เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๑ ส.ค. ๒๕๕๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ ฟังธรรมะสัจธรรม สัจธรรมเป็นความจริง ความจริงมันเป็นอย่างไร ความจริงเป็นนามธรรม นามธรรมมันอยู่ที่ไหน

จิตใจคนที่เป็นธรรมนะ จิตใจคนที่เป็นธรรมเขาขวนขวาย เขาแสวงหา แสวงหาสิ่งที่เป็นความสงบระงับ แต่อย่างเราจิตใจหยาบๆ ไปวัดไปวาก็อยากร่ำอยากรวย อยากร่ำอยากรวยถ้ามีอำนาจวาสนามันก็ร่ำมันก็รวยตามนั้นจริงๆ เพราะกรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน ใครทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วไง การกระทำอันนั้นไง การกระทำโดยมีสติสัมปชัญญะ เราดูแลรักษาของเรา ธุรกิจการค้าของเราด้วยความไม่ประมาท มันก็ประสบความสำเร็จของมันโดยเหตุโดยผลนั้น แต่ถ้าเราประมาทเลินเล่อไง ให้มันลอยมาจากฟ้าๆ ไม่มีหรอก

ฉะนั้น ทำดีดีกว่าขอพร การกระทำ ทำดี สัจธรรมอันนี้มันสำคัญมากเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด” พระพุทธเจ้าไม่ให้ประมาทในชีวิต ไม่ให้ประมาทในหน้าที่การงานของเรา ไม่ให้ประมาทใดๆ ทั้งสิ้น

เวลาไม่ประมาทขึ้นมา เราเป็นผู้ใหญ่ คนที่ไปวัดไปวาแล้วมีความคุ้นเคย มีความคุ้นเคย มีความคุ้นเคยกับข้อวัตรปฏิบัติ มันก็คุ้นเคยใช่ไหม คนมาใหม่ๆ เขาต้องดัดแปลงของเขา เด็กมันมาของมันก็ประสาของมัน เด็กมันไร้เดียงสานะ มันคิดมันพูดอะไรถูกต้องหมดน่ะ แล้วเวลาพระ ดูสิ เวลาไปโรงเรียนนะ “นักเรียน อย่าสูบบุหรี่นะ” ครูมันสูบเฉยเลย “นักเรียนอย่าสูบบุหรี่” มันชี้เลย ครูสูบบุหรี่ มันก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไปสอนเขาไง

นี่ก็เหมือนกัน มันไร้เดียงสาประสาของมันก็คิดของมัน ถ้าคิดของมัน เราต้องมีสติปัญญามากกว่าเขา ต้องด้วยเหตุด้วยผลของเขา เราต้องกล่อมเกลาเขา กล่อมเกลาเขาไง เวลามันออกไปมันจะบอกเลย “นั่งอยู่เต็มศาลา ทำไมต้องออก ทำไมหนูต้องออกคนเดียว ถ้าออก ต้องออกหมด ประชาธิปไตยๆ” มันจะอ้างไปนู่นเลยล่ะ

อันนั้นเราก็ต้องมีเหตุมีผลสั่งสอนเขา กาลเทศะ กาลเทศะของคน เห็นไหม เวลาเราพูดบ่อยมากนะ “อย่าดูถูกความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้า” พระอริยเจ้าเขานิ่ง นิ่งเพราะอะไรล่ะ นิ่งเพราะเขามีสติสัมปชัญญะ เขามีสติในหัวใจของเขา เขาเท่าทันในความรู้สึกนึกคิดของเขา ถ้าเขาเท่าทันในความรู้สึกนึกคิดของเขา ถ้าพูดออกไปแล้วมันเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษล่ะ

ไอ้ของเรามันปุถุชน เวลาคิดสิ่งใดมันก็ส่งออกหมด มันพุ่งออกไปเลย นี่ไง เวลามีปัญญาๆ ปัญญาทางโลก ปัญญาเป็นวิชาชีพ ปัญญาทางทฤษฎี ปัญญาเป็นปัญญาในทางวิชาการ แต่ปัญญาในพระพุทธศาสนา ปัญญาในพระพุทธศาสนานี่ปัญญารู้เท่าทันอารมณ์ของตน ปัญญารู้เท่าทันกับความรู้สึกนึกคิดของตน ถ้าความรู้สึกนึกคิดของตน สิ่งที่ความรู้สึกนึกคิดมันเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริง พูดออกไปมันเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ ถ้าไม่เป็นประโยชน์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า สิ่งที่เป็นจริงถ้าไม่เป็นประโยชน์ เราก็ไม่พยากรณ์

สิ่งที่เป็นจริงๆ ถ้าไม่เป็นประโยชน์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่พยากรณ์ คือไม่พูดออกไปไง ถ้าพูดออกไปแล้วมันกระทบกระเทือนกัน มันกระทบกระเทือน ทั้งๆ ที่ความจริงนะ เป็นความจริง แต่ไอ้คนฟังมันไม่รู้ว่านั่นเป็นความจริงไง ถ้าไม่รู้ว่าเป็นความจริง มันก็คิดของมันไปเองไง นี่ไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลำเอียงอีกล่ะ เห็นคนที่ชอบใจก็พูดจาอ่อนหวาน เวลาคนที่ไม่ชอบใจก็พูดจารุนแรง

จะรุนแรง อ่อนหวานก็แล้วแต่ ไม่สำคัญ สำคัญที่ว่ามันมีเหตุผลหรือไม่ เวลาหลวงตาท่านพูด ถ้าคนที่จิตใจเป็นธรรม จิตใจแสดงออกไปมันมีคุณธรรมออกไป ถ้าจิตใจที่ไม่เป็นธรรมมันมีแต่เสียงเฉยๆ เสียงนั้นน่ะเสียงลมพัดก็ได้ เสียงลมพัด เสียงใบไม้ไหว มันก็เสียงเหมือนกัน แต่เวลาคนที่มีคุณธรรมๆ มันมีคุณธรรมหรือเปล่า

ถ้ามีคุณธรรม ถ้าอ่อนหวาน อ่อนหวานก็จิตใจของเขา จิตใจของเขาเป็นคนนุ่มนวล คนนุ่มนวล กิเลสมันนุ่มนวลอย่างไร มันก็ต้องสิ่งที่เข้าไปสมดุลกับเขา คนที่เข้มข้น คนที่โทสจริต คนที่รุนแรงก็ต้องรุนแรงกับเขา รุนแรงเพื่อให้มีสติยั้งคิดอันนั้นไง ถ้าสติยั้งคิดอันนั้น ธรรมโอสถมันจะไปยับยั้งอันนั้นไง

จะนุ่มนวลอ่อนหวาน จะรุนแรงขนาดไหน สำคัญที่มันมีเหตุมีผลหรือเปล่า สำคัญตรงนี้ สำคัญที่มีเหตุมีผล เขาว่ามีคุณธรรม เสียงนั้นไม่ใช่เสียงธรรมดา เสียงนั้นมันมีเหตุมีผลของมัน ถ้าเหตุผลอันนั้นจะเป็นประโยชน์ไง ถ้าเป็นประโยชน์อันนั้น สิ่งนั้นถึงจะเป็นประโยชน์ นี่ฟังธรรมๆ เพื่อเหตุนี้ไง ถ้าฟังธรรมเพื่อเหตุนี้

ความนิ่งอยู่ๆ พอนิ่งอยู่เพราะอะไรล่ะ นิ่งอยู่เพราะว่ามันพูดออกไปแล้ว สิ่งที่เป็นความทุกข์ที่สุดของบัณฑิตนะ ทุกข์มาก อยู่กับคนพาล คนพาลไม่มีเหตุไม่มีผล แล้วคนพาลไม่มีเหตุไม่มีผล มันทำบ่อยๆ ครั้งเข้า เรายังรู้ได้ว่าสิ่งนั้นเป็นคนพาล ดูสิ ความคิดของเราๆ ที่มันคิดขึ้นมาในใจ แล้วมันลากเราไป ลากเราไปสิ่งที่ไม่มีเหตุมีผลตลอดไง นี่มันก็เป็นพาล แต่พาลอันนี้ทำไมเรายังไว้ใจมันล่ะ พาลอันนี้พาลในหัวใจของเรา ถ้าเป็นบัณฑิตๆ ล่ะ บัณฑิตคิดสิ่งที่ดีๆ

เวลาครูบาอาจารย์เทศนาว่าการ สิ่งที่เป็นธรรมๆ เราต้องเหยียบคันเร่ง เหยียบคันเร่งถ้ามันคิดดี อยากดี อยากทำความดี เราต้องรีบๆ ทำ แล้วทำมากๆ ด้วย แล้วถ้าสิ่งที่มันเป็นโทษๆ ต้องมีเบรกไว้ๆ เบรกห้ามล้อมัน เบรกเวลามันคิด คิดสิ่งที่ไม่ดี คิดสิ่งที่ทำ

เราก็รู้ สิ่งใดที่ทำแล้วมันไม่ดีเลยๆ แต่เรายับยั้งชั่งใจเราไม่ได้เลย ยับยั้งชั่งใจไม่ได้ นี่เราไม่มีเบรกไง แล้วสิ่งที่มันจะมีการกระทำอย่างนี้มันต้องฝึกหัดขึ้นมาๆ นี่ไง พระอริยเจ้าที่มีปัญญา ปัญญาเขารอบรู้ในกองสังขาร รอบรู้ในความรู้สึกนึกคิดไง นี่ไง ปัญญาในพระพุทธศาสนาคือปัญญารอบรู้ในกองสังขาร สังขารคือรูป เวทนา สัญญา สังขาร สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่งไง ถ้ามันรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตน โลภ โกรธ หลง เวลามันหลงไป หลงอารมณ์ความรู้สึกของตน เวลาโกรธ โกรธจนหูตาแดง โกรธแล้วมันยังพอใจจะโกรธอีกนะ นี่ไง มันไม่เท่าทัน

แต่ถ้าพระอริยเจ้าเขารู้สึกของเขาอย่างนั้น ถ้าเขารู้สึกของเขา ถ้ามันเป็นประโยชน์นะ มันเป็นประโยชน์ อย่างเช่นปัจจุบันนี้มันเป็นประโยชน์เพราะเราเป็นคนพูดคนเดียว เป็นประโยชน์ เป็นเวลาไง เป็นเวลา หลวงตาเวลาท่านเทศนาว่าการท่านบอกว่า เวลาธรรมมันจะได้ออก เวลาธรรมได้ออก เวลาเหตุผลได้ออกไง ถ้าเวลาเหตุเวลาผลได้ออกขึ้นมา กิเลสมันกลัว กลัวตรงนี้ กิเลสมันกลัวเหตุกลัวผลไง แต่กิเลสมันไม่มีเหตุผล

เหตุผลจะดีขนาดไหน ถ้าเรามีสติปัญญา เรายับยั้งมันได้นะ ธรรมนั้นชนะกิเลสของเรา ประเดี๋ยวนะ ประเดี๋ยวมันพลิกมันแพลงขึ้นไปนะ เหตุผลที่เราว่ามันเป็นธรรมๆ มันอ้างใช้เลย “ใช่ เราก็รู้เราก็เห็น เอาไว้ก่อน” เราก็รู้เราก็เห็น มันแขวนไว้ก่อน มันก็ขอทำชั่วก่อน กิเลสร้ายนัก แล้วกิเลสนี่ไง เวลาจะชำระล้างกิเลสมันถึงต้องมีทาน คำว่า “ทานของเรา” ทานทานเพื่ออะไรล่ะ ไอ้สิ่งที่โยมเสียสละๆ ไอ้นี่เป็นวัตถุนะ ทานคือเปิดใจกว้าง มันเป็นจิตใจที่ยอมรับเหตุรับผล คนที่ฟังฝ่ายตรงข้ามได้ไง คนที่ฟังเหตุผล ถ้ากิเลสอวิชชามันครอบงำหัวใจเราทั้งหมด มันยึดมั่นถือมั่นของมันทั้งหมดเลย มันอ้างอิงของมันทั้งหมด คิดดี คิดประเสริฐ คิดยอดเยี่ยม คิดดี ทำดี ยอดเยี่ยมๆ...ทำเสร็จแล้วคอตก

นี่ไง แต่ถ้าเราเสียสละ เราเปิดกว้าง เราก็ยอดเยี่ยม แต่มันจริงหรือ แล้วสัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล่ะ นี่ไง เวลาคนวัดที่คุณงามความดีเขาวัดกันด้วยศีล ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ศีลนี่เป็นเครื่องวัดไง ไม่อย่างนั้นความดีๆ ความดีจะทะเลาะกันไง เราก็มุมมองทั้งนั้นน่ะ เป็นความดีของเราทั้งนั้นน่ะ

แต่ความดีๆ เป็นกาลเทศะไง เด็กๆ มันก็อยู่สุขอยู่สบายของมัน ถ้าพ่อแม่ดูแลรักษานะ ขอให้มันศึกษาให้มันมีสติปัญญา พยายามฝึกหัดตัวเองให้เป็นผู้ใหญ่ นั่นก็เป็นความดีของเด็ก เราโตขึ้นมาแล้ว เราเป็นวัยทำงาน เราก็เป็นความดีของเรา ถ้าเราชราภาพแล้ว ชราคร่ำคร่าแล้ว เราก็ยับยั้งชั่งใจของเรา ผู้ที่อยู่ข้างเคียงของเรา เขาก็ดูแลเราเหมือนกัน แต่ดูแลไม่ทันใจๆ มันเป็นไปตามวัยๆ นี่พัฒนาการของมันไง ถ้าพัฒนาการของมัน สิ่งที่พัฒนาการของมัน นี่พูดถึงทางโลกที่เป็นชีวิตจริงของเรานี่แหละ แล้วจิตล่ะ จิตที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะมันมาจากไหน

เวลาหลวงตาท่านพูดนะ จิตไม่มีชราคร่ำคร่า มันไม่มีชราคร่ำคร่า เด็กมันก็รู้ภาษาเด็กนะ ผู้ใหญ่ก็รู้ภาษาผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าก็รู้ภาษาผู้เฒ่า ตายไปแล้วผู้รู้ก็ยังอยู่นะ ผู้รู้มันก็เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะนะ ธรรมะมันจะเข้าไปค้นคว้าตรงนี้ ถ้าเข้าไปค้นคว้าตรงนี้ กิเลสตัวสุดท้ายคือตัวที่อาลัยอาวรณ์ ความทุกข์ความยาก ความลำบากลำบน นั่นก็เป็นกิเลส มันก็เป็นความทุกข์ไปทั้งนั้นน่ะ แต่สุดท้ายนะ เวลามันอาลัยอาวรณ์ กิเลสที่ละเอียดที่สุด มันอาลัยอาวรณ์ มันเฉา มันเศร้า มันหงอยเหงา นั่นน่ะกิเลสตัวสุดท้าย พูดถึงมันไม่มีความเสียหายอะไรเลย ทุกอย่างมันก็พอมันทั้งนั้นน่ะ แต่ทำไมมันเหงาล่ะ ทำไมอาลัยอาวรณ์ล่ะ เห็นไหม ถ้ากิเลสที่ละเอียดๆ เข้าไป เป็นชั้นๆ เข้าไป สิ่งที่มันต้องพลัดพราก พลัดพรากจากสิ่งที่ในสถานะของมัน ถ้าพลัดพรากไปๆ

ฉะนั้น คำว่า “สวรรค์ในอก นรกในใจ” อารมณ์ความรู้สึกหนึ่งก็ภพชาติหนึ่ง ความคิดหนึ่งก็เป็นภพชาติหนึ่ง นั่นน่ะปฏิจจสมุปบาท อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ มันปัจจยาการของมัน ถ้าคนมีสติมีปัญญามันจะจับต้องของมัน แล้วจับต้องของมันนะ คนมันแสวงหาอริยทรัพย์ เราได้ทรัพย์สมบัติมา เราจะภูมิใจมาก ทรัพย์สมบัติทางโลกเขาวัดกันได้ด้วยคุณค่าของมันใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ามีสติยับยั้งความคิดของเราได้เราก็แปลกประหลาดแล้ว ถ้าจิตมันสงบแล้วถ้ามันไปเห็นสติปัฏฐาน ๔ เห็นสติปัฏฐาน ๔ โดยจิต โดยตามความเป็นจริง มันไปเห็นทรัพย์ มันอริยทรัพย์ ทรัพย์จากภายในไง ทรัพย์อย่างนี้

ทรัพย์จากภายนอก ดูสิ มันทรัพย์สาธารณะ แต่อริยทรัพย์ ทรัพย์ของเรามันอยู่กับจิตใช่ไหม จิต ดูสิ เวลามีความทุกข์ความยากในหัวใจมันจะฝังใจมาก คิดแล้วคิดเล่า คิดแล้วคิดเล่า แต่เวลาถ้าจิตมันสงบเข้าไปแล้ว เดี๋ยวมันฝังใจๆ สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี จิตมันเคยสุขสงบ อารมณ์อย่างนั้นเราเคยทำได้ เวลาเคยทำได้แล้วมันอยากจะได้อีก ได้อีกมันก็ต้องฝึกหัดๆ จนมีความชำนาญ ความชำนาญ พอชำนาญแล้ว จิตสงบแล้วยกขึ้นเห็นสติปัฏฐาน ๔ มันเห็นทรัพย์ มันเป็นชั้นๆ เข้าไปนะ ทรัพย์ละเอียดเข้าไป แล้วมันเห็นอย่างนั้น มันรู้อย่างนั้นน่ะ นี่ไง หัวใจดวงใดไม่มีมรรค หัวใจดวงนั้นไม่มีผล หัวใจดวงใดที่ปฏิบัติแล้วไม่มีการกระทำอย่างนี้ มันไม่มีความจริงขึ้นมา

สิ่งที่เราศึกษากันนี้เป็นสัญญาๆ สัญญาคือความจำ ความจำคือสัญชาตญาณ จิตเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะแต่ละภพแต่ละชาติ พันธุกรรมของมันได้ตัดแต่ง ตัดแต่งคือย้ำคิดย้ำทำ ย้ำคิดย้ำทำจนเป็นจริตจนเป็นนิสัย ภพชาติหนึ่งมันก็เป็นนิสัยหนึ่ง สันดานหนึ่ง ติดกับจิตดวงนั้นไป คนที่ทำคุณงามความดี ความดีต่อเนื่อง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นพระโพธิสัตว์ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย มีแต่เสียสละ มีแต่ทำคุณงามความดี ทำคุณงามความดีจนจิตนั้นมันมีอำนาจวาสนา จิตนั้นมีบารมี

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเกิดที่ลุมพินีวัน “เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย” เกิดมาเปล่งวาจาเลย “เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย” ความพร้อมเตรียมมาพร้อมเลย แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกประพฤติปฏิบัติขึ้นไปแล้ว จะเป็นความจริงขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ ตรัสรู้ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยมรรคญาณ ด้วยมรรค ๘ ด้วยมรรค ด้วยสัจจะความจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากระทำอย่างนั้นมันถึงเป็นความจริงขึ้นมาในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ไง การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ จิตที่มันตัดแต่งพันธุกรรมๆ มา

แต่ในปัจจุบันนี้มาเกิดเป็นเรา เราก็ค้นคว้าเลย ทำไมมันเป็นอย่างนี้ ทำไมเป็นอย่างนี้

เป็นอย่างนี้ก็ทำมา ทุกคนทำของตัวเองมา ความรู้สึกนึกคิดมันตัดแต่งกันมาอย่างนี้ แล้วเราในปัจจุบันนี้เกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนอย่างนี้ไง นี่ไง ที่เราทาน ศีล ภาวนา ก็มาปรับแต่งพันธุกรรมของมัน ถ้าใครมีสติปัญญาขึ้นมา การประพฤติปฏิบัติ กิริยาของมันๆ กิริยาคืออาการของจิต ถ้าจิตมันสงบไปแล้วไปเห็นอาการของมัน จับตัวมันได้ มันตัดแต่งของมัน ถ้าตัดแต่งของมัน มันเป็นพระอรหันต์ในชาตินี้เลย ไม่ต้องตัดแต่งไปไกลอีกแล้วถ้ามันเกิดมรรคเกิดผลในใจ ถ้ามันเกิดมรรคเกิดผลในใจ พระอริยเจ้าจะเป็นพระอริยเจ้ามันเป็นที่นี่ไง

แล้วไอ้ความพาล คนพาล พาลในใจ พาลในใจมันก็เป็นอวิชชาไง แต่ถ้าเป็นบัณฑิต บัณฑิตก็เป็นวิชชาไง ถ้าเป็นวิชชาขึ้นมา วิชชาสัจธรรมที่มันเกิดขึ้นมา ในการกระทำ ระหว่างสงครามธาตุ สงครามขันธ์ไง ครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านประพฤติปฏิบัติ สงครามธาตุ สงครามขันธ์ มันจะมีสงครามขึ้นมาได้มันต้องทำความสงบของใจขึ้นมาก่อน ถ้าใจสงบแล้ว สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน

สงครามจะเกิดบนที่ไหนล่ะ สงครามที่เกิดบนโลกนี้ก็เป็นสงครามโลก สงครามมันเกิดในภูมิภาคใดมันก็เป็นผลประโยชน์ของรัฐนั้น แต่ถ้าเป็นผลประโยชน์ของใคร ผลประโยชน์ของใคร ผลประโยชน์ ดูสิ การกระทำ ใครทำสิ่งใด ใครทำหน้าที่การงานเข้ามา เขาก็ได้ผลตอบแทนของเขา ไอ้เราทำบุญกุศลขึ้นมามันก็เป็นบุญของเรา บุญของเราคืออะไร บุญของเรา สิ่งที่เราเสียสละไปแล้ว กลับไปแล้วให้นึกถึงสิ มันสดๆ ร้อนๆ มันไม่บูด ไม่เสีย ไม่เน่า อาหารที่เสียสละไปแล้ว กลับไปบ้าน อีก ๑๐ ปีข้างหน้านึกถึงอาหารนี้มันยังสดๆ ร้อนๆ อยู่เลย

สดๆ ร้อนๆ เพราะมันเป็นทิพย์ เป็นทิพย์เพราะมันเป็นนามธรรม มันเป็นนามธรรม สิ่งนั้นน่ะที่มันฝังกับใจไป ใครทำสิ่งใด ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จะรู้หรือไม่รู้มันเป็นข้อเท็จจริงของมัน เวลาตายไป ที่เป็นทิพย์สมบัติๆ เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม

เทวดา อินทร์ พรหมไม่มีตลาด ไม่มีสินค้าให้ซื้อขาย มันเกิดขึ้นมาจากความเป็นทิพย์ในใจอันนั้น มันเป็นทิพย์ๆ นี่พูดถึงผลของทานไง แต่เราไม่รู้ เราไม่รู้ ในปัจจุบันนี้เราก็เรียกร้องเอา ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกอย่างนั้น แล้วทุกคนก็ว่าฉันทำดีที่สุดเลย แล้วคนดี คนดีก็ทะเลาะกัน คนดี คนดีก็ขัดแย้งกันด้วยความดีอันนั้น นี่ไง นี่ผลข้างนอก

แต่ในการทำความสงบของใจเข้ามา ถ้ามันดีจริง ดีจริง เราต้องเอาจิตของเราไว้ในอำนาจของเราได้ เอาจิตของเราๆ จิตของเราไว้ในอำนาจด้วยสติ ด้วยคำบริกรรม มันสงบระงับเข้ามา สิ่งที่เคลื่อนที่ที่เร็วที่สุด คิดถึงอเมริกาเดี๋ยวนี้ คิดถึงดวงจันทร์เดี๋ยวนี้ คิดถึงดาวอังคารเดี๋ยวนี้ มันไปแล้ว จิตนี้เร็วที่สุด เราใช้สติปัญญาของเรายับยั้งไว้ให้เป็นสมาธิ สิ่งที่เคลื่อนที่ที่เร็วที่สุดแล้วมันนิ่งอยู่ มันมีพลังงานของมัน ถ้ามีพลังงานของมัน ยกขึ้นสู่วิปัสสนาๆ มันทะลุทะลวงเข้าไปสู่หัวใจดวงนั้น สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน มันเป็นผลประโยชน์ของใคร ผลประโยชน์ของใคร...ผลประโยชน์ของผู้ที่กระทำ

ครูบาอาจารย์ของเราเวลาท่านเทศนาว่าการ ท่านพูดถึงเรื่องประโยชน์นะ เรื่องธรรม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านพูดถึงสัจธรรมของท่าน ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ไม่ลำเอียงบ้านของคนจนและคนรวย มันสาดส่องแสงไปทุกบ้านทุกเรือนเสมอกันหมด ไม่มีบ้านเล็ก บ้านน้อย บ้านใหญ่ ดวงอาทิตย์มันไม่เกี่ยงว่าบ้านเล็ก บ้านน้อย บ้านใหญ่ มันส่องแสงสว่างไปเหมือนกันทั้งหมดเลย สัจธรรมๆ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าส่องแสงไปทั้งหมด เวลาเทศนาว่าการ ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์

มันอยู่ที่ใจของเราไง เราเปิดกว้างมากน้อยแค่ไหน เราฝึกหัดได้มากน้อยแค่ไหน เราทำได้ดีมากน้อยแค่ไหน ถ้าเราทำดีของเราจริงๆ ถ้าทำดีของเรา เวลาทำดี ทำดีต้องได้ผลตอบแทน เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติ นั่งสมาธิตั้งแต่ ๖ โมงเย็นถึง ๖ โมงเช้า ๑๒ ชั่วโมงมันเจ็บปวดแสบร้อนขนาดไหน หัวเข่า ก้น มันจะเจ็บปวดแสบร้อนขนาดไหน ทำดีๆ ทำดีได้ความเจ็บปวดแสบร้อนอย่างนั้นหรือ นี่คือความดีหรือ แต่ความดีเจ็บปวดแสบร้อนนั้นมันเป็นเวทนา มันเป็นข้อเท็จจริง มันเป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์กันไง ถ้าพิสูจน์กัน ถ้าจิตมันลง จิตมันปล่อยหมด มันว่างหมดเลย มันสุขหมดเลย เหมือนร่างกายไม่มี มีจิตที่ผ่องแผ้วอยู่ มันเกิดจากอะไรล่ะ

สงครามธาตุ สงครามขันธ์ ถ้าสงครามธาตุ สงครามมันเกิดขึ้น ผลประโยชน์ของใครล่ะ ก็ผลประโยชน์ของจิตดวงนี้ไง ผลประโยชน์ของจิตดวงที่เห็นไง จิตที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะไง จิตที่เวียนว่ายตายเกิด สิ่งที่มันประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จิตมันสงบแล้วมันรู้สึกตัวมันเองเป็นสัมมาสมาธิ แล้วมันวิปัสสนาของมัน วิปัสสนาสงครามระหว่างกิเลสกับธรรมที่มันต่อสู้กันน่ะ แล้วมันพิจารณาของมันไปโดยข้อเท็จจริงของมัน แล้วมรรคสามัคคี มัคคะมันสมดุลของมัน มันพิจารณาของมันจนสมดุลของมัน มันรวมตัวลงสมุจเฉทปหาน จิตนี้ผ่องแผ้ว

จิตที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะไม่เคยรู้เห็นตัวมัน เราก็ทำความสงบของใจของเราขึ้นมา จิตที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะมันเป็นไปด้วยบุญและบาป ถ้ามีบาปก็จะทุกข์ยาก ถ้ามีบุญกุศลก็ประสบความสำเร็จของมัน แต่เวลาจิตสงบแล้วเราวิปัสสนาของเราๆ จิตที่วิปัสสนาจะทำลายตัวมันเอง เวลาทำลายตัวมันเอง นี่สงครามธาตุ สงครามขันธ์ ตัวจิตนี้มันเป็นตัวอกุปปธรรม ตัวที่มีคุณธรรมจริง นี่สมบัติของจิตๆ แล้วมันอยู่ไหนล่ะ มันอยู่ในหัวใจเราทุกๆ คนนี่แหละ

ฉะนั้น เริ่มต้นจากการทำทาน โยมขวนขวายกันมา มาเพื่อทำบุญกุศล นี่เป็นบุญกุศล บุญกุศลอย่างนี้มันเป็นอามิส มันเป็นแรงขับ รถของใครน้ำมันเต็มถังจะไปได้ไกลที่สุด รถของใครน้ำมันครึ่งถังก็ไปได้ครึ่งทาง รถของใครน้ำมัน ๑ ใน ๔ ก็ไปได้ระยะทางเท่านั้น นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นอามิสๆ คือน้ำมันที่จะขับเคลื่อนจิตนี้ให้มันขับเคลื่อนไปข้างหน้า นี่คือผลของบุญ

แต่ผลของมรรค ผลของการกระทำ มันเป็นรถเรืองแสง รถที่ไม่ต้องเติมน้ำมัน รถที่มันมีคุณภาพในตัวมันเอง เพราะจิตไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น มันไม่ต้องการสิ่งใดๆ เลย แต่กว่าจะไม่ต้องการมันก็ต้องมีคุณธรรมขึ้นมา ทำความเป็นจริงขึ้นมาจากจิตดวงนั้นไง แล้วจิตดวงนั้นมันอยู่ที่ไหนล่ะ มันอยู่ที่หัวใจของเราน่ะ

ฉะนั้น ในพระพุทธศาสนานี้มันเป็นศาสนาแห่งเหตุและผล เป็นศาสนาให้ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ให้หัวใจเราเป็นตามข้อเท็จจริงนั้น นี่ธรรม ไม่เชื่อใครทั้งสิ้น ไม่เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น เชื่อผลของการปฏิบัติ เชื่อผลของการขวนขวายของเรา เชื่อผลเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา เรื่องมรรคเรื่องผลในใจนี้ ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมานะ เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกกับใจดวงนั้น เอวัง