แต่ไม่ดี
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “การปฏิบัติธรรมไปด้วย อยู่กับสังคมไปด้วย ต้องทำอย่างไรคะ”
หนูเคยถูกคนรุมแกล้ง จึงทำให้กลัวสังคม ทำงานที่ไหนไม่ได้นาน ทำให้เห็นทุกข์ หนูเลยหันมาทางธรรม พอหนูเริ่มปฏิบัติธรรม คนในออฟฟิศก็หาว่าเสแสร้ง ทำให้หนูตีตัวออกห่าง ตอนแรกเหมือนจะดี พอนานๆ ไปเริ่มไม่ดี หนูควรทำตัวอย่างไรคะ
ตอบ : นี่ไง การปฏิบัติธรรมกับอยู่กับสังคม ถ้าการปฏิบัติอยู่กับสังคม การปฏิบัติธรรมนี่สุดยอดมาก คำว่า “สุดยอดมากๆ” คนเรานะ เรื่องเชื่อในกรรมดีกรรมชั่ว คนยังเชื่อได้ยากเลย ในสังคมเขาเสียดสีกันไง “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป”
คนทำชั่ว คนทำตามหัวใจของตนเองแล้วได้ดิบได้ดีกันในสังคมเยอะแยะไปหมด คนที่ระรานชาวบ้านแล้วได้ดิบได้ดี มันเห็นสภาพแบบนั้นจนชินชา พอชินชามันเลยพูดเสียดสี “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” นี่เขาพูดกันตลอดนะ เราได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ
แต่เวลาเราจะบวช เวลาเราบวชมาแล้ว เวลามาประพฤติปฏิบัติมันก็มืดแปดด้านน่ะ คือมันทำสิ่งใดแล้วมันก็ยังไม่เห็นผลจริง ว่าอย่างนั้นเถอะ พอไม่เห็นผลจริง มันก็แบบว่าครึ่งๆ กลางๆ มันลังเลสงสัยไปหมด มันครึ่งๆ กลางๆ ก็เชื่อว่าจะดี แต่เชื่อแล้วมันก็มาทุกข์มายาก แต่พอปฏิบัติไปๆ มันเลยลงใจไง ลงใจ
เวลาหลวงตาท่านพูด เวลาหลวงปู่มั่นท่านพูด “ดีที่ไม่มีโทษ ดีสะอาดบริสุทธิ์ นั่นคือดีเลิศ” นี่เป็นคำพูดของหลวงปู่มั่นนะ ดีเลิศ ดีที่สะอาดบริสุทธิ์ ดีที่ไม่มีความชั่วเจือปน ว่าอย่างนั้นเถอะ ดีล้วนๆ นี่ดีเลิศ ดีอย่างนี้เป็นดีที่สะอาดบริสุทธิ์
แล้วเวลาหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น เวลาท่านประพฤติปฏิบัติมาท่านก็ยืนยัน หลวงตาท่านพูดบ่อย แล้วเราชอบจำแล้วเอามาพูด เพราะมันฝังใจ ท่านบอกว่า เราทำคุณงามความดีกัน เราปฏิบัติแล้ว ถ้ามันทำดีแล้วไม่ได้ดี ท่านจะพาไปฟ้องพระพุทธเจ้า ท่านเชื่อมั่นพระพุทธเจ้านะ
“ถ้าท่านทำดีแล้วถ้ามันไม่ได้ดี เราจะพาไปฟ้องพระพุทธเจ้า” คือท่านจะบอกว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าถูกต้อง แล้วเราประพฤติปฏิบัติของเราจนเต็มที่ของเรานะ คำว่า “เต็มที่ของเรา”
เราก็เชื่อมั่นมากนะ พูดทุกวัน เพราะอะไร เพราะสวนกระแสสังคมไง ทำดีต้องได้ดี ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว เด็ดขาด
ทำดีต้องได้ดี แต่ทำดีแล้ว คนทำดีแล้วโดนเสียดสี คนทำดีแล้วมีแต่ความทุกข์ มันเป็นเรื่องธรรมดา เราอยู่ในสังคมแบบนี้ ในสังคมมีทั้งคนดีและคนชั่ว ในสังคม แล้วความชั่วมันทำได้ง่าย ความดีมันทำได้ยาก
ถ้าความชั่วมันทำได้ง่าย คนไม่ต้องทำอะไรเลย ไหลไปตามสังคมก็ทำความชั่ว ความชั่วมันทำได้ง่าย ไม่ต้องทำอะไรมันก็เป็นความชั่ว แต่ทำความดีมันแสนยาก ทำความดีมันต้องทวนกระแสกลับเข้าไป ทำความดีต้องขวนขวาย ทำความดีแล้วยังโดนเสียดสี ทำความดีแล้วยังโดนทิ่มโดนตำ ทำความดีแล้วมีแต่ภัยทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้น ทำความดีถึงแสนยากไง
แต่ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
เพราะการทำคุณงามความดีแบบนี้ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย
เราพูดประจำๆ เพราะเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านรำพึงของท่านนะ เราเป็นคนวาสนาน้อย อายุของเราก็แค่ ๘๐ ปี เวลาคนที่มีอำนาจวาสนามากอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี แต่เขาต้องทำคุณงามความดีแบบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า ๔ อสงไขย เขาต้องทำ ๘ อสงไขย ทำ ๑๖ อสงไขย เขาจะทำคุณงามความดีแบบพระโพธิสัตว์ เกิดตายๆ สร้างแต่คุณงามความดี ยังเป็นอสงไขยๆ มากกว่าพระพุทธเจ้าถึง ๖-๗ เท่าตัว เขาถึงมีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขย แสนมหากัป สมบูรณ์แล้วมาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาท่านพูดในพระไตรปิฎก เวลาเราพูดบ่อย
เวลาเราเทศนาว่าการ เขาบอก “ทำไมหลวงพ่อทำอย่างนี้”
บอก “พระพุทธเจ้าสั่งกูไว้”
เขาก็งงเลย เราเกิดไม่ทันพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสั่งที่ไหน
อ้าว! ก็เราอ่านพระไตรปิฎกไง เวลาพระพุทธเจ้าฝากไว้ “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเรายังไม่เข้มแข็ง ยังไม่มีปัญญา ไม่สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงคือการติฉินนินทาของลัทธิศาสนาอื่น เราจะยังไม่ยอมปรินิพพาน”
ท่านก็สร้างสมบุญญาธิการมา ท่านสั่งสมมา ท่านรื้อสัตว์ขนสัตว์มา ๔๕ พรรษา ๔๕ ปี พอปีสุดท้ายมารดลใจตลอด เวลาท่านปลงอายุสังขารไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปลงอายุสังขาร “มารเอย บัดนี้ บัดนี้คือ ๔๕ ปีมาแล้วนี้ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเรา...” ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านใช้คำว่า “ของเรา”
“...บัดนี้เข้มแข็ง คือมีสติมีปัญญาสามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ อีก ๓ เดือนข้างหน้าเราจะปรินิพพาน”
โอ้โฮ! โลกธาตุนี้ไหวหมดเลย นี่พระพุทธเจ้าสั่งไว้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าสั่งไว้ เวลาเราโต้แย้ง เราขัดแย้งกับความเห็นคนอื่นอย่างนี้ เขาบอกว่า “หลวงพ่อทำอย่างนี้ทำไม”
“พระพุทธเจ้าสั่งกูไว้ พระพุทธเจ้าสั่งกูไว้”
อ้าว! เราก็กล่าวแก้ไง ทิฏฐิความเห็นของคนไง อ้าว! ธรรมะมันก็คือเหตุคือผล เราก็คุยกันด้วยเหตุด้วยผลสิ ถ้าเหตุผลใครถูกต้อง อันนั้นก็ถูกใช่ไหม เหตุผลใครผิดมันก็ผิดอยู่แล้ววันยังค่ำ เหตุและผลคือธรรมไง ฉะนั้น เราพูดเรื่องเหตุเรื่องผล เราไม่ได้เอาสีข้างเข้าถู ก็เราคุยกันด้วยเหตุผล
ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ การสนทนาธรรมเป็นมงคลอย่างยิ่ง การสนทนาธรรมด้วยสติด้วยปัญญา การสนทนาธรรมด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช่การสนทนาธรรมด้วยการเสียดสี ไม่ได้สนทนาธรรมด้วยการเหยียบย่ำกัน ไม่ได้สนทนาธรรมด้วยอารมณ์ ไม่ได้สนทนาธรรมด้วยความเหยียบย่ำทำลาย ไม่ใช่
เราสนทนาธรรมกันด้วยสติด้วยปัญญานะ เรามีเหตุผลสิ เราคุยด้วยเหตุผล เอาเหตุผลมาขัดแย้งกัน ไม่มีใครพูด ดีแต่พูดข้างเดียว พูดลับหลัง เวลาเอาจริงๆ มันต้องคุยกันต่อหน้า นี่พูดถึงเวลาสนทนาธรรมเป็นมงคลชีวิตนะ
นี่พูดถึงว่าทำดีต้องได้ดีไง ทีนี้พอทำความดี มันก็ย้อนกลับมาคำถาม เราเห็นใจมากนะ พวกวัยรุ่นน่ะ พวกทำงานจะเจอปัญหานี้ทั้งนั้นน่ะ เพราะเราอยู่ในสังคมไง มนุษย์เป็นสัตว์สังคม แล้วมนุษย์เป็นสัตว์สังคม คนดีคนชั่วอยู่ในสังคมเดียวกัน ถ้าคนดีคนชั่วอยู่ในสังคมเดียวกัน แม้แต่ตัวเราเองคนเดียว บางทีเราก็คิดผิดพลั้ง บางทีเราก็คิดผิดพลาด เราก็เคยคิดที่ไม่ถูกต้องมาเหมือนกัน แต่ถ้าวันไหนมีสติมีปัญญา อารมณ์ที่มันมั่นคง เราก็คิดได้ถูกต้อง คิดได้ชัดเจน เวลาเราคิด เราคิดผิดพลาดนั่นน่ะ อารมณ์ชั่ววูบๆ
เวลาคนทำผิดพลาดไป เวลาตำรวจจับ เขาบอกว่าอารมณ์ชั่ววูบ มันยับยั้งไม่ทัน มันยับยั้งไม่ได้ ทำไปด้วยความผิดพลาด นี่มันเป็นอยู่อย่างนี้ แล้วเราอยู่ในสังคมๆ เราจะโดนแรงเสียดสี เราจะโดนแรงกระทบกระเทือน นี่เป็นเรื่องธรรมดา นี่เป็นเรื่องธรรมดา
ทีนี้เป็นเรื่องธรรมดา มันย้อนกลับมาก่อน ย้อนกลับมาว่า ถ้าเราอ่อนแอ เราอ่อนแอก็อย่างนี้ จิตใจเราอ่อนแอไง พอจิตใจเราอ่อนแอ เราเจอสิ่งใด เราทนแรงเสียดสีไม่ไหว แล้วเราก็ต้องเพลี่ยงพล้ำไป แต่ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา เราจะทำคุณงามความดี เราพยายามทำ
เขาบอกว่าเขาหันมาปฏิบัติธรรม แล้วในออฟฟิศของเขาก็หาว่าเขาเสแสร้ง
ทุกคนเขาไม่เชื่อหรอกว่าเราจะปฏิบัติธรรมๆ มันต้องใช้ระยะเวลาทั้งชีวิตนะ ทำความดีๆ ความดีที่เขาไม่เชื่อเราๆ เพราะดูสิ ดูแชร์ลูกโซ่สิ ดูสังคมที่หลอกลวงกันสิ มันไว้ใจใครได้ล่ะ มันเป็นสิ่งที่ไว้ใจไม่ได้ เราเห็นหน้ากัน เรารู้หรือว่าเขาจะจริงใจอะไรกับเรา เรารู้หรือว่าเขาจะเป็นคนดีจริง มันไม่มีใครเชื่อหรอกว่าใครจะเป็นคนดีจริง
ฉะนั้น เวลาทำคุณงามความดีอย่าหวังว่าให้คนมาชื่นชมเรา ไม่ต้องไปคิดไปหวังอะไรให้ใครมาชื่นชม ทำความดีก็จบไง ทำความดีหรือทำบุญทิ้งเหวๆ คือทำแล้วไม่หวังผลตอบแทนไง
ถ้าใครทำแล้วหวังผลตอบแทน ใครทำแล้วอยากให้สังคมนับหน้าถือตา ใครทำแล้วอยากให้คนเคารพนับถือ มึงทำไปเถอะ ทุกข์ตายเลย เพราะอะไร เพราะมันมีความหวังใช่ไหม หวังให้คนเขามาเห็นคุณงามความดีของเรา หวังว่าให้คนเขาเชิดชูเรา เราหวังไง เหมือนกับเด็กเลย เด็กมันรอความหวัง รอเขาให้ แล้วเราไม่ให้ก็จบเลย แล้วใครเขาจะให้ เขาไว้เนื้อเชื่อใจหรือไม่ ถ้าเขาไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ นั่นมันข้อเท็จจริง
ฉะนั้น เราไม่ต้องไปแยแสกับเรื่องอย่างนั้น ขอ ขอให้เราทำดีจริงเถอะ ขอให้เราทำความดีของเรา ถ้าเราทำคุณงามความดีของเรา เราทำของเราไป จะมากจะน้อยนะ
๑. จะมากจะน้อย มันเรื่องแรงเสียดสี โลกธรรม ๘ มันรุนแรงอยู่แล้ว
๒. อันนี้สำคัญที่สุดเลย คือความมั่นคงของเราไง
เราต้องมั่นคงก่อน ถ้าเรามีสติปัญญา แล้วแบบว่ามรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด คือมรรคหยาบคือความคิดหยาบๆ แต่ถ้าพอความคิดมันละเอียดลึกซึ้งขึ้นไป เราจะรู้ว่าความดีที่มันละเอียดลึกซึ้งขึ้นไป นี่ความดี ความดีของพระอริยเจ้า ความดีของพระอรหันต์ คือความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้า ท่านรู้รอบขอบชิดหมดเลยนะ รู้หมด จักรวาล โลกธาตุ เข้าใจหมดเลย แล้วนิ่ง ใครไปถามอะไรท่านก็เฉย เพราะอะไร
หนึ่ง เวลาหลวงตาท่านบรรลุธรรม ครูบาอาจารย์ท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ท่านบอกเลยนะ “เราจะคุยกับสังคมอย่างไร เราจะคุยกับเขาอย่างไร” เพราะความดีมันเหนือโลก ความดีมันเหนือจินตนาการ เหนือความเห็นเรา
เวลาหลวงตาท่านพูดนะ ท่านบอกคุยกับพวกเราเหมือนคุยกับสัตว์ เราคุยกับสัตว์สิ สัตว์เลี้ยง เราคุยกับมันรู้เรื่องไหม ด้วยสัญชาตญาณมันรักเจ้าของนะ มันรู้ถึงความปรารถนาดีของเรา แต่เราพูดกับมันไม่รู้เรื่อง เพราะมันไม่รู้ภาษาคน แต่มันมีภาษาของมัน
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ภาษาสมมุติเราไง ภาษามนุษย์นี่ แล้วภาษาธรรมะ ภาษาใจ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการเทวดา อินทร์ พรหม ท่านใช้ภาษาอะไร
เราข้ามประเทศ ข้ามถิ่น ภาษายังคนละภาษาเลย แม้แต่สมมุติอันเดียวกัน แต่ภาษาแตกต่างกันไป แต่ถ้าเป็นภาษาใจ หลวงปู่มั่นท่านเทศน์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านบอกเลย เทศน์กับเทวดาสบายกว่าเทศน์กับคนเยอะเลย เทศน์กับคนต้องออกเสียง เหนื่อย แต่เทศน์กับเทวดา ภาษาใจก็คิดเอาในใจ ทางนู้นรับรู้หมดแล้ว ภาษาความรู้สึก นี่คือภาษาใจ ถ้าภาษาใจเทศนาว่าการอย่างนั้นไม่ต้องออกเสียง ไม่ต้องเจ็บคอ พูดจบเลย นั่นคือภาษา คือความรับรู้
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราอยู่ในสังคม แล้วสังคมเป็นอย่างไร เราต้องเข้มแข็งของเรา แล้วเราเข้มแข็ง เราเข้มแข็งแล้ว
เวลาครูบาอาจารย์ท่านบรรลุธรรม ท่านบรรลุธรรมของท่าน ท่านบอกว่า หลวงตาท่านพูดประจำนะ พูดกับเขา เขาก็ไม่รู้หรอก อย่าว่าแต่โยมเลย พระด้วยกันก็ยังไม่รู้เลย พูดไปเถอะ พระไม่รู้หรอก ถ้าเราปฏิบัติไม่ถึง ไม่รู้ อย่างเช่นคำว่า“สมาธิๆ” คุยโม้กันไป สมาธิยังทำกันไม่เป็นเลย นี่ถ้าวงในนะ เราอยู่กับหลวงตา ครูบาอาจารย์ของเราท่านพูดเลย “สมาธิเขายังทำกันไม่ได้ แล้วเขาจะไปรู้ธรรมะกันได้อย่างไร”
ไอ้พวกอภิธรรมก็บอกว่า “สมาธิไม่จำเป็น สมาธิไม่ต้องทำ ใช้ปัญญา รู้ตัวทั่วพร้อม พอย่างก้าวรู้ตลอดเวลา”
แล้วหุ่นยนต์มันไม่รู้หรือ หุ่นยนต์ดีกว่าเอ็งอีก ตอนนี้หุ่นยนต์จะมาแย่งงานแรงงานหมดแล้ว ต่อไปนี้โรงงานเขาใช้หุ่นยนต์หมดแล้ว แล้วหุ่นยนต์พูดง่ายด้วย ควบคุมได้ง่ายต่างหาก แล้วเราเป็นคนน่ะ ไปเอ๊อะๆ อย่างนั้นเป็นปัญญาหรือ ปัญญามันเกิดอย่างนั้นหรือ มันเป็นจริงหรือ
แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเรา ทำความสงบมันยังทำไม่เป็นเลย สมาธิยังไม่เป็นเลย แล้วมันจะรู้อะไร เพราะคนที่ทำสมาธิได้มันก็เหมือนกับเรามีต้นทุนน่ะ มันจะพูดภาษาเดียวกันแล้ว ได้สมาธิก่อนแล้วมันฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาภาวนามยปัญญา ปัญญาไม่ใช่ที่คิดกันอย่างนี้
เพราะปัญญาในพระพุทธศาสนามีอยู่ ๓ ระดับ สุตมยปัญญา คือนักวิทยาศาสตร์ที่ใช้ปัญญา นี่สุตมยปัญญา ปัญญาจากการศึกษา ปัญญาจากการวิเคราะห์วิจัย นี่ปัญญาโลกๆ เพราะมันเกิดจากจิต เขาเรียกว่าสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากจินตนาการ แล้วภาวนามยปัญญา
ปัญญา ๓ ระดับมันก็ไม่รู้จัก มันไม่รู้จักอะไรทั้งสิ้นเลย แต่มันรู้ธรรมะไปหมดเลย มันไม่รู้เรื่องอะไรเลย แล้วคนที่รู้จะไปพูดกับเขาได้อย่างไร พูดกันไม่รู้เรื่อง เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูด เราถึงเห็นใจไง นี่พูดถึงว่าถ้าเป็นจริงนะ
ทีนี้บอกว่า เราเป็นมนุษย์ เราอยู่ในสังคม ถ้าเราอยู่ในสังคม มันอยู่ที่เวรกรรมของสัตว์ ฉะนั้น เวลาเขาพูดนะ “หนูถูกคนรุมแกล้ง จึงทำให้กลัวสังคม หนูเคยถูกเขารุมกลั่นแกล้ง”
มันเหมือนกับทางจิตวิทยาไง เราเลี้ยงลูก ถ้าเราเคยทำสิ่งใดไว้กับลูกแล้วมันเก็บกดไว้ ต่อไปอนาคตมันก็จะไปปะทุออกมา นี่มันเป็นจิตวิทยาไง
นี่ก็เหมือนกัน “หนูเคยโดนรุมกลั่นแกล้ง”
ถ้าเคยโดนรุมกลั่นแกล้ง โดยส่วนใหญ่เด็ก เด็กมันก็มีประสบการณ์ ประสบการณ์ของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน อยู่ในสังคมไม่เหมือนกัน ไอ้ความผิดพลาดของผู้ใหญ่ทำกับเด็กมีทั้งนั้นน่ะ
พ่อแม่ทุกคนรักลูกขนาดไหนก็แล้วแต่ ก็ต้องมีความผิดพลาดกับลูกบ้างเป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่าคนเรามันก็มีความผิดพลาดเป็นธรรมดานะ แต่ทำไมบอกว่าเด็กบางคนมันไม่เก็บซับไว้ในใจล่ะ ถ้าพูดถึงว่าทางจิตวิทยา เด็กคนใดก็แล้วแต่ พ่อแม่เลี้ยงมาแล้วมีปมขึ้นมา ต่อไปเขาจะทำร้ายสังคมๆ
เราบอกว่า สังคมมันยังทำร้ายกันมากกว่านี้เยอะมาก เพราะอะไร เพราะเด็กเกือบทุกคนมันมีปมมาทั้งนั้น แต่ทำไมเด็กบางคนมันมีผลกระทบแล้วมันไม่ฝังใจมันล่ะ ทำไมเด็กบางคนพอมีปมมีผลกระทบแล้ว มันทำไมทำลายสังคมล่ะ
นี่ย้อนกลับมาที่ว่า “หนูเคยถูกคนรุมกลั่นแกล้ง”
ถ้ารุมกลั่นแกล้ง ถ้าจิตใจเราเข้มแข็ง จิตใจเรามีอำนาจวาสนา สิ่งนั้นมันก็เป็นเจตนาดีของเขา สิ่งนั้นมันก็เป็นเจตนาดีของผู้ใหญ่
เวลาทางจิตวิทยาเขาบอกว่า สิ่งที่มีปัญหาขัดแย้งกัน ขัดแย้งกันโดยวัยวุฒิ โดยวัย เด็กมันมีความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ เวลาโตขึ้นมาจะมีความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ นี่โดยวัย โดยวัยมันจะมีมุมมองที่แตกต่างกัน ความขัดแย้งโดยวัยวุฒิมันมีปัญหามาก
เด็กคนไหนก็แล้วแต่มันก็มีภูมิอย่างนั้นน่ะ พอโตขึ้นมาด้วยวุฒิภาวะที่เจริญขึ้น เวลาเขาไปมีครอบครัว เขาก็ทำแบบที่เขาโดนพ่อแม่ทำมานั่นแหละ
เพราะพ่อแม่ก็ปรารถนาดีกับลูกทั้งนั้นน่ะ แต่โดยวัย ความเข้าใจของเด็กมันเข้าใจไม่ได้ แต่พอเราโตขึ้นมา เรามีปัญญาขึ้นมาแล้ว เราจะดูแลลูกหลานของเรา เราก็ใช้ระบบอย่างนั้นน่ะ เหมือนกัน เหมือนกับที่เราโดนทำ แต่เราโดนทำขึ้นมาแล้วทำไมเราโดนรุมกลั่นแกล้งล่ะ
แต่เด็กบางคนเขาซาบซึ้งบุญคุณของพ่อแม่เขา พ่อแม่เขาทำคุณงามความดีกับเขา เขารักพ่อรักแม่เขา เขาเห็นบุญคุณของพ่อแม่เขา พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก พ่อแม่ให้ชีวิตนี้มา พ่อแม่ให้ชีวิตนี้มา พ่อแม่เลี้ยงดูเรามา ความผิดพลาดของพ่อแม่มันของเล็กน้อยมาก เพราะพ่อแม่มีหน้าที่การงานมาก พ่อแม่มีความรับผิดชอบมาก แล้วพ่อแม่ต้องมีเวลามาเลี้ยงลูกด้วย บางทีมันก็มาหลุดเอากับลูกบ้าง ถ้ามันคิดได้อย่างนี้มันก็จบนะ
นี่เขาบอกว่า “หนูเคยถูกคนเขารุมกลั่นแกล้ง ทำให้กลัวสังคม”
สังคมมันน่ากลัวอยู่แล้ว รู้หน้าไม่รู้ใจ ไว้ใจไม่ได้หรอก ถ้าคำว่า “ไว้ใจไม่ได้” เราต้องมีสติปัญญา เราอยู่ในสังคมนั้นน่ะ เรามีสติปัญญาของเรา เราไม่ใช่ทำดีทำชั่วเพราะสังคมนั้น ถ้าเราทำดีทำชั่วแล้วมันเป็นผลของเรา ไม่ใช่ของสังคมนั้น สังคมนั้นน่ะบีบคั้นเรา แต่เราทำสิ่งใดไปแล้ว เวลาเราทำผิดพลาดไปแล้วมันเป็นของเรา ไม่ใช่ของสังคม
สังคมบีบคั้นมาก็เป็นเรื่องของสังคมนะ เพราะสภาคกรรม เราเกิดมากับสังคมนี้ มนุษย์เป็นสัตว์สังคมๆ เราอยู่กับสังคมนี้ แต่เราทำผิดพลาดไปแล้วสังคมไม่รับผิดแทนเราหรอก ถ้าเราทำผิดไป เราเองเป็นคนที่รับผิด ถ้าเราทำความชอบๆ สังคมนั้น เราก็ได้ความชอบจากสังคมนั้น เราจะบอกว่ามันเป็นสิทธิของเรา เป็นสิทธิ์ของเรา เป็นความเห็นของเราไง
ใช่ เราต้องอยู่กับสังคมนั้น แต่เราจะไม่โทษสังคมนั้นไง เราต้องมีสติปัญญาดูแลหัวใจของเรา เราต้องทำตัวของเราไง สังคมเป็นเรื่องสังคม ทีนี้จิตวิทยาเขาก็ทำวิจัย เขาก็ทำเป็นทางวิชาการอย่างนี้
แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันลึกซึ้งกว่านั้นไง กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน ถ้าไม่มีเวรไม่มีกรรมต่อกันมา ทำไมมันมาประสบพบกัน ทำไมคนอื่นเขาประสบสังคมแบบเดียวกับเรา ทำไมเขาอยู่สังคมนี้เขาชื่นชม ทำไมเรามีเวรมีกรรมกับสังคมนี้ สังคมนี้เบียดเบียนเรา สังคมนี้กลั่นแกล้งเรา เราโทษสังคม
เพราะสังคมเกิดจากมนุษย์ มนุษย์ในสังคมนั้นน่ะ บางคนเขาก็เห็นสังคมนั้นเป็นสังคมที่เลวร้าย บางคนเขาเห็นสังคมนั้นเป็นประโยชน์กับเขา บางคนเห็นสังคมนั้นเพื่อจะทำให้สังคมนั้นเจริญรุ่งเรืองขึ้นไป นี่ไง มันก็อยู่ที่มุมมองไง มุมมองก็คือทิฏฐิไง คือจริตนิสัยไง มันก็ย้อนกลับมาที่ตัวเราด้วยไง
เรื่องสังคมมันก็เป็นเรื่องของสังคม สังคมคือวัฏฏะ ผลของวัฏฏะ เวียนว่ายตายเกิดคือผลของวัฏฏะ ผลของเวรของกรรมที่จิตดวงนั้นมันมีเวรมีกรรมมา แล้วมันเป็นวาระ พอวาระขึ้นมา สิ่งที่มีเวรมีกรรมต่อกันขึ้นมามันจะเป็นวาระที่มาพบกัน มาพบกันมันก็เกิดการกระทบกระทั่งกันเป็นเรื่องธรรมดา
แต่ถ้าใครมีสติมีปัญญาเข้าใจเรื่องวัฏฏะ มันให้อภัย ให้อภัยก็ไม่ทุกข์ไง ให้อภัยก็จบไง แต่ให้อภัยแล้วเราต้องมีสติปัญญาด้วยนะ คำว่า “มีสติปัญญา” ให้อภัยเขาแล้วไม่ใช่เหยื่อไง ให้อภัยเขาแล้วให้เขาย่ำยีอย่างนั้นมันไม่ใช่
เราให้อภัยคือว่าเราไม่ผูกใจเจ็บ แต่เราต้องปกป้องตัวเอง ปกป้องตัวเองด้วยสติด้วยปัญญา ด้วยกฎหมาย มันมีกฎหมาย มันมีกติกาใช่ไหม เราก็ทำให้ถูกต้องดีงาม แต่เราไม่เอาเรื่องเหตุการณ์อย่างนั้นมาหมักหมมในใจไง การให้อภัยคือให้อภัยจากข้างใน ให้อภัยจากหัวใจของเรา
นี่ไง เราอยู่กับสังคมอย่างนั้น มันมีหมดแหละ ปัญหานี้มีคนถามเยอะมาก มันเคยมีนะ มันมีลูกศิษย์อยู่คนหนึ่ง ลูกชายเขาได้ทุนนะ ไปเรียนเมืองนอก เรียนเมืองนอกกลับมาแล้วต้องมาใช้ทุน ใช้ทุน เขาไปสอนโรงเรียนช่างกล สุดท้ายเขาพยายามจะขอลาออก ลาออกต้องใช้ทุน ๑๐ ล้าน พ่อแม่ต้องใช้ให้นะ แล้วเขาพามาหาเรา เขาบอกว่าเขาเสียดายความรู้เขา เขาเรียนจบดอกเตอร์มาจากเมืองนอก แล้วมาสอนเด็กช่างกล มันไม่เอาถ่าน เขาว่าอย่างนั้นนะ เขาจะลาออก ลาออกเพื่อไปสอนมหาวิทยาลัย แล้วเขาก็ไป
แต่มาหาเรา เราบอกว่า เอ็งเกลียดปัญหาเรื่องคนน่ะ จากช่างกลแล้วจะไปสอนมหาวิทยาลัย มันก็คนเหมือนกันนั่นน่ะ มันเป็นการคาดหวังของเราไง เป็นการคาดหวังของเราที่เราอยากจะทำประโยชน์ไง แล้วมันคิดว่าตรงนี้ทำประโยชน์ไม่ได้ จะไปทำประโยชน์ที่อื่น แล้วที่อื่นมึงไว้ใจได้หรือ
เราจะบอกว่า ปัญหาสังคม ปัญหาคน หนีไม่พ้นหรอก เพราะเราก็เป็นคน ฉะนั้น เราจะบอกว่า สังคมมันเป็นเรื่องปัญหาสังคมอยู่แล้ว แล้วเราบอกสังคมนี้ไม่ดี สังคมจะดีกว่านี้ ไม่มีทาง
เขาบอกว่า ทุกคนมาบอกเลยนะ บ้านเรานี่นะมีแต่อิจฉาตาร้อน ไปอยู่เมืองนอกดีกว่า
นักศึกษามากเลย ไปอยู่เมืองนอก ไปทำวิทยานิพนธ์ อาจารย์แม่งขโมยวิทยานิพนธ์ไปเยอะแยะ นักศึกษาไทยไปโดนขโมยวิทยานิพนธ์ อาจารย์ฝรั่งทั้งนั้นน่ะ เป็นคนดีทั้งนั้นน่ะ มันโกงวิทยานิพนธ์มึงไปหมดเลย
นี่ไง คนก็คือคน แต่เราไปมองกันอย่างนั้นเอง เราไปมองว่าบ้านเราไม่ดี ถ้านอกบ้านดีหมด มองในบ้านมันรู้ไส้รู้พุงไง ในบ้านเรารู้ไส้รู้พุงหมดเลย ไม่ดีสักคนหนึ่ง แต่นอกบ้าน อู้ฮู! สุดยอดเลย...ไม่มีทาง คนคือคน ทีนี้คนมันคิดอย่างนั้น นี่พูดถึงปัญหาสังคมนะ ปัญหาสังคม เราบอกว่าปัญหาสังคม
ฉะนั้น พอไปทำที่ไหนมันมีแต่ความทุกข์ เขาบอก “ไปทำที่ไหนมีแต่ความทุกข์ หนูเลยหันมาทางธรรม พอหนูเริ่มปฏิบัติธรรม คนในออฟฟิศก็หาว่าเสแสร้ง”
ถ้าเรายังหวั่นไหวไปกับเขา เห็นไหม เมื่อกี้เราพูดอยู่ประจำว่า เวลาจะทำสิ่งใดเราบอกเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งกูไว้นี่ ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งกูไว้ เรามีสติมีปัญญา สิ่งที่เขาจาบจ้วง เขาทำลาย เราพูดแก้ พูดเพื่อจรรโลง พูดเพื่อความดีงาม
นี่พูดเพื่อความดีงาม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งกูไว้ แต่กูพูดอะไรออกไป คนเกลียดกูฉิบหายเลย ขนาดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งไว้ แล้วพอทำอะไรไปแล้วจะว่าเป็นคุณนะ เป็นโทษทั้งนั้นน่ะ เพราะอะไร
เพราะไปชี้ความผิดพลาดของคนอื่น ไม่มีใครเขาชอบหรอก ไปชี้ความบกพร่องของเขา ไปชี้ ใครมันจะชอบ ไม่มีใครชอบหรอก แต่ทำไมล่ะ แต่เราทำแล้วยังยิ้มอยู่นะ ใครจะว่าอย่างไรยังสู้ได้ เพราะอะไร
เพราะเราทำเอง เพราะเราเชื่อ เราเชื่อในสัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง ควรติเตียนคนที่ควรติเตียน ควรยกย่องสรรเสริญคนที่ควรยกย่อง ใครทำความดีต้องบอกคนนั้นเป็นความถูกต้องดีงาม ใครทำชั่วต้องเป็นความชั่ว แล้วสังคมมันชอบไหม ถ้ามันจะเอาดีนะ ใครทำชั่ว โอ้โฮ! ชื่นชมมันเลย เอายศถาบรรดาศักดิ์มาเป็นพวกไง แล้วมันก็จะได้ไปด้วยกันไง แต่เราไม่ทำอย่างนั้น
ฉะนั้น เราจะบอกว่า แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งกูไว้ แล้วกูทำตามนั้นเขายังด่ากูทั่วบ้านทั่วเมืองเลย จะเอาความดีมาจากไหน แต่ดี ดีเพราะอะไร ดีเพราะเรามีสัตย์ สิ่งที่ผิด เราว่าผิด สิ่งที่ถูก เราว่าถูก แล้วเราภูมิใจ พูดแล้วมันไม่ต้องระแวง พูดแล้วไม่ต้องเสียใจภายหลังไง ถ้าพูดสิ่งใดไปแล้วไม่กลับมาเสียใจอีกเลย
ฉะนั้น เวลาพูดสิ่งใดไปแล้ว ใครเขาจะติฉินนินทา ใครเขาจะด่าว่านะ หัวเราะนี่ไง ยังหัวเราะอยู่ทุกวัน ก็กูทำอย่างนั้นจริงๆ ก็กูพูดจริงๆ ก็กูทำเอง กุสลา ธมฺมา เราเป็นคนทำมา กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา
กุสลา ธมฺมา คือทำมาเอง ทำความดีหรือทำความชั่วมา กุสลา ธมฺมา คือทำดีมา อกุสลา ธมฺมา คือทำความชั่วมา เราทำมาเอง เราเป็นคนทำ แล้วคนเขามองเขาเห็นทุกคน ใครเขาจะด่าจะว่ามันเรื่องของเขา
นี่ไง ถ้าเขาหาว่าเสแสร้ง
ก็ถ้าเราไม่จริงไม่จัง พอเราจะทำความดีของเรา เขาหาว่าเสแสร้ง พอเขาหาว่าเสแสร้ง เราก็วางเสีย เราก็เข้าไปทำตามเขา เขาก็บอกว่าเสแสร้งจริงๆ แต่เขาก็บอกว่าเสแสร้ง
เสแสร้งก็เอาเวลาพิสูจน์สิ ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน ถ้ากาลเวลาพิสูจน์แล้ว เราทำของเราด้วยคุณงามความดีของเรา เราประพฤติปฏิบัติของเรา เราอยากได้ศีล ได้สมาธิ ได้ปัญญา มันจะเป็นความจริงหรือไม่ ถ้ามันเป็นความจริงหรือไม่ มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นความรู้เฉพาะตน มันเป็นความรู้เฉพาะจิตดวงนั้น จิตดวงนั้นที่ปฏิบัติ จิตดวงนั้นที่ประสบความสำเร็จมันเฉพาะจิตดวงนั้น ถ้าจิตดวงนั้นถ้าเป็นความสำเร็จ อริยสัจมันมีหนึ่งเดียว
เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านสนทนาธรรม หลวงตาขึ้นไปคุยกับหลวงปู่แหวน หลวงตาไปคุยกับหลวงปู่ขาว หลวงตาไปคุยกับหลวงปู่คำดี หลวงตาท่านคุยกับหลวงปู่ฝั้น ครูบาอาจารย์ท่านจับให้คุยกันน่ะ
คนที่ประพฤติปฏิบัติมาเป็นนายช่าง นายช่างที่รู้ถึงวิธีการซ่อมบำรุง แล้วเอามาปรึกษาหารือกัน มาคุยกันในวิชาการเดียวกัน มันก็ต้องเป็นทางเดียวกัน ถ้ามันขัดแย้งกัน มันต้องขัดแย้งกัน ครูบาอาจารย์ของเราท่านสนทนาธรรม ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เวลาท่านสนทนาธรรมกันแล้วมันถูกต้องดีงามไปทั้งหมด นี่ไง สิ่งที่เป็นจริงๆ มันเป็นจริงตรงนั้นไง
คำว่า “เสแสร้งๆ” ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน เราก็ทำคุณงามความดีของเรา ถ้ามันเป็นความดีของเรา ถ้าเป็นความจริงนะ
เพราะเขาบอกว่า “เลยทำให้หนูตีตัวออกห่าง”
ถ้าตีตัวออกห่าง เราไปทำให้เขาเห็นว่าเราไม่แน่ใจใช่ไหม ถ้าเราจะทำความดี เราก็ทำความดีของเรา เราไปกลัวอะไร เพียงแต่ว่าเราจะจริงหรือไม่จริง ถ้าเราจริงขึ้นมา คนจริงเขาต้องพิสูจน์ทั้งนั้นน่ะ
เพราะเวลาเราเข้าไปบ้านตาดใหม่ๆ นะ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๓-๒๕๒๔ หลวงตาท่านคุยกับเราเอง หลวงตาท่านแปลกนะ ท่านคุยกับเราตัวต่อตัวเยอะมาก ท่านบอกว่า ถามเราเลย “พรรษาเท่าไร”
เราก็บอกพรรษา
“คนที่ไหน”
เราบอกคนราชบุรี
ท่านบอกท่านพยายามเอาตัวท่านเป็นตัวอย่าง ท่านบอกว่า “เมื่อก่อนนั้นใครๆ ก็หาว่าผมติเตียน คอยจับผิดหมู่คณะๆ แล้วเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร” นี่ท่านพูดกับเราตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๔-๒๕๒๕ นะ พ.ศ. ๒๕๒๔-๒๕๒๕ ท่านคุยกับเราอย่างนี้ คุยกันตัวต่อตัว
ท่านเรียกเราไปคุยด้วย ท่านซักประวัติเราหมด แล้วท่านก็เอาชีวิตของท่านมาเป็นตัวอย่างไง ท่านบอกว่า “แต่เดิมทุกคนก็หาว่าผมคอยจับผิดหมู่คณะ” คือตัวท่าน ตัวหลวงตาเอง ท่านบอกว่าพระด้วยกันสมัยนั้นหาว่าท่านคอยจับผิดหมู่คณะ
แต่ท่านบอกว่า ความจริงมันไม่ใช่ ความจริงหมายความว่าพวกเราเดินจะลื่นล้ม ท่านก็บอกว่าตรงนี้นี่นะ ตรงนี้มันมีเปลือกกล้วย ระวังเหยียบเปลือกกล้วยนะ เดินไปตรงนี้มันจะชนเสานะ นี่ต้นเสานะ
ท่านบอกว่ามันเป็นอาบัติอย่างนี้ๆ อาบัติก็คือว่าความผิดพลาดไง แล้วเราบอกอย่างนี้มันเป็นความปรารถนาดีของเราหรือไม่ แต่ทุกคนก็ไม่พอใจทั้งนั้นน่ะ ทุกคนหาว่าไง หาว่า หาว่าท่านคอยจับผิดหมู่
นี่ท่านพูดกับเราเองนะ “หมู่คณะเขาหาว่าผมคอยจับผิดคนนู้น คอยจับผิดคนนี้” แต่ความจริงก็นี่ไง โทษนะ พระพุทธเจ้าสั่งกูไว้ ก็มันทำผิด มันจะทำความผิด ทำความผิดสะสมไปเรื่อยๆ แล้วพระมันก็จะผิดไปเรื่อยๆ ใช่ไหม ก็คอยบอกคอยเตือน พอคอยบอกคอยเตือน หาว่าคอยจับผิด
แล้วท่านก็พูดกับเราไง “แล้วเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไรล่ะ” เพราะตอนเราเข้าไป“เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร” หมายความว่า ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน ท่านทำด้วยหัวใจที่ปรารถนาจะเชิดชูศาสนา ท่านทำเพื่อธรรมวินัย
เวลาท่านเทศนาว่าการบอกว่า มันเหมือนกับหมาเข้าไปในถานส้วมๆ มันหาแต่ผลประโยชน์กันไง วัดเหมือนถานส้วม ถานส้วม เวลาหมามันปล่อยเข้าไปในถานส้วม มันไปกินเศษอาหารนั้นน่ะ ไปกินมูตรกินคูถนั่นน่ะ ดึงจนหางขาดมันก็ไม่ออก นี่ไง เวลาท่านพูด เขาแสวงหาผลประโยชน์กันๆ เขาเข้าไปถานส้วม
นั่นท่านพูดว่าสมัยปัจจุบันนะ แต่สมัยก่อนหน้านั้นท่านคอยบอก คอยบอก ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน แต่เวลาพิสูจน์แล้วทุกคนก็หวังพึ่ง
เราก็อยู่กับท่านอีกแหละ เวลาพระองค์ไหนมาก็จะนั่งให้มุมกล้องให้ได้ไง สมัยนั้นวิดีโอยังไม่มี สมัยนั้นกล้องก็นับว่าดีที่สุดแล้ว เครื่องเทคโนโลยีมันยังไม่เจริญไง พระองค์ไหนมาก็จะนั่งใกล้ๆ แล้วก็แนะกับลูกศิษย์ให้คอยถ่ายรูป
เวลาพอกลับไปแล้วท่านก็พูดกับเราอีกแหละ “ดูสิ ใครมาๆ ก็อยากจะถ่ายรูป นั่งอยู่ใกล้ๆ ก็ทำกระเถิบเข้ามา ทำเป็นว่าศรัทธา กระเถิบเข้ามาใกล้ๆ แล้วก็ให้ลูกศิษย์แอบถ่ายรูป แล้วก็จะไปคุยโม้ไง นี่ไง เพื่อนกัน เป็นครูบาอาจารย์กัน”
ก็คือจะเอาเครดิตท่านไปขาย เพราะอะไร เพราะท่านทำคุณงามความดีนี่ไง นี่ท่านทำคุณงามความดีจนสังคมยอมรับ เวลาเมื่อก่อนก็หาว่าจับผิด พอสุดท้ายแล้วก็มาโหนกระแส พอสุดท้ายแล้วพยายามจะมาเกาะท่าน
เวลาท่านคุยกับเรานะ เวลาคุย คุยกันสองคน ไม่มีพยาน ฉะนั้น คำว่า “ไม่มีพยาน” แต่สังเกตได้ไหมว่าตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ เรามาอยู่ที่โพธาราม หลวงตามากรุงเทพฯ ต้องแวะมาหาเราตลอด เป็นเพราะอะไรล่ะ
เป็นเพราะความผูกพันกันระหว่างสองคน เป็นความผูกพันกันระหว่างคนสองคน คนอื่นไม่เกี่ยว เป็นความผูกพันระหว่างคนสองคน นี่ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คนไง
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเขาหาว่าเราเสแสร้ง เราก็ต้องทำของเรา
แล้วบอกว่า “เลยทำให้หนูตีตัวออกห่าง”
ถ้าตีตัวออกห่าง แสดงว่าเราก็ไม่จริงน่ะสิ ถ้าเราจริง เราก็ทำของเราสิ ทำความดีมันต้องพิสูจน์ ให้โลกพิสูจน์ ทำความดีก็คือความดี อย่างที่ว่า กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา
เราทำคุณงามความดีแล้วเราไม่สามารถยืนอยู่บนความดีนั้นได้ เราทำคุณงามความดีแล้วเราโดนแรงเสียดสีแล้วเราปล่อยคุณงามความดีนั้นไปหาความชั่ว ถ้าเราทำคุณงามความดีของเราแล้วเราทนแรงเสียดสี เราทนอย่างไรได้ เรายืนอยู่ของเราได้ นี่กุสลา ธมฺมา เราไม่ยอมทิ้งความดีของเรา
แล้วเราจะหลีกหนีไปทำไม ถ้าหลีกหนีไปก็แสดงว่าความดีทำให้เราทุกข์เราระทมใช่ไหม ความดีทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจใช่ไหม เราทำความดีเราก็ต้องยิ้มระรื่นเลย เลือดจะออก จะโดนเสียดสีก็ยิ้มเลย ทำดี ทำดี ทำดีมันต้องทำอย่างนี้สิ
“ตอนแรกเหมือนจะดี แต่นานๆ ไปเริ่มไม่ดี”
เริ่มไม่ดีเพราะเราไม่มีจุดยืนไง เริ่มไม่ดีเพราะเราไม่มีหลักการ หลักการของเรานี่สำคัญมากนะ ทำดีต้องได้ดีสิ คำว่า “ทำดีต้องได้ดี” คือว่าเราทำความดี เขาก็แปลกเนาะ เอ๊ะ! คนดีอย่างนี้มีด้วยหรือ แต่ยังไม่แน่ใจ แต่เขาเริ่มเห็นความดีเราแล้วนะ แต่เขายังไม่แน่ใจ
ไอ้เราทำความดีแล้วโดนกระทบกระเทือน เอ๊ะ! ทำความดีไม่ดี กำลังจะเลิก กำลังจะเลิกไง เขากำลังจะดูอยู่ว่า เออ! มันดี แล้วมันดีต่อเนื่องหรือเปล่า ถ้าดีต่อเนื่อง เออ! ดี ใช่ คนดี เขายอมรับ แต่นี่ทำความดี พอเขาเห็นปั๊บ
ไอ้กรณีอย่างนี้มันเป็นเรื่องของเวรของกรรมนะ ฉะนั้น ผลของเวรของกรรม ผลของวัฏฏะสำคัญมาก สำคัญมากว่า แต่ชาติปางใดก็ไม่รู้ เราเคยเสียดสี เคยทำลายใครไว้ พอในชาติปัจจุบันนี้เราเกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วเราใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนา เราก็จะทำคุณงามความดีของเรา แต่ผลที่เราเคยดูถูกดูแคลน เคยทำลายใครไว้ก็ไม่รู้ ถึงเวลาแล้วเขาก็ต้องมาเสียดสีมาทำลายเราคืน ไอ้ทำลายเราคืน การทำลายเราคืน ถ้ามันหมดเวรหมดกรรมต่อกันมันก็จบไง หมดเวรหมดกรรมต่อกันคือคนก็หันกลับมาเข้าใจกันไง
คนที่มีเวรมีกรรมต่อกัน คนที่มีความผูกพัน คนที่มีความสัมพันธ์ต่อกัน ถึงเวลาแล้วมันก็ยังสงสัยอยู่ เพราะต่างคนเกิดมาในชาติปัจจุบันนี้ ชาติปัจจุบันสำคัญนะ ที่มา ที่มาคืออดีตชาติ ที่มาคือการสะสมมา แต่ในปัจจุบันนี้เราเป็นคนดีทั้งนั้น เราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าด้วยกัน เราเป็นลูกศิษย์ศาสดาองค์เดียวกัน แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องให้อภัยต่อกัน เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร
เราไม่อยากจองเวรจองกรรมใครทั้งนั้นเลย แต่ทัศนคติ กรรมคือทัศนคติ ทัศนคติที่บิดเบือน ทัศนคติที่เห็นผิด ทัศนคติที่เห็นขัดแย้งกัน มันก็ต้องปรับใช่ไหม กาลเวลาหรือสติปัญญามันจะปรับของมันเอง ปรับของมันให้มันถูกต้องดีงามหรือไม่ ถ้ามันปรับของมันไปแล้ว ถึงเวลาแล้วมันต้องเข้าไปสู่สัจจะคืออริยสัจ
สิ่งที่ถูกต้องดีงามคืออริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค คือสัจจะความจริง มรรคคือดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ มรรคคือความชอบธรรม
เราพยายามทำความชอบธรรมกันอยู่ แต่ถ้ามันยังไม่ถึงความชอบธรรมอันนั้น เราก็พยายามรักษาและทำความชอบธรรมอันนั้นไป แล้วทัศนคติมุมมองที่มันแตกต่าง ที่มันไฟต์กันอยู่นี่ ที่มันอิจฉาตาร้อน ที่มันเห็นผิด นั้นคือทัศนคติ นั้นคือวิสัยทัศน์ นั้นคือสิ่งที่มันเป็นสันดานที่มันสะสมมา มันมีเวรมีกรรม นี่ไง ที่ว่าฟ้าลิขิตๆ มันมีสิ่งนี้มา สิ่งนี้มา เห็นไหม ใครมีจุดยืน ใครมีหลักการ ใครมีเป้าหมายที่พยายามจะทำคุณงามความดี
ถ้าเราทิ้งอริยสัจ ทิ้งดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ทิ้งความชอบธรรมไปอยู่แต่อารมณ์ความรู้สึกของคน เราทำถูกหรือ เราทิ้งความชอบธรรม ทิ้งความถูกต้องเพื่อให้สังคมมองว่าเราเป็นคนดี เพื่อเข้าไปให้สังคมที่เขาฉ้อฉล แล้วเราเข้าไปสังคมนั้นอย่างนั้นหรือ นั่นคือทัศนคติ นั่นคือความเห็นผิด ถ้าความเห็นถูกไง
นี่เขาบอกว่า “หนูเลยตีตัวออกห่าง ตอนแรกเหมือนจะดี พอนานๆ ไปแล้วมันไม่ดี”
เห็นไหม ถ้าทำความผิดแล้วมันไม่ดีทั้งนั้นน่ะ ถ้าทำความถูกต้อง ความดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ความชอบธรรมเป็นสิ่งที่ดีงาม แล้วเราต้องอยู่กับความชอบธรรมนั้น ถ้าอยู่กับความชอบธรรมนั้น มันจะโดนแรงเสียดสี ทำดีๆ คนทำดี อู้ฮู! ทำดีนี่แสนยาก
เพราะเราจะบอกว่าเราโดนมาเยอะ เราโดนมาเยอะมากนะ โดนมาเยอะสุดๆ เลย แต่ยังหัวเราะได้ทุกวัน แล้วพอใจ
อันนี้มันถึงบอกว่า เวลาครูบาอาจารย์ท่านอยากได้ลูกศิษย์ก็อยากได้ลูกศิษย์อย่างนี้ อยากได้ลูกศิษย์ที่มีจุดยืน
เรารู้ถึงหัวใจของหลวงตานะ เพราะเราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะก็เหมือนกัน หลวงปู่เจี๊ยะก็พูดอย่างนี้ “หงบเอ้ย! กูฝึกมาตั้งเยอะยังไม่ได้สักคนเลย” ก็คือจะเอาด้วยแหละ ท่านเห็นว่ามีจุดยืน
เวลาเราไปอยู่กับครูบาอาจารย์องค์ใด ครูบาอาจารย์ถ้าท่านเป็นธรรมนะ เหมือนเรา เราเป็นผู้ใหญ่ เราก็ดูลูกน้อง อยากได้ลูกน้องดีๆ อยากได้คนดีทั้งนั้นน่ะ สังคมไหนก็อยากได้คนดี แต่ความดีนั้น เราจะมีจุดยืนมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีจุดยืนขึ้นมา
เขาบอกว่ามันเหมือนจะดี แต่มันไม่ดี เพราะเราไปตีตัวออกห่าง
เราทำความดี เราไปกลัวอะไรล่ะ ทำความดีมันทำที่เปิดเผยก็ได้ ทำความชั่วต่างหาก เขาต้องไปทำที่ลับที่ไม่ให้ใครเห็นไง
เราทำคุณงามความดีของเรา แต่อย่าทำให้เกินหน้าเกินตาใคร เวลาพระทำข้อวัตรเขาก็ทำเสมอกัน ทำด้วยเหมือนกัน คือเราทำสม่ำเสมอไปกับเขา พร้อมไปกับเขา แต่เราไม่ทำล้ำหน้าไป ถ้าทำล้ำหน้าไปมันเหมือนขายเพื่อนน่ะ การขายเพื่อน การขายเพื่อนฝูงมันไม่ดี เราไม่ทำให้เด่นเกินไปจนคนที่ทำไม่ทันเขาจะมีความบกพร่องไง เราก็ต้องคิดเป็นน่ะ
เห็นไหม ทำความดีต้องมีปัญญานะ ต้องคิด ต้องเป็น เราพยายามทำความดีแล้วเราไม่ทิ้งหลักการของเรา เราทำเพื่อประโยชน์กับเรา ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว ทำคุณงามความดี
แต่ทีนี้ทำคุณงามความดี เราจะบอกว่า หนึ่ง เราต้องมีจุดยืนไง ทำความดีแสนเหนื่อยยาก ทำดีนี่แสนยากมาก ทำชั่วนี่สบายมาก ประจบสอพลอไปกับเขา ใครทำอะไร ถูกครับๆๆ ตลอด ไปกับเขา ใครทำอะไรดีหมดๆ ไปกับเขา ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องมีจุดยืนอะไรเลย สบายไปกับเขา แต่ไม่เป็นประโยชน์เลย
แต่ถ้าเราทำคุณงามความดีนะ โอ้โฮ! ใครจะทำอะไรต้องคอยระวังนะ เดี๋ยวมันไปฟ้อง ระแวงไอ้คนนี้ตลอด ทำความดี แต่เราทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว
นี่พูดถึงว่า มันเหมือนจะดี แต่มันไม่ดี
แต่ถ้ามันจะดีจริง เวลาครูบาอาจารย์ของเราเวลาท่านสิ้นสุดแห่งทุกข์ ผู้มีอิทธิบาท ๔ จะอยู่อีกหนึ่งกัปก็ได้ อิทธิบาท ๔ คืออะไรล่ะ มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา นี่อยู่ในหลักการ ฉันทะคือความพอใจ ทำหน้าที่การงานของเราให้ดี จิตตะ ก็ดูแลหัวใจของเรา วิมังสา คอยตรวจสอบการกระทำของเรา สิ่งนี้มีอิทธิบาท ๔ มีอิทธิบาท ๔ เพราะอะไร เพราะท่านมีจุดยืนของท่าน พอมีจุดยืนของท่าน ท่านทำของท่าน ท่านจะอยู่อีกกัปก็ได้ สุขสบาย แต่ของเรา เรายังอยู่ช่วงแสวงหา อยู่ช่วงการกระทำนะ
เราเห็นใจมาก เพราะสังคมเป็นแบบนี้หมด ที่วันนี้เอามาพูดเพราะว่า นั่งอยู่นี่ทุกคนเลย เป็นอย่างนี้หมด ทุกคนเลย เพราะเราอยู่ในสังคม สังคมเป็นแบบนี้
แต่หลักการ หลักการที่เราจะอยู่ให้ดี หลักการที่เราจะเป็นของเราไป แล้วทำไป ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว แต่ทำดีมันแสนยากเป็นเรื่องธรรมดา เพราะมันต้องสู้กับกิเลสเรา สู้กับความหวาดระแวงในใจ แล้วยังต้องไปสู้กับสังคมข้างนอกอีก ข้างในมันก็ว้าเหว่ ข้างในมันก็ทุกข์อยู่แล้ว แล้วข้างนอกยัง อู้ฮู! มันมีแต่ภัยทั้งนั้นเลย
นี่ไง นี่ผลของวัฏฏะ นี่ชีวิต ชีวิตที่เกิดมามันเป็นแบบนี้ แต่เราก็ยังต้องสู้กับมันไป ทำประโยชน์กับมันไป สะสมคุณงามความดีของเรา
นี่ไง ถ้าจิตใจมันอ่อนแอทำสมาธิจะได้ไหม มีจุดยืนไหม มีหลักการไหม
แต่คนที่มีหลักการ มีจุดยืน ทำอะไรก็ได้ บุกน้ำลุยไฟขนาดไหนไม่สนเลยนะ จะตาย อะไรตายก่อน ขอดู ชีวิตนี้มันจะตาย อะไรตายก่อน อะไรจะออกจากร่างก่อน สละมันมาหมดแล้ว มันสละตายทุกอย่างแล้ว พอมันสละตายแล้ว อย่างอื่นที่จะเป็นภัยอีก จบแล้ว กูยอมตายมาหลายรอบแล้ว ตายเมื่อไหร่ก็ได้ แล้วมันจะมีอะไรน่ากลัวอีก
ไม่ใช่ไปอวดดีกับใครนะ อวดดีกับกิเลส อวดดีกับกิเลสมันหลอก มันหลอกตายๆ สู้กันมาตลอด
ถ้ามันทำอย่างนี้ได้ มันก็พออยู่ได้กับสังคม แล้วเราทำคุณงามความดีสะสมให้มันเข้มแข็งขึ้นมา แล้วไปปฏิบัติแล้วเราจะได้ศีล ได้สมาธิ ได้ปัญญา ได้คุณธรรมของเราขึ้นมาเพื่อความสุขที่แท้จริง ความสุขที่แท้จริงที่หาได้จากหัวใจของเราเอง ไม่ต้องไปหาจากข้างนอก ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใครเลย แต่ต้องหาจากหัวใจของเราเอง เอวัง