คลำหาทาง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “ขอทราบอาการของจิต”
ผมได้พยายามสำรวมกาย วาจา ใจ เนื่องในวันหยุดยาวเข้าพรรษา ๔ วัน ผลของการปฏิบัติปรากฏว่า ในคืนวันที่ ๔ ประมาณตี ๓ ผมตื่นขึ้นมามีสภาวะแปลกๆ คือเห็นมือ เห็นร่างกายมันไม่ใช่ของเรา เป็นส่วนเกิน จิตใจอ้างว้างหดหู่เหมือนหมดอาลัยตายอยาก โหวงๆ ใจมันไม่ดีเลยครับ ผมพยายามนอนต่อก็นอนหลับ เพราะฝึกมานาน ตอนเช้าผมได้พิจารณาเรื่องสภาวะจิตหดหู่ เลยเข้าใจเอาว่า น่าจะเป็นจิตเห็นจิตเกิดความเบื่อหน่าย เพราะตั้งใจทำสมาธิ ไม่ให้ใจฟุ้งซ่าน ไม่ไปไหนหลายวัน
ผมขอถามครับ ผมเข้าใจถูกเรื่องจิตเห็นจิตแล้วเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดหรือเปล่าครับ หลังจากนั้นผมเอาสภาวะที่จิตหดหู่อ้างว้างนั้นมาเป็นอารมณ์กรรมฐาน จะถูกต้องหรือไม่ครับ สภาวะนั้นถ้าเราเอามาใช้จะเป็นการใช้ปัญญาเพื่อละสัญญา คือจะเป็นการคิดเอาเองหรือเปล่าครับ
ตอบ : นี่คือคำถามเนาะ คำถามถามเรื่องอาการของใจ อยากทราบอาการของจิตที่มันภาวนาไง เวลาเขาภาวนาแล้ว เขาพยายามฝึกหัดภาวนา ภาวนามาหลายวัน วันหยุดยาว วันเข้าพรรษา เสร็จแล้วก็นอนหลับ พอนอนเข้าไป เวลาเขาว่าเขาตื่นขึ้นมาเกิดสภาวะเห็นมือ เห็นร่างกายมันไม่ใช่ของเรา มันไม่ใช่ของเรานะ จิตหดหู่อ้างว้างหมดอาลัยตายอยาก โหวงๆ เหวงๆ ไปเลย เสร็จแล้วผมก็พยายามจะนอนต่อ พอนอนต่อก็นอนต่อไป เสร็จแล้วพอสุดท้ายแล้วเช้าขึ้นมาเขาบอกว่าเขาเอาอารมณ์อย่างนี้มาเป็นสภาวะการภาวนาได้หรือไม่
สิ่งที่การภาวนาเขาเรียกว่าอารมณ์ภาวนา ถ้าอารมณ์ภาวนา สิ่งที่ว่าพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง ในการทำความสงบของใจ ถ้าทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบระงับแล้ว ถ้าเรามาพิจารณามันถึงจะเป็นวิปัสสนา
วิปัสสนา หมายความว่า มันมีจิต จิตที่สงบระงับแล้ว จิตที่ไม่มีกิเลสหลอกลวง มันมาฝึกหัดใช้ปัญญา ยังต้องฝึกหัดใช้นะ เพราะมันเป็นขั้นของสมาธิ ขั้นของปัญญา
ขั้นของสมาธิ ถ้าเราไม่ทำสมาธิเลย เราไม่ทำความสงบเลย มันเหมือนกับครูบาอาจารย์ท่านสอนไง เราอยากจะทานอาหาร ภาชนะของเรามีแต่ความสกปรกทั้งนั้นเลย ตักอาหารอะไรมาใส่ในภาชนะนั้นมันก็สกปรกไปหมดน่ะ ภาชนะเรามีแต่มูตรแต่คูถ เราจะไปตักอาหารชั้นเลิศทั้งหมดเลยมาใส่ในภาชนะนั้น มันก็เจือปนไปด้วยมูตรด้วยคูถ เพราะภาชนะมันเจือด้วยมูตรด้วยคูถ
จิตใจของเรามันมีความโลภ ความโกรธ ความหลง มีความต้องการ มีความปรารถนา มันมีจินตนาการของมันร้อยแปด แล้วเราก็จะเอาหัวใจอย่างนี้ไปใช้ปัญญา ปัญญามันก็จินตนาการ มันก็คิดไปตามแต่กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันยุยงส่งเสริม
ฉะนั้นถึงว่า ทำความสงบของใจเข้ามา ทำความสงบของใจเข้ามา พอใจมันสงบ ไอ้ความยุยงส่งเสริม ไอ้สิ่งที่ว่าเป็นตัณหาความทะยานอยากมันสงบตัวลง สงบตัวลง สงบตัวจนมันใช้ปัญญาไม่เป็นไง
เวลาคนทำสมาธิ ไม่ได้สมาธิก็พยายามฝึกหัดเอาสมาธิ พอได้สมาธิแล้วก็มหัศจรรย์ “โอ้โฮ! นิพพานเป็นเช่นนี้เอง” มันแค่เป็นสมาธิ พอเป็นสมาธิมันก็ตื่นเต้นไปกับมันไง
แต่ถ้าคนที่มีสติปัญญาเป็นสมาธินะ สมาธิก็เป็นสมาธิ เราจะต้องฝึกหัดใช้ปัญญาอีก พอฝึกหัดใช้ปัญญาอีก ถ้ามันฝึกหัดใช้ปัญญา อาการใช้ปัญญาอย่างนี้ ถึงบอกว่า จิตเห็นอาการของจิต
เวลาคนเป็นๆ เราฟังหลวงปู่ดูลย์เราซึ้งมากนะ “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิด แต่การหยุดคิดก็ต้องใช้ความคิด”
เวลาบอกว่าดูจิตๆ ดูจิตจนจิต จิตส่งออกทั้งหมดเป็นสมุทัย ผลของสมุทัยเป็นทุกข์ จิตเห็นอาการของจิตเป็นมรรค ผลของจิตเห็นจิตเป็นนิโรธ นี่ไง จิตเห็นอาการของจิต
คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิด หยุดคิด พอมันหยุดคิดแล้ว พอจิตเห็นอาการของจิตมันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง
แต่โดยสามัญสำนึก โดยการปฏิบัติ โดยทางนักวิชาการ โดยผู้ปฏิบัติที่เขาชำนาญแล้วนะ เขาจะรู้ได้เลยว่ามันไม่มีใครเคยเห็นอาการของจิตหรอก มันไม่เห็นตามความเป็นจริงหรอก
เพราะดูสิ เวลาเราเห็นแสง เวลาจิตสงบแล้วเห็นแสง เห็นความสว่างไสว อาการทั้งนั้น เวลาคนไปถามหลวงตา เวลาถามว่า เห็นอย่างนู้น รู้อย่างนี้
ท่านบอกอาการทั้งนั้น อาการทั้งนั้น อาการคือจิตมันออกรู้ไง จิตมันออกรู้
นี่ก็เหมือนกัน จิตมันออกรู้ รู้ไปแล้ว อย่างจิตออกรู้ โดยธรรมชาติ นักภาวนานะ เขาบอกจิตนี้มันเหมือนน้ำใสอยู่ในแก้ว น้ำใสๆ อยู่ในแก้ว แก้วที่ตั้งอยู่นี่เราไม่รู้เลยว่าในแก้วนั้นมีน้ำหรือไม่ ถ้าเติมสีลงไปเราจะรู้ว่า อ๋อ! มันมีน้ำอยู่เพราะสี สีมันจะเจือจางกับน้ำนั้น
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราคิดโดยสามัญสำนึก มันเหมือนน้ำในแก้ว เราไม่รู้เรื่องเลย เราคิดไปร้อยแปด แล้วก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ถ้าพอเติมสีไปมันก็จะเห็นสี
ไอ้นี่คิดทั้งวันเลย คิดทั้งวัน ฟุ้งซ่านทั้งวัน ทุกข์ทั้งวันเลย ไม่รู้ แล้วพอสงบขึ้นมาก็ไม่รู้ คนไม่เคยภาวนา ภาวนาไม่เป็น ไม่รู้เรื่องหรอก แต่ถ้าไปศึกษาทางวิชาการ โอ้โฮ! เข้าใจนะ อาการจะเป็นอย่างนั้นๆ แล้วก็จินตนาการไป
คำว่า “จินตนาการ” มันคิดอยู่แล้ว มันไม่ได้หยุดคิด มันไม่ได้หยุดคิด มันยังแบบว่าน้ำยังไม่ใส ถ้าน้ำใสคือสัมมาสมาธิ
ถ้าสัมมาสมาธิไง ถ้าจิตเป็นสมาธิแล้ว จิตเป็นสมาธิแล้วมันก็ไม่ทำงาน ไม่ทำงาน ต้องฝึกหัด แล้วถ้าฝึกหัด ถ้าคนเห็นตามความเป็นจริง
แต่ในปัจจุบันนี้จิตมันไม่ได้สงบมันก็คิดของมันอย่างนี้ แล้วก็คิดของมันไป แบบเช่นคำถามนี้ ผมภาวนาของผมนะ ผมภาวนา ๔ วัน ๔ คืน ตี ๓ เวลามันนอนตื่นขึ้นมาเห็นสภาวะ เห็นมือ เห็นร่างกายไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเรา พอเห็นปั๊บมันเกิดอาการหดหู่
อาการหดหู่มันเกิดเวลาเราไปรู้ไปเห็นสิ่งใด นี่มันเกิดความรับรู้ เกิดอารมณ์อย่างนั้น เกิดอารมณ์อย่างนั้นมันก็เกิดความหดหู่ เกิดความอ้างว้าง ฉะนั้น เกิดความหดหู่ เกิดความอ้างว้าง เวลามันหดหู่มันแบบว่ามันไม่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา คือมันไม่เป็นธรรมไง
มีนักปฏิบัตินะ เวลาปฏิบัติเต็มที่เลย พอเต็มที่แล้วมันก็ไปพิจารณา พิจารณาเปรียบเทียบไงว่าเป็นกามราคะ โอ้โฮ! อ้วกแตกอ้วกแตน
คำว่า “อ้วกแตกอ้วกแตน” มันเป็นผลของร่างกาย พวกเคมี ในเคมีร่างกายมันทำปฏิกิริยา เราเกิดอาเจียน เกิดอาการขย้อน ไอ้พวกเรานักปฏิบัติก็ “โอ้โฮ! กำลังจะคายกิเลส”
คายอาหารเก่า ไม่ใช่คายกิเลส มันจะอ้วกอยู่ มันคายกิเลสตรงไหน มันจะอ้วกมันจะอาเจียนน่ะ ไอ้คนปฏิบัติไม่เป็นก็ “อู้ฮู! สุดยอด มันกำลังจะคายกิเลส”...ไม่ใช่หรอก มันกำลังจะอ้วก พออ้วกแล้ว นี่ไง คนเข้าใจผิดไง ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์
กรณีนี้มันมีผู้ที่ปฏิบัติเวลาเกิดปฏิกิริยาอย่างนี้แล้วก็คิดว่า โอ้โฮ! มันสุดยอด แล้วก็หลงตัวเอง พอหลงตัวเอง พอจิตมันเสื่อมนะ เสียหมดเลย
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเกิดอาการหดหู่อย่างนี้ไม่ใช่ อาการหดหู่ เราคิดว่าอาการหดหู่แบบคนจิตเภท คนที่จิตมีปัญหาเขาเกิดอะไร เขาก็เกิดอาการหดหู่ การปฏิบัติธรรมมันจะเกิดอาการหดหู่ อาการซึมเศร้าอย่างนั้นหรือ
การปฏิบัติไม่เป็นอย่างนั้นนะ ถ้าเป็นอย่างนั้น ผิด เกิดหดหู่เกิดซึมเศร้า ก็ส่งโรงพยาบาลไง ส่งหมอ
แต่ถ้ามันสังเวช ธรรมสังเวชไม่ใช่หดหู่นะ การหดหู่นี่มันหดหู่ แต่เกิดธรรมสังเวช ดูสิ เวลาเกิดธรรมนะ ดูสิ ที่หลวงตาเวลากระเทือนน้ำหูน้ำตาไหล เกิดธรรมสังเวช เกิดเป็นธรรมสังเวชนะ
อย่างเราทำความผิดแล้วถ้าเราสำนึกผิดได้ โอ้โฮ! มันสะเทือนใจนะ เกิดธรรมสังเวชมันเกิดสภาวธรรมไง เกิดจิตที่มันสงบแล้วมันรู้มันเห็นต่างๆ พอมันเกิดธรรมสังเวช น้ำตาไหลนะ ขนพองสยองเกล้า แต่ไม่ใช่หดหู่ มันรื่นเริง
มันรื่นเริง รื่นเริงเพราะอะไร เพราะถ้าไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ มันจะเกิดอาการอย่างนี้ไหม
ถ้ามันมีสติ มีสมาธิ เกิดอาการอย่างนี้ มันเกิดอาการอย่างนี้ ธรรมสังเวช เกิดสภาวธรรม แล้วเกิดความสลดสังเวช สังเวช สภาวธรรม ธรรมสังเวชๆ
ธรรมสังเวชนี่เกิดบ่อย ที่ว่าเกิดธรรมๆ เวลาคนใช้ปัญญาอบรมสมาธิหรือใช้พุทโธ เวลาเกิด ถ้ามันเกิดสะเทือนใจ มันจะเกิดธรรมสังเวช เกิดธรรมสังเวช ธรรมมันเกิดๆ นี่ธรรมมันเกิด นี่อยู่ในพระไตรปิฎก อยู่ในตำราเลย
แต่เราอยู่กับหลวงตา หลวงตาพูด เราฝังใจ แล้วเรามาพูดบ่อย หลวงตาบอกว่า เกิดกิเลสสังเวช
เพราะว่าเกิดธรรมสังเวชมันเกิดรสชาติ เกิดความสะเทือนใจ แล้วอยากได้อยากเป็นอย่างนี้อีก เหมือนทำสมาธิ พอได้สมาธิแล้วนะ ก็อยากได้สมาธิอย่างนี้อีก อยากได้
อยากได้นี่คืออดีต อารมณ์อดีต อารมณ์อดีตที่เราเคยมีตังค์ แล้วตอนนี้หมดเนื้อหมดตัวเลย แล้วก็อยากมีตังค์ๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วไม่ได้ทำอะไรเลย มันจะมีตังค์ได้อย่างไร
นี่ก็เหมือนกัน พอเกิดธรรมสังเวช พอเกิดธรรมสังเวชมันต้องการอารมณ์อย่างนั้น มันต้องการให้เราได้สัมผัสสิ่งนั้นอีก มันก็เลยเกิดกิเลสไง เกิดกิเลสคือว่ามันก็เกิดการคิดแต่อดีต
พอการคิดแต่อดีต มันก็เหมือนเราเคยเป็นคนดี เราเคยมีสถานะ ตอนนี้สังคมเขาไม่เอา ตอนนี้เขาทิ้งมา นั่งเสียใจอยู่คนเดียว นี่เกิดกิเลส ถ้าเกิดธรรมสังเวช ผลต่อไปมันจะเกิดอารมณ์แบบนี้ เกิดอารมณ์ที่เสียดาย เกิดอารมณ์ที่อยากได้ เกิดอารมณ์ที่เหนี่ยวรั้งอดีตมาจนเป็นปัจจุบัน แล้วจะเป็นทุกข์ตลอดไป
นี่ต้องวาง ถ้ามันเกิดธรรมสังเวช ใช่ ธรรมสังเวช โดยชื่อ โดยข้อเท็จจริง โดยเนื้อหาสาระ ใช่ ธรรมสังเวช แต่ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติแล้วท่านรู้เลยว่าต่อไปมันจะเกิดกิเลสสังเวช มันจะเกิดกิเลสผูกพัน ท่านถึงไม่ให้เอาอันนี้มาเป็นคะแนนเราไง
พอเกิดธรรมสังเวชมันเป็นบวกไง เป็นบวก เราก็คิดเป็นความถูกต้อง เราก็กอดมันไว้ไง พอกอด มันเป็นนามธรรม มันก็หายไปแล้วไง ที่กอดไว้ก็กิเลส กอดกิเลสไว้ ทีนี้กอดกิเลสไว้ กอดแล้วมันจะได้อะไร ก็ได้กิเลสเผาเราไง
หลวงตาถึงได้บอกว่า นี่เกิดกิเลสสังเวช
เราฟังก็ใช่ เวลาครูบาอาจารย์ท่านมีประสบการณ์ของท่าน ท่านจะรู้เลยว่า นี่เหมือนเด็ก เด็กเคยทำความดีหนหนึ่งแล้วมันจะไปทวงบุญคุณพ่อแม่ตลอดเลย ฉันเคยทำดีหนหนึ่ง ทำดีหนหนึ่งมันจะทวงบุญคุณตลอดไป
แต่ถ้ามันเป็นเด็กที่ดี มันทำความดีหนหนึ่งแล้วทำความดีต่อเนื่อง ทำคุณงามความดีจนมันเป็นจริตนิสัยเลย นั่นสุดยอด นี่ต้องทำอย่างนี้
นี่เหมือนกัน เวลาบอกว่า ที่เขาไปเห็นมือ เห็นร่างกาย เห็นความสังเวชต่างๆ แล้วมันเกิดอาการหดหู่ เกิดหมดอาลัยตายอยาก
คำถามนี้มันบอกหมดแล้วล่ะ ภาษาเรา เราทำสิ่งใดก็แล้วแต่ เหมือนนักมวย นักมวยเราออกไปต่อยมวย ต่อยจนเต็มที่ หมดยก ปั๊ง! เข้ามุมให้น้ำ
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราภาวนาเต็มที่เลย แล้วมันไม่ไหว เขาบอกว่า ๔ วัน ๕ วันน่ะ แล้วทีนี้พอนอนพัก ตื่นขึ้นมาก็เห็นอาการอย่างนี้
มันเหมือนกับเราต่อสู้มาเต็มที่ ไม่ได้เรื่อง เวลาหมดยกไปนั่งพักเลย อู้ฮู! เกิดสังเวช เกิดว่ามือก็ไม่ใช่เรา ร่างกายก็ไม่ใช่เรา
อันนี้มันเกิดอย่างนี้ มันไม่สมบูรณ์ไง แต่มันเป็นผลของการปฏิบัติ เราปฏิบัติมาแล้วมันเกิดอาการอย่างนี้ มันก็เป็นอาการอย่างนี้ อาการอย่างนี้ เห็นไหม
เราจะบอกว่า เวลาปฏิบัติ หลวงตาท่านพูดเอง การปฏิบัติมันยาก ยากอยู่คราวแรกนี่ คราวที่เริ่มต้นนี่ เรากำลังคลำหาทางกันไง
คนที่คลำหาทางนะ พวกเรานี่ใจบอด พอเวลาใจบอด เวลามันไขว่คว้าหาทางไป แต่หลวงตา ครูบาอาจารย์ของเราใจสว่างไสว ท่านเป็นคนชี้บอกทางเราไง ท่านเห็นเราคลำไปนะ มือมืดบอดแล้วคลำไป มันเห็นแล้วมันก็ตลกเนาะ เห็นแล้วมันขำๆ แต่มันก็เป็นความขวนขวายของพวกเรา
ฉะนั้น เวลาใจเราบอด เรากำลังคลำหนทาง กำลังหาหนทางออก มันจะเป็นแบบนี้ เวลาปฏิบัติจะเป็นแบบนี้ แล้วเป็นแบบนี้แล้วมันเป็นสัจจะเป็นข้อเท็จจริง ไม่ต้องไปเสียใจน้อยใจหรอก มันอยู่ที่เวรกรรมของคน
คนที่ทำคุณงามความดีมามาก มันก็ทำแล้วมันก็สะดวก มีหนทางที่จะไปได้คล่องแคล่ว คนที่ทำบุญมาน้อย คนที่ทำของเรา บุญกุศลของเรามันไม่สมบูรณ์ เราก็ต้องขวนขวายทำอย่างนี้
แล้วการทำอย่างนี้มันเป็นผลบุญมหาศาลนะ ทำทานร้อยหนพันหนไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง มีศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหนไม่เท่ากับทำสมาธิได้หนหนึ่ง จะมีสมาธิร้อยหนพันหนไม่เท่ากับเกิดภาวนามยปัญญาขึ้นมาหนหนึ่ง
คำว่า “หนหนึ่งๆ” การภาวนานี้มันถึงสุดยอด แต่เราต้องลงทุนลงแรง เราต้องมีความมุมานะ มีความเข้มแข็งของเรา ล้มลุกคลุกคลานอย่างไรเราก็ทำของเราไป นี้คือเป็นงานของเรานะ
ใครล้มลุกคลุกคลานมามันก็ได้แต่รสของความทุกข์ความยาก ใครทำสมาธิได้มันก็ได้รสของความสุข ใครทำปัญญาได้มันก็ได้รสของธรรมๆ มันเป็นสัจจะ มันอยู่กับหัวใจดวงนั้นไง
เวลาทำบุญกุศลกัน อุทิศส่วนกุศลให้คนนั้นคนนี้ไง เราก็เหมือนตายไปแล้วก็ห่วงว่าใครจะอุทิศส่วนกุศลให้เราหรือไม่
ถ้าเราภาวนา มันเป็นประสบการณ์หัวใจ มันไปกับเรา ไม่ต้องให้ใครอุทิศ หลวงตาท่านบอก ท่านนิพพานไปแล้ว ท่านบอกไม่ต้องทำบุญกุศลให้ท่านหรอก ไม่ต้องอุทิศส่วนกุศลหรอก
แต่พวกเราก็อุทิศกันอยู่ เพราะพวกเราก็ยังระลึกถึงบุญคุณของท่าน เวลาท่านสมบูรณ์ของท่าน ทีนี้คำว่า “สมบูรณ์ของท่าน” เราเปรียบเทียบให้เห็นถึงผลของการปฏิบัติไง ฉะนั้น เวลาปฏิบัติ เราจะทุกข์จะยาก ผลที่ปฏิบัติมันจะยืนยันในหัวใจ ฉะนั้น ถ้ายืนยันในหัวใจนั้น นั่นเป็นความเป็นจริง
แต่คำถามนี้เขาบอกว่าสิ่งนี้ที่เขาปฏิบัติมา เราจะบอกว่า เป็นการคลำหาหนทางของใจของตน ใครก็พยายามคลำ พยายามปฏิบัติให้มันเป็นความจริงของเราขึ้นมา ฉะนั้น สิ่งที่เป็นอย่างนี้มันเป็นอย่างนี้
แล้วพอตอนเช้ามาเขาบอกว่าเขาก็เอาสภาวะจิตหดหู่นั้นเลยเอาเข้ามาพิจารณาว่าเป็นการจิตเห็นจิตหรือไม่ มันถึงเกิดความเบื่อหน่าย
จิตเห็นจิต จิตเห็นจิตคือเห็นสติปัฏฐาน ๔ จิตเห็นกาย จิตเห็นเวทนา จิตเห็นจิต จิตเห็นธรรม เวลาเห็นสติปัฏฐาน ๔ ถ้าอาการๆ จิตเห็นอาการของจิตนี่สำคัญ ถ้าจิตเห็นอาการของจิต มันจะเริ่มต้นสู่การที่เราจะพัฒนาของเราไป
ฉะนั้น คำถาม “ผมเข้าใจถูกเรื่องจิตเห็นจิต หรือเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดหรือเปล่าครับ” ไอ้นี่คำถามเนาะ คำถามบอกว่า สิ่งที่จิตเห็นอาการของจิต
จิตเห็นอาการของจิต ถ้ามันมีสติสัมปชัญญะ ถ้าเห็นแล้วมันจับของมันได้
นี่ก็เหมือนกัน บอกจิตเห็นกาย เห็นมือไม่ใช่เรา กายไม่ใช่เรา
นั้นมันเป็นการเห็นอันหนึ่ง การเห็นอย่างที่เราพูดนี่ การเห็นที่บอกว่า เวลาจิตสงบแล้วเห็นแสง เห็นนิมิตต่างๆ เห็นเป็นนิมิตก็ได้
แต่ถ้ามันจิตเห็นอาการของจิตมันชัดๆ จิตเห็นอาการของจิต มันจับ จิตเห็นอาการของจิตคือมันจับกิเลสได้ ว่าอย่างนั้นเลย
เพราะกิเลสมันก็อาศัยกาย เวทนา จิต ธรรมเป็นเครื่องดำเนิน ถ้ามันจับของมันได้ จิตเห็นอาการของจิต พอจับได้แล้วพิจารณาได้ ฉะนั้น ถ้าจับได้แล้ว ภาษาเรา เป็นปัจจัตตัง มันจะชัดเจน มันจะรู้อยู่เต็มหัวอกไง
แต่อันนี้ “ผมเข้าใจถูกเรื่องจิตเห็นจิตหรือไม่”
ไอ้นี่ยังสงสัยอยู่ ถ้ายังสงสัยอยู่ เราก็ทำของเราต่อเนื่องไป จะบอกว่าผิดก็ไม่ใช่ แต่ถ้าจะบอกว่าถูก จะบอกว่าถูก เหมือนเป็นวิทยาศาสตร์ เราทำงานใช่ไหม ทางเอกสาร เราเซ็นเอกสาร เราทำเอกสาร มันมีผลทางกฎหมายหมด
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราบอกว่าจิตเห็นอาการของจิตใช่หรือไม่ มันก็เป็นเอกสารไปว่าเราต้องทำอย่างนั้นๆ ฉะนั้น นี่มันเป็นทางวิทยาศาสตร์
แต่ถ้าเป็นการปฏิบัติ มันเป็นปัจจัตตัง เป็นความรู้ของเรา เป็นเรื่องกิเลสในหัวใจของเรา เราจะชำระล้างของมัน เราต้องจับของเราให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมา ถ้าเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา
เพราะคนคนนั้นเหมือนคนป่วย คนป่วยเวลาทานยาเข้าไปแล้ว มันจะไปบรรเทาเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยนะ มันบรรเทา บรรเทาจนมันหาย
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราพิจารณาไป ถ้าเราจะรู้จริงตามความจริงของเรา นั้นน่ะเป็นความจริง ถ้าจิตเห็นอาการของจิตเป็นความจริง
แต่อันนี้เราจะบอกว่าเราเองเรายังไม่แน่ใจ ภาษาเราว่า มันเป็นเห็นแค่นิมิต เห็นแค่ความรู้สึกเท่านั้น
อันนี้พูดถึงคำถามนะ “หลังจากนั้นผมเอาสภาวะจิตหดหู่อ้างว้างนั้นมาเป็นอารมณ์กรรมฐาน ถูกต้องหรือไม่”
จิตหดหู่ ถ้าเราเอามาพิจารณาเป็นบทเรียน ถ้าบอกว่าเอามาเป็นบทเรียน ถ้าคำว่า “หดหู่” หดหู่อย่างนั้นน่ะ เราเอามาเป็นบทเรียน
เวลาภาวนาขึ้นมา คนเราส่วนใหญ่ทำงาน คนที่ภาวนาไม่เป็นไม่มีงานทำ พอไม่มีงานทำ มันแบบว่ามันไม่มีจุดยืน
แต่ถ้าคนภาวนาเป็น พอจิตเห็นอาการของจิต จับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรมได้ มันจะมีงาน
มีงาน หมายความว่า มันมีกิเลส เราจับต้องกิเลสได้ แล้วเราพอจิตสงบแล้วเราพิจารณาของเรา มันจะเดินจงกรมทั้งวันทั้งคืนได้เลย เพราะมันมีงานทำ คนกำลังทำงานอยู่นี่มันเพลิดมันเพลิน มันมีได้มีเสีย มันเหมือนคนทำธุรกิจแล้วร่ำรวย คำสั่งสินค้าผลิตไม่ทันน่ะ อู้ฮู! มันเอาเต็มที่เลย
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตเห็นอาการของจิตที่มันจับต้องได้แล้วนะ พอมันเข้าทางจงกรม นั่งสมาธิภาวนา มันมีงานให้ทำตลอด ๗ วัน ๗ คืน ทั้งเดือน ทั้งปี ทำได้ทั้งนั้นน่ะ ถ้าทำได้ ทำจนผิดพลาด ทำจนส่งออก ทำจนต้องวางงานแล้วกลับมาพุทโธ
ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติไปแล้ว ท่านใช้ปัญญาไปแล้วนะ ต้องให้วางซะ เพราะว่ามันทำไปแล้ว ส่งสินค้าไปแล้วเขาตีกลับหมดน่ะ เพราะมันบกพร่อง มันไม่ดี แล้วเรากลับมาทำของเรา เห็นไหม ถ้าเป็นจริงมันจะเป็นอย่างนั้น
แต่ถ้ามันไม่เป็นจริงคือมันไม่มีสิ่งใดให้จับต้องเป็นชิ้นเป็นอัน แล้วพอภาวนาไปแล้วหดหู่ ภาวนาไปแล้วตึงเครียด ภาวนาแล้วมีแต่ความทุกข์
ไอ้นี่เราก็พยายามวางอารมณ์นั้น คือวางสิ่งที่ว่ามันเป็นความทุกข์ความยาก วางไว้ แล้วพยายามอยู่กับความเพียรของเราไง อยู่กับเหตุของเรา ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าเหตุของเราอยู่ในธรรมนะ เดี๋ยวมันมาเอง เดี๋ยวมันมาเอง ถ้าใจเราวางได้ มันมาเอง
นี่พูดถึงว่า จิตเห็นอาการของจิต
ฉะนั้นบอกว่า ถ้าเอาสภาวะนั้น จิตที่หดหู่นั้น ความอ้างว้างนั้น อารมณ์นั้นมาเป็นกรรมฐาน
อารมณ์นั้นเป็นกรรมฐาน ถ้าอารมณ์ที่ผิดล่ะ หดหู่ๆ หดหู่แล้วเอามาเป็นกรรมฐาน ไม่ใช่ แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เอาหดหู่นั้นเป็นตัวตั้ง แล้วเราใช้ปัญญาเราพิจารณา หดหู่เพราะอะไร ทำไมถึงหดหู่ อย่างนี้ใช้ได้
แต่บอกว่าเป็นอารมณ์กรรมฐาน อารมณ์กรรมฐาน เราเอาสิ่งนั้นมาเป็นอารมณ์ เหมือนกับพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ เอาสิ่งนั้นมาเป็นอารมณ์ เอาสิ่งนั้น เพราะเอาจิตผูกพันไว้ จิตมันถึงไม่ส่งออกไป มันอยู่กับพุทธานุสติ
แต่ถ้าบอกว่าเอาความหดหู่มา แล้วมันหดหู่ จิตมันก็หดหู่ แต่ถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ความหดหู่นั้นมันพิจารณาถึงเป็นโทษได้ ถ้าพิจารณาถึงเป็นโทษ มันจะเกิดความปล่อยวาง มันจะเกิดความสว่างไสว มันจะเกิดความเป็นอิสรภาพ นั่นน่ะคือปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าสิ่งนี้ได้
แต่ถ้าเอาความหดหู่มาเป็นอารมณ์ มันก็หดหู่ไปเรื่อยๆ ไง แต่ถ้าเอาปัญญาอบรมสมาธิ เอาความหดหู่นี้เป็นโจทย์ แล้วเราใช้ปัญญาพิจารณา ทำไมถึงหดหู่ หดหู่เพราะโง่ หดหู่เพราะไม่เป็น ถ้าพิจารณาอย่างนี้ไป เดี๋ยวมันก็อ๋อ! มันฉลาดขึ้นไง มันก็ทิ้งความหดหู่ แล้วจะรู้เลยว่าความหดหู่นั้นหมดสิ้นไป
ถามต่อไป “สภาวะอย่างนี้เอามาใช้เป็นอารมณ์เพื่อละสัญญา จะเป็นการคิดเอาเองหรือไม่”
ใช่ เป็นการคิดเอาเอง เป็นการคิดเอาเอง เป็นการตั้งเป้าหมายว่าเราจะทำของเราโดยประสบการณ์ของเราไง
แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะบอกว่า สิ่งที่ทำนั้นน่ะ มันเหมือนกับเด็กๆ ทำสิ่งใดที่ไม่มีความชำนาญ แล้วถ้าสิ่งนั้นทำแล้วมันก้ำกึ่ง เด็กส่วนใหญ่แล้วมันไม่มีสติสัมปชัญญะแยกแยะได้ มันก็จะลงไปทางลบมากกว่า แต่ถ้าผู้ที่มีปัญญา ถึงจะก้ำกึ่ง แต่ถ้าเขามีปัญญาอยู่มันก็เป็นประโยชน์กับเขาได้
นี่ก็เหมือนกัน สิ่งใดที่ยังไม่สมควรที่จะเป็นประโยชน์กับเรา เพราะวุฒิภาวะของเรามันยังไม่ชัดเจน กลับมาพุทโธดีกว่า กลับมาพุทธานุสติ กลับมากรรมฐาน ๔๐ ห้อง ชัดเจนกว่า
เพราะกรรมฐาน ๔๐ ห้องนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางทางเดินไว้ให้เราเดิน แต่ถ้าเราจะเดินของเราเอง เราจะแสวงหาของเราเอง ล้มลุกคลุกคลาน ฉะนั้น กลับมาที่กรรมฐาน ๔๐ ห้อง สุดยอด
ถ้ามันไม่ได้จริงๆ นะ มรณานุสติ
ระลึกถึงความตายนี่สำคัญมากนะ มึงต้องตาย มึงต้องตาย มึงต้องตาย มันทำให้สลดสังเวช มันไม่เห่อเหิม ต้องตาย ต้องตาย มรณานุสติ มรณานุสติสำคัญมาก
เว้นไว้แต่คนที่ไม่มีวาสนานะ พอคิดว่าต้องตาย ต้องตาย เข่าอ่อนเลย หดหู่อีก มีคนมาพูดให้ฟังมากบอกว่า “ผมมรณานุสติไม่ได้เลย ใจมันเหลือนิดเดียว มันกลัวตาย”
ไอ้นี่มันดี คนที่เห่อเหิม ไอ้พวกที่คิดว่าโลกนี้ของกูๆ ไอ้คนที่มันจะยึดครองโลกต้องเอาความตายมาบอกว่า มึงต้องตาย มึงต้องตาย ไม่ให้มันไปยึดครองโลก มันจะได้ไม่ไปทุกข์ไปยากไง
นี่พูดถึงว่า “สภาวะแบบนั้นเอามาใช้เป็นปัญญาเพื่อละสัญญาได้หรือไม่”
พุทโธไปเรื่อยๆ อันนี้มันเป็นสิ่งที่เราไปพบไปเห็น แล้วมันก็อยากจะเป็นสมบัติของเรา มันจะใช้ประโยชน์ของเรานะ
แต่ถ้าเอาจริงเอาจัง เราไม่ต้องใช้การแยกแยะเลย เราลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เราเอาตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน พุทโธ พุทธานุสติ อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปลอดภัย อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปลอดภัยที่สุด ถ้าเราคิดเอาเองมันไม่ปลอดภัย เดี๋ยวมันไปลงตกท่อตกหลุมเปล่าๆ
อันนี้พูดถึงว่า กำลังคลำหาทางเนาะ
พยายาม เราก็เห็นใจมากนะ เพราะเขาบอกว่าเขาเคยเขียนคำถามมาเยอะมาก แล้วเขาคิดว่ามันจะเป็นช่องทางที่จะไปได้ไง
คำว่า “จะไปได้” มันอยู่ที่อำนาจวาสนานะ เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒,๐๐๐ กว่าปี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสุดยอด เป็นศาสดา เป็นผู้สอน
แล้วเราเอง อันนั้นมันสุดยอดอยู่แล้ว แล้วนี่พูดถึงเรามาปรึกษากัน สาวกภาษิต เป็นลูกศิษย์ลูกหาเหมือนกัน
ฉะนั้น พยายามขวนขวายขนาดไหน เขาเขียนมาถามมาก เราก็พยายามจะบอก พยายามจะชี้นำ แล้วนี่เขามีประสบการณ์ใหม่มา แล้วประสบการณ์ใหม่ ประสบการณ์ก็คือความเพียรของเรา แล้วเอาประสบการณ์อันนี้แล้วพยายามทำต่อเนื่องไป ทำต่อเนื่องไปให้เป็นสมบัติของเรา จบ
ถาม : เรื่อง “การสมาทานศีล ๘ อยู่ที่บ้าน”
กราบนมัสการหลวงปู่ครับ
กระผมบอยครับ อยู่บ้านแสนตอ ท่ามะกาครับ ผมอยากถามว่า ตลอดเวลาที่ตั้งเป็นสัจจะรักษาศีล ๕ อยู่ที่บ้าน ทีนี้อยากถามว่า ผมจะสมาทานศีล ๘ ทุกวันพระแบบว่าอยู่ที่บ้าน กระผมต้องปฏิบัติอย่างไร หรือหลวงปู่มีคำชี้แนะให้กระผมบ้างไหมครับ
ตอบ : นี่พูดถึงว่า ความเจตนา เจตนาจะถือศีล ๘ จะสมาทานศีลอยู่ที่บ้าน ถ้าสมาทานศีลอยู่ที่บ้าน ถ้ารักษาศีล ๕ การรักษาศีล
ศีลขอได้ ๓ ทาง ทางหนึ่งคืออาราธนาศีล ศีลขอโดยอาราธนา อีกอย่างหนึ่งคือวิรัติเอา คือวิรัติศีล ศีลที่เจตนา เจตนาวิรัติเอา กรรมฐานส่วนใหญ่เขาทำอย่างนี้ เจตนาวิรัติถือศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐
แล้วก็เป็นอธิศีล ศีลคือแบบว่าพระอริยบุคคลจะมีศีลโดยอัตโนมัติ คือเป็นศีลโดยธรรมชาติในใจนั้นเลย เพราะถ้าเป็นพระโสดาบันไม่สีลัพพตปรามาส ไม่ลูบไม่คลำ ไม่ลูบไม่คลำในศีลต่างๆ มันเป็นอธิศีลในใจ คือมันเป็นโดยธรรมชาติ มันเป็นโดยธรรมชาติในใจเลย นี้อธิศีล ศีลของพระอริยบุคคล
แต่ของเราอาราธนาศีล ศีลขอเอา แต่โดยกรรมฐานของเรา เราจะไปขอเอา กรรมฐานท่านไม่เอาสิ่งนี้เป็นตัวหลัก ท่านเอาเจตนาวิรัติเอา ถ้าเจตนาวิรัติ จะถือศีล ๕ ก็ได้ ศีล ๘ ก็ได้ ศีล ๑๐ ก็ได้
แล้วถ้าถือที่ไหนก็ได้ เห็นไหม ไปวัดไปวา เวลาคนมาวัดจะขอศีล ขอศีลโดยความเคยชินของเขา ถ้ามาที่วัดนี้ เวลามาจำศีล เขาบอกจะมาขอศีล เราบอกให้ขอกับพระประธานเลย
จะพูดอะไรไปมันก็เสียเวลาใช่ไหม ให้ขอพระประธาน แต่ถ้าขอกับพระประธานเสร็จแล้ว เขาทำสมบูรณ์แล้วเขาก็กลับไปจำศีล ไอ้นี่คือว่ามาจากวัดทั่วๆ ไป ถ้าวัดทั่วๆ ไปนะ ถ้าไม่ได้อาราธนาศีลคือไม่มีศีล
แต่หลวงปู่ฝั้นท่านบอกเลย คนเกิดมามีหัว ๑ แขน ๒ เท้า ๒ คือศีล ๕ ศีลสมบูรณ์มาตั้งแต่การเกิดเป็นมนุษย์
เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ไปขอศีลกับใคร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ วิรัติ เวลาค้นคว้าเอา เวลาเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาแล้ว
ไอ้พวกเรามันอ่อนด้อย สาวกสาวกะไง เลยวางศาสนพิธีไว้ วางศาสนพิธี พิธีในการขอศีล แล้วเวลาขอแล้วหลวงตาท่านบอกว่า ขอศีลไปแล้วเหลือศูนย์ เพราะขอแล้วมันไม่ปฏิบัติไง แต่คนที่ไม่ได้ขอเลย วิรัติเอา ทำสมบูรณ์เลย ศีลสมบูรณ์โดยไม่ได้ขอเลย นี่กรรมฐาน
ฉะนั้น เวลาเราอยู่ที่บ้าน เขาบอกว่าเขาอยู่ที่บ้าน ตลอดเวลาจะตั้งสัจจะ จะถือศีล ๕ อยู่ที่บ้าน หรืออยากจะถือศีล ๘ ทุกวันพระ ทำแบบอยู่ที่บ้านปฏิบัติอย่างไรครับ
ก็วิรัติเอา เวลาถ้ามีหิ้งพระ เราขอกับพระประธาน เราเจตนาขอเลย เจตนาวิรัติเอาเลย แต่ถ้าไม่มี ไม่มี วิรัติในหัวใจนี้เลย วิรัติคือตั้งใจ
กรณีนี้มันมีอยู่ในพระไตรปิฎกนะ มันมีชาวประมงเขาออกไปทำประมงในทะเล ทีนี้เวลาเขากลับมา ประมงเขาไปลากอวนมา ปลาเต็มลำเรือเลย แล้วเขาก็กลับเข้าฝั่ง เกิดพายุพัดเต็มที่
เขาก็เลยตั้งใจเลยว่า เพราะเกิดพายุพัดเรือคว่ำอยู่แล้ว เขาเป็นชาวประมง เขารู้ว่าเขาต้องตายอยู่แล้ว พอเขาจะตายอยู่นั่น เขาวิรัติเดี๋ยวนั้นเลย “ข้าพเจ้าขอถือศีล ๕ ข้าพเจ้าขอถือศีล ๕ ด้วยความบริสุทธิ์”
คนจะตายมันถือด้วยความบริสุทธิ์นะ ไม่อย่างพวกเราหรอก ๕๐-๕๐ ขอศีล ๕ แล้วก็เมื่อนู้นเมื่อนี้ ยังผัดวันประกันพรุ่ง ไอ้นี่มันรู้ว่ามันจะตาย เพราะเป็นชาวประมง เหมือนนายพรานป่า เขาชำนาญในเรื่องของป่าเขา ชาวประมงเขาชำนาญเรื่องการทะเลมาก
อยู่ในพระไตรปิฎก เวลากลับมา เกิดพายุพัดมา เพราะพายุมันแรง เรือต้องคว่ำอยู่แล้ว “ข้าพเจ้าขอวิรัติศีล ๕” สุดท้ายก็เรือคว่ำ แล้วก็เสียชีวิต ทำประมงมาๆ ฆ่าสัตว์มาเต็มที่ ผิดศีล ๕ มาร้อยเปอร์เซ็นต์เลย แต่เวลาเขาวิรัติเอาเต็มที่ด้วยเจตนาอันแรงกล้า ตายปั๊บเกิดเป็นเทวดาทันทีเลย อยู่ในพระไตรปิฎก แต่เราจำชื่อไม่ได้เท่านั้นเอง ฉะนั้น นี่ไง ถ้าวิรัติเอา เพราะวิรัติเอาขนาดนั้น
ทำชั่วก็คือชั่ว ทำดีก็คือดี ขณะที่เขาทำนั้นก็เป็นอาชีพเขา เป็นเจตนาของเขา เขากำลังทำประมง เขาต้องหาสัตว์น้ำให้มากที่สุด เพราะอาชีพของเขา นั่นเป็นวาระหนึ่ง แต่เวลาเรือจะเข้าฝั่งเกิดพายุขึ้นมา กำลังจะตาย ในปัจจุบันนั้นเขาวิรัติเดี๋ยวนั้น นี่อารมณ์ตาย ขณะที่ตาย เขาไปเกิดเป็นเทวดาเลย
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราจริงจังของเรา ทำของเรานะ วิรัติเอาเรื่องศีล นี่พูดถึงกรรมฐานนะ
แต่ถ้าอย่างนี้แล้ว ถ้าพูดอย่างนี้แล้ว ทำอย่างนี้แล้ว แล้ววัฒนธรรมของชาวพุทธล่ะ แล้วเราจะมีอะไรเป็นหลักเกณฑ์ล่ะ
ฉะนั้น ถ้าโดยหลักเกณฑ์ โดยประเพณีที่สังคมชาวพุทธเราทำกันอยู่นั่นก็สาธุ เขาทำกันก็ถูก แต่ถ้าเอาจริงๆ เอาจริงๆ เอาเนื้อหาสาระ นี่พูดแบบกรรมฐานเป็นแบบนี้
ฉะนั้น เขาบอกว่าถ้าเขาจะถือศีล ๘ ทุกวันพระล่ะ
ก็วิรัติเอาไง ศีล ๘ ไง วิรัติเอาเลย ข้าพเจ้าจะถือศีล ๘ ๒๔ ชั่วโมง ตั้งแต่ศูนย์นาฬิกาถึงขณะนาฬิกา นี่เวลาเขาวิรัติเอา ถือศีล ๒๔ ชั่วโมง ๗ วัน ๘ วัน
อยู่ที่เราตั้งใจไง เราตั้งใจว่าภายใน ๑ วัน ภายใน ๒ วัน ภายใน ๕ วัน ภายใน ๑๐ วัน เขาวิรัติเอาแล้วแต่ เราตั้งเวลา เราตั้งเลย เพราะเราตั้งเลย มันก็เกร็งไปหมดเลย พอพ้นเวลา โอ้โฮ! โล่งเลย ไอ้แค่ตั้งเวลามันก็เกร็งแล้ว
ฉะนั้น เวลาถือศีล ๘ ศีลคือความปกติของใจ เราตั้ง เราวิรัติเอาเลย แล้วเราไม่ทำอะไรผิด ไม่มีเจตนา ไม่ต้องไปเกร็ง ถือศีล ถือศีลคือรักษาหัวใจ ศีลคือรั้ว รั้วไม่ให้ใจมันคิดไปมาก ถ้าไม่มีศีลแล้วมันอิสระ มันจะทำอะไรก็ได้ จะฉ้อโกงใครก็ได้ จะทำอะไรก็ได้ พอถือศีลปั๊บ ห้ามๆๆๆ
ศีลเป็นรั้วของอารมณ์ รั้วของหัวใจไม่ออกไป สุดยอดมาก ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าทำได้มากน้อยขนาดไหนก็ทำขนาดนั้น
นี่เขาบอกว่าเขาจะถือศีล ๘ ทุกวันแบบอยู่ที่บ้าน “กระผมจะปฏิบัติอย่างไร หรือหลวงปู่มีคำชี้แนะกระผมบ้างไหมครับ”
มีการชี้แนะก็ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ถ้ามีการกระทำ สาธุ ทำดีมาก ถ้าทำดีมาก เพราะแค่มีเจตนาอยากจะทำ โดยส่วนใหญ่ แม้แต่เขาชักชวนไปยังไม่ยอมไปเลย ยังไม่อยากทำเลย นี่ถ้าเราคิดได้เองนี่สุดยอด คิดได้เอง ทำได้เองนะ แล้วเราทำของเรา
เรามีอาชีพสิ่งใดก็ทำสิ่งนั้น ถ้าไม่ผิดศีล ไม่โกหกไม่มดเท็จต่างๆ ทั้งนั้นน่ะสุดยอดหมด ไม่หยิบของใคร ไม่ฉวยของใคร ไม่มุสา ไม่โกหกมดเท็จ ถ้าศีล ๘ ก็ไม่กินอาหารในยามวิกาล ไม่นอนที่สูง ถ้าศีล ๑๐ มันก็ไม่ชาตรูปรชตํเลย คือไม่รับเงินรับทอง ถ้าศีล ๑๐ เนาะ แต่ถ้าศีล ๘ ยังทำได้อยู่
นี่พูดถึงศีล ๘ นะ “การสมาทานศีล ๘ อยู่ที่บ้านครับ” จบ
มีอีกอันหนึ่ง
ถาม : เรื่อง “กราบขอขมาหลวงพ่อที่พูดถึงหลวงพ่อค่ะ แต่พูดในสิ่งที่ดีว่าท่านรู้ได้อย่างไร”
โยมจึงมาขอขมาหลวงพ่อในทางกล่าวถึงหลวงพ่อว่า หลวงพ่อรู้ทุกครั้งที่โยมพูด หรือเกี่ยวกับตัวโยมว่า ยังไม่ได้อะไรเลย ไปวัดก็นานแล้ว อาจเป็นเพราะโยมโง่และยังผิดศีล แต่หลวงพ่อก็เทศน์ตรงเหมือนกับหลวงพ่อรู้ทุกอย่างที่โยมพูดถึง โยมเลยรู้สึกว่าเจอพระแท้ แต่โยมยังหาปัญญาไม่เจอ
บางทีก็เล่าให้เพื่อนฟังว่าหลวงพ่อเทศน์แบบนี้ แต่ก็พูดไม่ตรงที่ลูกได้ฟังมา แต่เทศน์ประมาณที่ลูกเข้าใจที่หลวงพ่อเทศน์ ลูกขมาหลวงพ่อด้วยนะคะ ลูกกลัวบาปจริงๆ แต่ลูกก็ดีใจที่หลวงพ่อเมตตาโยม ลูกรู้สึกตื้นตันใจ ลูกเลยคิดอยากไปขอคำชี้แนะแต่ลูกก็กลัว จึงขอเวลาสักระยะหนึ่ง หากลูกมีบุญก็คงได้สนทนาธรรมกับหลวงพ่อ
ตอบ : อันนี้ไม่กล้าสนทนาธรรมแต่ใช้เว็บไซต์เขียนมาแทน ไอ้กรณีนี้เป็นกรณีหนึ่งนะ ไอ้กรณีที่ว่าหลวงพ่อเทศน์สิ่งใดแล้วมันจะตรง จะตรง ไม่มีหรอก
เทศน์นี่ก็คือธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาหลวงตาท่านเทศน์ก็เทศน์แบบนี้ ท่านเทศน์เรื่องอริยสัจ ทีนี้พอเทศน์เรื่องอริยสัจแล้วมันเข้าสัจจะความจริงทั้งนั้นน่ะ
โดยธรรมชาติของคนนะ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกคนมันมีทุกข์มียากอยู่ในหัวใจทั้งนั้นแล้ว ทีนี้เวลาพูดถึงเรื่องทุกข์ๆ ถ้าคนน้อมมานะ
เวลาหลวงตาท่านสอนไง เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ ท่านจะน้อมมาว่า เออ! นี่เราผิดอย่างนั้น เราไม่ดีอย่างนี้ คือเราพยายามจะหาความบกพร่องของตน
แต่ถ้าคนมันกิเลสหนานะ เวลาครูบาอาจารย์เทศน์นะ “ไม่ใช่ ว่าคนนู้น ว่าคนนู้น เราเทวดา เราไม่ผิดเลย เราดีๆๆ” บอกว่า “เราดี ว่าคนอื่นๆ” มันป้องกันตัวมันนะ กิเลสมันไม่ยอมให้โดนตัวมันเลยนะ
เวลาจะพูดมานะ “อู๋ย! เรื่องของคนนั้น เรื่องของคนนี้ เรื่องของคนนู้น เราคนดี” เราคนดีคือเราไม่มีข้อผิดพลาดไง เราไม่มีข้อผิดพลาดเราก็ไม่ต้องแก้ไขไง
“เราไม่ต้องทำอะไรเลย เราเป็นคนดี ไอ้พวกนั้นไม่ดี ไอ้พวกนั้นไม่ดี ไอ้พวกนั้นต้องแก้ไข อู้ฮู! เราเป็นคนดี เราคนดี” นี่เวลากิเลสมันอย่างนี้ เวลาครูบาอาจารย์เทศน์นะ “ไม่ใช่ๆ” โอ้โฮ! มันปิดมันบังไว้เลยนะ ว่าคนนู้นๆๆ คนอื่นไม่ดีหมดเลย โอ้โฮ! เราดีสุดยอด
แต่ถ้าเป็นธรรมนะ จะพูดเรื่องสิ่งใดก็แล้วแต่ โอปนยิโก น้อมมานะ น้อมมาถึงตัวเรานะ สุดยอด เหมือนยา เหมือนยานะ ถ้าเราเจ็บไข้ได้ป่วย เราน้อมยามาเพื่อรักษาโรคของเรา มันจะดีแค่ไหน ฉะนั้น นี่โดยข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนี้
ฉะนั้น เวลาข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ ท่านไม่เทศน์ออกนอกลู่นอกทางไง เรื่องอภิญญา เรื่องทางโลก เรื่องอย่างนั้นน่ะ มันมีจริงทั้งนั้นน่ะ แต่มันมีจริงมันแก้กิเลสไม่ได้ไง มันแก้กิเลสไม่ได้แล้ว คนยังไปหลงติดมันนะ
มีพระมาบวชที่นี่อยากมาคุยกับเราเยอะ อยากได้ อยากสิ้นกิเลส แล้วก็อยากได้อภิญญาด้วย ทุกคนก็อยากได้อภิญญา แล้วสิ้นกิเลสด้วย
โอ้โฮ! แค่สิ้นกิเลสอย่างเดียวมันก็สุดยอดอยู่แล้ว อยากจะได้สิ้นกิเลสด้วย อยากได้อภิญญาด้วย ฉะนั้น อยากได้อภิญญา เวลาภาวนาไปก็จะมีฤทธิ์มีเดชไปก่อน เพราะกลัวจะไม่ได้อภิญญา มันเลยหลุดไปหมดเลย เลยหลุดไปเหมือนว่าวเชือกขาด เวลาชักว่าวมันอยู่ลมบน เวลาเชือกมันขาด ไปเลย นี่อยากสิ้นกิเลสด้วย อยากมีอภิญญาด้วย ไม่เห็นเหลือมาสักตัว
แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเรานะ หลวงปู่มั่นเอาตายเลย หลวงปู่มั่นท่านจะไม่ให้ออกนอกอริยสัจ ศีล สมาธิ ปัญญา แค่ทำให้มันปกติของใจ ย้อนกลับมานี่มันก็ลงทุนลงแรงขนาดไหนแล้ว
ไอ้เรื่องอภิญญาๆ อภิญญามันคือกำลังของจิตทั้งนั้นน่ะ ถ้ากำลังของจิต กำลังของจิตมันควรจะฝึกหัดใช้ปัญญา กำลังของจิตมันควรจะหนุนปัญญาขึ้นมาให้ชำระล้างกิเลส
ไม่ใช่เอากำลังของจิตนี้ไปเที่ยวสุรุ่ยสุร่ายจะไปรู้ไปเห็นบ้าบอคอแตก แล้วตัวเองก็เอาตัวไม่รอด แล้วสุดท้ายแล้วก็ไม่รอดทั้งตัวทั้งใจ
แต่ถ้าคนเรามีสติมีปัญญานะ วางให้หมด อะไรที่ใช้กำลังๆ ที่ไปรู้เรื่องนู้นเรื่องนี้ พยายามให้มันทรงตัวให้ดี ให้มันตั้งมั่นขึ้นมา แล้วย้อนกลับเข้ามาฝึกหัดใช้ปัญญา มันจะเข้าสู่อริยสัจ เข้าสู่มรรค นี่มันถึงจะเป็นความสำคัญ ถ้าเป็นความสำคัญ ครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงๆ ท่านเทศน์อย่างนี้
เวลาหลวงตาท่านเทศน์เรื่องอริยสัจ ท่านเทศน์ถึงทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เวลาพูดถึงทุกข์ขึ้นมา โดนทุกคน ถ้าพูดถึงทุกข์นะ ในสโมสรสันนิบาตทุกดวงใจว้าเหว่ โดยธรรมชาติของโลก
โดยธรรมชาติของโลกนะ มนุษย์ เทวดา อินทร์ พรหม ทั้งหมดมีอวิชชา มีทุกข์ในหัวใจทั้งนั้น แล้วเวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดถึงเรื่องทุกข์ เรื่องอริยสัจ เรื่องสัจจะความจริง ทำไมมันจะไม่สะเทือนหัวใจ มันสะเทือนทั้งนั้นน่ะ
แต่บอกว่า “โอ้โฮ! หลวงพ่อรู้ทุกครั้งเลยที่โยมพูด”
ไม่รู้หรอก ไม่รู้ รู้แต่ตอนเช้าใครใส่บาตรอะไร รู้ คนที่ใส่บาตรวันนี้ดู เออ! อันนี้น่าสนใจ ถ้าใส่บาตรมันเห็นๆ น่ะ รู้
แต่ถ้าบอกว่า “โอ้โฮ! หลวงพ่อพูดทุกครั้งเกี่ยวกับโยมหมดเลยนะ คิดอย่างไรก็รู้หมดเลย”
ไม่รู้ แต่ถ้าเวลาเทศนาว่าการก็พยายามเตือนเรื่องทุกข์เรานี่แหละ เรื่องหัวใจเรานี่แหละ เรื่องของเรา เรื่องทุกข์
เพราะเวลาหลวงปู่มั่นท่านไปเทศน์ที่วัดเจดีย์หลวง เวลาสมเด็จมหาวีรวงศ์ท่านพูดน่ะ หลวงปู่มั่นเทศน์เรื่องใกล้ตัวเรานี่เอง เทศน์เรื่องมุตโตทัย มุตโตทัยก็เรื่องหัวใจ เรื่องใกล้ตัวเรานี่แหละ เรื่องอารมณ์ความรู้สึกในตัวของเรานี่แหละ เรามองข้ามไป
เวลาเรื่องในบ้าน เรื่องของเรา เราไม่เป็นไรๆ แต่ข้างบ้านทำอะไร โอ้โฮ! จะไปแก้ไขเขาหมดเลย นี่ก็เหมือนกัน เรื่องทุกข์ของเรา เราไม่สนใจเลย พาเพื่อนมานี่ พาเพื่อนมาบริการเพื่อน เพื่อนมันทุกข์ไง เพื่อนมันทุกข์ มันไม่เคยมา เราบริการหมดเลย แต่ไอ้ทุกข์ในใจเราไม่ได้ดู
นี่ก็เหมือนกัน บอกว่า หลวงพ่อรู้ไปทุกเรื่องเลย รู้สิ่งต่างๆ ก็เลยคิดว่าเวลาเอาไปพูดให้เพื่อนฟังพูดไม่เข้าใจเลยมาขอขมา ขอขมาลาโทษไง
ถ้าเวลาพูดนะ เวลาเราคุยกันถึงครูบาอาจารย์ คุยกันโดยมุมบวกไม่มีโทษหรอก แต่ถ้าเวลาเราพูดสิ่งใดไปแล้วมันอาจจะขาดตกบกพร่อง ถ้ามันอาจจะขาดตกบกพร่อง ถ้ามันจะเป็นเวรเป็นกรรม เขาก็ขอขมาลาโทษ
ดูสิ เวลาทางเดินจงกรมหลวงปู่มั่น ทางเดินจงกรมของครูบาอาจารย์เรา แม้แต่จะเดินข้ามเขายังไม่เดินข้าม เขาไม่เดินข้าม เขาเคารพบูชา เขาเคารพบูชาอย่างนั้น นั่นเป็นวาระในใจนะ ถ้าใจของใครมีคุณธรรม คำว่า “มีคุณธรรม” มันรู้จักที่ต่ำที่สูง เขาจะเคารพของเขา
แต่ถ้าใจของคนน่ะ “เหมือนกัน เท่ากัน ไม่เป็นไร” เออ! อันนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง ไอ้นั่นเรื่องของเขา เรื่องของเขาเพราะว่าเราจะให้ทุกๆ คนคิดเหมือนกันเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าจิตใจของใครสูงใครต่ำ มันเคารพบูชานะ
ดูสิ เวลาหลวงตาท่านบอกว่าท่านเคารพหลวงปู่มั่นมาก ถ้าวันไหนก่อนจะนอนจำวัดนะ ถ้าไม่ได้กราบหลวงปู่มั่นก่อน นอนไม่ได้ นอนไม่ได้เพราะอะไร เพราะด้วยบุญด้วยคุณอันนั้นไง ด้วยบุญด้วยคุณเวลาปฏิบัตินะ
อย่างเราเป็นโรคร้าย พอเป็นโรคร้าย เราไปหาหมอเราก็หวังจะหาย คนที่ประพฤติปฏิบัตินะ มันมีโรคกิเลส โรคกิเลส อวิชชาคือความไม่รู้สึกไม่รู้ตัวว่ามันอยู่ที่ไหน
แล้วเราก็พยายามขวนขวาย เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนานะ มันเหมือนกับส่องกล้องจุลทรรศน์หาเชื้อโรค ไอ้เราก็ส่องจิต พยายามเต็มที่เลย เดินจงกรม จ้องเลยนะ หากิเลส จะฆ่ากิเลส แล้วก็หาไม่เจอ ทำไม่ได้ แสนทุกข์แสนยาก
มีครูบาอาจารย์คอยชี้ คอยนำ คอยบอกนะ นี่มันซ่อนอยู่มุมนั้นน่ะ มันอยู่ตรงมุมนั้น ดูให้ดีๆ สิ ตรงนั้นน่ะ มันอยู่ตรงนั้นๆ น่ะ เราจะระลึกถึงคุณเขาไหม
การที่เคารพบูชามันเคารพบูชากันตรงนี้ไง การเคารพบูชามันจะมีเหตุ มีเหตุว่าเรานี่ผิดพลาดพลั้งเผลอหรือเราขาดตกบกพร่องสิ่งใด หลวงปู่มั่นท่านลงปฏัก หลวงปู่มั่นท่านคอยชี้นำ หลวงปู่มั่นท่านคอยหวดด้วยคำเทศน์ของท่าน ท่านคอยหวดคอยกระหน่ำด้วยคำเทศน์ ด้วยการสั่งสอน ด้วยการชักนำ แล้วเราผิดพลาดไปแล้ว หลงทางไปแล้ว ท่านดึงเรากลับมา แล้วเรามาเห็นกิเลส เรามาจับต้องได้ เอ็งคิดถึงคุณไหม เอ็งเคารพไหม
หลวงปู่มั่นไม่ได้บอกให้เคารพ หลวงปู่มั่นไม่ได้เรียกร้องอะไร ครูบาอาจารย์ของเราไม่เคยเรียกร้องสิ่งใด ผลตอบแทนไม่เคยเรียกร้อง
แต่ไอ้คนที่ปฏิบัติไปแล้ว ปฏิบัติไปแล้วขวนขวาย ถ้ามันทำตามไป ถ้ามันไปรู้ไปเห็นนั่นน่ะ ไอ้คนคนนั้นน่ะมันเคารพ ไอ้คนคนนั้นน่ะมันบูชา มันบูชา มันบูชาในหัวใจอันนั้น
มันไม่ได้บูชาด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ ไม่ได้บูชาด้วยการยกยอปอปั้น มันบูชาตอนที่เวลาเราผิดพลาด เราหลงใหล เรากำลังลุ่มหลง เรากำลังผิดพลาด เรากำลังจนตรอก แล้วมีคนพาออกๆ ไอ้ตรงนั้นแหละ
แล้วไม่ต้องมาทวงบุญทวงคุณ ไม่ต้องมาจ้ำจี้จ้ำไช มันระลึกอยู่ในใจตลอด เพราะอาการตอนนั้นมันเป็นตอนภาวนา เป็นตอนที่มันทุกข์มันยาก เวลาภาวนาจบแล้ว พ้นจากกิเลสแล้ว จะมาเชิดชูกันไม่มีประโยชน์หรอก
มันมีประโยชน์ตอนที่จะเป็นจะตาย มันมีประโยชน์ตอนที่กำลังค้นคว้าหากิเลส กำลังต่อสู้กันน่ะ มันมีประโยชน์ตอนนั้น มันมีประโยชน์ตอนจิตมันจนตรอก จิตมันจนตรอก จิตมันไม่มีทางไป แล้วมีคนมาชี้นำ มาพาให้เห็นหนทาง นี่มันไม่มีบุญมีคุณตรงไหน แล้วบุญคุณอย่างนี้ไม่ต้องตอบแทน ไม่ต้องมาคอยทวงบุญคุณ มันฝังหัวใจ มันฝังใจเลย
คนมันเคยผิดพลาด มันเคยไม่มีทางออก แล้วมีคนจูงมือออกไป มีคนพาออกไป ทำไมมันไม่ระลึกถึงบุญคุณ เวลาครูบาอาจารย์ กรรมฐานเราที่เคารพ เขาเคารพกันอย่างนี้
เขาไม่ได้เคารพว่า อ๋อ! หลวงปู่มั่นดัง กูก็ขอเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นด้วย ถ้าไม่ดัง กูไม่ใช่ลูกศิษย์ โอ้โฮ! ถ้ามีชื่อเสียง ถ้ามีลูกศิษย์เยอะ กูเป็นลูกศิษย์ด้วย ถ้าไม่มีใครรู้จัก ไม่รู้จัก กูก็ไม่รู้จักด้วย ไอ้นั่นไร้สาระเลย
กรณีนี้นะ เวลาเราก็เป็นนักปฏิบัติ เวลาพูดมันเทียบเคียงกันไง เพราะเราจะพูดถึงครูบาอาจารย์อย่างเดียวมันก็หาว่าพวกเดียวกันก็เชิดชูกัน
แต่เวลาเราพูดถึง เราจะพูดถึงพระสารีบุตร เวลาพระอัสสชิเป็นคนบอก ให้พระสารีบุตรเป็นผู้บรรลุโสดาบัน เวลาไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแก้ไขจนเป็นพระอรหันต์
พระสารีบุตรจะนอนเมื่อไหร่ ถ้าได้ข่าวว่าพระอัสสชิอยู่ทางมุมใด จะหันศีรษะไปทางมุมนั้น พระอัสสชิอยู่ที่ใด จะหันหัวไปทางนั้นตลอด ด้วยความเคารพบูชาขนาดนั้นน่ะ นี่ นี่บัณฑิต
พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาโดยสถานะเป็นเบื้องขวา เป็นผู้ที่มีปัญญา ปัญญารองจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยสถานะทางสังคมสูงส่งมาก แต่เวลาจะนอนนะ เอาศีรษะไปทางพระอัสสชิ เพราะพระอัสสชิเป็นคนบอกทาง เป็นคนชี้นำทาง
อย่างที่ว่านี่ ที่เป็นคนคอยชี้คอยบอก มันจนตรอก จนตรอกมา จนพระสารีบุตรไปถามไง เวลาบอกธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอย่างนั้นน่ะ เวลาพิจารณาไปแล้วเป็นพระโสดาบัน บุญคุณอันนี้มันฝังหัวใจเลย พระอัสสชิจะนอนทางไหนนะ พระอัสสชิอยู่ทางไหน จะนอนเอาศีรษะไปทางนั้น นี่พฤติกรรมของพระสารีบุตร
แล้วเราเวลาพูดถึงครูบาอาจารย์ของเรา พฤติกรรมของครูบาอาจารย์เรา ถ้าไม่ได้กราบหลวงปู่มั่นก่อน นอนไม่ได้ นี่มันเคารพบูชากันอย่างนี้ แล้วถ้าทำอย่างนี้มันจะย้อนศรไหม
ทำอย่างนี้นะ พูดถึงสั่งงานอะไรแล้วนะ สั่งการๆ แล้ววางใจได้เลย รับประกันได้ว่าหลวงตาจะไม่แตกแยก ไม่ทำสิ่งใดให้เสียหายเลย เพราะอะไร เพราะมันลงกันที่หัวใจ ชีวิตจะยกให้เลย ถ้าบอกให้ตายเดี๋ยวนี้ ตายให้ดูเลย ถ้าหลวงปู่มั่นสั่งให้ตาย จะตายเลย
แต่มันไม่ทำอย่างนั้น ท่านพูดบ่อย เวลาหลวงปู่มั่นท่านเจ็บไข้ได้ป่วยนะ ท่านพูดเอง “ถ้าเราเสียสละ เราตายแทนได้ เราจะยอมตายเลย เพื่อให้หลวงปู่มั่นอยู่เพื่อทำประโยชน์กับโลกมากกว่านี้” นี่โดยความคิด โดยเจตนาไง
แต่ความจริงมันไม่ใช่หรอก เพราะหลวงปู่มั่นก็เป็นหลวงปู่มั่น หลวงตาก็เป็นหลวงตาใช่ไหม แต่ด้วยความเคารพบูชาท่านพูดอย่างนี้นะ ถ้ามันเป็นไปได้นะ ถ้าให้เราตายซะ ให้หลวงปู่มั่นอยู่ต่อไปเป็นตัวแทนท่าน ท่านตายทันทีเลย
แต่นี้มันเป็นไปไม่ได้ เพราะหลวงปู่มั่นท่านก็ต้องสิ้นชีพของท่านไป ของท่านก็ต้องของท่านไป นี่ความเคารพบูชามันขนาดนี้ นี่พูดถึงการเคารพบูชานะ
ฉะนั้น สิ่งที่เขาพูด เขาบอกว่าบางทีเขาก็ไปเล่าให้เพื่อนเขาฟังที่หลวงพ่อเทศน์ แต่ก็พูดไม่ตรงเหมือนกับเทศน์ประมาณที่ลูกเข้าใจ
อันนั้นอย่างหนึ่ง เพราะว่าวุฒิภาวะก็เป็นธรรมดา ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “จึงขอขมาหลวงพ่อ กลัวมันผิด กลัวเป็นบาป”
ถ้ากลัวเป็นบาป เราก็พยายามพุทโธซะ ให้หัวใจเรามีบุญขึ้นมา ถ้ากลัวบาปนะ เราไม่เอาไปแบบว่าล้อเล่นล้อเลียน มันจะเลยเถิดไปเรื่อยๆ ไง เราไม่ต้องไปพูดอย่างนั้น มีอะไรที่มันเป็นที่ยึดเหนี่ยว เราก็ยึดเหนี่ยวนั้นเป็นของเรา
แต่เขาบอกเขาก็กลัว ระยะหนึ่งเขาจะมาคุยกับเรา
จะคุยไม่คุยมันก็เป็นเรื่องนั้นน่ะ แต่ถ้าเรื่องการพึ่งพากันโดยศีลโดยธรรม การพึ่งพากันโดยศีลโดยธรรม เห็นไหม พวกเราเวลาพูด เราลูกพ่อเดียวกัน เรามีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาเหมือนกัน เราเป็นลูกพ่อเดียวกัน เป็นลูกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ฉะนั้น ในเมื่อเราเป็นบริษัท ๔ เราก็ทำของเราให้เกิดขึ้นมา ทำคุณประโยชน์ของเราให้เกิดขึ้นมาให้เป็นคุณประโยชน์ของเรา อันนี้สำคัญกว่า ฉะนั้น สิ่งที่สำคัญกว่า สำคัญที่ว่าขอให้ทำดีไง เราทำดี อย่าให้วันเวลามันล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์ เราพยายามฝึกฝนของเรา ทำของเรา ให้เราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยข้อเท็จจริง เอวัง