ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ถ้าไม่มีสมาธิ

๒ ก.ค. ๒๕๖o

ถ้าไม่มีสมาธิ

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๐

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : เรื่อง “ต้องการแค่ขอบพระคุณหลวงพ่อครับ”

ต้องการแค่ขอบพระคุณหลวงพ่อจากใจจริงครับ ด้วยคำที่หลวงพ่อได้เทศน์อยู่บ่อยๆ ว่า “พระพุทธเจ้าสอนให้กลับมาสู่ใจดวงนี้”

พระพุทธเจ้าปรารถนาที่จะช่วยผู้คนทั้งโลกให้พ้นจากความทุกข์ ต้องการเอาชนะความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง จนสุดท้ายแล้วพระองค์ก็สามารถทำสำเร็จได้ ด้วยหลักการที่จะว่าง่ายก็แสนง่าย จะว่ายากก็แสนยาก นั้นคือการเอาชนะใจตนเอง เมื่อพระองค์เอาชนะใจตนเองได้แล้ว ก็สามารถใช้ใจดวงนั้นที่แสนประเสริฐที่สุดแล้วเอาชนะใจคนทั้งหลายบนโลกได้มาตราบจนเท่าทุกวันนี้

การที่คนเราพยายามไขว่คว้าแต่สิ่งภายนอกเพื่อสนองความสุขของตนด้วยความอยากได้อยากมีอยากเป็น เมื่อได้มาแล้วความสุขที่เกิดจากการได้มาก็ดับไป ความอยากอันใหม่ก็เกิดขึ้นมา เมื่อได้มาอีก ความสุขก็ดับอีก เป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ ไป แต่เมื่อรู้อย่างนี้แล้วที่ใจ เมื่อตัดความอยากหรือกิเลสทั้งหลายเหล่านี้ในใจไปได้ทั้งหมด คิดว่าคงจะมีความสุขที่แท้จริงไม่น้อย เพราะความทุกข์ทั้งหลายจะไม่มี ความสุขที่ประเสริฐที่สุดคือการที่ปราศจากความทุกข์ใดๆ เลย

ขอบพระคุณหลวงพ่อมากๆ อีกครั้งหนึ่ง ที่กระผมยังไม่สามารถเอาชนะใจตนเองได้ แต่ก็จะพยายามสู้ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพบมรรคผล จากความเริ่มต้นด้วยคำว่า “พุทโธ” ครับ

ตอบ : นี่คำว่า “พุทโธ” คำถาม “ต้องการแค่ขอบพระคุณหลวงพ่อครับ”

คำว่า “ขอบพระคุณหลวงพ่อ” นี่เวลาคิดอย่างนี้ คนถ้าจิตใจเป็นธรรมๆ นะ จิตใจที่เป็นบวก คิดบวก มันจะเห็นบุญเห็นคุณอย่างนี้ ถ้าจิตใจที่มันยังลังเลสงสัยมันก็ ๕๐-๕๐ คือว่าเดี๋ยวก็คิดดี เดี๋ยวก็คิดร้าย จิตใจที่มันคิดลบๆ ไม่เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น สิ่งใดต้องพิสูจน์ๆ ไม่พิสูจน์ไม่ได้หรอก

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเขาบอกว่าเขาได้ฟังเทศน์บ่อยๆ เข้า คำที่หลวงพ่อพูดบ่อยๆ ว่าพระพุทธเจ้าสอนกลับมาสู่ใจดวงนี้ ใจดวงนี้ไง

มันเป็นความจริงอย่างนั้นน่ะ มันเป็นความจริงอย่างนั้น เพราะเวลาหลวงตาท่านพูดไง “ไม่มีสิ่งใดสัมผัสศาสนาได้เว้นไว้แต่ใจของคน”

ความรู้สึกของคน ความรู้สึกคนสัมผัสศาสนาได้ กระดาษเปื้อนหมึกไง พระไตรปิฎกมันกระดาษพิมพ์ มันไม่มีชีวิตหรอก มันไม่มีความรู้สึกหรอก

เราไปศึกษาทางวิชาการ ทางวิชาการคือทางวิชาการไง ถ้ามีคนไปศึกษา ศึกษามันก็เป็นประโยชน์ขึ้นมา ถ้าไม่มีคนศึกษา มันก็กองอยู่นั่นน่ะ มันไม่มีชีวิตไง แต่สิ่งที่ศึกษามาแล้ว ศึกษาแล้วก็ยังงงๆ ศึกษาแล้วก็ยังลังเลสงสัยไง

ศึกษามาแล้วถ้าปฏิบัติได้ เห็นไหม ใจของคนเท่านั้น ใจของคนเท่านั้นนะ นี่เวลาพระปฏิบัติคิดอย่างนั้นน่ะ ใจของคนเท่านั้นที่สัมผัสความสุขความทุกข์ สัมผัสอริยทรัพย์ สัมผัสความจริงได้ ใจอันนั้น ใจอันนั้นไง แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็ปฏิบัติอย่างนั้น

นี่เวลาครูบาอาจารย์ที่ยืนยัน คนที่ยืนยันคือองค์หลวงตาท่านยืนยัน หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านยืนยัน คนที่ยืนยัน ยืนยันอย่างนั้นไงว่า ใจนี้สำคัญมาก ใจสำคัญ

หลวงปู่มั่นท่านพูดบ่อย จิตนี้มหัศจรรย์นัก จิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก เป็นมหาโจรก็เป็นได้ เป็นมหาบุรุษก็เป็นได้ จิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก เป็นได้ทุกอย่างเลย นี่ไง คนที่ปฏิบัติแล้วเขาถึงเห็นสำคัญตรงนี้ไง ถ้าเห็นสำคัญตรงนี้

ทีนี้มันเป็นทางโลก โลกเขาประชดประชันนะ เราอยู่ในวงการพระ บางทีเราฟังพระเขาประชดประชันแล้วมันแบบว่ามันเสียใจ

“ถ้าอย่างนั้นก็คิดเอาสิ คิดว่าได้มรรคได้ผล ไม่ต้องกินข้าวก็ได้” เขาพูดเสียดสีไอ้พวกที่เห็นเรื่องนามธรรมเป็นความสำคัญไงว่า “อย่างนั้นก็นึกเอาว่าไม่ต้องกินข้าว นึกว่าตัวเองรวย ให้รวยสิ” เขาพูดเสียดสีอย่างนั้นนะ นี่เวลามันคิด มันคิดเองอย่างนั้นไง

แต่เวลาเป็นความจริง สิ่งที่เขากระเสือกกระสนกันทางโลก มันน่าเห็นใจนะ เวลาคนทุกข์คนจนน่ะ เวลาเขาไม่มีจะกิน ความทุกข์มันบีบคั้นน่ะ เขาได้สิ่งใดมาจะเป็นความสุขของเขา อันนั้นก็น่าเห็นใจมาก แต่ไอ้เวลาคนมั่งมีศรีสุขเงินทองล้นฟ้าแล้วยังมีความทุกข์อยู่น่ะ อันนั้นน่ะเขาไม่รู้สึกตัวเขาเลย นี่เพราะอะไร ความจริงแล้วมันอยู่ที่ใจนั้นเท่านั้น

ฉะนั้น สิ่งที่ยืนยัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายืนยันนะ ให้กลับมาที่เอาชนะใจเราเอง ให้กลับมาที่ใจดวงนี้ ธรรมะก็เป็นแบบนั้น ถ้ามันชนะใจของตัวเองแล้ว ชนะใจดวงนี้แล้ว มันจะมีสิ่งใดบ้างข้างนอกน่ะ ไม่มีค่าใดๆ เลยนะ แร่ธาตุนี่ไม่มีค่าใดๆ เลย มันแค่เป็นแร่ธาตุเท่านั้นน่ะ

แล้วเวลามาดูทางเศรษฐศาสตร์ ดูเงินเฟ้อ ดูแร่ธาตุที่หมดค่า แร่ธาตุที่เขาหมดผลประโยชน์ มันไม่มีค่าเลย แต่คนไปสมมุติมันขึ้นมาไง ของมันไม่มีไง แร่หายาก แร่หายากมีค่าทั้งนั้นเลย มีค่าขึ้นมา แล้วถ้ามันใช้งานไม่ได้ก็จบเลยนะ

เพราะเราดูข่าวสารเขาบอก ต่อไปในอนาคตนะ ถ้ารถไฟฟ้ามันออกมาแล้วนะ รถใช้น้ำมันนี่มันจะเป็นเศษขยะเลยนะ เขาคิดกันแล้วนะว่า ถ้าต่อไปรถไฟฟ้ามาแล้ว เราจะกำจัดพวกขยะอิเล็กทรอนิกอย่างไรกัน โลกนี้จะเต็มไปด้วยขยะเลย

แต่ในปัจจุบันนี้มีค่ามากนะ คันหนึ่งหลายสิบล้าน เป็นร้อยล้าน แต่ถ้ารถไฟฟ้าออกมาแล้วนะ มันจะเป็นขยะเลย เพราะอะไร เพราะสิ่งนั้นมันไม่ทำลายสภาวะแวดล้อม สิ่งนั้นมันเป็นประโยชน์กว่า เวลาประโยชน์กว่ามันจะไล่หลังมา นี่สิ่งที่เวลาหมดความจำเป็นน่ะไม่มีค่าเลย

แต่หัวใจมันมีค่าตลอดไปนะ เพราะอะไร เพราะมันเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ นี้พูดถึงว่าเวลาสิ่งที่เป็นจริงๆ นี่เวลาครูบาอาจารย์ยืนยัน ยืนยันอย่างนั้น

แต่ไอ้พวกที่เขาแบบว่าจิตใจเขาเหลวไหลมาก พอจิตใจเขาเหลวไหลมาก จิตใจเขาไม่มีค่า เขาเลยไปไขว่คว้าเอาสิ่งที่เป็นวัตถุเป็นที่พึ่งอาศัยไง ไปไขว่คว้าเอาสิ่งข้างนอกว่าเป็นสมบัติของตนไง แล้วเขาเองจะทุกข์ยากตลอดไปเพราะเขาลืมหัวใจของเขา

แต่ถ้าคนที่รักษาใจของตนนะ แล้วมันเป็นผู้ที่ประหยัดมัธยัสถ์ ดูพระกรรมฐานสิ พระกรรมฐานเขาใช้ชีวิตแค่นี้ สิ่งที่เหลือนี้เป็นประโยชน์โลกหมดเลย ถ้าพูดถึงใจที่เป็นธรรมนะ

แต่เราอย่ามั่นใจนะ เพราะหลวงตาท่านพูดเอง “ในลูกศิษย์หลวงปู่มั่นมีทั้งดีและชั่ว” ในวงกรรมฐานมันก็มีที่แอบแฝงเยอะ ฉะนั้น สิ่งที่แอบแฝงอย่าไปเชื่อ

สิ่งที่เป็นความจริง เอาที่ความจริงเท่านั้น ทีนี้ความจริงมันอยู่ที่เวรที่กรรม เวรกรรมของเรา เราไปชอบเอง สิ่งใดที่ถูกชะตา ว่าอย่างนั้นเลยนะ ถูกชะตาก็ถูกกิเลสไง ถูกชะตาคือถูกชะตา แล้วมันจริงหรือเปล่าล่ะ ฉะนั้นว่า อย่าเพิ่งเชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ในสังคมทุกสังคมมีคนดีและคนเลว

ฉะนั้นบอกว่า เวลาให้ดูชีวิตของพระกรรมฐานสิ แค่ปัจจัย ๔ เท่านั้น แต่นี่มันแค่รูปแบบนะ ฉะนั้น อย่าเพิ่งเชื่อสิ่งใดง่ายๆ กาลามสูตร ห้ามเชื่อทั้งนั้น

ฉะนั้น สิ่งที่เขาพูด เขาพูดด้วยความเขาขอบคุณๆ ถ้าเรื่องใจๆ แต่มันต้องมีหลัก มีจุดยืนไง พอมีจุดยืน มีการกระทำแล้วมันจะเป็นประโยชน์ขึ้นมา

ฉะนั้น สิ่งที่เขาบอกว่า การเอาชนะใจของตนแล้วถึงชนะสิ่งที่เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก อันนี้เป็นของเขา คำถามต้องการแค่ขอบคุณหลวงพ่อเท่านั้น ฉะนั้น ถ้าแค่ขอบคุณแล้ว เขาบอกเขาอยากจะประพฤติปฏิบัติ อยากทำให้ได้

ถ้ามันได้จริงตามนี้มันจะเป็นความจริงนะ ถ้าเป็นความจริงขึ้นมาจะเป็นประโยชน์ ฉะนั้น เป็นการเน้นย้ำๆ ถ้าเน้นย้ำ หมายความว่า คนที่หูตาสว่างเขาเห็นสิ่งใดที่เป็นอริยทรัพย์

ดูสิ เวลาหลวงตาท่านเทศนาว่าการ ท่านเตือนพระนะ ถ้าพระเราทรงธรรมทรงวินัยไม่ได้ ถ้าพระเราไม่มีคุณธรรมในหัวใจ ใครจะมี โยมเขาถือศีลน้อยกว่าพระ โยมเขามีโอกาสปฏิบัติน้อยกว่าพระ ถ้าพระเราไม่ทรงธรรมทรงวินัย พระเราไม่ทรงศีลทรงธรรมในหัวใจ ใครจะทรง นี่เหมือนกัน นี่เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอน สอนอย่างนี้ไง

ฉะนั้น เวลาพระควรจะใกล้ชิด ควรจะกระทำให้มันเกิดขึ้นมาในใจ ถ้าเกิดขึ้นมาในใจแล้ว สิ่งนี้มันถึงจะเป็นแบบอย่างที่จะสอนเขาได้

ถ้าเราไม่มีหลักใจสิ่งใดเลย มีคนถามมาบ่อยเรื่องนี้ แล้วอย่างที่ว่าความคิดเขาแบบโลกๆ เขาก็คิดว่าความสุขของเขาคือโลกธรรม ๘ มีลาภ มีชื่อเสียง มีคนนับหน้าถือตา เขาว่านั่นเป็นความสุข คนส่วนใหญ่คิดกันอย่างนั้น

ฉะนั้น เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โมฆบุรุษตายเพราะลาภ คนเราตายเพราะการเยินยอสรรเสริญ เวลาคนมันจะเอาผลประโยชน์ มันยอมึงอย่างเดียว ยกย่องอย่างเดียว “ครับผมๆๆ” ครับผมอย่างเดียวเลย นั่นล่ะมันจะพากันไปตายหมดน่ะ นี่ไง แต่ทางโลกบอกว่านั่นน่ะคือความสุข มันจะมีความสุขมาจากไหน

ความสุขคือสุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี แล้วถ้าจิตสงบ มันสงบอย่างไร ถ้าจิตสงบ สัมมาสมาธิ สงบแล้วจะมีความสุข

แต่ของเรามันไม่สงบจริงไง มันเป็นภวังค์ไง แค่เป็นภวังค์ ภวังค์เหมือนคนหลับใน คนนอนหลับ ขับรถแล้วง่วงเหงาหาวนอน หลับไป อย่างนั้นหรือเป็นสมาธิ

สมาธิมันจิตตั้งมั่น จิตไม่พาดพิงใดๆ เลย แล้วตัวมันเองเป็นอิสระด้วย ตัวเองมีกำลังด้วย ตัวเองมีความสุขมากด้วย นี่ไง แค่เป็นจิตสงบเท่านั้นแหละ แล้วถ้ามันเกิดวิปัสสนาขึ้นมา มันถอดมันถอน มันเห็นความมหัศจรรย์นะ มันเห็นความมหัศจรรย์ของปัญญานะ ปัญญาที่มันเกิดจากศีล เกิดจากสมาธิ

นี่ปัญญาที่เกิดเป็นมรรคขึ้นมา เวลามรรคมันหมุนไง ดูธรรมจักร จักรมันหมุนกลางหัวใจ คนที่ปฏิบัติถ้าเห็นความเป็นจริงมันมหัศจรรย์ มหัศจรรย์ นี่ก็ภาวนามยปัญญาไง นี่ที่ใจสัมผัสๆ ไง แล้วถ้าไม่มีสิ่งนี้ มันจะชนะใจไม่ได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ๖ ปี เข้าฌานสมาบัติ สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ อาฬารดาบส อุทกดาบสก็ไม่เกิดอย่างนี้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากำหนดอานาปานสติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้อาสวักขยญาณ นี่ญาณวิถีของจิต ญาณวิถี นี่มันเกิดขึ้นมา ภาวนามยปัญญามันเกิดขึ้นมา มันเกิดความมหัศจรรย์น่ะ คนมันต้องเป็นอย่างนี้ มันต้องมีอย่างนี้ ใจถึงได้สัมผัสไง มันถึงจะเอาชนะใจตัวเองได้ไง เพราะมันมีการกระทำมา มันมีนวกรรม นวกรรมคือว่ามันมีมรรค มันมีอริยสัจความจริงอันนี้ นี่ถ้ามันชนะใจตนเองมันต้องมีเหตุผลอย่างนี้ ถ้ามีเหตุผลอย่างนี้

แล้วคนภาวนาไม่เป็นมันพูดไม่เป็นหรอก คนไม่เคยเห็นพูดไม่ได้หรอก ให้จำอย่างไรก็พูดไม่ได้ มันเดินเข้าไปโรงงานประกอบสินค้าใหญ่โตเลย มันเดินผ่านไปแล้วมันทำไม่เป็นหรอก มันทำไม่ได้ มันไปเห็นก็ทำไม่ได้ นี่ก็เหมือนกัน ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขนาดไหนก็ทำไม่ได้

แต่ถ้าคนมันเกิดขึ้นมาแล้ว นั่นน่ะเป็นความจริง ถ้าความจริง นี่ชนะใจของตนเองโดยข้อเท็จจริง มันต้องมีข้อเท็จจริงอย่างนี้มันถึงชนะได้ ถ้าชนะได้เป็นประโยชน์อย่างนี้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลวงตาท่านพูดประจำ ในพระพุทธศาสนามีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ ลัทธิศาสนาอื่นไม่มีศาสดาองค์ใดปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์

มีแต่ว่าเขามีพระเจ้าของเขา เขาเป็นตัวแทนสืบๆ ต่อกันไป เพื่ออะไร เพื่อเวลาเหตุผลมันจะได้ปัดไปข้างหน้าได้ไง เวลาใครมาถาม เดี๋ยวต้องไปถามพระเจ้า พระเจ้าอยู่บนสวรรค์ แล้วเราสื่อสารกับพระเจ้าได้ แต่เราตอบเรื่องมรรคผลไม่ได้

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาไปบิณฑบาตกับเจ้าลัทธิต่างๆ ปราบเขาหมดน่ะ “พูดมา พูดมาได้เลย” นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ท่านมีความจริงอย่างนี้ไง

ถ้าชนะใจของตัวเองได้ มันต้องมีเหตุมีผลว่าชนะด้วยวิธีการอย่างใด มีเหตุมีผลอะไรที่ทำให้ชนะใจของตนเอง ไม่ใช่อยู่เฉยๆ ก็ชนะใจของตนเองไม่ได้ มันเป็นความจริง

นี่พูดถึงว่า นี่แค่เขาขอบคุณเฉยๆ นะ คำว่า “ขอบคุณ” เรากลับเห็นคุณค่า เห็นคุณค่าคนที่ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คนถ้ามันมีปัญญาอย่างนี้จะระลึกถึงพระพุทธเจ้า พวกเรา เรามีพ่อคนเดียวกัน เรามีศาสดา มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพ่อ มีพระธรรมเป็นแม่ เรามีพ่อแม่คนเดียวกันนะ ถ้าเขาระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาระลึกถึงศาสดา เราก็สาธุ

พวกเรา เราชาวพุทธเรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ในหัวใจ เป็นแก้วสารพัดนึก เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นแก้วสารพัดนึก เป็นที่พึ่งที่อาศัย นั่นน่ะเรามีพ่อมีแม่องค์เดียวกัน ฉะนั้น ถ้าเขาระลึกถึงพ่อแม่ เขาระลึกถึง นั่นเราก็สาธุ จบ

ถาม : เรื่อง “มวยข้างถนนชกกับแชมป์โอลิมปิก”

กราบนมัสการหลวงพ่อครับ ผมขอเล่าการปฏิบัติที่ผ่านมาเปรียบเทียบกับต่อยมวยนะครับ ผมจะพุทโธให้ได้สักระยะจนเห็นว่ามีเรี่ยวแรงพอจะชกต่อยได้จึงขึ้นเวทีไปชกกับกิเลส แม้ผมจะยังตอบแบบชัดๆ กับตัวเองไม่ได้ว่าทำไมต้องทำสมาธิก่อนเพื่อพิจารณา แต่ผมบังเอิญได้ทดลองทำจึงได้เห็นกับตาว่าชกโดนกิเลสบนเวที มันรู้สึกบางอย่างต่างกับก่อนหน้านี้ที่ชกอยู่นอกเวที ไม่เคยโดนกิเลสเลย

พอได้ขึ้นเวทีชกบ้าง ลงมาพักบ้าง ผมเริ่มรู้สึกเหมือนผมชกมั่ว ไม่มีแผนการ ไม่มีเทคนิค คือเรื่องที่จะหยิบมาพิจารณาจะขึ้นกับความสงสัยหรือกิเลสในใจ ณ ช่วงเวลานั้น (เช่น เรื่องกายบ้าง เวทนาบ้าง จิตบ้าง กิเลสบ้าง กิเลสทั่วๆ ไปบ้าง

ถ้าบังเอิญชกได้คะแนนก็ร้องเฮ ดีใจ ถ้าไม่ได้คะแนนก็เศร้าๆ เรื่องที่ชกโดนไปแล้วได้คะแนนแล้วก็เอามาพิจารณาซ้ำ ก็ทำไม่ค่อยได้ เพราะมันเหมือนเห็นเฉลยแล้ว

บางทีขึ้นเวทีแล้วผมไม่รู้จะชกตรงไหนดี ได้แต่มองกิเลสยืนยิ้ม บางทีผมออกหมัดตามตำรา เช่น ผมชอบชมเชยผู้หญิงน่ารักๆ ผมก็รำพึงให้เห็นว่าจะต้องแก่ไปบ้าง ผมมั่นใจว่าออกหมัดได้ถูกท่วงท่า แต่กิเลสยืนเอาหน้าเข้ารับผมเฉยๆ ไม่กระเทือนเลย คะแนนก็ไม่ได้ แถมต่อยผมกลับมาว่า ผู้หญิงก็เหมือนดอกไม้ ปีนี้ร่วงโรยไป ปีหน้าดอกไม้ใหม่ก็บาน มีให้ชมเชยอยู่ไปเรื่อยๆ

ผมมึนมาก ทำอะไรไม่ถูก จึงเดินลงจากเวทีเงียบๆ ยังไม่รู้จะขึ้นไปชกต่อยอย่างไร ช่วงหลังๆ ผมรู้สึกว่าบางครั้งทำสมาธิแป๊บเดียวก็มีแรงขึ้นเวทีได้ แต่ขึ้นไปก็ได้แต่ต่อยแย็บๆ แล้วหมดแรง รีบกระโดดลงจากเวที บางทีก็ต่อยได้เศษๆ คะแนนบ้าง บางทีก็ไม่ได้อะไร ขอถามเทคนิคจากหลวงพ่อ

๑. ผมควรจะพิจารณาอะไรให้มีแบบแผน มีแผนการไหมครับ แบบแผนควรเป็นอย่างไรครับ

๒. ผมควรชกซ้ำจุดที่ชกโดนแล้วไหมครับ ควรทำอย่างไรครับ

๓. ถ้าผมขึ้นเวทีแล้วไม่รู้จะชกตรงไหน ผมควรทำอย่างไรครับ

๔. ถ้าโดนกิเลสสวนกลับแบบที่เล่ามา ผมควรทำอย่างไรครับ

๕. ถ้าผมทำสมาธิสั้นๆ แล้วกระโดดขึ้นไปต่อยแย็บ อันนี้สมควรทำหรือไม่ครับ กว่าจะเข้าใจการเตรียมตัวขึ้นเวที ผมก็ว่ายากแล้ว พอได้ขึ้นไปชก ผมเหมือนมวยข้างถนนชกกับแชมป์โอลิมปิกเลยครับ กราบรบกวนหลวงพ่อให้ช่วยแนะนำด้วย

ตอบ : อันนี้พูดถึงว่าก่อนหน้านี้เวลาประพฤติปฏิบัติ คนเราถ้ามันยังไม่ประพฤติปฏิบัติ มันเหมือนกับคนนะ เวลาอยากได้อะไรหรือหิวกระหายอะไร ถ้าได้สิ่งใดมาก็พอใจ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราศึกษาธรรมะ เราก็อยากจะเข้าใจ เราก็อยากจะมีความรู้ ถ้ามีความรู้ แล้วแนวทางในการประพฤติปฏิบัติมันก็ร้อยแปด แต่ถ้าคนมีอำนาจวาสนานะ คนมีอำนาจวาสนาเวลาเข้าไปเจอครูบาอาจารย์ที่ถูกต้องเลย เขาก็วางพื้นฐานเป็นเบสิกที่ดีขึ้นมา เขาก็ปฏิบัติได้ง่าย

คนเราโดยทั่วไปในการศึกษามันก็มีแนวทางการศึกษาร้อยแปดพันเก้า นี่ก็เหมือนกัน เวลาจะปฏิบัติเราก็หาครูบาอาจารย์ที่เราพอใจ ถ้าพอใจ เราก็เข้าไปแนวทางปฏิบัติตามกระแสโลก

ถ้าตามกระแสโลก หลวงตาท่านบอกว่า “ปฏิบัติพอเป็นพิธี” ปฏิบัติพอเป็นพิธี พอเป็นพิธีคือทำให้มันครบสูตรตามพิธีนั่นแหละ แต่ไม่มีองค์ความรู้ ไม่มีนวกรรมที่เวลามีการกระทำนี่ไง ถ้าไม่มีมันก็ไม่เป็นความจริงไง พอไม่เป็นความจริง เห็นไหม

เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เพราะหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราสายกรรมฐาน เวลาท่านปฏิบัติจริงๆ ขึ้นมา ท่านปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์เลย ท่านจะปฏิบัติขึ้นไปให้เข้าไปเจอกิเลสเลย ต่อสู้กับกิเลสเลย ให้มันจบสิ้นกันไปเลย ให้เห็นมรรคเห็นผลกันเลย

ไอ้เราไปฟังก็ “อืม! มันจะจริงหรือ อู้ฮู! ขนาดนั้นเชียวหรือ อู๋ย! มันไม่ไหวแล้วมั้ง ไปวัดยังไม่อยากจะไปเลย โอ๋ย! ต้องทุ่มเทขนาดนั้นเชียวหรือ”

ทีนี้พอใครเสนอแนวทางอะไรที่มันปฏิบัติง่ายๆ มาก็ชอบไง “เออ! มันสมฐานะของเรา เราควรจะปฏิบัติแนวทางนี้ เราควรจะปฏิบัติแบบแนวทางที่มันสะดวกสบาย ไอ้ทุกข์ๆ ยากๆ ให้คนอื่นเขาไปเถอะ” มันก็มีความคิดอย่างนี้

เวลาความคิดอย่างนี้ เวลาปฏิบัติแล้วโดยส่วนใหญ่ โดยส่วนใหญ่เวลาเราปฏิบัติไปหาครูบาอาจารย์นะ แล้วครูบาอาจารย์ให้กำหนดพุทโธ ให้หายใจเข้าออก ให้มรณานุสติต่างๆ พอทำไปแล้วมันไม่ได้ผลน่ะ ทำไปแล้วมันจะดีอยู่เป็นชั่วครั้งชั่วคราว

ถ้าดีอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว เพราะมันยังสดๆ ร้อนๆ ทำสิ่งใดมันทำด้วยความชัดเจน มันก็จะได้ผลอยู่บ้าง พอทำไปๆ มันจืด ทำไปๆ แล้วมันจนตรอก “ไปทางนู้นดีกว่า ใช้ปัญญาไปเลย ไม่ต้องทำหรอกพุทโธน่ะ ทำไปทำไมพุทโธ มันเป็นสมถะ มันไม่ใช่ปัญญา เวลาทำไปแล้วมันจะเกิดนิมิต เกิดนิมิตแล้วจะทำให้เสียหาย ถ้าไม่มีคนสอนเดี๋ยวมันจะบ้านะ” มันก็เลยไปกำหนดรู้ตัวทั่วพร้อม ใช้ปัญญาตลอด

ปัญญาอย่างนั้นปัญญาวางยาสลบไง เราใช้คำว่า “สตัฟฟ์จิตไว้ไง” มันสตัฟฟ์ไว้ในสังคมโลกนี่ มันสตัฟฟ์ไว้ในความคิดเรานี่ มันสตัฟฟ์ไว้ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยวิทยาศาสตร์นี่ แล้วมันก้าวขึ้นไปจากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชนไม่ได้ไง จากโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้

ยืนยันที่คำอารัมภบทนี่ไง อารัมภบท เห็นไหม “เวลาผมกำหนดพุทโธๆ” เพราะเขาบอกว่า “ผมยังตอบแบบชัดๆ ไม่ได้ว่าทำไมต้องทำสมาธิก่อนค่อยมาพิจารณา แต่ผมบังเอิญได้ทดสอบ”

นี่ไง ถ้ามันไม่มีสมาธิ เป็นอย่างนี้ ไม่มีสมาธิมันก็ใช้ปัญญาของเรานี่แหละ ถ้าปัญญาของเรานะ เราใช้ปัญญาสู้ทมยันตีไม่ได้ ทมยันตีมันเขียนนิยายขายด้วย

นี่ปัญญาๆ มันก็จินตนาการไง ไปดูธรรมะสิ ที่เขาเขียนขายกันน่ะ เขียนมาขายนั่นน่ะจินตนาการทั้งนั้นน่ะ เขาเขียนขาย เขียนให้คนเข้าใจไง ไอ้คนอ่านก็ซาบซึ้งๆ อ่านทมยันตีก็ได้ คู่กรรมน่ะ ธรรมะ ดูสิ เขาเขียนมาอิงประวัติศาสตร์ อิงธรรมะ นิยายอิงธรรมะ มันก็ได้แค่นั้นแหละ มันเป็นไปไม่ได้

เราศึกษา เวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อ่านพระไตรปิฎกก็เหมือนกัน ดูสิ เวลาเราอยู่กับหลวงตานะ หลวงตาท่านพิมพ์หนังสือแจกของท่าน ท่านบอกให้อ่านธรรมะ อ่านธรรมะมันจะทำให้เรามีความสุขในหัวใจ

ถ้าอ่านนิยายมันเกิดความเห็นนางเอกโดนรังแกก็เสียใจไปกับเขา เห็นพระเอกกับนางเอกชอบกันก็โอ้โฮ! ดีใจไปกับเขา มันดีใจเสียใจอยู่อย่างนั้นน่ะ นี่นิยายอิงธรรมะ อู๋ย! อ่านแล้วชอบใจๆ แล้วมันคิดได้แค่นั้นแหละ

แต่ถ้าหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ถ้าจิตมันสงบแล้ว จิตสงบแล้ว ถ้าจิตสงบ อ่านธรรมะของครูบาอาจารย์เราที่เป็นธรรมๆ มันไม่ใช่นิยาย

นิยายมันมีตัวอิจฉา มันมีตัวแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันน่ะ ถ้ามีอย่างนั้นปั๊บมันก็เป็นเรื่องประโลมโลก พอเรื่องประโลมโลก อ่านแล้วตรงกับชีวิตของเรา ตรงกับประสบการณ์ของเรา เสียใจ อ่านไปแล้วไปคิดเสียใจทุกข์ใจอีกอาทิตย์หนึ่ง ถ้าอ่านธรรมะถ้าอิงนิยายก็เป็นแบบนั้น นิยายอิงธรรมะ ธรรมะอิงนิยาย

แต่ถ้าเป็นของครูบาอาจารย์เรานะ ไม่อย่างนั้น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเทศนาว่าการ ท่านจะสอนเลยนะ ท่านจะบอกเลย ดูสิ สิ่งนี้ รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร

ไอ้นั่นเป็นบ่วงของมาร มันรัดหัวใจ มันผูกคอตาย นี่มันรัดอารมณ์อยู่นั่นน่ะ ทุกข์ยากอยู่อย่างนั้นน่ะ ถ้าเรามาศึกษาธรรมะแล้ว เขาให้ปล่อยให้วาง ถ้าให้ปล่อยวาง มันศึกษา นี่ศึกษาไง ศึกษามาก็รู้ รู้ก็แบบโลกๆ ไง นี่เขาเรียกว่าโลกียปัญญา โลกุตตรปัญญา

มันเป็นโลกียปัญญา ดูสิ คนที่ศึกษามาจบ ๙ ประโยค เขาแต่งบาลี เขาเขียนได้หมดน่ะ แต่เขียนแล้วเขาก็งงๆ เขาไม่เข้าใจหรอก

แต่ผู้ที่ปฏิบัติ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ถ้าหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ถ้าจิตมันสงบได้ๆ จิตสงบแล้วถ้าฝึกหัดใช้ปัญญาเป็น ถ้าจิตสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญาเป็น จิตสงบนั้นเป็นความสุข เป็นความสุขนะ จิตสงบแล้วโล่งโถง คนเราทุกข์ยากจนคิดว่าชีวิตนี้เอาไม่รอด ถ้าจิตมันสงบบ้าง โอ้โฮ! ชีวิตนี้ทำไมมันมีความสุขอย่างนี้

นี่ไง เราหลงไปเอง เราคิดไปเองว่าเราต้องพึ่งพาอาศัยคนนั้น พึ่งพาอาศัยคนนี้ ต้องให้คนนู้นช่วยเหลือเจือจาน ต้องให้คนอื่นช่วยหมดเลย แต่พอจิตมันสงบน่ะ ไอ้คนอื่นเป็นภาระเรานะ เรียนที่ไหนก็ต้องส่งค่าเทอม มันต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งนั้นน่ะ เป็นภาระหมดเลย แต่พอจิตมันสงบแล้วเป็นเอกเทศเลย ไม่มีภาระกับใครทั้งสิ้น แล้วสิ่งนี้มันเกิดมาจากอะไร

เกิดมาจากหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ มันก็เป็นชีวิตประจำวันของเรานี่ มันเป็นเอกสิทธิ์ เป็นสิทธิของเรานี่ เป็นสิทธิของเราโดยที่ไม่พึ่งพิงอะไรเลย ไม่พึ่งพิงอามิสใดๆ เลย แล้วพอหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ หายใจจนมันสงบระงับเข้ามาได้ ถ้าสงบระงับเข้ามามันเป็นความสุขที่ไม่ต้องพึ่งพิงอะไรเลย สุขที่เกิดจากหัวใจ สุขที่เกิดจากปฏิสนธิจิตที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะโดยที่ไม่พึ่งพิงอะไรเลย

ถ้ามันจะมีพึ่งพิงก็พึ่งพิงเวรกรรมเท่านั้นน่ะ ถ้ามีกรรมหนามันก็ทำได้ยาก ถ้ามีกรรมบางเบา ถ้ามีกรรมดี มันก็ทำได้ง่าย สิ่งที่มันจะได้พึ่งก็พึ่งเวรพึ่งกรรมเรานี่แหละ พึ่งจริตนิสัยของเรานี่แหละ ไม่ต้องพึ่งใครเลย

นี่ถ้ามันทำของมัน นี่ถ้าจิตสงบ ถ้าจิตสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา มันจะเกิดภาวนามยปัญญา มันถึงจะเข้ากับความปรารถนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์ ต้องการตรงนี้ ต้องการภาวนามยปัญญา ปัญญาของคนที่มันรู้แจ้งในใจของมันน่ะ ปัญญาของคนที่เวลามันถอดถอนกิเลสในใจของตนนั้นน่ะสำคัญ

แต่ปัญญาที่เราใช้กันอยู่นี่เขาเรียกโลกียปัญญา คือปัญญาเกิดจากสัญชาตญาณ ปัญญาเกิดจากทัศนคติ เพราะอะไร เพราะมีภวาสวะ เพราะมีภพ เพราะมีหัวใจ

คนตายคิดได้ไหม แร่ธาตุคิดได้ไหม สรรพสิ่งในโลกนี้คิดได้ไหม สิ่งที่คิดได้คือจิตวิญญาณนะ แม้แต่ผี ผีที่มันมาหลอกมาหลอน มันก็ต้องการบุญกุศลของมันนะ มันก็เป็นวิญญาณอันหนึ่ง มันก็เป็นสัมภเวสี

แต่จิตของเรามันอยู่ในตัวของเรานี้ ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ

เราจะยืนยันว่า ถ้าไม่มีสมาธิ สิ่งที่เกิดขึ้นนะ โลกียปัญญาทั้งหมด สิ่งที่เขาจินตนาการ เขาตรึกกันน่ะ ไร้สาระ มันเป็นเรื่องทางโลกๆ แต่ถ้าเป็นการภาวนาเป็นธรรมะ ต้องมีสมาธิ

พอมีสมาธิแล้วเขาบอกว่า “มีสมาธิแล้ว แล้วปัญญาจะเกิดเอง อันนั้นเขาติดสมาธิ” มีคนเขาถากเขาถางนะว่าทำสมาธิ

เวลาครูบาอาจารย์เรา ดูสิ อย่างครูบาอาจารย์ที่ท่านสอนผิด สอนผิด หมายความว่า “ทำความสงบของใจเข้ามาแล้วมันจะเกิดปัญญาเอง”

ให้อีกร้อยชาติ ปัญญาจะเกิดเองไม่ได้ ถ้าปัญญามันเกิดเองได้ พวกเราเป็นคนไทยใช่ไหม เรามีสิทธิในเงินคงคลังของชาติ เงินคงคลังของชาติ คนไทยมีสิทธิ์ไหม มี เอ็งไปเอาสิ โดนจับ

นี่ไง ทุกคนเป็นคนไทยใช่ไหม เงินคงคลังของชาติไทยก็เพื่อสังคมไทย เพื่อของคนไทย มันเป็นสมบัติสาธารณะ ไม่ใช่ของเรา

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเอ็งคิด เอ็งก็คิดได้อย่างนี้ แต่เอ็งใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ แต่ถ้าเราเปิดบัญชีของเรา เรามีเงินของเรา เราฝากเข้าบัญชีของเรา เราถอนได้ เราเบิกได้ นั่นเงินของเรา

จิตสงบแล้ว นี่ต้นทุน จิตสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาของเรา

แต่ปัญญาในปัจจุบันนี้มันปัญญาแบบว่าเงินคงคลังของชาติไทย เราเป็นคนใช่ไหม เราก็มีความคิด ความคิดนี้ตรึกในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันก็ตรึกในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากจิต ปัญญาเกิดจากสัญชาตญาณ ไม่ใช่ภาวนามยปัญญา

ภาวนามยปัญญาต้องจิตสงบก่อน พอจิตสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา นั่นล่ะปัญญาของตน เพราะจิตสงบมันเป็นเอกเทศ แล้วฝึกหัดใช้ปัญญา

ไม่ใช่ว่า “จิตสงบแล้วเกิดปัญญาเอง จิตสงบแล้วเป็นอย่างนั้น” เขาถากเขาถางอยู่ แล้วห้ามทำความสงบด้วย ห้ามทำความสงบด้วย

คำถามนี้แหละ “ผมยังตอบชัดๆ กับตัวเองไม่ได้ว่าทำไมต้องทำสมาธิก่อนถึงจะพิจารณา แต่ผมบังเอิญได้ทดสอบธรรม จึงได้เห็นกับตาของเราว่า ถ้าเกิดสมาธิแล้ว ชกแล้วยังได้คะแนนบ้าง ก่อนหน้านั้นแพ้เขาตลอดเลย แล้วชกไม่ได้เรื่องสักที”

ถ้าชกแล้วได้เรื่อง ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้ามันจะเสียเวลา ให้มันเสียไป เพราะเราจะหาต้นทุนของเรา ถ้ามันได้แล้วมันจะเป็นประโยชน์

ฉะนั้น เข้าคำถาม “ผมควรจะพิจารณาอะไรเป็นแบบแผน มีแผนอย่างไหนครับ แบบแผนควรเป็นอย่างไรครับ”

คำถามนี้ถ้าใครตอบนะ ลูกศิษย์โง่ตายเลย ถ้าใครตอบคำถามนี้นะ แสดงว่าอาจารย์องค์นั้นคงจะเป็นอาจารย์นิทานตลก นึกไม่ออก เพราะว่าคำถามนี้ตอบไม่ได้เลย คำถามนี้ตอบไม่ได้เพราะอะไร

“ผมควรพิจารณาอย่างไรให้ได้เป็นแบบแผน”

คำว่า “แบบแผน” คือสัญญา แบบแผนที่เราศึกษากันนี่ไง ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา พอเราศึกษามา เราก็จำมา จำมานี่ก็เหมือนกัน จำมาเป็นสัญญา

สัญญา เวลาหลวงตาท่านศึกษาจนจบมหา จะไปปฏิบัติกับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอก สิ่งที่เราศึกษามาแล้วควรเก็บเข้าลิ้นชักสมองไว้ แล้วลั่นกุญแจมันไว้ อย่าให้มันออกมา

ถ้ามันออกมา นี่ศึกษามาเป็นแบบแผนมันเป็นอดีตอนาคต เป็นจินตนาการ เวลาเราปฏิบัติไป ไอ้ตัวนี้มันจะชักลากไป

ท่านบอกเลย ถ้าปฏิบัติพร้อมกับสัญญา พร้อมกับสิ่งที่ศึกษามา มันจะเตะมันจะถีบกัน คือมันจะสร้างภาพไง มันจะสร้างภาพ มันจะสร้างให้เราเป็นอย่างนั้นๆ ไง ท่านถึงบอกว่า ต้องเก็บใส่ลิ้นชักสมองไว้ แล้วลั่นกุญแจมันไว้ แล้วเราพยายามประพฤติปฏิบัติของเราๆ อย่าเทียบเคียงกับข้อมูลที่เราเคยรู้ แล้วพยายามทำให้เป็นปัจจุบันๆ ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมานะ ถ้าปฏิบัติไปแล้วมันเป็นคุณธรรมขึ้นมาในหัวใจ เป็นความจริงขึ้นมาในหัวใจนะ มันจะเป็นอันเดียวกับการศึกษานั้นเลย ถ้าอันเดียวกัน อันเดียวกันเพราะเราปฏิบัติได้

แต่ถ้าเราศึกษาแล้วเราใช้สิ่งนั้นมาเป็นแนวทางนะ มันเป็นการสัญญา เป็นการสร้างภาพหมดเลย ทำไปเถอะ ทำจนตาย ทำทุกข์ยากมาก ทำแล้วทำอีกแสนทุกข์แสนยาก เหมือนจะได้ๆ แต่ไม่เคยได้ เหมือนจะเป็นๆ แต่ไม่เคยเป็น เพราะมันไปคาดหมาย

นี่ไง คำถามคำแรก เพราะเขาว่า “ผมควรจะทำอย่างไรเป็นแบบแผน”

วางไว้เลย แบบแผนนะ วางไว้ แบบแผนมันก็สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน มรรค ๔ ผล ๔ เป็นแบบแผน บุคคล ๔ คู่ นี้แบบแผนเป็นข้อเท็จจริงเลย

นี่ไง เวลาทางวิชาการที่เขาศึกษากัน เขาเขียนปฏิจจสมุปบาท แล้วเขียนไปเลย มันก็ไม่ใช่ ถ้ามันเป็นจริงมันเร็วกว่านั้น

นี่ก็เหมือนกัน แบบแผนๆ แบบแผนให้เป็นปัจจุบันไง แบบแผนที่ศึกษามาแล้ววางไว้ แล้วปฏิบัติ

อย่างที่เขาถามมา ผมยังตอบชัดๆ ไม่ได้ว่าทำไมต้องทำสมาธิก่อน แต่เวลาทำสมาธิแล้วมันมีกำลัง ขึ้นไปชกยังโดนหน้ามัน แต่ถ้าไม่มีสมาธิ ยื่นหน้าให้มันชกใช่ไหม ถ้าไม่มีสมาธิ

ฉะนั้น แบบแผน ก็กลับมาทำความสงบของใจก่อน หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ จนมันสงบระงับ แล้วคลายตัวออกมา นั่นน่ะค่อยพิจารณา ถ้าพิจารณา สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน นี่เดินแบบแผนแบบนี้

เดินแบบนี้แต่อยู่ที่ปัจจุบัน อยู่ที่บางทีอารมณ์มันสงบได้ง่าย มันพิจารณาได้ดี บางวันอารมณ์สงบได้ยาก พิจารณาแล้วไม่ได้ บางทีอารมณ์มันสงบแล้ว พิจารณาซ้ำซาก กิเลสมันรู้ทัน มันต้องเป็นปัจจุบันตลอด เคยพิจารณาอย่างนี้ได้ พิจารณาครั้งต่อไปไม่ได้แล้ว ถ้ามันพิจารณาปัจจุบันนี้ได้ แล้วพิจารณาครั้งต่อไปเหมือนเดิมก็ได้

คำว่า “ก็ได้” หมายความว่า พิจารณาแล้วมันปล่อย พิจารณาแล้วมันสงบ ต่อยแล้วได้คะแนน ต่อยแล้วได้คะแนน ต่อยแล้วได้คะแนน นั่นน่ะ ถ้าอย่างนั้นน่ะได้

ถ้าต่อยแล้วไม่ได้คะแนน ไม่ได้ นี่รู้ คนภาวนาจะรู้อย่างนี้ พอต่อยแล้วไม่ได้คะแนนหรอก เพราะพิจารณาแล้วมันไม่ปล่อย พิจารณาไปแล้วมันทุกข์ พิจารณาไปแล้วมันล่อหลอก นี่ไม่ได้คะแนน ถ้าต่อยแล้วได้คะแนนๆ พิจารณาซ้ำ แล้วถ้ามันซ้ำไม่ได้ กลับมาพุทโธๆ กลับมาทำความสงบของใจ แล้วทำ นี่คือแบบแผน แบบแผนคือปัจจุบัน ถ้าเขียนเป็นแผนที่...เสร็จ กิเลสหัวเราะเยาะเลย นี่แบบแผนๆ นี่ข้อที่ ๑.

ถ้าข้อที่ ๑. ถ้าตอบไปแล้วนะ เอามาเลย จะเขียนแผนที่ให้เลย จะเอาแผนที่ไปกอดไว้ แล้วมันก็บอกว่าทำตามแผนที่นั้นจบแล้ว

มีพระเยอะแยะเอาหนังสือเรามาหาเรา บอก “นี่ทำตามหนังสือได้หมดเลย ถ้าหลวงพ่อไม่รับรองผม หนังสือหลวงพ่อผิด”

เราบอกว่า หนังสือกูน่ะถูก มึงน่ะผิด ก็มึงไปท่องจำหนังสือกูแล้วก็มายืนยันกับกู เอ็งท่องจำ เอ็งไม่ได้ทำของเอ็งขึ้นมา มึงน่ะผิด หนังสือกูน่ะถูก

เขาเอาหนังสือมายืนยันเลยนะ เขาจะหักคอไง หักคอให้เราให้ใบประกาศเขา ประกาศบ้าบออะไรของมึง

นี่พูดถึงแบบแผน แบบแผนไม่มี แต่ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามี แนวทางในการปฏิบัติมี แต่แบบแผนอย่าให้กิเลสมันหลอก ต้องเป็นปัจจุบัน

ถ้าพิจารณาได้คะแนน ถ้าชกแล้วได้คะแนนน่ะถูก ถ้าชกแล้วไม่ได้คะแนน กลับมาพุทโธ สิ่งที่จะได้คะแนนเพราะว่าจิตมันสงบ จิตสงบแล้วมันถึงจับต้องได้ แล้วพิจารณาแล้วมันได้ผล นั่นน่ะคือภาวนาถูก

แต่ถ้ามันไม่ได้คะแนน กลับ ทิ้งเลย ถ้าไม่ได้คะแนน เข้ามุมให้พี่เลี้ยงให้น้ำซะ ถ้ามันไม่ได้คะแนน เข้ามุมเลย พุทโธๆๆ จนสดชื่นแล้วออกมาชกใหม่ นั่นน่ะอย่างนั้นถึงจะถูก นี่ข้อที่ ๑.

“๒. ผมควรชกซ้ำจุดที่ผมชกโดนไหมครับ ควรทำอย่างไรครับ”

จะบอกว่าควร แต่ถ้าจะชกซ้ำจุดเดิมมันก็จะเกร็ง จะชกแต่จุดเดิมนั่นน่ะ แล้วจุดเดิมมันก็มาล่อ

ให้เป็นปัจจุบันหมด คำว่า “ชกจุดเดิมแล้ว” มันเป็นอดีตไปแล้ว นักมวยที่ชกชนะครั้งนี้แล้ว มันผ่านไปแล้ว ถ้าเขาไม่ฝึกซ้อมให้ดี ถ้านักมวยจะมาขอแก้มือ แล้วเราขึ้นไปเราแพ้ทันที เพราะเราไม่ได้ฝึกซ้อมไว้เลย นักมวยชกคราวนี้ชนะเขาแล้ว เขาขอแก้มือ แต่เราก็ฝึกซ้อมของเรา เราก็ออกกำลังกายตลอดเวลา ขึ้นชกครั้งต่อไป เราก็จะชนะครั้งต่อไป

มันอยู่ที่เราฝึกซ้อมไง มันอยู่ที่เรากำหนดลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธให้ชัดๆ ไว้ แล้วถ้าเจอมันก็พิจารณาซ้ำ พิจารณาไปเรื่อยๆ เขาเรียกว่าตทังคปหาน การปหานชั่วคราวๆ เราก็ชกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงรอบสุดท้ายไง จนกว่าเราจะไปชิงชนะเลิศไง

นี่ก็เหมือนกัน ชกแล้วชกเล่า ชกแล้วชกเล่า แต่ต้องฝึกซ้อมไปตลอดเวลานะ ต้องกลับมาพุทโธตลอดเวลานะ ต้องทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ อย่างนี้ไง

ไม่ใช่ว่าจะไปชกจุดเดิมเลยนะ แล้วก็ทอดทิ้งการฝึกซ้อมไง ทอดทิ้งพุทโธไง จะชกแต่จุดเดิมนั่นแหละ จุดเดิมน่ะ

จุดเดิมมันตายไปแล้ว ไอ้นี่มันคนใหม่ เราต้องชกจุดเดิมนั่นแหละ แต่ต้องฝึกซ้อม ต้องหมั่นเพียร มรรค ๘ ไง งานชอบ สติชอบ สมาธิชอบ ปัญญาชอบ มันต้องชอบธรรมสดๆ ร้อนๆ ตลอด เอาอดีตอนาคตมาใช้ประโยชน์ไม่ได้ นี้คือการปฏิบัติ

“๓. ถ้าผมขึ้นเวทีแล้วไม่รู้จะชกตรงไหน ผมควรทำอย่างไรครับ”

ถ้าจะขึ้นเวที กลับมาหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ให้มันมีกำลัง แล้วขึ้นเวที ขึ้นเวทีเราก็รำพึง เราพิจารณาของเรา เราค้นหาของเรา ถ้ามันยังไม่เจอสิ่งใด อยู่กับพุทโธไปเรื่อยๆ สร้างกำลังไปเรื่อยๆ

ไอ้ข้อนี้มันจะมีตลอด คนปฏิบัติแล้ว พอพิจารณาแล้ว ถ้ากิเลสมันรู้เท่าทันมันจะหลบหลีก

หลวงตาท่านสอนประจำ กิเลสมันซุกมันซ่อน

เวลาถ้ากำลังเราดีนะ โอ้โฮ! วันนี้กิเลสไม่มีเลย สดชื่น ถ้าเผลอเดี๋ยวก็เสร็จ ถ้าเผลอไป พอเผลอไป ความสดชื่นก็น้อยลง พอเราสดชื่น กิเลสมันกระโดดขี่คอเลย กิเลสมันโดดขึ้นมามันเหยียบย่ำเลย

แต่ถ้าเราขึ้นไปแล้วถ้ามันหลบมันซ่อน เราก็อยู่กับพุทโธซะ เวลามันหลบมันซ่อน เราตั้งสติไว้ เดี๋ยวมันก็โผล่มา เพราะมันมี กิเลสน่ะ ความลังเลสงสัยในใจมันมี แต่มันหลบมันซ่อน มันหลบมันซ่อนอยู่ใต้ในใจนี่แหละ กิเลสมันร้ายขนาดนั้นน่ะ

นี่พูดถึงว่า “ถ้าผมขึ้นเวทีแล้วจะชกตรงไหน ผมควรทำอย่างไรบ้างครับ”

ทีนี้ต่อไป “๔. ถ้าโดนกิเลสมันสวนกลับแบบที่เล่ามา ผมควรทำอย่างไรครับ”

ถ้าโดนกิเลสมันสวนกลับ แสดงว่าสมาธิเราอ่อนแล้ว ถ้าสมาธิ คือกำลังเราไม่มีแล้ว เหมือนเปรียบมวย เอามวยที่อ่อนด้อยกว่าไปชกกับมวยที่เข้มแข็งกว่า ขึ้นไปอย่างไรก็แพ้

นี่ก็เหมือนกัน ตอนที่กำลังดีนี่ แหม! ชกเก่งมาก โอ้โฮ! ปราบปรามเขาหมดเลย แต่พอมันเหนื่อยล้าขึ้นมาแล้ว มันเอาเด็กๆ ขึ้นมา มันทุบเราก็ตาย

นี่ก็เหมือนกัน “ถ้าเราโดนกิเลสมันสวนกลับมา ผมควรทำอย่างไร”

ถ้าโดนกิเลสสวนกลับมานะ วางมันเลย อ้าว! กิเลส กูฝากมึงไว้ก่อน กูกลับมาพุทโธก่อน พุทโธจนมีกำลังแล้วค่อยกลับไปสู้มันใหม่

กรณีนี้เหมือนกรณีหลวงตา หลวงตาท่านบอกท่านอดอาหารไง อดอาหารนี่สู้ดีมากเลย แล้ววันนั้นจำเป็นต้องไปฉันอาหาร พอจำเป็นต้องฉันอาหาร จะไปบิณฑบาต ไปถึงครึ่งทาง ไปไม่ไหว นั่งลงเลยนะ

“นี่ไง บอกว่าจะฆ่ากิเลสๆ อดอาหาร จะสู้กับกิเลส ตอนนี้มันกำลังจะตายแล้วนะ” พอเราคิดมันก็ท้อแท้ไง

สักพักหนึ่งปัญญามันกลับมาเลย “อ้าว! คนเราก็กินมาตั้งแต่เกิด เราอดอาหารเพื่อจะสู้กับกิเลส แค่นี้จะสู้ไม่ได้หรือไง ถ้ากินแล้ว กินแล้วให้มันอยู่ใต้กิเลสนั้นใช่ไหม” นี่พอมันพลิกมา กำลังมันก็ฟื้น กำลังใจก็ฟื้นไง พอกำลังใจฟื้นมา เดินปลิวเลย ไปบิณฑบาตมาฉันได้

แต่ถ้ากำลังใจมันไม่มานะ มันเดินไม่ไหว นั่งลงแล้วคอตกนะ “โฮ้! จะเป็นจะตายแล้วนะเนี่ย” แล้วพอปัญญามันพลิกกลับ “เราก็เคยกินมาตั้งแต่เด็ก เกิดมาก็กินอาหารมาตลอด แล้วมาอดอาหารเพื่อสู้กิเลส มันเป็นความเพียรของเรา มันจะเสียหายไปตรงไหน” พอมันพลิกกลับมา มันไปได้เลย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาถ้ามันคิด ถ้าเราชกมันไม่โดน มันหลบมันหลีก เราพิจารณา นี่เป็นแง่มุมของกิเลสมันปั่นหัว พอมันปั่นหัวมา เราก็ไม่มีทางจะสู้กับมัน นี่ข้อที่ ๔.

“๕. ที่ผมทำสมาธิสั้นๆ แล้วกระโดดขึ้นเวทีไปต่อยแย็บ อันนี้สมควรทำหรือไม่”

เราทำสมาธิ ทำให้มันสุขมันมีความสงบระงับ ถ้าสงบระงับ เราค่อยฝึกหัดไปพิจารณา ถ้าพิจารณา ถ้ากำลังของสมาธิได้ เวลาพิจารณามันจะถอดมันจะถอน พิจารณาไปแล้วมันจะเกิดปัญญา กิเลสมันจะหลบมันจะหลีก นั่นน่ะคือสมาธิมันใช้ได้

แต่ถ้าพอสมาธิมันสั้น สมาธิมันไม่มีกำลัง พอขึ้นไปแล้ว พิจารณาอะไรก็ไปไม่ได้หรอก พิจารณาอะไรไปไม่ได้ เหมือนเรามีเงินทุนที่น้อย เราจะไปใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย เราไม่พอใช้หรอก แต่ถ้าเรามีเงินทุนเรามาก สายป่านเรายาว เราจะใช้จ่ายได้สะดวกสบายมาก

เราก็กลับมาที่สัมมาสมาธินี่ ถ้าสมาธิ เขาทำสมาธิสั้นๆ คำถามก็ฟ้องในตัวว่าทำสมาธิสั้นๆ แสดงว่าเราไม่เอาไหน ทำสมาธิสั้นๆ แต่ไม่ได้กำลังสมาธิ มันก็ไม่ควรจะพิจารณา ถ้าทำสมาธิสั้นๆ แล้วได้สมาธิไง

เพราะคำว่า “ทำสมาธิสั้นๆ ทำสมาธิยาวๆ” มันอยู่ที่ปัญญาของคน มันอยู่ที่วาสนาของคน บางคนทำสั้นๆ แต่สมาธิมันก็มั่นคง บางคนทำซะยาวแสนยาวแต่ไม่ได้สมาธิ มันอยู่ที่ว่าทำสั้นหรือทำยาวก็แล้วแต่ ได้สมาธิหรือไม่ได้สมาธิ

ถ้าได้สมาธิแล้ว ได้สมาธิมันสดชื่น ได้สมาธิแล้วมันจะมีความว่องไว ได้สมาธิแล้วมันมีความฉลาดแพรวพราว พอไปใช้ปัญญา ปัญญามันจะพลิกแพลง โอ๋ย! สุดยอดๆ

ถ้าไม่มีสมาธินะ หลับใน คนตกภวังค์ แล้วก็คิดเก่งนะ เดี๋ยวกูจะไปถึงปลายทาง มันหลับอยู่นะ มันบอกว่าเดี๋ยวจะเป็นเศรษฐี ไอ้พวกนั้นน่ะ

ฉะนั้น สมาธิสำคัญตรงนี้ไง ถ้าไม่มีสมาธิ ไม่มีสมาธิทำสิ่งใดเป็นโลกียปัญญา ปัญญาของโลก เป็นตรรกะ เป็นจินตนาการของโลก

ถ้ามีสมาธิ มันจะเป็นธรรม เป็นธรรมหมายถึงเป็นมรรค เป็นมรรคมันจะเป็นภาวนามยปัญญา แล้วปัญญามันจะเกิดประโยชน์ไง

ฉะนั้นบอกว่า “ถ้าผมทำสมาธิสั้นๆ แล้วกระโดดขึ้นไปต่อยแย็บ อันนี้สมควรทำหรือไม่”

ทำสมาธิสั้น สมาธิยาว เราต้องทำของเรา เพราะสมาธิสั้น สมาธิยาว มันเป็นบางครั้งบางคราวว่า สั้นก็ได้สมาธิ ยาวก็ได้สมาธิ ถ้าสั้นก็ไม่ได้สมาธิ ยาวก็ไม่ได้สมาธิ ก็ไม่ควรพิจารณาอะไรเลย ก็ควรทำสมาธิก่อน

ถ้ามันทำสมาธิสั้นก็ได้สมาธิ ยาวก็ได้สมาธิ สมควรที่จะภาวนา สมควรที่จะใช้ปัญญา ปัญญามันต้องเกิดจากสัมมาสมาธิแล้วใช้ปัญญา นั้นจะได้ประโยชน์ ประโยชน์อย่างไร ประโยชน์อย่างที่ประสบการณ์ของเขาที่ทำมานี่ไง นี่มันเป็นประโยชน์อย่างนี้ไง

ฉะนั้น ถ้าทำสมาธิสั้น สมาธิยาว ต้องได้สมาธิ

ได้สมาธิเพราะเรารู้ว่าสดชื่น เรารู้ว่าเราเองสมบูรณ์ เราทำได้ แต่ถ้าเราง่วงเหงาหาวนอน เราเพลีย เราเหนื่อยหน่าย อย่างนี้ใช้ปัญญาไม่ได้ ไม่ควรใช้เลย

ฉะนั้น เวลาเขาสรุปไง สรุปว่า “กว่าจะเข้าใจการเตรียมตัวขึ้นเวที ผมก็ว่ายาก พอได้ขึ้นไปชก ผมเหมือนมวยข้างถนนชกกับแชมป์โอลิมปิกเลย”

เห็นไหม กว่าจะว่าการเตรียมตัวขึ้นเวทีมันก็แสนยาก เวลาขึ้นบนเวทีแล้วมันยิ่งยากกว่า สมถกรรมฐาน มันก็ว่ายากแล้วแหละ วิปัสสนากรรมฐาน หลวงตาท่านสอนอย่างนี้ไง สมถกรรมฐาน เราทำสมาธิเหมือนน้ำล้นแก้ว มันก็แค่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ สมาธิก็คือสมาธิ

แต่ถ้าพอขั้นของปัญญา หลวงตาท่านบอกว่า ขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขต พิจารณาไปสามโลกธาตุ จิตดวงนี้เคยเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ มันมีความผูกพันไปทั้งหมด แล้วสติปัญญามันต้องไปถอดไปถอนไปทำลาย การทำลายอันนั้น นี่ขั้นของปัญญา ขั้นของปัญญามันจะกว้างขวาง มันจะไปลึกลับกว่านั้นอีกเยอะมากเลย

ฉะนั้นว่า “กว่าจะทำสมาธิ กว่าจะกระโดดขึ้นเวทีก็แสนยาก ขึ้นชกมันยังยากกว่า”

นี่สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน มันจะไปด้วยกันไง นี่กรรมฐาน กรรมฐานเขาทำอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้มันถึงเป็นประโยชน์ไง เป็นประโยชน์

มันอยู่ที่คำถาม คำถามมันเหมือนกับคนที่ปฏิบัติแล้วมีประสบการณ์พูดมามันเข้าทาง มันเข้าทางหมายถึงว่ามันมีเหตุมีผล แต่ถ้าเป็นการจำมา เป็นการศึกษามา เป็นอ่านหนังสือสงสัยมาถามนะ จืดชืด

แต่นี่เขาทำไปแล้ว คำพูดของเขามันฟ้องหมดน่ะ ไม่ได้สมาธิก็อย่างหนึ่ง ได้สมาธิก็อย่างหนึ่ง ทั้งๆ ที่ได้สมาธิยังไม่รู้จักนะ ไม่รู้จักตรงไหน ตรงที่ว่า “ผมไม่มั่นใจว่าทำไมต้องทำสมาธิก่อนค่อยใช้ปัญญา”

นี่ขนาดทำอยู่มันยังไม่รู้เลยมันทำแล้วมันมั่นใจไม่มั่นใจ แต่เพราะมันมั่นใจหรือไม่มั่นใจ แต่เหตุผลที่อธิบาย เหตุผลที่คุยมันมีเนื้อหาสาระ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ มันมีเหตุมีผลไง มันถึงได้ตอบปัญหาวันนี้ เอวัง