ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

มีหรือไม่มี

๑๓ พ.ค. ๒๕๖o

มีหรือไม่มี

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๐

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : เรื่อง “ระหว่างความคิดกับจิต

กราบนมัสการหลวงพ่อ หลวงพ่อเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ผู้ให้ชีวิตใหม่แก่กระผม จากที่ผมเคยเป็นมูตรเป็นคูถ ผีเปรต ไม่ประสีประสา ดวงตามืดบอดมองไม่เห็นแสงสว่างในทางธรรมใดเลย แต่ก็คงพอจะมีบุญเก่าอยู่บ้าง ได้นำพามาพบพ่อแม่ครูอาจารย์เมื่อ ๕-๖ ปีที่แล้ว มาพบเจอเอาตอนชีวิตเข้าวัยกลางคนแล้ว รู้สึกเสียดายกับการใช้เวลาในชีวิตที่ผ่านมา ใช้มันอย่างไร้สาระจริงๆ ทุกข์ก็ทุกข์จริงๆ ทุกข์จริงจังมากจนไม่รู้จะหันไปทางไหน สนุกก็สุขเพลินเกินบรรยาย สลับกันไปมาแบบนี้ จนพออายุมากขึ้นก็มาคิดว่า ไม่รู้จะเกิดมาทำไม แล้วเราจะไปไหน จะวนๆ อยู่แบบนี้หรือ

ครั้นเมื่อมาที่วัดนี้ได้มาเจอหลวงพ่อ ผมได้ฟังเทศน์เรื่องการทำสมาธิเพื่อให้เข้าถึงจิต (เช็กสต็อกทีแรกผมก็งงมาก มันคืออะไร เขาทำอะไรกัน เป็นเรื่องใหม่ของผมที่ไม่เคยรู้เคยได้ยินมาก่อน (ด้วยความโง่เขลา ผมจึงนึกในใจว่ามันจะจริงหรือ)

หลังจากนั้นผมก็ติดตามฟังเทศน์หลวงพ่อทางเว็บไซต์ มีโอกาสก็มาที่วัด เริ่มหัดทำสมาธิ ระยะแรกก็ล้มลุกคลุกคลาน แต่ก็รู้ได้ว่ามันมีพัฒนาการของมัน จนกระทั่งมันนิ่ง แล้วมันก็เป็นสมาธิได้ (ในครั้งแรกผมนึกถึงทันทีว่าที่หลวงพ่อพูดมันจริง จริงแท้มันคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมรู้ได้ว่ากายนี้ไม่ใช่เราจริงๆ ผมมัวหลงอะไรอยู่ ผมจะไม่ปล่อยให้ชีวิตที่เหลืออยู่เสียเวลาแบบไร้สาระอีกแล้ว

ผมภาวนาต่อมาอย่างสม่ำเสมอตลอดมา (ที่ต้องสม่ำเสมอก็เพราะผมเคยเว้น เพราะมีภารกิจงานยุ่ง แล้วคิดว่าทำได้แล้ว ไม่เป็นไร ไว้ว่างๆ ค่อยทำต่อ แต่พอกลับมาทำอีกทีมันหายไปเกือบหมด เล่นเอาแทบแย่กว่าจะได้คืนมาต่อมาผมก็เข้าสู่วิปัสสนาโดยเริ่มต้นรำพึงกายขึ้นพิจารณามาระยะหนึ่งแล้วครับหลวงพ่อ แต่ผมขออนุญาตข้ามส่วนนี้ไป ไปสู่ส่วนที่เป็นปัญหานะครับ

ปัญหาของผมคือ ผมมาเริ่มพิจารณาจิตโดยเริ่มต้นทำสมาธิให้พอจิตสงบลงได้ สักพักผมเริ่มเห็นความคิดมันเริ่มขยับเคลื่อนไหว แต่ระหว่างความคิดกับจิตมันมีบางอย่างเป็นตัวสื่อวิ่งไปวิ่งมา จิตไม่ได้เป็นตัวกำหนดความคิดโดยตรง เพราะจิตมันก็นิ่งอยู่ มันไม่ได้เคลื่อนตาม แล้วส่วนความคิดนั้นมันมีตัวกำหนดให้เริ่มต้นความคิดแล้วมันก็มาสื่อให้จิตรับรู้ ผมทำแล้วเจอแบบนี้หลายรอบ จนรู้สึกว่าไอ้ตัวที่อยู่ตรงกลางระหว่างความคิดกับจิตนี่แหละมันน่าจะเป็นตัวสำคัญ เป็นเจ้าปัญหา แต่ก็ยังด้อยปัญญาที่จะจับมันให้มั่น พิจารณามันยังไม่ได้

จึงอยากขอคำชี้แนะจากหลวงพ่อว่า แท้จริงแล้วมันมีจริงหรือไม่ หรือผมหลงไป หากมีจริง มันคืออะไร และหากมีจริงหรือไม่มีจริงไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ผมควรปฏิบัติอย่างไรต่อไป ขอคำชี้แนะจากหลวงพ่อเพื่อเป็นแนวทาง กำลังใจในการปฏิบัติต่อไปด้วยครับ ขอให้ธาตุขันธ์แข็งแรง

ตอบ : นี่คำพูดของเขานะ เวลาเราฟังคำพูด เวลาอ่านคำถามแล้ว อ่านคำถามแล้วว่ามันมีเนื้อหาสาระ ว่ามีเนื้อหาสาระอะไร

เพราะคนมันเริ่มต้นตั้งแต่แรก พอเริ่มต้นตั้งแต่แรกที่ว่าใช้ชีวิตไปแบบไร้สาระ ใช้ชีวิตไปแบบไร้สาระ อันนี้ก็เป็นระดับหนึ่งนะ ระดับของเรา

คนเกิดมามีสถานะทางสังคม มีหน้าที่การงาน ก็เพลิดเพลินกับชีวิตนี้ไป พอเพลิดเพลินกับชีวิตนี้ไป แต่เวลามันคิดได้ ความเพลิดเพลินกับชีวิต ความประสบความสำเร็จในชีวิต ประสบความสำเร็จในชีวิตมีมากมีน้อยก็แล้วแต่ สุดท้ายแล้วมันต้องตายไปหมดน่ะ

เวลาตายไป สถานะของความเป็นมนุษย์ เกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา มันเป็นโอกาสทอง แล้วโอกาสทองอย่างนี้เราก็ใช้ชีวิตของเราสำมะเลเทเมา พอสำมะเลเทเมา ถึงเวลาแล้วก็สิ้นชีวิตไป เวลามีชีวิตอยู่ นั่นก็ทุกข์ นี่ก็ยาก นี่ก็ลำบากไปหมดน่ะ

ไอ้ความทุกข์ความยากความลำบาก ถ้ามันมีสติปัญญานะ มันมองไปที่สัตว์ สัตว์มันเกิดมานะ ๔๕ วัน อยู่ในฟาร์มนั่นน่ะ เขาเลี้ยงอย่างดีเลย เลี้ยงไว้ทำไม เลี้ยงไว้เชือด ชีวิตมันเกิดมาเพื่อกิน กินมาเพื่อเอาเนื้อไว้เป็นอาหารคนอื่น ชีวิตมันยิ่งไร้สาระกว่าเราอีก แต่มันก็ต้องเกิดของมันใช่ไหม

แต่เราเกิดมาเป็นคน เราเกิดมาเป็นคน คนเรามีสติมีปัญญา เราเกิดมาแล้วเรามีหน้าที่การงานของเรา เราทำหน้าที่การงานของเรา เราจะมีสติปัญญามากน้อยแค่ไหน ถ้ามีสติปัญญาทางโลกมากก็ทำสิ่งใดประสบความสำเร็จ ทำสิ่งใดสังคมยอมรับนับถือ แล้วมันก็ตายไป นี่ตายไป

ถ้ามันมีสติมีปัญญานะ ถ้ามันมีอำนาจวาสนาบารมีสร้างสมบุญญาธิการ พันธุกรรมของจิตมันมาตัดแต่งให้มันพัฒนาขึ้น ถ้าพัฒนาขึ้น คนพัฒนาขึ้น ถ้าพัฒนาแล้ว เวลาเกิดเป็นมนุษย์เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พอมันมาเจอศาสนานี่มันอึ้งเลยนะ แค่เห็นชายผ้าเหลืองเท่านั้นแหละมันคิดแล้ว

ดูสิ เวลาชาวพุทธเรา พอเกิดมาอยากมีลูก อยากมีลูก ให้ลูกบวช อยากให้เกาะชายผ้าเหลืองๆ แค่เห็นชายผ้าเหลืองมันก็สะเทือนใจแล้วนะถ้าคนมีสติมีปัญญา แต่นี่ไม่เป็นอย่างนั้นน่ะ ดูสิ ในกรุงเทพฯ ไอ้พวกโจรขโมยมันไปสอยเอาผ้าเหลืองไปขาย

เขาเห็นชายผ้าเหลืองเขาสะเทือนใจนะ สะเทือนใจว่านี่ธงชัยพระอรหันต์ แล้วเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เกิดมาได้ห่มธงชัยพระอรหันต์ ผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นจีวรตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่ครูบาอาจารย์มา นี่เป็นเครื่องอาศัยของพระอรหันต์

ไอ้ของเราเป็นขี้ทั้งตัวเพราะเรากิเลสท่วมหัว เราได้มาบวช ได้มานุ่งห่มมันก็เป็นอำนาจวาสนาของเรา เรามีอำนาจวาสนาแล้วถ้ามันมีสติมีปัญญาพยายามค้นคว้าของเราขึ้นมา ถ้ามันมีสติ มีสติปัญญามันคิดของมันอย่างนี้ไง ถ้ามันคิดของมันได้มันสะเทือนใจนะ พอเห็นแล้วมันสะเทือนใจ ดูสิ เห็นสัจธรรมมันสะเทือนหัวใจ

มหายานนะ คนที่มีปัญญาเขาดูใบไม้หลุดจากขั้วน่ะ เขาพิจารณาของเขานะ ดูชาวไร่ชาวสวน เราอยู่กับมันตั้งแต่เด็กจนโต ไอ้ใบไม้ ฤดูกาลมันเปลี่ยนแปลง มันร่วงทุกวันเลย มันไม่เห็นมีอะไรเลย

แต่เวลาคนเขามีปัญญา ใบไม้ร่วงใบหนึ่งน่ะ โอ้โฮสรรพสิ่งในโลกนี้ก็เป็นแบบนี้ ดูสิ ใบไม้ตั้งแต่มันแตกใบอ่อน มันแก่มา พอมันหมดอายุมันก็ร่วงจากต้น แล้วชีวิตเราก็เป็นแบบนั้นน่ะ แต่เวลากิเลสในหัวใจไม่เป็นอย่างนั้นน่ะ มันมีแต่ยึดแต่มั่นของมัน มันคิดของมัน มันพิจารณาของมันนะ นี่พิจารณาได้ถ้าคนมีสติปัญญา

นี่พูดถึงว่า เขาพูดถึงเริ่มต้นอารัมภบทมาก่อนไง เขาใช้ชีวิตแบบไร้สาระ แต่พอมามีอำนาจวาสนา มาพิจารณาของมันได้ พิจารณาได้ก็เริ่มปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติตามความเป็นจริง พอปฏิบัติไปแล้ว สิ่งที่เขาทำๆ มันบอกตลอด สิ่งที่ว่าเขาทำด้วยความสม่ำเสมอ

ถ้ามันไม่ทำด้วยความสม่ำเสมอ เวลามันเสื่อม เวลาคนคิด ทางโลกมันเหมือนวิทยาศาสตร์ ดูสิ เด็กมันเรียนจบแล้วก็คือจบ นี่ก็เหมือนกัน ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจบแล้ว เวลาเรียน ๙ ประโยค ๙ ประโยคแล้วเขาก็มีตำรับตำราให้ทบทวนใช่ไหม เวลาเสร็จแล้วเขาก็ไปทบทวนของเขา เวลาลืมสิ่งใดเขาก็เปิดตำราได้

แต่เวลาทำสมาธิ เวลาเราฝึกหัดภาวนาของเรา เวลาจิตมันเป็นสมาธิแล้วมันก็เป็นสมาธิ ถ้าไม่รู้จักรักษา เสื่อมหมดน่ะ แล้วเวลาเสื่อมไปแล้วจะไปเอาที่ไหน จะไปทวงเอาจากใคร ยิ่งเสื่อมไปแล้ว กรณีนี้มันเป็นโทษ ๒ ชั้นไง โทษ ๒ ชั้น

หลวงตาท่านบอกว่า คนเรานะ ถ้าเราประกอบสัมมาอาชีวะ เราไม่เคยทำสิ่งใด เราก็ขวนขวายของเราทำอย่างนั้นไปโดยที่ว่าไม่มีความเรียกร้อง ไม่มีสิ่งใดที่มันโหยหาในใจ แต่ถ้าเราเคยทำสิ่งใดแล้วเคยทำได้ดีเลย แล้วเราลืมไป เราจะมาทำใหม่มันทำไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน เวลาถ้าเป็นสมาธิแล้วมันเสื่อมไปแล้ว นี่จะมาหา จะมาเอาให้ได้ เศรษฐีไง เวลาเศรษฐีแล้วล้มละลาย เวลาล้มละลายแล้วเวลาจะทำสิ่งใดขึ้นมามันก็คิดสมบัติเดิม เราเคยเป็นเศรษฐีๆ ไอ้จะมาเก็บเล็กผสมน้อยมันเห็นเป็นของไร้ค่าๆ

ไอ้เศรษฐีก็มาจากเก็บเล็กผสมน้อยนี่แหละ เวลาปฏิบัติมันก็ต้องปฏิบัติจากเก็บเล็กผสมน้อยไปนี่แหละ แต่เวลาถ้าจิตมันคล่องตัวมันแล้ว ถ้ามันมีกำลังแล้ว เขารักษาตรงนั้นไง ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุไง ถ้าเรารักษาเหตุของเรา สมาธิมันก็จะอยู่ของมันตลอดไปไง

แต่ถ้าเราพลั้งเผลอ พลั้งเผลอหรือเราไม่รอบคอบ เสื่อมหมด แล้วเสื่อมแล้วไม่เหลือเลย แล้วไม่เหลือแล้วทีนี้มันก็เร่าร้อน เร่าร้อนแล้วมันก็โหยหา มันก็ต้องการ พอต้องการก็ไปทุกข์สองชั้นสามชั้นนี่ไง นี่ไง เวลาจิตเสื่อม ถ้าคนเคยภาวนาแล้วนะ อาการแบบนี้มันต้องเคยเจอ ถ้าเคยเจอแล้วมันจะระมัดระวัง ถ้าระมัดระวัง เพราะอะไร

เพราะกิเลสเกิดจากจิต มันก็เหมือนสิ่งมีชีวิต สมาธิ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามันเป็นความจริงมันเกิดจากจิต มันเกิดจากจิต มันเป็นสิ่งที่มีชีวิต สิ่งที่มีชีวิตมีเกิดและตาย มันมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป มันไม่อยู่กับเราคงที่หรอก ถ้าจะอยู่คงที่ได้ เราต้องมีสติมีปัญญารักษามัน

เว้นไว้แต่อกุปปธรรม เว้นไว้แต่โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี สิ้นกิเลส นั่นน่ะคงที่ คงที่เพราะเป็นอกุปปธรรม อกุปปธรรมคงที่ตายตัว ไม่มีการเปลี่ยนแปลง อันนั้นคงที่ คงที่เพราะอะไร คงที่เพราะมันมีมรรค คงที่เพราะมันมีสติปัญญาแก้ไขชำระล้างจนสำรอกจนคาย อันนั้นคงที่

แต่ถ้าเป็นศีล สมาธิ ปัญญาที่เราเป็นโลกียปัญญาอย่างนี้ อย่างนี้ไม่คงที่ นี่ไง สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายต้องเป็นอนัตตา นี่แหละเป็นอนัตตา อนัตตาคือมันต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันไม่มีอะไรคงที่หรอก เวลาเราพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ เวลามันถึงที่สุดแล้ว เวลาสมุจเฉทปหาน มันขาด นั่นล่ะคงที่

สิ่งที่คงที่มีอยู่นะ สิ่งที่คงที่มีอยู่ แต่ทำอย่างไรถึงคงที่ล่ะ ไอ้สิ่งที่คงที่มีอยู่ แต่มันพูดถึงสิ่งที่คงที่ไม่ได้ มันจะคงที่ได้อย่างไร คงที่ มันคงที่อย่างไร มันต้องมีที่มาที่ไปทั้งนั้นน่ะ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ มันต้องมีเหตุมีผล ไม่มีเหตุมีผลเป็นไปไม่ได้

แต่ถ้ามันเป็นไปได้ เห็นไหม เวลาเขาบอกว่าเขาปฏิบัติแล้วมันดีขึ้น

คำว่า “ดีขึ้น” พอมันดีขึ้น ทีนี้พอดีขึ้นแล้วมันแบบว่าเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกไง เวลาพระสารีบุตรท่านเทศนาว่าการไง ท่านบอกว่าธรรมะสัจจะในใจของท่านสุดยอด ท่านไม่เชื่อใครเลย ท่านพูดว่าท่านไม่เชื่อใครเลย

ลูกศิษย์ลูกหาได้ฟัง ไปฟ้องพระพุทธเจ้า บอก พระสารีบุตรไม่เชื่อพระพุทธเจ้า ไม่เชื่ออะไรทั้งสิ้น พระพุทธเจ้านิมนต์พระสารีบุตรมาเลย “สารีบุตร เธอไม่เชื่อเราหรือ

ไม่เชื่อ

ทำไมเธอถึงไม่เชื่อ

อ้าวก็ความจริงในใจอันนี้มันเป็นความจริง ความเชื่อเป็นศรัทธา ศรัทธาความเชื่อไง

เออสารีบุตรพูดถูก

แต่เดิมเวลาฟังเทศน์พระอัสสชิเป็นพระโสดาบันมา แสวงหามาบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เชื่อหรือ ไม่เชื่ออะไร ปฏิบัติอยู่ ๑๔ วัน พระโมคคัลลานะ ๗ วันเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว พระสารีบุตรยังไม่ได้เลย ไม่ได้ขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคอยชี้แนะคอยชี้นำ ไม่เชื่อได้อย่างไร

เวลาเชื่อ มันความเชื่อมันศรัทธา เหมือนเราเรียนหนังสือ เราเชื่ออาจารย์เราไง นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา เราก็เชื่อครูบาอาจารย์เราก่อนไง

แต่ถ้าเป็นความจริงๆ มันเป็นความจริงขึ้นมาจะไปเชื่อใคร ถ้าเป็นความเชื่ออยู่มันก็ไม่เป็นความจริงน่ะสิ ถ้าเป็นความจริงขึ้นมาแล้วไม่เชื่อ อยู่กับความจริงนี้เลย นี่พูดถึงถ้ามันเป็นความจริง อกุปปธรรมมันเป็นสัจจะความจริง ความจริงมีอยู่ แต่กว่าจะเข้าสู่ความจริงไง ถ้าเข้าสู่ความจริง

ดีที่เขาบอกว่าเขาประพฤติปฏิบัติมาก่อน แล้วสิ่งที่มันปฏิบัติที่ดีแล้ว เขาแบบว่าเขาข้ามมาเลย เขาบอกว่าขออนุญาตข้ามส่วนนี้ไปเลย แต่ส่วนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เขาถามตรงนี้ สิ่งที่ว่า เวลาปัญหาของผมคือ ผมจะเริ่มพิจารณาจิต เริ่มต้นทำสมาธิให้จิตพอสงบตัวลง สักพักผมเริ่มเห็นความคิดเริ่มขยับเคลื่อนไหว แต่ระหว่างความคิดกับจิตมันมีบางอย่างที่เป็นตัวสื่อวิ่งไปวิ่งมา จิตไม่ได้เป็นตัวกำหนด คิดโดยตรง แต่จิตมันวิ่งไปวิ่งมา มันเคลื่อนไหวอยู่ ส่วนความคิดต่างๆ เขาถามว่าสิ่งนี้มันมีจริงหรือเปล่า สิ่งที่เขารู้มันมีจริงหรือเปล่า

เราจะพูดอย่างนี้นะ นี่พูดถึงปฏิบัติไง ถ้าใครประพฤติปฏิบัติทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบระงับแล้วถ้ามันเห็นอาการของจิต ถ้ามันเห็นอาการของจิต ถ้ามันเห็นอาการของจิต สิ่งนี้มี แล้วมีชัดเจนด้วย ชัดเจนเพราะอะไร นี่เขาเรียกว่าเห็นกิเลส

แต่ถ้าพูดถึงคนที่ภาวนาไม่เป็น คนที่ยังไม่เห็นนะ สิ่งนี้มีไหม ไม่มี สิ่งที่ไม่มีเพราะเขาไม่รู้ไม่เห็น ไม่มีเพราะความไม่รู้ไม่เห็นของเขา เขาก็ว่าไม่มี แต่ถ้าผู้ที่ปฏิบัติ วุฒิภาวะของจิตที่มันมีมาตรฐานที่มันรู้มันเห็นของมันได้ สิ่งนี้มีไหม มี มี มี ยิ่งกว่ามีอีก ยิ่งกว่ามีเพราะอะไร เพราะนี่มันคือกิเลสไง

สิ่งที่กิเลส ที่ว่าเวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติใช่ไหม ท่านบอกว่า เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติบอก “พวกนี้ไม่เคยรู้จักกิเลส ไม่เคยเห็นกิเลส

นี่ไง ถ้าไม่เคยรู้จักกิเลส ไม่เคยเห็นกิเลส มันก็คือไม่มี ก็มองไม่เห็นไง แล้วถ้ามองไม่เห็นขึ้นมาแล้ว แล้วใครมาพูดเป็นรูปเป็นร่าง เป็นสิ่งที่จับต้องได้ มันก็เป็นวัตถุไปแล้วไง มันก็เป็นวิทยาศาสตร์ไง

วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์มันเป็นทฤษฎี มันเป็นสิ่งคงที่ตายตัว ทางทฤษฎีนั้นเป็นกรอบ แล้วเป็นกรอบอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่กิเลสมันเป็นสิ่งมีชีวิต กิเลสเหมือนเชื้อโรค มันพัฒนาการของมันไป มันหลบมันซ่อนของมันไป มันทำของมันไป สิ่งที่มีชีวิต ธรรมะมันเป็นนามธรรม สิ่งที่มีชีวิต ธรรมะเป็นแบบนี้ ถ้าธรรมะเป็นแบบนี้

เพราะเราคิดโดยกรอบ ดูสิ มีการศึกษาๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เรียนปริยัติ เรียนอริยสัจ ท่องได้ปากเปียกปากแฉะ ขยายความย่อความได้ทั้งนั้นเลย แล้วเวลาไปปฏิบัติก็เอาความรู้อันนี้ไปขยายความไปย่อความ ไอ้กิเลสมันก็อยู่ข้างหลังความคิดนี้ แล้วมันก็ตามความย่อความขยายความไปเรื่อย

ย่อความขยายความมากน้อยแค่ไหน ค้นคว้ามากน้อยแค่ไหน กิเลสมันหัวเราะเยาะ มันถือปฏักอยู่ แล้วจับแอก แล้วไสไป ไอ้เราก็ปัญญายอดเยี่ยมไสไปเต็มที่เลย เพราะอะไร เพราะไม่มีสมาธิไง

แต่ถ้าเราฝึกหัดมีสมาธิของเรา ถ้าเราฝึกหัดมีสมาธิของเรา จิตเห็นอาการของจิต จิตไปรู้ไปเห็นขึ้นมาเอง พอเห็นขึ้นมาเอง มันอยู่ที่ว่าคนรู้คนเห็นมันมีวุฒิภาวะมากน้อยแค่ไหน ถ้ามันมีวุฒิภาวะมาก มันจับได้เลย สมาธิดีมันจับได้เลยนะ พอจับได้แล้วมันพิจารณาของมันไป

อย่างที่เขาเขียนมานี่ “สักพักผมเริ่มเห็นความคิดมันเริ่มเคลื่อนไหว แต่ความเคลื่อนไหว ความคิดกับจิตมันมีบางอย่างเป็นตัวสื่อวิ่งไปวิ่งมา จิตไม่ได้เป็นตัวกำหนดโดยตรง เพราะจิตมันนิ่งอยู่ มันไม่ได้เคลื่อนตาม แต่ระหว่างความคิดกับจิต เวลามันคิดขึ้นมา มันเห็นมีบางอย่างเป็นสื่อตัวกลาง มีบางอย่างเป็นสื่อตัวกลาง

เวลาอย่างของเรา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ความคิด คนมีอวิชชานี่เขาเรียกขันธมาร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นมารหมดเลย เพราะมารมันครอบงำ แต่ถ้าเวลาทำความสงบของใจเข้ามา กิเลสมันสงบตัวชั่วคราว สงบตัวชั่วคราว เวลาจิตมันสงบ ขันธ์ ๕ มันก็สะอาดบริสุทธิ์ชั่วคราว

คำว่า “ชั่วคราว” ที่ทางโลกเขาบอกว่าหินทับหญ้าๆ นี่แหละ หินทับหญ้าๆ กิเลสมันสงบตัวลงชั่วคราว กิเลสสงบตัวลงชั่วคราว ถ้าเราฝึกหัดใช้ปัญญา เพราะมันเป็นโอกาสที่เราจะฝึกหัดใช้ปัญญาไง ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญามันก็เป็นมัชฌิมาปฏิปทา เพราะมันไม่มีกิเลสเข้ามาร่วมด้วยใช่ไหม

แต่ถ้าของเราถ้าปุถุชนเขาเรียกว่าขันธมารๆ ขันธ์ ๕ เป็นมารทั้งหมด ความคิดนี้ สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง มารทั้งนั้น คิดโดยกิเลสไง นี่โลกียปัญญาๆ ความคิดของเรากิเลสทั้งนั้น

ทำความสงบของใจเข้ามาๆ ใจมันสงบแล้ว ใจสงบแล้วจิตมันสงบขึ้นมา เวลามันฝึกหัดความคิด พอจิตสงบแล้วมันจะเห็นอาการแบบนี้ ถ้าผู้พิจารณาจิตนะ

ถ้าผู้ที่พิจารณากาย พอจิตสงบแล้วมันจะเห็นกาย เห็นกายโดยจิตกับเห็นกายโดยปัญญา เห็นกายโดยปัญญาไม่เห็นรูปกาย แต่เทียบจับได้ จับได้ก็จับตัวสื่อนี่ จับตัวสื่อ ตัวเคลื่อนตัวไหวมันจับได้ พอจับได้ การพิจารณากายโดยหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ท่านพิจารณากายบอกไม่ต้องเห็นกาย พิจารณากายโดยการใช้ปัญญา

แต่ครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่คำดี ท่านพิจารณาของท่าน ท่านจะเห็นกายของท่าน การเห็นกายแบบนี้มันจะเห็นกายโดยจิตเป็นสมาธิแล้วเห็นกายเป็นภาพ เห็นเป็นภาพ เห็นแบบนิมิต นี่เจโตวิมุตติ ถ้ามันเห็นแบบนี้ ถ้าเห็นแบบนี้แล้วพิจารณาของมัน มันจะมีตัวแบบนี้ จะมีตัวสื่อไง เพราะกายมันมาได้อย่างไร รูปมันมาได้อย่างไร แล้วพิจารณาไปแล้วมันแปรสภาพอย่างไร นี่เวลาเห็นกิเลสไง จิตเห็นอาการของจิต

ถ้าจิตเห็นกิเลสของมัน มันเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง มันต้องมีสมาธิไง

พอทำสมาธิ ถ้ามีสมาธิ สมาธิที่มันมีหลักของมัน มันจะไปเห็นกาย เห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงเพราะอะไร ตามความเป็นจริงเพราะว่ามันไม่ใช่ขันธมารชั่วคราว ไม่ใช่ขันธมารชั่วคราวนะ

แต่ถ้าสมาธิดีๆ กิเลสมันสงบตัวลง ตรงนี้มันเป็นโอกาสในการวิปัสสนา ที่ว่าใช้ปัญญาๆ ปัญญาการรู้แจ้ง รู้แจ้งจะเกิดอย่างนี้ เกิดอย่างนี้แล้วฝึกหัดพิจารณาไป ฝึกหัดพิจารณาไป พอพิจารณาไปแล้ว พอพิจารณาไปมันใช้ปัญญาไปมาก สมาธิมันอ่อนแอลง มันคิดไปแบบว่าไอ้ตัวเคลื่อนไปเคลื่อนมามันชักไม่เห็นแล้ว มันจะหนักหน่วง แล้วมันจะคิดเป็นอันเดียวกันเลย

คิดเป็นอันเดียวกันก็กลับมาคิดแบบเดิมเราที่ไปคิดโดยปุถุชนนี่ไง กลับมาคิดแบบสามัญสำนึกนี่ คิดแบบสามัญสำนึกนี่คิดโดยมาร ขันธมารๆ มารทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาเป็นจริงๆ ขึ้นมาต้องจิตมันสงบก่อน

นี่ไง เขาบอกว่าสมาธิไม่จำเป็นๆ

ถ้าไม่จำเป็นจะเริ่มต้นตรงนี้ไม่ได้ ถ้าไม่จำเป็น มันแยกแยะไม่ได้ว่าเห็นสื่อตัวกลางไหม เห็นเป็นจริงเป็นจังหรือไม่ ถ้าไม่เห็น ไม่เห็นก็จบไง

เขาถามเลยว่า สิ่งที่เห็นมันมีจริงหรือไม่จริง ให้หลวงพ่อตอบตรงนี้ ที่เห็นมันมีจริงหรือไม่มีจริง

มันมีจริงต่อเมื่อผู้หูตาสว่าง มันมีจริงต่อเมื่อจิตทำสมาธิได้ มันมีจริงต่อเมื่อเราจับต้องได้ มีจริง แต่มีจริงมันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกเฉพาะนะ เฉพาะจิตที่ภาวนาได้

แล้วถ้าจิตที่มันภาวนาไม่ได้ล่ะ

กรรมฐานนี่พูดด้วยคารม” มีคนติเตียนมาก ติเตียนวงกรรมฐานว่า “ใช้คารม มันมีแต่มาพูดโอ้อวด ไม่มีการศึกษา เพราะปริยัติไม่พูดอย่างนั้น ปริยัติเขาพูดเขาต้องชัดเจนของเขา ปริยัติมีองค์ความรู้ มีความรู้จริง ได้พิจารณา”...สัญญาทั้งนั้น จำขี้ปากพระพุทธเจ้ามาแล้วก็กล่าวตู่ แล้วคิดว่าตัวเองรู้

แต่ถ้าเป็นจริงๆ มันจะเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ถ้าเป็นจริงเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมานะ

เขาถามว่ามันมีอยู่จริงหรือไม่

ถ้ามันมีอยู่จริง มีอยู่จริง ผู้ที่ปฏิบัติเห็นจริง แล้วองค์ความรู้ชัดเจนมาก แต่ถ้าไปพูดกับคนที่ไม่รู้นะ เขาจะบอกว่า เอ็งต้องไปโรงพยาบาลแล้วล่ะ เพราะสิ่งที่เอ็งรู้มันไม่มีอยู่หรอก

ไม่มีอยู่ แล้วมันจะพิสูจน์กันอย่างไรล่ะ เราจะพิสูจน์กับคนที่ไม่รู้อย่างไร นี่ไง เวลาหลวงตาท่านปฏิบัติของท่านใช่ไหม เวลาท่านสิ้นกิเลสไปแล้วท่านบอกว่าท่านเก็บไว้ในใจเลย ถ้าไปพูดกับใครเขาจะหาว่าเราบ้า ความรู้สึกอย่างนี้หลวงปู่มั่นก็เป็นอย่างนี้ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติแล้วนะ องค์ความรู้ความเป็นจริงของท่านมันจะอยู่ในหัวใจของท่าน แล้วรอ รอ รอผู้ที่ต้องการ ผู้ที่ปรารถนา

เวลาหลวงตาท่านไปคุยกับหลวงปู่แหวน พอคุยเสร็จ ลงมานี่ท่านบอกเลย น้ำอมตธรรมในใจของหลวงปู่แหวนมันเต็มอัดแน่นในหัวใจเลย แต่ไม่มีใครต้องการ เวลาคนไปหาหลวงปู่แหวนต้องการ “เราสู้ เราสู้” จะเอารุ่นนั้นรุ่นนี้ไง แต่ไม่เคยต้องการธรรมะในใจหลวงปู่แหวนเลย แล้วไม่มีใครไปคุยกับท่านไง

พอหลวงตาท่านไปคุย พอไปเปิดก๊อกเท่านั้นน่ะ โอ้โฮมันไหลออกมาท่วมท้นน่ะ นั่นน่ะมันรอคนที่ปรารถนา รอคนที่หิวกระหาย รอคนที่ต้องการ

แต่พวกเรามันตาบอดสี มันต้องการชื่อเสียงกิตติศัพท์กิตติคุณ มันต้องการเรื่องโลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มันไม่ต้องการสัจจะความจริง ไม่ต้องการสัจธรรมอันนั้นเลย เพราะสัจธรรมนั้นมันเหนือโลก เหนือโลกเหนือสงสารไง

แต่ถ้าเวลาต้องการก็ต้องการแค่โลกธรรม ๘ อยากมีลาภ อยากมียศ อยากมีชื่อเสียง อยากมีกิตติศัพท์อยากมีกิตติคุณ อันนั้นเป็นธรรมหรือ อันนั้นมันกิเลสทั้งนั้น แล้วก็ชอบกันแค่นั้นแหละ แล้วมันก็ไม่เข้าถึง

แล้วพอไปแนะนำขึ้นมา โอ้โฮคนเรามันต้องการอย่างหนึ่งนะ มันเอากระสอบมาเลยล่ะ มันจะใส่แบงก์ บอกมัน บอกให้เอาธรรม โอ้โฮวางกระสอบ โอ๋ยมันคอตกเลยนะ เพราะมันคิดไม่เหมือนกันไง

นี่ไง หลวงตาถึงบอกเลยว่า หลวงปู่แหวนในหัวใจของท่านมีแต่น้ำอมตธรรมเต็มหัวใจเลย รอให้คนมาใช้สอย ไม่มีใครเลย ไม่มีใครต้องการเลย เวลาไปก็ “เราสู้ เอารุ่น ๑

นี่ไง ฉะนั้น คำถามเขาถามว่า สิ่งที่มันเป็น สิ่งที่ความคิดของเขาที่มันมีตัวกำหนดความเคลื่อนไหวนี้ แล้วมันสื่อไปที่จิต ผมทำแล้วเจอแบบนี้หลายรอบจนรู้สึกว่าไอ้ตัวที่อยู่ตรงกลางระหว่างความคิดกับจิตนี่แหละมันเป็นตัวสำคัญ มันเป็นตัวปัญหา แต่ก็ยังด้อยปัญญาอยู่

นี่มันเป็นตัวปัญหา ตัวปัญหาแสดงว่าเห็นหน้ากิเลส จับต้องมันได้ไง

แต่การที่ว่ามันยังด้อยปัญญาอยู่ แล้วเราจะทำอย่างไรจะจับให้มั่น คั้นให้ตาย

ถ้าจับให้มั่น คั้นให้ตาย กลับมาพุทโธ กลับมาที่พุทโธ กลับมาที่ปัญญาอบรมสมาธิ ให้กำลังของเราชัดเจน

ชัดเจน หมายความว่า สิ่งที่รู้ที่เห็น เห็นร่องรอยมันแล้ว เห็นรอยเท้าของกิเลสที่มันมาเดินให้เราเห็นแล้ว แต่ยังจับตัวมันไม่ได้ชัดเจน

ถ้าคำว่า “จับตัวได้ชัดเจน” มันจะเป็นปัจจัตตัง พอจับได้ เออนี่แหละ เวลาหลวงตาท่านพิจารณาของท่าน พอได้ตัวนะ อ๋อใช่แล้ว พอใช่แล้ว ทีนี้พิจารณาซ้ำ

การกระทำ กลับมาที่ความสงบของใจนะ พอใจมันสงบแล้ว ความคิดเราพิจารณาเลย จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือความคิด ความคิดคือรูป ในรูปนั้นมันมีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ อารมณ์ความรู้สึกหนึ่งมันจะพร้อมไปกับขันธ์ ๕ ถ้าขันธ์ ๕ มันไม่สมบูรณ์แบบ อารมณ์มันจะเกิดไม่ได้ พิจารณาไปแล้วแยกมัน ถ้าแยกมัน แยกออก แยกที่รูป แยกที่เวทนา แยกที่สัญญา แยกที่สังขาร แยกที่วิญญาณ

ที่วิญญาณ วิญญาณคือวิญญาณรับรู้อารมณ์นั้น วิญญาณ อารมณ์โกรธ วิญญาณในอารมณ์โกรธนั้นมันก็จะเป็นวงรอบให้อารมณ์นั้นสมบูรณ์ แต่ถ้าเราพิจารณาแล้วมันเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งแยกออกไป อารมณ์นั้นดับทันที อารมณ์นั้นเกิดไม่ได้ แล้วถ้าดับหมด พิจารณาไปแล้วไม่มีอะไรเลย มันก็ยังเก้อๆ เขินๆ นะ

ในรูปมันก็มีขันธ์ ๕ ในสัญญาก็มีขันธ์ ๕ ในสังขารก็มีขันธ์ ๕ คือในรูปมันก็ยังมีรูปซ้อนอีก พิจารณาไปนะ กิเลสมันละเอียดลึกซึ้ง คนที่พิจารณาไปแล้วเรื่องนี้มันจะแจ่มแจ้งมาก แต่ต้องพูดกับคนรู้นะ พูดกับคนไม่รู้นี่ อืมสงสัยใกล้บ้าแล้ว ต้องจับส่งโรงพยาบาล

จับส่งโรงพยาบาลต่อเมื่อคนขาดสติ คนขาดสตินี่ตาลอย ทำสิ่งใดไม่เป็นชิ้นเป็นอัน แต่นักภาวนานี่สติสมบูรณ์มาก สมาธินี้มั่นคง ปัญญานี้เป็นโลกุตตรปัญญา มันจะขาดสติไปไหน มันจะเสียจริตนิสัยไปไหน

ถ้าคนภาวนาแล้วภาวนาเข้าที่เข้าทาง สิ่งนี้มันชัดเจนของมันมาก มันชัดเจนแล้วชัดเจนจากภายในด้วย ไม่ใช่ชัดเจนจากตำรา ไม่ใช่ชัดเจนจากครูบาอาจารย์บอก มันชัดเจนกับจิต จิตที่เป็นผู้ที่หลงใหล ผู้ที่หลับใหลที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ แล้วพอพิจารณาเข้าไป เข้าไปสู่เนื้อของมัน เข้าไปสู่การพิจารณาของมัน

นี่พิจารณาไป พิจารณาไปซ้ำๆ ซากๆ พิจารณาไป ทำแล้วทำเล่า ทำแล้วทำเล่าเพื่ออะไร เพื่อให้มันชัดเจนขึ้นมา จากเห็นร่องรอยของมันก็เห็นตัวของมัน เห็นตัวของมันแล้วก็จับแยกตัวของมัน

ถ้าแยกตัวของมันแล้วมันสืบต่อด้วยกันไม่ได้ มันสืบต่อด้วยกันไม่ได้ พอสมาธิเราอ่อนแอลง สติเราเบาบางลง มันก็รวมตัวกันใหม่ พอรวมตัวกันใหม่ เราก็ต้องพิจารณาซ้ำไป เขาเรียกตทังคปหาน เวลามันปล่อยวาง ปล่อยวางเพราะความเข้าใจรอบหนึ่ง มันก็จะปล่อยวางรอบหนึ่ง พอปล่อยวางขนาดไหนแล้ว ด้วยกำลังของเราที่ยังไม่ได้กำจัดมัน เดี๋ยวมันก็ฟื้นฟูมา

กิเลส เห็นไหม หลวงตาท่านจะสอนประจำเลยว่า กิเลส ถ้าเรารู้เท่าทันมัน มันจะหลบมันจะหลีก มันจะซ่อน มันจะพลิกมันจะแพลง แล้วมันจะมีอุบาย มันจะตีกลับ การพิจารณาแต่ละชั้นแต่ละตอนมันมีพลิกแพลงของมันอยู่อย่างนี้ ไอ้เรื่องกิเลส ถ้าคนทันมัน มันจะรู้ถึงเล่ห์เหลี่ยมของมัน เล่ห์เหลี่ยมของกิเลสนี้ร้ายนัก

ฉะนั้น เขาถามว่าเขาควรทำอย่างไร ขอคำชี้แนะๆ

ชี้แนะ ถ้าเห็นอย่างนี้เห็นร่องรอยของมัน ถ้าเห็นร่องรอยของมันนะ นี่พูดให้กำลังใจ เวลาผู้ที่ปฏิบัติ ปุถุชนคนหนาต้องทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ถ้าใจสงบแล้วเป็นกัลยาณปุถุชน กัลยาณปุถุชนคือทำสมาธิได้ง่าย ได้คล่องตัวขึ้น ถ้าคล่องตัวขึ้น พอยกขึ้นสู่สติปัฏฐาน ๔ นี่โสดาปัตติมรรค ผู้ที่จะเดินมรรคนะ นักปฏิบัติเรามันจะเดินมรรค

คำว่า “ยกขึ้นสู่วิปัสสนา ขึ้นสู่มรรค” แต่ขึ้นสู่มรรค ถ้าพิจารณาของเรา พิจารณาไม่ได้ มันก็ถอยกลับมาไง ถ้าพิจารณาแล้วถ้ามันเสื่อม เสื่อมมันก็ถอยกลับมากัลยาณปุถุชน แล้วถ้ามันยังเสื่อมต่อไปมันก็ปุถุชนไง แล้วก็ต้องกลับมาใหม่ไง ก็แบบว่าที่ทำสมาธิแล้วที่ไม่รักษาไง ถ้ามันยังเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาอยู่ มันยังเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญอยู่อย่างนี้

แต่ถ้าเรามีสติมีปัญญาแล้วเรามีความเพียร มีวาสนานะ ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ต้องมีพื้นฐาน เวลาคนภาวนาเราจะรู้เลยว่ามันจะทุกข์มันจะยากมันจะเหนื่อยขนาดไหน

แต่ถ้าคนมีพื้นฐานอยู่แล้ว ทำสมาธิได้ เราเอามาตรฐานของเรา คือเราทำเพื่อความสบายใจ ทำเพื่อความสงบ พอสงบแล้ว พอสงบเราก็ยกขึ้นสู่วิปัสสนาไปเลย พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถอยหน้าถอยหลังอยู่อย่างนี้ คำว่า “ถอยหน้าถอยหลัง” คือต้องตรวจต้องเช็ก ต้องพิจารณาแยกแยะจนกว่ามันจะละเอียดรอบคอบ ตีแผ่หมดเลย

เวลาหลวงตาท่านสอน ขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขต เหมือนเรดาร์ จับหมดเลย

ขั้นของสมาธิ น้ำในแก้ว ล้นแก้วอยู่อย่างนั้นน่ะ ขั้นของสมาธิ สมาธิคือสมาธิ นี่มันน้ำล้นแก้ว แค่นั้นแหละ ไม่ไปมากกว่านั้น แต่มันก็มีความสุขของมัน แต่ขั้นของปัญญาต้องไปตลอด ไม่มีขอบเขต

ทีนี้พอมันพิจารณาไปแล้วมันจะรู้เลยว่า อ๋อถ้าพิจารณาไปอย่างนี้มันเป็นความว่างอย่างนี้ พิจารณาไปแล้วมันจะปล่อยวางอย่างนี้ มันจะสุขมาก มันจะภูมิใจมาก แล้วเวลาสมาธิมันเบาบางลง พิจารณาอีก มันไม่ไปแล้ว

ไอ้ที่ว่าพิจารณาดีมากๆ ทำไมพิจารณาแล้วมันติดขัดไปหมดเลย นั้นคือสมาธิไม่พอ เดี๋ยวจะรู้ คนภาวนาไปมันต้องผ่านประสบการณ์อย่างนี้ล้านเปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่เคยผ่านประสบการณ์อย่างนี้ นั่นมันรวบรัด “พิจารณาแล้วขาด ปล่อยเลย”...ชั่วคราว แล้วเดี๋ยวเสื่อมหมด คนที่พิจารณาอย่างนี้แล้วมาร้องไห้ให้เราฟังเยอะมาก เยอะมาก

แล้วเวลาประสาเรา เราก็เคยผ่านเหตุการณ์อย่างนี้มา ก็มีความเข้าใจอย่างนี้เหมือนกัน แต่สุดท้ายแล้วด้วยวาสนา เสื่อมแล้ว แล้วไป เอาใหม่ สู้มาใหม่ สู้แล้วสู้เล่า สู้แล้วสู้เล่าจนเห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นความเปลี่ยนแปลงแบบการปล่อยชั่วคราวอย่างนี้ การปล่อยด้วยความสมบูรณ์แบบ ด้วยความสมดุลพอดี มัชฌิมาปฏิปทาคือพอดี สมดุลพอดีอย่างนี้ แล้วเวลากิเลสมันขาด นู่น กิเลสมันนอนตายอยู่นู่น จิตเราอยู่นี่ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสมันเป็นอย่างไร ชัดๆ อกุปปธรรมกังวานกลางหัวใจ นี่ถ้ามันเป็นอย่างนี้ ถ้าปฏิบัติไปมันจะเป็นแบบนี้

นี่เขาถามว่า ขอคำชี้แนะจากหลวงพ่อด้วย ฉะนั้น สิ่งที่ทำมา เขาว่าปัญญายังด้อยอยู่ ยังจับให้มั่น คั้นให้ตายไม่ได้

ถ้าจับให้มั่น คั้นให้ตายไม่ได้ สิ่งที่ทำมานั้นคือได้แล้ว ได้แล้วคือจับตัวได้แล้ว เหมือนเจ้าหน้าที่เอาผู้ต้องหาส่งฟ้องศาล ศาลรับฟ้องแล้ว นี่ก็เหมือนกัน จับต้องได้แล้ว แล้วพอมันเสื่อมไป เรากลับมาทำสมาธิ เดี๋ยวก็จับได้อีก

คนที่จับได้แล้วก็คือจับได้ คนที่จับได้แล้วคือว่าเราจับผู้ต้องหาได้แล้ว แต่จับผู้ต้องหาได้แล้ว เราจะต้องเป็นผู้พิพากษา พิพากษาด้วยมรรค พิพากษาด้วยปัญญา ไม่ใช่พิพากษาด้วยความพอใจไม่พอใจของเรา ความพอใจไม่พอใจของเรา อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค ใช้ไม่ได้ทั้งนั้น

ต้องพิจารณาไปด้วยมรรค ด้วยความสมดุล ด้วยความพอดี มัชฌิมาปฏิปทาคือความสมดุลพอดีระหว่างมรรค ศีล สมาธิ ปัญญากับกิเลสที่ได้ประหัตประหารกัน ถ้าสมดุลพอดีแล้วมันจะรวมตัว ถ้ารวมตัวแล้ว อันนั้นจะเป็นความจริงของมันขึ้นมา

เขาถึงบอกว่า “จึงขอคำชี้แนะจากหลวงพ่อว่า แท้จริงแล้วมันมีจริงหรือผมหลงไปครับ และหากมันมีจริงหรือไม่มีจริง ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง

คำว่า “มีจริงหรือไม่มีจริง” มันมีจริงต่อเมื่อผู้ที่ปฏิบัติ เราจะบอกว่ามันยิ่งกว่าจริง มันมีของมันมาอยู่แล้ว แต่เพราะมันโดนกิเลสครอบงำ มันละเอียดลึกซึ้ง แล้วสัญชาตญาณของมนุษย์มันส่งออก มันไปรู้ไปเห็นข้างนอก มันอยากรู้อยากเห็นข้างนอก มันอยากรู้อยากเห็นธรรม แต่มันไม่รู้ไม่เห็นตัวเอง มันก็เลยไม่เห็นกิเลส มันไม่รู้ไม่เห็นตัวเอง มันก็ไม่รู้จักธรรมไง

แต่นี่เราประพฤติปฏิบัติ โยมเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติแล้วเพิ่งเห็นร่องรอยนะ เห็นสื่อตัวกลาง นี่คนเห็นมันพูดมาจากความเห็นจริง เห็นมีสื่อตัวกลาง

อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ เวลาชำระล้างกิเลสไปแล้วกิเลสมันตาย เวลากิเลสมันตายไปแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขันธ์ ๕ เป็นภาระไง ขันธ์ที่สะอาดบริสุทธิ์ ไอ้นี่มันต้องพูดกันแบบผู้รู้จริง

เวลาพูดกันโดยธรรมชาติ ขันธ์นี้เป็นขันธมาร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์ ๕ นี้เป็นขันธมาร เป็นมารทั้งหมด มารล้วนๆ แต่ผู้ที่ปฏิบัติแล้ว สิ้นกิเลสไปแล้ว ขันธ์ทั้งหมดเป็นขันธ์ที่บริสุทธิ์

แล้วถ้ามันเป็นทางวิทยาศาสตร์ ทางวิชาการ ขันธ์มีสะอาดมีบริสุทธิ์ด้วยหรือ นี่ไง ที่ทางปริยัติเขาบอกว่า “ไอ้กรรมฐานขี้โม้ เป็นโวหารน่ะ เอาโวหาร พูดเป็นโวหาร เอาโวหารมาโอ้อวด มันไม่มีข้อเท็จจริง

นี่มันจะเห็นชัดๆ ไง ถ้าปุถุชนนี่เป็นขันธมาร ถ้าสิ้นกิเลสไปแล้ว ถ้าเป็นโสดาบันมันก็สะอาดขึ้นมาส่วนหนึ่ง สกิทาคามีก็สะอาด ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นอนาคามีสะอาด ๗๕ เปอร์เซ็นต์ พระอรหันต์สะอาดครบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย ถ้า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ขันธ์นี้เป็นภาระ ขันธ์ที่สะอาดบริสุทธิ์ไม่มีกิเลส ไม่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ

มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้า เจ้าจะเกิดบนหัวใจเราไม่ได้อีกเลย ไม่ได้อีกเลย” นี่ขันธ์อย่างนี้เป็นภาระ คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์เทศนาว่าการอยู่ ๔๕ ปี แล้วท่านก็นิพพานไป ช่วง ๔๕ ปีนี้ขันธ์สะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีมาร ไม่มีกิเลสเลย

ฉะนั้น เขาถามว่ามีหรือไม่มี

ไอ้ที่ว่าไม่มีแบบโลก ไม่มีแบบโลกคือหน้าด้าน คือหน้าด้าน หน้าด้านแล้วบอกว่าไม่มี ไอ้พวกหยาบช้าน่ะ หมาบ้าฉีกกัดธรรมะ ไม่มีๆ นั่นน่ะ เป็นโวหารนั่นน่ะ ไอ้พวกหมาบ้ามันว่าไม่มี

ไอ้พวกมีน่ะพวกบัณฑิต บัณฑิตเริ่มมีเริ่มเห็นนะ เหมือนเราไปหาหมอบอกว่าเป็นมะเร็ง อีก ๗ วันตาย โอ้โฮขวนขวาย มันจะปฏิบัติแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน เราเห็นกิเลสไง เห็นกิเลสก็จับกิเลสได้ มันก็เหมือนคนมีหมอวินิจฉัยว่าเราเป็นโรคอะไร แล้วเราจะรักษาโรคตามนั้น นี่ก็เหมือนกัน ถ้ารู้ถ้าเห็นนะ แล้วถ้าพิจารณาไป ถ้าต่อสู้ไป พิจารณาไปถึงที่สุดนะ เราจะกำจัดด้วยความจริงของเรา

ฉะนั้น เราถึงพูดไว้เป็น ๒ ทาง ทางหนึ่งคือว่าสิ่งที่เห็นมันมีจริงหรือไม่มีจริง มันมีจริงสำหรับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่มีอำนาจวาสนานะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมากมายแม้แต่สมาธิยังทำไม่เป็น คือสงบจริงๆ ยังสงบจริงๆ ไม่ได้ แล้วมันจะรู้จะเห็นได้อย่างไรล่ะ

เพราะสมาธิเป็นสมาธิ สมาธิไม่ใช่ปัญญา เวลาชำระล้างกิเลสมันต้องมีสมาธิแล้วชำระล้างด้วยมรรค คือต้องมีปัญญาด้วย เวลาจะชำระล้างมันชำระล้างด้วยปัญญา แต่ปัญญานั้นต้องมีสัมมาสมาธิเป็นตัวรองรับมันถึงจะเป็นโลกุตตรธรรม มันถึงจะเป็นภาวนามยปัญญา

แต่ถ้าเป็นปัญญา ปัญญาที่ไม่มีสมาธินั้นเป็นโลกียปัญญา เป็นปัญญาของกิเลส เป็นปัญญาที่กิเลสมันแต่งให้ เป็นปัญญาที่กิเลสมันให้คิดอยู่ข้างนอก ไม่ให้เห็นตัวมันน่ะ

แต่ถ้ามันเป็นสมาธินั้นคือตัวมัน คือตัวจิต แล้วมันเกิดที่จิต เกิดที่ภวาสวะ ที่ภพ ที่กำเนิดของกิเลสเลย มันก็ต้องไปฟาดฟันกันที่นั่นน่ะ แล้วเวลาถ้ามันเป็นจริงที่นั่น เวลามันขาด เวลามันขาดขึ้นมาแล้ว นั่นน่ะมันชำระล้างจากภายใน

ฉะนั้น สิ่งที่มันมีจริงหรือไม่มีจริง นี่พูดถึงคนที่ประพฤติปฏิบัติแล้วรู้แล้วเห็น แม้แต่คนที่ปฏิบัติไม่รู้ไม่เห็นเรื่องนี้เยอะแยะ สมาธิยังทำไม่เป็น แล้วที่จะเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริงนี้ไม่มีอยู่จริง มันเป็นเห็นโดยอุปาทานทั้งนั้น

แต่ถ้ามันมีอยู่จริงมันต้องสะเทือนหัวใจ มันต้องสะเทือนกิเลส แล้วมันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก คือเจ็บที่ไหน เกิดที่ไหนต้องดับที่นั่น

แล้วที่บอกว่า ถ้ามันไม่มี

มันไม่มีคือคนโง่ คือคนที่ไม่ประพฤติปฏิบัติ แล้วมันก็จะพูดทางวิชาการ มันบอก “ไม่มีหรอก มันจะมีตัวสื่อตัวอะไรมันไม่มี มันมีแต่ขันธ์ ๕ เพราะนี่มันเป็นศัพท์ เป็นศัพท์บาลี เป็นพุทธพจน์เสียด้วย ไม่มีอยู่หรอก

ฉะนั้นถึงบอกว่า นิพพานๆ บอกว่านิพพาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สมมุติให้ชื่อว่านิพพาน แต่ตัวนิพพาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้อธิบายให้ใครฟัง เพราะถ้าอธิบายไปแล้วมันก็จะเป็นสมมุติไง มันก็เป็นสมมุติบัญญัติ แล้วก็จะเถียงกันอยู่นี่ไง ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะพูดอธิบายเรื่องอย่างนี้ ท่านจะอธิบายเป็นบุคลาธิษฐานเปรียบเทียบ อย่างเช่นที่ว่า นิพพานนี้เป็นอายตนะ

เพราะมีพระไปถาม ในพระไตรปิฎก เราก็อ่านเจอตรงนี้ เขาไปถามว่า เพราะคนฉลาด คนฉลาดเขาจะเอาความจริงจากพระพุทธเจ้านะ เขาก็ไปถามพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ใช่ไหม พอถามพระพุทธเจ้าพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าอยู่ด้วยอะไร

พระพุทธเจ้าก็บอกว่า “เราก็มีแต่อายตนะไง ก็มีแต่ตา หู จมูก ลิ้น กาย

เพราะมันยังมีอยู่ใช่ไหม เพราะมันมีไง เพราะมันมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย เพราะพระอรหันต์ก็มีอายตนะเหมือนกัน เราปุถุชนก็มีอายตนะเหมือนกัน

อันนี้มันก็จับเลย “อายตนะนิพพาน

แล้วเราก็ถามกลับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันเป็นนิพพานได้ไหม

ไม่ได้หรอก มันจะเป็นนิพพานได้ที่ใจ เพียงแต่ว่าใจท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านนิพพาน

แต่เขาถามว่าท่านดำรงชีพอย่างไร ท่านอยู่อย่างไรไง

ท่านก็อยู่แบบว่าอยู่แบบมีอายตนะไง อายตนะทั้ง ๖ ก็พระอรหันต์ก็ยังมีอยู่ มันก็มาเข้ากับขันธ์เป็นภาระไง มันขันธ์ที่สะอาดบริสุทธิ์ไง มันไม่มีกิเลส นี่พระอรหันต์ขันธ์สะอาดบริสุทธิ์ แต่ถ้าเราเป็นปุถุชนนี่ขันธมาร เพราะความคิดมันสะอาดบริสุทธิ์ไม่ได้หรอก ความคิดกิเลสมันครอบงำ

เวลาถ้าพูดนะ ถ้าศึกษา ถ้าคนไม่เป็น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเปรียบเทียบ เพราะมีพระ (บัญญัติเราไม่ได้ เราได้อรรถได้เนื้อหามีพระไปถามพระพุทธเจ้า คือเขาอยากรู้ว่านิพพานเป็นอย่างไร เพราะพระพุทธเจ้ายังดำรงชีพอยู่ใช่ไหม ก็ถามว่าพระพุทธเจ้าอยู่อย่างไร อยากจะรู้เรื่องในใจ

พระพุทธเจ้าว่า เราก็อยู่โดยอายตนะ ๖ นี่ไง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็สิ่งที่เราสื่อสารกับสังคมได้ไง แต่ใจที่เป็นนิพพานเป็นของเรา ไม่มีใครรู้กับเราหรอก ใครรู้ไม่ได้ เว้นไว้แต่พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะรู้ พระอนุรุทธะยิ่งรู้มากกว่า

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอนุรุทธะนั่งอยู่ข้างๆ พระอานนท์เป็นคนถาม “ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้วหรือ

พระอนุรุทธะบอก “ยัง ตอนนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เข้าสมาบัติอยู่” แล้วเวลามาถึงกึ่งกลาง “อ๋อตอนนี้พระพุทธเจ้านิพพานแล้ว

เห็นไหม คนที่รู้มี แต่คนที่รู้มันต้องมีวุฒิภาวะเหมือนกัน รู้ได้เหมือนกันมันถึงจะรู้ ถ้าไม่รู้ก็คือไม่รู้ ถ้าไม่รู้ก็ “อายตนะนิพพาน” มันก็ล่อตา หู จมูก ลิ้น กายเป็นนิพพานเลย

เราก็ขำนะ เวลาเขาเทศน์กันน่ะ เออตา หู จมูก ลิ้น กายเป็นนิพพานได้

อาจารย์ใหญ่ก็เป็น เพราะอาจารย์ใหญ่ก็ครบอยู่ เป็นไหม อาจารย์ใหญ่ที่เขาผ่ากันทุกวันนั่นน่ะ เขาก็มีตา หู จมูก ลิ้น กายเหมือนกัน แต่เขาตายไปแล้ว

นี่ไปพูดถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะนิพพาน

อู้ฮูอายตนะเป็นนิพพานได้ด้วย อย่างนั้นวัตถุก็เป็นนิพพานได้ มันเป็นไปไม่ได้ แต่เพียงแต่ว่าในพระไตรปิฎกมี แล้วคนที่ไปอ่านแล้วตีความอย่างไร เข้าใจอย่างไร เบี่ยงเบนไปหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบให้ฟัง เปรียบเทียบให้เห็น ก็เอ็งอยากรู้ เอ็งอวดว่าเอ็งมีความรู้มาถามข้า ข้าก็พูดให้เอ็งฟัง เอ็งจับแล้วเอ็งก็ตีความไปอีกเรื่องหนึ่งเลย นี่พูดถึงว่าถ้าคนไม่เป็น ถ้าคนเป็นไม่มีปัญหาอย่างนี้ มันก็เลยจบ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเขาถามมันย้ำตรงนี้ สิ่งที่เขาเห็นมันเป็นจริงหรือเปล่า เป็นจริงหรือไม่เป็นจริง ทั้งๆ ที่ว่าเวลาเขาบอกเลยนะ เวลาเขาปฏิบัติไปแล้ว เขาฟังเทศน์ไปแล้ว พอปฏิบัติได้ สิ่งที่หลวงพ่อพูด เขาบอกว่าในครั้งแรกผมก็นึกทันทีว่าที่หลวงพ่อพูดมันจริงหรือไม่จริง เวลาเขาฟังทีแรกไง แต่พอปฏิบัติแล้วมันจะรู้ด้วยความเห็นของตนเลย สิ่งที่หลวงพ่อพูดจริงแท้ๆ เวลาเขาพูด นี่เวลาปฏิบัติไป

เวลาปฏิบัติไปแล้วมันจะตามรอยกันไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติมาจนสิ้นกิเลสไปแล้ว เทศนาว่าการได้ปัญจวัคคีย์ ได้ยสะ ได้ชฎิล ๓ พี่น้อง พระอรหันต์ทั้งนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์เราท่านปฏิบัติถ้าเป็นจริงขึ้นมามันจะได้จริงขึ้นมา แต่ต้องเป็นจริง ถ้าจริงแล้วไม่ออกนอกลู่นอกทาง จะไม่มีสิ่งใดทำให้เสียหายเลยถ้ามันเป็นจริง ธรรมะ ธรรมเหนือโลก มันเหนือโลกเหนือสงสาร มันมีอะไรในโลกนี้จะมีค่าเท่ากับธรรมอันนั้น แล้วถ้ามันเห็นธรรมอันนั้นแล้ว ธรรมเหนือโลก

แล้วเราฟังธรรมๆ ก็เพื่อเหตุนี้ ไว้ประดับสติปัญญาของเรา แล้วถ้าใครปฏิบัติแล้วให้ขวนขวาย ให้มันเป็นความจริงขึ้นมา ให้เป็นประโยชน์กับผู้ที่ปฏิบัตินั้น เอวัง