เราทำเอง
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “กราบขอขมา”
นมัสการหลวงพ่อ โยมชื่อ...ได้เคยมาปฏิบัติธรรมที่วัดของหลวงพ่อระหว่างปีพ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๖ ต่อมาหลวงพ่อบอกว่าไม่รับให้อยู่ภาวนาแล้ว แต่ให้ไปหาสู่ทำบุญได้ โยมเข้าใจดีว่าเป็นความผิดของโยมเอง แต่โยมจะไม่มาเยี่ยมหลวงพ่ออีก เพราะโยมไม่สามารถยอมรับเศษกรรมของหลวงพ่อได้ โยมขอกราบขอขมาหลวงพ่อมา ณ โอกาสนี้ หากได้เคยล่วงเกินด้วยกาย วาจา ใจ ขอหลวงพ่อลดโทษให้ด้วยค่ะ ขอโปรดงดวิจารณ์ด้วยค่ะ จบแล้วค่ะ เจริญในธรรมต่อไป
ตอบ : นี่คำถามมาเนาะ คำกราบขอขมา ไอ้เรื่องขอขมา เราไม่ติดใจอยู่แล้ว แต่บอกว่า “ไม่ต้องการรับเศษกรรมจากหลวงพ่อ” ฉะนั้น เขาเคยมาภาวนาที่นี่ แล้วเราให้เขาออกไป แต่โดยสามัญสำนึกของเรา ที่สาธารณะ เหมือนการคมนาคม การเดินทาง ใครก็เดินทางผ่านได้ ฉะนั้น เวลาการคมนาคม ใครเดินผ่านไปผ่านมา แวะทำบุญหรือแวะมา เราอนุญาตได้
แต่เขาบอกว่ามันเป็นเศษบุญเศษกรรม เขาไม่ยอมรับ เขาไม่ยอมรับ
เราเลยขอประกาศว่า ห้ามทั้งหมด ห้ามทั้งการเข้ามาด้วย ห้ามทั้งมาทำบุญด้วย ห้ามทั้งหมด
เวลาเราห้าม เราห้ามโดยธรรมไง ห้ามคือว่า ในเมื่อเขามีเจตนาว่ามันเป็นเศษบุญเศษกรรม จะไม่พบเห็นหน้ากันอีกเลยก็จบไง ก็ดีน่ะสิ เรายิ่งชอบใหญ่
แต่ที่เราพูดก่อนหน้านั้นเพราะเรารู้ว่า สิ่งที่เราบอกว่าห้ามเด็ดขาด มันเป็นไปได้ยาก เพราะวัดเป็นที่สาธารณะ เพราะมันเป็นที่สาธารณะ ใครจะไปใครจะมามันก็ได้เป็นเรื่องธรรมดา
แต่ถ้าเราห้ามสิ่งใดไปแล้ว เพราะเราพูดคำไหนคำนั้น ถ้าห้ามไปแล้วเราก็ต้องคอยจัดการ แต่เราอาจจะลืมไปก็ได้ หรือเราจำไม่ได้ก็ได้ ถ้าเราห้ามแล้วเขาเข้ามา มันเหมือนกับเราเสียคำพูด เราถึงบอกว่าแล้วแต่เขาเลย แต่ถ้าเขาบอกว่าเขารับไม่ได้ก็จบ ห้ามทั้งหมด ห้ามทุกเรื่อง ห้ามหมดเลย
แล้วอย่างว่า สิ่งที่บอกว่าเขารับไม่ได้เพราะว่าเขาเคยมาทำบุญที่นี่ สิ่งต่างๆ
ไอ้นี่เขาก็พูดเองว่ามันเป็นความผิดของโยม กรรมของสัตว์ เราทำเองทั้งนั้น เห็นไหม เรามาวัดมาวา วัดมันเป็นที่ปฏิบัติ วัดที่ปฏิบัตินะ เราเป็นพระ เราบวชมาแล้วเราไปแสวงหาจากครูบาอาจารย์หลายวัดมาก จากครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมๆ บางวัดท่านก็เข้มงวด บางวัดท่านก็ปล่อยปละละเลย บางวัด บางวัดๆ มันเป็นจริตนิสัยไง
ฉะนั้น พอมาถึงวัดของเรา เวลาเราสร้างวัดขึ้นมาแล้ว เราเป็นคนจัดการเอง ข้อวัตรปฏิบัติฝั่งของพระก็เรื่องหนึ่ง เราดูแลของเราเอง ฝั่งของโยม เราก็ดูแลของเราเอง ดูแลของเราเอง ใครจะมาประพฤติปฏิบัติในวัดเรา มาแต่ตัว แล้วเอาหัวใจมาด้วย แล้วประพฤติปฏิบัติเลย การประพฤติปฏิบัติของเรา เราจะไม่มีงานให้ทำ
ส่วนใหญ่แล้วทางภาคอีสาน เวลาใครไปปฏิบัติแล้วต้องทำสวน ต้องทำสวนครัวด้วย ต้องทำอาหารด้วย ต้องช่วยงานวัดทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้น เวลาปฏิบัติมันก็น้อยลง เรื่องของผู้หญิง
แต่เวลามาถึงวัดเรา เราห้ามเด็ดขาดเลยนะ แม้แต่คนจะเอาของมาเข้าครัวก็ยังห้าม ของในครัวเราห้ามเอาเข้ามาเด็ดขาด ถ้าเอาเข้ามาแล้ว โยมมาตอนเช้าก็เอาผักมาคนละกำสองกำ แล้วเราก็ต้องมาทำบัญชีรายรับรายจ่าย มันวุ่นวายไปหมดน่ะ เพราะอะไร เพราะว่าคนมีน้ำใจๆ ใช่ไหม มีน้ำใจก็เอามา เวลาเอามา ผู้ที่รับมันเป็นภาระไปทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้น สังเกตได้ว่าของที่เอามา เราจะห้ามเด็ดขาด
แต่ทีนี้มันเป็นเนื้อนาบุญของโลกใช่ไหม เวลาเอามาก็มากองไว้นั่นไง คำว่า“กองไว้นั่นเป็นส่วนกลาง” ส่วนกลาง เวลาเขาไปวัดไปวากัน เขาก็ทำสังฆทานๆ นี่ก็เหมือนกัน เอามาวัดเราส่วนใหญ่แล้วจะให้เป็นส่วนกลาง เป็นสังฆทาน เป็นของสงฆ์ พอวางเสร็จแล้วเป็นของส่วนกลาง ไม่มีของเป็นส่วนบุคคล
นี่ก็เหมือนกัน เราทำของเราเพื่อตัดภาระ เพื่อตัดภาระให้ใครไปใครมาให้สะดวกแก่การประพฤติปฏิบัติ วัดนี้เป็นวัดที่ประพฤติปฏิบัติ สร้างวัดนี้มา ๑๐ ปี แต่เรามาอยู่ของเราตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ เกือบ ๓๐-๔๐ ปีแล้ว เราทำอย่างนี้มาตลอด ทำอย่างนี้มาตลอดเพราะอะไร
เพราะเราไม่เอาเปรียบใครไง เราไม่เอาเปรียบญาติโยม แล้วก็ไม่ให้ญาติโยมเอาเปรียบคนอื่น คำว่า “ไม่เอาเปรียบ” คือมาโดยตัว มาแต่ตัวกับหัวใจ เอาหัวใจมาประพฤติปฏิบัติ ใครมาที่นี่สะดวกมากในการปฏิบัติ แต่เวลาคนที่ไม่ปฏิบัติมาที่นี่แล้วเขารับไม่ได้ รับไม่ได้เพราะไม่มีกิจกรรม ไม่มีกิจกรรม เวลาว่างเยอะไง
เวลานักปฏิบัติ ดูทางโลกเขาบอกเลย ในพระไตรปิฎกบอกว่า ทางของสมณะเป็นทางที่กว้างขวาง ทางที่กว้างขวางคือการประพฤติปฏิบัติตลอด ๒๔ ชั่วโมง ทางของฆราวาสเป็นทางที่คับแคบ คับแคบเพราะต้องทำหน้าที่การงาน เวลาจะปฏิบัติแล้วต้องสวดมนต์สวดพร สวดมนต์เสร็จแล้วก็นั่งภาวนา เช้า ๕ นาที เย็น ๑๐ นาที เท่านั้นเอง เป็นทางคับแคบ คับแคบคือโอกาสที่ปฏิบัติมันน้อย
ฉะนั้น พอมาที่วัดนี้ ๒๔ ชั่วโมง ผู้หญิงก็ ๒๔ ชั่วโมง โยมผู้หญิงมา ทานอาหารเสร็จ ช่วยเก็บล้างเสร็จแล้ว เพราะมันเป็นมารยาท เราใช้เอง เราก็ต้องทำความสะอาดเอง ทำเสร็จแล้วเก็บขึ้นเอง แล้วก็กลับไปภาวนา ๒๔ ชั่วโมงเหมือนกัน
กลับไปแล้ว งานฝั่งนู้นน่ะ โยมมาวัดภาวนาวัดนี้ไม่มีงานอะไรเด็ดขาด เว้นไว้แต่ตอนบ่ายโมงไปกินน้ำร้อนกัน พอกินน้ำร้อนกันแล้วก็เก็บกวาดบริเวณนั้นเล็กน้อย นี่มันเป็นข้อวัตร นี่พูดถึงกฎกติกาของวัดนี้ เราไม่เคยเอาเปรียบใคร แล้วไม่ให้โยมเอาเปรียบกันเอง
ทีนี้โยมเอาเปรียบกันเองไง บอกว่าที่นี่เป็นสำนักปฏิบัติใช่ไหม บอกว่าวัดป่าสายหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นเป็นสำนักปฏิบัติ แล้วปฏิบัติอะไร ไปสุมหัวนินทากันใช่ไหม ถ้ามาที่นี่มันต้องปฏิบัติ
ฉะนั้น นี่วัดปฏิบัติ ไม่ใช่สนามชนไก่ ไม่ใช่ค่ายมวย ถ้าสนามชนไก่ก็มาสิ เดี๋ยวเอาไก่เปรียบกันแล้ว ตีไก่ คนนู้นจิกคนนี้ คนนี้จิกคนนู้น คนนู้นทำอย่างนั้น มันเป็นเรื่องไร้สาระทั้งนั้นน่ะ นี่พูดถึงวัดปฏิบัติไง
ทีนี้เราเป็นผู้ดูแลเอง เป็นผู้ควบคุมเอง ฉะนั้น เวลามาแล้วก็เป็นความผิดของโยม ก็โยมมาสร้างซุ้ม สร้างคณะ มาถึงมาฝ่ายนู้นฝ่ายนี้ร้อยแปดพันเก้า ถ้ามีปัญหาเราไล่ออกหมด เราไล่ออกหมด
เพราะเราอยู่กับหลวงตามา หลวงตาบอกว่านี่กิเลสหยาบๆ เวลาพระในวัดที่วัดป่าบ้านตาดนะ ท่านบอกว่า ถ้ามีการทะเลาะกัน ไล่ออกทั้งคู่ ถ้ามีผลการกระทบกระเทือนกัน ไล่ออกทั้งคู่ ไล่ออกหมด ไล่ออกหมด ท่านบอกว่ามันของหยาบๆ
ของหยาบๆ หมายถึงว่า คนคนหนึ่งเป็นคนระรานเขา แต่อีกคนคนหนึ่งโดนระราน ถ้าไม่ตอบโต้มันจะมีปัญหาไหม ไอ้คนระรานมันผิดอยู่แล้ว แต่ไอ้คนตอบโต้ก็ผิดด้วย หลวงตาท่านตัดสินอย่างนี้
ฉะนั้น เวลาวัดของเรา กรณีนี้เราพยายามจะไม่ให้มีผลกระทบกระเทือน ทีนี้เวลาเข้ามาอยู่มันมีผลกระทบกระเทือนไง เที่ยวพูดทางนู้น ยุแยงทางนี้ ยุแยงตะแคงรั่ว มันวุ่นวายไปหมดน่ะ ทีนี้พอวุ่นวายไปหมด เราถึงบอกว่าไม่ให้เข้ามา เพราะที่นี่เขามาถอดเขี้ยวถอดเล็บ คือถอดทิฏฐิมานะของตน ไม่ใช่มายุมาแหย่ มาสร้างพรรคสร้างพวกสร้างอะไร ที่นี่ไม่ใช่สนามชนไก่ ไม่ใช่ค่ายมวย
ถ้าเป็นค่ายมวย เดี๋ยวนี้การกีฬากำลังเจริญ มวยไทยเป็นที่นิยมมาก ผู้หญิงฝึกหัดมวยไทยเยอะแยะเลย นู่น ถ้าเอ็งอยากจะออกกำลังกาย อยากจะแอ็กชัน นู่น ค่ายมวย เอ็งไปสมัครได้เลยที่ค่ายมวย แต่ไม่ใช่วัดของพระสงบ
ฉะนั้น ถ้ามาทำอย่างนั้นมันมีปัญหาทั้งนั้นน่ะ เราบอกว่า สิ่งที่ทำๆ มา ทำเอง กรรมของสัตว์นะ เป็นกรรมของสัตว์ สัตว์มันก่อเวรก่อกรรมขึ้นมาเอง แล้วบอกว่าเป็นเศษเวรเศษกรรม
สพฺเพ สตฺตา สพฺเพ สตฺตา สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย ขอจงไปหาที่ประเสริฐๆ ที่เอ็งพอใจเถิด อย่าหันมาทางที่นี่ อย่าหันหน้ามา เป็นสุขๆ เถิด ไปหาที่เอ็งพอใจ ที่ถูกใจ ที่เขายกย่องสรรเสริญในการติฉินนินทากัน ในการหาพรรคหาพวก สร้างแก๊งสร้างก๊วน เชิญตามสบาย ไปที่นู่น อย่ามาที่นี่ ไม่รับ
ฉะนั้น เขาบอกว่ายอมรับเศษกรรมไม่ได้
ก็จบกันไป ไม่มีเศษเลย ห้ามเด็ดขาด
แล้วบอกว่าขอขมา ว่าเราอาฆาตมาดร้าย
เราบอกสพฺเพ สตฺตาไง เป็นสุขๆ เถิด ไม่มีการอาฆาตมาดร้าย ขอเชิญ ขอเชิญไปหาที่ที่พอใจ หาที่ที่เราพอใจที่ไหน เชิญ แต่ไม่ต้องบ่ายหน้ามาทางนี้ คือจะบอกว่า ถ้าไม่สนใจเรา ก็ไม่ต้องเขียนมา ไม่สนใจเรา ก็ไม่ต้องยุ่ง เพราะอะไร เพราะมันเป็นสิทธิ์ของแต่ละคน มันเป็นสิทธิ์ของเขา เขาทำของเขาเอง แล้วถึงที่สุดแล้วก็จะมา เวลาบอกว่ากราบขอขมา แต่เขาบอกว่ารับไม่ได้ จะไม่ไปหาหลวงพ่อ
ใครเชิญ ใครเชิญ ไม่มีใครเชิญนะ แม้แต่มาที่นี่ทำผิดยังไล่ออกเลย ใครเชิญมา เราไปเชิญมาหรือ ฉะนั้น ไม่ต้องมา แล้วไม่ต้องหันหน้ามาทางนี้ ไม่ต้องมาสนใจ ไปที่พอใจ กรวดน้ำคว่ำขันกันเลย จบ จบแล้วนะ นี่พูดถึงจบ ฉะนั้น มันเป็นกรรมของสัตว์
ก็เขาบอกเลย เป็นความผิดของหนูเอง เป็นความผิดของโยมเอง
ก็บอกว่าเป็นความผิด แล้วจะมีอะไรอีกล่ะ เป็นความผิดมันก็เป็นบาปเป็นกรรมไปแล้ว สร้างเวรสร้างกรรมทั้งนั้นน่ะ ถ้าเป็นความผิด เอ็งก็รู้อยู่ว่าเป็นความผิด แล้วมาเรียกร้องเอาอะไร ความผิดมันก็คือความผิด
กรรมดี กรรมชั่ว กรรมดีก็คือกรรมดี กรรมชั่วก็คือกรรมชั่ว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ใครทำดีก็ต้องได้ดี ใครทำชั่วก็ต้องได้ชั่ว มันอยู่ที่การกระทำ ไม่มีใครเหนือกรรมหรอก แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านยังปล่อยตามกรรมเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังเคารพในกรรมอันนั้นเลย ในธรรมอันนั้นเลย ในทุกอย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการอย่างนั้น
แล้วนี่ก็เหมือนกัน เอ็งทำทั้งนั้นน่ะ แล้วจะมาขอขมา แต่บอกว่าไม่ยอมรับเศษกรรม แล้วขอขมาอะไร ขอขมาครึ่งหนึ่ง แล้วก็เหน็บแนมครึ่งหนึ่ง ฉะนั้น ไม่ต้อง ไม่ต้องขอขมาด้วย แล้วไม่ต้องเหน็บแนมด้วย สพฺเพ สตฺตา เป็นสุขๆ เถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
แล้วเราไม่เคยเบียดเบียนใครนะ เพราะเราไม่เคยออกจากวัดนี้ไปไหนเลย เราไม่เคยไปไหนเลยนะ เราอยู่ในวัดของเรา แล้วเราบำเพ็ญเพียรของเรา เราทำเพื่อประโยชน์กับศาสนา เราทำเพื่อประโยชน์กับโลก เราทำประโยชน์เพื่อหัวใจของเรา ฉะนั้น สิ่งที่มีความคิดสิ่งใดนั้นจบ เอ็งทำของเอ็งเอง จบแล้ว
ถาม : เรื่อง “การท่องแบบไม่ได้กำหนดจิตถือว่าเป็นคำภาวนาหรือไม่”
กราบเรียนหลวงพ่อค่ะ การที่เราท่องคำใดๆ กลับไปกลับมาบ่อยๆ โดยไม่ได้กำหนดจิตตาม หรือไม่ได้กำหนดจิตพิจารณาอะไร เพียงแต่ท่องไปเรื่อยๆ เช่น ท่องคำว่า “พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” กลับไปกลับมาตลอดเวลา บางทีเป็นจังหวะดนตรี จะเป็นการภาวนาไหมคะ หรือว่าการภาวนาจะต้องกำหนดสติไปด้วยถึงจะถูกคะ
ตอบ : นี้การภาวนา เวลาหลวงปู่ฝั้นท่านพูด อย่าหายใจทิ้งเปล่าๆ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ
โดยธรรมชาติของคน การเกิดมาอยู่ในครรภ์ของมารดา เราก็หายใจผ่านท่อสะดือ หายใจผ่านแม่ คลอดออกมาแล้วครั้งแรกเลย ผดุงครรภ์เขาต้องตบก้นให้ร้อง แล้วให้หายใจเอง ตั้งแต่เกิดจนตายต้องหายใจตลอดไป การหายใจนี้หายใจเพื่อดำรงชีพ
แต่ในทางธรรมๆ ท่านบอกว่าการหายใจทิ้งเปล่าๆ การดำรงชีพในภพในชาตินี้เหมือนกับหายใจทิ้งเปล่าๆ แต่ถ้าหลวงปู่ฝั้นท่านบอกว่าให้ตั้งสติ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ เราจะเป็นอานาปานสติ คำว่า “อานาปานสติ” คือมันได้ฝึกจิตไง ถ้าฝึกจิต มันต้องกำหนดไง ถ้ากำหนดแล้วเป็นการตั้งสติในการกำหนดอานาปานสติ
เห็นไหม หายใจมันก็มีลมอยู่แล้ว แต่เราหายใจเปล่าๆ เราไม่ได้กำหนดจิตที่ไปจับ มันเป็นอานาปานสติหรือไม่ ถ้าเป็นอานาปานสติ คนที่เกิดมามีอานาปานสติตั้งแต่เกิด คนเกิดมามีอานาปานสติทุกคนเลย
แต่ความจริงไม่ใช่ เขามีลมหายใจ แต่เขาไม่ได้กำหนดจิตเพื่อกำหนดรู้ลมหายใจ เขาถึงไม่มีอานาปานสติ แต่ถ้าเรามีสติ เรากำหนดลมหายใจ เราจะมีอานาปานสติ แล้วกำหนดดีขึ้นมา จิตมันจะสงบระงับเข้ามาถ้ามันเป็นตามความเป็นจริง นี้เป็นคำสอนของหลวงปู่ฝั้น
แต่เป็นคำสอนของหลวงตามหาบัว ท่านบอกในการภาวนาต้องมีสติ ในการทำหน้าที่การงานต้องมีสติ ถ้าขาดสติ มันสักแต่ว่าทำ ถือว่างานนั้นไม่มีคุณภาพ งานนั้นเป็นสักแต่ว่า ไม่มีประโยชน์
ฉะนั้น เวลากำหนด เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอนทั่วไป ท่านจะบอกว่า ให้ฝึกหัดสติ รู้จักสติ สติคือระลึกรู้ สติคือมีความรู้สึกตัว รู้สึกตัวแล้วค่อยกำหนดลมหายใจ ลมหายใจต้องท่องพุทโธ นี่เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอนอย่างนั้น
แต่เวลาเรา เราจะบอกว่า พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ คำว่า “พุทโธชัดๆ” ถ้ามันจะชัดๆ ได้ สติต้องสมบูรณ์ ถ้าเราบอกพุทโธชัดๆ เราพยายามชัดๆ ในพุทโธนั้นน่ะ สติมันต้องมาพร้อมกับความกำหนดพุทโธนั้น ฉะนั้น พุทโธชัดๆ มันต้องพร้อมไง
ถ้าพุทโธไม่ชัด คือว่าพุทโธสักแต่ว่า หรือพุทโธที่ไม่มีสติ พุทโธนั้นมันก็เบาบาง พุทโธนั้นมันก็จะหายไป หายไปก็เป็นการหายใจทิ้งเปล่าๆ ไง
คำว่า “ต้องมีสติๆ” ไง ถ้าคำว่า “มีสติ” หลวงตาท่านสอนว่า ถ้ามีสติ การปฏิบัตินั้นถึงจะเป็นความเพียร ถ้าขาดสติ การปฏิบัตินั้นเป็นการปฏิบัติสักแต่ว่า สักแต่ว่าก็สักแต่เป็นวัตถุธาตุ วัตถุธาตุไม่มีข้าวของ ไม่มีใครดูแลไง
ฉะนั้นบอกว่า การกำหนดที่ว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ท่องไปท่องมามันเป็นการภาวนาหรือเปล่า
เวลาเราสวดมนต์ ตอนนี้เขามีเทปสวดมนต์ขาย มีวิทยุเล็กๆ เราเปิดทิ้งไว้ มันเป็นอานาปานสติหรือเปล่า เปิดวิทยุทิ้งไว้มันเป็นการภาวนาหรือเปล่า วิทยุเสียงดังแจ้วๆๆ เลย วิทยุสวดมนต์มันเป็นการภาวนาหรือเปล่า นี่ไง เวลาถามมันก็แปลกเนาะ เขาทำของเขาอย่างนั้น
ฉะนั้น เขาบอกว่า อ้าว! ถ้ามันไม่ใช่ หนูเคยท่องของหนูแล้วจิตใจมันดี
มันดีมันก็ระลึกถึงธรรมะไง มันดีมันก็แบบเป็นคนดีคนทั่วไป เวลามีสิ่งใดเขาคิดถึงพ่อแม่เขา ระลึกถึงพ่อแม่เขา นั่นเป็นคนดีไหม นั่นก็เป็นคนดี แต่เอ็งได้กตัญญู ได้เลี้ยงดูพ่อแม่หรือเปล่าล่ะ เออ! ถ้าเอ็งคิดถึงพ่อแม่ด้วย แล้วเอ็งดูแลพ่อแม่ด้วย เอ็งรักษาพ่อแม่ด้วย เออ! นั่นก็สมบูรณ์ใช่ไหม ไอ้นี่ระลึกถึงพ่อแม่ แต่ทิ้งพ่อแม่ไว้อยู่ที่บ้าน มันก็ไปเที่ยวหยำเป
นี่ก็เหมือนกัน ฉะนั้น ถ้าเราบอกกำหนดพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ แล้วมีสติหรือเปล่า มีสติหมายถึงว่าระลึกถึงใจเราหรือเปล่า ถ้าใจของเรามันสมบูรณ์ขึ้นมา เพราะสมาธิมันเกิดที่ใจนั้น
สมาธิมันเกิดที่ไหน ความรู้สึกมันเกิดที่ไหน มันเกิดที่ใจทั้งหมด ถ้าเกิดที่ใจทั้งหมด ใจมันต้องมีสติสัมปชัญญะ แล้วสติสัมปชัญญะมันละเอียดเข้าไป พอละเอียดเข้าไป โอ้โฮ! มันมหัศจรรย์นะ พอจิตละเอียดเข้าไป ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มหัศจรรย์มาก มหัศจรรย์ แม้แต่สมาธิน่ะ สมาธิจริงๆ มันมีความสุขมาก
แต่ที่มันพูดกันอยู่นี่ “ว่างๆ ว่างๆ” มันไม่ใช่สมาธิ มันไม่มีสมาธิ แล้วมันไม่รู้จักสมาธิ แล้วก็ทำกัน เอาตรรกะมาพูดกัน ใครมีโวหารที่ดีกว่า ใครมีสัญญาอารมณ์ที่ดีกว่า จำได้แม่นกว่า ท่องจำได้ดีกว่า เอาอันนั้นมาคะคานกัน แต่ความจริงมันไม่มี ความจริงไม่มีเพราะพูดแล้วไม่มีเนื้อหาสาระไง
เวลาหลวงตาท่านพูดไง เวลาเทศน์นี่ฟังออกเลย ถ้าเทศน์มันเทศน์จากสัญญา เทศน์จากความจำน่ะ มันแห้งๆ มันก็เหมือนเราอ่านหนังสือ แต่ถ้าเป็นหลวงตาเทศน์ หลวงปู่มั่นเทศน์ ครูบาอาจารย์เทศน์ อู้ฮู! มันทิ่มเข้าหัวใจเลยนะ เพราะมันออกมาจากใจไง มันออกมาจากความจริงอันนั้น
ถ้ามันออกจากความจริงอันนั้นน่ะ หลวงตาใช้คำว่า “มันมีธรรม” มันมีธรรม มันมีคุณธรรมในใจ ถ้ามีคุณธรรมในใจมันพูดออกมา พูดจากคุณธรรมนั้น คุณธรรมนั้นเกิดที่ใจ แล้วมันก็แทงเข้ามาที่ใจเราเลย เพราะกิเลสมันอยู่ในใจเราไง นี่ถ้าเป็นฟังธรรมๆ พระกรรมฐานมันเป็นอย่างนี้ มันมีความรู้สึก มันมีคุณธรรมในใจ เวลามันออกมานี่มันตีหัวกิเลสไง มันตีหัวกิเลส กิเลสหงอเลยไง
แต่ถ้าอ่านหนังสือ เราก็อ่านได้ ใครก็อ่านได้ อ่านแล้วมันตีไม่ถูกหัวกิเลสไง มันพูดถึงทฤษฎี พูดถึงธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่มันไม่มีธรรมะฟาดหัวกิเลสไง แต่ถ้าเป็นหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราท่านมีคุณธรรมของท่าน ธรรมะอันนั้นน่ะมันตีหัวกิเลสไง ไอ้คนฟังขนลุกเลย นี่ถ้ามันเป็นความจริง เป็นความจริงอย่างนี้
ถ้ามันไม่เป็นความจริงมันก็สักแต่ว่า คำว่า “สักแต่ว่า” สักแต่ว่าอันนี้เป็นการภาวนาหรือไม่ ถ้าขาดสตินะ มันก็ทำสักแต่ว่า แต่มันก็ดีกว่าไม่ทำ
แต่เขาจะถามว่ามันเป็นการภาวนาหรือเปล่า แล้วเราบอกว่าเป็นการภาวนา เขาบอกบางทีท่องเป็นเสียงเพลงไปเลย
เวลามันพัฒนาขึ้นไปมันจะรู้เอง นี่คนปฏิบัติใหม่มันก็มีความเข้าใจผิดบ้างเป็นธรรมดา อันนี้ความเข้าใจผิดนะ แต่ถ้าความเข้าใจถูกนะ เดี๋ยวจะตอบอันนี้ อันต่อไป
ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อค่ะ โยมกราบเรียนถามคำถามว่า
๑. วิธีหาความสุขจากภายใน
๒. โยมจับลมหายใจทุกอิริยาบถ รู้สึกมีความสุข แต่มีครูบาอาจารย์บอกว่า“ให้ทิ้งลมหายใจแล้วมาดูจิตได้แล้ว มันเลยมาแล้ว” กราบขอคำตอบจากหลวงพ่อค่ะ
ตอบ : แสดงว่า “แต่ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า” แต่ครูบาอาจารย์องค์นี้แสดงว่าภาวนาไม่เป็น ครูบาอาจารย์องค์ที่ตอบว่าให้ทิ้งลมหายใจแล้วมาดูจิต แสดงว่าอาจารย์องค์นี้ภาวนาไม่เป็น ถ้าอาจารย์องค์นี้ภาวนาเป็น เขาจะไม่พูดแบบนี้ ถ้าอาจารย์พูดแบบนี้แสดงว่าอาจารย์ทำสมาธิไม่เป็น ถ้าทำสมาธิเป็นนะ เดี๋ยวจะอธิบาย ทำไมถึงเป็น ทำไมถึงไม่เป็น
แค่นี้รู้เลยว่าพระองค์นี้ภาวนาไม่เป็น พระองค์ที่บอกโยมบอกว่าให้ทิ้งลมหายใจแล้วมาดูจิตนี่ภาวนาไม่เป็น ถ้าภาวนาเป็นไม่พูดแบบนี้ แล้วไม่พูดแบบนี้ ด้วยเหตุผล เดี๋ยวจะเรียงลำดับให้ฟัง
บอกว่า “๑. วิธีหาความสุขจากภายใน” วิธีหาความสุขจากภายใน คำถามที่ ๑. นะ
หาความสุขจากภายใน ภายในมันก็ต้องอาศัยภายนอก ภายนอกคืออาศัยชีวิตนี้ ถ้าชีวิตนี้มันก็มีปัจจัยเครื่องอาศัย แม้แต่บวชพระมา เวลาบวชพระอุปัชฌาย์จะถาม ปัตตัง ถามเรื่องจีวร บริขาร ๘
คำว่า “บริขาร ๘” คือปัจจัย ๔ บาตรก็คืออาหาร จีวรก็เครื่องนุ่งห่ม แล้วที่อยู่อาศัยก็อยู่โคนไม้ แล้วเวลาฉันน้ำมูตรเน่า น้ำมูตรเน่าคือพวกสมอดอง พวกนี้ปัจจัย ๔ คือมียารักษาโรค มีอาหาร มีเครื่องนุ่งห่ม มีที่อยู่อาศัย นี่ไง ปัจจัย ๔ นี่พูดถึงมีปัจจัย ๔ พอปัจจัย ๔ แล้ว พระมีปัจจัย ๔ แล้วพระก็พยายามประพฤติปฏิบัติหาความสุขจากภายใน
เราจะบอกว่า จะหาความสุขจากภายใน แล้วก็ติฉินนินทากันนะ “หาความสุขจากภายในยังมาบิณฑบาตอยู่เลย หาความสุขจากภายในยังมาอยู่กับโลกนี้เลย”
อ้าว! ก็เป็นคนน่ะ เป็นคนบวชพระ พระก็ต้องมีชีวิต มันก็ต้องมีปัจจัย ๔ เป็นเรื่องธรรมดา เรื่องธรรมดาเสร็จแล้วเขาก็มีคุณธรรมอยู่ในปัจจัย ๔ นั้น เขาไม่เลยเถิดไปเกินกว่านี้ นี่พูดถึงว่าจะหาความสุขจากภายในมันก็ต้องฉลาดรักษาชีวิตนี้ไว้ รักษาชีวิตนี้ไว้เพื่อประพฤติปฏิบัติไง ชีวิตนี้จะอยู่ได้ต้องมีปัจจัย ๔ ถ้าปัจจัย ๔ แล้ว เขาบอกจะหาความสุขจากภายใน
จะหาความสุขจากภายใน เราก็ต้องมีอาชีพ เราก็ต้องมีหน้าที่การงานของเรา ถ้ามีหน้าที่การงานแล้วเรามีชีวิตอยู่ได้ เราก็จะหาความสุขจากภายในได้
ถ้าพูดถึง ถ้าเราไม่มีชีวิต จะไปหาความสุขจากภายในที่ไหนล่ะ ก็มันไม่มีภายนอก ภายในก็มันตายไปแล้ว แต่ถ้ามันยังมีชีวิตอยู่ ภายนอกก็ร่างกายนี้ ก็หาปัจจัยเครื่องอาศัย ภายในก็หัวใจของเรา เราก็ดูแลหัวใจของเรา นี่ข้อที่ ๑.
พอข้อที่ ๒. “โยมจับลมหายใจทุกอิริยาบถ โยมมีความสุขอยู่ แต่มีครูบาอาจารย์บอกว่าให้ทิ้งลมหายใจได้แล้ว แล้วมาดูจิตแทน”
ถ้าทิ้งลมหายใจ มันก็เท่ากับไม่ได้ภาวนาน่ะสิ ถ้าทิ้งลมหายใจ เรากลับไปอยู่ที่ปุถุชน กลับไปอยู่สามัญสำนึก
อ้าว! เรากำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออกใช่ไหม เรากำหนดลมหายใจมันก็เป็นอานาปานสติใช่ไหม ถ้ากำหนดลมหายใจก็เป็นอานาปานสติ เราก็กำหนดเพื่อความสงบของใจ แล้วถ้าเราทิ้งลมแล้วไปไหนต่อล่ะ
โดยธรรมชาติทิ้งลมก็หลับไง ถ้าทิ้งลม ถ้าไม่หลับก็ไม่ได้ภาวนาไง แล้วบอกทิ้งลมมาดูจิต เอาที่ไหนมาดู ดูจิตที่ไหน ดูอารมณ์ทั้งนั้นน่ะ
ที่ว่าดูจิตๆ ดูความคิด มีจิตที่ไหนให้ดู เพราะจิตมันส่งออก เพราะว่าจิตที่มันจะดู ความคิดนั้นก็เกิดจากจิต แล้วจิตไปดูอะไรล่ะ ก็ดูความคิดไง ก็ดูความคิดที่มันออกไปข้างนอกนั่นน่ะ เอาอะไรมาดูจิต ถ้าเอาอะไรมาดูจิต มันต้องมีสติสิ
มีสติ ถ้าจิตมันสงบ ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิดูความคิด ดูความคิดด้วยเหตุด้วยผลจนความคิดมันดับลง ความคิดมันดับลงแล้วมันเหลืออะไร ถ้ามันเป็นสมาธิ มันก็เหลือจิต ถ้ามันไม่มีสมาธิ มันก็ไม่เป็นจิตไง
แต่ถ้ากำหนดลมหายใจ ลมหายใจที่มันละเอียดเข้าไป จากเริ่มต้นลมหายใจติดๆ ขัดๆ ลมหายใจไม่ได้ พอเราพิจารณาของเราไป ลมหายใจเริ่มละเอียดขึ้น คำว่า “ลมหายใจละเอียดขึ้น” เห็นไหม แต่เดิมเวลาลมหายใจเข้าก็คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ร้อยแปด ลมหายใจออกก็ไปวิตกกังวลว่ามันจะออกหรือไม่ออก มันไม่ราบรื่น
แต่เพราะเรากำหนดลมหายใจบ่อยครั้งเข้ามันมีความชำนาญมากขึ้น ลมหายใจกับความรู้สึกมันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กำหนดลมหายใจได้ง่ายขึ้น
ลมหายใจเข้าออกพร้อมกับสตินะ พร้อมกับสติ พร้อมกับความรับรู้ไง ถ้าพร้อมกับสติ พร้อมกับความรับรู้ ลมหายใจมันละเอียดขึ้น พอละเอียดขึ้น ถ้าลมหายใจละเอียดขึ้น ถ้ามันละเอียดจนมันไม่ปล่อย มันไม่เป็นสักแต่ว่า ไม่เป็นสักแต่ว่านะ ลมหายใจนี้ชัดแจ๋วเลย ใสเป็นแก้วเลย แต่ก็ยังรับรู้อยู่
ลมหายใจๆ ลมหายใจจนละเอียดขึ้น จนลมหายใจไม่ได้ ลมหายใจนี้ จับลมหายใจไม่ได้ ละเอียดจนลมหายใจไม่มีเลย แต่สติมันชัด จิตมันชัด นี่ไง นี่ตัวจิต ตัวจิตคือตัวสมาธิไง ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันปล่อยลมหายใจเข้ามาละเอียดเป็นชั้นๆ เข้ามาไง
จากที่กำหนดลมหายใจขลุกขลักๆ กำหนดลมหายใจไม่ได้เลย คนกำหนดลมหายใจใหม่ๆ มันทำไม่ได้หรอก แต่มันด้วยความกดไว้ ด้วยการทับไว้ ด้วยการสติเข้มแข็งไว้ มันก็เอาลมหายใจเป็นตัวตั้ง ไอ้ความรู้สึก ไอ้ความที่มันจะส่งออกที่กระทบกระเทือนมันเป็นอารมณ์ที่รอง อารมณ์ที่รองมันสู้ความเพียรเราไม่ได้ มันสู้สติปัญญาเราไม่ได้ พอสู้ไม่ได้ มันก็เบาลงๆ อารมณ์ที่รองจะเบาลง อารมณ์ที่เป็นลมหายใจเข้าออกมันจะชัดเจนขึ้น ชัดเจนขึ้น จนชัดเจนขึ้นเป็นอันเดียวกัน
อันเดียวกันคือว่าลมหายใจกับจิตเป็นอันเดียวกัน มันก็หายใจเข้าหายใจออกโดยชัดเจน ชัดเจน พอจิตมันละเอียดขึ้น ถ้ามันไม่ละเอียดจนมันปล่อยลมหายใจได้ มันก็จะเห็นลมหายใจใส ใสเลย
แต่ถ้ามันพิจารณาจนลมหายใจหายไปเลย ลมหายใจจะหายไปจากความรู้สึก แต่ลมหายใจไม่หาย ลมหายใจหายจากความรู้สึก จิตเด่นชัดมาก นี่สมาธิเป็นแบบนี้ จิตเป็นแบบนี้
ทิ้งลมหายใจคือทิ้งความเพียร ทิ้งลมหายใจคือทิ้งวิธีการปฏิบัติ แล้วไปดูจิต เอาอะไรไปดู นี่ไง อาจารย์ที่บอกว่าให้ทิ้งลมหายใจแล้วมาดูจิต ถ้าทิ้งลมหายใจ จิตมันก็ยังหยาบ ไปดูจิตก็ไปดูที่ไหน จิตมันอยู่ที่ไหน เอาอะไรไปดู เวลามันพูดนี่มันขัดแย้งกันไปหมดเลย นี่เวลามันขัดแย้ง
นี่พูดถึงว่า นี่เขาพูดเอง “ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า”
ทีนี้มันมีครูบาอาจารย์จริงหรือเปล่า หรือว่าเป็นความรู้สึกของตนแล้วเขียนมาเอง แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์องค์ไหน ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ แสดงว่าครูบาอาจารย์ภาวนาไม่เป็น
คนทำสมาธิเป็นนะ มันจะรู้เลยว่า ทำสมาธิ ๔๐ วิธีการ ทำอย่างใดเป็นสมาธิ ทำอย่างใดไม่เป็นสมาธิ แล้วบอกว่าให้ทิ้งลมหายใจ มันจะเป็นสมาธิได้อย่างไร
คนเรานะ นักกีฬาฝึกหัดเล่นกีฬาอยู่นี่ บอกว่าไม่ต้องฝึกเลย นั่งเฉยๆ เดี๋ยวเอ็งเก่ง นักกีฬาทุกชนิดเลยบอกไม่ต้องฝึก ไปบอกเลย สโมสรนักกีฬาทั้งหมดบอกว่ายกเลิกการฝึกทั้งหมด แล้วเวลาแข่ง ลงแข่งเลย มันมีที่ไหน
นี่ก็เหมือนกัน บอกว่าให้ทิ้งลมหายใจเลย ไม่ต้องฝึก ไม่ต้องทำ มาดูจิตเฉยๆ เอาอะไรมาดู ดูอย่างไร ถ้ามันไม่มีคำบริกรรม เป็นไปไม่ได้ พูดอย่างนี้เลย เป็นไปไม่ได้ สมาธิทำอย่างไร
นี่ถ้าพูดอย่างนี้ เพราะเราฟังมาทั่ว ไอ้พระที่เทศน์กันอยู่นี่ ฟังแล้วนะ ไม่พูดเฉยๆ เพราะอะไร เพราะความสามารถเขามีเท่านั้น มันน่าเห็นใจนะ คนเราบวชมาแล้วเป็นพระ พรรษามากขึ้น มีหน้าที่ต้องสอนฆราวาส หน้าที่ต้องสอนโยม แต่ไม่มีวุฒิภาวะ ไม่เคยทำมาอย่างนี้ แล้วเห็นครูบาอาจารย์นั้นก็พูดอย่างหนึ่ง ครูบาอาจารย์หนึ่งก็พูดอย่างหนึ่ง ก็ไปรวบรวมเก็บมาเป็นไอเดียของตัว เวลาเป็นไอเดียของตัวก็มาพูดต่อ พอพูดต่อขึ้นมา มันไม่เป็นความจริงหรอก
บอกว่าให้ทิ้งลมหายใจ ทิ้งอย่างไร
กรณีทิ้งลมหายใจมันมี ๒ ประเด็นนะ มันมีโยมเยอะมากเลย เมื่อก่อนมีพระองค์หนึ่งมาหาเรานะ บอกว่า ลมหายใจมันต้องขาด ต้องขาด
ธรรมดาเวลาครูบาอาจารย์ท่านพูด เวลาพูดถึงอัปปนาสมาธิ ใช่ ลมหายใจนี่ดับหมด แต่ลมหายใจที่มันจะดับ มันจะจากหยาบ จากละเอียด จากละเอียดสุด จากจิตที่มันลงถึงฐาน มันไม่รับรู้ความรู้สึกอันนั้น มันไม่รับรู้ถึงลมหายใจ แต่มันชัดเจนมาก เพราะมันอาศัยลมหายใจพัฒนาการมาเป็นชั้นๆๆ จนมันปล่อยวางลมหายใจไว้ตามความเป็นจริง แล้วจิตนี้เป็นเอกเทศ นั้นคืออัปปนาสมาธิ สักแต่ว่ารู้ ชัดเจนมากเลย
เวลาจิตมันจะพัฒนาเป็นสมาธิเข้ามาเป็นชั้นๆๆ เข้ามา บอกว่าเวลาอัปปนาสมาธิมันดับจากความรู้สึก แต่มันยังมีของมันอยู่
เขาบอกว่ามันต้องดับหมด พอดับหมด ทีนี้พอความเข้าใจไง ความเข้าใจของปุถุชน ความเข้าใจของเราที่เราเป็นนักปฏิบัติไง เราก็พยายามกดไว้ให้ลมหายใจไม่มี คือพยายามจะดับมัน คือพยายามจะดับมัน คือพยายามจะไม่รับรู้มัน คือพยายามจะปฏิเสธมันไง
พยายามปฏิเสธ มันก็ไม่เป็นวิธีการที่ว่าจากหยาบ จากกลาง จากละเอียดขึ้นมาใช่ไหม คือจิตมันไม่ได้พัฒนาขึ้นมาไง พยายามจะไปตัดตอนมันไง พยายามตัดตอน เราบอกว่าลมหายใจต้องดับ ก็เลยจะดับมันเสีย พอดับ มันก็ไม่เข้าสมาธิไง มันก็ดับหายไปเลยไง มันก็เป็นภวังค์
มาหาเรา เราก็แก้ เราบอกว่า ลมหายใจไม่มีวันดับ ต้องไม่ดับ คือเราต้องชัดเจนอยู่กับมันตลอด แล้วถ้ามันจะดับ มันจะดับโดยข้อเท็จจริงของมัน มันจะดับจากความรู้สึก แต่มันมีอยู่
ฉะนั้น เวลามันจะดับ เราก็บอกว่า “อู้ฮู! ลมหายใจจะดับแล้วเนาะ ถ้าคนไม่หายใจเดี๋ยวก็ตายเนาะ” ออกอีก จิตนี้มันกวนไปหมด กิเลสมันจะพลิกแพลงตลอด
พุทโธๆ มันละเอียดเข้ามาๆ ก็ตกใจ จิตพอจะเข้าอัปปนาสมาธิ มันจะตกใจ มันจะกลัวตาย มันจะวิตกกังวลร้อยแปด
เราก็เลยตัดประเด็นเลย บอกว่า ห้ามดับ
คำว่า “ห้ามดับ” เราชัดเจนไปกับมัน ถ้ามันจะดับ มันจะดับโดยคุณสมบัติของตัวมันเอง คือมันจะละเอียด ละเอียดจน โอ้โฮ! ชัดเจนมากนะ เวลาละเอียดขึ้นมา ละเอียดจนแบบว่าเหมือนอากาศเลย จับต้องอะไรไม่ได้เลย แต่เวลาเป็นความรู้สึกละเอียดจนสติมันพร้อมไง สติมันสมบูรณ์ตลอด ละเอียดๆ ละเอียดจนมันปล่อยหมด แต่ตัวจิตชัดมาก อัปปนาสมาธินี่จิตชัดมาก สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่ารู้นี่ชัดมาก นี้คือสัมมาสมาธิ
นี่ไง แล้วเขาบอกว่า อาจารย์บอกว่าให้ทิ้งลมหายใจ
เพียงแต่ว่าอาจารย์พูดกับคนที่เขียนมานี่ฟังมาถูกต้องหรือเปล่า ถ้าพูดอย่างนี้แสดงว่าอาจารย์องค์นี้ไม่รู้จักสมาธิ ทำสมาธิไม่เป็น แล้วบอกว่าให้กลับมาดูจิต
ดูอะไร คำว่า “ดูจิต” นะ คำว่า “ดูจิต” ของเขาคือการวิปัสสนา เราจะบอกว่า เขาหมายความว่า เพราะมันเลยแล้ว มันข้ามขั้นไปแล้ว ต้องไปดูจิตแล้ว ต้องไปใช้ปัญญาแล้ว
ปัญญามันฝึกฝน เรากำหนดลมหายใจมันจะหยาบมันจะละเอียด เวลามันออกมา เราก็ฝึกหัดใช้ปัญญาของเราๆ ถ้าปัญญามันพิจารณาแล้วมันดีขึ้น เวลามันไปกำหนดลมหายใจมันก็ละเอียดขึ้น มันก็ดีขึ้น
พอดีขึ้น กลับมาใช้ปัญญาพัฒนาระหว่างสมถกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐานไปด้วยกัน มันจะพัฒนาเป็นชั้นๆ ขึ้นไป แล้วเดี๋ยวจะไปเห็นเลย เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นจิตคือเห็นสติปัฏฐาน ๔
ไอ้นี่ไปดูจิตๆ ไปดูจิตคือความหมายของเรา ดูจิตคือความคิดของเรา ดูจิตคือการคิดว่าเราจะดูจิต แต่มันไม่มีจิตให้ดู ก็มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ ไง กาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าไปดูจิตๆ มันก็เป็นวิปัสสนาไง เราก็สร้างภาพจินตนาการกันไง ไอ้พระที่ไม่เป็นสอนกันอย่างนี้ แล้วไอ้คนที่ทำไม่เป็นก็เชื่อ แล้วก็ทำตามนั้นด้วยนะ พอทำตามนั้นมันก็เป็นวิปัสสนึก มันนึกของมันไปอย่างนั้นน่ะ เราก็ “อู้ฮู! สุดยอด สุดยอด”
ไอ้คนสอนมันก็สอนด้วยความไม่รู้ ไอ้คนทำก็ทำไปด้วยความเชื่อ แล้วพอมันไปเกิดสัญญาอารมณ์ เกิดประสบการณ์ก็ “สุดยอด สุดยอด อู๋ย! มันเย็นสบาย อู๋ย! มันสุดยอด”...ตาลยอดด้วนไง มันเป็นไม่จริงหรอก คนจริงไม่จริง ภาวนาเป็นไม่เป็น เรื่องคำตอบคำถามชัดเจนมาก มันจะชัดเจนในตัวของมันเอง
นี่เขาพูดเองบอกว่า ไปเจอพระองค์หนึ่งเขาบอกว่าหาความสุขจากภายใน เขากำหนดลมหายใจของเขาอยู่ เขามีความสุขอยู่ แต่อาจารย์บอกว่าทิ้งลมหายใจได้แล้ว มาดูจิตภายในได้แล้ว มันเลยขั้นนั้นมาแล้ว
ขั้นบ้า มันจะเข้าสู่ขั้นบ้า แล้วทำอย่างนี้นะ มันก็ภาวนาสักแต่ว่า ก็ทำกันอยู่อย่างนี้ แล้วก็หยำเปกันอยู่อย่างนี้ แล้วมันไม่พัฒนา เพราะอะไร เพราะมันเริ่มต้นผิดไง ต้นคด ต้นมันคดมา
ดูสิ แรงงานต่างด้าวอยู่ในเมืองไทยเขาเข้ามาอยู่ในเมืองไทยเป็นแรงงานต่างด้าว เขาไม่ใช่คนไทย แต่เขาเข้ามาทำงานในเมืองไทย เขามีบัตรพิเศษเข้ามาอยู่ในเมืองไทยชั่วคราว
นี่ก็เหมือนกัน เราจะภาวนาโดยสัจธรรม สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรมโดยความเป็นจริง แต่โดยโลก โดยโลกก็ไม่ใช่พื้นฐานอันนั้น ไม่ใช่สัจจะความจริงในอริยสัจ เหมือนกับแรงงานต่างด้าว จะทำงานมากน้อยขนาดไหนมันก็ไม่ได้ผลตามนั้นหรอก เพราะไม่ใช่คนสัญชาตินั้น ไม่ใช่อริยสัจ มันทำงานอยู่นอกอริยสัจ ทำงานอยู่นอกความจริง
แต่ถ้ามันทำความจริงๆ มันเป็นชนชาตินั้น มันเกิดที่นั่น เกิดที่จิต เกิดที่จิต เกิดจากความรู้สึกของเรา มันทำที่นี่ มันก็ทำลงสู่ที่จิต มันก็เป็นผู้ทำงานตรงกับชาติกำเนิดของตน ตรงกับจิตของตน ตรงกับสัจจะความจริงของตน อันนั้นมันถึงจะเป็นความจริง
ไอ้นี่มันไม่ใช่เป็นความจริงหรอก อันนี้เขาพูดอย่างนั้น พอพูดอย่างนี้เราถึงอธิบายให้ฟัง อธิบายให้ฟังเพราะมันมีเหตุไง บอกว่า “ให้ทิ้งลมหายใจได้แล้ว”
คำว่า “ทิ้งลมหายใจได้แล้ว” เพราะโดยส่วนมากก็อย่างนี้ทั้งนั้นน่ะ มันทิ้งโดยความโง่ ทิ้งโดยความไม่เข้าใจ ทิ้งโดยความหลงลืม มันเลยทำสมาธิกันไม่เป็นอยู่วันยังค่ำนี่ไง ไอ้การทิ้งลมหายใจ เราถึงได้โต้แย้งกับสังคมตลอดมา
อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ
หลวงปู่มั่นสั่งหลวงตาไว้ “มหา จำไว้ให้แม่นๆ นะ อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ”แล้วเราก็เอาคำนี้แหละ เพราะคำนี้หลวงตาท่านใส่เกล้าไว้ จากคำสั่งคำสอนของหลวงปู่มั่น แล้วท่านก็รักษาตัวของท่านมา ปฏิบัติของท่านมา แล้วท่านก็พูดเทศน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ไอ้เรานี่รีบจับเอาไว้เลย แล้วมาขยายโฆษณาต่ออยู่นี่ “อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ” เพราะอะไร เพราะเราเห็นคุณค่าของมันไง เราเห็นคุณค่าของมัน เราเห็นการกระทำมันมาจากสติสัมปชัญญะ มันมาจากการกระทำด้วยถูกต้อง มันถึงว่าเป็นครูบาอาจารย์ของเราไง นี่เป็นครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านประพฤติปฏิบัติมา ท่านถึงที่สุดแห่งทุกข์ ท่านถึงมาสอนพวกเราด้วยความเป็นจริงไง
แล้วพอสอนพวกเรา แล้วทีนี้ไอ้พวกที่จำๆ กันมา จริงๆ ที่เราไม่ค่อยอยากจะพูดอยู่นี่เพราะเราเห็นใจพระที่ภาวนาไม่ค่อยเป็นกัน คือเขาไม่รู้ โยมฟังคำนี้นะ คนที่ไม่รู้แล้วพูด เขาระแวงไหม เขากลัวเราจะถามเขาไหม
ฉะนั้น เราถึงไม่อยากจะถามใครไง ไอ้ที่เราไม่อยากถาม ไม่อยากพูด เพราะเราไม่ต้องการให้พวกนั้นหน้าแตก เรารักษาหน้าเขาไว้ แต่เวลาพูดออกมา เพราะวันนี้มันเป็นคำถามขึ้นมาเอง บอกพระอาจารย์สั่งว่าให้ทิ้งลมหายใจ...นี่แหละเผาบ้านเผาเรือนเลย นี่ทำลายถึงรากเหง้าของการปฏิบัติเลย
บางคนบอก “ไม่ต้องพุทโธ จิตมันมีอยู่แล้ว เดี๋ยวมันเป็นสมาธิได้เอง”
เราก็ได้ยินมานะ อื้อหืม! เศร้า ถ้ามันจะเป็นได้เอง ฤๅษีชีไพรเขาเป็นไปหมดแล้ว ฤๅษีชีไพรในสมัยพุทธกาลเขาปฏิบัติทั้งชีวิตนะ เขาทุ่มเทกว่าพวกเราหลายร้อยเท่า ถ้ามันจะเป็นไปได้เอง เขาเป็นกันไปหมดแล้ว มันเป็นไปไม่ได้เองหรอก มันต้องเป็นด้วยการกระทำทั้งนั้น มันเป็นไปด้วยสติสัมปชัญญะทั้งนั้น แล้วสติสัมปชัญญะ
“ห้ามทิ้งผู้รู้ ห้ามทิ้งพุทโธ”
หลวงปู่มั่นสั่งไว้เลย “อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธแล้วไม่เสีย”
นี่บอกว่าให้ทิ้งลมหายใจ นี่ให้ทิ้ง มันเป็นไปได้อย่างไร
หลวงปู่มั่นสั่งหลวงตาไว้เอง “มหาจำไว้นะ อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ”
ถ้าภาษาเราก็อย่าทิ้งลมหายใจ อย่าทิ้งพุทโธ แล้วกำหนดไปเรื่อยๆ พอจิตมันทำไปเรื่อยๆ เหมือนเราทำไปเรื่อยๆ น้ำหยดลงหิน น้ำหยดลงหินทุกวันๆ เราก็ดูแลไป หินต้องกร่อนแน่นอน
นี่ก็เหมือนกัน เราทำของเราไป จิตใจของเรามันเข้มแข็งขนาดไหน เราก็มีสติปัญญาของเราไป เดี๋ยวมันเป็นต่อหน้า มันต้องเป็นต่อหน้ามันถึงเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก มันถึงไม่สงสัยไง
ไอ้นี่มาฟังครูบาอาจารย์พูดแล้วเล่าให้ฟัง ไอ้เราก็ไปจินตนาการก็ยังสงสัยอยู่ แต่ถ้ามันเป็นต่อหน้าเราจะไปสงสัยอะไร ก็เราทำเอง นี่ไง ปฏิบัติไปถ้ามันเป็นจริงขึ้นมามันทำเอง พอทำเองจบแล้วนะ ไอ้ใครโกหกก็รู้หมดเลย ก็เราเคยทำตามนั้น เราเคยหลงมาตามนั้น เราเคยเป็นอย่างนั้นมาตลอด แล้วเรามาทำของเราเองมันยังเป็นแบบนี้ไง
ฉะนั้นบอกว่า เราโต้แย้งเลย “แต่ครูบาอาจารย์บอกว่าให้ทิ้งลมหายใจแล้วมาดูจิตได้แล้ว มันเลยมาแล้ว”
มันเลยมาแล้ว มันใกล้เป็นพระอรหันต์แล้วเนาะ ทิ้งทั้งหมดเลยแล้วมันเป็นหมดเลย ทิ้งทุกอย่างเลย มีสมบัติทั้งหมดโอนให้คนอื่นหมดเลย แล้วบอกว่าเรามีสมบัติเยอะหรือ มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันไม่มีอยู่จริง มันไม่เป็นความจริงอันนั้น แต่มันพูดกันมาด้วยความจำไง
เวลาพูดอย่างนี้เจ้าตัวรู้เข้าบอกรีบปฏิเสธเลย “ไม่ได้พูด ไม่ได้พูด คนเขาฟังผิด ไม่ได้พูด” แต่ถ้าเราไม่โต้แย้งนะ เขาบอกว่าเขาพูดถูกพูดเก่ง พอเราโต้แย้งบอก “ไม่ได้พูด สงบเข้าใจผิดเรื่อยเลย สงบเข้าใจคนนู้นผิดคนนี้ผิดตลอดเลย”
คนภาวนาไม่เป็นมันลังเลสงสัยไปทั้งนั้นน่ะ เพราะเราเคยภาวนาไม่เป็นมาก่อน เราโดนครูบาอาจารย์หลอกมาเยอะ เพราะด้วยความมุมานะด้วยความจริงจัง คนหลอกเรามาเยอะ แล้วเราก็พยายามของเราจนไปเจอหลวงปู่จวน ไปเจอหลวงตากูนี่แหละ กูไปเจอของจริงเข้า กูถึงรู้ว่าคนอื่นโกหกไง ไปเจอของจริงเข้าแล้วกูทำตามคนของจริงจนหัวใจกูเป็นขึ้นมา กูถึงได้รู้ว่าพวกมึงโกหกไง แล้วเป็นอย่างนี้เกือบร้อยทั้งร้อย
ฉะนั้น เราถึงไม่อยากคุยกับใครทั้งสิ้น เพราะพูดออกมาแล้วเขาจะปล่อยไก่มาอย่างนี้ ปล่อยไก่มาตัวหนึ่งสองตัว ถ้าปล่อยไก่มาแสดงว่าจบ ถ้าคนเป็นมันจะปล่อยไก่ไหม ไก่กูจับไว้เชือดหมดเลย เอาไว้ย่างทำไก่ย่าง กูไม่ปล่อยไปหรอกไก่ ไอ้นี่มันปล่อยไก่มาสองตัวสามตัว ปล่อยมาเรื่อยเลย แล้วบอกว่าภาวนาเป็น เป็นไปไม่ได้
อันนี้พูดถึงว่า ที่เขาบอกว่าทิ้งลมหายใจ เราเศร้ารู้ไหม เหมือนเรา พวกเรามีอาวุธ มีทุกๆ อย่างพร้อมไว้รักษาหัวใจของเรา แล้วมีคนมาหลอกให้โยนอาวุธทิ้ง หลอกนะ สติก็ไม่ต้องทำ ไอ้นู่นก็ไม่ต้องทำ เหมือนเรามีอาวุธไว้ป้องกันตัว แล้วมันมีคนมาหลอกว่าอาวุธเรานี่โยนทิ้งให้หมดเลย แล้วทรัพย์สมบัติมึงจะไม่หาย...เออ! งง
เวลาหลวงตาท่านสอนนะ สอนให้ลับหัวใจ จิตนี้ให้ลับกับขันธ์ ๕ ฝึกหัดปัญญาๆ ครูบาอาจารย์ของเรามีแต่ฝึกหัดให้ฉลาด ฝึกหัดให้เข้มแข็ง ฝึกหัดให้มีสติปัญญา ไม่ได้ฝึกหัดให้ทิ้ง ให้เลิกละ ให้มักง่าย ให้ทำอะไรนึกเอาเอง ครูบาอาจารย์ไม่สอนแบบนี้
ครูบาอาจารย์มีแต่สอนให้ละเอียด ให้มีสติสัมปชัญญะ ให้พยายามสร้างคุณงามความดี ไม่บอกให้ละให้ทิ้ง ไม่มี ไม่มีครูบาอาจารย์บอกอย่างนี้
ครูบาอาจารย์เราจะบอกว่าให้เรารอบคอบ ให้ขยันหมั่นเพียร ให้ทำความดีของเราเพื่อประโยชน์กับเรา นี่ถึงจะเป็นครูบาอาจารย์ที่แท้
ไอ้นี่บอกว่า ให้ทิ้งไอ้นู่น ให้ทิ้งไอ้นี่
ทิ้งแล้วเอาไปให้เอ็งใช่ไหม ทิ้งแล้วเอาไปให้เอ็งเยอะๆ มันเป็นไปไม่ได้หรอก
แต่ถ้ามันเป็นจริงแล้วนะ เวลาฆ่ากิเลสมันฆ่าด้วยมรรค เวลาสติปัญญามันฆ่า เรารู้เราเห็นของเรา มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสรรเสริญถึงการฆ่ากิเลส การฆ่ากิเลส องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสรรเสริญมาก เพราะกิเลสเป็นนามธรรม เวลาฆ่าแล้วฆ่าในหัวใจของผู้ที่ปฏิบัติ เวลาฆ่าอันนั้นแล้วประเสริฐ ประเสริฐตรงนั้น ไม่ใช่ว่าสัญญาอารมณ์บ้าบอคอแตก
เพราะคำพูดอย่างนี้ ไอ้คนถามมันก็อยากจะมาเยาะเย้ยเราไง เพราะเราบอกว่า “อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ”
เขาก็เลยบอกว่ามีพระบอกว่าให้ทิ้งลมหายใจ เขาก็พยายามจะเอาสิ่งที่ตรงข้ามกับเรามาถามเราให้เราพูดไง ตรงข้ามไง ตรงข้ามกับสิ่งที่หลวงปู่มั่นสั่งสอนไว้ไง ให้ทิ้งลมหายใจ
เอ็งพอใจจะทิ้ง เอ็งก็ทำตามอาจารย์เอ็งเลย แต่ทำแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรื่องกาลามสูตร อย่าเชื่อทั้งอาจารย์เขา อย่าเชื่อทั้งอาจารย์เอ็ง แล้วอย่าเชื่อทั้งพระสงบด้วย เพราะกูบอกว่าห้ามทิ้งไง ห้ามทิ้งผู้รู้ ห้ามทิ้งพุทโธ ปฏิบัติไปตามความเป็นจริง
อย่าเชื่อทั้งพระสงบและอย่าเชื่อทั้งอาจารย์เอ็ง แล้วเอ็งปฏิบัติเดี๋ยวเอ็งจะรู้ว่าควรทิ้งหรือไม่ควรทิ้ง เอวัง