สันนิษฐานเอา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๙
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “เรียนถามหลวงพ่อเรื่องประวัติหลวงปู่มั่น”
ในประวัติหลวงปู่มั่น ท่านสำเร็จโสดาบันที่ไหนครับ กระผมทราบเพียงว่าท่านสำเร็จสกิทาคามีและอนาคามีที่ถ้ำสาริกา นครนายก ส่วนสำเร็จพระอรหันต์ที่ถ้ำดอยคำ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ แต่ใคร่อยากทราบว่า ในประวัติหลวงปู่มั่นที่เขียนโดยหลวงตามหาบัวนั้น ท่านสำเร็จโสดาบันที่ไหนครับ ผิดถูกประการใดขอหลวงพ่ออธิบายด้วยครับ ด้วยความเคารพอย่างสูง
ตอบ : นี่ผู้เขียนมาน่าจะเป็นผู้ดูแลหลวงตาด้วย ฉะนั้น อย่างที่เขียนมานี่ ถ้าเขียนมาด้วยความอยากรู้ ด้วยความเคารพนี่เขียนเรียบๆ เขียนเรียบๆ ด้วยเราเป็นลูกศิษย์ครูบาอาจารย์เดียวกันมา แต่ลูกศิษย์เป็นลูกศิษย์ทางพระ ลูกศิษย์ทางฆราวาส ทางพระก็เป็นลูกศิษย์ทางพระ ก็ใกล้ชิด ได้การปฏิบัติ ได้อุปัฏฐากอุปถัมภ์ท่าน ทางฆราวาส ฆราวาสเราก็เคารพบูชาของท่าน เราเคารพบูชาของเรา ครูบาอาจารย์ของเราเป็นที่น่าเคารพบูชา เคารพบูชาเพราะอะไร
เพราะท่านทำของท่านได้ ท่านเป็นพระที่ดี ท่านพูดได้ทำได้ ท่านอยู่ในกรอบของศาสนา ท่านอยู่ในกรอบของธรรมวินัยไง แล้วท่านทำเป็นตัวอย่าง ครูบาอาจารย์ของเรา เราเคารพบูชาด้วยน้ำใจของเรา ถ้าเราเคารพบูชาด้วยน้ำใจของเรา
แต่ที่ความสงสัยๆ เพราะว่าเวลาอ่านประวัติหลวงปู่มั่น เราก็เคยอ่านมา เวลาอ่านมา ตอนที่ปฏิบัติใหม่ๆ ก็ไม่เข้าใจสิ่งใดมากพอสมควร ก็พยายามขวนขวายของเรา พยายามขวนขวาย แล้วพอปฏิบัติไปแล้ว พอมีความเข้าใจแล้วมาอ่านใหม่ มันก็มีความรู้มากขึ้น มันเข้าใจมากขึ้นไง
ทีนี้ความเข้าใจมากขึ้น ในประวัติหลวงตา หลวงตาท่านบอกว่า ประวัติหลวงปู่มั่นท่านเขียน ๗๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นน่ะ อีก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ที่ท่านไปค้นคว้ามาหามา ท่านไม่เขียนทั้งหมด เห็นไหม
ถ้าอย่างเป็นพวกเรา อย่างตอนนี้เราทำประวัติครูบาอาจารย์อยู่เหมือนกัน ประวัติครูบาอาจารย์ในเว็บไซต์จะมาเรื่อยๆ ประวัติครูบาอาจารย์ เพราะเราเคารพบูชาของเรา เราเคารพบูชาของเรา มันกินใจเราน่ะ มันกินหัวใจเรา
กินหัวใจเราว่า ท่านต้องมีอำนาจวาสนาของท่าน ท่านขวนขวายของท่านแล้วท่านทำประสบความสำเร็จของท่าน แล้วพอกาลเวลามันผ่านไป คนเราก็จะลืมเลือนไป แล้วสิ่งที่ว่าเป็นความจริงมันก็จะมีสิ่งที่ความจอมปลอมเข้าไปปนเปไง มันจะด้อยค่าไปเรื่อยๆ เราก็อยากจะทำไว้ด้วยความเคารพบูชา ไม่ใช่อยากดัง อยากเด่น อยากใหญ่ อยากแสดงว่าอวดรู้อวดเห็น ไม่ใช่หรอก
อยากทำไว้ อยากทำไว้ว่า ครูบาอาจารย์ของเรากว่าท่านจะเกิดมาแต่ละภพแต่ละชาติ เวลาท่านทำคุณงามความดีของท่านมา แล้วมันเป็นการเชิดชูศาสนาไง เพราะศาสนาของเรา พระพุทธศาสนา ผู้ที่ปฏิบัติจริงทำได้จริงจะเป็นพระอรหันต์ จะมีคุณธรรมในหัวใจ มันเป็นการประกาศสัจธรรมว่าสัจธรรมนี้มีอยู่จริงไง นี่เราเคารพบูชาอย่างนั้น เราถึงขวนขวายของเรา เราทำเพื่อบูชาธรรมน่ะ บูชาธรรม บูชาศาสนา บูชาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราทำตรงนั้น เราทำแค่นี้ เราทำด้วยความพอใจของเรา
ฉะนั้น สิ่งที่เวลาทำไปๆ ทีนี้เวลาจะเอาถึงประวัติของใคร นี่ก็เรียงมาเรื่อยๆ ตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่ตื้อ ของอาจารย์สิงห์ทอง แล้วจะไปหลวงปู่จวน จะไปหลวงปู่พรหม ไปหลวงปู่ขาว
“ประวัติของครูบาอาจารย์ชุดนี้เขาทำอยู่แล้ว แล้วหลวงพ่อไปยุ่งอะไรกับเขาล่ะ”
สิ่งที่เขาทำมาๆ เช่น ตอนที่หลวงปู่ขาวท่านนิพพาน ตอนนั้นเราก็อยู่ที่บ้านตาดนั่นน่ะ เขาก็มาขอไง มาขอว่าอยากจะทำประวัติหลวงปู่ขาว
หลวงตาท่านพูดเอง เราอยู่ที่นั่น เราได้ยินน่ะ ท่านบอกว่า ต้องไปทำอะไร ก็ตัดปฏิปทาฯ ประวัติของหลวงปู่ขาวตั้งครึ่งเล่ม แล้วท่านก็เป็นคนจัดการให้หมดเลย นั่นก็เป็นเพราะหลวงตาท่านเขียนไว้
คราวนี้หลวงตาท่านบอกว่า ในประวัติหลวงปู่มั่นท่านเขียนแค่ ๗๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นน่ะ อีก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ไม่อยากเขียน เพราะมันอาจจะกระทบกระเทือนคนอื่นไง สิ่งที่เขียน เขียนเพื่อเป็นการเชิดชูน้ำใจ เพื่อเป็นการสมานชาวพุทธเราด้วยกันไง สิ่งที่ ๓๐ เปอร์เซ็นต์นั้นไม่ได้เขียน ท่านไม่อยากเขียนถึง ถ้าเขียนถึงบางทีเขียนไปแล้วมันเป็นที่อ้างอิงไง มันเป็นที่อ้างอิงของใครที่อยากจะสวมรอยไง
ดูสิ ในประวัติหลวงปู่มั่นเยอะมากเลย มีพระหลายๆ องค์มากบอกว่า ตรงนั้นเป็นเรื่องของฉัน ตรงนี้เป็นเรื่องของฉัน แล้วหลวงตาบอก ไม่ใช่ อีกองค์หนึ่งต่างหาก นี่มันมีประเด็นอย่างนี้ไง เวลาหลวงตาท่านจะทำสิ่งใดท่านทำเพื่อประโยชน์ไง ไม่ให้ใครไปอ้างอิง
ฉะนั้นจะบอกว่า ในประวัติหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านสำเร็จโสดาบันที่ไหน
ฉะนั้น พอสำเร็จโสดาบันที่ไหน มันมีอยู่ในหนังสือประวัติครูบาอาจารย์ที่เราทำไปแล้ว มี อยู่ในนั้นเลย ชัดๆ ด้วย มันมีอยู่แล้ว แต่ที่เราไม่พูดออกไปตรงนี้ ไม่พูดออกไปตรงนี้เพราะอะไร เพราะว่ามันเป็นสันนิษฐาน
เวลาของเรา เราเชื่อมั่นของเรานะ ครูบาอาจารย์ มันมีเหตุมีผลรองรับหมดน่ะ มีเหตุมีผลรองรับ มันเป็นความจริง ว่าอย่างนั้นเลย มันเป็นความจริง
แต่ที่เราได้ยินมาๆ เวลาทีมงานของเราที่ไปเก็บข้อมูลเขาบอกว่าหลวงปู่มั่นสำเร็จโสดาบันที่นั่นๆ มันมีอยู่ ๓-๔ ทฤษฎีว่าสำเร็จที่ไหน นี่เป็นความเห็นของเขา แต่ในมุมมองของเรา ความเห็นของครูบาอาจารย์เรามันมีอยู่
แต่ที่ว่าทำไมถึงว่า “ในประวัติหลวงปู่มั่นท่านสำเร็จโสดาบันที่ไหนครับ อยากทราบ เพราะอย่างสกิทาคามี อนาคามีที่ถ้ำสาริกา สำเร็จพระอรหันต์ที่ถ้ำดอยคำ ที่พร้าว”
อันนี้มันเพราะหลวงตาท่านมาพูดทีหลังไง เวลาหลวงปู่มั่น เขียนประวัติหลวงปู่มั่นไปแล้วใช่ไหม แต่ที่ถ้ำสาริกากับที่พร้าว หลวงตาท่านมาพูด มาเปิดอกในหัวใจของท่านตอนช่วงท้ายๆ คนก็เลยได้จับเป็นประเด็นขึ้นมา มันก็จับสถานที่ จับสถานที่ว่าหลวงปู่มั่นท่านไปสำเร็จที่ไหน มันไปจับตอนที่หลวงตาท่านเล่า
แต่ถ้าเป็นโสดาบัน ท่านไม่พูด ท่านไม่ค่อยได้พูดถึง ท่านไม่ค่อยพูดถึงเพราะว่ามันมีลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นหลายๆ องค์ที่แบบว่า เราจะบอกว่าวุฒิภาวะไม่ถึงหรือความไม่เข้าใจของเขา เขาใช้คำว่า “สันนิษฐาน” สันนิษฐานนั่นคือเดา พวกนี้เขาสันนิษฐานเอา
ทีนี้พอสันนิษฐานปั๊บมันก็มีความเชื่อเป็นกลุ่มๆ ขึ้นมาไง เราถึงไม่อยากพูดถึงไง ถ้าเราพูดถึงแล้วเดี๋ยวมันก็ต้องชี้แจงกัน แต่มี มีในประวัติครูบาอาจารย์น่ะ มี อยู่ในนั้นน่ะชัดเจนเลย เพราะเราก็วางยาไว้ไง เราทำไว้ให้เป็นหลักฐานไว้ เราทำไว้เป็นหลักฐาน มีอยู่ในหนังสือ แต่ไม่พูดออกอากาศ
ทีนี้คำถามไง ฉะนั้น สิ่งที่ว่าสิ่งที่ดี สิ่งที่ดีมันก็เป็นคุณงามความดีทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้น คุณงามความดีๆ คุณงามความดีอย่างเช่นประวัติหลวงปู่มั่น หลวงตาท่านพูดเอง หลวงปู่มั่นท่านเป็นคนถามขึ้นมาเองว่าท่านได้ทำประโยชน์กับโลกไว้พอสมควร มีใครคิดถึงท่านหรือไม่
หลวงตาท่านบอกว่า คิดเต็มหัวอกๆ แต่ตอนนี้งานของตนยังไม่จบ
ท่านบอก เออ! ใช่ ทำงานของตนให้จบก่อน
พองานของตนจบแล้ว แล้วท่านค่อยมาเขียนประวัติหลวงปู่มั่นน่ะ พอเขียนประวัติหลวงปู่มั่นขึ้นไป มันเป็นการเชิดชูครูบาอาจารย์ การเชิดชูครูบาอาจารย์ มันเป็นบุคคลที่ควรเชิดชู
ดูสิ เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่ควรสร้างเจดีย์ ตั้งแต่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ พระจักรพรรดิ นี่เป็นผู้ที่ควรเชิดชู คนที่ควรเชิดชู เราเชิดชูด้วยน้ำใจที่ใสสะอาด มันอ่านแล้ว ใครศึกษาแล้ว โอ๋ย! มันชื่นใจ อ่านแล้วมันชื่นใจนะ สิ่งใดมันเป็นเรื่องการสันนิษฐาน เป็นเรื่องการเล่าลือ เป็นตำนานมาตลอด แต่เวลาหลวงตาท่านเขียนมาเป็นทางวิชาการ เป็นตัวอักษรชัดเจนอย่างนี้ โอ๋ย! มันจับต้องได้
หลวงปู่มั่นท่านทำคุณงามความดีมหาศาลเลย แต่มันก็เป็นการร่ำลือกันมา มันเป็นสังคมยอมรับไง เวลาหลวงตาท่านเขียนเป็นประวัติของหลวงปู่มั่นขึ้นมา มันเป็นสิ่งที่ประวัติที่จับต้องได้ เป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมขึ้นมา มันเป็นเครื่องยืนยันกับสังคมไง คนก็เลยมีศรัทธามีความเชื่อเป็นรูปธรรมขึ้นมา เป็นรูปธรรมขึ้นมาด้วยหัวใจ คุณธรรมของครูบาอาจารย์เราท่านทำอย่างนั้นไง
ทีนี้เวลาพวกสันนิษฐาน พวกที่เขาไปเขียนของเขา ไปจินตนาการของเขา มันแอบแฝง พอมันแอบแฝง มันมีสิ่งเจือปนมา พอมีสิ่งเจือปนมา เพราะมันไปค้นคว้าไปอ่านแล้วมันเหมือนกับเราอ่านแล้วเหมือนกับสิ่งใดที่มันไม่สะอาดบริสุทธิ์ มันมีสิ่งเจือปน มันแปลกๆ น่ะ
แต่ถ้าเป็นของครูบาอาจารย์เราเป็นประโยชน์ใช่ไหม ทีนี้เป็นประโยชน์นะ สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์ การเชิดชูครูบาอาจารย์ของเรา นี่หลวงตาท่านเขียนไง ท่านเขียนประวัติของท่าน
ฉะนั้น คำถามว่า ท่านสำเร็จโสดาบันที่ไหนล่ะ
ต้องไปค้นคว้าในหนังสือ สืบถามจากทีมงานของเราก็ได้ เขาจะบอกเลยว่ามันอยู่ตรงไหน เล่มไหน ชัดๆ ชัดๆ เลย มีที่มาที่ไปพร้อมหมดน่ะ ไปหาเอาที่นั่นนะ
พูดออกไปแล้ว มันอย่างที่พูด เห็นไหม มันมีหลายทฤษฎีหลายแนวทางที่เขาเชื่อกัน แต่ครูบาอาจารย์ของเราไม่ใช่ทฤษฎี ไม่ใช่ปั้นแต่ง ไม่ใช่เจาะจงสิ่งใดทั้งสิ้น มันเป็นข้อเท็จจริง มันเป็นประวัติของหลวงปู่มั่น มันเป็นการกระทำของเอกบุรุษที่ทำขึ้นมาได้ตามข้อเท็จจริงนั้น แล้วข้อเท็จจริงนั้นมันเป็นข้อเท็จจริงที่ใครจะไปบิดเบือนไม่ได้ เพราะไม่มีสิทธิ์บิดเบือน ถึงมันจะบิดเบือนไม่บิดเบือน มันก็เป็นข้อเท็จจริงอยู่อย่างนั้น เพียงแต่ผู้ที่ไม่เข้าใจไปสันนิษฐานกันไปเอง พอสันนิษฐานไปเอง มันมีหลายทฤษฎีของเขา อันนี้ยกไว้ให้กับสังคมไป
ถาม : เรื่อง “การพิจารณา”
กราบหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูงครับ ผมเชื่อมั่นในธรรมที่หลวงพ่อสอนว่าเป็นของจริง รู้จริงเห็นจริงตามหลักจริง ผมมีคำถามถามหลวงพ่อสั้นๆ ครับ
มรรค ๒ เวลาพิจารณาจะพิจารณาจับเอาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เราจับได้ให้มาพิจารณาในขณะปัจจุบันนั้น หรือคือกาย ความสุข ความทุกข์ จิต หรือธรรมารมณ์ที่พิจารณาในปัจจุบันนั้นๆ จับพิจารณาเหมือนมรรคแรกได้หรือไม่ สติปัฏฐานทั้ง ๔ ใช้ได้ถึงมรรคไหนครับ
ในที่นี้ผมไม่ได้กล่าวนำเรื่องสมาธิมาก่อน เพราะผมเข้าใจเรื่องสมาธิดีแล้ว และหลวงพ่ออ่านคงเข้าใจเหมือนที่ผมเข้าใจครับ ขอให้หลวงพ่ออยู่เป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนไป
ตอบ : นี่คำถามเนาะ คำถามขึ้นมา เวลาถาม เวลาบอกว่า “ผมเคารพหลวงพ่ออย่างสูงเลยครับ หลวงพ่อพูดจริงทำจริงครับ มันเป็นความจริงครับ มรรค ๒ เวลาพิจารณาจะพิจารณาอย่างไร”
มรรค ๒ มันมรรค ๒ มรรค ๓ มรรค ๔ ไอ้นี่มันเป็นบุคคล ๔ คู่ ถ้าบุคคล ๔ คู่ บุคคล ๔ คู่ โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค มรรค ๔ ผล ๔
มรรคที่ ๑ มรรคที่ ๒ มรรคที่ ๓ มรรคที่ ๔ ถ้ามรรคแล้ว พอมรรคที่ ๑ มันก็ต้องมีผลที่ ๑ ถ้ามรรคที่ ๑ มันไม่มีผลที่ ๑ มันจะไปมรรคที่ ๒ มรรคที่ ๓ มรรคที่ ๔ มรรคอะไร
ไอ้คำพูดอย่างนี้มันเป็นคำพูดของกรรมฐาน วงกรรมฐานเวลาเขาคุยกัน เขาคุยกันโดยแนวทางปฏิบัติ เวลาแนวทางปฏิบัติ เวลาใครปฏิบัติไปแล้วได้ผล ได้วุฒิภาวะมากน้อยแค่ไหน เขาจะเข้าใจกัน ฉะนั้น เวลาผล
มาพูดถึงมรรค ๒ แล้วบอกว่า “ที่ผมไม่พูดถึงสมาธิเลย หลวงพ่อคงเข้าใจแล้วครับ”
เข้าใจอะไรล่ะ ไม่เห็นเข้าใจอะไรเลย ไม่เข้าใจ ไม่เห็นเข้าใจอะไร เราไม่ได้เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจ ถ้ามันจะเป็นมรรค ๒ มรรค ๓ มันก็ต้องมีที่มาที่ไป นี่มันลอยจากฟ้ามันจะเป็นมรรค ๒ เดี๋ยวเราก็จะมีมรรค ๓ ไอ้นู่นก็จะมีมรรค ๔ มันก็เลยกลายเป็นกองทัพภาคเลย กองทัพภาคที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ใครอยู่กองทัพภาคที่ ๔ นั่นก็เป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะอยู่กองทัพภาค ๔ เขาอยู่มรรค ๔ ไง
เอาอะไรมาพูดน่ะ มันมาพูดโดยที่ไม่มีเหตุผลรองรับ ไม่มีเหตุผลรองรับนะ นี่มรรคที่ ๒ มรรคที่ ๒ มรรคที่ ๒ อย่างไร ถ้ามรรคที่ ๒ นะ
เวลาภาวนาไป มีคนเขาพิจารณา เวลาจิตเราสงบแล้วเราเห็นกาย เราพิจารณากายของเราแล้วมันปล่อย มันปล่อย ถ้ามันภาวนาซ้ำนี่มันชั่วคราว มันทำแล้วทำเล่าเป็นร้อยครั้งพันครั้ง ของเรา เราปล่อยแล้วปล่อยเล่าเป็นร้อยครั้งพันครั้ง ถ้าเป็นมรรคก็พันมรรค มรรคที่หนึ่งพัน
ร้อยครั้งพันครั้ง แสดงว่าเรามีมรรคพันกว่ามรรค เราก็เข้าใจของเราอย่างนี้ไง แต่เขาบอกว่า มรรคที่ ๒ มรรคที่ ๓ เขาเข้าใจของเขา ไอ้เราเข้าใจมรรคที่พัน มรรคที่ห้าหมื่นนู่นแน่ะ ทำแล้วทำเล่าๆ มันจะขาดไม่ขาดมันเรื่องของเรา เราจะมุมานะของเรา เราจะทำของเราขึ้นไป นี่เป็นความเห็นของเราไง
ไอ้นี่การพิจารณา จะให้หลวงพ่อตอบให้ชัดเจน ให้ละเอียด
ให้ละเอียดนะ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการพิจารณาอย่างนั้นน่ะ ไอ้นี่การพิจารณามันพิจารณาอย่างไร มันทำอย่างไรมันถึงเป็นมรรค ๑ มรรค ๒ มรรค ๑ มรรค ๒ มันดีกว่านี้ มันทำได้กว่านี้
แล้วนี่เวลาพูด เขาบอก “ผมไม่พูดถึงสมาธิเลย เพราะผมเข้าใจเรื่องสมาธิดีแล้ว” อันนี้มันติดใจเรา “ผมเข้าใจเรื่องสมาธิ”
เข้าใจ เข้าใจเหรอ สมาธิเป็นสมาธิ ความเข้าใจ เวลาคำพูดมันจะมีอะไรแปลกๆ ของมันอยู่
ฉะนั้น เขาว่า “หลวงพ่ออ่านแล้วหลวงพ่อคงเข้าใจ”
อืม! เราก็เข้าใจมรรคที่ห้าพัน เรามีห้าพันหกพันมรรคเลย แล้วเรามีของเราเอง เพราะเราทำซ้ำทำซาก ไอ้นี่ถ้าจะว่าเป็นการพูดเล่นก็เล่น ถ้าพูดเป็นความจริงก็จริง เพราะมันซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันพิจารณาปล่อยแล้วปล่อยเล่า ปล่อยแล้วปล่อยเล่าอยู่อย่างนั้นน่ะ ถ้ามันไม่สมุจเฉทปหาน มันทำแล้วทำเล่า มันเป็นอะไร
นี่ก็เหมือนกัน เราเข้าใจ เขาบอก “หลวงพ่อคงเข้าใจ”
เราเข้าใจ เราเข้าใจที่ว่าเวลาคนพิจารณาไปแล้วเวลามันวาง เวลามันวางแล้วมันก็คิดว่าจบแล้ว นั่นมรรคที่ ๑ เดี๋ยวมันก็เจออีก แล้วพอมันเจอมันบอกมรรคที่ ๒ เวลามรรคที่ ๒ ก็อย่างที่เราว่านี่ เราทำเป็นร้อยหนพันหน พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ถ้ามันปล่อยวางแล้วขนาดไหน เพราะมันวางแล้วเดี๋ยวมันก็กลับไปจับไปฉวยอีก มันไม่เป็นความจริงหรอก มันไม่เป็นความจริงเพราะอะไร เพราะมันยังไม่เป็นความจริง ถ้ามันไม่เป็นความจริง ทำอย่างไรเป็นความจริง ก็พิจารณาซ้ำๆ ของมันไป ถ้าพิจารณาได้นะ ถ้าคนที่พิจารณาได้ นี่พูดถึงความเห็นของเรานะ
ฉะนั้น เวลาคำถามเวลาถามมาแล้ว พอเวลาเราตอบไปแล้วก็บอกว่าเห็นด้วยๆ
อืม! เมื่อก่อนพระสงบ ใครๆ ก็ไม่อยากได้ยินชื่อเลยนะ ชื่อมันเป็นสกังก์เหม็นเน่าเลยน่ะ แต่ตอนนี้ใครๆ จะเห็นด้วย เวลาเหม็นน่ะเหม็นมากเลย แต่ตอนนี้จะเอาไปเป็นประโยชน์ นี่พูดถึงความเห็นของเขา ความเห็นของเขานะ ฉะนั้น มรรค ๑ มรรค ๒ ไอ้ตรงนี้ถ้าพูดไปแล้วมันก็เป็นว่าเรารู้เราเห็นด้วย
ฉะนั้น เขาคิดบอกว่า “แล้วพิจารณาอย่างไร”
ก็ถ้าได้มรรคที่ ๒ แล้วเขาก็ต้องพิจารณาแล้ว ถ้าพิจารณาแล้วถามมา ถามมาเราก็ไม่รู้ เราไม่รู้ด้วย การถามมา ไม่ส่งเสริม ไม่รับรู้ ถ้าเขาทำได้ก็ให้เขาทำของเขาไป นี่พูดถึงว่าคำถามในเว็บไซต์เนาะ
อันนี้มันคำถามสดๆ ไอ้นี่ที่ว่าเขาเคยมาปฏิบัติที่วัด
ถาม : ลูกมีโอกาสได้มาปฏิบัติที่วัดในพรรษานี้ แล้วได้กราบเรียนถามผ่านทางเว็บไซต์เรื่องปีติ ลูกมีโอกาสครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๕๘ และฟังเทศน์หลวงพ่อเกิดศรัทธา จึงตั้งจิตว่า หากมีโอกาสจะไปปฏิบัติที่วัด แล้วลูกก็ได้มาปฏิบัติในปีนี้ เมื่อประมาณก่อนหน้านี้สิบวัน ลูกนั่งสมาธิแล้วรู้สึก แล้วจิตสู้กับตนเองโดยภาวนาพุทโธ ทรมานมาก จนเปลี่ยนมาเป็นพุทโธสู้อยู่ห้าครั้ง รู้สึกว่ามีเลือดอุ่นๆ วิ่งมาตามแขนขา วิ่งจากบ่าไปปลายเท้าที่นิ้วโป้ง วิ่งลงแรงมาก เหมือนน้ำสายยาง ลูกเลยรู้แล้ววางไว้ พุทโธต่อ แล้วก็สงบไป สักพักรู้สึกว่าขนจากข้อเท้ามันลุกวิ่งผ่านหลังมาถึงหน้าผาก โดยเฉพาะที่แผ่นหลัง รูขุมขนใหญ่เท่าฝ่ามือ รู้แล้วก็วาง แล้วพุทโธต่อ
เคยฟังเทศน์หลวงพ่อให้พุทโธอย่างเดียว แล้วมันก็สงบไป แล้วจากนั้นมาก็ไม่ได้นึกถึงหรือสนใจ จนสองวันก่อนนี้ลูกเดินจงกรมอยู่ แล้วก็กล่าวพุทโธ แล้วดังกล่าวก็ผุดกลับมาอีก ทำไมไม่พิจารณา วางทำไม โง่
หลวงพ่อ : ไอ้นี่เวลาธรรมมันเกิดนะ
ถาม : ลูกกราบถามหลวงพ่อว่า
๑. ลูกควรพิจารณาหรือไม่ ถ้าลูกควร จะพิจารณาพุทโธอย่างเดียว
๒. ระหว่างความสงบกับสมาธิแตกต่างกันอย่างใด
ตอบ : นี่เอาความจริงก่อนเนาะ ความจริงเราก็พุทโธของเราไป พุทโธของเราไป คำว่า “ให้พุทโธอย่างเดียว” คำว่า “พุทโธอย่างเดียว”
ฟังให้ดีนะ คำว่า “ให้พุทโธอย่างเดียว” แล้วพุทโธชัดๆ มันเป็นเวลาของการทำสมาธิ เวลาเราทำสมาธิ เราต้องการความสงบ เราจะพุทโธของเราไปๆ พอพุทโธของเราไปถ้ามันสงบลงได้ มันสงบลงได้นะ หรือจิตมันมีกำลังขึ้นมา เวลาที่มันมีความรู้ขึ้นมา เขาบอกว่า ที่ความรู้เกิดขึ้นว่า “ทำไมไม่พิจารณา วางทำไม โง่”
“ทำไมไม่พิจารณา ทำไมไม่พิจารณา” เวลาเราทำสมาธิมันก็จะหลอกให้เราออกไปพิจารณา
“วางทำไม แล้วก็ว่าโง่ด้วย” ไอ้นี่เวลาพูด เราพูดขึ้นมาเองนะ ทีนี้เวลาเราพูดขึ้นมาเอง คือจิตใต้สำนึกมันพูดออกมา ถ้ามันมีสมาธิ มันมีอำนาจวาสนานะ เวลามันผุดออกมานี่มันจะเป็นธรรม
เวลาคนที่นั่งภาวนาไปๆ มันจะมีคำบาลีขึ้นมาหรือคำต่างๆ ขึ้นมา แล้วตัวเองก็ไม่เข้าใจ เอามาถามเราเยอะมากนะ คนนั่งสมาธิ นั่งสมาธิแล้วมันมีคำพูดผุดขึ้นมา แล้วตัวเองก็ตัดสินไม่ได้ ตัวเองก็เข้าใจไม่ได้ ก็เก็บคาหัวใจไว้ แล้วก็มาถามเรา ถ้ามันเป็นบาลีนะ บาลีบางทีเราก็ไม่เข้าใจ แต่ถ้ามันเป็นภาษาไทยหรือภาษาที่มันพูดขึ้นมา เราก็มาสร้างเหตุผลของมันสิ แล้วมันควรหรือไม่ควร
นี่ก็เหมือนกัน “ทำไมไม่พิจารณาๆ” คำว่า “พิจารณา” เวลาเราฝึกหัด เรามาเริ่มต้น เรามาฝึกหัดภาวนา เราจะทำความสงบของใจก่อน คือว่าพุทโธอย่างเดียวๆ ถ้ายังเริ่มต้นคิดมันเป็นโลกียปัญญา มันเป็นปัญญาจากกิเลสทั้งนั้นน่ะ ถ้ามันปัญญาจากกิเลส แล้วเราก็จะมาล้มลุกคลุกคลานอยู่กับกิเลส
ที่เราจะมาปฏิบัตินี่เราก็ละทิ้งทางโลกมา ทางโลกคือความคิดพื้นฐาน ความคิดสัญชาตญาณ นี่คือเรียกว่าโลก เราจะมาละทิ้งมันๆ ไง ละทิ้งให้มันสงบระงับ ให้จิตมันมีหลักเกณฑ์ของมัน เราก็ต้องพุทโธชัดๆ พุทโธอย่างเดียวเลย อะไรมันจะมาชักมานำ อะไรมันจะมาหลอกมาล่อ ไม่ไปกับมัน ถ้าอะไรจะมาชักมานำ มาหลอกมาล่อ มันเสียเวลาเราไง เราก็พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ แล้วถ้าพอพุทโธชัดๆ แล้วถ้ามันสงบลงบ้าง แล้วถ้ามันไม่สงบ หรือว่ามันไม่สงบได้ดังใจเรา แต่ถ้ามันมีกำลังแล้ว เห็นไหม
“๑. ลูกควรพิจารณาหรือไม่”
รับรู้แต่ไม่ต้องใส่ใจ ขณะที่เรากำลังทำสมาธิอยู่ เราทำสมาธิอยู่ ขณะที่เราพยายามทำความสงบของใจ เราไม่ต้องใส่ใจ ขณะที่เรากำลังมีคำบริกรรมพุทโธอยู่ ถ้าเรากำลังพุทโธอยู่ เราพุทโธชัดๆ เลย
แต่ถ้าบางคราวไง เพราะบางคราว อย่างเช่นคราวนี้ เวลาสิ่งใดจะเกิดขึ้น เราจะวางพุทโธ แล้วเราจะลองหัดพิจารณา อย่างนี้ได้ เวลาเราจะพิจารณานะ
เวลาเราจะทำความสงบเราพุทโธชัดๆ เลย แต่เวลาเราจะพิจารณา เราวางพุทโธเลย เราพิจารณาหน้าเดียวเลย คือเราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ด้านใดด้านหนึ่ง ทำให้มันชัดๆ ไปเลย
ถ้าพุทโธเราก็พุทโธชัดๆ เราทำความสงบของเราชัดๆ แล้วพอชัดๆ แล้วมันก็จะได้พักได้ผ่อน มันจะเป็นการยืนยันกับสัจธรรมของเราไง มันจะยืนยันว่า เวลามันฟุ้งซ่าน มันฟุ้งซ่านได้ เวลามันสงบ มันก็สงบได้ เวลาสงบแล้วเราฝึกหัดให้มันสงบ ให้มันเอกัคคตารมณ์ คือมันตั้งมั่นมีกำลังหน่อยหนึ่ง แล้วถ้าอยากจะพิจารณา ลองเลย เวลาพิจารณา เราพิจารณาได้เลย
นี่ข้อที่ ๑. ว่า “ควรพิจารณาหรือไม่”
เวลาจะพิจารณา ควรพิจารณา แต่เวลาหยุดพิจารณาแล้ว ควรพุทโธ เวลาควรพุทโธ อยู่กับพุทโธชัดๆ อย่าให้หลอก
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลามันมีคนเยอะแยะ เวลาตื่นเช้าขึ้นมา เวลานั่งภาวนาตอนตั้งแต่หัวค่ำไปล้มลุกคลุกคลาน ไม่ได้อะไรเลย เวลาตีสามตีสี่เขาจะต้องหุงข้าวใส่บาตรไง อู้ฮู! มันภาวนาดีมากเลยนะ ไม่อยากจะลุกไปหุงข้าว แล้วก็มาถามเรา “หลวงพ่อ หนูควรลุกไปหุงข้าวไหม”
ไปเลยไป หุงข้าวซะจะได้ใส่บาตร ได้บุญแน่ๆ อยู่แล้ว
ไอ้นี่เวลาจะนั่งจริงๆ ก็ไม่ได้เรื่อง เวลาจะไปหุงข้าวมันบอกกำลังจะดีเลยล่ะ กำลังจะดีเลย อย่าไปหุงข้าว ก็เลยไม่ได้ทั้งสองอย่าง ไม่ได้ ไม่ได้ทั้งสองทางเลย ก็เลยตัดใจซะ ลุกเลย ไปหุงข้าว หุงข้าวใส่บาตรมันได้แน่ๆ อยู่แล้ว หุงข้าวใส่บาตรได้ใส่บาตรชัดๆ เลย แล้วกลับมานั่งต่อ
นี่กิเลสมันหลอก เวลากิเลสมันหลอกนะ เขามาเล่าให้ฟังเอง บอกว่านั่งตั้งแต่หัวค่ำไม่เอาไหนเลย อู้ฮู! ล้มลุกคลุกคลานเลย แต่ใกล้ๆ หุงข้าวนี่ แหม! มันกำลังจะลงๆๆ แต่ไม่ลงนะ กำลังจะลงๆ แต่ไม่ลงหรอก จะลงๆ นะ แล้วห้ามไปทำอย่างอื่นด้วย มันกำลังจะลง มันไม่ให้ไปหุงข้าว แล้วมาถามเรา “หลวงพ่อ หนูควรทำอย่างไร”
ลุกเลย ไปหุงข้าวซะ หุงข้าวอย่างไรมันก็จับได้ชัดๆ จับให้มั่นคั้นให้ตายอยู่กับเราเลยนะ หุงข้าว ได้หุงข้าวแล้ว ได้ใส่บาตรแล้ว แล้วคราวหน้าค่อยว่ากันใหม่ นี่มันก้ำกึ่ง
อันนี้ก็เหมือนกัน “เราควรพุทโธชัดๆ หรือควรพิจารณา”
มันต้องตัดสินใจตรงนี้ ตัดสินใจว่า ถ้าเราเองเรายังไม่มีกำลังพอ หรือถ้าพิจารณาแล้วมันจะไม่ได้ประโยชน์สิ่งใด เราก็พุทโธชัดๆ ของเราไป มันจะมาหลอก มันจะล่ออย่างไร ไม่เอา
แต่ถ้าเราสบายอกสบายใจแล้ว เรามีหลักเกณฑ์แล้ว ลอง ลอง เอาเลย อ้าว! พุทโธมาครึ่งทาง พุทโธมาสักพักหนึ่ง พอมันผุดมามันโผล่มา อ้าว! วางพุทโธเลย แล้วหันไปหามัน อะไรวะที่จะให้พิจารณาเนี่ย มันอะไรวะ ซัดกับมันเลย
ถ้ามันมีกำลังนะ มันก็เข้าใจ โอ้โฮ! ปลื้มใจดีใจ แต่ถ้ามันไม่เข้าใจหรือมันไปไม่ได้นะ ปล่อยเลย กลับมาพุทโธใหม่ แสดงว่าเอ็งหลอกกู แสดงว่าเอ็งหลอก ได้พิสูจน์แล้ว กลับมา กลับมาพุทโธต่อ นี่ข้อที่ ๑.
“๒. ระหว่างความสงบกับสมาธิแตกต่างกันอย่างใด”
เราตอบบ่อย ระหว่างความสงบ อย่างเช่นเดือดเนื้อร้อนใจ มีความขุ่นใจ แล้วมันวางลงได้ นี่สงบ เวลาคนที่สงบ สิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่มันเคลื่อนไหว ถ้ามันนิ่งก็คือสงบ ทีนี้คำว่า “สงบ” สงบนี่มันสงบของใครล่ะ สงบของเด็กน้อย เด็กน้อยบางครั้งก็สงบ สงบของคนผู้ใหญ่ สงบของผู้เฒ่า ผู้เฒ่านี่รัตตัญญูรู้เห็นโลกมาเยอะแล้ววางได้สงบได้ นี่สุดยอด นี่ความสงบเหมือนกัน ครูบาอาจารย์ของเราความสงบขั้นไหนล่ะ ทีนี้ความสงบ ความสงบก็คือการวางใจได้มันก็สงบได้
แต่ถ้าเป็นสมาธิล่ะ สมาธิมันมีพลัง สมาธินะ โอ้โฮ! มันมีพลังนะ สมาธิ โอ้โฮ! ว่าเป็นสมาธิ เวลามันปล่อยวาง แล้วตัวมันเอง ตัวมันเองมันชัดเจนของมัน มันสดชื่น นี่คำว่า “สมาธิ” ฉะนั้น เราทำสมาธิบ่อยๆ ทำความสงบของใจ ทำความสงบของใจให้ใจมันสงบเข้ามา
ถ้าความสงบๆ มันก็มี หนึ่ง บารมีของคน บางคนที่ทำสมาธิได้ง่าย บางคน ดูสิ ปัญญาวิมุตติ สมาธิ สมาธิก็สมาธิพื้นๆ แต่มีกำลังของมันนะ เพราะเขาสร้างอำนาจวาสนามาอย่างนี้ ฉะนั้น เวลาความสงบก็เป็นความสงบ ความสงบคือว่าคนที่มีคุณธรรมท่านก็สงบของท่าน
ความสงบ เราจะบอกว่า ความสงบชื่ออันเดียวกัน แต่มันอยู่ที่วุฒิภาวะของคนสูงต่ำ คนใหญ่โตเวลาสงบมันก็กว้างขวาง คนทุกข์คนเข็ญใจเวลาสงบมันก็สุขในใจเราน่ะ เห็นไหม ความสงบมันแตกต่างกันอย่างนี้
นี่ก็ว่าแบ่งชนชั้น...ไม่ใช่ นี้เราเปรียบเทียบให้เห็นเฉยๆ ว่ามันอยู่ที่บารมี คือบารมีของคน คนที่บารมีกว้างใหญ่ไพศาล เวลาปีติ เวลาคนที่บารมีกว้างใหญ่ไพศาลเวลามันสงบลงมันเกิดปีติ รู้วาระจิตไปหมดเลย ปีตินี่นะ
ปีติของคนถ้ามันมีบารมี โอ้โฮ! มันกว้างใหญ่ไพศาลมากนะ คำว่า “กว้างใหญ่ไพศาล” ก็คืออำนาจวาสนาไง แบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างมามหาศาลอย่างนั้นน่ะ อย่างทุคตะเข็ญใจเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน ไม่เคยฉันข้าวอิ่มแม้แต่มื้อเดียวเลย นี่พูดถึงว่าบารมีของคน นี่พูดถึงความสงบ
ถ้าสมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ในสมาธิมันก็มีหยาบ มีกลาง มีละเอียด มันก็ใหญ่โตของมัน ฉะนั้น เพราะว่า คำว่า “สงบหรือสมาธิ” ถ้าเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านพูดเรื่องอจินไตย ๔ ไง อจินไตย ๔ มีพุทธวิสัย คืออำนาจวาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่องโลกนี่อจินไตย เรื่องกรรม เรื่องกรรมมันซับซ้อนมาก เรื่องกรรมเป็นอจินไตย แล้วก็เรื่องฌานก็เรื่องความสงบนี่ไง
ไอ้สมาธิกับสงบมันเป็นอจินไตยอันหนึ่งเลยล่ะ ว่ามันกว้างแคบขนาดไหน เพราะบารมีคนมันแตกต่างกันมาก มันเป็นอจินไตยเชียวนะ อันนี้คุยเสียหน่อย มันเป็นอจินไตยคือว่ามันคาดหมายแทบไม่ได้เลยล่ะ มันเป็นอจินไตยเลย
อจินไตย ๔ ฌาน เรื่องความสงบ นี่อจินไตยหนึ่ง มันกว้างแคบ มันเกี่ยวกับบารมีของคนไง มันเกี่ยวกับวาสนาที่สร้างมาไง ถ้าคนมีอำนาจวาสนาเวลาสงบ ผัวะ! นั่งอยู่บนก้อนเมฆ สงบ ตัวนี้ลอยหมดเลย ไอ้เราขอให้สงบก็ดีแล้ว ขอให้มันสงบได้เถอะ
นี่พูดถึง “ระหว่างความสงบกับสมาธิแตกต่างกันอย่างใด”
มันแตกต่างกันอย่างนี้ นี่พูดถึงเวลาฝึกหัดทำไป ปูพื้นฐานของเราไป ทำของเราไปนะ ปูพื้นฐานของเราไปให้มันเป็นความเป็นจริงของเรา เราทำความเป็นจริงของเรา เรามาฝึกหัดของเรา
นี่เราได้แนวทางแล้ว ไอ้แนวทางมันลงสู่ที่ใจนะ เขาเรียกวาสนาๆ นั่งสมาธิฝึกหัดภาวนามันเป็นร่องรอยของจิต ดูสิ ทำบุญกุศลมันก็ซับลงที่จิต มานั่งสมาธิภาวนาก็ซับลงที่จิต พอมันซับลงๆ มันเป็นวาสนา พอมันไปเกิดภพใดชาติใดมันก็อยากทำต่อเนื่องไปถ้ามันไม่สิ้นกิเลส ถ้ามันสิ้นกิเลสก็สิ้นชาตินี้เลย ถ้านั่งภาวนานี่แหละ
หลวงตาท่านบอกว่า ทำบุญกุศลมากน้อยขนาดไหน เหมือนแม่น้ำกั้นเขื่อนไว้ มันกั้นเขื่อนไว้ อยากจะเป็นประโยชน์ก็ต้องภาวนา อยากจะสิ้นกิเลสก็ต้องภาวนาทั้งนั้นน่ะ นี่เรามาฝึกหัดภาวนาของเรา
ไม่ต้องไปวิตกกังวล เพียงแต่ว่าตอนนี้มันมีอยู่สองประเด็น ประเด็นหนึ่งว่า แล้วควรจะพิจารณาตอนไหนล่ะ
เวลาบอกว่า พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ ให้พุทโธอย่างเดียว คำว่า “ให้พุทโธอย่างเดียว” คือเราช่วยไง เราช่วยป้องกันไม่ให้กิเลสมันหลอก ว่าอย่างนั้นเลย เราใส่หมวกกันน็อกไว้ให้ เวลาล้มหัวจะได้ไม่ฟาด
พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ อย่าไปยุ่งกับมัน นี่ใส่หมวกกันน็อกไว้เลย แล้วถ้าถึงเวลาถอดหมวกกันน็อกก็ได้ พิจารณาบ้างก็พิจารณา ไม่อย่างนั้นเราจะวนอยู่อย่างนี้ วนอยู่อย่างนี้ไม่ไปไหน ถ้าพุทโธชัดๆ เลย แล้วถ้ามันมีกำลัง มันมีความรู้ขึ้นมา อย่างที่มันว่า “ทำไมไม่พิจารณา วางทำไม โง่”
เออ! มันมาเตือนเหมือนกันเนาะ เวลามาเตือน มันมาเตือนก็ได้ มันมาหลอกก็ได้ ถ้ามันมาหลอก เห็นไหม เราทำกำลังจะเข้าด้ายเข้าเข็มเลย มันมาหลอกแล้ว เอานู่นมาล่อ เอานี่มาล่อ นี่มันมาเตือนก็ได้ มันมาหลอกก็ได้ อยู่ที่เชาวน์ปัญญาของเรา ถ้าเชาวน์ปัญญาของเราใช้ได้ เชาวน์ปัญญาของเราฝึกหัดทดสอบเลย กลับไปนี่เอาเลย พิจารณาเลย แล้วพิจารณาแล้วมันไม่ได้เรื่อง เออ! มันหลอกชัดๆ เลย แล้วกลับมาพุทโธใหม่แล้วค่อยดำเนินการต่อไป จบ
ถาม : ลูกอยากขอโอกาสกราบขอความเมตตาหลวงพ่อช่วยแบกปัญญาด้วยค่ะ เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมานี้ลูกมีอาการจิตหนักๆ เหมือนมีความอึดอัดในใจ แล้วเราพยายามพิจารณาเหตุผลว่าเกิดจากอะไร แต่ไม่สามารถหาเหตุผลได้ จึงไม่รู้ว่าลูกควรจะพิจารณาอย่างไร หรือมีเจ้าคะ
ตอบ : คือถ้าจิตมันหนักๆ ถ้าเรากำหนดพุทโธ เราก็กำหนดพุทโธของเราไป ถ้ามันจะหนัก มันจะอย่างไร มันจะหนักเวลาเรากำหนดพุทโธนะ ถ้ามันจะหนักมันจะหน่วงอย่างไรเราก็พุทโธไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันจะคลายออกไป
แต่ถ้าเราไม่ได้กำหนดพุทโธ ถ้ามันหนักๆ อยู่ จะหนักๆ อยู่หรือตัวเอียงๆ อยู่ หรือจะมีสิ่งใด พอมันมีสิ่งใดที่ผ่านเข้ามาในคลองของอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วถ้ากิเลสมันสนใจ มันก็ไปจับสิ่งใดไว้
อาการหนักๆ อาการหนักๆ เหมือนเรานั่ง เรานั่งโดยปกติขามันก็เหน็บชา แล้วถ้าจิตมันรับรู้นะ ต่อไปมันก็จะมาหลอกอยู่เรื่อยๆ ไง อาการหนักๆ ก็เหมือนกัน อาการหนักๆ จิตมันสนใจ มันอยากรู้ มันซับไว้แล้ว เราใช้คำว่า “แผ่นเสียงตกร่อง”
แผ่นเสียงตกร่อง พอจิตมันซับไว้ จิตมันรับรู้ไว้นะ แล้วมันจะผ่านตรงนี้ พอมันจะมาถึงตรงนี้มันจะมาหนักๆ หนักๆ เริ่มภาวนาก็จะหนักๆ หนักๆ จะทำอะไรก็หนักๆ หนักๆ แต่ถ้าเราพุทโธๆ หรือว่าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราไม่สนใจหนักๆ นะ มันก็ค่อยจางไปๆ มันจะหายของมันไปเอง มันจะหายของมันไปเอง
เราอยากให้หาย อยากให้มันหาย อยากให้มันไม่มี มันก็จะกวนเราไปอย่างนี้ เพราะมันเป็นเรื่องนามธรรม มันไม่ใช่รูปธรรมที่จะจับต้องได้ แต่หนักๆ นามธรรมแต่หนักๆ อาการอย่างนี้ ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ นานๆ มันก็มาล่อทีหนึ่ง ล่อให้ติดมันไง บางคนนะ มันเอียงๆ “หลวงพ่อ นั่งแล้วตัวมันเอียงๆ”
เอียงๆ เอ็งดึงกลับมามันก็หาย แต่มันก็เอียงๆ เอียงๆ เอียงๆ ก็ส่วนเอียงๆ แต่ถ้าเราตั้งสติของเราไว้ เราตั้งสติของเราไว้ อาการอย่างนี้มันค่อยๆ จางไปๆ อาการ คำว่า “อาการ”
คำว่า “อาการ” เพราะเราไปจับต้องมันถึงมีขึ้นมา ถ้าเราไม่จับต้องมันก็ไม่มีขึ้นมา คำว่า “อาการ” เห็นไหม คำว่า “อาการ” แต่คำว่า “อาการ” แต่เวลาถ้ามันเป็นจิตแล้วมันเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตเลย เพราะอะไร เพราะมันมาต่อรองกับจิต แล้วจิต กิเลสมันสงสัย กิเลสมันผูกพันน่ะ พอผูกพัน จะทำอะไรไปอาการอย่างนี้มันจะมาเกิดขึ้นเลย
เราจะบอกว่า ถ้ากำหนดพุทโธๆ กำหนดพุทโธคือคำบริกรรม คือเราเอาจิตมาไว้กับพุทโธ แล้วอาการหนักๆ เราพยายามไม่รับรู้มัน เราไม่รับรู้มัน เราอยู่กับพุทโธของเราไป อยู่กับพุทโธของเราไป แล้วมันก็จะทำให้เราหนักหน่วง จะทำให้เราวิตกกังวล มันก็เรื่องของกิเลส นี่กลวิธีการของมันน่ะ เล่ห์กลของมันเป็นอย่างนี้ แล้วเราก็ไปศึกษาเล่ห์กลของมันน่ะ ทำไมมันเป็นอย่างนี้ๆ
ก็มันเป็นอย่างนี้ ก็มันชื่อกิเลสไง กิเลสมันชื่ออย่างนี้ มันก็มีอาการอย่างนี้ แล้วเราไปศึกษาชื่อของมัน ไปศึกษาอาการของมัน เราก็อยู่กับมันไปไง เราไม่ต้องไปศึกษาอะไรของมันเลย เราไม่ต้องสนใจเลย เรามาอยู่กับพุทธานุสติ เราอยู่กับคำบริกรรม จบ จบเลย
คือมันหลอกล่อให้เราไปผูกพันกับมัน ทีนี้ถ้าเราไม่ไปผูกพันกับมัน แล้วไม่ผูกพันกับมันแล้วทำอย่างไรล่ะ
ไม่ผูกพันกับมันก็ต้องเอาจิต เอาจิตมาบริกรรม เอาจิตมาอยู่กับสติปัญญา แล้วถ้ามันอยู่กับสติปัญญามันก็ไม่ไปรับรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นมันมาล่อไม่ได้ มันมาใช้เล่ห์กลไม่ได้ มันใช้เล่ห์กลไม่ได้ ไม่ได้ประโยชน์ มันก็จะหายไป ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ แต่มันหายไปยากไง หายไปยากเพราะอะไร เพราะกิเลสมันชอบ ไอ้สงสัยนี่ร้ายกาจ คือมันเป็นทางเดียวกันกับมันน่ะ
ฉะนั้น เรามาอยู่กับคำบริกรรม ถ้าเราอยู่กับอานาปานสติ อยู่กับอะไรก็แล้วแต่ อยู่กับที่เราภาวนา แล้วอย่างนั้นมันจะค่อยๆ จางไป แต่ถ้าเราไปสนใจ เราไปวิตกกังวล มันก็จะอยู่กับเราไปเรื่อยๆ อย่างนี้ แล้วพออยู่เรื่อยๆ มันก็จะอยู่กับเราตลอดไป ฉะนั้น เราทำอย่างนี้เพื่อจะพ้นไปจากอาการหนักๆ เอวัง