช้ำน้ำใจขึ้นมา มันจะอาฆาตเขา มันจะทำลายเขาน่ะ
ทำลายเขามันได้อะไรมา มันก็ได้คุกตารางมา มันก็ได้บาปอกุศลมา แต่ทางโลกมันสะใจไง เราได้ทำเขา เราได้แก้แค้นเขา เราได้ทำเพื่อสมความปรารถนาของเราไง แต่กรรมทั้งนั้น แต่ถ้ามีสติปัญญา เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ทำยากนะ ทำยากมาก เขาทำเรา เขาทำสิ่งต่างๆ เรา แล้วเราบอกว่าเราระงับด้วยการไม่จองเวรกับเขา มันผ่านไป มันผ่านไป สิ่งที่เกิดขึ้นเราก็รักษา แต่ถ้าเป็นทางโลกนะ ทางโลกเราก็ต้องแจ้งความ ต้องดำเนินคดีกันไปตามกฎหมาย แต่หัวใจเรา เราต้องรักษา หัวใจเรานี่รักษามันไว้ มันเกิดสิ่งนี้ขึ้นมา มันเกิดสิ่งนี้ขึ้นมามันต้องมีเหตุมีปัจจัยของมันมา มีเหตุปัจจัยมาตั้งแต่ของเก่าของใหม่ ร้อยแปดพันเก้า มันมีไปหมดน่ะ โลกนี้มันกระทบกระทั่งไปทั้งนั้นน่ะ
นี่ทำยาก ทำยาก เพราะมันทำยาก เพราะมันทำยากมันถึงชนะกิเลสยาก เพราะมันทำยากมันถึงจะเท่าทันอารมณ์ตัวเองยาก แล้วอารมณ์นี้มันเกิดจากไหนล่ะ มันเผาลนใจเราทั้งนั้นน่ะ ถ้าเผาลนใจ วิธีการกระทำ วิธีการอย่างนี้ มันถึงว่า ข้างนอก ของที่เป็นวัตถุ ของที่เราเห็นๆ กันอยู่ เรายังเสียสละไม่ได้ เรายังไม่ฝึกหัดมันมาเลย แล้วจิตใจเราไม่เข้มแข็งเลย จิตใจเราไม่มีวุฒิภาวะอะไรเลย แล้วถึงเวลาก็จะมาสู้กับมัน อารมณ์จะรุนแรงขนาดไหนเราก็สู้ได้ เราก็เก่ง โอ๋ย! ขนาดของวัตถุเรายังสละได้...มันคิดไปร้อยแปด คิดจนเราได้ฟังมาบ่อยมาก มีโยมมาคุยให้ฟัง บอกว่ามีอาจารย์อยู่กลุ่มหนึ่งเขาบอกว่าไม่ต้องปฏิบัติหรอก เรียนศึกษาไว้เยอะๆ ไปปฏิบัติเอาตอนจะสิ้นลม ตอนจะตาย...เขาพูดกันอย่างนี้นะ โอ้โฮ! เราฟังแล้วสะอึกเลย
ถ้ามันเป็นไปได้นะ ในสมัยพุทธกาลที่ว่าพระภิกษุธุดงค์ไปแล้วโดนเสือมันจับ เสือมันกินไง เสือมันกินมันสุดวิสัยแล้ว กินตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมา ก็ยังพิจารณาของท่านอยู่ ยังไม่สำเร็จนะ มันกินเข้าไปถึงโคนขา กินเข้าไปถึงเอวนะ พิจารณาไปเรื่อยๆ ท่านสำเร็จท่ามกลางปากเสือ นี่อยู่ในพระไตรปิฎกมี นั่นท่านสำเร็จท่ามกลางปากเสือ แต่ขณะนั้นมันต้องจิตใจที่เข้มแข็งมากนะ
ของเรา ดูสิ เรานั่งสมาธิภาวนา แค่เป็นหวัดเรายังทนไม่ได้เลย แค่ไม่พอใจหงุดหงิดก็ทนไม่ได้เลย แล้วเวลาคนจะตาย คนจะตายนะ คนที่มีบุญกุศลเขาตายนะ เขาตายได้ด้วยความสงบระงับของเขา คนที่มีบาปอกุศลตายด้วยการดิ้นรนทุรนทุราย ดิ้นรนทุรนทุรายเพราะเหตุใด กรรมนิมิตๆ ไง เวลาคนจะตายนะ กรรมนิมิตมันมีพวกยมบาลต่างๆ ที่ตัวสูงใหญ่ มีไม้ตะบองมาแล้วมันจะตีมาฟาดมา เอ็งจะภาวนาหรือ
นี่ไง เวลาพูดกันๆ เวลาไปพูดอย่างนั้นมันเป็นความประมาทไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด ไม่ประมาทเถิด
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามพระอานนท์ไง อานนท์ เธอคิดถึงความตายวันละกี่รอบ คิดถึงความตายวันละกี่หน นี่ไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้ำตรงนี้
ยิ่งสมัยปัจจุบันนี้คนเขาภูมิใจกันนะว่าเดี๋ยวนี้หนุ่มสาวมาเข้าวัดเยอะ แต่ก่อนคนแก่ๆ ทั้งนั้นเข้ามาวัด หนุ่มสาวให้สนุกครึกครื้นไปก่อน เพราะหนุ่มสาวเข้ามาเยอะ สุขภาพดีไง ถ้าสุขภาพดี สุขภาพดีมันทำอะไรมันก็เข้มแข็งใช่ไหม
สุขภาพอ่อนแอแล้วนะ เดินจงกรมก็คลานไป นั่งสมาธิก็หัวทิ่มบ่อ แล้วก็จะมาปฏิบัติไป อู๋ย! เก่ง หนุ่มสาวเราไปเที่ยวกันก่อน แต่สมัยนี้มีคนมาชมมากว่าในปัจจุบันนี้หนุ่มสาวเข้าวัดกันเยอะมาก ถ้าหนุ่มสาวเข้าวัดเยอะมาก เขายังแข็งแรงอยู่ เขายังสุขภาพดีอยู่ ถ้าสุขภาพกายดี มันก็ไม่ไปบีบคั้นสุขภาพจิตนะ ถ้าสุขภาพกายไม่ดีนะ วิตกกังวลไปหมดเลย นั่งสมาธิมันก็ปวดเมื่อยอยู่แล้ว ไอ้นี่มันเข็ด มันแหยง มันนั่งไม่ลง ไม่ทันนั่งมันก็กลัวแล้ว แต่ถ้าสุขภาพมันดี สู้ สู้มัน ถ้าสู้มันก็ฝึกหัดๆ ก็นี่ไง ก็เหมือนกับเราเสียสละทานนั่นน่ะ ฝึกหัดๆ ให้จิตใจมันเข้มแข็งขึ้นมา
นี่ก็เหมือนกัน เราฝึกหัดภาวนาของเรานะ ถ้าจิตของใครเคยเข้าสมาธิได้หนหนึ่ง มันมั่นใจนะว่าสมาธิมันมีจริง เหมือนเราไปถึงเป้าหมายสักที่หนึ่ง เป้าหมายอยู่ตรงนี้เราเคยมาแล้ว เราจะมาอีกได้เรื่อยๆ ไง แต่ถ้าเราไม่เคยถึงเป้าหมายนี้เลย อู้ฮู! มันสุดวิสัย มันเป็นอย่างไรไม่รู้
แต่ถ้าจิตของใครสงบสักหนหนึ่ง มันอยากได้อยากดีนะ แล้วพอถึงเวลาอยากได้อยากดีแล้วตัณหาซ้อนตัณหา เพราะธรรมชาติของมนุษย์ สัญชาตญาณมันก็ชอบอยากได้อยู่แล้ว แต่ถ้ามันมาสร้างภาพ อยากได้อีกชั้นหนึ่ง เห็นไหม เขาถึงบอกว่าไม่ให้มีความอยาก ไม่ให้มีความอยาก
คือไม่ให้อยากถึงเป้าหมายนั้น แต่เราต้องอยากในเหตุ อยากในการกระทำของเรา แต่เราเคยไปถึงเป้าหมายนั้นแล้ว เราเคยไปถึงเป้าหมายด้วยความเพียรของเราแล้ว เราทำแล้วมันมีโอกาสไง แต่ถ้าคนที่ยังไม่ถึงเป้าหมายเลย เราก็เคว้งคว้างของเรา แล้วเป้าหมายมันเป็นอย่างไร มันจะจับต้องได้อย่างไร มันสงสัยไปหมด นี่ความสงสัยนะ
เวลาจะประพฤติปฏิบัตินะ หลวงตาท่านสอนว่า ในการประพฤติปฏิบัติมันยากอยู่สองคราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น กับคราวหนึ่งคือคราวจะสิ้นสุด พอสิ้นสุดของท่าน พอจิตมันว่างหมด มันทำลายจนสิ้นกระบวนการไปหมดเลย มันเป็นจิตเดิมแท้เลย มองไปทะลุภูเขาเลากาไปหมดล่ะ มันทะลุไปหมดเลย มันก็มหัศจรรย์
ท่านบอกว่าคนที่สร้างบุญกุศลมานะ ถ้าคนไม่สร้างบุญกุศลมามันก็ติดว่านั่นคือนิพพาน นั่นคือผลการปฏิบัติของท่าน แต่เวลาคนที่สร้างบุญกุศลมา ธรรมะมาเตือน ความสว่างไสวนี้เกิดจากจุดและต่อม มันต้องมีเหตุมีปัจจัย ทุกอย่างเกิดขึ้นมันต้องมีเหตุให้เกิด ไม่มีอะไรเกิดขึ้นลอยๆ หรอก ไม่มี
ทีนี้การที่เราจะมีมรรคมีผล เราจะมีสมาธิภาวนาของเรา เราก็ต้องเกิดจากการกระทำ ไม่มีหรอกที่มันจะลอยมาจากฟ้า ไม่มี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นมา ๖ ปี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ ตรัสรู้ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเอง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าเราตรัสรู้เองโดยชอบ โดยชอบ
นี่ก็เหมือนกัน คนที่มีอำนาจวาสนาบารมี หลวงตา เวลาที่มันทะลุปรุโปร่งไปหมด ธรรมะมาเตือนๆ เลยนะ ความสว่างไสวนี้มันเกิดจากจุดและต่อม พลังงานมันต้องมีที่เกิด เกิดบนอะไร เกิดบนภวาสวะ เกิดบนภพ เกิดบนจิต แล้วท่านย้อนกลับมา คนที่มีบุญกุศลมันจะมีสิ่งที่เป็นธรรมะ เขาเรียกธรรมเกิดๆ ธรรมสังเวช สะเทือนใจๆ ทั้งนั้นน่ะ แล้วสะเทือนใจ สะเทือนใจใครล่ะ สะเทือนใจตัวเองไง สะเทือนใจที่มันเกิดแล้วมันมาเตือนเราไง น้ำหูน้ำตาไหลพรากเลยนะ เพราะอะไร เพราะมันเสียว โทษนะ พวกมึงจะไปแล้ว จะเกือบไปแล้ว จะเกือบหมดโอกาสแล้ว มันจะเกือบจะไปจนไม่มีทางกลับมาแล้ว ธรรมะมาเตือน โอ้โฮ! มันสะดุ้งเลยล่ะ โอ้โฮ! มันสะเทือนใจมาก แล้วสะเทือนใจใจดวงนั้น สะเทือนใจที่สร้างบุญกุศลมา สะเทือนใจที่มันได้รับผลอันนั้นไง
แต่พูดกับคนนอกนะ มันสะเทือนใจ
สะเทือนใจอะไร สะเทือนใจอะไร เขาไม่รู้เรื่องอะไรกับเราหรอก
นี่ไง ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก นี่การปฏิบัติ ผู้ที่ปฏิบัติแล้วถึงจะรู้ ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติแล้ว เวลาท่านแสดงธรรม โอ้โฮ! มันจับปั๊บๆๆ เลยนะ เพราะมันเหมือนกัน มันต้องได้ประสบการณ์อย่างนั้นมา ถ้าไม่ได้ประสบการณ์อย่างนั้นมา มันจะถึงที่สุดได้อย่างไร เพราะเส้นทางนั้นเป็นเส้นทาง มัคโค ทางอันเอกไง จิตดวงนั้นได้ก้าวเดินจากเส้นทางนั้นไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ไง แล้วเราปฏิบัติไป เราต้องเข้าสู้เส้นทางนั้น เข้าสู่เส้นทางนั้น เพียงแต่หยาบ กลาง ละเอียด
หยาบ กลาง ละเอียดไง คนที่มีอำนาจวาสนามาละเอียดลึกซึ้ง นุ่มนวล ท่านทำปฏิบัติของท่านด้วยความนุ่มนวลของท่าน คนที่ปานกลางก็ต้องสมบุกสมบันหน่อย ไอ้คนที่หยาบๆ ก็ต้องลงทุนลงแรงกันเต็มที่ อันนี้ อันนี้ก็ทานนี่ไง อันนี้ที่เราทำมาไง ก็ของเราทำมาทั้งนั้นน่ะ ใครทำมา ใครทำของใคร ใครทำให้ใคร ใครทำให้ใคร เราทำของเราไง เพราะเราทำแล้วเราก็มีเจตนา เราก็มีความเชื่อ เรามีการกระทำของเรา เราทำเพื่อเราๆ ไง สิ่งที่ทำ เราทำเพื่อหัวใจของเรา
เรื่องของเขา เรื่องของสังคมนะ เรื่องของเขา เป็นธรรมดา เรามาวัดก็ต้องเสียดสีอยู่แล้ว เสียดสีเพราะอะไร เพราะว่าเขามาไม่ได้ เขาเห็นความละเอียดลึกซึ้งนี้ไม่ได้ เขาต้องเสียดสีอยู่แล้ว ถ้าเสียดสีก็ให้เสียดสีไป นั่นเป็นความทุกข์ของเขา ไม่ใช่ความทุกข์ของเรา ถ้าเราทำของเราได้ มันเป็นความสุขของเรา มันเป็นหัวใจของเรา เราเป็นผู้ฉลาด เราเป็นนักปราชญ์ เราหาสมบัติที่จะเป็นของเราในวัฏฏะ คือจิตที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ
เราไม่ได้หาสมบัติที่กองเอาไว้ในธนาคาร เราไม่ได้หาสมบัติที่ไว้ในโลก เวลาเราตายแล้วเราพลัดพรากจากมันไป มันกองไว้อยู่นี่ไง จนเขาต้องมีพินัยกรรมไปขุดหาสมบัติไอ้พวกที่มันหลงสมบัติมันแล้วฝังไว้ในดิน
ของเราไม่เอา เราเอาบุญกุศลของเราไป เราเอาของเราไป เอาฝังหัวใจนี้ไป แล้วหัวใจนี้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ เราจะหาสมบัติของเรา สมบัติที่เป็นสัจจะที่เป็นความจริง ใครทำขนาดไหนจะได้ขนาดนั้น เอวัง