ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

พื้นฐานมนุษย์

๔ ก.พ. ๒๕๖o

พื้นฐานของมนุษย์

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : เรื่อง ภาวนาสู้ความกลัว

กราบเรียนหลวงพ่อ ลูกมีความศรัทธาต่อครูบาอาจารย์ที่เอาชนะหัวใจตนเองได้ ศรัทธามากพอสมควร เมื่ออยู่บ้านลูกสบายมากทั้งกาย ทั้งใจ แต่อดสังเวชใจไม่ได้ว่า ถ้าเราตายไป เราจะมีสมบัติติดใจไปภพหน้ามากน้อยแค่ไหน ลูกจึงฝึกฝนภาวนาขัดเกลาตนเอง

ปัญหาข้อใหญ่คือความกลัว กลัวมากอยู่ ๒ อย่าง คือกลัวผีและกลัวคนร้าย ถ้าใจดีๆ เข้มแข็ง ลูกสามารถทำพุทโธได้สบายมาก แต่ถ้าใจไม่ดีจะกลัวมาก ขาสั่น ลูกจึงฝึกด้วยการพาตัวเองไปอยู่ในที่เงียบๆ คนเดียว จากสิ่งที่ไม่ค่อยคิดอะไร ทีนี้เลยคิดเยอะมาก กลัวผีจะมา กลัวคนร้ายจะมา ลูกเห็นว่าท่าไม่ดีจากความคิดที่พากลัวสารพัด หาเหตุผลให้กลัวโน่นกลัวนี่ ถ้าขืนเชื่อความคิดแบบนี้ก็มีแต่จะทุกข์ร้อน จึงกลับมาคิดพุทโธเพื่อต่อต้านความคิด พอพุทโธแล้วไม่มีความคิด ไม่มีเรื่อง ไม่ทุกข์ร้อน พอจับพุทโธได้สักครึ่งชั่วโมงก็หมดคิดหมดกลัว พอไม่จับพุทโธ ความคิดพากลัวก็กลับมาอีก

เมื่อจิตอยู่กับพุทโธไม่มีความคิด ไม่มีความกลัว มีแต่ความรู้สึกตัว รับรู้อยู่แค่มีพุทโธที่ตัวเรา อยู่แบบนี้ได้ราวๆ ๓ ชั่วโมง ก็จะเริ่มกลับมาคิดกลัวนู่นกลัวนี่อีก ทีนี้พุทโธไม่เข้าแล้ว จะมาพิจารณาแทนว่าความกลัวนี้เป็นความทุกข์ เป็นอนิจจัง จะคิดทำไม ใจก็ยอมรับ ก็คลายความกลัวลงได้อีก โล่ง โปร่ง นานสัก ๓ ชั่วโมง ทีนี้พอใจสบายก็กลับมาพุทโธ จับพุทโธอยู่ เป็นแบบนี้วนไปวนมาทั้งวันทั้งคืน

กราบเรียนถามหลวงพ่อว่า ควรทำอย่างไรต่อไปเพื่อพิจารณาจิตให้ดีขึ้นกว่านี้ เพราะกลัวว่าทุกวันนี้อยู่กับโลกไปวันๆ ถ้าไม่ทำจิตตภาวนาให้มากพอ เดี๋ยวตายไป กลัวบุญเราน้อย บุญไม่มากพอ จบจากมนุษย์ไป ถ้าไม่ไปอบายภูมิก็ดีไป แต่ถ้าไปเป็นเทวดา อินทร์ พรหม ก็คงไปนานมาก ลูกอยากพกบุญเยอะๆ ติดตัวไปภพหน้า

หลวงพ่อ เขาว่าอย่างนั้นนะ

ตอบ : อันนี้พูดถึงความกลัว ความกลัวโดยสามัญสำนึก โดยสามัญสำนึกของมนุษย์ ความกลัวมันเป็นสันดานของมนุษย์ มนุษย์ทุกคนจะมีความกลัวอยู่ในใจ มีกลัวมาก กลัวน้อย นั่นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้ามีความกลัวอยู่ในใจ เห็นไหม โดยสามัญสำนึกของมนุษย์ เพราะสมัยก่อนพุทธกาลคนเรายังไม่มีศาสนา เขาก็กลัว คนโบราณเขาถือผีไง เขาถือผี เขากราบไฟ เคารพบูชาไฟ เคารพบูชาภูเขา พระอาทิตย์ บูชาต่างๆ ไอ้นี่ก็เกิดเพราะว่าเหตุเพราะความกลัวทั้งนั้น

คนเรามันมีความกลัวเป็นสามัญสำนึก มีความกลัวเป็นพื้นฐาน มนุษย์เรามีความกลัวเป็นพื้นฐาน เพราะมนุษย์เรามันมีอวิชชา มีอวิชชามันพึ่งตัวเองไม่ได้ทั้งนั้น ถ้าไม่มีศาสนามันก็กลัวร้อยแปดไปเรื่องต่างๆ สุดท้ายแล้ว เห็นไหม กลัวผี แต่มนุษย์โบราณเขาถือผีไง เขาถือผีถือสาง เราต้องบูชาใช่ไหม ต้องบูชายันต์ เวลาบูชายันต์ เอาสิ่งใดก็เอามาเซ่นไหว้ ก็เหมือนแลกกัน เหมือนติดสินบนๆ ฉันให้แล้วนะ ฉันถวายแล้วนะ ฉันเคารพบูชาแล้วนะ อย่ามาหลอกฉันนะ ฉันเคารพบูชาแล้ว ฉันทำคุณงามความดีแล้ว ต้องตอบสนองนะ ให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล

การถือผี ถือสาง เป็นศาสนาแรกของโลกเลย โดยสัญชาตญาณของมนุษย์ มนุษย์ทุกคนมีความกลัวอยู่เป็นสันดาน มีความกลัวอยู่ในหัวใจทั้งนั้น มีความกลัวอยู่ในหัวใจ ยกเว้นไว้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลามาศึกษาประวัติครูบาอาจารย์ของเราไง ครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม ก็กลัวทั้งนั้น เวลาหลวงปู่ชอบในประวัติของท่าน ท่านว่า ท่านกลัวผี กลัวผี เห็นไหม นี้กลัวผีจะดัดสันดานของตน ถ้าดัดสันดานของตน เวลา กุฏิ ท่านโดดลงหน้าต่างนะ ท่านบอกว่า โดดลงไปเพื่อจะไปภาวนา พอโดดลงไปก็วิ่งขึ้นบันไดเลย

เวลาครูบาอาจารย์ของเรา ที่เป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นพระอรหันต์ที่เราเชื่อกันอยู่นี่ หลวงปู่ชอบเราก็เชื่อว่าเป็นพระ-อรหันต์ หลวงปู่ขาว ครูบาอาจารย์ เราเชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น แต่ไปอ่านประวัติต้นๆ ของท่านสิ ประวัติเริ่มต้นของท่าน ท่านก็กลัวผีเหมือนกัน ท่านกลัวผี แต่ท่านก็เป็นพระอรหันต์หมดแล้วนะ มันเป็นเพราะอะไรล่ะ เพราะท่านก็ดัดแปลงตน ดัดแปลงตัวเองมาไง

ฉะนั้น บอกว่า ถ้ากลัวผี กลัวผี จะทำอย่างไร” เราบอกว่าสิ่งใดที่เป็นความกลัว มันก็เหมือนเราคือว่าความไม่ประมาทไง เราไม่ประมาท เราคิดของเรามันก็มีวิตกกังวลไปหมด มันก็เกิดความกลัว พอเกิดความกลัวมันก็ต้องอาศัย อาศัยสติปัญญา เวลาอาศัยสติปัญญา เวลาเราภาวนาเวลาของเรา ครูบาอาจารย์ที่เราภาวนาก็กลัวเหมือนกัน นี้เวลากลัวผีท่านมีสติปัญญานะ เรากลัวผีแต่ข้างนอก แล้วผีตัวนี้ล่ะ จริงๆ จิตวิญญาณเราก็เป็นผี อ้าวเราก็เป็นผีตัวหนึ่ง ทำไมไม่กลัวผีตัวนี้ล่ะ ทำไมกลัวผีตัวนอกล่ะ

มันมีเรื่องขำๆ ในนิยายจีนเยอะแยะไปหมดเลย ถ้าพ่อแม่ตายแล้วอย่าไปวัดนะ กลัวผี เพราะอะไร เพราะความคิดของเขาไง ความคิดของคนยังมีชีวิตอยู่ใช่ไหม เขากลัวผี เวลาเขาตายไป เขาคิดว่าซากศพก็ยังเป็นเขาอยู่ เขาบอกว่าเวลาเขาตายแล้ว อย่าเอาศพไปวัดนะ อย่าเอาศพไปเผานะ เขากลัวผี นี้มันเป็นเรื่องตลก เห็นไหม แต่ความจริงพอจิตนี้ออกจากร่างไปแล้ว ไอ้ซากศพใครๆ ก็กลัว ใครๆ ก็เอาไปเผาทิ้งทั้งนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ฉะนั้น บอกว่า ถ้าเรามีสติปัญญา ถ้าเรากลัวผี ผีคืออะไรล่ะถ้าเป็นจิตวิญญาณ ถ้าเป็นจิตวิญญาณแล้วจิตวิญญาณเราล่ะ เราก็มีจิตนะ เราก็มีจิตวิญญาณของเรา เวลาจิตวิญญาณออกจากร่างไปโดยที่ว่าเขามีบาปอกุศลของเขา เขาไปเกิดเป็นสัมภเวสี เขาไปเกิดเป็นผีเป็นเปรตต่างๆ เห็นไหม เขามาขอส่วนบุญของเขา

ถ้าเป็นญาติของเราล่ะ เวลาญาติของเรานะ หลวงตาท่านเคยเทศน์ไง เวลานั่งในสำรับ เวลาเรากินข้าวกัน ถ้าคนเขามองเห็น บางคนมองเห็นญาติของเขา มองเห็นต่างๆ นั่นไง เขาขอมากินร่วมด้วยไง แล้วถ้าคนไม่รู้ก็ตกใจ แล้วถ้าตกใจแล้วเกิดถ้าเราตายไปล่ะ เราหิว เรากระหาย เราก็อยากจะมาขอบ้างไหม” นี่ไง ท่านให้คิดแบบนี้ไง ถ้าคิดแบบนี้ ฝึกหัด ฝึกหัดของเรา

ถ้าฝึกหัดของเรานะ มันมีอยู่ในปฏิปทาหลวงปู่มั่น เวลาพระไปธุดงค์ แล้วไปปักกลดอยู่ในป่าช้า พอปักกลดอยู่ในป่าช้า กลัวผี กลัวมาก นั่งหลับตาอยู่นะ กลัวมากเลย เสียงกุกๆ กักๆ อู้ฮูตกใจจะช็อกตายเลย แต่บังเอิญมีสติ ยับยั้งตั้งสติไว้ แล้วลองดูซิว่านี่เสียงมันเป็นผีจริงหรือเปล่า มันดังตั้งแต่ไกลๆ มันก็เข้ามาเรื่อยเลย เสียงเดินเข้ามาใกล้อยู่เรื่อย อู้ฮูผีมันจะมาถึงตัวเราแล้ว” พยายามฝืนใจตัวลุกขึ้นเปิดตามองมันหน่อย ลืมตามองขึ้นมาแล้ว โอ้โฮมันเป็นหมา

พอมันเป็นหมา มันคิดขึ้นมาเลยนะ เราเป็นพระทั้งองค์นะ เราสู้หมาไม่ได้ หมามันไม่กลัวผีเลย หมามันหาเศษอาหารกินของมันมาเรื่อย มันเดินมาตั้งแต่ไกลเลยนะ ไอ้เราก็คิดว่าผี ผี ตกใจเกือบตาย บังคับตัวเองให้ลืมตาตื่นไปมองมัน พอมองไปเห็นเป็นหมาอย่างนี้มันธรรมสังเวช มันสลดใจ เรานี่เลวกว่าหมา บวชมาเป็นพระนะ เป็นมนุษย์ เป็นคน แล้วบวชมาอยู่ในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า เป็นพระที่ไร้สาระ เป็นพระที่ขี้ขลาด เป็นพระที่ใช้ไม่ได้

มันฟื้นมาแล้วความกลัวมันจะเริ่มหายไปนะ วันหลังถ้ามีเสียงกุกๆ กักๆ ลืมตาดูก่อน มีเสียงอะไรต้องพิสูจน์ก่อนว่าใช่หรือไม่ใช่ ไม่ใช่ตกใจกลัวไปก่อน มีเสียงอะไรก็กลัวคิดว่าผี คิดว่าผี คิดว่ามันหลอก พอจิตมันหลอก เห็นไหม มันคิดของมัน แต่เราจะบอกว่าพื้นฐานของมนุษย์ สัญชาตญาณของมนุษย์ ความกลัวมันมีโดยธรรมชาติของมัน พอมีโดยธรรมชาติของมัน เราจะพูดอย่างนี้ เราจะพูดถึงบอกว่าเหมือนต้นไม้ ต้นไม้ เวลาปลูกต้นไม้ด้วยกล้าไม้ เห็นไหม พอปลูกไป ดูแลไป มันจะเป็นต้นไม้ใหญ่ขึ้นมา มันจะเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร มันจะเจริญเติบโตเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ ของนก ของกา เห็นไหม แต่มันก็จากกล้าไม้

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เราเป็นคนนะ เราเกิดมาเราเป็นทารก เรามีพ่อมีแม่นะ โตขึ้นมา กว่าจะโตขึ้นมาเราก็มีความคิดอย่างนี้แหละ ทุกคนมีความคิดอย่างนี้ทั้งนั้น ปฏิบัติใหม่ๆ เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น พอปฏิบัติใหม่ๆ ดูสิ พระบวชใหม่ยังกลัวเลย ธุดงค์ไปเราจะไปเจออะไรบ้าง เข้าป่าไปเราจะไปประสบอะไร มันวิตกวิจารไปหมดล่ะ แต่พอมันไป พอมันไปแล้วไม่เห็นมีอะไร แล้วพอไม่เห็นมีอะไรปั๊บ พอจิตมันดื้อขึ้นมา มันก็ต้องการที่มันเข้มข้นกว่านี้ ที่มันน่ากลัวกว่านี้ จะได้ทำสมาธิได้ เวลาพอจิตมันเข้มแข็งขึ้นมามันจะหาที่กลัวๆ มันต้องการชัยภูมิอย่างนั้น มันต้องการสถานที่ที่เราจะฝึกตน สถานที่ที่ฝึกตน แต่เริ่มต้น เริ่มต้นก่อนจะเป็นอย่างนั้น มันวิตกวิจารไปหมด

นี่พูดถึงความกลัว ถ้าเป็นความกลัว มันมีไง เราพูดอย่างนี้เพื่อจะแบบว่าไม่ใช่ว่าใครกลัวแล้วเป็นคนไม่ดี ใครกลัวแล้วคนนั้นเป็นคนใช้ไม่ได้ เราถึงยกครูบาอาจารย์ของเรา พระ-อรหันต์ ครูบาอาจารย์ก็กลัวมันทั้งนั้น เพราะเราอ่านประวัติหลวงปู่ชอบมา โอ้โฮท่านกลัวขนาดนี้เชียวหรือ เรายังไม่กลัวขนาดนั้นนะ เราก็กลัว แต่เราก็ไม่กลัวขนาดที่ว่าจะบังคับตนเอง

ในประวัติหลวงปู่ชอบ ท่านไปแล้วมันมีกระต๊อบไง ท่านก็โดดลงทางหน้าต่าง พอโดดลงไป เพราะมันกลัวมาก พอโดดลงหน้าต่าง ขึ้นไป นึกว่ามันจะไปภาวนา มันวิ่งขึ้นบันได จากหน้าต่างเข้ากุฏิอย่างเก่า สุดท้ายแล้วนะ หลวงปู่ชอบเป็นครูบา-อาจารย์ที่วงกรรมฐานเชิดชูมาก เชิดชูถึงความกล้าหาญของท่าน เชิดชูถึงความอดทนของท่าน เชิดชูเรื่องความเพียรของท่าน เวลาพูดถึงหลวงปู่ชอบ ครูบาอาจารย์นะ พระเราเวลาพูดถึงประวัติครูบาอาจารย์จะยอมรับมากเลย ท่านสมบุกสมบันมามาก เวลาไปไหนนะญาติโยมจะคอยเชิดชู กลัวท่านจะอดจะอยาก ให้เอาปลาร้าใส่ในไม้ไผ่ ทำเป็นไม้ไผ่ แล้วให้ปะขาวไปด้วย เดินวนป่า กลับมาเหลือเท่าเก่า โอ้โฮจนเป็นที่เลื่องลือ เป็นที่เคารพบูชาของสายกรรมฐานนะ แต่ประวัติเริ่มต้นท่านก็กลัวอย่างนั้น

ฉะนั้น เวลาเราจะมีความกลัวบ้าง ความกลัวอย่างนี้มันเป็นพื้นฐาน เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ แต่เราก็ต้องแก้ไขไง แก้ไขจนกว่ามันหายหมด พอมันหายหมดปั๊บ จะเข้าป่าช้า จะเข้าไปที่วิกฤติอย่างไร เข้าได้หมดเลย เราก็กลัว เมื่อก่อนกลัวเหมือนกัน แต่สุดท้ายแล้วไปธุดงค์ ก็ไปนอนในป่าช้านี่แหละ ไปนอนในป่าช้าจนคุ้นเคย พอคุ้นเคย ความกลัวก็เริ่มเบาลง เบาลง มันจะอยู่ที่ไหนก็อยู่ได้

ไอ้นี่คือความกลัวนะ แล้วเราจะบอกว่าอย่างนี้อีก บางคนบอกว่า เขาเคยมีความกลัวมาก แล้วเขาภาวนาจนเดี๋ยวนี้ไม่กลัวอะไรอีกเลย เพราะเป็นพระอรหันต์แล้วก็ไม่ใช่ เพราะความกลัวมันเกิดดับ ความกลัวมันเกิดดับนะ เวลากลัว กลัวจนขนหัวตั้ง เวลาใช้ปัญญาพิจารณาแล้วมันหายกลัวหมดเลย เราก็เป็นคนปกติอยู่นะ เป็นปุถุชนเหมือนเดิมนั่นแหละ

แต่ถ้าพูดถึงถ้าจะมีคุณธรรม มันต้องทำความสงบของใจเข้ามา พอใจสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าปัญญาในสติปัฏฐาน ๔ พิจารณาของมันไป เวลามันแยกมันแยะขึ้นไป ถ้ามันพิจารณาจนมันขาด นั่นน่ะมันจะเป็นคุณธรรมขึ้นมา จะเป็นคุณธรรมขึ้นมาด้วยมรรคด้วยผล

ไม่ใช่คุณธรรมแบบว่า มันเคยมีความกลัว เดี๋ยวนี้ไม่กลัวอีกแล้ว เดี๋ยวนี้ไม่กลัวอีกแล้ว ไม่กลัวเพราะอะไรล่ะ เดี๋ยวนี้ที่ไม่กลัวอีกแล้วมีปัญญามากน้อยแค่ไหนล่ะ เดี๋ยวนี้ที่ไม่กลัวอีกแล้วเราใช้ปัญญาอย่างไร แยกแยะของเราจนความกลัวมันหายไปแล้ว ความกลัวส่วนความกลัว แต่อวิชชาความไม่รู้สึกตัว ความไม่รู้จักกลัวหรือไม่กลัวนั่นน่ะ อันนั้นมันอยู่ในหัวใจอีก

ฉะนั้น ถ้าพิจารณา ต้องพิจารณาอย่างนี้ พูดถึงว่าการภาวนาสู้ความกลัวเนาะ ถ้าภาวนาสู้ความกลัวเพราะเขากลัว เขากลัวแล้วเขาไปหาที่เงียบๆ ไปหาที่เงียบ มันเลยคิดเยอะไปใหญ่เลย ถ้าคิดเยอะใหญ่เลยมันเป็นเรื่องถ้าอยู่ด้วยกัน เราก็ว่ามันจะคลุกคลี เราจะแยกออกไปอยู่คนเดียว พอแยกออกไปอยู่คนเดียว ความคิดมันจะฟุ้งเต็มที่เลย

ฉะนั้น ไอ้คนที่บอกโดยเทคนิคการภาวนาบอกว่าอธิษฐานไม่พูด ครูบาอาจารย์บอกว่าไอ้ที่ไม่พูด มันพูดมากกว่านี้อีก เพราะความคิดมันเกิด ไอ้นี่ปากไม่พูด แต่ความคิดมันคิดไม่หยุด ไอ้ความคิดไม่หยุด ทีนี้ไอ้ความอธิษฐานไม่พูดมันก็เป็นเทคนิคอันหนึ่ง ที่เป็นการหลบหลีก ว่าเราต้องไม่ไปคลุกคลีกัน แต่ถ้าไม่คลุกคลีกันแล้วมันก็เป็นวิธีการอันหนึ่ง วิธีการอันหนึ่งนะ แต่วิธีการมันไม่ใช่ผล ถ้าผลของมันคือการปฏิบัติได้มันถึงจะเป็นผล

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราจะวิเวกไป เราจะหาที่เงียบๆ มันคิดเยอะเข้าไปใหญ่เลย แล้วพอคิดเยอะเข้าไปใหญ่เลย เขาทำทั้งวัน วันหนึ่ง ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง ก็ฝึกหัดอย่างนี้ ทำความสงบของใจเข้ามา พอใจสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา พอมันไล่เข้ามา ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ มันเห็นจิตของตนเอง จิตเห็นอาการของจิต พอจิตเห็นอาการของจิตไอ้ความกลัวมันจะเริ่มเบาลง เบาลงไง เพราะมันจะไปเห็นจิตของเราเอง ไปเห็นตัวตนของเราเอง แล้วมันมีความสุขๆ มันมีความเจริญของมัน

พอจิตมันสงบ อย่างว่าคนที่ไม่เชื่อศาสนา คนที่ไม่มั่นคงในศาสนา พอจิตมันสงบเข้ามาแล้วมันมั่นคงแล้ว มั่นคงเพราะเห็นพุทธะๆ เห็นพุทธะมันก็เห็นพุทธะที่มันจะพัฒนาไปได้ ถ้าเห็นพุทธะพัฒนาไปได้ พอพัฒนาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป เป็นอริยบุคคล คำว่า อริยบุคคล” อริยบุคคลมันเหนือปุถุชนไง มันเหนือกับหัวใจที่มันเร่ร่อนที่มันควบคุมไม่ได้ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายเดี๋ยวคิดน้อยคิดมากอยู่อย่างนั้น แต่พอพิจารณาไปเป็นอริยบุคคลขึ้นมาไม่ลูบไม่คลำ ไม่สีลัพพตปรามาสไม่ลูบไม่คลำในหัวใจของตน ไม่สงสัยในความคิด ไม่สงสัยเรื่องผี ไม่สงสัยทั้งสิ้นเพราะมันรู้แจ้ง พอรู้แจ้งมันจบ

ถ้ามันพิจารณาของมันไป ถ้ามันพิจารณา เวลาบอกว่า แล้วเขาจะทำอย่างไรต่อไป เขาทำอย่างไรต่อไป” อย่างที่เขาทำอยู่นี่ เห็นไหม กำหนดพุทโธวันละ ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง พอ ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง จิตมันสงบแล้ว ความกลัวมันคืออะไร ความกลัวมันก็เหมือนความกลัวเป็นอารมณ์อันหนึ่ง แล้วความกลัวจะไปจับมันที่ไหน มันต้องกลับมาที่เหตุไง

เวลาอริยสัจของพระพุทธเจ้า เห็นไหม ทุกข์ควรกำหนด ไอ้เราก็เบื่อทุกข์ เกลียดทุกข์ เกลียดไปหมดเลย จะดับทุกข์แล้วดับอย่างไร ทุกข์มาจากอะไร ทุกข์มาจากสมุทัย ทุกข์มาจากตัณหาความทะยานอยาก เพราะตัณหาความทะยานอยากมันถึงให้ผลเป็นทุกข์ แล้วเราก็ไปจับที่ทุกข์ ที่ทุกข์ มันปลายเหตุ ต้นเหตุมันคือความไม่รู้ ต้นเหตุมันคือความหลงใหลไง

นี่กลัวมันกลัวอะไร ไอ้ที่กลัวจะไม่กลัวอะไรเลย ไม่กลัวอะไรแล้วไม่มีเหตุมีผลมันจะอยู่ได้อย่างไร แต่ถ้ามันพิจารณาของมันไปแล้ว พอมันถึงธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เราพิจารณาถึงเหตุ ถึงต้นเหตุถึงสิ่งที่มันเกิดจากจิต สิ่งที่มันเป็นไปแล้วจบหมด แล้วไอ้ความกลัวก็คือไม่เกี่ยว เห็นไหม ทุกข์ดับ ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ถ้ามันละ มันละที่นี่

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เขาจะทำอย่างไรต่อไป ทำอย่างไรต่อไป” เราก็ภาวนาของเราต่อไปไง เพียงแต่ เพียงแต่ความกลัวผีกลัวอะไรมันฝังใจ พอมันฝังใจ มันจะเกิด พอมีสิ่งใดมันก็จะเข้าตรงนั้นน่ะ แต่ถ้าเราพิจารณาของเราไปแล้ว ถ้ามันดีแล้ว ตรงนั้นมันไม่ไปคิดถึง มันก็จบ คือมันจบคือมันจบไปไง ไม่ใช่จบแล้วมันต้องมาแก้ไข

ฉะนั้น ว่า ความกลัวมันเกิดดับ อารมณ์ความรู้สึกของคนมันเกิดดับ แต่อริยภูมิ คุณธรรม เกิดจากการกระทำ เกิดจากการพิจารณา เกิดจากการใช้สติปัญญาของเรา” ถ้าใช้ปัญญาของเรา มันต้องเป็นภาวนามยปัญญา มันต้องเป็นอริยสัจ มันต้องเป็นความจริง

มันไม่ใช่เกิดจากสัญญา เกิดจากการคาดหมาย เกิดจากจินตนาการ เกิดจากการขี้โม้ วันๆ มีแต่โม้ แล้วมันจะไม่ได้อะไร ไม่ได้อะไรหรอก ถ้าเป็นจริงๆ มันต้องเป็นจริงขึ้นมา เป็นจริงขึ้นมามันเป็นจากภายใน แล้วเป็นจากภายใน เห็นไหม เป็นจากภายใน เป็นจากศีล สมาธิ ปัญญาในหัวใจของเรา ถ้ามันทำได้อย่างนั้น มันจะเป็นประโยชน์อย่างนั้น นี่พูดถึงว่า จะแก้ความกลัวอย่างใด” ถ้าแก้ต้องแก้อย่างนี้ ถ้าแก้อย่างนี้ มันก็เป็นผลของเรา จบ

ถาม เรื่อง วัดสาขา

หลวงพ่อ เขาถามเนาะ วัดสาขา

ถาม วัดสาขาของหลวงพ่อมีจังหวัดไหนบ้างครับ อีสานมีไหมครับ

ตอบ วัดสาขา กรณีอย่างนี้ คำว่า สาขา” คำว่า ต่างๆ” มันก็เป็นเรื่องความเข้าใจของภาษาพูด ภาษาโลกเนาะ ถ้าเราบอกเป็นวัดสาขา วัดสาขา จริงๆ แล้วเราก็เขินๆ เหมือนกันนะ ใครเป็นเจ้าของ แม้แต่วัดนี้ยังไม่มีใครเป็นเจ้าของเลยเนาะ วัดนี้ เห็นไหม เป็นเจ้าอาวาส ใครเป็นผู้นำ เวลาสิ้นชีวิตไป เขาก็ต้องประชุมสงฆ์ ตั้งคนใหม่ขึ้นมา มันเป็นสาธารณสมบัติ มันเป็นสมบัติของศาสนาไง มันเป็นสมบัติของศาสนา

ดูสิ ตั้งแต่สมัยโบราณมา วัดร้าง วัดร้างเยอะแยะไปหมดเลย เวลาสังคมล่มสลายไป เป็นวัดเป็นวามันก็เลิกกันไป กลายเป็นที่ดงที่ป่า ที่ดงที่ป่า เห็นไหม แล้วเวลาพอมาใหม่เราก็มาจับจองที่กัน แล้วก็ขออนุญาตสร้างขึ้นมาเป็นวัด เป็นวัดก็เป็นสมบัติของชาติ สมบัติของศาสนา ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเป็นวัดสาขา วัดสาขา พูดไปแล้วมันเหมือนกับว่ามีใครเป็นเจ้าของ มีใครไปถือสิทธิ์ แต่ความจริงก็ใครที่มีอำนาจวาสนาบารมี มีกำลังขึ้นมา มันก็ส่งเสริมช่วยดูแล ช่วยอุปถัมภ์ค้ำชู จนขึ้นมาเป็นที่พักสงฆ์ เป็นวัดเป็นวาขึ้นมา เพื่อให้บริษัท ๔ ได้พึ่งพาอาศัยไง

ฉะนั้น สิ่งที่เราทำ เราก็ทำเพื่อเหตุนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่ไปยึดว่าเป็นของใคร แต่แต่ที่เวลาไปทำแล้ว ทำแล้วขึ้นมา เห็นไหม ในหมู่ของพระใช่ไหม ในหมู่ของสงฆ์ ในหมู่ของสงฆ์ก็อยากจะได้สงฆ์ดีๆ ขึ้นมา มันก็เข้าไปช่วยควบคุมดูแลพฤติกรรมของพระ ในการปฏิบัติของพระก็เท่านั้น ส่งเสียดูแลเขา เราจะไปสั่งสอนเขา ไปดูพฤติกรรมเขา โดยที่เราไม่ได้ค้ำชูเขา ใครเขาจะฟัง เขาจะฟังเราต่อเมื่อเราไปค้ำชูเขา เราคอยดูแลเขา เราส่งเสียเขา จะทุกข์จะยากเราดูแลเขา

ดูแลอย่างที่หลวงตาท่านพูด ดูแลทั้งภายนอก ภายใน” ภายนอกก็เครื่องอาศัย เครื่องดำรงชีพต่างๆ เราก็ดูแลเขา แล้วถ้าภายใน ภายในก็คุณธรรมไง ภายในก็ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเขาไม่ลงใจเขาก็ไม่ฟังหรอก แต่ถ้าเขาลงใจ เห็นไหม เขาลงใจว่าครูบาอาจารย์พูดสิ่งที่เขารู้ไม่ได้ ครูบาอาจารย์ชักนำสิ่งที่ให้เขาดีขึ้น เขาก็จะเชื่อฟัง ถ้าเชื่อฟังวัดนั้นมันก็เป็นวัดที่สมบูรณ์แบบ วัดนั้นก็เป็นวัดที่น่าเลื่อมใสศรัทธา ไม่ใช่สร้างขึ้นมาแล้วเป็นที่อยู่ของ ไม่อยากพูด เดี๋ยวลงลึก ไม่ดี

ฉะนั้น วัดสาขา วัดสาขา มีอยู่ทางนี้ เขาถามว่า วัดสาขาของหลวงพ่อมีจังหวัดไหนบ้าง” มันมีจังหวัดประจวบฯ ราชบุรี เมืองกาญจน์ อุทัยฯ อีสานมีไหมอีสานจวนๆ เขายกให้หลายที่ ที่เขาใหญ่มีคนมาให้ ๒ ที่ มีที่เขาใหญ่ มีพระองค์หนึ่ง พี่ชายเขา มันเป็นเกาะ อยู่ที่วังน้ำเขียว บอก ๒๐๐ กว่าไร่ เราบอกว่ามันไม่ไหว มันเป็นภาระเกินไป แล้วก็เขาใหญ่อีกที่หนึ่ง ของโยมเขาไปซื้อที่เป็นมอ ๓ มอ เขาให้เรามอหนึ่ง เราก็ไม่ไป ก็ดี ไม่โดนยึด ถ้าไปป่านนี้มานั่งเสียดายน่าดูเลย แล้วทางสกลฯ พระที่นี่แหละไปสร้างวัด แล้วมาพูดอยู่ เราเห็นมันไกลเกินไป เราดูแลไม่ไหวหรอก

ฉะนั้น ทางนู้น เวลาหลวงตาท่านพูดไง ศูนย์กรรมฐานส่วนใหญ่อยู่อีสาน เราก็คิดว่าเขาก็มีพรรคมีพวกเยอะไง มันก็ควรดูแลกันได้ แต่ทางนี้ ทางนี้ส่วนใหญ่แล้วถ้าคนไม่มีหลักนะ เพราะคนถ้าไม่มีหลักมีเกณฑ์สังคมมันบีบคั้นไง สังคมเขาต้องการให้พระเป็นอยู่ในแนวทางที่เขาคิด ถ้ากรรมฐานมันเหนือโลก เหนือโลกคือว่าเป็นอิสระ มันไม่อยู่ในการควบคุมของใคร ถ้าไม่มีบารมีนะ ทรงข้อวัตรไว้ไม่ได้หรอก

มีพระมาอยู่แถวนี้ เขาบอกเลย เวลาไม่สวดมนต์ ไม่พาหุงฯ เขาไม่มาใส่บาตรเลย เพราะกรรมฐานเราบิณฑบาตเป็นวัตรไง แล้วพอเขาไม่ใส่บาตร เขาก็พูดด้วย เสียดสีเลย วัดเศรษฐี ไม่ใส่บาตร ไม่รับรู้ ให้วัดสร้างกันไปเอง ถ้าเป็นอย่างนั้นนะ โยมเขาประชดประชันไง แต่ถ้าเขาเข้าใจได้นะว่า ธุดงควัตรเขาต้องบิณฑบาตเป็นวัตร ถ้ามีการสื่อสาร มีการเข้าใจนะ เขาจะสาธุเลย แต่ส่วนใหญ่แล้วมันเป็นวัฒนธรรมไง

ทางภาคกลาง เวลาวันพระวันโกนต้องตั้งบาตร ต้องสวดมนต์ มีพระแถวนี้มาเล่าให้ฟังอยู่ เราถึงพยายามคิดว่าวาสนาของคนนะ คือพระองค์นั้นมีความมั่นคงมากน้อยแค่ไหน ถ้าพระองค์นั้นไม่มีความมั่นคง เวลาเข้าไปอยู่ในสังคมใด สังคมนั้นจะชักนำให้สมความพอใจของเขา แล้วถ้าพระองค์ไหนมีหลักมีเกณฑ์นะ ฝืน ฝืนคือพยายามทรงข้อวัตรปฏิบัติถ้าฝืนได้ ถ้าเขาเห็นดีเห็นงาม เขาก็คล้อยตาม ถ้าเขาไม่ได้เห็นงาม เขาก็ตัดทิ้ง เขาก็ไปสิ่งที่เขาพอใจ นี่พูดถึง อำนาจวาสนาบารมีของคนที่จะไปสร้างวัดสร้างวา มันก็ต้องมีเหมือนกันนะ

ฉะนั้น เราโดนมามากกว่านี้ เราโดนมาอุกฤษฏ์มาก สละชีวิตหลายที แต่เพราะก็เชื่อในศาสนา เชื่อในพระพุทธเจ้า ทำดีต้องได้ดีไง ของเรานี่หนักมาก ฉะนั้น พออย่างนั้นปั๊บ เราถึงเข้าใจ เข้าใจว่าอำนาจวาสนาบารมีอย่างไร แล้วเวลาที่มีวิกฤติไม่มีใครเห็นหรอก ไม่มีใครเห็นเพราะอะไร เพราะคนเขาจะทำไม่ดี เขาไม่ทำให้เรารู้หรอก ฉะนั้น ไอ้คนอยู่ข้างๆ ไม่เห็นมีอะไร ไม่เห็นมีอะไร ไม่เห็นมีอะไรก็มันไม่เห็นก็จะมีอะไรล่ะ ก็มันไม่โดนน่ะ มันไม่ใช่คนโดน มันก็ไม่มีอะไรน่ะสิ ไอ้คนโดนเขาก็รู้ของเขา แต่มันก็เป็นสิ่งที่ปัญหาสังคมไง นี่พูดถึงว่าวัดสาขาเนาะ

ฉะนั้น ว่า ทางอีสานไม่มี เรามีอยู่แถวนี้ มีอยู่ ๓ ๔ จังหวัด เพราะเราคิดว่าอย่างป่าภาคตะวันตกไง เรามีตั้งแต่ประจวบฯ เพชรบุรีไม่มีเนาะ มีประจวบฯ มีราชบุรี มีเมืองกาญจน์ สุพรรณ อุ้ยไม่ได้ มันก็อุทัยฯ ภาคตะวันตก เพราะเรามา เราก็คิดว่าภาคตะวันตกเป็นป่า แล้วมันเป็นที่สมควรที่จะปฏิบัติ เราถึงได้มามีความคิดแบบนี้ แล้วทำเสร็จแล้ว แล้วตอนนี้อายุเราเกือบ ๗๐ แล้ว เราจะบอกว่าเราใกล้ตายแล้ว ไอ้ที่ทำๆ ไว้มันก็เป็นสมบัติของชาติ เราใกล้ตายแล้ว พอตายแล้วก็จบ

นี่พูดถึงวัดสาขาเนาะ คือไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ติดมันหรอก เพราะเดี๋ยวพอเราตายไปแล้ว พระเขาก็จะหาผู้นำใหม่ ตั้งผู้นำใหม่ของเขาขึ้นมา มันเป็นสมบัติของชาติไง เราถึงบอกว่า คำว่า วัดสาขา” พูดแล้วมันเขินๆ ไม่ใช่สมบัติของใครทั้งสิ้น

หลวงตาท่านทำคุณงามความดีให้ชาติไว้มาก แล้วท่านนิพพานไปแล้ว ไอ้เราก็ทำคุณงามความดีไว้ให้ชาติ แล้วเราก็ต้องตายไป ไม่เป็นของใครทั้งสิ้น เป็นของชาติ จบ

ถาม : เรื่อง ผู้ครองเรือนกับการปฏิบัติ

กราบถามพระอาจารย์ที่เคารพครับ ถ้าเราต้องอยู่ในเพศครองเรือน และมันจะต้องมีกิจกรรมระหว่างสามีภรรยา แต่เราก็อยากจะปฏิบัติภาวนาให้ก้าวหน้าไปด้วย เราควรทำอย่างไรดีครับ เราควรที่จะฝืนเลิกมีกิจกรรมระหว่างสามีภรรยาลง หรือว่าเราจะต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของมันครับ ถ้าพระอาจารย์เห็นว่าคำถามผมไม่เหมาะสม พระอาจารย์ลบคำถามผมไปเลยครับ กราบขอบพระคุณ

ตอบ : เพราะว่านี่มันเป็นปัญหาโลกแตกไง ถ้าปัญหาโลกแตก เห็นไหม ถ้าเขาแบบว่าเขามีภรรยาของเขา เขาอยากประพฤติปฏิบัติของเขา แล้วถ้าบอกว่าต้องมีกิจกรรมระหว่างสามีภรรยาหรือไม่ ไอ้ข้อนี้นี่แหละมันจะเป็นเรื่องของบ้านแตก

คำว่า บ้านแตกนะ” ตอนนี้ เห็นไหม คนเราแม้แต่เป็นพระ เป็นพระสัปปายะ ๔ ครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ หมู่คณะเป็นสัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ นี่ว่าระหว่าง ๒ คนเป็นสัปปายะหรือไม่ คนคนหนึ่งคิดอย่างหนึ่ง อีกคนคนหนึ่งคิดอย่างหนึ่ง เดี๋ยวมันมีปัญหากันไง ก่อนที่จะไม่มีปัญหาต้องคุยกัน เข้าใจกันก่อน ถ้าไม่เข้าใจกันก่อนนะ โอ้เราจะไม่มีกิจกรรม อีกฝ่ายคิดเลย ไม่มีกิจกรรมกับฉัน ไปมีกิจกรรมคนอื่นใช่หรือไม่ มีกิ๊กหรือเปล่า โอ้โฮบ้านแตกแล้วกันแหละ

ฉะนั้น ถ้าจะมีกิจกรรมหรือไม่มีกิจกรรมกัน” ก็ต้องคุยกันให้มีความเข้าใจก่อน ว่าฉันจะปฏิบัติธรรมนะ ฉันจะนั่งสมาธินะ ถ้ามีกิจกรรมหรือไม่มีกิจกรรม ไอ้กรณีนี้มันอยู่ที่คุยกันเข้าใจ ถ้ามันเป็นแบบเขาเรียกว่า ถ้าเป็นบัณฑิตคุยกันเข้าใจ แต่เรื่องอย่างนี้มันเข้าใจกัน ถ้าภาษาเรานะก็เป็นกรรมเก่ากรรมใหม่ ถ้าเป็นเวรเป็นกรรมมันระแวง ถ้ามันเป็นเวรเป็นกรรมมันมีแต่ความวิตกระแวง เขาพูดดีอย่างไรก็ไม่เชื่อหรอก แต่ถ้ามันมีบุญกุศลกันมานะมันไม่ระแวง เราอยู่ด้วยกันมา เรารู้สิว่าซื่อสัตย์ ไม่ซื่อสัตย์ เรารู้อยู่แล้วว่าเขาจริงจังกับเราหรือไม่จริงจังกับเรา

ฉะนั้น คำพูดมันก็ต้องมีน้ำหนักบ้างสิ แต่ถ้ามันไม่ไว้ใจมันระแวง พูดอย่างไรมันก็ไม่เชื่อหรอก พอพูดแล้วยิ่งทีแรกก็ไม่ระแวงนะ พอไปปรึกษาเข้า ยิ่งระแวงใหญ่ โอ้โฮยิ่งบ้านแตกเลย กรณีนี้มันเป็นเรื่องของเวรกรรม แต่ถ้าไปเจอคู่ภรรยาที่ดีเข้าใจเหมือนกัน เขาจูงมือกันไปวัดนะ จูงมือกันไปวัด จูงมือไปปฏิบัติ จูงมือกันไปสิ่งที่ดีๆ แต่ถ้ามันระแวง ถ้าส่วนใหญ่ระแวง เราว่าอย่างนั้นเลย เพราะสังคมเราอยู่กับครูบาอาจารย์มา เรื่องระหว่างสามีภรรยาตามไปที่วัด ตามไปถึงวัด ไปเรียกกลับ เราเจอมา

แต่อย่างที่ว่า สามีภรรยาชวนกันไปวัดก็มี แล้วอย่างนี้ยิ่งหายากใหญ่ อย่างเช่น พ่อแม่ลูกมาด้วยกัน อู้ฮูยยิ่งยาก แล้วลูก เห็นไหม ลูกมันคือวัยรุ่น วัยรุ่น เด็กๆ พามาวัดมันมาทั้งนั้น ลองซักสิบกว่าขวบสิมันจะไปเที่ยว อ้าวไปเอามันมาเดี๋ยวมีเรื่อง แม้แต่พ่อแม่เอาลูกมาวัดมาพร้อมกัน การที่ครอบครัวเข้าใจกันแล้วมาวัดพร้อมกัน นั้นคือบุญอย่างยิ่งนะ ถ้ามันมาวัดได้ อยู่บ้านก็มีความเข้าใจกัน ถ้าอยู่บ้านมีความเข้าใจกัน เสร็จงานแล้วอยากกลับบ้าน ถ้าในบ้านเราไม่เข้าใจ เสร็จงานแล้วเคว้งคว้างเนาะ ไม่อยากกลับบ้าน ถ้าไม่อยากกลับบ้านมีปัญหาแล้ว นี่ความอบอุ่นนะ

เขาถามเรื่อง กิจกรรมสามีภรรยา” แต่เราพูดเรื่องนี้ เราพูดเรื่องนี้เพราะมันเป็นปัญหาครอบครัว แล้วปัญหาครอบครัว เห็นไหม ฉะนั้น เวลาปัญหาครอบครัว เราไม่ได้พูดเพื่อให้ทุกคนมาวัดนะ เดี๋ยวเสร็จแล้วโอ้ไปหาหลวงพ่อดีกว่า มีเกราะกำบัง ไม่ใช่ถ้ามันเป็นปัญหาครอบครัว แล้วมันเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรม ถ้าเรื่องเวรเรื่องกรรมเพราะมันมีกรรมเก่ากรรมใหม่ไง

ฉะนั้น เวลากรรมเก่า กรรมใหม่ แล้วเวลาพวกนักวิทยาศาสตร์ เขาพูดเหยียดหยามศาสนา อะไรๆ ก็ยกให้กรรม อะไรก็กรรม ไม่มีเหตุมีผลเลย อะไรก็ยกให้กรรม ไอ้กรรมมันเป็นอจินไตยไง แล้วกรรมเป็นอจินไตย มันจะพิสูจน์กันอย่างนั้นอย่างไร พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ก็พิสูจน์มาสิ สวรรค์ตรงไหน นรกตรงไหน ว่ามา อะไรก็กรรม กรรม

กรรมมันก็คือจริตนิสัย กรรมก็คือความชอบในหัวใจ แล้วกรรมมันกรรมเก่ากรรมใหม่ มันกรรมที่สร้างมา พอกรรมที่สร้างมาถึงเวลาต้องมาชดใช้ ว่าอย่างนั้นเถอะ ถึงเวลาจะมาชดใช้ มันจะเกิดมาเป็นเบี้ยล่างแล้วก็ชดใช้กันอยู่อย่างนั้น จนกว่าจะหมดเวรหมดกรรม ก็เฮ้อไปเถอะ ต่างคนต่างไป จบ ถ้าไม่เฮ้อมันยังต้องชดใช้ไปไง มันชดใช้ตรงไหนล่ะ ชดใช้ตรงมันผูกพัน นี่เรื่องกรรม

นี้เวลามันผูกพัน เห็นไหม แต่ถ้ามันกรรมใหม่ กรรมใหม่เราก็สร้างคุณงามความดีของเรา เราเป็นคนดีอยู่แล้ว แล้วเป็นคนดีอยู่แล้วมันเหมือนกับอะไรนะ เหมือนกับสิ่งที่ว่ากดขี่กัน มันเหมือนการกดขี่ มันเหมือนกับความไม่เป็นธรรม โลกจะมองอย่างนั้นไง โลกจะมองว่ามันไม่เป็นธรรม ความเป็นธรรมต้องเสมอภาค เสมอภาคนะ

สมัยเลิกทาส ทาสมันไม่อยากออกไป เพราะทาสมันหากินไม่ได้ ทาสอยากมีนายทาส อยู่กับนายทาสมีความสุขกว่า แล้วเราบอกว่าต้องเสมอภาคๆ พอเลิกทาส ทาสหากินไม่เป็น ทาสประกอบอาชีพไม่เป็น ทาสไปทำอย่างไร ถ้าทาสเขาพอใจของเขาเพราะความเป็นอยู่ไง แต่ถ้าความเป็นธรรม เป็นธรรมต้องเสมอภาค ต้องทุกอย่างหมด ต้องเท่ากันหมด ใช่โดยวิทยาศาสตร์ เราก็ต้องมนุษย์เหมือนมนุษย์

เราพูดบ่อย พระพุทธเจ้ายิ่งสุดยอด พระพุทธเจ้าให้ทุกคนเสมอกัน ในพระพุทธศาสนา ดูสิ ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้วให้ผู้หญิงบวช มีศาสนาไหนให้บวชบ้าง ไม่มีหรอก ในสมัยปัจจุบันนี้ ผู้หญิงยังเป็นสิทธิของผู้ชายเลย มีแต่พระพุทธศาสนานี้เท่านั้น พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านี่สุดยอด พระพุทธเจ้ายิ่งกว่าเสมอภาค พระพุทธเจ้าภราดรภาพรู้ถึงกรรมเก่ากรรมใหม่เลย วางไว้ให้หมดเลย แต่สุดท้ายแล้วพระพุทธเจ้าก็แก้กรรมไม่ได้ไง กรรมก็คือกรรม

แต่พูดถึงว่า เวลาธรรมะที่พระพุทธเจ้าแสดงเสมอภาคหมด เท่ากัน แล้วทำได้เหมือนกัน ผู้หญิงก็เป็นพระอรหันต์ได้ ทุกอย่างเหมือนกันทั้งนั้น แต่เวลาจริงๆ แล้ว โอ้โฮเพราะเราอ่านพระไตรปิฎกนะ อ่านแล้วเศร้ามาก ภิกษุณีสมัยพุทธกาลไปธุดงค์ไปโดนทำมิดีมิร้ายไง มีภิกษุณีที่สวยมาก แล้วเขาบวชตั้งแต่วัยรุ่น นี้ผู้ชายมันมาชอบไง นักเลงหัวไม้มาชอบ ไปถามภิกษุณีว่า ภิกษุณีส้วยสวย ควรจะบวชเมื่อแก่ ควรจะใช้ชีวิตโลกก่อน” ภิกษุณีก็ถามนะ สวยตรงไหน” “สวยที่ตาหวาน” ภิกษุณีเอามือล้วงลูกตาให้เลย เป็นพระอรหันต์ เอามือนี่นะ ล้วงลูกตานะ ควักลูกตายื่นให้ผู้ชายไปเลย โอ้ยช็อกนะ

เวลาเขามีคุณธรรม อยู่ในพระไตรปิฎก ไปอ่านพระ-ไตรปิฎกนะ อ่านพระไตรปิฎกถึงเวรถึงกรรมถึงการกระทำกัน โอ้ยเศร้ามาก มันมีที่สามเณรน้อยไง สามเณรน้อยอุปัฏฐาก สามเณรน้อยเป็นพระอรหันต์แล้วอุปัฏฐาก อุปัฏฐากอาจารย์ของตน อาจารย์ของตนเป็นพระหลวงตา นี้พระถึงเวลาแล้วนอนร่วมกับอนุปสัมบันไม่ได้ ถึงเวลาก็ไล่ออกไปไง เอาพัดนี่ไล่ออกไป พัดนี่ไปเกี่ยวลูกตา ตาบอดเลย พอตาบอดก็ไล่ออกไป ก็ไปสิ” ก็ไป พอบอก กลับมา เณรกลับมาสิ” กลับมาไม่ได้ เพราะตาบอดมองไม่เห็นนะ

โอ้โฮอาจารย์ของตนเศร้าเลยนะ ก็แบบว่าตัวเองทำผิด ตัวเองเอาพัดไปพัดลูกตาของลูกศิษย์ตาบอด ลูกศิษย์เป็นพระ-อรหันต์ ไปขอโทษสามเณรน้อย สามเณรน้อยบอกไม่มีโทษหรอก มันเป็นผลของวัฏฏะ มันเป็นเวรเป็นกรรมไง กรรมเก่า โอ้ยหลวงตานั้นนะ อยู่ในพระไตรปิฎกจำชื่อไม่ได้ ร้อน ร้อนเป็นไฟเลย ร้อนเป็นไฟก็พาสามเณรน้อยไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าพยากรณ์อ่านพระไตรปิฎกนะ อ่านแล้วจับประเด็นนะ อู้ฮูเรื่องของโลก เศร้า มันธรรมสังเวช

โอ้โฮเขาถามเรื่องผัวเมีย ไปไหนเนี่ย เราจะบอกว่ามันเป็นเวรเป็นกรรมใช่ไหม ถ้าเป็นเวรเป็นกรรม กรรมที่ทำความเข้าใจกันได้ ถ้าทำความเข้าใจกันได้เราก็ปฏิบัติได้ ถ้าเราปฏิบัติได้ แต่การปฏิบัติเราควรคุยกันให้เข้าใจกันก่อน ถ้าคนไม่คุยเข้าใจกันก่อน มันก็จะมีปัญหาซ้ำปัญหาซ้อน ปัญหาที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว เราไม่สร้างปัญหาซ้ำปัญหาซ้อน ก็ค่อยคุยกัน มันอยู่ที่ประพฤตินิสัยเรานี่แหละ นิสัยของเราสองคนอยู่ด้วยกัน ถ้ามันไว้ใจกันได้ คุยอะไรกันก็เข้าใจกัน ถ้านิสัยของเรามันเป็นสิ่งที่ไว้ใจไม่ได้ คุยอย่างไรมันก็เข้าใจไม่ได้ ถ้าเข้าใจไม่ได้เราก็ปฏิบัติของเราพอที่ทำได้ไง

เราจะบอกว่า ทำได้มากได้น้อยแค่ไหน เราก็ควรทำทั้งนั้น เราเกิดมาเป็นคน เกิดเป็นคนมีสติสัมปชัญญะ เราต้องการคุณสมบัติ เวลาหาเงินทางโลก หาเงินแล้วฝากธนาคาร การประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันก็เหมือนกับการปฏิบัติมีศีล สมาธิ ปัญญา มันก็เป็นสมบัติของเรา ถ้าเป็นสมบัติของเรา เงินหามา ภูมิใจมาก เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาด้วยคุณธรรมมันไม่ภูมิใจยิ่งกว่าหรือ ถ้ามันภูมิใจยิ่งกว่า เราควรทำของเราไง

ในเมื่อเราเกิดเป็นมนุษย์ เรามีโอกาสทั้งนั้น คนที่นั่งๆ อยู่ทุกคนมีโอกาสหมด หาเงินก็ได้ หาความดีก็ได้ หามรรคหาผลก็ได้ ถ้าใครจะหาสิ่งใดก็หาสิ่งนั้น หาสิ่งนั้นเราก็รีบขวนขวายของเรา แล้วจะทำคุณงามความดีของเรา ถ้ามันมีอุปสรรค เราก็คุย เราก็พิจารณา เราก็เจรจา ถ้าทำได้มากได้น้อยขนาดไหน เราก็ทำของเรา ถ้าไม่ได้มากไม่ได้น้อยขนาดไหน ต้องโทษตัวเอง ไปมีภรรยาทำไมล่ะ เวลารักเขา รักเขาก็เอาเขามาแล้วๆ ก็ต้องดูแลเขา อ้าวก็ต้องแบ่งสิทธิครึ่งหนึ่งเป็นของเขา แบ่งของเราไป ต้องปฏิบัติได้แค่ครึ่งหนึ่ง ครึ่งๆ กลางๆ แต่ถ้าทำได้ก็ทำของเรา เห็นไหม

เพราะเขาบอกว่า เขาอยากปฏิบัติหรือว่าถ้าเราต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติครับ” สิ่งที่เป็นธรรมชาตินะ สิ่งที่ว่าถ้าปัญหานี้ของเขา ถ้ามันไม่เป็นปัญหา ปัญหานี้เป็นปัญหาทางโลก ปัญหาทางโลก เห็นไหม เพราะปัญหา ปัญหาทางสังคม ปัญหาทางโลกมีอยู่ทุกคน ถ้ามีอยู่ทุกคน เราเพียงแต่จะบอกว่าเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรม ถ้าเรื่องเวรเรื่องกรรมแล้วถ้าสำนึกได้ คิดได้ เราพยายามหาทางออกของเรา เราพยายามหา

ทางโลกเราก็อยู่กับโลก แล้วเราก็พยายามปฏิบัติของเรา ได้มากได้น้อยขนาดไหนนะ มันอยู่ที่คู่ อยู่ที่สามีภรรยาตกลงกันได้มากน้อยแค่ไหน ตกลงทำความดีมากน้อยขนาดไหน ถ้าเราจะไปตกลงกับเขา เกิดถ้าเขาบอกว่า อู้ฮูคิดอยู่ตั้งนานแล้ว โอ้โฮสุดยอดเลย เขาก็คิดอยู่แล้ว แต่ไม่กล้าพูดมาไง พอเราไปพูดขึ้นมา อู้ฮูจูงกันไปเลย อู้ฮูสุดยอด

แต่ถ้าไปพูดแล้วไม่เข้าใจ พูดแล้วมีปัญหาขึ้นมา ก็ค่อยๆ เจรจา ถ้าเจรจาไม่ได้ เราก็ต้องอยู่อย่างนั้นไปก่อน ใช้เวรใช้กรรม ให้หมดเวรหมดกรรม แล้วจะปฏิบัติดี เอวัง