ไม่ไหลตามกิเลส
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๙
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “เด็กโง่ให้กิเลสหลอกใช้”
กราบนมัสการหลวงพ่อเจ้าค่ะ โยมได้ถามปัญหาข้อปฏิบัติธรรมะช่วงต้นๆ ปี ได้แต่ฟังธรรมที่หลวงพ่อเทศน์ในเว็บไซต์อยู่ทุกวัน และได้ทำบุญใส่บาตรพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เพื่อรักษาธาตุขันธ์ของหลวงพ่อทุกวัน เมื่อมาวัดก็เอาเงินมาทำบุญที่วัด
ผลของการปฏิบัติตอนนี้แย่มากๆ เพราะว่านั่งพุทโธแล้วกิเลสมันเอาไปกินตลอด นั่งแค่สิบห้านาที อาศัยเดินจงกรมเป็นส่วนใหญ่ เวลานั่ง จิตมันไหลไปคิดเรื่องอื่นๆ มันควบคุมสติไม่ได้เหมือนคนละเมอเจ้าค่ะ นั่งบางครั้งจะเห็นเป็นภาพบ้าง เพื่อนกัลยาณมิตรก็เรียกให้รู้สึกตัว จิตมันหลุดค่ะ กิเลสมันหลอกเราด้วยเจ้าค่ะ ก็เลยใช้ชีวิตสวดมนต์ให้จิตแทนพุทโธ สวดเร็วๆ ถี่ๆ ยิบในจิตเจ้าค่ะ
และเวลานั่งสวดมนต์ จิตส่งออกไปข้างนอกมันก็ไปคิดเรื่องอื่นๆ โยมพยายามดึงจิตมา มีบางครั้งก็ด่ากิเลสมันไปบ้าง มีบางวันหลับคาบทสวดมนต์ ไม่รู้สึกตัวเจ้าค่ะ มันชวนให้คิดไม่ดีกับครูบาอาจารย์ โยมขอขมาอยู่บ่อยๆ รวมทั้งหลวงพ่อด้วยเจ้าค่ะ หลวงพ่อยกโทษให้เด็กโง่ด้วยเจ้าค่ะ
ช่วงทอดกฐินเมื่อ ๔ พฤศจิกายน โยมได้ไปช่วยงานที่วัดและงานอื่น ช่วยทำถนนและช่วยวันที่ ๔ ธันวาคม ได้พาครอบครัวช่วยงานทำทางจงกรมถวายกับพ่อแม่ครูจารย์เพื่อน้อมถวายในหลวง กลับมานั่งภาวนาก็พุทโธนิ่งดี สติอยู่กับบทสวดมนต์เจ้าค่ะ แต่ในระยะแค่สั้นหนึ่งสัปดาห์
ฉะนั้น โยมคิดว่าต้องไปช่วยงานวัดอยู่บ่อยๆ เพราะเป็นบุญใหญ่ กับเป็นฐานรองรับการภาวนาใช่ไหมเจ้าคะ ทุกวันนี้ก็ต้องต่อสู้กับกิเลสตัวเอง อดทนสู้ทำต่อไปค่ะ โยมเลยต้องตัดสินใจไปภาวนาที่วัดแปดวันสิ้นปี เพื่อให้หลวงพ่อเฆี่ยนกิเลสให้ลูกศิษย์เจ้าค่ะ ที่มีกิเลสหนาดื้อด้านและมันโง่ให้กิเลสขี่หัวตัวเองเจ้าค่ะ สุดท้ายนี้โยมขอกราบเท้าหลวงพ่อเจ้าค่ะ
ตอบ : ไอ้นี่พูดถึงเขาว่าเขาเด็กโง่ คำว่า “เด็กโง่” เห็นไหม ถ้าเด็กโง่หรือเด็กฉลาด คำว่า “เด็กโง่” ถ้าคนมันยอมรับความจริงว่าตัวเราโง่ ตัวเรายังมีความบกพร่อง ตัวเรายังมีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติไง แต่ถ้าเป็นว่าเราฉลาด เรามีความรู้ เรารอบรู้ พวกนี้พวกกำลังจะใกล้เข้าโลง เพราะถ้าฉลาดๆ คนมาหลอกได้ง่ายๆ ไปทางไหนพิจารณาไปแล้วมันลากไปหมดน่ะ แต่ถ้าโง่ๆ โง่ๆ แสดงว่าเราทำอะไรยังไม่ได้ มันระวังตัวไง
ถ้าโง่ๆ นะ ถ้าเด็กโง่ ถ้าเด็กโง่แต่เด็กมีสติปัญญา เด็กรักษาตัวเราเอง เราพยายามฝึกฝนตัวเราเองขึ้นมา จากเด็กโง่เดี๋ยวมันจะฉลาด เราฉลาด ฉลาดในตัวเราเองไง ฉลาดคือเท่าทันความคิดของตน ไม่ใช่ฉลาดกับคนอื่นหรอก คนไม่มีใครฉลาดกว่าใครหรอก
คำว่า “ฉลาดกว่าใคร” ภาษาเรานะ ถ้าเป็นทางโลกถ้ามันฉลาดกว่าใครมันก็เป็นเล่ห์กลทั้งนั้นน่ะ การเล่ห์กลเอาเปรียบกันทั้งนั้นน่ะ การเอาเปรียบกัน แต่ถ้าเป็นเด็กโง่ ดูสิ เป็นพลเมืองดี ถ้าพลเมืองดีเขาเก็บเงินได้แสนหนึ่ง เขาเอาไปคืนเจ้าของ ใครเก็บสิ่งใดเขาก็เอาไปคืนเจ้าของ โง่หรือฉลาดน่ะ คนนั้นโง่หรือคนนั้นฉลาด
ถ้ามองในทางโลก เงินแสนหนึ่งเขาเก็บได้ก็เป็นของเขา แต่ทำไมเขาไปคืนเจ้าของล่ะ เพราะเขาเป็นพลเมืองดี ถ้าเป็นพลเมืองดี แต่ถ้าว่าฉลาด ฉลาดก็เก็บไว้เอง เงินแสน เก็บได้เงินแสน เราไปคืนเจ้าของเขาทำไม นี่คนฉลาด ถ้าคนฉลาดมันก็คิดของมันไป
ถ้าคนโง่ แต่คำว่า “โง่” โง่มีศีลธรรม เขามีศีลธรรม เพราะเขาเป็นพลเมืองดี เขาเห็นว่าของนั้นไม่ใช่ของเขา เขาก็ไปคืนเจ้าของเขา ถ้าคืนเจ้าของเขา เจ้าของเขาก็มีความยิ้มแย้มแจ่มใส เราเห็นความยิ้มแย้มแจ่มใส เห็นเขามีความสุข เราก็พอใจแล้ว แล้วของเราแสนยังไม่มี เดี๋ยวเราก็ทำมาหากินของเรา เราก็มีอยู่มีกินเหมือนกัน
ถ้ามีแสนหนึ่ง มีแสนหนึ่งไปฉลองก็จบเลย ไปฉลองว่าเราได้เก็บเงินแสน มันไปฉลองใช้จ่ายแสนหนึ่งหมดไป แต่นี่เขาจะคิดแล้ว แสนนี้เป็นของใคร แสนนี้เราเอาไปใช้
เราไปใช้จ่ายแป๊บเดียวไง แต่ไอ้ที่ฝังใจไปทั้งชีวิต แต่นี่ถ้าไปคืนเขาแล้วนะ แสนนี้ไม่ได้ใช้เลย แต่ภูมิใจ ภูมิใจไปทั้งชีวิตเลยนะ นี่เราไปคืนเขา นี่ไง เขาว่าเด็กโง่ เด็กโง่แต่ถ้ามีสติปัญญา จะโง่ขนาดไหนมันก็เท่าทันตัวมันเองไง
แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติมันไม่ใช่ของง่ายๆ หรอก เวลาจะประพฤติปฏิบัตินะ เวลาเราปฏิบัติกัน เราปฏิบัติความเป็นคนดีไง อย่างเช่นชาวพุทธนี่ ชาวพุทธมีวัฒนธรรมนะ เวลาไปวัดไปวา ถึงเวลาเขาถวายทาน เขาขอศีลไง เราทำได้หมดน่ะ นี่วัฒนธรรมของชาวพุทธไง เราไปวัดไปวาเราก็รู้ได้
สิ่งที่เราจะประพฤติปฏิบัตินี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรากำหนดพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราก็เป็นนักปฏิบัติ เราก็รักษาใจของเราไป มันจะได้มากได้น้อยอย่างไรดีกว่าไม่ได้ทำ เวลาถ้าดีกว่าไม่ได้ทำนะ คนไม่มีโอกาสก็ไม่ได้ทำสิ่งใดเลย ถ้าคนมีโอกาส เราได้ทำของเรา ถ้าได้ทำของเรา ทำได้มากได้น้อยก็เป็นสมบัติของเรา
เวลาบวชใหม่ๆ คนจะเข้าไปถามครูบาอาจารย์ทั้งนั้นน่ะ นั่งสมาธิอย่างไร เดินจงกรมอย่างไร นั่งสมาธิก็นั่งสมาธิไม่เป็น เดินจงกรมก็เดินจงกรมไม่เป็นทั้งนั้นน่ะ แล้วถ้ามันเป็น เป็นอย่างไร เวลาเป็น เดินจงกรมเป็นๆ หุ่นยนต์มันก็ทำได้ เดินอย่างนั้นน่ะหุ่นยนต์ก็ทำได้
เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เขานั่งเพื่อจิตสงบ ทีนี้ว่าจิตมันอยู่ในร่างกายนี้ไง จิตนี้มหัศจรรย์นี่ไง เราก็อาศัยการเดิน อาศัยการนั่งนั้นเพื่อย้อนกลับมาหาตัวมันเอง สติ จิตจับจิต จิตเห็นจิต จิตรู้เท่าทันจิต ทีนี้จิตมันอยู่ไหนล่ะ จิตมันอยู่ไหน
โดยทั่วไป มนุษย์มีกายกับใจๆ แล้วเราธุดงค์มา เราเจอมามาก บางทีเขาพูดเหยียดหยามนะ “โอ๋ย! ถ้ามีแต่กายกับใจมันก็ไม่ต้องกินข้าวสิ” เราก็ว่ากันไปนะ เขาดูถูกเหยียดหยามมากนะไอ้พวกที่จิตหยาบๆ น่ะ จิตหยาบๆ เขาบอกว่าเรื่องนามธรรมเขามองเป็นเรื่องตลก เขาจะพูดแต่เรื่องเป็นวัตถุธาตุ นี่เวลาจิตมันหยาบๆ ถ้าจิตคนละเอียดมันถึงจะละเอียดเข้ามาได้
เวลาเราไปเจอคนที่หยาบๆ หยาบมากๆ นะ เพราะเราธุดงค์ผ่านเรื่องนี้มาเยอะ ไปเจอคนที่ดีนะ จิตใจละเอียดอ่อนนะ โอ้โฮ! เขาเจอเรานะ จริงๆ นะ เราก็พระเด็กๆ นี่ เขาเห็นอย่างกับเทวดานะ เขาอยากจะอุปัฏฐาก เขาอยากจะดูแลอย่างดีเลย ไอ้เราจนละอายนะ เวลาเจอคนดีๆ เขาก็ศรัทธา เขาชื่นชมมาก ไปเจอไอ้ที่หยาบๆ อู้ฮู! มันดูถูกเราอย่างกับสัตว์ประหลาด ดูถูกเหยียดหยามมาก กรณีอย่างนี้เวลาธุดงค์ไป เราจะผ่านเหตุการณ์อย่างนี้มา
นี่ย้อนกลับมา เหตุการณ์อย่างนี้นะ จิตใจของคนมันคิดอย่างนี้ นี่จิตใจของคน แต่มันแสดงออกไง พอมันแสดงออกมามันก็เป็นอย่างนั้นน่ะ จิตหยาบจิตละเอียดมันแสดงออกมาเราก็เห็นใช่ไหม
ทีนี้ย้อนกลับมาเด็กโง่ นี่มันจิตของเราเองไง เวลามันแสดงออกมา เราแสดงออกมาโดยเรารู้สึกตัวเราเองไง ถ้าเวลาเราเด็กโง่ภาวนาไม่ได้ มันทุกข์มันยาก ภาวนาไม่ได้ จิตมันเสื่อมหมดเลย พุทโธก็ไม่ได้ สิ่งใดก็ไม่ได้
อันนี้มันก็เรื่องของกิเลส เรื่องของกิเลส เห็นไหม ขิปปาภิญญาเขาฟังทีเดียวเขาเข้าใจได้ แต่เข้าใจได้เขาก็สร้างของเขามา อันนี้มันเป็นวาสนาของคน ถ้าวาสนาของคนอย่างนี้ เราก็แบบแขวนไว้ เราไม่ไปรับรู้สิ่งนั้น มันเป็นอดีตไง
เราจะบอกว่าอดีตแก้ไม่ได้ ฉะนั้น เวลาคนเกิดมาแล้วเราเอาปัจจุบัน เอาตอนเกิดนี่ พอเกิดมาเป็นคนสิทธิเท่ากัน เสมอภาคเหมือนกัน มีโอกาสได้เหมือนกัน แล้วทำได้มากได้น้อยมันอยู่ที่ความสามารถของคน ไอ้ความสามารถของคนเวลาทำแล้วมันได้หรือไม่ได้มันก็ต้องวัดกัน มันเป็นวิทยาศาสตร์ไง ทำไมมันถึงไม่ได้ ทำไมมันขาดแคลน ทำไมคนนั้นมันได้ ทำไมคนนี้มันไม่ได้
มันได้หรือไม่ได้มันก็อยู่ที่สติเขาฝึกมาดีหรือไม่ วาสนาเขาทำมาแค่ไหน ดูสิ ดูพระสีวลี อย่างไรๆ ก็รวย ไปที่ไหนๆ มีแต่คนเสียสละทาน พระอรหันต์ที่ว่าไม่เคยกินข้าวอิ่มก็มี มันอยู่ที่คนทำมาๆ คนทำมา กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน
ฉะนั้น เขาบอกว่าเด็กโง่ไง คำว่า “เด็กโง่” แล้วภาวนาไม่ได้ เวลาภาวนาแล้วจิตมันย่ำแย่มากๆ แต่เขาเขียนมาเขาบอกเลย ย่ำแย่มากแต่ก็พยายาม แล้วปีใหม่เขาจะมาภาวนาที่วัด
ถ้าจะภาวนาที่วัดมันก็ขวนขวายให้ทำ ถ้าเรามีโอกาสนะ ชีวิตมีเท่านี้แหละ ถ้าอยู่กับโลกทำงานโลกก็อยู่กับโลกนั่นแหละ แต่ถ้าอยู่กับโลก ทำงานทางโลกด้วย ถ้ามันทุกข์มันยาก ถ้าเรามีสติปัญญานะ เราแบ่งเวลาของเราเอง อยู่ทางโลกเราก็อยู่ มาวัดเราก็มาวัด ไม่มาวัด อยู่บ้านมันก็ภาวนาได้ คือค้นคว้าหาใจของตนได้ทุกเวลาทุกที่ เพียงแต่คนฉลาดมากฉลาดน้อยเท่านั้นเอง ถ้าคนฉลาดมากอยู่ที่ไหนมันก็กำหนดดูใจของตนได้ แต่ถ้าคนฉลาดน้อยมันก็ต้องเข้าสู่พิธีกรรมมันถึงจะได้ปฏิบัติ ถ้าไม่เข้าสู่พิธีกรรมก็ไม่ได้ปฏิบัติ นี่อยู่ที่ฉลาดมากฉลาดน้อย
ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ของเราที่ปฏิบัติท่านปฏิบัติยี่สิบสี่ชั่วโมง วันทั้งวันจะทำสิ่งใดอยู่ ตั้งสติพร้อมหมด
แล้วไอ้พวกปฏิบัติใหม่ก็บอกว่า หนูมีสติทั้งวันๆ
จริงๆ เราฟังใครมาพูดอะไรเราก็ฟังเฉยๆ ไม่อยากจะสวน ขี้โม้ เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดมันเหมือนกับผู้บริหารรับผิดชอบเขาพูด เขารับผิดชอบทั้งองค์กรเลย ไอ้เรามันแค่ไอ้ขี้ตีนน่ะ บอกว่าเหมือนกัน เป็นไปไม่ได้หรอก ไม่มี ไม่มีหรอก แต่เราก็ฟังเฉยๆ เพราะอะไร เพราะมันจะไม่มีใครกล้าพูดกับเราไง ต่อไปจะไม่มีใครกล้าพูดด้วย
นี่ก็เหมือนกัน นี่พูดถึงเด็กโง่ คำว่า “เด็กโง่” แล้วมันปฏิบัติอย่างไร
ถ้าเด็กโง่นะ แต่โง่กับทางโลก ไม่ไปแข่งขันไม่ไปแย่งชิงอะไรกับใคร แต่พยายามค้นคว้าหาใจของเรา จะโง่แค่ไหนมันก็ยังเป็นคนดีกว่า ดีกว่าที่จะไปแย่งชิงจากภายนอก
ฉะนั้น เขาบอกว่า เวลาเขาภาวนาไปแล้ว เวลาจิตมันไม่ดีมันเหมือนคนละเมอ
เป็นอย่างนั้นจริงๆ ยังดีนะ ยังรู้สึกตัวนะ เพราะอะไร เวลาภาวนา เวลาครูบาอาจารย์เวลาจะเทศนาว่าการก็ต้องเริ่มต้นจากหัดภาวนาใหม่ๆ เวลาเราพูดให้กำลังใจ เวลาหลวงปู่มั่นน่ะ หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์นะ ประวัติหลวงปู่มั่น เวลาท่านบวชทีแรก หลวงปู่เสาร์พาออกประพฤติปฏิบัติ โอ้โฮ! ทุกข์ยากขนาดไหน แล้วกว่าจะถูไถเข้ามาจนกว่าจะเข้าทาง ถูไถหาหนทางของตน เวลาหาทางของตนไปได้ นี่ผู้ที่ผ่านประสบการณ์อย่างนั้นมา ผ่านประสบการณ์อย่างนั้นมา แล้วผู้ที่ปฏิบัติใหม่ก็เหมือนกันหมด พื้นฐานเหมือนกันหมดเลย เพียงแต่ใครจะมั่นคงกว่ากัน แล้วใครจะพยายามขวนขวายให้ตัวเองไปได้ ถ้าไปได้มันก็มีหนทางของมันไป
ถ้าบอกเวลาจิตควบคุมไม่ได้เหมือนกับคนละเมอ พอนั่งบางทีเห็นภาพอะไรไปบ้าง
ถ้าเห็นภาพอะไรไปบ้าง ยังดีมีคนเตือนไง คนเตือน เราก็กลับมา ฉะนั้น เวลาทำจริงๆ แล้วถ้ากิเลสมันต่อต้าน เขาบอกบางทีมันชวนให้คิดไม่ดีกับครูบาอาจารย์ต่างๆ
อันนี้เราก็รักษาของเราไว้ ถ้าครูบาอาจารย์ ภาษาเรานะ โดยข้อเท็จจริง โดยข้อเท็จจริงเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเย้ยมารไง “มารเอย เมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ไม่สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ เราจะไม่นิพพาน”
นี่ก็เหมือนกัน คำจาบจ้วง เขาจาบจ้วงพระ เขาจาบจ้วงธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรากล่าวแก้เขาได้หรือไม่ แต่ถ้าพระของเราไม่สามารถทรงได้ ไม่สามารถมีได้ เขาก็ติเตียนได้ มันเรื่องธรรมดา
เราจะบอกเลยว่า ไอ้เรื่องการวิเคราะห์วิจัยเรื่องใช้ปัญญาเป็นเรื่องธรรมดา แต่นี้วุฒิภาวะของเรามันไม่ถึงไง ถ้ามันไม่ถึง เราจะไม่รู้ได้ว่านั่นเป็นพระจริงหรือพระปลอม ถ้าพระปลอม พระปลอมมันสามารถวิเคราะห์วิจัยได้เพื่อเราอยากได้พระจริง แล้วถ้าพระจริง เราไม่มีสติปัญญา เราไม่มีสิ่งใดแยกแยะได้
ดูสิ กรณีหลวงตา มีคนไปขอขมาลาโทษท่านเยอะแยะเลย เวลาถึงเวลาแล้วกระแสสังคมเขาโจมตีด้วยข้อทางเหตุผล เราก็เชื่อไปกับเขา พอถึงเวลาแล้วพอเราได้กลั่นกรองไปแล้วว่าไม่ใช่ เราต้องไปขอขมาลาโทษ นี่ขอขมาลาโทษยังดีนะ ยังมีโอกาสขอขมาลาโทษ ถ้าไม่ขอขมาลาโทษ มันแบบว่าติเตียนพระอริยเจ้า มันก็เป็นบาปเป็นกรรมเหมือนกัน
ฉะนั้น เวลาติเตียนครูบาอาจารย์ ถ้าวุฒิภาวะเรายังไม่ถึง เราพยายามหยุดไว้ก่อน หยุดไว้ก่อน ให้ภาวนาก่อน พอเราภาวนาเป็นแล้วมันทะลุปรุโปร่ง
ดูสิ เวลาหลวงตาท่านธุดงค์ไปแล้วไปถามปัญหาผู้อื่น เวลาหลวงปู่มั่นเสียแล้วน่ะ ท่านบอกเลย “โอ๋ย! ปัญญาระดับนี้จะมาสอนเรา” คนฟังมันฟังออกนะ เราได้ผ่านมาหมดแล้ว โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค ถ้าคนเป็น ถ้าเราพูดอย่างนี้คนเป็นจะเข้าใจหมด ถ้าคนไม่เป็นน่ะ เห็นโม้ทุกวันเลย ไอ้มรรคๆ นี่เห็นโม้ทุกวันเลย
มันเป็นขั้นตอนของมัน ขั้นตอนพัฒนาจิตขึ้นมามันเป็นขั้นตอนของมัน แล้วถ้าขั้นตอนของมัน ใครพูดระดับไหนก็อยู่ระดับนั้นน่ะ ถ้าระดับนั้น ใครพูดอย่างไรมามันจะรู้เลยว่าจิตเขาอยู่ตรงไหน ให้พูดมาเถอะ ถ้าพูดมาแล้วจะรู้ทันทีว่าจิตเขาอยู่ระดับไหน ฉะนั้น ถ้าอยู่ได้
นี่ไง ถ้าบอกว่า ถ้ามันเป็นความจริงอย่างนี้แล้ว กล่าวแก้คำจาบจ้วง กล่าวแก้คำโจมตี กล่าวแก้คนที่มันทำลาย กล่าวแก้นี่เป็นบุญทั้งนั้นน่ะ ส่งเสริมพระพุทธศาสนา ส่งเสริมให้พระเป็นคนดี ส่งเสริมให้คนประพฤติปฏิบัติให้ปฏิบัติดี มันจะมีบาปตรงไหน
เขาบอกว่าอะไรนะ ถ้าพูดไปมันจะเป็นสังฆเภทๆ
ยกสงฆ์ให้ดีขึ้นมันเป็นสังฆเภทตรงไหน สงฆ์ที่มันไม่เอาไหน สงฆ์ที่มันไม่ทำ ทำให้มันดีขึ้นมานี่ บอกให้มันดีขึ้นมานี่ ตรงไหนเป็นสังฆเภท สังฆเภท หมายถึงว่า หมู่สงฆ์นั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ เขามีความสงบมีความสุข แล้วเราไปยุไปแหย่ให้เขาแตกแยก เขาสุขเขาสงบ คือว่าไปยุแหย่ให้คนดีเป็นคนไม่ดี ว่าอย่างนั้นเถอะ
แต่คนที่เขาทำไม่ดี คนที่เขาทำผิดพลาด เราไปบอกเขาให้ทำดี มันไปแตกแยกตรงไหน ทำให้คนดีมันแตกแยกตรงไหน ทำให้พระดีนี่มันแตกแยกตรงไหน แต่ทำให้พระดีชั่ว พระที่กำลังจะดี ทำแต่ความดีอยู่ แต่เขายังไม่ดีแท้ แล้วเราไปยุไปแหย่ให้เขา นี่สังฆเภท ถ้ามันคบของมันนะ นี่พูดถึงว่าเวลาทางโลกเขากลัวของเขา
นี่พูดถึงว่า ถ้าเป็นคำว่า “เด็กโง่” เด็กโง่ก็ทำให้มันฉลาดซะ ถ้ามันฉลาดซะมันก็ดีขึ้นมาแหละ ฉะนั้น นี่จบ
ถาม : เรื่อง “จะรักษาจิตอย่างไรไม่ให้เสื่อม”
กราบนมัสการหลวงพ่อเจ้าค่ะ หนูมีคำถามจะรบกวนถามหลวงพ่อเพียงหนึ่งคำถามคือ เราจะรักษาจิตอย่างใดไม่ให้เสื่อมไป หากเราต้องใช้ชีวิตในทางโลกเจ้าคะ
ตอบ : นี่ถ้าพูดถึงว่าจะรักษาจิตไม่ให้เสื่อม ถ้ามันมีศรัทธาความเชื่ออยู่แล้ว ศรัทธาความเชื่อ ถ้ามันพิจารณาของเราด้วยสติปัญญา มันจะเป็นอจลศรัทธา
ศรัทธานี้มันยังเสื่อม มันยังคลอนแคลนของมัน ศรัทธา อจลศรัทธา ศรัทธาที่ไม่คลอนแคลน ถ้าศรัทธาไม่คลอนแคลนนะ อจลศรัทธา ถ้าศรัทธา ถ้าเราพิจารณาของเราไป เราทำสมาธิของเรา ถ้ายกขึ้นสู่วิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาไปได้ มันยังเสื่อม เจริญแล้วเสื่อมๆ ถ้าพิจารณาไปถึงที่สุด ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ถ้าเป็นอกุปปธรรมนี่ไม่เสื่อม
คำว่า “ไม่เสื่อม” นะ ถ้ามันจะไม่เสื่อมมันเป็นกุปปธรรม อกุปปธรรม ถ้าเป็นอกุปปธรรมแล้วมันจะไม่เสื่อม แต่ถ้ามันยังเป็นกุปปธรรมอยู่ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตานี่เสื่อม ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะเป็นกุปปธรรม กุปปธรรม อกุปปธรรม อยู่ในธัมมจักฯ
ถ้ากุปปธรรมนะ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา นี่ใช่ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา เพราะในธัมมจักฯ บอกว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะอะไร เพราะคำว่า “เป็นอนัตตา” มันวิวัฒนาการ มันพัฒนาการได้ ถ้ามันเป็นอัตตา มันจะพัฒนาการไปได้อย่างไร อกุปปธรรม เฉพาะสิ่งที่มันมีผลรองรับ แต่มันยังพัฒนาของมันขึ้นไปได้ อกุปปธรรมที่มันจะต่ำลงมา ไม่ต่ำ แต่มันสูงขึ้นได้
ฉะนั้น ถ้าจะแก้จิตเสื่อม ถ้าจะไม่ให้เสื่อมอีกเลยนะ ก็พยายามภาวนาของเราจนมันมีความมั่นคง ถ้ามันมีความมั่นคง ถ้ามันเป็นศรัทธา ศรัทธาทางโลกมันก็มีเจริญแล้วเสื่อมเป็นเรื่องธรรมดา เจริญแล้วเสื่อม ทีนี้เจริญแล้วเสื่อม เขาถึงบอกว่า อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา เราไม่คบคนพาล เพราะคนพาลจะพาไปทางที่เสื่อม เราจะคบบัณฑิตไง ถ้าบัณฑิตเขาจะพาเราไปทางที่ดี ถ้าจะไม่ให้เสื่อม เราก็คบบัณฑิต
คบบัณฑิต ถ้าจะคบ ในมิตร ยอดมิตรเลย ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้คบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่หนึ่ง ทีนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่อยู่แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่อยู่ เราคบธรรม “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด” เราพยายามศึกษาของเรา ศึกษาของเราแล้ว พอศึกษาแล้วถ้ามันมีกัลยาณมิตร มีบัณฑิต เราก็ได้ศึกษาด้วยกัน แต่ถ้าไม่มีมันก็จะไป เห็นไหม
นี่พูดถึงว่าจะรักษาอย่างไรไม่ให้เสื่อมจากศรัทธาก่อน ไอ้ที่เราพูดนี่เราพูดถึงไม่ให้เสื่อมศรัทธา ไม่ให้เราไหลไปไง เพราะส่วนใหญ่มาอย่างนี้ มีคนมาถามปัญหาเยอะมาก ถามปัญหาเสร็จ มันเป็นตั้งแต่เมื่อไหร่ล่ะ สิบปีที่แล้ว ยี่สิบปีที่แล้ว คือเขาพอถึงที่สุดแล้วมันจนตรอกแล้วเขาก็เลิกไปพักหนึ่ง พอไปทางโลกมันทุกข์ เดี๋ยวก็กลับมาใหม่
ถ้ามันเสื่อมศรัทธาไปมันก็ไปทุกข์ไปยาก พอไปทุกข์ไปยากเดี๋ยวก็กลับมา หมุนเวียนอยู่อย่างนี้ แต่ถ้าเราเป็นอจลศรัทธา เราศรัทธามั่นคงของเรานะ แล้วเราขวนขวายของเราต่อเนื่องของเราไป ทำให้เรามั่นคงแล้วเราปฏิบัติของเราไป ฉะนั้น นี่พูดถึงเสื่อมศรัทธา
แต่ถ้ารักษาจิตไม่ให้เสื่อม เราจะต้องใช้ชีวิตอย่างไร
ถ้ารักษาจิตนี้ไม่ให้เสื่อมนะ มันเป็นถ้าโดยข้อที่ครูบาอาจารย์พระกรรมฐานเขาใช้กันน่ะ หลวงปู่มั่นท่านใช้อย่างนี้ หนึ่ง ไม่ให้คลุกคลี ไม่ให้คุยกัน ไม่ให้ขี้โม้ นี่ไง เวลาพระกรรมฐาน พระป่า ไปดูตามวัดสิ เขาจะไม่ค่อยคุยกัน พอเข้าไปต่างคนต่างอยู่ ต่างอยู่เพราะอะไร ต่างคนต่างรักษาจิตของตนไม่ให้มันเสื่อมไง แต่ถ้ามันคลุกคลีกันน่ะ มันคลุกคลีกันนั่นแหละจะทำให้เสื่อม เพราะมันคลุกคลีกันมันก็พูดกัน มันก็หยอกกัน มันก็เล่นกัน พอหยอกกันเล่นกัน สติมันอยู่ไหน
นี่อยู่ในข้อวัตรนั่นน่ะ อยู่ในข้อวัตร หลีกเร้น ไม่คลุกไม่คลีกัน ต่างคนต่างรักษาจิตของตน นี่นักภาวนาเขาทำกันอย่างนั้น ถ้าทำอย่างนั้นมันจะเป็นประโยชน์อย่างนั้น ถ้าเป็นประโยชน์อย่างนั้น นี่เป็นประโยชน์
นี่พูดถึงว่า รักษาไม่ให้จิตเสื่อม ถ้าไม่รักษา ให้ศรัทธาเสื่อมนั่นเรื่องหนึ่งนะ นี่รักษาไม่ให้จิตเสื่อม ขอให้มีเถอะ ถ้ามีแล้วรักษาของมัน รักษาได้มันจะเป็นของมันไป นี่พูดถึงว่า รักษาไม่ให้จิตเสื่อม จบ
ถาม : เรื่อง “พิจารณาไปแล้วเกิดอาการแบบนี้ถูกหรือไม่”
ตอบ : แหม! มันจะตอบอันนี้อยู่แล้วเนาะวันนี้ นี่เขายกเลิก มันยกเลิกมาตั้งแต่ต้นแล้ว คำว่า “ยกเลิก” ถ้ายกเลิกแล้ว อันนี้มันเป็นคำว่า เพราะว่าเราไปอ่านดูมันเป็นเหมือนกับไอ้ที่ตอบไปเมื่อวาน เรื่อง “รู้ทันกิเลส” คำว่า “รู้ทันกิเลส” อันนั้นอันเดียวก็พอ
ไอ้ตรงนี้มันเหมือนกับว่า ถ้ามันพิจารณาเป็นความจริง ถ้าพิจารณาเป็นความจริงแล้วนะ มันก็อยู่กับความจริงนั้น ถ้าพิจารณาเป็นความจริงแล้ว เพราะอะไร เพราะว่าเวลาธรรมไง เวลาธรรมมันเกิด เห็นไหม เวลาธรรมมันเกิด ในตำราก็บอกว่าธรรมเกิด แต่หลวงตาท่านบอกว่ากิเลสเกิด กิเลสเกิดเพราะอะไร กิเลสเกิดเพราะว่าธรรมมันเกิดแล้วมันได้ลิ้มรสนั้น พอได้ลิ้มรสนั้นแล้วมันอยากได้อย่างนั้นอีก พอคำว่า “อยากได้” นี่กิเลสเกิด
คำว่า “อยากได้” อยากได้คือสัญญาทั้งหมด อยากได้คือการจินตนาการอยากได้ มันไม่ใช่ปฏิบัติได้ การที่ปฏิบัติได้คราวนั้นมันปฏิบัติได้ พอปฏิบัติได้ น้ำหูน้ำตาไหล นั่นคือการปฏิบัติได้ พอการปฏิบัติได้ปั๊บ เราก็ชื่นชมอันนั้น เราก็อยากได้อย่างนั้น พออยากได้อย่างนั้นน่ะ ไอ้ความอยากได้ๆ นี่ความอยากอย่างนี้ปฏิบัติด้วยความอยาก ปฏิบัติโดยไม่ได้ พอไม่ได้มันยิ่งทุกข์ยิ่งยาก พอมันทุกข์มันยาก มันทุกข์มันยากตรงนี้ นี่กิเลสเกิด เกิดตรงนี้ เกิดตรงกิเลส มันเสื่อมไง เกิดตรงที่ว่า เราภาวนาไม่เป็น เราต้องการ เรามีแต่แรงปรารถนา แต่เราไม่ได้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มันไม่ได้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มันไม่เป็นข้อเท็จจริงไง
แต่ที่มันได้ครั้งแรกเพราะเราไม่รู้เหนือรู้ใต้ เราก็ปฏิบัติของเราไปโดยสัจจะไง เวลามันเป็นจริงๆ มันก็เป็นจริงขึ้นมาโดยข้อเท็จจริงไง ถ้าโดยข้อเท็จจริง นี่โดยข้อเท็จจริง เวลาธรรมเกิด เวลาที่มันเกิดสัจธรรม
แต่ถ้าพอมันผ่านไปแล้ว มันผ่านไปแล้ว นั่นมันเป็นอดีตไปแล้ว พอเป็นอดีตไปแล้ว ถ้าไปผูกพันตรงนั้นมันติดอยู่กับอดีต มันไม่เป็นปัจจุบัน ทุกข์ตายห่าเลย จากที่มันจะเป็นประโยชน์มันก็เป็นโทษ
สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ มันมีโทษในตัวมันเอง สิ่งใดที่เป็นโทษ คนรู้จักใช้รู้จักหาผลประโยชน์ มันเป็นประโยชน์ สิ่งที่เป็นโทษ รู้จักวิเคราะห์วิจัย มันจะเป็นประโยชน์ มันจะสอนเรา สิ่งที่เป็นประโยชน์ ถ้าเราไปยึดติดมัน เราไปหลงใหลมัน นั่นก็เป็นโทษไง นี่เราไหลไปกับกิเลสไง
ทีแรกว่ารู้ทันกิเลสๆ ตอนนี้มันจะไหลไปกับกิเลสไง ไหลไปกับกิเลส มันเรียกร้องเอาตรงนั้นไง สิ่งที่เรียกร้องเอา สิ่งที่จินตนาการเอามันไม่ใช่เป็นความจริงไง ถ้าเป็นความจริงต้องทิ้งหมดเลย ทิ้งแล้วมันทำเป็นปัจจุบันขึ้นมา มันไม่ไหลตามกิเลสมันไปไง ถ้ารู้ทันกิเลส รู้ทันกิเลสมันก็ทันกิเลส รู้ทันกิเลสมันก็หยุด ถ้ารู้ทันกิเลส
ทีนี้ถ้ามันตื่นเต้นไปกับมัน ตื่นเต้นไปกับมัน ยึดมั่นถือมั่นมัน มันต้องตอกย้ำว่าต้องเป็นอย่างนั้นๆ นั่นน่ะไหลไปกับกิเลส
ในความดีก็มีความไม่ดี ในความไม่ดีก็มีความดี แต่มันต้องรู้จักใช้ไง รู้จักใช้ รู้จักบริหาร รู้จักจัดการ มันต้องฉลาดมันถึงจะภาวนาได้ ไม่อย่างนั้นไม่มีสิทธิ์หรอก
เพราะเห็นแล้วไอ้ข้อนี้ แหม! พอดีมันยกเลิกไปเสียก่อน
มันจะไปตื่นเต้นอะไร มันจะไปตอกย้ำอะไร ตอกย้ำตรงนั้น เขาบอกว่า“เพราะว่าหลวงพ่อบอกว่ามันเป็นปีติ”
ปีติก็เหมือนกัน ปีติ ถ้าเรามีความสุขมีความพอใจ มันเกิดปีติ ปีติก็ปีติ ปีติก็เป็นนามธรรม มันก็เป็นอารมณ์อารมณ์หนึ่ง เดี๋ยวมันก็เสื่อมไป เดี๋ยวมันก็คลายไป เพราะอะไร ถ้าเป็นปีติ ปีติอยู่กับเราตลอดไป มันก็ลงสุขไม่ได้ ลงเอกัคคตารมณ์ไม่ได้
วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ มันเกิดปีติ มันผ่านปีติไปมันก็เป็นสุข มันผ่านจากสุขไป สุข เห็นไหม สุขๆๆ เวลาเป็นเอกัคคตารมณ์มันมั่นคง มันผ่านสุขไป มันเป็นอารมณ์น่ะ มันเป็นนามธรรมที่เราต้องเคลื่อนไปน่ะ แล้วมันเคลื่อนไป
เมื่อกี้บอกว่า แล้วแก้จิตเสื่อมอย่างไร แก้จิตเสื่อมอย่างไรเลย
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าทันกิเลส
ไอ้นี่มันไหลไปกับกิเลสแล้ว กิเลสจะชักให้มันไหลไป แต่กลับมานี่
ถาม : หนูมีคำถามต่อเนื่องจากเรื่องเมื่อวานค่ะ คือหนูยังมีข้อสงสัยอยู่ว่า หากเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ทำไมเวลาหนูพิจารณาโดยที่ไม่มีพุทโธนำไปก่อน มันถึงปล่อยไม่ได้ แต่เมื่อไหร่ที่หนูพุทโธดี พุทโธถี่ๆ พุทโธแล้วพุทโธเกิดขึ้นเอง พุทโธจนน้ำตาไหล ถ้ามีอาการแบบนี้หนูถึงพิจารณาได้ เช่น เรื่องโลกธรรม ๘ ที่ได้ถามหลวงพ่อไปเมื่อวาน หากพุทโธยังไม่ได้ พอพิจารณาได้ มันไม่เกิดอาการปล่อย มันจืดชืด แต่พอพุทโธติดแล้วหนูถึงอยากออกพิจารณา และพิจารณาแล้วปล่อยวางได้ หรือว่าเราจำเป็นต้องใช้ทั้งสองวิธีควบคู่กันไปหรือเปล่าเจ้าคะ หนูต้องขอกราบ
ตอบ : เมื่อวานถามดู ถ้ามันพิจารณาอย่างนี้แล้ว บอกว่าถ้าแสดงตัว ยังไม่อยากแสดงตัว ไอ้แสดงตัวไม่แสดงตัว เพราะอะไร เพราะธาตุ ๔ เวลามันทิ้ง มันทิ้งไปทั้งนั้นน่ะ หัวใจมันสำคัญกว่าไง
ฉะนั้นจะบอกว่า ถ้ามันจะบอกว่าเราบอกว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ แค่เป็นปัญญาอบรมสมาธินี่ดีมากแล้ว แล้วถ้าบอกเวลาพิจารณาโลกๆ ดูสิ ทางโลกเขาใช้ปัญญาเป็นปัญญาคิดงานๆ กันน่ะ เขาคิดงานเขาใช้ปัญญาเหมือนกัน ไอ้นี่ก็ใช้ปัญญา แต่ปัญญาบอกว่า ถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ทำไมเวลาต้องพุทโธๆ พุทโธถี่ๆ ถี่ๆ จนจิตมันสงบแล้วมันถึงออกใช้ปัญญา ออกใช้ปัญญาแล้วมันถึงเกิดอารมณ์อย่างนั้น พุทโธถี่ๆ เขาจะบอกว่าพุทโธถี่ๆ นั่นคือสมาธิ เวลาปัญญานี้จะเกิดวิปัสสนา
ความคิดมันเป็นอย่างนั้นไง เวลามันไหลไปแล้วมันจะเอามาตรฐานไง มาตรฐานมันคนละมาตรฐานทั้งนั้นน่ะ ถ้ามาตรฐานของพระอริยเจ้ามันมั่นคง มันกลั่นออกมาจากอริยสัจ มาตรฐานนี้มันมาตรฐานของอริยสัจ มาตรฐานที่ว่าสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔
ไอ้ที่ว่าพุทโธถี่ๆ พุทโธถี่ๆ มันอยู่ที่กรรมฐาน ๔๐ ห้อง กรรมฐาน ๔๐ ห้อง บางคนถนัดอย่างนี้มันถึงจะเป็นสมาธิ บางคนไม่ถนัดมันก็ไม่เป็น แล้วไอ้ถนัดๆ พอถนัดสักพักหนึ่งเดี๋ยวก็ไม่ถนัด
คำว่า “ถนัด” ก็ส่วนคำว่า “ถนัด” ถนัดคือจริตนิสัย ถนัดคือสันดาน สันดานของคนเป็นอย่างไรก็เป็นเพราะตามสันดาน แต่เวลากิเลส กิเลสมันหลอกทั้งคน หลอกทั้งสันดานด้วย หลอกทั้งจริตนิสัยด้วย เวลากิเลสมันจะหลอกมันต่อต้านได้หมด กิเลสมันพลิกแพลงได้หมดน่ะ ไอ้ที่ว่าพุทโธถี่ๆ พุทโธถี่ๆ แล้วเดี๋ยวมันจะเป็นน่ะ เวลาเดี๋ยวกิเลสมันพลิกแพลงมาเดี๋ยวจะว่าจะถี่หรือไม่ถี่
ไอ้กรณีอย่างนี้กรณีจริตนิสัย กรณีกรรมฐาน ๔๐ ห้อง เขาให้พลิกแพลงเป็นปัจจุบันตลอดไง เวลากิเลสมันพลิกมันแพลงมา กิเลสมันมาหลอกอย่างไรนะ เราก็เปลี่ยนวิธีไปใหม่ อุบายเราจะเปลี่ยนของเราไปเรื่อย อุบายจะสดๆ ร้อนๆ อุบายของเรา ถ้าทำอย่างนี้ ได้ สองสามทีก็ได้ เดี๋ยวก็ไม่ได้แล้ว มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันต้องมีความชำนาญ
พอความชำนาญเข้าไปแล้ว อย่างครูบาอาจารย์ของเราที่ชำนาญมาก ชำนาญตรงไหน ชำนาญ เวลาท่านพิจารณาไปแล้ว ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ ๕ พิจารณาต่อเนื่องไป อุปาทานไม่ใช่เรา พิจารณาต่อเนื่องไปจนกามราคะปฏิฆะขาดไป พิจารณาของมันไป สังโยชน์เบื้องบน พอมันชำนาญแล้วเพราะอะไร เพราะมันไม่ให้กิเลสมันมาหลอกลวง
คำว่า “ชำนาญของหลวงตา” คำว่า “ชำนาญ” คือว่ามันไม่มีกิเลส ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ไร้สาระ อย่ามาโม้ กิเลสนี้มันร้ายนัก
แต่คำว่า “ชำนาญๆ” เราบอกคำว่า “ชำนาญของครูบาอาจารย์เรา” ชำนาญเพราะอะไร ชำนาญเพราะมันไม่มีตัวหลอกไง โดยเคมี เคมีมันไม่มีชีวิต เคมีมันไม่กะล่อน เคมีนี่นะ นักวิทยาศาสตร์เขาผสมสารเคมีต่อเนื่องกันมันจะให้ค่าออกมาตามข้อเท็จจริง ให้ค่าตามนั้นเลย จิตก็เหมือนกัน ขันธ์ ๕ ถ้ามันพิจารณาไปตามธรรมชาติของมัน มันจะเป็นอย่างนั้น
แต่เรามีกิเลส สัตว์มันมีชีวิตใช่ไหม สิ่งที่มีชีวิตมันมีความอยากใช่ไหม มันมีความอยาก มันมีความต้องการ มันมีแรงปรารถนาใช่ไหม ไอ้ความอยาก ความปรารถนา ความต้องการ นั่นน่ะคือกิเลส กิเลสตัวนี้ตัวร้าย กิเลสตัวนี้มันทำให้เสียหาย นี่ไง กิเลสไง แล้วเวลาทำขึ้นมาทางเคมีมันได้หนหนึ่ง ทางเคมีคือว่าพิจารณาไปหนหนึ่งแล้วจะให้มันอยู่อย่างนั้นตลอดไป เป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้
เราบอกว่า นี่มันจะไหลไปแล้วล่ะ มันจะไหลไป มันจะไหลไปตั้งแต่เมื่อวานนี้ ไอ้นี่มันเพิ่งมาไง แล้วเมื่อคืนไปดู อ๋อ! ไอ้นี่มันไหลไปแล้ว เพราะภาวนาก็คือภาวนา เป็นก็คือเป็น เป็นอย่างไรมันก็แค่นั้น แต่ถ้ามันตื่นๆ ย้ำๆๆ อย่างนี้ ถ้าย้ำๆ อย่างนี้มันคืออะไร มันเอาเหตุผลที่คำถามนี่หรือ มันไม่เอาเหตุผลที่ข้อเท็จจริงนั้นหรือ
ฉะนั้น เราจะบอกว่าสิ่งนี้ เราว่าเมื่อวานเรารู้ทันกิเลส แล้ววันนี้เราบอกว่าไหลตามกิเลสไปแล้ว เราไหลตามกิเลสไป เพราะนี่ย้อนกลับมา พอดีคำถามมาเลย บอกว่า “ถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ทำไมมันต้องพุทโธก่อน”
จะพุทโธก่อน จะปัญญาก่อน ได้ทั้งนั้นน่ะ จะเดินจงกรมก่อนค่อยนั่งภาวนาก็ได้ จะนั่งภาวนาก่อนค่อยเดินจงกรมก็ได้ เพราะเราเดินจงกรมก่อน บางคนต้องเดินจงกรมก่อน เดินจงกรมให้จิตมันอยู่ในขอบเขต
บางทีอย่างเรา เวลาเมื่อก่อนเวลาธุดงค์ไปถ้าเกิดมีประเด็นอะไรขึ้นมา เข้าทางจงกรมเดินไวๆ เลย เดินทีหนึ่งเป็นวันๆ เลยนะ เดินให้เหงื่อไหลไคลย้อยเลย พอมันเต็มที่แล้ว โฮ้! ทันแล้ว ทันอารมณ์แล้ว พอทันอารมณ์ ถ้ามันกระทบแล้วมันไม่ทันหรอก มันไปก่อนเลย พอมันไปก่อนแต่เรามีสติยับยั้งไว้ บังคับให้อยู่ในทางจงกรม เดินนี่อย่างกับวิ่งเลย วิ่งไปวิ่งมาๆ จนมันผ่อนคลาย พอมันผ่อนคลาย ได้แล้ว พอมันอยู่แล้ว จบแล้ว จะนั่งก็ได้ จะเดินก็ได้ จะทำอะไรก็ได้ แต่ถ้ายังไม่ได้ เราต้องเอาให้อยู่
นี่ก็เหมือนกัน บางทีจิตของเรามันไม่ดีใช่ไหม เราเดินจงกรมก่อน ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำให้เดินจงกรมสักพักหนึ่งเสร็จแล้วค่อยมานั่งสมาธิ บางคนก็ชอบนั่งสมาธิสักพักหนึ่งก่อนแล้วค่อยไปเดินจงกรม
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราใช้พุทโธก่อน เราใช้พุทโธก่อน เราพุทโธๆ พุทโธถี่ๆ เลย มันถึงอยากออกมาพิจารณา
มันก็ปัญญา เพราะอะไร เพราะจิตเห็นอาการของจิต ยังจับไม่ได้ จิตเห็นกาย จิตเห็นเวทนา จิตเห็นจิต จิตเห็นธรรม จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นอาการของจิต เห็นไหม
จิตคิดเท่าไร คิดเท่าไรทั้งหมด จิตส่งออก ความคิดทั้งหมดคือจิตส่งออก จิตส่งออกนี้เป็นสมุทัย ใช้ปัญญาอบรมสมาธิทั้งหมดจนจิตเห็นจิต จิตเห็นจิต จิตเห็นกาย จิตเห็นจิต จิตเห็นเวทนา จิตเห็นธรรม ถ้าจิตเห็นสติปัฏฐาน ๔ นั่น
ถ้าจะบอกว่ามันเป็นวิปัสสนา มันเป็นใช้ปัญญา นู่น ถ้าจะบอกว่าปัญญาอย่างนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิหมายความว่ามันไม่มีจำเลย มันไม่เห็นกาย ไม่เห็นเวทนา ไม่เห็นจิต ไม่เห็นธรรม ไม่มีจำเลย เจ้าหน้าที่ต้องพยายามออกจับจำเลยให้ได้ เอาจำเลยนั้นไปให้อัยการส่งฟ้องศาล
ถ้าจิตมันสงบแล้วมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นั่นน่ะเราได้จำเลย พอได้จำเลยขึ้นมา ถ้าเรายกขึ้นศาล ศาลรับฟ้อง ศาลไต่สวนนั้นเป็นวิปัสสนา แต่ถ้ามันยังไม่ได้จำเลยมา แล้วจะตัดสินใครล่ะ ตัดสินลับหลังไง อ้าว! จำเลยไม่ต้องมาศาลก็ได้ ตัดสินเลย นี่มันก็เป็นเทคนิคในทางศาล แต่ข้อเท็จจริงของเรามันอยู่ที่ข้อเท็จจริงตามความเป็นจริงไง
เรายังสรุปว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ แต่พอปัญญาอบรมสมาธิแล้วมันมีอาการต่างๆ ขึ้นมาร้อยแปดพันเก้า แต่ถ้าจิตเห็นจิต มีจำเลย มีผู้พิพากษา มีผู้เสียหาย มีผู้ยกกล่าวโทษ มีผู้พิจารณา มันจะเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา นี่มันถึงเป็นข้อเท็จจริงไง
ฉะนั้น เราไม่ไหลไปตามมัน ถ้าไม่ไหลไปตามมัน ให้พิจารณาไป ให้พิจารณาไปแล้วไม่ตื่นไปกับมัน
ถ้าไอ้พวกที่ว่าเวลาพิจารณาไปแล้วน้ำหูน้ำตาไหลต่างๆ มันเป็นได้ทั้งนั้นน่ะ เวลาทางโลกเขาร้องห่มร้องไห้มันก็เป็นเรื่องโลกๆ ถ้าของเราเกิดปีติก็น้ำตาไหล น้ำตามันไหล
เวลาหลวงตาท่านบอกว่าเวลาท่านชำระกิเลสน้ำตาไหล อันนั้นมันเป็นที่หลวงตาบอกว่า น้ำตาที่ชำระภพชาติ กับน้ำตาที่ผูกมัด น้ำตาที่จะอยู่ในวัฏฏะ มันคนละเรื่องกันทั้งนั้นน่ะ เพราะมันคนละเรื่องกัน ไอ้นี่มันเป็นวาสนาของคน มันเป็นจริตนิสัยของคน
เพราะถ้าเอาตามบาลี ตามพระไตรปิฎก กรณีนี้เขาถึงบอกว่าพระอรหันต์ร้องไห้ไม่ได้ ร้อยแปดกันไป ไอ้นี่โดยแบบว่าตีความไง ตีความกฎหมายไง แล้วประชาชนผู้ที่ได้ผลกระทบความทุกข์ความยากมันมหาศาล แต่กฎหมายบังคับไว้อย่างนั้น ตีความอย่างนั้นเลย ตีความแล้วว่าห้ามร้องไห้ ประชาชนห้ามร้องไห้
ไม่รู้กฎหมายมันจะลงโทษอย่างไรก็ไม่รู้ นี่ไง ถ้ามันเป็นบาลีมันเป็นอย่างนั้นน่ะ แต่ถ้ามันเป็นข้อเท็จจริงมันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้ามันเข้าใจได้ มันก็เข้าใจได้ นี่พูดถึงเข้าใจได้นะ
เรายังยืนยัน เรายังยืนยัน เพราะเมื่อวานไม่พูดอย่างนี้ ไม่พูดอย่างนี้เรื่องที่ว่าเราเห็นว่าเป็นการปฏิบัติ แล้วปฏิบัติแล้วน้ำหูน้ำตาไหล มันมีผลในการปฏิบัติ เราก็ว่า อืม! ใช้ได้ แต่ถ้าจะให้แบบว่าพูดสิ่งใดแล้วเป็นอย่างนั้นนะ เพราะว่าอย่างที่พูดเมื่อวานน่ะ ถ้าถนนน่ะถูก เข้าซอย เข้าบ้าน คำว่า “ถูก” มันถูกในที่ว่าผลลัพธ์นั้นน่ะ ถูกในการปฏิบัติแล้วมันสะเทือนใจ มันได้รับผล คือมันมีผลกระทบกับหัวใจ ถูกอย่างนั้น แล้วพอถูกอย่างนั้นปั๊บ มันก็ผ่านไปแล้ว ฉะนั้น ถูกอย่างนั้นก็แค่นั้นน่ะ แต่ถ้ายังยึดมั่นถือมั่น ไหลตามมันไปแล้วจะเสื่อม พอเสื่อมแล้วก็ขวนขวาย ขวนขวายการกระทำ แล้วก็จะไปติดตรงนั้นน่ะ
ทิ้งหมดเลย ตั้งสติ กำหนด ปัจจุบัน จบ เอาตรงนี้ ถ้าอยู่กับปัจจุบันนี้แล้วก็ฟื้นฟูปัจจุบันนี้ ทำที่ปัจจุบันนี้ แล้วถ้ามันได้ผล มันได้ผลที่ปัจจุบันนี้ แล้วได้ผลที่ปัจจุบันนี้นะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมาบอกให้เราผิดไม่ได้เลย ถ้ามันถูกขึ้นมามันก็ถูกโดยปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก มันเป็นข้อเท็จจริง ใครจะมาทำให้มันผิดไม่ได้หรอก มันปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะคุ้มครอง การปฏิบัติคุ้มครอง ผลของการปฏิบัติคุ้มครอง ความจริงมันคุ้มครองใจนี้ ไม่มีใครทำให้เสียหายได้
แต่ถ้าพูดถึงว่า มันตื่นอย่างนี้ มันไหลไปอย่างนี้ จบแล้ว มันก็ไหลไปตามกิเลสน่ะ ฉะนั้น คำว่า “จบ” หมายความว่า สิ่งที่ทำมามันแค่นี้ แล้วจะมากน้อยแค่ไหนมันก็ต้องกลับไป กลับไปทำตามนั้น แล้วถ้าทำตามนั้นให้ผลมันมา เรานั่งอยู่นี่ ไม่หนีไปไหน ยืนยันได้ตลอด ถ้ายืนยันได้ตลอด เห็นไหม เราปฏิบัติของเรา ไม่ไหลไปตามมัน
คือปฏิบัตินะ มันสังเวช เราทำคุณงามความดี เราปฏิบัติดี ทำไมต้องให้กิเลสมันปักหมุดตอกย้ำต้องให้เราอยู่ตรงนั้นน่ะ การปฏิบัติ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาคำว่า “อนัตตา” คือมันวิวัฒนาการตลอด อนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นใหม่ๆ ตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่เพราะเราพิจารณา ถ้ามันย่อยสลายไป มันทำให้เป็นไตรลักษณ์ มันกลืนตัวมันเอง มันไม่มีสิ่งใดเลย ก็ให้มันเป็นความจริง นี่ไง ถ้ามันเป็นความจริง มันเป็นความจริงอย่างนี้
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เป็นอนัตตาเพราะมันกำลังจะพัฒนา มันกำลังจะขึ้นไป พอถึงที่สุดนะ ถ้ามันเป็นอกุปปธรรม อกุปปธรรมมันอนัตตาได้อย่างไร มันอนัตตาได้อย่างไร คนเห็นแล้วมันจะรู้ คนเห็นแล้วมันรู้หมดน่ะ ถ้าคนยังไม่เห็นมันก็ต้องพยายามของเราไปเพื่อประโยชน์กับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเนาะ เอวัง