ของเป็นเดน
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “ผลไม้ที่โยมเขานำไปไหว้พระประธานที่วิหาร นำมาถวายพระต่อได้ไหมคะ”
๑. วัดป่าอยู่บนเขาสูง มีพระประธานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพของศรัทธาญาติโยมทั้งใกล้และไกล มักจะนำผลไม้หรือสิ่งของมากราบไหว้ตามความเชื่อของเขา ขอถามว่า ผลไม้ที่เขานำมาถวายพระประธาน นำมาถวายพระสงฆ์ต่อได้อีกหรือไม่คะ เพราะพระพุทธรูปฉันไม่ได้ จับต้องก็ไม่ได้ ญาติโยมนำมาวางไว้หน้าพระประธานเท่านั้น ยังไม่มีพระรับประเคนค่ะ
๒. กรณีที่พระบิณฑบาตได้ผลไม้ซึ่งใส่ถุงพลาสติกลงในบาตร ถ้าจะเก็บไว้ทำถวายพระวันต่อไปได้หรือไม่คะ เพราะยังไม่ได้ปนเปื้อนกับอาหารอื่น เคยได้ฟังเรื่องหลวงปู่มั่นเทศน์สอนพระที่คิดว่า เมื่อท่านเก็บน้ำอ้อยที่ชาวบ้านใส่บาตรโดยห่อด้วยใบตองไว้เป็นปรมัตถ์ในตอนบ่าย เป็นเรื่องเดียวกันหรือเปล่าคะ โยมไปปฏิบัติภาวนาที่วัดนั้น เห็นแม่ชีทำอย่างนี้หลายครั้ง ทำให้สงสัยว่าทำถูกหรือไม่ กราบขอบพระคุณอย่างสูงเจ้าค่ะ
ตอบ : ถ้าเขาทำอย่างนั้นมันเป็นเรื่องความเห็นของเขา ถ้าเป็นความเห็นของเขานะ เราจะพูดถึงความเห็นของเขาก่อน แล้วถ้าความเห็นทางโลก ความเห็นทางโลกตอนนี้เขาจะคิดเรื่องเศรษฐกิจ
ถ้าเรื่องเศรษฐกิจ ตอนนี้มีพระ พระพยายามบิณฑบาตของแห้ง พระบิณฑบาตของแห้งต่างๆ แล้วเอาไปช่วยคนยากคนจน นี่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ พอเศรษฐกิจ การทอดผ้าป่า จะทอดผ้าป่าหนังสือ จะทอดผ้าป่านั่น จะทอดผ้าป่านี่ คือว่าถ้าจะทำประโยชน์กับโลกก็พยายามจะเอาพระนี่เป็นตัวศรัทธา ตัวเรียกศรัทธาไง เอาพระไปเป็นเพื่อศรัทธา เพื่อทำสิ่งนั้น นี่พูดถึงว่าเขามองในระบบเศรษฐกิจ
แต่ถ้าพูดถึงในทางธรรมๆ นะ ทางธรรมถ้าเป็นพระที่บวชใหม่ๆ แล้วพระที่ขี้โลภเขาทำของเขาอย่างนั้นน่ะ ทำได้เพราะว่าเขาขี้โลภ แต่ถ้าเป็นพระปฏิบัติไม่ได้ ไม่ได้เพราะอะไร ไม่ได้เพราะพระปฏิบัติจะฆ่ากิเลส เพราะความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นเรื่องกิเลสใช่ไหม ไอ้เรื่องนี้มันเรื่องกิเลสทั้งนั้นน่ะ แล้วมันเรื่องของกิเลสก็เรื่องหนึ่งนะ แต่ถ้าเป็นเรื่องของธรรมวินัยไม่ได้ ไม่ได้ ที่ทำมานี่ไม่ได้หมดเลย
แล้วถ้าไม่ได้อย่างนี้ พระก็ไปอยู่บนก้อนเมฆสิ อย่ามาอยู่ในสังคมนี้ ต้องแยกไปอยู่ต่างหากเลย สังคมมันเป็นอยู่อย่างนี้ แล้วจะมาอยู่สังคมเขาได้อย่างไร ถ้าอยู่สังคมนี้ก็เรื่องของสังคมไง ถ้าสังคมก็โลกเป็นใหญ่ไง
เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกเลย โลกเป็นใหญ่หรือธรรมเป็นใหญ่ ถ้าโลกเป็นใหญ่ก็เป็นแบบนี้ ให้มุมมองของโลก มุมมองของสังคม ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง ระบบต่างๆ ชักนำหมด พระก็เลยเป็นเบี้ยล่าง พระก็เป็นแค่ตรายาง แค่ประทับว่าคนคนนั้นเป็นคนดี ใครๆ ก็จะรับรองว่าคนนั้นเป็นคนดีไง พระก็คอยมาเชิดชูเขา นี่ไง ถ้าพระไม่มีหลักเกณฑ์ ถ้าพระมีหลักเกณฑ์ สิ่งที่ทำมาไม่ถูกทั้งนั้นน่ะ ไม่ถูก เห็นไหม
เขาบอกว่า สิ่งที่ว่าเขาไปอยู่ที่วัดป่าบนภูเขา มีพระประธานสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ มีคนนำผลไม้ไปกราบ ไปเคารพบูชา
อันนั้นก็เป็นบุญของเขา ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ ผู้ที่สมควรสร้างเจดีย์ไว้ตามสี่แยก สร้างไว้สี่แยกเพราะอะไร เพราะว่ามันเป็นที่เคารพบูชาของเขา ถ้าเป็นที่เคารพบูชาของเขา เขายกมือไหว้ เขาได้บุญ ยิ่งเขากราบด้วยศรัทธาของเขา เขาจะเกิดปัญญา
สิ่งนี้เขาสร้างมาเพื่ออะไร เห็นไหม เจดีย์ สิ่งที่เจดีย์ บุคคลที่ควรสร้างเจดีย์ ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ พระจักรพรรดิ นี่เขาสร้างไว้ตามสี่แยกเป็นที่ศรัทธา เป็นที่ศรัทธาก็เป็นจุดรวมของสังคม สังคมเขาไปคิดเป็นแนวทางเดียวกัน ถ้าไปคิดแนวทางเดียวกัน สิ่งนั้นมันเป็นประโยชน์
ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า สิ่งที่ควรทำเพื่อเป็นประโยชน์ เพื่อความมั่นคงของสังคมไง ครูบาอาจารย์เราท่านมีคุณธรรม ท่านมีชีวิตอยู่ เราระลึกถึงท่าน พอท่านนิพพานไปแล้ว ถ้าท่านมีความสามารถ หรือว่าศรัทธาที่มีความสามารถสร้างเจดีย์ไว้เป็นที่เคารพ เป็นที่เคารพ ใครยกมือไหว้ได้บุญหมดเลย ใครยกมือไหว้ ใครผ่านไประลึกถึง มันเป็นที่พึ่งอาศัย ที่เจดีย์ เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ท่านสร้าง ท่านสร้างเพื่ออะไร
เวลาท่านสร้างของท่าน สร้างเพื่อหัวใจของคนไง หัวใจของคนที่ว้าเหว่ หัวใจของคนที่ทุกข์ยาก หัวใจของคนไม่มีที่พึ่งอาศัย เวลาไปอยู่ที่ไหนเขากราบไหว้บูชาของเขา ถ้ากราบไหว้บูชานั่นมันเป็นประโยชน์ นั่นมันเป็นประโยชน์นะ เป็นประโยชน์ที่ไหน เป็นประโยชน์นะ
เวลาเรามองกัน เราไปมองระบบเศรษฐกิจ เราไปมองความเป็นอยู่ไง แต่เราไม่มองหัวใจของคนไง ถ้าหัวใจของคน คนที่มีศรัทธา คนที่มีความเชื่อ คนที่เป็นคนดี สังคมนั้นร่มเย็นเป็นสุขทั้งนั้นน่ะ ถ้าคนมีศีล ๕ ถ้ามนุษย์เราถือศีล ๕ ทั้งหมด ประเทศไทยจะ แหม! มีความสุขมาก
ไอ้นี่มันถือที่ปาก หลวงตาบอกว่าศีลมันเป็นศูนย์น่ะ ศีลมันเป็นศูนย์ไง เวลาขอศีลขอแต่ปากแล้วมันไม่ได้ทำไง แล้วทำไม่ได้ด้วย เพราะมันเป็นแต่เปลือก ศาสนาพุทธเราเลยมีแต่เปลือกๆ เวลาเปลือกๆ ก็นับถือศาสนาพุทธในทะเบียนบ้าน แต่หัวใจ มนุสสเปโต มนุสสติรัจฉาโน หัวใจเป็นเปรต เป็นเปรตเพราะอะไร เพราะกิเลสมันข่มขี่ ถ้าข่มขี่
ฉะนั้น เวลาพระพุทธศาสนาเนื้อๆ เลย เนื้อหาสาระเลย ถ้าเนื้อหาสาระ เขาจะประพฤติปฏิบัติ ถ้าประพฤติปฏิบัติมันอยู่ที่เจตนา เจตนาที่บริสุทธิ์ ถือศีลบริสุทธิ์ ศีลคือความปกติของใจ ฉะนั้น ใจมันปกติ ใจตั้งมั่น จบแล้ว
ไอ้นี่ใจมันเรรวน ใจมันโลเล แล้วใจมันโดนกิเลสข่มขี่น่ะ ฉะนั้น เวลามองไป มองสังคม เราจะบอกว่า ปัญหานี้มันไม่มีอะไรซับซ้อนเลย เพราะวินัยบังคับไว้แล้ว วินัยบังคับไว้แล้วนะว่าของเป็นเดน ของเป็นเดนถวายพระไม่ได้
พระนี่นะ เพราะสมัยพุทธกาล ที่ว่าพระอานนท์ พระอานนท์เห็นพวกลัทธิศาสนาอื่นเวลาเขาทุกข์เขาลำบากของเขา พระอานนท์ด้วยความเมตตาก็ให้พวกอาหารไป เวลาบิณฑบาตมา เจือจานไง พระพุทธศาสนานี้เผยแผ่ พระพุทธศาสนามีแต่น้ำใจ พระพุทธศาสนามีแต่ความเอื้อเฟื้อเอื้ออาทร คิดถึงใจเขาเวลาให้เขาไป
พอให้เขาไป ให้เขาเพื่อให้เขายังชีพได้ เขาไปโฆษณานะ บอกพระอานนท์ศรัทธาเขา เพราะพระอานนท์ให้อาหารนี้มา แล้วมันก็ร่ำลือไปใช่ไหม ร่ำลือไปว่าพระในพระพุทธศาสนายังไปยอมเคารพกับพวกลัทธิอื่นน่ะ ทีนี้มันก็ร่ำลือกันไป เพราะพวกศรัทธาพระพุทธศาสนาไปได้ยินเข้าก็มาฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าถามพระอานนท์ “เธอทำเช่นนั้นจริงหรือ” “จริง” “ทำเพราะอะไร” “ทำเพราะว่าสงสารเขา”
พระพุทธเจ้าเลยบัญญัติ บัญญัติว่าห้าม ภิกษุห้ามให้อาหารนักบวชนอกศาสนา เพราะเขาเอาไปพูดเอาไปนั่นไง นี่ไง นี่พูดถึงว่าเวลาเรามองด้วยความเมตตา มองด้วยต่างๆ ทีนี้ห้าม แล้วพอห้ามแล้ว
ทีนี้ของที่ว่าของเป็นเดนๆ เห็นไหม เวลาที่เราอยู่วัด เวลาผู้ที่อาศัยวัดเขาเรียกคนกินเดน คนกินเดนคือกินเหลือจากพระไง เวลาพระ พระบิณฑบาตมา บิณฑบาตมาเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้งสะอาดบริสุทธิ์ สัมมาอาชีวะไง
เวลาออกบิณฑบาต บิณฑบาตเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เราออกบิณฑบาต ไม่รู้เลย ไม่ได้นัดหมายใครไว้ทั้งสิ้น ไม่ได้เครื่องหมายใดๆ ทั้งสิ้น เขาใส่บาตรด้วยศรัทธาของเขา เวลาเขาใส่บาตรด้วยศรัทธาของเขา นี่สัมมาอาชีวะ ถ้านัดหมายกัน บอกกัน นี่ไม่ใช่สัมมาอาชีวะ ภาษาเรานะ มันจะเป็นธุรกิจ
เราพูดบ่อยมากว่า สัมมาอาชีวะ พระบิณฑบาตสะอาดบริสุทธิ์ เวลาโยมมีเงินนะ โยมไปนั่งทานอาหารที่ไหนก็แล้วแต่ เวลาถ้าอาหารหมด เงินก็ซื้อไม่ได้นะ เราไปกินอาหารใช่ไหม โยมไปกินอาหาร นั่นเป็นธุรกิจใช่ไหม โยมไปร้านอาหาร ทุกอย่างเป็นธุรกิจทั้งนั้นน่ะ แล้วเกิดถ้ามีเงินแล้วของมีขาย เราก็ได้ ของไม่มีขายก็ไม่ได้
แต่ถ้าบิณฑบาตล่ะ โอ้โฮ! เขาจะเก็บไว้ตั้งแต่เมื่อวานตอนเย็นนะ เขาอุตส่าห์ไปซื้อหาสิ่งใดมาเก็บไว้ แล้วเช้าเขาทำขึ้นมา ก่อนจะถวายเขายกใส่ศีรษะ เขาอธิษฐานไง สิ่งนั้นเขาอธิษฐาน อธิษฐานแล้วเขาใส่บาตรพระไป นั่นน่ะมันสะอาดบริสุทธิ์ตรงนี้ไง นี่สัมมาอาชีวะ ถ้าพูดอย่างนี้ โอ้โฮ! นี่โคตรสะอาดบริสุทธิ์เลย แต่เวลาปฏิบัติแล้วไม่ใช่ นี่ภายนอก
ถ้าภายในนะ คิดดี คิดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คิดพุทโธ คิดจนกว่ามันเป็นสัมมาสมาธิ เวลาเกิดปัญญาขึ้น นั่นน่ะสัมมาอาชีวะ
เพราะจิตมันหิวโหย ธรรมชาติของจิตหิวกระหายมาก อะไรจรมาไม่ได้ มับๆๆๆ ความคิดอะไรเกิดไม่ได้ มับๆ มันเสวยคือมันกิน จิตกินอารมณ์ ถ้าจิตไม่กินอารมณ์ เราจะไม่ทุกข์ไม่ยากกันอยู่นี่หรอก ถ้าจิตมันปล่อยมาหมด ถ้าสัมมาอาชีวะภายนอก สัมมาอาชีวะภายใน นี่ถ้าพระปฏิบัติมันจะเห็นอย่างนี้นะ ถ้าพระปฏิบัติจะเห็นอย่างนี้ นี่สัมมาอาชีวะจากภายใน
แล้วทีนี้ไอ้สิ่งที่ว่าของเป็นเดนๆ เพราะอะไร เพราะว่าเวลาพระ ภิกษุไม่ประพฤติตนแบบฆราวาส เวลาพระจะสึก เวลาพระนะ “สิกฺขํ ปจฺจกฺขามิ เธอจงจำข้าพเจ้าไว้ ข้าพเจ้าไม่ใช่ภิกษุ” เพราะอะไร ถ้าบวชเป็นภิกษุแล้วไม่ประพฤติตนแบบคฤหัสถ์ เวลาพระความเป็นอยู่ต่างจากคฤหัสถ์ เวลาถ้าพระสึก “เธอจงจำข้าพเจ้าไว้ ข้าพเจ้าเป็นคฤหัสถ์ ไม่ใช่ภิกษุแล้ว” ออกจากหมู่ไป พอออกจากหมู่ไป กลับไปเป็นฆราวาส
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเป็นพระ เป็นพระที่เป็นผู้มีศีลมีธรรม มันจะสูงส่งโดยศีลโดยธรรม โดยข้อวัตรปฏิบัติไง ถ้าโดยข้อวัตรปฏิบัติขึ้นมาแล้ว สิ่งนี้สิ่งที่เราบอกว่า ไอ้ที่ว่าเขาเอาของไปถวายพระประธาน พระประธานก็เป็นพระพุทธรูป ฉันไม่ได้ แล้วพระก็ยังไม่ได้ประเคน
เจตนาเขาให้ เจตนา เห็นไหม เวลาคนจีนเขาจะบอกเลย เวลาเขาไหว้เจ้า เจ้ากินจริงๆ นะ เพราะอะไร เพราะไหว้เจ้าเสร็จแล้วเอามากินมันจื๊ดจืด เจ้ากินไปแล้ว
ไม่ใช่ ของมันตั้งไว้จนเย็น มันชืด เจ้าไม่ได้มากิน ไอ้นี่ของเซ่นไหว้ นี่เราจะบอกว่าของเซ่นไหว้ ของถวายพระประธานเป็นของถวาย ถ้าพูดถึงทางโลกเป็นเซ่นไหว้ไหม เป็น ถ้าเป็นเซ่นไหว้แล้ว คือเจตนาให้แล้ว ศีล ๕ ไม่ลักของเขา ไม่หยิบของสิ่งใดที่มีเจ้าของ
พระนี่นะ หยิบของกินเองไม่ได้ เพราะของมีค่าเกินบาท มันผิดวินัยตั้ง ๒ ข้อ ๓ ข้อ ฉะนั้น พระจะฉันอะไรต้องมีการประเคน การประเคนคือไม่ได้ลักนะ โยมประเคนให้ ประเคนให้แล้วเราถึงฉันของเรา ถ้าของไม่ได้ประเคนกลืนเข้าสู่ทวารปาก เป็นอาบัติปาจิตตีย์ทุกคำกลืน นี่มันสะอาดบริสุทธิ์อย่างนี้ไง ต้องมีการประเคน ถ้าไม่ประเคน ของไม่ประเคนฉันไปเป็นอาบัติทั้งนั้นเลย
แล้วพูดถึงถ้าเป็นของลักทรัพย์ แล้วเจ้าของเขาให้หรือเปล่า เจ้าของเขาอยู่ไหน แล้วเราไปหยิบมาได้อย่างไร แต่มันก็มีเว้นไว้ไง เว้นไว้แต่ของที่กิน ที่ว่าปาราชิก ๔ ลักของเขาๆ แต่ของกิน
พูดไม่ได้ เดี๋ยวจะชี้โพรงให้กระรอก เดี๋ยวพระมันจะเอาไปหากินกันนะ
ไอ้ของอย่างนี้มันแบบว่ามันขาดเจตนาได้ไง คือไม่มีเจตนาจะลัก บางทีพระ ถ้าไม่รู้ เขาก็เลยมีการประเคนไง ประเคนแล้ว นี่มันก็การประเคน
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถวายพระ ถวายพระมันเป็นเจตนาที่ให้ สิ่งที่เหลือเป็นของเป็นเดน มันเป็นเดน เดนจากพระประธาน เดนจากเจ้าของนั้น ของเป็นเดน ของเป็นเดนถวายพระไม่ได้ ถวายพระไม่ได้ นี่พูดถึงวินัยนะ พูดถึงข้อวินัย แต่โดยธรรมชาติเขาถวายได้ไหม ถวายกันทุกวัดน่ะ เขากินกันเป็นเรื่องธรรมดา
นี่ไง วินัยเป็นวินัย แต่ถ้าคนไม่รู้มันทำไป ผิดไหม ผิด จะรู้หรือไม่รู้ ผิดทั้งนั้น ถ้าผิดไปแล้วทีนี้มันก็สะสมไป สะสมไปเป็นดินพอกหางหมู ดินพอกหางหมูมันก็ต่างออกไปจากธรรมวินัยเรื่อยๆ แล้วปฏิบัติมันจะได้ไหม เวลาคนที่ปฏิบัติเขาจะศึกษาตรงนี้ไง
เวลาครูบาอาจารย์เรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านถึงจะไปชักนำเข้ามานี่ไง ถ้ามันเป็นความสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา ศีลที่บริสุทธิ์ขึ้นมา ในการปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าศีลมันดี สมาธิมันก็เป็นไปได้
นี่เราว่าเราดี แต่เราทำความผิด มันปิดกั้นการภาวนา ว่าอย่างนั้นเลย ถ้าภาวนานะ เขาไม่ทำ แต่เขาบอกว่าเขาเห็นที่วัดเขาทำ แม่ชีเขาทำ
ไอ้นี่เราก็จะชักเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ คนเข้มแข็งหรือคนอ่อนแอ เราเคยไปอยู่ป่านะ อยู่ป่ากินแต่ข้าวเปล่า แล้วบางทีมันก็มีพระเขาธุดงค์กันมา ธุดงค์กันมา เขาก็พักอยู่ข้างๆ นั่นน่ะ สุดท้ายแล้วเขาธุดงค์มา เขาก็เอาเครื่องไทยทานหิ้วมาเต็มเลย เสร็จแล้วเขาก็เห็นพวกเราอยู่ข้างๆ เขาก็มาถวาย
โดยมารยาท เราไปกับพระอีกองค์หนึ่ง เขาก็รับไว้ รับไว้เป็นมารยาท พอเสร็จแล้วมันก็แยกกันอยู่ เพราะต่างคนต่างไป เช้าขึ้นมาบิณฑบาตมานะ เราก็ฉันข้าวเปล่าเหมือนเดิม ไอ้สิ่งที่รับไว้ก็เอาให้เณร เพราะเราซื่อสัตย์ ภิกษุถือมาเอง ถือมาเองแล้วเอามาถวาย แต่เขาทำของเขาอย่างนั้น เราเห็นนะ เราเห็นพระที่ว่าเขาทำแตกต่าง เขาทำอย่างไร
สมัยก่อนเวลามาจากหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านเป็นผู้สั่งสอนเอง มันมาในแนวทางเดียวกันนี่สบายใจมากเลย แต่พอตอนหลังไปจะถามว่าลูกศิษย์ใครๆ เพราะครูบาอาจารย์ท่านก็มีแนวคิด เขาเรียกจริตนิสัย เจตนาของคน เจตนาของครูบาอาจารย์บางองค์ท่านว่าท่านทำของท่านได้ ถ้าทำของท่านได้ก็เฉพาะตัวท่าน แต่เราล่ะ เราจะสะอาดบริสุทธิ์มากน้อยแค่ไหน
ฉะนั้น สิ่งที่ว่า ที่เห็นเขาทำกัน แม่ชีเขาทำแบบนั้น ไปเอาของที่เขาถวายพระประธานเอามาถวายพระสงฆ์ แล้วพระสงฆ์ที่วัดนั้นเขาทำกันอย่างนั้น
เขาทำอย่างนั้นก็เพราะว่าจิตใจสูงหรือจิตใจต่ำ ถ้าอย่างที่เราพูดนี่ จิตใจที่มันสูง เขาเอามาถวายนะ เขาเอามาให้ แล้วก็วางไว้นั่นน่ะ เขาเอามาวางไว้นั่น เช้าให้เณรประเคนพระ แต่พวกเราไม่รับ เพราะมันเห็นๆ กันอยู่ นี่ไง เหมือนกับถวายพระประธาน เราก็เห็นๆ กันอยู่ เห็นๆ อยู่ หลอกตัวเองใช่ไหม
การปฏิบัติมันต้องชนะตัวเอง ถ้าชนะตัวเอง ดูสิ ปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ปัญญาไล่เข้ามาเรื่อย ให้มันปล่อยวางๆ ปล่อยวางขึ้นมาจนมันเหลือตัวมันเอง มันปล่อยวางทุกอย่างมาทรงไว้แต่ตัวมันเองได้ นั่นคือปัญญาอบรมสมาธิ
แต่นี่เมื่อกี้ยังโกหกอยู่เลย เมื่อกี้ยังทำความผิดอยู่เลย เมื่อกี้ยัง โอ๋ย! ร้อยแปดเลย แล้วจะมาภาวนาอะไร ถ้าโดยพระทั่วไป ถ้ามีความผิด เขารีบปลงอาบัติเลย เพราะไม่ให้เป็นกังวลอย่างนี้ ถ้ามีความเป็นกังวล ตัวเราเองเราภาวนาก็แสนยากอยู่แล้ว แล้วยังมีความวิตกกังวลเรื่องร้อยแปดมันมาทับถมตัวมันเองอีก ฉะนั้น เขาถึงพยายามปฏิเสธสิ่งนี้ออก
ฉะนั้น สิ่งที่แม่ชีเขาทำ โดยเจตนาของแม่ชีนี่ระบบเศรษฐกิจ แต่ถ้าเป็นพระในวัดนั้น ถ้าเขาเห็นว่ามันเป็นความผิดพลาด สิ่งที่ได้มา สิ่งที่เขาถวายพระประธาน
ของเราตอนเช้า เราก็ทำของเราเหมือนกัน เราเก็บของเราเอาไว้ให้เด็ก เราเอาไปแจกเด็กประชาบาล ไปแจกเด็กทุกข์จนเข็ญใจ ถ้าอย่างนี้ถ้ามันมี ขนไปเลย คุก โรงเรียน โรงพยาบาล แจกไปเลย ถ้ามีอยู่จริง เรามีอยู่
พระเขาบอก โอ้โฮ! เขามีสังฆทานเยอะมาก ที่วัดเขาร่ำรวยมาก
เราบอก จริงหรือเปล่า ของเรามาเถอะ เราแจกหมดล่ะ นี่ขนออกไปๆ นะ เพราะคนที่ขาดตกบกพร่องมีอยู่เยอะ แล้วเวลาเอาไปแจก พอแจกนี่มันได้น้ำใจของคนไง
น้ำใจของคน หมายความว่า เรามีวัดอยู่ในป่าๆ เราไปทิ้งไว้ แล้วเขาก็แจกประชาชนแถวนั้น ให้ประชาชนแถวนั้นว่าวัดเป็นที่พึ่งได้ เหมือนโบราณ วัดเป็นโรงเรียน วัดเป็นโรงพยาบาล วัดเป็นที่ทุกๆ อย่างของหมู่บ้านนั้น นี่ก็เหมือนกัน เราไปแจกอย่างนั้น เวลาเราไปแจกอย่างนั้น ไม่ได้แจกพระ
พระเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง บิณฑบาตมาเหลือเฟือ เพราะพระฉันแค่มื้อเดียว แค่ดำรงชีพ เวลาพวกเราภาวนา ข้าววันละ ๒-๓ คำเท่านั้นน่ะ ๒-๓ ปั้นพอแล้ว ข้าว ๒-๓ ปั้นก็อยู่ได้แล้ว มันจะไปหนักหนาอะไร ไร้สาระมาก เว้นไว้แต่กิเลสมันใหญ่โตไง มันจะเป็นขุนนาง มันจะเอาแต่ความพอใจของมัน
นี่พูดถึงระบบเศรษฐกิจนะ มันอยู่ที่หัวหน้า เพราะเราธุดงค์มา ผ่านมาเยอะเหมือนกัน ถ้าหัวหน้าที่เป็นธรรมนะ ผู้ที่อยู่อาศัยก็เป็นธรรม แล้วอย่างนี้พออยู่เป็นธรรม อย่างที่ว่าแม่ชีที่วัดนี้เขาทำ ถ้าแม่ชีที่วัดนี้เขาทำ พอแม่ชีทำแล้วแม่ชีก็เป็นเจ้าแม่ เพราะแม่ชีเป็นคนคุมครัว แม่ชีเป็นคนแจกผลไม้ ถ้าพระไม่อยู่ในโอวาท ไม่ให้กินนะ ถ้าพระอยู่ในโอวาท ให้กินนะ ถ้าให้แม่ชีควบคุม แม่ชีก็เป็นเจ้าแม่
แต่ถ้าเป็นพระนะ ไล่มันออกไป เขาเอามาถวายสงฆ์ สงฆ์ได้แบ่งปันกันแล้ว ที่เหลือถึงให้แม่ชี แม่ชีเอาพอสมควรแล้ว ให้คฤหัสถ์ที่มาอยู่อาศัยในวัด คฤหัสถ์ที่อาศัยอยู่ในวัดพอแล้ว ให้แจกคนทุกข์คนจน แล้วแจกคนทุกข์คนจนพอแล้ว นี่มันทำได้หมด พูดถึงถ้าเป็นหัวหน้าที่ดี
ถ้าหัวหน้าที่อ่อนแอก็อย่างที่โยมว่านี่แหละ หัวหน้าหลับตาข้างหนึ่ง ธรรมวินัยก็ศึกษามาด้วยกัน พระไตรปิฎกตู้เดียวกัน เล่มเดียวกันทั้งนั้นน่ะ แต่คนจะตีความอย่างไรเท่านั้นเอง
แต่ถ้าเข้มแข็งขึ้นมาแล้ว ของที่ได้มา หัวใจที่ยิ่งใหญ่ อะไรได้มามันบริจาคได้หมด ให้เขาได้ทั้งนั้นน่ะ ของเราศรัทธา ข้าวของเราอยู่ในหัวใจของมนุษย์ มนุษย์คิดจะทำบุญ มนุษย์น่ะ ข้าวเราอยู่ในหัวใจของคน เจตนาที่จะใส่บาตรไง
เขาต้องมีคลังสินค้านะ เขาต้องมีคลังที่เก็บข้าวเพื่อเอาไว้อยู่ไว้กิน ของเราอยู่ในศรัทธาของคน อยู่ในใจของคน เขาทำบุญ เราก็ได้กิน เขาไม่ทำบุญก็อด จบ นี่พูดถึงถ้ามันเป็นธรรมนะ
ทีนี้พออยู่แล้ว พระที่มีชื่อเสียง มีศรัทธา มีคนเคารพนับถือก็มาพึ่งพาอาศัย ถ้ามาพึ่งพาอาศัย มันต้องรับผิดชอบแล้ว ถ้ารับผิดชอบตัวเราเอง รับผิดชอบหมู่คณะ รับผิดชอบผู้ที่มาพึ่งพาอาศัย อันนั้นก็อยู่ที่ใครจะมีบารมีจัดการไป
อันนั้นถึงบอกว่า สิ่งที่ว่าเขามาทำอย่างนั้นถูกต้องไหม
ถ้าวินัยผิดแน่นอน ไม่ได้ ของเป็นเดน ของถวาย ถวายพระประธานแล้ว แล้วเขาทำบุญไปแล้ว นี่ของเป็นเดน ภิกษุฉันไม่ได้ เว้นไว้แต่ภิกษุไม่รู้ ภิกษุขาดเจตนา ภิกษุไม่รู้ เขาเอามาถวายโดยที่เราไม่รู้ บิณฑบาตมานี่มันจะมาอย่างไรก็ไม่รู้ แต่เจตนานั้นบริสุทธิ์ สิ่งนั้นเว้นไว้แต่ไม่รู้ แต่ถ้ารู้ ฉันไป ก็แสดงว่าจิตใจเขาอ่อนแอ
นี่พูดถึงว่า สิ่งที่ถวายพระประธานแล้วเขาเอามาถวายพระได้หรือไม่
เพราะเขาเขียนว่า เพราะพระยังไม่ได้รับประเคน
พระยังไม่ได้รับประเคนนี่อย่างหนึ่ง แต่นี่ของเขาถวายแล้ว ดูสิ ตอนเช้าผู้ที่ทำบุญนะ เวลาทำบุญ เราจะทำบุญ เราแบ่งไว้จะทำบุญ ที่เหลือเราก็ทานกัน นี่ไง เราไม่ใช่เหลือแล้วถวายพระ เราตักเอาก่อน ไว้ถวายพระก่อน ที่เหลือเราถึงทานกัน
ไอ้นี่ทานเสร็จแล้ว แล้วเอาไว้ถวายพระ เขาบอกว่า ก็ยังไม่ได้รับประเคนไง
ไม่ได้รับประเคนมันเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเป็นเรื่องของที่เป็นเดน ของที่ไหว้พระไหว้เจ้าแล้ว คนถามเรื่องนี้เยอะ เพราะอยากได้บุญสองชั้นสามชั้นไง อยากได้บุญเยอะๆ ถวายพระด้วย ถวายพระเสร็จแล้วเหลือจากพระ เอามาใส่บาตรพระด้วย แล้วใส่บาตรพระเสร็จแล้วจะเอาคืนมากินเองอีกด้วย โอ้โฮ! จะเอาบุญหลายชั้นเหลือเกิน อันนี้เป็นความเห็นนะ
เราจะบอกว่า ถ้าเป็นธรรมๆ นะ จิตใจมันยิ่งใหญ่ จิตใจมันยิ่งใหญ่นะ เรื่องอย่างนี้เล็กน้อยมาก แต่จิตใจที่อ่อนแอ จิตใจที่ต่ำต้อยเห็นเงินบาทสองบาทมีค่า คนฆ่ากันเพราะเงินบาทเดียว ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เงินแค่นั้นน่ะทำลายคุณงามความดีของเราที่จะเกิดขึ้นอีกเยอะแยะเลย คุณงามความดีของเราน่ะ
อดๆ อยากๆ นี่แหละ คนเขาเห็นอย่างนั้น เออ! นี่พระแท้ นี่พระของพระพุทธเจ้า อดๆ อยากๆ นี่พระของพระพุทธเจ้า
โอ้โฮ! มั่งมีศรีสุขนั่นน่ะมันพระของประชาชน พระของโลก พระของสังคม ไม่ใช่พระของพระพุทธเจ้า พระของพระพุทธเจ้ามันเชื่อธรรมวินัยนี้ อดๆ อยากๆ นั่นน่ะพระของพระพุทธเจ้า แต่พระมันอดไม่ได้ มันกลัวคนจะไม่ศรัทธา ไอ้นั่นมันพระของประชาชน ทุกคนปรนเปรอกัน เป็นขุนนาง แล้วก็ไปนอนจมอยู่นั่นน่ะ แต่ถ้ามันเป็นอย่างนั้นนะ ไม่ได้ ตามธรรมวินัยนะ
ไม่ได้ ทำไมเขาทำกัน
นั่นเรื่องของเขา เขาทำกันอย่างนี้ เพราะเขามองว่าไอ้เรื่องอย่างนี้เป็นนามธรรมไง เรื่องวินัยของพระพุทธเจ้าเป็นนามธรรม แต่ถ้าพวกเรา เพราะเขาว่าเป็นนามธรรม เขาจะเอาแต่รูปธรรม เอาแต่ชื่อเสียง เอาแต่วัตถุ เขาก็เลยไม่เห็นธรรมไง
แต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราท่านเห็นธรรมไง ท่านถึงว่าธรรมนี้ยิ่งใหญ่ไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรมๆ
เวลาหลวงตาท่านกราบ ท่านกราบอะไร ท่านกราบธรรมๆ กราบในอากาศนี่เป็นธรรมหมดเลย เพราะใจมันเป็นธรรม ถ้าใจเป็นธรรมนะ โอ้โฮ! ยิ่งใหญ่มาก ไอ้ของพวกนี้ไร้สาระ แล้วเราทำได้สบายๆ เลย แล้วพอทำได้สบาย มีชื่อเสียง มีคนต้องรับผิดชอบมาก คนมาอาศัยมาก ก็เลยเป็นเรื่องพะรุงพะรัง เรื่องพะรุงพะรังก็คุยกับเขาได้ หัวหน้าทำตัวเป็นตัวอย่างนะ เขาเห็นดีเห็นงามด้วย เขาทำตาม
ถ้าหัวหน้าจะอยู่แบบเสี่ย โอ้โฮ! ไอ้พวกนั้นมันจะอยู่อย่างฮ่องเต้นะ ไอ้พวกที่มาอยู่วัดน่ะ มันไปกันใหญ่เลยล่ะ
แต่ถ้าหัวหน้าประหยัดมัธยัสถ์ เราพออยู่พออาศัย โลกนี้ก็แค่อาศัยดำรงชีพ ทุกคนจะเห็นเลยว่า เออ! ความประหยัดความมัธยัสถ์มันทำให้เราแข็งแรง สุขภาพดี อยู่ในธรรมวินัย อู๋ย! สุดยอดๆ กว่าจะสุดยอดได้มันต้องฝึกเยอะๆ ถ้าฝึกไม่เยอะมันสุดยอดไม่ได้ แล้วมันของแท้ด้วย ของจริงด้วย ไอ้ที่ทำกันอยู่นี่โกหกทั้งนั้น มายา อยู่ในโลกแห่งมายา ไร้สาระ
นี่พูดถึงว่า ของที่เขาถวายพระประธานแล้วมาถวายพระได้หรือไม่
ไม่ได้ ผิดวินัย ของเป็นเดน ภิกษุฉันเป็นอาบัติหมด ถ้ารู้ แต่นี่ไม่รู้ หรือหลับตาไม่รู้ก็ไม่รู้ อันนี้เรื่องหนึ่งนะ แต่ถ้าไม่รู้แล้วก็สุดวิสัย สุดวิสัยมันเป็นกรรมของสัตว์ สัตว์ ปัญญาคนไม่เท่ากัน ถ้าปัญญาคนเขาดี เขาทำให้ดี สิ่งนั้นจะสะอาดบริสุทธิ์
แต่ถ้าสัตว์มันด้อยปัญญา ทำสิ่งใดนะ มันก็เป็นเวรเป็นกรรม เป็นเวรเป็นกรรมที่มันมีเวรมีกรรมต่อกันมา นี่มันมืดบอด พอมืดบอดก็ทำให้เรามืดบอดไปด้วย แล้วถ้าถึงเวลาแล้วเราจะแก้ไขได้ก็แก้ไข แก้ไขนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ นี่ข้อที่ ๑.
“๒. กรณีที่พระบิณฑบาตมาได้ผลไม้ที่ใส่ถุงมาในพลาสติกลงในบาตร ถ้าเก็บไว้ถวายพระวันต่อไปได้หรือไม่คะ เพราะยังไม่ได้ปนเปื้อนกับอาหาร เพราะเคยได้ฟังว่าหลวงปู่มั่นท่านพูดถึงปรมัตถ์”
มันคนละเคส คนละเรื่อง มันเป็นคนละเรื่อง แล้วโยมนี่สับสน พอโยมสับสน โยมก็จับมาปนกันไง เพราะโยมที่บอกว่า พระบิณฑบาตมามีผลไม้ใส่ถุงพลาสติกมาแล้วเก็บไว้ แล้วจะถวายในวันพรุ่งนี้
จะมีถุงพลาสติกหรือไม่มีถุงพลาสติก พอใส่ของวันนี้ ของที่ได้มาวันนี้ต้องฉันให้หมดในวันนี้ ถ้าฉันไม่หมดแล้วต้องสละทิ้งไปทั้งหมด เพราะภิกษุเก็บอาหารไว้กินแรมคืน เก็บไว้แรมคืนแล้วฉัน ภิกษุเก็บอาหารไว้ฉันวันรุ่งขึ้นเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ มันเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์อยู่ในนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ ข้อนั่น ภิกษุฉันอาหารแรมคืน เขาไม่ให้ภิกษุสะสมไง บิณฑบาตมาวันนี้แล้วขี้เกียจ เก็บไว้ก่อน แล้วไว้ฉันพรุ่งนี้ด้วย
บิณฑบาตมาวันนี้ ฉันได้วันนี้ พ้นจากเพลไป อาหารนี้ใครแตะไม่ได้เลย ถ้าพระแตะอีก วัตถุนั้นเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุเป็นปาจิตตีย์ ฉันเป็นปาจิตตีย์หมด อันนี้มันอยู่ในนิสสัคคีย์ ภิกษุเก็บอาหารไว้แรมคืน ฉันต่อไปอีกไม่ได้ อันนี้ที่ว่าวันพรุ่งนี้ไง
นี่ก็เหมือนกัน กรณีนี้ กรณีโดยทั่วไปที่ว่าเมื่อกี้นี้ ภิกษุบิณฑบาตอาหารแห้งไว้เก็บสะสมอะไรนี่ มันคิดเอาโลกเป็นใหญ่ไง แต่ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ ภิกษุฉันไม่ได้
ทีนี้บอกว่าภิกษุฉันไม่ได้ ถ้าเก็บไว้แรมคืนไม่ได้ หลวงพ่อมีคลังอยู่ข้างหลังเก็บไว้เต็มเลย แล้วบอกว่าเก็บไม่ได้ เก็บไม่ได้อะไร อยู่ในคลังนั่นน่ะ
ไอ้ข้าวสารที่มันอยู่ในคลังเขาเอามาให้สงฆ์ สงฆ์ไม่ได้รับประเคน ไม่ได้บิณฑบาตไง ถ้าบิณฑบาตแล้วของเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ แต่ถ้าโยมเขามาถวายเป็นอาหารก็ถวายเป็นส่วนกลาง ส่วนกลางนั้นเอาไว้แจก ๙ วัด อุทัยฯ ๒ วัด หัวหิน โป่งกระทิง เขามาเอาข้าวสารไป ข้าวสารเอาไปทำไม
เอาไปแจกพวกป่าไม้ พวกป่าไม้ที่เขาเดินตรวจป่าน่ะ เขามาขอ เขามาอาศัย แล้วพวกที่ชาวบ้านแถวนั้นเขามาช่วยงานวัด เขาก็แจกข้าวสารเขานี่ อันนั้นมันไม่ใช่เอาไว้ฉันอย่างนี้ ถ้าเอาไว้ฉันอย่างนี้มันไม่ใช่บิณฑบาตไง ภิกษุต้องซื้อเอา ซื้อแล้วมาเก็บไว้ คือไม่ได้บิณฑบาต ถ้าบิณฑบาตนะ เพราะวินัยเขาไม่ให้พระสะสม
ไอ้นี่ก็ไม่ได้สะสม ภิกษุไม่ได้สะสม เพราะพระธุดงค์มาที่นี่ พอธุดงค์มาก็มา เวลาออกไปก็ออกไป ภิกษุก็เป็นภิกษุไง สงฆ์ก็เป็นสงฆ์องค์เดียว ไม่ได้เป็นเจ้าของสิ่งใดไง แต่นี่มันเป็นของกลางของวัดไง
ไอ้ที่ว่า เพราะพูดไปแล้ว เราจะบอกว่า คนที่เขียนต้องเคยมาวัดนี้ แล้วมาบ่อยๆ ด้วย ฉะนั้น เวลาพูดไปนี่ว่าแต่เขาไง คนอื่นผิดหมด แต่พวกเราถูก
ถูก ทำให้ถูกก็คือถูก ทำให้ผิดก็คือผิด ถ้าทำถูกแต่ต้น มันก็ถูกๆๆ ไปทั้งหมด ฉะนั้น เวลาที่เขาเอาข้าวสารมาถวาย พระไม่ได้รับรู้เลย โยมเขาเอามาแล้วเขาก็แบกเก็บเอง พระไม่รู้เรื่อง พระดูเฉยๆ มีแต่ยอด รับรู้ยอด แล้วเวลาจะแจกคนอื่นไป
อันนี้พูดถึงว่าของแรมคืนนะ
ฉะนั้น กรณีที่ว่า ภิกษุบิณฑบาตได้ผลไม้ใส่ถุงพลาสติกมาในบาตร จะเก็บไว้ฉันวันต่อไปได้หรือไม่
ไม่ได้ ของวันนั้นต้องฉันให้หมดในวันนั้น ฉะนั้น เวลาฉัน เวลาภิกษุฉันแล้ว ที่เหลือนี่เป็นเดน เวลาภิกษุห้ามภัตแล้ว ห้ามฉันอีก สิ่งที่เป็นเดน ภิกษุจะฉันได้ต่อเมื่อเป็นภิกษุไข้ ภิกษุเจ็บป่วยแล้วบิณฑบาตไม่ได้ ภิกษุฉันเหลือแล้วให้กับภิกษุที่เป็นไข้ไม่สบาย ฉันได้ ของที่เป็นเดน สิ่งที่เป็นเดน
ฉะนั้น สิ่งที่ว่า บิณฑบาตมาแล้วจะเก็บไว้กินพรุ่งนี้อีกได้ไหม
ไม่ได้ แต่พระทำกันทั่วประเทศ ถ้ามีแต่กรรมฐานที่จิตใจลงธรรมวินัยเขาไม่ทำกันหรอก ฉะนั้น นี่เป็นเรื่องภิกษุเก็บอาหารไว้แรมคืน นี่กรณีหนึ่ง
แต่เขาบอกว่า เคยฟังหลวงพ่อพูดถึงว่าหลวงปู่มั่นท่านบอกว่าท่านเก็บน้ำอ้อยไว้ให้เป็นปรมัตถ์
ให้เป็นปรมัตถ์ เขาเรียกกาลิก ยาวชีวิก ของชั่วยาม ตอนเช้า อาหารเขาเรียกว่าของชั่วยามตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง แล้วถ้าเป็นสัตตาหกาลิก สัตตาหกาลิก สิ่งที่เป็นน้ำอ้อย สิ่งนี้เขาเรียกสัตตาหกาลิก สัตตาหกาลิก ภิกษุเก็บได้ ๗ วัน ฉันใน ๗ วันนี้ได้
เพราะว่าน้ำอ้อย พวกน้ำตาล เวลาเขาไปฉันตอนบ่าย เขาฉันตอนเย็น เขาละลายน้ำ สิ่งนี้เขาฉันได้ภายใน ๗ วัน แต่ถ้าเป็นอาหารมันแค่ชั่วยาม แล้วถ้ามันเป็นยา ยาวชีวิกนี่ทั้งชีวิต อย่างพวกสมอพวกนี้เขาเก็บไว้ ถ้าไม่ได้ผสมด้วยน้ำตาลนะ ถ้าผสมด้วยน้ำตาล แค่ ๗ วัน เพราะเขาให้นับสิ่งที่อายุสั้น นี่พูดถึงว่า สิ่งที่หลวงปู่มั่นท่านเก็บไว้นั่นน่ะท่านเก็บไว้เป็นปรมัตถ์ ถ้าเก็บไว้เป็นปรมัตถ์
ถ้าสิ่งที่มันคลุกคลีกับอาหารใช่ไหม ถ้าเป็นสิ่งที่คลุกคลีกับอาหารมันก็ต้องนับอายุสั้น ก็ต้องนับแค่ยาวชีวิกชั่วยามใช่ไหม แต่ถ้าหลวงปู่มั่นท่านสอนพระไง ท่านสอนพระว่า สิ่งนี้มันได้ห่อไว้ มันไม่ได้ปนกันไง ไม่ได้ปนกับอาหาร มันถึงเก็บไว้ได้เป็นปรมัตถ์ เก็บไว้ได้เป็นปรมัตถ์มันก็เก็บไว้ได้ในเวลา ๗ วัน ให้ ๗ วัน
แต่เดิมสิ่งนี้มันตลอดชีวิตเลยล่ะ สิ่งที่เป็นปรมัตถ์นี่นะ ท่านให้ฉันได้ แต่เพราะพระ ในพระไตรปิฎกมีพระอยู่องค์หนึ่งท่านมีความสามารถมาก แล้วมันมีหมู่บ้านหนึ่งมันแบบว่ามันมีผีเข้า พระองค์นี้ก็ไปช่วย สุดท้ายแล้วเขาหายจากความเป็นทุกข์นั่นน่ะ เขาถวายมาเต็มเลย แล้วเก็บไว้มันฉันไม่ทัน
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปตรวจกุฏิ เดินไปตรวจวัด ไปเห็นน้ำตาลแขวนไว้อยู่ไง “นี่ของใคร” เราจำชื่อไม่ได้ อยู่ในพระไตรปิฎก ว่าเป็นของพระองค์นั้น “ได้มาอย่างไร”
ได้มาด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลยบัญญัติว่าให้ ๗ วัน คือฉันให้หมด ๗ วัน ไม่ให้แขวนไว้ ไม่ให้เก็บไว้เกินกว่าเหตุ มันเลยเหลือ ๗ วันไง
สิ่งนี้มันเป็นคนละเรื่องกันน่ะ สิ่งที่ได้มามันต้องดูที่มาที่ไป ที่มาที่ไปมันก็เข้ากับวินัยข้อนั้นๆ วินัยมันมีหลายระดับ มีศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เรื่องอาหารตอนเช้า ผลไม้นั่นมันเป็นเรื่องวิกาล เรื่องของในชั่วยาม อันนี้เก็บไว้วันรุ่งขึ้นไม่ได้ แต่ถ้ามันเป็นกาลิก กาลิกมันก็เรื่องของอาหาร เรื่องของปรมัตถ์ เป็นยาปรมัตถ์ สิ่งที่เป็นยาปรมัตถ์ น้ำตาลนี้เป็นยาปรมัตถ์
ฉะนั้น หลวงปู่มั่นท่านสอนอย่างนี้ มันคนละเรื่องกัน มันไม่เกี่ยวกัน แต่ถ้าเป็นเรื่องอาหารนั้นมันเป็นเรื่องบิณฑบาต พอบิณฑบาตมานี่ฉันเป็นอาหาร ฉันตอนเช้า มันเป็นศรัทธาของเขา
แต่ถ้าเราเก็บอย่างนั้นนะ กรณีนี้มันมี อย่างเช่นที่กรรมฐานเขาทำ บางที่พระที่ฉลาด ตอนเช้าบิณฑบาตมาได้ส้ม ส้มนี้เป็นอาหารไหม เป็น มันอยู่ในยามด้วย พอเป็นแล้วพระเก็บไว้ พระเก็บไว้ เพราะฉันข้าวเสร็จ พระต้องคั้น คั้นในเวลาของเขา ในเวลาตอนเช้าก่อนเพล แต่ถ้าเลยเพลไปแล้ว พระจับไม่ได้แล้ว เพราะว่ามันเป็นอาหาร ถ้าไปทำผิดเวลา ขนาดทำผิดเวลายังฉันไม่ได้เลย
พระที่เขาอุปัฏฐากครูบาอาจารย์นะ เวลาบิณฑบาตมาได้ส้ม ได้อะไรตอนเช้า คั้นในตอนเช้า ไปฉันในตอนบ่ายได้ ฉันเสร็จแล้วกรองกากให้หมด เหลือแต่น้ำผลไม้ มันเป็นน้ำปานะ นี่เวลาเขาทำยังต้องทำอยู่ในกาลนะ แล้วน้ำปานะจะต้มน้ำตาลด้วยน้ำร้อนก็ไม่ได้ เพราะน้ำร้อนมันทำให้น้ำผลไม้เป็นของสุก ถ้าน้ำผลไม้เป็นของดิบ
ทีนี้ในปัจจุบันนี้มันแบบว่าเทคโนโลยีมันเจริญไง เรื่องน้ำผลไม้มันก็เลยหลากหลาย พอหลากหลายไปมันก็อยู่ที่ว่า ถ้าเราลังเลสงสัย ไม่ฉันๆ ไม่ไปยุ่งกับมัน นี่พูดถึงว่าน้ำปานะ
ทีนี้เขาถึงบอกว่า มันเป็นปรมัตถ์
มันเป็นวินัยคนละส่วนกัน คนละข้อเลย
“๒. กรณีที่พระบิณฑบาตได้ผลไม้ใส่ถุงพลาสติกมาลงในบาตร ถ้าเก็บไว้ถวายพระวันต่อไปได้หรือไม่คะ เพราะยังไม่ได้ปนเปื้อน”
เพราะเข้าใจคำว่า “ปนเปื้อน” ถ้าเข้าใจว่าปนเปื้อน ถ้ามันปนเปื้อนแล้วมันเป็นน้ำตาลหรือเปล่า มันเป็นปรมัตถ์หรือเปล่า ถ้าเป็นปรมัตถ์ เราเก็บไว้ฉันได้เองเลย แต่นี่เขาไม่ได้อย่างนั้น เขาบอกว่าเก็บไว้ถวายพระวันต่อไป
ไอ้นี่ของแรมคืน เพราะบิณฑบาตมาแล้ว จบแล้ว ถ้าบิณฑบาตมามันก็เหมือนกับที่ผลไม้ถวายพระประธานน่ะ ผลไม้ไปถวายพระประธาน ก็ถวายแล้วก็เป็นเดนแล้ว เห็นไหม พอถวายพระประธาน ของเราถวาย เขาให้แล้ว มันเอากลับมามันก็เป็นของที่ให้แล้วเหลือเดน นั่นของเป็นเดน
ไอ้นี่บิณฑบาตมา บิณฑบาตมามันต้องให้หมดในวันนั้น ไอ้ข้อนี้มันเป็นวาระของอาหาร ยาวชีวิก ของชั่วยาม ตอนเช้า ได้แค่ตอนเช้า พอตอนเช้ามันก็มีวิกาลเข้ามา วิกาลเข้ามาคือสะสมข้ามอรุณขึ้น หมดเวลา
แต่ถ้าพูดถึงว่าหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านพูดถึงปรมัตถ์ ท่านถึงเก็บได้ ปรมัตถ์มันเก็บข้ามวันข้ามคืนได้ ๗ วัน มันเป็นส่วนกลาง ถ้าเป็นยาวชีวิกมันละเอียดไปเลย
ฉะนั้น เขาบอกว่า “โยมไปปฏิบัติที่วัดนั้นเห็นแม่ชีทำอย่างนี้หลายครั้ง ทำให้สงสัยว่าถูกหรือไม่ กราบขอบพระคุณหลวงพ่ออย่างสูงค่ะ”
เราไปเห็นอย่างนั้นก็คิดนะ เห็นอย่างนั้น มันธุดงค์ไป เราเที่ยวไป เราเที่ยวไปเราก็เห็นอย่างนี้มาเยอะ พระที่ทำถูกต้องดีงามก็สาธุ พระที่เขาทำไม่ถูกต้องดีงามมันก็มีแล้ว หนึ่ง ความเกรงใจ คนที่มาอุปัฏฐากดูแลแล้วเกรงใจเขา เวลาเกรงใจเขา เขาขอสิ่งใดก็เชื่อตามเขาไป แต่ลืมพระพุทธเจ้า ลืมธรรมวินัยไปไง
๑. เกรงใจเขา
๒. เขามีบุญมีคุณ
แล้วเวลาจิตใจของเรา เราก็ไม่มั่นคงด้วย แต่ถ้าเรามั่นคงของเรานะ อย่างน้อยเราต้องอธิบายให้เขาเข้าใจได้ก่อนว่า ถ้าเราเป็นชาวพุทธกัน ชาวพุทธต้องถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ต้องถึงรัตนตรัยก่อน แล้วสิ่งที่มันเป็นวินัย ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา ที่หลวงตาท่านพูด ทุกคนสะเทือนหมดน่ะ “เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไปแล้วแสดงธรรม”
เวลาเอาความสะดวกเอาความสบาย นี่เหยียบย่ำธรรมวินัยไป เหยียบย่ำธรรมวินัยก็เหยียบหัวพระพุทธเจ้า เวลาพูด พูดเคารพบูชากันทั้งนั้นน่ะ แต่พฤติกรรมที่การกระทำ
แต่ถ้าเราจะคุยกับเขา เราต้องมีเหตุผลอธิบายให้เขาเข้าใจได้ว่าสิ่งนี้มันผิดธรรมวินัย คือผิดคำสอนพระพุทธเจ้า ถ้าเราฝืนก็เท่ากับเราฝืนพระพุทธเจ้า เราจะเป็นชาวพุทธได้อย่างไร
ถ้าเราไม่เกรงใจเขานะ หรือเกรงใจอย่างไรมันก็ต้องพูดได้ ถ้าทิฏฐิเขาไม่เหมือนกัน ไม่เสมอกัน เขาจะสะบัดก้นไปก็เรื่องของเขา ใครจะสะบัดก้นไปก็ เออ!สาธุ เราก็หากินตามลำแข้งนี่แหละ ไม่ไปยุ่งกับเขา เพราะเขาจะสะบัดก้นไป ไปออเซาะฉอเลาะเขา มันก็จะลืมไปแล้ว
นี่พูดถึงว่าเวลาไปโดยทั่วๆ ไปนะ กรณีนี้ถ้าเป็นกรณีคุยในวงในของพระ พระที่มีอำนาจวาสนาบารมีมันจะเป็นผู้นำได้ จะปกครองดูแลสงฆ์ได้ พระที่ไม่มีบารมี หัวหน้าก็ทุกข์ยากอย่างนี้ ผู้ที่จะมาอาศัย
เราเคยอยู่ป่า มันมีบิณฑบาตได้แค่องค์สององค์เท่านั้นน่ะ ถ้าวันไหนมีพระมาพักอยู่ด้วยนะ พรุ่งนี้เช้าไม่มีฉัน เราเคยเป็นอย่างนั้นมานะ อยู่ป่านี่มันอย่างมากก็ได้แค่สองอิ่ม คือพระอยู่ได้แค่สององค์ แล้วถ้าเวลามีพระธุดงค์มาเขามาพักด้วย รุ่งเช้ามานี่ แต่เราก็แบ่งกันเท่าที่มี สุดท้ายแล้วก็น้ำ แล้วอดไว้กินพรุ่งนี้ใหม่ มันก็แค่นี้ แล้วถ้ามันซื่อสัตย์มันก็อยู่สุขสบาย เวลาหลวงปู่มั่นท่านพูดประจำ ที่ไหนที่มันขาดแคลน โอ๋ย! ที่นั่นท่านเลือกอย่างนั้น
แต่ถ้ามีพระมาอยู่ด้วยนะ พอที่ไหนมันขาดแคลน “แหม! ที่นี่บรรยากาศมันไม่ดี อากาศมันทึบ” แต่ถ้าที่ไหนพอไปแล้วเช้าขึ้นมาปิ่นโต ๔-๕ แถวนะ “โอ้โฮ! บรรยากาศที่นี่ยอดเยี่ยม” มันจะพูดได้ทั้งนั้นน่ะถ้ามันจะเอา
แต่ถ้าเราซื่อสัตย์ เราจะปฏิบัติเพื่อชนะกิเลสของตน มันจะมีหลักเกณฑ์นะ ถ้ามีหลักเกณฑ์ขึ้นมาแล้ว
เรื่องอย่างนี้ เขาบอกว่าโยมไปปฏิบัติที่วัดนั้น
ก็ปฏิบัติได้ทุกๆ ที่แหละ เพราะเราเป็นชาวพุทธด้วยกัน บริษัท ๔ พระพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับบริษัท ๔ เราก็ไปทุกที่แหละ แล้วเราก็มีสติมีปัญญา ถ้าเรามองแล้วมันเป็นประโยชน์ เราคุยกันได้ก็คุย ถ้าคุยไม่ได้ก็กรรมของสัตว์ มันเรื่องของเขา ของเราเก็บไว้ในหัวใจ
นิติศาสตร์กับรัฐศาสตร์ ธรรมะคือรัฐศาสตร์ คือการปกครอง คือความดีงาม ไม่กระทบกระเทือนกัน นี่คือรัฐศาสตร์ คือธรรม แต่ถ้าวินัยเป็นกฎหมาย กฎหมายมันผิดมันถูก ถ้าเราเห็นไม่ดีงามด้วย เราก็หลบ
เราธุดงค์มา เราเจอสภาพแบบนี้มาตลอด แล้วเจอสภาพแบบนี้ เพียงแต่วันนี้โยมถามมาโดยประสบการณ์ของเขา ไอ้ประสบการณ์ของโยม เราเคยไปเห็นพระที่ดีงาม ไปอยู่กับครูบาอาจารย์ โอ้โฮ! ถวายชีวิตได้เลยนะ ไปบางทีไปเจอบางที่ แหม! มันรับไม่ได้เลย เราก็หนีๆ เรื่องของเขา เพราะในโลกนี้มันมีอย่างนี้ ในโลกเรามีทั้งดีและชั่ว ทุกสังคม ทุกที่ แล้วเราจะเลือกอย่างไร
เราพยายามเลือกแต่สิ่งที่ดีๆ แล้วเวลาปฏิบัติ ปฏิบัติให้ดีขึ้นมาในหัวใจของเรา เวลากิเลสมันยุมันแหย่นะ นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ อย่าไปเชื่อมัน ให้เวลาพิสูจน์ แล้วพยายามทำคุณงามความดีของเรา ถ้าเป็นจริงขึ้นมาแล้วนะ มันจะเป็นจริงกลางหัวใจนี้ เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เอวัง