รู้ได้เอง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ”
กราบเรียนถามหลวงพ่อ ความคิดทั้งหมดออกมาจากกิเลส ต่อเมื่อทำความสงบใจได้ กิเลสจึงสงบตัวลงชั่วคราว พอทีเผลอมันก็มาใหม่ หมุนเวียนกันตลอด เดี๋ยวคิดดี เดี๋ยวคิดชั่ว เดี๋ยวสงบใจ เดี๋ยวเดือดร้อนใจ ในตัวเราคนเดียวนี้ราวกับมีหลายคน เดี๋ยวเป็นคนดี เดี๋ยวเป็นคนชั่ว ตามความคิดที่ออกมา ถ้าเรารู้สึกตัวได้ตลอดว่า กำลังคิดชั่วอยู่ก็จะดีทีเดียว เราจะได้ชำระขัดเกลา แต่เรื่องจริงคือเราไม่รู้ตัวว่าเราคิดถูกด้วยตรรกะ ด้วยเหตุผลที่เรามีมา
เมื่อจิตสงบเราแยกแยะได้ชัด ลักษณะใดคือความคิดดี ลักษณะใดคือความคิดไม่ดี เมื่อคิดไม่ดี มันคือความร้อนชัดเจน ตอนนี้คือเรามีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะใช่ไหม
แต่ในชีวิตจริง เราไม่ได้เป็นสมาธิตลอดเวลา และความคิดก็เกิดขึ้นจำนวนมหาศาล ตาชั่งเครื่องตัดสินก็ไม่เที่ยงตรง ตรวจสอบ ตรวจนับ ก็ทันบ้าง ไม่ทันบ้าง ในภาวะแบบนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ความคิดไหนเป็นสัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ อันที่จริงจับทันก็ดีไม่เป็นทุกข์ อันที่ตรวจจับไม่ทันก็เจ็บปวดแสบร้อน พอทำความสงบได้ที่ ความคิดดีหมด สะอาดเกินไปอีก จับผู้ร้ายไม่ได้อีก ที่แย่ที่สุดคือ อันที่เราไม่รู้ตัวเลย เราคิดผิด คิดตามไปเลย ทุกข์จนกว่ามันจะดับไป จึงค่อยมารู้สึกตัว
คำถาม : คือ “เวลาที่เราหลงคิดผิด เราจะพอเกาะอะไรได้บ้างว่า สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะคืออย่างไร”
หลวงพ่อ : ไอ้นี่คำถามเนาะ อารัมภบทมายาวเลย แต่คำถามเขาถามว่า “ไอ้ที่คิดผิด คิดถูกจะทำอย่างไร”
ตอบ : คิดผิด คิดถูกทำอย่างไร เวลาหลงผิดไปเราจะพอเกาะอะไรได้บ้าง กรณีอย่างนี้ เวลาหลวงปู่มั่นท่านสอนไว้ อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ เพราะเวลาเราเกาะจะอะไรได้บ้าง เพราะเราเกาะสิ่งใดไม่ได้ไง เวลาเราเกาะสิ่งใดไม่ได้เราก็หลงผิดไป เราเกาะสิ่งใดไม่ได้ เราไม่มีอะไรเป็นที่ไว้วางใจ ถ้าไม่มีที่ไว้วางใจเราก็เร่ร่อน กิเลสมันก็จรมา เราเร่ร่อน กิเลสมันจรมา มันก็เข้ากันได้พอดีน่ะสิ เพราะเราเร่ร่อนไง เพราะเราเร่ร่อนเราไม่มีหลักยึด
แต่ถ้าคนมีหลักยึด เห็นไหม ดูสิ เวลาศีล ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เวลาศีล ๘ ศีล ๕ เขาบอกปฏิบัติแล้วไม่ได้ ปฏิบัติได้ ไม่ได้ แต่เวลาศีล ๘ เห็นไหม ศีล ๘ ไม่ดูไม่ฟังการละเล่นฟ้อนรำ มันทำให้สติดีขึ้น ถ้าศีล ๘ ถ้าศีล ๑๐ เณรศีล ๑๐ เวลาศีล ๑๐ ขึ้นมา มันนับประสาเณร
ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไปแล้ว ศีลพอหรือไม่พอ คำว่า “ศีลพอหรือไม่พอ สมาธิพอหรือไม่พอ” มันเป็นเรื่องที่ว่ามันเป็นจริตของคน
ถ้ามันเป็นจริตของคน ดูสิ เวลาในสมัยพุทธกาล เราจำชื่อไม่ได้ ในพระไตรปิฎก เขาออกรบทัพจับศึกมา พอกลับมากษัตริย์ให้รางวัลเขา ให้ปกครองอยู่ ๗ วัน โอ้โฮ! เขาเมาหยำเปเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกคนนี้จะได้เป็นพระอรหันต์ เวลาพูดอย่างนั้นทุกคนมันแปลกใจ คนยังกินเหล้าเมาหยำเป มันจะเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร แต่เวลากำลังเลี้ยงฉลองกันอยู่นั้น ภรรยาตายต่อหน้า ทั้งที่เมาๆ เนี่ยนะ ภรรยาตายต่อหน้า มันช็อกเลยไง พอช็อกขึ้นไปมันได้สติขึ้นมา ได้คิด เสียใจ ฟังเทศน์พระพุทธเจ้าจนได้เป็นพระอรหันต์
นี่พูดถึงเวลาศีลนะ เวลาคนจะอ้าง อ้างอย่างนี้ก็ได้ อ้าง เห็นไหม ดูสิ เขาเมาอย่างนั้น เขาสนุกเพลิดเพลินอยู่ เขายังสามารถเป็นพระอรหันต์ได้ ถ้ามันจะอ้างตรงนี้ ต่อไปศีลไม่มีความจำเป็นเลย ไอ้นี่มันเฉพาะคนเพราะองค์สมเด็จพระสัมมา-สัมพุทธเจ้าเป็นผู้พยากรณ์ ว่า ดูสิ ดูแม่ทัพที่เขากำลังสนุกครึกครื้น เขาจะได้เป็นพระอรหันต์
โอ้โฮ! ทุกคนฟังแล้วมันก็คงแปลกๆ เนาะ เพราะเขากำลังกินเหล้าเมายาอยู่ เขาเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร แต่เพราะคนมันมีวาสนาด้วย แล้วมันเป็นปัจจุบันทันด่วนไง ภรรยาตายต่อหน้า ตายเดี๋ยวนั้น คือปัจจุบันทันด่วนเหมือนกัน ทำให้ช็อกเลย พอช็อกขึ้นมาแล้วมันก็ได้คิดขึ้นมา อันนั้นเฉพาะเรื่อง แต่ถ้าเราจะอ้างอิงไง เราจะอ้างเล่ห์ เวลาศีล ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เวลาศีลไม่พอ คำว่า “ไม่พอ” ไม่พออย่างไร เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเขามีสถานะอย่างนั้น เขาพิจารณาของเขา มันไม่ผ่านไง
กรณีอย่างนี้ เราเคยไปถามหลวงปู่เจี๊ยะ เวลาที่คนที่เขาภาวนามาก เขาบอก เขาภาวนาได้ตลอด เราก็บอกว่าให้เขาพิจารณากาย เขาบอก เขาพิจารณากายมันระเบิดตูม ระเบิดตูม ไอ้ระเบิด ระเบิดๆ ระเบิดอย่างไร เราก็ให้ไปหาหลวงปู่เจี๊ยะ พอหลวงปู่เจี๊ยะตอบปัญหาเสร็จ แล้วเราก็ถามท่านว่ามันเป็นเพราะอะไร ท่านบอกศีลมันไม่พอ ให้มันบวชมันไม่ยอมบวช ถ้าบวชก็ศีล ๒๒๗ ไง แต่เขาไม่ได้บวช เขาเป็นผู้ปฏิบัติก็ศีล ๑๐ เวลาศีลมันไม่พอ ศีลมันไม่พอ ไอ้เราฟังแล้วมันก็ครึ่งๆ นะ ศีลมันไม่พอ ศีลมันไม่พอ
นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันมีศีลมีธรรม ถ้าศีลมันดีขึ้น มันพร้อมขึ้น รักษาขึ้น เราจะบอกว่า เวลาบอกว่าเราไม่มีอะไรที่เกาะ ถ้ามันไม่มีที่เกาะ ถ้ามันมีข้อวัตรปฏิบัติ มันมีศีล ถ้ามีศีล ศีลพอ สมาธิพอ ถ้าศีลสมาธิพอมันมีที่พึ่ง มันมีที่พึ่งมันก็ไม่เหลวไหล ถ้าเราไม่เหลวไหล กิเลสมันจรมา มันจรมา มันก็มีกำลังมันก็แยกแยะได้ ว่าอย่างนั้นเถอะ เหมือนคนว่ายน้ำเป็น ถ้าคนว่ายน้ำเป็นมันลงไปในน้ำมันก็ว่ายน้ำได้ หลบหลีกได้ คนว่ายน้ำไม่เป็นลงน้ำไป เห็นไหม มันพยายามทะลึ่งจะเอาตัวรอดให้ได้ คนว่ายน้ำไม่เป็นตกน้ำ
นี่ก็เหมือนกัน จิตของเรา เราเวลาปฏิบัติเริ่มต้นเป็นแบบนี้ แต่นี้มันเป็นประสบการณ์ สิ่งที่ประสบการณ์ สิ่งที่ว่าเวลาเขาปฏิบัติไป มันก็รู้ว่าความรู้สึกนึกคิดเราเป็นอย่างไร แต่พอเวลาเขามีสติมีปัญญาเขาปฏิบัติเอง มันต้องรู้เอง รู้เองไง พอเขารู้เองขึ้นมา เห็นไหม ความคิดทั้งหมดมันมาจากกิเลส ถ้าคนไม่ปฏิบัติเลยมันจะเป็นกิเลสได้อย่างไร ก็เราคิดว่าเราเป็นคนดีทั้งหมด มันแยกไม่ได้ แยกถูกแยกผิดไม่ได้ไง ความคิดทั้งหมดมาจากกิเลส ถ้าความคิดมันไม่มาจากกิเลส เวลาเราคิดดี เราทำดี มันต้องได้ผลตอบแทนที่ดีสิ
นี้ความคิดมาจากกิเลส เห็นไหม มันมาจากเรา ถ้ามาจากเรามันก็ต้องทำความสงบของใจให้ได้ ถ้าทำความสงบใจได้ ถ้าคนทำเป็น ทำเป็น เขาเขียนมา “กิเลสมันก็สงบตัวลงชั่วคราว พอเผลอทีมันก็มาใหม่ หมุนเวียนกันอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวคิดดี เดี๋ยวคิดชั่ว เดี๋ยวใจสงบ เดี๋ยวใจเดือดร้อน ตัวเรา เราคนเดียวนะราวกับมีหลายคน เดี๋ยวเป็นคนดี เดี๋ยวเป็นคนชั่ว เดี๋ยวมีความคิดที่มันคิดออกมา เดี๋ยวมันคิดดี เดี๋ยวมันคิดชั่ว คนคนเดียวราวกับมีหลายคน”
ฉะนั้น “ถ้ามีราวกับหลายคน” ครูบาอาจารย์ท่านเปรียบ ใจเหมือนลิง เวลาลิง ลิงมันหลุกหลิกตลอดเวลา มันอยู่นิ่งไม่ได้ หัวใจของเราก็คิดอย่างนั้น แต่ถ้าเรามีสติปัญญามันดูแลได้ เราคนเดียวเหมือนราวกับมีหลายคน เดี๋ยวคิดดี เดี๋ยวคิดร้าย เดี๋ยวคิดต่างๆ นี้เวลาหลวงปู่มั่นท่านสอน เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอน เห็นไหม เรายืนยันตลอด “อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ”
ถ้าเรามีสตินะ เรามีสติ เรามีปัญญา มันจะเท่าทันความคิด แต่ถ้าสติเราอ่อน ความคิดมันจะรุนแรง ถ้ารุนแรงกำลังมันไม่พอ บอกว่าศีลไม่พอ กำลังสมาธิไม่พอๆ ไม่พอหมายความว่าเราไม่สามารถที่เราจะคอยยันกับความคิดเราได้ ถ้ามันไม่พอถ้าเราคิดอยู่เหมือนกับผู้ใหญ่เกเด็ก จิตเราถ้ามันเป็นเด็กน้อย มีความคิดที่รุนแรง มันมีกำลังมากกว่า มันเหมือนผู้ใหญ่ สู้อย่างไรก็สู้ไม่ได้หรอก สู้อย่างไรก็สู้ไม่ได้ ใช้ปัญญาไปมันสู้ไม่ได้อยู่แล้ว อย่างไรก็สู้กันไม่ได้
ถ้าอย่างไรสู้กันไม่ได้ เห็นไหม ก็กลับมาพุทโธสิ ถ้ากลับมาพุทโธ เราไม่ได้สู้กับเขา เรากลับไปหาองค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้า เรากลับไปหาพุทธะ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ เราหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ สิ่งใดจะเกิดขึ้นเราไม่รับรู้ เราปล่อยมันไป เราหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธอยู่อย่างนี้ อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธไม่เสียหาย
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราเหมือนกับราวมีหลายคน เดี๋ยวคิดดี เดี๋ยวคิดชั่ว แล้วเราแยกแยะอย่างไรล่ะ มันแยกแยะไม่ได้ นี้ความเป็นจริงของเขา เขาก็บอก เห็นไหม “ถ้าเรารู้สึกตัวได้ตลอดเวลา ถ้ามันคิดชั่วอยู่มันก็จะดี เราจะได้ขัดเกลากิเลส แต่เรื่องจริงเราก็ไม่รู้ตัว”
มันยังไม่รู้ตัวก็เพราะอวิชชา ไม่รู้ตัวก็เพราะกิเลสไง ไม่รู้ตัวเพราะมันเป็นไป จริงๆ แล้วเขาไม่รู้ตัว แต่ถ้ามันรู้ตัวต่อเมื่อมันทำผิดไปแล้ว ทำผิดไปแล้วมันไปเห็นของมัน ว่าสิ่งนี้ได้ทำผิดไปแล้ว ถ้ามันรู้ตัวไปแล้ว เขาบอกว่า “ถ้าจิตสงบมันจะแยกแยะได้ชัดเจน ถ้ามันแยกแยะได้”
แต่ความเห็นครั้งนี้สิ แต่ในชีวิตจริง เราไม่ได้ทำสมาธิตลอดเวลา แต่ในชีวิตจริงเราต้องทำหน้าที่การงานของเรา แต่เรามีสติไง ถ้าเราฝึกสติไว้แล้ว ฝึกสติไว้แล้ว เรามีสติอยู่แล้ว ความคิดขึ้นมาเรารู้เท่า เรารู้ทันของมัน ถ้าเรามีสตินะ ถ้าเราไม่มีสติ แต่ในชีวิตจริง เราไม่ได้ทำสมาธิตลอดเวลา ถ้าทำสมาธิเราก็มาพักเลย แต่ถ้าในชีวิตจริงถ้าเราฝึกหัดไปแล้วมันเท่าทัน ในชีวิตจริง มันเหมือนกับว่าถ้าเราทำสมาธิ เราก็จะเท่าทันความคิด ถ้าเราไม่ทำสมาธิเราจะไม่เท่าทันความคิด
เราทำสมาธิคือเราจะพักผ่อน เราทำสมาธิเพื่อความสงบสุข แต่ถ้าในชีวิตจริงของเรา เราฝึกหัดสมาธิไว้แล้ว สิ่งนี้สติกับความรู้สึกมันทันมาตลอด ในชีวิตจริงเราก็มีสติรู้เท่าตลอด ถ้าเรารู้เท่าของเรา เราฝึกหัดของเรา มันต้องฝึกหัดไง ไม่ใช่ว่าพอในชีวิตจริงเราไม่ได้ทำสมาธิ จะทำสิ่งใดเราก็ปล่อยมันไป ไม่ใช่นะ ไม่ใช่ ในชีวิตจริงของเรา ถ้าเรามีเวลาเราก็ทำสมาธิของเรา ถ้าเราต้องทำหน้าที่การงาน เราก็อยู่กับงาน เราก็มีสติของเรา ถ้าเรามีสติของเรา เราก็ทันของเรา
สิ่งที่เขาทำๆ มา เขาเขียนมา เขียนมาด้วยความเห็นของเขา ถ้าความเห็นของเขา มันรู้ขึ้นมาด้วยความชัดเจน ถ้ามันมีคบบัณฑิต คบบัณฑิตนะ คบคนดี คนดีเขาพยายามจะพายังคุยกันเรื่องธรรมะ ยังฝึกหัดปฏิบัติอยู่ มันก็จะอยู่นะ แต่ถ้ามันทำถึงเต็มที่แล้ว ถ้ามันแบบว่ามันเต็มที่แล้วก็เลิกรากันไป เลิกราไปก็มีความทุกข์ทั้งนั้น
เขาบอก “แต่ในชีวิตจริง เราไม่ได้ทำสมาธิตลอดเวลา ในความคิดที่เกิดขึ้นมาจำนวนมหาศาล ตาชั่งที่จะตัดสินมันก็ไม่เที่ยงตรงพอ ตาชั่งที่จะตัดสินมันไม่เที่ยงตรงพอ”
มันอยู่ที่การฝึกหัด การฝึกหัดของเรา ถ้าตาชั่งของเรามันเที่ยงตรงพอ เห็นไหม มันมีกำลังพอ ตาชั่งของเราเที่ยงตรงพอ เวลาที่เรามีสติมีปัญญา มีสติมีปัญญาของเราแยกแยะได้ แต่ถ้าไม่มีสติปัญญาเขาเรียกขันติ ถ้าไม่มีสติปัญญา มีขันติ มีความอดทนไง มีขันติ ตาชั่งที่มันชั่งไม่ได้ มันเที่ยงตรงไม่ได้ เรามีขันติยับยั้งไว้ก่อน อย่าเพิ่งตามไป อย่าเพิ่งตามไป
ขันติความอดทน ถ้ามีความอดทนอยู่ สิ่งใดที่มันเกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะความทนอยู่ไม่ได้ไง พอทนไม่ได้เราก็เพลี่ยงพล้ำไปเลย แต่ถ้าเราอดทนของเรานะ เราอดทนอดกลั้นของเราไว้ เดี๋ยวสติมันฟื้นมา พอสติมันฟื้นมา สิ่งที่ว่าตาชั่งไม่เที่ยงตรงพอมันก็จะเที่ยงตรงได้
ตาชั่งที่ไม่เที่ยงตรงพอ ตาชั่งไม่เที่ยงตรงพอเพราะรสชาติไง รสชาติของกิเลสมันรุนแรงกว่า มันก็จะรั้งเราไป ถ้ารสชาติเราไม่รุนแรงกว่านะ มันรั้งเราไปไม่ได้ มันรั้งเราไปไม่ได้ ถ้ารั้งไปถ้าไม่ได้จริงๆ เราก็อดทนฝึกหัด ทุกอย่างมันอยู่ที่ฝึกหัด คนเราโทสจริต โมหจริต จริตของคนมันไม่เหมือนกัน ถ้าจริตของคนมันไม่เหมือนกัน มันไหลไปตามนั้น อะไรที่มันถูกใจมันไปหมดเลย แต่ถ้าเราฝึกหัดของเรา เรายับยั้งของเราไว้ ยับยั้งของเราไว้
นี่พูดถึงว่า “ประสบการณ์ที่เขาทำมา”
สิ่งที่ทำมา ต้องรู้เอง ต้องรู้เอง มันชัดเจนมากถ้าต้องรู้เอง ถ้าเราไม่รู้เอง เราต้องหาครูบาอาจารย์ เราต้องมีครูบาอาจารย์ ปรึกษาครูบาอาจารย์สิ่งนั้นมันเป็นอย่างไร สิ่งนี้เป็นอย่างไร แล้วเวลาปรึกษาครูบาอาจารย์มันก็เป็นจริตของคน บางคนต้องแก้อย่างนี้ๆ บางคนแก้ไปทีละอย่าง
แต่นี้เวลาเราแก้ของเรา เราจะฟังว่า เวลาแก้คนอื่นแล้วเราจะเอามาเป็นของเรา ถ้าเป็นของเรามันถึงว่าปัจจุบันธรรม ปัจจุบันธรรมเราทำสิ่งใดใช่ไหม แล้วถ้าสิ่งใดเราพลิกแพลงของเรา เราแก้ไขของเราอยู่อย่างนี้ ถ้าแก้ไขของเรา แก้ไขของเราเป็นปัจจุบันคืออุบาย พลิกแพลงไปๆ แต่ไม่ใช่ต้องทำอย่างนั้น ถ้าต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนั้นเพราะว่ามันเหมือนกับสูตรสำเร็จ กิเลสมันแหย่ตลอด กิเลสมันมีช่องของมันตลอด ไอ้เราไปทำสูตรสำเร็จ เราไม่ทันมัน เราต้องทันกันเลย ในปัจจุบันสิ่งใดเกิดขึ้นจับสิ่งนั้นๆ แล้วถ้ากิเลสที่มันแรงกว่า เราก็พลิกแพลงของเรา
ฉะนั้น พอทำให้ใจสงบ ถ้าพอทำความสงบใจได้ที่ ความคิดดีทั้งหมดสะอาดเกินไปอีก จับผู้ร้ายไม่ได้ ไอ้ตรงนี้สำคัญมากนะ จับผู้ร้ายไม่ได้อีก ถึงแย่ถึงที่สุดอันที่เราไม่รู้ตัวเลย เราจะคิดผิดตามไปเลย ทุกข์จนกว่ามันจะดับไป จึงค่อยรู้ตัว เห็นไหม คำว่า “ใสสะอาดเกินไป” ถ้าเราทำความสงบของใจ เหมือนที่ว่าเราทำสมาธิ ทำสมาธิก็ตรงนี้ ตรงที่เวลามันทำความสงบใช่ไหมเราก็พักใจ การทำสมาธิคือการพักผ่อนจิต เหมือนกับคนทำงานมาทั้งวันๆ เวลาเรานอนหลับพักผ่อน คือ การฟื้นฟูร่างกายพักของมัน
นี่ก็เหมือนกัน ทำงานทั้งวัน ทำงานทั้งวัน มีแต่ความเดือดร้อนใจตลอดเวลา เห็นไหม พอมาทำสมาธิก็คือมาพักจิตนั่นแหละ ถ้ามาพักจิต ฉะนั้น พอมาพักจิตขึ้นมาแล้ว จะบอกว่าถ้าจิตมันสงบนะ ความคิดที่ดีทั้งหมดสะอาดเกินไปอีก จับผู้ร้ายไม่ได้ ถ้ามันไปพัก ไปพักเพื่อชาร์จไฟ ไปพักเพื่อความจิตอุดมสมบูรณ์ แล้วก็ออกมาทำงานใหม่ ออกมาทำงานแล้วก็พักอยู่อย่างนั้นจนกว่า จนกว่า เห็นไหม
จนกว่าถ้าจิตมันสงบแล้ว มีกำลังของมัน มีสติแล้ว จิตเห็นอาการของจิต ที่ว่าจะจับกิเลสได้ๆ จิตเห็นอาการของจิต แต่จิตถ้ายังไม่เห็นอาการของจิต เราก็ฝึกหัด หลวงตาท่านสอนว่าฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดใช้ปัญญา สมาธิ สมาธิฆ่ากิเลสไม่ได้ สมาธิฆ่ากิเลสไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีสมาธิ ปัญญาเกิดไม่ได้ ถ้าสมาธิแก้กิเลสไม่ได้ เข้าสมาธิ เห็นไหม แล้วมาพักของเรา แล้วถ้ามันยังจับกิเลสไม่ได้ ท่านบอกว่าให้ฝึกหัดใช้ปัญญา ให้ฝึกหัดใช้ปัญญา
การฝึกหัดใช้ปัญญา หลวงตาท่านใช้คำว่า “วิปัสสนาอ่อนๆ” วิปัสสนาอ่อนๆ คือเราฝึกหัดปัญญา ปัญญาอ่อนๆ ฝึกหัดให้ปัญญามันเข้มแข็งขึ้นมา ในเมื่อมันยังจับผู้ร้ายไม่ได้ มันยังไม่เห็นผู้ร้าย มันจับผู้ร้ายไม่ได้นะ ก็ฝึกหัด เพราะเกิดมาเป็นเราใช่ไหม เราก็มีความทุกข์ความสุขในใจเราใช่ไหม เราก็มีกิเลสอยู่ เรามีผู้ร้ายอยู่ แต่เรายังจับผู้ร้ายไม่ได้ คือจิตยังไม่เห็นอาการของจิตตามความเป็นจริง ถ้าเรายังจับผู้ร้ายไม่ได้ เห็นไหม เราจับผู้ร้ายไม่ได้เราก็ฝึกหัดใช้ไง
ฝึกหัดใช้ก็นี่ไง ที่ว่า ฝึกหัดใช้ก็ตั้งแต่เริ่มต้นมาเลย ถ้าจิตมันไม่สงบ ความคิดทั้งหมดออกมาจากกิเลส ถ้าจิตมันสงบแล้วถ้ากิเลสมันสงบลงชั่วคราว คิดอย่างนี้ กิเลสสงบลงชั่วคราว แล้วเวลาสงบลงชั่วคราวแล้ว เวลาเขาบอกว่า “เดี๋ยวคิดดี เดี๋ยวคิดชั่ว ราวกับมีหลายคนอยู่ในตัวเราคนเดียว” ฝึกหัดใช้ปัญญาก็ฝึกหัด อารมณ์อย่างนี้เป็นอย่างนี้ อารมณ์อย่างนี้เป็นอย่างนี้ อารมณ์ที่เกิดขึ้นมา อารมณ์อย่างนี้เราเคยคิดไหม อารมณ์อย่างนี้เราเคยคิดไหม ฝึกหัดใช้ถ้ายังไม่เห็นกิเลส ฝึกหัดใช้ มันฝึกหัดใช้แล้ว เวลามันใช้ปัญญาแล้วมันจะสงบตัวเข้ามา มันสงบตัวดีขึ้น สงบตัวดีขึ้น ฝึกหัดอยู่อย่างนี้
สมาธิจะทำให้เกิดปัญญาเองมันเป็นไปไม่ได้ ถ้าสมาธิจะเกิดปัญญาได้เอง ฤๅษีชีไพรสมัยก่อนสมัยพุทธกาลเป็นพระ-อรหันต์ไปหมดแล้ว แล้วเวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ศีล สมาธิ ปัญญา มันจะเป็นไปโดยอัตโนมัตินะ พระอรหันต์เต็มไปหมดเลย แต่เวลาปฏิบัติไป ปฏิบัติไป ผู้ที่ปฏิบัติเลิกรากันไปเต็มเลย ปฏิบัติไปแล้วล้มลุกคลุกคลาน เลิกไปเต็มเลยเป็นเพราะอะไร เพราะมันภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา มันฝึกหัดใช้ปัญญาไม่ได้ เวลาจิตสงบแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนาไม่เป็น ยกขึ้นสู่วิปัสสนา ก็บอกว่า คำถามไง ว่า “สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป”
สัมมาทิฏฐิคือความถูกต้องดีงาม สัมมาสังกัปโปคืองานชอบธรรม ถ้ามันปฏิบัติธรรมแต่งานไม่ชอบธรรมไง เวลาทำงานทุกคนทำงาน ทำงานเสร็จแล้วจะไปส่งเจ้านาย เจ้านายไม่รับงานนี้ เราทำงานเสร็จแล้ว งานมันเสร็จหรือไม่ ถ้างานมันชอบธรรมมันต้องเป็นชอบธรรม นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัติ เราทำของเรา เราคิดว่ามันเป็นความถูกต้องไง มันถูกต้อง มันถูกต้องไหมล่ะ ถ้ามันไม่ถูกต้อง เขาบอกว่า “เวลาความคิดมันดีขึ้น ความคิดที่ดีทั้งหมดมันสะอาดเกินไป จับผู้ร้ายไม่ได้”
จับผู้ร้ายไม่ได้ก็ฝึกหัดๆ ไอ้การจับผู้ร้ายได้หรือจับไม่ได้ เห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริงหรือเห็นไม่ได้ ถ้าเห็นได้ เห็นได้หนเดียวนะ เห็นได้ครั้งแรกๆ พอจับได้แล้วมันจับได้ มันเข้าใจได้ แต่ที่ยังจับไม่ได้เลยคือยังไม่เห็นผู้ร้ายเลย ไม่เห็นผู้ร้ายเลยมันก็ฝึกหัดๆ ฝึกหัดใช้ปัญญาขึ้นไป เราฝึกหัดวิธีการที่จะจับผู้ร้าย แล้วฝึกหัดบ่อยครั้งเข้า ถ้ามันจับได้ จับได้ผลของมัน มันบอก จับผู้ร้ายได้ ใครทำความผิดมา พอเห็นตำรวจปั๊บ มันจะมีปฏิกิริยา เพราะจิตใต้สำนึกมันระแวง
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราจับผู้ร้ายได้ พอจับผู้ร้ายได้ เราจับสติปัฏฐาน ๔ จับจิตเห็นอาการของจิต จับได้แล้ว พอจับได้มันจับได้ง่ายแล้ว จับได้ตลอดไป พอจับได้ตลอดไปเราก็ฝึกหัดใช้แล้ว พอจิตสงบมา ถ้าพิจารณาไปแล้ว พอพิจารณาโดยปัญญาอบรมสมาธิ ฝึกหัดวิปัสสนาอ่อนๆ คือฝึกหัดในชีวิตประจำวัน ในชีวิตของเรา ถ้าในชีวิตประจำวัน ชีวิตประจำวัน เห็นไหม ทำสมาธิไม่ได้ แต่ชีวิตประจำวันเราใช้ปัญญาได้ พอเราใช้ปัญญาได้มันสงบเข้ามา มันปล่อยวางเข้ามาได้ ทำงานก็ทำงานไป แต่กิเลสมันไม่ฟูขึ้นมา ถ้าอย่างนี้จิตมันเริ่มดีขึ้น
ฝึกหัดใช้ปัญญาอย่างนี้ ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญาบ่อยๆ ครั้งเข้า เวลาสงบแล้ว เวลาจิตมันดีขึ้น ที่ว่าจับผู้ร้ายไม่ได้ สังเกตให้ดี ถ้าสังเกตให้ดี ถ้ามันจับได้ จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นอาการของจิตนั้นคือมรรค ความคิดทั้งหมดเป็นทุกข์ทั้งหมด ความคิดทั้งหมดเป็นโลกียปัญญาๆ เพราะโลกียปัญญา เพราะเราเกิดบนโลก โลกียปัญญา โลกียปัญญาพิจารณาเข้ามา พอพิจารณาเข้ามามันปล่อยเข้ามาๆ มันก็เป็นสัมมาสมาธิ พอเป็นสัมมาสมาธิแล้วถ้ามันจิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นอาการของจิตคือมรรค มรรคคืออะไรล่ะ มรรคมันก็เดินมรรคไง
มรรคก็คืออริยสัจ มรรคคือความจริง ถ้ามันจับได้รู้ตัวหมด รู้ตัวหมดเพราะอะไร มันรู้เอง ต้องรู้เอง ต้องรู้เอง ต้องทำเอง ถ้าเป็นจริงขึ้นมา ภาคปฏิบัติมันเป็นแบบนี้ โดยความเป็นจริงของโลกๆ เห็นไหม คนเกิดมาต้องมีปัญญาทั้งนั้น คนเราเกิดมาต้องมีการศึกษา การศึกษามาเขาเรียกโลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากกิเลสที่ว่านี่แหละ แต่ปัญญาเกิดจากกิเลส
ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือทวนกระแสกลับ มีสติปัญญามันจะทวนกระแสกลับเข้ามานะ ถ้าทวนกระแสกลับเข้ามา ทวนกระแสกลับเข้ามา ใจเป็นคนที่พิจารณา ถ้าใจเป็นผู้พิจารณา ใจดวงใดมีมรรคๆ มันเป็นปัญญาของใจดวงนั้น ถ้าใจดวงใดมีมรรคมันเป็นปัญญาของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นมันก็มีมรรคมีผลๆ มันก็มีองค์ความรู้ มีองค์ความรู้มันก็เป็นความจริง มันก็เป็นปัจจัตตังเป็นสันทิฏฐิโก
มันเป็นการฆ่ากิเลสสดๆ ร้อนๆ นะ มันเป็นการกำจัดกิเลสสดๆ ร้อนๆ มันเป็นปัจจุบันเลย ไม่มีกาลไม่มีเวลา ไม่มีกาลไม่มีเวลาตั้ง ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว ธรรมะขององค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ามันเกิดกับเราเดี๋ยวนี้ ก็เป็นธรรมะของเราในปัจจุบันนี้ ธรรมะในปัจจุบันนี้ ถ้าเป็นธรรมะในปัจจุบันนี้ เห็นไหม ในปัจจุบันของจิตของเราไง มันก็เป็นความจริงขึ้นมาในจิตของเรา ถ้าเป็นความจริงในจิตของเรา เห็นไหม
นี่พูดถึงว่า “ถ้าจิตมันดีเกินไป สะอาดเกินไป มันจับผู้ร้ายไม่ได้ ถึงแย่ที่สุดนะ ท่านบอกว่าบางทีมันตามไปจนทุกข์จนมันดับเลย จึงค่อยมารู้ตัว”
ไอ้นี่เป็นข้อเท็จจริงทั้งนั้น ถ้าคนที่ปฏิบัติแล้ว เวลาเด็กน้อย เวลาเขาต้องการมีการศึกษา เขาต้องมีครูบาอาจารย์ของเขา ถ้ามีครูบาอาจารย์ของเขา เขาศึกษาแล้วเขาถึงมีความรู้ของเขา ศึกษามาจากครูบาอาจารย์ไง นี่ก็เหมือนกัน เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราศึกษามา ศึกษามาเป็นความรู้ของเรา ความรู้อย่างนั้นมันเป็นความรู้ในการศึกษา ในการปฏิบัติมันต้องรู้จริงขึ้นมาอย่างนี้ ต้องรู้เอง ต้องรู้เอง ต้องรู้จักภาคปฏิบัติ ต้องรู้จักเรา ถ้ารู้จักเราแล้ว อารัมภบทมา เรื่องนี้เป็นเรื่องของประสบการณ์ทั้งหมด แล้วต่อไปล่ะ
ต่อไปคำถามนะ คำถามของเขา เขาถามว่า “ในเวลาที่เราหลงคิดผิด เราจะพอเกาะอะไรได้บ้าง ว่า เป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป มันคืออะไร”
เวลาที่เราหลงผิด เราหลงผิดเพราะโดยเริ่มต้นเพราะเรามีอวิชชา อวิชชาคือความไม่รู้ คือความหลงผิดนี่แหละ คืออวิชชา เรามีอวิชชา ถ้ามีอวิชชานะ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ มันก็เป็นปัจจยาการ มันลึกๆ นะ ปัจจยาการมันเป็นปฏิจจสมุปบาท เป็นในหัวใจ แต่ในชีวิตประจำวันของเรามีรูป ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในชีวิตประจำวัน คนเราในชีวิตประจำวันเราต้องสื่อสารกัน เราต้องคุยกัน เราทำหน้าที่การงานของเรา เห็นไหม มันผ่านมาโดยผลกระทบ
คนเกิดมามีกายกับใจๆ ทำงานก็ทำงานจากร่างกายนี่แหละ ถ้าไม่มีหัวใจขึ้นมาคนก็คนตาย คนจะทำงานได้ต้องคนที่มีชีวิต คนมีการศึกษาๆ ก็ดูที่สมอง สมองถ้าพูดแล้วมันก็เข้าสู่จิต อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํอันนี้มันเป็นวิถีแห่งจิต วิถีเลย คือวิถีของจิตมันคิดของมันอย่างนั้น แต่ชีวิตประจำวันคือชีวิตของโลก ชีวิตของโลก เพราะมันมีหัวใจของมัน มันมีหน้าที่การงานของมัน มันก็เลยเป็นขันธ์ ๕ เป็นวิญญาณในอายตนะ ถ้าเป็นวิญญาณในอายตนะ เห็นไหม ในชีวิตประจำวัน
ถ้าเรามีชีวิตประจำวัน ถ้าคำถามว่า “เวลาเราหลงคิดผิด เราจะมีอะไรเกาะ”
คำว่า “จะหลงคิดผิด” มันคิดผิดอยู่แล้ว เพราะอวิชชามันคิดของมันอยู่อย่างนั้น เราจะมีอะไรเกาะก็พุทโธนี่ไง มันจะมีอะไรเกาะ มีอะไรบ้างเกาะไว้ เกาะไว้ ถ้ามีพุทโธแล้ว ถ้ามีสติแล้ว สัมมาทิฏฐิมันจะมา สัมมาทิฏฐิจะตามมาต่อเมื่อเรามีสติปัญญาแยกแยะได้ว่าอะไรถูก อะไรผิด ถ้าสติยังไม่กลับมาก่อน ปัญญายังไม่เกิด ถ้าสติกลับมาแล้ว เพราะเราฝึกของเราอยู่แล้ว มันมีสมาธิอยู่แล้วปัญญามันจะเกิด ถ้าปัญญามันจะเกิด สัมมาทิฏฐิเกิดจากเรา พอเกิดจากเรา เราจะวินิจฉัย เราจะทำอะไรทำด้วยสัมมาทิฏฐิ
“แล้วสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ มันคืออะไร”
สัมมาสังกัปปะคือทำงาน งานทางโลก งานทางโลกงานจากร่างกาย ชาวไร่ชาวนาเขาใช้ร่างกายของเขาทำงาน ไอ้คนที่ทำงานโดยการบริหาร เขาทำงานด้วยสมอง ทำงานโดยคิดงาน การคิดงานสัมมาสังกัปปะ ถ้ามันเป็นสัมมาทิฏฐินี่งานชอบ ชอบคือความมันเป็นสุจริต งานชอบ
แต่ถ้าเป็นการภาวนามันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย งานชอบ อย่างนี้เป็นงานชอบ มันชอบจากภายในนะ งานชอบ หมายความว่า ถ้าทำสมาธิต้องสมาธิชอบ ถ้าใช้ปัญญาต้องปัญญาชอบ ถ้าใช้สมาธิเราต้องการความสงบของใจ เห็นไหม เราต้องการความสงบของใจเราก็กำหนดพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามันถูกต้องดีงามงานชอบ เพราะเราต้องการพักใจ เราต้องการทำความสงบ งานชอบ
แต่ถ้าเราจะวิปัสสนามันต้องใช้ปัญญา ถ้าใช้ปัญญา ปัญญาถ้าคิดผิดมันก็เป็นมิจฉา ถ้ามันคิดถูกมันก็เป็นสัมมา สัมมา ชอบธรรม ชอบธรรมโดยความชอบธรรม ความชอบธรรมคือสัมมาสังกัปปะ ถ้าสัมมาสังกัปปะขึ้นมาแล้ว แล้วสัมมาสมาธิล่ะ สัมมาสติล่ะ เพราะคำว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” ทางสายกลาง ทางสายกลางคือมรรค ๘ มรรค ๘ มันต้องสมควร ๘ เลยนะ
ถ้า ๘ เราจะบอกว่า เขาถามมาว่า “สัมมาทิฏฐิกับสัมมา-สังกัปปะ” เพราะมันสัมมาทิฏฐิกับสัมมาสังกัปปะคือความเห็นถูกต้องดีงามอันต้นเลย เขาถึงบอกว่าปัญญาชอบ ถ้าปัญญาชอบ มรรคเขาถึงว่าใช้ปัญญา ใช้ปัญญาไง ถ้ามรรคใช้ปัญญา คำว่า “มรรคใช้ปัญญา” มันเป็นวิชาการ วิชาการเราจะวิเคราะห์อะไรก็ได้ วิชาอะไรก็ได้เรื่องทางวิชาการ แล้วเราจะเอาอะไรเป็นจุดเด่นก็ได้
แต่เวลาถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ถ้าครูบาอาจารย์ของเรานะ เวลามันจุดเด่น มันจุดเด่นที่เด่นๆ มันก็มีปัญญาวิมุตติ เจโต-วิมุตติ ถ้าเจโตวิมุตติมันก็สมาธิเด่น มันหนักไปทางสมาธิ ถ้าเป็นทางปัญญา ปัญญาเด่น แต่ปัญญาเด่นหรือสมาธิเด่น เด่นอย่างไรก็แล้วแต่ มันต้องมีมรรค ๘ เด่นขนาดไหนก็แล้วแต่ เวลาพิจารณาไปแล้วมันต้องสมบูรณ์ของมันด้วยมรรค ๘ ถ้าไม่มีมรรค ๘ มันสมบูรณ์ไม่ได้ เหมือนทำอาหาร ทำอาหารส่วนผสมมันต้องครบ ถ้าไม่ครบขึ้นมา ขาดสิ่งใดไปจืดชืด ขาดสิ่งใดไป ถ้ามันขาดสิ่งใดไป ถ้าทำไม่สำเร็จ ไม่เป็นอาหารด้วย
นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามรรค ๘ มรรค ๘ เพียงแต่ว่าเน้นหนักที่สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป เพราะเป็นคำถาม พอคำถาม คนประพฤติปฏิบัติไปแล้วมีอุปสรรค พอมีอุปสรรคแล้วก็พยายามจะหาช่องทางของตน ถ้าหาช่องทางของตนก็คิดว่าสัมมาทิฏฐิกับสัมมาสังกัปปะเป็นเรื่องที่ว่าจุดเด่น เราจะต้องทำให้มันชัดเจน พอชัดเจนขึ้นมาแล้ว ชัดเจนเราทำไปแล้ว วิธีการทำนั่นแหละมันมีสติ ต้องเป็นสัมมาสติ วิธีการทำนั่นแหละมันจะมีสัมมาสมาธิ เพราะมีสัมมาสมาธิ
สัมมาทิฏฐิคือปัญญา ปัญญาชอบ แล้วถ้ามันบิดเบี้ยวนิดหน่อยมันก็เป็นมิจฉาแล้ว มันไม่ลงสู่ความสมดุลคือมัชฌิมา-ปฏิปทา สัมมาสังกัปปะมันมีหยาบ มีละเอียด งานข้างนอก งานข้างใน แล้วงานในการทำความสงบของใจ งานในการวิปัสสนา แล้ววิปัสสนาไปแล้วมันจะขึ้นไปนะ ขึ้นไปมันมีโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค มันชอบธรรม ชอบธรรมเป็นชั้นๆ ขึ้นไป
แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ประพฤติปฏิบัติแล้วมีปัญหาขึ้นมา มันเข้าใจว่าให้คะแนนสูงเกินไปไง เข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น เข้าใจว่าเป็นอย่างนี้ พอเข้าใจว่า เรานึกว่าเป็นอย่างนั้น แต่ผลมันเป็นอย่างนี้ เรานึกไง เรานึกว่าเราให้คะแนนในการกระทำของเราสูงขึ้น แต่เวลาความเป็นจริงแล้วมันไม่สูงขึ้น มันไม่ถึงระดับนั้น มันเป็นโดยข้อเท็จจริงของมัน แล้วถ้าเป็นข้อเท็จจริงของมัน ถ้าโดยข้อเท็จจริงมันต้องให้ผลตามความเป็นจริงนั้น
ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไปส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติส่วนใหญ่จะให้คะแนนตัวเองมากกว่าความเป็นจริงๆ บางทีให้คะแนนผิดเลย ให้คะแนนผิดก็ให้ว่าเราเป็นอย่างนั้น แต่ความจริงไม่ใช่เลย ไม่เป็นอย่างนั้นเลย มันก็เลยเสื่อมไปหมด เสื่อมไปหมดไง คำว่า “เสื่อมไปหมด” ฉะนั้น กรณีอย่างนี้ มันเป็นกรณีผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ จะมีประสบการณ์อย่างนี้ตลอดไป คือเจออุปสรรคอย่างนี้ตลอดไป ถ้าเจออุปสรรคเพราะกิเลสของเราไง
ข้อเท็จจริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคืออริยสัจ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม อริยสัจเป็นความจริงเท่านั้น ฉะนั้น ใครจะประพฤติปฏิบัติวิธีการใด ปฏิบัติอย่างใด เวลาถ้ามันจะเป็นจริง มันต้องสมบูรณ์โดยมรรค ๘ มรรคอริยสัจจัง มันเป็นความจริงๆ ความจริงไปโดยมรรค โดยผล ถ้าโดยมรรคโดยผลมันจะเข้าใจเรื่องนี้หมด ถ้าเข้าใจเรื่องนี้หมดแล้ว เพียงแต่ว่าลักษณะเด่น ลักษณะเด่น จริตนิสัย ลักษณะเด่นของใคร จะพิจารณาสิ่งใดเป็นลักษณะเด่น แต่ความจริงแล้วคือความจริง เพราะถ้ามันเป็นความจริงมันสมดุลของมัน มันจะประสบความสำเร็จ มันจะเป็นความจริง
ถ้ามันไม่เป็นความจริงนะ ละล้าละลัง ละล้าละลัง แล้วพอมันละล้าละลัง มันเป็นไปโดยในข้อปฏิบัติของเรา ในอำนาจวาสนาของเรา แต่มันไม่เป็นความจริงไง มันปล่อย มันรู้ มันเห็นเหมือนกัน มันปล่อยเหมือนกัน ปล่อยโดยความเข้าใจของเรา ปล่อยโดยความเข้าใจของเรา แต่มันปล่อยแล้วมันไม่มีผล ไม่มีผลในเรื่องการฆ่ากิเลส
ขนาดเขาบอกเลย เห็นไหม “จิตที่มันดีเกินไป สะอาดเกินไป ยังจับผู้ร้ายไม่ได้” ไอ้นี่มันไม่เห็นผู้ร้าย มันไม่เข้าใจผู้ร้าย มันทำของมันไป มันก็ปล่อยวางของมันไป แล้วถ้ามันมีครูบาอาจารย์ของมัน ครูบาอาจารย์ที่ไม่มีวุฒิภาวะ เวลาบอกว่าปล่อย ปล่อยหมายความว่าถ้าเอาไปเทียบเคียงกับทฤษฎีมันใช่ แล้วทฤษฎีพูดไว้อย่างนั้น แต่ทฤษฎีมันไม่มีชีวิตใช่ไหม แต่ครูบา-อาจารย์ของเรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านมีชีวิต ท่านมีความผิดพลาดมา ท่านทำตามนั้นน่ะ
ดูสิ หลวงปู่มั่นเวลาท่านพิจารณาของท่าน พิจารณากายของท่านออกมาแล้วปกติไม่เห็นมีอะไรเลย เอ๊ะ! มันไม่ใช่ มันไม่ใช่ หลวงปู่มั่นท่านตรวจสอบนะ ถ้าของเราเอาตามทฤษฎี เราก็ได้ทำครบหมดแล้ว เราทำความสงบของใจ ใจสงบแล้วพิจารณากาย พิจารณากายแล้วมันก็ปล่อยแล้ว มันครบองค์ประกอบ ครบทั้งหมดเลยตามทฤษฎี
แต่หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า “มันก็ปกติ กิเลสมันก็ไม่เบาบางลง เอ๊ะ! ถ้ามันท่าจะไม่ใช่” ถ้าจะไม่ใช่ท่านก็ไปหาเหตุผลของท่าน ถึงสุดท้ายแล้วท่านไปลาพระโพธิสัตว์ของท่าน แล้วท่านทำความสงบของใจของท่านใหม่ พอใจสงบแล้วท่านยกขึ้นสู่วิปัสสนา ไปพิจารณากาย ทีนี้มันถอดมันถอนแล้ว พอมันถอดถอนท่านบอก “เออ! มันต้องเป็นอย่างนี้สิ” มันต้องเป็นอย่างนี้ทางที่จะใช่ ทางที่จะใช่นะ แต่ท่านยังไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรเลย
แต่ เห็นไหม แม้แต่ว่าทางที่ไม่ใช่มันไม่มีคุณค่า คือมันไม่เบาบาง กิเลสไม่เบาบางลง แต่พอมาพิจารณา พอมันมาถูกทาง เห็นไหม กิเลสมันเบาบางลง ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ฆ่ากิเลสเลยนะ ยังไม่ได้เป็นอะไรเลย แต่มันรู้ได้เลย พอพิจารณาไป “เออ! มันต้องอย่างนี้สิ” มันต้องอย่างนี้สิหมายความว่า จิตใจมันก็ปลอดโปร่งขึ้น ความหงุดหงิดในใจมันก็เบาบางลง สิ่งที่มันจะไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใด มันก็ปล่อยวางได้ มันมาถูกทางแล้ว มาถูกทาง ท่านก็เร่งของท่านใหญ่เลย
ทีนี้ท่านก็พิจารณาของท่าน สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เห็นไหม ส่งเสริมกัน มาเพิ่มพูนกำลังใจ มาเพิ่มพูนสมาธิให้มั่นคงขึ้น แล้วก็ไปฝึกหัดวิปัสสนา เวลาวิปัสสนาไปแล้ว ใช้กำลังไปแล้วมันเสื่อมลงอย่างไร ฝึกหัดของท่าน ท่านพิจารณาของท่าน ท่านทำของท่าน จนท่านผ่านไปเป็นชั้นๆๆ ขึ้นไป ท่านทำของท่านได้
เวลาถ้ามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ในภาคปฏิบัติ ในทางทฤษฎีเราทำสมบูรณ์แล้ว คำว่า “สมบูรณ์แล้ว” เหมือนนักเรียนเลย สอบแล้วต้องผ่าน แต่ครูไม่ให้ผ่าน มันก็ตอบก็ถูกต้องหมดล่ะ แต่มันตอบแล้วมันถูกหรือเปล่าล่ะ ในการศึกษา เห็นไหม ตอบไปแล้วยังยกชั้น เพราะตอบขึ้นไปแล้วให้คะแนนได้ เพราะแหม! มันมีเชาวน์ปัญญา คำตอบใช้ได้เลย นี่คือคำตอบ
แต่ในภาคปฏิบัติมันมีกิเลส กิเลสเป็นเจ้าวัฏจักร แล้วเวลาคนเรามีความทุกข์ความยาก พอศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โอ๋ย! ซาบซึ้งมาก เบาบาง กิเลสมันสงบตัวลง ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันสามารถจะครอบงำ ครอบกิเลสให้อยู่เฉยได้ ในทางทฤษฎี โลกที่เป็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้คนจะมีความทุกข์มาก เวลาศึกษาธรรมะแล้ว เออ! ชีวิตดีขึ้น ชีวิตดีขึ้น เมื่อก่อนมันทุกข์มันยาก ชีวิตดีขึ้น
คนศึกษาธรรมะแล้วเป็นอย่างนี้ ธรรมะขององค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอำนาจขนาดนั้น มีอำนาจครอบงำกิเลสได้ แต่เวลาจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจะฆ่ากิเลส โอ้โฮ! มันอีกเรื่องหนึ่งเลยนะ อีกเรื่องหนึ่งเพราะอะไร ทีนี้เจ้าวัฏจักร เจ้าวัฏจักร อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ ครอบครัวของมาร ครอบครัวของมารมันครอบคลุมหัวใจดวงนี้มาตลอด แล้วมันครอบคลุมอยู่ตลอดเวลา แล้วเราปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรม มันต้องเป็นธรรมของเราด้วย เพราะอะไร เพราะกิเลสมันกิเลสของเราใช่ไหม จิตใจนี้เป็นของเรา ความทุกข์ความยากก็เป็นของเรา
เวลาเราสร้างสมบุญญาธิการขึ้นมา เราปฏิบัติเป็นมรรคเป็นผลของเรา เป็นศีลเป็นสมาธิของเรา แล้วเรายกขึ้นสู่วิปัสสนาได้ไหม เราสร้างมรรคสร้างผลของเราให้มีกำลังขึ้นมาได้ไหม เราสร้างมรรคของเราให้เป็นความจริงได้ไหม ถ้าเป็นความจริงขึ้นมามันจะสำรอกกิเลสแล้ว มันจับกิเลสได้ เห็นกิเลส จับกิเลสได้ มันจับได้ พิจารณาของมัน มันสำรอก มันจะคายของมันไปเรื่อยๆ พอคายไปเรื่อยๆ เวลามันขาด เวลากิเลสมันขาด ขาดจากหัวใจดวงนี้ มันเป็นผลของใครล่ะ
นี่พูดถึงผลของการปฏิบัติไง
ฉะนั้น ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านจะเทียบตรงนี้ เทียบว่า เวลาเราพูดธรรมะกัน เราก็ต้องพูดสื่อสารผ่านทางธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติธรรมวินัยนี้ไว้ แล้วเราก็พูดผ่านธรรมและวินัยนี้ไว้ ในเวลาพูดนะ แต่ในภาคปฏิบัติ ในภาคปฏิบัติมันต้องเป็นมรรคเป็นผลในใจ มันต้องรู้ขึ้นมาจากสัจจะความจริงในภาคปฏิบัติ
ในภาคการศึกษานี่ใช่ ในภาคการศึกษา ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาธุ ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา เราศึกษาจากศาสดา เราศึกษาเรื่องจากองค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเวลาปฏิบัติไป ในทางทฤษฎี ในทางการศึกษา เขาก็ว่าอย่างนี้ ต้องอย่างนี้ ต้องอย่างนี้ ต้องอย่างนี้ พุทธพจน์ๆ ต้องอยู่ในกรอบอย่างนี้ แต่กิเลสมันละเอียดกว่านั้น กิเลสมันละเอียดกว่านั้น กิเลสมันปลิ้นปล้อน
ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ปลิ้นปล้อน ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสุดยอด ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมไปแล้วด้วยสัจจะด้วยความจริงในใจขององค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยอาสวักขยญาณ องค์สมเด็จพระสัมมา-สัมพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองอวิชชาออกมา อันนั้นเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้ววางธรรมวินัยเป็นทฤษฎี
เวลาเราไปศึกษาๆ ศึกษามาด้วยความทุกข์ความยากขึ้นมา มันยังครอบให้กิเลสเราสงบตัวลงได้ กิเลสของเราไม่เผาลนตัวเราเอง ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เวลาปฏิบัติเราจะปฏิบัติแบบสูตรสำเร็จ แบบธรรมขององค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้า กิเลสมันหัวเราะเยาะ กิเลสมันยิ้มๆ เลย เพราะอะไร มันเป็นทฤษฎี เป็นสูตรใช่ไหม แต่กิเลสมันมีชีวิตอยู่ มันหลบมันหลีกอยู่ใช่ไหม
เวลาเราจะมาเอาจริงเอาจังขึ้นมา ในภาคปฏิบัติขึ้นมา ครูบาอาจารย์ของเราต้องทำจริงอย่างนี้ไง ถ้ามันมีความจริงขึ้นมา มันสัจจะความจริงอย่างนี้มันจะเท่าทัน ถ้ามันเท่าทันขึ้นมามันก็จะเห็นผู้ร้าย ถ้ามันจับผู้ร้ายได้ ถ้าจับผู้ร้ายได้มันเป็นประสบการณ์ ต้องรู้เอง ต้องรู้เอง ต้องรู้จากภาคปฏิบัติ ต้องรู้จักการกระทำของเรา เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ต้องรู้เอง ถ้ารู้เองขึ้นมาแล้วมันก็เป็นการยืนยันแบบคำถามที่ถามมานี่
ประสบการณ์นะ ประสบการณ์เพราะมันแทงใจไง มันแทงใจนะ “ราวกับมีหลายๆ คนในคนคนเดียว มันมีความคิดเราเยอะแยะไปหมดเลย มันมีความทุกข์ความยากเยอะแยะไปหมดเลย เวลาความสุขหาไม่เจอ ได้นิดหนึ่ง แต่ความทุกข์ความยากเยอะแยะไปหมด” นี่ไง เวลาจะเผชิญหน้ากับมัน มันพ่นพิษใส่ พอมันพ่นพิษมา อู้ฮู! ล้มลุกคลุกคลานเลย “แต่ถ้าเอาจริงเอาจังขึ้นมา อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ แล้วขนาดใช้ปัญญาอย่างนี้ยังสู้มันไม่ได้เลย แล้วหลวงพ่อไปให้อยู่กับผู้รู้ ไม่ได้คิดอะไรเลย มันจะสู้มันได้อย่างไรล่ะ”
ก็ไม่ได้ให้ไปสู้ ให้ไปอยู่กับพระพุทธเจ้า ให้ไปเกาะพระพุทธเจ้าไว้ ยึดพระพุทธเจ้าไว้เป็นที่พึ่งอาศัย พุทโธๆๆ แล้วพระพุทธเจ้าจะคุ้มครองเรา พอคุ้มครองจนเป็นพุทโธเองนะ ความคิด คิดไม่ได้แล้ว ไอ้ที่ว่ามีหลายคน คนเดียวเหมือนกับมีหลายคน มันจะมาไม่ได้ มันจะคิดมาไม่ได้ แล้วเราจะอยู่ของเราได้ อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ แล้วถ้ามันจะเป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เราปฏิบัติไปมันจะเป็นจริง
ถ้าบอกว่าอย่างนี้เป็นสัมมาทิฏฐิ อย่างนี้เป็นสัมมาสังกัปปะ มันก็เป็นทฤษฎี แล้วเราจะไปยึดตรงนั้น ไอ้กิเลสมันยิ้มๆ เลย กิเลสหัวเราะเยาะ มันจะทิ่มจะตำอีก ฉะนั้น อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ แล้วให้เป็นความจริงขึ้นมา ให้เป็นภาคปฏิบัติขึ้นมา ถ้าเป็นภาคปฏิบัติของเรา มันจะเป็นความจริงของเรา
นี่คือคำถาม คำถามว่า “คือในเวลาที่เราหลงคิดผิด เราพอจะเกาะอะไรได้บ้างว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะคืออย่างไร”
เราจะเกาะผู้รู้ เกาะพุทโธ ให้ใจของเรามีที่พึ่งที่อาศัย มีที่พึ่งอาศัยจนมันรู้ชัดขึ้นมา แล้วมีกำลังแล้วเราจะเข้าไปหา เราจะพยายามไปหาผู้ร้ายให้ได้ ถ้าจับผู้ร้ายได้นะ มันเป็นทรัพย์ มันเป็นอริยทรัพย์ มันเป็นทรัพย์สมบัติจากภายใน
ถ้าเรายังจับผู้ร้ายไม่ได้ คือเรายังจับความคิดผิดของเราไม่ได้ เราก็ว่าเราเป็นคนดีทั้งนั้น เราเป็นคนดี เราเป็นคนที่ประเสริฐ เราเป็นคนที่สุดยอด แต่พอเราไปจับผู้ร้ายได้ ทำไมเราเลวได้ขนาดนี้ ทำไมเราเลวได้ขนาดนี้ เราจับผู้ร้ายได้ แล้วเราจะแก้ไขเรา แล้วฆ่าผู้ร้ายนั้นให้เหลือแต่ธรรมธาตุ ให้เหลือแต่สัจจะความจริงของเรา อยู่ในใจของเรา เอวัง