ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ทางกว้างแคบ

๒ ม.ค. ๒๕๖o

ทางกว้างแคบ

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๐

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม เรื่อง กราบหลวงพ่อ

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง ลูกไม่ได้เขียนมากราบเรียนถามหลวงพ่อเป็นเวลานานมากแล้ว แต่ก็พยายามไปทำบุญที่วัดและฟังเทศน์หลวงพ่ออยู่เรื่อยๆ เพื่อเป็นกำลังใจให้ลูกได้กลับมาดำเนินชีวิตทางโลก และสร้างความเพียรต่อไป ในช่วงที่ผ่านมาลูกฝึกภาวนา (เดินจงกรม นั่งสมาธิในช่วงเช้าก่อนไปทำงานวันไหนที่พอจะสงบได้บ้าง รู้สึกได้ว่าจิตมีความตั้งมั่น แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน พอมาทำงานสักพัก ก็กลับสู่สภาวะเดิม ลูกก็ยอมรับในความเปลี่ยนแปลง ตราบใดที่เรายังไม่ชำนาญในการภาวนา ความขึ้นลงของจิตเป็นธรรมดา ลูกเขียนมาครั้งนี้เพื่อขอโอกาสหลวงพ่อเมตตาสั่งสอนด้วยเจ้าค่ะ

ในบางครั้งที่ลูกนั่งสมาธิโดยดูลมหายใจ พร้อมกำหนดพุทโธ ลมหายใจค่อยๆ เบาลงจนรู้สึกเหมือนไม่ได้หายใจ ขณะนั้นมีสติรู้ตัวอยู่ตลอด แต่เหมือนเรานั่งดูคนอื่นกำลังหลับ เลยนั่งดูไปอย่างนั้นจนลมหายใจค่อยๆ กลับคืนมา อย่างนี้คืออะไรเจ้าคะ ลูกควรแก้ไขอย่างไร

มีบางครั้งลูกเห็นคนที่ต้องดิ้นรนเหนื่อยยาก ใช้ชีวิตอย่างลำบาก ในขณะที่บางคนก็เอารัดเอาเปรียบคนอื่น ลูกก็เกิดความเบื่อหน่ายสังเวช ชีวิตคนเราต้องทุกข์ยากลำบาก หรือวิ่งตามกิเลส จนไม่ทันมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของชีวิตเลย หรือสุดท้ายก็บอกตัวเองว่า ทำอะไรอย่างอื่นไม่ได้ เราก็ทำชีวิตตัวเองให้ดีมีประโยชน์อย่างเต็มที่แล้วกัน ใจมันก็ค่อยคลายขึ้น

การปฏิบัติของลูกยังล้มลุกคลุกคลาน บางครั้งก็เกิดความท้อใจ เหมือนเราไม่เห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ ต้องคอยปลุกปั่นกำลังใจให้ทำต่อไป เช้าวันพระวันหนึ่ง ลูกฟังเทศน์หลวงพ่อทางเว็บไซต์ หลวงพ่อเทศน์ว่า ความอ่อนแอ ท้อแท้ เป็นกิเลสหลอกลวงเรา” เทศน์นั้นกระแทกใจลูกเต็มๆ หลวงพ่อได้ให้ปัญญามาสู้กับกิเลสที่ยังมีอีกล้นเหลือในใจ ลูกจึงกราบขอบพระคุณหลวงพ่ออย่างที่สุดเจ้าค่ะ กราบขอบพระคุณ

หลวงพ่อ : ที่เขียนมาถามคือเขียนมาอยากจะปฏิสัมพันธ์ เขาเขียนมานะ ไม่ได้เขียนมานาน

ตอบ : คำว่า ไม่ได้เขียนมานาน” ทีนี้พอเวลาพูดถึงว่าความเป็นอยู่ทางโลกไง เวลาทางโลก เห็นไหม ต้องไปทำงาน ต้องมีหน้าที่การงาน แล้วยังต้องมาภาวนาด้วย แล้วการภาวนาของเรามันก็ไม่เจริญงอกงามขึ้นมา ความว่าไม่เจริญงอกงามขึ้นมาเพราะอะไร เพราะเราคาดหวังไง

ก่อนที่ไม่ได้ศึกษาธรรม ก็อยากจะประสบความสำเร็จในชีวิต ชีวิตเรา เราก็ดั้นด้นต้องให้ประสบความสำเร็จ แต่พอมาศึกษาธรรมะแล้ว เห็นไหม สิ่งที่มีคุณค่ากว่า มีคุณค่ากว่าคือหัวใจที่มีคุณธรรม ถ้าหัวใจที่มีคุณธรรมเวลาจะประพฤติปฏิบัติมันก็ต้องมีเป้าหมายว่า เราจะประพฤติปฏิบัติให้ได้มรรคผลอย่างนั้น อย่างนั้น แล้วพอไม่ได้รับผลอย่างนั้น อย่างนั้น เห็นไหม มันก็ต้องท้อแท้ ต้องเบื่อหน่าย เป็นเรื่องธรรมดา

ความว่าเบื่อหน่ายเป็นเรื่องธรรมดา เพราะอะไร เพราะทางของคฤหัสถ์ไงเวลาทางของนักบวช ทางของพระเป็นทางที่กว้างขวาง ทางของคฤหัสถ์เป็นทางที่คับแคบ คับแคบเพราะเราต้องทำหน้าที่การงานของเราด้วยไง ทำหน้าที่การงานของเราแล้ว เราจะต้องแบ่งเวลามาเพื่อประพฤติปฏิบัติไง

ทีนี้เวลาแบ่งมาประพฤติปฏิบัติ เวลาเราทำงาน เวลาทำงานเราต้องใส่ใจกับเรื่องหน้าที่การงานนั้น ฉะนั้น เวลาใส่ใจการงานนั้น เราก็บอกว่าสิ่งนี้มันแย่งเวลาของเราไป ถ้าแย่งเวลาของเราไป เราก็ตั้งใจสิ ตั้งสติอยู่กับการทำงานนั้น ทำงานจนเสร็จงานนั้นแล้วเราค่อยมาฝึกหัดภาวนา นี้มาฝึกหัดภาวนานะ ฉะนั้น เวลาฝึกหัดภาวนา ฝึกหัดภาวนาเพื่ออะไร ก็เพื่อหัวใจของเราไง ฉะนั้น เราต้องมีหน้าที่สองทาง ทางโลกกับทางธรรม ถ้าทางโลกเราก็ต้องขวนขวายของเรา ทางของคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ คับแคบเพราะหน้าที่การงานมันแย่งเวลาของเราไป

แต่ถ้ามันแย่งเวลาเราไปนะ แต่ถ้าเป็นกิเลสล่ะ เวลาเป็นกิเลส เห็นไหม เวลาเขาบอกว่า ปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ถ้าปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน พยายามจะบีบคั้นไงว่าธรรมะมันเล็กน้อย การดำรงชีวิตประจำวัน คือชีวิตเรามันของแท้อยู่แล้วไง ปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ก็เลยว่าความเป็นชีวิตประจำวัน ความมีชีวิตในปุถุชนนั้นมันยิ่งใหญ่ ธรรมะเป็นเรื่องรอง เวลาเป็นสิ่งจริงๆ เวลาปฏิบัติธรรมก็คือปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมในความเป็นจริง ถ้าทำหน้าที่การงาน ก็ทำหน้าที่การงานของเรา

ฉะนั้น เวลาหลวงปู่ฝั้นท่านพูดเอง เวลาท่านถามว่าจะปฏิบัติมันไม่มีเวลา ไม่มีเวลา ท่านบอกว่า คนเราไม่เกิดมาหายใจทิ้งเปล่าๆ ถ้ายังมีหายใจอยู่ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ได้ตลอดเวลา ถ้าได้ตลอดเวลา เราก็ได้ตลอดเวลา แล้วถ้าเราจะทำงานเราก็อยู่กับงาน เวลาเราเสร็จจากงานแล้วเราก็หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ให้รักษาหัวใจของเราไว้ รักษาหัวใจของเราไว้ รักษาอารมณ์ของเราไว้ เหมือนผูกใจของเราไว้

แต่ถ้าการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ชีวิตประจำวันมันเลินเล่อ พอเลินเล่อของมันไป มันปฏิบัติแล้วมันจะได้ผลสิ่งใดฉะนั้น ถ้าไม่ได้ผลสิ่งใด มันก็เลยปฏิบัติกันกลายว่าปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน แล้วเอาอะไรเป็นธรรมล่ะ ปฏิบัติธรรมมันก็เป็นเรื่องแบบว่า มันเป็นการบรรเทาทุกข์ ถ้าการปฏิบัติอย่างนี้เป็นการปฏิบัติบรรเทาทุกข์ บรรเทาทุกข์เพราะว่าเราอยู่กับมัน เว้นไว้แต่คนที่มีอำนาจวาสนา เวลาทำๆ ไป เกิดถ้าจิตมันดูดดื่ม จิตมันดิ่งลง ไอ้นั่นน่ะมันจะเห็นคุณค่า พอเห็นคุณค่าแล้วเขาจะวางเรื่องชีวิตประจำวันเอาไว้ซะ แล้วมาปฏิบัติธรรมดีกว่า ถ้าปฏิบัติธรรมมันก็เป็นความจริงไง

ทางคับแคบหรือทางกว้างขวางมันเป็นที่ว่าเราต้องมีสติปัญญาแบ่งเวลาของเราเอง ถ้าเราแบ่งเวลาได้มันก็จะเจริญก้าวหน้า ถ้าเจริญก้าวหน้านะ คนเจริญก้าวหน้าแล้ว จิตใจมันเข้มแข็งนะ ถ้าจิตใจเข้มแข็งแล้ว เราอยู่ในที่ทำงานของเรา เราจะรักษาใจเราสบายๆ เลย รักษาใจสบายๆ แล้วมันจะแบ่งเวลาไปปฏิบัติเอง แต่ถ้าจิตใจเรายังไม่เข้มแข็ง อยู่ในที่ทำงานนะ คนนู้นพูด คนนี้พูด มันหวั่นไหวหมดเลย ปฏิบัติธรรมแล้วทำไมมันหวั่นไหวไปหมดเลย ปฏิบัติธรรมแล้วทำไมชีวิตมันไม่เห็นมันจะมีความสุขตรงไหนเลย เพราะอะไร เพราะจิตใจเรามันยังไม่เข้มแข็งไง

ถ้าจิตใจเข้มแข็ง อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ ถ้าอยู่ที่ไหนก็อยู่ได้นะ มันจะแบ่งเวลามันเอง หน้าที่การงานของเรา หน้าที่ของเรา เราทำหน้าที่ของเราจบ พอเสร็จแล้วเราจะภาวนาแล้ว ถ้าภาวนาเราก็แบ่งเวลาเรามาภาวนา แล้วภาวนาต่อไป ถ้ามันเป็นไปได้ มันจะเจริญก้าวหน้าของมันไป ถ้าเจริญก้าวหน้า เห็นไหม

ฉะนั้น เวลาเขาบอกว่า สิ่งที่เขาทำ ทำอยู่นาน นี้พอทำแล้วจิตใจของเขามันไม่มั่นคง มันขึ้นๆ ลงๆ พอพยายามจะให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเป็นเรื่องธรรมดาแล้วนะ เรื่องธรรมดา เพราะถ้าไม่เรื่องธรรมดา ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัตินะ ทำไมบอกว่าทำความดีนี่ทำยาก แล้วเราจำเป็นต้องทำ ถ้าไม่ทำแล้วความเลวมันจะเข้ามาไง ถ้าเราทำความดีอยู่ ความดีที่ว่าความดีถ้ามันไม่ก้าวหน้าๆ นี่คือผลประโยชน์แล้ว

นี่คือทำความดี คือเราอยู่กับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่กับรัตนตรัยของเรา อยู่กับแก้วสารพัดนึก แล้วทำของเรา มีเวลาของเรา นี่คือโอกาสของเรา ถ้าจิตมันลงได้ โอ้โฮมหัศจรรย์เลย ถ้ามหัศจรรย์ ตอนนั้นมันจะเป็นความจริงขึ้นมา ฉะนั้น ที่ว่าทางกว้างขวางหรือทางคับแคบมันก็อยู่ที่ว่าเรามีสติปัญญามากน้อยแค่ไหน ถ้ามีสติมีปัญญามากน้อยแค่ไหน เราเป็นคนให้เวลาตัวเราเอง ถ้าให้เวลาตัวเราเองแล้วเราทำของเราได้

ทีนี้คำถาม ข้อที่ ๑ ในบางครั้งลูกนั่งสมาธิแล้ว ดูลมหายใจจนพร้อมกำหนดพุทโธ ลมหายใจค่อยๆ เบาลงจนรู้สึกเหมือนไม่ได้หายใจ ขณะนั้นมีสติตัวรู้อยู่ตลอดเวลา แต่เหมือนเรานั่งดูอีกคนหนึ่งกำลังหลับ เลยนั่งดูอย่างนั้นจนลมหายใจค่อยๆ ชัดขึ้นมา

ถ้าเรานั่งดูอยู่อีกคนหนึ่งกำลังหลับ นั่นน่ะ มันใกล้จะหลับแล้วล่ะ มันอาการอย่างนั้น อาการที่มันจะหลับ มันจะรู้มันจะเห็นอะไรของมัน แต่มันจะหลับของมัน ถ้าพูดถึงถ้ามีสติอยู่นะ แล้วเรานั่งดูของเราจนลมหายใจมันชัดเจนขึ้นมา นั่งดูลมจนมันค่อยกลับฟื้นขึ้นมา มันก็คือใกล้จะตกภวังค์ นั่นน่ะ ถ้าเรานั่งดูคนอื่นจะหลับแล้วมันก็หลับไปเลย แล้วบางทีมันนั่งเองมันก็นั่งหลับไปเลย

เวลากำหนด ที่เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เวลามันตกภวังค์ ตกภวังค์ ไอ้การที่ตกภวังค์ส่วนใหญ่ร้อยทั้งร้อย ร้อยทั้งร้อยมันตกภวังค์ทั้งนั้น มันไม่ใช่ลงสมาธิ พอตกภวังค์ขึ้นมา มันพุทโธๆ พุทโธหลับไปเลย พอหลับไปเลย ๒ ๓ ชั่วโมงนะ สะดุ้งตื่นขึ้นมา โอ้โฮวันนี้ภาวนาดีมากๆ เพราะมันหลับไปมันสบายไง มันหลับไปเลย แล้วก็ไม่รู้ตัวด้วยตกภวังค์นะ โอ้โฮวันนี้สมาธิดีมากเลย วันนี้มีความสุขมาก

แล้วถ้าทำอย่างนี้บ่อยๆ เพราะตัวเองไม่มีสติสัมปชัญญะรู้เท่าทันตัวเอง มันจะเป็นมากขึ้นๆ มันจะหลับสนิทเลย พุทโธๆ พุทโธซักพักหายเลย แล้วเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ เพราะเราเป็นเอง เราทำอะไรไม่มีความผิดหรอก แต่ถ้าใครมาชี้ว่าเราผิด โกรธมาก แล้วตัวเองก็ไม่รู้ว่าผิด แต่ถ้าวันใดนะ พอทำอย่างนี้ไปแล้วจิตจะไม่มีกำลัง คำว่า เป็นสมาธิ เป็นสมาธิ” มันเป็นมิจฉามาก มากกว่าเป็นสัมมา สัมมาสมาธิคือสมาธิถูกต้องดีงาม มิจฉาสมาธิมันเป็นสมาธิ คำว่า ตกภวังค์” นี่ก็เป็นสมาธิชนิดหนึ่ง แต่หลวงตาใช้คำว่า สมาธิหัวตอ” สมาธิหัวตอไง

ดูต้นไม้สิ ดูตอไม้สิ ตอไม้มันมีชีวิตไหม ตอไม้มันรู้จักอะไรไหม แล้วเราทำจิตเราให้เป็นตอไม้อย่างนั้นน่ะ มันเป็นประโยชน์อะไรกับใครไหม แต่เพราะความไม่รู้ไง เพราะตอไม้มันไม่รบกวนใครไง ตอไม้มันตั้งอยู่เฉยๆ ไง เลยสำคัญตน แหมวันนี้สมาธิดีมาก เป็นอยู่อย่างนี้ ไม่รู้สึกตัวเลย ถ้าไม่รู้สึกตัวนะ จิตที่มันหลับใหลมันจะมีกำลังไหม มันจะมีสติสัมปชัญญะไหม มันจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์ผลดีงามได้ไหม ตอไม้มันทำอะไรเป็นประโยชน์ มันมีแต่กีดขวางคนอื่น ดีแต่ใครไม่เห็น เดินไปสะดุดมัน ยังเกิดความบาดเจ็บอีกต่างหาก

จิตก็เหมือนกัน ตกภวังค์ ตกภวังค์ สมาธิหัวตอ มันไม่เป็นประโยชน์กับใคร พอไม่เป็นประโยชน์กับใคร ตัวเองก็สำคัญตน แล้วมันเป็นความผิดนะ ความผิดว่า เอ๊ะสมาธิมันเป็นแบบนี้ เราทำสมาธิมาตั้งนาน ปฏิบัติมาตั้งหลายปีแล้วไม่เห็นได้อะไรเลย” มันจะได้อะไร ก็มันนอนหลับอยู่นั่น แต่ยังสำคัญตนว่าตัวเองเป็นสมาธิอยู่นะ เขาเรียกสมาธิหัวตอ เวลามันตกภวังค์ไง แล้วมันก็ต้องมีวิธีแก้ วิธีแก้ เวลาครูบาอาจารย์ท่านก็จะแก้ของท่าน เห็นไหม เวลาปฏิบัติไปแล้ว ถ้าพูดถึงว่าพวกเราปฏิบัติแล้ว เจออุปสรรคอย่างนี้ เราว่าเราเป็นคนที่ไม่มีอำนาจวาสนาบารมี

เวลาพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะไปฟังพระสารีบุตรที่ฟังเทศน์มาจากพระอัสสชิจนเป็นพระโสดาบัน แล้วชวนกันไปบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาพระโมคคัลลานะ เห็นไหม เวลาภาวนาไปง่วงเหงาหาวนอน มันจะตกภวังค์ องค์-สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปสอนเลย ไปโดยฤทธิ์นะ ให้เธอจงตรึกในธรรม ให้เธอจงแหงนหน้าดูดาว ให้ดูดาว กลางคืนให้ดูดาวซะ ให้เอาน้ำลูบหน้า แล้วถ้ามันง่วงนักก็ให้นอนซะ ตื่นแล้วค่อยมาภาวนา

เราจะบอกว่าพระโมคคัลลานะก็ยังเป็น แต่เวลาเป็นแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าควบคุมอยู่ เล็งญาณอยู่ ท่านคอยปลุกคอยปลอบหมดล่ะ แต่ไอ้พวกเราเวลาเป็น โอ้โฮมันเป็นภวังค์ แต่สำคัญว่ามันเป็นสมาธิเนี่ยสิ ถ้าเป็นสมาธินะ มันจะมีความสงบ มันจะมีความดูดดื่ม มันจะมีความสดชื่น มันจะมีรสชาติที่สุขมาก แล้วเคยเข้าสมาธิได้นะ เวลาเข้าครั้งที่ ๒ มันไม่ได้อย่างนี้แล้ว มันก็อย่างนี้ แล้วทำให้การปฏิบัติที่ว่าเข้าสมาธิไม่ได้ พอเข้าสมาธิไม่ได้ จิตมันก็ไม่มีกำลัง

ที่เข้าสมาธิได้ ที่เขาเข้าสมาธิ เข้าสมาธิ ดูนะ เวลาคนไฟไหม้บ้าน หรือคนเล่นไพ่ ตำรวจจับ ดูมันวิ่งสิ มันพุ่งพรวดเลย นั่นสัญชาตญาณของจิต เห็นเวลาไฟไหม้บ้านไหม ตู้เย็นตู้ใหญ่ๆ มันแบกพรวดไปเลย นั่นน่ะจิตที่มันเป็นข้อเท็จจริงของมัน แล้วคิดดูสิถ้าเราทำสมาธิ ทำสมาธิ ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา พลังอย่างนั้นน่ะ กำลังอย่างนั้นน่ะ กำลังอย่างนั้นมันจะเกิดของมันขึ้นมาโดยข้อเท็จจริง

เวลาไฟไหม้บ้าน หรือเล่นไพ่ตำรวจไล่กวดจับ เวลามันแสดงโดยสัญชาตญาณของมัน มันยังมีกำลังได้ขนาดนั้น แล้วถ้าเราทำสมาธิว่ามีกำลัง มีกำลัง มันมีกำลังเพื่อเหตุนี้ไง มีกำลังเพื่อเวลาจิตสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา มันมีกำลังของมัน พอมีกำลังของมัน เห็นไหม พอมีกำลังมันก็มีกำลังที่เหนือกิเลสของเรา พอเหนือกิเลสของเรา ถ้ามันไปเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง ถ้ามันมีศีล สมาธิ แล้วเกิดปัญญา ปัญญานั้นมันจะเกิดความมหัศจรรย์ ปัญญาอันนั้นน่ะ อันนั้นน่ะ แล้วอันนั้นถ้ามันจะเกิดขึ้น เห็นไหม

ฉะนั้น เขาบอกว่า เวลานั่งๆ ไปแล้วเห็นคนหนึ่งกำลังจะหลับ

ถ้าขาดสติมันก็หลับไปเลย อันนี้มันจะตกภวังค์ ถ้าตกภวังค์แล้วเราลุกซะ ถ้าตกภวังค์แล้วมันเคยตัว ความว่าเคยตัวแล้วมันเป็นอย่างนั้น ต้องแก้ทั้งนั้นน่ะเวลาแก้ขึ้นมาก็พยายามฝืนมัน เวลาครูบาอาจารย์บางองค์ อย่างเช่น เราเวลาจะปฏิบัตินะ ตั้งใจกำหนดพุทโธโดยไม่เอาสมาธิ เพราะจิต โดยสัญชาตญาณของคน เวลาเราปฏิบัติแล้วเราจะเอาผลกัน เวลาเอาผลไป เราก็คาดหมาย แล้วก็มุ่งหวังที่จะเอาผล มันก็เลยไม่รอบคอบ แล้วมันก็จะลงไปสู่ภวังค์นั้นหมดเลย แต่เวลาเราปฏิบัติโดยที่ไม่เอาสมาธินะ เรากำหนดพุทโธๆ เราทำแต่เหตุของเรา ถ้ามันไม่เอาสมาธิ ไม่เอาสมาธิ แต่ถ้าเหตุผลมันจะได้ มันจะไปไหนล่ะ

แล้วหลวงปู่เจี๊ยะเวลาเราอยู่กับท่าน ท่านบอกเลยนะ ถ้ากำหนด ๓ ชั่วโมง พุทโธๆ เร็วๆ ๓ ชั่วโมง จะได้สมาธิ ๒ นาที ถ้า ๑๐ ชั่วโมง ได้สมาธิ ๕ นาที

มันจะมากน้อยแค่ไหน เราก็เลยลองที่ว่าท่านสอน กำหนดพุทโธๆ โดยที่ไม่เอาสมาธิ กำหนดอยู่อย่างนั้นน่ะ พุทโธๆ ทั้งวันทั้งคืน พุทโธๆ เพราะเราทำได้ พุทโธๆ ชัดๆ พุทโธของเรา พุทโธๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วเวลานั่งสมาธิก็พุทโธต่อเนื่อง โอ้โฮเวลามันจะลงนะ ไม่เอา ไม่เอา จิตมันดิ่งลง มันควงเหมือนควงสว่านลงไปเลย วืด วืด ไม่เอา ไม่เอา มันไป มันไป ลงไปถึงที่สุดเลย ถึงฐีติจิตเลย ดิ่งลงไปจนถึงกึก สุดของมันเลย สักแต่ว่ารู้ เงียบหลายชั่วโมง แล้วมันคลายออก บอก เออท่านพูดจริง” เพียงแต่ว่าเราจะทำได้จริงหรือเปล่า ถ้าทำได้จริง ความจริงมันเป็นแบบนั้น

ถ้าความจริงเป็นแบบนั้น นี่พูดถึง เห็นไหม เวลาบอกว่า เวลานั่งกำหนดพุทโธไป หายใจค่อยๆ เบาๆ จนรู้สึกไม่ได้หายใจ ขณะที่สติรู้ตัวอยู่ตลอด แต่เหมือนเรานั่งดูคนกำลังหลับ เลยนั่งดูอย่างนั้นจนลมหายใจค่อยๆ เลยนั่งดูอย่างนั้นน่ะ” แหมอันนี้มันวาสนานะ เลยนั่งดูอย่างนั้นแล้วก็หายไปเลย” ภวังค์ชัดๆ เลย เลยนั่งดูอย่างนั้นจนลมหายใจค่อยๆ ฟื้นมา” เออแต่เราก็ว่าหลับไปแล้วครึ่งหนึ่ง หลับไปแล้ว แล้วค่อยๆ ฟื้นขึ้นมา

แต่ยังดีนะ ฟื้นขึ้นมา ถ้าฟื้นขึ้นมา ต้องดูตรงนี้ ตรงที่ว่ามันจะหายไป หรือว่ามันจะลงไป รักษาตรงนี้ไว้ ถ้ามันจะลง ถ้าเป็นสมาธินะ พุทโธๆ สติมันจะตลอด มันจะรู้ตัวตลอดเลย ชัดๆ ชัดๆ ชัดๆ แวบๆ นั่นล่ะช่วงที่มันหาย มันต้องต่อเนื่อง ต่อเนื่อง แล้วมันจะแวบหายไปแล้ว ดึงกลับมา แวบหายไป ดึงกลับมา แต่ถ้าพุทโธๆๆๆ ไม่มีเว้นวรรค มันจะละเอียดหมด มันจะต่อเนื่อง เหมือนไฟ ไฟถ้ามันสะดุด มันก็ใช้ไม่ได้ใช่ไหม ไฟมันต้องเสถียรใช่ไหม ไฟมันต้องเสถียรด้วย ไม่ให้สูงไป ไม่ให้ต่ำไป แล้วต้องเสถียรด้วย

นี่ก็เหมือนกัน สมาธิถ้ามันจะลงนะ มันลงชัดๆ อย่างนี้ พุทโธๆๆๆ ชัดเจนมาก พุทโธจนพุทโธละเอียด ละเอียด ละเอียดจนพุทโธไม่ได้เลย แต่ก็ชัดๆ ไม่มีเว้นวรรค เว้นวรรคนั่นน่ะภวังค์ทั้งนั้น มันจะแยกออก แยกออก ถ้าแยกออก นี่พูดถึงว่า ถ้าเป็นสมาธินะ ถ้าเป็นสมาธิ เป็นสมาธิ

คำถาม วันนี้คำถามข้อที่ ๑ มันเป็นเหตุผล เหตุผลว่าถ้านั่งไปแล้วมันจะมีประสบการณ์อย่างนี้ ถ้ามีประสบการณ์อย่างนี้ เพียงแต่เรามีสติมีปัญญา เราก็ดูของเรา เราก็แก้ไขของเรา ถ้าแก้ไขของเรา มันก็เป็นประโยชน์กับเรา ฝึกหัดทำสมาธิ ฝึกหัดทำความสงบของใจ ฝึกหัดหาตัวตนของเรา แล้วเอาตัวตนของเราออกฝึกหัดทำงาน ออกฝึกหัดทำงานคือว่าออกมาชำระล้างทำความสะอาดใจของเรา

ถ้าทำความสะอาดใจของเรา เห็นไหม สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิที่เห็นผิด เห็นผิดในทำนองคลองธรรม เห็นผิดในความเป็นสัจธรรม เห็นผิดในธรรมะที่มีอยู่โดยดั้งเดิม ธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิมคือสัจธรรม แต่กิเลสของเรามันคิด มันพิจารณาของมัน มันศึกษามา แล้วมันยังเห็นเข้าข้างตัวเอง มันเห็นผิดของมัน มันมีทิฏฐิของมัน มันมีความเห็นของมันที่ผิด

ถ้าจิตเราสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ได้ จับแล้วพิจารณาของมันไป แยกแยะของมันไปนะ ถ้ามันจะแยกแยะของมันไป มันต้องมีสมาธิ มันต้องมีกำลังตรงนี้ ถ้าไม่มีสมาธิ สิ่งที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นนั้นเป็นโลกียปัญญา ปัญญาที่เราคาดหมายในสติปัฏฐาน ๔ ปัญญาที่เราปรุงแต่งในเรื่องสติปัฏฐาน ๔ ปัญญาที่เราปรุงแต่งในเรื่องสติปัฏฐาน ๔ ไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ ตามอริยสัจ

ถ้าสติปัฏฐาน ๔ ตามอริยสัจ มันต้องมีความสงบของใจ มีความระงับของใจ ใจตัวนี้มั่นคงขึ้นมา มันถึงจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ ตามอริยสัจ ตามสัจจะความจริง เพราะ เพราะจิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ มันกลั่นมันกรองออกมาจากอริยสัจ อริยสัจคือปัญญา คือมรรคกลั่นกรองจิตนี้ออกมา ถ้ามรรคออกมา เห็นไหม มันจะสำรอก มันจะคายของมันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา อันนั้นจะเป็นความจริงขึ้นมา นี่ข้อที่ ๑

มีบางครั้งลูกเห็นคนที่ดิ้นรนเหนื่อยยาก ใช้ชีวิตอย่างลำบาก ในขณะที่บางคนก็เอารัดเอาเปรียบคนอื่น ลูกก็เกิดความเบื่อหน่ายสังเวช ชีวิตคนเรามันต้องทุกข์ลำบาก หรือวิ่งตามกิเลสไป จนไม่ทันมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของชีวิตนี้เลย สุดท้ายก็ต้องบอกตัวเองว่าทำอย่างไรอย่างอื่นไม่ได้ เราก็ทำชีวิตตัวเองให้ดีที่มีประโยชน์อย่างเต็มที่

ไอ้นี่เรามองไง ไปมองเห็นคนอื่น ทีนี้เวลาจะมองเห็นคนอื่น มันก็ต้องเข้ามาถึงตัวเราก่อนไง สิ่งที่เห็นคนอื่น เวลาอยู่กับหลวงตาไง เวลามีปัญหาขึ้นมาบอกนั่นเรื่องของเขา ใครจะดี ใครจะชั่ว เรื่องของเขา เราจะทำคุณงามความดีว่ะท่านจะเตือนหมู่คณะ เตือนพระในสิ่งที่ท่านปกครองอยู่นะ เรื่องตัวตนของเราสำคัญที่สุดนะ เรื่องความดีความชั่วของเราสำคัญที่สุด

ใช่เราเป็นสัตว์สังคมนะ เราต้องอยู่ด้วยกันเป็นสังคม แล้วสังคม เห็นไหม ความคิดในใจของเขาทุกคนก็ว่าคิดดี ทุกคนก็ทำดี แต่เขาทำของเขาอย่างนั้น แล้วเราจะเข้าไปจัดการ เข้าไปเพื่อให้มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม มันไป ใจเรายังแก้ไม่ได้เลย แล้วใจของเขาคือมันจะเกิดความกระทบกระทั่งกันมากขึ้น

ฉะนั้น มันก็ต้องย้อนกลับมาที่เรา มันเรื่องของเขา มันเรื่องของเขา ใครจะดี ใครจะชั่วมันเรื่องของเขา เราจะทำคุณงามความดีว่ะ” คือเราจะทำใจของเรา ถ้าสมมุติเป็นเรา เราทำอย่างนั้นไหม ถ้าเราเห็น เราเห็นมันจะเป็นประโยชน์อย่างนี้ไง ถ้าเราเห็นแล้ว เราเห็นแล้วอย่างนั้นคือถูกและผิด นี่คือธรรม เหตุและผลลงคือธรรม

ถ้ามันทำผิด เราโดนคนอื่นนะ มีแต่เบียดเบียน เอารัดเอาเปรียบคนอื่นอย่างนี้ มีแต่เอารัดเอาเปรียบเขา มีแต่เบียดเบียนคนอื่นเขา แล้วไปเบียดเบียนเขา สร้างเวรสร้างกรรมทั้งนั้น ถ้าเป็นเรา เราไม่ทำ แล้วถ้าเป็นเรานะ เราจะทำ เราก็ทำในหัวใจของเรานี่ เราทำหัวใจเรานี่ไม่ให้กิเลสมันเบียดเบียนเรา ถ้าไม่มีกิเลสเบียดเบียนเรานะ เราก็ตั้งสติปัญญาของเรา

เวลามองข้างนอกแล้วมองมาข้างใน เห็นไหม เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ติดภายนอกและภายใน ภายนอกก็ไม่ติดนะ ชื่อเสียง กิตติศัพท์ กิตติคุณ ข้างนอกก็ไม่เอา ไอ้ความอยากในหัวใจก็ไม่เอา ไม่ติดทั้งภายนอกและภายใน ไอ้ที่ข้างนอกไม่ติด ข้างนอกไม่เอา แต่ไปนอนคิดอยู่อยากได้ มันไปติดอยู่ เห็นไหม แต่ส่วนใหญ่แล้วมันติดจากภายในก่อน ถ้าภายในไม่อยากได้ ภายนอกมันไม่ไปเอาหรอก ไอ้นี่มันติดอยู่ภายในก่อน เพราะภายในมันอยากได้ มันถึงไปเอาภายนอก

เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งภายนอกและภายใน ภายนอกก็สิ่งที่เรารู้เราเห็น นี่ภายนอก ถ้าเรามีสติปัญญา เป็นกรรมของสัตว์ สัตว์มันสร้างเวรสร้างกรรมกันมา มันถึงต้องทำลายกันอย่างนั้น ถ้าเป็นเราล่ะ เป็นเรา ถ้าเราเจือจานได้ เราช่วยเหลือได้ เราก็ช่วยเหลือ ถ้าเรามีกำลังสามารถที่จะช่วยเหลือได้นะ ถ้าเราไม่มีกำลังที่สามารถช่วยเหลือได้ ธรรมะของผู้บริหารไง อุเบกขา

ก่อนที่จะอุเบกขา เราก็ต้องมองช่องทางว่าเราจะสามารถช่วยเหลือเจือจานเขาได้ไหม ถ้ามันไม่มีความสามารถช่วยเหลือเจือจานได้ มันเป็นกรรมของสัตว์ไง สัตว์มันได้สร้างเวรสร้างกรรมกันมาแบบนี้ มันต้องมาจองล้างจองผลาญกันอย่างนั้น แล้วถ้ามันมีผลทางกฎหมาย กฎหมายเขาก็ต้องมาจัดการใช่ไหม แต่เราก็ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ เราก็ไม่มีสิทธิตามกฎหมาย แต่เราไปเห็น ถ้าเห็นนั้น ถ้ามีสติปัญญานะ มันก็เป็นกระจกเงาไง เป็นกระจกเงาสะท้อนเข้ามาสู่ใจของเราไง

ถ้ามันกระจกเงาสะท้อนเข้ามาสู่ใจของเรา เห็นไหม นี่ผลของวัฏฏะ การเวียนว่ายตายเกิดมันทุกข์อย่างนี้ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ทุกข์ เราไม่ได้เป็นคนคนนั้น แต่คนคนนั้นเขาเป็นคนคนนั้น เขาก็ทุกข์ยาก เห็นไหม การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะมันมีความทุกข์อย่างนั้น มันเป็นธรรมสังเวชได้ ถ้ามันธรรมสังเวชได้ เขาบอกว่าเขาก็พิจารณาของเขา แล้วจิตใจเขาดีขึ้น ถ้าจิตใจเขาดีขึ้น มันก็เป็นประโยชน์กับเรา

นี่พูดถึงเราอยู่กับโลก เราอยู่กับโลกไง โลกธรรม ๘ มันต้องมีของมันอยู่อย่างนั้น ถ้ามีสติปัญญามันจะอยู่กับโลกโดยไม่ทุกข์จนเกินไป มันเป็นจริตนิสัยนะ ถ้านิสัยของคนที่เป็นธรรม มันเห็นแล้วมันทนไม่ได้ ถ้านิสัยเป็นพาลนะ มันเห็นแล้วมันก็จะไปร่วมมือกับเขาไง มันอยู่ที่จิตใจของคนสูงต่ำ ถ้าจิตใจของคนที่มันสูงนะเป็นธรรม มันเห็นแล้วมันก็อึดอัด ถ้าจิตใจที่เขาเป็นพาลนะ เขาก็บอก เออมันธรรมดา เดี๋ยวเขาจะหาผลประโยชน์เขาด้วย มันอยู่ที่จิตใจของคน แล้วเราก็ต้องดูแลรักษาฟอกหัวใจของเรา เพื่อประโยชน์กับเราไง ข้อที่ ๒

การปฏิบัติของลูกยังล้มลุกคลุกคลานอยู่ บางครั้งก็เกิดความท้อใจ เหมือนเราไม่เห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ ต้องคอยปลุกปั่นหัวใจของตนทำต่อไปนะ วันหนึ่งได้ฟังเทศน์หลวงพ่อไง ยิ่งกระแทกเข้ามาที่หัวใจ

อันนี้มันก็เป็นแบบว่า เราตั้งปฏิภาณของเราไว้ เราตั้งโอกาสของเราไว้ ถ้าเราทำ เห็นไหม เห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ ถ้าปลายอุโมงค์ เห็นไหม เวลาเขาหลงทางกัน หรือเขามีปัญหากัน เขาว่า เห็นแสงอยู่ปลายอุโมงค์ยังมีโอกาสไง

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน มันต้องมีโอกาส ถ้าไม่เห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ ไม่เห็นแสงที่ปลายอุโมงค์เราไปคิดกันในเรื่องเป็นวัตถุไง อุโมงค์ต้องมีแสงสว่างอยู่ปลายอุโมงค์นั้น แต่ถ้าเป็นเรื่องของการภาวนานะ เรื่องของหัวใจนะ เป็นเรื่องของหัวใจ หัวใจของคนเวลาที่มันจะเป็นธรรมๆ ขึ้นมา เวลาเป็นธรรมขึ้นมา ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น ถ้าช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น คือสมุจเฉท-ปหาน แพล็บจบเลย

แต่แต่กว่าที่จะเป็นอย่างนั้นได้ เราต้องสะสมมา เราต้องสะสมมา ศีล สมาธิ ปัญญาฝึกหัดมา อย่างเช่น ตทังคปหาน คนที่พิจารณาเป็น ภาวนาเป็น เห็นไหม เวลาพิจารณาเป็น ภาวนาเป็นขึ้นมาล้มลุกคลุกคลาน เราต้องสำรวมระวัง ถ้าไม่สำรวมระวังมันก็ส่งออก มันพุ่งไปหมดล่ะ เราต้องสำรวมระวังอยู่ตลอดเวลา เราต้องรักษาจิต รักษาจิตของเราไม่ให้มันส่งออก ไม่ให้มันกระเพื่อม แล้วพอไม่ให้กระเพื่อมแล้วต้องทำความสงบของใจให้มั่นคง มั่นคงแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา พอปัญญาฝึกหัดใช้ไปแล้ว มันใช้กำลังของมันไป สมาธิมันก็อ่อนลง พอสมาธิอ่อนลง ใช้ปัญญาต่อเนื่อง

พอใช้ปัญญาทีแรกก็โอ้โฮรสชาติมันแจ่มแจ้ง รสชาติของธรรมมันชนะรสทั้งปวง มันมีความดูดดื่ม มันทำของมันไป นั่นน่ะเพราะมันมีกำลังสมาธิหนุน ศีล สมาธิ ปัญญา พอใช้ไป พอใช้ไปสมาธิเหมือนไฟ ไฟพอเราใช้ไปแล้วมันก็ต้องตกลง มันก็ต้องใช้ไฟไป สมาธิพอมันพิจารณาไปแล้ว สมาธิมันก็อ่อนลง พออ่อนลงไอ้ปัญญาที่มันพิจารณาอยู่นี่มันก็เบาบางลง เบาบางลง พอพิจารณาไปมันจืดๆ ชืดๆ มันพิจารณาไปแล้วมันไม่ทะลุทะลวง

คนไม่รู้ก็คิดว่าเราใช้ปัญญา สมาธิเรามีแล้ว เราใช้ปัญญา ใช้ไปๆ ล้มลุกคลุกคลานหมดเลย สมาธิก็เสื่อม ปัญญาก็ล้มเหลว แล้วก็โอ้โฮหันซ้ายหันขวา ภาวนาแล้วไม่ได้เรื่อง ทำภาวนาแล้วไม่ได้ ภาวนาก็เพราะไม่สมดุลไง เพราะใช้ไม่เป็นไง ไม่มีครูบาอาจารย์ไง แต่ถ้ามันพิจารณาของมันไปโดยใช้ปัญญา ถ้าไม่มีสมาธิมันก็พิจารณาไปโดยที่ว่า แหมธรรมะมันเป็นอย่างนี้ ธรรมะทำไมมันไม่เห็นเข้าใจอะไรเลย” เพราะมันไม่มีสมาธิ

พอมันมีสมาธิขึ้นมา ฝึกหัดใช้ปัญญาขึ้นมา มันทะลุทะลวงไป โอ้โฮสุดยอด สุดยอด พอสุดยอดมันก็อยากได้ พออยากได้มันก็พยายามขวนขวาย ขวนขวายจนลืมพื้นเพของตน ถ้าคนเป็นเขาต้องวางเลย พอพิจารณาไปแล้วมันไม่ไปนะวางๆ หยุด หยุดแล้วกลับมาใช้พุทโธ หยุดมาเพื่อสะสม สะสมกำลังคือมาดูต้นทุนของเรา มาดูกำลังไฟของเรา ทำไมมันตก เครื่องมันเป็นอย่างไร สายส่งมันมั่นคงไหม มันดีไหม กลับมาทบทวน พอทบทวนเสร็จแล้ว พอมันเข้มแข็งขึ้นมา กำลังก็ดี กำลังดี พอใช้ปัญญา มันไปต่อเนื่องอีกแล้ว

เวลามันใช้ต่อเนื่องไป เห็นไหม เวลาพิจารณาไป พิจารณาไป สิ่งที่ว่ากว่าที่จะเป็นช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น มันต้องมีพื้นฐานมันมา ต้องมีการกระทำของมันมา ฝึกหัดใช้ปัญญา ลองผิดลองถูก ลองพิจารณาของเรา ล้มลุกคลุกคลาน คนที่ภาวนา ไอ้ตรงนี้ มันเหมือนกับตรงนี้แบบว่ามันไม่แพ้ ไม่ชนะ คือยังไม่มีผล แล้วไอ้คนที่ปฏิบัติอยู่ก็อยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่ว่ายังส่งผลงานกับกรรมการไม่ได้ ก็พยายามอยู่นั่น แล้วก็เลยบอกว่า เอ้ทำแล้วมันไม่เห็นได้อะไร ทำไม” ถ้าไม่มีตรงนี้มันก็ไม่มีช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น

แต่เพราะมีพื้นฐานมีการสร้างสมมา มีการปฏิบัติมา เวลามันไปถึงที่สุด ช้างกระดิกหู แพล็บขาดหมดเลย พอจิตมันสมดุล มันมัชฌิมาปฏิปทา มันสมดุล มันพิจารณาไปด้วยกำลังของศีล สมาธิ ปัญญา เวลามันขาดลง กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แยกออกเป็น ๓ ทวีปเลย พิจารณาไป เวลากายกับใจแยกออกจากกัน โลกนี้ราบหมดเลย พิจารณาอสุภะขึ้นไป เวลามันขาด มันจะขาดไป บุคคล ๔ คู่ โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค มันจะ ๔ คู่ เวลาจะขาด แป๊บเดียว วึบ แต่กว่าจะแป๊บเดียวนั้นมันต้องมีพื้นฐานมา มันต้องมีที่มา ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ มันไม่มีลอยมาจากฟ้า ไม่มีใครยื่นให้

ฉะนั้น เวลาประพฤติปฏิบัติ หลวงตาท่านถึงยกให้ ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก สันทิฏฐิโกคือความรู้แจ้งในใจของเรา ใจของเรา ใจของเราเพราะความสงสัย เพราะอวิชชาถึงได้พาเวียนว่ายตายเกิด แล้วเราก็ยังคลุมๆ เครือๆ อยู่นี่ เกิดแน่นอน ยังงงๆ คลุมๆ เครือๆ นี่แหละอวิชชา นี่แหละตัวจริงเลย ไม่ใช่ตัวปลอม ตัวจริงๆ

แต่ถ้ามันพิจารณาของมันไป เห็นไหม มันสำรอกมันคายของมันออก เวลามันสันทิฏฐิโก สันทิฏฐิโกคือรู้แจ้งแทงตลอด สว่างหมด ครอบคลุมทั้งหมด สำรอกออกหมด มันมีอะไร สงสัยตรงไหน มันไม่สงสัย ถ้าเป็นสันทิฏฐิโกมันรู้แจ้งไง วิปัสสนาเพื่อความรู้แจ้ง แล้วรู้แจ้งที่ไหนล่ะ ก็รู้แจ้งในใจดวงนั้นไง แล้วถ้ารู้แจ้งในใจดวงนั้น ไอ้วิธีการรู้แจ้ง มึงพูดไม่ได้หรือ วิธีการรู้แจ้ง มันรู้แจ้งอย่างไร แล้วรู้แจ้งมันคายอะไรออกไป สิ่งที่มันคายออกไป กิเลสมันคายออกไปอย่างไร

ยถาภูตังคือกิเลสตาย เกิดญาณทัสสนะ พิสูจน์ศพ เวลาเกิดอาชญากรรม เห็นไหม ฆ่าคนตาย พอฆ่าคนตายแล้ว เขาต้องพิสูจน์ว่าตายเพราะอะไร ตายอย่างไร นี่ก็เหมือนกัน เวลากิเลสตาย มันตายชัดๆ อย่างนี้นะ ไม่ใช่ว่า ฝันว่าตาย ฝันว่ากิเลสตาย ถ้าฝันว่ากิเลสตาย กิเลสมันไม่ตายหรอก เพราะมันอยู่กับมึงนั่นแหละ แต่ถ้ามันตาย เกิดยถาภูตัง เกิดยถาภูตังคือการชำระล้าง เกิดญาณทัสสนะ เกิดญาณรู้แจ้งว่าได้พิสูจน์แล้ว สันทิฏฐิโก ความจริงมันเป็นแบบนี้

ความจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลวงตาท่านยกให้สันทิฏฐิโก ถ้ายกให้สันทิฏฐิโก เห็นไหม เวลามันเป็นจริง มันเป็นจริงอย่างนี้ ถ้าเป็นจริงอย่างนี้มันถึงบอกว่าแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์มันอยู่ที่ไหนล่ะ แสงสว่างปลายอุโมงค์มันอยู่ที่ความเพียรของเรา ที่ความเพียรของเรา ความวิริยอุตสาหะของเรา ถ้าเรามีความเพียร มีความวิริยอุตสาหะของเรา เราก็ทำของเราไป

ถ้าเราทำของเราไป ถ้าเราไม่ทำล่ะ ถ้าเราไม่ทำนะ ใช้ชีวิตโดยปกติ มันไหลไปอยู่แล้ว โลกนี้เขามีสังคม แล้วสังคมของเขา ในหมู่ของเขา เราจะยืนอยู่ในสังคมนั้น ถ้าเราประพฤติปฏิบัติของเราโดยความเสมอต้นเสมอปลาย สังคมนั้นเขาจะให้โอกาสเรา สังคมนั้นน่ะ สังคมนั้น สังคมทุกสังคมต้องการคนดี แต่สังคมเขาไม่เชื่อว่าเราดีหรือไม่ดีไง เขาไม่เชื่อที่เราดีหรือไม่ดี เพราะเรายังไม่ได้พิสูจน์ให้สังคมเห็นว่าเราดีหรือไม่ดี คือเรามีจุดยืนจริงหรือเปล่า ถ้าเรามีจุดยืนอยู่จริงนะ สังคมนั้นจะให้โอกาสเรา เพราะสังคมทุกสังคมเขาต้องการคนดี เขาอยากได้ของดี แต่เขายังไม่ไว้ใจเท่านั้นเอง แต่เราก็ต้องพิสูจน์กับสังคมนั้น ว่าเรามีเป้าหมายอย่างไร เรามีความมุมานะอย่างไร แล้วเราพยายามทำของเรานะ

ฉะนั้น ถ้าทำของเรา แสงที่ปลายอุโมงค์มันก็จะเห็น ถ้าเวลามันจะเห็นแล้ว เราทำของเราไป เราประพฤติปฏิบัติของเราไป เวลามันเป็นแล้ว ทางโลก ทางโลกเขาเรียกว่าศรัทธา ศรัทธานี้มันยังคลอนแคลนนะ เวลาศรัทธา เห็นไหม ถ้ามันจะเป็นอจลศรัทธา รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ความรู้สึกนึกคิดของเรา รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เรามีสติปัญญาพิจารณาของเรา

ถ้าพุทโธๆ พุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามันรู้เท่า ความรู้เท่า รู้เท่าด้วยอะไร เราคิดสิ ความคิดมันเกิดจากอะไร เกิดจากสัญญา สัญญาเกิดจากอะไร เกิดจากข้อมูลเดิมของเรา ที่เราชอบหรือไม่ชอบ ไอ้ชอบหรือไม่ชอบมันมีอะไรกระตุ้น มันก็มีสังขาร มีกิเลสกระตุ้น ถ้าเราใช้ปัญญาพิจารณาไป มันถึงที่สุดแล้ว มันไปถึงต้นขั้วของมันแล้วมันปล่อยได้ พอมันปล่อยได้ ถ้ามันปล่อยได้ รูป รส กลิ่น เสียงมันดับได้ ถ้ามันดับได้นี่สัมมาสมาธิ

แล้วพอมันทำชำนาญขึ้น ชำนาญขึ้น ถ้ามันเป็นปุถุชน กัลยาณปุถุชน ศรัทธา อจลศรัทธา ถ้าศรัทธาที่ไม่เสื่อมคลาย ศรัทธาที่เป็นอจลศรัทธา เขาจะเห็นว่ารูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมารตามข้อเท็จจริง แล้วเขาสามารถพิจารณาจนมันสมุจเฉทได้ คือมันวางได้จริงๆ พอวางได้จริงๆ ทีนี้จะมาทำสมาธิได้ง่ายขึ้น จะทำสมาธิได้สะดวกขึ้น เพราะ เพราะรูป รส กลิ่น เสียงมันไม่มากระตุ้น ไม่มากระตุ้น

แต่โดยธรรมชาติของเรา มันกระตุ้นโดยสัญชาตญาณ ถ้ามันสัญชาตญาณนี่ปุถุชนคนหนา ผู้ที่มีศรัทธามันถึงคลอนแคลนได้ แต่ถ้ามันพิจารณาของเราไปจนเห็นโทษของมัน รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันจะเป็นอจลศรัทธา คือศรัทธาที่มั่นคงขึ้น ศรัทธาที่เข้มแข็งขึ้น ศรัทธาที่ไม่เสื่อมไปไง ถ้าไม่เสื่อมไป มันก็ปฏิบัติได้ง่ายขึ้น ได้ดีขึ้น

นี่พูดถึงว่า ข้อที่ ๓ วิธีการจะใช้ปัญญาสู้กับกิเลส ที่มันยังมีล้นเหลือในหัวใจทำอย่างไรต่อไป

ถ้าทำอย่างนี้แล้วมันก็จะพอได้ ฉะนั้น คำว่า พอได้นะ” มันเริ่มต้นตั้งแต่เราเข้ามาสนใจในทางปฏิบัติ ถ้าเราไม่ได้สนใจในทางปฏิบัติ เราก็ใช้ชีวิตแบบโลกๆ อยู่นั่นน่ะ ถ้าเราสนใจในทางปฏิบัติ เราเทศน์ตอนเช้านี่แหละ เทศน์ตอนเช้าจะพูดถึงว่าชีวิตของเรา เราก็แสวงหาเพื่อประโยชน์ในชีวิตนี้ไง แต่ถ้าการปฏิบัติเพื่อตัวตน เพื่อจิตของเราเลยน่ะ ถ้าเพื่อตัวตน เพื่อจิตของเรา ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเป็นสมาธิ มันเป็นสิทธิ พิสูจน์จิตของเรา จิตของเรามันจะทำตามข้อเท็จจริง แล้วทำตามข้อเท็จจริง ระหว่างจิตกับธรรม

แต่ถ้าเป็นชีวิตประจำวัน ระหว่างสังคม ระหว่างที่เป็นไปทางโลก ถ้าทางโลกมันเป็นแบบนี้ ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา เราพิสูจน์ของเรา เราทำของเรา ถ้าทำได้ ถ้าทำได้นะ ถ้าชีวิตประจำวันของเราตลอดไป มันก็อยู่กับ ภาษาเรานะ มันอยู่ไปแกนๆ ไง มันอยู่ตามหน้าที่ เกิดมาแล้วก็ใช้ชีวิตจนกว่าจะหมดชีวิตไป

แต่เพราะชีวิตนี้ เราใช้ชีวิตได้ด้วย แล้วเราพยายามประพฤติปฏิบัติ เข้าถึงตัวตนของเราด้วย แล้วถ้ามันทำได้จริงนะ บุคคล ๔ คู่ สิ้นกิเลสได้ด้วย ถ้าสิ้นกิเลสแล้วมันไม่เกิดอีก มันจบสิ้นที่นี่ด้วย ถ้าที่นี่ด้วย การกระทำของเรามันได้ทั้งสองทาง ทางโลกและทางธรรม แล้วใครจะมีความมุมานะ มีความเข้มแข็งแค่ไหน ทำเพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง