ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ในสมาธิ

๑o ก.ย. ๒๕๖o

ในสมาธิ

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๐

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี


ถาม : เรื่อง “ความคิดในสมาธิ”

ขอเมตตาหลวงพ่ออธิบายครับ

๑. ขณะทำสมาธิได้ความสงบแล้ว ต่อมามีความคิดผุดขึ้น และเราเข้าไปยุ่งกับความคิดนั้น เป็นเรื่องธรรม เป็นเรื่องคำสอนที่เราได้ฟังจากแหล่งต่างๆ เราก็คิดอธิบายไปเรื่อยๆ แต่ถ้ามีความคิดที่ไม่ดี เป็นอกุศล สติมันจะเกิด เราจะตัดได้ครับ ผมมีปัญหากับความคิดที่เป็นธรรมะนี้มาก ไม่แน่ใจว่าเป็นวิตกหรือไม่ อยากจะตัดความคิดนี้ออกจากสมอง มันมากวน ขอวิธีแนวทางปฏิบัติครับ

๒. ธัมมวิจยะต่างจากความฟุ้งซ่านอย่างไร

๓. ผมเข้าใจว่าการคิดที่เราเข้าไปมีส่วนได้เสียคือต้นเหตุแห่งทุกข์ ผมจึงพยายามเตือนตัวเองว่าอย่าคิด แต่การเริ่มทำสมาธิประจำวัน ผมจะคิดนำ มันสุข เพราะมันได้สุขจริงๆ เป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่ เพราะเป็นการน้อมซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นสาเหตุแห่งทุกข์

ตอบ : นี่คือคำถามเนาะ คำถามนี้กระชับเลย เพราะว่ามันเหมือนเมื่อวานนี้ คือคนถามเขาถามมาบ่อยๆ แล้วถามมาบ่อยๆ แล้ว สิ่งที่ตอบไปเมื่อวานนี้ เมื่อวานนี้ตอบไปเพราะมันมีเหตุมีผล มันมีสัจจะมีความจริง มีเหตุมีผลเพราะเขาบอกว่าเขาปฏิบัติมาอย่างนี้ แล้วสุดท้ายแล้วเขามาตัดสินใจเอาเองว่าทิ้งหมดเลย แล้วกลับไปพุทโธๆๆ แล้วผลที่มันเกิดมาอย่างที่เมื่อวานว่า “พุทโธแล้วได้ดี”

แต่วันนี้เขาบอกว่า สิ่งที่ทำสมาธิๆ แล้วความคิดมันผุดขึ้น แล้วเขาไปยุ่งกับความคิด อยู่กับความคิด

ไอ้ความคิดส่วนความคิดนะ แต่ถ้ามันแบบว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ คำว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” มันพุทโธไม่ได้ บางคนพุทโธไม่ได้ พุทโธแล้วมันอึดอัด

พุทโธแล้ว มันอยู่ที่วาสนา อย่างที่ว่าจริตนิสัย ถ้าจริตนิสัยมันไม่ได้สร้างสิ่งนี้มา พอมันไปทำ ส่วนใหญ่แล้วปัญญาชน พุทธจริต พุทธจริตส่วนใหญ่พุทโธไม่ได้ ผู้ที่พุทโธได้ส่วนใหญ่เป็นสัทธาจริต พวกสัทธาจริตจะมีศรัทธาความเชื่อ มีความเชื่อมั่น มีความเชื่อมั่นแล้วทำสิ่งใดทำได้

แต่ถ้าพวกพุทธจริตคือพวกที่มีปัญญา อย่างเช่นปัญญาชนเราบอกว่า พุทโธมันไม่มีเหตุผล พุทโธมันกำปั้นทุบดิน พุทโธมันคัดค้าน แต่ถ้าใช้ความคิดนี่ดี

แต่ความคิดถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิ ความคิดต้องมีสติ ถ้าความคิดมีสติ คำว่า “ความคิดมีสติกับไม่มีสติ” ความคิดที่มีสติ มีสติระลึกว่าเราคิดอะไร

เราคิดอะไร เรานึกอะไร เราทำอะไร มีสติพร้อมกับความคิดแล้วปล่อยให้ความคิดมันคิดไป เพราะความคิดมันคิด มันทำงานของมัน มันทำงานแต่มีสติควบคุม ควบคุมไปๆ พอสติมันแก่กล้าขึ้น สติมันดีขึ้น ไอ้ความคิดนี้มันจะเบาบางลง เบาบางลงตรงที่ว่ามันมีเหตุมีผลไง

มีเหตุมีผลว่า เออ! มึงน่ะบ้า เพราะมึงคิดแบบคนบ้าไง มึงบ้าอยู่เรื่อยแหละ พอมันได้สติ มันหยุดเลย หยุดนี่แหละ นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามีสตินะ ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธินี่ใช้ได้ แต่ถ้ามันคิดแบบมีสติ ปัญญาอบรมสมาธิ

คิดแบบโลก พอคิดแล้วเราคิดไง พอเราคิด เรามีรสมีชาติไง คิดเรื่องโกรธก็โกรธหัวทิ่มหัวตำเลย คิดเรื่องรักก็รักจนหมดเนื้อหมดตัวเลย คิดแล้วมันก็คิดไป คืออารมณ์กับเราเป็นอันเดียวกันไง อารมณ์กับเราเป็นอันเดียวกัน นี่คิดแบบโลก

แต่ถ้าปัญญาอบรมสมาธิมันก็คิดนี่แหละ คิดแบบโลกๆ นี่แหละ แต่มีสติ รักเขาเรื่องอะไร ไปรักกองขี้มันมีประโยชน์อะไร ว่าอย่างนั้นเลยนะ ไปรักกองขี้ เพราะร่างกายมันมีแต่ขี้ ถ้าไปรักกองขี้มันไม่เป็นประโยชน์ เห็นไหม ถ้ามันมีความคิดแบบนี้ ถ้ามันมีสติปัญญาตามความคิดไปมันจะเท่าทัน นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ

แต่ถ้าเป็นทางโลก เราคิดแล้วพอใจ เรารักก็รักสุดๆ แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เอ็งจะไปรักกองขี้หรือ ขี้เหงื่อ ขี้ไคล ขี้ทั้งนั้นน่ะ มีสติปัญญามันก็หยุด มันก็หยุด นี่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธินะ

เราจะบอกว่า สิ่งที่เขาบอกว่า “๑. ขณะที่ทำสมาธิ ขณะที่ทำสมาธิได้ความสงบแล้ว ต่อมาก็มีความคิดผุดขึ้น”

ไอ้ตรงนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ถ้าพูดถึงเวลาทำสมาธิแล้ว ทำสมาธิแบบไหน สมาธิแบบไหน สมาธิแบบว่าเราคิดว่าเราทำสมาธิ เราคิดว่าทำสมาธิคือไม่ได้ทำเลย เราคิดว่าทำสมาธิ นี่กิเลสมันหลอก

เราทำสมาธิไง เรากำหนดนู่นกำหนดนี่ กำหนดแล้วแต่เราพอใจไง นี่คือทำสมาธิหรือ นี่อ้าง กิเลสอ้างเล่ห์ ธรรมะบังเงา เวลานักปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นอย่างนี้ คิดว่าตัวเองปฏิบัติๆ ปฏิบัติอะไร จมอยู่กับความคิดตัวเอง ปฏิบัติอะไร

นี่ก็เหมือนกัน บอกว่าทำสมาธิ ทำสมาธิแนวทางอะไร ถ้าทำสมาธิต้องกรรมฐาน ๔๐ ห้อง พุทโธต้องพุทโธชัดๆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ มรณานุสติ ทำอะไรต้องทำให้มันชัดเจน ถ้าชัดเจนอย่างนั้นน่ะมีคำบริกรรม

คำบริกรรม หมายความว่า จิตมันกำหนด มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ องค์ของสมาธิ มันต้องมีวิตก วิจาร คือเราทำ เราเป็นคนวิตกขึ้น เราเป็นคนคิดขึ้น พุทโธ เขียนพุทโธแล้วแขวนไว้ กับเรา คนละเรื่องไม่เกี่ยวกัน

แต่ถ้าเราระลึกพุทโธ คำบริกรรม เราระลึกพุทโธ พุทโธที่เราแขวนไว้มันก็มาอยู่ที่หัวใจนี้ หัวใจนี้บริกรรมพุทโธๆๆ ต้องมีคำบริกรรมพุทโธ บริกรรมคือการกระทำ จิตมีการกระทำมันมีเหตุ มีเหตุขึ้นมาแล้ว ถ้ามันเป็นสมาธิขึ้นมามันก็จะเป็นสมาธิ แล้วถ้าเป็นสมาธิขึ้นมาแล้วสติมันอ่อนด้อย มันจะเป็นมิจฉาก็ได้ เป็นสัมมาก็ได้

เป็นมิจฉา หมายความว่า พอมันเป็นสมาธิ มันสงบแล้ว มันไปรู้ไปเห็นอะไรนั่นมันออกไปโดยขาดสติ แต่ถ้าเป็นสัมมา สัมมาคือสติสมบูรณ์ของมัน สมาธิแจ่มแจ้งชัดเจนของมัน จิตมันตั้งมั่น มันมีกำลังของมัน นี่คือสมาธิ

แต่เขาบอกว่า “ขณะที่ทำสมาธิแล้ว ได้ความสงบแล้ว ต่อมาความคิดมันผุดขึ้น”

ความคิดผุดขึ้น ถ้าความคิดมันผุดขึ้น ถ้าพุทโธๆ ถ้าความคิดผุดขึ้น ความคิดผุดขึ้นมา ความคิดมันเป็นคำๆ

เวลาหลวงปู่มั่น เวลาความคิดผุดขึ้นเป็นภาษาบาลี เวลาหลวงตาท่านบอก “ของเราเป็นภาษาไทย” เวลาความคิดมันผุดขึ้น มันผุดขึ้นในภาษาอะไร นั่นเป็นความรู้สึกอย่างไร นั่นน่ะธรรมเกิด ถ้าธรรมเกิดอย่างนั้นน่ะเราเอามาเป็นเครื่องเตือนใจได้

แต่บอกว่าความคิดมันผุดขึ้น ความคิดมันผุดขึ้น หรือว่าสิ่งที่ว่ามันเป็นไป แล้วเขาบอกว่าเขามีปัญหากับความคิดของเขา ถ้าความคิดเป็นธรรมะ เขาจะคิดของเขาเรื่อยไป มันมีความสุข แต่ถ้าบางทีมันเป็นอกุศลคือความคิดที่ไม่ดีไง ความคิดไม่ดี เขาบอกเขามีสติตัดเลย เขาบอกเขาตัดได้

ถ้าสติมันดี มันเท่าทัน มันก็ตัดได้ ถ้าสติมันไม่ดีนะ สติไม่ดีหมายความว่าคิดมันมีรสชาติ รสชาติเวลาคิดอะไรแล้ว คิดที่ผูกพัน มันติดพันมาก ติดพัน มันคิดไปจนเรื่องมันจบแล้วค่อยคิดได้ บางที ๓ วันนะ คิดเรื่องนี้ไปนะ พอผ่านไปอีก ๓ วัน อ๋อ! เมื่อ ๓ วันที่แล้วเราคิดไม่ดีเลย ๓ วันมันค่อยมีสติ ๓ วันมันค่อยคิดได้ว่าเราคิดเรื่องไม่ดี นี่ตัดได้หรือ

เวลาพูดนี่มันพูดได้ แต่เวลาเป็นจริง เป็นจริงหรือไม่เป็นจริงไง

นี่พูดถึงว่าเขาทำสมาธิ ทำสมาธิแบบไหน ทำสมาธิแล้วมันผุดขึ้น

ผุดขึ้นมันเป็นธรรมมันมาสอน ธรรมมันเกิด ถ้าธรรมเกิด ธรรมเกิดมันก็เกิดอยู่ที่จริตนิสัยของคน นี่พูดถึงว่าถ้าทำสมาธินะ ทำสมาธิมันต้องพุทโธ ธัมโม สังโฆ ต้องมีคำบริกรรม ไม่ก็อานาปานสติ ลมหายใจชัดๆ ลมหายใจชัดๆ หรือปัญญาอบรมสมาธิ เรารู้ว่ามันเป็นทำสมาธิ

สมาธิเป็นสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิ มรรคเกิดไม่ได้หรอก เขาเรียกโลกียปัญญา ปัญญาแบบสามัญสำนึก ปัญญาแบบโลกนี่ไง

แต่ถ้ามีสมาธิ มีสมาธิ จิตสงบแล้ว สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ แก้กิเลสไม่ได้เพราะว่ามันเป็นสมาธิ สมาธิทำให้จิตใจสดชื่น ทำให้จิตใจมีกำลัง แต่เวลาจะแก้กิเลสมันต้องแก้ด้วยปัญญา แต่ปัญญาถ้ามีสัมมาสมาธิ มันก็จะเข้าสู่มรรค

ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิ มันก็เป็นโลกียปัญญา มันเป็นปัญญาจากสมุทัย ปัญญาจากจินตนาการ ปัญญาจากความเห็นของเรา ไม่ใช่ปัญญาเป็นธรรม ปัญญาเป็นอริยสัจ ไม่ใช่ นี่พูดถึงในการปฏิบัตินะ นี่ข้อที่ ๑.

นี่ว่าข้อที่ ๒. มันจะเข้าสู่ข้อที่ ๒. สำคัญ “๒. ธัมมวิจยะต่างจากความฟุ้งซ่านอย่างไร”

นี่ไง ถ้าธัมมวิจยะ การวิจัยธรรม มันอยู่ในสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์มีอินทรีย์แก่กล้า มีสติมีปัญญา มีศรัทธา มีความเพียร มีธัมมวิจยะ มีการพิจารณาธรรม ถ้าการพิจารณาธรรม ถ้าพิจารณาธรรมมันต้องจิตเป็นสมาธิ

จิตเป็นสมาธิแล้ว ถ้าจิตเป็นสมาธิ เราบอกว่า ถ้าจิตเราเป็นสมาธิ ศีล สมาธิ ปัญญา เอาง่ายๆ เลย มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ถ้ามีสมาธิขึ้นมา เวลาเกิดปัญญาขึ้นมามันจะเข้าสู่สัมโพชฌงค์ มันจะเข้าสู่ธัมมวิจยะ มันจะเข้าสู่สัจธรรม นี่ใช้ปัญญาของเรา นี่ถ้ามันเป็นธรรมไง

เพราะเวลาสัมโพชฌงค์เป็นทางรื้อค้น เป็นมรรค เป็นฝั่งที่พิจารณาเพื่อความหลุดพ้นได้ มันต้องมีอินทรีย์แก่กล้า มีศรัทธาที่มั่นคง ศรัทธาที่แก่กล้า มีปัญญินทรีย์ คือมีปัญญา มีปัญญาต่างๆ มันเกิดจากอะไร มันเกิดจากสัมมาสมาธิ ถ้ามีสัมมาสมาธิมันจะเข้าตรงนี้

ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิ เขาบอก “ธัมมวิจยะกับความฟุ้งซ่านมันแตกต่างกันอย่างไร”

ความฟุ้งซ่าน ก็เราฟุ้งซ่านอยู่นี่ ความฟุ้งซ่าน ไม่ต้องมีอะไรมันก็ฟุ้งซ่าน คนไม่ตาย คนมีจิต คนมีจิต มีความรู้สึกนึกคิด คนมีความรู้สึกนึกคิด คนที่มีกิเลสหนา พอกิเลสหนามันก็ฟุ้งซ่านของมันไป มันก็คิดของมันไปตามกำลังของกิเลส กิเลสมีความคิดมากน้อยได้ขนาดไหนมันอยู่ที่สันดาน อยู่ที่สันดาน ดูสิ บ้าห้าร้อยจำพวกไง ไอ้บ้ารถเก่าก็รถเก่า ไอ้บ้านกเขาก็นกเขา ไอ้บ้าของเก่า บ้าห้าร้อยจำพวก

คำว่า “บ้าห้าร้อยจำพวก” หมายถึงว่าชอบ คำว่า “ชอบสิ่งใด” เวลามันชอบสิ่งใดมันก็คิดสิ่งนั้นไง นี่ความฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านจากสันดานเดิมของตนนั่นแหละ จากความคิดที่มันกระตุ้นขึ้นมาจากหัวใจนั่นแหละ แล้วมันก็คิดของมันไป นี่ความฟุ้งซ่าน

แล้วธัมมวิจยะมันต่างกับความฟุ้งซ่านอย่างไร

ธัมมวิจยะมันต่างกับความฟุ้งซ่าน เพราะว่าถ้าเป็นธรรมนะ คำว่า “เป็นธรรม” จิตมันต้องสงบก่อน พอจิตสงบแล้วเวลาใช้ปัญญาไปแล้ว เพราะจิตสงบมันก็ได้รสของสมาธิอยู่แล้ว รสของความสงบของใจ

เวลามันฟุ้งซ่าน เวลามันทุกข์มันยากนี่เรื่องหนึ่งนะ รสชาติอย่างหนึ่ง เวลาจิตสงบมันมีความสุขนี่รสชาติอย่างหนึ่ง แล้วถ้าเกิดธัมมวิจยะ มันเกิดปัญญา เกิดพิจารณา มันพิจารณาไปแล้ว โอ้โฮ! พอมันมีสมาธิ เวลาพิจารณาไปมันจะปล่อย พิจารณาไปแล้วมันแบบว่ามันคมกล้า ที่บอกว่ามันเป็นดาบเพชรเลย ปัญญาญาณ พิจารณาไปแล้วมันปล่อย มันปล่อยมันวางของมัน โอ้โฮ! รสชาติ

เขาบอกว่ามันต่างกันอย่างไร

อู้ฮู! เพราะคนภาวนาเป็นแล้ว มันต่างกันแบบ...ภาษาเรา ของจริงกับของปลอม แบงก์จริงกับแบงก์ปลอม ว่าอย่างนั้นเลย แบงก์ปลอมไม่มีใครเอา แบงก์จริงมีคุณค่ามาก แบงก์ปลอม แบงก์กงเต๊กนี่นะ คนจีนอพยพมาไง เขาสะสมเงินจะเอากลับไปใช้เมืองจีน แล้วเขาประกาศเลิกใช้ กลายเป็นเศษกระดาษ แบงก์ปลอม แบงก์จริงนี่ โอ้โฮ! มันใช้ได้ทั้งนั้นน่ะ

นี่ก็เหมือนกัน เราจะบอกว่ามันเป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกนะ มันเป็นความจริงขึ้นมากลางหัวใจ ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมากลางหัวใจ สิ่งนี้สำคัญมาก เวลาที่ปฏิบัตินะ คำว่า “สำคัญมาก” เพราะมันเป็นความจริงไง

ธัมมวิจยะกับความฟุ้งซ่านมันแตกต่างกันมหาศาลเลย ทีนี้มันแตกต่างกันมหาศาลแล้ว เราจะย้อนกลับมา ย้อนกลับมาจากพื้นฐานที่จะเข้าสู่ตรงนี้ไง

มันมีนะ ตอนนี้มันมีหลายคน เพราะอะไร เพราะว่าวิทยุเสียงธรรมของหลวงตาก็เพื่อเผยแผ่ธรรมใช่ไหม วัดอื่น สำนักอื่น ที่ปฏิบัติอื่นเขาก็มีวิทยุ เขาก็มีโทรทัศน์ของเขาเผยแผ่ธรรมของเขาเหมือนกัน

แล้วก็มีคนมาถามปัญหาตรงนี้ “หลวงพ่อ นั่งสมาธิหลับตากับนั่งสมาธิลืมตา นั่งสมาธิลืมตามันต้องดีกว่านะ เพราะเขาบอกว่านั่งสมาธิหลับตามันจะเป็นพวกเกจิอาจารย์ เป็นพวกอภิญญา นั่งหลับหูหลับตาแล้วโง่เง่าเต่าตุ่น ถ้าสมาธิลืมตานี่ แหม! ปัญญามันแจ่มแจ้ง เพราะมันลืมตา”

โอ้โฮ! เรานี่ขำ ขำจนฟันจะหัก ลืมตาหรือหลับตามันก็เป็นแค่ลูกตา แต่สมาธิมันอยู่ที่จิต มันไม่เกี่ยวกับลูกตา

เวลาคนที่ประพฤติปฏิบัติทำสมาธิเดินจงกรมอยู่ หลับตาหรือเปล่า แล้วสมาธิในทางจงกรมมันก็ลืมตา แต่เวลานั่งเขาก็หลับตา

แต่เขาบอกว่า “หลับตาเป็นพวกฤๅษีชีไพร หลับตาแล้วไม่มีปัญญา ต้องนั่งลืมตา”

โอ้โฮ! ถ้านั่งลืมตานะ ไอ้พวกออทิสติกมันก็ลืมตาเฉยเลยนะ กูไม่เห็นมันมีปัญญาตรงไหนเลย ลืมตากับหลับตามันเกี่ยวอะไรกับปัญญา

นี่ไง พูดถึงถ้ามีสมาธิๆ “ไอ้พวกทำสมาธิไอ้โง่เง่าเต่าตุ่น ไอ้พวกหลับตานั่นน่ะ พวกเราต้องลืมตา” แล้วเขาก็มาถามนะ เขาบอกว่า “สมาธิหลับตานี่โง่เง่าเต่าตุ่น ถ้าสมาธิลืมตาเขาบอกว่านั่นน่ะศีล สมาธิ ปัญญา เป็นปัญญาของพระพุทธศาสนา”

บอกไอ้นั่นน่ะไอ้โง่ เพราะว่าสมาธิเป็นสมาธิ สมาธิมันเกี่ยวอะไรกับตา สมาธิมันเกิดที่ลูกตาหรือ สมาธิมันเกิดที่ใจ

ถ้าสมาธิมันเกิดที่ใจ จะลืมตาหลับตา ไอ้พวกที่นั่งหลับตา เวลาเขาเดินจงกรมเขาก็ลืมตา แต่เวลานั่ง มันเป็นสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งสอน หลวงปู่มั่นท่านสอนให้หลับตาลงซะ ถ้าหลับตาลงแล้วมันไม่เห็นภาพ มันไม่เห็นสิ่งใดที่เข้ามาก่อกวน

พอหลับตาขึ้นมาแล้วนะ หลับตาแล้วมันก็มีภาพภายใน มันก็ตรึกขึ้นมา มันก็เป็นภายในไง แต่ภายในมันก็พอหลับตาแล้วน่ะ ยิ่งลืมตา หลับตามันยังคิดขนาดนั้น แล้วลืมตาจะคิดขนาดไหน ถ้าลืมตามันคิดแล้วมันจะเป็นสมาธิไหม

ไอ้คนที่ทำสมาธิไม่เป็นมันก็พูดอย่างนี้ “สมาธิหลับตา สมาธิลืมตา” ไอ้แค่นี้ก็เอามาเป็นจุดขายนะ แล้วจุดขายก็ออกไปเป็นสื่อ แล้วไอ้พวกที่ฟังๆ มามันก็มาถาม มีคนมาถามบ่อย “ไอ้พวกเราพวกสมาธิหลับตา”

หลับตามึงยังทำสมาธิไม่ได้เลย แล้วลืมตามึงจะทำได้หรือ

“อ้าว! ก็เขาไม่ได้ทำสมาธิ เขาใช้ปัญญา”

นี่ปัญญาอะไร ธัมมวิจยะ ปัญญาอย่างนั้นปัญญาอะไร เห็นว่าสอนปัญญาๆ มาทีไรก็เปิดตำราทันที หลวงตา หลวงปู่มั่นท่านไม่เคยเปิดตำราเลย หลวงปู่ลีไปถามปัญหาท่าน ท่านเคยค้นตำราไหม

คนที่เขาเป็นความจริง สาธุนะ ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา พระไตรปิฎกเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรากราบไหว้บูชากันอยู่นี่ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันจะรู้จริงกลางหัวใจเรานี่ ถ้าคนที่รู้จริงแล้ว จะมาถามปัญหาแล้ว เขาถามปัญหาได้ที่นี่ไง

เวลาเราไปหาหมอ มีหมอคนไหนบ้างเขาเอาหนังสือมาเปิด เอาตำรามาเปิดรักษาคนไข้ หมอเขารักษาด้วยประสบการณ์ของเขา ไม่มีหมอคนไหนหรอกเวลาคนไข้มานะ นอนก่อนนะ ต้องเปิดตำราก่อน เอ๊! โรคนี้มันเป็นโรคอะไร

ไอ้นี่เหมือนกัน สมาธิลืมตา เวลาพูดเห็นเปิดพระไตรปิฎก พูดแต่ตามตำราน่ะ พูดแต่ตามตำราแสดงว่าไม่มีความรู้จริงอยู่เลยหรือ ถ้ามีความรู้จริงอยู่เลย ทำไมสมาธิหลับตาลืมตาอีก สมาธิจะหลับตาจะลืมตามันมีปัญญาขึ้นมาในหัวใจอันนั้น อันนั้นน่ะสำคัญ

นี่พูดถึงไง พูดถึงว่า เรื่องทำสมาธิแล้วติติงกันมาก “ไอ้พวกพุทโธ ไอ้พวกหลับหูหลับตาไม่มีการศึกษา ไม่มีปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นไม่ได้”

เกิดขึ้นไม่ได้ ครูบาอาจารย์ของเราเป็นความจริง แล้วเวลาธรรม ธรรมกับโลกนะ ธรรมกับโลก เหรียญมีสองด้าน ของที่อยู่ด้วยกันแต่ไม่เหมือนกัน อันนี้แหละที่ทำให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงกับถอดใจ ถอดใจเลยว่า “จะสอนใครได้หนอ จะสอนใครได้หนอ”

คำพูดคำเดียวกัน ทุกข์เหมือนกัน แต่ทุกข์ของคนมันแตกต่างหลากหลายมาก แล้วทุกข์ในโลกกับทุกข์ในวัฏฏะ ทุกข์ในโลกคือทุกข์ทำมาหากิน ทุกข์เพราะความเจ็บช้ำน้ำใจ ทุกข์ในวัฏฏะคือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้วการเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นทุกข์อริยสัจเลย ชาติปิ ทุกฺขา ชาติการเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง แล้วเวลาไปละไปถอนกันที่นั่นมันจะหลับตาลืมตาอีกไหม คนที่เขาไปถอนที่นั่น ไอ้เรื่องนี้ ไอ้เรื่องที่ว่า สมาธิหลับตา สมาธิลืมตา

โยมมาถาม มันก็ฟังแล้วก็ขำๆ นะ แต่มันสะท้อนใจถึงเจ้าลัทธินั้นน่ะ ไอ้ที่ว่าสมาธิลืมตา เออ! มันคิดอย่างนั้นนะ

เวลาหลวงตาท่านเทศน์ถึงเทศน์ธัมมจักฯ นะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักฯ จกฺขุํ อุทปาทิ ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ

จักขุวิญญาณได้เกิดแล้ว จกฺขุํ อุทปาทิ ตาของใจได้เปิดแล้ว ตา จักขุทิพย์ จักขุวิญญาณ ปัญญาวิญญาณ นี่สิ่งที่เกิดขึ้น เกิดญาณ เกิดทัสสนะ เกิดความเห็น นั่นปัญญามันอยู่ตรงนั้น เวลาเกิดอย่างนั้นน่ะมันมหัศจรรย์

ไม่ใช่ว่าสมาธิหลับตา สมาธิลืมตา แล้วก็เอามาเป็นจุดขาย แล้วไอ้พวกเหยื่อ จะบอกประชาชนเป็นเหยื่อไง เพราะคนถามนี่พวกเจ๊กแป๊ะทั้งนั้นน่ะมาถาม “สมาธิลืมตาเขาว่าดีกว่าสมาธิหลับตา”

โอ้โฮ! ฟังแล้ว...

จะย้อนกลับมา “ธัมมวิจยะกับความฟุ้งซ่าน”

ถ้าธัมมวิจยะ ถ้าเกิดสมาธิ เกิดความจริง มันมีรสมีชาติ เวลาพิจารณาไปมันปล่อยมันวาง โอ้โฮ! สุขมาก พอสุขมากนะ คนเรานะ คนเรานอนไม่หลับ ทุกข์จะเป็นจะตาย แล้วมันปล่อยวางหมดเลย มันจะแตกต่างกันอย่างไร

หาบแต่ความทุกข์ความยาก แล้วมันสลัดออกหมดเลย เราจะโล่งโถง เราจะมีความอบอุ่น เราจะมีความสุขอย่างไร แค่นี้ก็ไม่ต้องถามแล้ว แต่ถ้ายังถามอยู่นี่ เราปฏิบัติใหม่ก็ต้องอย่างนี้

ฉะนั้นบอกว่า “ธัมมวิจยะกับความฟุ้งซ่านแตกต่างกันอย่างไร”

ฟ้ากับดิน จะบอกว่าฟ้ากับเหว คนละภพคนละชาติเลยล่ะ แต่อยู่ในใจเดียวกัน เดี๋ยวก็ฟุ้งซ่าน เดี๋ยวก็มีปัญญา เวลามีปัญญาขึ้นมาก็ดีหน่อยหนึ่ง เวลาฟุ้งซ่านก็มีแต่ความทุกข์ความยาก

นี่มันต่างกันอย่างไร

ต่างกัน มันมาจากว่า สติ สมาธิ ปัญญา แต่ถ้ามันฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านโดยความหลงระเริงไปมันก็เป็นความฟุ้งซ่าน มันเป็นความฟุ้งซ่านอยู่แล้ว นี่พูดถึงธัมมวิจยะ ไอ้นี่มันพูดถึงในสัมโพชฌงค์ มันเกิดจากสัมมาสมาธิก่อน

เราจะบอกว่า ตั้งแต่คำถามเมื่อวานนี้กับคำถามนี้แก้กันด้วยกำหนดพุทโธเฉยๆ หายหมด พุทโธชัดๆ นี่แก้ได้หมดเลย พุทโธๆๆ พุทโธมันชัดๆ มันจะกลับสู่สัมมาสมาธิ ถ้าสู่สัมมาสมาธิแล้วมันจะปล่อยวางหมด

ที่มันจะเข้าสู่สมาธิไม่ได้คือว่ามันเห็นนิมิต มันติดนิมิต มันก็ส่งออกใช่ไหม ถ้าพุทโธชัดๆ มันอยู่ที่คำบริกรรม บริกรรมไว้นี่หายหมด ไอ้พวกปัญหานี้หายหมดเลย แล้วหายหมดแล้วนะ พอหายหมดแล้ว พอมันสงบแล้วสังเกตเอา

สังเกตว่า จิตเห็นอาการของจิตมันจะเสวย คือมันจะออกรับรู้น่ะ โดยธรรมชาติของมันต้องออกรู้โดยธรรมชาติของมัน ทีนี้ออกรู้โดยธรรมชาติของมัน มันก็ทำงานโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว แต่เราไม่มีสติปัญญาสามารถรู้เท่าทันได้ พอมีสัมมาสมาธิ พอสัมมาสมาธิตั้งมั่นแล้วเดี๋ยวจะเห็น ถ้ามีปัญญานะ พอเห็นขึ้นมาแล้ว ไอ้ที่ว่าหลับตาลืมตา ไอ้ที่เขาว่าน่ะจบหมด

ไอ้นั่นมันเป็นอุปาทานของคนทั้งนั้นเลย ไม่มีความจริงแม้แต่นิดเดียวเลย มันเป็นเรื่องจริตนิสัยทั้งนั้นเลย แล้วพอเป็นความจริงมันเข้าสู่อริยสัจ ถ้าเข้าสู่อริยสัจ จบเลย

เพราะว่านี่ไง จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ พระอรหันต์ทุกองค์ พระอริยเจ้าทุกๆ พระองค์ต้องกลั่นออกมาจากอริยสัจ จิตนี้ต้องกลั่นออกมาจากอริยสัจ แล้วพอจิตมันได้กลั่นออกมาจากอริยสัจ ทำไมมันจะไม่เข้าใจเรื่องอริยสัจ ก็จิตมันกลั่นออกมาจากอริยสัจจะไม่รู้เรื่องอริยสัจได้อย่างไร

แต่นี่มันพูดกัน อู้ฮู! น้ำไหลไฟดับ ลืมตาหลับตา มันไม่เข้าสู่อริยสัจเลย มันไม่เกี่ยวอะไรกับอริยสัจเลย มันเป็นเรื่องสามัญสำนึกของมนุษย์ มันเป็นเรื่องอิริยาบถของมนุษย์ ไม่เกี่ยวอะไรกับอริยสัจ แล้วไปสอนอะไรกันน่ะ มันไกลมาก มันห่างไกลจากอริยสัจมหาศาลเลย

ถ้ามันเอาจริง มันต้องเอาจริงเข้าสู่อริยสัจอันนี้มันถึงเป็นความจริง

นี่พูดถึงว่า “ธัมมวิจยะต่างกับความฟุ้งซ่านอย่างใด”

เพราะมันมีคนมาถามดักปัญหานี้ไว้เยอะไง เรื่องลืมตาหลับตา เรื่องการพิจารณา พอคำที่ถามมามันก็เลยผสมโรงกันไปหมดเลย จบ

“๓. ผมเข้าใจว่าการคิดที่เราเข้าไปมีส่วนได้เสียคือต้นเหตุแห่งทุกข์ ผมจึงพยายามเตือนตัวเองว่าอย่าคิด แต่การเริ่มทำสมาธิประจำวัน ผมจะคิดว่ามันสุข เพราะมันได้สุขจริงๆ เป็นส่วนที่ควรทำหรือไม่ มันเป็นการน้อมที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นสาเหตุแห่งทุกข์”

นี่ไง ต้นเหตุแห่งทุกข์ ไอ้นั่นก็ต้นเหตุแห่งทุกข์ ชาติปิ ทุกฺขา ต้นเหตุแห่งทุกข์ การเกิดเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์

แต่ถ้าเรากำหนดพุทโธของเรา เราพุทโธชัดๆ ไปเลย ถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ใช้ความคิดๆ ความคิดก็ส่วนความคิด ถ้ามันมีสมาธิ ความคิดนั้นก็จะเป็นประโยชน์ ถ้าไม่มีสมาธิ มันต้องมีสติให้สมบูรณ์ขึ้นมา ทำปัญญาอบรมสมาธิ

ฉะนั้น เขาว่ามันเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์

ต้นเหตุแห่งทุกข์ เวลาทำสมาธิแล้วถ้าไม่ใช้ปัญญา การใช้ปัญญาก็เป็นความคิด แต่ความคิดที่มีสมาธิแล้วมันก็จะเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเป็นศีล สมาธิ ปัญญาก็เป็นมรรค เป็นมรรค สิ่งที่เป็นมรรคที่เข้าไปพิจารณา นั่นเป็นการปฏิบัติ

แต่ถ้ามันไม่มีสมาธิมันก็เป็นความฟุ้งซ่าน ถ้าความฟุ้งซ่าน เรากลับมาพุทโธดีกว่า เรากลับมาพุทโธเลย ถ้ากลับมาพุทโธ เอาให้จริงๆ จังๆ ขึ้นมา มันก็จะเป็นความจริงๆ จังๆ ขึ้นมา

เอาจริงๆ ปฏิบัติจริงๆ พุทโธจริงๆ อยู่กับพุทโธๆๆ ชัดๆ ไอ้พวกที่ว่าสงสัยๆ มันจะเบาบางลง อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธไม่เสีย ถ้าอยู่กับอย่างอื่นน่ะเสีย นี่พูดถึงนะ พูดถึงว่าถ้าเสีย เสียเพราะตัวเรานั่นแหละ เสียเพราะความคิดของเรา จบ

ถาม : เรื่อง “ขอความกรุณาหลวงพ่อช่วยตอบด้วย”

กราบนมัสการพ่อแม่ครูอาจารย์ครับ กระผมเป็นโยมธรรมดา เดิมเคยโลดโผนชอบศึกษาธรรมะและอวดดีถือตน เพราะเป็นคนมีบุคลิกชอบการจดจำ ไม่ว่าจะได้ฟังหรือสิ่งใดที่ได้รับรู้มาทั้งดีไม่ดีก็จะสามารถนำสิ่งที่จำได้มาเล่า แต่ไม่ใช่เพื่ออวดภูมิ แต่จะพูดสิ่งใดจะบอกก่อนว่านี้คือสิ่งที่ได้ฟังมานะ นำมาเล่าต่อ อาจมีผิดนะ บางอย่างอาจไม่ถูก นิสัยตรงนี้เกิดจากแต่เดิมกระผมเป็นเด็กชอบโกหกเพื่อจะได้ไปเล่นสนุกกับเพื่อน

แต่มีเรื่องแปลกขอรับ ไม่ทราบว่าเกิดจากสภาวะใจอะไร คือตกค่ำจะหลีกเร้นนั่งกระซิกร้องไห้ จนบ่อยๆ แม่มาเห็นถึงกับต้องนั่งถามว่าใครแกล้ง พูดมา ก็บอกตามตรงไปว่าผมไม่อยากตาย ทำไมเราต้องตายหรือ

โดยข้อเท็จจริงเท่าที่จำได้จะมีบ่อยๆ ที่มีความคิดว่ากลัวการพลัดพราก แต่พอโตขึ้นมาขี้เล่น แต่จะหยาบคายแค่ไหนก็ไม่กล้าก้าวล่วงแม้แสดงความคิดในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะถือว่าลงใจในศาสนา และส่วนตัวเอง หลวงพ่อตบกลิ้ง เป็นวัวโง่ๆ ตัวหนึ่งแล้ว

ครั้งหนึ่งเคยเจริญ ตอนนี้เสื่อมแต่ก็ยินดีว่าได้เห็นทั้งการไปและจะไปต่อได้ แบบหลวงพ่อว่า “ตอนนี้มึงอมอาหารแล้วยังสุขขนาดนี้ นิมิตมีร้อยแปด ไปพุทโธชัดๆ โยกๆ คลอนๆ ก็นิมิต ตอนนี้ได้อมอาหารแล้ว มึงจะมีปัญญากลืนได้หรือไม่” และก็ทำมาครึ่งๆ กลางๆ แต่ว่างเป็นไม่ได้ พุทโธมันทำนู่นทำนี่แบบหลวงพ่อว่า

จนมาได้ฟังครูบาอาจารย์ที่ศรัทธาในปฏิปทาท่านเพราะใจชอบ และทำบุญก็จะอธิษฐานตามนั้น ท่านสอนการทำอานาปานสติกรรมฐาน ก็ลองทำ ทำไปทำมาจะว่าอุปาทานไหมก็ไม่ทราบ แน่นอน สติดี ลมไม่ไปฐานไหนหรอกครับ เอาให้รู้ชัดๆ ตรงจมูกได้ มึงก็แน่แล้ว บอกกับตัวอย่างนั้น

สุดท้ายอยากให้พ่อแม่ครูอาจารย์อธิบายในอารมณ์หรือสติตามที่ระลึกซึ่งอานาปานสติสักหน่อยครับ เพราะรู้ตัวว่าได้แต่อมอาหาร กลืนไม่เป็น มันดันล้มไม่เป็นท่าก่อน ประกอบกับตอนนี้กระผมไม่สบาย พักรักษาตัวลำพังก็ถือว่าดีกว่าหายใจทิ้ง

ปล. คำว่า “ไม่อยากตาย” เมื่อยังครั้งเด็กไม่มีแล้วครับ เผลอๆ เบื่อมาก อยากไปๆ จากคนวุ่นวายมากกว่า แต่คำว่า “กลัว” อาจพูดไปเพราะมันยังไม่มาถึงตัว แต่ในใจจืดจริงๆ กับอารมณ์กลัวแบบนี้ เพราะหลวงพ่อเทศน์บ่อยจริงๆ จิตนี้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารไม่มีต้นไม่มีปลาย ฟังหลวงพ่อบ่อยๆ จนใจมันไม่กลัวจริงๆ ครับ

ตอบ : ไอ้นี่คำถามเนาะ มันเป็นอารัมภบทจากตัวเขาเองว่าแต่เดิมเขาคงเคยมาหาเราแล้วถึงบอกว่า เพราะคำพูดอย่างนี้ “มึงอมอาหารยังมีความสุขขนาดนี้ นิมิตมีร้อยแปด ให้ไปพุทโธชัดๆ ซะ” ไอ้นี่คือคำของเราไง ไอ้คำของเรา เวลาเขามาพูดถึงความรู้ความเห็น ถ้าพูดถึงความรู้ความเห็นต่างๆ ถ้าเขารู้จักภาคปฏิบัติ มันก็เหมือนกับอมไว้

คนเราไม่เคยอมน้ำ ไม่เคยอมอาหารเลย มันก็ไม่มีรสมีชาติ ถ้าคนเคยอมเคยอะไร อมหมายความว่ามันพูด พูดออกมาจากหัวใจได้ ถ้าพูดออกมาจากหัวใจได้ แต่พูดออกมาจากหัวใจได้มันก็แค่นั้นน่ะ ถ้าแค่นั้นนะ

เวลาคำตอบของเรา ให้ไปพุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ เข้าสู่สัมมาสมาธิ ถ้าเข้าสู่สัมมาสมาธิ ปากของเราถ้ามันสมบูรณ์ อาหารเข้ามา มีสติสัมปชัญญะ เราเคี้ยว เราเคี้ยวเราก็กลืนได้มันก็จบใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าทำสมาธิได้ พอทำสมาธิได้ มันมีสมาธิแล้ว ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญา มันเข้าสู่สติปัฏฐาน ๔ มันก็ใช้ปัญญา มันก็เป็นวิปัสสนา วิปัสสนามันพิจารณาไปแล้วมันก็ปล่อยวางเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป นี่พูดถึงหลักของอริยสัจ สัจจะความจริงเป็นแบบนี้ ถ้าเป็นแบบนี้ เวลาเขามาถามเรา เราก็บอก เราก็อธิบายตามแต่ที่เขาจะเป็นไง

เขาถึงบอกว่า “เคยมาหาหลวงพ่อ หลวงพ่อตบกลิ้งเลย บอกว่าแค่มึงอมอาหารอยู่ก็มีรสชาติขนาดนี้แล้ว แต่มึงทำไม่ได้ ให้ไปฝึกพุทโธชัดๆ” แต่เขาบอกว่า จนเขาไปเจออาจารย์ที่เขาศรัทธา เขาบอกว่าให้ทำอานาปานสติ อานาปานสติก็ลงฐาน อานาปานสติ ฐานอยู่ที่สะดือ อยู่ที่กลางอก นี่ฐานของเขา เขาก็ไปทำของเขาอย่างนั้น

ถ้าทำของเขาอย่างนั้น ทำสมาธิก็เป็นสมาธิไง แต่สมาธิถ้าทำอย่างนั้น เขาทำอานาปานสติ แล้วกำหนดรู้ตัวทั่วพร้อม ใช้ปัญญาไปแล้ว นั่นก็เป็นวิธีการของเขา

แต่ถ้าอานาปานสติ กำหนดอานาปานสติเพื่อความสงบของใจก็ทำสมาธิเหมือนกัน ลมจะหยาบ ลมจะละเอียด ลมจะหายไปต่างๆ มันมีสติพร้อมของมัน ถ้าพร้อมแล้วมันก็ต้องฝึกหัดใช้ปัญญาเหมือนกัน

แต่ปัญญาที่เราฝึกหัดแบบกรรมฐาน ปัญญาเกิดจากสมาธิ สมาธิเป็นสมาธิแล้วเราถึงใช้ปัญญาใช่ไหม

แต่ถ้าเป็นอานาปานสติที่กำหนดรู้ตัวทั่วพร้อม เขารู้ตัวทั่วพร้อม เขาใช้ปัญญาไปพร้อมกับลมหายใจ พอลมหายใจมันพร้อมแล้วก็รู้ความเคลื่อนไหว รู้พร้อมหมดเลย ก็เลยใช้คำว่า “สตัฟฟ์จิต” ก็เลยไปว่าง วางอยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วก็อยู่อย่างนั้นน่ะ เพราะอะไร เพราะมันไม่เกิดภาวนามยปัญญาไง มันเกิดปัญญาจากวิธีการประพฤติปฏิบัติโดยแนวทางของกลุ่มชน ของผู้ที่เขามีทิฏฐิอย่างนั้น

แต่ถ้าเป็นกรรมฐาน อานาปานสติก็คืออานาปานสติ มันเป็นกรรมฐาน ๔๐ ห้อง ทำความสงบก็คือทำความสงบไง สงบแล้วก็ฝึกหัดใช้ปัญญาไง เพราะโลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญามันแตกต่างกันไง

โลกียปัญญาก็ปัญญาแบบโลกๆ ปัญญาที่เราคิดกันอยู่นี่ เราก็ใช้สติปัญญาเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ให้มันเป็นสมาธิเข้ามา ถ้าเป็นสมาธิเข้ามาแล้ว เวลามันใช้สติปัญญามันถึงเป็นปัญญาของมันไป นี่พูดถึงหลักอริยสัจ เมื่อกี้ถึงบอกว่าไม่เข้าสู่อริยสัจ ถ้าเข้าสู่อริยสัจมันจะเป็นอย่างนี้ไง

แต่นี่ไม่เข้าสู่อริยสัจ แต่เวลาเขาบอกว่า ที่ว่าเขาบอกเขาเคยทำของเขาได้ แล้วมาหาเพราะว่าเอาคำตอบไง บอกว่า สิ่งที่บอกว่าตอนนี้เอ็งอมอาหารไว้ ถ้าอมอาหารไว้

เพราะว่าอมอาหารไว้ เราจะบอกให้เห็นว่า ถ้ามันตรึกในธรรม ตรึกในธรรมมันก็มีรสชาติอย่างนี้แล้ว อมอาหาร อมอาหารก็คืออมไว้เฉยๆ ก็ได้รสได้ชาติ

แต่ถ้ามันเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา พอมันวางหมด มันทั้งได้สารอาหารด้วย ทั้งสดชื่นด้วย ทั้งรื่นเริงในหัวใจด้วย ถ้ามันเป็นจริงนะ ถ้าเป็นจริงมันเป็นจริงอย่างนั้น

ไอ้นี่พูดถึงว่า เขาพูดถึงเวลาที่ว่าให้พูดถึงอานาปานสติ

อานาปานสติมันก็มีเยอะแยะของมันไปใช่ไหม คำว่า “มีเยอะแยะ” คือจริตนิสัยนะ จริตนิสัยคนแตกต่างกัน แต่โดยอริยสัจมีหนึ่งเดียว อานาปานสติ ถ้าทำสมาธิก็ได้หนึ่งเดียวเหมือนกัน แต่การกำหนดอานาปานสติ กำหนดรู้ตัวทั่วพร้อม นั่นมันแยกย่อยในความเห็นของเขา ถ้ามันเป็นความเห็นของเขานั่นมันเรื่องของเขา แต่ถ้าเป็นความจริงมันเป็นความจริงอย่างนี้ นี่พูดถึงจริตนิสัย

ฉะนั้น เขาบอกว่า ที่ว่ากลัวความตาย กลัวต่างๆ สิ่งต่างๆ

มันเป็นจริตนิสัย ถ้าจริตนิสัยนะ เพราะจริตนิสัย ดูสิ ในสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่าเอตทัคคะ ๘๐ วิธีการ เอตทัคคะ ๘๐ จริตนิสัยนั่นน่ะ นิสัยมันส่วนนิสัย ถ้าความจริงเป็นความจริงอย่างนี้

นี่พูดถึงว่า เขาบอกว่าตอนนี้เขาพักรักษาตัว เขาจะภาวนา ไม่อยากให้หายใจทิ้งเปล่าๆ

ถ้าไม่หายใจทิ้งเปล่าๆ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ นั่นถูกต้องแล้ว แล้วพุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ ไว้ ให้มันเกิดความสงบให้ได้ก่อน

ถ้าจิตมันฟุ้งซ่าน จิตอย่างนี้จิตมันไม่มีสติมีปัญญา แล้วในปัจจุบันนี้ กรมสุขภาพจิต ประชากรไทย ๓๐ เปอร์เซ็นต์ป่วยเป็นเรื่องจิตเภท สุขภาพจิตๆ ถ้าสุขภาพจิตมันไม่สมบูรณ์เวลาไปภาวนามันก็ส่งออกหมดน่ะ เพราะโดยธรรมชาติของพวกจิตเภทหูแว่ว ได้ยินเสียงต่างๆ มันคิดจินตนาการของมันไป แล้วถ้ามันมาภาวนา โอ๋ย! มันไปใหญ่เลย

แต่ถ้าเอาแต่ความสงบ

คนที่ผิดปกติ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทย กรมสุขภาพจิตเขาทำวิจัย เขาบอกเลย ประชากรไทย ๓๐ เปอร์เซ็นต์มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต ถ้ามีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต เวลาภาวนาไปมันจะมีปัญหาไปร้อยแปด

แต่ถ้าจะแก้ไข แก้ไขโดยธรรมโอสถ พุทโธชัดๆ หายใจๆ อยู่กับลมหายใจชัดๆ ไม่ต้องไปยุ่งสิ่งใดเลย ธรรมโอสถจะไปสำรอกไปคายให้หัวใจปลอดโปร่ง ให้สิ่งที่ว่าสุขภาพจิตต่างๆ สุขภาพจิตที่แข็งแรง สุขภาพจิตที่มันอ่อนแอ สุขภาพจิตที่มีปัญหา ให้มันคายทิ้งหมดเลย อยู่กับพุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ เวลาเข้ามาสัมมาสมาธิ กลับมาสู่ปกติ แล้วถ้าจะภาวนา จะวิปัสสนา นั่นเป็นขั้นตอนต่อไป

แต่นี่ไม่อย่างนั้น “ธรรมะบอกว่าอย่างนั้น ตำราบอกว่าอย่างนั้น เวลาฉันทำไปนี่เห็นหมดเลย”

อ้าว! ก็จิตเภท มันก็เป็นอย่างนั้นน่ะ มันเห็นของมันอยู่แล้ว ถ้าจะให้เป็นความปกตินะ เราวางให้หมดเลย แล้วเราพุทโธของเราชัดๆ พุทโธชัดๆ แล้วพุทโธชัดๆ เพราะพุทโธชัดๆ นะ ถ้ามันผิดปกติ กว่ามันจะเป็นปกติได้มันต้องสู้กันรุนแรงมาก สู้กันรุนแรงเพราะอะไร นั่นน่ะจริต จริตมันเป็นเรื่องนามธรรมที่เรื่องหัวใจที่เวรกรรมมันสร้างของมันมา ถ้ามันถอนทิฏฐิอันนั้น มันปลดทิฏฐิอันนั้นได้ มันจะเข้าสู่สัมมาสมาธิ

ถ้ามันเข้าสู่สัมมาสมาธิ จิตกลับมาเป็นปกติ แล้วถ้ามันคลายออกมาแล้วมันก็เป็นเรื่องสามัญสำนึกเหมือนเดิมนั่นแหละ แล้วก็พยายามเข้าสมาธิให้บ่อยครั้งเข้าจนเข้มแข็ง พอเข้มแข็งขึ้นมา มันกลับมาสู่จิตปกติ สัมมาสมาธิตั้งมั่น พอตั้งมั่นแล้วค่อยยกขึ้นสู่วิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาได้ อันนั้นถึงจะเป็นความจริงได้

นี่ไง ความคิดในสมาธิ ความเกิด เกิดจากสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิ เห็นไหม

เวลาพูดถึงที่ว่าสมาธิลืมตาหลับตานั่นน่ะ เขาก็ยังดูถูกนะ บอกว่า “ถ้าสมาธิมันก็เป็นพวกฤๅษีชีไพร พวกไสยศาสตร์ ถ้าสมาธิลืมตาจะเป็นปัญญา”

อันนั้นมันก็เป็นโลกเกินไป แต่ถ้ามันจะเป็นความจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเรา ถ้าจิตมันสงบระงับขึ้นมาแล้วกลับมาเป็นปกติ กับอาการที่เป็นอยู่นี่มันแตกต่างกัน ตอนที่มันเป็นอยู่อย่างนี้เราอยู่ในอารมณ์อย่างนี้เหมือนคนที่ขาดสติ คนที่เขาจะส่งโรงพยาบาล คนไม่กล้าเข้าไปจับหรอก เพราะเขาขาดสติ แล้วขาดสติแล้วกฎหมายไม่เอาเรื่องด้วย เขาคุ้มครองด้วย

แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวของเราล่ะ เรื่องส่วนตัวของเรามันอยู่ภายในของเรา เราจะปกปิดไว้อย่างไรมันก็เป็นเรื่องของเราทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าพอเราจะมาพิจารณาของเรา เราจะปฏิบัติของเรา ธรรมโอสถ มีสติแล้วบริกรรม ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ กลับมาให้มันสงบระงับ ถ้าสงบระงับได้ พอมันคลายออกมา เพราะมันเป็นจริต มันเป็นนามธรรมในหัวใจไง

เวลาเข้าไปแล้วมันก็ผ่อนคลาย พอออกมาแล้วไอ้กรรมเก่ามันก็ยังมีของมันอยู่ แต่ต้องชำนาญในวสี ทำให้มันคล่องแคล่วขึ้นมา พอคล่องแคล่วขึ้นมาจนมันมั่นคงของมัน พอมั่นคงของมันแล้วค่อยฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา ฝึกหัดใช้ปัญญา มันก็จะเข้าสู่อริยสัจ

มันจะไม่เข้ามาสู่คำถามที่ว่า “เคยไปหาหลวงพ่อ หลวงพ่อสอนว่า มึงอมอาหารแล้วก็ยังสุขขนาดนี้ นิมิตมีร้อยแปด ไปพุทโธชัดๆ โยกๆ คลอนๆ ก็นิมิต โยกๆ คลอนๆ”

นี่เราพูดไว้ตั้งแต่เขาเคยมา เขาเคยมาแล้ว ถ้าเขาจะทำอย่างไร เพราะว่าถ้าเคยมาแสดงว่าได้คุยกัน

ถ้าคุยกันนะ เวลาเราคุยกัน มันเหมือนกับเด็กอนุบาล เด็กเพิ่งฝึกหัดใหม่ ทำอย่างไรก็ได้ขอให้จิตเขาสงบมาก่อน เขาจะภาวนา เขาจะรู้เห็นสิ่งใดนี่เป็นความเชื่อของเขา

แต่โดยความเห็นของเรา เราว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระทั้งนั้นน่ะ คำว่า “ไร้สาระ” คือว่า เราจะต้องทำความสะอาดบ้านของเรา บ้านของคน ถ้ามันอยู่บ้านโดยที่ไม่เคยทำความสะอาดเลย บ้านจะสกปรกมาก จิตของคนจะภาวนาขึ้นมามันก็ต้องทำให้จิตของคนให้สะอาดก่อน

ทีนี้พอคนที่บ้านสกปรก บ้านที่มีปัญหามาก เวลาเขาเข้าไปทำความสะอาดในบ้านเขา ปัญหาเขาร้อยแปด ฉะนั้น ร้อยแปด เราก็ให้อุบาย “มึงอมอาหารขนาดนี้มึงก็มีความสุขขนาดนี้แล้ว แล้วมึงปฏิบัติไปนิมิตร้อยแปด โยกๆ คลอนๆ ก็เป็นนิมิต นิมิตก็เอ็งเห็นร้อยแปดนั่นน่ะ ถ้ากลับมาพุทโธชัดๆ มันก็หายไง”

นี่เป็นคำที่เราให้การบ้าน ให้ทุกคนฝึกหัด ให้ทุกคนพัฒนาขึ้นมาให้มันกลับไปสู่ความปกติ ถ้าเขาทำอย่างนี้ได้มันก็เป็นประโยชน์กับเขา ถ้าเขาทำไม่ได้มันก็เป็นกรรมของสัตว์

เราบอกว่า เรื่องที่ว่ามันเป็นเรื่องปลีกย่อย เรื่องของคนปฏิบัติ การปฏิบัติใหม่ๆ เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นน่ะ แล้วถ้าปฏิบัติเข้ามาแล้ว จิตมันสงบแล้ว จิตสงบ จิตมีกำลังแล้ว เราฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา ถ้าใช้ปัญญาของเรา มันก็เหมือนกับสิ่งที่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านวางข้อวัตรไว้ให้เราประพฤติปฏิบัติ แล้วถ้าเรามีครูบาอาจารย์คอยชี้ทางให้เขา คอยชี้ทาง คอยบอกทาง คอยนำทางผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ วงกรรมฐานเรามันก็จะยั่งยืนไง

แต่วงกรรมฐานเรา ไอ้พวกชี้ทาง ไอ้พวกตำรวจจราจรมันไม่มีไง มันมีแต่จราจรแอบตามพุ่มไม้ไง มันแอบตามพุ่มไม้มันคอยจับรถ มันคอยจะปรับเอาตังค์เขาน่ะ มันไม่ได้คอยบอกชี้ทางเขา

ไอ้คนจราจรชี้ทางมันก็บอกทางเขานะ ไอ้จราจรที่ไปซุ่มตามพุ่มไม้ มึงมาเถอะ กูไถเงินอย่างเดียว นี่ไง กรรมฐานเรามันเป็นอย่างนี้ มันไม่มีคนคอยชี้ทางคอยบอกทางมันก็ลุ่มๆ หลงๆ กันไปไง

นี่พูดถึงว่าในความเห็นของเขาไง ไอ้นี่คำถาม คำถามมันไม่ใช่คำถาม อารัมภบทมา ทีนี้อารัมภบทมา มันไปบอกตั้งแต่ต้นไง “ตั้งแต่ผมเป็นเด็ก ผมชอบโกหกครับ ผมเก็บอะไรมา” มันบอกมาตั้งแต่นู่น พอบอกมาตั้งแต่นู่นก็มาถึงตรงนี้ มาถึงตรงนี้ เพียงแต่มาสุดท้ายลงไง “ตอนนี้กระผมไม่สบาย พักรักษาตัวลำพัง ถือว่าดีกว่าหายใจทิ้งเปล่าๆ”

ตอนนี้ไม่สบาย ตอนนี้ป่วยไข้ แล้วตอนนี้ก็มาระลึกถึงสิ่งที่ทำมาๆ ทั้งนั้นน่ะ คนเรานะ เวลาระลึกถึงสิ่งที่เราทำมาทั้งบุญและบาป ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง “สิ่งใดที่ทำแล้วนึกเสียใจย้อนหลัง สิ่งนั้นไม่ดีเลย”

เราทำไปแล้ว แล้วมาระลึกได้ทีหลัง เสียใจภายหลัง สิ่งนั้นไม่ดีเลย นี่ก็เหมือนกัน “ตอนนี้ผมไม่สบาย กำลังพักรักษาตัว ไม่อยากหายใจทิ้งเปล่าๆ”

สิ่งที่ผ่านมาแล้วก็ให้มันผ่านไป แต่สิ่งที่จะประพฤติปฏิบัติ พุทโธชัดๆ ปัญญาอบรมสมาธิ เอาจิตใจให้เข้มแข็ง แล้วถ้าเข้มแข็งแล้วนะ ฝึกหัดใช้ปัญญา นั้นยังต้องฝึกหัดใช้ปัญญาต่อไป ถ้าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ปฏิบัติ เอวัง