ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เป็นคนดี

๒๖ พ.ย. ๒๕๕๙

เป็นคนดี

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : เรื่อง “ทำอย่างไร

นมัสการหลวงพ่อที่เคารพ ขอโอกาสสอบถามปัญหาการปฏิบัติ จึงขอเมตตาหลวงพ่อช่วยตอบคำถามให้กระผมด้วย

กระผมภาวนามานานพอสมควรแล้ว แต่ผลของการปฏิบัติยังไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าใดนัก อาจจะด้วยอาศัยปัจจัยแวดล้อมทางโลกจึงไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร แต่ก็ได้พยายามตลอดมา ขออธิบายดังนี้ครับ

กระผมภาวนาเอาอานาปานสติเป็นหลักในการภาวนาเพราะถูกจริตนิสัยกันดี พร้อมพุทโธแนบกัน จนวันหนึ่งประมาณปี ๒๕๕๑ ขณะนั่งจ้องมองการทำงานอย่างหนึ่ง จิตเกิดวูบลงกลางอกด้านซ้าย สว่างจ้าอยู่อย่างนั้นประมาณห้านาที จิตก็ถอนออกมา เย็นจิตเย็นใจอย่างบอกไม่ถูก เหมือนกับเอาน้ำเย็นๆ มารดอยู่กลางอกตลอดเวลา รู้ลมเข้าออกเป็นอัตโนมัติ เป็นอย่างนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน กระผมก็เลยเอาจิตตามดูลมนี้ตลอด ก็มีเผลอที่ไปคิดหรือเผลอที่สติจะตามดูลมบ้าง นานๆ เข้ารู้สึกแน่นหนาขึ้นเรื่อยๆ จนจิตเห็นความคิดปรุง รู้ตามทันความคิดบ้าง พอรู้ปั๊บก็นำมาพิจารณาลงในไตรลักษณ์ว่า ไม่เที่ยง ไม่มีประโยชน์ เกิดดับๆ มันก็เป็นอย่างนี้เอง แต่นานๆ เข้าถ้าวันไหนที่ไม่ได้ทำสมาธิ รู้สึกวันนั้นความคิดความปรุงมันเยอะ แต่ก็ยังตามดูเผลอดูบ้างก็มี เป็นแบบนี้มานาน ไม่รุดหน้าบ้างเลย ขึ้นๆ ลงๆ บ้าง อยากให้หลวงพ่อช่วยชี้แนะหน่อยครับ

เกิดเหตุการณ์ครั้งหนึ่งว่า ผมไม่ได้ทำสมาธินาน สมาธิมันคลาย คือจะกำหนดอย่างไรมันไม่เป็นเหมือนเก่า คือไม่ยอมลงให้ ซึ่งขณะนั้นรู้เลยว่าสมาธิเริ่มคลาย แต่ว่าวันไหนไม่ได้ทำสมาธิ ก่อนนอนก็จะฟังคำเทศน์ของครูบาอาจารย์ เช่น หลวงพ่อ หลวงปู่มหาบัว หลวงปู่เหรียญ หลวงปู่ศรี ทำแบบนี้ตลอดมา รู้สึกเย็นจิตเย็นใจดี สมาธิก็เริ่มกลับมา ทำแบบนี้โดยไม่ได้นั่งสมาธิ เพราะว่าธุระการงานมากระทบ ขอหลวงพ่อช่วยเพิ่มเติมว่าควรทำอย่างใดดีครับ

ด้วยหน้าที่การงานกระทบคือการรักษาศีล เพราะเผลอทำผิด พูดผิดบ้าง ทีนี้ต้องสมาทานงดเว้นตลอด ในการรักษาให้ไม่ด่างพร้อยเลยซึ่งถือว่าทำยากอยู่มาก หากศีลด่างพร้อย สมาธิวันนั้นก็ไม่ลงอยู่ดี ขอโอกาสหลวงพ่อช่วยชี้แนะด้วย อุบายที่จะให้ได้รักษาคือให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ

ตอบ : นี่พูดถึงว่า ผู้ที่ภาวนาเนาะ การภาวนาเริ่มต้นของเรา นี่พูดถึงเวลาภาวนาไปแล้ว ผมภาวนามาตลอดประมาณห้าปี เขาภาวนาตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ สี่ปีห้าปีภาวนามาตลอด แล้วมันเจริญรุ่งเรืองตรงไหน

คำว่า “เจริญรุ่งเรือง” นะ เวลาในหลวงท่านเตือนสติไง ท่านเตือนสติบอกว่าต้องทำคุณงามความดี ถ้าไม่ทำคุณงามความดี จิตใจมันก็จะไปทำชั่ว” นี่ไง ที่ว่าเราต้องทำคุณงามความดีๆ ไง

นี่ก็เหมือนกัน ที่เราจะประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติแล้วเราสี่ปีห้าปีแล้วมันจะไปไหน มันจะเป็นอย่างไรไง ทำอย่างไรๆ

ก็ทำให้เป็นคนดีไง ถ้าทำให้เป็นคนดี เพราะทำให้เป็นคนดีนี่ก็คือการทำแล้ว คือการทำแล้ว คือการที่เรามีสติมีปัญญา เรามีสติปัญญา เราเกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์มีสมอง มนุษย์ต้องมีศีลมีธรรม ถ้ามีศีลมีธรรม มนุษย์ต่างจากสัตว์ก็เพราะมีศีลมีธรรม

เวลาถ้าเป็นสัตว์ สัตว์มันไม่มีศีลไม่มีธรรมของมันนะ สัตว์มันรักฝูงรักพวกของมัน แต่ถึงเวลามันเป็นสัตว์นะ มันไม่ไว้หน้าใครทั้งสิ้นเพราะมันเป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่เราเป็นมนุษย์ มนุษย์ต่างจากสัตว์เพราะมีศีลมีธรรม ถ้ามนุษย์ต่างจากสัตว์เพราะมีศีลมีธรรม เรามีศีลมีธรรมด้วย เห็นไหม

ดูสิ เวลาเราเกิดเป็นมนุษย์ คนที่เป็นมนุษย์ที่เขานับถือพระพุทธศาสนาในทะเบียนบ้าน คนที่เกิดมานับถือพระพุทธศาสนาแต่ที่ทะเบียนบ้าน เขาก็สักแต่ว่าเป็นมนุษย์ไง เขาเป็นมนุษย์แต่เขาไม่ทำอะไรสิ่งที่ความเป็นมนุษย์เลย

แต่เราเป็นมนุษย์ เราเป็นมนุษย์แต่เรามีศรัทธามีความเชื่อแล้วเราจะประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติของเรา หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ สัตว์ประเสริฐ สัตว์อาชาไนย สัตว์ประเสริฐ สัตว์อาชาไนยเขาเลือกอาหารของเขา เขาเลือกสถานที่ของเขา

นี่ก็เหมือนกัน โลก โลกเขาแสวงหา แสวงหาปัจจัยเครื่องอาศัยกัน โลกเขาแสวงหาสิ่งนั้น แสวงหาสิ่งนั้นเพราะอะไร เพราะเขาคิดว่าสิ่งนั้นจะเป็นความสุข เขาคิดว่าสิ่งนั้นจะเป็นสมบัติของเขา

แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมบัติโลก สมบัติโลกเป็นสมบัติสาธารณะ เวลาเงินน่ะ เงิน ดูสิ รัฐบาลตราเงินตราออกมา พอตราเงินตราออกมา ใครทำงานสิ้นเดือนรับเงินเดือน ใครทำธุรกิจการค้าเขาได้ผลตอบแทน เห็นไหม ก็เงินตราเป็นของชาติ แล้วใครมีอำนาจวาสนาขึ้นมา

พูดถึงเป็นธรรมาภิบาลนะ ทำด้วยความถูกต้องดีงามนะ ขนาดทำโดยถูกต้องดีงาม สมบัตินี้เป็นสมบัติสาธารณะ ใครมีสติมีปัญญาแสวงหามาเพื่อเป็นของตน มาเพื่อเป็นของตน มาเพื่อจับจ่ายใช้สอยในชีวิตของตน

แต่ใครถ้ามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากมาก ใครที่มีกิเลสปิดหูบังตามาก เขาทำทุจริตๆ สิ่งนั้นเขาก็หามาเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเหมือนกันแต่เขาได้บาปได้อกุศลนะ เขาได้บาปอกุศล ผลของมันคือบาปอกุศล คือตกนรกอเวจี คือทำความผิดพลาด ทำผิดตลอดมา

แต่ถ้าคนที่ทำถูกต้องดีงามมีศีลมีธรรมเขาก็แสวงหาสมบัติของเขา เขาแสวงหาสมบัติของเขาด้วยความสุจริต ด้วยความสุจริต มันยังเป็นสมบัติสาธารณะเลย สมบัติสาธารณะตรงไหน ตรงที่เราไม่พลัดพรากจากเขา เขาก็พลัดพรากจากเรา ของนี่ต้องพลัดพรากจากเราเพราะเราใช้สอยของเราไปตลอด ถึงเวลาเราสิ้นชีวิตไป เราต้องพลัดพรากไปจากเขา มันเป็นของเราที่ไหน มันไม่มีอะไรเป็นของเราเลย แต่ของของเราคือบาปคือบุญ ความดีความชั่วเป็นของของเรา เห็นไหม

ดูสิ เราใช้ชีวิตของเราโดยปกติของเรา เราแสวงหาด้วยความสุจริต สิ่งที่แสวงหาด้วยความเป็นสุจริต เราทำเพื่อประโยชน์ๆ นี่บุญกับบาปๆ สิ่งนี้เป็นสมบัติสาธารณะ แต่ด้วยจิตใจด้วยมีศีลมีธรรมไง ถ้าด้วยมีศีลมีธรรมปั๊บ คนที่มันจะเจริญงอกงามขึ้นๆ เห็นไหม คนที่สว่างมาสว่างไป

คนที่สว่างมาแล้วมืดไป เกิดมานี่สว่าง เกิดมานี่มีศรัทธามีความเชื่อ แต่มาท้อแท้น้อยเนื้อต่ำใจ จะปฏิบัติขึ้นมาก็บอกว่าล้มลุกคลุกคลาน ปฏิบัติแล้วก็ไม่ได้สิ่งใด เลิกไปเลย พอเลิกไปเลย บางคนเลิกแล้วไม่เท่าไรนะ ยังกลับมาติ แหมเสียเวลาตั้งนาน รู้อย่างนี้ไม่มาตั้งแต่ทีแรก สว่างมามันจะมืดไปน่ะ

แต่ถ้าคนมืดมา เริ่มต้นมาทุกข์มายาก มาโดยไม่มีความเชื่อถือศรัทธาสิ่งใดเลย แต่มาประพฤติปฏิบัติขึ้นไปแล้วจิตมันสว่างโพลง มันมีความสุขของมัน นี่มืดมาสว่างไป นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีศีลมีธรรมของเรา เห็นไหม

นี่เขาถามว่า ที่ทำๆ มา ทำมาเพื่ออะไร

ทำมาเพื่อเป็นคนดีไง เพื่อเป็นคนดี ถ้าเป็นคนดี ความดีอันนั้นน่ะ ความดีอันนั้นเป็นหนทาง มัคโคๆ ทางอันเอก ทางอันเอก มรรคสามัคคี มรรคสามัคคี ทางอันนั้นสรุปลงได้ แต่หนทางของเรา หนทางของจิต หนทางของหัวใจของคน เวลาจะค้นคว้า เวลาจะเป็นไป หนทางนั้นต้องหาขึ้นมา ถ้าใครมีหนทางนั้นจะพาหัวใจดวงนี้ไปสู่เป้าหมายของเรา ถ้าไปสู่เป้าหมายของเรา ไปสู่มรรคสู่ผล ถ้าสู่มรรคสู่ผลแล้วมันจบลงที่นั่นไง

ที่เขาเถียงกัน นิพพานเป็นอัตตา เป็นอนัตตา

มันเป็นกิเลสกับธรรมนั่นน่ะ แต่เวลานิพพานแล้ว นิพพานก็เป็นนิพพานไง นิพพานคือเป้าหมายไง พอถึงเป้าหมายแล้วมันก็จบไง จบแล้วมันก็สิ้นกิเลส มันก็จบกระบวนการแล้วมันก็จบไง

แต่คนไม่ได้ทำถึงเป้าหมายไปศึกษามา ศึกษามาแล้วก็มาเถียงกันปากเปียกปากแฉะ นิพพานเป็นอัตตาหรือเป็นอนัตตา

โอ้โฮนิพพานเป็นนิพพานอยู่แล้ว อัตตามันก็เป็นอัตตา อนัตตาก็เป็นอนัตตา มันเป็นคนละคน มันไม่เกี่ยวอะไรกันเลย แต่คนมันไม่รู้จักทางซ้ายทางขวา มันไปจับมามัดผูกกันแล้วก็เอามาอ้างอิงอวดว่าตัวเองมีความรู้นะ

ความจริงมันไม่เกี่ยวอะไรกันเลย อัตตาก็เป็นอัตตา อัตตาก็ทิฏฐิมานะ อนัตตาคือความมันแปรปรวนของมัน นิพพานคือจบสิ้นกระบวนการ

นี่พูดถึงว่า ถ้ามันมีหนทาง เราเป็นคนใช่ไหม เราต้องมีหนทางของเรา เราจะปฏิบัติของเรา นี่พูดถึงว่า ปฏิบัติมาตั้งห้าปี

ที่พูดนี่เพราะเห็นใจคนที่ปฏิบัติ เวลามาปฏิบัติแล้วได้อะไรบ้าง ปฏิบัติแล้วล้มลุกคลุกคลาน ถ้าล้มลุกคลุกคลาน เราก็จะเป็นคนดีไง สิ่งที่ว่าเราอยู่ในร่องในรอย เราเป็นคนดี นี่แหละแนวทาง แนวทางขึ้นมา

เรามาบวชพระ บวชพระถ้าจิตใจเราเป็นธรรม เราก็มีศีลมีธรรมของเรา เรามีศีล พระที่ดีกับพระที่มีศีลมีธรรมนี่พอแล้ว แต่ถ้าพระที่ดีต้องมีคุณธรรม มีคุณธรรมคือว่าเขามีคุณธรรมในใจ ถ้ามีคุณธรรมในใจ เขาเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี เป็นพระอรหันต์ พวกนี้เขาไม่พูดหรอก เก็บเงียบในใจเลย เว้นไว้แต่เวลามีลูกศิษย์ลูกหา ลูกศิษย์ลูกหาที่เขามีหูมีตาเขามาถามปัญหา

คนเราเขาจะถามปัญหา คนถามปัญหามันก็เหมือนมาขอยา ขอยา เราก็ให้ยาเขาไป ให้ยาเขาไปมันก็จบ นี่ก็เหมือนกัน เขาไม่คุยโม้โอ้อวดหรอก เพราะอะไร เพราะมันไม่เกี่ยวกับคนอื่นน่ะ นิพพานก็คือนิพพาน นิพพานอยู่ในใจดวงใดมันก็เป็นสมบัติของใจดวงนั้น คนอื่นเอาอะไรไปไม่ได้ คนอื่นแย่งชิงสิ่งใดไปไม่ได้ แล้วคนอื่นจะไปทำความเข้าใจก็ไม่ได้ เพราะเขาไม่มีปัญญาที่จะรู้สิ่งนั้นได้ แล้วจะไปพูดให้เขาฟังทำไม นี่พูดถึงว่า ถ้าเป็นความจริงแล้วอยู่ในใจดวงใดก็อยู่ในใจดวงนั้น ถ้าเวลาถึงเป้าหมายแล้วก็จบ

แต่ไอ้ที่ยังขี้โม้ยังพูดอยู่นั่นน่ะ นั่นน่ะไม่จบสักที ไม่จบเพราะอะไร เพราะพูดอยู่เรื่อย กลัวเขาจะไม่ยอมรับ แล้วคำว่า “กลัวเขาไม่ยอมรับ” มันเกิดที่ไหนล่ะ นี่มันก็เป็นไป

นี่พูดถึงว่า เวลาเราว่าปฏิบัติแล้วมันจะได้อะไร เขาบอกว่า ที่ปฏิบัติมา กระผมภาวนามานานพอสมควรแล้ว ปฏิบัติไม่ไปถึงไหน

ถ้าไม่ไปถึงไหน มันก็รักษาเราไว้เป็นคนดีนี่ไง รักษาเราไว้ รักษาเราไว้ที่ไหน รักษาเราไว้ เรายังระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าเราระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราก็ต้องมีศีล ถ้าเรามีศีลปั๊บ มันก็ไม่ทำให้เราไปสร้างสิ่งที่มันเป็นบาปเป็นกรรม นี่ไง ขอให้เราใกล้ชิดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เถิด สิ่งนั้นมันเป็นประโยชน์กับเราอยู่แล้ว แล้วเวลาปฏิบัติขึ้นมาถ้าจิตมันสงบมันก็สงบ

อย่างเช่นที่ว่าข้อที่ ๑เวลาเขาบอกว่าเขากำหนดอานาปานสติพร้อมกับกำหนดลมหายใจ พุทโธพร้อมกับอานาปานสติ ประมาณปี ๒๕๕๑ ขณะที่มองการทำงานสิ่งใดอยู่ จิตมันเกิดวูบลง

จิตมันเกิดวูบลง มันจะวูบลงอย่างไรนั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ

แต่มันมีความสว่างกลางหัวอกทางด้านซ้าย แล้วมันเป็นอยู่ห้านาที แล้วจิตมันเย็นจิตเย็นใจตลอด

การวูบลงมันเป็นธรรมก็ได้ แต่ถ้าเป็นสมาธินะ มันเป็นสมาธิแต่สติปัญญาเรายังไม่เท่าทัน มันก็วูบไปอย่างนั้นก็ได้ แต่ถ้ามันเป็นธรรมเกิดๆ มันก็วูบลงอย่างนั้นเหมือนกัน แต่ถ้าเราฝึกหัดบ่อยครั้งเข้า คราวต่อไปเราตั้งสติให้ดีขึ้น เรากำหนดพุทโธพร้อมกับลมหายใจเข้าออก พร้อมกับสติปัญญา ถ้ามันจะเป็นอย่างไรไปสติเราพร้อม เราพร้อมไป มันจะเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ คือมันจะสงบมากสงบน้อย เราก็มีสติสัมปชัญญะรักษาตัวของเรา

นี่ไง เขาบอกว่า เราได้มีโอกาสได้บริหาร ถ้าเราได้บริหาร การบริหาร การบริหารด้วยการใช้ปัญญา ถ้าบริหารด้วยการใช้ปัญญา เราจะทำให้จิตใจเราดีขึ้น ถ้าจิตใจเราดีขึ้น นี่ตรงนี้สำคัญที่สุด สำคัญเพราะอะไร สำคัญเพราะเวลาความคิดก็เกิดตรงนี้ กิเลสก็เกิดตรงนี้ แล้วธรรมะก็จะเกิดตรงนี้ไง

ธรรมะมันจะเกิดบนหัวใจของสัตว์โลก ความคิดมันก็เกิดบนหัวใจของสัตว์โลก เวลาความทุกข์ความยากมันก็เกิดบนหัวใจของสัตว์โลก เวลาจิตมันสงบเข้ามาก็จิตสงบเข้ามาสู่ใจของตน แล้วเวลามันเกิดปัญญาขึ้นมา ที่มันสำคัญที่สุด สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงานที่เราจะใคร่ครวญของเรา ถ้าใคร่ครวญของเรา ถ้ามันจะวูบลงอย่างไร เรามีสติสัมปชัญญะของเรา แล้วถ้ามันเป็นไปอย่างนั้นมันเป็นไปแล้ว มันเป็นไปแล้วคือว่ามันเป็นอดีตไปแล้ว

เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัตินะ วันนี้ทำแล้วดี พรุ่งนี้มันจะเอาอย่างนี้อีก อด เวลามันดีทีหนึ่งแล้วมันก็ติดดีอย่างนั้นตลอดไป ดีทีหนึ่งก็ให้มันดีอยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วเราทำให้มันดีทุกคราวไป ดีในปัจจุบันนี้ ดีทุกคราวไป คือลงสมาธิได้ตลอดไป ถ้าลงสมาธิได้ตลอดไป จิตตั้งมั่น

แต่ถ้ามันเคยลงสมาธิแต่เรานึกเอา นี่เราเคยได้มาตั้งห้าปีที่แล้ว แล้วมันก็ยังเย็นๆ มาจนป่านนี้

ก็มันห้าปีที่แล้วน่ะ สมาธิก็คือสมาธินะ สมาธิมันอยู่กับเราไม่นานหรอก สมาธิจะอยู่กับเราได้เพราะเรามีสติแล้วมีคำบริกรรม ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้ามีเหตุ ผลมันก็จะเกิดขึ้น

แต่ถ้าเหตุอย่างนี้เหตุตั้งห้าปีที่แล้ว มันเป็นสัญญา

พอมันเป็นสัญญาเทียบเคียงมา วางไว้ มันเป็นการยืนยันเท่านั้นน่ะ เวลาเราภาวนาไปแล้ว ใครภาวนาไปแล้วนะ จิตมันเคยสงบ จิตมันเคยมีบาทฐานอย่างไร มันเป็นการยืนยันว่า จิตเราปฏิบัติแล้วมันได้ผลอย่างนี้ มันเป็นการยืนยันว่าๆ จิตถ้ามันสงบระงับจนเต็มที่ มันเป็นการยืนยันว่า จิตของเราๆ ใครเข้ามาถึงจิตของตนก็ได้เข้ามาเห็นตัวตนของตนไง

ถ้าตัวตนของตน มันเป็นตัวเป็นตน ใช่ มันเป็นตัวเป็นตน แต่เป็นตัวเป็นตน แต่เป็นตัวจริงน่ะ แต่ความรู้สึกนึกคิดเป็นตัวปลอม อารมณ์นี่เป็นตัวปลอม อารมณ์เกิดจากจิตๆ ความคิดนี่ของปลอมหมดเลย ตัวจริงๆ คือตัวธาตุรู้ แล้วเข้าไปถึงตัวมัน ไปถึงตัวจริง ถ้าถึงตัวจริงแล้ว แล้วถ้าฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาจะเกิดขึ้นที่นี่

แต่เวลามันภาวนาไปแล้วมันจะไม่เกิดตรงนี้ มันจะไปเกิดที่อารมณ์ ไปเกิดที่อารมณ์ เกิดที่ความคิดไง ความคิดมันเป็นเงา ส่วนใหญ่แล้วมันเป็นความคิดทั้งนั้นน่ะ ความคิดเกิดดับ ความคิดเกิดจากจิตแต่ไม่ใช่จิต ความคิดเกิดจากจิตแต่ไม่ใช่จิต อยู่อย่างนั้นน่ะ เป็นเงาทั้งนั้นน่ะ เป็นอาการทั้งนั้น แล้วส่วนใหญ่แล้วมนุษย์ทำได้แค่นี้ ไม่เคยเข้าถึงตัวใจได้สักที

ทีนี้ถ้ามันวูบลงแล้วมันเย็นจิตเย็นใจ มันเย็นถึงตัวมันนะ พอมันเย็นแล้วมันถูกต้อง เห็นไหม เขาบอกว่า มันเป็นอย่างนี้มาตลอด มันเป็นอย่างนี้ มันรู้โดยอัตโนมัติ รู้ต่างๆ

นี่มันเป็นคุณสมบัติ จิตเวลาคนสงบแล้วนะ มันจะมีคุณสมบัติของมัน คุณสมบัติของมันคือว่ามันจะรู้อะไรมากน้อยแค่ไหน นี่คือวาสนาบารมีของคน แล้วถ้าวาสนาบารมีของคน เราต้องพัฒนาขึ้น

นี่พูดถึงข้อที่ ๑ไง เขาถามถึงว่า แล้วเขาควรจะทำอย่างไร ควรจะปฏิบัติอย่างไร ไอ้นี่ข้อที่ ๑พอรู้อย่างนั้นปั๊บ แล้วพอเขาจะเดินหน้าต่อไป

เพราะว่าการปฏิบัติ ทำความสงบของใจเข้ามา พอใจสงบแล้วก็ฝึกหัดใช้ปัญญา พอใช้ปัญญาไปแล้ว โดยหลัก โดยหลักที่เราศึกษาเราเรียนรู้มามันเป็นสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เราก็เลยรู้หลัก

แต่เวลาคนที่รู้หลักแล้วทำถูกต้องหรือเปล่า โดยรู้หลักแล้วเราก็ยึดหลักนั้นไว้ พอยึดหลักนั้นไว้ เราทำความสงบของใจเข้ามาแล้วก็สร้างภาพสร้างอารมณ์ว่าสงบ แล้วพอใช้ปัญญาก็สร้างอารมณ์ว่าใช้ปัญญา ส่วนใหญ่ถ้าเป็นสัญญาอารมณ์เป็นอย่างนี้ คือทำให้มันถูกตามทฤษฎี ทำให้ถูกตามทฤษฎีแล้วบอกกูก็ทำแล้ว แล้วกูไม่เคยได้สักที...ก็กิเลสมันสอนให้ทำ มันไม่ได้ทำตามความเป็นจริง

ถ้าตามความเป็นจริงมันมีรสชาติ รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวงนะ เวลาทุกข์เวลายากนี่ทุกข์ยากมาก เวลาจิตสงบนี่มันสุขมาก ความทุกข์ก็เป็นอนัตตา เวลาสรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา คือเราจะบอกว่า ความทุกข์ไม่อยู่กับใครตลอดไปหรอก ความทุกข์มันอยู่ชั่วคราวแล้วมันก็เปลี่ยนแปลงของมัน ความสุขก็เหมือนกัน สมาธิก็เหมือนกัน พอมันเป็นอนัตตา มันแปรสภาพของมันอยู่แล้ว

ทีนี้เวลาเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาก็เลยบอกว่า พอจิตสงบแล้วเขาฝึกหัดใช้ปัญญา พอสิ่งใดแล้วเขาพิจารณาให้เป็นไตรลักษณ์ จับพิจารณาปั๊บ พอมันรู้ปั๊บ มันก็ปล่อยๆ มันก็ฝึกหัด ก็ใช้ไป แต่การฝึกหัดอย่างนี้ การฝึกหัดอย่างนี้ถ้าจิตมันดี เรายังมีศรัทธาความเชื่ออยู่ มันทำได้ แต่ถ้าจิตมันเสื่อม จิตมันเสื่อมแล้วมันมีผลกระทบรุนแรง มันคิดไม่ได้หรอก มันเหนื่อยหน่าย มันทุกข์มันยาก เวลาจิตมันเสื่อมนะ เวลาจิตมันเสื่อมแล้วกิเลสมันดื้อด้าน ทุกข์มากนะ

เวลาปฏิบัติถ้ามันลงสมาธิ มันสงบ มันก็มีความสุข แล้วถ้าฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาที่มันมีกำลังของมัน พิจารณาแล้วมันปล่อยๆ มันมีความสุข มันมีผลตอบแทน แต่เวลามันพิจารณาไปแล้วจิตมันเสื่อม จิตมันเสื่อมแล้วมันลงสมาธิไม่ได้ เราร้อนไปหมด นั่งก็ไม่ได้ จะเดินก็ไม่ได้ จะทำอะไรก็ไม่ได้ ทุกข์ยากไปมากนะ ธรรมดาของมนุษย์มันก็ทุกข์อยู่แล้วไง ไปปฏิบัติมันจิตเสื่อม เวลาจิตมันท้อถอยมันยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่ ทุกข์ซ้อนทุกข์เลยล่ะ

แต่ครูบาอาจารย์เราก็ต้องแก้ แก้ไขของเราไง แก้ไขของเรา เห็นไหม เราดำรงชีวิตโดยปกติแล้วมันก็ยังทุกข์ยากขนาดนี้ เราก็พยายามผ่อนออกให้เสพปัจจัยเครื่องอาศัยให้น้อยลงแล้วพยายามของเรา แล้วก็ฝืนทนมัน ใช้สติรักษาดูแลมัน พยายามดึงกลับมา พิจารณาถึงเต็มที่แล้ว พอมันทุกข์ถึงที่สุดแล้วนะ มันก็จบ

ทีนี้เวลามันทุกข์ไม่ถึงที่สุดน่ะสิ เวลามันเสื่อม เวลามันทุกข์ก็ทุกข์อยู่อย่างนั้นน่ะ ครึ่งๆ กลางๆ ก็ทุกข์แล้วทุกข์เล่า ก็ทุกข์อยู่อย่างนั้นน่ะ

สู้กับมัน ทุกข์ให้ถึงที่สุดเลย พอมันถึงที่สุดแห่งทุกข์ แล้วทุกข์มันจบแล้วมันเหลืออะไร โอ้โฮโล่งหมดเลย ว่างหมดเลย แต่มันก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลานะ

นี่พูดถึงว่าเวลาเขาบอกว่า จิตสงบแล้วเขาฝึกใช้ปัญญา พิจารณาให้มันเป็นไตรลักษณ์

ถ้าพิจารณาให้เป็นไตรลักษณ์ เราพิจารณาถ้ามันเป็นความจริงก็ใช้ได้ ถ้ามันพิจารณาไปแล้วถ้ามันไม่มีผลตอบแทนคือมันไม่มีรสชาติ นั้นเป็นสัญญา นั้นคือทำตรงตามทฤษฎี

ถ้าทำความเป็นจริงนะ เราพยายามทำความสงบของใจ ถ้าใจสงบแล้วมันจะมีกำลัง ถ้ามีกำลังแล้ว เวลาจับสิ่งใดพิจารณาปั๊บมันจะรวดเร็วมาก ถ้ารวดเร็วมันจะเป็นประโยชน์ ถ้ามันไม่เป็นประโยชน์ เรากลับไปทำความสงบแล้วทำให้เป็นข้อเท็จจริง

แล้วผู้ที่ปฏิบัติมานี่ ผู้ที่ถามปฏิบัติมาห้าปีแล้ว เวลาผิดพลาดไปที่จิตมันไม่ลงก็รู้ได้ แล้วถ้าจิตมันลง จิตมันลงหมายความว่าทำแล้วมันประสบความสำเร็จ มันจะมีความสุขมาก วัดกันตรงนี้ไง วัดที่ทำแล้วมันมีความสุข ทำแล้วมันมีประโยชน์ ทำแล้วมันเกิดปัญญา ปัญญามันคมกล้ามาก ถ้าปัญญามันคมนะ กิเลสมาเผชิญหน้าไม่ได้เลย หายหมดเลย ถ้าปัญญาดีๆ นะ ถ้ามีสมาธิ ถ้ามีปัญญาดี อู้ฮูเหมือนกับเทวดาเลยเราน่ะ อู้ฮูสุดยอดคน ขณะที่ดีๆ นะ วัดกันตรงนี้ ถ้าเวลามันเสื่อมนะ เสื่อมจนใช้อะไรไม่ได้เลย แต่ถ้ามันดีมันจะเป็นอย่างนี้ แล้วพอเป็นอย่างนี้ปั๊บก็วัดกันตรงนี้ นี่พูดถึงว่า ปฏิบัติแล้วได้อะไร

เกิดเหตุการณ์ครั้งหนึ่ง ผมทำสมาธิแล้วนานไปจิตมันเสื่อมไง มันคลายออก เวลามันคลายออกแล้วเหมือนมันไม่ยอมลง ในขณะนั้นรู้สึกเลยว่ามันคลายออก ฉะนั้น เวลาก่อนนอนก็ฟัง ฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ สมาธิก็เริ่มกลับมา ทำแบบนี้โดยที่ไม่ได้นั่งสมาธิเพราะมีธุระ

ถ้ามีธุระ มีธุระ เราก็อยู่กับงาน คนเรานะ ต้องมีหน้าที่การงาน ถ้ามีหน้าที่การงาน เราก็ทำหน้าที่การงานของเราด้วยสติอยู่กับงานนั้น เสร็จงานแล้วก็มาฝึกหัดภาวนา ฉะนั้นว่า เวลาเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ นี่เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมดาเลย

ดูนักกีฬาสิ นักกีฬาทุกประเภทเวลาฟอร์มเขาตก นักกีฬาเก่งๆ ขนาดไหน มันจะถึงเวลาฟอร์มตก ฟอร์มตกนะ เขาก็ต้องกลับมาหยุดพัก กลับมาเรียกความมั่นใจ เรานักปฏิบัติก็เหมือนกัน เวลามันดีมันก็ดีนะ แต่เวลาถ้ามันเสื่อม เราก็ต้องแก้ไข เพราะเราปฏิบัติต้องต่อเนื่อง การปฏิบัติต่อเนื่องมันจะรู้เลยว่าเราปฏิบัติแล้วจะได้ผลหรือไม่ได้ผล

ทีนี้เวลาทางโลกเขาปฏิบัติกันไง เวลามันดี อุปาทานหมู่ เวลาดี ดีไปหมดเลย เวลาข้างหน้าเขาเลิกนะ เวลาเป็นอุปาทานหมู่ไม่มีใครชี้นำนะ จบเลย แล้วไปไม่เป็นน่ะ มันเป็นอุปาทานหมู่

แต่เวลาปฏิบัติของเรามันเป็นของเราเอง ถ้าเวลามันดี มันดีอย่างไร ถ้าเวลามันเสื่อม เราจะแก้ไขอย่างไร ถ้าเราแก้ไข เห็นไหม ระหว่างที่เวลาจิตมันเสื่อมแล้วเราฟื้นกลับมาได้ ถ้าฟื้นกลับมาได้มันทำต่อเนื่องๆ เราถึงได้ผล เห็นไหม ปฏิบัติเพื่อการเป็นคนดี คนดีทำสะสมความดีอันนั้นจะเป็นคนดีที่ยั่งยืน ถ้าเป็นคนดีที่ยั่งยืน ในการปฏิบัติมันเจริญก้าวหน้า นี่พูดถึงว่าข้อที่ ๒.

ด้วยหน้าที่การงานที่ผลกระทบในการรักษาศีล เพราะเผลอทำความผิด พูดผิดบ้าง ทีนี้ต้องสมาทานงดเว้นตลอดในการรักษาไม่ให้ด่างพร้อยเลย ซึ่งถือว่าทำยากอยู่มากหากศีลด่างพร้อย

คำว่า “ศีลด่างพร้อยๆ” ศีลด่างพร้อย เราก็ต้องกลับมา กลับมาวิรัติอย่างที่ว่านี่ อย่างที่เขาพูดนี่ถูกต้อง เวลาศีลมันด่างมันพร้อย เราผิดพลาดไปแล้วเราก็เริ่มต้นของเราใหม่ เริ่มต้นของเราใหม่

ฉะนั้น คำว่า “ศีลด่างพร้อย” ศีลด่างพร้อยเพราะอะไร เพราะเรายังอยู่กับโลกไง เรายังอยู่กับโลก เรายังต้องมีหน้าที่การงานของเรา เรายังต้องหาผลประโยชน์ของเรา คำว่า “หาผลประโยชน์” ถ้ามันผิดครั้งนี้ ครั้งนี้มันผิดแล้วเรารู้สึกเสียใจหรือไม่ ครั้งต่อไปเราก็จะไม่ทำผิดอีก ถ้าทำผิดหรือให้มันผิดน้อยลงๆ จนเรามีสติสัมปชัญญะของเรา จากการรักษาศีลมันก็เป็นอธิศีล ศีลจากภายใน ถ้าศีลจากภายใน สิ่งต่างๆ มันก็จะเบาบางลงๆ

มันอยู่ที่จริตนิสัยไง คนระดับสัทธาจริต สัทธาจริตเขามีความเชื่อมั่นในทานของเขา ศรัทธาความเชื่อของเขา ในพุทธจริต พุทธจริตมีปัญญามาก มีปัญญามาก จะรักษาศีล พอตัวเองพูดอะไรผิดมันก็ว่าผิด

ถ้าผิดแล้วก็รู้ว่าผิด ถ้ารู้ว่าผิด มันเป็นที่จริตนิสัย ถ้าจริตนิสัย เวลาผิดเราก็หลีกเลี่ยงเอา หลบหลีกๆ

ถ้าเขาบอกว่าเลี่ยงบาลีๆ

เลี่ยงบาลีนั่นอย่างหนึ่ง เลี่ยงบาลีนั่นคือเห็นแก่ตัว แต่นี่เราไม่เลี่ยงบาลี เราต้องการสร้างสะสมคุณงามความดีของเรา เราอยากภาวนาของเรา เราจะรักษาศีลของเราให้เป็นปกติ ฉะนั้น ให้เป็นปกติ เรามีหน้าที่การงานทางโลก เราก็พูดด้วยไม่ผิดศีลน่ะ พูดโดยความไม่ผิดศีล พูดด้วยความซื่อสัตย์ ทีนี้มันพูดโดยซื่อสัตย์ จะมากน้อยขนาดไหนมันก็อยู่ที่การฝึกหัดพัฒนา ถ้าจิตใจมันฝึกหัดพัฒนาขึ้นมามันก็จะเป็นตามนั้น นี่พูดถึงเรื่องของศีล ฉะนั้น เรื่องของศีล

ข้อ ๑จบ จบเพราะอะไร จบเพราะต้องการให้ปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วให้เป็นคนดีไง ปฏิบัติ

เขาว่า จะทำอย่างไรต่อไป

เราปฏิบัติเพื่อความเป็นคนดีๆ ความเป็นคนดีมันเป็นหนทาง มันเป็นหนทางที่ว่าให้จิตมันพัฒนาขึ้นไป ถ้าเราไม่ทำความดี มันจะไปทางชั่ว ลองไม่ทำดีสิ ไม่ทำดีมันก็สำมะเลเทเมาไง ทำอย่างไรก็ได้ไง ถ้าเราจะดึงมาดีไง พอดึงมาดีขึ้นมาแล้ว “ทำดีไม่เห็นได้อะไรเลย” ก็ได้ ได้เป็นคนดีไง ได้ดี ได้ดีที่เราเป็นอยู่แล้ว

ถาม : เรื่อง “แนวทางปฏิบัติเริ่มภาวนา

กราบนมัสการหลวงพ่อ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๒ ตุลาคมที่ผ่านมา ผมได้ขึ้นไปทำบุญที่วัด แต่พบว่าหลวงพ่อไม่อยู่ ซึ่งผมนั้นอยากจะขอแนวทางปฏิบัติภาวนาที่เหมาะสมจากหลวงพ่อ ด้วยตัวผมเองเป็นคนชอบสวดมนต์อยู่เป็นนิจ แต่ไม่ค่อยได้ทำสมาธิภาวนา ส่วนใหญ่จะนั่งสมาธิภาวนาประมาณ ๑๐-๒๐ นาทีเท่านั้น เคยฝึกแบบยุบหนอพองหนอแบบที่โรงเรียนสอน ก็พบว่าไม่สามารถกำหนดแบบนั้นได้ จึงอยากขอคำแนะนำวิธีปฏิบัติจากหลวงพ่อครับ

ตอบ : วิธีการปฏิบัติ วิธีการปฏิบัติเริ่มต้นจากมีศรัทธามีความเชื่อ คือมีศรัทธามีความเชื่อคือว่าเราต้องเชื่อมั่นในตัวเราก่อน คำว่า “เชื่อมั่นในตัวเรา” คือเราเคารพตัวตนของเราไง เราเคารพตัวเรา

ส่วนใหญ่โลกเรานี่นะ เกิดมาแล้วไม่เห็นตัวตนของตนเอง เห็นแต่คนอื่น โทษเขาไปทั่วเลย สังคมไม่ดีๆ ทุกอย่างไม่ดีหมดเลย แต่เรา โอ๋ยกูเป็นคนดีคนเดียว

แต่ถ้าเราเริ่มต้นของเรา คนเหมือนกันทั้งนั้นน่ะ พอคนเหมือนกันแล้ว คนก็มีศักดิ์ศรีความเป็นคนเท่ากันทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้น ถ้าเราเคารพตัวเราเองไง ถ้าเคารพตัวเอง เรามีหน้าที่การงานอย่างใดเราก็ทำหน้าที่การงานของเรา

เพราะการเกิดมา มนุษย์เกิดมาเป็นญาติกันโดยธรรม คือเกิดมามีชีวิต เกิดมามีชีวิตมันต้องมีหน้าที่การงาน เพราะมันต้องเลี้ยงชีวิต ถ้าเลี้ยงชีวิต เลี้ยงชีวิตไว้ทำไม เลี้ยงชีวิตไว้ ดูสิ ชีวิตทางโลกเขาก็สำมะเลเทเมากัน ถ้าเขามีสติมีปัญญาเขาก็ประกอบสัมมาอาชีวะเลี้ยงชีพของเขาไป ถ้าชีวิตที่มีสติมีปัญญาอย่างเช่นพระ เขาก็สละทางโลกมาบวชพระ บวชพระขึ้นมาแล้ว พระถ้าบวชมาแล้วก็เป็นพระที่มีการศึกษาเพื่อจะทรงจำธรรมวินัย

แต่พระที่เขาศึกษาแล้วเขาจะประพฤติปฏิบัติ เวลาเขาประพฤติปฏิบัติขึ้นไปเขาจะมีครูบาอาจารย์ของเขาสั่งสอนของเขาขึ้นไปจนเขาทะลุปรุโปร่งเข้าไปถึงสู่จิตใจของเขา ชำระล้างกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปจนสิ้นกิเลสไป

พอสิ้นกิเลสไป เห็นไหม มนุษย์เหมือนกัน หลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่า เทวดามาฟังเทศน์ นี่ไง มนุษย์แท้ๆ เลย ทำไมเทวดามาฟังเทศน์ล่ะ ไอ้เรานี่แหมอยากเป็นเทวดา อยากเห็นเทวดา แต่ครูบาอาจารย์ของเรา เทวดาต้องมากราบคารวะขอฟังธรรม มนุษย์เรานี่

นี่ไง ที่ว่าเคารพความเป็นมนุษย์ ถ้าเราเคารพความเป็นมนุษย์ของเรา เราซื่อสัตย์ของเรา ถ้าเราซื่อสัตย์ของเรา เราจะบอกว่า ถ้าเราซื่อสัตย์ของเรา เราจะมีคุณค่า มีคุณค่าที่ไหน มีคุณค่าที่มันมีสติ มีจิตไง

มนุษย์มีกายกับใจ ถ้ามีกายกับใจแล้วเราอยากภาวนาแล้ว ถ้าอยากภาวนาแล้ว พอภาวนา เขาใช้อะไรภาวนา เขาใช้ใจภาวนา อานาปานสติก็กำหนดลมหายใจเข้าออก

โรงงานอุตสาหกรรมน่ะ โรงงาน ดูสิ โรงงานไอน้ำเขาใช้ลม เขาก็มีลมทั้งนั้นน่ะ ทำไมไม่เป็นอานาปานสติ ทำไมเราหายใจเข้ารูจมูกนี่เป็นอานาปานสติ เป็นอานาปานสติเพราะมันมีจิต จิตของเรามันรับรู้ลม

ถ้าธรรมดามนุษย์เกิดมาต้องมีลมหายใจ ใครไม่มีลมหายใจห้านาที สมองตาย ต้องมีลมหายใจ เขาก็หายใจอยู่ ทำไมไม่เป็นอานาปานสติ คนหายใจอยู่ทำไมมันไม่เป็นอานาปานสติ แต่ของเราพอมีสติตั้งกำหนดลมนี่เป็นอานาปานสติทันทีเลย เพราะอะไร เพราะจิตไง

เพราะจิตใจของเรา จิตใจของเรามีค่ามาก เห็นไหม หลวงตาท่านไปไหนๆ ท่านไปเอาหัวใจของคนๆ หัวใจของคนมีค่ามาก จิตนี้มีค่ามาก เพราะจิตนี้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ คนเราเพราะมีจิตในร่างกายนี้มันถึงมีชีวิตไง พอจิตนั้นออกจากร่างไปเป็นคนตาย เป็นท่อนฟืน

นี่ไง ฉะนั้นบอกว่า ถ้าเราเคารพตัวตนของเรา พอจิตมันมีคุณค่าขึ้นมา จิตมันมีคุณค่าขึ้นมา พอเรากำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออกเป็นอานาปานสติ แล้วถ้ามันระลึกพุทโธเป็นพุทธานุสติ ถ้ามันระลึกถึงความตายเป็นมรณานุสติ มันก็เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ถ้าเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

เพราะเขาถามเรื่อง หลวงพ่อ จะปฏิบัติอย่างไร

แล้วเวลาไปบอกปฏิบัติมันก็งงอีกน่ะปฏิบัติอย่างไร แต่เวลาพูดถึงวิธีการ กูไม่ได้สอนเอ็งนะ กูบอกถึงวิธีการปฏิบัติ แล้วคนที่จะปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติตามวิธีการนี้ ถ้าปฏิบัติตามวิธีการนี้มันถึงเป็นการปฏิบัติ ถ้ามันไม่ปฏิบัติตามวิธีการนี้มันก็สร้างภาพ มันก็นึกไปเอง นี่ไง มันถึงไม่เข้าทางพระพุทธศาสนาไง

ถ้าเข้าทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าสอน ดูสิ เวลาสุภัททะ สุภัททะไปถามพระพุทธเจ้า เขามีปัญญามาก “อู้ฮูศาสนานั้นก็ดี ศาสนานี้ก็ดี นู่นยอดๆๆ ไปหมดเลย แล้วพระพุทธเจ้าว่าอย่างไร

พระพุทธเจ้าบอกเลย “ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล

ไม่มีมรรคตรงไหน ไม่มีมรรค ดูสิ ศาสนาก็ยอดๆๆ มันคิดเอาเอง จินตนาการไปเอง แต่ศาสนาพระพุทธเจ้าต้องอานาปานสติต้องกำหนดลมหายใจ จิตต้องทำทั้งหมด

ศาสนาที่ว่ายอดๆๆ ยอดๆ เพราะอะไร เพราะมันไม่ต้องทำอะไรมันเลยยอดไง ไม่ต้องทำอะไรเลย ยอด แต่พระพุทธศาสนานี่ต้องทำทุกอย่างเลย ทำเพราะอะไร ทำเพราะจิตมันทำ เพราะจิตมันทำแล้วจิตมันเป็นสมาธิ จิตมันเกิดปัญญา จิตมันฟอกจิตมัน จิตมันทำชำระล้างกิเลสมัน จิตมันพ้นจากกิเลสมัน มันมีจริงไง

ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล สุภัททะ เธออย่าถามให้มากไปเลย” ให้พระอานนท์บวชให้คืนนั้น บวชคืนนั้น เขาพิจารณาคืนนั้น เขาเป็นพระอรหันต์คืนนั้นเลย

แล้วที่ว่ายอดๆ ยอดตรงไหนล่ะ มันก็ยอดมะพร้าวไง แต่ถ้ามันยอด นี่พูดถึงมันยอด

นี่เขาถามว่า วันนั้นมาหาหลวงพ่อ แล้วอยากจะปฏิบัติ อยากจะหาแนวทางปฏิบัติ แต่ก็ไม่เจอหลวงพ่อ

ถ้าอยากเจอ ถ้าเจอเราก็วิ่งหนีเลย เพราะเราก็ไม่พูดกับคน ถ้าคนจะเอาอย่างนั้นๆ ตลอดไป แต่โดยหลัก โดยหลักวิธีการปฏิบัติ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง กรรมฐาน การทำความสงบ ๔๐ วิธีการ ฉะนั้น เวลาการทำความสงบ ๔๐ วิธีการ นี่มันอยู่ในพระไตรปิฎก

เวลาทางวิชาการเขาบอก “พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนๆ

เวลาจะทำความดีพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนทั้งนั้นเลยนะ เวลาจะล้วงกระเป๋าโยมน่ะพระพุทธเจ้าสอน เวลาจะเอาตังค์เขาน่ะ โอ๋ยนี่พระพุทธเจ้าสอน สอนให้เอาตังค์เขา เวลาจะประพฤติปฏิบัติบอกพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนๆ...แล้วสอนเรื่องอะไรล่ะ สอนอะไร

พระพุทธเจ้าสอนให้ปราบกิเลสของตนนะ ถ้าการจะปราบกิเลส การทำความสงบ ๔๐ วิธีการ เราจะบอกว่า การทำความสงบ ๔๐ วิธีการ เพราะมันเป็นพุทธคุณนะ ปัญญาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การทำความสงบ ๔๐ วิธีการ เพราะอะไร

เพราะครูบาอาจารย์ของเราท่านลูกศิษย์ลูกหามาก หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นลูกศิษย์ลูกหามาก ฉะนั้น ลูกศิษย์ลูกหามาก จริตนิสัยของคนมันไม่เหมือนกัน จริตนิสัยของคน การสร้างอำนาจวาสนาบารมีของคนมันแตกต่างกัน คนที่มาแตกต่างกัน คนที่จริตนิสัยแตกต่างกันจะให้ทำเหมือนกันมันเป็นไปไม่ได้

ฉะนั้น พอเป็นไปไม่ได้ จริตนิสัยที่แตกต่างกัน เหมือนแร่ธาตุเลย ดูสิ จะแร่เหล็ก แร่เหล็กมาจากเหมืองไหน ถ้าแร่เหล็กเหมืองนั้นมีคุณสมบัติอย่างไร มันจะเข้าเตาหล่อชนิดนั้น ดูสิ น้ำมันที่มันซื้อมา น้ำมันประเภทที่ว่ามีคุณภาพมากมีคุณภาพน้อยต้องเข้าโรงกลั่น โรงกลั่นก็ต้องโรงกลั่นที่มีคุณภาพไม่มีคุณภาพแตกต่างกันไป

คนที่มันเกิดมาจริตนิสัยมันก็เป็นแบบนั้น ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเปิดไว้ ๔๐ วิธีการไง ฉะนั้น เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านถึงบอกว่า กำหนดอันแรกเป็นพุทโธก่อน พุทโธคือว่าเราระลึกถึงศาสดาก่อน ระลึกถึงศาสดาคือว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธะ พุทธะคือพุทโธ ธัมโม สังโฆ นี่ไง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราระลึกถึงก่อนถ้าทำได้ ถ้าทำไม่ได้ก็อานาปานสติ ปัญญาอบรมสมาธิ มรณานุสติ นี่มันเป็นไปถึง ๔๐ วิธีการ พระพุทธเจ้าอย่างนี้เลย

เพราะว่าถ้ามันมีแนวทางเดียว คนอื่นจะทำไม่ได้ โอกาสของคนที่จะเข้าทางนี้มันทำไม่ได้ไง แล้วพอทำไม่ได้ ก็เหมือนกับเราโง่เง่าเต่าตุ่นจะบอกให้เป็นดอกเตอร์ โอ๋ยอีกห้าชาติกูก็เป็นไม่ได้

เออกูหัดอ่าน ก.ไก่ นี่กูทำได้ ให้กูหัดอ่าน ก.ไก่ เออใครจะเป็นอะไรก็ได้ ขอให้อ่านออกเขียนได้ ทำงานเป็น ใช้ได้ พออ่านออกเขียนได้ ทำงานเป็นแล้วก็ฝึกหัดมา พอมันไปทำหน้าที่การงานขึ้นมาเดี๋ยวมันมีอาชีพ เดี๋ยวมันเลี้ยงชีพมันได้ เดี๋ยวมันปฏิบัติแล้วมันก็มีหน้าที่การงานของมัน เดี๋ยวมันก็มีครอบครัวสร้างเนื้อสร้างตัวมันได้ เดี๋ยวมันก็เป็นคนดีขึ้นมา นี่พระพุทธเจ้าเปิดกว้างอย่างนี้

ทีนี้เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านถึงเปิดกว้างมากนะ ฉะนั้น เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านสอน ท่านสอนเฉพาะ คนคนนี้จะสอนอย่างนี้ๆ ท่านสอนเฉพาะจริตนิสัยของคน แล้วท่านรู้ถึงจริตนิสัยของคน

ไอ้เราไปแล้ว เวลาสอนเราน่ะไม่ดีๆ ไปแอบนั่งฟังสอนคนอื่นน่ะ เวลาสอนคนอื่นน่ะไปลักขโมยเขามาแล้วก็ทำไม่ได้อย่างเขา แล้วก็บอกว่าทำไมฉันทำไม่ได้...ก็เขาไม่ได้สอนเอ็ง เขาสอนคนอื่น เวลาเขาสอนเอ็ง เอ็งก็ไม่เอา เวลาสอนตรงๆ มันไม่เอานะ เบื่อ ไม่ชอบ เวลาเขาสอนคนอื่นน่ะชอบ หูยาวเชียว ไปแอบฟังของเขา ไปสอนใครก็ไม่รู้เนาะ ไปเอาของเขามา แล้วพอทำไม่ได้ก็ “นี่ผมทำไม่ได้” “ทำไมทำไม่ได้ล่ะ” “ก็วันนั้นหลวงพ่อสอนคนนั้น ผมไปฟังมาไง

อื้อหืมเขาสอนคนนู้น คนนู้นมันมีคุณสมบัติอย่างนั้น เขาก็สอนอย่างนั้น เอ็งมีคุณสมบัติอย่างนี้ เขาก็สอนอย่างนี้ เอ็งมีคุณสมบัติอย่างนี้ เอ็งก็ควรทำอย่างนี้ เพราะมันตรงกับน้ำมันดิบของเอ็งมันมีกำมะถันเยอะ มันก็ต้องเข้าโรงกลั่นประเภทนี้ ไอ้น้ำมันดิบของเขามันประเภทเบา เขาก็เข้าโรงกลั่นประเภทนั้น

เอ็งนี่ไม่รู้เรื่องเลย แต่ชอบ ชอบหูยาวเชียว ไปฟังของคนอื่นมา แล้วปฏิบัติแล้วไม่ได้เรื่อง แล้วก็มา “โอ๋ยหลวงพ่อ ไม่ดีอย่างนู้นไม่ดีอย่างนี้” “ทำไมล่ะ” “ก็วันนั้นหลวงพ่อสอนคนนั้น ผมฟัง แหมมันถูกใจมาก

เวลาของของเอ็งน่ะไม่เอา เหมือนเราเลย ในครัวบ้านเราไม่ทำ ชอบไปกินข้าวบ้านคนอื่น บ้านของตัวขี้เกียจ ขี้เกียจล้างไง ชอบไปกินครัวบ้านคนอื่น ในการปฏิบัติ ในการปฏิบัติมันเป็นแบบนี้ นี่พูดถึงแนวทางปฏิบัติไง

ฉะนั้น แนวทางปฏิบัติแล้วโดยเริ่มต้น ถ้าเราเคารพตัวเราเอง เริ่มต้นต้องเคารพตัวเราเองก่อนนะ เคารพตัวเราเองมันเหมือนกับเราให้โอกาสจิตของเราไง ไอ้นี่ไม่อย่างนั้น ดูถูกตัวเอง เราทำอะไรไม่ได้ คนอื่นยอดไปหมดเลย มีเราเลวคนเดียว

เรากำหนดลมหายใจของเราสิ ทำของเราขึ้นมา เคารพตัวเอง ฝึกหัดของเรา แล้วถ้าจิตมันสงบก็ให้สงบของเรา จิตสงบเพราะมีสติ เพราะมีคำบริกรรม แล้วถ้ามันดีแล้วสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดใช้ปัญญา มันจะมากจะน้อยก็ฝึกหัดใช้ ฝึกหัดใช้ปัญญาเป็นแนวทาง แล้วเดี๋ยวถ้ามันชำนาญขึ้นมา มันเข้มแข็งขึ้นมา แล้วเราก็จะเดินของเราไปได้

เด็กมันเกิดมาทุกคนนะ อย่างใดก็แล้วแต่มันต้องเดินได้ เด็กเกิดมา ไม่มีเด็กคนไหนเกิดมาแล้วมันเดินได้ มันต้องหัดนั่ง หัดคลาน แล้วก็หัดเดิน มันเดินได้แล้วมันก็วิ่งได้ จิตของเราก็เหมือนกัน เด็กอย่างไรมันก็เดินได้ แต่จิตของเราถ้าไม่ฝึกหัดมัน มันเดินไม่ได้ มันวิปัสสนาไม่เป็น แล้วไปไม่ได้

แต่ธรรมชาติของเด็กมันต้องเดินได้ แต่ธรรมชาติของจิตมันวิปัสสนาไม่เป็น มันต้องฝึกหัดมันต้องมีการกระทำขึ้นมา ถ้าทำขึ้นมาแล้วมันต้องมีครูบาอาจารย์สอน พอสอนขึ้นมา พอมันเป็นไปได้นะ เด็กมันเดินได้แล้วนะ มันไม่ต้องการให้ใครอุ้มเลย มันจะวิ่งเล่นไปหาเพื่อนมันทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาถ้ามันยังเดินไม่ได้มันจะวิ่งเข้ามาเลย อุ้มๆๆ เพราะมันยังเดินไม่ได้ มันอยากให้เราอุ้มมันไป แต่ถ้ามันเดินได้แล้วมันวิ่ง มันไปมันเอง มันแอบด้วย ไม่ให้เราเห็นด้วย แต่ถ้ามันยังเดินไม่ได้นะ เดินเข้ามาเลย อุ้มๆ อุ้มที อยากจะไป มาอ้อนให้อุ้มตลอด เพราะมันยังเดินไม่ได้

นี่เวลามันฝึกหัด มันฝึกหัดอย่างนั้น ถ้าธรรมชาติของเด็กมันต้องเดินได้โดยธรรมชาติของมัน แต่ธรรมชาติของจิตเดินไม่ได้ ถ้าไม่ฝึกไม่หัด ไม่ฝึกหัดใช้ปัญญานี่ไง ฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกทำของเราไป ถ้ามันเป็นไปได้ มันก็เป็นไปได้

นี่เขาถามไง “กราบนมัสการหลวงพ่อครับ ผมอยากขอแนวทางปฏิบัติการภาวนาจากหลวงพ่อว่าจะทำอย่างไร

ก็ทำอย่างนี้ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ไม่ต้องคิดว่ามันจะสูงส่งขนาดไหน มันจะสูงส่ง ดูสิ คนเราเกิดมามันต้องมีอากาศหายใจนะ มนุษย์เกิดมาต้องมีน้ำ มีน้ำ มีอากาศ นี่ก็เหมือนกัน จิตใจของเราให้หัดกำหนดพุทโธ ให้ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ให้มันสงบเข้ามา เหมือนกับมนุษย์ มนุษย์ขาดน้ำอยู่ไม่ได้ นี่ก็เหมือนกัน จิตถ้ามันขาดความสงบแล้วมันจะทำอย่างไร

ศาสนามันเหมือนน้ำ เหมือนอากาศที่ใครๆ ก็ปรารถนาอากาศที่บริสุทธิ์ ใครๆ ก็ปรารถนาน้ำที่บริสุทธิ์ นี่เราก็ทำเหมือนกัน ทำหัวใจของเราให้มันสะอาดบริสุทธิ์ แล้วถ้ามันสะอาดบริสุทธิ์แล้วนะ เรามีน้ำ มีอากาศที่ดีนะ เราอยู่สุขสบาย เราทำอะไรก็ได้ แล้วเวลาภาวนามันจะเป็นของมันไป ปฏิบัติเพื่อความเป็นคนดี เอวัง