เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑o ธ.ค. ๒๕๕๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ ตั้งใจฟังธรรม ตั้งใจฟังธรรม เพราะเรามาวัดมาวาก็มาเพื่อให้หัวใจเบิกบานไง ให้หัวใจมันแช่มชื่น หัวใจมันแจ่มแจ้ง แล้วพอมันแจ่มแจ้ง มันไม่มีความสงสัยแล้วนะ ไม่มีสิ่งใดไปหลอกลวงหัวใจเราได้ สิ่งที่หลอกลวงหัวใจเราคือจิตใต้สำนึก

บอกว่า สิ่งที่เวลาภาวนาไป สิ่งนั้นมันคืออะไร มันขับดันออกมา สิ่งใดที่มันขับดันออกมา สิ่งที่มันขับดันออกมา เราไม่รู้ แต่มันมีความรู้สึกว่ามันขับดันออกมา แต่เราไม่รู้ว่าสิ่งนั้นมันคืออะไร สิ่งนั้นมันคืออะไร

สิ่งนั้นมันมีอยู่ทุกคนแหละ เพราะมันมีสิ่งนี้ไง มันถึงทำให้เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะไง เพราะมันมีอวิชชาไง เพราะมันมีอวิชชาคือความไม่รู้จักตัวตนของเราไง เพราะความไม่รู้จักตัวตนของเรา อวิชชาที่มันปิดหูปิดตามันถึงได้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏะนี่ แล้วเวลาเราจะรู้สิ่งที่เป็นธรรมะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันก็ไปรู้โดยสัญญา โดยสัญญาๆ ความจำได้หมายรู้

ความจำได้หมายรู้ เห็นไหม คนเราเกิดมา เกิดมาต้องมีการศึกษา เวลาศึกษามา ศึกษามาให้ฉลาดไง ให้ศึกษา พอเราโตขึ้นมา เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราพยายามศึกษา เรายังไม่รู้ มาวัดมาวา มีการศึกษามันมีหลายช่องทาง ในการศึกษา เราพาเด็กมาวัดมาวาก็เป็นการศึกษาอย่างหนึ่ง เป็นการศึกษาโดยตา เขาได้รู้ได้เห็นของเขา การศึกษาโดยเสียง เราฟังความเห็นนะ การศึกษาโดยความสัมผัส ไปวัดไปวามีความสัมผัส อย่างนี้มันเป็นประเพณีวัฒนธรรม แต่เวลาเราศึกษาอย่างนี้ เราศึกษามันเป็นวัฒนธรรม คือเรารู้เราเห็นของเรา เรารู้เราเห็น แต่เราอยากจะรู้แจ่มแจ้งขึ้นมา เราก็ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีการศึกษา ศึกษาจนเปรียญธรรมประโยค จะได้กี่ประโยคก็แล้วแต่ เขาศึกษากันทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาศึกษาแล้วศึกษาเพื่อความฉลาด ศึกษาเพื่อความรอบรู้ไง ศึกษามาเพื่อความฉลาดแล้วมันฉลาดมันรอบรู้ของมัน เวลามันฉลาดมันรอบรู้ของมัน แต่มันปฏิบัติไม่ได้ มันทำไม่ได้จริงไง ถ้ามันทำได้จริง เห็นไหม

ถ้าคนมีการศึกษาแล้ว ถ้าคนมีการศึกษาแล้วทุกคนจะเป็นคนดีทั้งนั้น เวลาคนศึกษาแล้ว ทุกคนทำหน้าที่การงานจะประสบความสำเร็จ ทำไมมันไม่ประสบผลสำเร็จล่ะ มันไม่ประสบความสำเร็จเพราะมันทำไม่ได้ไง

การทำๆ การทำการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ศึกษามาแล้ว ศึกษามาเพื่อประพฤติปฏิบัติ ศึกษามันเป็นแนวทางนะ ศึกษามาเป็นทฤษฎีเป็นแนวทาง แล้วต้องทดสอบๆ เราทดสอบขึ้นมา เราปฏิบัติของเรา ถ้าเวลาปฏิบัติของเราขึ้นมามันถึงยับยั้งได้ไง มันจะยับยั้งสิ่งที่ว่าอะไรมันขับมันดันอยู่นี่ไม่รู้ ไม่รู้ อะไรมันขับมันดันอยู่น่ะ แล้วถ้าคนที่ยังไม่ประพฤติปฏิบัติมันก็ยังไม่รู้ไม่เห็นของมัน

แต่เวลาคนที่จะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เพราะเราจะควบคุมตัวเองไง คนเราจะควบคุมตัวเอง เราจะค้นคว้าหาความจริงในใจของเรา เวลาค้นคว้าหาในใจเรามันจะเริ่มเดือดร้อนแล้ว เวลามันเดือดร้อนขึ้นมามันก็ต่อต้านๆ ไง

เวลาเด็กๆ ปล่อยมา ถ้าปล่อยมันวิ่งเล่นตามสบายนะ โอ้โฮ! มันมีความสุขมาก พอบอกว่าให้นั่งเฉยๆ มันเดือดร้อน มันไม่ยอมแล้ว มันจะมีแต่ความสุขของมัน มันจะเล่นตามอิสระของมัน

นี่ก็เหมือนกัน ชีวิตของเรา เราเกิดมาแล้วเราทำสิ่งใดก็แล้วแต่ความพอใจของเรา กิเลสมันนอนสบาย ทำอะไรก็ได้ โอ๋ย! กิเลสมันนอนสบายเลยนะ แต่พอเราตั้งใจนะ ตั้งใจ พอศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะย้ำเลยนะ บัดนี้เราทำอะไรอยู่

อ๋อ! ทำงานไง เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่อยู่ไง

บัดนี้เราทำอะไรอยู่

อู๋ย! หน้าที่การงานเยอะแยะเลย

ถ้าเขาถามว่าบัดนี้ทำอะไรอยู่ บัดนี้ทำอะไรอยู่ นี่มันหน้าที่การงานของโลกนะ หน้าที่การงานของโลกเป็นงานสาธารณะ ทุกคนก็มีหน้าที่การงานเหมือนกัน เพราะคนมีหน้าที่การงานเหมือนกัน เพราะเราเกิดมาในสังคม สังคมก็แบ่งหน้าที่การงานของมนุษย์แตกต่างกันไป มนุษย์ทำหน้าที่การงานแล้วก็ได้ผลตอบแทนขึ้นมาเพื่อดำรงชีพ เราทำหน้าที่การงานเป็นหน้าที่การงานสาธารณะ หน้าที่การงานของโลกไง แล้วบัดนี้เธอทำอะไรอยู่ บัดนี้เธอทำอะไรอยู่

ชีวิตนี้มันคืออะไร ชีวิตนี้มาจากไหน ชีวิตที่เกิดขึ้นมาด้วยบุญกุศล ด้วยบุญกุศลจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน สัตว์ที่จำแนกให้เกิดต่างๆ กัน จริตนิสัยแตกต่างกันไป เกิดอยู่ที่อำนาจวาสนาของเขา อยู่ที่การศึกษาของเขา อยู่ที่พ่อแม่อบรมบ่มเพาะมา เวลาอบรมบ่มเพาะมานั่นล่ะมันคือจริตนิสัยของเขา สิ่งที่กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน ถ้ามันมีสติปัญญามันจะเริ่ม เออ! แล้วเราล่ะ ถ้าแล้วเรา พอเรา บัดนี้เธอทำอะไรอยู่ นี่ไง พอบัดนี้ทำอะไรอยู่ เราก็ค้นคว้าหาตัวเราไง ถ้าจะเอาความจริงความจังขึ้นมา

ศึกษาๆ มา ศึกษามา หลวงตาท่านพูดประจำ ธรรมะที่ศึกษาทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ชี้เข้ามาที่ใจของสัตว์โลก ชี้เข้ามาที่ใจของเราทั้งนั้นเลย ที่เราไปศึกษาๆ อยู่นี่ ธรรมะสอนใจดวงนี้ทั้งนั้นเลย ที่เราไปศึกษาๆ ทฤษฎี สอนเข้ามาที่หัวใจดวงนี้ทั้งนั้นเลย เพราะสอนถึงวิธีการดับทุกข์ไง สอนเข้ามาที่ใจดวงนี้ไง ถ้าสอนที่ใจดวงนี้ แต่วิธีการมันหลากหลาย มันมากมายมหาศาลเลย แล้วเราก็ศึกษา จำวิธีการทั้งหมดเลย แล้วก็แบกหามเลยว่าฉันมีความรู้มาก ฉันรู้มาก แต่ปฏิบัติไม่ได้เรื่องได้ราวเลย ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมาสักอันเลย แล้วพอจะเอาจริงเอาจังขึ้นมา อะไรมันขับดัน อะไรที่มันผลักดันอยู่นี่ อะไรที่มันต่อต้านอยู่นี่ เข้ามาต่อต้านคืออวิชชาไง คือกิเลสตัณหาความทะยานอยากไง นี่ไง พอบัดนี้ทำอะไรอยู่ พอจะเริ่มค้นคว้าเริ่มศึกษามัน พอจะเริ่มค้นคว้าเริ่มศึกษามัน มันเดือดร้อนแล้ว

แต่เดิม โอ้โฮ! ปล่อยมันสะดวกสบาย โอ้โฮ! เราเป็นคนดีเนาะ เรานี่เป็นเทวดาตัวเขียวๆ เลยล่ะ เป็นคนดี๊ดี

ดีกิเลสมันหลอกไง ดีอยู่ใต้อำนาจของมันไง ให้อาบเหงื่อต่างน้ำขวนขวายเข้าไป ให้อาบเหงื่อต่างน้ำแสวงหามา ถ้าแสวงหามามันก็เป็นจริตนิสัย นี่กรรมจำแนกสัตว์ต่างๆ กัน การฝึกการฝน การประพฤติปฏิบัติเป็นจริตเป็นนิสัย ทำจนเคยชินไง ทำจนเป็นจริตเป็นนิสัยเป็นสันดาน

นี่เขาว่าสันดานขุดไม่ได้ไง สันดานขุดไม่ได้ แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระองค์เดียวคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ละสันดานได้ นอนสีหไสยาสน์ กิริยานี่ แหม! สงบเสงี่ยมมาก กิริยาไม่มีสิ่งใดขาดตกบกพร่องเลย นั่นคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย สร้างมาขนาดนั้น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวาก็ต้องสร้างอำนาจวาสนามา เวลาไปฟังพระอัสสชิแล้วมาบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “นั่นอัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวาเรามาแล้ว”

อัครเบื้องซ้ายเบื้องขวาเขาต้องสร้างสมของเขามา คือเขาต้องสร้างปัญญา กว่าที่พระสารีบุตรจะมีปัญญาอย่างนั้นเขาต้องฝึกฝนมาตั้งแต่อดีตชาติซับซ้อนมา พระโมคคัลลานะจะมีฤทธิ์มีเดชอย่างนั้น เขาก็ต้องฝึกฝนของเขามา เขาต้องสร้างของเขามา เห็นไหม เขาสร้างของเขามา

นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ท่านถึงละของท่านได้ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะทำมาขนาดนั้น อัครเบื้องซ้ายเบื้องขวาต้องปรารถนา ต้องปรารถนาคือต้องสร้างสมบุญญาธิการน่ะ ใครที่ทำอะไรมามันมีเบื้องหลังมาทั้งนั้นน่ะ เบื้องหลังอย่างนี้มันทำให้จริตนิสัยของคนแตกต่างกันไป

ถ้านิสัยของคนมันแตกต่างไป เวลาเราศึกษามาแล้วเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันจะเอาจริงเอาจังขึ้นมา มันจะเริ่มตรงนี้แล้ว เริ่มตรงที่ว่า บัดนี้เธอทำอะไรอยู่

ก็หายใจเข้าหายใจออกไง ก็พุทโธไง นั้นเป็นเบสิกเป็นพื้นฐาน เป็นพื้นฐานที่ว่าทุกคนต้องกลับมาที่ใจของตน ถ้างานที่เริ่มต้นที่ใจของคนมันถึงจะเป็นวิปัสสนา มันถึงจะเป็นการรื้อค้นการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ

แต่เวลาเราศึกษา ศึกษาสัญญา สัญญา สัญญาเกิดจากอะไร สัญญาเกิดจากจิต จิตคือพลังงาน จิตคือธาตุรู้ไง พอธาตุรู้ส่งไปที่สัญญา แล้วก็ไปแก้กันที่สัญญาไง แก้ที่ความรู้ ปัญญาความรู้สึกนึกคิดไง มันส่งออกไปแก้กันอยู่ข้างนอกไง มันเป็นเรื่องของสังคม ไม่ใช่เรื่องของเราไง เป็นเรื่องของวัฏฏะไง ใครศึกษา ใครทำวิทยานิพนธ์ ใครทำสิ่งใดไว้เป็นปัญญา กองไว้ที่มหาวิทยาลัยไง ปริญญาเอกต้องมีวิทยานิพนธ์ทั้งหมดไง แล้วเขาเก็บไว้ในหอไง ใครจะศึกษาก็ไปศึกษา นี่เป็นสมบัติของมหาวิทยาลัยไง แล้วเอ็งได้อะไรล่ะ ก็ได้กระดาษไปใบหนึ่งไปแขวนไว้ที่บ้านไง กระดาษไว้ใบหนึ่ง แล้วเอ็งเป็นคนดีหรือยัง เอ็งรู้จักตัวเองหรือยัง เอ็งเป็นอะไรขึ้นมา

นี่ไง ศึกษาแล้วต้องมาปฏิบัติไง เวลาปฏิบัติขึ้นมา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา แต่ปัญญามันมีหลากหลาย มันมีหลายระดับนะ ถ้าปัญญาทางโลก สุตมยปัญญา ปัญญาการศึกษาจนได้กระดาษมาคนละใบๆ แขวนไว้รอบบ้านเลย เอาไว้จุดศพ เอาไว้เวลาตาย เอาไว้เผามัน แต่เวลาความรู้จริงๆ ล่ะ

สุตมยปัญญาศึกษามาแล้ว ศึกษามาศึกษาด้วยสัญญา ศึกษาด้วยข้อมูล มีองค์ความรู้ไหม มี องค์ความรู้ องค์ความรู้เรียนทางวิชาการสิ่งใดมา แต่จิตของเราๆ จิตที่ไปรู้องค์ความรู้นั้นน่ะ องค์ความรู้ที่แบกหามไว้นั้นน่ะ องค์ความรู้ที่มีอยู่ในหัวใจนั่นน่ะ ที่มันแบกหามอยู่ มันแบกหามอยู่นั่นน่ะ มันทำให้ชีวิตนี้มีความสุขไหม มันทำให้ชุ่มชื่นไหม มันทำให้ครอบครัวอบอุ่นไหม มันทำให้ชีวิตนี้ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะไหม แต่มันเป็นวิชาชีพนะ ชาติเจริญเพราะการศึกษา ศาสนาเจริญเพราะการศึกษา แต่นี่สุตมยปัญญา เวลาปฏิบัติไปมันเกิดจินตนาการ มันเกิดอุปาทาน เป็นจินตมยปัญญาหลากหลายรูปแบบนัก มันเป็นความมหัศจรรย์

วิปัสสนาธุระจะมีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ วิปัสสนาธุระจะมีครูบาอาจารย์คอยควบคุม เพราะเวลามันเกิดขึ้นมาอย่างนี้ไม่มีใครรู้ได้หรอก

เรารู้ๆ เพราะเรารู้ เพราะเป็นเราไปหมด แล้วเราแบกหามไปหมด เรายึดมั่นไปหมด เรารู้ มันรู้จริงๆ หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกไง รู้จริงไหม จริง แต่ความรู้นั้นไม่จริง

รู้จริงไหม จริง ก็มันรู้ มันรู้มันเห็นอยู่ แล้วบอกไม่ใช่ได้อย่างไร มันรู้มันเห็นอยู่แล้วบอกว่ามันไม่เป็นไปอย่างนั้นได้อย่างไร ก็มันรู้มันเห็นอยู่ แต่มันไม่จริง ไม่จริงเพราะเป็นนามธรรม มันเป็นอาการที่เกิดขึ้น แล้วถ้าเกิดภาวนามยปัญญามันจะรู้เท่าแล้ว

ถ้าภาวนามยปัญญาเกิดขึ้น จินตมยปัญญา จินตมยปัญญาเราจินตนาการ เรารู้ไปกับอาการนั้น แต่เวลาภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญา คำว่า “ภาวนามยปัญญา” มันเกิดสติ ในมรรค ๘ มีสติ งานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ความชอบธรรมมันเกิดขึ้น ถ้าความชอบธรรมมันเกิดขึ้น ความชอบธรรมที่เกิดขึ้น

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้นะ ตรัสรู้เองโดยชอบ โดยชอบไง แต่ถ้าลัทธิศาสนาอื่นที่มีมาก่อน เขาก็ว่าเขาเป็นศาสดาทั้งนั้นน่ะ แต่เขาตรัสรู้โดยไม่ชอบ ไม่ชอบเพราะอะไร เพราะมีตัวตนของเราเข้าไปบวก ไม่ชอบเพราะเราเห็นว่าดี ไม่ชอบเพราะเราเห็นว่าถูก ไม่ชอบเพราะเราเห็นว่ามันสงบ ไม่ชอบเพราะมันว่าเป็นปัญญา มันไม่ชอบ ไม่ชอบเพราะว่ามันไม่จริงไง

แต่เวลามันชอบขึ้นมา มันเป็นสัจจะ สิ่งนี้มีอยู่ดั้งเดิม ธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิม มันมีของมันอยู่ ถ้าไม่มีของมันอยู่ พระพุทธเจ้ารู้ได้อย่างไร ถ้ามันไม่มีอยู่ ถ้ามันไม่เป็นสัจจะ ไม่เป็นข้อเท็จจริงอย่างนี้ ใครจะไปสร้างมันขึ้นมา มันมีของมัน แต่คนทำไม่ถึง คนทำไม่ได้ คนไม่มีอำนาจวาสนา คนไม่เข้าถึงใจของตน คนไม่เข้าสู่รื้อค้นจากไอ้ก้อนๆ ลึกๆ ที่มันดันๆ ออกมา คนเข้าไม่ถึงไง ถ้าเข้าไม่ถึง เห็นไหม

ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านสอน ท่านสอนบอกว่า ให้ทำความสงบของเข้ามาก่อน ไอ้มันจะขับมันจะดันอย่างไรเรื่องของมันเถอะ เพราะอะไร เพราะไอ้การขับการดัน ไอ้จิตใต้สำนึกอันนั้นน่ะมันถึงทำให้เรามานั่งกันอยู่นี่ไง แต่มันมามันก็ยังมาดีนะ มาดีเพราะเราเกิดมาเป็นมนุษย์ใช่ไหม เกิดเป็นมนุษย์แล้ว ดูสิ ดูมนุษย์เยอะแยะเลย แต่ทำไมเรามีความรู้ความเห็นอย่างนี้ล่ะ ทำไมเราอยากสร้างบุญกุศลล่ะ

คำว่า “สร้างบุญกุศล” นั้นคือโอกาสของหัวใจนะ ถ้าหัวใจมันไม่สร้างบุญกุศล มันจะมีทิฏฐิมานะ มันจะอยากดังอยากใหญ่ อยากเหยียบย่ำ อยากหลอกตัวเองอยู่วันยังค่ำ แต่ถ้าวันไหนมันได้คิด คิดถึงทำบุญกุศลของมันนะ เออ! มันยังมีสัจธรรม

ที่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามว่า บัดนี้เธอทำอะไรอยู่ บัดนี้เธอทำอะไรอยู่นะ ก็จะค้นหามันไง แล้วค้นหามันก็ต้องเอาใจแก้ใจไง ต้องเอาความรู้สึกนึกคิดของเราย้อนกลับเข้ามาไง

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมดชี้เข้ามาที่ใจของเรา แต่เราไม่รู้ ยิ่งศึกษายิ่งรู้ ยิ่งศึกษายิ่งรู้มาก รู้มากยิ่งปากเปียกปากแฉะ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เขาคุยกันด้วยเหตุด้วยผล มันเป็นมงคลในการประพฤติปฏิบัติ เป็นมงคลในการปฏิบัติธรรม เป็นมงคลในการศึกษา มันเถียงกัน มันจะเอาชนะ ปากเปียกปากแฉะ ซัดกันเต็มที่เลย ไอ้นั่นไม่ใช่มงคลชีวิตหรอก นี่ไง จะศึกษาเพื่ออย่างนั้นหรือ

แต่ถ้าศึกษาเพื่อเป็นมงคลชีวิตนะ พอพูดแล้วน มันน้ำตาซึมนะ น้ำตาไหลเลยล่ะ เอ๊อะ! เป็นอย่างนี้จริงหรือ เอ๊อะ! แล้วมันจะหดเข้ามาๆ นะ หดเข้ามาเป็นอิสระ ไม่เป็นเหยื่อของสังคม ไม่เป็นเหยื่อของโลกธรรม ๘ ไม่เป็นเหยื่อของคนยกย่องสรรเสริญ

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ใครจะยกย่องสรรเสริญเราขนาดไหน ถ้าของเรายังสงสัยอยู่ ถ้าในใจเรายังทุกข์ยากอยู่ มันมีคุณค่าอะไร เขาจะติฉินนินทามากน้อยขนาดไหน แต่ดวงใจของเราผ่องแผ้ว ดวงใจของเราใสสะอาด เขาจะติก็ติไปสิ เขาจะพูดขนาดไหนก็พูดไปสิ แต่นี้เราไปวิตกกังวล จะเป็นอย่างนั้นๆๆ

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกัน มนุษย์เกิดมาถือขวานกันมาคนละเล่ม คือมีปากไง มีปากมาคนละปาก แล้วมันก็ถากถางกันด้วยปาก สังคมเขาก็ถือขวานไว้คนละเล่ม แล้วก็ถากถางกัน แล้วเราจะไปถากกับเขาไหม ทำไมต้องไปถากกับเขาล่ะ

แต่เขาจะถากหรือไม่ถาก เขาถากเพราะด้วยปากของเขา นั้นก็เป็นโลกธรรม ๘ นินทาสรรเสริญ มันมีของมันอยู่โดยดั้งเดิมไง มันจริงหรือไม่จริงล่ะ ถ้ามันจริง มันจริงที่ใจเรานี่ไง มันจริงเพราะเราประพฤติปฏิบัติไง มันจริงเพราะเรามีสติปัญญาไง มันจริงเพราะเราตรวจสอบได้ไง มันจริงเพราะเป็นสันทิฏฐิโกไง มันจริงเพราะปัจจัตตังไง แล้วไอ้ที่เขาพูดมันไม่จริงน่ะ แล้วไม่จริงไปหวั่นไหวทำไม ทำไมต้องไปหวั่นไหวอย่างนั้น นี่พูดถึงว่าถ้าปฏิบัติมีหลักมีเกณฑ์แล้วนะ

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เวลาใครจะติฉินนินทาท่านบอกเอาเลย ตามสบาย ท่านมีความสุขด้วย เพราะอะไร เพราะปฏิบัติแล้วไปขัดใจกิเลสไง ไปขัดตาเขาไง เขาต้องมีความสุขความสงบอย่างนั้น แต่เราปฏิบัติแล้วไปขัดกิเลสของมัน กิเลสมันเดือดร้อนแล้ว พอมันเดือดร้อน มันใส่เลย

นี่พูดถึงถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์แล้วเราจะไม่ต้องไปห่วงไปอาทรกับเรื่องอย่างนั้น เราทำปฏิบัติของเรา บัดนี้เธอทำอะไรอยู่ ถ้าเรามีสติปัญญา ฟังธรรมๆ เพื่อความผ่องแผ้วของใจของเรา ความผ่องแผ้วของใจของเรา แล้วตั้งสติตรวจสอบ ตรวจสอบความรู้สึกนึกคิดในใจของเรา ตรวจสอบว่ามันเป็นอย่างนั้นไหม มันพัฒนาขึ้นไหม มันดีขึ้นไหม นี้คือการฟังธรรมเพื่อประโยชน์กับใจ เอวัง