เทศน์เช้า วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ ตั้งใจฟังธรรม คนเราถ้ามีอำนาจวาสนามันจะแสวงหาบุญกุศลใส่หัวใจของตน นี่บุญกุศล คนเราเกิดมา สิ่งที่จะเป็นสมบัติของหัวใจนี้คือบุญและบาปเท่านั้น เวลาบุญและบาป แล้วบุญและบาปเกิดมาจากไหน เกิดจากการกระทำ การกระทำของเรา ชีวิตประจำวันของเรานี่แหละ ชีวิตประจำวัน คนที่ทำบุญกุศลเห็นสิ่งใดนะ เรามีเมตตาต่อเขา เรามีน้ำใจต่อเขา นั่นน่ะมันเป็นการสร้างอำนาจวาสนาของเรา ถ้าชีวิตประจำวันของเรา เราบีบบี้สีไฟ เราทำลายเขาไปทั่ว นั่นน่ะมันสร้างบาปสร้างกรรมให้กับใจของตน บาปกับบุญมันก็มาจากชีวิตประจำวันเรานี่แหละ บาปกับบุญก็มาจากการกระทำของเรานี่แหละ การกระทำของเราไง ถ้ามีอำนาจวาสนานะ การกระทำนั้นเป็นบุญกุศลทั้งนั้นน่ะ
ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ของเรา ชีวิตของท่านเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาทั้งวันทั้งคืน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดานะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์นะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเดินจงกรมอยู่ ยสะ “ที่นี่เดือดร้อนหนอ ที่นี่วุ่นวายหนอ” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำอะไรอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเดินจงกรมอยู่นะ เดินจงกรมอยู่นะ “ยสะมานี่ ยสะมานี่”
ดูสิ เวลาอชาตศัตรู ด้วยอำนาจวาสนา อยากจะเป็นกษัตริย์ ด้วยความยุยงของเทวทัต ทำลายพ่อ ทำร้ายพ่อ พอทำลายพ่อไป นั่นก็ชีวิตประจำวันไง อยากได้ตำแหน่งหน้าที่การงานของตนไง บีบบี้สีไฟมา บีบคั้นมาจะเอาให้ได้ไง เวลาได้ขึ้นมาแล้ว ได้เป็นกษัตริย์แล้วมีแต่ความทุกข์ร้อน นั่งอยู่ราชบัลลังก์มีแต่ความทุกข์กัดในหัวใจน่ะ
หมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นอำมาตย์ ทุกคนก็อยากจะแสวงหา ทุกคนก็อยากจะบรรเทาทุกข์ไง จะเชื้อเชิญไปหาอาจารย์ของตนๆ เวลาอชาตศัตรูเชื่อแล้ว ฟังแล้ว ไปกับหมอชีวก หมอชีวกพาไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ไปเวลากลางคืนไง กษัตริย์เขาไปกลางคืน เพราะมันมีเวลาว่างของเขา ไปถึงที่มันสงบสงัด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเดินจงกรมอยู่ จนอชาตศัตรูนะ มีความระแวงไง หรือว่าเขาจะลอบปลงพระชนม์ เขาจะเอาเรามาฆ่าหรือเปล่า เวลาชักเริ่มระแวงจะทำร้ายหมอชีวก หมอชีวก “นั่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเดินจงกรมอยู่ เห็นไหมน่ะ” เห็นแสงไฟขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเดินจงกรมอยู่ เข้าไปพบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
นี่ศาสดาของเราๆ ชีวิตประจำวันของท่าน ท่านทำอะไรของท่าน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอะไร เป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นน่ะ ท่านเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาของท่านโดยธรรมชาติของท่าน นี่วิหารธรรมๆ ไง พุทธกิจ ๕ เช้าขึ้นมาเล็งญาณเพื่อว่าคนที่มีอำนาจวาสนา แต่ว่าชีวิตเขาสั้น นี่คนที่มีอำนาจวาสนา
คนถ้าไม่มีอำนาจวาสนา วัดเชตวัน วัดต่างๆ ก็มีประชาชนล้อมรอบวัดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าคนเขาไม่สนใจ อยู่ข้างวัดเขาก็ไม่สนใจ เขาไม่สนใจของเขาหรอก แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมาสัมพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ ไปเอาคนข้างนอก เอาคนที่เขาหูตาสว่างไง เอาคนที่เขามีความทุกข์ความระทมบีบคั้นหัวใจไง แต่เขามีอำนาจวาสนา เห็นไหม นี่ชีวิตประจำวัน ชีวิตประจำวันคนที่แสวงหาของเขา เขาแสวงหาเพื่อประโยชน์กับเขา นี่ก็เหมือนกัน ถ้าคนที่มีสติมีปัญญา เราทำเพื่อประโยชน์กับเราไง
นี่ไง บอกว่าทุกอย่างเบียดเบียนกันๆ เวลาพระเขาไม่ทำอะไรเลย พระเขาต้องบิณฑบาต ในเมื่อเวลามาบวชพระ บริขาร ๘ บาตรนั้นคืออาหาร บาตรนั้นให้ภิกขาจาร สิ่งเครื่องอาศัยก็จีวร ถ้ายารักษาโรคก็น้ำมูตรเน่า ถ้าอยู่ก็อยู่ในเรือนว่าง มันต้องมีปัจจัย ๔ แต่ปัจจัย ๔ ของคนที่ไปยึดติดมัน ปัจจัย ๔ เป็นปัจจัย ๔ เป็นเครื่องอาศัย แต่ความจริงๆ ความจริงก็ต้องฝึกหัดของตน ความจริงต้องทำหัวใจของตน ความจริงต้องประพฤติปฏิบัติของตน ทำหัวใจของตนให้มันเป็นศีลเป็นธรรมขึ้นมา ถ้าทำหัวใจของตนเป็นศีลเป็นธรรม มันมีนวกรรมในใจ นวกรรมคือการกระทำ มันมีการกระทำขึ้นมาแล้วมันมีองค์ความรู้ มันมีองค์ความรู้ มันมีจุดยืนของมัน มันไม่หวั่นไม่สั่นคลอนไง
ไอ้ของเราชาวพุทธศึกษาเยอะ ปัญญาเยอะ แต่ไม่มีนวกรรมในใจ ไม่มีการกระทำ จำเขามา ศึกษามาทรงธรรมทรงวินัยของเรา ศึกษามาอย่างนั้นน่ะ แต่มันมีนวกรรมในหัวใจไหม มันมีการกระทำไหม นวกรรม มันมีการกระทำในหัวใจ เวลาใจมันจะคิด เวลามันคิด เวลามันทุกข์มันยากขึ้นมา นั่นน่ะกิริยาของมันทั้งนั้นน่ะ ถ้ามีนวกรรมก็มีการกระทำอันนั้น ถ้ามีการกระทำอันนั้น สติปัญญามันทำอันนั้น แล้วอันนั้นมันจะเคลื่อนไปได้ไหม
นี่พูดถึงเวลาทำงานๆ ไง นี่ชีวิตประจำวัน ชีวิตประจำวันอะไร ปากกัดตีนถีบหามาเพื่อหาอยู่หากิน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐ สิ่งนี้ประสบความสำเร็จในชีวิต ประสบความสำเร็จในทางโลก โลก ประสบความสำเร็จในชีวิตในทางโลก แต่ทุกชีวิตก็ต้องพลัดพรากจากไป ทุกชีวิตต้องพลัดพรากจากไปนะ แต่คนมีสติปัญญานะ พร้อม
เวลาเราพิมพ์หนังสือนะ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เวลาประวัติของท่านน่ะ เวลาท่านลาวัฏฏะ หลวงปู่มั่น “ต้องเอาเราไปวัดป่าสุทธาวาส” เวลาไปถึงวัดป่าสุทธาวาส หลวงตาท่านเล่า เราเกิดไม่ทันหรอก ลืมตาขึ้นมามองนะ มองซ้าย มองขวา มองจำได้ “เออ! นี่กุฏิเรา” เพราะโยมนุ่นเขาสร้างไว้ให้หลวงปู่มั่นเสียเอง นี่ลาวัฏฏะแล้ว พอกันที มาถึงเป้าหมายทั้งทางธรรมและทางโลก ทางธรรมคือหัวใจท่านสิ้นกิเลสไปแล้ว ทางโลกไม่รบกวนใคร พอกันที
เวลาหลวงปู่เสาร์ช่วงปลายชีวิตของท่าน ท่านไปวัดที่ท่านบวช ไปวัดที่อุปัชฌาย์ของท่าน ท่านไปทำบุญกุศลเป็นครั้งสุดท้าย นี่ไง ลาแล้วๆ คนจะลาวัฏฏะ คนที่มีบุญกุศลในหัวใจ เขาพร้อมแล้วที่จะพลัดพรากจากไป แล้วพลัดพรากจากไปเป็นอนุปาทิเสสนิพพาน
สอุปาทิเสสนิพพานคือยังมีเศษส่วนอยู่ ยังมีชีวิตอยู่ ยังมีธาตุขันธ์อยู่ ธาตุขันธ์ สิ่งที่เป็นกิริยาๆ ที่เขาว่ากันน่ะ ถ้ากิริยาแล้วเอ็งไปยึดมั่นถือมั่นทำไม กิริยา เอ็งไปคว้ามาทำไม แล้ววิหารธรรมในใจของเอ็งอยู่ที่ไหน ถ้ามีวิหารธรรมในใจ นี่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง
ชีวิตประจำวันๆ ชีวิตประจำวันมันมีค่าตรงไหน เวลาจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาต้องปฏิบัติในชีวิตประจำวัน กลัวนักกลัวหนาว่างานของตัวจะไม่เสร็จ กลัวนักกลัวหนาว่าจะไม่ได้ไปหาผลประโยชน์ กลัวนักกลัวหนาเลย แล้วภาวนาขึ้นมาก็ภาวนาเพื่อชีวิตประจำวันไง
ชีวิตประจำวันก็ชีวิตประจำวัน ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมาแล้วมันก็ทำของมันได้ ถ้าทำของมันแล้ว ไอ้นี่มันเป็นนิสัยนะ นิสัยของคน คนอยู่ทางโลกถ้าเขามีสติมีปัญญาของเขา เขามีจุดยืนของเขา เวลาบวชมาเป็นพระเป็นนักปฏิบัติมันก็ปฏิบัติดี คนเหลวไหลๆ ทางโลกก็เหลวไหล พอบวชมาเป็นพระก็เป็นพระที่เหลวไหล ถ้าเป็นนักปฏิบัติก็เป็นนักปฏิบัติเหลวไหลเพราะมันเป็นจริตนิสัยอันนั้น มันมาจากใจอันนั้น ถ้ามาจากใจอันนั้น ถ้าใจอันนั้นถ้ามันมีอำนาจวาสนา มันต้องฝึกหัดเอาที่นี่สิ
ถ้าภาวนาไม่ได้ ภาวนาไม่ได้ก็ภาวนาเพื่อบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง ถ้าเราภาวนาไม่ได้ เพราะภาวนาต้องมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา แล้วศีล สมาธิ ปัญญามันอยู่ที่ไหน จับต้องอะไรไม่ได้ จับต้องแล้วมันคว้าน้ำเหลวทั้งนั้นน่ะ ถ้าคว้าน้ำเหลวไม่มีจุดยืนขึ้นมาก็บูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เหมือนในทางโลก เวลาเขาทำบุญกุศล ทำบุญกุศลเพื่อในหลวง อุทิศให้ในหลวง แต่จริงๆ เป็นอุบาย คนทำบุญกุศลอุทิศให้ในหลวง เขาได้กุศลหรือไม่ เขาได้ทำของเขา เพราะเขาทำของเขา เขามีบุญกุศลของเขา เขาถึงอุทิศให้คนอื่นได้
นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเมื่อเราเหลวไหล เราไม่มีจุดยืนของเรา เราปฏิบัติธรรมเพื่อบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ไง เหมือนกับเราทำความดีเพื่อพ่อเพื่อแม่ไง ลูกมันก็ดีขึ้นมาโดยการกระทำของเขา นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัติของเรา ทำคุณงามความดีของเราเพื่อบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันก็เป็นคุณงามความดีของเรา
ถ้าจะบอกทำเพื่อคุณงามความดีของเรา คุณงามความดีมันอยู่ไหน คุณงามความดีมันจับต้องไม่ได้ ศีล สมาธิ ปัญญามันอยู่ไหน ศีล สมาธิ ปัญญา ตะครุบเงาแล้วไม่ได้สิ่งใดเลย ได้แต่ฟืนแต่ไฟมา แต่เวลาบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วสบายใจ บูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้ามันเป็นจริงก็เป็นจริงของเรา ถ้าไม่มีอำนาจวาสนามันต้องขนาดนั้นน่ะ
ถ้ามีอำนาจวาสนา เราทำของเรา เราทำของเรานะ เราหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธแล้วมันชัดเจนของมัน ถ้ามันสงบระงับเข้ามาก็มีความสงบระงับเหตุที่เราทำ แต่เวลาเหตุที่เราทำ เวลาเหตุที่เราทำมันเป็นความทุกข์ความยาก ถ้ามันทำประสบความสำเร็จแล้วมีความสุข แล้วก็จะไปยึดมั่นกับความสุขอันนั้นๆ ความสุขอันนั้นมันก็เป็นผล ก็เป็นวิบากไง
ถ้ามันพุทโธๆ จิตมันสงบระงับก็เป็นความสุขใช่ไหม ถ้าความสงบระงับ เราก็อยากได้ความสุขอันนั้น แต่เราลืมไปว่าเหตุไง เหตุที่มาของมัน เหตุที่มาคือกำหนดพุทโธ คือการนั่งสมาธิ การเดินจงกรมอันนั้น ถ้านั่งสมาธิ เดินจงกรมนั้น เพราะผลของมันถึงความสงบอย่างนั้น ถ้าเราอยากได้ความสงบอย่างนั้นมีความสุขอย่างนั้น เราต้องกลับมาเดินจงกรมให้มากขึ้น กลับมาหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธให้มันละเอียดมากขึ้น ละเอียดขึ้น แล้วผลของมัน มันก็จะเป็นความสุข เป็นผลวิบากอันนั้น ถ้าผลวิบากอันนั้น ผลที่นั่น ผลมันมาจากการกระทำ ธรรมทั้งหลายมาจากเหตุ มันต้องมีเหตุมีผลของมัน มันถึงมีที่มาที่ไปของมันไง นี่ไง นวกรรมไง มีการกระทำ มีองค์ความรู้มีความจริงขึ้นมาไง ถ้ามีองค์ความรู้มีความจริงขึ้นมา เราอยู่ที่องค์ความรู้ความจริงอันนั้น ผลมันก็เป็นอันนั้นไง
แต่นี่เราจะไปเอาผลกันไง มันจะมีความสุข ความสุขอันนั้นเกิดจากการเราตรากตรำมาไง มันไม่เหมือนเงินนี่ เราทำงานมาได้เงินมาแล้วเก็บใส่กระเป๋า เงินก็อยู่ในกระเป๋าน่ะ มันยังมีเสื่อมค่านะ นี่ก็เหมือนกัน จิตสงบแล้วเดี๋ยวมันก็คลายออก จิตมันจะมีผลอย่างไรนะ มันต้องเปลี่ยนแปลงของมัน สรรพสิ่งในโลกเป็นอนิจจัง ไม่มีสิ่งใดคงที่เลย แปรปรวนตลอดไป เว้นไว้แต่อกุปปธรรม อกุปปธรรมที่เราพิจารณาไปแล้ว พิจารณาไปแล้วด้วยสติด้วยปัญญาของเรา มันถอดมันถอนไปแล้วน่ะ ถ้ามันเป็นอกุปปธรรมคือเป็นสัจจะความจริงแล้ว อันนั้นน่ะไม่เสื่อม ถ้าไม่เสื่อมมันก็ต้องไม่เสื่อมด้วยความเป็นจริงของเรา
แต่ถ้ามันยังอยู่ในสพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ก็ยืนยันกันนักนี่ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา...ใช่ มันเป็นอนัตตา แล้วเป็นอนัตตา ใครเป็นเจ้าของ เป็นอนัตตา ใครเป็นคนรู้ ถ้าบอกรู้ขึ้นมา เขาก็บอกเป็นรูปนะ ไอ้ที่ว่านิพพานคือนิพพาน มันเป็นรูปๆ
รูปอะไร รูปอะไร ถ้าไม่ทำลายรูปก่อนมันจะเป็นนิพพานได้อย่างไร ภวาสวะ ตอของจิตนั่นน่ะ สิ่งที่จะมาทำลายตอนั้น ทำลายภพทำลายชาติทั้งหมดแล้วมันเหลืออะไร ถ้ามันเหลือ มันเหลือเป็นความจริงอันนั้นไง เขามีนวกรรมของเขา เขามีองค์ความรู้ของเขา เขาถึงชี้แจงความรู้ความเป็นจริงอันนั้นได้อย่างไร
แต่พอบอกว่ามันเป็นอกุปปธรรมมันก็เป็นรูป เป็นรูปมันก็เป็นตัวตน เป็นรูปมันก็เป็นปฏิสนธิจิตนู่นน่ะ มันเป็นปฏิสนธิวิญญาณที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะเสียด้วย ไอ้ที่มันเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะด้วยเวรด้วยกรรมมานั่งกันอยู่นี่ไง พอมานั่งอยู่นี่มันเกิดมาจากอะไรล่ะ เกิดจากปฏิสนธิจิต เกิดจากเวรจากรรม กรรมดีกรรมชั่วนะ
ฟังธรรมๆ ฟังธรรมก็เรื่องหัวใจดวงนี้แหละ ถ้าหัวใจดวงนี้มีการกระทำ หัวใจดวงนี้เวลาไม่มีใครย้ำเตือนมันไง นี่อานิสงส์ของการฟังธรรม สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง สิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้ว สิ่งที่ยังความลังเลสงสัย สิ่งที่ทำไม่ได้ ฟังธรรมตอกย้ำๆ นี่ไง นี่อานิสงส์ของมันไง
นี่ก็เหมือนกัน มันเป็นความจริงอย่างนี้ เวลาศึกษาแล้ว ศึกษา เพราะตัวไอ้ศึกษานี้ที่ว่าถ้านิพพานมันก็เป็นรูป ก็ตัวรูปนี่แหละ ตัวภาสวะนี่แหละ ตัวภพนี่แหละ ตัวปฏิสนธิจิตนี่แหละมันมีอวิชชา พอมีอวิชชาขึ้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นมามันเลยเกิดขึ้นจากกิเลสไง ปัญญาที่ศึกษา ศึกษาจำธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ทรงจำธรรมวินัยด้วยอวิชชา ด้วยความไม่รู้ในหัวใจอันนั้นไง
แต่ถ้าเป็นความจริงๆ มันสงบระงับเข้ามาแล้วมันต้องทำลายเป็นชั้นเป็นตอนๆ เข้ามา มันจะเป็นรูปตรงไหน มันจะไม่เป็นรูปเพราะคนที่รู้จริงเท่านั้นนี่แหละ แต่คนที่คาดที่หมายเพราะมันไม่มีองค์ความรู้ ไม่มีนวกรรมในใจ มันก็คิดทรงจำมา มันก็เทียบเคียงมาอย่างนั้นน่ะ ถ้าเทียบเคียงอย่างนั้นมันก็เข้าใจเราอย่างนั้นไง นี่ไง เข้าใจอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะว่าธรรมะมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด
เวลาหยาบๆ ก็พูดกันภาษาหยาบๆ นี่แหละ เวลาระดับกลางก็กลางขึ้นมา ระดับละเอียดก็ละเอียดขึ้นมา แต่เวลาเราพูดขึ้นมามันเป็นทางโลก เป็นวิทยาศาสตร์ไง สมมุติคือสมมุติ บัญญัติคือบัญญัติ คำพูดคือคำพูด ความหมายคือความหมายไง ความหมายอย่างนั้นไง ทาน กิน เสวย นี่ไง มันก็กิริยาทั้งนั้นน่ะ มันก็เป็นคำพูดทั้งนั้นน่ะ คำพูดมันเป็นสมมุติอันหนึ่ง สมมุติอันหนึ่ง เวลาแสดงธรรมๆ แสดงธรรมมันต้องดูพื้นฐานก่อน พื้นฐานครูบาอาจารย์ หลวงปู่มั่น เวลาหลวงปู่มั่นท่านแสดงธรรม ท่านแสดงถึงความสงบของใจเข้ามาก่อน
ถ้าใจไม่สงบ ความคิดความอ่านนั้นน่ะ เห็นไหม เวลาทางโลก รกคน คนมันรก ป่ารกชัฏๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ถากถางป่าทั้งหมด ไม่ได้ตัดต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว ถากถางป่าทั้งหมด ถากถางไปทั้งหมด ไม่ได้ตัดต้นไม้แม้แต่ต้นเดียวไง นี่รกคนไง รกคน รกป่าไง ถ้าไม่ทำความสงบของใจเข้ามามันก็รกชัฏอยู่อย่างนั้นน่ะ มันก็ทำลายอยู่อย่างนั้นน่ะ
แต่ถ้ามันทำความสงบเข้ามาก่อน ทำความสงบเข้ามา ก็เหมือนเราปรับพื้นที่ เราทำท้องนาท้องไร่ของเราเพื่อพร้อมที่จะทำนาทำไร่ไง แต่ถ้ามันไม่ได้ทำความสงบของใจเข้ามานะ มันก็ป่ารกชัฏนั่นน่ะ รกคน ป่าคนไง นี่ก็ป่ากิเลสไง กิเลสในหัวใจนั่นน่ะ แต่ทำความสงบของใจเข้ามา เขาบอกต้องทำทำไม ต้องทำทำไม
คนคาดการณ์ คนจินตนาการก็จินตนาการไปอย่างนั้นน่ะ พอจินตนาการไปแล้วมันไม่เป็นความจริงๆ ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา นี่ฟังธรรม ฟังธรรมขึ้นมาแล้ว กาลามสูตร เริ่มต้นขึ้นมาให้มีศรัทธาความเชื่อก่อน ถ้าไม่มีความเชื่อมันไม่มีหัวรถจักรลากเข้ามา ลากเข้ามาให้เราศึกษาให้เราค้นคว้า พอเราศึกษาค้นคว้าขึ้นมาแล้ว ศึกษาค้นคว้านี่ทรงจำธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเป็นความจริงๆ ความจริงต้องเกิดจากการกระทำของเรา ถ้าเป็นความจริง กาลามสูตร ไม่เชื่อแล้ว ถ้าความเชื่ออันนั้น ความเชื่อมันจะชักนำจะโน้มนำโน้มน้าวให้จินตนาการไปอย่างนั้น เพราะความเชื่อนั่นน่ะ ถ้าความเชื่อมันก็โน้มน้าวไปอย่างนั้น มันก็เริ่มต้น การปฏิบัติมันต้องเป็นแบบนี้ มันเป็นแบบนี้เพราะอะไร เพราะว่ามันสมมุติบัญญัติไง เพราะคนเรามันหนาไง ปุถุชนคนหนา แล้วกัลยาณชน คนทำสมาธิได้ง่ายขึ้น
จากปุถุชนเป็นกัลยาณชน จากกัลยาณชนเป็นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล แล้วนิพพาน ๑ นู่น ถ้านิพพาน ๑ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เป็นรูปอยู่อีกหรือไม่
ถ้าเป็นรูป มันผิดมาตั้งแต่ต้น เป็นรูปมันก็เป็นรูปมาตั้งแต่ต้น เป็นรูปมันจะไม่มีคุณธรรมในใจเลย เป็นรูป ถ้าเป็นรูปอยู่ ติดในสมาธิอยู่ ติดในตัวตนนั้นอยู่นั้นจะเกิดปัญญาขึ้นมาไม่ได้ ถ้าเกิดปัญญาขึ้นมาก็ไปเกิดเป็นปัญญาจินตนาการ ปัญญาที่จินตนาการมันก็สร้างภาพ ก็ตะครุบเงา มันก็ตะครุบอยู่นั่นน่ะ มันไม่ขยับไปไหนหรอก ถ้ามันผิด มันผิดมาตั้งแต่นั่น
แต่ถ้ามันเป็นจริงๆ มีครูบาอาจารย์ขึ้นมา ท่านจะโน้มน้าวขึ้นมาให้ฝึกหัดใช้ปัญญา แล้วปัญญาที่เกิดขึ้นจากในพระพุทธศาสนา ปัญญาเกิดจากการภาวนามยปัญญา มันจะโยนทิ้งเลยไอ้ปัญญาที่ศึกษามาน่ะ ทั้งที่เป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ สาธุ ศึกษามา ศึกษามาเป็นศาสดาของเรา แต่ถ้าเวลาเป็นความจริงของเรา ดูพระสารีบุตรสิ เวลาบรรลุธรรมแล้วไม่เชื่อใครทั้งสิ้นๆ กาลามสูตรไง ไม่เชื่อใครเลย เชื่อผลของการปฏิบัตินี่ไง นี่ก็เหมือนกัน เวลาเกิดภาวนามยปัญญาขึ้นมาแล้วมันจะแตกต่างกับความจำ
ความจำ สาธุ เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ของเรา เวลาเป็นของเราเกิดนวกรรม เกิดการกระทำ โอ้โฮ! อันนี้ๆ แล้วอันที่เป็นความจริงมันจะไปตะครุบเงาอีกไหม ถ้ามันมีความจริงขึ้นมามันจะไปตะครุบเงาไหม ไอ้ที่มันตะครุบเงา ตะครุบเงาเพราะมันศึกษามันทรงจำมา ทรงจำก็ทบทวนๆ ตะครุบเงาไว้ ดึงเงาไว้ รั้งเงาไว้ กลัวเงามันจะหายไปจากหัวใจไง แต่ถ้ามันเป็นความจริงๆ ความจริงมันเกิดขึ้นมาเป็นความจริงอย่างนี้
อานิสงส์ของการฟังธรรม อานิสงส์ของการฝึกฝน อานิสงส์ของการกระทำ ถ้าการกระทำ เรื่องในใจเราทั้งนั้นนะ ศึกษามา ศึกษามาทั้งนั้นน่ะ ศึกษามาแล้วสาธุ เวลาหลวงปู่มั่นท่านพูดกับหลวงตา ถ้าเราประพฤติปฏิบัติไปแล้วถึงที่สุดแล้ว ความจำอันนั้น ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธพจน์นั้นกับนวกรรมในใจของเรา จากการกระทำของเรา สาธุ อันเดียวกัน ถ้าอันเดียวกันแล้วไม่เกิดความสงสัย
แต่นี่มันไม่ใช่ นั่นจะเป็นอย่างนั้น ไอ้ปฏิบัติไปมันขัดแย้งอย่างนี้ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นอย่างนั้น แล้วมันจริงหรือเปล่า ปฏิบัติไปมันจะเกิดอย่างนี้ หลวงปู่มั่นท่านบอกมันจะเตะมันจะถีบกันไง มันจะขัดแย้งกันโดยข้อเท็จจริง ไอ้ความจำ ความจำมันช่องว่าง แล้วมีอวิชชาความไม่รู้มาเป็นตัวแปรอีก แล้วยังมีการคาดหมายเข้ามาเสริมอีก แล้วเวลาปรากฏการณ์ในใจก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันหมุนอยู่อย่างนั้นน่ะ
ทิ้งให้หมด ทิ้งให้หมด พิจารณาแล้วพิจารณาเล่าจนกว่ามันจะถอดมันจะถอน จนกว่ามันขาวสะอาด จนกว่ามันจะผ่องแผ้ว จนกว่ามันจะเป็นสันทิฏฐิโกรู้จริงเห็นจริง จนกว่ามันจะกระจ่างแจ้งกลางหัวใจ พอกระจ่างแจ้งกลางหัวใจ นี่เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ไม่มีใครบอก ไม่มีใครคาดหมายได้ เป็นจริงมันต้องเป็นจริงอย่างนั้น มันต้องมีครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นจริงขึ้นมาแล้วท่านจะคอยตรวจสอบๆ ตรวจสอบพวกเรานี่ ตรวจสอบความเข้าข้างตัวเองนี่ ตรวจสอบการให้คะแนนตนเองนี่ ตรวจสอบความอวดอ้างตัวนี่ ถ้ามันเป็นจริง มันเป็นจริงอย่างนั้น เราทำเพื่อเหตุนี้ เพราะนี่เป็นแก่นของศาสนา
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมนะ แสดงธัมมจักฯ ไป พระอัญญาโกณทัญญะมีดวงตาเห็นธรรมต่างหากถึงจะเป็นความจริง แล้วเป็นความจริง ศึกษามาค้นคว้ามาจนขนาดนี้ เราเกิดมาเป็นมนุษย์เกิดมาพบพระพุทธศาสนา จะมีอำนาจวาสนามากน้อยแค่ไหน เราก็ขวนขวายของเรา คนเราเวลาเป็นสมบัติของเรามีดีกับชั่ว บุญหรือบาปเท่านั้น สิ่งที่เป็นบุญและบาปจะติดหัวใจของเราไป เอวัง