ความเชื่อ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “เรียนท่านอาจารย์ เรื่องการปฏิบัติครับ”
เรียนถามท่านอาจารย์เรื่องการปฏิบัติดังนี้ ผมปฏิบัติโดยเริ่มทำสมาธิก่อนด้วยอานาปานสติ พอจิตสงบดีแล้ว ไม่ฟุ้งซ่านแล้ว ผมถึงเริ่มทำสติปัฏฐาน โดยการมีสติตามรู้ ตามดูเวทนาที่เกิดขึ้นที่ร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะจนปลายเท้า จากเท้าขึ้นไปศีรษะ โดยทุกขณะที่ตามรู้ ตามดูเวทนานั้น ก็จะพยายามมีสติทุกขณะ และพยายามวางจิตเป็นอุเบกขา ไม่คิดปรุงแต่งจิตว่าชอบหรือไม่ชอบ ต่อเวทนาที่เกิดขึ้นที่ร่างกายในขณะนั้น แต่ถ้าวันไหนลองนั่งปุ๊บจิตสงบดี นิ่งดี ก็เริ่มตามรู้ ตามดูเวทนาที่ร่างกายเลย โดยไม่ได้ทำอานาปานสติครับ
เรียนถามท่านอาจารย์ครับว่า แนวทางที่ผมปฏิบัติอยู่นี้ มาถูกทางหรือไม่ครับ และแนวทางนี้สามารถพาไปสู่มรรคผลนิพพานได้หรือไม่ กราบขอบพระคุณครับ
ตอบ : เวลาพูดถึงแนวทางๆ เราก็พูดถึงแนวทางทฤษฎีในการปฏิบัติเลย ถ้าพูดถึงแนวทางในการปฏิบัติเลย เห็นไหม มันก็เป็นแนวทาง แนวทาง แม้แต่ในอภิธรรม เขาก็แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย ในอภิธรรมเขาก็เถียงกันอยู่เองนะ
ฉะนั้น ในฝ่ายปฏิบัติเรา ในพระกรรมฐาน พระกรรมฐานส่วนใหญ่แล้ว เพราะว่ามีคนที่เขาศึกษาธรรมะของหลวงปู่มั่น แล้วท่านไปหาหลวงตาไง ด้วยความเชื่อมั่น ไปบอกหลวงตาว่า “ดิฉันศรัทธามาก วัดป่าสายหลวงปู่มั่น ดิฉันศรัทธามาก”หลวงตาท่านบอกว่า “ในสายของหลวงปู่มั่นมีทั้งดีและเลว มีทั้งถูกและผิด” ท่านไม่ได้ส่งเสริมเลย เพราะว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ มีทั้งดีและเลว หลวงปู่มั่นท่านฝึกพระมาขนาดไหน แล้วมันมีเหลือพระมากี่องค์ แล้วพระที่ว่าหลวงปู่มั่นท่านได้สนทนาธรรมแล้ว ท่านฝากไว้กับหมู่คณะไง
เวลาหลวงปู่เจี๊ยะท่านเล่าให้ฟังประจำ “หมู่คณะให้จำหลวงปู่ขาวไว้นะ หลวงปู่ขาวได้คุยกับเราแล้ว” พูดถึงหลวงปู่พรหม ถ้าพูดถึงรุ่นสุดท้ายก็พูดถึงหลวงตา บอกเลย “มหาดีทั้งนอก ดีทั้งใน” มหาดีทั้งนอก นอกก็คือข้อวัตรปฏิบัติ นอกก็แนวทางที่จะชักนำเรา เป็นหลักให้เราได้ ในก็ในใจ ทีนี้มันไม่เป็นอย่างนั้นน่ะสิ พอมีชื่อเสียงขึ้นมา เห็นไหม “ใครๆ ก็บอกไปหาหลวงตา หลวงตารับประกัน” บอก “รับประกันอย่างไร” “ก็เวลาหลวงตาเทศน์ ดิฉันก็ไปนั่งอยู่ที่ศาลาน่ะค่ะ ท่านเทศน์เหมือนเปี๊ยบเลย ท่านตอบหมดเลย” มันไม่ได้ถามซักคำ มันไปเฉียดๆ แล้วมันก็เอาชื่อไปขายกัน มันเป็นอย่างนี้ทั้งนั้นน่ะ นี่พูดถึงแนวทางปฏิบัติ
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาแนวทางปฏิบัตินะ ในสติปัฏฐาน ๔ ในแนวทางของอภิธรรม ในแนวทางของอภิธรรม ในอภิธรรมเขาก็แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ว่ากลุ่มนั้นไม่ใช่อภิธรรมแท้ กลุ่มนี้ไม่ใช่อภิธรรมจริง กลุ่มนั้นไม่ใช่อภิธรรม เขาก็แยกเป็นกลุ่มๆ เหมือนกันนะ เราฟังเขามาเล่าให้ฟังกันอยู่ ฉะนั้น พอมาเล่าให้ฟังแล้ว แล้วอานาปานสติอันไหนเป็นความจริงล่ะ ฝึกอานาปานสติ
“กระผมฝึกอานาปานสติจนจิตสงบนิ่งดีแล้ว ไม่ฟุ้งซ่านแล้ว ผมก็เริ่มทำสติปัฏฐาน ๔ ด้วยการตามรู้ ตามสติ ดูเวทนาที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ร่างกายจรดปลายเท้า ตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นไปศีรษะ โดยขณะที่ตามรู้นั้นดูเวทนา ก็พยายามมีสติทุกขณะ และพยายามวางจิตเป็นอุเบกขา ไม่ปรุงแต่งจิตว่าชอบหรือไม่ชอบ”
มันก็เป็นการศึกษามาทั้งนั้น ฉะนั้น แนวทางในการประพฤติปฏิบัติ แนวทางไหนก็แล้วแต่ เวลาปฏิบัติแล้วมันเหมือนการศึกษา การศึกษา คนศึกษาแล้วมีความรู้หรือไม่มีความรู้ ศึกษามีความรู้แล้ว ออกไปทำงานประสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จ
ในแนวทางการปฏิบัติก็เหมือนกัน ในแนวทางปฏิบัตินะ ถ้าแนวทางในการปฏิบัติในแนวทางอื่น นั่นเรื่องของเขา แต่ถ้าในแนวทางปฏิบัติของหลวงปู่มั่น ในแนวทางกรรมฐาน มันก็มีปฏิบัติขึ้นไป เห็นไหม ตั้งแต่ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบแล้วยกขึ้นวิปัสสนาได้หรือไม่ได้ บอกว่าถ้าไม่มีสมาธิมันก็เกิดปัญญาขึ้นมาไม่ได้ ถ้าไม่มีสมาธิไง แล้วเราทำสมาธิกัน ทำความสงบของใจขึ้นมา เวลาทำความสงบของใจขึ้นมาก็เกือบเป็นเกือบตาย เห็นไหม
เวลาหลวงตาท่านพูดว่า ใครทำสมาธิได้ก็พออยู่พอกินไง เพราะทำสมาธิแล้วคือจิตมันสงบไง แต่คนที่ไม่มีวุฒิภาวะ พอเป็นสมาธิเขาบอกว่านี่คือนิพพาน มันไปติดสมาธิไง หลวงตาท่านบอกว่า “ท่านติดอยู่ ๕ ปี ๕ ปี ท่านก็คิดว่าสมาธิเป็นนิพพาน” ท่านพูดเอง เวลาท่านติดอยู่ ๕ ปี เพราะท่านเข้าใจว่าตรงนั้นมันเป็นเป้าหมาย พอตรงนั้นเป็นเป้าหมาย มันก็อยู่ตรงนั้น มันไม่ก้าวเดินหรอก เวลาคนมันติด มันติดได้ทั้งนั้น
นี่ก็เหมือนกัน เวลาทำสมาธิก็เกือบเป็นเกือบตาย แล้วพอมันเป็นขึ้นมามันมหัศจรรย์ด้วย ถ้าเป็นสมาธิจริงๆ มันเป็นความมหัศจรรย์อย่างนั้น มหัศจรรย์จนคิดว่านั่นเป็นนิพพาน ถ้าเป็นนิพพานมันไม่ใช่นิพพาน เพราะนิพพาน นิพพานไม่ใช่สมาธิ สมาธิก็ไม่ใช่นิพพาน สมาธิจะเป็นนิพพานได้อย่างไร สมาธิก็เป็นสมาธิ เพราะสมาธิมันไม่มีเหตุมีผล มันกำหนดพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ แล้วมันสงบลงมาเป็นสมาธิ มันยังไม่ใช้ปัญญา แล้วถ้าเป็นงาน เป็นงานของสมถะ ไม่ใช่งานของขั้นปัญญา
เวลาเป็นงาน งานชอบ งานชอบ งานชอบก็เป็นชั้นๆ ขึ้นไป งานชอบขั้นไหน งานชอบขั้นความสงบของใจ งานชอบขั้นใช้สติปัญญา งานชอบในขั้นโสดาบัน งานชอบในขั้นสกิทาคามี งานชอบในขั้นอนาคามี งานชอบในขั้นอรหัตตมรรค มันเป็นขั้นๆๆ ขึ้นไป ถ้าคนภาวนาเป็น เขาจะเป็นชั้นๆ ขึ้นไป ถ้าคนภาวนาไม่เป็น อะไรมันก็ไม่เป็นหมดล่ะ ถ้าไม่เป็นมันก็ผิดทุกอย่าง ถ้ามันผิด มันก็ผิดหมดล่ะ แต่ถ้ามันถูก เห็นไหม
เขาบอก “ถ้าปฏิบัติแนวทางไหนมันถึงจะเป็นมรรคผลนิพพาน”
ปฏิบัติแล้วถ้ามันตรวจสอบกันไง มันมีครูมีอาจารย์ เวลาครูบาอาจารย์ เราอยู่กับครูบาอาจารย์นะ ไปอยู่องค์ไหนก็แล้วแต่ เวลาท่านเทศน์ เราฟังเทศน์ท่าน แล้วเราใช้ปัญญาเราไล่ตาม ปัญญามันตามทันกันได้ ถ้ามันเป็นชิ้นเป็นอัน เออ! ใช่ ถ้ามันไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีเหตุไม่มีผล เลื่อนลอย ไร้สาระ แค่เราใช้สติปัญญาตาม เราก็รู้ได้แล้ว ไม่ต้องขนาดว่าต้องมาตรวจสอบกันหรอก
เวลาสมัยก่อนนะ เราฟังหลวงตาท่านพูด ท่านกับมหาเขียน ท่านเรียนมาด้วยกัน เรียนมาด้วยกันเลย แล้วเวลาหลวงตาท่านได้ ๓ ประโยค ท่านก็ออกปฏิบัติเลย หลวงปู่มหาเขียนท่านเรียนจนจบ ๙ ประโยค แล้วท่านก็ได้เป็นเจ้าคณะ-จังหวัดนครราชสีมา สุดท้ายแล้วท่านก็ลาออกจากเจ้าคณะจังหวัด แล้วท่านไปปฏิบัติที่กาฬสินธุ์ จนสุดท้ายแล้วท่านก็สิ้นไปเหมือนกัน
แต่! แต่ก่อนนั้นท่านเป็นเพื่อนกัน ลูกศิษย์ก็กลุ่มเดียวกัน แล้วมีลูกศิษย์ไง มีลูกศิษย์ไปทอดผ้าป่ากับหลวงปู่เขียน ท่านก็นิมนต์หลวงตาไปด้วย หลวงตาท่านพูดเอง ก็ไปนั่งฟังอยู่ ท่านเทศน์มันเป็นทฤษฎีทั้งนั้น เป็นภาคการศึกษา ท่านบอกฟังรู้เลย ฟังทีเดียวก็รู้ แล้วพอสุดท้ายแล้ว สุดท้ายแล้วต่างฝ่ายต่างปฏิบัติไป แล้วลูกศิษย์ลูกหาของท่านมาอยู่กับหลวงตา แล้วเอาเทปส่งไปให้ท่านไง แล้วท่านเดินจงกรม นั่งสมาธิทั้งวัน
ตรงนี้สำคัญนะ เดินจงกรม นั่งสมาธิเป็นปี เป็นเดือน หลายๆ ปี ถ้ามันไม่มีปัญญา มันไม่มีมรรคมีผล มันอยู่ไม่ได้หรอก ไอ้เรานั่งวันเดียวก็จะเป็นจะตายแล้ว ไอ้นี่มันเดินจงกรม เดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน แล้วท่านป่วยแล้วนะ เพราะเราไปเยี่ยมเหมือนกัน เพราะลูกศิษย์ท่านกับเราเป็นเพื่อนกัน เราไปดู ไปดูทางปฏิบัติของท่าน ท่านป่วยนะ ท่านทำเป็นราว ถ้าบนกุฏินะ ท่านทำเป็นราวไว้
คนเรานะ เวลาจะป่วยเราก็อยากนอนพักใช่ไหม ใครป่วยแล้วใครอยากจะมาทรมานตน แต่ของท่านนะ ป่วยท่านเดินจงกรมนะ แล้วในทางเดินจงกรมท่านก็มีราว ๒ ข้างเลย มีราว ๒ ข้าง ท่านอยู่ตรงกลาง แล้วพอเดินจงกรมตอนท้ายๆ ท่านไม่ไหวแล้ว เวลาเดินจงกรมให้ลูกศิษย์ประคอง ขอให้ประคองท่าน ท่านเดิน ถ้าเดินจงกรม นั่งสมาธิ คนมันมีงานทำไง เหมือนเราทำงาน พอเราทำงานขึ้นไปแล้ว มันได้ผลประโยชน์ โอ้โฮ! เจ๊กงก มันอยากได้ เจ๊กงกนะ โอ้โฮ! มันงกมาก อะไรก็จะเอา อะไรก็จะเอา ถ้าเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา แล้วท่านทำอย่างนี้เป็น ๒๐ ปี ๓๐ ปี มันจะมีมรรคมีผลไหม
สังเกตได้ พระที่ไม่มีหลักมีเกณฑ์นะ มานอนอยู่กรุงเทพฯ หลวงตาท่านบอกว่า “มรรคผลไม่เกิดในเทศบาล ๑ เทศบาล ๒ มรรคผลไม่เกิดในที่คลุกคลี มรรคผลมันเกิดในทางจงกรม ในทางนั่งสมาธิภาวนา” ฉะนั้น หลวงปู่มหาเขียนท่านเดินจงกรมตลอด ท่านป่วยไข้ท่านก็เดิน
นี่พูดถึงว่าเวลาที่ว่ามันเป็นทฤษฎี มันเป็นปริยัติ หลวงตาท่านไปฟัง ท่านบอกมันเป็นทฤษฎี ฉะนั้น ฟังกันนี่ก็รู้ ฟัง ฟังตอนแสดงธรรมรู้หมดว่ามันมีจริงหรือไม่มี ถ้าไม่มีก็คือไม่มี แล้วไม่มีมันก็จำมาพูด พอจำมาพูด มันพูดเหมือนกัน แต่มันไม่เหมือนกัน เวลาพูดเหมือนกันหมดเลย นี่ไง เวลาพูดมาทฤษฎีเหมือนเลย ทั้งนั้นเลย
“กำหนดให้จิตมันสงบ กำหนดอานาปานสติ พอจิตสงบแล้วนิ่งแล้ว ไม่ฟุ้งซ่านแล้ว ก็เริ่มใช้ทำสติปัฏฐาน ๔ โดยการมีสติตามรู้เวทนา อานาปานสติ พอจิตสงบลงนิ่งดี” นิ่งดีอย่างไรล่ะ นิ่งดีอย่างไร นี่อานาปานสติๆ เวลากำหนดอานาปานสติ กำหนดอานาปานสติเราก็ทำมา ครูบาอาจารย์ทุกองค์ท่านก็ทำมา เวลาจิตถ้ามันสงบ จนลมหายใจขาด กำหนดลมหายใจ ลมหายใจละเอียดเข้ามาขนาดไหนก็รู้ เวลาละเอียดขนาดไหนก็รู้ นั่นจิตที่มีกำลัง ไอ้ว่างดี นิ่งดี พูดเองทั้งนั้น
นี่ไง ถ้ามันว่าปฏิบัติแล้วมันจะมีมรรคมีผลขึ้นมา มันมีมรรคมีผล มันต้องเป็นความจริงไง สติก็เป็นสัมมาสติ สมาธิก็เป็นสัมมาสมาธิ เวลาปัญญา ทิฏฐิก็ต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ งานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ความชอบธรรม ถ้าความชอบธรรมนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบ แต่ถ้ามันไม่ชอบล่ะ มันไม่ชอบไง พอไม่ชอบมันก็ทำ มันก็ได้เห็นความมหัศจรรย์นั่นน่ะ แต่ไม่ใช่
นี่พูดถึงแนวทางปฏิบัติไง มันไม่ใช่ว่าอานาปานสติ ในพุทธานุสติ ในพุทโธ ในธัมโม ในสังโฆ กำหนดแนวทางไหนมันจะถูก มันจะผิด ถ้ามันผิด มันผิดแล้วมันก็จะแก้ไขมา แก้ไขมา แก้ไขมาให้มันถูก ถ้ามันทำด้วยความสุจริตนะ แต่บางทีมันทำไม่ด้วยความสุจริตไง แล้วมันเป็นอุปาทานหมู่ เราเห็นมา ผู้ที่ปฏิบัติมา อยู่ในหมู่ของเขา ได้มรรคได้ผลกันทั้งนั้น แล้วเวลาเขามาคุยกับเราไง เราให้พุทโธเฉยๆ เวลาพุทโธมันลง เขาพูดเองนะ “โอ้โฮ! พุทโธหลวงพ่อดีกว่าพระอนาคามีอีก”
เพราะเขาว่าเขาได้พระอนาคามีมาไง เวลาจิตมันลงเท่านั้น คิดดูสิว่าเขาได้พระอนาคามี แล้วกลุ่มของเขาได้พระ-อนาคามีกันหมดเลย แล้วเวลามากับเรา เราบอกว่า “จะได้อะไรมา สาธุ! ใครจะมีมรรคมีผล สาธุ! มันเป็นสิทธิ์ มันเป็นสิทธิ์ของแต่ละบุคคล เราจะล่วงสิทธิ์ใครไม่ได้หรอก เป็นสิทธิของเขา เป็นจริงก็เป็นสิทธิ์ของเขา เป็นบุญกุศลของเขา ถ้าเป็นไม่จริงมันก็เป็นไม่จริงของเขา มันไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย”
แต่เราบอกว่า “ขอให้พุทโธได้ไหม พุทโธ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ พุทโธ” เขาก็พุทโธของเขาไปเรื่อยๆ พอจิตมันลงไง เวลาจิตมันลง คนเรานี่นะ เวลาเกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้า พูดตรงนั้นจะเป็นความจริง แต่พูดครั้งหลังๆ ไปไม่จริงแล้ว เวลาจิตมันลง เขามาหาเราเลยนะ “โอ้โฮ! หลวงพ่อ พุทโธหลวงพ่อดีกว่าอนาคามี” เพราะเขาได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นพระอนาคามีมาตลอดเลย
ถ้าเขาเห็นอย่างนั้น เราถึงบอกว่าถ้าคนภาวนามานะ ถ้ามันผิดมานะ ถ้าทำให้ถูกแล้ว ไอ้ความถูก ความผิดมันจะไปพิสูจน์กัน มันเป็นปัจจัตตังเฉพาะใจของเรา เราเองเราต้องการความจริงใช่ไหม แล้วเราทำมามันก็เป็นประสบการณ์ของเรา แต่เราเข้าใจว่าจริงไง แต่ถ้าวันไหนเราไปทำให้มันเป็นความจริงขึ้นมา ความจริงนั้นมันจะมาเปรียบเทียบไง พอความจริงเปรียบเทียบ อ๋อ! จริงมันต้องอันนี้ อันของเก่าๆ เรามันไม่จริง มันรู้เอง มันถอนเอง
แต่เสร็จแล้วเขาก็กลับไปวัดป่าบ้านตาดนี่แหละ ไปช่วยงานหลวงตา พอไปช่วยงานหลวงตา เขามาเล่าให้ฟังอีกล่ะ พอไปช่วยงานหลวงตาเขาก็ไปพูดในหมู่ของเขานะ บอก “พวกเราที่ทำมามันผิดทั้งนั้นน่ะ” “มันผิดได้อย่างไร ของเราพระอนาคามีกันทั้งนั้นเลยนะ คุณก็เป็นพระอนาคามี เราก็เป็นพระอนาคามี ทุกคนก็เป็นพระอนาคามี เราจะไม่เป็นได้อย่างไร” ก็เลยกลับไปเป็นพระอนาคามีอย่างเก่า กลับไปเป็นพระอนาคามี
ประสบการณ์ของเรามันเห็นมาหมด ฉะนั้น ว่าอุปาทานหมู่ อุปาทานหมู่ ในหมู่นั้นเขามีอุปาทานกันอย่างไร กระแสสังคมเขายกย่องกันอย่างไร สรรเสริญกันอย่างไร แล้วมันก็เป็นอุปาทานหมู่ ยกย่องสรรเสริญกันไป มันมีจริงหรือไม่มีจริง แต่คนที่เป็นจริงเขารู้ว่าจริงหรือไม่จริง
ถ้าจริงหรือไม่จริง ทีนี้ย้อนกลับมาที่คำถาม คำถามเขาพูดเอง เห็นไหม คำถามนี้มันคำถามถามมาว่า “การปฏิบัติอย่างนี้มันจริงหรือไม่จริง”
เราจะบอกว่าสิ่งที่มันไม่จริง เวลาคำพูดมันขัดแย้งกันเอง ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถ้าเป็นความจริงนะ ไม่มีขัดไม่มีแย้งกัน มันจะไปเป็นชั้นเป็นตอนเลย ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วเข้าเป็นบุคคล ๔ คู่ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล บุคคล ๔ คู่ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ มันจะเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปเลย
ถ้ามันขัดมันแย้งคือมันผิด ถ้ามันผิดมันก็ติด พอมันติดมันก็ติดในตัวมันเอง มันก็เป็นวัวพันหลัก มันก็หมุนอยู่นั่นน่ะ พันอยู่นั่นน่ะ แล้วก็เข้าใจว่าเป็นไอ้นู่น เข้าใจว่าเป็นไอ้นี่ เข้าใจ คือจินตนาการ ไม่มีความจริงเลย แต่ถ้าเป็นความจริงมันจะเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป แล้วผู้รู้กับผู้รู้เขาคุยกันรู้เรื่อง อย่างเช่น เช่นที่ว่าในวงพระปฏิบัติ หลวงตาท่านพูดว่าในสมัยหลวงปู่มั่นมีทั้งถูกและผิด ทั้งดีและชั่ว ดีก็มี ชั่วก็เยอะ
นี่ก็เหมือนกัน ทุกวงการมีทั้งคนดีและคนชั่ว ไม่มีคนดีทั้งหมด และคนชั่วทั้งหมด ฉะนั้น มีทั้งคนดีและคนชั่วหมด เราก็ต้องตั้งสติแก้ไข เรารักษาของเราเอง เราคัดแยกของเราเอง คัดแยกของเราเองเพราะอะไร เพราะเราต้องการความจริง
โอ้ย! ชีวิตนี้มีค่านะ ชีวิตของเรา เราเกิดมา ชีวิตของเรากว่าจะได้มา อยู่ในครรภ์มา ๙ เดือน แม่อุ้มท้องมา ๙ เดือน กว่าแม่จะคลอดออกมา แม่เลี้ยงดูมาขนาดไหน แม่ส่งเสียศึกษามาขนาดไหน แล้วเราก็มีปัญญาของเรา เราก็อยากได้ความจริงของเรา แล้วทำไมต้องเอาชีวิตเราไปให้คนนู้นโกหก คนนี้โกหก คนนี้ชักนำ ชีวิตของเรานะ ชีวิตของเราแท้ๆ ทำไมต้องให้คนไปปั่น ทำไมต้องไปอยู่ในอาณัติของใคร
ถ้าไม่อยู่ในอาณัติของใคร แต่นี้เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์ที่เป็นจริง ท่านให้เราฝึกหัดความจริงไง ท่านให้เราทำให้เป็นจริงไง ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก เป็นตามความเป็นจริงขึ้นมาเลย ไม่มีเบื้องหน้า เบื้องหลัง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไม่มีกำมือในเรา แบตลอดเลย เวลาแบตลอด ถ้ามันเป็นจริงแบตลอดเลย เหมือนกันหมดเลย แล้วเหมือนอย่างไร
เดี๋ยวนี้นะ เหมือนกันๆ ไอ้เหมือนกันๆ ฟังแล้วเบื่อ
เหมือนกัน คำพูดเหมือนกัน แต่ความจริงที่มันไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนตรงไหน ไม่เหมือนกันตั้งแต่เริ่มต้นที่ว่า ทำอานาปานสติจนจิตมันสงบนิ่งดีแล้ว ทำอานาปานสติจนจิตสงบนิ่งดีแล้ว มันนิ่งอย่างไร มันสงบอย่างไร ถ้ามันสงบนะ เขาบอกว่าที่มันสงบเพราะมันไม่ฟุ้งซ่าน เวลาตกภวังค์มันก็ไม่ฟุ้งซ่าน ตกภวังค์ไปเลย เวลามันขี้เกียจมันไม่กำหนด มันก็อยู่ของมันเฉยๆ ถ้ามันไม่ขี้เกียจนะ กำหนดอานาปานสติ ลมเข้ายาวรู้ ลมออกยาวรู้ ลมเข้าสั้นรู้ ลมออกสั้นรู้ ลมหยาบรู้ ลมออกหยาบรู้ ลมเข้าละเอียดรู้ ลมเข้าออกละเอียดรู้ ลมใสรู้ อู้! มันชัดขนาดนั้น อานาปานสติน่ะ
โธ่! กำหนดอานาปานสติเราก็ทำมาแล้ว มันเป็นอย่างไร ไอ้นี่กำหนดลมหายใจ โอ๋ย! มันละเอียดแล้ว ปล่อยทิ้งเลย ลมหายใจไปแขวนไว้นู่น กูนั่งอยู่นี่ จิตลงบาดาลไปเลย ไม่เกี่ยวกันเลยสักชิ้นหนึ่ง มันต้องอยู่ด้วยกันทั้งหมด แล้วมันทำทั้งหมด คำบริกรรม บริกรรมอย่างนี้ เวลาจิตมันสงบเข้ามา มันถึงเป็นสัมมาสมาธิไง พอเป็นสัมมาสมาธิแล้ว ถ้าจิตมันสงบมีกำลัง สดชื่นแล้วนะ ปัจจัตตัง สุดยอด มันรู้น่ะ คนเป็นมันรู้
“ไอ้นี่มันจิตมันสงบดีแล้ว มันนิ่ง มันไม่ฟุ้งซ่าน ผมถึงเริ่มทำสติปัฏฐาน ๔ พอทำสติปัฏฐาน ๔ ด้วยมีสติตามรู้เวทนา ถ้าตามรู้เวทนา ตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมาจนถึงจรดศีรษะ แล้วในทุกขณะที่ตามรู้เวทนา ก็พยายามมีสติทุกขณะ แล้วพยายามวางจิตเป็นอุเบกขา” อันนี้สำคัญมาก ถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้าจิตไม่สงบนะ เวลากำหนดพุทโธก็แล้วแต่ หรืออานาปานสติก็แล้วแต่ ถ้าเวทนามันเกิด คนเราเวลาผ่านเวทนาไปแล้วมันจะเบาบางลง แล้วคนเคยผ่านเวทนาแล้วนะ ถ้าเวทนามันจะเผชิญเวทนาอีก มันยิ้มๆ ได้แล้ว
คนเรานะเคยผ่านอุปสรรคสิ่งใดไปแล้ว ทำสิ่งใดอุปสรรคนั้นจะไม่รุนแรงแล้ว เพราะเราเคยผ่านอุปสรรคนั้นแล้ว แต่อุปสรรคก็ยังเป็นอุปสรรคอยู่ เพราะเวทนาก็คือเวทนา เวทนามันเกิดแล้วมันดับไป พอภาวนาครั้งต่อไป เวทนาก็จะเกิดอีก แต่เวทนามันจะเกิดอีกเพราะคนเป็นไม่ใช่คนตาย พอเวทนาเกิดอีก ถ้ามันมีสติมีปัญญาขึ้นมา กำหนดพุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ จิตสงบลง เวทนามันก็ดับไป จิตลงสู่สมาธิ พอจิตลงสู่สมาธิ จิตลงสู่สมาธิ กำหนดอานาปานสติ จิตลงสู่สมาธิ จิตลงสู่สมาธิจิตมีกำลังของมัน
เวลามันพยายามนะ จิตเห็นอาการของจิต คือจิตเห็นสติปัฏฐาน ๔ ถ้าจิตเห็นสติปัฏฐาน ๔ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ถ้าจิตเห็นเวทนา จิตจับเวทนา จิตจับเวทนา จับนิ่มๆ เลย จับเวทนามันจับ ไม่เหมือนตอนที่ภาวนาใหม่ๆ พอเวทนามา โอ้โฮ! แหยงเลย เวทนาๆ แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ พอเวทนามานะ มันจับเวทนา ฉับ! เวทนามันคืออะไร เวทนามันมาจากไหน
ถ้าจิตสงบมีกำลังมันแตกต่างกัน แตกต่างกันที่เวลาเราภาวนาไปแล้ว โอ้โฮ! เวทนาเกือบเป็นเกือบตาย โอ้โฮ! มันโหมเข้ามา โหมเข้ามา แต่ถ้าจิตมันสงบแล้ว มันมีกำลังแล้ว ถ้ามันไปจับ สงบแล้ว จิตสงบ จิตสงบ จิตมีกำลังแล้วมันจับเวทนา จับนิ่มๆ เลย จับเวทนา จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง
ถ้าจิตมันเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง ถ้ามันจับได้ พอจับได้ คำว่า “จับได้นะ” เมื่อวานหรือวันไหนที่บอกว่าเขาพยายามหาผู้ร้ายไม่เจอ ถ้าจับไม่ได้คือจับกิเลสไม่ได้ จับสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริงคือจับตัวกิเลสได้ เพราะกิเลสมันก็เกิดจากจิต กิเลสเกิดจากจิต แล้วกิเลสมันลุ่มหลง ลุ่มหลงไปในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม คือจิตมันก็หลงร่างกายกับจิตใจเรานี่แหละ สติปัฏฐาน ๔ ก็คือร่างกายกับจิตใจนี่แหละ
กายก็คือกาย เวทนาก็เกิดจากกายและจิต จิตก็คือจิต ธรรม ธรรมก็เกิดจากกายกับจิตที่มันคิดปรุงแต่งขึ้นมา แล้วถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้ามันจับสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริงได้ เพราะกิเลสมันอาศัยแสดงออกตามสติปัฏฐาน ๔ ถ้าจิตมันสงบแล้วมันจับได้ คือมันจับกิเลสได้ด้วย พอจับกิเลสได้ด้วย โอ้โฮ! มันสั่นไหว จับผู้ร้ายได้ การจับผู้ร้ายได้นะ มันเป็นรางวัลนะ ดูสิ รางวัลนำจับให้แสนหนึ่ง ใครจับนาย ก. ได้ ใครแจ้งเบาะแสได้ให้ห้าหมื่น ถ้าจับได้ให้แสนหนึ่ง
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันจับได้ โอ้โฮ! มันสะเทือนใจ เราจะบอกว่า ถ้าเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง มันจะมีการรับรู้ของจิต จิตมีการรับรู้ว่าจิตเห็นอาการของจิต มันจะมีการหวั่นไหว มันจะมีการสะเทือน ไม่ใช่เห็นกันแบบมองหน้ากันอย่างนี้หรอก อ้อ! หลวงพ่อมาแล้วเนาะ ลาหลวงพ่อกลับแล้วเนาะ ก็เอ็งมาก็เอ็งกลับ ก็เห็นหน้ากันทุกวัน เห็นทุกวันน่ะ มาทุกวัน มาทำบุญทุกวัน มาเสร็จแล้วก็กลับ ก็เห็นทุกวันน่ะ เห็นแล้วได้ก็ได้ข้าวไง แต่ถ้าไปเห็นกิเลสมันไม่เป็นอย่างนี้หรอก นี่เวลาถ้าเห็นจริงไง
เขาบอกว่า ถ้าเห็นจริง ถ้าเห็นตามความเป็นจริงนะ แล้วถ้าเห็นแล้วเวลาใช้มันไม่ใช่ว่าเขาพยายามวางจิตเป็นอุเบกขา อภิธรรมเขาสอนอย่างนี้ สอนให้รู้เท่าทันแล้วจบ รู้เท่าทัน พอตามรู้ตามเห็นนะ รู้สติปัฏฐาน ๔ สักแต่ว่า ทุกอย่างรู้หมดแล้วปล่อย ไม่ใช่! จิตพอมันจับได้แล้วฝึกหัดการใช้ปัญญา ที่ปัญญามันแยกแยะ ถ้าเห็นกายโดยเจโตวิมุตติ ถ้าจับเห็นกายได้ รำพึงจากอุคคหนิมิต นิมิตที่จับต้องได้ ให้วิภาคะ ให้เป็นไตรลักษณ์ แยกส่วน ขยายส่วน
นี่ที่ว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา มันจะเกิดตรงนี้ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา มันเป็นอนัตตาอยู่แล้ว โดยตัวมันเองมันเป็นอนัตตา แต่เราไม่มีสติไม่มีปัญญารู้เท่าทันอนัตตา เราไม่มีสติไม่มีปัญญาเห็นสติปัฏฐาน ๔ จนกลายเป็นอนัตตา เราไม่มีกำลังพอที่จะรำพึงให้จิตมันเป็นไปตามกำลังของจิต เป็นไปตามกำลังของมรรค เราไม่มีความสามารถ เราไม่มีปัญญารู้ได้ เราไม่มีองค์ประกอบถึงความรู้อันนั้น
แต่จริงๆ โดยข้อเท็จจริงของมัน ที่สัจธรรมมีอยู่โดยดั้งเดิม ก็มันมีของมันอยู่อย่างนี้ มันเป็นของมันอยู่แล้ว มันเป็นสัจธรรม มันเป็นสัจธรรมอยู่แล้ว แต่จิตของเรามีกิเลสไง เพราะจิตของเรามีกิเลสมันเป็นอัตตา มันเป็นความยึดมั่นถือมั่น มันเป็นความเห็นของเราไง ศึกษาธรรมะมาแล้วก็เป็นของเราๆ อยู่นี่ไง มันไม่เป็นตามนั้นหรอก รู้ทางทฤษฎี รู้เพราะฟังเทศน์เยอะ รู้เพราะได้ยินมา แต่มันยังไม่รู้จริงไง แต่ถ้ามันรู้จริง ถ้ารู้จริงมันก็ต้อง เห็นไหม เห็นธรรมเป็นสภาวะตามความเป็นจริง ถ้าเห็นธรรมตามสภาวะความเป็นจริง สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา มันจะเป็นอนัตตา
ถ้าพูดถึงพิจารณากายนะ ถ้าพิจารณากายโดยปัญญา โดยปัญญามันจับได้ จับก็สะเทือน จับกิเลสได้สะเทือนหมด แต่พิจารณาเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พิจารณาเป็นธาตุ เป็นขันธ์ พิจารณาอย่างนั้นนี่เป็นปัญญาวิมุตติ ถ้าพิจารณาเวทนา เห็นไหม บอกว่าถ้าจิต จิตมันสงบแล้วถ้ามันจับเวทนาได้ มันไม่ทุกข์ทรมาน ก่อนเริ่มต้นภาวนานี่นะ เวลาจะผ่านเวทนาได้ทุกข์ทรมานกันมากนะ เวทนา โอ้โฮ! มันบีบคั้น
เวลาหลวงตาท่านปฏิบัตินั่งตลอดรุ่งท่านบอก “ถ้าวันไหน ถ้าจิตมันสงบลงได้เร็ว วันนั้นร่างกายไม่บอบช้ำ ถ้าวันไหนกิเลสมันรุนแรง ต้องใช้ปัญญาต่อสู้อย่างรุนแรง กว่าจิตมันจะลงได้ วันนั้นร่างกายบอบช้ำมาก ลุกเนี่ยลุกไม่ได้เลย ประสาทมันตายหมดเลย ต้องนั่งแล้วยืดเส้นยืดสายก่อน ให้ประสาทมันรับรู้ ให้ประสาทมันทำงาน พอจะลุกนั่งลุกยืนได้ ถึงจะลุกนั่งลุกยืนได้”
เวลาภาวนาครั้งแรก จะผ่านเวทนา ถ้าจิตมันลงได้ วันไหนถ้าจิตมันมีสติปัญญาดี ถ้าจิตลงได้โดยที่ไม่ทรมาน เห็นไหม ร่างกายมันไม่บอบช้ำนัก แต่ถ้าวันไหนลงไม่ได้เพราะจิตใจท่านมีสัตย์ ท่านตั้งสัตย์ของท่าน แล้วท่านทำจริงของท่าน เวลาทำความจริงของท่าน ท่านต่อสู้เต็มที่ ท่านบอก “โอ้โฮ! วันนั้นร่างกายบอบช้ำมาก เพราะมันโถมเข้าใส่ คือกิเลสมันก็โถมเข้าใส่ กิเลสมันก็เอาร่างกายเราอ้าง ตายนะ ตายนะ ตายนะ”
นี่ที่ธรรมะอยู่ฟากตาย ฟากตาย “อ้าว! ตาย อะไรตายขอดูก่อน สู้กับมัน”ท่านบอกวันนั้นจิตมันก็ลงได้ ลงได้ด้วยความเพียร ลงได้ด้วยความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ ลงได้ด้วยคุณธรรม ลงได้ด้วยสติด้วยปัญญา แต่ร่างกายบอบช้ำมาก วันนั้นลุกแล้วลุกไม่ได้ ถ้าลุกแล้วล้มเลย ร่างกายบอบช้ำมาก เราเทียบให้เห็นว่าบางวันร่างกายไม่บอบช้ำ เพราะสติปัญญา มันมีสติปัญญามันไล่ต้อนแล้วมันลงได้เร็ว ถ้าวันไหนถ้ามันต่อสู้กันรุนแรง วันนั้นร่างกายบอบช้ำมาก บอบช้ำมาก
ในคนคนเดียว เห็นไหม เวลาทำแต่ละคราวไม่เหมือนกัน ถ้าไม่เหมือนกัน ก็อยู่ที่ว่ากิเลสมันรุนแรงมากน้อยขนาดไหน กิเลสมันจะต่อสู้มันจะต่อต้านมากน้อยขนาดไหน ถ้าวันไหนกิเลสมันตามไม่ทัน กิเลสมันขี้เกียจ กิเลสมันไม่ตื่นขึ้นมา วันนั้นเราก็ภาวนาสะดวก วันไหนกิเลสมันตั้งป้อม วันไหนกิเลสมันจะต่อสู้รุนแรง วันนั้นต้องต่อสู้กันเต็มที่เลย แล้วกิเลสมันอยู่ไหนล่ะ กิเลสมันอยู่ไหน เราจะสู้กับมัน นี่อยู่ที่ไหน มันอยู่ที่เราไง
ฉะนั้น บอกว่า เขาใช้คำว่า “ผมพยายามวางจิตให้เป็นอุเบกขา ไม่คิดปรุงแต่งว่าชอบหรือไม่ชอบ” เพราะเป็นอุเบกขา เริ่มต้นมันเป็นแนวทางที่เขามีเป้าหมายสอนมาอย่างนี้อยู่แล้ว รู้เท่าทันก็จบ รู้ทัน รู้ทันก็จบ รู้ทันก็จบ สมาธิไง ปัญญาอบรมสมาธิมันเท่าทันกิเลสมันก็จบ มันก็ปล่อย ปล่อยถ้ามีสติปัญญา ถ้ารู้ว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันก็เป็นสัมมาทิฏฐิความถูกต้องดีงาม แต่ถ้ามันหลงว่านี่เป็นวิปัสสนา นี่คือใช้ปัญญา นี่คือฆ่ากิเลส พอมันปล่อยแล้วก็คิดว่าคือนิพพาน
นิพพานน่ะนี่ติดสมาธิไง แล้วไปรังเกียจนะ อภิธรรมรังเกียจมาก รังเกียจสมถะ รังเกียจสมาธิ เพราะเป็นสมาธิเป็นหินทับหญ้า เป็นสมาธิแล้วเกิดนิมิต ทั้งๆ ที่มันทำอยู่นั่นน่ะ มันเป็นมิจฉาสมาธิด้วย ถ้ามันทำถูกมันจะเป็นสัมมาสมาธิ ถ้ามันทำผิดเป็นมิจฉา มิจฉาเพราะมันหลงผิด
แต่ถ้ามันทำถูก ถ้ามันทำถูกนะ สูงส่งมันก็แค่สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิ พอสัมมาสมาธิแล้ว ถ้าจิตมันจับสติปัฏฐาน ๔ หรือเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง เขาใช้ปัญญานะ ถ้าจับเวทนาได้ เวทนาคือสิ่งที่ทนอยู่ไม่ได้ มันมีอาการปวด จะปวดแข้ง ปวดเข่า ปวดอะไรก็แล้วแต่มีความเจ็บปวด นั่นคือเวทนา เวทนา ก่อนนั่งมันก็ไม่มี เริ่มต้นนั่งมาก็ไม่มี นั่งๆ มาสักพักมันถึงมา พอมาแล้วถ้ามีปัญญาแล้วมันก็ไป แล้วมันมาจากไหนล่ะ เวทนามันมาจากไหน มันตั้งอยู่ได้อย่างไร แล้วมันหายไปไหน
นี่การใช้ปัญญา ปัญญาต้องใช้อย่างนี้ ไม่ใช่ว่าผมตั้งจิตให้เป็นอุเบกขา ไม่ปรุงแต่ง ไม่ปรุงแต่งมันจะเป็นปัญญาได้อย่างไร ไม่ปรุงแต่งมันก็ไม่เป็นปัญญาไง นี่ก็เหมือนกัน ที่ว่า “ดูจิตๆ ดูจิตห้ามคิด ห้ามคิด” ถ้าห้ามคิดมันก็เป็นปัญญาไม่ได้ แล้วถ้าคิดทีแรก ทีแรกคิดด้วยตัณหาไง คิดด้วยกิเลสไง ก็ดูจนมันหยุดไง มันหยุดแล้วก็ต้องใช้ความคิดไง เวลามันหยุดแล้วมันถึงจะเป็นมรรคไง
สิ่งอย่างนี้เวลาคนเป็นนะ เหมือนคนเป็นเลย ซ่อมเครื่องยนต์ จับนู่นใส่ จับนี่ใส่ เครื่องยนต์เสร็จนะ ถ้าไม่เป็นไปซ่อมเครื่องนะ โอ้โฮ! เหลือเต็มเลย ประกอบไม่เสร็จ แล้วใช้ไม่ได้ด้วย นี่ก็เหมือนกัน ถ้าไม่เป็น อะไรเป็นสติ อะไรเป็นสมาธิ อะไรเป็นปัญญา อะไรเป็นมรรค อะไรเป็นมิจฉา อะไรเป็นสัมมา ซ่อมไม่เป็น ทำไม่เป็น ไม่เป็นก็คือไม่เป็น ถ้าไม่เป็นก็สับสนอยู่อย่างนี้
แต่ถ้าเป็นนะ เครื่องยนต์น่ะ โรลส์รอยซ์ ดูสิ กองไว้เลย เดี๋ยวประกอบให้เสร็จหมด ติดเครื่องบินบินได้ด้วย นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเป็น ถ้าคนเป็นมันเป็นหมด แล้วมันก็อันเดียวกันนั่นแหละ อะไหล่เหมือนกัน อะไหล่ชิ้นเดียวกัน คนไม่เป็นใส่ไม่ถูกที่ แล้วใส่แล้วอะไหล่เกิน ประกอบเครื่องยนต์เสร็จแล้วอะไหล่ยังกองอยู่เต็มเลย เอ๊ะ! แล้วนี่มันใส่ตรงไหน ถ้ามันไม่เป็น นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นอีกเรื่องนะ
นี่พูดถึงว่า เพราะมันเป็นคำถาม แล้วเขาถามมาเอง แล้วเขาก็บอกว่า “เสร็จแล้วเวลาเขาใช้ปัญญา เขาวางจิตให้เป็นอุเบกขา ไม่คิดปรุงแต่งว่าชอบหรือไม่ชอบ”
มันก็เป็นการ เวลาหลวงตาท่านต่อสู้กับเวทนา ต่อสู้จนเต็มที่แล้วท่านเหนื่อยมาก ท่านก็กำหนดจิตไว้ เขาเรียกว่าขันติ ขันติคือทนไว้เฉยๆ แล้วพอดีหลวงปู่มั่นท่านส่งจิตมาดู วันรุ่งขึ้นท่านไปทำข้อวัตร เวลาขึ้นไป หลวงตาท่านเล่าเอง “มหา มหาพิจารณาอย่างนั้นหรือ พิจารณาอย่างหมากัดกัน” ขันติ ถ้าเราสู้ไม่ได้ อย่างเวทนามันแรงเราสู้ไม่ได้ เห็นไหม เรายันไว้เฉยๆ ยันไว้เฉยๆ ก่อน เพราะไม่ไหว เหนื่อยมาก สู้จนหมดกำลังแล้ว เราก็ยันไว้ พอดีหลวงปู่มั่นท่านส่งจิตดูตอนนั้น แล้วท่านไปทำข้อวัตรไง ไปทำข้อวัตรคือทำความสะอาดกุฏิท่านน่ะ
พอขึ้นไป “มหา มหาพิจารณาอย่างนั้นหรือ พิจารณาอย่างกับหมากัดกัน”
แต่หลวงตา นักภาวนาด้วยกันท่านรู้ ท่านก็เงียบๆ แล้วท่านก็มาพูดให้ลูกศิษย์ฟังทีหลัง บอกว่า “ถ้าหลวงปู่มั่นท่านส่งจิตมาดูผมก่อนหน้านั้นประมาณสักครึ่งชั่วโมง ท่านจะไม่พูดแบบนี้ เพราะก่อนหน้านั้นผมต่อสู้กับมัน ฟัดกับมันเต็มที่เลย ฟัดกับมันหลายชั่วโมงเลย แล้วผมสู้ไม่ไหว ผมเหนื่อย ผมก็เลยถอยมายันไว้เฉยๆ” นี่เขาเรียก “ขันติ”
ขันติ ความอดทนมันก็เป็นอะไหล่ตัวหนึ่งสำหรับที่ใส่เครื่องยนต์ นี่ก็เหมือนกัน ขันติมันก็เป็นวิธีการอันหนึ่ง วิธีการเวลาเราสู้ไม่ได้ เราสู้แล้วมันเกินกำลัง เรายันไว้ เราพักไว้เฉยๆ นี่เขาเรียกว่าขันติ เวลาขันติเอามาใช้ประโยชน์ มันเป็นประโยชน์ไง แต่มันรบชนะไม่ได้ ถ้ารบมันก็รุก ถ้ารุกก็ต้องใช้ปัญญา ถ้าใช้ปัญญา ขันติ เห็นไหม ความอดทนๆ จะบอกว่าถ้าเป็นอุเบกขา เราไม่ได้คิดอะไรเลย มันจะผิดไปหมดนะ ถ้าขันติความอดทน อดทนไว้เพื่อจะสู้ อดทนไว้
ท่านบอก เห็นไหม หลวงตาท่านบอก “ถ้าหลวงปู่มั่นส่งจิตมาดูก่อนหน้านั้นสักครึ่งชั่วโมง ท่านจะไม่พูดแบบนี้ เพราะตอนนั้นผมฟัดกับมันเต็มที่เลย แล้วผมฟัดกับมันไม่ไหว เหนื่อยเต็มที่แล้ว ผมก็เลยพัก พอพักพอดีหลวงปู่มั่นส่งจิตไปดู” คำว่า “อุเบกขา อุเบกขา” เวลาถ้ามันใช้ไม่ถูกที่ไม่ถูกจังหวะ มันใช้ไม่ได้ มันก็ไม่ใช่ ถ้ามันใช้ได้มันก็เป็นความจริงของมัน เห็นไหม
นี่พูดถึงว่า เวลาเขาพูด เขาบอก “เวลาเขาใช้ปัญญา ปัญญาอย่างนั้น แล้วเวลาใช้ปัญญา ดูในร่างกาย วันไหนถ้านั่งลงแล้วปุ๊บ จิตมันสงบดี ดีก็เริ่มตามรู้ดูเวทนาที่ร่างกายไปเลย โดยไม่ต้องใช้อานาปานสติ โดยที่ไม่ต้องใช้อานาปานสติ คือไม่กำหนดสิ่งใดเลย ท่านก็พิจารณาได้
นี้เริ่มต้นขึ้นไป คำถามตั้งแต่เริ่มต้น “ผมปฏิบัติโดยการนั่งสมาธิก่อนโดยอานาปานสติ พอจิตสงบดีแล้ว นิ่งดี ไม่ฟุ้งซ่าน ผมก็เริ่มทำสติปัฏฐาน ๔ โดยตามรู้ แล้วอันข้างล่าง บางทีตามรู้เวทนาร่างกายไปเลย โดยที่ไม่ได้ทำอานาปานสติเลย” เห็นไหม
จิตมันมีขึ้นมีลง แล้วจิตมันเป็นอย่างนั้น ฉะนั้น ถ้าเป็นอานาปานสติ จิตมันเป็นสมาธิจะเป็นสมาธิอย่างไร ถ้าเป็นสมาธิแล้วมันจะยกขึ้นวิปัสสนาอย่างไร ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมา ท่านรู้ของท่าน แต่อย่างนี้มันปฏิบัติมาแล้วมันแบบว่าเลื่อนลอย แล้วปฏิบัติตามแต่ทฤษฎี แล้วคำว่า “ทฤษฎี” แล้วทฤษฎีไหนมันจะผิดจะถูกนั้นยกไว้ เวลามันทำถูก ทำผิด มันผิดเหมือนกัน
ถ้าอานาปานสติเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำหนดอานาปานสติ เราก็เคยทำอานาปานสติ เราก็เคยทำพุทโธ เราก็เคยใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราเคยเพ่งกสิณ เราเคยทำทุกอย่าง เราทำมาทั้งนั้น แต่มันขี้เกียจโม้ ขี้เกียจพูดไปเข้าทางใครเท่านั้นเอง แต่ทางของใคร ใครภาวนาอย่างไร พูดมา ใครปฏิบัติมาแนวทางไหน พูดมา พูดกันตามความเป็นจริงนะ พูดกันด้วยความเป็น ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ พูดกันด้วยความเป็นมงคล พูดกันด้วยการแสวงหา การประพฤติปฏิบัติเราพูดเพื่อหาความถูกต้องดีงาม เราไม่ได้พูดเพื่อเอาซี่โครงเข้าถู เราไม่ได้พูดเอาชนะ เอาแพ้กัน เพราะการประพฤติปฏิบัติทุกแนวทาง ถ้ามันผิดพลาดขึ้นมา มันแก้ไขขึ้นมา มันก็จะทำให้ถูกต้อง ถูกต้องขึ้นไป ถ้ามันทำได้จริง ถ้ามันทำไม่ได้จริง มันก็ผิด ผิดไปตลอด
นี่พูดถึงว่า “ถ้าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง” ถ้าแนวทางที่ถูกต้อง เราต้องแก้ไขของเราขึ้นมา เห็นไหม ฉะนั้น กำหนดอานาปานสติ ถ้าจิตสงบ สงบอย่างไร บอกว่า “ใช้ปัญญาไปเลย ไม่ต้องใช้สมถะ เวลาใช้ปัญญาไปแล้ว สมถะหรือสมาธิมันจะมาพร้อมการใช้ปัญญา” มันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ แล้วเวลามันเห็นสติปัฏฐาน ๔ เขาเรียกว่าเห็นกิเลส เวลาขุดคุ้ยหากิเลส เวลาจับตัวกิเลสได้ ถ้าจับตัวกิเลสไม่ได้ ไม่รู้จักกิเลส มันจะชำระล้างกิเลสได้อย่างไร
เราไม่รู้ว่าเป็นหนี้ใครเนาะ เราอยากตามใช้หนี้ มันมีนะ ผู้ที่ว่าเกิดมาแล้วกำพร้า แล้วมีคนขอไปเลี้ยง พอเขาสร้างเนื้อสร้างตัวได้ เขาอยากจะเห็นหน้าพ่อหน้าแม่ เขาประกาศเนาะ “อยากเห็นหน้าพ่อหน้าแม่สักทีหนึ่ง ชาตินี้เกิดมาไม่เคยรู้จักพ่อรู้จักแม่ มีแต่พ่อแม่บุญธรรม อยากเห็นหน้าพ่อหน้าแม่จริงๆ สักทีหนึ่ง” เขาค้นคว้าหาพ่อหาแม่เขานะ เวลาเขาระลึกได้ เขายังอยากเห็นหน้าพ่อหน้าแม่เขาเลย
แต่เวลาภาวนาไปแล้ว “เดี๋ยวมันจะเป็นเอง ใช้ปัญญาไปเลย เวลาปัญญามันมาพร้อมแล้วสมาธิมันจะตามมา” พูดเหมือนกับตัวเองเป็นเจ้าของมรรคเลย พูดเหมือนกับสูตรสำเร็จ มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันพูดอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าเขาพูดได้ เขาก็พูดของเขา มันก็เป็นอุปาทานหมู่ของเขา มันเป็นอุปาทานหมู่ในกลุ่มชนของเขาที่เชื่อถือ แล้วคำว่า “เชื่อถือ” นี่เชื่อเฉยๆ นะ แต่จิตใต้สำนึกระแวง จิตใต้สำนึกมันสงสัย ความเชื่อ เชื่อเฉยๆ เชื่อเพราะสังคม เชื่อเพราะกลุ่มชน แต่มันไม่ใช่เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ที่ชำระล้างกิเลส ที่สำรอกคาย
ความเชื่อมันเชื่อโดยกลุ่มชน เชื่อโดยกลัวอิทธิพล เชื่อโดยการกลัวว่าเข้ากลุ่มชนนี้ไม่ได้ ถ้าเราไม่เชื่อตามนี้ เราจะนั่งคุยกับเขาไม่ได้ เราต้องเชื่อตามๆ กันไป เชื่อตามเขาไป แต่ถ้าเป็นการปฏิบัติของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อเลย ให้เป็นความจริงขึ้นมา เป็นความจริงขึ้นมา กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อทั้งสิ้น
ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง คำถามเลย “เรียนถามท่านอาจารย์ครับ แนวทางที่ผมปฏิบัติอยู่นี้ถูกทางหรือไม่ครับ แล้วแนวทางที่ผมสามารถไปสู่มรรคผลนิพพานได้หรือไม่ กราบขอบพระคุณครับ”
แนวทางการปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติเป็นสัมมาทิฏฐิถูกต้องดีงามไปถึงนิพพานได้แต่เฉพาะเหตุผลในคำถามนี้ ไปไม่ได้ เพราะเหตุผลในคำถามนี้ บอกว่า “กำหนดอานาปานสติจนจิตสงบดีแล้ว ไม่ฟุ้งซ่านแล้ว” อันนี้สงบไม่จริง แล้วเวลาพิจารณาไปแล้วก็พิจารณาไม่จริง มันพิจารณาไม่จริงเพราะบอกว่าวางให้เป็นอุเบกขาให้รู้เท่า รู้เท่า ก็เรียนกันมาอย่างนี้ เบสิกมาอย่างนี้ ความเชื่อเริ่มต้นมาอย่างนี้ ก็ปฏิบัติตามอย่างนี้ก็ปฏิบัติเป็นพิธี
หลวงตาท่านบอกว่า “ปฏิบัติตามเป็นพิธี ปฏิบัติพอเป็นพิธี พอเป็นพิธีว่าได้ปฏิบัติแล้ว แล้วจิตมันเกิดจินตนาการแล้ว แล้วมันก็อารมณ์อย่างนั้นๆ เป็นอย่างนั้นๆ ก็พยายามจะจับยัดเข้าไปในพุทธพจน์ จับยัดเข้าไปในตำราไง บอกว่าอาการเป็นอย่างนี้ๆ แล้วก็สร้างอารมณ์กันมาเป็นอย่างนี้ เป็นสถาบัน แล้วก็เป็นความเชื่อของเขาเป็นอย่างนี้ การทำอย่างนั้น” นี่พูดถึงการทำนะ เป็นความเชื่อ ความเชื่อ เอวัง