ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ธรรมดำน้ำ

๕ มี.ค. ๒๕๖o

ธรรมดำน้ำ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : เรื่อง “พลังงานความร้อนออกจากจิตคืออะไรครับ”
ลูกนั่งสมาธิมีอาการคือมีความร้อนออกจากตัวขึ้นเรื่อยๆ ตอนนั่งเริ่มต้นลูกก็สงสัย แต่คิดในใจว่าอาการในสมาธิมีร้อยแปด ลูกก็เกาะพุทโธต่อไป ดูอาการไปเรื่อยๆ จนมีสมาธิและพลังงานความร้อนออกจากจิตก็กลมกลืนกัน จิตมีสมาธิแบบร้อนนิดๆ เพราะทุกทีจะเย็นๆ โดยส่วนมาก
๑. ถ้าพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวลูก จะพิจารณาความร้อนในการเผากิเลสตัวเองได้หรือเปล่าครับ
๒. ความร้อนที่เจอ ถ้าเราพิจารณาไปแล้ว ความร้อนจะเพิ่มขึ้นได้หรือเปล่าครับ ถ้าควบคุมไม่ได้
ขอหลวงพ่อแนะนำวิธีที่ถูกต้องให้ลูกด้วยครับ
ตอบ : วิธีที่ถูกต้อง เวลาเป็นสมาธิ สมาธิคือสมาธิ สมาธิไม่ใช่ความร้อน ความเย็น ความหนาว ไม่ใช่ใดๆ ทั้งสิ้น สมาธิคือสมาธิไง สมาธิคือความอบอุ่น สมาธิคือพลังงาน สมาธิคือตัวจิต ถ้าจิตเป็นสมาธิคือสมาธิ ที่เราทำกันเนี่ยเราทำให้จิตสงบ เวลาหลวงปู่มั่นท่านถามลูกศิษย์ท่าน “จิตเป็นอย่างไร จิตเป็นอย่างไร” ท่านถาม “จิตเป็นอย่างไรๆ” ท่านจะเช็ก เช็กว่าจิตเป็นอย่างไร
โดยธรรมชาติของเรา จิตของเราฟุ้งซ่าน จิตของเราเดือดร้อน จิตของเราทุกข์ยาก จิตของเรา จิตของเรา ที่มาวัดมาวากันเพราะมาเพื่ออบรมจิตใจของเราไง ถ้ามาเพื่ออบรมจิตใจของเรา อบรมด้วยอะไร อบรมด้วยคำบริกรรมพุทโธ พุทโธคือพุทธานุสติ พอบอกพุทโธๆ พุทโธมันคืออะไร พุทโธคือพุทธา-นุสติ มีสติตั้งอยู่กับคำบริกรรมว่าพุทโธๆ พุทโธคือพุทธะ พุทโธคือชื่อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วถ้ามันเป็นจริงๆ คือตัวพุทธะ คือตัวพลังงานในใจเรา คือตัวพุทโธแท้ แต่พุทโธแท้มันเป็นพลังงานที่ส่งออกมา มันถึงเป็นความรู้สึกนึกคิดที่ออกไปแผ่ไปซ่านทั่วโลก
นี้เวลาเราแผ่ซ่านทั่วโลก ศึกษาก็ศึกษาด้วยการแผ่ซ่านนี้ เวลาทำหน้าที่การงานก็ทำหน้าที่ด้วยการแผ่ซ่านนี้ แล้วก็ความเร่าร้อนก็ความเร่าร้อน เพราะแผ่ซ่านนี้มันทุกข์มันยาก มันทุกข์มันยาก พอมันทุกข์มันยาก วิธีการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ต้องมีความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจไม่สงบความแผ่ซ่านนี้มันเป็นโลก เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ เป็นสัญชาตญาณของจิต เราจะนึกคิด เราจะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยสัญชาตญาณอันนี้ ทำด้วยสัญชาตญาณอันนี้คือทำด้วยกิเลสไง
เราทำด้วยกิเลส ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมา-สัมพุทธเจ้า ก็ศึกษาด้วยสัญชาตญาณอันนี้ ศึกษาด้วยพลังงานอันนี้ ศึกษาด้วยการส่งออกหมด การคิดคือการส่งออก การรู้สึกนึกคิดเป็นการส่งออกหมด นี้เวลาจะประพฤติปฏิบัติธรรมท่านถึงบอกว่าให้สงบเข้ามาก่อน ถ้าสงบเข้ามาแล้วสงบจากความแผ่ซ่านอันนี้สงบเข้ามา สงบเข้ามาคือสมาธิ ฉะนั้น สมาธิไม่ใช่ความร้อน
เขาบอกว่า “พอภาวนาไปแล้วจิตมันร้อน ธรรมดามันเย็นๆ นี่มันร้อนๆ” เย็นๆ ก็ไม่ใช่ ร้อนๆ ก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ทั้งสิ้น เย็นๆ คือผลของมันไง ผลของความสุข ผลของความสงบระงับ มันก็มีความสุขมันก็ร่มเย็นไง แต่เวลามันอัดอั้นตันใจมันก็ร้อนไง ความร้อน ความร้อน ไม่ใช่ทั้งร้อนและเย็น ไม่ใช่ทั้งสิ้น
สมาธิคือสมาธิ คือมีสติรับรู้ รับรู้ความรู้สึกของเราอยู่ นี่คือสมาธิ สมาธิคือความรู้ที่ไม่พาดพิงอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่พาดพิงนั่นคือสมาธิ ถ้าสมาธิยังไม่ชัดเจน เป็นขณิกสมาธิมันก็ระลึกรู้ตัวมันได้ แต่มันยังคิดได้ มันพาดพิง ความรู้สึกที่คิดได้คือพาดพิง ถ้าความรู้สึกที่คิดไม่ได้ คิดไม่ได้ คิดไม่ได้ไม่ใช่หลับนะ คิดไม่ได้ไม่ใช่ตกภวังค์นะ คิดไม่ได้ไม่ใช่มันหายไปนะ คิดไม่ได้แต่รู้อยู่ชัดๆ นี้คือสมาธิ นี่คือสมาธิแท้ๆ
แต่ถ้ามันประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ผู้ถาม “พลังงานความร้อนที่ออกจากจิตคืออะไร” พลังงานความร้อนที่ออกจากจิตคืออาการที่ความรับรู้ ที่รับรู้ด้วยอุปาทานอะไร ถ้ารับรู้ด้วยอุปาทานร้อน ร้อน รับรู้ด้วยอุปาทานเย็น เย็น รับรู้ด้วยอะไร ถ้ามันรับรู้ได้ปกติ มันก็รับรู้โดยปกติของมันไง ฉะนั้น จะร้อนจะเย็นไม่ใช่ นี้พอจะร้อนจะเย็นขึ้นมา ร้อนเย็นเราก็ไปขั้วโลกเหนือสิ โอ้โฮ! ไปอยู่ขั้วโลกเหนือ สมาธิทั้งวันทั้งคืนเลย มันจะอดตายอยู่นั่นน่ะ
ถ้าร้อน ร้อน เห็นไหม เวลาร้อน น้ำเดือดๆ เขาเอาไว้ต้ม เวลาเขาฆ่าสัตว์ โรงงานฆ่าสัตว์ เวลาฆ่าเสร็จแล้วเขาต้องเข้าความร้อน ทั้งร้อน ทั้งเย็น ไม่ใช่ทั้งนั้น แต่มันเป็นอาการ คนไม่ใช่คนตาย คนมีชีวิตมันก็รับรู้ได้ทั้งนั้น ความรับรู้สิ่งต่างๆ เห็นไหม ความรับรู้ก็ความรับรู้ มันจะหยาบ มันจะละเอียด มันจะละเอียดเข้ามา
ฉะนั้น อะไรที่เกิดขึ้นก็แล้วแต่ เป็นอาการที่จิตมันรับรู้ทั้งนั้น ทีนี้อาการที่จิตรับรู้ เราจะทำสมาธิ เรากำหนดพุทโธไว้ชัดๆ พุทโธคือคำบริกรรมไง เพราะมีการบริกรรม มีการกระทำ ผลจากการกระทำ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ สมาธิไม่มีลอยมาจากฟ้า สมาธิไม่มาจากไหน สมาธิเกิดจากการกระทำทั้งสิ้น จะปัญญาอบรมสมาธิหรือจะใช้กรรมฐาน ๔๐ ห้อง จะทำสิ่งใดก็แล้วแต่ต้องมีการกระทำ ไม่มีการกระทำคือการเหม่อลอย
เห็นไหม เขาบอกว่า “ว่างๆ ว่างๆ” ว่างๆ คือเหม่อลอย เหม่อ ว่างๆ ว่างๆ เผอเรอ สมาธิหรือ แต่เขาเข้าใจว่าสมาธิ เพราะความเผลอไผลมันมีความสุขนะ คือไม่ต้องรับผิดชอบไง เออ! เผลอ เออ! สมาธิอะไรของเอ็ง เวลาเขาพูดๆ กัน เราคิดแค่นี้แหละ ที่เขามาบอกว่างๆ ว่างๆ เผอเรอ ปล่อยปละละเลย ไม่รับผิดชอบตัวเอง ไม่ทำอะไรทั้งสิ้น
สมาธิ สมาธิเป็นอย่างนั้นหรือ สมาธิคนชัดเจนมากนะ ถ้ามีสมาธิมันจะสำนึกตัวเองได้ คนเราถ้ามีสมาธิมันจะสำนึกตัวเองว่าเราเกิดมาทำไม เหมือนเรา พอเราโตขึ้นมา เราจะทบทวนตั้งแต่เราเป็นเด็ก เราทำอะไรผิดมาบ้าง เราเรียนอะไรมา ที่โรงเรียนเราได้เก๊แค่ไหน เราได้อ้อนพ่อแม่แค่ไหน โฮ! มันคิดแล้วมันแบบสะเทือนใจนะ ถ้ามีสมาธิจิตมันจะระลึกถึงตัวเขาเอง จิตจะมีความดีงามมากถ้าเป็นสัมมานะ ถ้าเป็นมิจฉาเป็นสมาธิแล้วไปสร้างคุณไสยนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ
ฉะนั้น จะบอกว่า ที่ว่า “จิตร้อนๆ ร้อนๆ มันคืออะไร” จิตร้อนๆ คืออาการของมันที่มันอัดอั้นตันใจ ไม่ใช่สมาธิ “แล้วจะพิจารณาร้อนๆ ได้หรือไม่” พิจารณาร้อนมันก็ร้อนต่อไปเรื่อยๆ ถ้าพิจารณาร้อนๆ อะไร พุทโธให้ชัดๆ แล้วสมาธิชัดๆ นี่พูดถึงว่า ความว่า “พลังงานความร้อนที่ออกมาจากจิตคืออะไร” ออกมาจากจิตคืออุปาทานทั้งสิ้น คือสิ่งที่อาการของมันที่ไปรับรู้ แต่ถ้าใครที่มีสติสัมปชัญญะมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีสติสัมปชัญญะที่ระลึกรู้ตัวอยู่เขาจะรู้ว่าไม่ใช่ทาง เขาจะปล่อยเขาจะวางไง วางความร้อนแล้วมาพุทโธเฉยๆ เดี๋ยวความร้อนก็หายไป
ความร้อนมันจะหายไป ความร้อนคือจิตมันไปเกาะ มันไปยึดมั่น ถ้าพูดถึงพอเรากลับมาพุทโธ ทุกอย่างหายหมด เย็นนี่ก็เหมือนกัน ทุกอย่างก็เหมือนกัน ทีนี้พอมันเย็นมันไม่ทุกข์ไง มันเย็นมันดีงามไง เห็นไหม ทุกข์ควรกำหนด เวลาทุกข์ควรกำหนด สุขล่ะ สุขก็เสวยไง แล้วทุกข์ควรกำหนด สุขก็จะขับไสใช่ไหม ทุกข์เราต้องยึด เราต้องเบรก ต้องกำหนดให้มันหยุด ถ้าสุข สุขเราก็เสวยอย่างนั้นเป็นทางดำเนินไป
คำถาม “๑. ถ้าพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวลูก จะพิจารณาความร้อนในการเผากิเลสตัวเองได้หรือไม่” ไม่ได้ การจะเผากิเลส เขาเผากิเลสด้วยปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่เผาด้วยความร้อน ถ้าเอาความร้อนมาเผา ก็ต้มสิ เข้าไป เดี๋ยวจะว่าเสียดสี ไม่ใช่ อย่าเข้าใจผิด ความร้อนนั้นเขาเอาไว้ทำอาหาร อาหารดิบ พอโดนความร้อนมันจะสุก แต่เผาผลาญกิเลสไม่ใช่อย่างนั้น
แต่ถ้าเป็นเจโตวิมุตติเขาพิจารณาโดยสมาธินะ มันจะเห็นภาพ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม แล้วพิจารณาเป็นไตรลักษณ์ พอเวลาเป็นลักษณะ พระไตรลักษณะผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ต้องการแสวงหามากนี้คือไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์คือการแปรปรวน คือกระบวนการของธรรมะที่จะทำลายกิเลส จะทำลายกิเลส เกิดจากศีล สมาธิ ปัญญาเป็นมรรค
ไอ้ความร้อน ความร้อนมีปัญญาไหม ความร้อนมีความคิดหรือ ความร้อนไม่มีอะไรทั้งสิ้น ความร้อนนี้มันเป็นตบะธรรม ถ้าเป็นพลังงาน พลังงานมันก็เป็นความร้อน ความร้อนอย่างนี้มันเป็นตัวมันเอง มันเป็นจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส ที่ว่าชีวิตเป็นพลังงาน พลังงานอวิชชาไง ตัวพลังงานคือตัวอวิชชา แล้วไปเอาอวิชชาไปพิจารณาวิชชามันจะได้อะไร ไม่ได้! กลับมาทำความสงบของใจแล้วใช้ปัญญา สิ่งที่เป็นปัญญานั้นถึงจะแก้กิเลส ไม่ใช่ว่าการพิจารณาความร้อนจะเผากิเลส ไม่มี!
“๒. ความร้อนที่เจอ ถ้าพิจารณาไปแล้ว ความร้อนจะเพิ่มขึ้นได้หรือเปล่าครับ” โอย! มันเพิ่มขึ้น ๒ เท่า ๓ เท่า เพราะว่ามันหลอกไง ความร้อนมันเป็นการจุดประกายประเด็นหลอกหัวใจ ร้อนๆๆ ไอ้หัวใจก็เสวยมันก็ร้อน ๒ เท่า ๓ เท่า อู๋ย! ยิ่งร้อนยิ่งดี ยิ่งร้อนยิ่งดี หลุด! ไม่ใช่! ไม่ใช่ทั้งร้อนและทั้งเย็น แต่! แต่อาการร้อน อาการเย็น มันเป็นจริตนิสัย เป็นจิตที่มันเจอกระบวนการอย่างนั้น จิตที่เจอกระบวนการอย่างนั้น จิตนี้ต้องแก้ไขตามกระบวนการที่ตัวเองเจอ
กระบวนการที่ตัวเองเจอคือเขาเรียกว่าจริตนิสัย คือกรรมเก่ากรรมของคน ความรู้สึกนึกคิดของคนไม่เหมือนกัน จิตนี้จะประสบเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ไม่เหมือนกัน แล้วจิตดวงเดียวนั่นแหละ บางทีประสบการณ์เหตุนี้ คราวหน้าก็ประสบการณ์ในการแบบนั้น คราวต่อไปก็จะประสบการณ์แบบอย่างหนึ่ง มันเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา มันไม่คงที่หรอก
ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “ความร้อน พิจารณาความร้อนเพิ่มมากขึ้น” มันก็เป็นความร้อนเพิ่มมากขึ้นเพราะเราหลงผิดแล้ว เพราะมันเอาความร้อนมาหลอก แล้วเราก็ตามความร้อนนั้นไป ความร้อนนั้นก็ร้อนมากขึ้นๆ มากขึ้นเพราะอะไร มากขึ้นให้ตื่นเต้น มากขึ้นให้สนใจ มากขึ้นให้ตามมันไปไง แล้วตามไปจนร้อนจนเต็มที่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ไม่ใช่! ไม่ใช่! กลับมาทำความสงบของใจ ใจสงบแล้วพิจารณาโดยเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม
ถ้าความร้อนมันเป็นอะไรล่ะ ความร้อนก็เป็นความร้อน ความร้อนเป็นความร้อน กำปั้นทุบดินเลย มันไม่ใช่ ถ้ามันไม่ใช่แล้วกลับมาทำความสงบของใจ แล้วตั้งกระบวนการใหม่ตั้งท่าใหม่ไง ถ้าจิตมันสงบแล้วมันถึงจะเห็นตามความเป็นจริง ถ้าจิตมันอย่างนี้ จิตเป็นความร้อน ความเย็น เราคิดดู เราอ่านดูแล้วเราจะบอกว่าไม่ใช่ มันไม่ใช่ใดๆ ทั้งสิ้น จะบอกว่าเป็นมิติก็ไม่ใช่ อะไรไม่ใช่ทั้งนั้น มันเป็นอาการ อาการมันเป็นอาการหลง อาการหลงที่โดยสมุฏฐาน คือโดยกรรมของจิตดวงใดมีกรรมมากกรรมน้อย อาการแสดงตามนั้น แล้วมันจะเป็นมากน้อยตามมันไป
ถ้ามีครูบาอาจารย์จะรั้งกลับหมด รั้งกลับหมด มันก็ย้อนกลับมาบัว ๔ เหล่าแล้ว บัว ๔ เหล่าคือจิตดวงนี้มันมีอาการแบบนี้ มันสร้างกรรมมาเป็นแบบนี้ อย่างนี้ก็ต้องแก้ตามกรรมเขา มันต้องสมบุกสมบันมากกว่าคนอื่น แต่คนอื่นเขาก็ภาวนาของเขา แล้วเขาก็ไปรู้ไปเห็นของเขา เพราะเขาได้สร้างบุญกุศลของเขามา เขารู้เขาเห็นตามความเป็นจริง ไอ้เราจะก๊อปปี้เขามาว่า เอ็งเห็นจริง ข้าก็เห็นจริงด้วย ไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้ มันเป็นความเห็นจริงจากภายใน
นี่พูดถึง “พิจารณาความร้อน” ไม่มี! แล้วถ้าพิจารณาความร้อนไม่มี เวลาเขาเพ่งกสิณ เพ่งกสิณไฟอย่างนี้ กสิณไฟเป็นกสิณ เขาต้องการไฟนั้นเพื่อให้จิตเกาะนั้นให้ใจสงบเข้ามา เวลาเพ่งกสิณ มันกสิณเพื่อความระงับในหัวใจนะ เพ่งกสิณก็อย่างหนึ่ง แต่ไอ้นี่ไปเห็นความร้อน ความร้อนก็เป็นความร้อน มันไม่ใช่อริยสัจ ไม่ใช่ความจริง ไม่ใช่ใดๆ ทั้งสิ้น จบ
ถาม : เรื่อง “ขอกราบขอขมาหลวงพ่อ และคำถามถามค่ะ”
หลวงพ่อ : ไอ้ขอขมาหลวงพ่อ จบ เพราะว่าไอ้ที่ว่าเวลาเขาเอาลูกเขามาไง เอาลูกเขามาด้วย เขาปรารถนาว่าเพื่อให้ลูกเขาได้ใกล้ชิดศาสนา แต่พอมาแล้วมันก็เลยกลายเป็นวิตกกังวล เราจะบอกว่าอย่างนี้ไง การที่เอาเด็กมาวัดมาวาดีมากๆ เพราะศาสนทายาท เราไม่มีเด็ก เราไม่มีผู้สืบต่อศาสนา ใครจะดูแล แต่เอามาแล้วมันระดับของทานใช่ไหม เรามา เห็นไหม เวลาเราดูเราแลของเรา เราแจกของชำร่วย แจกของเด็กๆ ก็แจกเป็นค่าน้ำใจไง
เราเคยแจกจากข้างในนะ เด็กที่เคยได้รับของเรา แล้วเขาไปวัดอื่น วัดอื่นเขาไม่แจก เขาถามพ่อเขา “พ่อ พ่อ ทำไมที่นี่เขาไม่แจก” เขาไม่แจกหรอก เขามีแต่เอา ไอ้ของเราแจก เวลาเราแจก ผู้ใหญ่ก็ไม่แจกด้วย ถ้าผู้ใหญ่แจกมันเป็นการอะไรนะ ประจบสอพลอ เวลาแจกผู้ใหญ่ แจกเอาใจ เอาใจ นี่คือการสอพลอ แต่เด็กๆ น่ะ เด็กๆ น้ำใจไง เราให้เด็ก ให้เด็กมันบอกว่ามันตื่นเต้น ให้มันบอกว่ามันมาแล้วมันได้ผลประโยชน์ นี่หัวใจของเด็ก
ถ้าหัวใจของผู้ใหญ่ก็เทศน์นี่ไง ที่พูดธรรมะ ธรรมะ หัวใจผู้ใหญ่ แต่เวลาเด็กนะ เราให้ ให้เป็นสินน้ำใจ ให้เป็นรางวัล ให้เป็นสิ่งที่เขาควรมาวัด แล้วต่อไปเขามาวัดมาวา เขามาวัดเราเรื่อยๆ มันจะมีข้อวัตรของเรา เวลาเขาไปวัดอื่นเขาจะแปลกใจ มีเด็กในตลาดเขามาที่นี่ เขาพูดกับพ่อเขา เพราะอยู่ข้างในเราแจกนมอย่างนี้ มันได้ทุกทีเลย มาใส่บาตรจะได้ยาคูลท์ทุกวัน เวลาเขาไปวัดอื่น “ทำไมเขาไม่แจกล่ะ ทำไมเขาไม่แจก” พ่อเขาตอบไม่ได้นะ แต่เขาก็พามาหาเรา เขาไม่แจกหรอก เขามีแต่เอา แจกผิดศีล แจกไม่ได้ ถ้ารับได้ ได้ นี่ความเห็นนะ
นี้ธรรมะก็เป็นธรรมะนะ ข้อวัตรมันมีว่าของที่ได้มาเขาถวายพระ พระต้องฉัน แล้วเหลือจากฉันแล้วถึงได้แจกฆราวาส พระจะไปแจกก่อนที่จะฉัน เขาบอกว่าบุญเขาตกล่วง เราบอกว่าจะตกล่วงที่ไหน พอเวลาเขาใส่บาตรแล้วก็คือจบแล้ว สิ่งที่มันอยู่ที่กาลเทศะไง คือว่าถ้าเด็กมันมาใส่บาตรแล้วมันจะกลับบ้าน เราก็ควรให้มันไปก่อนใช่ไหม เพราะเขาบอกรับไม่ได้นะ มันจะเป็นบาปเป็นกรรม เป็นบาปเป็นกรรมคนแจกเป็นบาปก่อน เพราะเขาให้คนคนนั้น เขาให้พระองค์นั้น ถ้าพระองค์นั้นได้รับแล้วแจกออกไป เขาให้เป็นของพระองค์นั้น
เหมือนกับเราเป็นผู้เอาจากวัตถุคนหนึ่งไปให้คนหนึ่ง เราเป็นคนน่ะเป็นคนแจก มีคนเขาถากเขาถางเยอะแยะไปหมด เพราะวัยวุฒินะ วุฒิภาวะของสัตว์โลกมันแตกต่างกันมาก ความรู้ความเห็นมันแตกต่างกันมาก เขาศึกษามาตามตัวอักษร เขาก็ยึดมั่นเลย พระยังแจกไม่ได้นะ พระจะแจกก็ต่อเมื่อพระสัพพีฯ ก่อน เขาพูดนะ สัพพีฯ ก่อนก็ของกูเน่าแล้ว เณรมันกลับบ้านหมดแล้ว แจกก่อน นี่พูดถึงเด็กๆ นะ
ฉะนั้น ว่าเอาเด็กมาวัดมาวามันเป็นสิ่งที่เราฝังไว้ พ่อแม่มีบุญมาก เอามาฝังไว้เป็นนิสัยมัน ถ้าเป็นนิสัยของมันนะ เด็กมันเลี้ยงดูง่าย เด็กที่มีศีลมีธรรม พ่อแม่โอ้โฮ! ปล่อยปละละเลย พอมันดื้อด้านแล้วก็จะเอาเข้ามาวัด แล้วก็มานั่งร้องไห้ๆ เวลาเอ็งจะเอาเขามาวัด เอ็งก็ไม่ได้คิด เสียเวลา ต้องทำมาหากิน แล้วตอนปล่อยมันไป มันก็ไปคบเพื่อน เพื่อนมันก็พาไปสำมะเลเทเมา เวลามันเสียไปแล้วก็ค่อยมาคิดได้ แต่เขาพามาตั้งแต่เล็กแต่น้อย ปลูกฝังมันไว้ๆ นี่เราให้รางวัล
นี่พูดถึงเด็กนะ แต่มันเป็นเรื่องส่วนตัวกับเรื่องส่วนรวม เรื่องส่วนตัวคือเรื่องครอบครัวของเรา เรื่องลูกเรื่องหลานของเรา เราเอามาแล้วเป็นเรื่องส่วนตัว ในเมื่อเราได้ประโยชน์แล้ว เราก็ต้องควบคุมดูแล อย่าให้ไปรบกวนส่วนรวม ส่วนรวมคือเวลามาวัดมาวาแล้ว พระจะเทศนาว่าการ ทุกคนที่เขามาวัดเขาตั้งใจมาฟังธรรม เขาตั้งใจมาประพฤติปฏิบัติ เขาต้องการความสงบระงับ
มันเรื่องส่วนตัว มันเรื่องส่วนตัว เรื่องส่วนตัวเราได้แล้ว แล้วเรื่องส่วนรวมที่มันไปกระทบส่วนรวมน่ะ แล้วเราเป็นคนกลาง เวลามา เห็นไหม แจกขนมแจกทุกๆ อย่าง เดี๋ยวด่าแล้ว อ้าว! เรื่องส่วนตัวได้แจกแล้ว ได้ดูแลแล้ว แต่เรื่องส่วนรวมที่มันทำผิด มันไปกระทบกระเทือนคนอื่น หัวใจทุกหัวใจเขามีสิทธิเสรีภาพเหมือนกัน หัวใจทุกหัวใจเขามาวัดมาวาเพื่อจะฟังธรรมเหมือนกัน แล้วเอาเด็กคนคนหนึ่ง เวลามาเที่ยวเดิน มาเที่ยวส่งเสียงดัง ให้ไปกระทบกระเทือนผู้ที่เขามาแสวงหาสัจธรรม มันเป็นเรื่องส่วนรวม
ในศาลามันมีทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ถ้าส่วนรวม หัวใจของส่วนรวม คนทั้งศาลา เราเอาลูกมาคนหนึ่งมาร้องแว้ๆ อยู่กลางศาลา แล้วคนทั้งศาลาเลยไม่ใช่คนหรือไง คนทั้งศาลานี่ก็คนนะ ฉะนั้น เราเอาลูกของเรามา เราก็ควรดูแลสิ นั้นเป็นสิทธิ์ไง ที่เอามามันก็ดี แต่เอามาแล้วเราก็ต้องดูแลของเรา เราต้องเสียสละ ต้องควบคุมดูแลให้ได้ อย่าไปกวนคนอื่นเขา เพราะคนอื่นเขาตั้งใจ เขาตั้งใจจะฟังเทศน์ เขาตั้งใจมาเพื่อฟังธรรม แล้วเราเอาลูกของเราไปกวนเขา นี่เรื่องส่วนรวม มันมีทั้งส่วนตัวด้วยและส่วนรวมด้วย
นี่พูดถึงไม่อยากจะลงลึกมากเกินไป ให้เข้าใจนี่เป็นการขอขมา แต่เราไม่ถือสานะ แต่เราพูดเป็นหลัก พูดเป็นหลักเพราะว่าเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เทศน์ทุกวัน ไม่จองเวรจองกรรม แต่มันเป็นปัจจุบันมันเกิดต่อหน้า เกิดซึ่งๆ หน้า ของที่มันเกิดซึ่งๆ หน้า ความผิดซึ่งหน้า มันต้องจัดการ ถ้าความผิดซึ่งหน้าเรายังตัดสินไม่ได้ เรายังจัดการไม่ได้ เราจะไปสอนใคร ถ้าความผิดซึ่งหน้าไง แต่เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ไม่จองเวรจองกรรมใครทั้งสิ้น แต่ถ้าซึ่งๆ หน้าโดนทุกที ซึ่งๆ หน้าส่วนรวม ส่วนรวม
ฉะนั้น คำถาม “และลูกก็ขอสารภาพว่า ลูกได้แต่เห็นความเป็นตัวกู ของกู ตัวเองและลูกกำลังทำอะไรไม่ได้ อบรมใจตัวเองให้ละไม่ได้ เหมือนเห็นโจรแล้วทำอะไรมันไม่ได้ กำลังไม่พอค่ะ ฝืนก็ไม่ได้ ต้องวางและถอยใจออกมาพัก พอนั่งสมาธิได้ครู่เดียว สามีก็มาเรียกแล้วค่ะ วันนี้เลยยุติเพียงเท่านี้ค่ะ เป็นเพราะลูกร้างการภาวนามานานหรือเปล่าคะ ความคุ้นชินกับสถานที่ทำให้คุมสติยาก ไหลง่ายมากค่ะ ตั้งแต่มาวัดเมื่อตอนมาฆบูชาไม่ได้เดินจงกรมอีกเลย”
นี่คำถามเขานะ คำถาม เราเอาคำถามขึ้นมาถามแล้วจะบอกว่า สิ่งที่เขาทำอยู่เป็นการฝึกหัดการภาวนาของเรานะ ถ้าเป็นการภาวนาของเรา สิ่งที่ปัญญาที่มันเกิดขึ้นเขาเรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ เวลาเรากำหนดพุทโธ เราใช้ลมหายใจเข้าออก เราเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาเพื่อความสงบ ถ้าเพื่อความสงบ ถ้ามันทำแล้วมันไม่ถูกจริต ไม่ถูกนิสัย
ถ้าเรามีความคิดมากๆ แล้วความคิดที่มันคิดเรามีสติปัญญาไล่ความคิด ถามตัวเองไง คิดอะไร คิดเพื่ออะไร เขาเรียกปัญญา มันก็วางได้ วางได้ เราให้หัดทำแบบนี้ ถ้าหัดทำแบบนี้สิ่งที่เขาเขียนมา เขียนมา ที่ว่าใช้ความคิด ความคิดที่เดินจงกรมแล้วคิดแต่เรื่องต่างๆ ถ้าสติมันทัน มันก็รู้ว่ามันคิดไง แต่ถ้าสติไม่ทันนะ เพลิน แล้วเราดี เราเด่น เราคิดไปถูกเลย
ถ้าสติมันทันเราคิดเรื่องอะไรล่ะ เราคิดในเรื่องไร้สาระ เรื่องอารมณ์ความรู้สึก ไร้สาระมากเลย แต่ถ้ามันมีสติปัญญามันทันมันจะรู้เลยว่าความคิดไร้สาระ ถ้าความคิดไร้สาระ ของที่ไร้สาระ เราคิดไหม เราก็วาง วางนั่นคือสมาธิ แต่แป๊บเดียวเดี๋ยวคิดอีก คิดอีกเราก็ใช้ปัญญาต่อเนื่องไป เขาเรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิก็รักษาใจให้สงบระงับขึ้นมา แล้วใจมันจะดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วความคิดมันจะเร็วขึ้นเรื่อยๆ สติจะเร็วขึ้นเรื่อยๆ เท่าทันความคิดเรื่อยๆ ความคิดมันจะเบาลงๆ เบาลงจนเวลาจะคิดนะแอ๊ะ! แอ๊ะ! มันอาย ไม่กล้าคิด ไม่กล้าคิด
ถ้าสติมันทันนะถ้าปัญญาอบรมสมาธิ คิดดูสิ เราจะคิด ไม่คิด เราควบคุมได้หมด มันจะพัฒนาขึ้นไหม เขาเรียกปัญญาอบรมสมาธิ ทำอย่างนี้ทำถูกต้องแล้ว พยายามฝึกหัดอย่างนี้ จะน้อยใจว่าทำสมาธิได้ยาก ทำภาวนาได้ยาก อยู่บ้านแล้วไม่ได้ทำ พยายามฝึกหัดทำของเรา แล้ว! สิ่งที่เกิดขึ้นนี้มันเป็นกรรมของสัตว์ เป็นกรรมของสัตว์ไง เพราะเรามีฐานะ มีหน้าที่ เป็นแม่ เป็นลูก เป็นภรรยา มันก็มีภาระ มีภาระทั้งนั้น
เพราะเราเป็นภรรยาต้องมีภาระรับผิดชอบ เป็นแม่ หน้าที่ของแม่ก็ต้องรับผิดชอบ เราอยากภาวนาอีก มีภาระภรรยา มีภาระแม่ แล้วยังมีภาระอยากปฏิบัติ ก็ต้องค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ หาทางใช้ปัญญาของตน ปัญญาของตนค่อยๆ ทำของเรา เรามีภาระหน้าที่ ทำตามหน้าที่ หน้าที่ไหนมันเป็นหน้าที่เด่น หน้าที่ที่ตาม เอาอย่างนั้นก่อน จบ
ถาม : เรื่อง “การแก้ไขกรณีติดขัดข้อธรรมในอริยภูมิ”
กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง กระผมมีความสงสัยเรื่องการติดหรือหลงในการปฏิบัติธรรม จากที่ได้อ่านและฟังธรรมของหลวงพ่อมาหลายๆ บท (ไม่ได้สงสัยในธรรมของ หลวงพ่อนะครับ) กระผมขอสรุปคำถามดังนี้
๑. กรณีที่ผู้ปฏิบัติธรรมแล้วติดขัดในอริยภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่ง ยกตัวอย่าง เช่น ท่านติดในโสดาบัน เช่น พิจารณาไม่ตกในข้อธรรมใดก็ตาม ขออภัยนะครับ ผมใช้ภาษาไม่เป็น และขออนุญาตกล่าวอ้างครับ
ในหลวงพ่อเทศน์ว่าหลวงตามหาบัวท่านกรุณาไปช่วยแก้ให้พระที่ติดขัดหลายองค์นั้น ผมเดาว่าพระหลายองค์นั้นกำลังอยู่ในอริยภูมิใดภูมิหนึ่งใช่หรือไม่ครับ หรืออาจจะยังไม่เข้าอริยภูมิก็เป็นได้ ผมอยากทราบว่าถ้าหลวงตาไม่ไปเมตตาช่วยแก้ไข พระองค์นั้นจะติดอยู่จะสามารถแก้ไขตนเองให้ทะลุหรือบรรลุธรรมถึงขั้นสูงสุดต่อไปได้เองหรือไม่ สืบเนื่องจาก (ยกตัวอย่าง ถ้าบรรลุโสดาบันแล้วเกิดไม่เกิด ๗ ชาติ คล้ายๆ ว่าอย่างไรก็ต้องบรรลุแน่ๆ รอ ๗ ชาติ)
๒. คำว่า “โสดาบันเกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ” นี่แหละครับที่ผมงง คือว่ามีผู้มีบารมีธรรมมาช่วยแก้ไขท่านติดขัดได้ ถือว่าเป็นบุญวาสนาของท่าน คล้ายว่าย่นระยะเวลาลงหรือไม่ครับ ถ้าไม่มี ท่านจะเกิดตายอีก ๗ ชาติ แล้วบรรลุอรหันต์อัตโนมัติเลยหรือ โดยที่ท่านจะต้องแก้ไขเอง หรือว่าต้องมีการกระทำร่วมด้วยหรือไม่ครับ คืออย่างไรต้องบรรลุ ถ้าแบบนั้นแสดงว่าโสดาบัน ผู้ที่เข้าสู่ระดับนี้โดยจริงๆ ท่านจะขวนขวาย เพื่อจะขึ้นสู่ธรรมที่สูงขึ้นไปใช่หรือไม่ครับ
๓. มีหรือไม่บรรลุโสดาบันแล้วพอใจแล้วเอาแค่นี้ เพราะสมัยนี้ผมเห็นใครๆ ก็บอกว่า ฉันเป็นโสดาบันแล้ว แต่ดูแล้วแปลกๆ ครับ ทำไมเป็นง่ายขนาดนั้น หรือว่าเป็นของปลอม เพราะดูแล้วขี้เกียจ ถ้าแบบนั้นคงจะเข้าล็อกว่าเกิดตาย เกิดตายให้ครบ ๗ ชาติ แค่เกิดตาย เกิดตาย มันคงแปลกพิลึกครับว่าไม่ได้กระทำใดๆ ต้องขออภัยครับถ้าคำถามดูงงๆ ครับ ขออภัยด้วยครับ ผมอาจใช้ภาษาไม่ถูกธรรม เพราะเป็นความสงสัยผู้ที่ศึกษาอ่านธรรม แต่ยังปฏิบัติไม่ก้าวหน้า
หลวงพ่อ : เขาถามมาเนาะ มันเป็นธรรมะดำน้ำ มันจะดำน้ำแล้ว ฉะนั้น สิ่งที่ว่าคำถาม คำถามของเขาสงสัยในการอริยภูมิ สิ่งที่ว่าอริยภูมิที่เริ่มต้นพระอริยภูมิ เห็นไหม ที่ว่า “หลวงตามหาบัวท่านกรุณาไปช่วยแก้พระที่ติดขัดหลายองค์นั้น ผมเดาว่าหลายองค์นั้นกำลังถึงขั้นอริยภูมิขั้นใดขั้นหนึ่งใช่หรือไม่ครับ หรือว่ายังไม่เข้าสู่อริยภูมิ”
ตอบ : สิ่งที่ว่าหลวงตาท่านไปแก้ไข แก้ไข ท่านไปแก้ไขหลวงปู่คำดี ท่านไปแก้หลวงปู่บัว เวลาท่านไปแก้นะ เวลาแก้ครูบา-อาจารย์ ท่านอยู่ในขั้นชั้นสูง แต่เวลาท่านอยู่ที่บ้านตาด ท่านอยู่ที่อยู่ ท่านพยายามเทศนาว่าการ ไอ้พวกที่อยู่ที่ยังไม่บรรลุธรรม ที่ยังไม่เห็นธรรม เวลายังไม่เห็นธรรมนะ ท่านเทศน์บนศาลาอย่างนี้ ท่านเทศน์บนศาลาเทศน์เหมือนหลวงปู่มั่น
เวลาหลวงปู่มั่น เห็นไหม ท่านเทศน์ เวลาท่านเทศน์เรื่องสมาธิเลย เวลาเทศน์เรื่องสมาธิขึ้นไปแล้วก็เริ่มปฏิบัติขึ้นไป ตั้งแต่โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี แล้วแต่ว่าจิตของใครอยู่ในภูมิใด ขั้นใด ถ้าอยู่ภูมิใดขั้นใด เวลาเทศน์ เทศน์เป็นส่วนรวมไง แต่ถ้าเป็นส่วนรวมนะ เวลาเทศน์เป็นส่วนรวมแล้ว สิ่งใดผู้ที่ประพฤติปฏิบัติผู้ที่ติดขัด ส่วนใหญ่แล้วท่านจะเข้าไปหาครูบาอาจารย์โดยส่วนตัว โดยส่วนตัว ท่านจะไปแก้กันโดยส่วนตัว
ถ้าแก้กันโดยส่วนตัวนะ หลวงตา ครูบาอาจารย์นะ ท่านจะแก้กันโดยส่วนตัว ส่วนตัวหมายความว่าจริตนิสัยของคนนั้นมันติดอย่างนั้น มันมีความเห็นอย่างนั้น ท่านจะใส่ ใส่เต็มที่เลย แล้วท่านก็จะเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์กับหมู่คณะ สิ่งที่เป็นประโยชน์กับหมู่คณะมันเป็นโดยสภาวะแวดล้อม สภาวะโดยสัจธรรมโดยทั่วไป ท่านจะมาเทศน์บนศาลา เวลาเทศน์บนศาลา เวลาเทศน์พระที่ยังไม่ได้อะไรเลย ท่านก็เทศน์เป็นอริยสัจ เทศน์เป็นความจริงนี่แหละ
แต่! แต่คนที่ไม่มีวุฒิภาวะมันจะฟังไม่รู้เรื่อง มันจะจับประเด็นไม่ได้ มันจับประเด็นไม่ได้เพราะเราไม่รู้ ถ้าเราไม่รู้ เราไม่รู้สูตร ไม่รู้ทฤษฎีสิ่งใดเลย เราจะไปเข้าใจได้อย่างไร คนที่เขาศึกษา การศึกษาเขาต้องท่องสูตร ท่องทฤษฎีของเขาก่อน ท่องสูตรทฤษฎีของเขาก่อนนะ พอเขารู้ถึงทฤษฎีแล้วเวลาครูบา-อาจารย์ท่านพูดมันจะเทียบเคียงได้
นี่ก็เหมือนกัน คนที่ประพฤติปฏิบัติถ้ามันมีพื้นฐานขึ้นมา พอมีพื้นฐานขึ้นมา เวลาครูบาอาจารย์เทศน์ขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป มันจะคอยถึงว่าระดับของเรา ระดับของเรา ระดับที่เราต่ำอยู่เนี่ยเทศน์มามันจะเข้าใจได้ แต่ระดับที่เรากำลังปีนป่ายอยู่มันจะหาช่องทางไป ถ้าระดับที่สูงขึ้นไปมันจะไปได้อย่างไร นี้โดยส่วนรวมไง เมื่อกี้พูดถึงโดยส่วนบุคคลกับโดยส่วนรวม โดยส่วนรวมท่านเทศน์อย่างนี้ แต่โดยส่วนตัว ส่วนตัว มันต้องเข้าไปแก้ไขโดยส่วนตัวก่อน นี่พูดถึงว่าเวลาท่านพระมหาบัวท่านไปแก้
“ผมเข้าใจว่าพระที่แก้อยู่ในขั้นอริยภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่งใช่หรือไม่ครับ หรือที่ยังไม่ได้เลย” เป็นทั้งสองอย่าง แต่อย่างที่เป็นอริยภูมิสุดยอดมาก สุดยอดมาก เพราะพอแก้ไปแล้ว พอหลวงปู่บัว พระมหาบัวไปแก้หลวงปู่บัว เวลาที่จะไปแก้ เวลาท่านบอก อ้าว! เวลาให้หลวงพ่อบัวพูด พูดจบ อุ๊ยตาย! คำว่า “อุ๊ยตาย!” มันรู้แล้วแค่ไหน แสดงว่าหลวงปู่บัวท่านไม่รู้ ฉะนั้น ท่านก็บอกว่าให้ทำอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ทำอย่างนี้โดยส่วนตัว แล้วท่านก็ไปสวดมนต์ พอสวดมนต์กลับมา พอตี ๔ หลวงปู่บัวมาแล้วกอกแกก กอกแกก ขึ้นมาแล้ว “อุ๊ยตาย!”
เวลาหลวงปู่บัวท่านติด หลวงตาพระมหาบัวท่านบอก “อุ๊ยตาย!” แสดงว่าติดอยู่ไง ติดอยู่ท่านก็บอกวิธีการให้หลวงพ่อบัวไปปฏิบัติ พอหลวงพ่อบัวปฏิบัติเสร็จ กลับมาหาหลวงตา “อุ๊ยตาย! อุ๊ยตาย!” ว่าถ้าไม่ได้บอกอุ๊ยตาย! ถ้าไม่ได้บอกมันมาไม่ได้ไง แล้วเราบอกว่า พอมันมาได้แล้ว พอมันผ่านไปแล้วมันถึงอันเดียวกัน ฉะนั้น เวลาหลวงตาพระมหาบัวท่านไปแก้ไขๆ ถ้าแก้แล้วคนที่ได้รับการแก้ไขแล้วมันจะมีวุฒิภาวะเหมือนกัน อันเดียวกัน ธรรมอันเดียวกัน ถ้ามันแก้แล้ว ถ้ายังไม่แก้ เห็นไหม มันมีสูงมีต่ำ มันต่างกันๆ ความเห็นมันก็ต่างกัน แต่เวลามันเหมือนกันแล้วมันอันเดียวกันๆ นี่พูดถึงว่า เวลาท่านไปแก้นะ
“ผมเข้าใจว่า ผมอยากทราบว่าถ้าหลวงตาถ้าไม่ไปเมตตาแก้ไขพระองค์นั้นจะติดอยู่ จะสามารถแก้ไขให้ทะลุธรรมขั้นสูงสุดต่อไปได้เองหรือไม่”
มันก็เป็นกรรมของสัตว์ บางองค์ติดอย่างนั้นจนตาย บางองค์ติดอย่างนั้นก็ได้แค่นั้นไง แต่ถ้าบางองค์ท่านก็มีความสามารถแก้บรรลุไปได้ แต่ก็ต้องใช้ความสามารถอย่างมากๆ อย่างเช่น พวกเรา เราทำงานกันจนเต็มกำลังของเราแล้ว แล้วเราจะทำอะไรต่อ เราก็ทำเต็มกำลังแล้วเนาะ สมาธิก็สมาธิ ใส่เต็มที่แล้ว ปัญญาก็ได้ช่วยโถมใส่จนหมดเนื้อหมดตัวแล้ว มันก็ได้แค่นี้ ก็ทำอยู่อย่างนั้นมันก็ได้แค่นี้ พอทำไปๆ มันก็จะคิด “เออ! หรือมันมีแค่นี้” ถ้าเออ! หรือมันมีแค่นี้ เห็นไหม ไปไม่ได้ ก็ติดอยู่แค่นั้น
แต่ถ้าคนที่เขามีอำนาจวาสนา เขาก็พยายามของเขา เขาก็ตะเกียกตะกายของเขา ไอ้ที่ว่าไม่ได้ๆ ก็ตะเกียกตะกายไปเรื่อย เพิ่มอำนาจวาสนาไปเรื่อย พอถึงเวลาก็เอ๊อะ! อู้ย! มันมีทางไปอีก มันมีอย่างนี้อีกๆ นี่ไง ถ้ามันจะไปได้มันจะเห็นช่องทางไง อ๋อ! ต้องเพิ่มสมาธิมากขึ้น สมาธิแล้วต้องมีปัญญาให้มากขึ้น พอมากขึ้นแล้ว พอพิจารณาไปแล้ว พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันจะรวมกันอย่างนี้ มันจะมีความสมดุลอย่างนี้ แล้วมันเป็นสติ มันเป็นมหาสติ
มันถึงคนที่ปฏิบัติเขาจะเห็นสติ มหาสติมันมีความแตกต่างกันอย่างไร ปัญญา มหาปัญญา ปัญญาที่เคยใช้ว่าสุดยอดๆๆ เวลาไปเจอมหาปัญญา โอ้โฮ! ปัญญานี่ชิดซ้าย ไอ้ว่าสุดยอดๆ ขี้หมา มหาปัญญามันใหญ่กว่า โอ้โฮ! มันลึกลับซับซ้อนเวลามันจะทะลุทะลวงไปได้
นี่พูดถึงไง เพราะเขาถามว่า “ถ้าหลวงตาไม่ไปช่วยแก้ไข พระองค์นั้นจะมีความสามารถแก้ไขไปได้หรือไม่”
ถ้าจะแก้ไขไปได้มันก็ต้องมีวาสนา ถ้าแก้ไขไปได้นะ แล้วถ้าแก้ไขไปได้ เวลาหลวงตาท่านไปเที่ยวป่าแล้วท่านไปติดขัด ติดขัดปั๊บ ถ้ามันไม่ไกลจากหนองผือท่านจะกลับมาหาหลวงปู่มั่นเลย พอกลับมาหาหลวงปู่มั่นพอถามปั๊บ ผลัวะ! ผลัวะ! มันทะลุทะลวงหัวใจก็จบ ท่านบอกว่า “ถ้าไม่ไปนะ ถ้าเราแก้เองอย่างน้อย ๗ วัน หรือเดือนหนึ่งยังแก้ไม่ได้เลย” อย่างเช่น เวลาเราไปเจอสิ่งใดที่มันขึ้นมาในใจ เจอสิ่งใด เจอปมในใจ พอจับได้ พิจารณาแล้วพิจารณาเล่าไปนะ เดือนหนึ่งยังไม่จบ บางทีไม่ใช่เดือนหนึ่งนะ พิจารณาไปๆ ถอยเลย เออ! ไม่ได้แล้ว จบ
ถ้าแก้เองอย่างน้อยเสียเวลาอย่างมากแก้ไม่ได้ อย่างน้อยเสียเวลาอย่างมากแก้ไม่ได้ แก้ไม่ได้ก็ม้วนเสื่อ ม้วนเสื่อก็เก็บไว้อย่างนั้น ก็ไปเอาใหม่ ก็ไปเจอปัญหาเก่านี่แหละ ถ้าเราแก้ไม่ได้มันก็คาอยู่อย่างนั้น ไปภาวนาที่ไหน ไปทำอย่างไรนะ ปัญหานี้ปัญหาที่ต้องผ่าน ถ้าไม่ผ่านก็อยู่อย่างนั้น ภาวนาไปก็เป็นภาวนา แต่ไม่ได้ผล ถ้าแก้ไม่ได้ ถ้าแก้ไม่ได้มันไปไม่ได้ ถ้าแก้ได้ก็ต้องสมบุกสมบัน นี่พูดถึงว่า คนปฏิบัติจริงถึงจะเห็นจริงไง
แล้วบอกว่า “มันจะเป็นเอง เป็นเอง” เป็นเองตรงไหน ถ้าเป็นเอง หลวงตาท่านพูดอยู่ “ถ้ามันเป็นไปเองนะเราไม่ติดสมาธิ ๕ ปี” ท่านบอกเลย ถ้ามันจะเป็นไปเอง มันไม่เป็น ไม่มีทาง เป็นไปเองได้อย่างไร ไม่มีอะไรที่เป็นไปเอง ไม่มี!
ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุมันต้องมีเหตุมีผล มีการกระทำ เป็นไปเองไม่มี เป็นไปเองก็ตกภวังค์ไง เป็นไปเองก็พรหมลูกฟักไง เป็นไปเองก็นอนตายอยู่นั่นไง ไม่มีสิทธิ์ พูดถึงถ้ามันแบบว่า “ท่านจะแก้ไปได้หรือไม่ สืบเนื่องจากยกตัวอย่าง ถ้าบรรลุโสดาบันแล้ว เกิดไม่เกินอีก ๗ ชาติ คล้ายๆ ว่าอย่างไรก็ต้องบรรลุธรรมแน่ๆ รอ ๗ ชาติ”
“๒. คำว่า โสดาบันเกิดอีก ๗ ชาติ”
ไอ้นี่มันเป็นการสับสนไง เป็นการสับสนของคนฟัง เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการๆ นะ บอกว่าพอบรรลุโสดาบัน เกิดอีก ๗ ชาติ คำว่า “บรรลุโสดาบัน” คนที่บรรลุโสดาบันนะมันเหมือนกับคนทำประสบความสำเร็จตามธรรมนั้น พอตามธรรมนั้นมันจะได้วุฒิภาวะธรรมขั้นนั้น ถ้ามันได้วุฒิภาวะธรรมขั้นนั้น ดูสิ เราเป็นปุถุชนกัน เรารู้ไหมเราจะเกิดอีกกี่ชาติ เราสงสัยกันไหม เรารู้เกิดอีกกี่ชาติมันไม่มีคำตอบหรอก เฉยอยู่อย่างนี้ ฟังธรรม ค้นคว้าธรรม ศึกษาธรรมแล้วก็งงๆ อยู่อย่างนี้ แต่ถ้าบรรลุธรรม ผลัวะ! อย่างมากไม่เกินอีก ๗ ชาตินี้มันเป็นผลตอบรับ มันเป็นผลของที่ได้โสดาบันอย่างมากไม่เกินอีก ๗ ชาติ อย่างมากนะ ไม่เกินอีก ๗ ชาติ
แต่พระอานนท์ท่านบรรลุโสดาบัน ตั้งแต่องค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้ายังดำรงชีพอยู่ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัม-พุทธเจ้านิพพานไปแล้ว พระอานนท์ก็ประพฤติปฏิบัติต่อ จนพระอานนท์เป็นพระอรหันต์ มีอีก ๗ ชาติไหม อีก ๗ ชาติหมายถึงว่าพระโสดาบันถ้าจะมีการเกิด การตายอีก ๗ ชาติ แต่ในอีก ๗ ชาติท่านจะภาวนาอย่างไรให้มันพ้นไป ขอให้ได้โสดาบันก่อน ถ้าโสดาบันแล้วมันมีขอบเขตไง มันไม่ใช่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะไม่มีขอบเขตไง
ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบุพเพนิวาสานุ-สติญาณไม่มีขอบไม่มีเขต แต่ถ้าเป็นพระโสดาบันนะอย่างมากอีก ๗ ชาติ หรือไม่ต้อง ๗ ชาติ ชาตินี้ล่ะ อย่างมากอีก ๗ ชาติ ระดับของมัน คุณสมบัติของมัน ฐานะของมัน ฐานะของโสดาบันอย่างมากอีก ๗ ชาติ อย่างมาก อย่างน้อยชาตินี้เลย ฐานะของโสดาบัน สถานะของโสดาบันอีก ๗ ชาติ
แต่! แต่ไม่ใช่ว่า คำว่า “ถ้าว่าโสดาบันเกิดไม่เกินอีก ๗ ชาติ” แล้วผู้ที่มีบารมีจะมาช่วยแก้ไข ไม่ใช่! อีก ๗ ชาติเป็นสถานะของโสดาบัน โสดาบันเกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ ไม่เกิน ๗ ชาติ แต่ใน ๗ ชาตินั้น เวลาเกิด เห็นไหม ดูสิ อย่างนางวิสาขาเป็นพระโสดาบันตั้งแต่สมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดำรงชีพอยู่ เพราะเขาพอใจแค่นั้น นี่อีก ๗ ชาติ แต่ถ้าพูดถึงว่าเป็นพระโสดาบัน สถานะของโสดาบันอีก ๗ ชาติ
แต่! แต่เขาบอกว่า “ผมงงๆ ว่ามันจะต้องแก้ไขอย่างไร มีบุญอำนาจวาสนา คล้ายว่าย่นระยะเวลาหรือไม่ เวลาคำว่า ๗ ชาติ” ถ้าเกิดอีก ๗ ชาติ แล้วได้บรรลุพระอรหันต์เลย มันไม่ใช่ต้นไม้ ไม่ใช่เมล็ดพันธุ์ไง ลงดินแล้วก็งอกไง ถ้าจิตมันลงดินแล้วงอกมันก็จบไง ไม่ใช่!
เวลาเกิดถ้าเป็นโสดาบันก็เป็นโสดาบัน เป็นโสดาบันเพราะอะไร โสดาบันเพราะว่าพิจารณาด้วยมรรค ศีล สมาธิ ปัญญา พอศีล สมาธิ ปัญญาพอรู้เท่าทันกิเลสเห็นสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เวลามันละไป มันละสังโยชน์ เวลาสังโยชน์มันละไปเป็นพระโสดาบัน ถ้าเป็นพระสกิทาคามี เห็นไหม ถ้าจิตมันสงบแล้ว จิตมันยกขึ้นสู่วิปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ ถ้ามันละ มันละกามราคะ ปฏิฆะอ่อนลง มันถึงเป็นสกิทาคามี
ถ้าจะเป็นพระอนาคามี เห็นไหม จิตที่มันสงบแล้วยกขึ้นสู่มหาสติ มหาปัญญา มันจะไปเห็นกามราคะ เห็นปฏิฆะ เวลาพิจารณาถึงที่สุดแล้วด้วยมหาสติ มหาปัญญา ละกามราคะ ปฏิฆะขาดไปเป็นพระอนาคามี ถ้าจะเป็นพระอรหันต์ เห็นไหม มันต้องจิตมันเป็นญาณวิถีเลย ยกขึ้นสู่ญาณวิถีที่มันละเอียดลึกซึ้ง ลึกซึ้งแล้ว เราไปเห็น เห็นไหม จะละรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชานั่น ถ้าจะเป็นพระอริยบุคคลแต่ละชั้นเขามีเหตุมีผลอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็เป็นเมล็ดพันธุ์พืชมันลงดิน พอโดนน้ำมันก็งอกเลย เป็นโสดาบันเป็นเองไม่มี
ฉะนั้น ว่าเป็นเองไม่มี คำว่า “๗ ชาติ ๗ ชาติ” มันเป็นสถานะที่ว่าการเกิด การตาย แล้วถ้ามันในชาตินั้นก็จบไง มันไม่ใช่การเกิดและการตายมันอีก ๗ ชาติ
การเกิดอย่างนี้แต่เวลาจะบรรลุธรรม บรรลุธรรม องค์-สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะเวลาเกิดกับนางมหามายา เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมา-สัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรลุธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นองค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการตรัสรู้ในธรรม นี่ไง มันต้องมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา
คำว่า “๗ ชาติ ๓ ชาติ” มันเป็นการเวียนว่ายตายเกิด มันเป็นสถานะ มันเป็นการเกิดของสิ่งมีชีวิต แต่ถ้ามันจะบรรลุธรรมมันต้องเกิดด้วยมรรคด้วยผล ด้วยปัญญาในจิตดวงนั้น ในจิตดวงนั้นมันคนละเรื่องกัน เรื่องการเกิดภพเกิดชาติมันเป็นผลของวัฏฏะ แต่เรื่องเกิดในธรรมมันเกิดจากมรรค เกิดจากผล มันไม่ใช่เกิดจากการเกิด ๗ ชาติ ๓ ชาติ ไม่เกี่ยว ๗ ชาติ ๓ ชาติเป็นการเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นสิ่งมีชีวิต แต่เวลาเกิดในธรรม เกิดในธรรมมันเกิดจากมรรคเกิดจากผล มันคนละเรื่องกัน มันคนละเรื่องในจิตดวงเดียวกัน คนละเรื่องแต่เป็นจิตดวงเดียวกัน
ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “เขาเกิดอีก ๗ ชาติ เขาจะบรรลุอรหันต์เลยนะโดยอัตโนมัติ” ไม่มี ไม่เกี่ยว “หรือจะต้องแก้ไขเอง” ต้องแก้ไขเอง ต้องมีสติปัญญา ต้องมีอำนาจวาสนา
คำว่า “มีอำนาจวาสนา” อย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัม-พุทธเจ้าบารมีเต็ม สิ่งที่เกิดขึ้น ดูสิ พระเจ้าสุทโธทนะพยายามจะไว้ให้ครองเป็นกษัตริย์ ท่านก็มีเหตุไปเที่ยวสวนไปเห็นเทวทูต เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย มันสะเทือนใจ สะเทือนบารมี สะเทือนสิ่งที่สร้างมา ใจมันสร้างมาไว้มากใช่ไหม อะไรไปสะเทือน อู๋ย! มันสะเทือนใจมากๆ มันต้องมีฝั่งตรงข้ามไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ท่านถึงได้ออกบวชไง ออกบวชแล้วท่านก็ไปค้นคว้าของท่าน นี่ไง สิ่งที่อำนาจวาสนาบารมี
เวลาถ้าเกิดอีก ๒ ชาติ ๓ ชาติ ถ้ามันมีอำนาจวาสนาบารมีมันจะไปเกิด เกิดในสถานะ ไปเกิดพบครูบาอาจารย์ที่ดี นี่พูดถึงอำนาจในการเกิด
เขาพูดถึงนะ ว่า “โดยจะต้องแก้ไขเอง ต้องมีการกระทำร่วมด้วยหรือไม่ครับ” ไอ้เรื่องกระทำร่วมด้วยทั้งนั้นเลย ต้องมีการกระทำทั้งหมด “แล้วแบบนั้นแสดงว่าโสดาบันที่เข้าสู่ระดับนี้แล้ว ท่านจะขวนขวายให้ขึ้นสู่ธรรมที่สูงขึ้นใช่หรือไม่” โดยสัจจะโดยความจริงเป็นแบบนั้น โดยสัจจะเป็นโสดาบัน เห็นไหม คนเรามืดบอด ไม่รู้เหนือรู้ใต้ แล้วประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนรู้ว่าอีก ๗ ชาติ แล้วข้างหน้ามันจะไปไหน มันจะไปบ้าไปบออะไรอีก มันไม่ไปหรอก มันจะไปทางนี้ ถ้ามันไปทางนี้มันเป็นไป เว้นไว้แต่นางวิสาขาไม่ไปเพราะท่านอธิษฐานไว้เป็นมหาอุบาสิกา ท่านไม่ยอมไปของท่าน มีคนเขาไม่ค่อยไป
“โดยธรรมชาติต้องขวนขวายหรือไม่”
แต่ขวนขวายไปมันก็หนักหนาสาหัสสากรรจ์ เพราะ เพราะหลวงตาท่านพูดไว้ไง ท่านบอกว่าเวลาท่านปฏิบัตินะ ก็คิดว่ามันจะลำบากแต่ต้นๆ นี่แหละ พอต่อไป ต่อไปก็สบายขึ้นๆ ท่านพูดบ่อยหลวงตา แต่เวลาปฏิบัติไปแล้วไม่เป็นอย่างนั้นเลย โสดาบันลูกหลานมันเล็กๆ สกิทาคามี อนาคามี ไปเจอพ่อแม่มัน อู้ฮู! กิเลสมันร้ายกาจ ไปเจออวิชชา ไปเจอผู้เฒ่า ไปเจอเจ้าวัฏจักร โอ้โฮ! มันสับขาหลอก หัวปั่นเลย
เวลาขึ้นไปเวลาบรรลุโสดาบันแล้วก็คิดว่า โอ๋ย! ง่ายๆ ง่ายๆ โอ้โฮ! ไปแล้วนะไม่เป็นอย่างนั้น หลวงตาท่านพูดเอง พอปฏิบัติได้ที่ได้ทางแล้วก็คิดว่าต่อไปนี้เราไปสะดวกแล้วแหละ โอ้โฮ! พอไปแล้วไปติดอีก ๕ ปีข้างหน้านู่น ต่อไปยังไปติดอีกมหาศาล หลวงปู่มั่นสับเอา สับเอาเพื่อจะเอาออกมานั่นน่ะ นี่พูดถึงว่าต้องขวนขวายอีก ต้องขวนขวายธรรมที่สูงขึ้น แล้วต้องปฏิบัติต่อเนื่องไป ถ้าเขามีหัวใจของเขา
“๓. จะมีหรือไม่บรรลุโสดาบันแล้วพอใจเอาแค่นั้น และสมัยนี้ผมเห็นว่าใครๆ ก็บอกว่าฉันเป็นโสดาบัน แต่ดูแปลกๆ ทำไมเป็นกันได้ง่ายขนาดนั้น หรือว่าเป็นของปลอม”
มันยิ่งกว่าปลอม มันทุจริต นี่ไง มันยิ่งกว่าปลอมเพราะอะไร เพราะมันรู้ในตัว เรานี่นะเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เราก็มีความกระทบ เราก็รับรู้ได้ สุข ทุกข์ ผิด ชอบ ชั่ว ดี เราก็รับรู้ในตัว เราก็รับผิดชอบได้ ผิด ชอบ ชั่ว ดี เราไม่รู้หรือ ผิด ชอบ ชั่ว ดี เรารู้ไหม รู้ แล้วมึงเป็นโสดาบันหรือเปล่า เป็นอะไรมึงเป็นโสดาบัน เอ็งเป็นโสดาบัน มันมีอะไรเป็นโสดาบัน ไม่รู้ แต่เป็นโสดาบัน
นี่ไง มันถึงว่าปลอมไง มันถึงทุจริตไง ดำน้ำกันมา ดำน้ำกันมาบุ๋มๆๆ แล้วมันเป็นอย่างนี้กลุ่มชนน่ะ ดำน้ำกันมานะ อาจารย์ก็อู้ฮูย! เป็นพระอรหันต์ ไอ้ลูกศิษย์ก็เป็นพระโสดาบัน เป็นสกิทาคามี ดำน้ำกันมา ไม่มีเหตุไม่มีผลไง ไม่มีการกระทำไง ไม่มีหลักมีเกณฑ์ไง ดำน้ำกันมา ธรรมะดำน้ำ บุ๋มๆๆ โสดาบัน เออ! ต้องไปหาเอาที่กระบี่ ภูเก็ตไง เขาดำน้ำไปดูปะการัง โผล่มาเป็นโสดาบันหมดเลย ไอ้พวกดำน้ำดูปะการัง ไอ้พวกนี้เป็นพระโสดาบัน เพราะมันไปเห็นปะการัง มันไม่ใช่
ฉะนั้น บอกว่า “คำถามที่ ๓ ทำไมมันเป็นกันได้ง่ายๆ ขนาดนั้นเชียวหรือ”
มันเป็นไปไม่ได้หรอก คนที่จะเป็นหรือไม่เป็นนะ ครูบา-อาจารย์ เช่น หลวงตาท่านพูด ใครจะเป็น ไม่เป็น เก็บไว้ในใจเลยนะ เพราะเราสมบุกสมบันมาขนาดนี้นะ พิจารณากายมันผิดพลาดมาขนาดไหน พิจารณาแล้วพิจารณาอีกมันไม่ปล่อย พิจารณาแล้วมันไม่ขาด ทุกข์ยากขนาดนั้น แล้วถ้ามันเป็นขึ้นมา กว่ามันจะเป็นได้ แล้วคนจะเป็นได้ขนาดไหน ไอ้นี่ไม่อย่างนั้นดำน้ำไปบุ๋มๆๆ โผล่มาโสดาบัน กูจะไปคัดเลือกที่กระบี่ เยอะแยะเลย มันไม่มีหรอก
ฉะนั้น พอไม่มีแล้วถ้าเป็นพระเวลาอวดอุตตริมนุสสธรรม ธรรมที่ไม่มีในตน เป็นปาราชิก แต่เป็นฆราวาส เป็นฆราวาส แล้วตอนนี้ถ้าพระเอาฆราวาสมาสอนกัน เพราะฆราวาสไม่มีกฎหมายบังคับไง ฆราวาสไม่มีธรรมวินัยบังคับ ฉะนั้น ฆราวาสไปตั้งสำนักกันแล้วก็ได้โสดาบันกันไปทั้งนั้น ฉะนั้น เวลาเขาได้เขาได้เพราะอะไร เพราะเมื่อก่อนเราก็ไม่เชื่อนะว่า มีโสดาบันมีอริยผล เราไม่เชื่อ
ถ้ามันจะเชื่อขึ้นมาก็เพราะหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านขวนขวายของท่าน ท่านทำจริงทำจังของท่าน สังคมก็ไม่ยอมเชื่อ แต่เวลาคนที่ประพฤติปฏิบัติพยายามขวนขวายไปหาท่าน เวลาท่านสั่งท่านสอน คนที่ปฏิบัติไปแล้วเป็นสมาธิเป็นปัญญาขึ้นมาแล้วมันไม่มีทางไป เวลาไปหาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านชี้ทางให้ ท่านบอกทางให้
ของที่เราสงสัยในใจ ของที่มันหมักหมมในใจ แล้วท่านเปิดทางให้ เปิดทางให้ ใครมันจะไม่เคารพ ใครมันจะไม่เชื่อ ไอ้ของในใจ ไอ้ของที่เราไม่เห็น ท่านบอกเราได้ ท่านรู้ได้ ทำไมท่านพาเรื่องในใจเราไปได้ เราถึงได้เริ่มเชื่อถือเริ่มศรัทธากันมา พอเริ่มเชื่อถือเริ่มศรัทธา สังคมก็เป็นกลุ่มเป็นก้อนขึ้นมา ตอนนี้เลยไอ้บุ๋มๆๆ โผล่มา โสดาบัน อาศัยความเชื่อถือ ไม่มีของจริงมันก็ไม่มีของปลอม กว่าของจริงจะเกิดขึ้นมาได้เกือบเป็นเกือบตาย เดี๋ยวนี้นะดำน้ำกัน ดำกันไปน้ำขุ่นๆ เลย
ฉะนั้น เขาบอกว่า “อย่างนี้เป็นของปลอมหรือไม่ เพราะดูขี้เกียจ ถ้าแบบนั้นถือว่าเข้าล็อกว่า ถ้าเกิดอีก ๗ ชาติ แค่เกิดตาย เกิดตาย” ไม่เกิด ๗ ชาติหรอก มันเกิดอีกห้าร้อยชาติ ห้าพันชาติ ห้าแสนชาตินู่น คำว่า “เกิด ๗ ชาติ ๗ ชาติ” มันไม่มีใครการันตี มันเป็นผลข้อเท็จจริงของจิต จิตถ้ามันเป็นไปแล้วสถานะน่ะ สถานะของจิตมันเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ให้ใครมาให้คะแนน
เวลาบรรลุธรรม จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ จิตนี้มันพิจารณาของมัน เห็นไหม ทุกข์ สมุทัย นิโรธ นิโรธคือดับหมดนะ จากมรรคเนี่ย นิโรธคือความรู้แจ้ง ความรู้แจ้ง จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ จะเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี เป็นพระอรหันต์ มันต้องกลั่นออกมาจากอริยสัจ มันต้องมีเหตุมีผล มีการกระทำ มีความจริงขึ้นมามันถึงเป็น ถ้าไม่มีๆ ถ้าไม่มีคำว่า “๗ ชาติไม่เกี่ยว”
เขาบอกว่า “ถ้าอย่างนั้นเขาต้องเกิดตาย เกิดตายอีก ๗ ชาติ” การเกิดตาย เกิดตายก็พิลึกเนาะ ก็นี่ไง ความจริงเป็นความจริงอันหนึ่ง ไอ้ความจอมปลอม จอมปลอม มันเป็นขึ้นมาจอมปลอมแล้วมันตอบความจริงไม่ได้ พอตอบความจริงไม่ได้มันถึงไม่มีความจริงในหัวใจไง มันเลยกลายเป็นธรรมะดำน้ำ ดำน้ำบุ๋มๆๆ ไปนะ เพราะคนถามเขาบอกว่าผมเพิ่งหัดภาวนา ผมก็ฟังเทศน์หลวงพ่อนี่ เพราะหลวงพ่อพูดวนไปวนมา ผมก็เลยงงไง ก็เลยถามแบบงงๆ ไง
ไอ้นี่เราก็พยายามมาเรียบเรียงให้มันเป็นชิ้นเป็นอันไง เรียบเรียงขึ้นมา เห็นไหม จากที่ว่า ๗ ชาติเป็นสถานะ แล้วที่เราปฏิบัติตามความเป็นจริงต้องมีข้อเท็จจริงของมัน ไอ้เกิดตายเรื่องหนึ่ง ไอ้เรื่องมรรคเรื่องผลเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันไม่เกี่ยวกับการเกิดการตายหรอก ถ้าการเกิดการตายนับได้อีกกี่ชาติมันก็ยุ่ง ยุ่งไปหมดเลย ถ้าคนไม่เป็นไง ฉะนั้น สิ่งที่พูดนี้ก็พูดจากที่เราพูดไป แล้วคนฟังมันสับสน สับสนแล้วก็กลับมาหาเราไง แล้วเราก็ต้องพูดอีกครั้งหนึ่ง มันก็เลยกลายเป็นธรรมะดำน้ำ ดำกันไปอย่างนี้ไม่มีวันจบวันสิ้น
ถ้ามันจะเป็นจริงนะ มันต้องปฏิบัติปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก รู้แจ้งกลางหัวใจ ถ้ารู้แจ้งกลางหัวใจแล้วไม่ต้องบอกๆ รู้จริงเห็นจริง ถ้ารู้อย่างนั้นมันจะเป็นความจริง เราจะบอกว่าธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มรรคผลมีอยู่จริง แล้วสดๆ ร้อนๆ ไม่มีกาลไม่มีเวลา สมัยพุทธกาลก็มีผู้ที่ตรัสรู้ตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปมากมาย
ในสมัยปัจจุบันนี้ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านก็ผ่านพ้นไปแล้ว แล้วท่านก็ชักนำให้พระลูกศิษย์ของท่านเป็นธรรมทายาทไปมหาศาล ฉะนั้น มันมีอยู่จริง แต่เราต้องทำความเป็นจริง ไม่ใช่ธรรมแบบดำน้ำ ดำน้ำไปดูปะการัง แล้วบอกว่าจะเป็นพระอรหันต์ มันไม่เกี่ยวกันเลย เขาดูปะการังเขาไปดูความสวยงาม ไอ้เราดูเป็นไตรลักษณ์ ไอ้เราดูกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจของตน ไอ้เราจะเอาความจริงความจังในใจนี้ ไอ้เราจะเอาการเกิดการตาย เราไม่ใช่ไปดูปะการัง เราจะเอาความเกิดความตายในใจอันนี้ เอวัง