ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

กิเลสโดยย่อ

๑๒ ก.พ. ๒๕๖o

กิเลสโดยย่อ

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : เรื่อง ความฝัน

กราบนมัสการท่านอาจารย์ครับ ครั้งล่าสุดที่ผมเขียนไปกราบเรียนถามท่านอาจารย์ ก็ผ่านมาหลายเดือนแล้วครับ ผมขออนุญาตทบทวนคำถามครั้งล่าสุดโดยย่อดังนี้ครับ

ครั้งนั้นผมได้พิจารณากายส่วนต่างๆ โดยเน้นไปทางด้านความสกปรกของร่างกายและส่วนต่างๆ ก็มักจะเกิดอาการอาเจียนอย่างรุนแรง และกลั้นไว้จนน้ำตาเล็ด จนทำให้ต้องหยุดพิจารณา เพราะเกรงว่าจะอาเจียนขณะเดินจงกรม ท่านอาจารย์ได้เมตตาตอบโดยย่อดังนี้ ให้ทำสมาธิให้จิตตั้งมั่นให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มกำลังของจิต แล้วก็พิจารณาต่อไป เพราะเมื่อสมาธิอ่อน กิเลสจะเข้าไปร่วมพิจารณาด้วย (สรุปโดยย่อประมาณนี้ครับ)

หลังจากนั้นผมได้ปฏิบัติตาม โดยทำสมาธิให้ตั้งมั่นมากขึ้น แล้วก็พิจารณาความสกปรกของร่างกาย สลับกันไปตามที่เคยปฏิบัติ ผลปรากฏว่าอาการที่จะอาเจียนนั้นค่อยๆ เบาลง จิตสามารถพิจารณาดูถึงความจริง คือความสกปรกของร่างกายได้มากขึ้น จิตใจขณะพิจารณามีอุเบกขามากขึ้น จนขณะที่พิจารณาหลายๆ ครั้ง น้ำตาจะซึมและไหลออกมาเอง หลังออกจากภาวนาก็ค่อนข้างเบากายใจ ไม่มีอาการกดดันร่างกายเหมือนครั้งที่ผ่านมา ครั้งที่จะอาเจียนแต่อย่างใดครับ

ผมจึงพิจารณาความสกปรกของร่างกายต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งคืนวันหนึ่งผมได้ฝันว่า ท่านหลวงปู่ชอบได้แสดงธรรมให้ผมฟังในเรื่องต่างๆ ไปเรื่อยๆ พอมาถึงตอนท้ายท่านบอกให้ผมพิจารณาอุจจาระ (ขออนุญาตใช้คำตรงกับความฝันครับท่านพูดว่า ขี้” ท่านบอกว่าให้ผมพิจารณาขี้ แล้วจิตจะสว่างไสวเหมือนดวงอาทิตย์ เมื่อผมเข้าใจดีแล้ว ผมฝันจนจบ ความฝันก็จบไป (ในชีวิตนี้ผมยังไม่เคยพบหลวงปู่ชอบองค์จริงในขณะที่ท่านครองธาตุขันธ์อยู่เลยครับ)

หลังจากนั้นผมได้มาพิจารณาความฝัน ก็เข้าใจว่า ขี้” ก็เป็นสิ่งสกปรกเน่าเหม็นที่อยู่ในร่างกาย ออกมาจากร่างกาย ผมจึงเริ่มพิจารณาตามนี้ครับ การพิจารณาก็ยังอยู่ในวงกายนี้ แต่ในบางจังหวะที่ใจสัมผัสเรื่องขี้ ก็จะจับขึ้นมาพิจารณา ทำสลับกันไปมากับกายส่วนอื่นอยู่อย่างนี้ครับ ผลปรากฏว่า เมื่อใดที่ผมพิจารณาเรื่องขี้ ใจจะมีอาการสะเทือนอย่างเห็นได้ชัด หลายๆ ครั้งพิจารณาไปปากถึงกับสั่นเอง น้ำตาไหลออกมาเอง จนเป็นลักษณะนี้แทบทุกครั้ง

ในการพิจารณากายส่วนอื่นๆ เท่าที่เคยพิจารณา ก็ไม่มีอาการสะเทือนใจขนาดนี้ เพียงแต่พิจารณาไปก็ราบๆ เรียบๆ ไปครับ แต่ก็มีบางครั้งพิจารณาฟันก็มีอาการน้ำตาไหลออกมาบ้าง แต่ก็ไม่เท่ากับการพิจารณาขี้ครับ อันนี้สะเทือนถึงใจ ชัดเจนทุกครั้งไปครับ หลังจากนั้นผมจึงเน้นพิจารณาขี้มาเรื่อยๆ แต่ร่างกายส่วนอื่นก็ยังพิจารณาอยู่ และมักจะฝันเกี่ยวกับขี้ คือฝันบ่อยๆ ครับ สลับกับฝันเกี่ยวกับกามราคะ ซึ่งค่อนข้างรุนแรง พอๆ กับฝันเกี่ยวกับขี้ครับ

ผมพิจารณาความฝันทำให้ผมรู้ว่า ผมยังแพ้ต่อเรื่องกามราคะมากๆ แต่ผมก็ไม่ยอมแพ้ ถึงจะแพ้บ้าง ชนะบ้าง ผมก็ยังสู้ต่อไปครับ ทุกวันนี้ก็เน้นพิจารณาความสกปรกส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเน้นพิจารณาขี้ และก็พยายามทำสมาธิให้ตั้งมั่นมากๆ ควบคู่กันไปครับ จึงเล่าถวายท่านอาจารย์มา หากมีสิ่งใดไม่ถูกต้อง ขอความเมตตาท่านอาจารย์ช่วยแนะนำสั่งสอนด้วยครับ และหากมีคำที่ไม่สมควร กราบขอขมาท่านอาจารย์ด้วยความเคารพ

ตอบ : อันนี้เวลาพูดถึงการภาวนา เห็นไหม มันจะสูงจะต่ำนั้นมันเป็นภาษา ภาษา ภาษาเวลาพูดกันด้วยมารยาท ด้วยมารยาทเขาก็พูดสิ่งที่ไม่ควรผิดมารยาท อันนั้นเป็นภาษาโลก แต่ถ้าภาษาธรรม ภาษาธรรมมันต้องพูดโดยชัดเจน

คำว่า ขี้” เห็นไหม ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง มันเป็นเรื่องธรรมดา ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบางทีท่านเทศน์ถึงบอก มนุษย์กินขี้” พอมนุษย์กินขี้แล้วตกใจเลย ใครกินขี้ อ้าวก็ขี้ดินไง อาหาร ผัก หญ้าเกิดจากดินทั้งนั้น ท่านบอก เราเกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์กินขี้” พอพูดอย่างนี้โกรธนะ โกรธ โกรธ อย่ากินผักนะ ห้ามกินอาหาร ข้าวก็เกิดจากดินทั้งนั้น มันเกิดจากดิน แล้วเวลาเขาให้ปุ๋ยต่างๆ มันก็เป็นเรื่องอย่างนั้น นี่พูดถึงภาษา ถ้าภาษาก็ส่วนภาษาไง

ถ้าภาษาแต่เวลาสื่อธรรมะ สื่อธรรมะมันสื่อผ่านภาษา หลวงตาถึงบอกว่าภาษามันแคบ สมมุติมันแคบไง ความรู้ ความเห็น ความสัมผัสของเรามันกว้างขวาง แล้วจะบีบคั้นลงมาให้เหลือแค่ภาษา นี้พอภาษาสมมุติมันแค่นี้เอง แต่ถ้าภาษาใจ เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์สั่งสอนเทวดานะ ภาษาใจคือภาษาความคิด ใจถึงใจก็นึกไง ไม่ต้องอ้าปาก ไม่ต้องพูด เวลาเทศน์สอนเทวดานั่นน่ะภาษาใจ ถ้าภาษาใจภาษาความรู้สึก อันนั้นกว้างขวางกว่า ฉะนั้น ถ้ามันเป็นภาษา ก็โดยมารยาท ไอ้เรื่องคำพูดนะ ถ้าคำพูดมันเป็นเรื่องของคำพูด

ฉะนั้น บอกว่า เรื่องความฝัน” ถ้าความฝัน ความฝัน เห็นไหม ความฝันของคน ถ้าคนที่ภาวนา บางคนจิตสงบแล้วสงบเฉยๆ สงบราบเรียบไป แต่ส่วนใหญ่เป็นสงบอย่างนี้ทั้งหมด แต่ถ้าเวลาสงบแล้วเห็นนิมิตต่างๆ นั่นก็เป็นจริตนิสัย นั่นมันเป็นนิสัยของเขา บางคนนอนไม่เคยฝันเลย ทั้งชีวิตไม่เคยฝัน เขาบอกคนนั้นเขาคุยกันเรื่องความฝัน ไอ้เรานั่งฟังตลกเนาะ ตลก เอ๊ะไอ้พวกนี้พูดเรื่องอะไรกัน เพราะเราไม่เคยฝันไง ไอ้คนฝันก็ฝันแล้วฝันเล่า มันฝันอยู่ตลอดเวลา

ไอ้นี่พูดถึงความฝัน ความฝันมันก็เกี่ยวกับพันธุกรรมของจิต จิตมันมีอำนาจวาสนาอย่างนั้น ถ้าจิตมีอำนาจวาสนาอย่างนั้น แต่คนที่เขาฝัน ฝันแล้ว เขาฝันโดยที่ไร้สาระ คำว่า ไร้สาระของเขา” คือฝันแล้วมันไม่มีเป้าหมาย ฝันก็ฝัน ฝันไป แต่เราไม่ตื่นเต้นไปกับความฝันของเรา แต่ถ้าคน เห็นไหม คนเราไม่เคยฝันเลย พอเราฝันทีมันก็แปลกนะ แล้วเวลาคนฝันเวลาจะมีสิ่งใดกระทบกับชีวิตของเรา มันจะฝันล่วงหน้าก่อน

ถ้าการฝันล่วงหน้าก่อน เซนส์ของคนไม่เหมือนกันไง กรรมของคนไม่เหมือนกัน พันธุกรรมของจิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน คำว่า ไม่เหมือนกัน” ถ้าเรามีจุดยืน เห็นไหม จุดยืนที่ว่าเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถ้าเป็นแก่นของศาสนา เรื่องอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แล้วเรื่องอย่างอื่น เรื่องอย่างอื่นเรื่องปลีกย่อย เรื่องอย่างอื่นมันเป็นเรื่องของนิสัยวาสนาของคน มันไม่เกี่ยวกับอริยสัจ

ถ้าไม่เกี่ยวกับอริยสัจ เราจะจับประเด็นนี้ เราจับประเด็นนี้ปั๊บ ใครฝันอย่างไรก็เรื่องของเขา ถ้าเขามีอำนาจวาสนาของเขา เขาฝันของเขา แล้วเป็นประโยชน์กับเขา คือว่าเขามีความทุกข์ความยากอย่างใด ความฝันนั้นช่วยบรรเทาเขาได้ อันนั้นมันก็เป็นประโยชน์กับเขาใช่ไหม ความฝันของคน ถ้ามันเป็นประโยชน์กับคนคนนั้น ถ้าคนคนนั้น อย่างเราเนี่ยชีวิตนี้อยู่กับความฝัน อยู่กับความฝัน ฝันจนแบบว่ามันมีความสุขเพราะความฝันของตน ชีวิตก็ไม่เป็นความจริงไง ถ้าเป็นความจริงๆ มันเป็นความจริงกับปัจจุบันนี้

ถ้าเป็นปัจจุบันนี้ ฉะนั้น พูดถึงความฝันก่อน เขาบอกว่า เพราะความฝัน ฝันมันมาจากไหน หลวงตาท่านเทศน์สอนนะ ท่านบอกฝันดิบ ฝันสุก ฝันดิบๆ นั่งกันอยู่นี่ ไอ้ความคิดเราฝันดิบๆ เราอยู่ในชีวิตเรา ความคิดคือความฝันคือสังขาร เวลานอนหลับไปแล้วฝันสุกๆ เลย นอนฝันเพราะมันไม่มีสติไง มันไปตามแต่ที่มันจะเป็นไปไง แต่ถ้านั่งอยู่ ความคิด การกระทำของเรา เรามีสติใช่ไหม ดิบๆ ฝันดิบ ฝันสุก มันโดยธรรมชาติของมัน นี่เป็นภาษากรรมฐาน ภาษานักปฏิบัติ

ถ้านักปฏิบัติเขาพูด สิ่งใดที่เกิดขึ้นกับปรากฏการณ์ของจิต เราจะสื่ออย่างไร เราจะพูดออกมาอย่างไร สื่ออย่างไรว่าเวลานอนฝัน ฝันสุก เวลาฝันดิบ ฝันดิบก็มันสื่อออกมาไง ดูสิ เวลา เจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านพูด เห็นไหม นิพพานดิบ นิพพานสุก นิพพานดิบๆ นิพพานดิบๆ ก็สอุปาทิเสสนิพพานคือพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ นิพพานดิบๆ เวลาสิ้นชีวิตไป นิพพานสุก นิพพานสุกคืออนุปาทิเสสนิพพาน คือนิพพานแท้ๆ ไม่มีสิ่งใดเจือปนเลย

แต่ถ้านิพพานยังดิบๆ อยู่ ดิบๆ อยู่ นี่ก็เป็นความหมายของท่าน เป็นคำพูดของท่าน เพราะว่าถ้าใจของคนไม่มีมันพูดอย่างนี้ไม่ได้หรอก ใจของคนไม่มีความจริง มันไม่มีข้อเท็จจริงมันจะพูดออกมาเป็นภาษาสมมุติเป็นภาษาออกมาอย่างไร ถ้าคนที่มีความจริงมันมีความจริงในใจ เวลาพูดออกมามันจะมีเหตุมีผลฟังแล้วมันใช่ มันใช่

ฉะนั้น จะพูดถึงความฝันก่อน เพราะเขาบอกว่าเขาถามปัญหามา ถ้าถามปัญหามาว่า ตั้งแต่ครั้งที่แล้วว่าพิจารณาไปแล้วน้ำตาไหลต่างๆ แล้วมันจะอาเจียนไง แล้วหลวงพ่อตอบว่า ให้กลับมาทำสมาธิให้มั่นคงก่อน” ถ้าสมาธิมั่นคงก่อน ถ้ามันมั่นคงก่อนมันก็ฝึกหัดมาอย่างนี้ เริ่มต้นการฝึกหัดนะ คนฝึกหัดทำความสงบของใจ พอใจมันสงบใจมีกำลังแล้วมันก็ฝึกหัดใช้ปัญญา

การฝึกหัดใช้ปัญญา ต้องฝึกหัด พอฝึกหัดขึ้นไปมันก็จะก้าวหน้าต่อไป แต่พอมันฝึกหัดขึ้นไปแล้ว มันไปแล้วทำแล้วมันเอียงกระเท่เร่ไง เอียงกระเท่เร่คือว่าพอพิจารณาไปแล้ว มันใช้ปัญญามากเกินไป พอปัญญามากเกินไป กำลังไม่พอ มันก็จะเกิดอาการต่างๆ พอเกิดอาการต่างๆ เราก็ต้องกลับมาเพิ่มสมาธิ กลับมาทำความสงบของใจให้มากขึ้น ถ้าใจมากขึ้นเราก็กลับไปพิจารณาอีก ถึงบอกว่ากลับมาทำสมาธิก่อน

ฉะนั้น กลับมาทำสมาธิ กลับมาทำความสงบของใจ คือว่าบาลานซ์ให้ได้ สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานมันจะก้าวเดินไปด้วยกัน เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มรรค ๘ มันจะสมดุลของมัน มันจะฝึกหัดของมัน มันต้องฝึกหัดอย่างนี้ ฉะนั้น พอกลับมาก่อน กลับมาทำความสงบของใจก่อน พอเขากลับมาทำความสงบของใจโดยที่หลวงพ่อแนะนำ เขาบอกเขาไปทำแล้วมันดีขึ้น สิ่งที่ว่าที่มันจะอาเจียนเคยต่างๆ มันก็เบาลงๆ แต่เบาลง มันพิจารณาไปมันก็มีประโยชน์ขึ้นมา

ถ้ามีประโยชน์ขึ้นมา ทีนี้เขาบอกว่าเขาเคยฝันอยู่แล้ว นี้พอเคยฝัน พอพิจารณาไปแล้วมันเกิดฝันเห็นหลวงปู่ชอบ คำว่า ฝันเห็นหลวงปู่ชอบ” หลวงปู่ชอบตอนที่ท่านอยู่ ท่านทรงธาตุ ทรงขันธ์ หลวงปู่คือองค์หลวงปู่ชอบ แต่เวลาหลวงปู่ชอบท่านนิพพานไปแล้ว นี่ฝันถึงหลวงปู่ชอบ ฝันถึงหลวงปู่ชอบ เป็นความฝันของเรา เป็นธรรมในใจของเรา จะเป็นหลวงปู่ชอบจริงหรือหลวงปู่ชอบไม่จริง นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

ถ้าเป็นหลวงปู่ชอบจริง ถ้ามันฝันเป็นเรื่องเป็นมงคล ถ้าฝันเป็นเรื่องมงคล มันก็เป็นประโยชน์ทั้งนั้น แต่ถ้าฝันไม่เป็นมงคล เห็นไหม สิ่งนั้นคือว่าฝัน เราก็วางไว้ เราไม่รับผิดชอบ แต่ฝันอย่างนี้เขาเรียกว่าธรรมะมาเตือน ธรรมะมาบอก ธรรมะมาบอก บอกว่า ให้พิจารณาเรื่องขี้ เรื่องขี้ๆ” มันก็เป็นขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลงอยู่แล้ว ถ้ามันพิจารณาแล้วมันเป็นความดีขึ้นมา มันก็เป็นประโยชน์กับเราไง ถ้ามันเป็นประโยชน์กับเรา เราพิจารณาซ้ำของเรา พิจารณาซ้ำของเรา

อันนี้มันเป็น เห็นไหม เวลาที่หลวงตาท่านประพฤติปฏิบัติของท่าน ท่านบอก ธรรมะมาเตือน ธรรมะมาเตือน แล้วอย่างเราถ้ามีสติมีปัญญาเรียกธรรมสังเวช แต่ถ้าคนไม่มีสติปัญญานะ มันเป็นความทุกข์ความโศกความเศร้า แต่ถ้ามันเป็นความทุกข์ความโศกมันเป็นความพิร่ำรำพัน มันเป็นความทุกข์ แต่ถ้าคนมีสติปัญญามันก็เห็นเหมือนกัน พอเห็นเหมือนกันมันเป็นธรรมโอสถๆ มันเป็นสิ่งที่เป็นธรรมๆ ขึ้นมา มันสะเทือนใจๆ ความสะเทือนใจนั้นมันเป็นธรรมสังเวชๆ แม้แต่เป็นธรรมรสของธรรมสัจธรรม เวลารสของกิเลสๆ มันก็มีความทุกข์ความยากไปทั้งนั้น

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้าเป็นหลวงปู่ชอบ เดี๋ยวที่เราพูดนี้ เราพูดไว้ก่อนไง ถ้าเราเออออห่อหมกไปหมด เขาก็จะบอกว่า เอ๊ะหลวงพ่อเห็นชอบไปหมดเลยหรือที่มีความฝัน สิ่งที่ฝันเขายอมรับหรือ แล้วถ้าฝันเห็นหลวงปู่ชอบก็ยอมรับว่าไปเห็นหลวงปู่ชอบใช่ไหม ฉะนั้น คำว่า ฝันเห็นหลวงปู่ชอบ” หลวงปู่ชอบมาเทศน์ในฝันนั่นเรื่องหนึ่ง แขวนไว้ก่อนเรื่องหนึ่ง ว่าเป็นหลวงปู่ชอบจริงหรือไม่จริง แต่เราเอาที่ผลประโยชน์ไง เอาสิ่งที่สาระในความฝันนั้นมาเป็นประโยชน์ สาระความฝันนั้นมันเป็นการเตือน เป็นการสั่งสอน เป็นการคอยกระตุ้นเรา ให้เราปฏิบัติ เป็นการชักนำให้เราไปเข้าในทางที่ถูกทาง อันนี้ถูก อันนี้เป็นประโยชน์

แต่ถ้าเป็นหลวงปู่ชอบ หลวงปู่ชอบก็เป็นพระผู้ใหญ่ในวงกรรมฐาน เป็นพระผู้ใหญ่ในวงกรรมฐานเคารพบูชาอยู่แล้ว ถ้ามันเป็นความจริง เป็นความจริงเป็นประโยชน์กับเราก็ดี แต่ถ้าเวลาฝันไปแล้วสิ่งที่สัมภเวสีต่างๆ ก็อ้างทั้งนั้น เวลาประทับทรงๆ เจ้านั้นเจ้านี้ เจ้าอะไร ก็ชื่อนั้น เราไม่อยากเอ่ยชื่อไง ประทับทรงก็เจ้านั้น เจ้าใหญ่ เจ้าโต แล้วเราก็แปลกใจ แล้วเจ้านี้มีเวลาว่างเนาะ ประทับทีไรก็มาทุกที แล้วจะเป็นเจ้าองค์นี้ตลอดไปหรือมันก็ไม่ใช่ มันไม่ใช่หรอก เราไม่อยากจะพูดลงรายละเอียด เพราะว่าศาสนามันไม่ควรกระทบกระเทือนกัน เราไม่พูดเรื่องกระทบกระเทือนกัน

แต่นี้มันจะตอบปัญหาผู้ที่ถามมา พูดถึงว่า ฝันอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้” ถ้าเป็นสัจธรรม สัจธรรมหมายความว่าเรากำลังขวนขวายการกระทำความดีกันอยู่ ถ้ามีใครชักนำ มีใครชี้ทางที่ดีที่งาม ทำแล้วเราได้ประโยชน์ โอเค เพราะเราเองเราก็แสวงหา แต่ถ้าสิ่งใดนะ สิ่งใดที่มันผิดพลาด สิ่งใดที่มันเป็นผลลบ เราพยายามหลีกเลี่ยงๆ เพราะถ้าเป็นความจริงๆ สิ่งที่ความดีมัน ก็มี ในความดีนั้นมันมีความผิดพลาดความบกพร่องก็มี เราต้องมีสติปัญญาพร้อมไง

ถ้าพร้อมแล้ว สิ่งที่ฝันแล้วบอกว่า ท่านเทศน์ให้ฟังมาเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วท่านบอกว่าให้พิจารณาขี้ แล้วเรามาพิจารณาได้ประโยชน์กับเรา มันได้ประโยชน์กับเรา” ถ้าได้ประโยชน์กับเรา สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์ แต่นี้สิ่งนี้เป็นประโยชน์ เราพิจารณาของเราไปใช่ไหม เขาบอก เขาก็ฝัน ฝันเรื่องกามราคะ แล้วก็รู้ด้วยว่าตัวเองสู้กามราคะไม่ไหว สุดท้ายแล้วกามราคะมันรุนแรงกว่า

ธรรมสังเวช สัจธรรม สิ่งต่างๆ เราต้องแสวงหา เราต้องมีการกระทำ แต่เวลาเราฝันถึงกามราคะ ไม่ต้องไปหาใครมาบอกเลย ผมสู้มันไม่ไหว ผมสู้มันไม่ได้ เพราะอะไร เพราะมันมีอยู่ในจิตเราลึกๆ ไง ในจิตของเรามันมีของมันอยู่แล้ว แล้วที่เรามากระทำของเราอยู่ ทำคุณงามความดีของเราอยู่นี่ถือศีลถือธรรมกันอยู่นี่เพื่อจะรื้อ เพื่อจะถอด เพื่อจะถอน เพื่อจะทำลายมันไง

เวลาสัจธรรม เวลาสัจธรรมเราจะประพฤติปฏิบัติเราต้องแสวงหา เราต้องการกระทำ เราต้องมีความพยายาม มีความอดทน มีความมุมานะ มีความเพียรวิริยอุตสาหะทั้งนั้นเลย เวลาไปฝันเรื่องกามราคะไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย สู้มันไม่ได้เลย ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเยอะมาก บอกว่า เวลาไปเจอกามราคะคือความปรารถนาของใจ เหมือนกับยื่นหน้าให้มันชกซ้าย ชกขวา ให้มันเหยียบย่ำเลยทุกคนพูดอย่างนี้ทั้งนั้น เวลาจะเป็นธรรมะ อู้ฮูกว่าจะหาได้นะ เวลากามราคะไม่ต้องอะไรเลย มันกระตุ้นมาจากภายในเลย

ฉะนั้น เวลากระตุ้นจากภายในเลย มันก็ต้องวางสิ่งนี้ไว้ แล้วเรามาประพฤติปฏิบัติ มาให้มีหลักมีเกณฑ์ในใจของเราก่อน ถ้าจิตของเรานะมันมีศีล มีสมาธิ มีปัญญานะ แล้วเราพิจารณาของเราต่อเนื่องไป มันจะพิจารณาของมันไปๆ นะ ไปเห็นกาย เห็นจิต เห็นธรรมต่างๆ พิจารณามันไป มันจะถอดมันจะถอน มันจะเบาบางลงไป เบาบางไป นี้เป็นงานของเราไง แล้วถึงที่สุดแล้ว ถ้าคนจะพ้นจากทุกข์ได้ เวลามันเข้าไปจริงๆ แล้วมันต้องไปผ่านตรงนี้แน่นอน มันต้องไปผ่านกามราคะ ถ้ามันไม่ผ่านกามราคะมันจะพ้นจากโลกนี้ไปไม่ได้ เพราะอะไร

เพราะหัวใจของโลกมันอยู่ตรงนี้ทั้งนั้น หัวใจของโลกนี้มันอยู่ที่นี่ ถ้ามันอยู่ที่นี่ของมัน มีอยู่ในหัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเรา เพราะมันอยู่ในหัวใจของเรา ใจของเรามันถึงเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะไง ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่า ถ้าเขาบอกว่า กามราคะมันรุนแรง สิ่งที่เขายังสู้ไม่ได้” อันนั้นวางไว้ คือว่ายังไม่ถึงเวลาที่เราจะไปต่อสู้สิ่งนี้ เรายังไม่จำเป็นจะต้องไปเผชิญหน้ากับเขา เรายึดมั่นถือมั่นในตัวตนของเรา เราก็พิจารณาเรื่องตัวตนของเราก่อน ถ้าพิจารณาเรื่องตัวตนของเราก่อน พิจารณาเรื่องกาย เรื่องเวทนา เรื่องจิต เรื่องธรรม

ถ้าพิจารณาเริ่มต้นมันจะเริ่มตั้งแต่ที่ตัวตนของเราก่อน ถ้าตัวตนของเรา เราพิจารณาตรงนี้ได้ มันจะเป็นประโยชน์กับเรา มันจะเป็นหลักประกันของเราว่า ถ้าเราพิจารณาแล้ว ถ้ามันขาด เห็นไหม มันเป็นประโยชน์กับเรามหาศาลเลย แต่ถ้ามันไม่เป็นประโยชน์กับเรา เราจะไปพิจารณาตรงนั้นก่อนคือเราจะไปเอางานใหญ่ เราจะไปฆ่าสัตว์ใหญ่ ถ้าเราจะไปฆ่าสัตว์ใหญ่ แต่เรายังไม่มีกำลังพอที่จะไปฆ่าสัตว์ใหญ่นะ เราต้องลงทุนลงแรงมากเลย

ฉะนั้น ก่อนที่จะไปฆ่าสัตว์ใหญ่นะ เราเตรียมพร้อมก่อน เราปูพื้นฐานของเราขึ้นมา เราพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ พิจารณาต่างๆ ขึ้นมา เราเตรียมพร้อมของเรา เราสร้างคุณธรรมในใจของเราขึ้นมา นี่มันต้องทำอย่างนี้ ไม่ต้องไปวิตกกังวลไง แต่นี้ถ้าไม่วิตกกังวล ถ้ามันเป็นจริตนิสัย ถึงเราพิจารณา พิจารณาตัวตนของเรานี่แหละ แต่กามราคะ ความกระตุ้นรุนแรง มันก็ยังตามมารบกวน ตามมารบกวน เห็นไหม

นี่ไง มันก็เป็นโทสจริต โมหจริต โลภจริต ถ้าจริตของคนมันเป็นอย่างนั้น ถ้าจริตของคนนะ เพราะการประพฤติปฏิบัติมันไม่มีสูตรสำเร็จ นิสัยใจคอของคนมันไม่มีสูตรสำเร็จ แล้วมันไม่มีสูตรสำเร็จ เวลาเราเข้าไปเผชิญ เราต้องไปเผชิญกับความจริง ถ้าเผชิญความจริง แต่ถ้านิสัยใจคอมันเป็นแบบนี้ นิสัยใจคอเป็นแบบนี้มันเป็นจริตนิสัยที่มันเข้ามารบกวนเรา เราก็ต้องเผชิญหน้ากับมัน

ถ้ามันมีความจำเป็นจะต้องเผชิญหน้ากับมัน เราก็ต้องเผชิญหน้ากับมัน ถ้ามันไม่มีความจำเป็น เราก็พิจารณาตัวตนของเราก่อน พิจารณาสิ่งที่มันเข้ามาปัดแข้งปัดขา เพราะมันจะทำให้เราไม่มีที่ยืนเลยนะ เราเกิดมาในโลกนี้มันเหมือนกับเราแหวกว่ายอยู่กลางทะเล โอฆะ สิ่งในโลกสงสาร ชีวิตของเราเป็นอย่างนี้ ถ้าใครประพฤติปฏิบัติขึ้นไป ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นไป เราจะข้ามฝั่งจากโอฆะ ถ้าใครเข้าฝั่งได้เท้าแตะพื้นได้นั่นพระ-โสดาบัน เท้าแตะพื้นได้มันมีหลักมีความจริงไง

แต่นี้ถ้าเราจะปฏิบัติ เราต้องปฏิบัติแบบนี้ ถ้าปฏิบัติแบบนี้เพียงแต่ว่าเราจะยึดหลักไง เราจะเอาแบบนี้ เราปฏิบัติแล้วเราต้องเป็นแบบนี้ ไม่ใช่เพราะมีคนที่ปฏิบัติมาก อยากมีฤทธิ์มีเดชทั้งนั้น อยากได้อภิญญา เวลาสำเร็จแล้วอยากจะมีหูทิพย์ตาทิพย์ทั้งนั้น ทุกคนคิดอย่างนี้ทั้งนั้นเลย แต่ไม่ได้คิดหรอกว่ามันตรงกับจริตหรือไม่ มันตรงกับกิเลสเราหรือไม่ ถ้ามันตรงกับกิเลสเรา เราจะชนะเราได้ ถ้ามันไม่ตรงกับกิเลสเรา เราอยากจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วมีอภิญญาพร้อมทุกอย่างเลย ปฏิบัติถูลู่ถูกัง

เพราะเราฟัง ฟังผู้ที่ปฏิบัติ เวลาพูด พูดอย่างนี้ บอกให้ กำหนดพุทโธ ทำความสงบของใจเข้ามา “อู๋ยผมชอบฤทธิ์ ผมอยากจะสำเร็จแล้วผมมีฤทธิ์ด้วย” โอ้โฮทุกคนคาดหมายอย่างนั้นเลย แล้วไม่มีใครปฏิบัติประสบความสำเร็จสักคน ไม่เคยเห็น ไม่เคยเห็นคนที่ปฏิบัติแล้วประสบความสำเร็จ เพราะอะไร เพราะปรารถนาอย่างนั้นไง แต่ไม่ปฏิบัติตามความเป็นจริง ปฏิบัติตามความเป็นจริงเราเลย ไอ้สิ่งที่มันปักเสียบในหัวใจ สิ่งที่มันยอกใจเรา เราปฏิบัติเพื่อเหตุนี้ ถ้ามันตรงกับจริตเหมือนคนไข้ได้ยาตามอาการไข้นั้น ถ้าคนไข้ได้ยาตามอาการไข้นั้น มันก็เป็นการถอนพิษไข้นั้นใช่ไหม ไอ้นี่เราเป็นไข้อย่างหนึ่ง แต่เราอยากหายอีกโรคหนึ่ง นี่พูดถึงจริตนิสัย

คำว่า ถ้ากามราคะมันรุนแรง” ถ้ารุนแรง ถ้ามันเป็นจริตนิสัยที่จะต้องไปเผชิญหน้า เราก็เผชิญหน้า เวลาเผชิญหน้า หลักสำคัญเลยเราต้องมีสติ แล้วทำหัวใจให้เราแข็งแรงก่อน หัวใจแข็งแรงคือหัวใจที่มีสัมมาสมาธิ ถ้าหัวใจไม่แข็งแรงนะมันเป็นปุถุชน ปุถุชนคือคนหนา ภาษาเรานะ ปุถุชนคือคนพาล แต่ถ้าเป็นปัญญาชน ปัญญาชนคือกัลยาณชน

ปุถุชนและกัลยาณชน ถ้าเป็นคนพาลเป็นปุถุชน ถ้าเป็นกัลยาณชนนั่นน่ะเป็นปัญญาชน ถ้าปัญญาชนแล้วเรามีสติมีปัญญา เราจะแก้ไขของเราได้ ถ้าแก้ไขได้ เห็นไหม ฉะนั้น ถึงสิ่งที่จะเป็นปัญญาชนได้ มันต้องทำสัมมาสมาธิให้เข้าออกได้สะดวกขึ้นมา พอสะดวกขึ้นมาแล้วเป็นหลัก ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นเราจะพิจารณาแบบนี้

นี่พูดถึงว่า ครั้งที่แล้วหลวงพ่อเมตตาตอบโดยย่อ” เพราะคราวที่แล้วมันเป็นกิเลสโดยย่อ แต่นี้กิเลสมันไม่ย่อแล้วล่ะ กิเลสมันเพราะถ้าเราไม่ปฏิบัตินะ โอ้โฮเป็นคนดีหมดเลย นั่งทุกคนเรียบร้อยหมด ลองปฏิบัติสิ ไม่ดีสักอย่าง ไม่มีอะไรดีเลย ถ้าไม่ปฏิบัตินะ โอ้โฮดี๊ดี นั่ง กิเลสสบายใจไง ว่าจิตใจดวงนี้อยู่ในอาณัติของเรา ถ้าเมื่อใดเราออกปฏิบัตินะ เมื่อใดเราจะสู้กับมันนะ โอ้โฮไอ้ที่ว่าไม่ปฏิบัติเป็นคนดี๊ดี พอปฏิบัติขึ้นมา อู้ฮูอะไรไม่ได้เลย ไม่ดีสักอย่างหนึ่งเลย

นั่น เห็นไหม เริ่มต้นเป็นกิเลสโดยย่อ แต่ถ้ากิเลสมันจริงๆ นะ คนที่ทำสมาธิได้ เวลาจิตมันเสื่อมแล้วจะให้กลับมาอีก โอ้โฮแสนยาก สิ่งที่พิจารณาโดยปัญญาไปแล้ว แล้วถ้ากิเลสมันรู้ทัน ต่อไปนะ ปัญญาจับพลัดจับผลูมันไม่เข้ารูปเข้ารอยสักที จะทำอะไรไม่เข้ารูปเข้ารอยอะไรเลย ทำไมมันยุ่งยากไปอย่างนี้ ทำไมยุ่งยาก นั่นกิเลสมันตื่นนอนแล้วไง กิเลสมันตื่นนอนแล้ว ถ้าเราสัพเพเหระไม่ทำอะไรเลย โอ้โฮดี๊ดี กิเลสมันหลับสบาย มันอยู่ในอาณัติของมันไง แต่ถ้าวันไหนเราจะสู้กับมันนะ มันตื่นนอนขึ้นมานะ โอ้โฮมันฟาดงวงฟาดงามีปัญหาไปหมดเลย มีปัญหาไปหมด การกระทำน่ะนู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ดี ไม่มีสิ่งใดสมดุล ไม่มีสิ่งใดปฏิบัติแล้วได้ประโยชน์หมดเลย

ฉะนั้น ย้อนกลับมา ย้อนกลับมา เห็นไหม ทำความสงบของใจเราเข้ามา แล้วพิจารณาขี้ก็ได้ พิจารณาสิ่งใดก็ได้ เราพิจารณาของเราไปเรื่อยๆ เราพิจารณาของเราไปเรื่อยๆ เรื่องกามราคะวางไว้ก่อน เว้นไว้แต่เวลาปฏิบัติแล้วมันเผชิญเข้ามา เผชิญเข้ามาเราก็ใช้ปัญญาพิจารณาสิ เราใช้ปัญญาพิจารณาเลย สิ่งๆ นี้ สิ่งนี้มันมีของคู่โลกอยู่แล้ว สิ่งๆ นี้ใครบ้างไม่เคยเผชิญมันมา ในการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะกี่ภพกี่ชาติขึ้นมาที่มันเป็นมากี่ภพกี่ชาติไง กี่ภพกี่ชาติที่เราไม่รู้ไม่เห็นๆ

แต่ถ้าจิตมันสงบเข้าไปแล้ว ถ้ามันระลึกได้นะ ระลึกได้ ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติได้ ส่วนใหญ่แล้วท่านระลึกสิ่งใดได้ ท่านเห็นของท่านตามความเป็นจริง ท่านจะเก็บไว้ข้างใน เก็บไว้ในใจของตน มันเป็นคติธรรมของเราคนเดียว อย่างคนอื่นของเขาเป็นเรื่องของเขา เขาจะฟังเราหรือไม่ฟังเราอีกเรื่องหนึ่ง ท่านไม่พูดออกมาหรอก

ท่านจะพูดต่อเมื่อ ธมฺมสากจฺฉา เวลาครูบาอาจารย์ท่านสนทนาธรรมกัน ใครมีแง่มุมอย่างใด ท่านพูดออกมาแล้วฟังกันได้ ฟังกันได้เพราะเหตุใด ฟังกันได้เพราะมันเห็นเหมือนกันไง ฟังกันได้เพราะมันรู้เหมือนกันไง ฟังกันได้เพราะมันเห็นวัฏฏะอย่างนั้นไง ถ้าเห็นอย่างนั้น คุยกันแบบคนที่หูตาสว่างไง คุยกันคนที่มีเหตุมีผล คุยแล้วมันเป็นประโยชน์ทั้งหมด มันธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ไปคุยกับคนพาลไม่มีประโยชน์อะไรหรอก

ฉะนั้น สิ่งใดที่เราประพฤติปฏิบัติ เรารู้ของเรา เก็บไว้ภายใน แล้วเราทำความสงบของใจเข้ามา แล้วฝึกหัดใจของเรา ฝึกหัดใจของเรานะ ฝึกหัดขึ้นไป ทีนี้มันเป็นกิเลส ต่อไปถ้าเราเผชิญหน้ากับมัน เพราะเราจะฆ่ากิเลส กิเลสมันเผชิญหน้านะ คำว่า กิเลสเผชิญหน้า” ครูบาอาจารย์เราท่านบอกว่า สงครามธาตุ สงครามขันธ์” ภาวะสงครามกฎหมายก็ใช้บังคับไม่ได้หรอก ภาวะสงคราม ภาวะสงครามอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น ในเมื่อเกิดสงคราม เกิดสงครามขึ้นแล้ว การรบกัน เขาต้องการเอาชนะด้วยกุศโลบายอย่างใด เขาทุ่มเททั้งนั้น

นี่ก็เหมือนกัน เวลาธรรมกับกิเลสมันเผชิญหน้ากัน มันไม่พุทธพจน์จะเป็นอย่างใด ไม่ใช่ไม่ใช่มันเป็นภาวะสงคราม ภาวะสงครามมันก็เกิดได้ทั้งนั้น สติดีๆ ปัญญาดีๆ พิจารณาของมันไป ระหว่างสงครามธาตุกับสงครามขันธ์ สงครามธาตุกับสงครามขันธ์มันพิจารณานะ พิจารณา ถ้าเป็นจริงขึ้นมา นั่นน่ะเข้าสัมปยุตกันนั้นมันจะเป็นมรรคเป็นผลขึ้นมาไง ถ้าเป็นมรรคเป็นผลขึ้นมา นั่นจะเป็นอย่างนั้น

นี่พูดถึงว่าเวลาเอาจริงนะ เพราะเขาบอกว่าครั้งที่แล้ว ครั้งที่แล้วหลวงพ่อตอบโดยย่อๆ ไง โดยย่อๆ เพราะมันยังไม่มีสิ่งใด เวลาหมอให้ยา เขาก็ให้ยาตามอาการไข้ ในเมื่อมันเจ็บไข้ได้ป่วยเล็กน้อยก็ให้ยาตามแต่อาการไข้นั้น ไม่ให้ยามากเกินไป เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์นะ ท่านเคยสอนจริงๆ เวลาฆ่าไก่ก็ใช้มีดเชือดไก่ เวลาฆ่าโคก็ใช้มีดเชือดโค เวลาฆ่าไก่จะใช้มีดเชือดโค เวลาฆ่าโคจะใช้มีดเชือดไก่ ทำอะไรแล้วมันไม่ดีงามทั้งนั้น

นี่ก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติไป เวลาเราพูดไปถึงแนวทางๆ มันเป็นการชี้นำให้เห็นว่าเรามีงานที่จะทำอีกหลายชั้นหลายตอน ที่เวลาเราพูดเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป เราจะให้เห็นว่าเวลาการประพฤติปฏิบัติเรามีงานรออยู่ข้างหน้านะ ไอ้ที่เราทำอยู่นี่ เราอย่าคิดว่างานของเรา เราทำแล้วเราจะจบนะ ส่วนใหญ่คิดอย่างนั้น เวลาทำงานแล้วจะจบ แล้วเวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ถึงมรรคถึงผล ไอ้เราภาวนาหัดทำสมาธิ เราว่านั่นคือมรรคคือผลแล้ว คือมรรคคือผลเพราะวุฒิภาวะของใจมันอ่อนแอ ทำสิ่งใดมันก็ว่าสิ่งนั้นเป็นความจริงๆ ของมัน เวลาทำไปแล้วมันถึงวนอยู่นั่นไง วนอยู่ในอ่างไง เราทำขึ้นไปเป็นสัจจะเป็นความจริง

นี่พูดถึงว่า เวลาเราทำเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป พูดถึงว่า ถ้าเราจะเผชิญกิเลส ไม่ใช่กิเลสโดยย่อ กิเลสโดยย่อคือเริ่มต้นปฏิบัติใหม่ๆ กิเลสโดยย่อเพราะกิเลสมันยังไม่ตื่นนอน กิเลสมันยังหลับสบายอยู่ภวาสวะอยู่ในหัวใจของเรา แต่เราประพฤติปฏิบัติ จิตสงบเข้าไปแล้ว เข้าไปรื้อไปค้นมัน ไปปลุกมันขึ้นมา ไปปลุกมันขึ้นมาเพื่อจะชำระล้างกัน แต่ถ้ามันมีกำลังอยู่มีมากกว่ามันก็สร้างภาพ มันก็ทำลายเราอย่างนี้ พอทำลายเรา เราก็ล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้

การที่เราจะรื้อภพรื้อชาติมันเป็นงานภายใน งานภายในจะเกิดขึ้นมา คนมีงานทำ ทำงานแล้วมันถึงจะรู้ว่าทำงานแล้วมันทุกข์ยากขนาดไหน คนที่ไม่มีงานทำ ไม่มีสิ่งใดทำ มีแต่การคาดการหมาย การจินตนาการ แล้วก็บอกสิ่งนั้นเป็นธรรมๆ นั่นเป็นเรื่องวาสนาของคน จบ

ถาม : เรื่อง การมรณภาพของพระสงฆ์

หลวงพ่อ : เขาเขียนมาอย่างนั้นนะ

ถาม : เคยได้ยินมาว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าปลงพระชนมายุสังขาร ถ้าพระอานนท์ทูลขอพระพุทธเจ้า จะทรงมีพระชนมายุยืนยาวต่อไปอีกจริงหรือไม่ หากเป็นจริงดังนี้แล้ว เนื่องจากได้ยินหลวงพ่อปรารภถึงความตายบ่อยครั้ง ลูกจะขอให้หลวงพ่อมีอายุยืนยาวไปอีกจนกว่าลูกจะบรรลุธรรมได้หรือไม่

กราบขอบพระคุณค่ะ หากคำถามไม่เหมาะสมลูกกราบขออโหสิกรรมหลวงพ่อด้วยค่ะ

ตอบ : ไอ้นี่มันเป็นความปรารถนาเป็นแรงใจของตัวเองใช่ไหม แต่นี้บอกว่า ในเมื่อเคยได้ยินมาว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัม-พุทธเจ้าปลงอายุสังขาร พระอานนท์ทูลขอ” อันนั้นมันเป็นองค์-สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระอานนท์ มันเป็นข้อเท็จจริง เป็นข้อเท็จจริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แล้ว อย่างเช่น ของครูบาอาจารย์เรา เห็นไหม อย่างเช่น หลวงปู่ขาวอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ของเราท่านเคยเล่ากันมา ว่าหลวงปู่ขาวท่านจะปลงอายุสังขารหลายที แล้วหลวงปู่ฝั้นท่าน หลวงปู่ฝั้นเป็นพระที่มีอภิญญามาก หลวงปู่ฝั้นเป็นพระที่มีคุณธรรมมาก ท่านไปปั้นพระไว้ที่หน้าผาที่ถ้ำกลองเพล เป็นการต่ออายุสังขารของหลวงปู่ขาว หลวงปู่ขาวท่านถึงอายุยาวนานมา

ไอ้นี่มันผู้ที่มีคุณธรรม ผู้ที่เขามีปัญญาเขาทำได้ เขาเข้าใจได้ แต่ผู้ที่ไม่มีปัญญา ผู้ไม่มีปัญญาเรารู้ไม่ได้ เรารู้ไม่ได้แล้วมันก็เป็นทางโลก ทางโลก เห็นไหม ต่ออายุกัน อะไรกัน นั่นเป็นพิธีกรรม เป็นพิธีกรรมเพื่อเป็นขวัญ เป็นกำลังใจ แต่ทีนี้พูดถึงว่านั่นเป็นข้อเท็จจริงไหม เราบอกเป็นข้อเท็จจริง ถ้าหากเป็นดังนี้ เนื่องจากที่หลวงพ่อปรารภเรื่องความตายบ่อยครั้ง ลูกจึงอยากขอให้หลวงพ่อมีอายุยืนยาวต่อไปอีกจนกว่าลูกจะบรรลุธรรม

แล้วถ้าลูกไม่บรรลุธรรมแล้วหลวงพ่อก็ห้ามตายสิ หลวงพ่อก็ต้องห้ามตาย เพราะลูกยังไม่บรรลุธรรม หลวงพ่อต้องอยู่ค้ำฟ้าไป เห็นไหม มันขัดแย้งกันโดยความคิดไง ความคิด ความเห็นมันขัดแย้งไปอย่างนั้น ฉะนั้น ถึงบอกว่า ถ้าหากว่าได้ยินหลวงพ่อปรารภถึงความตายบ่อยครั้ง บ่อยครั้งๆ” การปรารภถึงความตายคือบทสุดท้ายของชีวิต บทสุดท้ายของชีวิตของทุกๆ คนก็คือความตาย ฉะนั้น เวลาพูดถึงหน้าที่การงาน พูดถึงการประพฤติปฏิบัติ พูดถึงความรับผิดชอบไง

นี้พูดความรับผิดชอบ เวลาพูดถึงแล้วเขาบอกว่ามันก็เท่านั้นแหละ เดี๋ยวเราก็ตายแล้ว เราจะบอกว่าบทสรุปของคนมันก็ตายทุกคน บทสรุปของคนถึงที่สุดแล้วมันก็สิ้นอายุขัยไป มันก็เท่านั้น คือไม่ต้องมาต่อรอง ไม่ต้องมาโต้แย้ง ไร้สาระ เอ็งไม่ตาย ข้าก็ตาย ข้าไม่ตาย เอ็งก็ตาย ไม่รู้ว่าใครตายก่อน มันจะไปใหญ่ ไม่รู้ว่าใครจะตายก่อนกัน ไอ้ที่ว่าห่วงว่าหลวงพ่อ หลวงพ่อต้องอยู่ให้หนูบรรลุธรรมก่อน ไม่รู้ว่าหนูตายไปก่อน หลวงพ่อยังอยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้

ฉะนั้น ไอ้นี่เวลาพูดถึงข้อเท็จจริง พูดถึงของความปรารถนา พูดถึงความเป็นธรรม มันก็เห็นใจอยู่ แต่นี้เวลาที่ว่าได้ยินว่าหลวงพ่อปรารภบ่อย ปรารภไม่ใช่อวดหรอก แต่เวลาคนที่พูดถึงเห็นไหม พูดถึงหน้าที่ความรับผิดชอบ พูดถึงความเป็นอยู่ เห็นไหม เดี๋ยวมันก็ตาย ถ้าคนระลึกถึงความตายนี่มรณานุ-สติ คนเรานะ ถ้าระลึกถึงความตายๆ คนนั้นไม่ตายหรอก ไอ้คนที่ประมาทนั่นมันตาย ไอ้คนที่ว่าเดี๋ยวตายๆ มันไม่ตายหรอก เพราะมันระวังตัว พอมันรู้ว่ามันจะตาย คนเราจะตายมันก็ไม่ประมาท มันก็มีสติปัญญา มันก็รอบคอบ มันก็อยู่ของมันไปนั่นแหละ แต่ไอ้คนที่ว่า โฮจะอยู่ค้ำฟ้าไม่ตายหรอก ออกไปเดี๋ยวมันตายแล้ว มันตายเพราะความประมาทของมันไง

อันนี้พูดถึงโดยข้อเท็จจริง จะเป็นหรือจะตายมันอยู่ที่อายุขัย อายุขัยของคน อายุขัยของสัตว์โลกที่สร้างมา การสร้างมานะ คนที่จะอายุยืน คนที่อายุยืนนะ เคยที่ว่าประเพณีปล่อยสัตว์ ปล่อยสัตว์ ให้ชีวิตเขา ดูแลชีวิตเขา ชีวิตมันจะยั่งยืนต่อไป คนที่อายุสั้น ทำลายสัตว์ เห็นสัตว์มันมีแต่ทำลายสัตว์ ฆ่าสัตว์ ทำลายสัตว์ คนอายุสั้น อายุสั้นเพราะว่าทำชีวิตเขาให้ตกล่วง แล้วทำให้ชีวิตเขาตกล่วงมันก็มาทอนชีวิตเรานี่ไง

มันอยู่ในพระไตรปิฎก ในเรื่องการกระทำอย่างนี้ มันก็เลยเป็นประเพณีของชาวพุทธไง ปล่อยนก ปล่อยปลา เขาเลยเอานกมาขังให้ปล่อยอยู่นั่นน่ะ ไอ้การปล่อยนก ปล่อยปลาโดยสามเณรของพระสารีบุตรนั้นนั่นเป็นข้อเท็จจริง เป็นข้อเท็จจริงว่าสามเณรนั้นจะสิ้นอายุขัย พอจะสิ้นอายุขัย เขาให้ไปลาพ่อลาแม่ พอลาพ่อลาแม่ พอเลยกำหนดวันแล้วมันไม่ตาย

พระสารีบุตรก็ถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า มันอายุขัยจบแล้วจะต้องตาย เขาเป็นอาจารย์ใช่ไหม เขาก็เป็นห่วงลูกศิษย์ไง เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ว่าอีก ๗ วันเณรนี้จะสิ้นชีวิต พระสารีบุตรก็ด้วยความเมตตาก็ให้ไปหาพ่อหาแม่ คืออุบายคือให้ไปลาพ่อลาแม่ ไอ้เณรนี้มันก็ไปลาพ่อลาแม่ มันไปตามทาง มันไปเห็นปลาที่มันติดอยู่ในน้ำแห้งทิ้งเอาไว้มันจะเสียชีวิตไง เณรนี้ก็ด้วยความเมตตา เณรนั้นก็จับปลาไปปล่อย จับปลาไปปล่อยแหล่งน้ำ แล้วก็ไปเยี่ยมพ่อเยี่ยมแม่ เยี่ยมพ่อเยี่ยมแม่แล้วกลับมา พระสารีบุตร ๗ วัน ๘ วัน ๙ วัน ๑๐ วัน ไม่เห็นตายสักที ก็ไหนว่า ๗ วันตาย ก็ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ที่เขารอดมาเพราะเขาให้ชีวิตปลานั้น เขาให้ชีวิตคนอื่นต่อเนื่อง เขาไปปลดเปลื้องชีวิตของคนอื่น ไปปลดเปลื้องชีวิตของสัตว์ไง มันต่อชีวิตมาได้” มันเป็นคติที่เราปล่อยนกปล่อยปลากัน ถ้าการปล่อยนกปล่อยปลา เรา เราปล่อยนกปล่อยปลา ไอ้นั่นปลามันจะตาย อย่างเช่น เราจะไถ่ชีวิตสัตว์ เห็นไหม เราก็ไปเอาจากโรงฆ่าสัตว์นั้นจริงๆ ฉะนั้น เอามาอย่างนั้นมันก็เป็นประเพณีของชาวพุทธเราไง ไอ้นี่มันเป็นประเพณี คำว่า ประเพณีคือทำเลียนแบบ” คือไม่มีเจตนา มันไม่มีวิกฤติอย่างนั้น แต่ของสามเณรนั้นเป็นอย่างนั้นไง นี่พูดถึง เพราะคติธรรมอันนั้น มันเลยเป็นประเพณีของเรามา

แต่สิ่งที่เราพูด เราไม่พูดอย่างนั้น สิ่งที่เราพูด เราพูดหมายความว่า เดี๋ยวก็ตายแล้ว มันจะไปยึดติดอะไร เราจะพูดถึงว่าไม่ติด ไม่ข้อง ไม่ยึดติดอะไร ไม่ต้องเอาแง่มุมใดมาต่อรอง ไร้สาระ เพราะเดี๋ยวกูก็ตายแล้ว ไม่ต้องมาต่อรองกับกู ถ้าความเห็นของเรา เราพูดอย่างนี้ ไม่ใช่ว่า อู้ฮูจะใหญ่จะโต นู่นก็ของเรา นี่ก็ของเรา กูจะแบกโลกไป โอ้โฮเดี๋ยวกูก็ตายแล้ว กูไม่แบกหรอก กูทิ้งไว้นี่ โลกนี่ไม่สน ไม่ใช่ของกู

แต่แต่แสดงธรรม เห็นไหม แสดงธรรมให้หัวใจของคน ให้มันแข็งแรงขึ้นมา หัวใจของคนอย่าไปยึดติดมัน อย่าไปยึดติดมัน ไม่ใช่ว่า โอ้โฮจะยึดมั่นถือมั่น นั่นของเรา นี่ของกู นี่ก็ของกู ทีนี้ใครๆ ก็มาต่อรอง ถ้าของกู เอาไปซ่อนนะ อู๋ยไปคุกเข่าขอเลย ของกูไง ถ้าของกู ทุกคนก็มาต่อรองหมด ฉะนั้น บอกว่า ไม่หรอก เดี๋ยวกูก็ตายแล้ว มึงจะเอาอะไร เอาไปเถอะ ใครจะเอาอะไร เอาไป เอาไปเลย ไร้สาระ เพราะชีวิตเรายังไม่มีเลย ชีวิตกู กูยังต้องตาย แล้วกูจะไปต่อรองอะไรกับใคร ไม่มี ไม่สน เพียงแต่ว่าเวลาพูด พูดเผดียงให้ว่าไม่ต้องมาคิดตอแย ว่าอย่างนั้นเลยนะ ใครอย่ามาตอแย ไร้สาระ เพราะอะไร เพราะกูรอวันตาย กูรอวันตายเท่านั้น ถ้าตายแล้วก็จบ ไอ้นี่มันเป็นอายุขัยของเรา

ฉะนั้น มันไม่ใช่ว่า โอ้โฮพอโยมได้ยินตกใจเลยเนาะ โอ้หลวงพ่อปรารภถึงความตาย ไม่ใช่อวดนะ ไม่ใช่อวด ไม่ใช่เอามาโม้ เอามาคุย ไม่ใช่ แต่ถ้าใครเวลาเหมือนกับคนมันเย้ยหยัน มันเย้ยหยันว่า อู๋ยต้องมาเอาใจฉัน ต้องมาดูแลฉัน เอ็งดูแลตัวเองเถอะ เดี๋ยวกูตายไปแล้ว ไม่มีกูแล้ว มึงดูแลตัวเอง ตามสบาย ไม่ต้องห่วง ความหมายของเราเป็นอย่างนี้ต่างหาก ความหมายของเรานะ คือว่าบทสุดท้ายของชีวิต ใครมันอยู่ค้ำฟ้า บทสุดท้ายของชีวิต ทุกคนก็ตาย

ฉะนั้น พอเราพูดถึงความตายแล้ว อะไรมันมีค่าบ้างล่ะ คนเราถ้าคิดถึงความตาย เงินก็ไม่มีค่า สมบัติก็ไม่มีค่า ไม่มีอะไรมีค่าสักอย่างหนึ่ง เพราะมันเป็นสมบัติของโลก เพราะเวลาตายไปแล้ว มันไปแล้ว มันไม่เกี่ยวกับสมบัติอย่างนี้ ไม่เกี่ยว นี่คือความหมายของเรา เวลาความหมายที่ว่า เนื่องจากได้ยินหลวงพ่อปรารภถึงความตายบ่อยครั้ง” อู้ฮูน้อยกว่าองค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้าถามพระอานนท์ว่า อานนท์ เธอระลึกถึงความตายวันละกี่หน” พระอานนท์ก็บอกว่าโอ้โฮระลึกตั้งหลายหน” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า โอ๋ยไม่ทันหรอก ต้องระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออกนู่นน่ะ

เวลาระลึกถึงความตาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่นชม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่นชมเลย บอกถูกต้อง ต้องระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก ไอ้นี่ได้ยินหลวงพ่อปรารภบ่อยมาก บ่อยมากยังนานๆ ครั้งหนึ่ง โอ้โฮถ้าองค์-สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่จะบอกว่าพระสงบนี่ประมาทมาก ระลึกถึงความตายช้ามาก เขาต้องระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออกนู่นน่ะ ไอ้นี่นานๆ ปรารภทีหนึ่ง ปรารภทีหนึ่ง พระพุทธเจ้ายังเอ็ดเลยนะเนี่ย แต่โยมไม่คิดแบบพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าคิด เห็นไหม เธอต้องระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก ถ้าระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก เราจะไม่ทะเลาะเบาะแว้งกับใครเลยเพราะอะไร เพราะกูจะตายแล้วไง ถ้าคนระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออกนะ เราจะไม่ทะเลาะเบาะแว้งกับใคร เราจะไม่ไปยึดมั่นสมบัติของใคร เราจะไม่ทำลายใคร เพราะเรารอวันตาย แต่นี่มันบอกไม่ใช่ เอาสมบัติมาเป็นของกูๆ กูจะเฝ้าสมบัตินั้น มันก็เที่ยวไปทะเลาะเบาะแว้งกับคนอื่นไง

นี่มุมมองของโยมไม่ตรงกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธ-เจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่นชมมาก องค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ถามพระอานนท์เอง อานนท์ เธอระลึกถึงความตายวันละกี่หน” “อู้ฮูตั้งหลายหน” “โอ๋ยช้าเกินไป ต้องระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก” เอวัง