ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

พุทโธได้ดี

๙ ก.ย. ๒๕๖o

พุทโธได้ดี

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๐

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี


ถาม : เรื่อง “ทิ้งงาน”

ขอบพระคุณหลวงพ่อในการตอบคำถามที่ผ่านมา เรื่อง “รู้ไม่ทันกิเลส” ผมยังภาวนาพุทโธมาอย่างต่อเนื่อง แม้นั่งสมาธิไปจะรู้สึกละเอียดปานใดก็ไม่ยอมให้พุทโธหาย เวลาสงบแล้วเกิดแสงสว่างมากก็ไม่สนใจ ยังคงอยู่กับพุทโธต่อไป ระหว่างวันช่วงไหนไม่ต้องคิดเรื่องงานก็จะอยู่กับพุทโธ รู้สึกว่าการคิดเรื่องอื่นไม่คู่ควรกับพุทโธ จนช่วงนี้ใจมันปลอดโปร่ง แต่ก็ยังไม่ทิ้งกรรมฐานให้กิเลสหลอกครับ เมื่อปฏิบัติมาจึงมีคำถาม

๑. มีครั้งหนึ่งผมนึกเรื่องเพศตรงข้ามที่ชอบใจ (ตอนนั้นไม่ได้นั่งทำกรรมฐาน) จู่ๆ ภาพที่เห็นคือกายเขาฉีกขาด เห็นไส้เป็นกอง ไอ้ที่คิดอยู่หยุดกึ๊กเลย นิมิตนี้ควรทิ้งไปหรือต่อยอดได้ครับ

๒. มีครั้งหนึ่งจิตเสื่อม พุทโธไม่อยู่ จึงใช้ปัญญาอบรมสมาธิ พยายามพิจารณาพลิกแพลงกับกิเลส จนมาถึงจุดหนึ่งใจบอกว่า “เนกขัมมบารมี” พอน้อมไปถึงตอนที่รักษาเนกขัมมะแล้วใจมันอิ่ม สงบลงมา อันนี้พอจะเอามาอาศัยการน้อมถึงบารมีที่ทำเพื่อให้สงบขั้นต้นได้ไหมครับ

๓. ช่วงที่ทำงานหนักมาก ก่อนทำกรรมฐาน ผมคลายเครียดก่อนโดยทำความรู้สึกตัว ไม่ไปยุ่งกับความคิด มันปล่อยวางอารมณ์ง่ายๆ เลย มันดูเหมือนว่างอย่างไม่มีเหตุผล จิตมันไปอยู่กับอายตนะ ๕ เว้นแต่ประตูใจ (มโนทวาร) เกิดเอ๊ะ! ขึ้นมา กรรมฐานต้องย้อนหดกลับมาที่จิต ถ้าทิ้งจิตหรือทิ้งกรรมฐานแล้ว คนที่ผมรู้จักก็ทำวิธีว่างแบบนี้กันเยอะ มันเหมือนทิ้งงาน ถามว่า ในบางครั้งคราวผมยังควรใช้วิธีคลายอารมณ์ไหมครับ

ตอบ : นี่คำถามนะ ๑ ๒ ๓ ๔ แต่เวลาคำถาม เวลาเมื่อก่อนถามถึงการภาวนา ถามถึงเหตุถึงผล

เรานี่เวลาใครที่ภาวนานะ แล้วมีความขัดข้อง แหม! มันอยากตอบ มันอยากตอบเพราะคนที่ปฏิบัติแล้วมันถามมาจากการปฏิบัติ ก็ตอบปัญหากันมาเยอะมาก โอ้โฮ! ตอบปัญหากันมา ปัญหาละเอียดลึกซึ้ง แต่เวลาภาวนาไป พอทำงานจนชำนาญแล้วนี่คำถามสั้นๆ คำถามสั้นๆ ง่ายๆ

แต่ถ้าเราเป็นผู้ปฏิบัติใหม่นะ อู้ฮู! มันเป็นวรรคเป็นตอนนะ แหม! เป็นขั้นเป็นตอน คุยกันครึ่งวันไม่รู้เรื่อง แต่พอเวลาปฏิบัติไปมากๆ เข้า คำถาม ๑ ๒ ๓ จบแล้ว ง่ายๆ แต่คำว่า “ง่ายๆ” พอปฏิบัติไปๆ เพราะเรายังไม่ได้ปฏิบัติมาเราก็อยากรู้อยากเห็น พออยากรู้อยากเห็น ปฏิบัติไป

เวลาหลวงปู่มั่นท่านสอน “จิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก จิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก” มันเป็นได้ร้อยแปด แต่วุฒิภาวะเราอ่อนด้อย พอรู้เห็นสิ่งใดก็แหม! มหัศจรรย์ สุดยอดๆ สุดท้ายเดี๋ยวก็เสื่อมหมดน่ะ มันเป็นขี่ม้าชมทุ่ง มันเรื่องปลีกย่อยทั้งนั้นน่ะ เรื่องปลีกย่อย

เพราะเวลาหลวงตาท่านพูดไง เวลาปฏิบัติมียาก ยากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น กับอีกคราว คราวจะสิ้นกิเลส

ทีนี้คราวเริ่มต้นเขาก็ปฏิบัติกัน แล้วมีครูบาอาจารย์มากมายมหาศาลก็มีวิธีการแตกต่างหลากหลาย วิธีการแตกต่างหลากหลายก็วิธีการปฏิบัติพอเป็นพิธี

เพราะพิธี ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติ ภาษาคำพูดเราเลย ภาษาเราเลยนะ ครูบาอาจารย์ที่ท่านสอนปฏิบัติท่านปฏิบัติไม่เป็น พอปฏิบัติไม่เป็นท่านก็สอนตามจินตนาการ ตามปรัชญาที่ตัวเองศึกษามา แต่ความจริงไม่มี ไม่มีหรอก

แต่ถ้ามันจะมี เวลาจะมีขึ้นมามันเรียบง่าย เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนถึงกรรมฐาน ๔๐ วิธีการ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง อันดับหนึ่งคือพุทธานุสติ เวลาพุทโธๆ เวลาพุทโธๆ ถ้าพุทโธดีขึ้นๆ นะ พุทโธไปเรื่อยๆ จิตมันสงบเข้ามา เห็นไหม จากที่ขี่ม้าชมทุ่ง

เหมือนเรานั่ง เวลาแบบปัญหาสังคม ปัญหาสังคม สภากาแฟ เวลาทุกคนก็ไปนั่งร้านกาแฟแล้วก็นินทากันทั้งวันทั้งคืน นินทาตั้งแต่หนุ่มจนแก่มันยังนินทาไม่จบเลย สภากาแฟนั่นน่ะ มันก็เข้าร้านกาแฟทุกวัน แล้วก็ไปนั่งนินทากันครึ่งวัน แล้วก็ไปทำงาน พรุ่งนี้เช้ามานินทาอีกแล้ว นินทาตั้งแต่หนุ่มจนแก่ไม่จบ นี่สภากาแฟ

นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติพอเป็นพิธี แล้วจิตมันก็รู้แตกต่างหลากหลาย รู้ไปหมด สุดท้ายพอเวลาปฏิบัติไปแล้วได้ผลอะไรมา พอไม่ได้ผลอะไรมา “อืม! เวลาปฏิบัติไปแล้วมันก็ไม่ได้ผลเนาะ เวลาปฏิบัติไปแล้ว ศาสนาพุทธมันไม่แน่นอนแล้วแหละ ศาสนาพุทธมันจะมีมรรคมีผลหรือไม่ กึ่งพุทธกาลแล้วมันจะมีหรือไม่” นี่ก็วิตกวิจารณ์กันไป วิตกวิจารณ์กันไปแล้วก็ล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนั้นน่ะ นี่พูดถึงปฏิบัติพอเป็นพิธี

แต่ถ้าเอาจริงเอาจังขึ้นมา พุทโธๆ สิ่งที่ว่าพอพุทโธแล้วได้ดี เวลาที่ปฏิบัติมามีปัญญามาก พิจารณาเป็นขั้นเป็นตอนเลย โอ้โฮ! เขียนมา นี่ตอบปัญหาไปเยอะมาก ครั้งสุดท้ายเขาบอกว่า ขอบคุณมากที่หลวงพ่อตอบเรื่อง “รู้ไม่ทันกิเลส”

“รู้ไม่ทันกิเลส” เรารู้อยู่ แต่กิเลสมันลึกซึ้งกว่า แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นน่ะ แต่ถ้าพุทโธๆๆ พุทโธไป มันเหมือนกับในหลวงท่านสอน ในหลวงท่านสอนเศรษฐกิจพอเพียงนะ เวลาเศรษฐกิจพอเพียง คนเรานี่นะ มีที่ดินเล็กน้อยก็ปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกพออยู่พอกิน เสร็จแล้วถ้าเหลือก็ขาย

แต่การจะทำเศรษฐกิจพอเพียงพออยู่พอกิน เริ่มต้นต้องขุดสระน้ำก่อน ต้องขุดสระน้ำก่อนนะ ถ้ามีแหล่งน้ำ เวลามีที่ นี่ทฤษฎีใหม่ เวลามีพื้นที่ต้องแบ่งพื้นที่ที่อยู่อาศัย ที่ปลูกผักสวนครัว ที่เลี้ยงสัตว์ ที่ขุดสระ ขุดสระก็เลี้ยงปลา เลี้ยงปลาด้วยน้ำใช้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราพุทโธๆๆ เหมือนขุดสระ ถ้ามันมีน้ำมีท่านะ ทุกอย่างก็ใช้ประโยชน์ได้ ถ้ามีแหล่งน้ำแล้วทำเศรษฐกิจพอเพียงนะ มันอยู่ได้ แล้วพอคนอยู่ได้แล้วนะ คนต้องขยันหมั่นเพียร เวลาขยันหมั่นเพียรขึ้นมาแล้วนะ

ในโลกนี้เขาต้องการความสะดวกสบายไง กดปุ่มหมดเลย ทุกอย่างจะกดปุ่มเอาสบายทั้งนั้นน่ะ น้ำก็กดน้ำประปาเทศบาล ไฟก็กดปุ่มเอา เขาจะเอาแต่สะดวกสบาย สิ้นเดือนก็ต้องจ่ายเงินๆๆ จ่ายค่าน้ำ จ่ายค่าไฟ จ่ายค่าคนงาน จ่ายหมดเลย แล้วหามาไม่พอ จ่ายค่าสาธารณูปโภค

แต่ถ้าเราขุดบ่อน้ำของเรา เราขุดสระน้ำ เรามีน้ำใช้ของเราเอง ปุ๋ยเราก็ผสมเอง เราทำของเราเอง มันต้องเหนื่อยหน่อยหนึ่ง เราจะบอกว่า มันต้องเหนื่อยกว่าเขา มันต้องขยัน แล้วมีสติปัญญา มีความอดทน แล้วมันจะทำของเราขึ้นไปแล้ว แล้วพอทำจนอยู่ตัวแล้วมันจะประสบความสำเร็จ แล้วพอคนประสบความสำเร็จแล้ว “อื้อหืม! สุดยอดๆ ในหลวงท่านพูดจริงๆ พวกเรามันไม่เชื่อเอง”

แล้วพอทำขึ้นไป เห็นไหม แต่เพราะการทำปุ๋ย การขยันหมั่นเพียรมันได้สุขภาพมา สุขภาพที่แข็งแรง สุขภาพที่แข็งแรงมันไม่ต้องไปโรงพยาบาล มันไม่เสียค่ายา ไม่เสียค่าหมอ เพราะเราได้ออกกำลังกายไปในตัว สุขภาพร่างกายก็แข็งแรง แล้วทำจนนิสัยมันทำจนอยู่ตัว พออยู่ตัวขึ้นมาแล้วมีความสามัคคี มีต่างๆ กัน มันพออยู่พอกิน “โอ้โฮ! ในหลวงท่านพูดไว้แล้วแหละ แต่พวกเราไม่เชื่อ” เขาว่านะ พอมันได้ขึ้นมา เห็นไหม

นี่แหล่งน้ำ พุทโธๆๆ มันมีน้ำใจ พุทโธๆ พุทโธจนดีขึ้น เขาว่าพุทโธๆๆ บริกรรมพุทโธไปเรื่อยๆ

แต่พวกเราอยากจะไบรต์ มีปัญญามาก ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา แล้วก็ปัญญาหลอกตัวเอง มีทฤษฎี มีเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นธรรม เห็นเทวดา เห็นอินทร์ เห็นพรหม เห็นนรกเห็นสวรรค์ เห็นหมดเลย

หลวงปู่ดูลย์บอกว่า เห็นจริงๆ เพราะมันเป็นอุปาทาน แต่ความเห็นนั้นไม่จริงหรอก มันไม่จริงเพราะเราคิดแบบโลกๆ เราคิดแบบสมองเรา เพราะจิตมันไม่สงบ จิตไม่สงบมันมีอวิชชา มันมีสมุทัยเจือมานอนเนื่องมากับความคิดมาตลอด มันไม่มีความคิดอันใดสะอาดบริสุทธิ์หรอก ความคิดมันเจือไปด้วยกิเลสทั้งนั้นน่ะ แล้วมันก็ไปรู้ไปเห็นทั้งนั้นน่ะ เพราะว่าจิตนี้มหัศจรรย์นัก จิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก นี่มันเป็นไง

แต่ถ้าพุทโธๆ พุทโธไปเรื่อยๆ จะทำใจของเราให้เป็นสัมมาสมาธิ ทำใจของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ สมุทัยมันก็เบาบางลง สมุทัย บางทีสมุทัยมันลืมไปเลยนะ สมุทัยมาไม่ทัน ปัญญาที่เกิดขึ้นมันจะเป็นปัญญาที่มหัศจรรย์ นี่ไง แหล่งน้ำ ถ้ามีแหล่งน้ำแล้วนะ

คนถ้ามีแหล่งน้ำ ดูสิ ถ้ามีแหล่งน้ำๆ คนปลูกบ้านอยู่แหล่งน้ำสาธารณะเลย แต่มันขี้เกียจ มันไม่ทำมาหากินมันก็นอนเฝ้าแหล่งน้ำอยู่นั่นน่ะ

นี่ก็เหมือนกัน พุทโธๆๆ ถ้าจิตใจมันสงบแล้ว จิตใจมันมีกำลังแล้ว เราจะใช้ประโยชน์ คนถ้ามีวาสนา ถ้ามีวาสนามันจะเอามาใช้ประโยชน์เป็นสัมมาทิฏฐิความถูกต้องดีงาม คนที่ไม่มีวาสนาเป็นมิจฉาสมาธิ สมาธิเกิดแล้วไปทำร้ายตัวเอง ทำลายตัวเอง

นี่ทำสมาธิได้แล้วมันยังต้องรู้จักใช้สอยให้เป็นประโยชน์ แล้วถ้าเป็นสมาธิแล้วมันจะมีความสุขความสงบของมันไง ถ้ามีสมาธินะ ถ้าจิตมันสงบนะ พุทโธนี่สำคัญมาก สำคัญสุดๆ เลย เหมือนที่ไหนมีแหล่งน้ำ ที่นั่นมีชีวิต ที่ไหนไม่มีแหล่งน้ำ ชีวิตอยู่ไม่ได้หรอก

นี่ก็เหมือนกัน เวลาภาวนาไปแล้ว ปฏิบัติไปแล้ว ปฏิบัติก็สำมะเลเทเมา ลัทธิศาสนาสอนปัญญาเลอเลิศ ปัญญาสุดยอด...ไม่เห็นมีใครภาวนาแล้วรู้จักกิเลสตัวเองเลย ไม่มีใครภาวนาแล้วชนะตัวเองได้เลย เว้นไว้แต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเรา

ครูบาอาจารย์ท่านพุทโธๆ ท่านสามารถเอาชนะตัวเองได้ เอาชนะตัวเองได้แล้วใครจะมาสรรเสริญเยินยอ ใครจะมาติฉินนินทาอย่างไรมันเรื่องข้างนอก เรื่องอยู่ไกลๆ นู่น

พูดไปเถอะ “ดิฉันสบาย”...ไร้สาระ เรื่องไร้สาระเลย ถ้าทำได้จริง ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันอยู่ที่นี่ไง ขอให้พุทโธๆ เถอะ

เพราะว่าสิ่งที่เขาทำ เขาทำมา แต่เดิมมาเขาก็ทำความสงบของเขามา แต่ว่าด้วยอำนาจวาสนาบารมีก็ออกใช้ปัญญา ออกใช้ต่างๆ ก็ล้มลุกคลุกคลานมา แต่นี่เขาบอกว่าตอนนี้เขาฝึกหัดประพฤติปฏิบัติของเขา พยายามพุทโธอย่างเดียว พุทโธๆ ก็ไม่ยอมให้พุทโธหายด้วย แล้วถ้าจิตมันสงบเห็นสว่างไสว เห็นแสงสว่างขนาดไหนก็ไม่สนใจมัน

ไม่ต้องไปสนใจมัน พุทโธของเราไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธของเรา พุทโธหมือนกับเราขุดสระน้ำ เราเก็บกักน้ำไว้ใช้ ถ้าเราเก็บกักน้ำไว้ใช้ ที่ไหนเขาจะแห้งแล้ง ที่ไหนเขาจะมีความทุกข์ เราก็มีแหล่งน้ำของเราแล้ว ในแหล่งน้ำนั้นก็มีปลาอยู่แล้ว ในแหล่งน้ำนั้นเดี๋ยวเราทำสวนครัว เราจะเอาน้ำนั้นมารดผัก เราจะเอาน้ำนั้นมาทำประโยชน์ของเรา

นี่พุทโธๆๆ พุทโธนี่สำคัญมาก พุทโธสำคัญมาก

สำคัญตรงไหน

สำคัญตรงเข้าสู่ปัญหานี่ไง “๑. มีอยู่ครั้งหนึ่งผมนึกถึงเพศตรงข้ามที่ชอบใจ (ตอนนั้นไม่ได้นั่งกรรมฐาน) จู่ๆ มันก็เห็นภาพ เห็นกายเขาฉีกขาด เห็นไส้เป็นกอง ไอ้ที่คิดอยู่หยุดกึ๊กเลย” มันมาจากไหนล่ะ นี่มันมาจากไหน

มันมาจากพุทโธๆ ที่เราทำพุทโธของเรานี่แหละ มันมาจากจิตใจที่มันมีพื้นฐานที่เป็นธรรมนี่

เหมือนมันมีแหล่งน้ำอยู่ พอมันมีแหล่งน้ำอยู่ มันมีปลา มีสิ่งต่างๆ มหาศาลเลย เรานั่งๆ อยู่เห็นปลาตัวหนึ่งมันโดดขึ้นมาจากสระน้ำ โอ้โฮ! ปลาตัวเบ้อเริ่มเทิ่มเลย ไม่ได้ตกปลา แต่ปลามันอยู่ในน้ำนั้นมันโดดลอยตัวขึ้นมาจากน้ำนั้น มันคะนองของมัน มันดีดตัวมันขึ้นมา เห็นตกใจเลย

นี่ก็เหมือนกัน “มันมีครั้งหนึ่งนึกถึงเพศตรงข้าม”

เวลานึกถึงมันจะเป็นต้นเหตุ ต้นเหตุ มโนกรรม เวลาต้นเหตุนึกถึงเพศตรงข้าม นี่ตรงข้ามที่ชอบใจ

“ตอนนั้นไม่ได้นั่งกรรมฐานด้วย”

เออ! ถ้านั่งกรรมฐานนะ โอ้โฮ! คงจะเขียนไปอีกแบบหนึ่งเลย “แหม! หลวงพ่อ ผมนั่งภาวนาอยู่ แหม! มันเกิดอสุภะ แหม! ผมตกใจเลย แต่นี่บังเอิญไม่ได้นั่ง ผมไม่ได้นั่ง มันเกิดเอง มันเกิดเอง”

เราบอกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไง เวลาพระอัสสชิพูดกับพระสารีบุตรไง “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” มันต้องมีเหตุมีผลของมัน มันต้องมีที่มาที่ไป มันไม่ใช่หลุดมาจากก้อนเมฆ ลอยมาจากอากาศ ตกอยู่ตรงหน้าพอดี ไอ้นี่มันเป็นบุคลาธิษฐาน

สิ่งที่ว่าจู่ๆ นะ จู่ๆ เพราะอะไร เพราะเราคิดถึงเพศตรงข้าม จู่ๆ เราคิดถึงเพศตรงข้ามที่ชอบใจ นี่ไง มันจะเป็นอุปาทาน เป็นทางเข้าไปสู่ความทุกข์แล้วแหละ ถ้าคิดถึงเพศตรงข้าม เพศที่เราชอบใจ แล้วถ้ามันน้อมนำไปตามอารมณ์นั้นน่ะ มันก็ไปกระตุ้นให้หัวใจเราคิดจินตนาการไปให้เรามีความทุกข์ความยากแล้วล่ะ

แต่นี่ด้วยเราพุทโธๆ ของเรา เราทำของเรามาตลอดไง พอเราระลึกถึง ระลึกถึงเพศตรงข้าม นี่มันมีเหตุ มันจะชักจูงไปแล้ว พอมันชักจูงไป เราเคยพุทโธไว้ๆ นี่ธรรมไง เวลาธรรมขึ้นมา

จู่ๆ เลย จู่ๆ เลย เวลาคิดถึงเพศตรงข้าม จู่ๆ มันเป็นภาพขึ้นมาเลย เห็นภาพ คือเห็นภาพทันที กายนั้นฉีกขาดออก ไส้ไหลเป็นกองเลย ไอ้ที่คิดอยู่หยุดกึ๊กเลย ไส้ไหลเป็นกองเลย มันเป็นไส้ มันเป็นเลือดสาดเลย เลือดแดงเลย

สวยไหมล่ะ สวยไหม ไอ้ที่ว่าเพศตรงข้ามที่ชอบใจ สวยไหม มันไม่สวยเพราะอะไรล่ะ มันไม่สวย นี่ไง ที่ว่าเห็นอสุภะ เห็นกายๆ

ฉะนั้น สิ่งที่เขาบอกว่า “สิ่งนี้เอามาต่อยอดได้หรือไม่”

เราพูดไว้บ่อยมาก เวลาเราหัดภาวนาของเรา เราทำความสงบของใจของเรามา ถ้ามันจะเห็นนิมิต เห็นสิ่งใด ไม่เอาทั้งนั้นน่ะ เว้นไว้แต่กายไง เว้นไว้แต่เห็นกาย

แต่นี้เพราะเราไม่ได้ภาวนา ถ้ามันเห็นอย่างนั้น นั่นน่ะส้มหล่น พอส้มหล่น สิ่งนี้ประเสริฐมาก ทีนี้ประเสริฐมาก มันหล่นมานี่ สิ่งนี้มันเป็นธรรมผุด มันเป็นธรรมมาเตือน เวลาธรรมมาเตือน เราไม่ได้ภาวนา เราไม่ได้ตั้งท่า เราไม่ใช่ความพร้อมที่เราจะสู้กิเลส แต่ธรรมะนี่นะ จู่ๆ ผุดขึ้นมาเลย ให้เราสะอึกเลย

เวลาหลวงตาท่านบอกว่าเวลาท่านพิจารณาของท่านอยู่ ความว่าง สว่างไสว โอ๋ย! มันมหัศจรรย์ๆ จู่ๆ จู่ๆ ธรรมะเตือนเลย ไอ้ที่สว่างไสว ไอ้ที่เวิ้งว้างนั่นน่ะมันเกิดจากจุดและต่อม เป็นต้นเหตุ เป็นต้นเหตุให้หลวงตาได้สติแล้วมารื้อค้นค้นคว้าว่า ไอ้ความว่าง ไอ้แสงสว่าง ไอ้ที่ความเห็นมันเกิดจากอะไรไง มันต้องหาที่เกิด หาเหตุให้เจอ ถ้าหาเหตุเจอแล้ว แล้วจะไปแก้ไขที่ตรงนั้นไง

นี่ก็เหมือนกัน เราระลึกถึงเพศตรงข้าม ระลึกถึงเพศตรงข้ามเลย แล้วไม่ได้ภาวนา จู่ๆ ภาพที่เห็นคือกายฉีกขาด กายฉีกขาดเลย ไม่ใช่กายสวยๆ จู่ๆ เห็นกายมาอย่างกับนางฟ้าเลย สวยหมดเลย ก็ยังติดอยู่นะ เออ! สวย

นี่จู่ๆ เห็นภาพกายฉีกขาด

กายฉีกขาดมันก็เห็นเป็นอสุภะแล้ว เห็นไส้เป็นกองเลย ไอ้ที่คิดๆ อยู่น่ะเห็นอย่างนั้น นี่ไง สิ่งที่พระกรรมฐาน พระกรรมฐาน ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เวลาพระเรานี่พระกรรมฐานก็ไอ้พระชีวิตนี่ไง พระมีชีวิต พระบิณฑบาตกินอยู่นี่ นี่พระกรรมฐาน แต่เวลาพระกรรมฐานในความหมายของบาลี พระกรรมฐาน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ กรรมฐาน กรรมฐาน ๕ เวลาพระกรรมฐาน เวลาพระกรรมฐานเกิดไง เวลาขอกรรมฐานๆ นี่ไง พระกรรมฐาน พระกรรมฐานเกิดกับเราแล้ว

ถ้าพระกรรมฐานเกิดกับเรา เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาจะภาวนา เห็นไหม มันมา มันมาแบบไม่รู้ตัว เสร็จแล้วพอสำนึกได้มันก็หายไปโดยไม่รู้ตัว แต่มันมีรสชาติ มันมีรสมีชาติมาก รสชาตินี้มันฝังใจเลย แล้วเขาบอกว่า นิมิตนี้ควรจะต่อยอดได้หรือไม่

ควรอย่างมาก แต่ถ้าควรอย่างมากแล้ว เวลาหลวงปู่มั่น เวลาหลวงตาท่านเทศน์ไง ท่านบอกอะไรที่เป็นข้อสำคัญ ไฮไลต์ของมัน ท่านจะข้ามๆ ไป

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งใดที่มันสะเทือนใจก็อยากจะได้ตรงนั้นน่ะ ไอ้คำว่า “อยากได้” นี่กิเลสซ้อนกิเลสแล้ว

สิ่งนี้สิ่งที่มันเป็น สมควรที่จะมาต่อยอดหรือไม่

สมควรอย่างมาก แต่ถ้าเราไปคิดแต่ตรงนี้มันก็เป็นโทษเลย เห็นไหม เวลาธรรมเกิด โดยบาลีนะ โดยธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาสิ่งที่มันเกิด เขาเรียกว่าธรรมเกิด

แต่หลวงตาท่านพูดเอง กิเลสเกิด กิเลสเกิดก็ตรงนี้ไง พอมันเกิดขึ้นมาแล้วมันดี พอมันดีก็อยากได้ อยากได้คือกิเลส พออยากก็คือกิเลส ก็เป็นกิเลสเกิดไง มันเกิดโดยกิเลส แล้วมันก็มาปลุกเร้ากิเลส มันควรจะเป็นธรรม เป็นธรรมคือเป็นประโยชน์กับเรา เลยกลายเป็นโทษ เป็นโทษที่ไหน เป็นโทษที่มันเป็นเครื่องล่อ เป็นโทษที่มันจะจูงให้เราหลงทางไง

แต่ถ้าเราวางมันได้ เราวางมันได้แล้วเราทำของเราโดยปกติ ถ้ามันจะเกิดอีกมันก็เป็นประโยชน์กับเรา ถ้ามันไม่ได้เกิดอีก สิ่งนั้นมันเป็นคติเตือนใจ เออ! อย่างนี้เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ว่าเวลามันเกิดตามข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนั้นน่ะ เพราะไม่มีใครคาดใครหมาย มันเป็นไปโดยสัจจะ เป็นไปโดยข้อเท็จจริง เป็นไปโดยธรรม ไม่มีใครไปแต่งให้มันเป็น แต่เวลาคนที่จะไปแต่งให้มันเป็น ต้องการให้มันเป็น นั่นน่ะคือกิเลส เวลากิเลสแล้วมันจะไม่ได้ผลไง

ฉะนั้น เขาบอกว่า สิ่งที่อย่างนี้มันเป็นไปได้ไหม

ได้ เราบอกว่า สิ่งที่เราจะประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้ามันไปเห็นเทวดา เห็นอินทร์ เห็นพรหม เห็นสิ่งต่างๆ เราไม่เอา เว้นไว้แต่เห็นกาย ถ้าเว้นไว้แต่เห็นกาย มันต้องพร้อมไง เวลาจิตสงบแล้วเห็นแล้ว ตั้งสติไว้ แล้วรำพึง รำพึงพิจารณาให้มันเป็นไปอย่างนั้น นี่เราต่อยอดได้ แต่ถ้ามันยังต่อยอดไม่ได้ เพราะอะไร เพราะเราไม่ได้ภาวนาอยู่ แล้วไม่ภาวนาอยู่ แล้วมันเริ่มต้นไม่ได้ไง

ถ้ามันจะเริ่มต้นได้นะ มันต้องจิตสงบแล้วมันเห็น เห็นแล้วมันพิจารณาพลิกแพลงไปด้วยสติสัมปชัญญะ นั่นน่ะวิธีการวิปัสสนา

แต่ไอ้อย่างนี้มันมาแบบจับพลัดจับผลูอย่างนี้ มันไม่ได้ แต่บอกว่า สิ่งนี้เอามาต่อยอดได้ไหม

ได้ แล้วควรด้วย เพียงแต่ทำให้ถูกต้อง แต่ถ้าบอกได้ แล้วพยายามจะบีบคั้นจงใจให้เป็นนะ ไม่ได้ เขาเรียกว่าสัญญาซ้อนสัญญา กิเลสซ้อนกิเลส กิเลสมันก็เป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสสากรรจ์อยู่แล้ว แล้วเราไปซ้อนมันเป็นสองชั้นสามชั้นมันยังทุกข์มากกว่านั้นอีก ฉะนั้น ต้องวางไว้ให้ตามความเป็นจริงไง แล้วเราพิจารณาของเราไป นี่ข้อที่ ๑.

“๒. มีครั้งหนึ่งจิตเสื่อม พุทโธไม่อยู่ จึงใช้ปัญญาอบรมสมาธิ พยายามพิจารณาพลิกแพลงกับกิเลส จนมาถึงจุดหนึ่งใจถึงบอกว่า เนกขัมมบารมี”

ไอ้นี่เนกขัมมบารมี อย่างข้อที่ ๑. ข้อที่ ๑. เวลาจิตมันสงบแล้วมันพิจารณา มันเห็นกาย แต่ข้อที่ ๒. “เนกขัมมบารมี” นี่มันเห็นธรรม ธรรมารมณ์ๆ อารมณ์ที่มันสงบไง อารมณ์ที่มันสงบแล้ว เวลามันผุดขึ้นมา นี่ก็ผุดขึ้นมา

มันก็เหมือนกับกายที่ฉีกขาดนั่นแหละ แต่กายที่ฉีกขาดมันเห็นเป็นอสุภะ ไปเห็นกาย แต่เวลาถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิแล้วมันเกิดปัญญาขึ้น ปัญญาขึ้น มันเป็นที่นี่ไง

ที่เวลาหลวงปู่มั่นท่านบอกว่าเวลาธรรมท่านเกิด ธรรมท่านเกิดเป็นภาษาบาลี แล้วภาษาบาลี ถ้าเวลาธรรมเกิดแล้วท่านอยู่ที่วัดหนองผือไง “นี่ธรรมเกิดแล้วแหละ เป็นภาษาบาลี แต่เก็บไว้ก่อน ยังไม่พูด รอมหามาก่อน” เวลามหามา “ใครเป็นมหาตอบเว้ย” ก็พูดไง

นี่ก็เหมือนกัน เวลามันเกิดนี่ “เนกขัมมบารมี” เวลาหลวงปู่มั่นเกิดเป็นภาษาบาลี พอเกิดเป็นภาษาบาลีขึ้นมาท่านก็ตอบของท่านในหัวใจแล้วแหละ เพียงแต่ว่าท่านอยากจะเก็บไว้สอน อยากจะเก็บไว้เป็นมุขให้จุดประกายให้ลูกศิษย์มีปัญญาไง

เวลาอย่างเรา เราจะคิดปัญหาของเรา เราจะใช้ปัญญาของเรา สมองมันทึบ แล้วมันคิดอะไรไม่ออกไง เวลาครูบาอาจารย์ท่านก็จะมีโจทย์ให้ไง มีโจทย์ มีสิ่งใดกระตุ้นไง ท่านก็บอกเวลาบาลีมันเกิด “เก็บไว้ก่อน รอมหามาก่อน” พอมหามา “ใครเป็นมหาให้ตอบ” ท่านก็ตั้งบาลีของท่านเลย

หลวงตาท่านรู้เลยว่าหลวงปู่มั่นท่านเก็บไว้ฝากท่าน ท่านพูดเอง ท่านบอกว่า คนเราภาวนาแล้วมันมีปัญญา ท่านไม่ต้องการให้เราตอบหรอก เพราะปัญญาอย่างเราจะสู้อาจารย์ได้อย่างไร แต่อาจารย์ท่านมีของท่าน ท่านเข้าใจของท่านหมดแล้วแหละ แต่ท่านอนุเคราะห์ ท่านเอาไว้ให้ไปเป็นแนวทางให้เราได้จุดประเด็นให้เราได้บุกเบิกไง “อ้าว! ใครเป็นมหาเว้ย อ้าว! มหาตอบ” นั่นน่ะท่านจุดประเด็น

แต่พอท่านพูดบาลีปั๊บ หลวงตาท่านก็นั่งเฉยๆ ท่านรู้ว่าท่านตั้งประเด็น ท่านจะให้เป็นอุบาย เวลาพอท่านนั่งเฉยๆ แล้ว หลวงปู่มั่นท่านตั้งประเด็นเสร็จ “อ้าว! มหาตอบ” มหาไม่ตอบ หลวงปู่มั่นก็ตอบเอง ตอบเปรี้ยงๆๆ เลยนะ พอท่านฟังเสร็จแล้วบอก อู้ฮู! ซาบซึ้ง นี่ท่านเก็บเอาไว้ฝาก

เวลาลูกศิษย์ที่เป็นลูกศิษย์นะ ลูกศิษย์ที่เป็นพระนะ ควรจะรู้กาลเทศะ ควรจะรู้ถึงความมุ่งหมายของอาจารย์

ไม่ใช่ลูกศิษย์บ้าบอ อะไรก็จะแซงหน้า พออาจารย์พูดอะไร กูเก่งกว่าเลย กูแซงไปเลย กูนี่แน่กว่า อาจารย์สู้กูไม่ได้ กูนี่สุดยอด ไอ้นั่นไอ้ลูกศิษย์ที่โง่

แต่ลูกศิษย์ที่ฉลาด เวลาหลวงปู่มั่นท่านบอก “อ้าว! ใครเป็นมหา มหาตอบ” ใครเป็นมหา ก็มีมหาอยู่องค์เดียว “ใครเป็นมหาเว้ย” ก็มีมหาอยู่องค์เดียว จะมีใครอีกล่ะ

“อ้าว! มหาตอบ” มหาก็ไม่ตอบ เพราะมหามีปัญญา ท่านไม่ได้ให้เราตอบ ท่านไม่ได้ตั้งใจให้เราตอบ เพราะอะไร เพราะหลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ ขณะนั้นท่านยังประพฤติปฏิบัติอยู่ เราจะเอาปัญญาอะไรไปตอบพระอรหันต์ เพียงแต่พระอรหันต์ท่านฉลาด ท่านก็เอาคติธรรม ธรรมที่มันผุดขึ้นในใจของท่านเอามาฝาก

นี่ไง แววของพระ แววของผู้ที่ปฏิบัติที่มีปัญญา ที่มีปัญญา เห็นไหม เวลาบอก “อ้าว! ใครเป็นมหา มหาตอบเว้ย” อ้าว! มหามีอยู่องค์เดียว มหาก็ไม่ตอบ พอไม่ตอบ ท่านก็ตอบเอง พอตอบเองนะ โอ้โฮ!

มันฟังแล้วนะ แหม! มันซึ้ง มันกินใจ ให้ตัวเองไปหาอยู่นะ ๕ ปียังไม่เจอรสชาติอย่างนี้เลย เวลาท่านบุกเบิกแล้วท่านใส่มา นี่ไง พูดถึงถ้าเป็นลูกศิษย์อาจารย์ที่มีวุฒิภาวะ ที่มีน้ำใจต่อกัน มันเป็นประโยชน์อย่างนี้

ไม่ใช่ว่าลูกศิษย์ “ฉันเก่ง อาจารย์ยังสู้ฉันไม่ได้ อาจารย์โง่ๆ ฉันเก่งกว่าอาจารย์” นั่นน่ะตายทั้งนั้นน่ะ ไปไม่รอดหรอก ไอ้กิเลสออกหน้าอย่างนั้นน่ะ

แต่นี่ไม่อย่างนั้น นี่พูดถึงเวลาเขาบอกว่าเขาใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เพราะพุทโธไม่อยู่ เวลาพุทโธๆ ไปมันเกิดไง มันผุดขึ้นมา “เนกขัมมบารมี” พอน้อมไปถึงตอนนั้น รักษา พอน้อมไปตอนที่รักษาเนกขัมมะมันทำให้อิ่มใจ สงบลงมา และพอที่จะอาศัยการน้อมนำมาอย่างนี้มาเพื่อให้สงบขั้นต้นได้ไหมครับ

มันได้ทั้ง ๒ อันน่ะ อันทีแรกมันเห็นกาย ข้อที่ ๑. พุทโธๆๆ เราบอกว่าพุทโธนี้มหัศจรรย์ พุทโธนี้สุดยอดมากนะ พุทโธนี่ เวลาพุทโธๆ แล้วจิตใจมันมีหลักมีเกณฑ์แล้ว ถ้าเวลาเป็นประโยชน์มา เป็นประโยชน์อย่างนี้

แต่ถ้ามันไม่มีเลย เศรษฐกิจพอเพียง แล้วไปอยู่กลางทะเลทราย แล้วก็พอเพียงอยู่กลางทะเลทราย โอ้โฮ! ในหลวงหลอก เศรษฐกิจพอเพียงอะไร น้ำสักหยดก็ไม่มี รอแต่ความชื้นตอนกลางคืน น้ำค้าง น้ำค้างปลูกอะไรก็ไม่ได้ นี่เศรษฐกิจพอเพียง พอเพียงแล้วก็อยู่กลางทะเลทราย

เศรษฐกิจพอเพียง มันก็ขุดสระสิ มีน้ำมีท่าแล้วมันจะได้พอเพียง ถ้าพอเพียงขึ้นมา เดี๋ยวจะมีอยู่มีกิน นี่ก็เหมือนกัน พุทโธๆ ให้จริงสิ ถ้าพุทโธจริงๆ มึงจะรู้เลยว่าพุทโธมีคุณค่าแค่ไหน ถ้าไม่มีพุทโธมึงจะภาวนาอะไรกัน

กลางทะเลทราย แล้วก็บอกว่าพอเพียง พอเพียงเสร็จแล้ว ฉันก็ทำเศรษฐกิจพอเพียง กลับมานี่โดนแดดเผาซะแดงหมดเลย พอเพียงอย่างนี้ พอเพียงไหม้เกรียมหมดเลย ก็พอเพียงแบบมึงไง พอเพียงแบบโลกๆ ที่เขาทำปฏิบัติกันไง

แต่ถ้ามันพุทโธๆๆ โอ้โฮ! มีสระน้ำนะ แล้วถ้ามีสระน้ำยังโง่อยู่นะ เดี๋ยววิทยากรเขามาแนะนำ ตาพองเลย อ๋อ! ต้องทำอย่างนี้เองหรือ นี่ถ้ามันมีน้ำ มันทำอะไรก็ได้ โง่ขนาดไหนมันก็ยังพอทำได้ถ้ามีแหล่งน้ำ

แต่ถ้ามันอยู่กลางทะเลทราย ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา อยู่กลางทะเลทราย เดี๋ยวขั้นตอนทีเดียวก็จบ ปฏิบัติ อู๋ย! รู้มาทุกอย่าง...ไร้สาระ

สิ่งที่มันเป็นสาระ เป็นสาระอย่างนี้ บอกว่า พอมันคิดถึงเนกขัมมบารมี พอเวลาคิดถึงเนกขัมมะ คิดถึง มันอิ่มเอมหัวใจ สิ่งนี้มันจะทำได้หรือไม่ได้

มันทำได้อยู่แล้วถ้ามันเป็นประโยชน์กับเรา

นี่พูดถึงว่า ข้อแรกเวลามันคิดถึงเพศตรงข้าม

เราจะบอกว่ามันมีพื้นฐาน พุทโธๆๆ เขาพุทโธมาตลอด พุทโธจนแสงสว่างอย่างไรก็ไม่เอา พุทโธไม่ให้หายด้วย ถ้าพุทโธหาย พุทโธหาย กิเลสมันเข้าข้างตัวเอง พุทโธๆๆ หายแล้วมันจะนอนกระดิกตีน มันจะไปอยู่กลางทะเลทราย เพราะอะไร เพราะไม่ดูแลรักษานะ ต้นไม้จะตายหมด สภาพแวดล้อมเดี๋ยวก็กลางทะเลทราย ไอ้ที่พุทโธหาย นั่นน่ะตายหมด

พุทโธๆ ไม่ให้หาย เวลาถ้ามันเป็นจริงของมันนะ โอ้โฮ! แหล่งน้ำมันไปไหลรวมกันนะ โอ้โฮ! แล้วพืชพันธุ์ธัญญาหารมันอุดมสมบูรณ์ แล้วถ้าคนโง่มันก็อยู่นั่นน่ะ ถ้าคนฉลาดนะ สิ่งนั้นเป็นประโยชน์ทั้งนั้นน่ะ เป็นต้นทุนของเรา ฉะนั้น พุทโธแล้วได้ดี พุทโธแล้วเป็นประโยชน์มาก

นี่ก็เหมือนกัน พอพุทโธๆ ไม่อยู่ ไม่อยู่ก็ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ พอปัญญาอบรมสมาธิมันเกิดเป็นเนกขัมมบารมี มันเกิดเป็นธรรมขึ้นมา ถ้าพิจารณาของมัน อย่างนี้ใช้ได้ไหม

เราทำความสงบของใจเข้ามาแล้วพิจารณาไป มันจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น นั่นคือผลเกิดจากการกำหนดพุทโธ ผลจากการที่จิตของเรามั่นคง ผลเกิดจากจิตของเราที่มีมาตรฐาน

แต่เดิมมันไร้สาระบ้าบอคอแตก แล้วก็สิทธิความเป็นมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ ทำอย่างไรก็ได้ ไอ้นั่นมันโลกียปัญญา ปัญญาอ่อนด้อย ปัญญาโลกๆ น่ะ ถ้าใจเราจะพูด เราจะบอกว่าปัญญาขี้หมาเลย ปัญญาอย่างนั้นน่ะปัญญาขี้หมา

ปัญญาในพระพุทธศาสนาไม่เป็นปัญญาอย่างนั้น ปัญญาในพระพุทธศาสนา ปัญญาที่เอ็งเห็นอย่างนี้ เห็นกายที่มันฉีกขาด นี่ปัญญาเกิดอย่างนี้ หยุดกึ๊กเลย

นี่ก็เหมือนกัน พอเนกขัมมะขึ้นมา พอคิดถึงเนกขัมมะ ใจนี้อิ่มหมดเลย สงบระงับหมดเลย

นี่ถ้าปัญญาต้องปัญญาอย่างนี้ ปัญญาในพระพุทธศาสนา ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากพุทโธที่เอ็งพุทโธมาไง

แต่เดิมก่อนหน้านั้นมา โอ้โฮ! เขียนมานี่ แหม! เป็นชั้นเป็นตอน ไอ้เราก็ แหม! ถ้าภาวนามานะ เพราะว่าเราก็บ้าภาวนา ว่าอย่างนั้นเถอะ เราก็บ้าภาวนา

เวลาภาวนามามันจะเป็นอย่างนั้นน่ะ สงสัยไปหมด รู้ไปหมด แล้วมันรู้จากการภาวนา ไม่ใช่รู้จากตำรับตำรา แหม! ตอบกันฉะฉาน เป็นฉากๆ เลย สุดท้ายกลับไปพุทโธ

พอพุทโธแล้วเห็นกายฉีกขาดเลย เห็นไหม นี่เข้าสเต็ปแล้ว นี่แหละเข้าหลัก ถ้ามันจะเข้าหลัก มันจะเข้าหลักอย่างนี้ มันจะภาวนามาอย่างนี้ไง แล้วถ้าปัญญาอบรมสมาธิมันก็นี่ไง เกิดเนกขัมมบารมีไง

นี่ข้อที่ ๓. ข้อที่ ๓. นี่สำคัญ ข้อที่ ๓. มันจะกลับไปสู่สังคมโบราณ สังคมดั้งเดิมไง สังคมที่เขาบอกว่า แล้วคนที่ผมรู้จักเขาก็ทำวิธีนี้ไง วิธีว่าง วาง แล้วมันสบาย

วิธีเดิมๆ เขาทำกันอยู่อย่างนี้ มันไม่มีพุทโธ ไม่ทำพุทโธ บอกพุทโธเป็นงานของกรรมกร เป็นงานของคนที่หาเช้ากินค่ำ ไอ้พวกเราพวกเศรษฐี ถ้านิพพานก็นิพพานสำเร็จรูป สั่งเอาได้เลย คิดกันอย่างนั้น พูดกันอย่างนั้นน่ะ แล้วสังคมก็เชื่อ แต่ถ้าเราพุทโธๆ “ไอ้พวกนี้พวกนักปฏิบัติกรรมกร พวกปฏิบัติขี้ทุกข์” มันไม่ยอมทำ

ไม่ยอมทำก็ไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้ทาง พวกเราต่างหากเป็นผู้ที่ปฏิบัติ ใครปฏิบัติขึ้นมาจะได้อย่างนั้น

นี่ไง ย้อนกลับไป ถ้าพุทโธๆ ไม่ให้พุทโธหาย พุทโธมันแสงสว่างขนาดไหน เราก็กลับมาพุทโธ ไม่ยอมทิ้งพุทโธ แล้วเวลามันจะเกิดขึ้นมา เกิดที่ร่างกายฉีกขาด เกิดที่ว่าเนกขัมมบารมี นี่มันเกิดขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาจากจิตที่มีพื้นฐาน จิตที่สงบ จิตที่มีกรรมฐาน

มีกรรมฐานเพราะอะไร เพราะกำหนดพุทโธๆ จนจิตมันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน มีหลักมีเกณฑ์ของมันก็เป็นประโยชน์กับมัน แล้วเราก็เอาตรงนี้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ ก็กลับไปที่พุทโธๆ ไม่ทิ้ง พุทโธไม่ทิ้ง พุทโธไปเรื่อยๆ

แล้วเดี๋ยวที่มันเกิด ที่มันเห็น ที่มันเห็น ที่มันรู้มันเห็นขึ้นมา เห็นที่กายฉีกขาด เห็นเนกขัมมบารมี เห็นกายก็เห็นสติปัฏฐาน ๔ เห็นเนกขัมมบารมีก็ธรรม ธรรมารมณ์ อารมณ์ที่เกิดจากการกระทำ ถ้ามันมีสมาธิ มันมีหลักมีเกณฑ์ มันจะเข้าสู่อย่างนี้ นี่ไง ศีล สมาธิ ปัญญา

ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ๘ ไง นี่เป็นสิ่งที่สัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิคือความเห็นที่ถูกต้องดีงาม ถูกต้องดีงามจากการกระทำ ถูกต้องดีงามจากผลงานที่การกระทำขึ้นมา ไม่ใช่ถูกต้องดีงามของกิเลสไง

ถ้าถูกต้องดีงามของกิเลสก็เข้าข้อที่ ๓. ไง “ช่วงที่ทำงานหนักมาก ก่อนที่ทำกรรมฐาน ผมคลายเครียด”

คลายเครียด ภาวนาคลายเครียด เห็นไหม นี่มันภาวนาแบบสมัครเล่นน่ะ ภาวนาแบบเรื่องสุขภาพจิต นี่ไง ที่ว่า “คลายเครียดก่อน ก็มีความรู้สึกตัว ไม่ไปยุ่งกับความคิดไง ปล่อยวางอารมณ์ง่ายๆ เหมือนดูว่ามันวาง แล้วดูว่ามันว่างอย่างที่ไม่มีเหตุผล”

คำถามเขาเขียนว่า “อย่างที่ไม่มีเหตุผล” อย่างที่ไม่มีเหตุผลนะ มันก็เป็นเรื่องการหลอกไง ถ้าเอ็งตั้งใจ เอ็งจงใจ เอ็งมีการกระทำขึ้นไป มันก็เป็นกิจจะลักษณะ มันก็จะเป็นหน้าที่การงานไง

แต่ถ้ามันว่างๆ ปล่อยวาง ว่างแล้วโดยที่ไม่มีเหตุผล ไม่ต้องทำอะไรเลย มันก็เป็นสำมะเลเทเมาใช่ไหม พอสำมะเลเทเมาแล้วมันก็สุขมันก็สบายใช่ไหม พอสุขสบายก็บอก “นี่ไง เป็นการปฏิบัติที่เรียบง่าย เป็นการปฏิบัติที่สะดวกสบายไง ไม่เหมือนกับพวกไอ้กรรมกรนั่น ไอ้พวกกรรมกรพุทโธๆๆ ไอ้พวกเดินจงกรมไอ้พวกกรรมกร ไอ้พวกเราพวกปัญญาชน”

ส่วนใหญ่โลกเป็นอย่างนี้ แล้วโลกเป็นอย่างนี้ เขาเป็นกันอยู่อย่างนี้ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ปล่อยเขาไป

เพียงแต่เวลาเขาถามเขาบอกว่าเขาทำอย่างของเขา ดูมันว่าง ดูมันวางไม่มีเหตุผล จิตมันก็ไปอยู่ที่อายตนะ ๕ เว้นประตูใจ มโนทวาร เลยเอะใจขึ้นมาว่ากรรมฐานต้องย้อนกลับหดเข้ามาที่จิต

นี่ไง มันพ้นจากจิตคือพ้นจากกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน สัมมาสมาธิไง

ภวาสวะคือภพ คนที่ไม่เป็นบอกว่า “สมาธิคือตัวตนนะ”

ก็มันตัวตน ก็มันเป็นภพ ก็เป็นเรา ทำไมไม่เป็นตัวตนล่ะ มึงเป็นเทวดามาจากไหนที่ไม่มีตัวตน เขาก็ต้องค้นหาตัวตนให้เจอ ถ้าไม่ไปแก้ไขที่ตัวตนจะไปแก้ไขที่ไหน ถ้าไม่ไปแก้ไขที่จิตจะไปแก้ไขตรงไหนล่ะ

จิตนี้เป็นหนี้ จิตปฏิสนธิจิต ถ้ามันแก้จิตไม่ได้ จิตก็เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ถ้ามันแก้ที่จิตได้ พอมันสะอาดบริสุทธิ์แล้วมันก็ไม่มีทางไปและทางมา ก็ต้องไปแก้กันที่นั่น ก็ต้องเข้าไปแก้กันที่จิตนั้นไง แล้วจิตมันสงบมันก็เข้ามา ถ้าจิตสงบไม่ได้มันก็เข้าถึงจิตไม่ได้

พอจิตสงบแล้ว สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ สมาธิแก้กิเลสไม่ได้เพราะสมาธิเป็นตัวตน แก้กิเลสไม่ได้ แต่ถ้าสมาธิมันมีปัญญาขึ้นมามันก็เป็นประโยชน์ไง ถ้าเป็นประโยชน์ขึ้นมา ปัญญาของใครล่ะ

ถ้าปัญญาในพระพุทธศาสนาก็วิปัสสนา วิปัสสนาคือปัญญาการรู้แจ้ง รู้แจ้งอย่างที่เอ็งเห็นอสุภะนั่นน่ะ รู้แจ้งไหม เห็นไส้ออกมาเป็นกอง รู้แจ้งไหม เห็นร่างกายนี้ฉีกขาด ไส้เป็นกองเลยน่ะ รู้แจ้งไหม

นี่ก็เหมือนกัน นี่แค่เห็นนะ พอเห็นแล้ว ดูสิ เวลาเห็นแล้วพิจารณานะ ถ้าจิตมันนั่งสมาธิอยู่นะ ถ้าจิตเห็นอย่างนั้นนะ แล้วจิตที่มีสตินะ ให้มันแปรสภาพนะ สิ่งที่มันเป็นเลือดเป็นน้ำหนองมันจะเน่าเฟะ มันจะละลายออกไป มันจะผุพองกลายเป็นธาตุเดิมของมัน น้ำระเหยไป มันจะมีขั้นตอนของมันไปนะ ขั้นตอนที่มันเป็นไตรลักษณะไง

ที่ว่าเป็นไตรลักษณ์ๆ พระกรรมฐาน พระไตรลักษณ์ เวลาสวดมนต์สวดพรอยากมีพระกรรมฐานกลางหัวใจ อยากมีพระไตรลักษณะ ผู้เห็นไตรลักษณ์ เห็นอนัตตา

นี่มันเข้าใจหมดน่ะ คำว่า “อนัตตา” ในพระพุทธศาสนา อยู่ในบาลี อยู่ในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระไตรลักษณ์ ความเป็นอนัตตา พอจิตมันเป็นแล้วมันรู้หมดน่ะ มันเข้าใจหมดน่ะ มันเข้าใจถึงที่มาที่ไป ท่ามกลางที่มันเป็นอย่างไรเลย ถ้ามันเป็นอย่างนั้นแล้วก็จบไง แต่ถ้ามันไม่เป็นมันก็งงอยู่อย่างนี้ นี่ข้อที่ ๑.

ข้อที่ ๒. อันนี้เป็นพุทโธแล้วได้ดี

เราจะบอกว่า พุทโธแล้วได้ดี แต่ถ้าเวลาจะเอาสั้น มันแบบว่ามันย้อนศร เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนขึ้นจากโคนต้นขึ้นสู่ปลาย ตั้งแต่พุทโธๆ ตั้งแต่โคนต้น ขึ้นต้นไม้ จนถึงบนต้นไม้ เก็บดอกเก็บผลบนต้นไม้นั้นแล้วกลับลงมา แต่ถ้าพิจารณาของเขานะ เขาจะกระโดดขึ้นไปบนยอดไม้ ไปเก็บแล้วกระโดดลงไง ไม่ต้องปีนต้นขึ้นไปไง

นี่ปีนต้นไม้ เวลาปีนต้นไม้ขึ้นไป เรากำหนดพุทโธของเราขึ้นไป ใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเราขึ้นไป เราพิจารณาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป มันก็เป็นประโยชน์กับเรา แล้วถ้าเป็นจริง พุทโธได้ดี

ถ้าทิ้งพุทโธนะ เราจะบอกว่า ภาวนาโดยกิเลสไง ให้กิเลสมันหลอก โดยที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วครูบาอาจารย์ของเราท่านปฏิบัติแล้วเป็นครูบาอาจารย์เป็นที่มั่นคง เป็นที่น่าเชื่อถือศรัทธา เราเห็นแล้วเราก็อยากจะทำตาม

แล้วเราก็ฟังของเรามา แล้วเราก็มาตัดตอนดัดแปลงของเราเองไง ต้องทำอย่างนั้น ทำโดยปรัชญา โดยตรรกะ คิดเองเออเอง แล้วคนที่มันด้อยวุฒิภาวะคิดเองเออเองแล้วก็สำมะเลเทเมาคิดว่ามันใช่ เราคิดว่ามันใช่

ฉะนั้น เวลาคิดว่ามันใช่ เวลาจิตมันลง เวลาจิตมันลง มันเข้าสู่สัญญาอารมณ์ เข้าสู่ต่างๆ มันเป็นของมันไป มันเป็นปัญญาโลกๆ ไง

ดูสิ ดูฌานสมาบัติสิ ฌานสมาบัติมันไม่ใช่อริยสัจ ถ้าอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี่เข้าสู่อริยสัจ มรรค ๘ เห็นชอบ งานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ แล้วที่มันทำอยู่มันชอบธรรมหรือไม่

มันชอบธรรมโดยกิเลสไง ชอบธรรมโดยสังคมหมู่มากไง ชอบธรรมโดยปฏิบัติพอเป็นพิธีไง แต่มันไม่ชอบธรรมโดยธรรม ไม่ชอบธรรมโดยครูบาอาจารย์ของเราไง

เวลาครูบาอาจารย์เรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เราท่านประพฤติปฏิบัติมา ท่านทำความจริงของท่านขึ้นมา นี่เป็นประโยชน์

ฉะนั้น เราถึงบอกว่า พุทโธแล้วได้ดี ถ้าไม่พุทโธแล้วมันก็ไปสู่สำมะเลเทเมา คำว่า “พุทโธได้ดี”

เพียงแต่ว่า คำถามเวลาเขาเขียนมาถามถึงการภาวนา เราตอบเขาชัดเจนหมดนะ แต่วันนี้พอตอบอย่างนี้ไอ้คนฟังคงไม่รู้เรื่อง “เอ๊ะ! เมื่อก่อนหลวงพ่อตอบเข้าใจหมดเลย แต่วันนี้เวลาถาม หลวงพ่อพูดอะไรไม่รู้เรื่องเลย ทำไมวันนี้หลวงพ่อตอบไม่รู้เรื่องเลย”

ไม่รู้เรื่องอะไร ก็ไม่รู้เรื่องธรรมไง เพราะอะไร เพราะไอ้ที่ข้อ ๑. ข้อ ๒. มันเข้า มันเข้าสู่อริยสัจ เข้าสู่สัจจะนี่ไง เห็นกายฉีกขาด

เห็นอย่างนี้บอก “อ้าว! ก็ไม่ได้ภาวนา มันเห็นได้อย่างไรล่ะ”

มันเห็น ก็เอ็งพุทโธมาตั้งแต่ต้นไง พุทโธมาตั้งแต่ต้น แล้วพอเอ็งระลึกถึงเพศตรงข้าม นั่นแหละมันสะกิด

เวลาหลวงตาท่านพูดไง เวลาวัวมันอยู่ในคอกใช่ไหม ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครเปิดคอกก่อน ไอ้วัวที่ปากคอกออกก่อน

นี่ก็เหมือนกัน พุทโธๆๆ จนจิตมันสมบูรณ์ไง เวลาสะกิดปั๊บ มันเพื้อ! เลย นี่เวลาธรรมมันเป็น เป็นอย่างนี้

นี่เวลาอย่างนี้ไม่เข้าใจ เวลาหลอกกันไปหลอกกันมาล่ะเข้าใจ เวลาถามหลอกๆ เวลาตอบหลอกๆ “แหม! หลวงพ่อตอบดี๊ดี” เวลาถามจริงๆ ตอบจริงๆ ไม่รู้เรื่อง “เอ๊ะ! หลวงพ่อพูดเรื่องอะไร ไม่รู้เรื่องเลยเว้ย”

แต่ถ้าถามหลอกๆ ตอบหลอกๆ นะ แหม! ผู้ชนะสิบทิศไง นิยายธรรมะฟังแล้ว แหม! ชื่นใจเชียว พอตอบจริงๆ ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้เรื่องเพราะอะไร เพราะมันเข้าสู่อริยสัจ เข้าสู่สัจจะความจริง

ข้อ ๑. ข้อ ๒. นี่ใช่ นี้ข้อ ๓. มันแบบว่ามันเป็นปัญหาสังคมที่ว่าความว่าง เขาเวิ้งว้างเขาวางของเขา ไอ้นั่นเขาบอกว่าเขาก็ทำอย่างนี้เหมือนกันแต่มันไม่มีเหตุผล แล้วคนที่รู้จักก็ทำกันแบบนี้ แล้วสังคมก็ทำกันแบบนี้เยอะแยะ เขาบอกว่าเยอะแยะ

ก็โลกเป็นอย่างนี้ คนโง่มาก คนฉลาดมากไง ถ้าคนโง่ๆ ก็เป็นเหยื่ออย่างนั้นน่ะ ไปปฏิบัติกันอย่างนั้นน่ะ แต่คนฉลาดนะ กว่าจะปฏิบัติได้เกือบเป็นเกือบตาย แล้วพอปฏิบัติได้แล้ว

“วันนี้หลวงพ่อตอบไม่รู้เรื่องเลย”

เวลาจริงๆ แล้วไม่รู้เรื่องหรอก มันจะรู้เรื่องต่อเมื่อจิตมันเป็น จิตมันเป็น จิตมันชัดเจนขึ้นมา นี่ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก กังวานกลางหัวใจเลย กังวานขึ้นกลางหัวใจ รู้กลางหัวใจของตน นั่นล่ะมันถึงจะเป็นความจริง ถ้าความจริง เราถึงบอกว่า พุทโธได้ดี

ไม่พุทโธแล้วมันก็จะไปว่างวางอย่างเขานั่นแหละ แล้วก็พอเป็นพิธีกรรม แต่ปฏิบัติกว่าจะเข้าสู่สัจธรรมได้นี่ทำมานาน เพราะว่าถามมาเยอะ แล้ววันนี้ถามมา พอเห็นคำถามมันแบบว่ามันสะเทือนใจเรา สะเทือนใจเราว่า ตั้งแต่เอ็งถามมานี่ ถามหลอกๆ ก็ตอบหลอกๆ วันนี้จริงๆ มา ตอบจริงๆ เอ็งไม่รู้ว่าจริงหรือหลอก เอวัง