หัดเดิน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “อาการทางกายที่เกิดจากระหว่างนั่งสมาธิ”
กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมเป็นผู้ปฏิบัติใหม่ได้ประมาณสามเดือนครับ ครั้งละหนึ่งชั่วโมง เวลานั่งไปแล้วจะจับพุทโธได้สักพัก จะเกิดอาการทางกาย เช่น หาวแล้วน้ำตาไหล กลืนน้ำลาย รู้ตัวหลังเริ่มงอก็ยืดตัวขึ้นให้ตั้งตรง แต่ยังจับพุทโธได้อยู่ครับ ปัญหาเหล่านี้เราควรจะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติหรือไม่ครับ เพราะพอเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นและมีอาการที่รุนแรง เมื่อตอนปฏิบัติแรกๆ ไม่เป็น พอช่วงนี้พอจับพุทโธได้ก็จะมีคำด่าเกิดขึ้นในใจ (ด่าพระพุทธเจ้า ด่าพระอริยสงฆ์) ทำให้จิตใจผมรู้สึกหดหู่ ทั้งๆ ที่ไม่มีความตั้งใจที่จะด่า และยังเคารพนับถือมากด้วย แต่คำเหล่านี้มันก็แทรกขึ้นมา ขอความเมตตาหลวงพ่อแนะนำทางให้ด้วยครับ
๑. เรื่องอาการที่เกิดขึ้นกับทางกาย
๒. คำด่าที่เกิดขึ้นจะมีวิธีแก้อย่างไรครับ
ตอบ : บังเอิญนะ คำถามที่ ๑ กับคำถามที่ ๒ มันมีอาการด่าเกิดขึ้นเหมือนกัน แต่คำถามที่ ๒ เดี๋ยวจะดูว่าเขาเคยเป็นแบบนี้แล้วเขาหายไปแล้ว แต่คนนี้เพิ่งมาใหม่ไง
ทีนี้เพิ่งมาใหม่ เราจะบอกว่า ในการที่เวลาเรานั่งปฏิบัติแล้ว ครั้งละหนึ่งชั่วโมง มันมีอาการหาว อาการน้ำตาไหล กลืนน้ำลาย รู้ตัวว่าตัวงอลง ต้องยืดตัวขึ้น
นี่พูดถึงว่าคนเวลาไม่ทำงานสิ่งใดมันก็ไม่มีสิ่งใดมาเป็นอุปสรรค แต่พอทำงานสิ่งใดปั๊บ มันจะมีอาการร้อยแปดพันเก้าในการที่ว่าเราจะเริ่มปฏิบัติ เขาเรียกว่าหัดเดิน
มันเหมือนกับเด็กๆ เด็กๆ เวลาเด็กที่อายุสักปี เก้าเดือน ปีหนึ่ง เด็กมันจะหัดเดิน มันเริ่มคลานมาแล้วก็หัดเดิน เวลามันหัดเดินเตาะแตะๆๆ ไป โดยธรรมชาติคนก็เดินได้ จิตก็เหมือนกัน จิตของคนที่ไม่ปฏิบัติ มันเหมือนกับเด็กทารกที่มันลุกขึ้นเดินไม่ได้ มันจะคลานของมันไป แบบว่าคลานไป กระเถิบไปอยู่อย่างนั้นน่ะ มันลุกเดินไม่ได้
โดยธรรมชาติของสังคม สังคมไทย โดยธรรมชาติของจิตของมนุษย์ มันเป็นอย่างนั้นน่ะ เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ไง มนุษย์มีกายกับใจๆ หัวใจนี้สำคัญมาก แต่มันอาศัยร่างกายอยู่นี่ เวลาคิด คิดได้ร้อยแปดเลย แต่จะไป ร่างกายต้องไปนะ เราจะไปที่ไหนเราต้องเคลื่อนย้ายร่างกายนี้ไป มันจะไปถึงเป้าหมายที่จิตมันอยากจะไป แต่ความจริงจิตมันคิดไปร้อยแปด จิตมันคิดไปร้อยแปด จิตมันคิดไปทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้น เวลาเราฝึกหัดๆ เราค้นหาจิตของเราไง
เวลาเขาบอกว่าเวลาเดินจงกรม เดินจงกรมร่างกายมันก้าวเดินอยู่ แต่เราเดินเพื่อให้สงบ นี่จิตสงบนะ เวลาเดินจงกรมอยู่นี่จิตมันละเอียดเข้ามาๆ
ตั้งแต่เริ่มต้นเดินจงกรมมันคิดไปร้อยแปด แต่เวลาเดินจงกรมเราก็หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ต้องพุทโธๆ ของเราไป เท้าก็เดินไปตามธรรมชาติของมัน นี่ธรรมชาติของมัน ร่างกายเคลื่อนไหวอยู่ ร่างกายเคลื่อนไหวอยู่แต่จะต้องการให้จิตมันสงบ ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา
เพราะในการปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา เราต้องการสมาธิๆ เราต้องการสมาธิ ต้องการให้จิตมันสงบ ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา เวลามันเริ่มขยับตัว มันจะรู้อะไรร้อยแปด มันรู้เห็นแสงต่างๆ เขาว่ามันต้องสว่างไสว
เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูด จิตเวลาเข้าสู่สมาธิ มันผ่องใส มันสว่างไสว อันนั้นมันสว่างไสวโดยมีสติสัมปชัญญะ โดยความมีวุฒิภาวะ
แต่ของเราความสว่างไสวๆ นี่มันออกรู้ ถ้ามันออกรู้ของมัน โดยที่ว่ามันเห็นแสง เห็นต่างๆ มันออกไปทั้งนั้นน่ะ เวลาการออกไปอย่างนี้มันส่งออก มันส่งออก แล้วพอส่งออกไป จะรู้ขนาดไหนนะ รู้โดยที่ว่าไม่รู้ตัวเอง แต่ไปรู้ที่แสง แต่ถ้าเราพุทโธชัดๆ เรามีลมหายใจ กำหนดลมหายใจ ลมหายใจชัดๆ เวลามันเป็นสัมมาสมาธิ ไม่รู้อะไรเลย รู้ตัวเอง
สิ่งที่ออกไปรู้ๆ ทุกคนออกไปรู้ คนที่ประพฤติปฏิบัติส่วนใหญ่จะบอกว่า เราก็ภาวนามาตั้งนานแล้ว ไม่เห็นรู้เห็นอะไรเหมือนคนอื่นเขาเลย ไอ้คนอื่นเขารู้นู่นรู้นี่
ไอ้รู้นู่นรู้นี่นั่นล่ะเป็นภาระ ไอ้ที่มันไม่รู้อะไรเลย รู้แต่พุทโธ รู้แต่ลมหายใจ นั่นน่ะจะประเสริฐ
นี่พูดถึงว่าการหัดเดิน เวลาผู้ที่ปฏิบัติใหม่ เวลาการหัดเดินมันก็มีอุปสรรคไปร้อยแปด ดูสิ เวลาที่ว่าหาวน้ำตาไหล
พอธรรมดาคนเราก็ง่วงนอนหาวนอนมาตลอดเวลาไม่ปฏิบัติ แต่เวลามาปฏิบัติ เวลามันมาหาว จิตมันไม่รับรู้สิ่งใด มันจะรู้ตัวมันเอง พอสิ่งใดเกิดขึ้นมันจะฝังใจเลย การฝังใจ เราใช้คำว่า “แผ่นเสียงตกร่อง”
แผ่นเสียงตกร่อง ถ้าแผ่นเสียงมันตกร่องนะ แผ่นเสียงที่เขาใช้ เวลาเข็มมันอ่านตรงไหนที่เป็นร่อง มันจะไปตกตรงนั้นน่ะ โดยธรรมชาติมันก็คิดของมันอยู่โดยธรรมชาตินี่แหละ แต่ถ้ามันไม่ฝังใจนะ มันก็ไม่เก็บมาคิดเป็นภาระ แต่ถ้าวันไหนมันฝังใจนะ พอภาวนาไปถึงตรงนี้ปั๊บ มันแสดงอาการตลอด พอแสดงอาการมันเลยกลายเป็นอุปสรรค
ทั้งๆ ที่เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกนะ จิตว่าง จิตผ่องใส ความผ่องใสนั้นคือผลวิบากที่มันรับรู้ มันมีความสงบระงับ
แต่ของเราผ่องใส ผ่องใสแบบสามล้อถูกหวย ไปตื่นเต้น ต้องผ่องใสๆ...ผ่องใสก็พระอาทิตย์ไง พระอาทิตย์แสงมันสว่างกว่าใครอีก ลองเข้าไปใกล้มันสิ ตายหมดเลย มันมีประโยชน์อะไร
ประโยชน์ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา เขาต้องการความสงบระงับ เขาต้องการปัญญานี้ ครูบาอาจารย์เราท่านสอน สอนเรื่องทำความสงบๆ พระกรรมฐานที่เขาทำนี่เขาทำความสงบ พอจิตมันสงบ สงบจนมันมีกำลังแล้วฝึกใช้ปัญญา
ไอ้ไปรู้ ไปรู้นี่ไปรู้อะไร มันไปรู้นั่นน่ะ คนที่หาเงินแล้วใช้จ่ายฟุ่มเฟือย คนคนนั้นจะไม่มีเงินออม คนที่รู้จักเก็บรู้จักออม คนนั้นเวลาทำงานไปแล้ว เงินออมจะใช้ประโยชน์ไปตอนแก่เฒ่า
นี่ก็เหมือนกัน เราภาวนาๆ เราสะสมของเราๆ ถ้ามันไปรู้ไปเห็นนั่นน่ะคือการใช้จ่าย ไปรู้ไปเห็นอะไร แต่ถ้ามันจะเห็นตามความเป็นจริงของมันนะ จิตสงบแล้วมันเห็น มันสะเทือนกิเลส
ไอ้นี่มันเห็นโดยการสร้างภาพ ถ้าพูดภาษาโลกก็อุปาทานทั้งนั้นน่ะ เห็นโดยอุปาทาน เห็นโดยความยึดมั่นถือมั่น แต่โดยธรรมชาติ ธรรมชาตินะ เวลาคนปฏิบัติโดยแบบว่าความสุจริต เวลาปฏิบัติโดยความสุจริต เวลาจิตสงบแล้วไปเห็น พอไปเห็นขึ้นมา ด้วยความสุจริต เราไม่ได้คาดหมาย ด้วยความสุจริต เราก็จับพิจารณา ถ้าเป็นโดยความสุจริต พิจารณาแล้วมันต้องปล่อยวาง
แต่ถ้ามันเห็นอยู่อย่างนั้นๆ มันก็เหมือนเท้าเราไปเหยียบหนาม พอไปเหยียบหนาม หนามมันตำเท้า มันจะเจ็บปวดอยู่อย่างนั้นน่ะ นี่ก็เหมือนกัน ไปเห็นกายๆ อย่างนั้นน่ะ มันเหมือนกับเราเท้าไปเหยียบหนามมา
เหยียบหนามก็ต้องบ่งหนามออก ไอ้นี่ไปเห็นๆ มันติดอยู่อย่างนั้นไง มันไม่ใช่เห็นกายโดยสัจจะโดยข้อเท็จจริง ถ้าเห็นกายโดยสัจจะโดยข้อเท็จจริง มันไม่ใช่เหยียบหนามมา เพราะเหยียบหนามมันตำเท้ามา เดินไม่ได้หรอก แปล๊บๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ ไอ้นี่ก็เหมือนกัน “เห็นกายๆ” เห็นกายอะไร ไม่มีอยู่จริง
แต่ถ้ามีอยู่จริงนะ เราต้องบ่งหนามออกให้มันเป็นปกติ เราจะเดินไปไหนด้วยฝ่าเท้าด้วยความสมบูรณ์ เหยียบเท้าด้วยเต็มฝ่าเท้าด้วยปกติเลย แล้วถ้ามันรู้มันเห็น รู้เห็นยืนด้วยความมั่นคง ทำอะไรก็ได้ นี่ก็เหมือนกัน ทำความสงบ นี่หัดเดินไง ฝึกหัดมันก็ต้องเป็นแบบนี้ นี่พูดถึงว่าเริ่มต้น
ฉะนั้น พออาการเป็นอย่างนี้ปั๊บ สิ่งที่ตามมา เวลาสิ่งที่ตามมา “เพราะเกิดอาการเหล่านี้และมีอาการที่รุนแรงขึ้น เมื่อตอนปฏิบัติแรกๆ ไม่เป็น พอช่วงนี้พอจับพุทโธได้มันก็เกิดคำด่าขึ้นมา”
เวลาที่มันรุนแรงขึ้นมา พอปฏิบัติแรกๆ พอช่วงจับพุทโธได้ชัดๆ เข้าไป พอเข้าไปมันก็ไปเจอคำที่มันด่าขึ้นมา คำที่มันผรุสวาทขึ้นมาในจิต ไอ้กรณีนี้เป็นกรรมเก่า เพราะมันมีอยู่มาก มันมีอยู่มาก
เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ บุพเพนิวาสานุสติญาณ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าระลึกอดีตชาติของท่าน ท่านบอกท่านเคยเป็นพระเวสสันดร นี่บารมี ๑๐ ทัศ ท่านเคยเป็น เคยเป็นพระเตมีย์ใบ้ เคยเป็นๆ การเคยเป็นนั้นน่ะคือท่านสร้างสมบุญญาธิการ บารมี ๑๐ ทัศ ๑๐ ชาติสุดท้าย นี่เวลาท่านย้อนของท่านไป นี่ยืนยันถึงวิชชา ๓ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ย้อนกลับมาชีวิตมนุษย์ ชีวิตพวกสัตว์โลกเรานี่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ เมื่อชาติที่แล้ว เมื่อก่อนที่เราจะมาเกิดเป็นเรา เราทำอะไรมา การทำอะไรมา ถ้าคนทำคุณงามความดีมานะ มีมาก เราเจอมากนะ คนที่มีบุญญาธิการมา เขาคิดแต่เมตตา เขาคิดแต่ทำคุณงามความดีของเขา เขาคิดแต่เรื่องดีๆ เขาคิดเรื่องไม่ดีไม่ได้นะ แปลก เวลาเขาเห็นสังคมที่มีปัญหา เขาคุยกับเรานะ “เอ๊ะ! หลวงพ่อ เขาคิดอย่างนั้นกันได้อย่างไร หนูไม่เข้าใจ เขาคิดอย่างนั้นได้อย่างไร” แต่ไอ้คนคิดอย่างนั้นมันคิดโดยปกติของมัน เห็นไหม นั่นน่ะพันธุกรรมของจิต นั่นน่ะคือเวรกรรมเก่า
นี่เราจะย้อนกลับมาที่ว่าเวลาจิตมันเริ่มดีขึ้น มันจะมีคำผรุสวาทขึ้นมาในใจ ด่าพระพุทธเจ้า ด่าพระอริยสงฆ์ ทั้งๆ ที่เราก็เคารพนับถือ เราเกิดมาเป็นมนุษย์เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ชาวพุทธๆ ก็เคารพบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ทำไมจิตใต้สำนึกมันเกิดคำด่าออกมาล่ะ
ถ้าเกิดคำด่าออกมามันก็เกิดจากเวรจากกรรม เกิดจากวิบากกรรมเดิม วิบากกรรมเก่าๆ ขึ้นมา ไม่ภพใดชาติใดมันก็มีสิ่งใดที่มันฝังใจมา พอฝังใจมา สัญญา อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ สัญญาในปฏิสนธิจิต
กับสัญญาในชีวิตประจำวันเรา ในชีวิตประจำวันเรานี่ สัญญาคือความจำได้หมายรู้ สัญญาคือการศึกษา สัญญาคือท่องหนังสือ ท่องหนังสือก็สัญญานะ เรียนหนังสือท่องมานี่สัญญาทั้งนั้นน่ะ นี่คือสัญญาในภพชาตินี้ แล้วภพชาตินี้ก็ชีวิตหนึ่ง จนแก่จนเฒ่าจนตายไป ไอ้สัญญาชาตินี้ที่เราทำดีทำชั่วไว้มันก็จะตกผลึกลงไปในอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา มันตกผลึกไปในปัจจยาการอันนั้นน่ะ ปัจจยาการอันนั้นมันละเอียดกว่าสัญญาในขันธ์ ๕
ขันธ์ ๕ คือชีวิตประจำวัน ชีวิตมนุษย์เรานี่ขันธ์ ๕ ชีวิตปัจจุบัน แต่ชีวิตปัจจุบันเวลามันเกิดตายๆ มันก็จะย่อยละเอียดไป ไปอยู่ใน อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ในอวิชชาคือความไม่รู้ในจิตใต้สำนึกนั้น
พอจิตใต้สำนึกนั้น เวลาภาวนา เริ่มต้นพอเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น ถ้ามีอาการรุนแรงขึ้น ถ้าตอนปฏิบัติแรกๆ ไม่เป็น แต่พอช่วงนี้ผมจับพุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ มันดีขึ้น ละเอียดขึ้น พอละเอียดขึ้นมันก็ผ่านนี้ไปสู่สัญญาอันละเอียดนั้น พอสู่สัญญาละเอียดมันก็เกิดคำผรุสวาทออกมา
นี่มันเป็นวิบากกรรมไง เป็นวิบากกรรม สิ่งนี้มันเป็นแบบว่ามันเหมือนกับพันธุกรรมของจิต มันเหมือนลายนิ้วมือ ลายนิ้วมือไปปั๊มที่ไหนมันก็เกิดลายนิ้วมือ ไอ้พันธุกรรมของจิตมันฝังอยู่จิตใต้สำนึกนั้นมันก็แสดงอาการออกมา แล้วเราจะแก้ไขอย่างไรล่ะ
นี่กรรมเก่า กรรมใหม่ไง เราแก้ไข เราอธิบายไว้บ่อยมาก แต่พวกถามนี่เขาไม่เคยไปดูของเก่าๆ ถ้าดูของเก่า เราตอบเรื่องนี้ไว้เยอะมาก
เวลาเราก่อนนั่งภาวนาหรือเราภาวนาเสร็จแล้ว เราจะอุทิศส่วนกุศล เจ้ากรรมนายเวร สิ่งนี้สิ่งที่เราเคยทำมา ผิดพลาดมา ตอนนั้นไม่รู้ ตอนนี้รู้แล้ว ขออโหสิกรรมต่อกัน ทำคุณงามความดี จะทำบุญกุศล มีคุณงามความดีขนาดไหน เราก็จะอุทิศส่วนกุศลให้กับความผิดพลาด ให้กับเจ้ากรรมนายเวรที่มีเวรมีกรรมต่อกันมา อโหสิกรรม อโหสิกรรมมาตลอด มันก็จะไปอโหสิสิ่งที่เราเข้าใจผิดที่มันฝังอยู่ในใจ ค่อยๆ ผ่อนคลายมัน มันจะเริ่มเบาลงๆ ถ้ามันจะเกิดอาการผรุสวาท เกิดอาการด่าออกมา เราก็ตั้งสติไว้ แล้วขอโทษ ขอโทษ ขอโทษ วิธีแก้มันแก้อย่างนี้ เพราะอะไร
เพราะมันเป็นของเดิม มันเป็นนามธรรม มันเป็นอดีต มันเป็นอดีตที่เราแก้ไขอะไรไม่ได้ มันไม่ใช่ปัจจุบันนี้ใช่ไหม ปัจจุบันนี้เรามีสติปัญญานะ อะไรที่ผิดพลาด อะไรที่ไม่ดี เราก็จะไม่ทำ เราจะทำสิ่งที่ดีๆ
แต่สิ่งที่ทำมาแล้ว สิ่งที่ทำมาแล้วน่ะ สิ่งที่ทำมาแล้วในปัจจุบันนี้มันเป็นวัตถุธาตุ มันชาติปัจจุบัน เราก็ควบคุมได้แค่นี้ แต่เราควบคุมสิ่งที่มันฝังอยู่จิตใต้สำนึกไม่ได้ เวลาจิตเราสงบไปมันจะเกิดอันนั้น มันจะเกิดสิ่งนั้นผุดขึ้นมา แล้วจะเกิดอาการอย่างที่ว่า แล้วเราก็ขอขมาลาโทษ ขอขมาลาโทษ นี่วิธีการแก้ วิธีการแก้นะ แล้วมันจะเบาลง
แล้วถ้ามันไม่เบาลง เราก็ต้องแบบว่าภาษาเราว่า มันเป็นบาปเป็นกรรมของเรา เราจะปฏิเสธไม่ได้หรอก แต่ที่ขออโหสิอันนี้มันเป็นการขออภัย มันเป็นการชำระล้าง มันเป็นการชำระล้าง
เราจะไปปฏิเสธมัน วิธีแก้คือว่าเอายางลบลบออก ไม่มีหรอก มันฝังอยู่ที่ใจ พอฝังอยู่ที่ใจ เราก็ต้องขออภัย ขออภัยเพราะอะไร ขออภัยเพราะปัจจุบันนี้เราเป็นพุทธะ พอจิตมันสงบเข้าไปแล้วเป็นผู้รู้ ผู้รู้ในหัวใจมันขออภัย
สิ่งที่ปัจจุบันนี้เราเป็นชาวพุทธ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา มันมีสติมีปัญญาที่จะสามารถจะแก้ไขอย่างนี้ได้ แต่ถ้าเราไม่ใช่ เหมือนกับลัทธิศาสนาอื่นเขาบอกว่ารอพระเจ้ามาพิพากษา ก็ต้องไปให้พระเจ้าแก้ไขใช่ไหม
แต่นี่ไม่ใช่ ศาสนาพุทธไม่ให้เชื่อสิ่งใดทั้งสิ้น เชื่อผลของการประพฤติปฏิบัติ เชื่อปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกในหัวใจเราทั้งสิ้น เทวดา อินทร์ พรหมต่างๆ ก็ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าทั้งนั้น ถ้าเทวดา อินทร์ พรหมก็มีค่าเท่ากับเรา จิตหนึ่งเหมือนกัน เป็นผู้ที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเขามีบุญกุศล ถึงเวลาวาระเขาไปเกิดเทวดา อินทร์ พรหมเท่านั้น เดี๋ยวเขาก็หมดวาระ เดี๋ยวก็ต้องหมดอายุขัย เขาก็ต้องเวียนลงมา เขาลงไปอยู่นรกอเวจี พอหมดเวรหมดกรรมเขาก็เวียนมา
นี้เราก็จะเวียนไป มีค่าเท่ากันน่ะ แต่มีใครเท่านั้นที่สามารถชำระล้างกิเลส มีใครเท่านั้นที่ทำลายอวิชชาในใจของตน มีใครเท่านั้นที่จะไม่เกิด ไม่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะอีกแล้ว พ้นจากวัฏฏะ นี่พ้นจากวัฏฏะ พระพุทธศาสนาสอนที่นี่ไง แล้วมีสิทธิทุกคน เพราะจิตของพวกเรานี่แหละเป็นผู้ที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ที่เราทำอย่างนี้ได้มันก็จะพ้นจากนี่ไป
นี่พูดถึงว่าคำด่าไง ฉะนั้น “ทำให้ใจหดหู่ ทั้งๆ ที่ไม่มีความตั้งใจ และเคารพนับถือมาก”
แต่มันก็มีมา เห็นไหม นี้เป็นกรรมเก่า แล้วเราแก้ไขไป เดี๋ยวคำถามที่ ๒ จะตอบเรื่องนี้เหมือนกันเลย คำถามที่ ๒ ก็พูดเรื่องนี้แหละ นี่อารัมภบทใช่ไหม
ฉะนั้น คำถามว่า “๑. เรื่องอาการที่เกิดขึ้นกับทางกาย”
เรื่องอาการที่เกิดขึ้นกับทางกายมันเกิดได้ร้อยแปด อาการของทางกายมันเกิดได้ทั้งนั้น ฉะนั้น เวลากายมันเกิดสั่นไหว กายมันเป็นอย่างไร
เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติไปท่านบอกว่าโลกธาตุนี้หวั่นไหว คือร่างกายนี้หวั่นไหวไปหมดเลย
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปลงอายุสังขาร เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม โลกธาตุนี้ไหวหมดเลย พญามงพญามารสั่นสะเทือนไปหมดเลย สั่นสะเทือน ๓ โลกธาตุเลย
แต่ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาโลกธาตุมันหวั่นไหว คือร่างกายมันสั่นคลอนน่ะ หัวใจนี่ไหวหมดเลย ดูหลวงตาท่านบอก ขณะจิตของท่านมันหวั่นไหว เวลาขณะจิตของอาจารย์สิงห์ทองเรียบๆ ไปโดยความนุ่มนวล
นี่มันอยู่ที่เวรกรรมของสัตว์ มันอยู่ที่อำนาจวาสนาบารมีของคน อำนาจวาสนาบารมีของคนไม่เท่ากัน ถ้าคนที่อำนาจวาสนาบารมีใหญ่โตอย่างเช่นหลวงตา ท่านบอกเวลาของท่านนะ เวลากิเลสมันขาด โลกธาตุนี้ไหวหมดเลย หัวใจนี้ไหวหมดเลย รุนแรงมาก แต่ครูบาอาจารย์บางองค์นุ่มนวล นุ่มนวล ไอ้นี่คือขณะจิต
นี่พูดถึงว่า นี่เขาบอกว่าอาการของกาย
อาการของกาย อย่างพวกเรามันต้องใช้ช็อตไฟฟ้า มันไม่ไหวก็ใช้ไฟฟ้ามันช็อตให้มันไหวขึ้นมาเลย สะเทือนเลย อันนี้มันไหวด้วยช็อตไฟฟ้าไง คนเรามันกำลังจะตาย มันใช้ไฟฟ้ากระตุกเลย ไอ้ไหวอย่างนี้ใครๆ ก็ไหว นักโทษยิ่งไหวเยอะใหญ่เลย
คำว่า “สิ่งนี้มันมี” ครูบาอาจารย์ท่านบอก เวลาหลวงตาท่านพูด พูดถึงว่าพระที่สิ้นกิเลสแล้วมันก็ใช้ชีวิตประจำวันนี่แหละ แต่ถ้ามีสิ่งใดเกิดขึ้น สติสัมปชัญญะสมบูรณ์ จะตกใจอะไร จะมีสิ่งใด มันเป็นสัญชาตญาณ แต่หัวใจไม่กระเพื่อม แต่ของเราเจออะไร เราก็สัญชาตญาณเหมือนกัน แต่อู้ฮู! หัวใจนี่หายไปเลย ตกใจหมดเลย ใจไม่รู้ไปอยู่ที่ไหนเลย เห็นไหม มีกิเลสกับไม่มีกิเลสมันต่างกันตรงนี้ แต่กายกับใจเหมือนกัน
นี่พูดถึงเวลากายกับใจเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเวลาอาการอย่างนั้นเราก็พยายามจะเทียบเคียง แล้วมันไม่เป็นหรอก
ฉะนั้นบอกว่า เรื่องอาการที่เกิดทางกาย
อาการที่เกิดทางกายมันเป็นโดยแบบว่าโดยทางวิทยาศาสตร์ เห็นไหม เวลาคนเรา เวลาสิ่งใดเขาก็ใช้เทคโนโลยีแก้ไข นี่พูดถึงเรื่องของร่างกาย
แต่ถ้าเป็นเรื่องของจิตใจนะ มันจะเป็นอย่างไรตั้งสติไว้ พุทโธไว้ กำหนดลมหายใจไว้ แล้วตั้งสติไว้ ตั้งสติไว้ ถ้าจิตมันลง มันจะเป็นท่าไหนไม่สำคัญ เราปฏิบัติเพื่อหัวใจ
เราปฏิบัติกันนี่เราค้นหาจิตของเรา เราไม่ได้ค้นหาร่างกายของเรา ร่างกายมันจะนอนอยู่ไหนก็เรื่องของมัน เวลาจิตออกจากร่างไปแล้ว ร่างกายก็เหมือนท่อนฟืนนั่นน่ะ แต่ถ้ามันมีหัวใจ มันหยาบ ละเอียด ถ้ามันปฏิบัติใหม่ๆ มันก็มีอุปสรรคอย่างนี้ ต่อไปมันจะดีขึ้น
นี่พูดถึงร่างกายนะ อาการทางกาย อาการทางกายมันเป็นไปได้ร้อยแปด เวลาเส้นมันพลิกอย่างนี้ มันกระตุกได้ทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้น เวลาเราจะเอาจริงๆ คือเราจะรักษาหัวใจของเรา เพียงแต่ว่าผู้ปฏิบัติใหม่หัดเดินมันก็ตื่นเต้น หัดเดินมันก็ร้อยแปด พอทำไปๆ เดี๋ยวมันเริ่มเป็นปกติ
“๒. คำด่าที่เกิดขึ้น จะมีวิธีแก้ไขอย่างไรครับ”
มีวิธีแก้ไขก็ที่เราบอกไปแล้ว เราบอกไปแล้ว ให้ขอขมาลาโทษ เวลาก่อนภาวนา ภาวนาเสร็จแล้ว เวลาจะแผ่เมตตา อุทิศส่วนกุศลตั้งแต่ตอนนั้น เวลาสวดมนต์ เวลาทำบุญ เวลาทำบุญ เวลาเราทำบุญกุศล เวลาอุทิศส่วนกุศล นั่นล่ะตรงนี้แก้ไขๆ
มันเป็นเหมือนคนที่สารภาพผิด เป็นคนที่เคยทำความผิดมาแล้วสำนึกตน มันเหมือนกับคนทำผิดแล้วสำนึกผิด เดี๋ยวสำนึกบ่อยๆ เข้า จนมันแบบว่าจางไปๆ ก็จะหายไป เหมือนเช่นคำถามนี้ อันนี้จบนะ
ถาม : เรื่อง “มาขอคำแนะนำสั่งสอนจากพระอาจารย์ครับ”
กราบนมัสการอาจารย์ครับ ผมคือคนที่เคยมีคำหยาบต่อพระรัตนตรัย ที่เคยส่งคำถามถึงอาจารย์ครับ ตอนนี้ทำสมาธิไม่คืบหน้าครับ แค่มีปีติอยู่นิดหน่อย และจิตแทบจะไม่เคยลงครับ เนื่องจากมีสิ่งที่มากระทบกระเทือนใจเป็นอย่างมากครับ คือคุณพ่อผมเพิ่งเสียชีวิตเมื่อ ๒ อาทิตย์ก่อนครับ เป็นช่วงเวลาที่ทุกข์จริงๆ ครับ เห็นความทุกข์ชัดมากๆ พอคิดถึงก็สะเทือนใจน้ำตาไหลตลอดครับ เหมือนตกอยู่ใต้อำนาจของสัญญาอดีตครับ
ช่วงนั้นใจมีแต่ความขุ่นมัว พยายามใช้ปัญญาอบรมสั่งสอนตัวเอง แต่ช่วงนั้นเข้าใจถึงคำสอนของท่านอาจารย์เลยครับว่า พอจิตยังไม่มีสงบ เวลาใช้ปัญญาแทบจะแก้ไขใจอะไรไม่ค่อยได้เลยครับ
ปัจจุบันผ่านมา ๒ อาทิตย์แล้ว เริ่มทำใจได้ครับ ถ้าคิดถึงพ่อจะมีความร้อนขึ้นมาในใจครับ แต่ก็พยายามกำหนดรู้ ดูตาม และพยายามเอาพระธรรมมาสอนใจอยู่ตลอดครับ ทุกวันนี้ก็ใช้การเสียชีวิตของพ่อเป็นเหตุหมั่นทำบุญกุศลมากขึ้นกว่าทุกทีครับ ตอนนี้เลยมีโอกาสที่จะอุปสมบทครับ
ตอนแรกคิดว่าอยากไปวัดป่าสันติพุทธาราม หวังให้พระอาจารย์เมตตาอบรมสั่งสอน แต่คุณแม่และคนรอบข้างไม่อยากให้ไปไกล (ผมอยู่จังหวัดเชียงใหม่ครับ) ตอนนี้เลยได้บวชวัดป่าที่เชียงใหม่ครับ
ก่อนบวชนี้ผมจึงขอคำแนะนำสั่งสอนจากพระอาจารย์เพื่อเป็นหลักใจในการประพฤติปฏิบัติและการต่อสู้กับกิเลสในใจของตนต่อไปครับ กราบขอบพระคุณ
ตอบ : นี่คำถามเนาะ อันนี้เขาบอกว่าเขาเคยมีคำหยาบ คำหยาบที่เกิดขึ้นในใจ เมื่อก่อนเขาก็ถามมา ไอ้คำหยาบ คำหยาบที่เกิดขึ้นในใจ
ไอ้กรณีนี้มันเป็นนิสัยเรา มันเป็นจิตใต้สำนึกของเรา อันนี้มันเป็นกรรมเก่าเวรกรรมที่เราสร้างมา อันนี้มันเป็นสิ่งอดีตที่เราแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่ในปัจจุบันนี้ ที่ในปัจจุบันสิ่งที่ได้เกิดขึ้น แล้วถ้ามันมีสิ่งใดที่มันเป็นอุปสรรค เราก็เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวรตามแบบที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน
แล้วกรณีคนที่มีเป็นอย่างนี้เป็นหลายคนมาก เป็นเยอะ แม้แต่พระก็มี แล้วเวลาแก้ไขก็แก้ไขอย่างนี้ บางคนก็หายไปแล้ว บางคนก็ดีขึ้น
อย่างเช่นคำถามคนแรก ไม่เคยปฏิบัติ ไม่เคยสิ่งใดก็ไม่รู้ไม่เห็น แต่พอมาปฏิบัติขึ้นมา พอจิตมันลงไปถึงพื้นฐาน มันก็สิ่งนี้ผุดขึ้นมา แล้วถ้ามีโอกาส มีวิธีการแก้ไข เวรกรรมมันก็เบาบางลงๆ นี่สิ่งที่เราแก้ไข เราแก้ไขด้วยการปฏิบัติ เราแก้ไขด้วยตัวของเราเอง เราไม่ได้แก้กรรม แก้กรรมโดยที่เราต้องไปทำพิธีกรรมอะไรทั้งสิ้น เราแก้ด้วยการประพฤติปฏิบัติ เราแก้กรรมด้วยการสำนึกผิด เราแก้กรรมด้วยสติด้วยปัญญา
บุคคลที่ ๒ เขาเคยเป็นอย่างนี้ๆ แล้วเขาได้แก้ไขแล้ว แล้วดีขึ้น จนปัจจุบันนี้หายแล้วก็มี แล้วคนที่เขามาหาเรา คนที่เป็นอย่างนี้หลายคนมาก แล้วเวลาแก้ไขๆ เขาบอกว่าจบสิ้นแล้ว หายจากใจของเขาก็มี แต่คนที่เวลาเขาเป็นขึ้นมาเขาบอกเขาทุกข์มากนะ
เขาเคยมาที่นี่ เขาบอกว่าถ้าอยู่ไกลๆ ห่างไกลไม่ค่อยคิดเท่าไร ยิ่งเข้ามาใกล้มันยิ่งคิดแรง มันยิ่งต่อต้านรุนแรงมาก สุดท้ายแล้วเขาก็ขอขมาลาโทษ เขาพยายามสำนึกผิดต่างๆ แล้วก็หายไปดีขึ้น คนที่ไม่หายไปก็เบาบางลงๆ เห็นไหม กรรมมันอยู่ที่การกระทำ
แล้วมันก็เหมือนกับทางโลก มีอาการอาฆาตมาดร้าย มีการฝังใจ ตรงนี้มันฝังอยู่ที่ใจ ไอ้พวกนี้เวลามันคลายออกมานะ มันเป็นพิษเผาตัวเองทั้งนั้นน่ะ อาฆาตมาดร้ายใครนะ มันเผาตัวเองทั้งนั้นน่ะ มันไม่ไปเผาคนอื่นหรอก แล้วถ้ามันพิจารณาจนมันเบาบางลงได้ มันก็เป็นประโยชน์กับเราอย่างนี้ นี่พูดถึงว่าสิ่งที่มันเป็นมากับเราเนาะ
ไอ้นั่นพูดถึงว่าเวลาเราฝึกหัดของเรา ถ้าฝึกหัดแล้ว ฝึกหัดเดิน ฝึกหัดเดินจะมีอุปสรรค ฝึกหัดเดินแล้วมันจะต้องแก้ไขให้เราเดินเป็นปกติให้ได้ นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราจะมาประพฤติปฏิบัติของเรา เวลาปฏิบัติแล้วมีสิ่งใดเราต้องแก้ไขของเรา เราแก้ไขของเรา
คนที่มีอำนาจวาสนาบารมีเขาสร้างของเขามานะ เขาปฏิบัติแล้วสงบเลย ปฏิบัติแล้วเขาฝึกหัดใช้ปัญญาไปได้เลย อันนั้นเพราะเขาได้สร้างบุญญาธิการมา คำว่า “สร้างบุญญาธิการมา” คือชาติต่างๆ เขาได้สร้างของเขามา เราทำมาเองทั้งนั้น จะดีจะชั่ว เราทำมาเองทั้งนั้น
เวลาทำมาเอง ในชาติปัจจุบันนี้ประชาธิปไตย ทำไมเกิดมาไม่เท่ากัน ทำไมเกิดมาไม่เหมือนกัน
มันไม่เหมือนกันเพราะกรรมของเอ็งน่ะสิ มันไม่เหมือนกันเพราะใครล่ะ มึงจะไปโทษใคร ก็เอ็งทำมา มันทำมาทั้งนั้นน่ะ พอทำมาแล้วมันเป็นประโยชน์ใช่ไหม เป็นประโยชน์ เป็นโทษ เราก็ทำมา
แต่ชาติปัจจุบันเราเกิดเป็นมนุษย์ไง เกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนอย่างนี้ไง เราเกิดเป็นมนุษย์เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าสอนความจริงนะ เพียงแต่เราปฏิบัติความจริงได้มากได้น้อยแค่ไหน นี่ปฏิบัติขึ้นมา เวลามันแก้ไขได้มันก็จบไป
นี่เขาก็บอกขอบคุณ ขอบคุณว่า สิ่งที่มันเคยทุกข์เคยยากมันก็จบไป แต่ในปัจจุบันนี้อยากประพฤติปฏิบัติ แต่ตอนนี้ปฏิบัติได้น้อย แล้วยิ่งมีการสูญเสียจากคุณพ่อ พ่อเสียไป มันเลยยิ่งทำให้ใจหวั่นไหว
ใจหวั่นไหวมันก็อาศัยสิ่งนั้น ถ้าเห็นสิ่งนั้น ถ้าคนมีสติปัญญานะ เพราะเวลาพระเขาไปงานศพชักผ้าบังสุกุลๆ ก็เพราะนี่แหละ เพราะพระสมัยพุทธกาลเวลาคิดรักเขา แล้วเวลาคิดรักเขา เวลาเขาตายไป พระพุทธเจ้าบอกว่าอย่าเพิ่งเผาศพนั้นนะ แล้วพาพระนั้นไปดูไง นี่รักไหม รักซากศพไหม ที่เน่าเฟะอยู่นั่นน่ะ เขาไปพิจารณาของเขานะ จนเป็นพระอรหันต์เลย ก็เลยเป็นประเพณีของชาวพุทธเราไง ถึงเวลาไปชักผ้าๆ ชักผ้าก็เพื่อไปพิจารณาบังสุกุลไง
ไอ้นี่พ่อตาย พ่อตายมันยิ่งใกล้ชิดใหญ่ ถ้าพ่อตายยิ่งใกล้ชิด เวลาพ่อตาย พ่อตายไปแล้ว ภาษาเรานะ เดี๋ยวเราก็ตาย นี่พ่อตายก่อน ถูกต้องนะ ปู่ย่าตายายตาย แล้วก็พ่อแม่ตาย แล้วก็ลูกตาย แล้วก็หลานตาย มันจะตายไปหมดน่ะ นี่เวลามันตายเป็นชั้นไป
ฉะนั้น ถ้ามันคิดได้ มันก็เอามาเตือนหัวใจเราได้ เอามาเตือนเราไง เอามาเตือนเรา เห็นไหม ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด ถ้าชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด สิ่งใดจะเป็นประโยชน์กับเราไง
สิ่งที่เราทำหน้าที่การงานกันนี้เพื่อความมั่นคงของชีวิต ความเลี้ยงดูชีวิตนี้ไง แต่ดีและชั่ว บุญและบาป มันจะติดหัวใจนั้นไป ความลับไม่มีในโลก ใครทำบาปก็ได้บาป ใครทำบุญก็ได้บุญ แล้วถ้าใครประพฤติปฏิบัติเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก มีสติ
เวลามันฟุ้งซ่าน มันฟุ้งซ่านมันทุกข์ยากนัก เวลามีสติ สติสมบูรณ์ สติสมบูรณ์ ความฟุ้งซ่านหายหมดเลย เห็นไหม มันเป็นปัจจัตตัง เวลามันพิจารณาไป จิตสงบแล้ว ถ้ามันยกขึ้นวิปัสสนา เพราะจิตมันรู้ จิตมันเห็น จิตเป็นคนทำ มันทำกับมือ จิตทำเองมันต้องรู้เองสิ เวลาปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก มันคาย มันปล่อย โอ๋ย! ชัดเจน เวลามันขาด เวลามันขาดไป อกุปปธรรมๆ นั่นน่ะ
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายต้องเป็นอนัตตา แต่ผลของมันไม่ใช่อนัตตา ผลของมันเป็นของเรา ผลของมันคงที่ตายตัว อกุปปธรรม อกุปปธรรม ถ้ามันเป็นจริง ถ้าเป็นจริง เป็นจริงอย่างนี้ นี่พูดถึงว่าเวลาปฏิบัติมันจะปฏิบัติอย่างนี้ไง เวลาหัดเดินเราก็ฝึกหัดของเรา มีอุปสรรคมากน้อยแค่ไหนก็แก้ไขของเราไป เห็นไหม
ฉะนั้นบอกว่า เพราะว่าพ่อเสียชีวิตไปถึงมีโอกาสได้บวช เวลาจะบวชแล้ว จะบวชวัดป่าแถวบ้านเกิด ถ้าแถวบ้านเกิดนะ “ก่อนบวชนี้ผมขอคำแนะนำจากท่านอาจารย์ว่าจะมีหลักใจอย่างไร”
เวลาบวชขึ้นมา เวลาบวชมันก็มีอุปัชฌาย์ มีอุปัชฌาย์มีอาจารย์ขึ้นมา เวลาเขาบวชไปแล้ว ที่วัดไหนเขามีการประพฤติปฏิบัติอย่างใด เราก็ต้องทำตามกติกาที่วัดนั้น สังฆะ เวลาสงฆ์ การปกครอง สงฆ์ก็เป็นใหญ่ ถ้าสงฆ์เป็นใหญ่ เราปฏิบัติเราก็ศึกษา
ถ้ามีหนังสือประวัติหลวงปู่มั่น ประวัติหลวงปู่มั่น ปฏิปทาหลวงปู่มั่น ปฏิปทาสายกรรมฐาน อ่านก็ได้ เพราะในปฏิปทาฯ วิธีการนั่งสมาธิ หลวงตาท่านสอนไว้หมดแล้ว วิธีการนั่งสมาธิของพระกรรมฐาน วิธีการเดินจงกรมของพระกรรมฐาน พระกรรมฐานเขาเดินจงกรมอย่างไร นั่งสมาธิอย่างไร เราอ่านเป็นแนวทาง
เราอ่านแล้วเราจะเข้าใจอย่างนั้นหมดเลย แล้วเราจะแจ่มแจ้ง ไม่มีทาง ไอ้นั่นมันเป็นเพราะว่า หลวงปู่มั่น เจ้าของประวัติท่านเป็นพระอรหันต์ หลวงตาพระมหาบัวท่านเป็นคนเขียนประวัติหลวงปู่มั่น ท่านก็เป็นพระอรหันต์ เวลาเป็นพระอรหันต์ ท่านเข้าใจทะลุปรุโปร่ง ท่านก็เขียนแนวทางให้ปุถุชนอย่างพวกเราเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ปุถุชนอย่างเราจะปฏิบัติ แล้วจะปฏิบัติแบบพระอรหันต์ แบบเข้าใจ มันไม่มี มันต้องฝึกหัดประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้มันเกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญาขึ้นมา
ถ้าเกิดปัญญาขึ้นมา แล้วด้วยการบริหารจัดการของเรา ด้วยการฝึกหัดใช้ปัญญา เขาเรียกว่ามรรค เวลามรรคมันหมุน มรรคมันหมุนไป เวลาปัญญาที่มันหมุน มันหมุนของมัน ปัญญาเป็นความจริง
ไอ้ปัญญาอย่างเราเขาเรียกสุตมยปัญญา ปัญญาอย่างนี้คือปัญญาการศึกษา เหมือนเด็กๆ นักวิทยาศาสตร์ สุตมยปัญญา ปัญญาการค้นคว้าศึกษา สุตมยปัญญา ปัญญาจากสมองไง ปัญญาจากสัญชาตญาณนี่ไง ปัญญาอย่างนี้เขาเรียกโลกียปัญญา
สุตมยปัญญา โลกียปัญญา ฝึกหัดๆ ไป โดยมีสัมมาสมาธิ พอจิตมันดีขึ้น เขาเรียกจินตมยปัญญา ถ้าจินตมยปัญญา เพราะสัมมาสมาธิ จินตมยปัญญามันมหัศจรรย์ของมัน มหัศจรรย์ในใจ โอ๋ย! นั่นจินตนาการทั้งนั้นน่ะ
จิตสงบแล้ว จิตสงบแล้วถ้าเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง เวลาจับต้องได้ เวลามันเกิดจิตสงบแล้ว จิตสงบ มิติ มิติที่มิติทางโลก มิติ เพราะภพสวรรค์ ภพชาตินี่มิติหนึ่ง เวลาถ้ามันเป็นสัมมาสมาธิ มันจะไปล้างตัวมันเอง แล้วเวลามันเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง นี่ไง นี่อริยสัจ อริยสัจเพราะจิตสงบ จิตหนึ่ง จิตที่มีกำลังเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง พอมันจับต้องได้ นี่พอจับต้องได้
นี่จับตก จับหล่น จับที่พิจารณาไม่ได้ พิจารณาไม่ได้คือก้าวเดินไม่ได้ คือทำวิปัสสนาไม่ได้
วิปัสสนาคืออะไร วิปัสสนาคือปัญญาการรู้แจ้ง รู้แจ้งในอะไร รู้แจ้งในความโง่ของตนไง รู้แจ้งในความเห็นผิดไง รู้แจ้งในใจอันนี้ไง ถ้ารู้แจ้งในใจอันนี้มันจะเป็นภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญานี่คือมรรค นี่อริยสัจมันเกิด มันเกิดอย่างนี้ไง แล้วมันเกิดนี่ไง นี่มันอยู่ในปฏิปทาหลวงปู่มั่น ปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐาน
เพราะเจ้าของประวัติ คือหลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ ประวัติของท่านตั้งแต่เริ่มต้น ท่ามกลาง ที่สุด สมบูรณ์แบบ แล้วผู้ที่จดจารึกต้องเป็นพระอรหันต์ ถ้าไม่เป็นพระอรหันต์มันจับต้นชนปลายไม่ได้
อย่างพวกเราในปัจจุบันนี้อ้างพุทธพจน์ๆ
พุทธพจน์นี้เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ พุทธพจน์เป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สุดยอด แต่ปุถุชน ปุถุชนคนหนา อวิชชามันไปศึกษา ไอ้พวกเราไอ้พวกมืดบอด มืดบอดไปท่องจำ ท่องจำแล้วก็อ้างพุทธพจน์ๆ
นี่ไง เพราะมันไม่ใช่พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ถ้าเป็นพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พูดกันสื่อสารกันเข้าใจทะลุปรุโปร่งไง
นี่ก็เหมือนกัน ประวัติหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น นี่เป็นพระอรหันต์ หลวงตาพระมหาบัวท่านก็เป็นพระอรหันต์ เวลาท่านเขียนออกมามันถึงแจ่มแจ้งชัดเจน ตรงต่อธรรม ตรงต่อสัจจะความจริง
แต่เราไปปฏิบัติเถอะ งงๆ อ่านแล้วก็คิดว่าจะเข้าใจ คิดว่าจะเข้าใจนะ พอจะเริ่มเดินจงกรม เอ๊ะ! พอเอ๊ะ! หายหมดเลย ไอ้ที่เข้าใจๆ หายเกลี้ยงเลย เรียงลำดับไม่ถูกเลย
แต่เดินจงกรมเถอะ นั่งสมาธิไปเถอะ พยายามฝืนทนดูแลรักษาไป มันดีขึ้นๆ อ๋อ! มันชักเข้าใกล้ ชักเข้าใกล้ ชักดีขึ้น ชักเข้าใกล้ ชักจะเหมือน ชักจะเหมือนเจตนาอันนั้น
เขาเรียกว่าปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก มันต้องรู้แจ้งในการปฏิบัติ มันต้องรู้แจ้งจากการฝึกฝน จากการกระทำ มันไม่ใช่รู้แจ้งจากการท่องจำ การศึกษา ไม่มี
การศึกษา การท่องจำเป็นสุตมยปัญญา เป็นปริยัติ เขาศึกษามาให้ปฏิบัติ การศึกษานี้ศึกษามาเป็นแนวทางแล้วให้หมั่นฝึกหัดดัดแปลงตนเอง การศึกษามาๆ ฝึกหัดดัดแปลงทำจิตของตนให้ตรง ทำจิตของตนให้เข้าสู่สัจธรรม
ศึกษามาเพื่อฝึกหัด ไม่ใช่ศึกษามาเพื่อของเรา ไม่ใช่ว่าศึกษามาเพื่อรู้ ไม่ใช่ รู้ไม่มี เพราะอวิชชา เพราะปุถุชนรู้ไม่ได้ ปุถุชนคนหนามุมมองทัศนคติรู้ตามนั้น รู้ตามทัศนคติของตน รู้ตามมุมมองของตน ไม่ใช่รู้แจ้ง ไม่ใช่รู้จริง
ถ้ารู้จริงต้องจิตสงบก่อน จิตสงบก่อน เพราะว่าไอ้มุมมองทัศนคติมันจะหมดไป สมาธิเป็นสากล สมาธิเป็นสากล พอคนได้สมาธิเขาถึงติดสมาธิไง “อ๋อ! นิพพานเป็นอย่างนี้เอง” วุฒิภาวะแค่นั้น พอจิตสงบ “อ๋อ! นิพพานเป็นเช่นนี้เอง”
มึงยังพูดอยู่นี่ นิพพานห่าอะไร สมาธิไม่สมาธิ เอ็งยังพูดอยู่นี่ มันจะเป็นนิพพานได้อย่างไร ตัวตนเอ็งชัดๆ อยู่นี่ไง
“อ๋อ! นิพพานเป็นเช่นนี้เอง”
ไอ้ตอตัวนี้มันคร่อมอยู่ มันจะเป็นนิพพานไปได้อย่างไร นี่ไง มันถึงไปติดไง
แต่ถ้ายกขึ้นสู่วิปัสสนาเป็น ยกขึ้นสู่วิปัสสนาได้ ถ้ายกขึ้นสู่วิปัสสนาได้ มันจะฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดดัดแปลงแก้ไข ทำซ้ำ ทำแล้วทำเล่า ตทังคปหาน ทำแล้วดีขึ้น ทำแล้วพัฒนาขึ้น เกิดจากการกระทำ เกิดจากการฝึกหัด เกิดจากมรรค แล้วมรรคมันจะหมุนของมันเป็นจริงของมัน โอ๋ย! มหัศจรรย์มาก
อันนี้คำถามว่า “ผมจะบวช แล้วจะทำอย่างไร”
เรามันอยู่ไกลกันไง เขาอยู่ถึงเชียงใหม่ เราอยู่ราชบุรี มันก็เลยบอกว่าฝาก ฝากไปว่า ถ้ามันมีก็ปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐานฯ ประวัติหลวงปู่มั่น ประวัติหลวงปู่เสาร์ ประวัติครูบาอาจารย์ ท่านปฏิบัติมาเป็นการยืนยันว่าท่านเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด
ฉะนั้น ในการฝึกหัด ร่องรอยในการฝึกหัดของท่าน เรายึดเป็นแบบอย่างได้ เรายึดไว้เป็นแบบอย่างการก้าวเดินแบบครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านทำแล้วประสบความสำเร็จตามความเป็นจริง
แต่องค์อื่นที่อื่น เรายังไม่เห็นมีนะ เห็นมีแต่คนปฏิบัติกันเยอะแยะแต่เป็นพิธีไง ทำให้มันครบสูตรเป็นพิธี แล้วจิตนี้มันมหัศจรรย์ พอทำอะไรแล้วจิตมันก็คิดว่ามันจะประสบความสำเร็จทั้งนั้นน่ะ ส่วนใหญ่แล้วทำพอเป็นพิธี
หลวงตาท่านใช้คำนี้ เขาทำกันพอเป็นพิธี พอได้เดินจงกรม พอได้นั่งสมาธิกัน แล้วจิตมันก็คาดหมายกัน นิพพานทั้งนั้น ไม่มีอยู่จริง ถ้ามีอยู่จริง มันต้องการกระทำที่มันรู้มันเห็น มันเป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก แล้วไม่สงสัย
หลวงปู่มั่น หลวงตาท่านบอกว่า หลวงปู่มั่นท่านเทศนาว่าการทั้งชีวิตท่าน ท่านไม่เคยบอกว่าท่านสำเร็จอะไรเลย เห็นไหม คนสำเร็จจริงมันแก้ไขในหัวใจจบสิ้นแล้วไม่มีอะไรเป็นความลังเลสงสัย ไม่มีอะไรเป็นเครื่องทำให้อยากพูดอยากอวด ไม่มีเลย มันเป็นความจริงไง ถ้าความจริงเป็นความจริงอย่างนั้น
แต่ไอ้ที่ว่าทำพอเป็นพิธี โอ้โฮ! มันจินตนาการ มันอธิบายร้อยแปด “พุทธพจน์นะ ตรงพระพุทธเจ้าเปี๊ยะเลย” แต่มีกิเลสขั้นกลางอยู่เต็มไปหมดเลย แต่มันไม่รู้ไม่เห็น แต่ครูบาอาจารย์ของเราท่านปฏิบัติตามความเป็นจริงนะ ถ้าตามความเป็นจริง
นี่พูดถึงว่า “ก่อนบวชนี้ผมจะขอคำแนะนำคำสอนจากท่านอาจารย์เพื่อเป็นหลักใจในการประพฤติปฏิบัติ”
นี่เป็นหลักใจ เราตั้งสติฝึกหัดของเรา ใครมีอำนาจวาสนามากน้อยแค่ไหน บวชแล้วนะ ศีล ๒๒๗ เห็นไหม มันเป็นโอกาสทองนะ เวลาเราเป็นฆราวาสศีล ๕ ศีล ๑๐ ถ้าบวชเป็นเณรก็ศีล ๑๐ ถ้าบวชเป็นพระก็ศีล ๒๒๗ เวลามีศีลมีธรรมมันก็เหมือนคนที่มีสนามฝึกซ้อมที่มั่นคงแข็งแรง สนามที่ดี เวลาคนทำงานๆ เขาอยากมีหน้าที่ อยากมีตำแหน่งการทำงาน
ไอ้นี่บวชเป็นพระๆ พระเป็นนักรบ บวชมาแล้วบิณฑบาตฉันแล้ว ๒๔ ชั่วโมงได้ต่อสู้กับกิเลสทั้งหมดเลย เรามีโอกาสแล้วใส่เต็มที่เลย
แต่ส่วนใหญ่ทางโลกเขาบอกว่าบวชพระบวชไปพักผ่อน บวชเพื่อไปพักผ่อนน่ะ เวลาทำงานนี่เหนื่อยนัก บวช ๓ เดือนเพื่อจะไปนอนพักผ่อน
โอ้โฮ! โอกาสอย่างนี้มึงหาที่ไหน โอกาสคนหนึ่งเกิดชาติหนึ่งได้บวชหนหนึ่ง เกิดมาบวชแล้วหน้าที่การงานของตัวทำไมไม่ทำ
ศีล ๒๒๗ นะ ศีลมันมาก ศีลใหญ่โตอย่างนี้ เราควรจะเข้มแข็ง ควรจะจริงจัง ควรจะทำให้มันเกิดผลขึ้นมา เหมือนกับเรามีโอกาสแล้วเราต้องคว้าโอกาสนั้นไว้ทำประโยชน์เพื่อหัวใจของเรา
นี่พูดถึงว่า ถ้าผมบวชแล้วผมควรทำอย่างไรเนาะ
ศึกษาของเรา ค้นคว้าของเราเพื่อประโยชน์กับเรา นี่พูดถึงผู้บวชใหม่ ฝึกหัด หัดเดิน หัดเดินให้ได้ หัดตั้งตัวให้ได้ แล้วเราจะเจริญรุ่งเรืองในบริษัท ๔ เอวัง