ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สงสัยถึงเป็น

๘ ต.ค. ๒๕๕๙

สงสัยถึงเป็น

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๙

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : เรื่อง “อุปสรรคการภาวนา

กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพ กระผมมีปัญหาคือมีอาการเจ็บปวดหลังด้านขวา มีอาการปวดเป็นๆ หายๆ อยู่ตลอดเวลามาหลายปีแล้วครับ ปัจจุบันอายุ ๓๙ ปี จะมีอาการเจ็บปวดมากกว่าปกติตอนนั่งสมาธิ และจะปวดมากกว่าเดิมหลายเท่าตอนมาปฏิบัติที่วัด ผมเคยมาปฏิบัติอยู่ที่วัดหลายครั้ง บางครั้งเจ็บปวดเหมือนหลังจะขาด ขยับตัวไม่ได้เลยครับ ผมจะเปลี่ยนมาเดินแทน เพราะผมชอบเดินมากกว่า ซึ่งอาการจะบรรเทาลง แต่ไม่หายครับ

กราบเรียนถามหลวงพ่อดังนี้ครับ ผมควรปฏิบัติอย่างไรต่อไป กราบขอเมตตาหลวงพ่อชี้แนะสั่งสอนครับ ด้วยความเคารพด้วยเศียรเกล้า

ตอบ : ไอ้นี่พูดถึงว่าเวลาปฏิบัติเนาะ เวลาไม่ปฏิบัติก็ปกติน่ะ เวลาปฏิบัติแล้วจะมีอาการร้อยแปดพันเก้า อันนี้มันก็อยู่ที่วาสนาของคนเหมือนกัน ถ้าวาสนาของคนนะ วาสนาของคนเวลาปฏิบัติ ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บก็เข้าอาจารย์สิงห์ทองอีกแล้ว

เวลาเข้าอาจารย์สิงห์ทอง โดยปกติอาจารย์สิงห์ทองท่านเป็นคนดื้อ โดยญาติพี่น้องบอกว่า “บวชไม่ได้หรอกๆ ถ้าเอ็งบวชได้นะ จะให้มาขี้บนที่นอนเลย” เสร็จแล้วท่านก็บวช บวชด้วยการท้าทาย บวชด้วยท่านจะแทนคุณพ่อแม่ของท่านด้วยแหละ

แต่เวลาบวชไปแล้วท่านบอกจะสวดมนต์มันก็จะลงสมาธินะ จะทำอะไรเป็นสมาธินี่ง่ายๆ เลย พอเป็นสมาธิง่ายๆ มันมีความสุขมากไง พอมีความสุขมาก ในใจก็คิดขึ้นมานะ เอ๊ะอย่างนี้บวชตลอดชีวิตก็ได้ พอตั้งใจบวชตลอดชีวิตเท่านั้นน่ะ โอ้โฮภาวนาอย่างไรก็ไม่ลง ทำภาวนาอย่างไรก็ไม่ลง แต่สุดท้ายท่านก็เป็นพระอรหันต์ไปแล้วไง

นี่พูดถึงก่อนหน้านั้นท่านบอกนะ ท่านเล่าเอง จะสวดมนต์นะ จิตมันจะเป็นสมาธิอย่างเดียว จะทำอะไรจิตมันจะเป็นสมาธิอย่างเดียว สมาธิมันเป็นง่ายๆ เลยล่ะ นี่มันก็เหมือนกับวาสนาของคนเนาะ เพราะเริ่มต้นการจะบวช ใครๆ ก็ว่าบวชไม่ได้ เพราะท่านเป็นคนที่ดื้อมาก แต่เวลามาบวชแล้วมันเป็นสมาธิได้ง่ายๆ มันก็เป็นการแบบว่าชักจูงบอกว่านี่มันมีผล แล้วผลนี่มันประทับใจมาก ก็เลยจะทำให้บวชตลอดชีวิต ท่านตั้งใจเองว่าท่านจะบวชตลอดชีวิต แล้วท่านก็อธิษฐานว่าอย่างนี้บวชตลอดชีวิต เท่านั้นแหละ ภาวนานี่แสนยาก แต่ท่านก็ทำของท่านมาได้จนสำเร็จ

อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาที่ว่าเราไม่ได้ทำสิ่งใดมันก็ปกติ เวลาจะภาวนาขึ้นมามันก็ทุกข์มันก็ยาก แล้วถ้ามันเป็นภาวนา โดยปกติไม่ภาวนามันก็ไม่ปวด ถ้ามันภาวนามันก็จะปวดมากขึ้น

จะปวดมากขึ้นหรือจะทำสิ่งใด เราจะบอกว่า สิ่งใดนะ ดูสิ คนหัดภาวนาเวลาเริ่มต้นพอนั่ง สิ่งใดที่มันฝังใจมันจะเป็นตอนนั้นน่ะ มันจะเป็นตอนนั้นน่ะ เพราะจิต ดูสิ หลวงปู่มั่นบอกจิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก เวลาที่มันฝังใจกันไปมันจะแสดงออกอย่างนั้น

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเวลาเราปกติมันก็เจ็บปวดอยู่ แต่ภาวนามันก็มากขึ้น มันก็เป็นเหมือนกับว่า ถ้าจะบอกว่ามันเป็นอุปาทาน ถ้าเป็นอุปาทาน อุปาทานทำไมมันปวดขนาดนี้ อุปาทานเป็นความจริง

ใช่ มันปวดจริงๆ แต่เริ่มต้นเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยที่มันจะปวดมันมาจากไหน เหตุปัจจัยที่มันจะปวดเห็นไหม เพราะสรรพสิ่งในโลกนี้นะ มันมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป มีเกิดกับดับเท่านั้น ไม่มีสิ่งใดเลย ถ้าไม่มีสิ่งใดเลย อาการปวดนั้น อาการปวดนั้นมันปวดขึ้นมา มันอาการเดี๋ยวก็ปวดมาก เดี๋ยวก็ปวดน้อย มันไม่เท่ากันอยู่แล้ว ถ้าไม่เท่ากันอยู่แล้ว อาการปวดก็คืออาการปวด

แต่ถ้ามันเริ่มต้น ทำไมมันถึงปวดล่ะ มันเริ่มต้นปวดจากอะไร

นี่ความฝังใจไง ความฝังใจ ถ้าพูดภาษาเราว่า ความลังเลสงสัย ความลังเลสงสัยไม่แน่ใจขึ้นมา มันก็มาแล้วๆ แล้วจิตใจของคนมันเป็นร้อยแปดไง

ถ้าจะเอาจริงเอาจังของเรา ปวดก็คือปวด ปวดคือปวด แล้วตั้งสติปัญญาของเรา พุทโธก็พุทโธชัดๆ ถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ปัญญาอบรมสมาธิชัดๆ ถ้ามันจะลงสมาธิได้ อันนี้มันจะหายไปๆๆ หายไปจนมันเป็นเรื่องปกติไง ถ้าเรื่องปกติแล้วถ้ามันจะปวดก็ปวด เพราะว่าปวดเพราะการนั่งทับนาน มันจะปวดโดยข้อเท็จจริง มันต้องมีที่มาที่ไปทั้งนั้นน่ะ

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลามันภาวนาแล้วมันปวดมากขึ้น ยิ่งเดินจงกรมยิ่งปวดมากขึ้นไปอีก ปวดมากขึ้นไปอีก มันก็เหมือนคนใจอ่อนแอ อะไรมันเกิดขึ้นก็ไปฝังใจกันตรงนั้นน่ะ

กรณีอย่างนี้เรายกหลวงตา หลวงตาเวลาเตือนเราไง เราจะทำสิ่งใดท่านบอกว่า “ให้หยุดซะนะ ขี้อย่าไปคุ้ยมัน ยิ่งคุ้ยมันยิ่งเหม็น

ในทางโลกที่ไหนมีเหตุการณ์ต้องดับที่นั่น ต้องไปแก้ไข ต้องไปพิจารณา แต่เวลาหลวงตาท่านบอกว่า อย่าไปยุ่งกับมัน อย่าไปยุ่งกับมัน ขี้อย่าไปคุ้ย ยิ่งคุ้ยยิ่งเหม็น

ถ้ายิ่งคุ้ยๆ สิ่งนั้นมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เวลาเราไปชี้แจง เราไปแก้ไข มันต้องมีการเจรจา ต้องมีการโต้แย้ง สังคมชอบ แหมฟังกันใหญ่เลย

ท่านบอกว่ายุ่ง ห้ามยุ่ง ขี้เหม็น ขี้อย่าไปคุ้ยมัน ขี้มันก็เหม็นอยู่แล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นมันมีความขัดแย้งอยู่แล้ว แล้วถ้ามันถึงเวลาแล้วให้มันดับของมันไปเอง เราไม่ต้องไปยุ่งกับมัน เราไม่ต้องไปยุ่งกับมันเพราะมันไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของเรา แต่เราอยากจัดการไง

นี่ก็เหมือนกัน ปวด ปวดเป็นเรื่องอะไร ถ้าสงสัยๆ ไง สงสัยก็อยากจะพิจารณา อยากจะแก้ไขไง ถ้าอยากจะแก้ไขมันก็ปวดซ้ำปวดซากอยู่นั่นไง แต่เราอยู่กับพุทโธๆ ทั้งหมดเลย มันต้องมีเหตุจูงใจ ความจูงใจอันนั้นน่ะ ความจูงใจลงไปมันฝังใจใช่ไหม

โอ้โฮนั่งอีกแล้ว พอนั่งไป ปวดแน่ๆ เลย...ยังไม่ทันนั่งเลย

นี่ไง ความจูงใจ แรงจูงใจๆ ไง ถ้าแรงจูงใจมันมี ถ้าแรงจูงใจมันไม่มี คนเราจิตมันมีกำลังนะ จิตมีอำนาจวาสนานะ มันจะไปเจออะไรก็เจอ นั่งสมาธิ เราจะทำความสงบของใจ มันจะเจออะไรก็เจอ ถ้ามันยังไม่มา ยังไม่เจอก็ช่างมัน

ไอ้นี่ยังไม่ทันนั่งเลยนะ ปวดอีกแล้ว ปวดอีกแล้ว เจอแน่ๆ เดี๋ยวตายแน่ๆ เลย ตายแน่ๆ เลย โอ๋ยปวดสองเท่าสามเท่า มันปวดมากขึ้นไง นี่อุปาทาน

นี่ถึงบอกว่ามันจะเป็นอุปาทาน ที่เราพูดของเรา คำว่า “อุปาทาน

แต่มันไม่ได้อุปาทาน ไม่ได้คิดอะไรเลย

ถ้าเรารู้เท่าทันปัจจุบันนะ เราเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว อะไรที่มันฝังใจๆ ที่มันชอบน่ะ มันฝังใจอยู่นั่นน่ะ ถ้าฝังใจอยู่นั่นเห็นไหม ที่เรามาทำเราพยายามทำความสงบของใจเราเข้ามา ถ้าใจสงบแล้วเราหัดวิปัสสนา หัดวิปัสสนาก็จะไปรื้อข้อมูลนั้นแหละมาพิจารณา รื้อข้อมูลนั่นน่ะมาเผามันซะ ให้มันจบสิ้นกันไป ถ้าข้อมูลในใจมันเผาหมดเลย มันสักแต่ว่า ไม่มีสิ่งใดเลย นี่ถ้ามันเป็นไปได้จริงไง

นี่พูดถึงว่า “ผมควรปฏิบัติอย่างไรต่อไป

ถ้าควรปฏิบัติอย่างไรต่อไป เราโดยชีวิตปกติเรานั่งก็ได้ เดินจงกรมก็ได้ ถ้าเราจะปฏิบัตินะ แล้วก็หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ทำของเราไปเรื่อยๆ ทำของเราไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องไปสนใจกับปวดไม่ปวด มีไม่มี อยู่กับพุทโธ นี่ข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงคือพุทธานุสติ ให้หัวใจของเราอยู่กับพระพุทธเจ้า อยู่กับพุทธานุสติ จะปวดจะไม่ปวด โลกจะแตกพลิกฟ้าคว่ำดิน ช่างมัน ไม่เกี่ยว พุทโธอย่างเดียวๆ

เว้นไว้แต่ทำงาน เราทำหน้าที่การงานของเรา เราก็อยู่กับงานนั้น ไม่ต้องไประลึกถึงไอ้ความเจ็บปวด ไอ้การที่ฝังใจอยู่ ไม่ต้องไปคิดถึงสิ่งที่ภาวนาแล้วไม่ได้ ภาวนาแล้วทุกข์ยาก ทิ้งมันหมดเลย

เวลาจะภาวนาก็หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ อยู่กับข้อเท็จจริงนั่นน่ะ อยู่กับข้อเท็จจริงนั้นอย่างเดียว เหมือนตักน้ำใส่ตุ่ม ตักมันน่ะ ตักใส่ตุ่ม ตักใส่ตุ่มจะเต็มไม่เต็มไม่เกี่ยวกับเรา ตักใส่ตุ่มไปเรื่อยๆ

นี่ก็เหมือนกัน พุทโธไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปคิดเรื่องอะไรเลย ไม่ต้องคิดเรื่องอะไรเลย ไม่ต้องไปคาดหมายเรื่องอะไรเลย ไม่ต้องการความสงบ ไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้นเลย อยู่กับข้อเท็จจริงไปเลย ทำอย่างนี้

นี่พูดถึงว่า “ผมควรปฏิบัติอย่างไรต่อไปครับ

เราไม่ต้องไปยุ่งอะไรสิ่งใดทั้งสิ้น สิ่งใดที่มันเจ็บช้ำน้ำใจ สิ่งใดที่มันผูกใจเจ็บ สิ่งใดที่มัน เราไม่อยากจะพูดถึงชาตินี้นะ ไม่อย่างนั้นมันจะมีจริตนิสัยหรือ อะไรที่มันฝังมาตั้งแต่ไหนแต่ไรนั่นน่ะ เวลาถึงจริงๆ แล้วมันจะผุดขึ้นมาๆ ถ้าผุดขึ้นมาแล้ว ไอ้นั่นเราก็ค่อยแก้ไขไปข้างหน้า ตอนนี้เอาแค่แก้หายปวดก่อน ถ้ามันหายปวดแล้วมันจะปฏิบัติได้ไง ไม่อย่างนั้นมันจะไม่ยอมปฏิบัติ โอ๋ยถอยดีกว่าๆ เพราะอะไร อุปสรรคทั้งนั้นน่ะ นี่ไง นี่แค่หญ้าปากคอกนะ เรายังไม่ทำอะไรเลย แต่มันก็จะมีอาการอย่างนี้

นี่พูดถึงว่า ผมจะทำอย่างไรเนาะ

อุปสรรคในการภาวนา ใช่ มันจะมีอุปสรรคไปหมด เพราะสงสัยมันถึงเป็นไง เพราะสงสัยมันถึงเป็นนู่นเป็นนี่

ไม่ต้องสงสัยอะไรทั้งสิ้น ของยังมาไม่ถึงเรา เราไม่ต้องไปสงสัยมัน เราจะมีคำบริกรรม เราจะอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธะสถิตไว้กลางหัวใจ ทั้งๆ ที่ใจเราเป็นพุทธะอยู่แล้ว แต่เรายังต้องระลึกถึงพุทธะ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ มีคำบริกรรมของเรา เราเอาประโยชน์ตรงนี้ ถ้าเราเอาประโยชน์ตรงนี้ได้มันก็จะเป็นประโยชน์

นี่พูดถึงว่า ควรปฏิบัติอย่างไรต่อไปไง

ถ้าควรจะปฏิบัติอย่างไรต่อไป สิ่งใดที่มันเจ็บช้ำน้ำใจ สิ่งใดที่มันฝังใจ วางไว้ให้หมด เพราะว่าถ้าเราเอามาคิด ความเจ็บปวดเอามาคิด มันเผาใจไง แหยงนะ ไม่กล้าทำอะไรเลย โอ้โฮมันสะดุ้ง กลัวจนนอนสะดุ้ง

วางให้หมด อะไรที่มันเจ็บช้ำน้ำใจ วางให้หมด แล้วถ้าเราจะปฏิบัติก็หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ อยู่แค่นั้น ไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น แล้วถ้าไม่ได้ก็เดิน ใช้เดิน ใช้ยืน เราทำของเรา แล้วถ้ามันเมื่อยก็ค่อยมานั่ง นั่งสักพักแล้วมันจะปวดก็ลุกขึ้นเดิน ให้มันผ่านนี้ไป พอผ่านนี้ไปได้แล้ว เริ่มต้นจะทำอย่างไรต่อไปนั้นอีกเรื่องหนึ่ง นี่พูดถึงว่าอุปสรรคในการภาวนานะ

ถาม : เรื่อง “การซื้อสินค้าที่มีคนลอกเลียนแบบสินค้าที่มีลิขสิทธิ์มาขาย ผิดศีลข้อ ๒ หรือไม่

นมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพ ผมขอเมตตาหลวงพ่อช่วยตอบปัญหาด้วยครับ ผมมีอาชีพขายเสื้อผ้า ทำทาน รักษาศีล ๕ เป็นปกติ และมีศีลอุโบสถในวันพระ มีความสงสัยข้องใจว่า ผมซื้อเสื้อผ้าที่ทำเลียนแบบสินค้าที่มีลิขสิทธิ์มาขายจะเข้าข่ายผิดศีลหรือไม่ เช่น เสื้อผ้าตราโดราเอมอนที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องก็มีขาย แต่ราคาแพง นำมาขายยาก เลยต้องซื้อสินค้าที่ทำเลียนแบบ ไม่ใช่ลิขสิทธิ์แท้ จะราคาถูกกว่ามาขาย ถือว่าเป็นการละเมิดศีลข้อ ๒ หรือไม่ เพราะได้อ่านตามเว็บอื่นๆ ที่บอกว่าซื้อซีดีไม่มีลิขสิทธิ์มาดูก็เข้าข่ายผิดศีล ทำให้ผมรู้สึกไม่ดีและสงสัย ถ้าผิดก็จะได้เลิกขายเพื่อให้เป็นสัมมาอาชีวะที่สุจริตตามธรรม

ตอบ : นี่พูดถึงนะ พูดถึงลิขสิทธิ์ แต่ลิขสิทธิ์ ภาษาเรา ลิขสิทธิ์มันผิดตามกฎหมาย ถ้าตามกฎหมาย ถ้ามันผิดกฎหมายก็คือผิด ถ้ากฎหมายนะ กฎหมายผิดมันก็คือผิด ถ้ากฎหมาย มันผิดกฎหมาย แต่ศีล ศีลของเรา ศีลข้อ ๒ ใช่ไหม อทินนาทาน ถ้าอทินนาทาน เหมือนกับลักเขา อะไรเขา อันนี้อย่างหนึ่งนะ

นี่เราพูดถึงว่า ถ้ามันผิด ผิดกฎหมายก็คือผิด ผิด อันนี้ในเว็บไซต์บอกว่าแม้แต่ไปซื้อซีดีที่ไม่มีลิขสิทธิ์มาดูก็ผิด อันนี้พูดถึงถ้าซื้อขาย คนซื้อคนขายเนาะ

ฉะนั้น เวลาถ้าเราพูดถึงเรื่องของพระ ถ้าเรื่องของพระก็ด่านขนอน ด่านขนอนคือว่ามันจะผิด ถ้าด่านศุลกากรน่ะ ตรงนั้นน่ะผิดชัดๆ เพราะราคามันแตกต่าง แต่นี่ถ้าสินค้าลิขสิทธิ์ ลิขสิทธิ์มันจดทะเบียนลิขสิทธิ์ นี่มันก็เป็นลิขสิทธิ์

เรื่องด่านขนอนมันเป็นเรื่องของภาษี ถ้าภาษีนะ ถ้าภาษีก็ผิดเรื่องของภาษี แต่นี่เรื่องลิขสิทธิ์ ถ้าเรื่องลิขสิทธิ์ ทางกฎหมายผิดมันก็คือผิด เพราะว่าเราเป็นคนไทย ต้องยอมรับกฎหมายไทย ถ้ากฎหมายไทยมันเขียนไว้แล้ว

แต่นี่ทางโลก ทางโลกเขาบอกว่า กฎหมาย ใครเป็นคนเขียนกฎหมายก็เขียนเพื่อชุมชนนั้น เราก็ไปขัดแย้งเรื่องกฎหมาย บอกว่ามันเขียนมาผิดไง นั่นอีกเรื่องหนึ่ง นั่นพูดถึงเวลาคนจะคิด คนจะคิด คนจะมีความเห็นนะ

ฉะนั้น เขาบอกว่า “การซื้อสินค้าที่คนทำเลียนแบบสินค้ามีลิขสิทธิ์มาขาย ผิดศีลข้อ ๒ หรือไม่

ศีลข้อ ๒ เราลัก แต่ไอ้นี่มันไปซื้อมาเนาะ ภาษาเรา เราแบบว่ามันก้ำกึ่ง นี่ภาษาเรานะ คำว่า “ก้ำกึ่ง” มันมีขายอยู่ในท้องตลาด ถ้ามันผิด ตำรวจก็ต้องจับ ไอ้นี่มันมีในท้องตลาดแล้วเราก็ไปซื้อในท้องตลาดมา แต่ถ้าจะเอาว่าผิดไหม ผิด เพราะศีลมันมีเศร้าหมองไง มันมีด่างพร้อย มีเศร้าหมอง แล้วขาด ขาดคือสมบูรณ์ ถ้าศีลขาดนี่สมบูรณ์เลย ผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าศีลมันไม่ขาด แต่มันเศร้าหมอง มันว่ามันไม่ผิดมันก็ผิด ไอ้ว่าผิดหรือมันก็ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์

เวลาที่เราถือศีลกัน มันมีด่างพร้อย ศีลทะลุ ศีลด่างพร้อย ศีลขาด ถ้าศีลขาด ครบองค์ประกอบนี่ขาดเลย ศีลขาดคือขาด แต่ถ้ามันด่างพร้อย

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ไอ้นี่มันแบบว่า เพราะว่าเราไปซื้อ เขาว่าเราไปซื้อนะ แต่ภาษาเรา เขาบอกว่าเขาอยากจะมีสัมมาอาชีวะด้วยความสุจริตธรรม ถ้าความสุจริต ถ้าพูดถึงคำว่า “สุจริต” นี่ผิด ผิดเพราะอะไร

ผิดเพราะเขารู้อยู่แล้ว มันของลิขสิทธิ์ แล้วนี่มันลักลอบ ถ้าลักลอบนี่ผิดกฎหมาย ผิดกฎหมายแล้วเราก็อยู่ในวงจรของเขา ผิด อย่างนี้ผิด เพราะคำว่าเอาสุจริต” สุจริต เรารู้อยู่แก่ใจ ถ้ารู้อยู่แก่ใจแล้วจบ ถ้ามันมีความจำเป็นอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ผิดไหม ผิด เพราะมันผิดกฎหมาย จบ

ถาม : เรื่อง “นิพพานแล้วจิตไปไหนครับ

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ กระผมติดตามฟังเทศน์ของหลวงพ่อมาตลอด ซึ่งหลวงพ่อจะย้ำเสมอเรื่องใจของเรา และเมื่อฟังไปแล้วเรื่อยๆ ก็เกิดมีความสงสัยว่า จิตทุกดวงเมื่อตายไปแล้วจะต้องเกิดใหม่เวียนว่ายไปตามวัฏฏะอยู่เรื่อยๆ จนกว่าจิตดวงนั้นจะสามารถสร้างอำนาจวาสนาจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ซึ่งจะไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

กระผมจึงสงสัยว่า เมื่อจิตไม่ต้องไปเกิดใหม่แล้ว จิตดวงนั้นจะไปอยู่ที่ใด จิตดวงนั้นจะหายไปหรือครับ และจิตถูกกลั่นออกมาจากอริยสัจ แท้ที่จริงอริยสัจคืออะไรครับ รบกวนหลวงพ่อเมตตาตอบข้อสงสัยให้กับความไม่มีปัญญาของผมด้วยครับ

ตอบ : เขาเขียนมาทีแรก โอ้โฮดีใจเนาะ ฟังเทศน์หลวงพ่อเป็นประจำ ฟังอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายแล้วไม่รู้อะไรเลย

เอองง ฟังเทศน์หลวงพ่อเป็นประจำ โอ้โฮติดตามมาตลอดเลย เวลาขึ้นต้น อู้ฮูดีใจใหญ่เลยนะ คนฟังติดตามฟัง แต่สรุปแล้ว “ตอบด้วยครับ ผมไม่รู้อะไรเลย” แสดงว่าเทศน์ไปแล้วนี่ไม่มีใครเข้าใจเลย เข้าใจอยู่คนเดียวคนพูดนี่ ไอ้คนฟังยิ่งฟังยิ่งงงใหญ่เลย จนไม่รู้เรื่องอะไรเลย

เพราะเวลาเทศน์นะ เวลาเทศน์ เวลาหลวงตาท่านจะเทศน์ท่านจะนั่งกำหนดเลยว่าสมควรเทศน์อย่างใด คำว่า “สมควรเทศน์” วุฒิภาวะของสังคมใหญ่ สังคมโดยทั่วไปเขาต้องประกอบสัมมาอาชีวะ เขาจะไม่เข้าใจเรื่องสัจธรรม เรื่องธรรมะที่ละเอียดหรอก ท่านจะเทศน์ให้คนที่พอเข้าใจ พอเข้าใจให้เขามีที่พึ่ง ให้เขามีรัตนตรัย ให้เขาดำรงชีพได้มีความสุขทางโลก แล้วถ้าเขาจะประพฤติปฏิบัติมันอีกเรื่องหนึ่งไง

นี่ก็เหมือนกัน ฟังเทศน์ตลอดๆ เวลาฟังเทศน์ ฟังเว็บไซต์ ฟังแล้วมันก็เป็นประโยชน์ไง เพราะเวลาฟังแล้ว เขาพูดถึงการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะๆ มันก็เป็นการทำบุญกุศล ถ้าใครทำบุญกุศลมันก็จะได้เกิดดี นี่พูดถึงเป็นฆราวาสธรรม

แต่เวลาฟังไปแล้ว เพราะเวลาหลวงตาท่านเทศน์ ท่านกำหนดดูชนชั้นเลยนะว่าจิตของเขาภูมิธรรมขนาดไหน เทศน์ไปแล้วมันเข้ากันไง คือเทศน์แล้วเขาเข้าใจได้ เขามีภูมิรู้อยู่แค่นี้ ไปเทศน์สูงส่งเลย เขาฟังแล้วเขาไม่รู้เรื่องเลย มันก็ไม่เป็นประโยชน์ไง

แต่นี่เวลาที่เราพูดในเว็บไซต์มันทั่วๆ ไปใช่ไหม เวลาคนถามเรื่องพื้นๆ มันก็ผลของวัฏฏะ การทำบุญกุศล แต่ไอ้เรื่องที่ว่า จิตตายแล้วมันไปไหน จิตที่ว่านิพพานแล้วมันไปอยู่ที่ใด

ไอ้นี่เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ คนที่ปฏิบัติแล้วเวลาเขามีความข้องใจหรือคนที่เขาไปอ่าน ส่วนใหญ่แล้วไปอ่านพระไตรปิฎกมาแล้วก็มาถาม พูดถึงว่าคนที่เขาปฏิบัติได้ขนาดนี้แล้วมาถามมันจะหายาก คนที่ปฏิบัติได้แล้วสงสัยมาถามมันคงจะหายาก จะบอกว่าแทบไม่มีเลย แต่เวลาเขาไปศึกษามากเขายิ่งสงสัย เขาถามมาเยอะเลย ทีนี้ถามมาเยอะ เราก็ตอบไป

ทีนี้เวลาฟัง เวลาฟัง ถึงบอกว่า หลวงพ่อย้ำเสมอว่าใจของเราๆ ฟังไปเรื่อยๆ เกิดความสงสัย เกิดความสงสัย

ใจของเราๆ เพราะธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนกลับมาที่สุขที่ทุกข์ในใจของสัตว์โลก ธรรมะอยู่ที่นี่ไง ธรรมะคือแก้สุขแก้ทุกข์ ไม่เกี่ยวกับอะไรทั้งสิ้น สิ่งที่ว่าประกอบสัมมาอาชีวะ ประสบความสำเร็จต่างๆ นั้นมันเป็นบุญกุศลของคน คนที่สร้างสมบุญญาธิการมา เขาก็ได้ของเขา คนที่ล้มลุกคลุกคลานมา เพราะพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลเป็นราชา เป็นมหากษัตริย์ เป็นกุฎุมพี เป็นยาจก นี่เป็นพระอรหันต์หมดเลย ชนชั้นใดก็เป็นพระอรหันต์ได้ทั้งนั้นเลยถ้าเขามีอำนาจวาสนามา

ไม่ใช่ว่าจะต้องคนมั่งคนมีถึงจะเป็นพระอรหันต์ได้ คนทุกข์คนจนเป็นไม่ได้ ถ้าเขาสร้างบุญกุศลของเขามา เป็นได้ทั้งนั้นน่ะ นี่ความเป็นพระอรหันต์นั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ามันเป็นเรื่องทางโลก มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้นถึงบอกว่า เรื่องที่ใจๆ ก็ใจเพราะเหตุนี้ไง นี่พูดเรื่องของใจ

ฉะนั้นบอกว่า “กระผมจึงสงสัยว่าเมื่อจิตไม่ต้องไปเกิด จิตดวงนั้นไปอยู่ที่ใด

ไอ้นี่เพราะความไม่เข้าใจ คนไม่เข้าใจแล้วจะไปตอบว่าอะไรล่ะ เพราะเขายังไม่เข้าใจเรื่องคำถามเขาเลยว่าจิตไปไหน เพราะเราจะบอกว่า ถ้าการเป็นพระอรหันต์น่ะ การเป็นพระอรหันต์เขาทำลายภวาสวะ ทำลายภพ ทำลายจิตใจ เขาทำลายหมดแล้ว จะบอกว่าไม่มีจิต มันก็ไม่ใช่

คำว่า “จิต” จิตใจของคนมันก็เป็นจิตใจของคนใช่ไหม จิตวิญญาณ ฉะนั้น เวลาเขาพิจารณาของเขา เขาสำรอกเขาคายกิเลสของเขา ละสังโยชน์ ๓ เป็นพระโสดาบัน เขายังมีจิตอยู่ เวลาเป็นกามราคะปฏิฆะอ่อนไปก็ยังมีจิตอยู่ เวลาไปถึงทำลายกามราคะเป็นพระอนาคามี แต่ก็ยังมีจิตอยู่

คำว่า “มีจิตอยู่ๆ” ก็ต้องมีตัวตนเราไง ตัวตนเรา ถ้าเป็นพระอนาคามีก็ยังไปเกิดบนพรหมๆ เพราะมันยังไปเกิดอยู่ เพราะมันมีที่ไง แต่เวลาพระอนาคามีพิจารณาจิตของตน พิจารณาจิตเดิมแท้ ทำลาย ทำลายจิต จิตทำลาย อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจึสูติ

อาสวะ อาสเวหิ คือกิเลส จิตฺตานิ จิต อาสวะในจิต จิตที่มันพิจารณาของมัน อาสวักขัย นี่อาสวักขยญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง เวลาทำลายไปแล้ว มันทำลาย มันทำลาย เห็นไหม อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจึสูติ จิตเป็นผู้วิมุตติ จิตจะทำลายตัวมันเอง ที่ว่าจิตที่มันกลั่นออกมาจากอริยสัจๆ

อริยสัจคือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคไง มรรค มรรคก็คือวิธีการ วิธีการที่กระทำ นิโรธดับหมด นิโรธดับเกลี้ยงเลย ดับไม่มีเหลือ เป็นอกุปปธรรม ดับไม่มีเหลือ จนหลวงตาท่านบอกว่าเป็นธรรมธาตุ โดยธาตุของธรรมไง จิตไม่มี แล้วจิตไปเกิดที่ไหนล่ะ จิตไปเกิดที่ไหน มันเอาอะไรไปเกิด เพราะมันไม่มีจิต จิตมันไม่มีมันถึงไม่ไปเกิด

นี่พูดถึงคนพูดก็งงนะ อย่าว่าแต่คนถามงงเลย เพราะอะไร เพราะคำถามมันเป็นสองขยัก เริ่มต้นจะพูดถึงวัฏฏะ พูดถึงจิตที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะที่มันเป็นจริง จิตไม่เคยตายๆ

แล้วอีกข้อสงสัยที่ว่าจิตดวงนั้นไปอยู่ที่ใด จิตดวงนั้นไปอยู่ที่ใด

เพราะขยักแรกมันผลของวัฏฏะ คือการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะมันจริงแท้แน่นอน มันจริงในตัวมันเอง ที่ว่าเรามีการเกิดและการตาย มีนรกสวรรค์ มีทุกอย่าง วัฏฏะมันมีของมันอยู่อย่างนั้น

แล้วเราเอง เราเองก็ไปอยู่ในวัฏฏะนี้ อยู่ในวัฏฏะ จิตนี้เป็นเรา แต่เพราะบุญกรรมของเราทำให้เราต้องมีผลตามวัฏฏะนี้ แล้วเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาโดยอริยสัจ จิตกลั่นมาจากอริยสัจ นี้มันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง

จิตที่กลั่นออกมาจากอริยสัจ จิตที่นักปฏิบัติไง จิตแบบหลวงปู่มั่น จิตแบบหลวงตา จิตแบบครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านประพฤติปฏิบัติ จิตแบบนี้ๆ เห็นไหม จิตแบบนี้มันจะกลั่นออกมาจากอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นิโรธเกิดจากมรรคไง ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์ มันดับหมดไง มันทำลายหมดไง นี่จิตถึงกลั่นออกมาจากอริยสัจ

เวลาจิตที่มันจะกลั่นออกมาจากอริยสัจ จิตที่มันกลั่นออกมาแล้ว อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจึสูติ มันวิมุตติไป มันวิมุตติไปมันเลยเป็นธรรมธาตุไง มันเป็นธรรมธาตุ มันไม่มีภพไม่มีชาติ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น มันถึงพ้นจากวัฏฏะไปไง

ถ้ามันพ้นจากวัฏฏะไป ถ้ามันพ้นจากวัฏฏะไปแล้ว จิตมันไม่มีแล้ว เอาอะไรไปเกิดล่ะ มันไม่มีอะไรไปเกิด ถ้ามันไปเกิดมันก็ไม่ใช่นิพพานน่ะสิ ถ้ามันไปเกิดอีกมันก็ไม่สิ้นกิเลสน่ะสิ แล้วมันสิ้นกิเลสมันสิ้นอย่างไรล่ะ มันสิ้นอย่างไร ก็ต้องไปถามหลวงปู่มั่น ต้องไปถามครูบาอาจารย์เราไง

ถ้าครูบาอาจารย์เราท่านปฏิบัติมา ท่านปฏิบัติมาอย่างนี้ ถ้าปฏิบัติมาอย่างนี้ จะบอกว่า นิพพานแล้วจิตมันไปไหน

คำถามนี่มันขัดแย้งกันเอง เพราะนิพพานแล้วก็คือนิพพาน นิพพานเป็นผู้ตอบ ถ้านิพพานแล้วจบ แต่เพราะมันไม่นิพพานนี่สิ มันไม่นิพพานแล้วพยายามจะจับให้มันนิพพาน จะจับให้มันหมดไป จะจับให้จิตไม่มี แล้วมันมี เออบอกว่าไม่มี ไม่มีก็ยังพูดอยู่นี่ ไม่มีก็ยังรู้อยู่นี่ แล้วมันไม่มีอย่างไรล่ะ มันเป็นอย่างไร

ก็เพราะมันไม่เป็น มันก็เลยงงไง แต่ถ้ามันเป็นแล้วมันก็จบนะ สิ่งที่จบ ทีนี้จะบอกว่า สิ่งที่ถามมามันเป็นสองขยัก ขยักหนึ่งที่ว่า เราฟังเทศน์มา ฟังเทศน์ตั้งแต่ระดับพื้นๆ ระดับพื้นๆ แบบที่ว่าทางโลกเป็นชาวพุทธที่ทะเบียนบ้าน เป็นชาวพุทธที่ทะเบียนบ้านมันก็มีชื่อว่าเรานับถือศาสนาพุทธ แต่ศีล ๕ ก็ยังไม่รู้จัก เรื่องบุญกุศลมันก็ไม่เชื่อ นรกสวรรค์ไม่ต้องมาพูดกันเลย นี่จิตใจของคนเวลามันปิดกั้นมันมืดบอดขนาดนั้นน่ะ

ฉะนั้น เวลาเทศนาว่าการก็ต้องย้ำๆ กันอยู่อย่างนี้ ย้ำๆ กันเรื่องผลของวัฏฏะๆ คนจะดีจะชั่ว คนจะสุขจะทุกข์ มันอยู่ที่การกระทำ ทำดีทำชั่ว ระดับของทาน ระดับของศีล ระดับของภาวนา

แล้วเวลาระดับของภาวนามันเหนือโลกแล้ว คำว่า “เหนือโลก” เพราะอะไร เพราะเวลาทำความสงบของใจเข้ามา เห็นไหม เพราะเราพูดบ่อยเรื่องปาราชิก ๔ ปาราชิก ๔ อวดอุตตริมนุสสธรรม เริ่มต้นจากผู้ที่ไม่มีฌาน ไม่มีญาณ อ้างว่ามี ฌาน ๔ ก็สมาธินี่แหละ มันถึงเหนือโลก

เพราะมันเหนือโลก เริ่มทำความสงบของใจเข้ามา พอเริ่มปฏิบัติเข้ามา นี่มันจะมาเข้าที่ว่า จิตนี้ไปไหน จิตนี้ไปอย่างไร เพราะมันจะเข้ามาค้นคว้ากันที่นี่ มันจะเป็นงานภายในไง งานการประพฤติปฏิบัติ งานภายใน งานของเรา งานในการต่อสู้กับเรา

แล้วพอถ้าปฏิบัติจริง คนที่ปฏิบัติแล้วพอมันเป็นไปนะ ครูบาอาจารย์ของเราเวลาปฏิบัติแล้วจะเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก จะเคารพมากๆ เพราะธรรมแบบนี้ ธรรมแบบนี้ไง เวลาหลวงตาท่านสำเร็จ ท่านกราบแล้วกราบเล่า กราบถึงบุญคุณน่ะ กราบถึงบุญคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

บุญคุณ คำว่า “บุญคุณ” นะ คนที่กว่าจะประพฤติปฏิบัติมาได้ ดูสิ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ทุกข์ยากมาขนาดไหน แล้วทำไมต้องทุกข์ยากขนาดนั้น ดูสิ หลวงปู่มั่นของเราปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ท่านยังบอกว่า ถ้าสำเร็จเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน เอาสำเร็จเป็นพระอรหันต์พอ ท่านเลยละความเป็นพระโพธิสัตว์มาประพฤติปฏิบัติเอาจริงเอาจังขึ้นมา แล้วพอมันเป็นจริงขึ้นมาในใจ มันเห็นบุญเห็นคุณ มันเห็นความมหัศจรรย์ มันเห็นนี่

ศาสนาเรามันก็เหมือนไข่ เนื้อไข่กับเปลือกไข่มันอยู่ด้วยกัน แล้วเราจะรู้ได้ก็รู้ได้แต่เปลือกไข่นี่แหละ แต่ไข่ขาวไข่แดงมันไม่มีเปลือกไข่มันอยู่ไม่ได้ แล้วก็ไม่รู้ไม่เห็นมันน่ะ มีแต่ไข่อยู่ใบหนึ่ง จับแต่ไข่อยู่ใบหนึ่ง นี่ก็เหมือนกัน เรื่องของวัฏฏะ เรื่องของโลก มันเป็นเรื่องของเปลือกไข่ที่มันจับต้องได้ใช่ไหม แต่เรื่องนามธรรม เวลาเรื่องประพฤติปฏิบัติเข้าไป

ไอ้ที่ว่า “จิตไม่ต้องไปเกิดใหม่ จิตดวงนั้นมันไปอยู่ที่ใด จิตดวงนั้นจะหายไปหรือครับ จิตที่ถูกกลั่นออกมาจากอริยสัจ และแท้จริงอริยสัจมันคืออะไรครับ

ไม่รู้เรื่องเลย อริยสัจมันคืออะไร อริยสัจมันทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคนี่ไง จะบอกว่าเป็นทฤษฎี ทฤษฎีก็มีจริง ถ้ามันเป็นทฤษฎี เป็นชื่อ เป็นธรรมวินัย ว่าอย่างนั้นเลยนะ เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติ ไม่แสวงหา มันก็ไม่รู้ไม่เห็นขึ้นมา มันก็มีแต่ชื่อ

แต่ถ้าบอกว่า “อริยสัจมันคืออะไรครับ

อย่าร้องไห้นะ อย่าทุกข์นะ นั่นล่ะคืออริยสัจ ให้มีแต่ความสุขตลอดไป แต่ถ้าวันไหนมันทุกข์มันยาก นั่นแหละทุกข์ แล้วอยากจะพ้นจากทุกข์ไหม ถ้าอยากจะพ้นจากทุกข์ สมุทัยควรละ

สมุทัย อยากให้มันหายทุกข์นั่นก็คือตัณหา มันต้องละตัณหานั้น ถ้ามีตัณหานั้น มันละด้วยอะไรล่ะถ้าไม่ใช่มรรค ถ้ามรรคมันมาจากไหน นี่คืออริยสัจ แล้วอริยสัจนี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไรล่ะ

อริยสัจมันจะเกิดขึ้นมาจากการขวนขวาย เกิดขึ้นมาจากการกระทำ ถ้าอริยสัจตัวจริงมันเกิดบนใจดวงใด มันก็จะปราบปรามทุกข์ในดวงใจนั้น ทุกข์ในดวงใจนั้นไง แล้วถ้ามันปราบปรามทุกข์จนดวงใจนั้นหมดสิ้น ทุกข์ไม่มี ทุกข์ขาดไปจากใจเลย แล้วใจมีอยู่ไหม แล้วใจมันไปไหนล่ะ นี่คำถามไง

เราจะบอกว่า ถ้าเป็นนักปฏิบัติถามนะ เขาถามมามันจะมีแง่มีมุมตอบได้ แบบภาษาเรานะ ถ้านักปฏิบัติด้วยกันเขาเรียกว่าตอบได้สนุก เวลาคนที่ไปถามธรรมะหลวงตานะ คนที่เขาภาวนาแล้วติดแล้วไปถามหลวงตา หลวงตาท่านจะตอบ โอ้โฮน้ำไหลไฟดับเลย แล้วท่านจะพูดคำนี้ประจำ “สนุกเนาะ” ท่านบอกท่านสนุกครึกครื้นเวลาถ้ามีผู้ที่ปฏิบัติธรรมแล้วมันมีแง่มุมนะ แล้วท่านตอบแล้วนะ ท่านจะคึกคัก ธรรมมันได้ไหล

แต่ไอ้นี่มันสองขยักไง ขยักหนึ่งก็เป็นเรื่องโลกๆ ไง แล้วขยักที่สอง เพราะโลกๆ อยากจะปีนบันไดถึงนิพพานไง โลกๆ ก็ถามเรื่องนิพพานไง

คำว่า “โลกๆ” คือจิตนี้มันต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ มันต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ เขาฟังแล้วเขาบอกว่า เออเขาเข้าใจได้ แต่พอฟังไปๆ มันเยอะ ก็ตอบปัญหาไปเยอะมาก พอตอบปัญหาไปเยอะมาก

เพราะคนเขาถามนี่ ไม่ได้อยากตอบหรอก ตอบโดยที่เหตุ เหตุมันคืออะไร คนถามถามเรื่องอะไรก็ตอบเรื่องนั้นน่ะ ถ้าตอบเรื่องเวรเรื่องกรรมก็อย่างที่เข้าใจได้ในข้อแรก ถ้าตอบเรื่องมรรคเรื่องผล “อริยสัจมันคืออะไรครับ แล้วจิตมันต้องไปอยู่ไหนครับ

คือถ้ามันอยู่ในวัฏฏะใช่ไหม คือปุถุชนมันต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะอยู่ตลอดเวลา มันไม่มีต้นไม่มีปลาย แล้วพระอรหันต์ที่มันหลุดไป ฟังแล้วมันก็เลยงงไง อันหนึ่งบอกว่าจิตมันต้องเกิดต้องตายแน่นอน อีกอันหนึ่งบอกว่านิพพานไม่มีจิต

อ้าวมันก็เลยขัดแย้งกันไง มันขัดแย้งกันโดยที่ว่า เพราะเรามันแบบว่าเป็นโลก เราไม่รู้จักโลกกับธรรม ถ้าพูดถึงว่าเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะนี่เป็นโลก โลก กามภพ รูปภพ อรูปภพ วัฏฏะนี้แน่นอนตายตัว

แต่เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติพ้นจากโลกเป็นธรรมไปแล้ว พ้นจากโลกไป วิวัฏฏะ ออกจากวัฏฏะไปแล้วไม่มาเกิดในวัฏฏะอีกแล้ว แล้วพ้นออกไป แล้วมันพ้นออกไปได้อย่างไรล่ะ แล้วจิตที่ต้องเกิดๆ ก็มันต้องเกิด มันพ้นไม่ได้ นี่ไง ก็พูดถึงเรื่องแก้กรรมๆ นี่ไง

เวลากรรม ถ้ากรรมมันตายตัว กรรมมันต้องเป็นอย่างนั้นตลอดไป มันก็ไปไม่ได้ไง ถ้ามันพ้นจากกรรมๆ เวลาปฏิบัติพ้นจากเวรจากกรรมทั้งสิ้น

ถ้าบอกว่ากรรมมันต้องชดใช้ตลอดไป ต้องตายตัว เราก็ต้องหยุดอยู่ตลอดไปสิ

กรรมแก้ได้ แต่แก้ได้ด้วยการปฏิบัติ แก้ด้วยการพ้นจากกรรม แก้ด้วยการพ้นจากกิเลส พ้นไปเลย กรรมตามไม่ทัน ไม่มีสิทธิ์ เว้นไว้แต่สอุปาทิเสสนิพพาน อย่างเช่นพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะ เศษกรรม เศษกรรมยังตามมา นั่นเพราะเศษกรรม แต่ถ้าพูดถึงเป็นเวรเป็นกรรมเป็นทุกข์ในใจไม่มี

นี่พูดถึงเป็นทุกข์ในใจ เพราะสงสัยถึงเป็นอย่างนี้ไง ว่าอย่างนั้นเลยนะ เพราะสงสัย เพราะสงสัย เพราะคำถาม มันดูคำถามแล้วมันเข้าใจได้ เข้าใจว่าเวลาพูดถึงเรื่องโลกๆ เรื่องโลกๆ เราอยู่ด้วยกันในโลกนี้เราเข้าใจกันได้ ตรรกะนี้เราเข้าใจกันได้ แต่เวลาพอไปปฏิบัติมันพ้นจากความเข้าใจทางโลก มันเป็นธรรม เข้าใจไม่ได้ ถ้าเข้าใจไม่ได้ นี่คำพูดของเรา

ถ้าอย่างนี้แล้วมันก็เท่ากับขัดแย้งกันสิ

จิตต้องเกิดต้องตายตลอด แล้วจิตเป็นนิพพานแล้วจิตไปไหน

ขำ ขำไอ้คนถามนี่ ขำ มันแบบมันใสซื่อไง มันถามเพราะสงสัยจริงๆ เพราะมันขัดแย้งกัน ก็หลวงพ่อตอบเองทั้งนั้น แล้วมันขัดแย้งกันในตัวมันเอง จับหลวงพ่อประหารชีวิต พูดโกหก

อ้าวพูดอย่างหนึ่ง พูดทางโลก เราก็ต้องพูดทางโลกด้วยกัน ถ้าเวลาพูดทางธรรมๆ เพราะเวลาปฏิบัติธรรมมันมีผู้ที่ปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์ แล้วถ้าพูดถึงที่สุดแห่งทุกข์ แล้วผู้ที่ปฏิบัติธรรมด้วยกันคุยกันไม่รู้เรื่องแล้วมันจะพ้นจากทุกข์ได้อย่างไรล่ะ มันเป็นจริง มันเป็นจริงอย่างนั้นไง ครูบาอาจารย์ของเราท่านหา ท่านหาความจริงอย่างนี้

ฉะนั้น เพราะสงสัยมันเลยเป็นอย่างนี้ มันก็เลยยิ่งสงสัยกันไปใหญ่เลย ฉะนั้น ถ้าฟังแล้วมีบุญกุศลนะ หัดภาวนา หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ใช้ปัญญา ไอ้ที่สงสัยๆ เดี๋ยวจบหมดเลย ถ้าเราภาวนาเป็น เรารู้เราเห็นนะ อืมจะรู้เลยว่า เออหลวงพ่อพูดถูก

แต่กว่าจะรู้ว่าหลวงพ่อพูดถูก หลวงพ่อนี่โดนไปเยอะแล้ว โดนไปเยอะเลย แต่กว่าจะถูกนะ แต่มันก็เป็นแบบนี้ โลกเป็นแบบนี้ อยู่กับโลก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกไง “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเธอโดนโลกธรรม ๘ ทำให้เจ็บช้ำน้ำใจ ให้ดูเราตถาคตเป็นแบบอย่าง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะโดนกว่าพวกเราเยอะมาก เยอะมากๆ ทั้งๆ ที่เป็นศาสดานะ ทั้งๆ ที่มีฤทธิ์มีเดช มีทุกอย่าง ทำได้ทั้งนั้นเลย แต่ท่านไม่ทำ ท่านให้คนมันสำนึกในใจ เพราะต้องการให้สัตว์โลกได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในใจของสัตว์โลก

นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีเมตตามาก เว้นไว้แต่เวลาพวกลัทธิ เจ้าลัทธิ เวลาแสดงฤทธิ์แสดงเดชปราบพวกนั้น ปราบพวกที่อยากมีฤทธิ์มีเดช ปราบพวกนั้น แต่ด้วยบริษัท ๔ ท่านเหมือนกับลูกหลานน่ะ ท่านพยายามจะรื้อสัตว์ขนสัตว์มาเปิดหัวใจ เปิดให้ใจเราเข้าใจในสัจจะในความจริง

ถ้ามีสัจจะความจริงแล้ว ความไม่จริงคืออวิชชามันจะสถิตในใจเราไม่ได้ ถ้าเราไม่มีอวิชชา ไม่มีความลังเลสงสัย ความเป็นทุกข์ในใจของเราจะไม่มี ที่เป็นความทุกข์อยู่นี่ก็เพราะสงสัย มันเลยเป็นทุกข์เป็นยากอยู่นี่ไง แต่ถ้ามีคุณธรรมในหัวใจแล้วมันจะจบสิ้นกระบวนการ

นี่พูดถึงว่า สงสัยถึงเป็นแบบนี้ เอวัง