ใจใหญ่
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “ทำไมเราต้องให้อภัย”
หลวงพ่อ : มันเรื่องปัญหาเด็กไง เด็กวัยรุ่น
ถาม : ผมเป็นเด็กอายุ ๑๔ ย่าง ๑๕ ที่มีปัญหาเยอะมาก มีเรื่องกับคนอื่น ผมมีเรื่องกับเพื่อนของเขา แต่เขาออกตัวให้ แถมยังพูดคำสร้อยท้าทายว่าไม่กลัวหรอก ผมอยากวิ่งเข้าไปต่อยหน้ามากเลยครับ แต่แม่ก็สอนตลอดว่าอย่ามีเรื่องเลย มันไม่ดี แต่เขาอยากมีเรื่องกับเรา เราควรจะให้อภัยเขาไหมครับ หรือทำให้เขาเจ็บตัว
ตอบ : นี่พูดถึงปัญหาวัยรุ่นเนาะ ปัญหาวัยรุ่น วัยรุ่นพลังงานเยอะมาก เด็กแว้น เด็กที่มันมีปัญหามันก็เกิดจากวัยรุ่น ถ้าวัยรุ่นแล้วทางรัฐบาลเขาจะให้เล่นกีฬา ถ้าเด็กวัยรุ่นมันหัดเล่นกีฬา มันเพิ่มทักษะชีวิต แล้วมันยังทำประโยชน์ของมันนะ ฉะนั้น ถ้าวัยรุ่นไม่มีทางออก เขาพยายามขับดันของเขา ความขับดันของเขา ฉะนั้น เวลาวัยรุ่นเขาไปเจอกัน เวลามันมองหน้ากันก็ไม่ได้ มองหน้ากันน่ะหาเรื่องเลย ทุกอย่างมันเป็นไปตามประสาเด็ก ถ้าประสาเด็ก
“ผมเป็นเด็กอายุ ๑๔ ย่าง ๑๕”
อายุ ๑๔-๑๕ สมัยเราเป็นเด็กอายุ ๑๔-๑๕ เราจะมีความคิดอย่างไร เราก็มีความคิดอย่างนั้นน่ะ เพราะโลกของเด็กไง ในโลกของเด็กก็ความคิดของเขา ถ้าความคิดของเขา แล้วเด็กมันต้องการการยอมรับ เพราะการเลี้ยงดูมาตั้งแต่ทารก ตั้งแต่เด็กน้อย ทุกอย่างพ่อแม่ให้หมดเลย ก็อยากจะให้พ่อแม่ชมว่าเราเป็นคนดี เรามีความสามารถ เด็กมันต้องการการยอมรับๆ ธรรมชาติของเด็ก ถ้าธรรมชาติของเด็ก
ฉะนั้น พอธรรมชาติของเด็กมันส่งออกด้วยความรุนแรง ถ้าส่งออกด้วยความรุนแรง ความที่จะให้เข้าใจเรื่องอย่างนี้ได้มันเข้าใจได้ยาก พอเข้าใจได้ยาก สิ่งที่เข้าใจได้ยากจะทำแล้วแบบว่ามันมองมุมเดียวไง
ดูสิ เวลาน้ำป่ามา เราเคยไปเที่ยวป่านะ ไปติดน้ำป่า ก้าวก้าวหนึ่ง ขึ้นมาเป็นศอกๆ เลย หนีไม่ทันหรอก อยู่ในป่านะ เสียงน้ำไหลมา เพราะเราไม่มีประสบการณ์ไง เสียงน้ำป่ามานะ ในความรู้สึกของเรา เพราะเราเป็นคนเมืองไง เฮ้ย! เฮลิคอปเตอร์ใครมาวะ เสียงเหมือนใบพัดเครื่องบิน ผับๆๆๆ
มันรุนแรงนะ น้ำป่ามันไหลผ่านป่ามา มันซัดมา ป่านี้ราบไปหมดเลย ไอ้เราก็นั่งฟังอยู่นะ ไม่รู้หรอก แต่พอน้ำเริ่มมา เห็นน้ำมา เราจะก้าวหนี พอก้าวหนีขึ้นมาก้าวหนึ่ง อู้ฮู! มันขึ้นไปเป็นศอก หนีไม่ทัน ไปติดกับน้ำป่าอยู่ ๓-๔ ชั่วโมง เกือบตาย
อันนี้พูดถึงเวลาว่าน้ำป่ามันรุนแรงไง เราเปรียบเทียบถึงอารมณ์ของวัยรุ่น อารมณ์การส่งออกมันรุนแรง ทีนี้ความรุนแรงแล้วเราจะยับยั้ง เราจะบอกให้เขาได้คิดนี่ยากมากเลย
ฉะนั้น พอให้ได้คิด ให้ได้สำนึก มันเป็นความยากมาก แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแบบนี้ เพราะเราเป็นวัยรุ่นมาก่อน เราเป็นวัยรุ่นมาก่อน เราอยู่ในสังคมวัยรุ่น ประสาวัยรุ่นมันก็รุนแรงพอสมควร แล้วเราบวชแล้วเรากลับมาเยี่ยมบ้าน พวกเพื่อนๆ เขาก็มาเยี่ยมเยียนกัน ก็พูดถึงปัญหานี้ เขาคุยกันเองไง บอกเดี๋ยวนี้เพื่อนคนนี้จะไปหาเรื่องคนนู้น ไปหาเรื่องคนนี้ เราก็เตือนเพื่อนบอกว่าอย่าไปทำอย่างนั้นนะ
เพื่อนมันย้อนกลับไง เมื่อก่อนเอ็งน่ะเป็นหัวหน้าเลย เอ็งพาทำทั้งนั้นเลย มันถามกลับอย่างนี้เลยนะ
เราบอก อ้าว! ก็ตอนนั้นกูยังไม่ได้บวชเว้ย กูยังไม่มีปัญญาไง ตอนนี้กูมีปัญญาแล้วนะ
นี่เวลาเจอมันเจอปัญหาอย่างนี้ เพราะตอนนั้นเราก็เป็นแบบนั้นน่ะ เราจะบอกว่า ถ้าเราไม่ได้ศึกษา เราไม่ได้ฝึกหัดมาเลย เรามีความรู้สึกนึกคิดอย่างนั้น อารมณ์อย่างนั้นมันก็เป็นอารมณ์ของพวกเราด้วย
แต่ถ้าเราพัฒนาของเราแล้วนะ เราพัฒนาแล้ว เราเห็นโทษของมันแล้ว แล้วเรามาปฏิบัติของเราแล้ว เราจะเห็นเลย เห็นว่าถ้าทำอย่างนั้นน่ะมันมีแต่ความผิดพลาด มีแต่ความผิดหมดเลย คนทำก็ผิด คนได้รับผลกระทบก็ผิด พ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายก็ผิด เจ้าหน้าที่ที่จะต้องเข้ามาสืบสวนสอบสวนก็เป็นภาระ เราทำคนเดียวนะ แค่เราเป็นคนเริ่มทำ มันมีผลเป็นลูกโซ่ไปกระทบกระเทือนกันไปหมดเลย
แต่ถ้าเรามีสติปัญญายับยั้งของเราได้ นี่ไง ถ้าคนที่มีสติมีปัญญา แล้วถ้าเห็นโทษของการที่ว่าเราขาดสติคนเดียว แล้วเราทำปัญหาไป กระทบกระเทือนไปเป็นวงกว้างไปหมดเลย แล้วทุกคนจะมีผลกระทบไปหมดเลย ไอ้นี่ผลกระทบทางโลกนะ ที่เราเห็นๆ กันนะ
แต่ถ้าผลกระทบทางธรรม เขาถามว่า ทำไมต้องให้อภัย ทำไมต้องให้อภัยล่ะ
เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวรนี่สำคัญมาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ไง เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร คนที่มันจะจองเวรจองกรรมกันมันมีเวรมีกรรมกันมาอยู่แล้ว อย่างวัยรุ่น ทำไมเอ็งต้องเป็นกลุ่มนั้น ทำไมต้องเป็นกลุ่มนี้ แล้ว ๒ กลุ่มนี้จะมีปัญหากันหมด
ดูสิ ซอย ๕ กับซอย ๖ ซอย ๕ ก็กลุ่มหนึ่ง ซอย ๖ ก็กลุ่มหนึ่ง เกิดมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่นนะ จนอายุมากขึ้นมา เขาต้องประหัตประหารกันทั้งชีวิตเลย ส่วนใหญ่มันจะมีวัยรุ่นประจำซอย แล้วซอย ๕ กับซอย ๖ แล้วก็มีปัญหากันมาทั้งชีวิต มันแปลกไหม
นี่เราจะย้อนกลับมาว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร มันต้องมีเวรมีกรรมกันมาต่อกันมันถึงมาเกิดสภาวะแบบนั้น แล้วจะต้องให้ทั้งชีวิตเลยจะต้องมากระทบกระเทือนกันไปทั้งชีวิตเลย แล้วก็ยังส่งต่อให้รุ่นต่อๆ ไปนะ “มึงจำไว้นะ มึงต้องมีศักดิ์ศรีนะ ซอยเรามีชื่อเสียงนะ ซอยเรามีมาตรฐานนะ ซอยเรา” มันส่งความแค้นต่อเป็นรุ่นๆ ไปเลย แล้วทำไมเราต้องไปเกิดในสภาพแบบนั้นน่ะ นี่ไง กรรมเก่ากรรมใหม่ไง มันมีที่มาที่ไปทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงสอนตรงนี้
เราจะบอกเลยนะ คนที่ให้อภัยได้ต้องใจยิ่งใหญ่ ถ้าใจเล็ก ใจคับแคบ มันก็อย่างที่ว่า ใจเล็ก ใจคับแคบ คิดได้แค่นั้นไง ที่ว่ารุ่นใหญ่ส่งให้รุ่นต่อๆ มาไง“พวกเรามีศักดิ์ศรีนะ มันเป็นศักดิ์ศรีประจำหมู่บ้านเรานะเว้ย”
มันเป็นศักดิ์ศรี แต่ไม่ได้คิดเลยนะว่าความดีงาม ความดีงาม สิ่งที่เป็นธรรมเป็นศักดิ์ศรี ถ้าศักดิ์ศรีอย่างนี้ต้องศักดิ์ศรีของพระเจ้าอโศกมหาราช
พระเจ้าอโศกมหาราชส่งสมณทูต สิ่งที่ธรรมทูตออกไปเป็นสาย ๙ สาย ท่านคิดไง จน ๒,๐๐๐ กว่าปี สิ่งที่โลกได้รับความร่มเย็นเป็นสุขได้มาจากไอเดียของพระเจ้าอโศกมหาราช ท่านได้คิดของท่าน ท่านได้ทำของท่าน ท่านได้เผยแผ่มาแล้วมันตกผลึกในสังคม นี่! นี่ถ้าพูดถึงศักดิ์ศรีต้องเป็นศักดิ์ศรีอย่างนี้
ถ้าศักดิ์ศรีเป็นคุณงามความดี ศักดิ์ศรีเพื่อความร่มเย็นเป็นสุข ศักดิ์ศรีเพื่อความสงบระงับของโลก นั่นคือศักดิ์ศรีอย่างนี้ ใช่ แต่ศักดิ์ศรีตีหัวกัน ศักดิ์ศรีทำลายกัน อย่างนี้ไม่ใช่ศักดิ์ศรี มีแต่บาดแผล มีแต่เข้าโรงพยาบาล หมอเย็บ ศักดิ์ศรีอะไรของเอ็ง นี่เป็นความคิดไง
ฉะนั้น เราจะบอกว่า สิ่งที่จะทำสิ่งนี้ได้มันต้องจิตใจที่ยิ่งใหญ่ ถ้าจิตใจที่ยิ่งใหญ่มันต้องมีการฝึกหัด เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงสอนเรื่องทาน เรื่องทานถ้าเรามองผิวเผินนะ มันก็คือการให้ แต่ถ้าเรื่องทานถ้ามองให้ลึกซึ้งนะ เรื่องทานคือการดัดแปลงหัวใจของสัตว์โลก
ทีนี้พอดัดแปลงหัวใจของสัตว์โลก มันธรรมดาใช่ไหม เพราะธรรมดาของคนเวลาคนทำบุญกุศลด้วยหน้าด้วยตา ทำบุญกุศลแล้วเพื่อจะเอาคุณงามความดี อันนั้น เห็นไหม ทานเขาให้ดัดแปลงกิเลส ดัดแปลงให้หัวใจมันพัฒนา ให้จิตใจมันยิ่งใหญ่ ให้จิตใจมันพัฒนา ไอ้นี่ไปทำทาน ไปทำบุญกุศลแล้วยังจะไปอยากได้อยากดี อยากหน้าใหญ่ใจโต ยังอยากขึ้นไปอีก นี่กิเลสก็ซ้อนเข้ามาอีก
แต่ถ้าโดยธรรมชาติของทั่วไป ทานนี่นะ เขาจะพัฒนาหัวใจของสัตว์โลกนะ พัฒนานะ แล้วถ้าทานที่มหาศาลคือทานทำบุญทิ้งเหว ในหลวงปิดทองหลังพระ ทานแท้ๆ คือปิดทองหลังพระ เพราะการปิดทองหลังพระคือพัฒนาหัวใจ คำว่า“ปิดทองหลังพระ” ไม่มีใครรู้กับเราใช่ไหม ไม่มีใครรับรู้ในการทำบุญกุศลของเราใช่ไหม ถ้าทานที่ยิ่งใหญ่คือปิดทองหลังพระ
แล้วในอุดมการณ์ของเรา ปิดทองก้นพระ ถ้าจะทำคุณงามความดี เราไม่ให้ใครรู้ เราพยายามทำใต้ดินนะ เพราะเราดูแบบมาจากหลวงตา
หลวงตา สมัยเราอยู่กับท่าน ท่านทำคุณงามความดีใต้ดินทั้งนั้นน่ะ ก่อนที่จะออกมาโครงการช่วยชาติฯ ท่านแบกโลก ท่านช่วยโลกมาเยอะ แต่ไม่มีใครรู้หรอก แล้วท่านบอกว่าไอ้ที่รู้ๆ นั่นน่ะ ไอ้นั่นน่ะอยากดังอยากใหญ่ อยากมีหน้ามีตา
แต่ถ้ามันเป็นความจริง ถ้ามันจริงต้องไม่ให้มีใครรู้เลย แล้วต้องห้ามให้ใครรู้ด้วย ถ้าเอ็งให้ใครรู้ได้แสดงว่าเอ็งไม่แนบเนียน เอ็งทำไม่เป็น เอ็งไม่ใช่ผู้มีปัญญาแท้
ผู้มีปัญญาแท้นะ เขาทำไม่ให้ใครรู้เลย นั่นน่ะบุญที่แท้จริง บุญที่ยิ่งใหญ่ ฉะนั้น ปิดทองหลังพระ ถ้าทำอย่างนี้ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันนี้ประเสริฐมาก
อุบายของการให้ทานๆ การให้ทานคือการดัดแปลงหัวใจของตนนี้อันดับ ๑ อันดับ ๒ สังคมได้การเสียสละ สังคมได้รับทรัพยากรนั้น สังคมนั้นจะอยู่อาศัยกันด้วยความราบรื่น นี่สังคมมันจะดีขึ้น ถ้าสังคมดีขึ้น ไอ้นั่นเป็นผลของสังคม นั่นเป็นผลของวัตถุนะ แต่ผลจริงๆ มันผลของบุญนะ ผลของบุญคือหัวใจของสัตว์โลก หัวใจของคนที่ดีงาม
หัวใจที่ดีงาม ทาน ถ้าทานที่สะอาดบริสุทธิ์ ทานที่เป็นบุญจริงๆ มันทานอย่างนี้ ปิดทองหลังพระ ทำคุณงามความดีแล้วไม่ต้องให้ใครรู้ ไอ้ที่ทำบุญแล้วอยากให้ใครรู้ ทำบุญแล้วหน้าใหญ่ใจโตนั่นน่ะ ไอ้นั่นน่ะกิเลสมันซ้อนมา นั่นน่ะกิเลสมันหลอกลวงมา
ฉะนั้น เวลาของเรา นิสัยเราเป็นแบบนี้ ใครทำบุญกุศลถึงวางไว้ๆๆ ความยิ่งใหญ่มันอยู่ที่ใจเอ็งนั่นน่ะ ตั้งแต่เอ็งคิด เอ็งอยากให้ แล้วให้มาแล้ว สิ่งที่ให้มามันเป็นประโยชน์ไม่เป็นประโยชน์ ถ้าเป็นประโยชน์ สรรพสิ่งทุกอย่างเป็นประโยชน์หมดล่ะ คนที่รับ ผู้ที่มีปัญญา นี่หัวใจที่ยิ่งใหญ่เขาเสียสละนะ แล้วเราเป็นผู้ที่บริหาร เราจะเอาของนี้มาทำให้มันสุรุ่ยสุร่ายได้อย่างไร เราทำเพื่อประโยชน์ทั้งนั้นน่ะ ถ้าทำแบบนี้ นี่การฝึกหัด
ทีนี้การฝึกหัด เขาบอกว่า ทำไมต้องให้อภัย
ให้อภัยไม่ได้หรอก กิเลสมันท่วมหัว ทิฏฐิมานะให้อภัยใครไม่ได้ เสียศักดิ์ศรี เสียความเป็นมนุษย์ มนุษย์ต้องควงปืนสองกระบอก ยิงทั่ว นั่นน่ะมนุษย์ มนุษย์ที่แท้จริงน่ะ แล้วมันจะยอมใคร มันยอมใครไม่ได้หรอก
แต่ถ้ามันได้ฝึกหัดอย่างนี้นะ ฝึกหัดหัวใจนะ ถ้าหัวใจมันยิ่งใหญ่ หัวใจมันต้องใหญ่ ถ้าหัวใจมันต้องใหญ่ เรารู้เท่าอารมณ์เราเอง
อย่าดูถูกความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้านะ พระอริยเจ้าเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ ท่านรู้ถึงผลกระทบไง ขันธ์ที่สะอาดบริสุทธิ์ถ้ามันกระเพื่อม ท่านรู้แล้ว ความคิดนี้มันคิดดีหรือคิดชั่ว ถ้ามันคิดดี พูดออกไปแล้วมันกระทบกระเทือนใครบ้าง ท่านไม่พูดนะ ความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้านี่สุดยอดมาก
ดูหลวงปู่ลีเราสิ ไปเถอะ ท่านนิ่งเฉย ไม่ใช่ไม่รู้นะน่ะ นั่นน่ะสุดยอดเลยล่ะ ความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้ามันรู้จบโลกธาตุ รู้รอบ รู้ทั้งใจเราและใจเขา รู้จบกระบวนการ แล้วนิ่งอยู่ เห็นไหม นี่ใจที่ยิ่งใหญ่
แต่ใจพวกเรามันมีแต่กิเลส ใจของเรายังอยากให้คนชม อยากให้คนว่ากูดี ถ้าอยากให้คนว่ากูดี เราจะให้อภัยใครได้ล่ะ แต่ถ้าใจที่ยิ่งใหญ่จะเป็นแบบนั้น ใจที่จะให้อภัยได้ใจต้องใหญ่ พอใจต้องใหญ่
ย้อนกลับมาผู้ถามอายุ ๑๔-๑๕ ไง อย่างที่ว่าถ้าทำไปแล้วมันผลกระทบกระเทือนถึงใคร
อนาคตนะ อนาคตของเรา เราต้องมีการศึกษา อนาคตของเรา เราต้องมีหน้าที่การงาน อนาคตของเรา เรามีพระอรหันต์ในบ้าน เรามีพ่อมีแม่ พ่อแม่ให้ชีวิตเรามา ให้ชีวิตเรา ส่งเสียเรามีการศึกษา พ่อแม่ขวนขวายหาเงินหาทองส่งให้เราศึกษา แล้วพ่อแม่หวังเพื่อให้เรายืนในสังคมได้ พ่อแม่หวังให้ลูกเจริญงอกงามทั้งนั้นน่ะ
พ่อแม่จริงๆ แล้วไม่ได้หวังพึ่งลูกหรอก แต่มันเป็นหน้าที่ มันเป็นหน้าที่ความกตัญญูของเรา ถ้าเราประสบความสำเร็จ เรามีหน้าที่การงานแล้วเราจะค่อยอุปัฏฐากดูแลพ่อแม่ของเรา ถ้าอุปัฏฐากดูแลพ่อแม่ของเรา นี่คือหน้าที่อนาคตที่เราจะต้องรับผิดชอบ
แล้วเราไปทำของเรา เราไปมีปัญหา ชกหน้ามันเลย เขาบอกว่าเขาอยากชกหน้ามันมากเลย อยากชกหน้ามันมาก
มันมีประวัติในการศึกษานะ แล้วถ้ามีผลรุนแรงขึ้นมา อนาคตการศึกษามันก็จะมีปัญหา ถ้ามีปัญหา นี่คือปัญหาทั้งนั้นน่ะ นี่คืออะไร นี่คือความไม่รู้ คืออวิชชา จะบอกว่าโง่ก็ได้
แต่ถ้ามันฉลาด ฉลาด เราให้อภัย พอให้อภัยปั๊บ ถ้าในปัจจุบันนี้เขามีการถ่ายคลิปไง ถ้ามีปัญหาขึ้นมาแล้วเราเป็นคนคุมเกม เราเป็นคนจัดการให้มันถูกต้องดีงามนะ ถ้าเขาถ่ายคลิปไปลงในเว็บไซต์นะ เดี๋ยวชื่อเสียงเอ็งจะดัง พรุ่งนี้ดังทันทีเลย นี่เพราะอะไร นี่เพราะปัญญาไง นี่เพราะจิตใจเรายิ่งใหญ่ไง ถ้าจิตใจเรายิ่งใหญ่ เราให้อภัยได้ไง
แต่ถ้ามีการกระทบกระเทือนกัน ดูสิ นักเรียนทะเลาะกัน เขาถ่ายคลิปไปออกทีวี ถ่ายคลิปออกเว็บไซต์ อู้ฮู! สุดท้ายนะ เรื่องที่จะไม่เป็นเรื่องเลย เจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ต้องไปจับ เจ้าหน้าที่นะ แล้วกระทบกระเทือนถึงเรียกผู้ปกครองมา ผู้ปกครองมีปัญหาแล้ว
เห็นไหม ใจคับแคบ ใจคับแคบเพราะใจกลัวเสียหน้า กลัวว่าเราจะสู้เขาไม่ได้ ถ้าจิตใจที่ยิ่งใหญ่นะ เรายิ่งใหญ่ในตัวเรา
เสียงนกเสียงกา เพื่อนฝูงล้อหมดเลย เพื่อนเฮๆ เลย ยุให้เราต่อยกัน ยุให้เรามีเรื่อง แล้วเพื่อนมันรับผิดชอบอะไร เพราะเราไม่ทำ เพื่อนบอกว่าเอ็งหน้าตัวเมีย เอ็งไม่กล้าสู้คน จิตใจคันแล้ว ไม่สู้ไม่ได้แล้ว หันหน้าไปจะล่อเขาเลย นี่จิตใจคับแคบไง ใครเหน็บใครแนมไม่ได้ไง
จิตใจที่ยิ่งใหญ่ ถ้าเรายิ่งใหญ่นะ เราอยู่เฉยๆ เพื่อนจะยุใครมันเรื่องของเขา ถ้าสุดท้ายแล้วถ้าเขาทำไม่ได้ เราค่อยบอกเพื่อนทีหลังนะ พอเพื่อนมารู้ทีหลังนะ เราจิตใจที่ยิ่งใหญ่กว่า ยิ่งใหญ่กว่า เราคุมเพื่อนเราได้ด้วย ฝ่ายตรงข้ามถ้ามันเห็นอย่างนั้นมันจะยอมรับด้วย นี่พูดถึงว่าทำไมต้องให้อภัย
เราจะบอกว่า การให้อภัยได้นะ ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้อภัยหมดล่ะ ให้อภัยเขานะ แล้วไม่ตอบโต้ด้วย สิ่งที่ไม่ตอบโต้นะ สิ่งที่ไม่ตอบโต้ บาปอกุศลของเขามหาศาลเลย
ในสองฝ่ายมีอาวุธหรือว่ามีกำลังที่พอจะปะทะกันได้ ปะทะกันนี่เสมอภาค ผู้ที่มีกำลังมากกว่าทำลายผู้ที่มีกำลังน้อยกว่า เขาถือว่าไม่ใช่ลูกผู้ชาย รังแกคนอ่อนแอกว่า ผู้ที่มีกำลังกว่าไปรังแกสตรีเพศ รังแกผู้หญิง สังคมติฉินนินทา
แต่ผู้ที่มีปัญญายับยั้งความคิดของตนได้ ยับยั้งความคิดของตนได้แล้วควบคุมปัญหาได้ จัดการปัญหาได้ ดูแลได้ นี่ยิ่งใหญ่ จิตใจที่ยิ่งใหญ่ไง
นี่พูดถึงการให้อภัยนะ การให้อภัย ภาษาเราเลยนะ ธรรมะที่สูงส่ง เพียงแต่ว่าโลกมองกลับ มองว่าหน้าตัวเมีย ไม่กล้าสู้ เหมือนพระเลย เวลามาบวชพระ“จนตรอกใช่ไหมถึงมาบวชพระ เลี้ยงชีพไม่ได้แล้วสิค่อยมาบวชพระ” ถ้าคนจิตใจต่ำต้อยเขาคิดอย่างนั้น บวชหนีทุกข์มาเพื่อจะมาเสวยสุขในศาสนา
แต่ถ้าพูดถึงผู้ที่มีปัญญานะ ผู้ที่มีปัญญา พ่อแม่มีลูกคนเดียว พ่อแม่ไม่อยากให้บวช เขาอยากบวชใจจะขาด ทรัพย์สินทางโลกมหาศาล เขาก็อยากจะบวชของเขา คนที่จิตใจที่เขาบวชเพื่อพ้นทุกข์ เขาบวชเพื่อประพฤติปฏิบัติ เวลาบวชมาแล้วไม่ใช่บวชมานั่งกินนอนกินไง บวชมาแล้วนะ โอ้โฮ! เขาฝึก เขาขวนขวาย เขาพยายามฝึกหัดภาวนาของเขา เขาสู้กับกิเลสของเขา เขาอดอาหารของเขา เขาเดินจงกรมของเขา
หลวงตาท่านเดินจงกรมจนเลือดออกฝ่าเท้า พระโสณะเดินจงกรมจนทางจงกรมมีแต่เลือดไปทั้งนั้นเลย นี่เวลาเขาบวชมาเขาบวชมาเพื่อความมุมานะ เขาบวชมาเพื่อเร่งความเพียร บวชมาเพื่อจะต่อสู้กับกิเลส แล้วกิเลสมันเป็นนามธรรมที่มองไม่เห็นด้วย บวชมาเพื่อเอาชนะตัวเอง ความบวชที่ยิ่งใหญ่ของเขา
แต่เขาบอก “ไม่มีจะกินใช่ไหมถึงมาบวช อยู่โลกไม่ได้ โลกเขาบีบบี้สีไฟแล้วหนีมาบวช” นี่เวลาเขาคิดกันไป เวลาเขาพูดอย่างนี้ปั๊บ พระก็เลยไม่มีบวช พระไม่กล้าบวช พระก็เลยไม่มีในประเทศไทย แต่นี่พูดถึงคนที่เขาดียังมีไง
นี่พูดถึงว่าทำไมต้องให้อภัย
คำว่า “ให้อภัย” การให้อภัยคือว่าคนที่มีธรรม คนที่สูงส่งกว่าให้อภัยคนจิตใจที่ต่ำต้อย จะมีอายุมากหรืออายุน้อยไม่สำคัญ สำคัญที่มีสติมีปัญญาระลึกได้หรือไม่ ถ้าไม่มีสติปัญญาระลึกได้ นั้นเขายังเป็นทารกอยู่ ถึงอายุขัยมาก มีอายุมาก อายุชราคร่ำคร่า แต่พฤติกรรมวุฒิภาวะในจิตยังอ่อนแอ ยังเป็นทารกอยู่ ให้อภัยใครไม่ได้ ทำสิ่งใดไม่ได้ แต่ผู้ที่มีสติมีปัญญา แม้แต่จะเป็นเด็กน้อย แต่ถ้ามีสติปัญญารับรู้สิ่งนี้ได้
ในปัจจุบันนี้คนที่แบบว่าจะช่วยคนทุกข์คนยาก เห็นคนมีปัญหาเข้าไปช่วย นี่จิตใจเขาช่วยได้ คนไม่ทอดธุระ สังคมอย่างนี้เป็นสังคมให้สุขสงบ สังคมที่อบอุ่นน่ะ แต่สังคมที่ไม่มีสิ่งใดมันก็ทุกข์ก็ยากไป นี่พูดถึงว่าถ้าทำได้นะ ถ้าทำได้ ฉะนั้น ทำได้มันต้องเป็นธรรมจริงไง แต่ตอนนี้มันเป็นพวก ๑๘ มงกุฎ ตั้งมูลนิธิเพื่อจะช่วยเหลือโลก แล้วก็เที่ยวเรี่ยไร เที่ยวหลอกลวง มันมีร้อยแปด
ฉะนั้น เราจะทำคุณงามความดีของเรา ปิดทองหลังพระ แล้วถ้าเราทำได้มากได้น้อยแค่ไหนเราก็ทำของเราตามแต่ความสามารถของเรา แล้วเราก็มีสติปัญญาของเรา
ใครๆ ก็อยากทำคุณงามความดีทั้งนั้นน่ะ ถ้าใครมีกำลังที่ทำคุณงามความดีได้มากน้อยแค่ไหนก็ทำของเขา ถ้าเรามีสติปัญญา เราก็จะทำคุณงามความดีของเรา เราไม่ต้องการให้ใครมาชักนำ ถ้ามันไว้ใจได้ อะไรได้ นั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ ถ้ามันไว้ใจไม่ได้ ไม่ต้องไปยุ่งกับเขา
นี่เราจะบอกว่า ถ้าพูดส่งเสริมกันอย่างนี้ไง ทำดีๆๆ ไอ้พวกนั้นก็จะไปตั้งเลย“มาเลย ที่นี่ทำดี มาได้เลย ที่นี่ทำความดี” อย่างนั้นเราไม่เข้าไปยุ่งกับเขา มันต้องมีปัญญาไง ถ้ามีปัญญาแล้วเราก็ไม่เป็นเหยื่อของโลกไง
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าทำไมต้องให้อภัย
การให้อภัยคือการชนะกิเลสของตัว ว่าอย่างนี้เลยนะ การให้อภัยเขาคือชนะทิฏฐิมานะของตน ความยึดมั่นถือมั่นตัวตนที่ยิ่งใหญ่ ถ้ามีสติปัญญา เราชนะตัวตนของเรา เราชนะตัวตนของเราได้ เราถึงให้อภัยคนอื่นได้
การที่เราเอาชนะตัวตนของเราได้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หรอก แสนยาก ถ้าเราเอาชนะเราได้ เอาชนะตัวเราได้ เอาชนะทิฏฐิมานะของเราได้ เราก็ให้อภัยเขา
แล้วภาษาเรานะ ถ้าวันไหนเขาระลึกได้ เขาคิดได้นะ เขาจะคิดถึงว่า เพราะเราสามารถทำให้เขาเจ็บปวดได้ เราสามารถทำให้เขาเสียหายได้ แต่เราไม่ทำ เราให้อภัยเขา ให้อภัยเขา ที่เขาทำสิ่งใดมาเขาอาจจะคิดไม่ถึงก็ได้ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ได้ ทำผิดพลาดก็ได้ เรื่องของเขา แต่ถ้าเขาตั้งใจจะทำเรา อันนั้นก็กรรมของสัตว์ เพราะถ้าเขาตั้งใจทำเรา แล้วเราทำตอบสนองไป มันก็ต้องมีผลทางคดีต้องขึ้นโรงขึ้นศาลไปด้วยกัน
แต่ถ้าเราเป็นฝ่ายให้อภัยเขา แล้วถ้าเขาจะทำเรา เราเป็นผู้เสียหาย เราไม่ใช่พูดอย่างนั้น ถ้าผู้เสียหาย เราจะบอกว่ากรรมมันมีไง ไม่ใช่ว่าเราคิดดีแล้วเราจะสะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีใครมาแตะต้องเราเลย มันไม่มี มันไม่มีหรอก เราจะผุดผ่องขนาดไหนมันก็มีคนมารังแกเราทั้งนั้นน่ะ ในโลกแห่งความเป็นจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธอโดนโลกธรรมกระทบรุนแรง เธออย่าเสียใจ ให้มองดูเรา”
ดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์นะ เป็นผู้ที่มีฤทธิ์มีเดชนะ ยังโดนทำร้ายขนาดนั้น เพราะอะไร เพราะมีกรรมเก่าไง แต่กรรมเก่าก็ทำได้แค่วัตถุไง แต่ไม่สะเทือนใจองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรอก มันเข้าถึงธรรมอันนั้นไม่ได้หรอก พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ จะเข้าถึงหัวใจอันนั้นไม่ได้หรอก นั่นน่ะนิพพานไปแล้ว แต่เศษของกรรมๆ เพราะร่างกายยังมีอยู่ สิ่งที่มันยังจับต้องได้มันมีผล มันกระทบน่ะ นี่ไง เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา
แต่จะบอกว่า ให้อย่างเราคิดให้เป็นผ้าขาว ให้สะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีอะไรสิ่งใดมาทำให้เศร้าหมองเลย มันไม่มีอยู่ในโลกนี้หรอก ผ้าขาวมาแขวนไว้เดี๋ยวมันก็เลอะ ฝุ่นมันก็จับ มันไม่มีหรอกฝุ่นไม่มีอยู่ในโลกนี้
นี่ก็เหมือนกัน เราจะคิดให้ได้ดั่งใจเรามันไม่มี แต่เรารักษาใจเราดีกว่า เห็นไหม รักษาใจเรา เรามีศีล เรามีสมาธิ ฝึกหัดใช้ปัญญาให้ใจเรายิ่งใหญ่ ใจต้องใหญ่ พอใจต้องใหญ่ไปอยู่ที่ไหนเราอภัยให้เขาได้หมดเลย มันไปภาวนาที่ไหน เสียงกระทบกระทั่ง เสียงรบกวนอะไรก็ให้อภัยเขา
เว้นไว้แต่ถ้ามันเป็นสังคมที่ไม่ไหว สังคมที่ว่ามืดบอด เขาทำอย่างนั้นเราก็หนีเสีย เพราะว่าไม่ไหวๆ อย่างนั้นไม่ได้หรอก เราภาวนาไม่ได้หรอก มันอยู่ในสังคมอย่างนั้นน่ะ สังคมที่ว่าสังคมเหลวแหลก แล้วเราจะไปทนอยู่กับสังคมที่เหลวแหลก เว้นไว้แต่ถ้าเราไปปฏิบัติที่ไหนมีปัญหา เราก็หลบหลีกของเรา หลบหลีก หลบหลีกของเราไป นี่พูดถึงว่า ใจเราใหญ่แล้วเราไม่ไปเพ่งโทษใครทั้งสิ้น กรรมของสัตว์ มันเป็นกรรมของเขา
นี่เขาถามว่า ทำไมต้องให้อภัย แล้วเขาบอกว่า “แต่แม่ก็สอนตลอดว่าอย่าให้มีเรื่อง มันไม่ดี แต่เขาก็อยากมีเรื่องกับเรา”
เขาอยากมีเรื่องกับเราก็อย่างที่ว่านี่ไง มันไม่ถูกชะตา มีเวรมีกรรมต่อกันแล้วเห็นแล้วมันสะเทือนหมดนะ แต่ถ้ากรรมดีนะ เห็นแล้วมันถูกชะตานะ เออ! ไอ้นี่เพื่อนแท้ ถ้ากรรมดีนะ เออ! เจอเพื่อนแท้ เจอเพื่อนแท้ มันไปกันได้
คนเรานะ เพื่อนแท้ เพื่อนตายหายากนะ คนที่มีวุฒิภาวะทำบุญมาใกล้เคียงกันนี่หายากมาก ถ้ามีเพื่อนตาย มีเพื่อนแท้ อันนั้นถือว่าบุญกุศลนะ แต่ส่วนใหญ่แล้วมันก็จะมีความขัดแย้ง มีความเข้าใจผิด แล้วมันจะมีปัญหาไปหมดน่ะ
ฉะนั้น แม่สอนว่าอย่าให้มีเรื่องกับใคร แต่เขาอยากมีเรื่องกับเรา
แต่เขาอยากมีเรื่องกับเรา เราก็บอกกับผู้ใหญ่ เราบอกกับผู้ใหญ่ บอกครู บอกอาจารย์ปกครอง บอกต่างๆ ว่ามันมีปัญหาอย่างนี้ แล้วถ้าเขาช่วยปกป้องได้ก็ช่วยปกป้อง ถ้าเขาช่วยปกป้องไม่ได้ เราก็ใช้ปัญญาของเราพยายามพาชีวิตของเรานะ
ทำไมต้องให้อภัย
ให้อภัยเพราะเราเชื่อมั่นในพระพุทธเจ้า เราเชื่อมั่นในศาสดาของเรา ศาสดาของเราท่านสอนแบบนี้ สอนให้สัตว์ เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร แต่โลกมันจะจองเวรจองกรรมทั้งนั้นน่ะ
แล้วโลกนะ พูดถึงประสาโลกนะ โลก ถ้าจะเป็นผู้บริหาร ผู้นำประเทศต้องมีสติปัญญานะ เพราะเวลาการเมืองระดับโลก โอ้โฮ! มันเคี่ยวทั้งนั้นน่ะ แล้วเราจะไปซื่อๆ อยู่นี่
ซื่อ แต่ต้องทันโลก ผู้ปกครองต้องฉลาด ถ้าทางโลก ทางโลกเขาเรียกว่าพลิ้วๆ แบบว่าการตกลงข้อสัญญาระหว่างประเทศ ยึดครองประเทศนี่เราเสียหายนะ จะซื่อบื้อๆ เป็นผู้บริหารไม่ได้ ผู้บริหารต้องฉลาด แล้วต้องฉลาดแบบมีคุณธรรมด้วย
นี่พูดถึงนะ นี่พูดแบบนี้ปั๊บ วัยรุ่นไง เขาคิดแบบไม้บรรทัด หลวงพ่อบอกให้ซื่อสัตย์นะ เจออะไรฟ้องเขาหมดเลย
เดี๋ยวก็มีปัญหาไง ซื่อสัตย์แต่ต้องมีสติมีปัญญา กาลเทศะ มันมีกาละมีเทศะ มีควรไม่ควร มีต่างๆ โอ๋ย! ชีวิตคนมันต้องมีปัญญาอย่างนั้นมันถึงจะเป็นได้ไง
นี่พูดถึงว่า เราเห็นใจมาก เห็นใจมาก เพราะอายุ ๑๔-๑๕ แล้วพออายุ ๑๔-๑๕ มันเป็นวัยรุ่นแล้วมันกระทบกระทั่งกันน่ะ มันจะต้องอยู่ด้วยกัน ว่าอย่างนั้นเถอะ แล้วทำไมเราต้องให้อภัย
การให้อภัยคือรักษาชีวิตของเราให้มันตลอดรอดฝั่ง รักษาชีวิตเราให้ดีงามไปข้างหน้า ฉะนั้น ถ้าทำได้ นี่มันเป็นเด็กไง ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่ ถ้าฝึกหัดมาแล้วจะเข้าใจ
เหมือนเรา เมื่อก่อนเราก็เป็นเด็กอย่างนี้ ว่าอย่างนั้นเลย เมื่อก่อนเราเป็นวัยรุ่น ไม่มีใครขวางหน้าได้เหมือนกันนะ ฉะนั้น ไอ้นั่นมันจบมาแล้ว ไอ้นั่นเป็นอดีต คิดแล้วมันก็อย่างว่าสิ่งนั้นไม่ดีเลย เสียใจ ไม่ดีเลย แต่มันผ่านมาแล้ว ผ่านมาแล้ว แต่ตอนนี้ยังโชคดี ยังได้มาบวช บวชแล้วได้ครูบาอาจารย์ที่ดี มีความเชื่อในหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เชื่อในหลวงตา เชื่อในหลวงปู่เจี๊ยะ องค์อื่นที่เขาจะพานอกลู่นอกทาง ดีนะ ไม่ไปกับเขา
มีคนมาชวนเยอะ ให้ไปทำอย่างนั้นๆ เพราะเวลาคนชวน สังคมใช่ไหม เขาต้องการการประชาสัมพันธ์ ต้องการการยอมรับ เขาก็พยายามจะชักนำทั้งนั้นน่ะ แต่เราไม่ไปกับเขา สิ่งใดที่ไม่ถูกต้อง ใช้เซนส์ของตัวพิจารณา ไม่ใช่ เราไม่เอา
หนึ่ง เราได้บวชได้เรียน ได้ครูบาอาจารย์ที่ดี แล้วก็พยายามเร่งความเพียรของเรา มันก็จะมีความคิดอย่างนี้ มีความคิด เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ไม่จองเวรไม่จองกรรม เหมือนหลวงตาท่านสอน นั่นเป็นกรรมของสัตว์ นั่นเป็นเรื่องของเขา ใครจะทำดีทำชั่วมันเรื่องของเขา มันเรื่องของเขา แล้วเรื่องของเราล่ะ เรื่องของเราทำดีของเรา ใครจะทำดีทำชั่วมันเรื่องของเขา เรื่องของเขา
หลวงตาท่านสอนทุกวัน จะให้คนดีทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ แต่มันเรื่องของเขา เราจะทำคุณงามความดีกันว่ะ เราจะสร้างคุณงามความดีกันว่ะ นี่พูดถึงว่าทำไมถึงต้องให้อภัย จบ
ถาม : เรื่อง “การปิดวาจา”
ลูกรบกวนกราบถามหลวงพ่อค่ะ เกี่ยวกับเรื่องการปิดวาจา การปิดวาจาของลูกคือการมาวัด หรือขณะภาวนาอยู่ไม่ส่งเสียงรบกวนผู้อื่น แต่ลูกเคยอ่านประวัติของพระสงฆ์บางรูปท่านปิดวาจาถึง ๓ เดือน คราวก่อนลูกมาวัด เจอพี่เขาภาวนาอยู่ที่วัด แต่ไม่ได้คุยอะไรกัน เพราะพี่เขาบอกช่วงนี้ปิดวาจา ลูกจึงอยากกราบถามหลวงพ่อเกี่ยวกับการฝึกตนให้ปิดวาจา หรือการปิดวาจาเป็นส่วนหนึ่งที่ลูกควรฝึกหรือปฏิบัติตอนภาวนาหรือเปล่าคะ
ตอบ : การปิดวาจามันเป็นกติกาของผู้ที่ปฏิบัติไง ผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินะ เวลาเขาแบบว่าธุดงควัตร ๑๓ การปิดวาจามันเป็นการคิดของนักปฏิบัติว่าเราจะไม่พูดกับใคร เขาเรียกว่าปิดวาจา
ปิดวาจา เราปิดวาจา ๑ วัน ปิดวาจา ๗ วัน ปิดวาจาเท่าไร บางคนปิดวาจา ๓ เดือน การปิดวาจาคือการไม่พูด แล้วเขาก็จะถือสมุดไว้เล่มหนึ่ง แล้วก็มีปากกาไว้หนึ่งด้าม เวลาเจอใครถามว่า “คุณจะไปไหน”
“อิฉันปิดวาจาอยู่ค่ะ”
แล้วเขาถามว่า “แล้วปิดวาจาแล้วได้ประโยชน์อะไร”
เขาก็จะเขียนเลย “เพราะฉันตั้งใจจะปฏิบัติค่ะ”
ทีนี้การปิดวาจา การปิดวาจาเป็นการคิดว่าตัวเองจะได้ความสงบระงับ แต่ครูบาอาจารย์ของเราบอกว่า การปิดวาจามันปิดได้เฉพาะเปลือกนอก แต่ในหัวใจมันจะพูดมากกว่าคนที่พูดปกติสองเท่า เพราะมันต้องคิดมาก มันต้องเขียนมาก
ทีนี้การปิดวาจามันเป็นเทคนิค มันเป็นเทคนิคแบบว่า อย่างเช่นเราจะปฏิบัติ แล้วใครๆ ก็จะมากวน มาถามปัญหาเยอะๆ เราบอกว่าเราปิดวาจาแล้ว พับ! ทุกคนห้ามพูดกับเรา มันเป็นอุบายข้อหนึ่งที่ทำให้เราไม่ต้องคุยกับใครไง
การคุยกัน หลวงตาใช้คำว่า “สุมหัว” การสุมหัวนินทากันมันไม่เป็นประโยชน์หรอก แล้วเวลาคุยกัน เริ่มต้นคุยธรรมะ พอธรรมะหมดแล้วก็จะนินทาเขาแล้ว จะนินทาคนนู้น จะนินทาคนนี้ ถ้าคนที่ฉลาด ปิดวาจา แต่ใจมันยังนินทาอยู่ แหม! ถ้าได้เปิดวาจาจะได้พูดสักสองคำ ปิดวาจาไปแล้วก็ไม่ได้พูด
เราบอกว่า การปิดวาจา จะบอกว่าถ้าไม่รู้เรื่องเลย ในวงปฏิบัติเขาจะหาว่าไม่รู้ การปิดวาจาคือกติกา เป็นกติกาที่เราสร้างกับตัวเองว่าเราจะไม่พูดออกมาจากปาก ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ๑ วัน ๗ วัน ๘ เดือน แล้วแต่คนปิดวาจา เราเคยเห็นบางคนบอกว่าตั้งใจปิดวาจาทั้งชีวิต เราเคยเห็นอยู่ แต่ตอนเราเห็นเขายังเป็นเด็กๆ ด้วยนะ จนป่านนี้เขาเปิดวาจาหรือยังก็ไม่รู้ แต่เขาคงทำไปไม่ได้หรอก
ทีนี้เวลาคนบางคนตั้งใจจะทำ แต่ทำไปได้หรือไม่ได้ไม่รู้ เพราะนี่มันเป็นสัตย์ แต่เราจะดูถูกคนไม่ได้นะ บางคนเขาตั้งสัจจะแล้วเขาทำของเขาได้จริงๆ นะ ถ้าทำได้จริงๆ เขาก็ทำของเขาไป
แต่จะย้อนกลับมาที่พระพุทธเจ้าก่อน มีในสมัยพุทธกาล คนที่จะปฏิบัติ ปฏิบัติทุกรกิริยา ทำปฏิบัติต่างๆ พระพุทธเจ้าก็ไปลองกับเขามาหมดแล้ว แล้วมันมีอยู่คราวหนึ่งมันมีพวกพราหมณ์เขาปฏิบัติเหมือนสุนัข เขาเดินแบบสุนัข กินแบบสุนัข ใช้ชีวิตแบบสุนัข ทำอย่างนี้มาหลายปี แล้วก็มาถามพระพุทธเจ้า วันนั้นเขามาถามพระพุทธเจ้า บอกว่า เขาปฏิบัติถือข้อวัตรสุนัข เขาทำแล้วเขาจะได้บุญไหม
เพราะในความเชื่อของเขา ใครทำทุกรกิริยา ใครทำอะไรมันจะได้บุญกุศล เขาอยากได้บุญกุศลไง แต่ด้วยปัญญาของเขา เขาไปปฏิบัติข้อวัตรปฏิบัติแบบสุนัข
พระพุทธเจ้าบอกว่า “อย่าให้เราพยากรณ์เลย” คืออย่าให้พูดเลย เขาก็อ้อนวอนขอครั้งที่ ๒ พระพุทธเจ้าบอกว่า “เธออย่าให้เราพูดเลย” เขาก็อ้อนวอนครั้งที่ ๓
พระพุทธเจ้าบอกว่า “ถ้าเธอตายไป ถ้าเธอไปเกิดในภพหน้า เธอก็จะได้เป็นสุนัขไง อ้าว! เพราะในปัจจุบันนี้เธอยังไม่ได้เป็นสุนัขเลย เธอยังคิดอยากจะเป็นสุนัข แล้วเวลาเธอตายไปเธอจะเป็นอะไรล่ะ ก็เป็นสุนัขไง”
นี่ไง ความเข้าใจผิดของคนที่ว่ามีข้อวัตร จะมีข้อวัตรอย่างนั้น จะทำอย่างนั้นว่าจะเป็นบุญ ทำอย่างนั้นจะเป็นประโยชน์ไง ถ้ามันทำโดยที่ไม่มีครูบาอาจารย์ ทำโดยไม่มีใครบอกไง ทำแล้วก็ได้ผลอย่างที่ตัวเชื่อไง นั่นคือความเชื่อ พอความเชื่อทำสิ่งใดแล้วมันก็ได้ผลตอบในการกระทำนั้นไง เพราะกรรมคือการกระทำไง ใครทำสิ่งใด ทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่วไง ใครทำรูปแบบใดมันก็ได้รูปแบบตอบสนองอย่างนั้นไง แต่ถ้าไม่มีใครบอกว่าเป็นคุณงามความดี ทำแล้วก็ได้ประโยชน์อย่างนั้นไง
นี่ก็เหมือนกัน การปิดวาจาๆ มันก็เป็นความเชื่อของนักปฏิบัติด้วยกันว่าเขาจะปฏิบัติปิดวาจาไง แต่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังว่าหลวงปู่มั่นพาทำเลย เราไม่เคยได้ยินได้ฟังว่าหลวงตาท่านบอกปิดวาจาอะไรทั้งสิ้นเลย ท่านบอกให้มีสติให้มีปัญญา ให้ควบคุมตัวเองไง
แต่การปิดวาจา เราเห็นในวงปฏิบัติเขามีการปิดวาจากัน แต่ถ้ากรรมฐานเราบอกว่ามันปิดที่ปาก แต่มันปิดใจมันไม่ได้ ไม่มีใครปิดวาจาใจได้ ถ้าปิดวาจาที่ใจไม่ได้เพราะมันยังมีกิเลสอยู่
ฉะนั้น ถ้าเรามีสติมีปัญญาขึ้นมา ทำสมาธิ ทำสมาธิเป็นสมาธิแล้วไม่มีกิริยา ไม่มีการพูดไง นั่นน่ะปิดคำพูดได้จริง แค่สัมมาสมาธิมันก็รู้อยู่แล้ว
ถ้าไม่ใช่สัมมาสมาธิ การปิดวาจา เราพูดอย่างนี้ให้เห็นไง ไม่ใช่ว่าพอบอกว่าปิดวาจาทำอย่างนั้นแล้วพวกเราจะเชื่อกันไปหมดเลย
ใครทำสิ่งใดมันก็เป็นความเชื่อของเขา แต่ของเรา เรามีครูบาอาจารย์ เรามีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น แล้วเรามีหลวงตา ครูบาอาจารย์เราประพฤติปฏิบัติมา แต่การปิดวาจามันก็มีที่ใครเป็นคนริเริ่มคิดมา ต้องทำวิจัย ลองทำวิจัยว่าการปิดวาจานี้เริ่มมาจากไหน แต่ถ้ามันเริ่มมาจากพวกพราหมณ์ พวกอะไรนั่นก็อีกเรื่องหนึ่งนะ
แต่เราก็เห็นอยู่ ในวงกรรมฐานเขาทำกันเยอะ แต่เราไม่เคยทำ เราไม่เคยทำ เพียงแต่เราหลบหลีก
ปฏิบัติใหม่ๆ เหมือนกัน ใครจะเข้ามาหา จะหลบจะหลีก จะไม่ยุ่งกับเขา เพราะเราหลบหลีกของเราเอง เราหลบหลีกได้ ในหมู่คณะกัน คนที่ปฏิบัติจริงๆ นะ ใครจะมาวุ่นวายด้วย เขาเห็น เขาเกรงใจ เขาไม่เข้ามายุ่งหรอก ถ้าเขาเกรงใจ เราต้องทำจริง
พอทำจริงขึ้นมาแล้ว หมู่คณะอยู่ด้วยกันมันรู้คนไหนจริงคนไหนไม่จริง คนไหนภาวนาจริงๆ คนไหนภาวนาโกหก คนไหนโกหกภาวนา
นี่โกหกภาวนานะ เวลาจะทำข้อวัตร “อู๋ย! อยากจะภาวนา ฉันเป็นนักปฏิบัติ” พอเขาทำข้อวัตรเสร็จ มันนอน เวลาเขาจะทำข้อวัตร “อู๋ย! จะภาวนา จะภาวนา” นี่ภาวนาโกหก
ถ้าภาวนาแท้ๆ นะ เขาทำข้อวัตรเขาก็อยู่กับพุทโธ จะกวาดวัด จะทำสิ่งใด เขาอยู่กับพุทโธ เขาทำด้วยกิริยา แต่ใจเขาภาวนาของเขาไป ถ้าคนภาวนาเขาภาวนาในใจของเขา เขาทำของเขา แล้วเวลาคนภาวนาเขามีสติ เขาสงบระงับของเขา ถ้าคนที่อยู่ด้วยนะ เขาเกรงใจ ถ้าทำได้จริง เขาเกรงใจ
เวลาคนสนิทกันเขาก็พูดเล่นน่ะ จะแหย่ จะล้อ จะหยอก การแหย่ การล้อ การหยอก นักภาวนานะ เขาแหย่ เขาล้อ เขาหยอก เขาดูสติไง ถ้าแหย่ ถ้าล้อ ถ้าหยอกแล้วเขายังมีสติสัมปชัญญะ เขาทำจริงของเขา สาธุ สาธุนะ ลงที่ใจ พอใจมันลงนะ โอ้โฮ! เขาภาวนาจริง จะส่งเสริมเลยนะ
ส่วนใหญ่แล้วเราไม่เชื่อว่าเขาจะจริงหรือไม่จริง แต่ลองได้ทดสอบนะ ได้หยอกได้ล้อกันแล้ว เขาจริง พอเขาจริง เราจะไปทำบาปกรรมไหม เราก็จะส่งเสริมเขานะ
แต่เริ่มต้น เพราะเราก็ไม่จริง เพราะเราไม่จริงอยู่แล้ว เจอใครเราก็ไม่เชื่อว่ามันจริง ไม่จริงมันก็เล่นหัวกันอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่ถ้าวันไหนไปเจอคนจริงนะ เขาจะเชื่อของเขา เขาจะลงของเขา แล้วเขาจะทำประโยชน์กับเขา ถ้าประโยชน์กับเขา นี่ไง นี่พูดถึงในวงปฏิบัติเขาดูความจริงจัง ดูเป็นความจริง
แต่ไอ้การปิดวาจามันก็เป็นเรื่องหนึ่งนะ ทีนี้เพียงแต่ว่า ภาษาเราว่า ไอ้พวกปฏิบัติใหม่ๆ พวกด้อยวุฒิภาวะจะทำอย่างไรมันก็ต้องมีกติกาทั้งนั้น จะเดินจงกรมก็ว่ากี่รอบ วันนี้จะปิดวาจา ๒ ชั่วโมง จะเดินจงกรมก็ต้องจุดธูปจุดเทียน ตั้งนาฬิกา มันจะทุบนาฬิกาทิ้งเลย นาฬิกาเดินช้าน่าดูเลย ทำไมมันเดินช้านัก นี่เวลาไอ้พวกปฏิบัติใหม่ๆ มันจะตั้งอย่างนี้เยอะมาก แต่ถ้าจริงๆ แล้วไม่มีหรอก เขาเอาจริงเอาจัง เขาดูความจริงอันนั้น
ฉะนั้น นี่การปิดวาจาเนาะ เราจะบอกว่า เขาจะถามว่า “หรือการปิดวาจานี้เป็นส่วนหนึ่งที่ลูกควรประพฤติปฏิบัติ”
ไม่ใช่อย่างนั้นหรอก เราให้เข้าใจว่า การปิดวาจามันมีกติกาอย่างใด ถ้าใครเขาพูดถึงการปิดวาจาก็เรื่องของเขา เราก็โอเค เพราะมันเป็นกฎกติกาอันหนึ่งว่าเขาจะปิดวาจา เราก็จะไม่ก้าวล่วงเขา แล้วถ้าเราอยากรู้ว่ากฎในการปิดวาจาเป็นอย่างไรเราก็ศึกษา
แต่เวลาปฏิบัติไปแล้ว ศีล สมาธิ ปัญญา เรื่องของศีลคือเรื่องของข้อกฎหมาย เรื่องของสมาธิก็เรื่องของสมาธิ เรื่องของปัญญามันยังกว้างขวางใหญ่โตไปข้างหน้าอีกมหาศาลเลย
ไอ้นี่มันแค่กฎกติกา แล้วกฎกติกานี่กิเลสใช้หรือธรรมะใช้ ถ้ากิเลสใช้ ใช้โอ้ใช้อวด ถ้าธรรมะใช้ ใช้เพื่อประโยชน์ ใช้เพื่อหลบหลีกตัวเอง ใช้เป็นเกราะป้องกันตัวเองไม่ให้คนเข้ามารุกรานเรา นี่มันอยู่ที่ว่าใครใช้ไง กฎกติกา กฎหมายใครใช้ ถ้าธรรมใช้ ใช้เพื่อประโยชน์สังคม เพื่อประโยชน์โลก ถ้ากิเลสใช้ หาตังค์ ใช้ล้วงกระเป๋า นี่เรามีสติปัญญา เราศึกษาของเรา
นี่เขาบอกว่าเขาต้องศึกษาหรือไม่
ถ้าศึกษาก็ศึกษาว่าให้เรารู้กฎกติกาว่า เพราะเราก็เป็นคนใช่ไหม อยู่กับโลกเขา เราจะได้รู้ว่ากฎของการปิดวาจาคืออะไร ถ้าปิดวาจาแล้วมันได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ถ้ามันมีมากมีน้อย
ของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านสอนให้อดนอนผ่อนอาหาร ให้ทำลายกิเลส ไอ้การปิดวาจามันปิดวาจาก็เพื่อการหลีกเร้น ถ้าการหลีกเร้น เราเข้าไปสู่ที่สงบสงัดก็จบ
ทีนี้เขาบอกเขามาวัดแล้วไปเจอพี่คนหนึ่งเขาปิดวาจา
เขาปิดวาจาเขาคงรำคาญพวกโยมไง รำคาญไอ้คนถาม คนนู้นพูดไอ้นี่ คนนี้พูดไอ้นั่น เขารำคาญ ปิดวาจาเสีย ปิดวาจาก็เป็นอุบายอันหนึ่งว่าฉันไม่ต้องพูดกับพวกนี้ พวกเสียเวลา ฉันจะปฏิบัติของฉัน ไอ้พวกเสียเวลาไม่ต้องไปคุยกับเขา ปิดวาจา นี่มันก็เป็นการอ้างกฎหมายเพื่อป้องกันตัวก็ได้
นี่พูดถึงการปิดวาจานะ ฉะนั้น ปิดวาจาก็เป็นกฎเฉยๆ แต่ถ้าเป็นจริงๆ นะ เป็นการปฏิบัติของเรา
นี่พูดถึงการปิดวาจา สมควรจะศึกษาหรือไม่
มันต้องรู้ไง คนไทยต้องรู้กฎหมายไทย คนไทยจะปฏิเสธว่าไม่รู้กฎหมายไทยแล้วทำผิด ติดคุกครับ นี่ก็เหมือนกัน นักปฏิบัติเราก็ต้องรู้สิ ปิดวาจามันคืออะไร เราก็รับรู้ไว้ แต่จะทำเพื่อประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์นั้นมันเป็นหน้าที่ของเรา
ถ้าเรามีสติปัญญามากกว่านี้ ไม่ต้องปิดวาจาหรอก ปิดหัวใจเลย ปิดกิเลสเลย ฆ่ากิเลสเลย นั่นน่ะขึ้นสู่คุณธรรมด้วยความแท้จริง เอวัง