เจ็บที่ใจ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “ปมที่ค้างในใจ”
กราบนมัสการหลวงพ่อ กราบขอบพระคุณค่ะ ตอนนี้หลวงพ่อได้แก้ปมในใจออกไปเกือบหมดแล้ว เหลือหนึ่งอย่าง
๑. ไม่ใช่ว่างๆ เคลียร์แล้ว ลูกเข้าใจผิดเองค่ะ ไอ้ที่ว่าไม่ใช่ว่างๆ เคลียร์แล้ว
๒. การพิจารณากาย เคลียร์แล้ว เคยได้ข้อมูลที่ผิดมาก่อน บวกการไปฟังด้วยตัวเองในระยะหลังนี้โดยมีวุฒิภาวะไม่สูงพอ ก็เลยข้องใจมากขึ้นเองค่ะ
๓. ความเจ็บปวดขณะนั่งสมาธิยังค้างใจอยู่ ยังไม่ได้ถาม
ลูกเคยสนทนาธรรมกับพระรูปหนึ่งที่วัดเมื่อครั้งเริ่มฝึกหัดภาวนาใหม่ เริ่มฝึกหัดสมาธิใหม่ๆ พระรูปนั้นเคยกล่าวไว้ว่า ฆราวาสยังจำเป็นที่ต้องอาศัยร่างกายธาตุขันธ์นี้อยู่ การทำสมาธินั้นให้เลือกท่าที่สบาย ถ้าปวดก็เปลี่ยนท่าได้ เพราะวัตถุประสงค์คือเพื่อให้ใจเป็นสมาธิเท่านั้น
ลูกคิดในใจเองว่า เคยได้ยินหลวงตามหาบัวท่านนั่งสมาธิทั้งคืน ลูกก็เลยตอบไปว่า นั่งประมาณหนึ่งหรือสองชั่วโมงมันก็ยังไม่ปวดค่ะ
พระท่านว่า เพราะใจไม่ได้ไปสนใจกับความเจ็บปวดไง แต่ขามันชาไปนานแล้ว และท่านเคยนั่งสมาธิประมาณหกชั่วโมงพยายามเอาชนะความเจ็บปวดไม่ได้ สำหรับฆราวาสไม่ใช่พระ ถ้านั่งมากไปจะเป็นโรคอัมพาตโรคอัมพฤกษ์ ก็แย่ไป ลำบากไป จำเป็นที่ต้องมีการบริหารท่าทาง
ตรงนี้มีข้อเท็จจริงอย่างไรเจ้าคะ พระที่นั่งสมาธิตลอดรุ่งนี้ท่านเปลี่ยนท่าไหมคะ ขอบพระคุณ
ตอบ : นี่พูดถึงว่า เมื่อก่อนว่าว่างๆ ว่างๆ นี่เป็นสมาธิไง อะไรว่างๆ ว่างๆ ปฏิบัติสะดวกสบายขึ้นมาก็ชอบทั้งนั้นน่ะ ก็ว่างๆ ไป ปมนี้ได้แก้ไปแล้ว การพิจารณากาย พิจารณากายโดยที่นึกเอา พิจารณาโดยอุปาทานก็แก้ไปแล้ว
ตอนนี้เรื่องความเจ็บปวด ถ้าเรื่องความเจ็บปวด นี่พูดถึงว่า ไปคุยกับพระองค์หนึ่งที่วัดแห่งหนึ่งท่านบอกว่า ถ้าเป็นฆราวาสยังต้องใช้ร่างกายอยู่ อย่าไปนั่งทรมานร่างกายจนเกินไป แล้วเรายังเป็นฆราวาสอยู่ เราไม่ต้องทำขนาดนั้น นี่พูดถึงว่าความเห็นของเขาไง ความเห็นของโลก เห็นไหม
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน ทีนี้กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน สัตว์ที่เกิดมาในโลกนี้มีความรู้ความเห็นความคิดแตกต่างกันไปมหาศาลทั้งนั้นน่ะ ถ้ามีความรู้ความรู้สึกต่างๆ ที่มันแตกต่างกันไป วัวใครเข้าคอกมัน ไอ้ที่ชอบประพฤติปฏิบัติสะดวกสบาย ชอบปฏิบัติง่ายๆ เขาก็ไปหาที่ว่าง่ายๆ ไอ้ที่ชอบปฏิบัติเอาจริงเอาจังนะ เราไม่บอกว่าไอ้ประเภทที่ต้องทุกข์ต้องยาก ไม่ใช่
เราคนปฏิบัติเราไม่ใช่ซาดิสม์ เราปฏิบัติเพื่อเอาความจริง แต่ความจริงมันอยู่ที่ไหน เราจะไปหาที่นั่น เราไม่ใช่ไปหาความเจ็บปวด เราไม่ใช่ไปหาความทุกข์ทรมาน ใครชอบความทุกข์ทรมาน ใครชอบความเจ็บช้ำน้ำใจ ใครชอบความเจ็บปวด ไม่มีหรอก
แต่เราชอบความจริง เราต้องการความจริงต่างหาก ความจริงๆ สัจจะ อริยสัจจะ เราต้องการอันนั้น เราไม่ต้องการความเจ็บปวดหรอก ใครไม่ต้องการความเจ็บปวด ไม่ต้องการความทุกข์ยาก ทุกคนก็ต้องปรารถนาความสุข ทุกคนก็ปรารถนาประพฤติปฏิบัติแล้วได้มรรคได้ผล ไม่มีใครปฏิบัติแล้วเหลวไหล ไม่มีใครประพฤติปฏิบัติแล้วไม่ได้เนื้อหาสาระ ไม่มีใครต้องการอย่างนั้น ถ้าไม่มีใครไม่ต้องการอย่างนั้น เวลาเราไปประพฤติปฏิบัติเราถึงต้องมีความตั้งใจ มีความเอาจริงเอาจังของเรา ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านชี้นำ
นี่คำถามไง คำถามว่า เขาจำได้ว่าไปวัดหนึ่ง ไปเจอพระรูปหนึ่ง ท่านเคยพูดไว้ ก็เลยจำได้มาอย่างนี้
ถ้าจำได้มาอย่างนี้ เห็นไหม ในเมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ใครเห็นภัยในวัฏสงสารก็จะมาบวชเป็นพระ ถ้าบวชเป็นพระแล้วถ้ามีอำนาจวาสนา ถ้าบวชเป็นพระ บวชเป็นพระแล้วธรรมวินัย ๒๒๗ เหมือนกัน ถ้า ๒๒๗ เหมือนกัน เหมือนกับว่าเป็นพระที่ดีแล้วก็ต้องมีคุณธรรมในใจทุกๆ คนสิ พระบวชแล้วทุกองค์ก็ต้องเป็นพระที่ดีหมด แล้วมันดีจริงไหม
พระที่ดีก็มีครูบาอาจารย์เรา โอ้โฮ! หลวงตานะ ท่านลงใจหลวงปู่มั่นนะ ท่านบอกว่า ถ้าท่านไม่ได้กราบหลวงปู่มั่นก่อนท่านนอนไม่ได้ คืนไหนก็แล้วแต่ท่านจะนอนจำวัดนะ ท่านต้องกราบหลวงปู่มั่นก่อน ถ้าไม่มีรูปเคารพ ท่านก็กราบของท่าน นี่เวลาถ้ามันลงใจแล้วมันเคารพบูชากันอย่างนั้นน่ะ ถ้ามันลงใจ มันลงใจเพราะอะไรล่ะ ลงใจเพราะหลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติมาก่อน
หลวงตาท่านไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านปฏิบัติตามที่หลวงปู่มั่นสอน ถ้าปฏิบัติตามที่หลวงปู่มั่นสอน เวลาสิ่งใดที่เกิดขึ้นในใจของท่านมันไปพิสูจน์กับคำสอนของท่านน่ะ สิ่งใดที่หลวงตาท่านประพฤติปฏิบัติเป็นความจริงๆ ขึ้นมามันก็ไปพิสูจน์กับคำสอนๆ มันตรงกัน มันตรงกัน มันเป็นอันเดียวกัน มันก็เลยลงใจ มันก็เลยกราบ นี่พูดถึงว่าครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติมาท่านต้องการความจริงๆ ไง
ถ้าความจริงมันเป็นแบบนี้ พอเป็นแบบนี้ ครูบาอาจารย์ของเราท่านเผยแผ่มา ท่านพยายามชักนำให้ชาวพุทธอย่าดูดายกับชีวิต อย่ามองข้ามกับชีวิตของเรา เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เรามีโอกาส เรามีอำนาจวาสนาที่จะประพฤติปฏิบัติได้ ท่านถึงวางข้อวัตรปฏิบัติให้พวกเราปฏิบัติไง
เวลาพวกเราปฏิบัติขึ้นมา พอมันปฏิบัติ สังคมในการประพฤติปฏิบัติมันมีความเชื่อถือ มันก็มีคนสอนเยอะไปหมด เวลาคนสอนเยอะไปหมด ไอ้คนสอนที่มันไม่รู้ไม่เป็นมันก็พูดทำนองนี้ “เราเป็นฆราวาส เรายังทำอะไรไม่ได้”
เออ! ถ้าเป็นฆราวาส อย่างนั้นฆราวาสไม่ต้องมีความทุกข์ มีความทุกข์เฉพาะพระ ถ้าพระปฏิบัติ พระมันทุกข์มันยาก ก็มีความทุกข์เฉพาะพระ พวกฆราวาสไม่มี เพราะเราเป็นฆราวาส เราต้องปฏิบัติ เราต้องใช้ร่างกายอยู่...เป็นอย่างนั้นไหม มันก็ไม่เป็น มันไม่เป็นอย่างนั้นหรอก
ฉะนั้น มันไม่เป็นอย่างนั้น จะบอกว่าเวลาเขาพูดไง เขาบอกว่า ไปที่พระวัดหนึ่งแล้วเขาพูดอย่างนี้ไว้ มันก็เลยคาใจว่า เราเป็นฆราวาส เราไม่ต้องทำแบบนั้น ทำแบบนั้นเป็นพระทำ
นี่ก็เหมือนกัน เวลาสังคมเขาเชื่อกันไง พระต้องเป็นผู้ทรงศีลทรงธรรม โยมไม่ต้อง เราเป็นฆราวาส เราไม่ต้อง
อ้าว! เวลาเอาเงินมากองไว้ให้ใครนับได้เท่าไร เอาเท่านั้น ทุกคนรีบๆ นับใหญ่เลย เวลาเงินทองมันจะเอา เวลาประพฤติปฏิบัติมันจะเอาง่ายๆ มันเป็นไปไม่ได้หรอก นี่พูดถึงข้อเท็จจริงไง
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าพระองค์นั้นที่พูดไว้มันก็เลยตกค้างในใจของเรา มันก็เป็นปมคาใจ เป็นปมคาใจผู้ที่ไม่เข้าใจตามข้อเท็จจริง
ถ้าผู้ที่เข้าใจตามข้อเท็จจริง ผู้ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ผู้ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่ายเขาสร้างอำนาจวาสนาของเขามา ถ้าไปบอกให้เขาทำทุกข์ยาก เขาก็จะไม่ได้ข้อเท็จจริง ถ้าเขาจะปฏิบัติง่ายรู้ง่ายก็เพราะว่าเขาได้สร้างอำนาจวาสนาของเขามา ถ้าเขาสร้างอำนาจวาสนาของเขามาอย่างนั้น ไม่มีพระองค์ไหนไปสอนให้เขาทุกข์เขายากหรอก
แต่ข้อเท็จจริงของเรา เราสร้างของเรา เราสร้างของเรามาครึ่งๆ กลางๆ พวกเราส่วนใหญ่ก็ครึ่งๆ กลางๆ ดีก็ทำมา ชั่วก็ทำมา มันก็ต้องครึ่งๆ กลางๆ ครึ่งๆ กลางๆ มันก็ต้องพิสูจน์กัน ต้องเอาจริงเอาจังของเราขึ้นมา พิสูจน์ให้ได้
เพราะครูบาอาจารย์เราบอกธรรมะอยู่ฟากตาย ฟากตายเพราะอะไร ฟากตายเพราะเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมามันทุกข์มันยาก มันอ้างตายทั้งนั้นน่ะ “ทำไม่ได้นะ เดี๋ยวตาย” ไอ้นี่คำที่พระพูด “ทำไม่ได้นะ เดี๋ยวเป็นอัมพาต ทำไม่ได้นะ เดี๋ยวเป็นอัมพฤกษ์”
เวลามันสนุกครึกครื้นของมัน มันล้มไป เส้นเลือดแตกเป็นอัมพฤกษ์ยังไม่เป็นไร แต่เวลาจะประพฤติปฏิบัติมันกลัวเป็นอัมพฤกษ์ เวลามันกินไขมันมากๆ อ้วนจนมันเดินไม่ได้ มันบอกอันนั้นดี...นี่มันเป็นความคิด มันเป็นความเปรียบเทียบทางโลกไง
ฉะนั้น เปรียบเทียบทางโลก เราจะบอกว่า เวลาพวกเราไปหาพระ มันก็วาสนาตรงนี้ ไปเจอพระซื่อบื้อมันก็พูดอย่างนี้ ถ้าพระที่ไม่ซื่อบื้อนะ พระที่ไม่ซื่อบื้อเขาจะเชื่อธรรมวินัย เขาจะเชื่อกรรม
เชื่อกรรม มันอยู่ที่ว่าคนทำกรรมมามากมาน้อย คนทำกรรมหนักกรรมเบามามันต้องแก้ไปตามนั้น เหมือนคนเจ็บไข้ได้ป่วย เราเป็นโรคอะไรก็ต้องแก้ตามโรคนั้น เราเป็นโรคโรคหนึ่ง ไปรักษาอีกวิธีการหนึ่ง ไม่มีทางหาย ถ้าใครเป็นโรคสิ่งใด ถ้าหมอเขาเป็นนะ เขาจะแก้ตามอาการนั้น คนที่เป็นหวัดเป็นไอนะ เขาก็ให้อยู่ในความอบอุ่น ไม่ต้องกินยาก็หายได้ ถ้าครูบาอาจารย์ที่ท่านไม่ซื่อบื้อท่านจะแก้ไปตามข้อเท็จจริงนั้น ไม่ใช่พูดเหมารวมอย่างนี้ ถ้าพูดเหมารวมอย่างนี้ เห็นไหม ถ้าเป็นฆราวาส เรายังต้องใช้ร่างกายนี้อยู่ เราจะไม่ทรมานให้มันเจ็บปวด ไอ้ที่เขาทำเจ็บปวดนั่นเป็นเรื่องของพระ
แล้วเวลาพระเขาปฏิบัติเขาได้มรรคได้ผล เราก็อยากได้ด้วย เราอยากได้ด้วย ถ้าอยากได้ด้วย เราก็ต้องทำตามนั้นน่ะ ทำตามข้อเท็จจริง เราทำผิดจากข้อเท็จจริงไป เราไม่ได้ผลหรอก เราต้องทำตามข้อเท็จจริง
แล้วเวลาทำตามข้อเท็จจริง เห็นไหม อย่างเราไปหาครูบาอาจารย์ เริ่มต้นเลย ให้ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน คนเรานะ ต้องทำความสงบของใจก่อน ให้ใจสงบระงับ ถ้าใจไม่สงบระงับ ที่คิดๆ นี้โลกียปัญญาทั้งหมด คือคิดเรื่องโลก ใครมีการศึกษาทางใดมามันก็เปรียบเทียบธรรมะทางการศึกษา ทางวิชาชีพเขา ใครมีมุมมองอย่างไรก็คิดธรรมะตามมุมมองของตน คำว่า “มุมมองของตน” คนมีความรู้ขนาดไหนมันก็ดูตามมุมมองของตนเท่านั้นน่ะ
ฉะนั้น ถ้าทำความสงบของใจเข้ามา มุมมองของตนวางไว้ ให้มันสงบจริง สงบจริง เวลามันเป็นจริงขึ้นมา เราชอบหรือไม่ชอบ ชอบหรือไม่ชอบคือกิเลสไง ดีหรือชั่วในใจของเรา จิตใจของเราถ้ามันเป็นธรรมขึ้นมามันจะเป็นมุมมองตรงนั้นน่ะ มองดีหรือชั่ว
ถ้ามันดี เราก็เร่งความเพียรของเรา ถ้าชั่ว เราก็ระงับยับยั้ง ถ้ามันมีสมาธิขึ้นมามันจะเข้าไปเห็นตามความเป็นจริงไง ถ้าไม่มีสมาธิขึ้นมามันจะไม่เข้าไปเห็นตามความเป็นจริง มันจะเห็นตามความพอใจของตน ตามความพอใจของตน มันถึงต้องกำจัดความพอใจของตนด้วยสัมมาสมาธิ ที่ทำสมาธิๆ กันนี่เพื่อไม่ให้เราเข้าข้างตัวเองไง
ทุกคนเข้าข้างตัวเองหมด รู้เห็นอริยสัจตามความเป็นจริงหมดน่ะ แต่แก้กิเลสไม่ได้ แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วมันไปรู้ตามความเป็นจริง มันเป็นไตรลักษณ์ มันทำลาย ทำลายความยึดมั่นถือมั่น สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิคือความเห็นผิด ความเห็นผิดว่านี่เป็นของของเรา ความเห็นผิดว่าร่างกายเป็นของเรา มันเห็นผิดไง ถ้ามันเห็นถูก เห็นถูกก็เป็นของเราอยู่วันยังค่ำน่ะ เพราะร่างกายของเรา
เห็นถูกมันไปฆ่าตรงความเห็นถูกเห็นผิด แต่ไม่ได้ทำลายร่างกาย ไม่ได้ทำอะไรทั้งสิ้น ไปทำลายทิฏฐิมานะ ไปทำลายกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจของตน นี่ธรรมะสอนอย่างนี้ สอนเวลาเข้าไป เข้าไปทำลายทิฏฐิมานะความเห็นผิดในใจอันนั้น ถ้าความเห็นผิดในใจอันนั้นมันต้องแก้ไขด้วยความสงบของใจเข้ามาก่อน แล้วเกิดวิปัสสนา เกิดปัญญาญาณขึ้นมา นี่พูดถึงว่าตามข้อเท็จจริงนะ
ฉะนั้น เวลาปมที่ค้างคาในใจ เวลาไปฟังพระพูดอะไรที่มันง่ายๆ ติดใจมากเลย เวลาไปเจอครูบาอาจารย์ท่านบอกให้มุมานะ ให้เร่งความเพียร ไม่ติดใจเลย ไม่ชอบเลย
ฉะนั้น พอไม่ชอบเลย ชอบหรือไม่ชอบนั้นเป็นเรื่องหนึ่งนะ จริงหรือไม่จริงต่างหาก ถ้ามันเป็นความจริงๆ ทำให้ใจเราสงบ ถ้าใจเราสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญาไปตามข้อเท็จจริงนั้น เราจะให้คะแนนตัวเองไม่ได้ เราจะไปตัดลดตัวเองก็ไม่ได้ มันต้องเป็นจริงอย่างนั้น ถ้าเป็นจริงอย่างนั้นมันถึงจะเป็นสัจจะเป็นตามความเป็นจริง นี่พูดถึงคำถามของเขา
ฉะนั้น เขาถามว่า ลูกได้ยินว่าหลวงตาบอกว่าท่านนั่งสมาธิ ลูกก็เลยบอกว่า เขานั่งกัน ๑-๒ ชั่วโมง แล้วเขาบอกว่าเคยนั่งถึง ๖ ชั่วโมง
ให้ร้อยชั่วโมงด้วย เพราะนั่งนานหรือนั่งชั่วโมงหนึ่งหรือร้อยชั่วโมงไม่สำคัญ สำคัญว่าเกิดปัญญาหรือไม่ เรานั่งมาตั้งนาน เราฝึกหัดมาตลอดเลย เราทำความสงบของใจได้หรือไม่ ถ้าใจสงบแล้วเวลาเราใช้ปัญญาของเราได้หรือไม่
ถ้าเราใช้ปัญญาของเรานะ เวลาที่มันจะชำระกิเลสขาด แค่ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น แพล็บ! งูแลบลิ้นน่ะ เวลามันจะได้เสียกันมันได้เสียกันมรรคสามัคคีเวลามันสมุจเฉทปหาน แค่นั้นน่ะ แต่เวลาจะส่งเสริมขึ้นมา ฝึกหัดศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นมา เกือบเป็นเกือบตาย
ฉะนั้น ไอ้ที่ว่า ๖ ชั่วโมง เขาเคยทำ ๖ ชั่วโมงแล้วไม่ได้ผล แล้วหลวงตามานั่งจะได้ผลได้อย่างไร
หลวงตาท่านนั่งมาก่อนหน้านั้น จิตท่านเสื่อมก่อน ท่านออกประพฤติปฏิบัติทำสมาธิได้คล่องแคล่วมาก แต่สุดท้ายแล้วท่านออกธุดงค์ใหม่ๆ ท่านต้องการบริขาร ท่านก็ไปสร้างกลดหลังหนึ่งของท่านเองที่บ้านของท่านน่ะ เพราะไปสร้างกลด จิตมันสงบ จิตมันมีสมาธิ เวลาทำสิ่งใดมันก็ตั้งใจทำจริงจัง พอจริงจังมันก็ไปอยู่กับความจริงจังนั้น พอจริงจังนั้นมันก็ชักจิตออกไป พอมันเสื่อม กลับเข้าไม่ได้น่ะ โอ้โฮ! ทุกข์ยากมาก คนไม่เคยทำสมาธิไม่รู้ว่าสมาธิเสื่อมทุกข์ยากขนาดไหน แต่เวลาเสื่อมแล้วจะเอาขึ้นอีกได้อย่างไร
ตอนนี้ท่านถึงไปอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็พยายามฝึกท่านขึ้นมา พอฝึกท่านขึ้นมาแล้ว ทีนี้ท่านรักษาของท่านเลย ท่านบอกว่าจิตเสื่อมไม่ได้ ถ้าจิตเสื่อมขอให้ตาย มันทุกข์ยากขนาดนั้นน่ะ ทีนี้ถ้าจิตเสื่อมขอให้ตาย แสดงว่ามันก็เป็นการตั้งกติกาขึ้นมาเพื่อรักษาตัวเองไง จิตเสื่อมไม่ได้นะ ถ้าจิตเสื่อมต้องตาย แล้วถ้าไม่ให้เสื่อมทำอย่างไร
ไม่ให้เสื่อมก็ต้องมีสติ ต้องมีคำบริกรรม ต้องดูแลจิตตลอด ไม่ให้ออกไปคลุกคลีกับอะไรจนเกินไป จะทำสิ่งใดก็ทำด้วยสติสัมปชัญญะ ทำเสร็จแล้วรีบกลับมา รีบกลับมาดูแลใจของตน แล้วท่านก็วิปัสสนาของท่านขึ้นไป นี่เวลาใช้ปัญญาขึ้นไป
จะบอกว่า นั่งมากนั่งน้อย สิ่งที่ว่าท่านนั่งตลอดรุ่งๆ คำถามถามว่า ถ้าฆราวาสไม่ใช่พระ เวลานั่งเขาบอกว่ามันเป็นอัมพฤกษ์ไปจะลำบาก ฉะนั้น เขาบอกว่า ถ้าหลวงตานั่งตลอดรุ่ง ท่านเปลี่ยนท่าบ้างหรือไม่
การที่นั่งตลอดรุ่ง มีพระมากหรือผู้ที่ปฏิบัติมากถือเนสัชชิก เนสัชชิกคือไม่นอนทั้งคืน คำว่า “ไม่นอนทั้งคืน” ถ้าหลังไม่ติดพื้นไม่เสียคำอธิษฐาน คือว่าอธิษฐานว่าจะไม่นอนตลอดรุ่ง เราอยู่ในท่าใดก็ได้แต่ไม่ให้หลังติดพื้น อันนี้ประเภทหนึ่ง อีกประเภทหนึ่งแบบของหลวงตา ท่านนั่งตั้งแต่ตะวันตกตั้งแต่ ๖ โมงเย็น ถึง ๖ โมงเช้า นั่งท่าเดียวไม่เปลี่ยนเลย นั่งท่าเดียวไม่เปลี่ยนเลย ถ้าไม่เปลี่ยนเลย เห็นไหม
ถ้าถือเนสัชชิกคือว่าหลังไม่ติดพื้น ท่าใดก็ได้ พระบางองค์ท่านอยู่ถึงสว่าง แต่เขาอยู่ในท่านั่งบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง อยู่จนสว่าง แต่เวลาหลวงตาท่านนั่งท่าเดียวเลย มันมีอยู่ที่เราอธิษฐานไง เราอธิษฐานว่าเราจะทำอย่างใด อย่างเช่นที่เวลาเราสอนพวกโยม โยมบอกเลย ทำนู่นก็ไม่ได้ ทำนี่ก็ไม่ได้ มันติดขัดไปหมดเลย
เราให้อธิษฐานว่า เว้นไว้แต่ เห็นไหม อย่างเช่นหลวงตาท่านบอกว่า ท่านนั่งท่าเดียวตลอดรุ่งไม่ลุกเด็ดขาด เว้นไว้แต่หลวงปู่มั่นท่านเจ็บไข้ได้ป่วย ท่านเรียกใช้ ท่านจะลุกได้ เว้นไว้แต่พระในวัด เช่น พระในวัดกลางคืนขึ้นมาอาจจะเกิดอุบัติเหตุโดนงูกัด หรืออุบัติเหตุพระองค์ใดเจ็บไข้ได้ป่วย ท่านบอกว่า เว้นไว้แต่หลวงปู่มั่นเจ็บไข้ได้ป่วย เว้นไว้แต่พระในวัดมีปัญหา แต่สำหรับเรื่องของตัวเองไม่มี ตลอดรุ่ง
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราจะไปปฏิบัติกัน นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ ถ้ามันยังไม่ได้นะ มันยังติดอะไรนะ ก็เว้นไว้ตรงนั้นน่ะ ตรงนั้นเว้นไว้ก่อน ถ้าถึงตรงนั้นยอมมัน แล้วพอมันชำนาญขึ้น ไอ้ที่เว้นไว้ก็ยกเลิกๆๆ คือเราต้องพัฒนาขึ้น เราปฏิบัติเราต้องดีขึ้นเรื่อยๆ ไง ถึงตรงนั้นเราก็ไม่เว้นเลย เอาถึงที่สุด
นี่พูดถึงว่า ถ้าหลวงตาท่านนั่งสมาธิ ท่านเปลี่ยนท่าหรือไม่
ไม่ ท่านไม่เปลี่ยนท่าเลย ฉะนั้น พอท่านไม่เปลี่ยนท่าเลย ท่านถึงบอกว่ามันทุกข์ทรมานมาก ทีนี้เวลาเราปฏิบัติเราบอกว่าปฏิบัติแล้วจะมีความสุขไง เวลาหลวงตาท่านปฏิบัติแล้วท่านเป็นพระอรหันต์ไง แต่เวลาท่านนั่งตลอดรุ่งใหม่ๆ ท่านบอกว่ามันทุกข์ทรมานมาก เพราะมันทุกข์ทรมานมาก ท่านเปรียบเหมือนว่าท่านนั่งอยู่นี่แล้วมีคนเอาฟืนมาพาดใส่ตัวท่านแล้วจุดไฟขึ้น ร้อนเหมือนกับนั่งท่ามกลางกองไฟ กองไฟที่เขาเอามาพาดน่ะ ฟืนเอามาพาดใส่เราน่ะ เหมือนเผาศพเป็นๆ แล้วมันจุดไฟขึ้น มันจะทรมานแค่ไหน ท่านเปรียบเทียบถึงความทรมานของท่านนะ
แต่ตอนที่ทรมานนั้น นี่ท่านเปรียบเทียบถึง เพราะท่านไม่ใช่คนตาย ท่านคนเป็น ท่านก็รู้สึก เพราะท่านนั่งสมาธิมันเป็นสัมมาสมาธิ เพราะมันมีสติมีปัญญา มันรับรู้ได้ตลอดเวลา เวลามันทุกข์มันยาก ท่านบอกเลยนะ เหมือนเอาท่อนฟืนมากองสุมใส่ตัวท่านแล้วจุดไฟเผาทั้งเป็นน่ะ
แต่ท่านก็ใช้สัจจะของท่าน อะไรตาย ดูก่อน ถ้ามันจะตายถึงที่สุด ถ้ามันเผาแล้วมันก็ต้องตายถึงที่สุด ท่านก็พิจารณาด้วยปัญญาของท่านแยกแยะของท่าน พอแยกแยะไปมันเริ่มเบาลงๆ จนถึงที่สุด ปล่อยหมด เวิ้งว้างหมด ว่างไปหมด หลุดพ้นไปหมด นี่เวลาปัญญามันเกิด เวลาวิปัสสนาญาณมันเกิด
แต่ก่อนที่วิปัสสนาญาณมันจะเกิด ทุกข์มันเกิด ท่านบอกทุกข์ทรมานมาก อันนี้ท่านเอามาเน้นย้ำเวลาท่านเทศน์สอนพวกเรา ท่านเอามาเน้นย้ำไงว่า เราไปเจอกับความจริง เวลามันทุกข์ มันทุกข์ขนาดนั้นน่ะ แต่ถ้ามีสติปัญญาแยกแยะได้ขนาดนั้นน่ะ มันก็ปล่อยวางได้จริงๆ น่ะ โดยข้อเท็จจริงเวลามันทุกข์ มันทุกข์อยู่บนหัวใจนี้ เวลามันหลุด มันก็หลุดพ้นที่หัวใจนี้ มันมีความสุขที่หัวใจนี้ ท่านทำได้ตามความเป็นจริงอย่างนั้น นี่พูดถึงว่าถ้ามันเป็นความจริงมันเป็นแบบนี้
ฉะนั้น จะบอกว่าทุกข์ๆ ท่านบอกเลยว่าท่านทุกข์ทรมานมาก แต่ด้วยขันติธรรม ทนเอานี่เป็นขันติธรรมนะ แล้วถ้าเกิดสติปัญญาขึ้นมาแยกแยะขึ้นมา นี่เป็นวิปัสสนา แล้วถึงที่สุดท่านเป็นพระอรหันต์
พระองค์ที่คุยกับโยมเขาเป็นอะไร พระที่คุยกับโยมเขาเป็นอะไร แต่หลวงตาเราท่านทำมาแล้วท่านเป็นพระอรหันต์
ขณะท่านมีชีวิตอยู่ โกนผมมา ตอนเราอยู่กับท่านน่ะ เกสาของท่าน พระเก็บกันไว้เป็นขดเป็นด้วงแก้วใสหมดก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต ของท่านน่ะ เกสาของท่านเป็นพระธาตุตั้งแต่ท่านยังดำรงชีวิตอยู่ อย่าว่าแต่ว่าท่านเสียชีวิตแล้วเผาเลย ท่านมีชีวิตอยู่ เกสาของท่าน พระที่เก็บไว้ เราก็เก็บไว้ เราก็ได้มา ขดเป็นตัวด้วง ขดเป็นใสหมดเลย เราก็มี ฉะนั้น เวลาท่านดำรงชีพอยู่ พวกเราถึงเชื่อว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ใครจะใส่ความ ใครจะใส่ไคล้ นั่นมันเป็นสิทธิ์ มันเป็นสิทธิ์ของเขา เราไม่มีความสามารถจะไปโน้มน้าวใครได้ แต่เราเก็บเกสาของท่านไว้ เราฟังเทศน์ท่าน เราเชื่อท่าน
นี่เพื่อจะมาปลดที่ว่ามันค้างคาใจไง ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลาโยมจะนั่ง ถ้าแบบว่ามันจะเป็นอัมพาตมันจะเป็นอัมพฤกษ์ โยมจะลุกนั่งบ้างก็ได้ โยมจะเปลี่ยนท่าก็ได้ ไม่เป็นไร สู้มันไปเรื่อยๆ ไง แต่ของหลวงตาท่านนั่งท่าเดียว
จะเชื่อพระองค์นั้นบอกว่าเป็นฆราวาสต้องนั่งแบบฆราวาส ไม่ต้องนั่งแบบพระ หรือจะเชื่อหลวงตาเพราะท่านเป็นพระอรหันต์ แล้วแต่โยมจะเชื่อ นี่พูดถึงปมที่ค้างคาใจเนาะ จบ
ถาม : เรื่อง “เวทนา”
ก่อนอื่นผมขอกราบขอบพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างยิ่งที่เมตตาตอบคำถามของผม หลังจากที่ได้ฟังหลวงพ่อตอบคำถามแล้วผมก็ภาวนาต่อไป ทุกครั้งที่ภาวนาผมจะฟังเทศน์ของหลวงพ่อพร้อมภาวนาไปด้วย รู้สึกเหมือนกิเลสมันโดนหลวงพ่อกระแทกทุกครั้ง
หลังจากนั้นผมก็ภาวนาอานาปานสติ กำหนดลมหายใจต่อไปสักพักจนรู้สึกว่าได้ยินเสียงลมหายใจดังซูดซาดเป็นเส้นๆ กายกับจิตนี้คนละส่วนเลย จิตนี้ไปจ่ออยู่แต่กับลม กายที่ตั้งไว้เฉยๆ ผมก็จดจ่ออยู่กับลมไปเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าจิตสงบ สักพักมันก็เกิดอาการเจ็บปวดเท้า นั่งสมาธิเจ็บมากขึ้นเรื่อยๆ ผมก็ตามดูตลอด แต่ผมไม่ทิ้งลมหายใจ คือพยายามพิจารณาความเจ็บนั้นไปด้วย พิจารณาไปก็กลับมาดูลมเหมือนเดิม พิจารณาว่า มึงก็โง่ มึงไปยุ่งกับมันทำไม พอพิจารณาอย่างนี้ซ้ำๆ สักพัก มันก็ค่อยๆ หายไปจนรู้สึกไม่เจ็บอีก
จากนั้นผมก็พักในสมาธิแล้วก็ดูลมหายใจตลอด พอพักได้สักพักก็กลับมาพิจารณาอาการนั้นอีก แต่มันไม่เกิด แต่ผมรู้สึกได้ว่ามันยังมีอยู่ แต่ก็ไม่เกิด หลังจากนั้นผมก็ออกจากสมาธิและนอนหลับพักผ่อน พอเอนกายลงนอน ผมรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา สติจดจ่ออยู่กับลมตลอดเวลาจนหลับไป
หลวงพ่อครับ ผมอยากให้หลวงพ่ออธิบายอาการที่เกิดขึ้นกับผมหน่อยครับว่าควรภาวนาอย่างไรต่อไปดีครับ
ตอบ : ควรภาวนาต่อไป การภาวนาของเรานะ เราก็ต้องพยายามทำความสงบของใจ ทำไมถึงบอกว่าต้องทำความสงบของใจ ทำความสงบของใจคือว่าให้จิตใจเข้มแข็ง ให้จิตใจมีสมาธิ ถ้าจิตใจเข้มแข็ง จิตใจมีสมาธิ กลับไปทำสิ่งใดมันก็ได้ประโยชน์
เหมือนนักกีฬา นักกีฬาทุกๆ คนเขาต้องรักษาความฟิตของร่างกายตลอดเวลา นักกีฬาทุกประเภทเลย เขาต้องออกกำลังกายเพื่อร่างกายเขาฟิต แล้วเขาฝึกทักษะเทคนิคต่างๆ มันไปฝึกเอาทีหลัง แต่เวลาที่เขาจะต้องดูแลร่างกายเขา เขาต้องฟื้นฟูร่างกายเขาให้แข็งแรงอยู่ตลอดเวลา นี้คือนักกีฬา
นักปฏิบัติ นักปฏิบัติเราพยายามทำความสงบของใจ ทำความสงบของใจให้จิตใจเรามั่นคง จิตใจเราเข้มแข็ง
ถ้าจิตใจเราไม่มั่นคง จิตใจเราไม่เข้มแข็งนะ มันจะมีข้ออ้าง นู่นก็เอาไว้ก่อน พรุ่งนี้ค่อยภาวนา เรางานเยอะ โอ๋ย! เราธุระมาก มันผัดวันประกันพรุ่งไปทั้งนั้นน่ะ ถ้าลองจิตใจอ่อนแอนะ ไอ้คำต่อรองมันจะโถมเข้ามาเลยทุกเรื่อง
แต่ถ้าเรามีสติปัญญานะ เราทำใจของเราเข้มแข็ง เราทำใจนะ เรารักษาใจของเราให้เข้มแข็งไว้ ถ้ารักษาใจให้เข้มแข็งไว้ ไอ้ที่ว่ามันต่อรองๆ มันต่อรองไม่ได้หรอก มันจะต่อเรื่องอะไร ก็ทำหมดแล้ว อ้าว! ก็ทำเสร็จแล้วมันถึงภาวนา ก็ทำทุกอย่างพร้อมแล้วถึงได้ภาวนา เราทำงานเรา เราทำงานทุกอย่างเสร็จแล้วเราถึงมาภาวนา เราภาวนาเราก็ภาวนาของเราไปไง
ฉะนั้นบอกว่า เริ่มต้นจะให้ทำอย่างใดต่อไปไง จะให้ทำอย่างใดต่อไป
เราก็พยายามทำความสงบของใจเราเข้ามา ถ้าใจสงบแล้วก็ฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดของเราๆ ถ้าการฝึกหัดของเรา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า บริษัท ๔ เราจะพ้นทุกข์ด้วยความเพียร
การพ้นทุกข์ด้วยความเพียร สิ่งที่เราต้องการที่สุดคือปัญญา ถ้าเรามีสติ เรามีสมาธิ มันแก้กิเลสไม่ได้ สติ สมาธิมันเป็นพื้นฐาน มันเป็นรากฐานของหัวใจของเรา แต่เวลาจะแก้กิเลส แก้กิเลสมันแก้ด้วยปัญญา แต่ถ้าไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ปัญญาอะไร ทรงจำธรรมพระพุทธเจ้าทั้งนั้นน่ะ ทรงจำๆ คือจำเขามาทั้งนั้นน่ะ มันไม่เกิดความจริงของเราหรอก
ถ้ามันเกิดความจริงของเรา อาการที่มันจะเกิดความจริงของเรา เหมือนคำถามนี้ คำถามเขาบอกว่าเขาภาวนามาตลอดเลย มันเจ็บมันทุกข์มันยากมาตลอด แต่เวลาเขากำหนดลมหายใจของเขา ถ้าใจเขาสงบเข้ามาแล้วเขาพิจารณาของเขาเข้ามาเรื่อยๆ เวลาปัญญามันเกิดไง ปัญญามันเกิดขึ้นมานะ ก็มึงโง่ มึงไปยุ่งกับมันทำไม เวลาปัญญามันเกิด เวลาปัญญามันเตือนทีเดียวเท่านั้นน่ะ เขาบอกเลยนะ พอบอกว่า ก็มึงมันโง่ มึงไปยุ่งกับมันๆ
ยุ่งกับใครล่ะ ไปยุ่งกับใคร เรานั่งอยู่คนเดียวไปยุ่งกับใคร เราไม่ยุ่งกับใครเลย แต่เวลาจิตมันสงบของมัน จิตมันไปเกาะเกี่ยวกับเวทนา ที่ว่ามันเจ็บมันปวดมันเพราะอะไรล่ะ เพราะจิตมันไปเกาะไปเกี่ยวกับเขา
นี่ไง เวลาเขามีสมาธิขึ้นมา พอจิตเขาดูลมหายใจของเขา พอดูลมหายใจของเขาแล้วมันสงบระงับเข้ามา มันมีสติ เวลามันเตือนตัวเองขึ้นมา เวลาปัญญามันเกิดนะ ก็มึงมันโง่ มึงคืออะไร ก็จิตใจ ก็จิตมันโง่ แต่ไม่มีปัญญา
แต่เวลาปัญญามันเกิดนะ พอสติมันทันนะ “ก็มึงมันโง่ แล้วมึงไปยุ่งกับมันทำไม” โธ่! อาย อาย อายเลย อายมากเลย ก็คิดว่าตัวเองฉลาด คิดว่าตัวเองเก่ง เวลาปัญญามันเตือน ปัญญามันเกิดไง “ก็มึงมันโง่ มึงไปยุ่งกับเขาเอง” โอ้โฮ! มันอายนะ มันหดเข้ามาเลยนะ ปวดหายหมดเลย นี่ไง เวลาปัญญามันเกิด เกิดจากอะไร เกิดจากเขาดูลมหายใจเข้าออก
เขาดูลมหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้าออก มันเจ็บมันปวดไปทั้งนั้นน่ะ โอ้โฮ! มันปวดมาก มันปวด แต่เวลาจิตมันสงบเข้ามามันเบาบางเข้ามา ทีนี้พอเบาบางเข้ามา พอมันจะเกิดปัญญา ไอ้ที่ว่า “ก็มึงมันโง่ มึงไปยุ่งกับเขาเอง” นี่เตือนตัวเอง
แล้วอตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ครูบาอาจารย์ท่านเตือนมาตลอด ฟังเทศน์มาทุกวัน มันฟังเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาไง แต่เวลามันเกิดจากจิต เห็นไหม “ก็มึงมันโง่” โอ้โฮ! ทิ่มเข้าไปกลางหัวใจเลย
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เวลามันเกิด มันเกิดจากเราเลย ปัญญามันเกิดกลางหัวใจเลย “ก็มึงมันโง่” เออ! ใช่ ก็โง่จริงๆ “แล้วมึงไปยุ่งกับเขาเอง” ก็ใช่ ก็ไปยุ่งกับเขาจริงๆ นี่มันปล่อยทันที พอมันปล่อยทันที เขาบอกว่า ว่างหมดเลย ความเจ็บไม่มีอีกเลย แล้วเขาก็อยากเป็นอย่างนี้อีกนะ แล้วหาไปแล้วก็ไม่ได้
ไม่ได้หรอก มันเกิดเป็นปัจจุบัน เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา มันต้องมีพื้นฐานมีรากฐานมา เวลาเกิดปัญญา ปัญญาเกิดเป็นปัจจุบันแล้วก็ผ่านไปแล้ว แล้วเวลาจะไปคิดอีกนะ มันเป็นสัญญาแล้ว ทรงจำมา จำของตัวเองมาแท้ๆ เลย
เวลาเกิดเป็นปัจจุบันน่ะเกิดจริงๆ แต่พอเป็นอดีตไปแล้ว ไปคิดอีกมันเป็นสัญญาแล้ว มันไม่เป็นปัจจุบันแล้ว เขาบอกว่า พอไปคิดอีกมันไม่เห็นมี ไม่เห็นมันเกิดเลย
จะมี มีก็ต้องทำความสงบของใจไง มีก็ต้องฝึกหัดสมาธิไง แล้วฝึกหัดใช้ปัญญา เวลาปัญญามันเกิดมันจะเกิดเป็นปัจจุบัน มันไม่เกิดอย่างนั้นหรอก ถ้ามันไม่เกิดอย่างนั้น
ฉะนั้น เวลามันจะเจ็บมันจะปวด มันเจ็บปวดที่ใจ เจ็บปวดที่ใจ เวลาไปแก้ ไปแก้กันที่ใจ เพราะใจมันโง่ ใจมันโง่ มันไปยึดไปถือเองน่ะ
เล่นไพ่กันแปดวันแปดคืนมันไม่เจ็บไม่ปวดเลย เพราะใจมันไปสนใจอยู่กับไพ่ แต่ถ้าเรานั่งดูทีวีกันทั้งวันก็นั่งดูได้ นั่งสมาธิชั่วโมงไม่ได้ ไม่ได้เพราะใจไปยึดไปมั่น ใจมันโง่ ถ้าใจมันเผลอ มันไปดูทีวี มันไปเล่นการพนัน มันนั่งทั้งวันไม่เจ็บไม่ปวดนะ ลองให้มันนั่งเฉยๆ สิ เกือบตาย เพราะใจมันโง่ มันไปยึด แต่เวลาไปเล่นการพนัน เวลาไปดูทีวี มันไม่โง่หรอก มันไปตามกิเลส มันไปตามตัณหาความทะยานอยาก มันอยากได้ อยากชนะ อยากกำไร มันอยากอันนู้นไง มันเลยลืมอันนี้ไป
แต่เวลาเราปฏิบัติ เราจะเอาความเป็นจริงในใจของเรา มันก็ยังโง่ไปเจ็บไปปวดหมด ทั้งๆ ที่ธรรมะพระพุทธเจ้ารู้หมด ทุกอย่างรู้หมด ทรงจำแม่นมากแต่ไม่เกิดผลจริง เวลาเราใช้สมาธิ เรามีสติมีปัญญาขึ้นมา เวลาเข้าเป็นตัวจริง เวลามันเกิดในปัจจุบัน เกิดในจิตนั่นน่ะ “มึงมันโง่” นั่นล่ะปัญญาแท้ๆ แล้วมันคลายตัวออกหมดแล้วมันก็เป็นอย่างนี้ เสร็จแล้วก็ต้องฝึกหัดซ้ำอย่างนี้ เกิดบ่อยๆ ชำนาญในวสี บ่อยๆ ชำนาญในความชำนาญของเรา แล้วมันจะแก้ไขแบบนี้
นี่เขาถามว่า ให้หลวงพ่ออธิบายว่า ที่มันเกิดขึ้นมันคืออะไร จบ
ถาม : เรื่อง “พระฉันนม”
เรียนถามหลวงพ่อเรื่องพระฉันนมในเวลาหลังเที่ยงครับ กระผมเคยอ่านพบในพระไตรปิฎกและหนังสือบุพพสิกขาวรรณนาเรื่องพระพุทธเจ้าอนุญาตเภสัชแก่ภิกษุคือโคนม
เนื่องจากอินเดียมีโคเป็นจำนวนมาก กระผมเข้าใจว่า นมโคหมายถึงนมโคแท้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ พระสามารถฉันได้ อย่างในประเทศไทยก็มีนมโคแท้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ของเดนมาร์ก และนมโค ๙๘ เปอร์เซ็นต์ น้ำตาล ๒ เปอร์เซ็นต์ ก็น่าจะฉันได้ ส่วนนมที่มีส่วนผสมของแป้งและธัญพืช พระฉันไม่ได้ในเวลาวิกาล ขอหลวงพ่อเมตตาช่วยอธิบายพระฉันนมโคแท้ได้หรือไม่ในเวลาวิกาล
ตอบ : เวลาพูดนี่นะ เราเป็นพระสงบ แล้วเราพูดกับพระสงบ โอ้โฮ! ชัดเจน พูดง่ายๆ เพราะมันมีความเห็น แล้วมันพูดโดยที่จิตใจที่เป็นธรรม จิตใจที่ศึกษาค้นคว้าธรรมวินัยตามข้อเท็จจริง แต่ถ้าพระสงบพูดกับพระทั่วๆ ไปนี่พูดยาก เพราะพระทั่วๆ ไปมันมีอำนาจวาสนาของคน อำนาจวาสนาบารมีสูงต่ำแตกต่างกันไปไง มันแตกต่างกันไป ดูสังคมเราสิ เห็นไหม ฉะนั้น ถ้าพระสงบพูดกับพระสงบนี่ง่ายๆ
ไม่ได้ นมโคฉันไม่ได้ในเวลาวิกาลนะ ฉันได้ในตอนเช้าเพราะถือว่าเป็นอาหารไง ถ้าตอนเช้าฉันได้ แต่ถ้าวิกาลไปแล้ว นมโค สิ่งใดที่เลี้ยงทารกได้ สิ่งนั้นคืออาหาร ภิกษุฉันอาหารหลังวิกาลไม่ได้ นมโคนี้มันเป็นอาหารเลี้ยงทารกอยู่แล้ว นมโค นมๆ นมไม่ได้ นมเป็นอาหาร ฉันได้ตอนเช้า
แต่ที่ว่า พระพุทธเจ้าอนุญาตเภสัช เภสัชคือเนย เนยใส เนยข้น เนยใส เนยข้นเกิดจากนม นมขึ้นมา เราเอานมมาหมักแล้วเราทำเป็นเนย เนย เนยใส เนยข้น นั่นเป็นเภสัช แต่นมเป็นอาหาร ไม่เป็นเภสัช แล้วจะเป็นบุพพสิกขา จะเป็นพระพุทธเจ้า ไม่อนุญาต ถ้าไม่อนุญาต นี่ถ้าพระสงบพูดกับพระสงบเป็นอย่างนี้ ไม่อนุญาต เพราะนมมันก็คือนม นมคือนม
แต่ในบุพพสิกขา ผู้ถามกลับไปอ่านใหม่เนาะ ไปอ่านใหม่ว่า บุพพสิกขาเขาอนุญาตอะไร เขาอนุญาตเนยใส เนยข้นนะ ถ้าเนยมันเป็นเภสัช แต่ถ้านมไม่ใช่เด็ดขาด
แต่ทีนี้พอบอกว่าฉันไม่ได้ๆ ถ้าพระโดยทั่วไปเขาฉันกันเป็นพื้นเพเป็นธรรมดา อันนี้เพราะว่าเป็นวัฒนธรรม พระในประเทศไทย แม้แต่ในพม่าเขาฉันหรือเปล่าอันนี้ไม่ยืนยัน แต่โดยทั่วไปนะ ถ้าเขาศึกษาบาลีมาด้วยกัน ไม่ได้ ถ้าไม่ได้ก็คือไม่ได้
แต่ในประเทศไทยมันได้เพราะอะไร ได้เพราะว่าการบังคับใช้ธรรมวินัยมันอ่อนแอ มันอนุโลมกันมาเป็นชั้นๆ มา ห่วง ห่วงว่ากุลบุตรกุลธิดาจะลำบาก บวชแล้วจะอยู่ไม่ได้ บวชแล้วจะหิว ผ่อนผันให้ ผ่อนผันให้กุลบุตรกุลธิดาเพื่อความเจริญงอกงามของศาสนา นี่โดยทั่วไปเขาคิดกันอย่างนี้ไง เขาบอกของเล็กน้อยเพื่อความสะดวก
แต่เวลาหลวงตาท่านพูดนะ “เหยียบหัวพระพุทธเจ้าแล้วแสดงธรรม” สะเทือนใจมาก เหยียบหัวพระพุทธเจ้า ธรรมและวินัยนี้เป็นศาสดาของเธอ ธรรมและวินัยนี้เป็นพระพุทธเจ้า ธรรมและวินัยนี้เป็นศาสดาของเธอ เวลาหลวงตาท่านพูดไง “เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไป แล้วแสดงธรรม”
เห็นแก่กุลบุตรกุลธิดา เหยียบย่ำธรรมวินัยนั้นไป มันมีอยู่ชัดๆ อยู่ในบาลี อยู่ในพระไตรปิฎก ชัดๆ การจะผ่อนผันการจะอนุโลมเป็นการผ่อนผันการอนุโลมกันโดยสงฆ์ในประเทศไทย เพราะสงฆ์ในประเทศไทยมีผู้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาจากเถรสมาคมเขาอนุญาตกันเป็นชั้นๆ เว้นไว้แต่ธรรมยุต เว้นไว้แต่ครูบาอาจารย์ของเรา
อันนี้ขอพูดเพียงเท่านี้ ถ้าพูดมากไปแล้วเดี๋ยวพระสงบไม่มีที่อยู่ พระสงบยังอยากอยู่ในประเทศไทย ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวพระสงบจะไม่มีที่อยู่เนาะ
ฉะนั้น สิ่งที่ว่า ไอ้ที่ว่านมแท้ๆ ก็ไม่ได้อยู่แล้ว แต่คำถามว่า ส่วนนมที่มีส่วนผสมของแป้ง มีส่วนผสมของธัญพืช
เวลาเราบอกว่าแป้ง แป้งมาจากข้าว ธัญพืช ธัญพืชก็เป็นอาหาร เวลาบอกมีส่วนผสมของแป้ง ส่วนผสมของธัญพืช เราเข้าใจได้เลยว่ามันเป็นอาหาร ถ้ามันมีส่วนผสมของแป้ง ส่วนผสมของธัญพืช ฉันไม่ได้ ฉะนั้น “พระฉันไม่ได้ในเวลาวิกาล ขอเมตตาหลวงพ่ออธิบายด้วย”
ซื่อสัตย์ แปลบาลีเขามา พระไตรปิฎกฉบับประชาชนก็ได้ ไม่ต้องไปอ่านอะไรลึกลับซับซ้อนหรอก พระไตรปิฎกฉบับประชาชนน่ะ อ่านตามนั้นแล้วตีความตามนั้นนะ โดยความซื่อตรงนะ จบ ไม่มีอะไรพิสดารเลย
แต่ด้วยที่ว่า โดยทั่วๆ ไป ด้วยความเมตตากุลบุตรกุลธิดาจะไม่สามารถอยู่ในศาสนาได้ จะไม่มีใครเชิดชูค้ำจุนศาสนา ก็อนุโลมๆ นี่ความเห็นอนุโลม
แต่เวลาอย่างพวกเรา เราต้องการธรรมนะ เราต้องการประพฤติปฏิบัติ ต้องการศีล ต้องการสมาธิ ต้องการปัญญา ต้องการความจริงของเรา
อันนี้ตอบเป็นเพราะว่ามันมีปัญหามาเฉยๆ เนาะ แต่ถ้ามันไม่มีปัญหามาหรือมีปัญหาแล้ว เราเองเราไม่อยากชักจูงพระสงบเข้าไปเผชิญกับกระแสสังคม พระสงบมีสตินะ พระสงบไม่อยากจะชักนำพระสงบเข้าไปขัดแย้งกับสังคมเท่าไร แต่ถ้าจะพูดก็พูดเฉพาะปัญหา พูดเฉพาะเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้ถาม เป็นประโยชน์กับสังคมไง
ธรรมวินัยเป็นอย่างนี้ จริงๆ แล้วพระสงบไม่อยากจะดึงพระสงบเข้าไปขัดแย้งกับใครทั้งสิ้น แต่เป็นเพราะคำถามเนาะ ตอบพอเป็นกษัยยาเท่านั้นเนาะ เอวัง