เทศน์เช้า วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ ตั้งใจฟังธรรม เรามาทำบุญกุศลกัน ทำบุญกุศลให้หัวใจผ่องแผ้ว ถ้าหัวใจผ่องแผ้วนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม อันว่าตรัสรู้ธรรมนั้นคือการกระทำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยอาสวักขยญาณในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสรู้ธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม สัจธรรมอันนั้นมันสูงส่ง สัจธรรมอันนั้นมันอยู่ในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับอยู่ในหัวใจของพระอัญญาโกณฑัญญะ แต่เวลาตำรับตำราที่ท่านจารึกไว้ๆ มันเป็นกิริยา เป็นวิธีการจะเข้าไปหาสู่ธรรมนั้น ถ้าเข้าไปหาสู่ธรรมนั้นนะ เห็นไหม
เราเป็นชาวพุทธๆ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาบอกพระอานนท์ “อานนท์ เธอจงบอกเขาปฏิบัติบูชาเราเถิด ปฏิบัติบูชาเราเถิด”
เพราะการปฏิบัติบูชานั้นเหมือนการกินอาหาร ใครได้เปิบ ใครได้หยิบจับอาหารนั้นเข้าปาก คนนั้นจะได้กินอาหารนั้น แต่ถ้าเวลาอามิสบูชาๆ พวกเรามีอำนาจวาสนาระดับนี้ เราแสวงหากัน เรามาทำบุญกุศลของเรา ทำบุญกุศลของเรา ทางการกระทำ ถ้าการปฏิบัติบูชา มันได้การปฏิบัติบูชานั้น หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เวลาปฏิบัติใช้ภาวนามยปัญญา อันนั้นคือการปฏิบัติในหัวใจ แต่ในการปฏิบัติของเรา อามิสบูชาๆ เราต้องทำหน้าที่การงานของเรา เราต้องแสวงหาของเรา กว่าจะได้ทรัพย์สมบัติของเรามา เราไปแลกเปลี่ยนมาเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยมาถวายพระ เวลาถวายพระ นี่ก็เป็นการปฏิบัติแบบโลกไง ถ้าการปฏิบัติแบบโลกๆ ถ้าหัวใจไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ มันก็แสวงหาด้วยคนที่เขาชักจูงไปไง
แต่ถ้าเป็นธรรมๆ ของเรา การเสียสละนั้นเสียสละเพื่อหัวใจของเรา การกระทำนี้ การกระทำเพื่อหัวใจดวงนี้ให้หัวใจดวงนี้มันเข้มแข็งขึ้นมา ให้หัวใจดวงนี้มีสติปัญญาขึ้นมา เวลาเกิดมามันทุกข์มันยากขึ้นมา เราปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ ถ้าความสุขๆ ความสุขของใคร
ความสุข ความสุขของหัวใจ ความสุขของสมณะ สมณะเขาต้องการความสงัด ความสงบ ความวิเวกของเขา นั่นคือความสุขของเขา
ความสุขทางโลก ทางโลกเขา ถ้าเป็นทางโลกเขา เขาต้องไปที่มีมหรสพสมโภชนั้นถึงจะเป็นความสุขของเขา แต่ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นักเลงเที่ยว นักเลงการพนัน นักเลงไง ไอ้นี่ก็นักเลงเที่ยวราตรีไง พอมีศีลมีธรรมขึ้นมาก็เพื่อตัดสิ่งนี้ออกไป พอตัดสิ่งนี้ออกไป บอกว่าชีวิตนี้ไม่มีความสุข ชีวิตนี้เหงาหงอย ชีวิตนี้เหงาหงอย ชีวิตนี้ไม่ร่าเริง ความร่าเริงอย่างนั้นมันแลกมาด้วยอะไร เห็นไหม
เวลาศีล ๕ เวลาศีล ๕ สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา ไม่ให้ดื่มสุรา การดื่มสุรา การดื่มสุราเอาโรคภัยไข้เจ็บมาสู่ร่างกายนี้ ทำให้ขาดสติ ทำให้เสียทรัพย์ มันไม่มีสิ่งใดดีขึ้นมาเลยนะ แต่เวลาสิ่งที่เขาใช้สุรานั้นเพื่อประกอบเป็นยา ไอ้นั่นมันเป็นประโยชน์ มันเป็นประโยชน์ส่วนหนึ่ง แต่มันมีโทษมหาศาล นี่ก็เหมือนกัน สิ่งใดเป็นประโยชน์ มันก็มีโทษในตัวมันทั้งนั้นน่ะ สิ่งที่มีโทษถ้ามีสติปัญญา เราก็วางมัน เราอย่าไปยุ่งกับมัน
คนเกิดมาในร่างกายมันก็มีเชื้อโรคทั้งนั้นน่ะ ถ้าไม่มีเชื้อโรค ไม่มีจุลินทรีย์ ไม่มีต่างๆ มันจะประกอบเป็นชีวิตขึ้นมาได้อย่างไร แต่ถ้ามีของมัน ครูบาอาจารย์ที่ท่านเข้มงวด เช่น หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เราเจ็บไข้ได้ป่วยไม่ไปโรงพยาบาล ไม่ไปหาหมอ เพราะสิ่งนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตไง แต่ของเราเจ็บไข้ได้ป่วยนี่โอดโอยๆ คนที่มีคุณธรรมท่านก็มีสติปัญญาของท่าน ท่านมีสติปัญญาของท่าน ท่านรักษาหัวใจของท่าน เห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน เรามาฟังธรรมๆ ฟังธรรมเพื่อเหตุนี้
ในโลกมันหยำเปทั้งนั้นน่ะ ในโลกมันมีแต่การแข่งขัน มีแต่การทำลายกันทั้งนั้นน่ะ นี่เรื่องของโลก เราเกิดมากับโลก เราต้องอยู่กับโลกไง เห็นไหม เราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนา ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่เข้มแข็ง มีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านมาฟื้นฟู ถ้าท่านไม่มาฟื้นฟู เราก็เชื่อตามๆ กันมา บวชพระมาแล้วก็บวชพระมาเป็นพระตรายาง พระพิธีกรรม เป็นสมมุติสงฆ์ พอบวชมาแล้วก็ต้องขวนขวาย ต้องมีการกระทำขึ้นมา
ถ้าการกระทำขึ้นมา เวลาท่านกระทำขึ้นมา มีแต่คนไม่เชื่อถือศรัทธาทั้งนั้นน่ะ มีแต่คนโจมตีคนทำลายทั้งนั้นน่ะ แต่ท่านก็ทำของท่านทั้งชีวิตไง พอทั้งชีวิต ท่านขึ้นไปเชียงใหม่ เวลากลับมา กลับมาพักที่วัดพระศรีฯ วัดบรมฯ แล้วเวลาท่านไปทางภาคอีสาน ไปรถไฟๆ เวลาลูกศิษย์ของท่าน เวลาท่านไปถึงโคราช ลูกศิษย์ก้นกุฏิเขาว่าท่านเป็นพระอรหันต์จริงหรือ ถามหลวงปู่มั่นตรงๆ เลย
แต่เวลาท่านตอบนะ ท่านตอบถึงอริยสัจ ตอบถึงเหตุถึงผล ท่านไม่ตอบว่าเราเป็นหรือไม่เป็นไง นี่ท่านฉลาดมาก ฉลาดเพราะอะไร เพราะลูกศิษย์มันใกล้ชิดใช่ไหม ลูกศิษย์สนิมสนมมันก็ถามของมันตรงๆ แต่ก่อนที่ระหกระเหิน ก่อนที่มีการกระทำมา มันมาจากไหนล่ะ นี่ไง มันต้องมีการกระทำไง
ฉะนั้น เวลาเราไปวัดไปวาขึ้นมา ไปวัดป่า วัดป่า วัดที่ปฏิบัติ วัดที่ปฏิบัติเขาต้องการความสงบความระงับของเขา เขาต้องการความวิเวกของเขา เรามาทำไม เรามาเพื่อวัดหัวใจของเราไง ข้อวัตรปฏิบัติก็คือไปดูในวัดนั่นไง วัดไม่ร้างไง เวลาเราไปเที่ยวตามวัดตามวา ไปถึงเราก็เบื่อหน่าย วัดนี้เป็นตลาด สกปรก ไม่มีใครดูแล เพราะพระไม่มีข้อวัตร พระไม่มีข้อวัตรก็คือวัดร้าง มีคนเหมือนไม่มีคนไง
แต่ถ้าวัดป่าๆ วัตรปฏิบัติของเขา เขาไม่ต้องมีความจำเป็นอย่างนั้น เขาไม่ต้องมีความจำเป็นจะต้องสะดวกสบายจนเกินไปไง ถ้าสะดวกสบาย ในการประพฤติปฏิบัติมันก็ไปส่งเสริมกิเลสไง แล้วพอกิเลสขึ้นมาแล้ว พอบอกว่า เมื่อก่อนที่เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านออกประพฤติปฏิบัติก็ไม่มีใครเชื่อถือศรัทธาทั้งนั้นน่ะ บอกว่าเป็นเสือเย็นๆ เป็นพวกเสือเย็น พวกจิตวิญญาณเข้ามาสิงสู่ ไอ้เรานี่เป็นพระผู้ดี ไปไหนมีแต่ความนุ่มนวลอ่อนหวาน
แต่ครูบาอาจารย์เราไม่เป็นอย่างนั้นน่ะ นี่เวลาท่านทำทั้งชีวิตของท่าน เวลาหลวงตาท่านพูดถึงนะ ถ้าพูดถึงทางโลกๆ ว่าหลวงปู่มั่นท่านทุกข์มาก ท่านมีแต่ความทุกข์ความยาก ท่านไม่มีอะไรสะดวกสบาย ท่านไม่มีอะไรสมบูรณ์ทางโลกเลย นั่นพูดถึงทางโลกนะ ท่านเป็นคนเศษเดน แต่คนเศษเดนไง คนที่สังคมไม่รู้จักไง คนที่ไม่มีใครเอาไง แต่ถ้าเป็นทางธรรม เลอเลิศ สุดยอด เพราะหัวใจมีแต่คุณธรรม ถ้าคุณธรรมอันนั้นในหัวใจ สิ่งนั้นมันประเสริฐตรงนั้นไง
นี่ก็เหมือนกัน เราก็บอกว่า พอท่านทำของท่านจนสังคมยอมรับ มีครูบาอาจารย์ที่ท่านพยายามขวนขวายของท่าน มีครูบาอาจารย์หลายองค์มากท่านขวนขวายของท่าน ท่านอยากปฏิบัติของท่าน แล้วท่านก็แสวงหาครูบาอาจารย์นะ ดูสิ หลวงปู่ฉลวย ประวัติของท่าน เวลาท่านไปท่านบอกว่าลูกศิษย์ของท่านมหาศาล ท่านเป็นลูกเศรษฐีเหมือนกัน ท่านเป็นเจ้าของโรงสี แล้วท่านจะออกปฏิบัติ ปฏิบัติมา ลูกศิษย์ก็บอก “ไปๆ ไปหาท่านพ่อลีๆ” กลุ่มหนึ่งก็ชวนกันไปหาท่านพ่อลี เห็นไหม คนที่ปฏิบัติใหม่ๆ ก็อยากหาครูบาอาจารย์เป็นคนชี้นำ เหมือนเราเด็กๆ ทำอะไรไม่เป็น เราก็อยากได้พี่เลี้ยง เราเป็นลูกเป็นเต้าก็อยากจะมีพ่อแม่คอยคุ้มครอง
นี่ไง การปฏิบัติโดยธรรมๆ บวชแล้วต้องขอนิสัยครูบาอาจารย์ แล้วครูบาอาจารย์ท่านก็ต้องคอยชี้นำไง แล้วปฏิบัติแล้ว ไปถามคนโน้นก็ไม่รู้ คนนี้ก็ไม่รู้ มืดแปดด้านไง เวลาแสวงหาก็แสวงหานะ กลุ่มหนึ่งก็บอกว่าไปหาท่านพ่อลีๆ สักพักมีอีกกลุ่มหนึ่งบอกว่าไปหาหลวงปู่มั่นดีกว่า
นี่ไง ในประวัติหลวงปู่ฉลวยท่านพูดเอง เราไปอ่านเข้า ไปเจอ เออ! คนฉลาด ท่านถามว่า “ท่านพ่อลีกับหลวงปู่มั่น ใครเป็นศิษย์ ใครเป็นอาจารย์”
เขาบอกว่า “ท่านพ่อลีเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น”
“อย่างนั้นเราไปหาหลวงปู่มั่น”
ท่านไปหาหลวงปู่มั่นไง เราจะบอกผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่บวชแล้วแสวงหา เขาก็หาครูบาอาจารย์ของเขา เขาหาผู้คุ้มครองดูแลของเขา เขาหาความจริงของเขา เวลาเข้าไปหาความจริง ดูสิ ท่านเป็นคนจริงไง เวลาคนจริง ในประวัติของท่าน ท่านบอกเลย ท่านเป็นมหานิกาย ท่านบอกเลยนะ ถ้าหลวงปู่มั่นบอกให้สึก ท่านจะไม่ยอมสึก หลวงปู่มั่นให้ญัตติ ท่านจะไม่ทำอะไรทั้งสิ้น เพราะถือว่าไอ้นั่นเป็นทิฏฐิมานะ ท่านตั้งปฏิภาณในใจของท่านเลย
แล้วถ้าหลวงปู่มั่น เพราะร่ำลือว่าหลวงปู่มั่นดุมาก ถ้าหลวงปู่มั่นไล่ออกจากวัด ท่านจะไม่ยอม ท่านจะลงไปนั่งอยู่ที่พื้นดิน ท่านบอกว่า พื้นดินนี้เป็นของประเทศชาติ เป็นของโลก ไม่ใช่ของหลวงปู่มั่น ท่านตั้งปฏิภาณในใจของท่าน นี่คนมันก็มีทิฏฐิมานะของมันไป เพราะคนจริง คนจริงมันต้องการความจริง มันมีมุมมองอย่างนั้นน่ะ มีมุมมองอย่างนั้น ถ้าจะมาชักนำเราให้เชื่อตามไม่ได้ ถ้าจะชักให้เราเป็นอย่างนั้นไม่ได้ ใครจะมาชักนำชักจูงเราไม่ได้ เราเป็นคนเก่ง คนยอด คนแน่
ไปถึงหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านไม่พูดอะไรเลย ท่านมีแต่สอนๆๆ สอนจนหลวงปู่ฉลวยท่านขวนขวายไปญัตติเป็นธรรมยุติเอง ท่านเห็นความเป็นจริง ความเป็นคุณ และความเป็นโทษ
นี่คนที่ฉลาด คนที่มีปัญญานะ เขาก็เลือกหา เขาขวนขวายของท่าน แต่ด้วยทิฏฐิมานะ ด้วยกิเลสไง ท่านเป็นมหานิกายมาเดิม ท่านบอกเลย ถ้าท่านบอกให้ญัตติ เราจะไม่ยอม ท่านจำให้ทำอย่างนั้น เราจะไม่ยอม เราจะไม่ยอม แต่จะไปหาอาจารย์นะ จะไปหาอาจารย์นะ แต่ไม่ยอมๆ
หลวงปู่มั่นท่านพูดถึงธรรมะ ท่านพูดถึงศีล สมาธิ ปัญญา ท่านพูดถึงสัจจะความจริง ท่านพูดถึงคุณประโยชน์ อะไรที่มันจะเข้าถึงธรรมได้มากกว่ากัน อะไรที่มันสะอาดบริสุทธิ์ไง
ศีล ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามันเป็นศีล คุณธรรมที่ศีลที่ความปกติของใจ ถ้ามันจะภาวนามันก็จะภาวนาได้ง่าย ถ้ามันภาวนาได้แล้วขึ้นมา ถ้ามีสมาธิแล้วเกิดใช้ปัญญา ปัญญามันจะกว้างขวาง ปัญญาจะชำระล้างกิเลสแล้ว มันมาจากไหน มันก็มาจากคุณธรรมในการที่เราทรงไว้ ถ้าเราทรงไว้ ถ้าสิ่งที่มันเป็นคุณงามความดี เราอยากได้ไหม ท่านขวนขวายเองนะ ขวนขวายไปญัตติกับเจ้าคุณจูมธรรมเจดีย์
นี่พูดถึงนะ เราจะบอกว่า เวลาหลวงปู่มั่นท่านทุกข์ท่านยากมา ท่านกระทำของท่านมา ขวนขวายมาขนาดไหน ไอ้ผู้ที่จะมาประพฤติปฏิบัติ ไอ้ผู้ที่จะหาครูบาอาจารย์ก็ต้องเป็นคนใจเด็ด ถ้าคนใจเด็ดแล้ว ไปแล้วมันด้วยเหตุด้วยผลไง คนที่มีบารมีธรรมท่านฟังด้วยเหตุด้วยผลไง ไม่ใช่เอาสีข้างเข้าถูไง เอาทิฏฐิมานะของเราแล้วว่าเป็นความถูกต้องดีงาม แล้วจะยึดความถูกต้องดีงามไปทั้งหมด เห็นไหม เริ่มต้นคนมีกิเลสมันก็ยึดของมัน เหมือนเราน่ะ
ธรรมะในพระไตรปิฎก มีเพื่อนสองคนเขาเที่ยววิเวกไป เวลาเขาจะกลับบ้าน เริ่มต้นเขาจะเอาของกลับบ้าน เขาก็ไปได้มูตรได้คูถ ได้ขี้หมูขี้หมามา ก็ใส่ในถุงว่ามันจะเป็นประโยชน์ ก็แบกหามไป พอแบกหามไป ไปด้วยกัน เพื่อนเขาพอไปเจอแร่ธาตุ ไปเจอเหล็ก เขาก็ทิ้งขี้หมูนั้น เขาก็แบกเหล็กไป พอเดินทางต่อไปข้างหน้า เขาไปเจอเงิน เขาก็ทิ้งเหล็กนั้นเพื่อจะแบกเงิน แบกเงินไปนะ เดินหน้าต่อไป ไปเห็นทองคำอยู่ข้างหน้า เขาก็ทิ้งเงินนั้นเพื่อแบกทองคำ กลับไปถึงบ้าน เขามีทองไปฝากภรรยาเขา
ไอ้เพื่อนที่มาด้วยกันนะ มันแบกขี้มาตั้งแต่ต้น มันแบกขี้มา โอ๋ย! แบกมาไกลแล้ว ไปเจอเหล็กก็ไม่เอา เพราะเสียดายแบกขี้มา พอไปเจอเงินก็ไม่เอา เพราะอะไร เพราะเราแบกขี้มานานแล้ว เราใช้ความพยายามมุมานะมาเยอะ พอไปเจอเงิน มันก็ไม่เอา ไปเจอทอง มันก็ไม่เอา ไปถึงแล้ว กลับเข้าถึงบ้าน ใกล้ๆ บ้านฝนตก โอ้โฮ! ขี้มันไหลมาเต็มตัวเลย กลับไปถึงบ้านมีขี้หมูไปฝากภรรยา ภรรยานี่ด่าเปิงเลย
ทิฏฐิของคน คนถ้ามันมีทิฏฐิมานะ มันจะแบกทิฏฐิมานะของมันไป ถ้าบอกว่านู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ มันไม่ยอมอะไรทั้งนั้น พอไม่ยอมอะไรทั้งนั้น มันแบกมาตั้งแต่อดีตชาติ มันแบกมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ มันผูกพันของมันในหัวใจของมัน มันไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรของมันทั้งสิ้น มันแบกหามของมันไป แต่คนที่ฉลาด เราเกิดมามีอวิชชา เราก็มีมูตรมีคูถมาในหัวใจทั้งนั้นน่ะ
เราประพฤติปฏิบัติของเราไป เราเสียสละของเราไป เราสละของเราไป มีสิ่งใดด้วยเหตุด้วยผล ด้วยสติด้วยปัญญาไง ไม่ใช่เชื่อตามๆ กันมา ไม่ใช่ใครจะมาบังคับให้เราเชื่อตามนั้น แต่เราด้วยสติด้วยปัญญาของเรา เราแยกแยะเองว่าอะไรผิดอะไรถูก เราสละ เราคายสิ่งที่มันผิดใช่ไหม เราเอาความถูกต้องไปไง เดินไปข้างหน้า ความถูกต้องของเราขึ้นมา ความถูกต้องที่มันหยาบๆ ใช่ไหม ความถูกต้องที่ละเอียดกว่านั้นลึกซึ้งกว่านั้นยังมีอยู่ เราจะเอาความถูกต้องอันนั้น ถ้าความถูกต้องอันนั้นมันมากขึ้นไป เราเข้าไปแล้วความถูกต้องอันนั้นยึดไว้มันเป็นภาระ เราจะวางความถูกต้องนั้น เราจะปล่อยวางอย่างนั้น มันไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป นี่คนที่มีบารมีมันเป็นอย่างนี้
นี่ไง เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านแสวงหา แสวงหาครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงๆ นี่ไง ธรรมะๆ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุแห่งผล พระพุทธศาสนาสอนถึงสัจจะความจริง สัจจะความจริงข้างนอกมันก็เป็นเรื่องของโลก ของโลกคือทัศนคติ ใครมีมุมมองอย่างไร มีความเห็นอย่างไร พระพุทธศาสนาสอนเรื่องอริยสัจ พระพุทธศาสนาสอนเรื่องความจริง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สัจจะความจริงเป็นสัจจะความจริง สัจจะความจริงนี้มีหนึ่งเดียวไง
เวลาครูบาอาจารย์ของเราในสมัยพุทธกาล เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติได้เป็นพระอรหันต์ด้วยสัจจะด้วยความจริง ด้วยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้สั่ง ผู้สอน ผู้อบรมมา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งเอตทัคคะ ๘๐ องค์ พระอรหันต์เหมือนกัน แต่ความถนัดไม่เหมือนกัน นี่มันเป็นสัจจะความจริง แต่อริยสัจมันเป็นพระอรหันต์เหมือนกันไง คำว่า “เป็นพระอรหันต์” คือความจบสิ้นจากกิเลสไปไง พอจบสิ้น เห็นไหม
การทิ้งขี้ ทิ้งเหล็ก ทิ้งเงิน ทิ้งทอง ทิ้งหมดเลย เพราะมันเป็นวัตถุ มันต้องดูแลรักษา แล้วมันเสื่อมค่า แต่ธรรมในหัวใจเราไม่มีเสื่อมค่า เวลามันมีคุณธรรมในหัวใจ เห็นไหม
พระพุทธศาสนาประเสริฐมาก เพราะการประเสริฐอย่างนี้ไง เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ พระอรหันต์กับคนบ้าอยู่ใกล้ๆ กัน สิ่งที่ว่าครูบาอาจารย์ท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านปล่อยวางหมดเลย
ไอ้คนบ้าอยู่โรงพยาบาลศรีธัญญา แล้วมันดันมีสติสัมปชัญญะ มันมาบวชสักคราวหนึ่ง แล้วมันก็บวชมาเป็นพระ ไอ้คนบ้ามันพูดอะไรนะ ไอ้เราก็คิดไม่ถึงไง สังคมของเราคิดไม่ถึงนะว่าคนบ้ามันพูด มันพูดจนเราไม่มีเหตุมีผล เออ! สงสัยจะหลุดพ้นแล้วแหละ เพราะมันพูดได้จนเราคาดไม่ได้...นั้นมันคนบ้า
เวลาคนบ้า คนบ้ากับพระอรหันต์อยู่ใกล้ๆ กัน ถ้ามีวุฒิภาวะ มีสติขึ้นมา สติเป็นอัตโนมัติ ความทุกอย่างสมบูรณ์พร้อมหมด นี่พระอรหันต์ ไอ้ที่มันไม่มีเหตุมีผลอะไรเลย พูดอะไรร้อยแปดพันเก้า พูดภาษาเรา แล้วสังคมไทยมันชอบเชื่อคนบ้าห่มผ้าเหลือง มันไม่เชื่อครูบาอาจารย์ เพราะครูบาอาจารย์มันลงแส้ไง เวลามันลงแส้นี่มันเจ็บนะ
นี่ไง เวลาครูบาอาจารย์ท่านไปหาหลวงปู่มั่น ใครๆ ก็ร่ำลือว่าหลวงปู่มั่นดุมากๆ หลวงตาท่านก็คิดอย่างนั้น ท่านก็บอกว่าร่ำลือนักว่าหลวงปู่มั่นดุมาก ท่านก็คิดนะ พระอรหันต์ไม่ทำร้ายใครหรอก ดุขนาดไหน ขอไปดู แต่ไปถึงแล้วก็ดุจริงๆ เข้าไปวันแรกท่านก็โดนเต็มที่เลย ผมๆๆ ด้วยความเกร็งไง เตรียมตัวเต็มที่ ผมๆๆ ผมมันก็มีทุกคนคนน่ะ
นี่ไง นี่วาสนาของคนนะ เวลาท่านโดนมาแล้ว เออ! จริงๆ ก็ผมมีทุกคน แม้แต่คนหัวล้านมันก็มีผม เออ! นี่ถ้ามีสติปัญญามันฟังแล้วมันชื่นใจ เพราะเราพูดไม่สมบูรณ์ไง เราพูดไม่รอบคอบไง แต่ถ้าเป็นเรานะ เออ! เดินทางมาตั้งไกล ว่าจะมากราบครูบาอาจารย์ เข้ามาแล้วก็โดนแส้ เออ! กลับบ้านกูดีกว่า จบ นี่ไง วาสนาของคน
ดูสิ วาสนาของคน มันอยู่ที่วาสนา ถ้าวาสนาของคนนะ เราคิดด้วยเหตุด้วยผลสิว่านั่นมันถูกหรือผิด ไอ้นั่นมันจริงหรือไม่จริง ไอ้ที่หาบขี้หาบมูตรหาบคูถมามันจริงหรือไม่จริง ไอ้ที่เรามานี่เราก็อยากจะมาว่าอะไรเป็นมูตรเป็นคูถ อะไรเป็นเงินเป็นทอง อะไรเป็นความจริงหรือไม่จริง เราก็แสวงหาอยู่นี่ไง ถ้าเราแสวงหา วัดป่ามันอยู่ตรงนี้ วัดป่า วัดที่ปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติ เขาก็ปฏิบัติในหัวใจของเขา
ฉะนั้น ศาสนวัตถุ ครูบาอาจารย์นะ หลวงตา อาจารย์สิงห์ทอง ท่านบอกเลยนะ หลวงตาท่านพูดว่า “ท่านสิงห์ทองนิสัยเหมือนเรา ไม่ชอบก่อสร้าง ไม่ชอบสิ่งใดที่มันเป็นเรื่องของวัตถุ”
ถ้าเป็นเรื่องของวัตถุนะ มันแข่งขันกัน แล้วไอ้คนบ้าห่มผ้าเหลืองอยู่ในโรงพยาบาลศรีธัญญามันทำได้ วัตถุ ใครๆ ก็ทำได้ ขอให้มีตังค์จ้างใครก็ได้ แล้วเราไปเจอวัตถุ โอ้โฮ! อึ้ง ทึ่ง มหัศจรรย์ แต่เราไม่เคยรู้จักศีล สมาธิ ปัญญาของครูบาอาจารย์เรานะ
มันอยู่ในหัวอก มันไม่มีอยู่ข้างนอกหรอก แต่คนที่มีสายตาเท่านั้น พระสารีบุตรแสวงหาครูบาอาจารย์ เห็นพระอัสสชิไปบิณฑบาต นี่มันอยู่ในหัวใจดวงนั้นไง เห็นความก้าวเดินของพระอัสสชิ ต้องไม่ธรรมดา ไปหาพระอัสสชิแล้วคอยฟังธรรม เย ธมฺมาฯ ได้เป็นพระโสดาบัน ไปบอกพระโมคคัลลานะก็ได้เป็นพระโสดาบัน นี่ไง เวลาคนแสวงหาเขาแสวงหาสัจจะความจริง นี่คือธรรม ศาสนธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ธรรมคืออันนี้
ไอ้สิ่งปลูกสร้างนั้นน่ะใครๆ ก็ทำได้ แล้วสิ่งปลูกสร้างนั่นน่ะมันจะวนกลับมาเรื่องเข้าไปมีปัญหากันนี่แหละ สิ่งที่มีปัญหากันก็อยากจะปลูกอยากจะสร้าง อยากจะแข่ง อยากจะแข่งขันกัน อยากจะเชิดชูกัน พวกเราก็อยากจะค้ำชูศาสนาๆ
ค้ำชูศาสนา เขาก็มีไม้ค้ำโพธิ์ไง ไม้ค้ำโพธิ์ก็เหมือนกับมีสติมีปัญญาของเรา กลับมาที่นี่ ถ้าหัวใจของเรานะ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ถ้าจิตสงบแล้วนะ เวลาจิตสงบ ธาตุรู้ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเน้นย้ำที่นี่
แต่เราก็อยากร่ำอยากรวย ทำแล้วก็อยากให้สมความปรารถนา อันนั้นมันอยู่ที่อำนาจวาสนาบารมี แล้วมันอยู่ที่การกระทำ อยู่ที่สติปัญญาของ เราขวนขวายของเรา สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เปลือกนอกนะ คนเราถ้ามีสติมีปัญญานะ มันจะขาดแคลนอย่างไรมันก็พอดำรงชีพได้นะ คนเรานะ ถ้าไม่มีสติปัญญานะ ขาดแคลนสิ่งใดมีแต่ความทุกข์ทั้งนั้นน่ะ แล้วคิดว่าพอได้เสพสุขแล้วว่าจะเป็นความสุข นี่เขามีปัญญาแค่นั้นน่ะ
แต่คนที่มีสติปัญญา ครูบาอาจารย์ของเราอดนอนผ่อนอาหาร ของมีเต็มไปหมดเลย ท่านไม่ฉัน ท่านอยากภาวนาให้ได้ ท่านอยากเอาคุณงามความดีของท่าน นี่คนมีสติปัญญา มันประหยัดมัธยัสถ์ แล้วมันไม่เอาสิ่งนั้นมาเป็นภาระในหัวใจ นี่พูดถึงถ้าเป็นธรรมนะ
ฟังธรรมๆ เพื่อเหตุนี้ โลกมันจะกระทบกระเทือน มันจะมีกระแสความเป็นไปของโลก เรายึดมั่นหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เรายึดมั่นครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ของเราท่านต้านกระแสโลกมาหนึ่งรอบ แล้วพอสังคมมันเชื่อถือโดยที่ด้อยวุฒิภาวะ มันก็จะไปกับเขา เราพยายามมีจุดยืนของเราเพื่อน้ำใจของเราเอง เพื่อสัจธรรมที่เราจะค้นคว้านี้ นี้คือฟังธรรมเตือนสติเพื่อบำรุงหัวใจของเรา เอวัง