ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สิ่งที่รู้

๑๒ พ.ย. ๒๕๕๙

สิ่งที่รู้

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : เรื่อง “โลกนี้ไม่มีสาระ

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ ลูกเกิดความคิดแว็บหนึ่งขึ้นมาว่า ถ้าในโลกนี้มีแต่กิเลสกับธรรม สาระความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายก็ไม่มี ความเข้าใจเช่นนี้ถูกหรือไม่ หลวงพ่อช่วยแนะนำ หรือหากเป็นความคิดที่ควรติเตียนก็ขอหลวงพ่อเมตตาด้วย กราบขอบพระคุณอย่างสูง

ตอบ : นี่ผู้ถามเนาะ โลกนี้ไร้สาระ ถ้าโลกนี้ไร้สาระ เวลาถ้าจิตมันดีนะ เวลาปฏิบัติ ถ้าบอกว่า โลกนี้ไร้สาระ มันไม่มีอะไรเลย มีกิเลสกับธรรม

แต่เรามองได้อย่างไรว่าอะไรเป็นกิเลส อะไรเป็นธรรมล่ะ ถ้าเรามองเห็นว่าโลกนี้ไม่มีแก่นสาร ในโมฆราชไง ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลวงตาท่านเทศน์บ่อย “โมฆราช เธอจงดูโลกนี้เป็นความว่าง” เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง โลกนี้มันมีสาระหรือไม่มีสาระไง มองสรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง มันไม่มีสิ่งใดเลย “แล้วเธอกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิของเธอด้วย

เรามองไปหมดเลย โลกนี้เป็นความว่าง โลกนี้ไม่มีสิ่งใดเลย แล้วเรายืนขวางอยู่นี่ไง ถ้ามันยืนขวางอยู่ไง เห็นไหม ในสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติได้ง่าย เราจะมองคนอื่นได้ง่าย เรามองส่งออกนี่ง่ายมากเลย แต่รู้จักตัวเองได้ยาก

นี่ก็เหมือนกัน โลกนี้ไร้สาระ โลกนี้ไม่มีแก่นสารๆ แล้วถ้าจิตมันพัฒนาขึ้น เวลามีสติสัมปชัญญะก็เป็นอย่างนี้ วันไหนเวลาจิตมันเสื่อมนะ โลกมันทับมาแบนแต๊ดแต๋เลย ไอ้ที่ไม่มีสาระๆ มันทำให้เจ็บช้ำน้ำใจมากเลย แบนแต๊ดแต๋เลย

แต่เวลาจิตมันดี โอ๋ยโลกนี้ไม่มีสาระ โลกนี้ไม่มีสิ่งใดเลย นี่เพราะจิตเราดีไง ถ้าจิตเราดี เวลาเรามีสติมีปัญญา เราพิจารณาของเรา มันเป็นไปได้ มันเป็นไปได้เพราะว่ามันปล่อยวาง มันสดชื่นของมัน มันเป็นอิสระของมัน

แต่โดยธรรมชาติของมันน่ะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ตัณหาความทะยานอยากเหมือนยางเหนียว ยางเหนียวมันแปะติดไปหมดไง เวลาสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้มันก็แปะไปทั่ว พอแปะไปทั่ว มันขัดข้องหมองใจไปทุกเรื่องเลย เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เรื่องสิ่งใดมันสะดุดใจไปหมดน่ะ มันเจ็บช้ำน้ำใจไปทั้งนั้น เวลาจิตมันเสื่อม เวลาจิตมันดีนะ ยางเหนียว โอ้โฮมันเก็บไว้อย่างดีเลย ไม่ติดอะไรเลย ปล่อยวางได้หมดเลย นี่พูดถึงว่า ถ้าพูดถึงถ้าจิตมันสูงนะ

เวลาจิตเขาบอกว่า ลูกเกิดความคิดแว็บหนึ่งขึ้นมาว่า ถ้าโลกนี้มีแต่กิเลสกับธรรม สาระความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายก็ไม่มี เข้าใจเช่นนี้ถูกหรือไม่

ถ้าเข้าใจเช่นนี้ คำว่า “ถูก” เข้าใจเช่นนี้ถูก ธรรมะท่านสอนแนวทางแบบนี้แหละ แต่การสอนแนวทางแบบนี้มันอยู่ที่ผู้ประพฤติปฏิบัติ ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติถ้าได้ตามความเป็นจริงสมความเป็นจริง มันก็จะอยู่กับจิตดวงนั้น จิตเป็นธรรมๆ ธรรม ธรรมธาตุ สิ่งที่เป็นธาตุของธรรม ถ้าธาตุของธรรมมันเป็นโดยเนื้อหาสาระเลย มันสำรอกมันคายกิเลสตัณหาความทะยานอยากไปทั้งหมด

แต่เวลาของเรา ดูทางโลกสิ ทางโลกคนมีการศึกษาๆ มีสติปัญญาทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาเขาเกิดผลกระทบขึ้นมาในหัวใจของเขา เขาควบคุมใจของเขาไม่ได้ทั้งนั้นเลย แต่คนที่จิตใจที่เขาฝึกหัดขึ้นมาบ้าง เขาก็ควบคุมใจของเขาได้เป็นครั้งเป็นคราว แต่ถ้าเขาไม่ได้ควบคุมแล้วเดี๋ยวมันก็เสื่อมไป นี่วุฒิภาวะของจิตมันมีหลายชั้นหลายตอนขึ้นไป

ไอ้นี่เวลามันมีปัญญา ความคิดก็แว็บขึ้นมาได้หนหนึ่ง

ถ้ามีอย่างนี้เขาเรียกธรรมมันเกิด ธรรมมันเกิดคือว่า ไปหาครูบาอาจารย์ให้ครูบาอาจารย์สั่งสอน ก็หาว่าครูบาอาจารย์ท่านลำเอียง แต่ถ้าเราสั่งสอนตัวเราเองได้ไง เรามีสติมีปัญญาสามารถยับยั้งความคิดเราได้เอง เรามีความมีสติปัญญาสามารถวินิจฉัยได้เอง เห็นไหม อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ที่ครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติท่านก็ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ ปฏิบัติให้รู้จริงเห็นจริง

ฉะนั้น สิ่งที่มันเกิดขึ้นคือว่าธรรมเกิดๆ ธรรมมันเกิดไง ความคิดของเรามันเกิดขึ้นเอง มันรู้เองเห็นเองแล้วซาบซึ้งมาก แต่มันชั่วคราว คำว่า “ธรรมเกิดไม่ใช่อริยสัจ

ถ้าอริยสัจ ศีล สมาธิ ปัญญา เวลามันเกิดขึ้นมา มันต้องบริหาร มันต้องจัดการ มันต้องมีความวิริยอุตสาหะ มีการกระทำ มีการหมั่นเพียร มันเป็นอย่างนั้นน่ะ มันได้บริหาร มันได้จัดการขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

แต่ถ้าธรรมเกิดๆ ฉะนั้น เวลาธรรมเกิดในตำรับตำราเขียนไว้อย่างนั้น บอกไว้อย่างนั้น แต่เวลาหลวงตาท่านพูดว่ากิเลสเกิดๆ พอมันเกิดแล้วอยากรู้อยากเห็นอยากเป็น อยากเป็นมันก็เหมือนกับแทงหวยถูกหรือผิด อยากได้ๆ แต่ไม่ได้มาจากการทำหน้าที่การงาน

การทำหน้าที่การงาน เราหาอยู่หากินขึ้นมา เราสะสมของเรา เราประหยัดมัธยัสถ์ของเรา เราเหลือของเรา เราเก็บของเรา นั้นเป็นสมบัติของเราที่เราแสวงหา ในการแทงหวยถูกหรือผิดมันอยู่ที่การเสี่ยงโชคเสี่ยงทาย

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาธรรมเกิดๆ มันเหมือนเสี่ยงโชค เหมือนเสี่ยงโชคเสี่ยงทาย มันเกิดขึ้น ฉะนั้น เสี่ยงโชคเสี่ยงทายมันก็เสี่ยงในสิ่งที่ดี เพราะมันเกิดขึ้นมาแล้วเรามีรสชาติ เรามีความภูมิใจ มันสะเทือนใจ มันก็เหมือนกับเวลาเราเสี่ยงทายแล้วมันถูก

เวลามันผิดล่ะ เสี่ยงทายแล้วมันผิดไง ฉะนั้น หลวงตาท่านบอกว่ากิเลสเกิด ในพระไตรปิฎก ในตำราบอกว่าธรรมเกิดๆ เวลาธรรมเกิดมันผุดขึ้นๆ ผุดขึ้นเป็นความรู้ความเห็นอย่างนี้ แต่ถ้าหลวงตาท่านบอกว่า เวลามันผุดแล้วมันอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น นั่นท่านเลยบอกว่ากิเลสเกิด

คำว่า “กิเลสเกิด” มันเป็นวินิจฉัย เป็นการวินิจฉัยของปัญญาของครูบาอาจารย์แต่ละองค์ว่าสิ่งนั้นมันจะเป็นคุณหรือเป็นโทษ สิ่งนั้นเป็นคุณๆ เป็นคุณเพราะมันเกิดแล้วมันมีความสุข มันมีความสุขมีความพอใจนะ แต่ถ้าเวลามันติดนั่นน่ะ ไอ้สุขไอ้พอใจนั่นเป็นอะไร ไอ้นี่เรียกว่าธรรมเกิด

เขาถามว่า โลกนี้ไม่มีสาระ แล้วให้หลวงพ่อวินิจฉัย

ถ้าวินิจฉัยก็วินิจฉัยอย่างนี้ จะบอกว่ามันไม่มีเลย ไม่มีเลยมันมาจากไหน มันก็มาจากจิตของเรา มาจากความรู้สึกของเรา มันก็มีของมัน แต่มีแล้วมันเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษกับผู้ที่เกิดขึ้นล่ะ ถ้ามันเป็นประโยชน์มันก็ดีไป ถ้ามันเป็นโทษก็ต้องว่ากันตามนั้น จบ

ถาม : เรื่อง “ไม่เห็นจิต

หลวงพ่อครับ หลังจากที่ผมนั่งภาวนาแล้วตัวหมุน ผมก็เริ่มนั่งใหม่ แล้วกำหนดอานาปานสติเหมือนเดิม คราวนี้มันก็หมุนเหมือนเดิม แต่ผมเพียงแค่ไปรู้ว่าไม่หมุนไปตามมัน กลับมากำหนดอานาปานสติ เหมือนอาการหมุนก็ค่อยๆ หายไป

คราวนี้อาการที่เกิดต่อมาก็คือมันสงบ สงบมากจนรู้สึกว่าไม่มีอะไรเลย แต่ผมก็พยายามกำหนดลมหายใจต่อ แต่อาการมันก็หยุดอยู่ที่ตรงนี้ นิ่ง เงียบ อื้อ ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น พอถึงตรงนี้ผมควรนึกภาพกายบ้าง พยายามนำมาพิจารณาบ้าง พอได้นิดหน่อยแต่ไม่คืบหน้า เพราะไม่รู้ว่ามาถูกทางหรือเปล่า มันไม่มั่นใจครับ ผมอยากถามหลวงพ่อว่า ผมควรทำอย่างไรต่อไปดี

ตอบ : ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปริยัติเรามีการศึกษา ศึกษามาทางปัญญาขึ้นมา ปริยัติขึ้นมา ปริยัตินี้เป็นแนวทางการศึกษา เป็นทฤษฎี เวลาปฏิบัติๆ เวลาปฏิบัติแล้วมันจะเกิดการกระทำ พอเกิดการกระทำขึ้นมาแล้วมันจะมีผลตอบสนอง ถ้าผลตอบสนองนี่มันมีถูกและผิด

พอถูกและผิด ถ้าผิดมันก็เป็นมิจฉา มิจฉาก็ต้องแก้ไขให้เป็นสัมมา สัมมาคือมันถูกต้องดีงาม เวลาปฏิบัติขึ้นมา ปฏิบัติจนกว่าเราจะมีสติมีปัญญาของเรารู้เท่าตามความเป็นจริงของเรา ถ้ามันเป็นความจริง ข้อเท็จจริงอันนั้นมันปฏิเวธคือความรู้แจ้ง

นี่ก็เหมือนกัน เวลาที่เราปฏิบัติ โดยธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านให้ประพฤติปฏิบัติ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาก็มีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเป็นผู้ที่รื้อค้น เป็นผู้ที่ฝึกหัด เป็นผู้ที่ค้นคว้าในใจของท่านจนประสบความสำเร็จ การที่จะประสบความสำเร็จมันต้องมีผลกระทบมากมายมหาศาล ความผลกระทบมากมายมหาศาล เวลาท่านสอนขึ้นมา ท่านถึงมีองค์ความรู้ของท่าน

เวลาท่านเทศนาว่าการ อะไรสำคัญๆ หลวงตาจะบอกว่า สิ่งใดที่เป็นสำคัญ คำว่า “สำคัญของมัน” คือมันจะมีผลได้เสียกับผลการประพฤติปฏิบัติ ท่านจะบอกอันนี้สำคัญมาก ท่านพยายามไม่ยอมบอก ท่านบอกว่า ถ้าบอกไปแล้วมันจะเป็นสัญญา คือคนไปรู้โจทย์ก่อน คนไปรู้ก่อนมันจะคาดจะหมาย การคาดการหมายมันจะเป็นผลลบกับผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินั้น คือทำให้มันยากขึ้น ทำให้มันติดพันมากขึ้น ทำให้มันแก้ไขได้ยากขึ้น ท่านจะข้ามไปๆ นี่ครูบาอาจารย์ที่ท่านมีความรู้จริงนะ

ฉะนั้น เวลาท่านเทศนาว่าการ ท่านจะบอกตรงนี้เป็นความสำคัญ ท่านจะข้ามไปๆ ท่านจะไม่บอก ท่านจะบอกแต่เหตุ นี่เวลาประพฤติปฏิบัติมา หลวงตาท่านบอกว่า เวลาท่านเทศน์หมดไส้หมดพุง หมดไส้หมดพุงคือท่านมาเปิดเผยๆ เปิดเผยขึ้นมาเพื่อขัดแย้งกับไอ้พวกที่มันกล่าวตู่ไง

เวลาท่านเปิดเผยๆ เพราะไอ้คนที่กล่าวตู่มันกล่าวตู่ผิดๆ กล่าวตู่แล้วอ้างอิงว่าหลวงปู่มั่นว่าอย่างนั้น หลวงปู่มั่นว่าอย่างนี้ ท่านก็จะเอาความจริงของท่านมาเทียบเคียง พอเทียบเคียง มันก็เอามาเปิดเผยใช่ไหม พอเปิดเผยขึ้นมาเพื่อยืนยันกับผู้ที่กล่าวตู่ ผู้ที่พูดโดยทฤษฎี

ฉะนั้น เวลาพอท่านพูดออกมา มันเปิดเผยขึ้นมา คนที่ประพฤติปฏิบัติ คนที่ฟังธรรมๆ ของหลวงตา ท่านบอกว่าหมดไส้หมดพุงเลย หมดไส้หมดพุง ท่านก็ยังมีเกร็ด มีสิ่งสำคัญๆ เก็บไว้ของท่านอยู่เหมือนกัน

ฉะนั้น สิ่งที่เวลาจะปฏิบัติ เวลาปฏิบัติขึ้นมามันจะมีของมัน มันมีอาการของมัน มันต้องมีประสบการณ์ของจิตน่ะ

ฉะนั้น เวลาที่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเรานั่งกัน เราประพฤติปฏิบัติกัน คนเขาบอกว่า เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมต้องมีความสุข จะต้องมีความสุข จะต้องสิ่งใดประสบความสำเร็จ มันจะเป็นชั้นเป็นตอนของมันขึ้นไป แต่ถ้ามันมีปัญหาขึ้นมาแสดงว่าปฏิบัตินี้ผิด

การประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาประพฤติปฏิบัติไปมันจะมีอุปสรรคของแต่ละคนๆ อุปสรรคเช่นนี้มันเกิดมาจากจริตนิสัย เกิดมาจากเวรจากกรรมของจิต จิตที่มันสร้างสมมา จิตที่เกิดเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะมันสร้างเวรสร้างกรรมมาทุกดวงทั้งนั้นน่ะ แต่มันสร้างมามากสร้างมาน้อยมันจะมีอุปสรรคแตกต่างกันไป ถ้ามีอุปสรรคแตกต่างกันไป ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม วิปัสสนาธุระๆ ท่านจะกำหนดตรงนี้ กำหนดว่า เวลาจิตมันทำความสงบของใจ ใจมันสงบจริงหรือไม่

เวลาจิตที่มันจะสงบลงมามันจะมีอุปสรรคของมันนะ ดูสิ อย่างที่ว่าจิตที่คึกคะนอง หลวงตาท่านพูดบ่อย จิตที่คึกคะนองเวลามันเป็นไป ในประวัติหลวงปู่มั่นน่ะ เวลาหลวงปู่มั่นท่านบอกให้ลงมาก็ลงไปใต้ถุนเลย เวลาขึ้นก็ขึ้นไปบนหลังคาเลย

ไม่ใช่ ท่านให้ขึ้นมาบนเรือนไง ทำความสงบของใจก็เข้ามาที่ใจนี่ ไม่ใช่ลงไปที่ใต้บาดาลนั่น ไม่ใช่ทะลุขึ้นไปจนไปอยู่บนสวรรค์นั่น มันก็ไม่ใช่ทั้งนั้นน่ะ จิตของคนมันจะให้มัชฌิมาปฏิปทาความสมดุลพอดีมันหาได้ยาก มันจะถลำไปทางใดทางหนึ่ง มันจะถลำไปตลอด ฉะนั้น เวลาถลำไป ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริงท่านจะแก้ตามนั้น

ฉะนั้น แนวทางปฏิบัติก็จะบอกว่า ถ้าเรากำหนดรู้ตัวพร้อมมันจะไม่เกิดนิมิต มันจะไม่เกิดอะไรทั้งสิ้น

ไม่เกิดอะไรมันก็ไม่ได้อะไรเลย ไอ้พวกเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา พอจิตมันจะสงบเข้ามา จิตมันจะเข้าสู่ความสงบสงัด มันก็มีอุปสรรคทั้งนั้นน่ะ ถ้ามีอุปสรรค มันจะเข้ามาสู่ที่ว่า เวลาเรานั่งไปแล้วตัวมันหมุน มันมีอาการวูบวาบ เพราะอะไร เพราะมันเป็นข้อเท็จจริงน่ะ

คนกินข้าวนะ เผ็ดนะ มันร้อนนะ มันเย็นจืดชืด มันไม่มีรสชาติ มันก็รู้ถึงรสของมันทั้งนั้นน่ะ นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตมันจะเป็นไปมันจะเกิดวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์

วิตก วิจาร เวลาพุทโธๆ วิตก วิจาร แค่วิตก วิจาร แค่บริหารจัดการไง เหมือนตอนนี้เขาเข้าฟิตเนสกัน เขาออกกำลังกายกัน ก็แค่ออกกำลังกาย ร่างกายเรายังไม่แข็งแรงเลย จิตเรายังไม่ลงอะไรเลย แล้วมันจะเป็นไป มันก็มีของมันใช่ไหม บางคนทำแล้วไม่มั่นคงก็เลิกไป บางคนทำแล้วถ้าพยายามฝึกหัดของตน มีความมุมานะ มันก็ประสบความสำเร็จ จิตก็เหมือนกัน พุทโธๆๆ มันจะมีอาการของมัน มีอุปสรรคของมันแล้วแต่อุปสรรคของคนคนนั้น

นี่เหมือนกัน ย้อนกลับมาที่คำถาม คำถามบอก เวลาเขานั่งแล้วตัวมันหมุน ตัวมันหมุนน่ะ

ตัวมันหมุนๆ เพราะเวลาคนเจ็บไข้ได้ป่วยเวลาเป็นไข้ เวลามันวูบมันก็เป็นอย่างนี้ อาการของมัน คนเจ็บไข้ได้ป่วยโดยธรรมชาติมันยังเป็นเลย แล้วมานั่งสมาธิขึ้นมา ถ้ามันมีอาการหมุน อาการต่างๆ มันหมุน เราก็หาเหตุผลสิ เราหาเหตุผลของเรา เรากำหนดพุทโธของเรา จิต เวลานั่งไปแล้วมันมีอาการวูบวาบอะไรต่างๆ ไปร้อยแปด เราอยู่กับพุทโธ เห็นไหม

หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ หลวงตา ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมาท่านล่วงไปแล้ว เวลาพระราชทานเพลิงศพแล้วเป็นพระธาตุทั้งนั้น ท่านบอกว่า ให้อยู่กับผู้รู้ ให้อยู่กับพุทโธ ไม่เสียหาย

จิตของพวกเราให้อยู่กับผู้รู้ ให้อยู่กับพุทโธ อาการที่มันจะเป็นไป อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ เดี๋ยวมันจะหายไปเอง มันจะหายไปเองเพราะเราไม่วูบวาบไปกับมัน เราไม่ตื่นเต้นไปกับมัน เราไม่ให้สิ่งใดมันมายุมาแหย่ไปกับมัน อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้น เราไม่ต้องการสิ่งนั้น เราต้องการพุทโธ เราต้องอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราอยู่กับผู้รู้ของเรา อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ จะไม่เสียหาย

หลวงตา หลวงปู่มั่นท่านย้ำนักย้ำหนาเลย อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ มันจะไม่เสียหาย ไม่เสียหาย

ไอ้ที่ออกไปรู้นู่นรู้นี่ ออกไปนั่นล่ะมันจะเสียหาย นี่ก็เหมือนกัน จิตมันหมุนๆๆ มันจะหมุน มันจะสิ่งใดก็แล้วแต่ เราไม่รับรู้สิ่งนั้น เราอยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ แล้วมันจะดีขึ้น สิ่งที่รู้สิ่งที่เห็น เราอยู่ตรงนี้ ถ้าอยู่ตรงนี้แล้วมันก็ค่อยๆ ดีขึ้น ถ้าดีขึ้นมาแล้ว

เขาบอกว่า เขาจะพิจารณา ออกมาพิจารณาบ้าง ออกมาอย่างนี้ได้หรือไม่

ถ้าจิตสงบแล้ว เราปฏิบัติเพื่อให้จิตสงบ

นี่เขาบอกว่า อาการต่อมาที่มันสงบมากจนรู้สึกว่าไม่มีอะไรเลย

ไม่มีอะไรเลย มันต้องอยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ พุทโธจนพุทโธไม่ได้ พุทโธไม่ได้ เดี๋ยวมันก็คลายตัวออกมา มันต้องมีสติอยู่

ถ้าบอกว่า สงบจนไม่รู้อะไรเลย ไม่มีอะไรเลย

ระวังไว้ มันจะลงสู่ภวังค์ เวลาจิตที่มันหมุน มันหมุนมันก็ต่อต้าน ให้เราวิตกกังวล ให้เราเข้าสู่ความสงบไม่ได้ แต่เวลามันถลำไปนะ มันก็บอกว่า “ไม่มีอะไรเลย หาอะไรก็ไม่เจอเลย

นี่มันเป็นทั้งสองข้าง ไอ้จะเข้าก็เข้าไม่ได้ ติดไอ้หมุนๆ อยู่นี่ ไอ้พอจะเข้าไปก็หายไปเลย ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารเลยหรือ มันต้องมีสิ เราพุทโธเราก็อยู่กับพุทโธของเรา ถ้าอยู่กับลมหายใจเราก็อยู่กับลมหายใจของเรา จะละเอียดจะหยาบ เราก็รู้ของเราอยู่ ถ้าละเอียดมันก็ละเอียด ละเอียดเพราะด้วยการกระทำของเรา ถ้ามันจะหยาบ หยาบ เราก็ยังรักษาใจของเราอยู่ อยู่อย่างนี้ อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ อยู่กับสติสัมปชัญญะ รักษาตรงนี้เข้าไป

อาการต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นมันเป็นอุปสรรค เวลาจะทานข้าว ยกสำรับมา เรายังต้องมีฝาชีปิดไว้กันแมลง กันทุกอย่างที่มันจะมาตอม นี่ก็เหมือนกัน เราจะกำหนดพุทโธ เราใช้กำหนดลมหายใจเข้าออกเพื่อจิตสงบ มันจะมีอุปสรรคทั้งนั้นน่ะ คนทำอะไรมันจะมีอุปสรรค แต่มีอุปสรรคแล้ว อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ ถ้าจิตสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

นี่พูดถึงว่า เวลาเขาถามถึงปัญหาของเขา ถ้าปัญหาของเขา ปัญหามีทุกๆ คน ปัญหาเขามีไว้ให้แก้ไข เพราะปัญหามันเกิดจากกิเลส กิเลสที่มันยุมันแหย่ในใจนั่นล่ะ เวลาการประพฤติปฏิบัติ สัจธรรมเป็นของจริงทั้งนั้น เป็นความดีทั้งนั้น แต่สิ่งที่มีปัญหาก็คือกิเลสมันยุมันแหย่ ถ้ากิเลสมันยุมันแหย่ เราแก้ไขตรงนี้ แก้ไขตรงนี้ขึ้นมาเพื่อประโยชน์กับเรานะ นี่พูดถึงการปฏิบัติ สองปัญหาแล้วนะ

นี่ปัญหาต่อไป ปัญหาต่อไปนะ อันนี้ปัญหาของพระเขาถามเรื่องปาราชิก

ถาม : “ปาราชิก

กราบหลวงพ่อที่เคารพ กระผมขอเมตตาถามหลวงพ่ออธิบายปาราชิกของภิกษุข้อลักทรัพย์ที่มีมูลค่า ๕ มาสก ถ้าเทียบกับเงินไทยในสมัยปัจจุบันเท่ากับกี่บาทของค่าเงินในปัจจุบัน อย่างเช่นในตำราของวัดบวรนิเวศวิหารท่านแสดงไว้ว่า เท่าน้ำหนักทอง ๒๐ เมล็ดข้าวเปลือก น้ำหนัก ๐.๕ กรัมของทอง เมื่อนำมาขายเป็นค่าเงินไทยแล้วได้เท่าไรเทียบกับราคาทองคำในขณะวันกระทำความผิดนั้น อย่างนี้ถูกต้องตามวินัยข้อนี้หรือไม่ครับ

ตอบ : ถูก ก็ถูกตามนั้น ถูกตามนั้น ทีนี้มันเป็นวัฒนธรรมมันเป็นประเพณีของชาวพุทธ เพราะชาวพุทธเมื่อก่อน ภาษามคธมันยังไม่ได้แปลเป็นภาษาไทย พอยังไม่ได้แปลเป็นภาษาไทย เมื่อก่อนนั้นการจารึกธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจารึกโดยอักษรขอม ฉะนั้น อักษรขอม ผู้ที่ศึกษาไม่ได้ ผู้ที่ไม่ได้ภาษาก็ไม่เข้าใจสิ่งนั้น สุดท้ายแล้วตอนหลังเราแปลกันมา แปลมาเป็นภาษาไทยโดยทางนักวิชาการเขาทำกันมา

ฉะนั้น สิ่งที่ขณะที่แปลไว้ สมัยนั้นสมัยที่ทองคำ ๕ มาสกเท่ากับข้าวเปลือก ๒๐ เมล็ด ราคาเท่ากับ ๑ บาท แต่ ๑ บาทในสมัยโบราณเราไง เราก็เลยตีค่ากันว่า ถ้าเกิน ๑ บาท แต่ ๑ บาทนี้เป็น ๑ บาทสมัยสตางค์น่ะ ใช้เงินสตางค์กันน่ะ ๑ บาท แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ก็มีค่ามากขึ้น

แต่ทีนี้คำว่า “๑ บาทสมัยนั้น” เราก็พูดกันติดปากมาว่าพระเรามีค่าเท่ากับ ๑ บาท ลักทรัพย์เกิน ๑ บาท ขาดจากความเป็นพระ เป็นปาราชิก ขาดจากความเป็นพระ การลักทรัพย์ การฉ้อโกงราคา ๑ บาท ฉะนั้น ในปัจจุบันนี้ อย่างเช่นตำราวัดบวรนิเวศวิหารท่านแสดงไว้ว่า เท่ากับน้ำหนักทอง ๒๐ เมล็ดข้าวเปลือก น้ำหนักเท่ากับ ๐.๕ กรัมของทอง เมื่อนำมาขายเป็นค่าเงินไทยแล้วได้เท่าไรเทียบกับราคาทองคำในขณะวันที่กระทำผิดนั้น อย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ครับ

ถูก อันนี้ถูกต้องถ้าเราวินิจฉัยกันแค่นี้ไง แต่ในการกระทำมันมีที่มาที่ไปอีกเยอะแยะ คำว่า “มีที่มาที่ไป” มีเจตนาหรือไม่มีเจตนา เป็นการลักหรือไม่เป็นการลัก นี่เขาว่ากันไปนะ นี่พูดถึงว่า เวลาเขาเกิดอธิกรณ์แล้วเขาสอบสวนกันมันก็เป็นกรณีอย่างนั้นไป

แต่ถ้ามันเป็นภาษาเรา เราบวชแล้ว เรามีเจตนา เราอยากทำคุณงามความดีของเรา เราไม่ทำสิ่งนี้เลย เราไม่ทำเลย

ฉะนั้น เวลาบวชในอุปัชฌาย์ นิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ คือสิ่งนี้ห้ามทำเลย ปาราชิก ๔ เขาจะบอกเลย ห้าม เพราะมันขาดจากความเป็นพระโดยอัตโนมัติเลย มันขาดจากความเป็นพระ เราจะรู้หรือไม่รู้ มันขาดจากความเป็นพระไป ฉะนั้น ขาดจากความเป็นพระไป ขาดโดยที่เราไม่รู้ตัว ตาลยอดด้วน เราไม่ได้แล้ว ฉะนั้น เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันถึงปฏิบัติไปไม่ได้ ปฏิบัติไปแล้วมันอั้นตู้ทั้งนั้นน่ะ

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านถึงห่วงตรงนี้มาก ถึงห่วงตรงนี้มาก จะดูแลรักษา จะสั่งสอน ฉะนั้น เวลาเป็นปะขาวมาก่อนจะบอกว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ ถ้าทำไม่ได้แล้วไม่ควรทำ ถ้าไม่ควรทำ

แต่ถ้าอันนี้มันเป็นคำถามทางวิชาการ เขาบอกว่า “กราบหลวงพ่อที่เคารพ กระผมขอเมตตาจากหลวงพ่ออธิบายปาราชิกของภิกษุข้อลักทรัพย์ ที่มูลค่า ๕ มาสก เทียบกับเงิน

อันนี้อธิบาย อธิบายมันก็ต้องมีที่มาที่ไปไง ที่มาที่ไปว่า ลัก ลักอะไร มีค่าเท่าไร แล้วทำอย่างไรถ้าเวลาลัก แต่ถ้ามันมีพระบางทีวิสาสะ คำว่า “วิสาสะ” เป็นพระที่รักกัน เป็นพระที่เป็นหมู่คณะกัน ใช้เงินกระเป๋าเดียวกัน

ใช้เงินกระเป๋าเดียวกัน คือว่าได้สิ่งใดมา มีพระที่วิสาสะนะ หยิบจับหยิบฉวยกันได้ แล้วเวลาพอล่วงผ่านไปแล้วมีปัญหาขัดแย้งกัน จะมาโทษว่าสิ่งนั้นเป็นปาราชิก มาแบบว่าหยิบของตนไปค่าเกิน ๕ มาสกอย่างนี้ไม่ได้ เพราะขณะนั้นน่ะวิสาสะขึ้นมาตั้งแต่ต้น แล้วมาผิดใจกันทีหลัง มันไม่ครบองค์ประกอบหรอก ไอ้กรณีอย่างนี้มันมี

ทีนี้เวลาที่พระที่ผิดใจกันแล้วจะคิดว่าใครทำผิดๆ ก็จะย้อนกลับมาที่วินัยนี่ไง ปาราชิก ๔ แล้วพยายามจะชักให้เข้าสู่ปาราชิก ๔

มันไม่เข้าหรอก มันไม่เข้าเพราะเจตนาเริ่มต้นมันไม่มาอย่างนั้น เจตนาเริ่มต้นเรามา เราวิสาสะกันมา เราเป็นหมู่คณะกันมา เรารักใคร่กันมา เราใช้เงินร่วมกันมา เวลามันผิดใจกันก็จะมายกให้เข้าไปกับปาราชิก ๔

ไม่ มันต้องมีเจตนาสมบูรณ์ตั้งแต่ทีแรก ต้องมีเจตนาสมบูรณ์ว่าตั้งใจจะหยิบฉวยของเขา แล้วก็หยิบฉวยขึ้นมา หยิบฉวยแล้วได้ไปแล้ว จบ ถ้าตั้งใจหยิบฉวย ทีนี้คำว่า “ตั้งใจหยิบฉวย” มันเพราะอะไรล่ะ

มันเพราะกิเลส มันเพราะความอยากได้ ความต้องการของเขา ความต้องการของเขาโดยคิดว่าลักทรัพย์ ลักของเขา ไม่มีใครรู้ใครเห็น แต่มันไม่ได้คิดถึงธรรมวินัยเลย ธรรมวินัย ทำที่ลับที่แจ้ง ไม่เกี่ยว ให้ผลเหมือนกันหมด

ฉะนั้น เวลากิเลสมันปิดหูปิดตามันก็อยากจะไปทำ พอไปทำขึ้นมาแล้ว ไปทำโดยกิเลสมันเร้า พอกิเลสมันเร้า ทำสมใจมันแล้ว เวลาผลออกมา โอ้ตาย ขาดจากความเป็นพระไปแล้ว ฉะนั้น ไอ้กิเลสกับเราเวลามันอยู่ด้วยกันมันไม่เท่าทันมันไง แต่วินัยก็คือวินัยวันยังค่ำ ที่ลับที่แจ้ง จะที่ไหน เป็นอย่างนั้นตลอด ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น แล้วพอเป็นแล้วเรารู้หรือไม่รู้ล่ะ ถ้ารู้หรือไม่รู้ เห็นไหม

ในชาติปัจจุบันนี้ถ้าปาราชิก ๔ มันก็ปิดกั้นมรรคผล ถ้าปิดกั้นมรรคผลเฉพาะชาตินี้ ชาติต่อไปก็จบ ถ้าปิดกั้นมรรคผลแล้วมันก็ยังทำคุณงามความดีได้ ไปเกิดบนสวรรค์ได้ ทำอะไรได้ แต่มันปิดกั้นเรื่องวินัย มันไม่สะอาดบริสุทธิ์พอ นี่พูดถึงพระปฏิบัตินะ พระปฏิบัติห่วงเรื่องวินัยมาก ถ้าพระปฏิบัติจริงๆ นะ

เพราะเราอยู่ในวงการปฏิบัติ พระเพื่อนกันเขาพูดเลย พวกเรา ครูบาอาจารย์ มีความภูมิใจในความเป็นพระป่า แล้วพอเป็นพระป่ามันก็ถือตัวถือตน ถือว่าตัวเองมีคุณงามความดีเหนือเขา ทำสิ่งใดทำแต่ด้วยความตามใจของตัว จนเขานินทากันว่าป่าเถื่อน ไม่ใช่พระป่าเพราะรู้เท่าทันกิเลส เป็นความป่าเถื่อน

โอ้โฮฟังแล้วสะเทือนใจมาก นี่พระกับพระเวลาเราคุยกันนะ ฉะนั้น จะทำสิ่งใด ถ้าเป็นพระที่ดีมันก็ต้องเป็นพระที่ดีตั้งแต่เรา อย่าสำคัญตนว่าเป็นพระป่า พระป่าจะทำอะไรก็ทำแต่ตามใจตัว

เขามองดูว่ามันเป็นพระป่า พระป่าคือพระที่ระแวดระวังภัย พระป่าคือพระที่เคารพธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเราๆ เคารพในองค์ศาสดานั้น ถ้าเคารพในองค์ศาสดานั้นทำสิ่งใดต้องทำด้วยเจตนาที่สะอาดบริสุทธิ์

ความสะอาดบริสุทธิ์ๆ ของเราน่ะ แต่ความไม่รู้เท่า ทำไปๆ ทำไปแล้ว ถ้าเป็นวิสาสะอะไร เวลารักกันชอบกันก็เห็นดีเห็นงามต่อกัน เวลาผิดกันขัดแย้งกันก็จะมาเพ่งโทษต่อกัน อย่างนี้ใช้ไม่ได้ เราต้องเสมอต้นเสมอปลาย ถ้าเริ่มต้นเสมอต้นเสมอปลายมันจะถูกต้องไง

นี่พูดถึงคำว่า “ปาราชิก” ปาราชิก ถ้าเขาทำ ใครคนใดทำด้วยความไม่รู้เท่า ทำโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยากปิดหูปิดตาเขา คือปาราชิก เขาจะรู้ไม่รู้ มันมีผลโดยข้อเท็จจริง ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้น ไม่มีที่ลับ ไม่มีที่แจ้ง ไม่มีสิ่งใดทั้งสิ้น ตรงต่อธรรม ปฏิบัติตนสามีจิกรรม ปฏิบัติธรรมตรงต่อธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติธรรมเพื่อคุณธรรม ปฏิบัติธรรมเพื่อแบบนี้ ไม่ใช่เอาเรื่องธรรมวินัยนี้มาเที่ยวจับผิดกัน มาเที่ยวทำลายกัน มันเป็นไปไม่ได้

ฉะนั้น ถ้าใครทำผิดไปแล้วมันเป็นกรรมของสัตว์ ใครทำผิดแล้วคนนั้นเป็นกรรมของสัตว์ มันก็อยู่กับใจดวงนั้น ปิดไม่ได้หรอก ไม่มีที่ลับ ไม่มีที่แจ้ง ใครทำก็คือคนนั้นรับรู้ รับรู้มันก็เป็นของคนนั้น

แต่ถ้าเราไม่ได้ทำ หรือเราไม่เข้าใจแล้วทำสิ่งใดไป ถ้ามันไม่มีเจตนา มันเศร้าหมอง ศีลด่าง ศีลพร้อย ศีลทะลุ ศีลขาด มันเศร้าหมอง เราให้เห็นโทษของกิเลสไง ให้เห็นโทษของกิเลส ไอ้นี่เราก็ระวังของเรา เราจะไม่ทำตามนั้น

นี่พูดถึงธรรมวินัย ธรรมวินัยนี้สำคัญนะ แต่เวลาพระป่าเรา เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์บอกศีล ปาราชิก ๔ มันอยู่ในศีล ปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ นิสสัคคีย์ ๓๐ แล้วก็ปาจิตตีย์ใช่ไหม ปาจิตตีย์แล้วก็เสขิยะ มันสวดทุก ๑๕ ค่ำ สวดทุก ๑๕ ค่ำ แล้วของเรามันต้องรักษาของเรากันอยู่แล้ว ฉะนั้น เวลาศีล พระบวชแล้วต้องรู้

เวลาพระกรรมฐานเราเมื่อก่อนก่อนจะบวชต้องเป็นปะขาว ๔ ปี ๕ ปี จนท่องปาฏิโมกข์ได้ถึงให้บวชกันน่ะ มันรู้อยู่แล้ว ของรู้อยู่แล้ว มันของใกล้ตัว

ครูบาอาจารย์ท่านไม่พูดถึงสมาธิเลย เวลาหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์นะ ศีล สมาธิ ปัญญา เวลาศีล ศีลก็เข้าใจกันอยู่แล้ว ศีลก็ต้องมีอยู่แล้ว พระเป็นพระก็ต้องมีศีล ๒๒๗ อยู่แล้ว มีศีลอยู่แล้ว แล้วเทศน์ก็สมาธิไปเลย

แต่เวลาเขาบอกว่า พระกรรมฐานต้องอธิบายเรื่องศีลก่อนสิ ศีลมันสะอาดบริสุทธิ์หรือไม่ ก็มาจ้ำจี้จ้ำไชกันเรื่องศีล ก็เทศน์ที่ศีล ก็เลยอยู่ระดับนี้ ไม่ขึ้นเข้าสมาธิ เราพูดสมาธิ เขาเลยบอกว่ามันตัดตอน เราเห็นพระเขาติเตียนกันอยู่ว่าพระกรรมฐานไม่ค่อยพูดเรื่องศีล

ศีลมันเป็นเรื่องปกติที่ควรต้องรู้ต้องมีอยู่แล้ว คนไทยต้องรู้กฎหมายไทย นี่ก็เหมือนกัน ศีลมันก็เรื่องของศีล แล้วเรื่องของสมาธิ สมาธิต้องทำให้ได้ ตอนนี้พูดถึงสมาธิ สมาธิก็เลยกลายเป็นมิจฉาไปเลย ว่างๆ ว่างๆ อะไรก็ไม่รู้ ไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์อะไรกันเลย แล้วจะเป็นปัญญาขึ้นมาก็เป็นสัญญาทั้งนั้น ไปจำของครูบาอาจารย์มาแล้วก็กล่าวตู่กันไปบ้าบอคอแตก

แต่ถ้ามันเป็นจริงๆ ขึ้นมา มันเป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก มึงรู้เองเห็นเอง พูดไม่ได้เหรอ รู้ขึ้นมาบนหัวใจ มันเหยียบย่ำกิเลส มันทำลายกิเลส ทำไมพูดไม่ได้ ถ้ามันพูดได้ เป็นจริงได้ มันเป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก พวกกรรมฐานเรามันต้องมั่นคงอย่างนี้ ถ้ามั่นคงอย่างนี้มันก็สมบูรณ์ของเรา นี่พูดถึงเรื่องปาราชิก เอวัง