ไม่ชอบธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “วิธีการหาอุบายทำใจให้สงบ”
กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพ ผมนำเรียนอุบายการภาวนา และวิธีการภาวนาที่ผ่านมา
การภาวนาเริ่มแรกนั้น ใช้การภาวนาแบบจินตนาการเอา คือ การคิดในเรื่องซากศพ คิดเรื่องความตาย ผมไม่ได้คิดพุทโธ ผมจะคิดแบบกว้างขวางแตกแขนงออกไป ไม่ได้คิดคำบริกรรมเลย คำบริกรรม คือ เช่น คิดในใจว่าพุทโธ หรือตายๆๆ สังโฆ หรือคิดว่าศพๆๆ แบบนี้ผมเรียกว่าบริกรรม แต่ผมคิดถึงเรื่องความตายแล้วมันมีความสุข ใจมันโล่งสบาย มันผ่อนคลาย สลดสังเวช ผมคิดสลับกับคิดเรื่องซากศพ มันมีความสุขรวมเข้ามาที่กลางอกซ้าย สดชื่นสว่างไสว แล้วค่อยๆ คลายออกมา
บางครั้งผมคิดถึงหลวงปู่มั่นที่ท่านไปอยู่ป่าเมี่ยง อำเภอพร้าว ผมก็เกิดปีติ สุข สุขสดชื่นมาก บางครั้งผมนั่งกำหนดดูลม กำหนดไปสักพักมันรวมวูบเข้ามาที่กลางอก สว่างมาก สุขมาก แต่สักพักมันก็คลาย พอเวลาผ่านไปความสุขนี้เริ่มหายไป ความด้านชาเริ่มมาแทน คิดเรื่องความตายก็ไม่สุขแล้ว ผมเลยเปลี่ยนมาคิดพุทโธบ้าง คิดว่าตายๆ บ้าง ตามแต่จะทันกันในขณะนั้น กำหนดลมบ้าง พิจารณาในธรรมบ้าง นั่งในที่เปลี่ยวๆ บ้าง เพื่อจะหาวิธีทำจิตให้เข้าสู่ความสงบดังเดิม
ถ้าจิตมันเสื่อมออกจากความสงบแล้วมันทำยากมาก สาเหตุที่ผมบอกว่าความสงบมันเสื่อม เพราะผมเข้าใจผิดว่ากิเลสมันหมดแล้ว ความสงบนี้คือมรรคผลแล้ว กระบวนการมันจบแล้ว แล้วผมเข้าใจว่าผมวิปัสสนาแล้ว เมื่อก่อนปฏิบัติใหม่ๆ เข้าใจว่าวิปัสสนาสายตรงคือจะเป็นพระอรหันต์แบบสุกขวิปัสสโกก็ได้ คือไม่ต้องทำสมาธิ ทำให้จิตเข้าใจผิดอย่างมหันต์เลย จะวิปัสสโกหรือไม่วิปัสสโกก็ต้องมีสมาธิหมด เพราะมรรค ๘ ต้องมีสมาธิที่ชอบ คือสมาธิที่ถูกต้องตามธรรมด้วย
ที่ทำอยู่แล้ว เกิดความสงบมันวิปัสสนึกคือนึกเอา คือปัญญาอบรมสมาธิ ผลของวิปัสสนึกคือความสงบหรือสมาธินี่เอง แต่เข้าใจผิดคิดว่าจบแล้ว ไม่รักษาความสงบจนเสื่อม กิเลสเกิด จึงรู้ว่ามันไม่ใช่ยังไม่จบ แต่พอเริ่มต้นใหม่ มาทำสมาธิแบบเดิม อุบายเดิมๆ มันไม่ทันกิเลสเลย มันไม่สงบเลย
ผมไม่สงสัยเรื่องความสงบ เรื่องสมาธิ แต่ผมจะขอให้หลวงพ่อช่วยแนะนำเรื่องอุบายทำความสงบใหม่ๆ และหากสงบแล้วต้องสงบมากแค่ไหน จึงจะใช้ปัญญาที่พอจะเห็นอริยสัจได้จริงๆ สมาธิน้อยก็จะกลายเป็นจินตนาการไป สมาธิมากกลัวว่าจะมีแต่ความสุข ความสว่างไสว มันบดบัง ทำให้ไม่อยากทำงานหรือออกใช้ปัญญาได้ ขอคำแนะนำหลวงพ่อด้วย
หลวงพ่อ : เขียนมายืดยาวเลย เขียนมายืดยาวให้เห็นไง ให้เห็นผลใช่ไหม เห็นที่ว่าที่เวลาประพฤติปฏิบัติ ก่อนหน้านี้มีผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเขาบอกว่าวิปัสสนาสายตรง ไม่ต้องใช้สมาธิก็ได้ เมื่อก่อนปฏิบัติใหม่ๆ ผมเข้าใจว่าวิปัสสนาสายตรงคือจะเป็นพระอรหันต์แบบสุกขวิปัสสโกไม่ต้องทำสมาธิ ทำให้เข้าใจผิด
ตอบ : มันไม่ใช่ทำให้เข้าใจผิดหรอก เขาตั้งใจให้คิดแบบนี้ เขาตั้งใจให้เรามีความเห็นแบบนี้ เพราะ เพราะเขาก็ทำแบบนี้ไง เขาทำได้แค่นี้ โลกที่ทำๆ กันอยู่ทำได้แค่นี้ แค่ใช้ปัญญา ปัญญาตรึกในธรรม ตรึกในธรรม แล้วเขาว่านั่นคือการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรม
โลกคิดกันได้แค่นี้ไง โลกคิดกันได้แค่นี้ ก่อนหน้านี้เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติมา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติมาตามความจริงของท่าน ถ้าตามความเป็นจริงของท่าน ท่านบอกให้ทำความสงบของใจก่อน ทำความสงบของใจก่อน เพราะ เพราะท่านก็เคยทำความผิดมาก่อน เพราะท่านเคยปฏิบัติ ท่านเคยเห็น เห็นไหม จิตสงบแล้วค่อยพิจารณากาย แล้วมันพิจารณาแล้วมันไม่ไป มันเข้าได้แค่นั้น แล้วท่านต้องมาลาพระโพธิสัตว์ของท่าน
หลวงปู่มั่นเวลาปฏิบัติไปแล้วท่านก็มีอุปสรรคของท่าน แต่ท่านมีอำนาจวาสนา ท่านทำผิดแล้วท่านก็แก้ไขของท่าน พอท่านแก้ไขของท่าน เวลาท่านทำความสงบใจเข้ามา พอใจสงบแล้วมาพิจารณากาย พอพิจารณากาย เวลามันพิจารณากายไปแล้วมันเป็นวิปัสสนา พอวิปัสสนาเวลาออกมาแล้ว ความรู้สึกว่าที่มันแตกต่าง แตกต่างก่อนหน้านั้นที่ว่าจิตท่านสงบแล้วท่านพิจารณากาย พิจารณาขนาดไหน ออกมาก็เท่าเก่า พิจารณาด้วยนะ พิจารณาออกมาก็เท่าเก่า
แต่พอท่านมาลาความเป็นพระโพธิสัตว์ของท่าน เห็นไหม เวลาจิตสงบแล้วค่อยไปจับกายได้เหมือนเดิม แล้วพอพิจารณาเข้าไป เวลามันพิจารณาไปมันเป็นปัญญา ปัญญาเพราะอะไร เพราะมันมีสมาธิใช่ไหม แล้วมีปัญญาตามข้อเท็จจริงใช่ไหม มันเป็นมรรคโดยข้อเท็จจริงใช่ไหม เวลาพิจารณาไปแล้วมันสำรอก มันคาย มันมีความรู้สึก มันสะเทือนหัวใจ มันจับกิเลสได้ มันสะเทือนกิเลส กิเลสมันถึงคายของมันไง
พอคายออกมา พอท่านออกจากสมาธิมานะ ท่านนึกขึ้นมาเอง ท่านเล่าให้หลวงตาฟัง หลวงตามาพูดให้ฟังต่อไง “พอพิจารณาไปแล้ว พอมันคายออกมา พอออกจากการปฏิบัติมา เอ้อ! มันต้องอย่างนี้สิ” เวลาคนที่ปฏิบัติ ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกเป็นอย่างนี้ เวลาคำว่า “ปัจจัตตังๆ” “เอ้อ! มันต้องอย่างนี้สิ” คือประสบการณ์ใช่ไหม คือธรรมที่เราทำไปแล้วไปรู้ไปเห็นใช่ไหม
แต่เดิมพิจารณาไปแล้ว พิจารณาไปแล้วออกมาแล้วก็เท่าเก่า พิจารณาไปแล้วออกมาก็เหมือนเดิม เอ๊ะ! เราภาวนาไปแล้วมันก็ปกติ เราภาวนาไปแล้วมันไม่เหมือนกับว่ากิเลสมันเบาบางลงไง บางทีภาวนาไปกิเลสมันยิ่งหนาขึ้น ยิ่งภาวนาเท่าไร กิเลสมันยิ่งหนาขึ้น เพราะมันยึดมั่นถือมั่นไง แต่นี้พอพิจารณาไปแล้ว พอออกมาแล้วก็อืม! มันก็เท่าเดิม เท่าเดิม
แต่เวลาท่านลาพระโพธิสัตว์ของท่าน แล้วท่านมาพิจารณาของท่าน เวลามันออกมา “เออ! มันต้องอย่างนี้สิ” อย่างนี้คือว่ามันเบาบางลง มันรู้ของมันตามความเป็นจริงนี้ นี้เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติของท่าน ท่านผิดพลาดมาก่อน แล้วเวลาท่านทำของท่านได้จริง พอทำได้จริงขึ้นมา แต่ท่านสั่งสอน ท่านสั่งสอน เห็นไหม ข้อวัตรปฏิบัติของพระ-กรรมฐาน เวลาทำก็ต้องทำจริงทำจังอย่างนั้น เวลาทำจริงทำจังอย่างนั้นนะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านมีชื่อเสียงขึ้นมา ลูกศิษย์ลูกหามหาศาล เวลาไปหาหลวงปู่มั่น เวลาสดับฟังธรรมต่างๆ ก็ออกมาสนทนาธรรมต่อเนื่องกันไป
ไปคุยกับพระ พระที่มีชื่อเสียงฟัง พระที่มีชื่อเสียงเขาตกใจนะ “อู้ฮู! ต้องทำขนาดนั้นเชียวหรือ” นั่นแสดงว่าไม่เคยทำ คนไม่เคยทำ ไม่เคยทำจะเป็นแบบนั้น เวลาไม่เคยทำก็ทำตามแต่อำนาจวาสนาของตน เวลาทำตามอำนาจวาสนาของตนขึ้นมาแล้ว แล้วก็ปฏิบัติกันไป เวลาปฏิบัติไป มีมาก ดูจิตๆ ไม่ต้องใช้ความคิดเลย มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ใช้ความคิดเลยมันไม่มีปัญญา ไอ้ใช้ปัญญาๆ ไปเลย ใช้ปัญญาไปเลยโดยไม่ต้องทำสมาธิ มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะปัญญาอย่างนั้นน่ะคอมพิวเตอร์มันดีกว่า ปัญญาประดิษฐ์มันคิดได้ดีกว่า
แต่ถ้ามันเป็นภาวนามยปัญญาทุกคนไม่เคยรู้จัก ทุกคนไม่เคยเห็นภาวนามยปัญญา ถ้าทุกคนเคยเห็นภาวนามยปัญญาแล้วจะไม่สอนกันแบบที่สอนๆ กันอยู่นี่ไง ไอ้ที่สอนๆ กันอยู่นี่ เขาบอกเลย เขาบอกว่า “ปฏิบัติใหม่ๆ เข้าใจว่าวิปัสสนาสายตรงๆ แนวทางสติปัฏฐาน ๔ การปฏิบัติวิปัสสนาสายตรงมันจะเป็นวิปัสสนา ไอ้พุทโธๆ มันเป็นสมถะร้อยแปดพันเก้า” แต่! แต่ไอ้นี่ผู้ถาม ถามมาโดยตัวเองเลย ตัวเองเป็นคนที่ไปเห็นจริงตามนั้นเลย ไปเห็นตามนั้น เห็นไหม แล้วเวลาเขาสรุปลงไอ้นั่นเป็นวิปัสสนึก ไอ้ที่เขาทำกันน่ะวิปัสสนึก แล้วบอกเลย “ถ้ามันเป็นอย่างนั้น”มันบอกว่า “มันเป็นแค่ปัญญาอบรมสมาธิ”
ปัญญาอบรมสมาธิมันเริ่มต้นมาจากหลวงตา ธรรมดาสมาธิอบรมปัญญา ที่ทำสมาธิ ทำสมาธิกัน หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านสอนทำความสงบของใจ ใจสงบแล้วเราฝึกหัดใช้ปัญญา ทำสมาธิแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ทำศีล สมาธิ ปัญญา แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติของท่าน ท่านมีเทคนิคของท่าน คือทำไปแล้วบางทีมันไม่สะดวก ทำไปแล้วมันไม่ตรงจริตนิสัย ท่านก็ใช้ปัญญาของท่าน
ท่านบอกเลยเหมือนต้นไม้ หลวงตาท่านเปรียบนะ เหมือนต้นไม้ต้นหนึ่ง เราโค่นมันไม่ได้ ต้นใหญ่มาก เราไม่มีสติปัญญา เราไม่มีกำลังพอ ท่านบอกว่า เราก็เลาะกิ่งมันไปทีละกิ่งสองกิ่ง ตัดไปเรื่อย เห็นไหม ทอนไปเรื่อย ทอนลงมาจนเหลือสุดท้าย แล้วเราค่อยมาขุดรากถอนโคนมันก็จบ นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ
แต่ถ้าสมาธิอบรมปัญญา ต้นไม้ทั้งต้น เห็นไหม เขาโค่นที่โคน เวลาโคนต้นไม้ใหญ่ๆ เขาตัดที่โคน เวลาล้มลงตึ้งเลย เห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน พุทโธๆ ไป มันจะมีอาการที่ต้นไม้ใหญ่มันล้ม เห็นไหม ต้นไม้ใหญ่เวลามันล้ม มันจะฟาดไปหมดเลย แล้วมันรุนแรง นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพุทโธๆ ไป มันจะมีอาการเหมือนมันจะวูบ จะมีอาการดูดดื่มมาก
แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เห็นไหม มันเหมือนกับตัดกิ่ง ตัดก้าน ตัดทีละกิ่ง ตัดเล็กตัดน้อยมา เวลาไปขุดโคนต้นมันปกติ มันไม่มีอะไรเสียงดัง ไม่มีอะไรกระทบกระเทือน เพราะอะไร เพราะเราใช้ปัญญาไล่ต้อนเข้ามา จะบอก ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ สิ่งที่เขาทำๆ กันอยู่ ถ้าเป็นพุทธจริต เพราะเวลาเราปฏิบัติของเรา ด้วยประสบการณ์ของเรา
ถ้าเป็นสมาธิอบรมปัญญาก็ปฏิบัติแบบพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะท่านกำหนดสมาธิก่อน ดูสิ เวลาเป็นพระโสดาบันแล้วมาบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม ยังง่วงเหงาหาวนอน ยังจะนั่งหลับ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปโดยฤทธิ์ให้แหงนหน้าดูดาว ให้เอาน้ำลูบหน้า ให้ตรึกในธรรม ถ้ามันยังง่วงอยู่นอนซะ นอนเลย ตื่นแล้วค่อยมาปฏิบัติ ทำสมาธิให้เข้มแข็งขึ้นมา นี่สมาธิอบรมปัญญา
แล้วถ้าปัญญาอบรมสมาธิ พระสารีบุตร พระสารีบุตรมีปัญญามาก ต้องใช้ปัญญานำ ต้องใช้ความคิด ความคิดพิจารณาให้มันหดสั้นเข้ามา หดสั้นเข้ามา ถ้าหดสั้นเข้ามาแล้ว เวลามันหดสั้นเข้ามามันก็เป็นสมาธิ แต่สมาธิเดี๋ยวก็ต้องคิดอีก ก็ต้องใช้ปัญญาไล่เข้ามา
เป็นสมาธิอบรมปัญญา ทีนี้คำว่า “สมาธิอบรมปัญญา” มันใช้ปัญญาไง มันใช้ปัญญาตรึกในธรรม อย่างที่พระพุทธเจ้าสอนพระโมคคัลลานะ ให้แหงนหน้าดูดาว ให้เอาน้ำลูบหน้า ถ้าง่วงนอน เวลาเรานั่งสมาธิง่วงเหงาหาวนอน ให้เอาน้ำลูบหน้า ให้ตรึกในธรรม ให้ตรึกในธรรมก็คิดในเรื่องธรรมะไง คิดในเรื่องธรรมะอย่าไปคิดเรื่องโลก ให้คิดเรื่องธรรมะ ตรึกในธรรม มันก็เป็นแทนคำบริกรรม นี่สมาธิอบรมปัญญา
ถ้าสมาธิอบรมปัญญา ถ้าอบรมปัญญา ถ้าคนมีสติปัญญา คนที่เคยทำ เขายืนยันได้ว่า อย่างมากที่เขาบอกว่าใช้ปัญญาไปเลย ปัญญาไปเลย อย่างมากถ้าถูกต้องเป็นสมาธิอบรมปัญญา แต่มันอย่างที่ไม่ถูกต้อง มันผิด มันเลยเป็นมิจฉา มิจฉาเพราะความหลงผิดไง เพราะความหลงผิดปั๊บ เข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นวิปัสสนา เข้าใจว่าสิ่งนั้น แล้วเวลาเป็นแล้วก็เป็นแค่นี้ เป็นแค่มันว่างๆ เขาบอกว่ามันสงบลงมา เห็นไหม มันสงบได้ มันแค่เป็นสมาธิอบรมปัญญา เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามันสงบระงับก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามันซื่อสัตย์ก็เป็นอย่างนี้
แต่ไอ้ที่พระที่พูดๆ อยู่นี่ ว่าใช้ปัญญาไปเลย ใช้ปัญญาไปเลย แล้วมันไม่ยอมรับ ไม่ยอมรับ ไม่ยอมรับเพราะอะไร เพราะมันเสื่อมหมด มันอยู่ไม่ได้ สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง ไม่มีสิ่งใดอยู่ได้หรอก ไม่มี แต่ถ้ามันไม่มีแล้วมันก็ต้องเสื่อมออก มันก็ต้องคลายออกเป็นเรื่องธรรมดา คลายออกเป็นธรรมดา ทำไมเขาไม่ยอมรับล่ะ
แต่ทำไมผู้เขียนนี้ยอมรับล่ะ เพราะผู้เขียนมานี้ยอมรับเพราะอะไร เพราะมันเป็นจริงไง มันเป็นจริงสำหรับที่ผู้ปฏิบัติจริงตามข้อเท็จจริงไง แต่เขายังละเมอเพ้อพกกันอยู่นะ ยังมีฝ่ายที่ละเมอไปไง มันเลยไม่เป็นความจริง ถ้าไม่เป็นความจริงมันก็ไม่เป็นความจริงอย่างนั้น
ฉะนั้น เขาบอกว่า คำว่า “บริกรรม” เขาบอกว่า “สิ่งที่เขาปฏิบัติ ปฏิบัติเริ่มต้น เขาใช้คำว่า จินตนาการไปเลย เขาไม่มีคำบริกรรม”
ไอ้คำบริกรรม คำบริกรรมนี่สำคัญ เพราะว่าอะไร เพราะหลวงปู่มั่นท่านสั่งหลวงตาไว้ อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ อย่าทิ้งผู้รู้ก็อย่าทิ้งใจของเรา อย่าทิ้งพุทโธก็อย่าทิ้งคำบริกรรม คำว่า “พุทโธๆ” คือคำบริกรรมไง อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ แล้วเราจะไม่เสียหาย เพราะเราอยู่กับผู้รู้ เราอยู่กับพุทโธ เรารักษาของเราตลอดไป มันก็จะเจริญงอกงามของมันไป เราไม่ออกไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งอื่นที่มันเข้ามาในความรู้สึกของเรา เราอยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธของเราจะไม่เสียหาย นี่เป็นคำสั่งของหลวงปู่มั่นเลย
ฉะนั้น คำว่า “คำบริกรรมของเขา” เขาบอกว่าคำบริกรรมของเขา คือว่าคิดพุทโธ คิดว่าตายๆๆ คิดว่าซากศพ ถูก คำบริกรรมเป็นอย่างนั้น แต่! แต่เขาไม่มีคำบริกรรม เพราะคำบริกรรมเป็นการยึดเกาะ คือจิตมันยึดเกาะ ถ้าจิตมันยึดเกาะคือคนที่มีหลักเกณฑ์ คนที่มีหลักเกณฑ์ทำอะไรโดยหลัก ถ้าเรามีองค์ความรู้ เราทำด้วยความรู้นั้น ทำสิ่งใดผลของมันก็ต้องให้ผลตามข้อเท็จจริง ถ้าเรามีพุทโธๆ ของเราไป คือ เราไม่ออกไปเรื่องอื่น มันจะเสื่อม มันจะปานกลาง มันจะดีขนาดไหน เราอยู่กับพุทโธของเรา มันไม่เสียหาย ถ้าเหตุผลมันพอ มันก็สงบ สงบเราก็อยู่กับความสงบนั้น
เขาบอกว่า “คำบริกรรมคือพุทโธ คือสังโฆ คือคิดเรื่องซากศพ แต่เขาไม่ได้คิดอย่างนั้น เขาคิดเรื่องความตาย คิดเรื่องความสุข คิดให้มันผ่อนคลาย คิดให้มันกว้างขวางออกไป มันก็สลดสังเวชได้ มันสลดสังเวชได้”
ใช่! พอสลดสังเวชได้คือปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิแล้ว เวลามันหยุดแป๊บเดียว เพราะว่ามันหยุด หยุดแล้วโดยธรรมชาติ เพราะมันไม่มีคำบริกรรม คือไม่มีที่ยึดเกาะไง พอไม่มีที่ยึดเกาะ เวลาเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เวลามันปล่อยวางแล้ว ถ้ามันว่างอยู่ พอมันว่างปั๊บ เราคิด มันหยุดคิดไง หยุดคิดเราก็ใช้พุทโธต่อไป ใช้พุทโธต่อไป ถ้ามันต่อเนื่องไปนะ แต่ถ้ามันไม่ต่อเนื่องไป เห็นไหม มันก็ออกคิดอีก มันต้องฝึกหัดอย่างนี้
นี่พูดถึงว่า ถ้าความชอบธรรม ความชอบธรรมคือมันเป็นมรรคเป็นผลไงศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล แต่ถ้าสิ่งที่ทำๆ มามันไม่ชอบธรรม พอไม่ชอบธรรม มันก็เป็นไปตามที่ประสบการณ์มันเป็นจริง มันเป็นอย่างนี้จริงๆ ไม่เป็นอย่างอื่นหรอก เพียงแต่ซื่อสัตย์หรือไม่
คำว่า “ซื่อสัตย์นะ” ซื่อสัตย์คือว่าเป็นตามข้อเท็จจริง แล้วอีกอย่างหนึ่งก็เป็นผู้ที่ปฏิบัติเอง เพราะคนที่ปฏิบัติเขาต้องการมรรคต้องการผล ไม่ใช่ปฏิบัติพอเป็นพิธี ไอ้นี่ก็ปฏิบัติพอเป็นพิธีไง แล้วสิ่งที่ยืนยัน ยืนยันเพราะมีครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติแล้ว ท่านประสบผลสำเร็จตามความเป็นจริง เราก็อ้าง อ้างว่าเป็นอย่างนั้น
แล้วนี่ เห็นไหม บอกเลย “เวลาปฏิบัติไปแล้ว เขาบอกว่า เวลาจิตเขาเสื่อม เสื่อมจากความสงบ แล้วมันเข้ายากแสนยาก มันปล่อยให้ความเสื่อมไป เพราะเข้าใจว่ากิเลสมันหมดแล้ว เข้าใจว่ากิเลสมันหมดแล้ว ความสงบนี้คือมรรคคือผล”
เพราะเข้าใจว่าความสงบนี่คือมรรคคือผล ถ้ามิจฉาทิฏฐิมันคิดอย่างนี้ ความมิจฉาทิฏฐิ ๑. ๒. กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันปิดหูปิดตาหนึ่ง แล้วปฏิบัติไปมันไม่มีมรรคไม่มีผลตามความเป็นจริง มันก็เอาวิปัสสนึก เอาความนึก เอาความจินตนาการ
เวลาปฏิบัติไปถ้าตามข้อเท็จจริงนะ มันก็เป็นตามข้อเท็จจริง แต่ตามข้อเท็จจริงนั้นมันก็ยังเป็นอนัตตา มันก็ยังแปรปรวน มันเป็นอนัตตาในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่เราไม่รู้ไม่เห็นของมันไปไง ถึงถ้ามันเป็นจริง มันก็เปลี่ยนแปลงของมัน มันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ ถ้าเป็นความเป็นจริง แต่ถ้ามันไม่ตามความเป็นจริงคือมันไม่มีผลไง มันไม่มีผลตามความเป็นจริงอันนั้น
ฉะนั้น พอเขาเข้าใจผิด เขาบอกว่า “เขาเข้าใจผิด เขาคิดว่ากิเลสเขาหมดแล้ว ความสงบนี้คือมรรคผล กระบวนการของมันจบแล้ว ผมเข้าใจที่ว่าคือผมวิปัสสนาแล้วไง”
โดยความเป็นจริงมันเป็นอย่างนี้ อย่างนี้มันก็อยู่ที่วุฒิภาวะ ถ้าวุฒิภาวะคนที่มีการศึกษา คนที่มีจุดยืนนะ เขาก็ต้องว่ามีหลักการมีเหตุมีผลถึงจะเชื่อได้ ไอ้นี่เอาแต่ความรู้สึกของตนไง เอาตามความถูกใจ ไม่ต้องเอาความถูกต้อง เอาความถูกต้องดีงาม มันไม่อย่างนั้นเอาความถูกใจ ถ้าเอาความถูกใจขึ้นมาแล้ว เวลาจิตที่มันกำลังทำเริ่มต้น มันก็ว่ามันได้ มันก็ว่ามันมีความสุข มันก็ว่ามันเป็นการปฏิบัติธรรม
แต่ผลของมัน เห็นไหม พอเข้าใจแล้ว พอมันเสื่อมแล้วไม่มีทางไป แต่ถ้ามีทางไปนะ เขาก็ทำกันอยู่อย่างนั้น ซ้ำรอยเดิมอยู่อย่างนั้น รักษาใจไว้แค่นั้น แล้วมันเป็นคืออะไร นั่นก็ปุถุชนไง คือไม่มีผลไง ไม่มีผลในการปฏิบัติ ไม่มีผลหรอก ปฏิบัติพอเป็นพิธี ทีนี้พอคำว่า “ปฏิบัติพอเป็นพิธีนะ” มันก็ทางโลก
ฉะนั้น ทุกคนจะต้องมาสมบุกสมบันอย่างเราใช่ไหม จะต้องมาสมบุกสมบันแบบครูบาอาจารย์ใช่ไหม ครูบาอาจารย์ของเราท่านมีเป้าหมายพ้นจากทุกข์ ท่านก็ทำจริงทำจังโดยความเป็นจริงของท่านไง ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไง
แต่ที่ผู้ปฏิบัติ ปฏิบัติ เพียงปรารถนาจะมีความสุข ถ้าปรารถนามีความสุข ดูสิ อย่างโดยทั่วไป บริษัท ๔ บริษัท ๔ เขาก็มีสิทธิในการปฏิบัติใช่ไหม จะเด็กน้อย จะอย่างไร ถ้ามีสำนักปฏิบัติ เขาปฏิบัติมาเพื่อฝึกหัดสติๆ ฝึกให้มีสมาธิ แต่ไอ้มรรคไอ้ผลมันต้องเริ่มต้น ไอ้นี่มันอนุบาล อนุบาลเริ่มต้นมันก็ทำกันแค่นั้น แล้วการทำอนุบาลอย่างนั้นมันจะบรรลุธรรมได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ มันปฏิบัติพอเป็นพิธี พอเป็นวัฒนธรรมของชาวพุทธเท่านั้นแหละ
แต่นี้ปฏิบัติอย่างนั้นเราก็สาธุ สาธุว่าอย่างน้อย เห็นไหม ระดับของทาน ระดับของศีล ระดับของภาวนา เขาหัดภาวนากันบ้าง มันก็เป็นประโยชน์กับเขา แต่! แต่มันไม่อย่างนั้น พอเริ่มมีการภาวนาขึ้นมาก็อ้างมรรคอ้างผล มรรคผลเอามาขายกัน ชี้เลย คนนี้ได้โสดาบัน คนนั้นได้โสดาบัน มึงจะบ้า!
ความเป็นโสดาบัน คนที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ครูบา-อาจารย์เราท่านจะได้ขั้นได้ตอนแต่ละทีน่ะ เขาลงทุนลงแรงขนาดไหน ลงทุนลงแรงขึ้นมามันเป็นความจริงเพราะอะไร เพราะมีครูบาอาจารย์ท่านตรวจสอบจริงๆ ไง ท่านตรวจสอบจริงๆ มันเป็นจริงไหม เพราะครูบาอาจารย์อย่างที่ว่า ปุถุชน กัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล จากปุถุชนคนหนา วิปัสสนึกไปเรื่อยๆ แล้วเป็นกัลยาณชน ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติพอมีแนวทางแล้ว แล้วถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้าเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง ยกขึ้นโสดาปัตติมรรค
ขณะยกขึ้นสู่โสดาปัตติมรรค มันก็เหมือนกับทางโลก ทำโครงการใดโครงการหนึ่ง ถ้าทำโครงการใดโครงการหนึ่ง ทำโครงการนั้นสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ถ้าทำโครงการนั้นไม่สำเร็จ ทำโครงการแล้วมันล้มเหลว ทำโครงการแล้วจบสิ้นไม่ได้ โครงการนั้นก็อยู่ส่วนโครงการ คือว่าเป็นโสดาปัตติมรรคแล้วก็เสื่อมลง ไม่มีขึ้นน่ะ มันไม่ขึ้นไปอีกหรอก ถ้าทำโครงการใดโครงการหนึ่ง ประสบความสำเร็จจนปิดโครงการได้ จบโครงการนั้นถึงจะเป็นโสดาปัตติผล
มันมีโครงการนั้นเป็นเครื่องยืนยัน มันมีผลงาน มันมีงานกระทำเป็นเครื่องยืนยัน นี้เครื่องยืนยัน งานคืออะไร ก็ไม่รู้จักอีก ก็เลยวิปัสสนึก ก็คุยกันไปไง คุยกันไปมันก็ไม่ชอบธรรม มันไม่ชอบ ปฏิบัติโดยไม่ชอบตลอด แต่มันเป็นสิ่ง เพราะคำพูดมันสะเทือนนะ “เพราะปฏิบัติใหม่ๆ เข้าใจว่าวิปัสสนาสายตรง ถ้าจะเป็นพระอรหันต์แบบสุกขวิปัสสโกก็ได้ ไม่ต้องทำสมาธิไง แต่พอทำเลยให้เข้าใจผิดมหันต์ไปเลย ว่าวิปัสสโกหรือไม่วิปัสสโก ต้องมีสมาธิทั้งหมด” เห็นไหม
ทำให้เวลาเขามีความเห็นถูกต้องขึ้นมาแล้ว จะวิปัสสโกหรือไม่วิปัสสโก ต้องมีสมาธิทั้งหมด เพราะสมาธิมันเป็นมรรค มันเป็นมรรคตัวหนึ่งในมรรค ๘ แล้วบอกว่าไม่ต้องเลย แล้วที่ใช้ปัญญาไปเลย ใช้ปัญญาไปเลย ไม่ต้องทำสมาธิ เวลาทำสมาธิก็บอกว่ากำหนดดูจิตๆ ก็ไม่ต้องใช้ความคิดเลยเหมือนกัน ห้ามคิด ห้ามคิด ทั้งๆ ที่ความจริงคิดเท่าไรก็ไม่รู้ต้องหยุดคิด แต่ก็ต้องใช้ความคิด
เวลาคนจริงเขาพูด มันมีปัญญาอยู่ เราจะพูดให้มันปิดช่องของปัญญาเลยมันเป็นไปไม่ได้ ไอ้เรื่องความคิด ความคิดน่ะ คิดจนไปปิดกำลังของใจ มันก็เป็นไปไม่ได้ ใจไม่มีกำลังมันจะทำงานได้อย่างไร ไม่มีสมาธิ ไม่มีกำลัง ไม่เข้าสู่ใจของตน มันจะเกิดวิปัสสนาได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นเรื่องโลกๆ ไง
เพราะตัวสมาธินี่แหละ ตัวจิตของเรา ถ้าตัวจิตของเรา เขาบอก “ถ้าเป็นสมาธิเป็นตัวตน” ใช่! ก็ตัวตนน่ะสิ ถ้าไม่ตัวตนจะเอาอะไรวิปัสสนาล่ะ ก็กิเลสมันอยู่ที่จิตนั้น กิเลสมันอยู่ที่ตัวตนนั้น กิเลสของเราก็อยู่ในใจเรานี่แหละ แล้วถ้าใจของเรา ไม่เริ่มต้นวิปัสสนาจากใจเรา จะไปวิปัสสนาที่ไหน อ้าว! ก็ใจมันตัวเกิด อ้าว! ก็ใจตัวมีกิเลส ไอ้ที่จะพ้นก็ใจเป็นผู้พ้น แล้วถ้าไม่เข้าสู่ตัวตน มันจะไปเข้าตรงไหนล่ะ
เขาบอก “สมาธิเป็นตัวตนนะ เขารังเกียจไง ว่ามันเป็นกิเลส ตัวตนนี้มันเป็นอัตตา มันน่ารังเกียจ” ไอ้พวกเกลียดตัวกินไข่ ทั้งๆ ที่เป็นตัวมันเอง มันยังไม่รู้จักตัวมันเอง มันยังรังเกียจอีกด้วย ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักตัวเองเลย แต่ถ้ารู้จักตัวเองมันถึงจะเป็นความชอบธรรม ถ้าความชอบธรรม ถ้าไม่ชอบธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบ ถ้าไม่ชอบมันก็จะมีปัญหาอย่างนี้ แต่นี่มีปัญหานะ นี่คือข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงคือสัจจะ คืออริยสัจ
แต่ทีนี้พูดถึงว่าผู้ที่เข้าใจเขาเข้าใจเอง แล้วเขียนเอง เขียนมาเองเลยนะ ถ้าจะเป็นสุกขวิปัสสโกหรือไม่โกก็แล้วแต่ เขียนมาเองเลย เพราะอะไร เพราะเวลาเขาพูด เขาพูดไปอย่างนั้น พูดพระอรหันต์ประเภทนั้น ประเภทนั้น ประเภทนี้เป็นอย่างนี้ ประเภทนั้นเป็นอย่างนั้น แต่ความจริงมันไม่ใช่
พระอรหันต์คือพระอรหันต์ พระอรหันต์มีหนึ่งเดียวเท่านั้น แต่ที่มันแตกต่าง แตกต่างเพราะว่าจริตนิสัย นิสัยเขาสร้างบารมีมาขนาดไหน เขาทำมาอย่างไร มันก็ได้อย่างนั้น ถ้าทำไม่ตรงจริตนิสัยมันไม่เข้าถึงกิเลส มันก็ฆ่ากิเลสไม่ได้ ถ้าจริตนิสัย คนชอบสิ่งใดก็ต้องไปแก้ไขสิ่งที่ความชอบเขา ไปชำระล้างกันสิ่งที่ความชอบในใจเขา แล้วทำลายกิเลสในใจของเขาออกไป การทำลายกิเลสนั้นนั่นน่ะคือพระอรหันต์ แต่ถ้าเป็นประเภทใด ประเภทใดก็อยู่ที่วิธีการทำนั้น วิธีการนั้นทำมาแล้วได้มรรคผลแค่ไหน ถ้าได้ถูกต้องดีงามมันก็เป็นความจริง
ถ้าไม่ถูกต้องดีงาม มันก็ไม่เป็นความจริงขึ้นมา ไม่เป็นความจริงก็โดนกิเลสหลอกไง โดนกิเลสหลอกไป เห็นไหม สิ่งที่ว่าเข้าใจผิด เขามีเป้าหมายให้เราเข้าใจอย่างนี้เพราะอะไร เพราะเขามีความรู้เท่านี้ เขามีความรู้เท่านี้ แล้วเขาคิดว่าเขาเป็น แล้วคนที่ศึกษามาปฏิบัติเข้า แล้วมันไม่จริง แล้วผู้สอนจริงไหม มันก็ไม่จริง พอไม่จริงขึ้นมา แต่มันอิงไง
ฉะนั้น ถึงบอกว่าเวลามีผู้ที่ศรัทธาเขาไปหาหลวงตาไง บอกว่า “เขาเคารพพระป่ามาก เคารพลูกศิษย์หลวงปู่มั่นมาก” หลวงตาท่านพูดเลย “ในลูกศิษย์หลวงปู่มั่นก็มีทั้งดีและเลว คือมีจริงกับปลอม ปลอมเยอะ”
ถ้ามีจริง จริงนี่หลวงปู่มั่นท่านภูมิใจ หลวงปู่มั่นท่านภูมิใจกับลูกศิษย์ของท่านที่ขวนขวายที่ทำจริงนะ เพราะท่านเองก็ขวนขวายมา เพราะคนที่ประพฤติปฏิบัติ ถ้าได้ความจริงขึ้นมาได้มาจากใคร ได้มาจากรัตนตรัย ได้มาจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่มีพระธรรม ไม่มีพระอัญญาโกณทัญญะ ไม่มีครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติ ก็ไม่มีพระสงฆ์ สิ่งที่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มีสัจจะความจริงในใจนั้นแล้วเป็นแก้วสารพัดนึก ท่านมีเป้าหมาย คือวิธีการที่ท่านทำประสบความสำเร็จแล้ว
แล้วพวกเราเอาสิ่งนั้น เอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นแก้วสารพัดนึก เป็นที่พึ่งของเรา แล้วเราประพฤติปฏิบัติ เราเห็นคุณค่าไหม ถ้าเห็นคุณค่าขึ้นมา เห็นไหม ท่านถึงพยายามจะสืบต่อ สืบต่อให้เกิดศาสนทายาท เกิดธรรมทายาท ถ้าเกิดธรรมทายาท ถ้าผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ท่านชื่นชม ท่านภูมิใจมาก ท่านชื่นชม ท่านภูมิใจ เพราะท่านขวนขวายอยู่ก็เพราะเหตุนี้เหตุเดียวเลย
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วเผยแผ่ธรรม เผยแผ่ธรรม เพราะเหตุนี้เหตุเดียวเลย เหตุที่ว่าธรรมะให้มันคงอยู่ ธรรมะให้มันสืบต่อไป หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านก็ทำแบบนั้น แต่ไอ้พวกที่สายตรง ไอ้สายตรงนี่แหละ ไอ้ทางลัดสั้นนี่แหละ มันทำลายทั้งนั้นเลย เพราะมันไม่มีข้อมูลตามความเป็นจริงไง
ฉะนั้น เขาบอกว่า “มันเป็นวิปัสสนาสายตรง เขามีความเห็นผิดอย่างนั้น”
ไม่ใช่! ไม่ใช่! เขาเองคนที่อธิบายคนที่สั่งสอนมาเขาไม่เป็น เขาไม่รู้ เขาได้แค่นั้น ก็ได้แค่นี้แหละ ก็ผู้ที่ถามมาก็ทำแบบเขาจนสิ้นกระบวนการแล้วได้แค่นี้ๆ สรุปเขาก็บอกว่า “มันเป็นวิปัสสนึก มันไม่เป็นความจริง มันเป็นความเข้าใจผิด”
ตอนนี้ถ้าผู้ที่ซื่อสัตย์นะ ถ้าเราซื่อสัตย์กับธรรม เราซื่อสัตย์กับธรรม ถ้าผิดพลาดอย่างไร เราก็ต้องแก้ไข ผิดพลาดอย่างไร เราก็ทำให้มันถูกต้องซะ แต่นี่มันไม่ซื่อสัตย์กับธรรมไง มันไม่ซื่อสัตย์กับธรรม แล้วพยายามบิดเบือน พยายามจะตีความเข้าข้าง เข้าข้างกิเลส มันก็เลยเป็นกิเลสไปหมดเลย ปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติธรรมไม่ใช่ธรรมเลย
แต่ถ้าเป็นธรรม เขาถึงบอกว่า “เพราะมรรค ๘ ต้องมีสัมมาสมาธิ คือสมาธิที่ถูกต้องชอบธรรมด้วย ถ้าไม่อย่างนั้นจะเป็นวิปัสสนึกไปหมดเลย” นี่ไง ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ เป็นสมาธิที่ชอบธรรม แล้วเวลาทำขึ้นมาแล้ว เขาไม่สงสัยในเรื่องของสมาธิ เพราะสมาธิถ้ามันน้อยไปมันก็เป็นจินตนาการ สมาธิมากไปมันก็ไปติดสุข แล้วเริ่มต้นอย่างไรล่ะ
นี่ไง เวลาหลวงปู่ดูลย์ท่านสอน เห็นไหม สิ่งที่มีความคิดทั้งหมดนี้ ผลของมันคือสมุทัย ความคิดของเราปกติที่เราคิดกันอยู่นี่ ที่เขาบอกว่า “ใช้ปัญญาไปเลย ใช้ปัญญาไปเลย” เป็นสมุทัยทั้งนั้น หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกว่า ความคิดโดยปกติเป็นสมุทัย ผลของมันเป็นทุกข์ ต้องหยุดคิด ถ้าหยุดคิดๆ พอหยุดคิดนะ ความคิดทั้งหมดที่คิดอยู่นี่เป็นสมุทัย ผลของมันเป็นทุกข์ ถ้าเวลาจิตเห็นจิต เห็นไหม เวลาจิตเห็นจิตเป็นมรรค ผลของจิตที่เห็นจิต ผลของจิตที่เห็นจิตเป็นนิโรธ เป็นนิโรธคือหมดกิเลสเป็นชั้นๆ ไป
อันนี้ก็เหมือนกัน แต่ถ้าพูดถึงว่า ถ้าสมาธิ สมาธิน้อยมันก็เป็นจินตนาการ สมาธิมากมันก็ติดในสุขนั้น ถ้าติดในสุขนั้นมันก็กลับมาใช้ปัญญาอบรมสมาธิ หรือกำหนดพุทโธๆ ถ้าจิตมันสงบเข้ามา เขาถามว่า “หากให้หลวงพ่อบอกการทำความสงบต่อเนื่อง” คือจะกลับมาปฏิบัติใหม่ว่าอย่างนั้นเถอะ คือจะกลับมาปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วให้ได้ผลตามความเป็นจริง ถ้าให้ผลตามความเป็นจริง เห็นไหม ก็กลับมาถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันปล่อย มันปล่อย นี่ไง พอมันปล่อย พอปล่อยมันก็คิดอีก คิดอีก เราก็ใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้าไปบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า แล้วต้องสังเกตตรงนี้ สังเกตที่ว่าจิตเห็นอาการของจิต คือจิตเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง จิตเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริงเพราะอะไร เพราะจิตมันสงบไง
ถ้าเป็นสัมมาสมาธิจิตมันสงบ จิตมีกำลังของมัน ถ้ามีกำลังของมัน มันจะเห็นสติปัฏฐาน ๔ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม การเห็นนี้เป็นอยู่ที่จริตนิสัย ถ้าจริตนิสัยถ้ามันเห็นอย่างไร นี่คือจิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นสติปัฏฐาน ๔ จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นจิตคือจิตเห็นสติปัฏฐาน ๔ แต่หลวงปู่ดูลย์ท่านไม่พูดเป็นปริยัติไง ไม่พูดบอกว่าจิตเห็นสติปัฏฐาน ๔ ท่านบอกว่า “จิตเห็นจิต” จิตเห็นจิตคือจิตเห็นสติปัฏฐาน ๔ แล้วเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องดีงาม นี่ท่านบอกนี่คือมรรค
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันสงบแล้วให้สังเกตตรงนี้ เขาบอกว่า “ผมจะพัฒนาต่อไปอย่างไรไง แล้วถ้าหากจิตสงบแล้ว สงบมาก สงบน้อยแค่ไหนที่จะใช้ปัญญา ที่จะเห็นอริยสัจได้จริงๆ” พอจิตมันสงบแล้ว เราใช้ปัญญาอบรมสมาธินะ จิตสงบ คือจิตมันปล่อยขึ้นมามันก็มีความสุข เพราะเราใช้ปัญญาของเรา เราใช้ปัญญาของเราพอสงบแล้วมีความสุขมากนะ แล้วรู้ด้วย
แต่ถ้าใหม่ๆ มันไม่รู้ไง ว่ามันปล่อยอย่างไร ไอ้ที่เวลาไม่ปล่อย เวลามันคิดไม่รู้นะ มันคิดจนเหนื่อย จนทุกข์ยากไม่รู้หรอก แต่มันปล่อย เอ๊ะ! ปล่อยอย่างไร เออ! มันสุขน่ะ พอมันปล่อยมันจะเบา พอเบาแล้ว เออ! คืออะไร งงๆ เดี๋ยวคิดอีกแล้ว มันจะไวมาก เพราะจิตมันจะคิดเร็ว
เราใช้ปัญญาของเราให้พร้อม พอมันปล่อยมา เห็นไหม ปล่อยปั๊บ เดี๋ยวก็คิดอีก พอเราเห็นความแตกต่างระหว่างคิดกับหยุดคิด ระหว่างคิดกับที่มันปล่อย เราเห็นหลายครั้งเข้า มันก็รู้วิธีแล้ว อ๋อ! พออ๋อขึ้นมาเราก็ใช้ปัญญาไล่เข้าไป ไล่พอมันปล่อย ปล่อยถ้าเรามีสติทันนะ เรานึกพุทโธต่อเนื่องเลย ถ้าไม่นึกพุทโธเดี๋ยวก็คิด คิดอีกก็ไล่ไปจนกว่ามันจะมีกำลัง พอมันจะมีกำลัง พอมีกำลัง เวลามันจะคิด เวลามันปล่อย ปล่อย เวลาจะคิดนั่นน่ะคืออาการ
ถ้าเป็นหลวงตาท่านจะบอกคำว่า “เสวย” จิตเสวยอารมณ์ จิตของเราเสวยความคิด จิตจริงๆ มันเป็นธาตุรู้ เป็นความรู้สึก สมาธิคืออารมณ์ที่เป็นหนึ่งไม่พาดพิง คือความรู้เป็นหนึ่ง ไม่พาดพิงอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าเป็นสมาธิจิตมันเป็นตัวจิตแท้ๆ มันไม่พาดพิงใดๆ ทั้งสิ้น คือสมาธิ
เวลามันจะคิดมันต้องพาดพิงอารมณ์ มันต้องพาดพิง มันมีขั้วบวกขั้วลบ มันพาดพิง แต่เราไม่รู้ไม่เห็นไง มันก็คิดไป แต่ถ้าเราหยุดบ่อยๆ ครั้งเข้า เวลามันจะคิด มันจะพาดพิง คัทเอาท์ เวลาสับมันก็ไป ไม่สับมันก็ไม่ไป เวลาไปถ้ามันทันปั๊บมันเห็นเลย พอจับปั๊บ ถ้าจับนี่รูป ถ้ามันจับเป็นรูปก็ได้ จับเป็นกายก็ได้ ถ้าจับเป็นความรู้สึกก็เป็นเวทนา ถ้าจับเป็นจิต ถ้าจับเป็นธรรม อยู่ที่ปัญญาของคน อยู่ที่วาสนาของคน ถ้ามันจับได้
“หากสงบแล้ว ต้องสงบมากแค่ไหน ถึงจะใช้ปัญญาที่จะเห็นอริยสัจได้จริงๆ”
จิตเห็นอาการของจิตตามความเป็นจริง เห็นจริงๆ ถ้าเห็นจริงๆ พอจับต้องได้แล้ว พอจับต้องได้แล้วนะ มันก็เข้าไปคำสอนหลวงตาอีกน่ะ หลวงตาบอกว่า “การปฏิบัติของกรรมฐาน มีอยู่ ๒ ชนิด มีวิธีการ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือการขุดคุ้ยหากิเลส อีกอย่างหนึ่งคือใช้ปัญญาฆ่ากิเลส” แล้วเวลาท่านบอกนะ “ทำสมาธิ ทำสมาธิ สมาธิมันเหมือนเอาสมาธิรวบไว้เหมือนเกี่ยวข้าว สมาธิคือรวบข้าวเข้ามา ปัญญาคือเคียว ท่านบอกสมาธิจับ ปัญญาตัด”
หลวงตาท่านพูดบ่อย ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์นะ ท่านเทศน์ของท่านด้วยความชำนาญของท่าน แต่ไอ้คนฟังไม่รู้เรื่องหรอก ไม่เป็น แต่ถ้าคนเป็นฟังนะ มันเข้าใจไง หลวงตาจะบอกว่า “สมาธิจับข้าวไว้” คือเราจะเกี่ยวข้าว เรารวบข้าวไว้ด้วยสมาธิ เราจะตัดด้วยปัญญาคือเคียว ปัญญาเท่านั้นที่จะตัดกิเลส ปัญญาเท่านั้นที่จะเกี่ยวข้าว สมาธิก็แค่รวบไว้ รวบไว้เท่านั้น
นี่พูดถึงว่า นี้คือว่าเวลาถ้ามันขุดคุ้ยหากิเลส เห็นไหม สมาธิจับกิเลส ปัญญาตัด ถ้ามันตัดก็ต้องฝึกหัดตัดอีก ฝึกหัด ฝึกหัดตัดก็ฝึกหัดใช้ปัญญานี่ไง ฝึกหัดใช้ของเรา พอมันจับได้แล้ว พอจับได้มันจะมีอาการสะเทือน เพราะขุดคุ้ยหากิเลสเหมือนกับที่หลวงตาท่านพูด เราจับปลามา เรานึกว่าปลา เราจับงูมานึกว่าปลา จับมั่นคงนะ จับมั่นเลยเพราะปลา เข้าใจว่าปลา อู้ฮู! จับมั่นเลย พอพ้นน้ำ อู้ฮู! มันงู สลัดผลัวะ! สลัดทิ้งเลย
นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตเห็นจิต ขุดคุ้ยหากิเลส ขุดคุ้ยถ้าเจอจับ จับไว้ จับแน่นเลย แล้วเวลาพิจารณาไป พิจารณาไป มันเป็นงูหรือเป็นปลา แต่ด้วยเวลาจับมันเข้าใจว่าปลาอยู่แล้ว เวลาจับเข้าใจว่าปลา ขุดคุ้ยหา โอ้โฮ! ได้ปลาแล้ว ได้ปลาตัวใหญ่เลย อู้ฮู! ตัวเบ้อเร่อเลย เข้าใจว่าปลา เพราะมันมีอยู่กับเราไง มันถึงความรู้สึก
เราจะบอกว่า จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง จิตขุดคุ้ยเจอกิเลส มันสะเทือนกิเลส เพราะมันจับได้จริงๆ สิ่งที่จับได้จริงๆ มันมีชีวิตจิตใจ มันมีรสมีชาติ มันเป็นกิเลส มันดิ้นมันรน มันรู้สึก เวลาคนภาวนามันจะรู้สึกอย่างนี้ แล้วเวลาไอ้พวกที่มาขี้โม้ มันพูดร้อยแปดเลย แต่ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกอะไรเลย เหมือนคนด้านชา คนประสาทไม่สัมผัส ประสาทสัมผัสมันตายด้าน มันไม่รู้อะไรเป็นอะไรเลย แต่มันพูดสติปัฏฐาน ๔ นะ มันพูดถึงมรรคถึงผลเลยนะ แต่มันด้านชา ไม่มีอารมณ์อะไร กระเทือนอะไรเลย
แต่ถ้าเป็นการประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง มันมีของมัน แค่ขุดคุ้ยหามัน เจอมัน จับมันได้นี่ก็โอ้โฮ! เป็นลาภมหาศาล ถ้าการปฏิบัตินะ เป็นลาภของเรา เหมือนเราเลย ไปโรงพยาบาล หมอ เป็นอะไร หมอ เป็นอะไร ไม่รู้เป็นโรคอะไร บอกมะเร็ง พรุ่งนี้มึงตาย โอ้โฮ! ขนพองสยองเกล้าเลย นี่ก็เหมือนกัน พอไปเจออะไร อะไร ผลัวะ! กิเลส จับมันได้
หลวงตาท่านเน้นย้ำนะ วิธีการขุดคุ้ยหา มันต้องเป็นวิธีการขุดคุ้ยหา แต่พวกเราไม่ได้คิด คนที่ปฏิบัติโดยที่ปฏิบัติไม่เป็น มันไม่ได้คิดหรอกว่าวิธีการขุดคุ้ยหากิเลสเขาทำกันอย่างไร เราต้องหา หมอเป็นอะไร หมอเป็นอะไร หมอก็ต้องวินิจฉัยโรค แต่ปฏิบัติน่ะธรรมมันวินิจฉัย คุณธรรมในหัวใจเราวินิจฉัยเอง วินิจฉัยว่าอะไรเป็นกิเลส กิเลสเป็นอย่างไร จับกิเลสได้หรือไม่ได้ ถ้าจับได้แล้ววินิจฉัย แล้วทีนี้พอมันจับได้ใช่ไหม ทีนี้ปัญญาล่ะ มรรคน่ะ เข้ามรรคแล้วมันก็วิปัสสนาไป
นี่พูดถึงว่า “หากความสงบมากน้อยแค่ไหน ถึงจะใช้ปัญญาได้ และใช้ปัญญาได้ที่เห็นอริยสัจ”
จิตสงบแล้วฝึกหัดตรงนี้ เพราะว่ามันไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะว่าจริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน อำนาจวาสนาของคนเบาบางแตกต่างกัน ฉะนั้น การรู้ การเห็น การจับ ก็แตกต่างกัน เว้นไว้แต่การจับครั้งแรก คือเห็นครั้งแรก เห็นแล้วน่ะ เห็นกิเลส คุ้ยหามันเจอแล้ว คราวต่อไปจะได้ตัวมันเรื่อยๆ แต่คราวแรกหาได้ยากมาก
แต่ส่วนได้ ได้แต่เข้าใจว่าเป็นปลา เป็นปลาเรื่อย เข้าใจว่าเป็นปลา เป็นปลา มันก็กัดอยู่กับเราตลอดเวลา แล้วแปลกด้วยนะ กัดแล้วไม่ตายด้วย กิเลสกัดนี่ไม่เคยตาย ปลามันก็กัดอยู่ทุกวันนั่นน่ะ เพราะเราคิดว่ามันเป็นปลา แต่จริงๆ แล้วมันเป็นงู มันเป็นสัตว์พิษ มันเป็นสิ่งที่กัดทอนหัวใจของเราแต่เราไม่รู้ เราไม่รู้ไง
แต่ถ้ารู้ ถ้าเห็นตามความเป็นจริง แล้วถ้าเห็นตามความเป็นจริงแล้ววิปัสสนาไป วิปัสสนาไปมันก็จะเป็นตทังคปหาน คือ มันปล่อยแล้วปล่อยเล่า ปล่อยมากน้อยแค่ไหน มันก็อยู่อำนาจวาสนา เห็นไหม
ฉะนั้น “สิ่งที่ว่าจะทำอย่างไรต่อไป แล้วสมาธิน้อยก็จะกลายเป็นจินตนาการ สมาธิมากก็จะกลายเป็นติดสุข มันบดบัง ไม่อยากให้ทำงานหรือออกใช้ปัญญาอีก ขอคำแนะนำด้วยครับ”
ถ้าคำแนะนำ เห็นไหม สิ่งที่ทำมา มันทำมา เวลาทำมา เห็นไหม เป็นวัฒนธรรมของชาวพุทธ เวลาปฏิบัติก็ปฏิบัติเหมือนกัน เวลากำหนดก็กำหนดเหมือนกัน แต่! แต่ไม่มีครูบา-อาจารย์น่ะ ไม่มีใครคอยบอกคอยชี้นำในการดำเนินการต่อไป ต่างคนต่างเข้าใจเอาเอง ต่างคนต่างสวมรอย แล้วผู้ที่ซื่อสัตย์ ผู้ที่มีคุณธรรมเขาก็ยอมรับนะว่าเขามีกิเลส เขาทำผิดพลาด ไอ้พวกหน้าด้าน อลัชชีมันทำเสียหายอยู่นั่นน่ะ
วงกรรมฐานนะ วงกรรมฐาน ครูบาอาจารย์เราปฏิบัติมาแสนทุกข์แสนยาก แล้วคนที่ทำได้จริง มันต้องมีหลักการตามความเป็นจริง ไอ้นี่สัพเพเหระ แล้วก็ว่า “วิปัสสนาสายตรง จนวิปัสสนาสายตรง จะสุกขวิปัสสโกไม่โกก็แล้วแต่ต้องมีสมาธิ” เขาพูดเองเลย ต้องมีสมาธิไง แต่สมาธิของเขา สมาธิแล้วยกขึ้นวิปัสสนาอย่างไร แล้วจะทำต่อไปอย่างไร จะทำต่อไปอย่างไร
อย่างที่เทศน์เมื่อวาน เมื่อวานซืน หัวเลี้ยวหัวต่อ จากสมถกรรมฐานยกขึ้นสู่วิปัสสนา จากสมถกรรมฐานสู่วิปัสสนากรรมฐาน เวลาหลวงตาท่านสอน เห็นไหม วิปัสสนาอ่อนๆ การฝึกหัดใช้ปัญญา หัวเลี้ยวหัวต่อ เวลาทำสมถะ ทำสมาธิขึ้นมา ฤๅษีชีไพรในสมัยพุทธกาล สำคัญตนว่าเป็นศาสดาทั้งนั้น สงบแล้ว สงบนี่เขาก็บอก เขาก็เข้าใจว่า เข้าใจว่ากิเลสเขาหมดแล้ว “ผมเข้าใจผิดว่ากิเลสมันหมดแล้ว มันจบแล้ว จบกระบวนการแล้ว” จนทิ้งไว้จนมันเสื่อมหมด ทิ้งไว้จนมันฟูขึ้นมา ถึงได้รู้ว่าไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่เห็นกิเลสเลย ไม่รู้จักกิเลสด้วย
แต่ก่อนหน้านั้นเขาเข้าใจว่า “เขากิเลสหมดแล้วนะ เขาเข้าใจว่าเขาสิ้นกิเลสแล้ว” แต่พอมาเข้าใจแล้วถึงได้เขียนมาหาพระสงบไง เพราะอะไร เพราะเขียนมาแสดงว่า เพราะเรายืนยันตรงนี้ไว้มาตลอด เพราะ เพราะอยู่กับครูบาอาจารย์มา เห็นการปฏิบัติที่ถูกต้องก็เห็น เห็นคนที่ปฏิบัติผิดพลาด เห็นคนที่ปฏิบัติเหลวแหลกมาก็เยอะ แล้วสังคมก็เชื่อกันอย่างนั้นนะ เชื่อไอ้พวกที่สะดวกสบาย ไอ้พวกสายตรง ไอ้พวกทางลัดนั่นน่ะ สุดท้ายแล้ว เห็นไหม สุดท้ายปฏิบัติไปโดยที่ไม่มีอะไรติดไม้ติดมือเลย ไม่มีอะไรเป็นสมบัติของตนเลย
ถ้าเป็นสมบัติของตน เห็นไหม มันต้องเป็นความชอบธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านประกาศตนว่าท่านตรัสรู้เองโดยชอบ คำว่า “โดยชอบ โดยชอบธรรม” มัชฌิมาปฏิปทา สัจจะความจริงในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วสาวก สาวกะ ผู้ที่ได้ยินได้ฟัง แล้วประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านทำได้ตามความเป็นจริง
แต่นี้ความเป็นจริงขึ้นมา พอมันมีของจริงขึ้นมา มันก็มีของปลอมตามมามหาศาล แล้วมันอยู่ที่คนหน้าด้าน หรือคนหน้าบาง คนหน้าด้านทั้งๆ ที่ตัวเองไม่มีสิ่งใดในใจ หน้าด้าน แล้วพยายาม เขาบอกว่า “ผมเป็นความเข้าใจผิด” ไม่ใช่! เพราะเขาไม่รู้ เขาหน้าด้าน เขาก็ต้องการให้รู้แบบที่เขาต้องการนั่นแหละ เพียงแต่ของเราปฏิบัติไปแล้ว จนหมดกระบวนการของเขาแล้ว ถึงบอกว่า “มันไม่ใช่ แล้วผมเข้าใจผิด”
เขาตั้งใจให้เราหลงผิด เพราะเขาไม่มีความจริงในใจ เขาต้องการให้เราหลงผิดๆ แต่พอถ้าเราปฏิบัติโดยความซื่อสัตย์ๆ มันเป็นความผิดไม่จริง มันก็ต้องเป็นประจักษ์พยานกับเรา นี้เป็นประจักษ์พยานกับเราแล้ว ถ้าเราซื่อสัตย์ เราก็จะกลับมาทำความเป็นจริง เราก็มาขวนขวายของเรา เพื่อประโยชน์กับเราเนาะ ปฏิบัติให้เป็นความชอบธรรม เอวัง