ใจผูกไว้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
หลวงพ่อ : คำถามมันแบบว่าย้อนแย้งกันเอง ฉะนั้น จะต้องอธิบายหลายซับหลายซ้อนนะ คำถามนี้มันย้อนแย้งตลอด
ถาม : เรื่อง “หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ”
กราบนมัสการหลวงพ่อ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร รูป รส กลิ่น เสียงอันวิจิตรเป็นทุกข์ได้อย่างไรครับ เห็นรูปสวยๆ ผมก็มีความสุขครับ เมื่อลิ้มรสของอร่อย ผมก็มีความสุขครับ สุขอื่นใดเท่าจิตสงบไม่มี จิตสงบสุขกว่าการมีเงินเยอะๆ หรือครับ ต้องทำอย่างไรจึงจะจิตสงบได้ครับ
ตอบ : นี่คำถาม คำถามเป็นหัวข้อทั้งนั้นเลย แล้วมันย้อนแย้งกันเอง ย้อนแย้งกันเองเพราะอะไร เพราะศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง
ถ้าเราฟังเทศน์ เราฟังเทศน์เราก็คิดว่าสิ่งนั้นมันเป็นความจริงๆ เวลาฟังเทศน์ เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นกิริยาเท่านั้น แต่ความจริงจริงๆ คือธรรมะในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ท่านแสดงออกมาเป็นกิริยาๆ ไง อันนั้นเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่มีธรรมแสดงธรรมนะ
แล้วทีนี้ในสมัยปัจจุบันนี้เวลาเราศึกษาๆ ไง เวลาเขาเทศนาว่าการเขาจะเล่านิทานชาดก ส่วนใหญ่จะเล่านิทานชาดก พอเล่านิทานชาดกแล้ว เราว่าเป็นนิทาน พอเป็นนิทานขึ้นไป มันจะเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง ถ้าเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ ท่านจะย้อนอดีตชาติของท่านว่าท่านเคยเป็นสัตว์ประเภทนั้นๆๆ เพราะท่านเคยเป็นๆ ไง อันนั้นมันเป็นชาดก
เวลาในพระไตรปิฎก วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก อภิธรรมปิฎก วินัยปิฎกก็คือข้อกฎหมาย สุตตันตปิฎกคือธรรมะ คือธรรมะมันมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด
มีหยาบๆ หยาบๆ ก็อย่างคนที่ไม่เข้าใจสิ่งใดเลย เหมือนเด็กๆ สอนเด็กๆ มันก็ยกตัวอย่างเป็นตุ๊กตา พอยกตัวอย่างเป็นตุ๊กตา ท่านก็ย้อนถึงว่าท่านเคยเป็นอย่างนี้ๆ เราก็ฟังธรรมกันมา แล้วพอในมุมมองของสมัยปัจจุบัน มุมมองของทางวิทยาศาสตร์ เอ๊ะ! ธรรมะเป็นอย่างนั้นหรือ ภพชาติมีจริงอยู่หรือ เราก็คิดกันไปร้อยแปดไง
แต่บอกว่า คนเรามันมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด เวลาหยาบๆ หยาบๆ ก็สอนเด็กๆ สอนโดยทั่วไป อนุปุพพิกถา ให้มีศรัทธา ให้มีความเชื่อ ให้เสียสละทาน พอผลของมันก็คือสวรรค์ ถ้าถือเนกขัมมะแล้วออกประพฤติปฏิบัติ นี่เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา นี่พูดถึงว่าเวลาแสดงธรรมๆ ไง
ทีนี้แสดงธรรม เวลาแสดงธรรม เวลาเราไปเจอพระ อย่างพระบ้านเขาแสดงเป็นชาดก เขาแสดงเป็นเพราะเขาอ่านคัมภีร์ให้ฟัง เราก็ดูถูกกันนะว่ามันจริงหรือไม่จริง ศาสนานี้ครึล้าสมัย เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติ เราเป็นคนสมัยใหม่ เราคนทันสมัย มันเป็นวิทยาศาสตร์ มันต้องมีเหตุมีผล
พอจะมีเหตุมีผลก็เข้ามานี่ พอมีเหตุมีผลก็คำถาม คำถามแบบนี้มันเป็นคำถามแบบว่า เริ่มต้นคนที่ประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ มันไม่เข้าใจสิ่งใดทั้งสิ้น พอไม่เข้าใจสิ่งใดทั้งสิ้น เราว่าเราก็ใช้ปัญญากัน
ดูสิ เวลาเขาสอนแนวทางปฏิบัติพอเป็นพิธี ปฏิบัติพอเป็นพิธี แต่ก็ยึดหลักธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็บอกว่าพุทธพจน์ๆๆ ทำตามพุทธพจน์เลย ทำตามคำสั่งคำสอนพระพุทธเจ้าเลย
ทำตามคำสอนพระพุทธเจ้ามันก็พยายามจะทำไง พวกเราก็ปีนบันไดกันไง เวลาฟังธรรมะก็ปีนบันไดสูงๆ จะปีนก้อนเมฆเลยนะ จะให้รู้ธรรมนะ พระพุทธเจ้าพูดอย่างนี้เราก็เข้าใจ...ไอ้พวกนี้พวกปีนบันไดไง พอปีนบันไดมันก็เป็นเรื่องของโลก ถ้าเรื่องของโลกก็เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์
ถ้าเรื่องของธรรมะ ในปัจจุบันนี้วิทยาศาสตร์กับสัจธรรมมันจะย้อนแย้งกันตลอด มีปัญหาตลอด เพราะว่าต้องพิสูจน์ได้เป็นทางวิทยาศาสตร์ ทีนี้เราก็มีการศึกษา เราก็เป็นวิทยาศาสตร์ พอวิทยาศาสตร์ขึ้นมา เราก็จะมาประพฤติปฏิบัติธรรม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็พุทธพจน์เลย พุทธพจน์เลยมันก็เป็นสัจจะความจริงในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เรายังไม่เป็นน่ะ มุมมองมันแตกต่าง มุมมองมันต่างกันมาก
พอมุมมองมันต่างกันมาก เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติ เพราะหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านล้มลุกคลุกคลานมาก่อน เวลาล้มลุกคลุกคลาน เวลาท่านปฏิบัติไปแล้วรู้เห็นแบบที่ศึกษามาเลย พุทธพจน์ๆ พิจารณากายๆ หลวงปู่มั่นก็พิจารณากาย พอพิจารณากายเสร็จแล้วออกมา เอ๊ะ! ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นเลย ไม่เห็นอะไรมันดีขึ้นเลย
นี่ไง เวลาคนที่ปฏิบัติๆ ปฏิบัติโดยมุมมองของเราไง ปฏิบัติไปทางวิทยาศาสตร์ไง ทางวิทยาศาสตร์มันก็ตอบไปลอกการบ้านน่ะ นั่งทำการบ้านกับเพื่อน มันคิดมาเสร็จเลย เราลอกหมดน่ะ
นี่ก็เหมือนกัน พุทธพจน์ๆ เราลอกมาหมดเลย มันเป็นจริงไหม มันไม่เป็นจริงหรอก มันไม่จริง ศึกษา ควรศึกษาไหม ศึกษา ศึกษาเป็นทฤษฎี ศึกษาเป็นสุตมยปัญญา ศึกษาไว้เป็นความรู้ของเรา
แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมา หลวงตาไปหาหลวงปู่มั่นน่ะ มหา มหาเรียนถึงเป็นมหานะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสุดยอด เราเทิดใส่ศีรษะไว้ เชิดชูบูชา ไม่ได้พูดด้วยการเหยียบย่ำ เวลาพูดนี่พูดถึงจะมาแจงเรื่องกิเลสไง เรื่องความไม่เอาไหนของเราเองไง เรื่องมุมมองของเรามันไม่เอาไหน แล้วศึกษาธรรมะขึ้นมา ศึกษาขึ้นมาก็ไปสวมรอย แล้วก็ไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นความรู้ของเรา
นี่ไง ถ้ามันจะศึกษา นี่ภาคปฏิบัติเขาคุยกันอย่างนี้ เวลาหลวงปู่มั่นท่านพูดกับหลวงตาไง ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามานี่สุดยอด เทิดใส่ศีรษะไว้ เป็นของพระพุทธเจ้า แล้วของเรากิเลสเต็มหัวใจ แล้วเราก็ไปจำอย่างนั้นมาแล้วว่าเราจะทำ พอจะทำขึ้นมา ปฏิบัติขึ้นไปแล้ว ไอ้ความคาดหมายมันไปนู่น ไอ้ปฏิบัติความจริงขึ้นมามันก็ขัดแย้งกัน มันทำให้ปฏิบัติยากขึ้น ลำบากขึ้นอีก นี่หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ท่านเป็นมาก่อนท่านถึงรู้
พอหลวงตาเข้าไปหาท่าน ท่านถึงบอกสอนลูกศิษย์ลูกหาด้วยความเมตตาไง “การศึกษามานั้น ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ใส่ในสมองลิ้นชักไว้ แล้วล็อกกุญแจไว้อย่าให้มันออกมา แล้วเราปฏิบัติของเราไปก่อน ปฏิบัติของเราไปก่อน ถ้าปฏิบัติไปแล้ว ถ้ามันเป็นความจริงแล้วมันจะอันเดียวกัน”
คำว่า “อันเดียวกัน” นี่พุทธพจน์จริงไหม จริง แต่เราไปถ่ายรูปมา เราไปก๊อบปี้มาแล้วว่าจะเป็นของเราๆ แล้วกิเลสในใจเรามันเต็มหัวใจ
แต่ในการปฏิบัติ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านต้องเริ่มต้น เริ่มต้นตั้งแต่ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน เห็นไหม เราจะทำอะไรขึ้นมา ภาชนะเราต้องสะอาดก่อน เราทำหัวใจของเรา ทำบ้านของเราให้ดีก่อน ทำบ้านของเราให้น่าอยู่ ทำบ้านของเราให้รื่นเริง ทำบ้านของเราให้รื่นรมย์น่าอยู่น่าอาศัย แล้วอยู่บ้านของเรา พออยู่บ้านของเรา อยากกลับบ้าน อบอุ่น แล้วเราค่อยทำงาน แล้วค่อยศึกษาค่อยค้นคว้า ถ้าเป็นจริงขึ้นมาจะเป็นจริงขึ้นมา เป็นจริงขึ้นมาจะย้อนกลับมาคำถามนี่แหละ
คำถามว่า “รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร รูป รส กลิ่น เสียงอันวิจิตรเป็นทุกข์ได้อย่างไร” นี่เขาพูดนะ
รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เพราะทำความสงบของใจไม่ได้
นี่เวลาสอน อย่างเรานักปฏิบัติกันที่ทำความสงบของใจไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันไปผูกไว้ไง สิ่งใดที่รักที่ชอบ ใครมาแตะไม่ได้เลย สิ่งใดที่รักที่ชอบ ไม่ต้องแตะหรอก มันคิดของมันเอง มันผูกพันของมันเอง ความผูกพันอันนี้มันทำความสงบของใจไม่ได้ นี่มันถึงเป็นบ่วงของมารไง
ไอ้ที่มันมีปัญหากันในโลกนี้เพราะอะไรล่ะ เพราะความเห็นขัดแย้งกัน พอความเห็นขัดแย้ง เกิดทิฏฐิมานะไง นี่พวงดอกไม้แห่งมาร พวงดอกไม้แห่งมารคือมันยกย่องไง มันพยายามขับดันให้เราหลงใหลไปกับมันไง เราแน่ เราเก่ง เรายอด นี่มารมันยกย่อง มันหลอกลวง พอหลอกลวงขึ้นไปมันสงบไม่ได้หรอก นี่เวลามันเป็นบ่วง บ่วงก็รัดคอ รัดคอ ความคิดเรานี่รัดคอเราทั้งนั้นน่ะ
ฉะนั้นถึงบอกว่า มันเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมารอย่างไร
เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ก็ดูสิ ดูเด็กๆ มันร้องไห้ เด็กๆ เวลามันร้องไห้ มันไม่ได้ดั่งใจมันน่ะ มันคิดอะไร แล้วถ้ามันสมความปรารถนามันจะร้องไห้ไหม ถ้ามันไม่สมความปรารถนา มันดิ้นรนของมันเพราะอะไร เพราะมันไม่สมความปรารถนาของมัน มันอยากได้อะไรแล้วมันเรียกร้องจากพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงไม่ให้ มันดิ้นตายเลย นี่แหละ แล้วมันคิดอะไรของมัน มันถึงได้ดิ้นรนอย่างนั้น นี่บ่วงมันรัดคอมันไง บ่วงความคิดน่ะ บ่วงความคิด บ่วงความผูกพันมันรัดคอมัน
พอรัดคอมัน บ่วงของมาร พวงดอกไม้แห่งมาร รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร แต่พวกเราไม่รู้ไม่เห็น คนทำสมาธิไม่เป็นไม่รู้หรอก ทีนี้พอไม่รู้เลย นี่เป็นคำถามไง เขาถามมาเอง เขาย้อนมาถามว่า มันเป็นพวงดอกไม้ เป็นมารอย่างไร เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมารอย่างไร
คนไม่ปฏิบัติไม่รู้เรื่อง แต่เวลาคนปฏิบัตินะ มันเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เพราะเราไม่เท่าทันอารมณ์เราไง เวลาความรู้ๆ ความรู้อยู่บนกองทุกข์ไง ความรู้อยู่บนวิบากของกรรมไง เวลากรรมมันให้ผล ให้ผลเป็นความหงุดหงิด ให้ผลเป็นความทุกข์ใจไง
แล้วก็ความคิด ปัญญาเลิศ ปัญญาเลิศแต่มันทำสมาธิไม่เป็น ปัญญาเลิศ เลิศโดยกิเลสไง เลิศโดยกิเลสเพราะอวิชชา เพราะความไม่รู้ตัว คนที่ไม่รู้ตัว คนที่หลับใหล แล้วมันยังสำคัญตนน่ะ นั่นล่ะมันคิดกันอย่างนั้นน่ะ แล้วไปศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วมันบอกมันรู้หมดเลย มันรู้หมดเลย แต่มันไม่รู้ตัวมันเอง มันไม่เป็นปัจจัตตัง ไม่เป็นสันทิฏฐิโก มันไม่เป็นความรู้ในตัวมันเอง มันไม่มีคุณธรรม มันไม่มีธรรมโอสถในใจ แต่ไปท่องจำธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้วก็สร้างภาพ สัญญาอารมณ์ทั้งนั้นน่ะ
นี่พูดถึงในมุมมองของพระปฏิบัติ ถ้าในมุมมองของพระปฏิบัติ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เพราะรูป รส กลิ่น เสียงมันบีบคั้นนะ ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ ครูบาอาจารย์กรรมฐานเรานี่ รูป รส กลิ่น เสียงมันก็ธรรมชาติ
ดูสิ เสียงลมพัด แสงแดดที่มันแผดเผาต่างๆ มันก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง แต่ทำไมชาวนาเขาเดือดร้อนล่ะ เวลาคนทำไร่ไถนาไม่มีน้ำ ทำไมเขาเดือดร้อนล่ะ เดือดร้อนเพราะมันเป็นผลประโยชน์กับเขาไง เพราะผลประโยชน์กับเขา เขาถึงมีความทุกข์ระทมหัวใจ ภัยแล้ง น้ำท่วม เขามีความทุกข์ระทมในหัวใจเพราะอะไร เพราะเขาทำไม่สมความปรารถนาของเขาไง นี่ไง นี่บ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร แต่เขารู้ตัวหรือไม่รู้ตัวล่ะ
เขาบอก “อู๋ย! หลวงพ่อนี่พูดจาไม่มีเหตุผลเลย เขาไปทุกข์อะไรเรื่องบ่วงของมาร พวงดอกไม้แห่งมาร เขาทุกข์เพราะน้ำท่วมบ้านเขา เขาทุกข์เพราะภัยแล้ง เขาไม่มีน้ำทำนา”
แล้วน้ำท่วม แล้วน้ำแล้ง มันทุกข์อะไร มันทุกข์อะไร ถ้าเอ็งไม่ยึด ถ้าเอ็งไม่เสียใจ เอ็งไม่เสียผลประโยชน์ แล้วผลประโยชน์ คนตายมันมีผลประโยชน์ไหม คนที่ตายแล้วมีผลประโยชน์ไหม คนที่ตายแล้วมันอยู่ในโลง ไอ้คนเป็นๆ ต่างหาก ไอ้คนเป็นๆ
เราจะบอกว่า ความรู้สึกนึกคิดในใจต่างหาก ไอ้ความรู้สึกอันนั้นต่างหากที่มันทุกข์ น้ำท่วมน้ำแล้งมันจะทุกข์อะไร น้ำท่วมน้ำแล้งมันก็เป็นธาตุ แต่ไอ้ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณมันทุกข์ มันทุกข์เพราะอะไร เพราะมันผูกพันไง นี่ใจมันผูกไว้ มันเลยเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร
นี่พูดถึงว่า มันเป็นบ่วง เป็นบ่วงมารัดคอ รัดคอคือทุกข์ระทม พวงดอกไม้ก็ล่อให้หลงไง เวลาคิดอยากได้อะไร หลงใหลอะไร นั่นน่ะมันเอาดอกไม้มาล่อ พวงดอกไม้ล่อเลย นี่กิเลสทั้งนั้นน่ะ เราจะบอกว่านี่หยาบ
เพราะคนมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากแล้วมืดบอด เพราะความมืดบอดนั้นคืออวิชชา เพราะมีอวิชชาเลยไม่รู้แจ้งในธรรม ก็เลยเขียนมาถามนี่ไง เขียนมาถาม แล้วถามให้พูดไงว่า “รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วง เป็นพวงดอกไม้แห่งมารอย่างไร” แล้วเขาบอกว่า “รูป รส กลิ่น เสียงอันวิจิตรเป็นทุกข์ได้อย่างไร”
รูป รส กลิ่น เสียงอันวิจิตร นี่บอกว่า มันเป็นธรรมที่หยาบละเอียด แล้วเวลาเทศนาว่าการ หลวงตาท่านพูดอยู่ว่า หลวงปู่มั่นเวลาท่านเทศนาว่าการนะ เหมือนเครื่องบิน เครื่องบินต้องแท็กซี่เข้ารันเวย์ก่อน เสร็จแล้วมันพยายามขึ้นตั้งแต่พื้นดินขึ้นไประดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุดของมัน
เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ท่านก็เทศน์อย่างนั้นแหละ เทศน์ถึงเรื่องทำความสงบของใจเข้ามา ฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ถ้ามันฝึกหัดเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ถ้ามันเป็นความจริง ถ้าถึงเป็นความจริง มันมีสติมีปัญญาในหัวใจแล้ว รูปอันวิจิตร รูป รส กลิ่น เสียงอันวิจิตรไม่ใช่กิเลส ตัณหาความทะยานอยากของคนต่างหากเป็นกิเลส
รูป รส กลิ่น เสียงมันเป็นสภาวธรรมชาติ สิ่งที่เป็นธรรมชาติมันมีกิเลสไหม รูป รส กลิ่น เสียง รูป รูปอะไรก็ได้ สิ่งที่เป็นวัตถุนี่เป็นรูป มันมีกิเลสไหม เสียงมันมีกิเลสไหม รูปอันวิจิตรมันจะสวยงามขนาดไหนมันก็ไม่ใช่กิเลส ตัณหาความทะยานอยากของคนต่างหาก
คนที่ชอบเรื่องศิลปะเขาเห็นรูป อู้ฮู! ราคาหลายสิบล้านน่ะ รูปภาพรูปเดียวประมูลกันเป็นพันๆ ล้าน มันไม่ใช่กิเลสหรอก แต่มันมีคุณค่าถึงพันล้าน ตัวมันเองเห็นไหม เพราะอะไร เพราะคนอยากได้ คนชอบไง ตัณหาความทะยานอยากของคนประมูลไง ตัณหาความทะยานอยากของเขา เขาอยากได้ของเขา เขาพอใจของเขา นั่นน่ะกิเลสอยู่ตรงนั้นไง
ฉะนั้น รูปอันวิจิตรไม่ใช่กิเลส ตัณหาความทะยานอยากของคนต่างหาก ตัณหาความทะยานอยากของสิ่งมีชีวิตต่างหากเป็นกิเลส
แล้วเวลาครูบาอาจารย์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้หักเรือนยอดของกิเลสแล้ว ท่านไม่มีตัณหาความทะยานอยากในใจของท่าน รูป รส กลิ่น เสียงจะเป็นกิเลสอีกไหม รูป รส กลิ่น เสียงไม่มีทางจะไปทำให้หัวใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์หวั่นไหวได้ กระเพื่อมได้ ให้มันมีความรู้สึกได้ เป็นไปไม่ได้ ถ้ามันเป็นไปไม่ได้มันถึงว่า รูป รส กลิ่น เสียงอันวิจิตรไม่ใช่กิเลสไง
แต่ถ้าเป็นปุถุชนคนหนาของเรา ดูสิ รูปรูปหนึ่งมีราคาเป็นพันๆ ล้าน เพราะอะไรล่ะ เพราะเขามีเงินน่ะ เขาอยากได้ของเขา เขาประมูลของเขาได้ แล้วมันเดือดร้อนใคร
มันไม่เดือดร้อนใคร แต่นี่เราเอามายกให้เห็นเป็นตัวอย่างไงว่ารูปอันวิจิตรไม่ใช่กิเลส รูป รส กลิ่น เสียงอันวิจิตรนะ หยาบ กลาง ละเอียดขนาดไหนก็ไม่ใช่กิเลส ไม่ใช่หรอก แต่ความลุ่มหลงในใจของคน ความลุ่มหลง ความไม่รู้เท่าในใจของคนมันถึงเป็นกิเลส
แต่ในเมื่อคนที่ยังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติเขาจะรู้ทันความลุ่มหลงในใจของเขาหรือ ในเมื่อเขาไม่รู้เท่าทันความลุ่มหลงในใจของเขา ฉะนั้น รูป รส กลิ่น เสียงมันถึงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมารไง เพราะอะไร เพราะความลุ่มหลงในใจของคนไม่รู้
พอคนไม่รู้ เพราะเราลุ่มหลง เราไม่รู้ตัวของเราใช่ไหม แต่เสียงอันวิจิตร รูปภาพที่ดี สิ่งที่ดี เราก็อยากได้ แล้วเรามีเงินมีทองมีความสามารถที่จะซื้อได้ เพราะอะไร เพราะเรามีเงินน่ะ แล้วเราชอบ เราก็ซื้อของเรา ซื้อของเราเป็นกิเลสไหม มันก็เป็นกิเลสอย่างละเอียดนั่นแหละ เป็น แต่อย่างนั้นไม่ผิดศีลไง ไม่ผิดศีลคือไม่ลักขโมย ไม่ได้ฉ้อฉล ไม่ได้ลักใครมา ประมูลมา ซื้อมาด้วยความชอบธรรม ด้วยความชอบธรรมมันก็ไม่ผิด แต่เวลามันมีความอยาก ความอยากได้ไหม มันก็อยากได้ใช่ไหม มันก็ไม่เป็นอิสระอยู่วันยังค่ำนั่นแหละ
ฉะนั้นบอกว่า ถ้าเราไม่มี ไม่รู้เท่าทันในรูป รส กลิ่น เสียง เราไม่รู้เท่าทันตัวเราเอง รูป รส กลิ่น เสียงมันก็เลยเป็นกิเลสไง ฉะนั้น มันก็เลยเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมารไง
ระหว่างจิตใจที่หยาบ จิตใจที่หยาบ จิตใจที่ไม่รู้เท่าทันตัวเอง จิตใจที่หยาบที่ไม่รู้เท่าตัวเองมันก็ติดพันไปหมดไง พอติดพันไปหมดก็ติดพันรูป รส กลิ่น เสียง ติดพันโลกไปหมด ติดพันทุกอย่างหมดเลย ความติดพันอันนั้นมันก็เป็นความผูกมัดในชีวิตเราไง พอชีวิตเราก็เป็นทุกข์ไง
ทีนี้เป็นทุกข์ พอเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะขึ้นมานี่รักษาหัวใจๆ ไง เราก็มีความเชื่อมีความศรัทธาไง ความเชื่อความศรัทธาแก้กิเลสไม่ได้ ความเชื่อความศรัทธามันเป็นวิชาการ แต่เวลาจะชำระล้างกิเลสมันอยู่ที่การปฏิบัตินี่ไง ความเชื่อๆ เราก็มาศึกษา ศึกษา เวลาเราจะแก้ไข เราจะมีคุณธรรมในหัวใจขึ้นมา เราก็เริ่มประพฤติปฏิบัติไง
ถ้าเริ่มประพฤติปฏิบัติ ทีนี้ก็เอาแล้ว ทำสมาธิไม่ได้ นั่งแล้วก็เป็นทุกข์ ทุกข์ไปทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าความลุ่มหลงนะ มันก็บอกเลย “มีปัญญาทั่วพร้อม มีปัญญารู้เท่าทันตัวเอง มีปัญญา” ปัญญาก็เป็นสุตมยปัญญา เป็นโลกียปัญญา มันเป็นปัญญาการศึกษา ปัญญาทางโลก ปัญญาทางโลกแก้กิเลสไม่ได้
แต่ปัญญาการศึกษา เราก็ศึกษากันมานี่ แล้วถ้าปฏิบัติไปมากขึ้นๆ มันจะเป็นจินตมยปัญญา แล้วถ้ามีครูบาอาจารย์ที่ชี้นำได้ถูกต้อง แล้วเราปฏิบัติได้ถูกต้องดีงามของเรา มันจะเข้าสู่ภาวนามยปัญญานั้น ถ้าเข้าสู่ภาวนามยปัญญา นี่ปัญญาในพระพุทธศาสนา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ตรัสรู้ธรรมด้วยปัญญาระดับนี้ ถ้าปัญญาระดับนี้มันเกิดที่ไหน ไม่มีใครเคยรู้เคยเห็นปัญญาระดับนี้
ปัญญาของเรา จินตยมยปัญญา ปัญญาจินตนาการก็เลอเลิศแล้ว แล้วถ้าเป็นภาวนามยปัญญามันถอดมันถอนกิเลส นั่นอีกเรื่องหนึ่งเลยนะ ถ้าอีกเรื่องหนึ่ง นั่นล่ะมันจะถอดถอนตัณหาความทะยานอยาก แล้วถ้ามันถอดถอน มันเห็นของมัน แล้วเห็นอย่างไรล่ะ
เห็นแบบครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติแล้วไง เห็นแบบอริยสัจมีหนึ่งเดียวไง อริยสัจมีหนึ่งเดียว ถ้าผู้ปฏิบัติจริงมันเป็นความจริงอย่างนั้นไง แล้วคนไม่เคยเห็น ไม่รู้จริง พูดไม่ได้ ถ้าพูดไม่ได้ปั๊บ มันก็เลยไม่รู้อะไรเลยไง
โดยธรรมชาติในการศึกษา แล้วก็บอกว่าเราจะเรียนไปก่อน แล้วถึงเวลาเราจะเรียนให้สูงส่งขึ้นไป แล้วจะมีปัญญาขึ้นไป แต่ในการศึกษา ไอ้พื้นฐานนี่สำคัญ ถ้าพื้นฐาน พื้นฐานเข้มแข็ง เวลาเรียนขึ้นไปมันจะดีขึ้นมากเลย
ในการปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าทำความสงบของใจไม่ได้ ไม่มี ในเมื่อพื้นฐานมันไม่มี ต้นคด เอาความจริงมาจากไหน
ถ้าต้นมันตรงไง นี่ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมา ท่านปฏิบัติมาอย่างนี้ แต่เวลาเทศนาว่าการมันเทศนาว่าการตั้งแต่หยาบไปละเอียดไง เริ่มต้นขึ้นมาก็ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เวลาปฏิบัติขึ้นไป ละมัน ถอนขึ้นไปเป็นความจริงเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป พอมันละมันถอนกิเลสตัณหาความทะยานอยากแล้ว รูป รส กลิ่น เสียงอันวิจิตรขนาดไหนไม่ใช่มาร
คนปฏิบัติมันต้องรู้สิ หมอรักษาคนไข้มันต้องรู้สิว่าคนไข้เป็นไข้เพราะอะไร เจ็บป่วยเพราะอะไร แล้วใช้ยารักษาเข้าไป รักษาโรคอะไร รักษาแล้วเวลายามันมีคุณภาพ โรคนั้นหายไป หายไปเพราะอะไร ถ้าหายไปแล้ว ธรรมะมันชัดเจนอย่างนี้
มันไม่ใช่ลุ่มหลง ลุ่มหลงพลิกไปพลิกมาอยู่อย่างนี้ ไอ้ที่มันพลิกแพลงอยู่อย่างนี้เพราะอะไร เพราะความไม่รู้ ความไม่รู้ ทีนี้ฟังธรรมแล้ว ยิ่งฟังแล้วยิ่งสับสนไง สับสน “รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมารอย่างไร” แล้วว่า “รูปอันวิจิตรมันเป็นทุกข์ได้อย่างไร” นี่เวลาคำถามนะ
ฉะนั้น นี่เป็นคำถาม เวลาคำถาม ที่เราอยากจะพูดวันนี้เราก็อยากจะพูดเหมือนกัน เพราะว่าเวลาเทศนาว่าการไปมันก็มีหยาบ กลาง ละเอียด ฉะนั้น เวลาเข้าไปอยู่ในเทป อยู่ในเว็บไซต์ เวลาคนฟังเขาก็ไล่ฟังใช่ไหม ทีนี้คำพูดที่เหมือนกัน รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร แล้วเวลาไปอีกขั้นตอนหนึ่ง รูป รส กลิ่น เสียง รูปอันวิจิตรก็ไม่ใช่มาร
อ้าว! งงนะ ไอ้คนฟังมันก็งงเหมือนกัน ไอ้ทีแรกก็บอกว่าเป็นมาร ตอนหลังก็บอกว่าไม่ใช่มาร แล้วอะไรจะเป็นมารหรือไม่เป็นมารล่ะ มันจะเป็นประโยชน์อย่างไรล่ะ
นี่พูดถึงเวลาเริ่มต้น ถ้าเริ่มต้นปฏิบัติใหม่ๆ ที่เราหงุดหงิด ปฏิบัติแล้วไม่ได้ผล ทำแล้วไม่ได้ผลตอบแทนก็ตรงนี้ไง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้ เป็นบ่วงรัดคอ รัดคอคือมันอึดอัดขัดข้องที่ทำอะไรไม่ได้เลย ทุกข์ใจมาก นั่งก็ปวด ทำอะไรก็ไม่ได้ ลงทุนลงแรงหลายปีก็ไม่ได้สักที นี่มันรัดคอ รัดคอนี่หงุดหงิดมาก เป็นพวงดอกไม้มันก็ล่อลวง โอ๋ย! ได้ขั้นนั้นแล้ว ได้ขั้นนี้แล้ว สุดยอดแล้ว ทั้งๆ ที่มันไม่ได้อะไรเลย มันหลอกตั้งแต่หยาบๆ นั่นน่ะ
แต่ภาวนาขึ้นไป หัดขึ้นไป พิจารณาขึ้นไปถึงที่สุดแล้วมันจะเห็นเลยล่ะ โอ๋ย! หลอกกูไม่ได้หรอก อารมณ์อย่างนี้หลอกไม่ได้ ความคิดอย่างนี้ก็รู้ทัน อะไรจะมาล่อมาหลอก รู้ทันทั้งนั้นน่ะ รู้ทันเพราะอะไร เพราะเห็นโทษของมันไง ถ้าเห็นโทษของมันนะ ปฏิบัติเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปมันจะรู้จะเห็นอย่างนี้ แล้วไอ้คำถามนี้มันก็จะจบไปเอง มันจะจบไปต่อเมื่อเรารู้จริง ถ้าเรายังไม่รู้จริง มันแบกไว้ มันผูกไว้กับใจ ใจมันผูกไว้
นี่ไง เวลาบอกศึกษาพุทธพจน์ๆ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทศน์นี่ก็เหมือนกัน มันเป็นขั้นเป็นตอนของมันน่ะ แล้วเวลาเราฟังแล้วมันสับสนไหม งงไหม แล้วธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษาแล้วงงไหม งงทั้งนั้นน่ะ เพราะอะไร เพราะเราก็เคยศึกษามา อ่านแล้วไม่เข้าใจหรอก งง งงมากเลย
พอไปปฏิบัติๆ พอจิตเราดีขึ้น เราเข้าใจขึ้น อ๋อ! อ๋อ! อ่าน อ๋อ! อ๋อ! เลยนะ เข้าใจหมดน่ะ ถ้าเราเข้าใจในหัวใจเราแล้ว ทฤษฎีนี้เข้าใจหมดเลย ในหัวใจเราไม่เข้าใจ ในหัวใจเรามืดบอด ทฤษฎีนี่งงหมดเลย เอ๊! มันเป็นอย่างไร
แล้วเวลาปฏิบัติไป ที่หลวงปู่มั่นท่านพูดกับหลวงตาไง ถ้าศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วมาปฏิบัติไปพร้อมกัน มันจะเตะมันจะถีบกัน คือมันจะขัดแย้งกันไง
เวลานั่งสมาธิไป พอมันมีอารมณ์ขึ้นมา อ๋อ! ขั้นนั้น อ๋อ! ขั้นนี้ อ๋อ! นี่ไง ที่เราศึกษามาน่ะ อ๋อๆ...ไม่มีอะไรเลย ว่างเปล่า เพราะมันไปให้คะแนนตัวเองมากเกินไปไง แล้วสิ่งที่เป็นความรู้สึก เป็นนามธรรม มันทำอย่างไรก็ได้ คิดอย่างไรก็ได้ แล้วมันไม่จริงสักอย่างหนึ่ง นี่พูดถึงว่าย่อหน้าที่หนึ่งนะ นี่วรรคหนึ่ง
วรรคสอง “เห็นรูปสวยๆ ผมก็มีความสุขครับ ได้ลิ้มรสอาหารที่อร่อย ผมก็มีความสุขครับ สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี จิตสงบสุขกว่ามีเงินเยอะๆ หรือครับ” นี่เขาว่านะ เขาบอกว่าความสุขของเขา “เห็นรูปสวยๆ ผมก็มีความสุข ได้ลิ้มรสอาหารอร่อยๆ ผมก็มีความสุข แล้วสุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มีมันเป็นอย่างไร” นี่เขาถามนะ “สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี จิตที่สงบมันสุขกว่ามีเงินเยอะๆ หรือ”
คำถามแบบนี้มันเป็นคำถามแบบว่าคนติดโลก คนหลงโลก คนหลงในโลก แล้วโลกนี้เขาวัดกันด้วยอำนาจเงิน โลกนี้เขาวัดกันด้วยอิทธิพล ใครมีอำนาจ ใครมีอิทธิพล คนนั้นเขาว่าเขามีอำนาจ มีความสุข แล้วไอ้คนทุกข์คนจนก็ต้องสยบอำนาจนั้น คนทุกข์คนจนก็ต้องไปสวามิภักดิ์ต่อเขา ไปอยู่ในอำนาจของเขาด้วยความคิดว่าสิ่งนั้นมันจะให้ความสุขกับตน มันไม่มีอยู่จริงหรอก อิทธิพลอันใดก็แล้วแต่มันต้องมีคลื่นลูกใหม่ อิทธิพลนั้นต้องเปลี่ยนแปลง
เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้โดยสัจจะเลย สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง ไม่มีอะไรคงที่หรอก มันแปรปรวนมาตลอดเวลา ไม่มี
ถ้าว่าไม่มีแล้ว เราเองเราลุ่มหลงในตัวเราเอง เราคิดว่าเราสร้างสมขึ้นมาแล้วมันจะเป็นสมบัติของเรา แล้วเราพยายามจะรักษาอิทธิพลของเราว่าเป็นผลประโยชน์ของเรา...ไม่มีอยู่จริง มันของชั่วคราวเท่านั้นน่ะ
มี มันมีลูกศิษย์ของเราเมื่อก่อนเขาพาเพื่อนมา ลูกเศรษฐีนะ ลูกเศรษฐีเงินทองล้นฟ้า อย่างที่บอกเงินเยอะๆ นี่แหละ แล้วเพื่อนเขาพามาหาเราบอกว่า ชีวิตนี้ไม่มีความทุกข์ ทุกข์ไม่มี เงินทองล้นฟ้า มีแฟน ๔-๕ คน สวยๆ ทั้งนั้นเลย เขาพามาหาเราทั้งนั้นน่ะ เขามาโชว์เลยนะ เขาอยากจะมายืนยันว่าไม่มีทุกข์ เขาไม่รู้จักความทุกข์
เราบอก เฮ้ย! มันเป็นไปไม่ได้หรอกไอ้เรื่องไม่รู้จักความทุกข์ เอ็งนั่งอยู่ตรงนี้นานๆ ก็ทุกข์แล้ว แค่เรานั่งอยู่นะ ปวดปัสสาวะ ปวดอุจจาระ เอ็งไม่ทุกข์หรือ เอ็งเกิดมานี่เอ็งไม่เคยปวดอุจจาระเลยใช่ไหม ลองกลั้นไว้สิ ทุกข์ไหม
แล้วมันบอกว่าทุกข์ไม่มี ไอ้เงินของเอ็งเป็นความลุ่มหลงของเอ็ง แล้วพอเอ็งมีเงินขึ้นมา เอ็งก็สำคัญตนว่าเอ็งมีความสุขไง เอ็งก็ว่าเอ็งมีอิทธิพล เอ็งก็อวดเพื่อนๆ ไงว่าข้ามีเงินเปย์พวกเอ็งไง แต่ความจริงเงินมันฆ่าเอ็งนั่นน่ะ
มีเงินมา ดูสิ เวลาเพื่อนเขาไปด้วยกันน่ะ คนหนึ่งเขามีรถ ไอ้คนทุกข์คนจนอาศัยไปด้วยมันฆ่าเพื่อนเอารถเขาเลย เงินของมึง เดี๋ยวจะฆ่ามึงน่ะ นี่เขามาพูดไง เราก็โต้แย้งกับเขาว่าเป็นไปไม่ได้หรอกที่ไม่มีความทุกข์ แฟน ๔-๕ คน เวลาแฟนคนหนึ่งไปชอบคนอื่น เดี๋ยวเอ็งก็ทุกข์แล้ว
มันบอกมันไม่มีความทุกข์
กรณีนี้มันเป็นความคิดโลกๆ ที่คนยืนยันว่าเขามีเงินทองล้นฟ้าแล้วเขาไม่ทุกข์ มันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะเขาไม่ได้หาเงินเอง พ่อแม่เขาหาให้ ไอ้ที่มานี่เขายังเป็นวัยรุ่นอยู่ไง ว่าพ่อแม่เขาเงินล้นฟ้า แล้วเพื่อนเขาพามาหาเรา เพื่อนเขานี่ลูกศิษย์ไง เขาก็ไปคุยโต้แย้งกันแล้วแพ้เขา เพราะเงินเขาเยอะ เขาจนตรอกเขาก็พามาหาเราไง
ทีแรกเราก็อธิบาย โอ๋ย! เขาเถียงหัวชนฝาเลย เพราะอะไร เพราะเขาไม่เคยแพ้ใคร เขามีเงินทองเยอะแยะ แต่สุดท้ายเราก็พูดจนเขายอมรับนะ ยอมรับเฉยๆ แต่ว่าเขาก็คงจะอวดไปอย่างนั้นน่ะ เพราะคนมันสุดโต่งมองไปข้างหนึ่งไง
มันเป็นไปได้อย่างไร ฉะนั้นบอกว่า ไอ้ที่ว่าเงินทองล้นฟ้าจะไม่ทุกข์
เงินทองล้นฟ้าจะไม่ทุกข์นะ มันต้องเป็นแบบอนาถบิณฑิกเศรษฐี มันต้องเป็นแบบนางวิสาขา อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นพระโสดาบัน เขามีเงินมีทอง เขาเอาเงินปูซื้อเชตวันถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เวลาเงินทองที่มันเยอะขึ้นมา คนที่มีคุณธรรมเขาเอาเงินทองนั้นทำเพื่อประโยชน์ไง คนที่เขามีเงินมีทองที่เขามีคุณธรรมแล้วนะ สิ่งนั้นน่ะมันถึงจะมีคุณธรรม มันถึงเป็นความสุข
ไอ้นี่มันเด็กวานซืนน่ะ พ่อแม่หาไว้ให้ เอามาอวดกันว่าไม่มีความทุกข์ แล้วก็ย้อนกลับมาที่คำถามนี้ “เห็นรูปสวยๆ ผมก็มีความสุข”
ใครๆ ก็มีความสุข เห็นรูปสวยๆ ทำไมไม่มีความสุข ดูสิ เขาสร้างวัด สร้างวัดศิลปวัฒนธรรม อู้ฮู! อ่อนช้อย คนที่มาเขาก็สร้างสวยๆ ไว้เป็นศิลปะเป็นวัฒนธรรม รูปสวยๆ สร้างไว้ในพระพุทธศาสนา สร้างไว้เป็นสิ่งในบวรพระพุทธศาสนา สร้างไว้เพื่อบุญกุศลของเขา เขาทำบุญกุศลของเขา เขาสร้างทิ้งไว้
สิ่งที่เป็นวัตถุธาตุมันอยู่กับวัดอยู่กับวานี่แหละ แต่หัวใจของเขา หัวใจของเขาที่ประเสริฐ หัวใจของเขาที่เสียสละมาสร้างของเขา หัวใจของเขาได้วิมานบนสวรรค์ หัวใจของเขาๆ ไอ้วัตถุมันก็อยู่นั่นแหละ ไอ้รูปสวยๆ มันก็เป็นสิ่งสวยงาม
แต่เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ไปเที่ยวป่าช้า ให้ไปดูซากศพเขียวๆ ซากศพเน่าๆ ซากศพที่มันพุพอง ให้มันละราคะตัณหาความทะยานอยากในใจน่ะ อันนั้นประเสริฐกว่า
แต่ไอ้นี่มันเป็นเขาว่าเขาเห็นรูปสวยๆ แล้วเขามีความสุข
เห็นรูปสวยๆ แล้วมีความสุข มันเป็นประเพณีวัฒนธรรม วัฒนธรรม ดูสิ เราจะบอกว่ามันไม่ดีซะหมดเลยอย่างนี้ มันก็เหมือนเราพูดเกินไป
อันนี้ไม่พูดเกินไป อันนี้พูดความจริง ไอ้สิ่งที่สวยๆ เขาสร้างไว้ เขาสร้างไว้บูชา บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิ่งที่ดีงาม ไอ้รูปสวยๆ
“ผมเห็นรูปสวยๆ ผมก็มีความสุข”
เราเห็นรูปสวยๆ เราก็ว่ามันสวยงาม มันเป็นระเบียบเรียบร้อย มันเป็นศิลปวัฒนธรรมของชาวพุทธเรา มันเป็นศิลปะที่เกิดจากหัวใจของคนที่นุ่มนวล หัวใจนะ
เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาบอก ท่านเทศน์ไว้อยู่ในสุตตันตปิฎก พวกที่เป็นนักศิลปะพวกนี้ส่วนใหญ่แล้วมาจากสวรรค์ พวกมาจากสวรรค์ พวกศิลปวัฒนธรรม พวกนี้พวกจิตใจที่นุ่มนวล จิตใจของคนมันมีหยาบมีละเอียด มันแตกต่างกัน
ฉะนั้น เห็นรูปสวยๆ มีความสุข
มีความสุขก็ไม่มีโทษประหาร ไม่มีโทษจำคุก ถ้าบอกว่า ถ้าศาสนาพุทธต้องให้เป็นอสุภะหมดเลย ทำอะไรไม่ได้เลย สวยๆ ก็ไม่ได้ ต้องไปทำให้มันเป็นของที่อัปลักษณ์ ก็ไม่ใช่ นี่ไง รูปอันวิจิตรไม่ใช่กิเลสไง
รูปสวยๆ ศิลปวัฒนธรรมที่อ่อนช้อย มันเป็นกิเลสไหม มันมีชีวิตหรือ ไม่ใช่กิเลสหรอก แต่หัวใจของคนที่นุ่มนวล หัวใจของคนที่ละเอียดอ่อน หัวใจของคนที่ละเอียดอ่อนเขาทำให้เป็นศิลปวัฒนธรรม ให้ขัดเกลาหัวใจของคน นี่ในมุมมองของศิลปะ
เห็นรูปสวยๆ แล้วมีความสุข
มีความสุขก็ไม่เห็นมีโทษอะไรนี่ แต่มีสติปัญญาหรือไม่
ฉะนั้น เขาว่า “เมื่อได้ลิ้มรสอาหารที่อร่อย ผมก็มีความสุข”
รสอาหารที่อร่อย พอลงไปในท้องแล้วมันก็เป็นอาหารที่เหมือนกันทั้งนั้นน่ะ มันมีคุณค่าทางโภชนาการ กินอาหารครบ ๕ หมู่ เพราะร่างกายเรามันต้องการอาหาร ต้องการพลังงาน เวลากินอาหารเข้าไป กินอาหารเข้าไปเพื่อดำรงชีพ ดำรงชีพไว้เท่านั้นน่ะ ดำรงชีพแล้ว ดำรงชีพไว้ทำดีหรือทำชั่ว
ถ้าดำรงชีพในทางที่ดี ดูพระสิ ดูครูบาอาจารย์เราฉันมื้อเดียว ฉันอาหารพอดำรงชีพเท่านั้นน่ะ แล้วสิ่งใดฉันแล้วไม่ให้ธาตุขันธ์ทับจิตด้วย ถ้าธาตุขันธ์ทับจิตก็คนขี้เกียจ กินแล้วก็นอน นอนแล้วก็กิน
หลวงตาพูดทุกวัน ไอ้วิชากอนแล้วนิน กินแล้วนอน ไม่ทำให้เป็นคนดีหรอก วิชาที่คนขยันหมั่นเพียร คนทำแล้วมีความสุข ฉะนั้น เวลาคนที่ปฏิบัติเขาต้องร่างกายปลอดโปร่ง
ฉะนั้น “สิ่งที่ลิ้มรสที่อร่อยแล้วผมก็มีความสุข”
ลิ้มรสที่มันถูกธาตุขันธ์ ถ้าเป็นพระปฏิบัตินะ ถ้าธาตุขันธ์มันต้องการก็กินตามธาตุขันธ์นั้นเพื่อบำรุงธาตุขันธ์นั้น เพื่อให้ชีวิตนี้ดำรงต่อไป การดำรงชีพต่อไป ดำรงชีพไว้ทำไม เพื่อปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติ
นี่พูดถึงว่า ได้ลิ้มรสอาหารอร่อยก็มีความสุข
เราจะบอกว่า ถ้าเราจะยอมรับว่ามีความสุข มันก็ปรนเปรอ ถ้าโยมบอกว่าโยมลิ้มรสอาหารอร่อยแล้วมีความสุข ตอนนี้ในทางตะวันตกเขามีโรคอ้วนนะ เรากำลังรณรงค์อยู่ว่ากินอาหารแล้วสะสมร่างกายจนเป็นโรคอ้วน โรคอ้วนนี่เป็นโรคภัยไข้เจ็บ มันจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บมาเต็มไปหมดเลย
ถ้ากินอาหารแล้วมีความสุขก็ปรนเปรอมันจนเป็นโรคเป็นภัยอย่างนั้นหรือ มันก็ไม่ถูกทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าเราทานอาหารเพื่อดำรงชีพ ร่างกายมันต้องการพลังงาน เราก็อยู่กับมัน นี่เราไม่ได้คัดค้านจนบอกว่าต้องห้ามกินเลย กลายเป็นตุ๊กตาอยู่อย่างนั้นน่ะไม่ตาย ตุ๊กตาตั้งไว้มันไม่เคยตาย แต่คนตาย คนขาดอาหารตาย ฉะนั้น สิ่งที่ว่าลิ้มรส นี่ธรรมะสอนอย่างนี้ไง
ฉะนั้น คำถามว่า “สุขอื่นใดเท่าจิตสงบไม่มี มีรูปสวยก็มีความสุข กินอาหารอร่อยก็มีความสุข แล้วจิตสงบมันจะมีความสุขจริงหรือ”
คนไม่เคยทำมันก็ไม่รู้หรอก คนมันเคยทำขึ้นมา “สุขอื่นใดเท่าจิตสงบไม่มี” นี้เป็นพุทธพจน์นะ เป็นการยืนยันขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วผู้ใดปฏิบัติที่มีจิตสงบ ถ้าไม่มีความสุขอย่างนั้นแล้วเขาจะใฝ่หาทำไม ในเมื่อความสุขมันมีอยู่แล้ว รูปสวยก็สุข กินอิ่มลิ้มรสอร่อยก็สุข แล้วทำไมจะต้องไปหาความสุขที่เลิศกว่านั้น
ไอ้นี่ความสุขที่เลิศกว่านั้น สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี จิตสงบแล้ว กินอาหารขนาดไหนมันอร่อยที่ลิ้น อร่อยที่กิเลสของคน กินแล้วอยากกิน ของที่มีค่า ของที่มีราคา คนที่ไม่รู้จักกินแล้วไม่รู้จักอะไรเลย ไอ้ไข่ปลาคาเวียร์ที่มันแพงๆ ไอ้ที่คนกิน ให้เรากินแล้วมันก็เหมือนกินอาหารชนิดหนึ่งธรรมดา เราไม่รู้จัก ใส่มาเถอะ กูก็คิดว่าเป็นสาคูอันหนึ่ง ไม่รู้มันอร่อยตรงไหน แต่ถ้ามันอร่อย อร่อยเพราะว่าคนมันรู้ มันลิ้มรสของมันไง เพราะอะไร เพราะเราจะบอกว่ากิเลสตัณหาความทะยานอยาก เพราะด้วยการลิ้มรสที่ลิ้น
สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มีนะ
เวลาพระอรหันต์สามเณรน้อยสอนโปฐิละๆ ร่างกายนี้เปรียบเหมือนจอมปลวก ปิดรูทวารซะ ๕ รู ตา หู จมูก ลิ้น เปิดหัวใจไว้ แล้วคอยดูเหี้ยตัวนั้น คือกิเลสตัณหาความทะยานอยากที่มันอยู่กับใจมันจะโผล่มา แล้วถ้าจับเหี้ยตัวนั้นได้นะ เอามาพิจารณา
นี่เหมือนกัน เราก็ปิดตา หู จมูก ลิ้น กาย เหลือใจไว้ แต่ใจมันแส่ส่าย ใจมันดิ้นรน เพราะมันเอาไม่อยู่หรอก คนเรานะ เวลาเดินเวลาเหินอยู่ ทำอะไรสะดวกสบายทั้งนั้นน่ะ เวลานั่งนิ่งๆ จิตมันดิ้น
จิตมันดิ้น ถ้าพุทโธๆ จนจิตมันสงบ พอจิตสงบ มันวางอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันวางหมด แล้วมันเป็นเอกเทศ มันเป็นสักแต่ว่า สักแต่ว่า ยอมรับรู้เรื่องอายตนะ ยอมรับรู้เรื่องกาย แม้แต่ร่างกายนี้มันยังทิ้ง อยู่เป็นเอกเทศ อัปปนาสมาธินี่นะ จิตอยู่ในร่างกายนี้ แต่มันไม่รับรู้ร่างกายนี้
เราอยู่บนโลกนี้ใช่ไหม เราบอกว่าจุดยืน จุดยืนของเราก็คือแผ่นดินใช่ไหม แผ่นดินนี้เป็นจุดยืน เรายืนอยู่บนแผ่นดินนี้ไง อย่างไรก็แล้วแต่เราก็ต้องมีที่พักมีที่อาศัย แต่เวลาจิตมันอยู่ในร่างกายนี้ เวลามันเข้าสู่อัปปนาสมาธิ สักแต่ว่า มันไม่รับรู้ร่างกายนี้ เหมือนเราไม่ได้ยืนอยู่บนแผ่นดินนี้ไง ดูสิ เวลาคนเขาไปอยู่ในอวกาศ พ้นจากแรงโน้มถ่วง มันลอยของมันอยู่โดยธรรมชาติของมัน ไม่มีแรงโน้มถ่วง
นี่ก็เหมือนกัน พุทโธๆๆ จนจิตมันสงบ มันพ้นจากความโน้มถ่วง พ้นจากสรรพสิ่งทั้งหมด เป็นเอกเทศ จิตสงบ มันจะมีความสุขแค่ไหน
เขาถามว่า จิตสงบมันสุขอย่างไร
โอ๋ย! มันสุขมาก มันสุขที่โลกนี้ไม่มี มันสุขที่ใครค้นหาไม่ได้ ไม่มีซื้อไม่มีขาย ไม่มีการทำให้กัน สุขเกิดขึ้นจากการกระทำของตน แล้วจิตมันสงบเข้ามา สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี มันมีความสุขมาก ถ้าไม่สุขมาก ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติท่านจะบอกคือนิพพานได้อย่างไร
คนทำสมาธิยังติดสมาธิเลย คิดว่ามันเป็นนิพพานน่ะ เพราะว่ามันมีความสุข วิมุตติสุข ว่าวิมุตติสุข มันสุขอย่างนี้เอง สุขอย่างนี้เอง แต่ไม่ใช่
เวลาเข้าไปสงบ “อ๋อ! นิพพานเป็นเช่นนี้เอง” ส่วนใหญ่คนคิดอย่างนี้ พอจิตสงบแล้ว “อ๋อ! นิพพานเป็นเช่นนี้เอง” แต่ไม่ใช่ เพราะมันเป็นตัวตน นี่ไง สักแต่ว่า สักแต่ว่ายังมีเราอยู่ไง ยังมีเราอยู่ กิเลสมันสงบตัวลง มันมีความสงบของมันน่ะ โอ้โฮ! มหัศจรรย์ มหัศจรรย์ แล้วคนเป็นได้น้อย นักปฏิบัติทั้งหมดยังไม่เคยเข้าอย่างนี้
หลวงตามาโพธารามพูดบ่อย พูดถึงจิตรวมๆ บอกนักปฏิบัติด้วยกันยังเป็นได้น้อยมาก กรรมฐานนี่ไม่รู้จัก ในวงกรรมฐานมันทำไม่เป็น ถ้ามันเป็นมันไม่โม้อย่างนั้นหรอก
นี่ไง สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี มันต้องเป็นครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านได้พบได้เห็นแล้ว มันถึงยืนยันสิ่งนี้ได้ พอยืนยันสิ่งนี้ได้ ยืนยันด้วยความจริงในหัวใจอันนั้นไง ยืนยันด้วยข้อเท็จจริง ไม่ได้ยืนยันเพราะได้ยินมา ไม่ได้ยืนยันเพราะว่าเขาเล่าต่อๆ กันมา แล้วจำๆ กันมา แล้วก็มายืนยันกันไง นี่มันจะยืนยันด้วยปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก รู้ในหัวใจของตน
ฉะนั้น “สุขอื่นใดเท่าจิตสงบไม่มี” นี้เป็นคำยืนยันแรกเริ่มเดิมทีจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนนะ นี้เป็นพุทธพจน์จริงๆ เลยล่ะ นี่แหละเป็นคำพูดของพระพุทธเจ้าเลยล่ะ “สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี”
ฉะนั้น เขาบอกว่าเขาเห็นรูปสวยๆ เขากินอาหารอร่อย เขาก็มีความสุขไง แล้วบอกว่า “สุขที่มีเงินเยอะๆ หรอกครับ ถึงจะต้องทำอย่างไรให้จิตสงบได้ครับ” นี่เขาบอกว่าเวลาถ้าเขามีเงินเยอะ
เงินก็กองไว้นั่น เรื่องเงินนี่สำคัญมากนะ เราอยู่กับหลวงตา ลูกศิษย์ของท่านมาจากอเมริกา อยู่นิวยอร์ก เป็นผู้หญิงอายุแก่เฒ่า เป็นเศรษฐีนะ เขาบอกว่าเขามีเงินกองไว้ในบ้านอยู่ในอะพาร์ตเมนต์อะไรกองไว้เต็มเลย
แล้วมีอยู่วันหนึ่งแกป่วยขึ้นมา แล้วคนมันมีวาสนามันคิดได้ไง “โฮ้! เงินก็ช่วยอะไรเราไม่ได้เลย ไม่มีใครช่วยอะไรเราได้เลย” เขากดเรียกรถพยาบาล เวลาเขาป่วยขึ้นมา รถพยาบาลมารับแล้วเอาไปโรงพยาบาล แล้วเขาก็ไปนั่งทบทวนที่โรงพยาบาลไงว่ามันไม่มีใครช่วยอะไรเขาได้เลย เงินของเขาเยอะนะ
สุดท้ายแล้วนะ พอหายป่วย ซื้อตั๋วเครื่องบินมาที่บ้านตาด เพราะเขาอ่านประวัติของหลวงปู่มั่นภาษาอังกฤษ อาจารย์ปัญญาแปลภาษาอังกฤษไป เขาไปเจอเข้า พอเขาเจอเข้า เขาตีตั๋วมาหาหลวงตาเลย แล้วมาเล่าถึงความในใจของเขาให้หลวงตาฟังว่าเงินเขานี่เป็นห้องๆ
แล้วก็แปลกนะ สมัยนั้นเขาเก็บเงินสดไว้บ้านหรือ แล้วถ้ามันคิดโต้แย้งไง เขาบอกเงินเขาเป็นห้องๆ เลยนะ ของเขามหัศจรรย์เต็มไปหมดเลย แต่เวลาจะตายจริงๆ ต้องไปกดปุ่ม รถพยาบาลมารับ
นี่ไง สุขเพราะเงินเยอะๆ ของเอ็งน่ะ มีคนมีประสบการณ์อย่างนี้เยอะแล้ว เอ็งไม่ต้องมาถามหรอกว่าสุขเพราะมีเงินเยอะหรือครับ นี่เขาว่าเขามีเงินเยอะๆ แล้วจิตสงบมันจะมีความสุขกว่าเงินเยอะๆ ได้อย่างไร
เวลาคนที่จิตใจมันต่ำนะ เขาวัดกันด้วยตัวเลข เราเห็นพวกเศรษฐีเขามีความทุกข์มากว่าเงินของเขามันไม่เพิ่มจำนวนเท่ากับเป้าหมายของเขา เขามีเงินเท่าไรก็แล้วแต่ เขาคำนวณนะ ปีหนึ่งจะเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วมันไม่เพิ่มขึ้นเท่าจำนวนนั้น โอ้โฮ! เป็นทุกข์เป็นร้อนนะ เดือดร้อนมาก
แล้วที่เรารู้เพราะลูกหลานเขามาเล่าให้ฟังว่าป๊าเขาเป็นอย่างนั้น เวลาเงินมันไม่ขึ้นเท่ากับตัวเลขที่ตัวคาดหมายไว้ ทุกข์มาก ทั้งๆ ที่เงินเยอะแยะนะ แต่เขาทุกข์มากว่ามันไม่เข้าเป้า ว่าปีหนึ่งมันจะเพิ่มกี่เปอร์เซ็นต์ๆ ในจำนวนที่เขาคำนวณ แล้วบางปีมันไม่ได้เท่าจำนวนที่มันเพิ่มยอด นี่เศรษฐีนะ เศรษฐี
แล้วเอ็งบอกว่ามีเงินเยอะแล้วมีความสุข
กูเห็นคนเงินเยอะๆ แล้วทุกข์นี่เยอะแยะเลย เห็นเยอะมากไอ้ที่ว่าเศรษฐีแล้วมาบ่นทุกข์ๆ กับเรานี่เยอะมาก
เราอยู่กับหลวงตาเหมือนกัน ปีนั้นบุญชู โรจนเสถียร เขาเป็นผู้จัดการธนาคารกรุงเทพฯ สมัยนั้น ไปทำบุญกับหลวงตา ขนอาหารไปเต็มเลย แล้วเรานั่งอยู่หลังหลวงตา หลวงตาท่านพูดขึ้นมา เรายังจำได้จนป่านนี้ไง
พอพวกนี้เขาลงไปแล้ว ท่านถามพระ ถามพวกเรา “ท่านเคยเห็นไหมว่าพวกมีเงินเขาไม่มีความสุขๆ เพราะพวกนี้เขามาทีไรเขาก็มาบ่นทุกข์ให้ฟัง บ่นทุกข์ให้ฟัง”
ที่เราพูดนี่พูดด้วยข้อเท็จจริงทั้งนั้นน่ะ เราได้เห็นได้ยินมากับหู เราได้เห็นมากับตา ไอ้พวกที่ว่ารวยๆ รวยๆ แล้วมาปรับทุกข์กับหลวงตานี่เยอะแยะ เยอะแยะ
แต่นี่เขาบอกว่าเอ็งมีเงินเยอะๆ แล้วสุข
ไอ้นี่คำถาม ฉะนั้น เราจะบอกว่าคำถามมันย้อนแย้งกันเอง แต่วันนี้ เวลาเราเทศน์ไปเราก็เข้าใจ เพราะเราเป็นคนพูดเอง รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร แล้วบางทีเราก็พูดเอง รูป รส กลิ่น เสียงอันวิจิตรไม่ใช่มาร
ไอ้คนฟังก็คงงงๆ เนาะ เอ๊! หลวงพ่อนี่สงสัยต้องจับส่งโรงพยาบาล เดี๋ยวก็ว่ามาร เดี๋ยวก็ว่าไม่ใช่มาร
มันเป็นมารต่อเมื่อเรามีกิเลส ที่เราฝึกหัดกันอยู่นี่มันเป็นมาร มันทำลายหัวใจของเรา แต่เวลาปฏิบัติถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์แล้วมันไม่ใช่มาร มันหมดไปจากหัวใจ มันไม่ใช่มาร ไม่ใช่ มันเป็นมารเพราะหัวใจเรา แล้วเรากำราบปราบปรามในหัวใจเราจบสิ้นแล้ว มันจะเป็นมารได้อย่างไร
สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี จิตสงบมันสงบโดยไม่เจือปนด้วยอามิส มันสุขโดยตัวของมันเอง มันสุขโดยคุณภาพของมันเอง มันไม่เจือด้วยอามิส
ไอ้เราน่ะมันสุขด้วยอามิส อามิสสินจ้าง ต้องจ้างให้สุข ต้องมีทรัพย์สมบัติ มีคนยกย่องสรรเสริญ มีคนคอยพะเน้าพะนอ มันถึงจะมีความสุข สุขโดยการเจือปนด้วยอามิส ด้วยอามิส ด้วยสินจ้าง
สุข ความสงบ มันสุขในตัวมันเองไง มันสุขด้วยเอกเทศ ไม่พึ่งพิง ไม่เกาะเกี่ยวกับอามิสใดๆ ทั้งสิ้น สุขโดยความเป็นอิสระ โดยความอิสรภาพ สุขโดยความเป็นจริง นี่สุขแท้ๆ เอวัง