เทศน์บนศาลา

โรคจิต

๒๑ ส.ค. ๒๕๕o

 

โรคจิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๐
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ธรรมะออกจากใจนะ ธรรมะออกจากปริยัติอย่างหนึ่ง ธรรมะออกจากใจอย่างหนึ่ง เรานี้เป็นชาวพุทธ เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา ศาสนาพุทธเห็นไหม เป็นวัฒนธรรมของชาวพุทธ ในการทำบุญกุศล ในการออกบวช ในการประพฤติปฏิบัติ โบราณประเพณีคนแก่คนเฒ่าให้เข้าวัด เพื่ออะไร เพื่อประพฤติปฏิบัติ เพราะเราเชื่อกันเรื่องโลกหน้าโลกปัจจุบัน “ตายแล้วไปไหน?” ในศาสนาสอนไว้อย่างนี้ทั้งหมด

ถ้าเรามีวัฒนธรรมอย่างนี้ เราก็เข้าใจว่าเราเข้าใจศาสนา มันเป็นประเพณีวัฒนธรรม ถ้าเป็นประเพณีวัฒนธรรมเราก็เข้าได้แต่ประเพณีวัฒนธรรมนี้ไง แล้วเวลามาประพฤติปฏิบัติเหมือนกันนะ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติเราจะซึ้งในศาสนา เราเข้าใจ เรามีศรัทธา เรามีความเชื่อของเรา ถ้ามีความเชื่อของเรา เราจะเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นะ ในธรรมะไง ธรรมะสอนไว้ว่าอย่างไร ธรรมะสอนว่า “คนเกิดมาแล้วต้องตาย"

ตายแล้วต้องเกิดนะ แล้วอะไรพาเกิดล่ะ เพราะเราเป็นชาวพุทธ เราก็อยากจะมีบุญกุศล เราอยากเกิดอยากสุขสบาย คนอยากเกิดมาเป็นคนดี เกิดมาแล้วปรารถนาสิ่งใดให้สมความปรารถนา สิ่งที่สมความปรารถนาหรือไม่สมความปรารถนามันอยู่ที่การกระทำมา คนกระทำมาทำดีมา ทำดีเกิดมาจะมีคนช่วยเหลือเจือจานกันไปตลอด บางคนเกิดมาปากกัดตีนถีบไป อันนี้มันเป็นเวรกรรมของแต่ละบุคคล

ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน เวลาเราจะออกประพฤติปฏิบัติ เราเข้าใจในศาสนา ถ้าศาสนาไม่กึ่งพุทธกาลนะ แต่ดั้งเดิมมามันก็มีพระผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตนดี ในศาสนาก็มีบ้างอยู่ในศาสนา แต่ไม่มีบารมี ไม่มีอำนาจวาสนาที่จะเจือจาน ที่จะเผยแผ่ธรรม แต่เราเกิดมาเจอครูบาอาจารย์ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นเป็นผู้บุกเบิกนะ พอบุกเบิกในการประพฤติปฏิบัติจนเข้มข้นขึ้นมา เข้มข้นขึ้นมาคนก็ปรารถนา

เพราะทางวิทยาศาสตร์มันเจริญใช่ไหม ในปัจจุบันนี้วิทยาศาสตร์เจริญนะ สมัยโบราณวิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญ คนทุกข์เหมือนกัน ลองคิดสิเราไม่มียานพาหนะเลย แต่คนโบราณไปไหนเขาต้องไปทางน้ำ เพราะเรือมันต่อกันได้ เพราะมันเป็นวัฒนธรรมประเพณีมาที่คนฉลาดขึ้นมา มีเรือมีแพขึ้นมาก่อน แต่ถ้าไม่มีรถเขาเดินกันทั้งนั้น สมัยโบราณไปไหนเขาต้องเดินกัน เขาต้องทุกข์ยากไปประสาเขา แต่ในปัจจุบันนี้ศาสนาเจริญ เพราะอะไร เพราะคนเราเวลามีวิทยาศาสตร์คิดค้นขึ้นมา เพื่อหาความสะดวกสบายขึ้นมาเพื่อจะให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

นี้การประพฤติปฏิบัติเราก็เริ่มอย่างวิทยาศาสตร์ไง ต้องพิสูจน์กันด้วยความคิดเห็นของเรา ต้องพิสูจน์กัน พิสูจน์กันจนไม่เชื่อนะ เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด จะมีหรือไม่มี เวลาประพฤติปฏิบัติ “มรรคผลมีหรือเปล่า? นิพพานมีหรือเปล่า?” ยิ่งทางโลกยิ่งเจริญนะ ความสงสัยเรายิ่งมาก ยิ่งมีปัญหาในหัวใจของเรา แล้วเวลาเราเจริญขึ้นมา เวลาเราออกมาประพฤติปฏิบัติ ตั้งแต่นิสัยนะ จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน

จริตนิสัยมันมาจากไหนล่ะ มันมาจากการสะสมมา เราทำคุณงามความดีมา ดูสิ สิ่งแวดล้อม เราอยู่ในสิ่งแวดล้อมหนึ่งเราก็มีความรู้สึกอย่างหนึ่ง คนอยู่ในพื้นที่ลุ่มอย่างหนึ่ง คนอยู่บนที่ดอนอย่างหนึ่ง คนอยู่บนพื้นที่บนภูเขาบนที่ราบสูง เขาต้องดำรงชีวิตของเขา เขาต้องหาอยู่หากินของเขา ดูสิ แหล่งน้ำหาที่ไหน การจะหาน้ำมาเพื่อดำรงชีวิตนี่หาที่ไหน ความเป็นไปสิ่งนี้มันเป็นวัฒนธรรมของเขา

ดูสิ เวลาเราลอยกระทงกัน เรามีแหล่งน้ำ เรามีการลอยกระทงเป็นประเพณีวัฒนธรรม อยู่บนชายภูเขาเขามีโคมลอยของเขาล่ะ เขาก็บูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกัน แต่เขารู้จักของเขา นี่วัฒนธรรมประเพณี สิ่งที่เป็นอย่างนี้เราศึกษามาก็ศึกษาตามวัฒนธรรมประเพณีมา เวลาเราคิดกัน เราว่าเราฉลาด เราเป็นปัญญาชน ทุกคนว่าตัวเองฉลาดนะ ตัวเองจะเข้าใจเรื่องศาสนา เข้าใจเรื่องวิทยาศาสตร์ เข้าใจสิ่งต่างๆ ว่าเป็นคนฉลาด

นี่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคนะ คนที่เกิดมานี่มีอวิชชา ทุกคนที่เกิดมานี่ไม่ปกติ เป็นโรคจิต!

โรคจิตนะ มันไม่ปกติเพราะอะไร เพราะมันมีตัวตนของเรา แล้วแต่มุมมองของใครนะ เหตุการณ์อย่างหนึ่งเกิดขึ้นมา แล้วแต่มุมมองของใคร มุมมองทางกฎหมายก็เป็นมุมมองทางกฎหมาย มุมมองของผู้ปกครอง มุมมองของผู้ที่เกิดอุบัติเหตุ มุมมองต่างๆ เห็นไหม มุมมองต่างๆ เกิดขึ้นมาแต่ละมุมมอง

จิตก็เหมือนกัน เวลาจะออกประพฤติปฏิบัติแล้วแต่มุมมองของใคร แล้วแต่จริตนิสัยของใคร จริตนิสัยนะ ในการประพฤติปฏิบัติ เราจะประพฤติปฏิบัติ เพราะเราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราอยากพ้นจากทุกข์นะ แล้วทุกข์นี่อะไรจะไปพ้นมันได้ล่ะ

ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นศาสดา เป็นตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นขึ้นมานะ ไปทดสอบ ไปตรวจสอบมากับเจ้าลัทธิต่างๆ มหาศาลเลย แล้วเวลาแสดงธรรมจักรนะ พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม แล้วเราก็ศึกษาธรรม ศึกษาธรรมจักร ศึกษากัน ศึกษาเป็นปัญญา เราว่าเราก็มีปัญญา

เวลาเราสวดธรรมจักรกันนะ เวลาเขาทำบุญกุศลกัน เขาสวดกัน อาทิตตปริยายสูตร อนัตตลักขณสูตร ธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร สวดกันทั้งนั้นล่ะ แล้วเราก็ได้ยินทุกวันทำไมเราไม่เป็นไป ไม่เป็นไป.. เพราะอะไร เพราะปัญจวัคคีย์ เวลาอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปี เขาทำความสงบของใจ ดูสิ คนประพฤติปฏิบัติมา ๖ ปีอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเขามีอยู่เขาก็ทำความสงบของเขา

ดูเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเรียนกับอาฬารดาบส เขาได้สมาบัติ ๘ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เสวยวิมุตติสุข สุขมาก สุขมาก สุขนี้สุขเหนือโลก โลกุตตรธรรมไม่ใช่โลกียธรรม ความเห็นของเรานี่เป็นโลกียธรรม สุขนี้มันสุขเกิดมาโลกุตตระ สุขเหนือโลก สุขพ้นจากโลก มีความสุขมหาศาลเลย แล้วธรรมละเอียดอ่อนอย่างนี้ จนไม่รู้ว่าจะสอนใครได้นะ ทีแรกทอดธุระ

แต่สุดท้ายแล้วเพราะสร้างสมบุญญาธิการมา จะสอนใครก่อน เล็งไปที่อาฬารดาบสก่อนเลย เล็งไปที่อุททกดาบส เพราะอะไร เพราะไปศึกษากับเขาได้สมาบัติกับเขา คำว่า สมาบัตินี่มันเป็นฌาน สิ่งที่เป็นฌานจิตต้องสงบ เข้าสมาบัติได้ ปฐมฌาน รูปฌาน อรูปฌาน คำว่าเข้ารูปฌาน อรูปฌานมันเป็นสมาธิไหม มันเป็นสมาธินะ ก็เล็งจะไปสอนเขาก่อน แต่สอนเขาเขาไม่มีวาสนาไง เพราะพึ่งตายไปเมื่อวานนี้เอง แล้วตายแล้วไปไหน ก็ไปเกิดเป็นพรหม แล้วจะสอนใคร เล็งญาณดูก็ต้องสอนปัญจวัคคีย์ก่อน

สอนปัญจวัคคีย์เพราะปัญจวัคคีย์มีสมาธิอยู่แล้ว เพราะปัญจวัคคีย์อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปี นี่ทำความสงบของใจอยู่ มันมีหลักมีเกณฑ์อยู่ พอแสดงธรรมจักรไป ผู้มีพื้นฐานแล้วพอฟังธรรมจักรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นปัญญา ปัญญาอย่างนี้ “ทเวเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนไม่ควรเสพ” แล้วทำอะไรล่ะ นี่สิ่งที่ทำไปเรื่องมรรคญาณ ความดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ สิ่งที่เป็นความชอบ แล้วความชอบแล้วเกิดอะไรขึ้นมา

เพราะปัญจวัคคีย์ดำเนินจิตที่เป็นสมาธิอยู่ แล้วมันใช้ปัญญาใคร่ครวญตาม จิตที่มีพื้นฐาน จิตที่เป็นปกติ ไม่ใช่โรคจิตอย่างเรานี่ ในปัจจุบันนี้เราเป็นโรคจิต จิตเราไม่ปกติหรอก เพราะเราฟังสิ่งใด.. ดูสิ เวลาเขาให้ยากัน ถ้าเรามันแพ้ยามันดื้อยา เราจะมีผลกับร่างกายนะ นี่ก็เหมือนกัน จิตเราไม่ปกติ พอฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็เอากิเลสเราบวกเข้าไปไง สิ่งที่บวกเข้าไปมันเหมือนช็อกตายเลย ช็อกตายเพราะอะไร เพราะมันสร้างว่าสภาวะเป็นธรรม แล้วมันเป็นธรรมจริงไหมล่ะ

ถ้ามันเป็นธรรมจริงทำไมเราไม่หลุดพ้นไปล่ะ มันไม่หลุดพ้นไปหรอก แต่ปัญจวัคคีย์ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา...” การเกิดขึ้นธรรมดานะ การเกิดขึ้นจากจิตที่เป็นสัมมาสมาธิ จิตที่เห็นสภาวะความเป็นจริง มันก็ปล่อยวางตามเป็นจริง

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปล่งอุทาน “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ.. อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ..” เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้ว่ามันลึกลับจนจะสอนใครไม่ได้เลย จะสอนใครได้ เขาจะมีปัญญาอย่างนี้ได้อย่างไร เขาจะมีความเห็นย้อนกลับมาในใจของตัวเองได้อย่างไร เพราะอะไร เพราะจิตมันส่งออกหมด ธรรมชาติของจิตมันส่งออกหมดเห็นไหม เพราะมีพื้นฐานเป็นสมาธิแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเล็งจะสอนใคร ก็สอนผู้ที่ได้สมาบัติ แล้วถ้าไม่ได้ผู้ที่ได้สมาบัติ ก็จะมาสอนปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์ก็อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่มา ๖ ปี

แล้วเราว่าเราจะศึกษากัน เราจะสร้างสมาธิ เราจะประพฤติปฏิบัติกัน ก็ประพฤติปฏิบัติด้วยความเห็นของเรา ประพฤติปฏิบัติด้วยกิเลส คนโรคจิตนะ ดูสิ เวลาคนโรคจิตเขาทำอะไรเขาทำไม่สมประกอบหรอก ไม่เป็นความจริงหรอก แต่ถ้าคนเป็นปกติ เราเป็นปกติ เราเป็นปุถุชน ก็เป็นสมาธิของปุถุชน ไม่ใช่คนขาดสมาธิ แต่เป็นสมาธิของปุถุชน แต่เราเริ่มประพฤติปฏิบัติ เราก็ต้องทำความสงบของใจ เริ่มต้นจากทำความสงบของใจนะ

พระปัญจวัคคีย์อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปี ทำความสงบของใจเป็นพื้นฐาน แล้วผู้ที่ประพฤติปฏิบัติสมัยพุทธกาล เพราะอะไร เพราะเขาขวนขวายกัน เขาอยากออกจากทุกข์กัน ดูเจ้าลัทธิต่างๆ เขาสอนกันมหาศาลเลย พวกนี้ก็ไปศึกษากับเขา การที่ศึกษานี่ศึกษาเพื่ออะไร เพราะทุกคนปรารถนาเป็นศาสดา เป็นพระอรหันต์ แล้วมันไม่มีพระอรหันต์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเทศน์กับปัญจวัคคีย์

“เธอเคยได้ยินว่าเราพูดไหม เราเคยพูดไหมว่าเราเป็นพระอรหันต์”

เพราะไม่เคยพูด “แต่บัดนี้พูดแล้ว ให้เงี่ยหูลงฟัง” พอเงี่ยหูลงฟังเพราะจิตมีพื้นฐาน ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วบารมีก็มีเหมือนกัน ดูสิทำไมแสดงธรรมจักร อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน ปัญจวัคคีย์นักบวชทั้ง ๕ ปัญจะแปลว่า ๕ ๕ คนทำไมเวลาแสดงธรรมไป ทำไมพระอัญญาโกณฑัญญะรู้ได้องค์เดียว แล้วอีก ๔ คนนั้นทำไมยังไม่รู้ล่ะ นี่ความต่างกันของอำนาจวาสนา ความต่างกันของปัญญา ความต่างกันของสถานะของจิต จิตมีความต่างกันนะ

แล้วเราก็เหมือนกัน พอเราประพฤติปฏิบัติกัน จิตเราก็ต่างกัน ต่างคนต่างมา ต่างคนต่างศึกษา ความคิดการศึกษาทางวิทยาศาสตร์การศึกษาต่างๆ นี้มันเป็นวิชาชีพ มันศึกษามาให้เราเป็นคนที่ว่าไม่ตื่นตกใจ แต่คนที่ไม่มีปัญญา คนที่ไม่มีหลักเกณฑ์ในชีวิต พอเจอสิ่งใดก็จะตกใจ เจอสิ่งใดก็จะไปตามกระแสของเขา แต่ถ้าเรารู้ เขาว่าปัญญานี่เป็นความรู้ของมนุษย์ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับการใช้ดำรงชีวิต แต่มันบวกไปด้วยอะไรล่ะ มันบวกด้วยกิเลสของเรา เพราะอะไร เพราะมันออกจากอวิชชา มันออกจากตัวตนของเราทั้งนั้น

การศึกษาอย่างนี้ ความรู้อย่างนี้ ยิ่งศึกษาแล้วรู้ขนาดไหน ยิ่งอยู่ในกระแสโลก เรายิ่งมีทิฏฐิมานะ ความเป็นทิฏฐิมานะของจิตดวงนี้มันจะมีมหาศาลเลย เวลาผู้ที่ออกประพฤติปฏิบัติ ถ้าเป็นเด็กน้อย ถ้าเป็นผู้ที่ยังหนุ่มยังแน่นอยู่ หรือว่าเรายังเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ นี่ประสบการณ์ชีวิตไง เราดูคนแก่สิ เขาว่าเขามีประสบการณ์ชีวิตมาก เขาเป็นผู้อาวุโส แต่ในทางธรรมนะถ้าคนเราเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วยิ่งกินของแสลง ยิ่งเอาสิ่งที่เข้าไปทำให้โรคภัยไข้เจ็บเรารุนแรงขึ้นมา นี่ความคิดของโลกเป็นอย่างนั้นนะ

ถ้าเป็นการประพฤติปฏิบัติต้องทำให้จิตปกติเข้ามาก่อน อย่าให้เป็นโรคจิต แล้วพอโรคจิตของเรานี่ โรคของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน กำลังของใจก็ไม่เหมือนกัน สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมาก็ไม่เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติไปคนจะทำมากทำน้อย น้ำหนักไง คนมีกำลังก็ยกของได้มาก คนมีกำลังน้อยก็ยกของได้น้อย จิตก็เหมือนกัน จิตถ้าไม่มีจุดยืนของจิต แล้วเราจะทำความสงบของใจเราจะทำสิ่งใด สิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็นสิ่งที่กระทบขึ้นมาในหัวใจ เราต้องวางให้หมด

ในการประพฤติปฏิบัติเริ่มต้นต้องกำหนดทำสมถะก่อน สิ่งที่ทำสมถะเพราะอะไร เพราะเราต้องทำให้ตัวเราเป็นปกติเข้ามา จิตนี้ต้องควรจะเป็นปกติเข้ามาก่อน ถ้าเป็นโรคจิตมันบวกประสาความเห็นของเรา สิ่งที่บวกขึ้นมานะมันสร้างขึ้นมาหมดล่ะ สิ่งที่เป็นไปมันสร้างของมันขึ้นมา พอสร้างขึ้นมามันก็เป็นความคิดของเรา เป็นความคิดของเรานะ นี้เป็นสิ่งที่ผิดเพราะอะไร เพราะถ้าในการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ การศึกษาเป็นวิชาการทางโลก

แต่เราศึกษาปริยัติ “ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ” สิ่งที่เป็นปริยัติเป็นแผนที่เครื่องดำเนิน แต่เพราะกิเลสเราบวกเข้าไปด้วย เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติเราก็สร้างภาพขึ้นมา สมาธิก็เป็นสมาธิที่สร้างขึ้นมา ไม่ใช่สมาธิตามความเป็นจริง ถ้าสมาธิสร้างขึ้นมา คำว่าสร้างขึ้นมามันไม่เป็นความจริง ไม่เป็นความจริงมันก็ไม่มีกำลังหรอก ว่างๆ ว่างๆ ว่างๆ เพราะเราปฏิเสธ ว่างๆ เพราะสิ่งนี้ไม่เป็นสมาธิ

แต่ถ้าเป็นสมาธิจริงๆ เวลาครูบาอาจารย์เราไปหาหลวงปู่มั่น ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเชิดชูไว้ ไม่เคยดูถูกธรรมขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเลย แต่ถ้าในการประพฤติปฏิบัติพร้อมกับสิ่งที่ศึกษามา มันจะสร้าง เป็นสมาธิก็สมาธิสร้าง ปัญญาก็ปัญญาสร้าง ไม่ใช่ปัญญาตามความเป็นจริง ถ้าปัญญาสร้าง เหมือนกับสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมา วิทยาศาสตร์ใครเป็นคนคิดค้นได้ คนที่เขาคิดค้นได้ขึ้นมาเขาเป็นเจ้าของทฤษฎีนั้น เวลาเราพิสูจน์ตรวจสอบตามทฤษฎีนั้นมันจะได้ผลทางทฤษฎีนั้น แต่มันก็มีเจ้าของอยู่แล้ว เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราสร้างขึ้นมาให้เหมือน เหมือนเขาจดสิทธิบัตรนะ เราเอาของเขามาใช้ประโยชน์ไม่ได้หรอก แต่ถ้าเราซื้อสิทธิเขามานี่ได้ นี่ทางโลกนะ แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาวางธรรมไว้ ไม่ต้องมีสิทธิ ไม่ต้องการอะไร เพราะปรารถนาจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ ทุกคนขอให้รู้ธรรมมาเถิด เวลาแสดงธรรมขึ้นมา ใครบรรลุธรรมขึ้นมา “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด นี่เพราะจะมารื้อสัตว์ขนสัตว์” อันนี้มันเรื่องของธรรม

ถ้าเรื่องของโลกมันเป็นเรื่องของใจคับแคบ มันเป็นการเห็นแก่ตัวทั้งนั้น จะลงทุนลงกองที่เป็นการลงทุนไปในธุรกิจ มันก็ธุรกิจของเขา แต่สิ่งนี้มันเป็นธรรม สิ่งที่เป็นการสร้างอย่างนี้มันไม่เป็นความจริง แต่ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติของเรา เราเป็นคนที่มีโรคนะ เราอย่าไปกินของแสลง สิ่งที่เราซับซ้อนมาในจิต จิตนี้มันซับซ้อนมา การเกิดและการตายของมนุษย์ทุกๆ คน

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ที่เกิดมานั่งกันอยู่นี่ ต้องเคยเป็นญาติเป็นมิตรกันมาไม่ชาติใดก็ต้องชาติหนึ่ง เราเป็นญาติกันโดยธรรม” แล้วการเกิดนี้มันเกิดมาซับซ้อนมาก นั่นล่ะมันเป็นการบ่มเพาะจิตดวงนี้ คนที่เกิดทุกข์เกิดยากมา เวลาเกิดมาสิ่งนี้มันทำมา มันก็สะสมใจมา ถ้าคุณงามความดีสร้างสมมา อย่างพระโพธิสัตว์ ดูสิ จะไม่เกิดเล็กกว่านกแขกเต้า ไม่เล็กกว่านั้นนะ แต่เราเกิดเป็นเล็นเป็นไรหมด

ภิกษุในสมัยพุทธกาล เพราะเทคโนโลยียังไม่เจริญ ทุกอย่างต้องทำด้วยตัวเอง ไปได้ผ้ามา มาเลาะออกแล้วทอใหม่ให้มันเป็นผ้าเนื้อดีแล้วตัดจีวร คืนนั้นพอดีตัดเย็บจีวรกันจนเสร็จ แล้วความปรารถนาของเรา คนเราขาดแคลนสิ่งใด ไม่เคยได้ของสิ่งใดที่ประณีตมันก็ติดพัน คืนนั้นเป็นโรคท้องร่วงตาย ตายในคืนนั้นเลย นี่จิตมันปฏิพัทธ์อยู่กับสิ่งที่เป็นจีวรนั้น ไปเกิดเป็นไรอยู่ในจีวรนั้น นี่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ

ดูสิ พระแท้ๆ เลย เวลาเกิดก็ไปเกิดเป็นเล็นเป็นไรอยู่ในจีวรนั้น จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระว่าอย่าพึ่งแจกนะ เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ นี่วิมุตติธรรม ธรรมที่รู้แจ้งโลกนอกโลกใน เห็นไปหมดนะ ถ้าแจกในวันนั้นเล็นไรตัวนั้น คิดสิ เป็นมนุษย์ก็ยังติดพัน ไปติดก็ถือว่าเป็นเจ้าของ ถ้าแจกไปก็จะมีความโกรธ

คนเรามีความโกรธ สัตว์ที่มีความโกรธผูกโกรธ เวลาตายไปมันจะตกไปที่ต่ำ มันจะสืบต่อไปเป็นภพเป็นชาติไปเรื่อยๆ แต่อายุของเล็นมันอยู่ ๗ วัน ท่านให้วางไว้อย่างนั้นเฉยๆ ให้เล็นมีความสุข ให้มันเข้าใจว่าเป็นของตัวเอง แต่ความจริงไม่ใช่ ไปอยู่ในนั้น ๗ วัน พอตายจากนั้นขึ้นสวรรค์ทันทีเลย เพราะอะไร เพราะตอนเป็นภิกษุทำคุณงามความดีอยู่ ประพฤติปฏิบัติเหมือนกัน ขนาดเป็นพระโรคจิต จิตที่มันติดพัน จิตที่มันเกี่ยวข้อง มันก็ยังเป็นโรคจิตอยู่ เพราะประพฤติปฏิบัติไม่เป็นสัจจะความจริง

แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติจะเห็นโทษอันนั้น ถ้าเห็นโทษอันนั้น เราต้องทำใจของเราให้สงบก่อน สิ่งที่ใจเราสงบให้มันเป็นสัจจะความจริง สิ่งที่สัจจะความจริง วางให้หมด ความคิดของเราเป็นถังขยะ แม้แต่ธรรมที่ศึกษามามันก็เป็นโทษกับเรา แม้แต่ความคิดโลกทางวิทยาศาสตร์ สิ่งที่เราศึกษามาว่าเป็นความเห็นของเรา ยิ่งผ่านโลกมากยิ่งมีประสบการณ์มามาก สิ่งที่ประสบการณ์นี่มันฝังใจ เรารู้เราเห็นเราเข้าใจ สิ่งที่เราเข้าใจมันจะขวางอยู่

ดูสิ ทัพพีขวางหม้อมันไม่รู้รสชาติของแกงหรอก แล้วธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นสันทิฏฐิโก มันเกิดขึ้นมาจากสัจจะความจริง มันจะมีความสุขของใจดวงนี้ไปตลอด แต่นี่มันไม่ใช่! มันเป็นการสร้างขึ้นมา เพราะเห็นครูบาอาจารย์ เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มรรคผลนิพพานจะเป็นสภาวะแบบนั้น มันก็สร้างภาพสภาวะแบบนั้นขึ้นมา

ต้องวางให้หมดนะ ยิ่งประสบการณ์ทางโลกมากยิ่งเป็นจิตใจที่มีโรคมาก จิตใจที่มีโรคมาก การรักษาของหมอ หมอต้องดูแลเป็นกรณีพิเศษ แต่ถ้าจิตใจมีโรคน้อย คนเป็นโรคที่ไม่รุนแรง โรคที่พอรักษาได้ มาถึงหาหมอ หมอให้ยาเล็กน้อยก็ให้กลับบ้านได้ นี่เป็นการรักษาโรคของร่างกาย แต่โรคของหัวใจมันฝังใจ แล้วฝังใจขึ้นมานี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ที่นี่! รื้อสัตว์ขนสัตว์นะ ก็สัตว์ตัวเดิมนี่แหละ สัตตะเป็นผู้ข้อง มนุษย์นี่เป็นผู้ข้อง แล้วมาบวชเป็นพระ เป็นพระก็เป็นสัตว์ นี่สัตตะผู้ข้อง จิตมันยังข้องอยู่ มันยังเอาตัวเองรอดไม่ได้ไง นี่รื้อสัตว์ขนสัตว์ที่นี่แล้วมันข้องที่ไหน

เวลาคนตายไปแล้ว เวลาไปเผาไฟมันเดือดร้อนอะไร เวลาทุกข์เวลายากหมู่คณะช่วยเหลือกันพาส่งโรงพยาบาลพารักษา มันเดือดร้อนอะไร ร่างกายมันข้องอยู่ที่ไหน เพราะร่างกายนี่ทางวิทยาศาสตร์เขาค้นคว้าหมดแล้ว โรคภัยไข้เจ็บจะรักษากันอย่างไร โรคนี้จะรักษาได้อย่างไร ความเป็นไปของโรคจะรักษาอย่างไร การดูแลรักษาจะทำอย่างไร นี่มันครบวงจรของเขาอยู่แล้ว มันรู้กันทะลุปรุโปร่ง รู้กันหมดแล้วว่าจะทำอย่างไร เพียงแต่ว่าอยู่ที่บุญกรรมมันมาตัดรอนเท่านั้น ว่ามีโอกาสจะรักษาได้หรือรักษาไม่ได้เท่านั้นเอง

แต่สัตตะผู้ข้อง จิตที่มันเกิดอีกมันเกิดไปที่ไหน มันยังเกิดตายนะ ยังตายจากสถานะของมนุษย์ ตายแล้วก็ต้องเกิด เกิดแล้วก็ต้องตาย แล้วเกิดก่อนตายหรือตายก่อนเกิด ใครเกิดก่อนใครตายก่อนล่ะ ถ้าไม่มีการตายที่มันไปเกิดแล้วมันไปเกิดที่ไหน แล้วเราเกิดมานี่เพราะอะไรมันถึงเกิด ถ้าไม่มีจิตที่ดวงจะตายจากสถานะหนึ่งมาเกิดอีกสถานะหนึ่ง มันเอาอะไรมาเกิด แล้วการรักษา ถ้าเรายังไม่เข้าถึงฐานของจิตตัวนี้ เราจะเอาอะไรไปรักษา

แล้วศึกษามาก็ยึดมั่นถือมั่น เป็นการสร้างภาพหมด สิ่งที่สร้างขึ้นมามันไม่เป็นความจริง ถ้าไม่เป็นความจริง ปริยัติถึงต้องวางตรงนี้ วางให้ได้ ต้องวางเลย เวลาศึกษามาก็ศึกษา แต่ขณะประพฤติปฏิบัติต้องวางให้หมด แบบครูบาอาจารย์ที่ว่า “ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาใส่ไว้ในลิ้นชัก แล้วลั่นกุญแจมันไว้นะ เพราะในการประพฤติปฏิบัติมันจะออกมาขัดแย้งกัน” คือออกมาสร้างภาพ พอสร้างภาพเราก็จะติดภาพนั้น ในการประพฤติปฏิบัติถึงไม่ได้ผล

การประพฤติปฏิบัติเป็นวัฒนธรรมเฉยๆ จนขนาดที่ว่าเป็นวัฒนธรรมประเพณีของชาวพุทธ แล้วครูบาอาจารย์ของเรารื้อค้น พยายามรื้อค้นพยายามทำลายกิเลสในหัวใจออกมาให้ได้ แล้วสั่งสอนกันมา เพียงแต่ว่าพอออกมาในวงกว้างก็เลยทำเป็นแบบเป็นพิธีกรรม ทำให้เหมือน ทำให้เหมือนเท่านั้น นั่งสมาธิ คือ นั่งสมาธิ เดินจงกรม คือ เดินจงกรม แต่สักแต่ว่าเดิน สักแต่ว่าทำ เพื่อเป็นพิธีกรรม มันไม่เข้าไปถึงหัวใจหรอก

ถ้าเราจะทำให้เข้าถึงหัวใจนะ อะไรก็ได้ ทางจะเรียบ ทางจะไม่เป็นประโยชน์ขนาดไหน ถ้าใจมันทำขึ้นมามีสติสัมปชัญญะไม่ได้สักแต่ว่า ทำด้วยความจงใจ ทำด้วยความตั้งใจ พอมีความตั้งใจจงใจขึ้นมากิเลสมันก็พูดย้อนกลับ “นี่อัตตกิลมถานุโยค ทำไมต้องทำให้หนักลำบากลำบนกันขนาดนี้ แล้วมัชฌิมาปฏิปทาทางสายกลาง..” มันทางสายกลางของกิเลส กิเลสมันขี่หัวมาตลอดอยู่แล้ว ศึกษาธรรมมาก็ศึกษามาเพื่อเป็นโทษกับตัวเอง มาเป็นโทษกับตัวเองนะ

เวลาปฏิบัติขึ้นมาบอกว่า “สิ่งนั้นเป็นธรรม..สิ่งนั้นเป็นธรรม..” เข้าใจไปหมด มันเข้าใจอะไร แม้แต่สมาธิยังไม่รู้จักนะ ถ้าสมาธิรู้จัก ดูสิ เรากำหนดพุทโธๆ เข้าไป มันจะมีอาการอย่างไร มันต้องมีอาการเปลี่ยนแปลงสิ จากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน ปุถุชนกับกัลยาณปุถุชนต่างกันอย่างไร ต่างกันมหาศาลเลย เพราะกัลยาณปุถุชนเห็นคุณค่าของหัวใจของเรา เพราะหัวใจของเรามันเศร้ามันทุกข์ร้อนมาก แล้วมันดิ้นรนมันฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านมาตลอดเลย

นี่ฟุ้งซ่านแบบปุถุชน ปุถุชนควบคุมตัวเองไม่ได้หรอก ไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักอะไรเลย โรคจิตนะ จิตมันเป็นโรคก็ไม่ยอมรับว่าเป็นโรค ยังว่าตัวเองเป็นปกติอยู่ เป็นปกติแล้วเกิดทำไม ปกติแล้วตายทำไม มันต้องเกิดต้องตายเพราะอะไร เพราะมันผิดปกติไง แล้วผิดปกติ ดูสิ ดูคนเจ็บคนป่วยสิ เขาเอาไปไว้ที่โรงพยาบาลร้อยชั้นพันชั้น มันก็ไปเจ็บป่วยอยู่บนตึกร้อยชั้นพันชั้นนั้น

จิตก็เหมือนกัน ยกสถานะของตัวเองขึ้นมา “เรารู้อย่างนั้น เรามีปัญญาอย่างนั้น ปัญญาเราเกิดอย่างนั้น สมาธิเป็นอย่างนั้น” มันจะสร้างภาพขนาดไหนมันก็ไอ้โรคจิตป่วยอยู่อย่างนั้น! ไอ้โรคจิตฝังใจอยู่นั่นมันแก้ไขไม่ได้หรอก ถ้ามันจะแก้ไขของมันได้ มันต้องไม่ป่วยสิ มันต้องรู้ความจริงของมัน ถ้ารู้ความจริงของมัน ตั้งใจให้ดีแล้วตั้งสติให้ดี สิ่งที่รู้มาพยายามวางให้ได้ ต้องวางให้ได้นะ

ถ้าวางไม่ได้ ดูสิ มือเราสกปรก มือเรามีพิษ มือเรามีบาดแผลแล้วเราลงไปทำความสะอาด ไอ้พวกสิ่งที่เป็นความสกปรก สิ่งที่เป็นเชื้อโรคนั้นมันจะเข้ามือเราไหม ถ้าหัวใจเราผิดปกติ หัวใจเราไม่เป็นปกติ มันจะพิจารณาอย่างไร มันเข้าสมาธิไม่ได้ ไม่ได้หรอก มันขวางอยู่อย่างนั้นล่ะ มันถึงต้องวางให้ได้ แล้วคำว่าวาง พอจะวางขึ้นมา มันวางอย่างไร ถ้าปัญญาอบรมสมาธิก็ใช้สติควบคุมไป แต่ถ้าเป็นศรัทธาจริต ถ้ามันกำหนดพุทโธได้ พุทโธๆๆๆ ไปเรื่อยๆ

คำว่า พุทโธ เห็นไหม มันมีการกระทำ จิตมันต้องมีการกระทำ ก็บอกว่า “ปริยัติ ปฏิบัติ” ก็คำว่าปฏิบัติ ไม่ใช่ปริยัติ! ปริยัติ คือ ท่องจำ คือ อ่านสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษาแผนที่เครื่องดำเนินขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นพุทธภาษิต ถ้าเป็นสาวกภาษิตของครูบาอาจารย์เรา ของครูบาอาจารย์ที่เป็นสาวกภาษิต มันก็จะต้องเข้าทำนองคลองธรรมอันเดียวกัน

แต่ถ้ามันเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ต้องไปศึกษา! มิจฉาทิฏฐิก็ว่ากันไปตามวัฒนธรรมประเพณีเท่านั้น อ้างว่าเป็นพุทธ พอเห็นว่าเป็นครูบาอาจารย์ เห็นว่าเป็นพระพูดก็เชื่อเลย มันเชื่อไม่ได้! เพราะอะไร เพราะนั่นมันก็โรคจิตเหมือนกัน! จิตเขาป่วยแล้วป่วยมากกว่าเราอีก เพราะป่วยมากกว่าเรา คือ ป่วยแล้วไม่ยอมรับว่าป่วย ไม่ยอมรับว่าเป็นโรคจิต แล้วการกระทำเข้าไปก็ทำประสาให้โรคมันแพร่หลายออกไป ถ้าแพร่หลายมันก็เป็นโรคๆ หนึ่ง

แต่ถ้าเป็นธรรมของครูบาอาจารย์นะ มันไม่ใช่เป็นโรคจิต เพราะมันตรวจสอบได้ มันตรวจสอบได้นะ สมาธิก็คือสมาธิสิ ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระไตรปิฎก ชื่อของสมาธิก็มี ชื่อของธรรมก็มี มรรคนี่ชื่อทั้งนั้นแหละ แล้วผลมันอยู่ที่ไหน เพราะเราไม่รู้ความจริงของเรา เราก็สร้างภาพกันไปสภาวะแบบนั้น แต่ถ้าเป็นความจริงไม่ต้องโต้เถียงเลยว่าสมาธิ อ้าปากก็รู้แล้วว่าพูดถูกหรือพูดผิด

เพราะเราไปสร้างภาพกันว่าว่าง มันไม่มีกำลัง แล้วพูดก็พูดลอยๆ เหมือนกับเราไปดูสินค้าของคนอื่น ดูแก้วแหวนเงินทองของคนอื่น เห็นแล้วก็ตื่นตาตื่นใจอยู่ อู้ฮู มันไม่เคยมีเพชรเม็ดงามๆ กันอย่างนี้เลย แต่ไม่ใช่ของเรา! ถ้าเป็นของเรานะจะเม็ดเล็กเม็ดน้อยเม็ดใหญ่ขนาดไหน มันก็ปลื้มใจกว่าเยอะ ของของเรามันอบอุ่นกว่ามหาศาลเลย ถ้าจิตมันเป็นสมาธิมันจะเป็นอย่างนั้น มันไม่พูดลอยๆ อย่างนั้นหรอก สิ่งที่เป็นสมาธิ แล้วเวลาจะเข้าสมาธิเวลาจะทำความสงบของใจ มันต้องตั้งใจ ตั้งสติให้ดีๆ ตั้งสติดีๆ เห็นไหม

ดูสิ การเปลี่ยนแปลงของโลก การเปลี่ยนแปลงของต้นไม้ การเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ เรารดน้ำพรวนดินขนาดไหน มันถึงจะค่อยมีการเปลี่ยนแปลงเจริญเติบโตขึ้นมา จิตก็เหมือนกัน ถ้าปล่อยไปตามอำนาจของกิเลส มันก็เปลี่ยนแปลงไป มันอนิจจังทั้งนั้น สิ่งที่เราทำกันอยู่นี้ คนที่มีอำนาจวาสนา คนที่สร้างบุญกุศลมาทำอะไรก็ประสบความสำเร็จ ทำอะไรมันก็มีแง่ดีไปหมด นั่นก็โรคจิตนะ! โรคจิตเหมือนกันเพราะมันก็ไม่รู้ตัว มันเป็นเรื่องของอาการของใจ มันเป็นเรื่องของความคิด มันเรื่องของอำนาจวาสนาไม่ใช่เรื่องตัวของใจ มันก็ไม่ใช่สมาธิอยู่ดี

ถ้าเราทำแล้วเราขาดตกบกพร่อง เราปากกัดตีนถีบ เราทำแล้วอำนาจวาสนาเราไม่เหมือนคนอื่นเลย มันก็โรคจิตเหมือนกัน! โรคจิตมันมีต่างๆ กันไป การสร้างสมมาของจิตต่างๆ กันไป การประพฤติปฏิบัติถึงไม่ต้องเอาของใครเป็นตัวตั้ง เวลาฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังธรรมของครูบาอาจารย์ ให้มันเป็นประเด็นปลุกเร้าใจ สิ่งที่ประเด็นปลุกเร้า แต่จะให้เราเหมือน จะให้เราเป็น ดูสิ พ่อแม่ของเรามีลูกออกมามันจะเหมือนพ่อแม่ไหม มันเหมือนแต่มันก็ไม่ก๊อบปี้ออกมาทั้งหมดนะ แล้วความเป็นไปของจิตเราก็เหมือนกัน มันจะไม่เหมือนของใครหรอก เพราะอะไร

เพราะฌาน ความสงบนี้มันเป็นอจินไตย เป็นอจินไตยนะ มันกว้างขวางจนมันได้หลากหลายนานาทัศนะ ได้หลากหลายมาก ปล่อยให้มันเป็นไปตามความเป็นจริง ฟังนะ! ฟังว่าปล่อยให้เป็นไปตามความเป็นจริงไป สิ่งที่มันจะเป็นความจริงไป เรามีหน้าที่ของเราคือสร้างเหตุ หน้าที่ของเราต้องพุทโธๆๆ ไป ถ้าเราจะกระทำกรรมฐาน ฟังสิ ว่าเราเป็นพระ เป็นพระกรรมฐาน พระกรรมฐานสมาธิยังหาไม่เป็น นี่พระกรรมฐานเห็นไหม

เราเป็นมนุษย์ เป็นคฤหัสถ์ แล้วบวชมาเป็นพระ เวลาอุปัชฌาย์ญัตติจตุตถกรรมออกมาเป็นพระแล้ว เป็นพระขึ้นมามีตัวมีตน แล้วความรู้สึกของเรา หัวใจของเราแท้ๆ เลย แล้วสมาธิอยู่ที่ไหน เป็นพระกรรมฐาน แล้วความสงบของใจอยู่ที่ไหน แล้วใจมันสงบอย่างไร ถ้าใจมันสงบไม่ได้ แล้วพระกรรมฐานมันก็มีแต่ผ้าเหลืองห่มหัวตอเหรอ ถ้าผ้าเหลืองก็ส่วนผ้าเหลืองนะ ผ้าเหลืองในร้านเขามหาศาลเลย ที่ไหนเขาก็มีขาย คนโกนหัวเดี๋ยวนี้เขายิ่งนิยมใหญ่เลย นี่โลกเขากำลังนิยมนะ ไม่ต้องมีผมนี่กำลังนิยมกันมากเลย ไอ้นั่นมันเป็นเรื่องของโลก

แต่ในเมื่อเราเป็นสมมติสงฆ์.. ถูกต้องตามสมมุติ เราได้บวชแล้ว สิ่งที่ได้บวชแล้วอย่างนี้มันเป็นคติไง มันเตือนใจเรา เตือนใจให้เราขวนขวาย เตือนใจให้เรากระทำสิ ถ้าเราเป็นพระมันก็ต้องเป็นพระจากภายนอกและพระจากภายใน พระจากภายนอกนี่เป็นสมมุติสงฆ์ พระจากภายในนี้เป็นอริยสงฆ์ แล้วอริยสงฆ์มันเกิดที่ไหนล่ะ มันเกิดที่ไหนแล้วมันต่างกันตรงไหน ในมงคล ๓๘ ประการ “การได้เห็นสมณะเป็นมงคลอย่างยิ่ง” ได้เห็นสมณะที่แท้จริงนะ ไม่ได้เห็นพระทั่วๆ ไปนะ พระทั่วๆ ไปมันเป็นสงฆ์จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้เลย

แต่ถ้าเห็นอริยสงฆ์ขึ้นมา แล้วเรารู้ได้อย่างไรว่าเป็นอริยสงฆ์ เราก็คาดหมายเอาว่านี่กิริยานุ่มนวล นี่เรียบร้อย ถ้าเรียบร้อย... พระพุทธรูปเรียบร้อยกว่าอีก มันอยู่ที่จริตนิสัย ในการแสดงธรรม ถ้าธรรมมันออกมาจากหัวใจ ธรรมมันออกมาจากความจริง ถ้าไม่เคยประพฤติปฏิบัติมา พูดออกมาไม่ได้! พูดออกมาไม่ได้หรอก! เพราะสัญญาความจำมันเปลี่ยนแปลง ความจำกาลเวลามันเกาะกินหมด นั่นความจำ แต่ถ้าเป็นความจริง มันออกมาจากไหน ออกมาจากประสบการณ์ของจิต

ถ้าออกมาจากประสบการณ์ของจิต จิตเวลามีประสบการณ์ขึ้นมา มันเริ่มทำความสงบมันต่างกันอย่างไรกับไม่สงบ ไม่สงบ คือ มันฟุ้งซ่าน มันวิตกวิจาร มันแบกรับภาระ แบกไว้ทั้งหมดเลย อยากจะมีความสุข อยากจะพ้นจากทุกข์ นี่เพราะเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าจะเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันก็ต้อง “ศีล สมาธิ ปัญญา” สิ ศีลมันเป็นความปกติของใจ ใจนี่ให้มันมีศีลเข้าไป ถ้ามันผิดถูกเพราะอะไร เพราะกิเลสมันร้ายนัก ไอ้โรคจิต ไอ้โรคในหัวใจ มันกัดกร่อนใจ ร้ายนัก มันจะหาทางตะแบงตลอด ทั้งๆ ที่เป็นสมบัติของเรานะ

ถ้าเราทำอะไรผิดพลาดไว้ เรื่องของการผิดศีลนี่ เวลาประพฤติปฏิบัติมันจะคอยทิ่มในหัวใจเลย เพราะอะไร เพราะมันเกิดนิวรณธรรม มันเกิดความลังเลสงสัย เราเองทำของเรา คนอื่นเขาก็ทำของเขา เขาจะรู้อะไรไปกับเรา เราเป็นคนทำของเราแล้วเรานั่งสมาธิ มันจะคอยทำให้เราเกิดความลังเลใจ ถึงบอกว่า “ศีล สมาธิ ปัญญา” ศีลเป็นเรื่องธรรมดานะ เวลาบวชออกมา อุปัชฌาย์ญัตติขึ้นมาเป็นหมู่เป็นสงฆ์มันก็ ๒๒๗ อยู่แล้ว

แล้วถ้ามันผิดพลาดขึ้นมาเราก็ต้องปลงอาบัติ ปลงอาบัติก็เริ่มต้นใหม่ ปลงอาบัติ สิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วคือเกิดขึ้นแล้ว สิ่งต่อหน้าไปเราสารภาพแล้ว เราจะไม่ทำอีกต่อไป ต้องไม่ทำจริงๆ นะ ถ้าไม่ทำจริงๆ เวลาประพฤติปฏิบัติไปให้ศีลมันปกติขึ้นมา ให้ไม่มีสิ่งใดที่กิเลสมันจะเอามาฟันหน้าเราเองไง ถ้ามีอะไรตกตะกอนในหัวใจ กิเลสเอาสิ่งนั้นล่ะเหยียบย่ำเรา เหยียบย่ำตลอดไป “ศีล สมาธิ ปัญญา” ถ้ามีศีลขึ้นมาศีลมันเป็นปกติขึ้นมา มันก็มีความอาจหาญ

ถ้าคนมีศีลมีธรรมจะเข้าสังคมไหนก็ได้ มือเราไม่มีบาดแผล เราเป็นคนที่ไม่มีแผล จะเข้าที่ไหนก็ได้ เพียงแต่กิริยาของเรา ความเห็นของเรา เขาจะพอใจหรือไม่พอใจมันเรื่องของเขา จะให้คนชอบเราทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ ในเมื่อเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เราไปคิด เราไปคาดหมายสิ่งที่เป็นไปไม่ได้นี่ เราเป็นคนมีสติดีหรือ ถ้าเราเป็นคนมีสติดี สิ่งที่คาดหมายไม่ได้ สิ่งที่มันเป็นสัจธรรมอย่างนั้น เราต้องปล่อยไปตามเรื่องของเขา เราต้องดูแลใจของเรา

เพราะหน้าที่ของเราคือจะเอาเราไว้ในอำนาจของเรา เอาความสงบของใจขึ้นมาไว้ให้ได้ในอำนาจของเรา เราถึงจะต้องตั้งสติแล้วกำหนดพุทโธๆๆ ไป นี่โรคจิตนะ โรคของคนอ่อนแก่ต่างๆ กันไป จิตเวลามันเข้าสมาธิขึ้นมามันจะมีอาการต่างๆ กันไป ความเย็นของห้องกับความเย็นของอากาศจากภายนอกกับภายใน เวลามันกระทบกันมันจะมีความเย็นต่างกัน ดูสิ เวลาพายุมา ฝนตกฟ้าร้องมันเกิดจากอะไร ยิ่งถ้าความกดกับความกดอากาศมากระทบกัน ฝนมันจะตกมากมายกว่านี้ จนน้ำท่วมจนเกิดวาตภัยได้เลย

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อจิต ในเมื่อความสงบของใจกับสิ่งที่ว่ามันเป็นความสกปรกของใจ มันจะเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงของมันต้องมีสิ ความเปลี่ยนแปลงนะ คนจะสงบเฉยๆ ก็ได้ เวลากำหนดพุทโธๆ เข้าไป สงบนิ่งๆ ไปก็มี ดูสิ เวลาอากาศดีมันจะปลอดโปร่งของมัน เวลาอากาศที่กระทบกระเทือน เวลาอากาศที่มีแรงกดอากาศ ฤดูกาลต่างๆ มันเปลี่ยนแปลงไป จิตก็เหมือนกัน ในเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ถ้ามันมีความสงบเราก็รู้ว่าสงบนะ ถึงจะไม่มีการกระทบกันรุนแรง แต่มันเป็นนิสัยไง ถึงบอกว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาอย่างนี้เอามาเทียบเคียงกันไม่ได้

เราทำของเรา เราตั้งสติของเรา สงบก็คือเราสงบ ฟุ้งซ่านก็คือเราฟุ้งซ่าน ถ้ามันมีอาการจิตที่ตกจากที่สูง มีอาการตัวพอง มีอาการต่างๆ ขึ้นมา มันก็เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากใจ สิ่งที่เกิดขึ้นจากใจนี่มันเป็นความจริง แล้วเป็นความจริงมันต้องคอยประคอง สิ่งที่เป็นความจริง ดูสิ เราขับรถมา บนถนนมันมีรถข้างหน้าอยู่มากมายขนาดไหน รถที่ตามหลังเรามาก็ยังมี สัตว์ที่มันจะวิ่งตัดทางหน้ามันก็ยังมี ถ้าเราไม่ดูแลรถของเรา ไม่รักษารถของเรา รถของเราอาจประสบอุบัติเหตุก็ได้ แล้วถ้าประสบอุบัติเหตุแล้วเราจะเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเปล่า

นี่ก็เหมือนกัน สมาธิที่มันเกิดขึ้นมา อาการที่มันอาการของใจมันเป็น เราตื่นเต้นมันหลุดไปขนาดไหน เราก็ตั้งสติแล้วเริ่มต้นใหม่ มันไม่ใช่ทำของง่ายๆ หรอก มันทำได้ยากพอสมควร แต่ไม่พ้นวิสัยมนุษย์! ไม่พ้นวิสัยของสมณะ! ถ้าจิตมันสงบไม่ได้มันไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นสมณะมันจะเป็นสงฆ์ขึ้นมาได้อย่างไร ความสงบของใจ มันไม่พ้นวิสัยกับการจงใจของเรา เราตั้งใจเราจงใจแล้วเราพยายามกำหนดพุทโธๆ ของเราไป

ธรรมถ้าไม่ย้อนไปหาเหตุ สิ่งที่เหตุมันจะเป็นสภาวะแบบใดช่างหัวมัน เพราะอะไร เพราะมันเป็นการกระทบ สิ่งที่จิตมันจะเปลี่ยนแปลง สมาธิมันเป็นอย่างนี้นะ นี่คือสมาธิ! นี่คือปฏิบัติ นี่พระป่า พระปฏิบัติ ปฏิบัติกันอย่างนี้ มันต้องปฏิบัติขึ้นมาให้เห็นจริงจากใจ ถ้าใจมันปฏิบัติขึ้นมา มันได้ผลขึ้นมา นี่! สมณะอยู่ที่นี่ บวชขึ้นมานี่สมมติสงฆ์บวชขึ้นมาจากอุปัชฌาย์แล้ว แต่ขณะที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่บวชใจของตัวเอง บวชด้วยธรรมและวินัยนี้ไง ธรรมและวินัยบวชเราขึ้นมา

ถ้าบวชเราขึ้นมามันก็จะเป็นความสงบของใจ ใจมันสงบเข้ามา เพราะค่อยๆ ทำ มันจะลงลึก ลงแรง บางทีมันตกจากที่สูงนะ มันจะวูบขนาดไหน เป็นธรรมดาของคน ธรรมดาของจิตมันจะกลัวตาย พอสิ่งนั้นเกิดขึ้นมามันสะดุ้ง พอสะดุ้งขึ้นมามันก็ออก มันไม่ได้ผลอันนั้น นี่ที่ว่าเวลาเปิดเข้าไปในอากาศที่กระทบกันจากภายนอกและจากภายใน อากาศออกมานี่ เราอยู่ในอากาศที่ร้อนแล้วเข้าไปในความเย็น เราจะผงะออกมาเลย ดูสิ เวลาคนเปลี่ยนอากาศบ่อยๆ จนคนเจ็บไข้ได้ป่วยได้

จิตเวลามันจะเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน จิตเปลี่ยนเป็นกัลยาณปุถุชน เพราะมันควบคุมง่าย สิ่งที่ควบคุม จิตนี่มันไปติดในอะไร ติดในรูป รส กลิ่น เสียง นี่แหละ รูป รส กลิ่น เสียง นี่มันเป็นประโยชน์กับโลกเขา การสื่อสารมวลชน เขาใช้รูป รส กลิ่น เสียงนี่แหละ เสียง ภาพต่างๆ เขาใช้เป็นการสื่อสารมวลชน เขาใช้เป็นอาชีพของเขา เขาใช้เป็นการข่าวของเรา สิ่งที่สื่อสารถึงกัน สิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับโลก แต่ไม่ได้เป็นประโยชน์กับเราเลย

เพราะไม่ใช่เรื่องของเรา เรื่องของเรา คือ เราจะหดตัวเข้ามา เราจะทวนกระแสกลับเข้าไปอยู่ที่จิต เราจะไปทำให้จิตเราเป็นปกติ เราจะทำให้จิตเราไม่เป็นโรค สมาธินี่ทำให้จิตมันเป็นปกตินะ แต่ปกติชั่วคราว ถ้าจิตมันกลับมาสงบได้ สงบได้ มันเริ่มเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ คนทำใหม่ๆ นี่คือหลักการ แต่ไม่ใช่เอามายืนยันว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ คำว่าเป็นอย่างนี้ เห็นไหม

ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ถ้าจิตสงบพอสมควรแล้วให้ออกฝึกในทางปัญญา ออกฝึกทางปัญญานะ ถ้าเราอยู่กับสมาธิ เหมือนกันเราย่ำอยู่กับที่ พอย่ำอยู่กับที่จิตมันก็ไม่พัฒนา แต่ถ้าเราก้าวเดินบ้าง เราพยายามยืนตัวให้ได้ มีจุดยืน ยืนให้ได้ แล้วก็ออกก้าวเดินบ้าง เด็กเวลาเขาจะฝึกเด็ก เด็กโดยธรรมชาติเวลาเกิดมาต้องให้นั่ง ให้หัดคลาน หัดยืน หัดเดิน ถ้าไม่เดินมันก็เป็นคนพิการสิ จิตเวลามันสงบขึ้นมา ถ้ามันอยู่กับความสงบแล้วพยายามหัดเดิน หัดก้าวออกไป

หัดก้าวออกไปมันก็คือหัดใช้ปัญญาไง หัดทดสอบหัวใจให้จิตมันเป็นปกติ เหมือนคนไข้ที่เขาจะทำการผ่าตัด ถ้าคนไข้หนักมาเขาต้องฟื้นฟูคนไข้นั้นให้มีกำลังขึ้นมาก่อน ถ้าคนไข้อ่อนแอมา คนไข้ช็อกมา เขาไม่ทำการผ่าตัดหรอก จิตก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันผิดปกติมันเป็นโรคมันอยู่ มันอ่อนแอมันไม่เข้าใจสิ่งใดๆ เลย มันดิ้นรนของมัน เจออะไรมันก็ตกอกตกใจ มันจะไปทำอะไรได้ แต่ถ้ามันเป็นจิตปกติขึ้นมา เหมือนกับคนไข้เขาแค่เตรียมการผ่าตัดนะ

นี่ก็เหมือนกัน จิตของเรามันผิดปกติมันมีโรค มันเลยฟุ้งซ่าน พอฟุ้งซ่านมันก็เป็นความทุกข์ใจ พอความทุกข์ใจแล้วอยากประพฤติปฏิบัติก็สร้างภาพ สร้างภาพว่าเป็นอย่างนั้น จิตจะเป็นอย่างนี้ ว่างๆ อย่างนั้น ว่างอย่างนั้นแล้วมันได้อะไรขึ้นมา ขณะที่ยังมีศรัทธา ขณะที่จิตมันมีอำนาจวาสนา เพราะมันศรัทธาในศาสนา เห็นครูบาอาจารย์ประพฤติปฏิบัติ แล้วครูบาอาจารย์ยืนยันว่ามรรคผลนิพพานมี เราก็มั่นใจของเรา แล้วเราไปทำขณะที่จิตมันดีมันก็เป็น ภาพมันเกิดขึ้นมาอย่างนั้น

ถ้านิพพานก็นิพพานสร้าง นิพพานสร้างมันไม่มีเหตุไม่มีผล คนเรามันจะเป็นไปจิตมันต้องมีการผ่าตัดนะ เพราะอะไร เพราะมันละสังโยชน์ความเห็นผิด สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส นี่พระโสดาบัน มันต้องมีการกระทำของมัน นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราผ่าตัด ดูสิ เขาเตรียมคนไข้ขึ้นไปแล้วเขาผ่าตัด ถ้าหมอวินิจฉัยผิด เขาบอกว่าเป็นไส้ติ่ง พอผ่าเข้าไปมันไม่มี เจ็บฟรีๆ เลย เสียตังค์ด้วยเจ็บตัวฟรีอีกต่างหาก

นี่ก็เหมือนกัน ในขณะที่ว่าเราจะพิจารณา.. พิจารณาอะไร ในเมื่อกำลังเราไม่มีจะพิจารณาอะไร กลับไปเป็นปกติ ปกติแล้วหมออยู่ไหน หมอคือมรรคญาณไง มรรค ความเห็นชอบ ความเพียรชอบ งานชอบ สมาธิชอบ การดำเนินกิจที่ชอบ แล้วจิตมันดำเนินอย่างไรให้มันชอบ ถ้ามันชอบทำไมมันลังเลสงสัย แล้วพอมันชอบขึ้นไป นี่สิ่งที่ว่าเป็นการสร้างขึ้นมา สมาธิก็สมาธิสร้าง ปัญญาก็ปัญญาสร้าง พอสร้างขึ้นมาว่า “นี่นิพพานๆ” นิพพานทำไมสงสัยล่ะ

มันติดได้นะ ถ้าจิตมันสงบได้ ขณะที่เป็นปกติมันก็ยังติดได้ คำว่าติด.. ครูบาอาจารย์สำคัญตรงนี้ไง เราเข้าไม่ถึงกันเอง “โลกียปัญญา” ปัญญาที่จำมานี่เป็นปัญญาของโลก ปัญญาของกิเลส ถ้าโลกุตตรปัญญามันเกิด แม้แต่ปุถุชน กัลยาณปุถุชน ถ้าคนปฏิบัติไปครบวงจร ย้อนกลับมาเห็นชัดเจนมากเลย แต่ในการประพฤติปฏิบัติเหมือนคนทำงาน เราทำงานอยู่ งานกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม เราขะมักเขม้นทำงานอยู่เราจะไม่รู้อะไรเป็นอะไรเลย

แต่ให้ตั้งใจแล้วมีความเข้มแข็งไป ทำไปเรื่อยๆ ทำขึ้นไปมีครูบาอาจารย์คอยตรวจสอบให้ ถ้ามีครูบาอาจารย์ตรวจสอบให้เราต้องหมั่น ดูสิ เวลาเขาตั้งบริษัทเขาต้องมีที่ปรึกษา เขาต้องมีบริษัทวิจัยคอยหาข้อมูล แล้วบริษัทที่ตั้งขึ้นมาแล้วก็ลุยไปอย่างนั้นเลย ผิดถูกก็ลุยไปหมด ล้มไปทั้งนั้นล่ะ นี่ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน หมู่คณะของเรา เราอยู่กับครูบาอาจารย์มีอะไรทำไมไม่ปรึกษาล่ะ นี่บริษัทที่ปรึกษาก็มี สิ่งต่างๆ อย่างนี้มันมีอยู่แล้ว มันเหมือนชุบมือเปิบนะ

ครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่นแสวงหาขนาดไหน จะหาใครปรึกษาได้ที่ไหนมีแต่ตู้พระไตรปิฎก ค้นคว้าแล้วตรวจสอบแล้วออกปฏิบัติ กลับมาแล้วก็เปิดพระไตรปิฎกตรวจสอบ ตรวจสอบแล้วก็ออกปฏิบัติ มีแต่ที่ปรึกษา ที่ปรึกษาก็เป็นปุถุชนด้วยกันนี่ไง ปรึกษากับหลวงปู่เสาร์ ปรึกษากับเจ้าคุณอุบาลี ปรึกษามาตลอด ปรึกษามาเพราะอะไร เพราะมันขาดช่วงจากความเป็นจริงมาไง มันมีแต่ประเพณีวัฒนธรรมเท่านั้นล่ะ แล้วปฏิบัติกันเป็นประเพณี แล้วคนที่ปฏิบัติจริงก็ไม่เห็นด้วยนะ นี่ว่าอัตตกิลมถานุโยค บวชแล้วก็อยู่เฉยๆ ญาติโยมเขาทำบุญนี่ศาสนาก็มีเท่านี้ ไอ้นี่มันเรื่องเปลือกๆ !

“สัปปายะ” เป็นสัปปายะเห็นไหม อาหารเป็นสัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะ ครูบาอาจารย์ยังไม่มี หมู่คณะเป็นสัปปายะ แล้วนี่ของเรามันมีพร้อม มีพร้อมมันก็ต้องมีความจงใจ ความแตกต่างมันมีตลอดนะ ถ้าความแตกต่างไม่มี ทำไมชื่อมันต่างกัน ทำไมเป็นปุถุชน ทำไมเป็นกัลยาณปุถุชน แล้วกัลยาณปุถุชนแค่ทำความสงบของใจ รักษานี่มันจะเห็นของมัน เห็นของมันนะ ไม่ต้องไปวิตกวิจาร วิตกวิจารเกินไป... เราทำหน้าที่ของเรา แล้วเราก็ไปวิตกวิจารว่าจะไม่ได้อย่างนั้น ตัณหาซ้อนตัณหา

ในทางธรรมบอกว่า “ความอยากนี้เป็นตัณหา เป็นกิเลส” แต่ผู้ที่ปฏิบัติ “ความเพียรชอบ” มันมีชอบกับไม่ชอบ ถ้ามันเป็นชอบมันไม่เป็นกิเลสหรอก เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้มันเป็นมรรค เป็นมรรคก้าวดำเนินนะ ในศาสนาเราบอกให้ปล่อยวางไม่ต้องทำอะไรเลยเป็นศาสนา ไม่ใช่หรอก! พระพุทธเจ้าให้ขยันหมั่นเพียร แต่เราไม่วิตกกังวลไง ถ้าวิตกกังวลมันจะทำให้จิตของเรามันไม่เป็นธรรมชาติ ไม่เป็นธรรมดา จิตที่จะเกิดขึ้นมาต้องเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดาก่อน

สิ่งที่เราทำขึ้นมานี่มันไปฝืน ฝืนเพราะอะไร เพราะเหมือนกับเราเห็นที่สูงเห็นภูเขานี่ เรากล้าปีนขึ้นไหม เห็นภูเขาสูงมากเลยแล้วก็มองกัน โอ้โฮ.. ท้อใจเลยนะ นี่ก็เหมือนกัน เราไปยึดว่าธรรมวินัยไง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่มรรคผลนิพพาน แล้วเราจะเอาให้ได้เลย แล้วก็มอง..

เราไม่ต้องมองภูเขานะ ภูเขาจะสูงเท่าไหร่ช่างหัวมัน! เดินขึ้นไปเถอะ ปีนป่ายขึ้นไปเถอะ สูงขนาดไหนก็อยู่ใต้เท้าเรา ถ้าไปยืนอยู่ยอดภูเขาแล้วนะ ภูเขามันจะสูงขนาดไหนล่ะ เพราะภูเขามันอยู่ใต้ฝ่าเท้าเรานะ!

นี่ก็เหมือนกัน เราตั้งสติของเรา แล้วเราพุทโธๆๆ ของเราไป ไม่ต้องไปวิตกวิจาร อย่าวิตกวิจาร วิตกวิจารนี่มันเป็นการเกร็ง มันทำให้เราทำอะไรไม่สะดวก แล้วเราก็ห่วงเวลานะ ตั้งไว้เลยนะ ๕ วัน ๑o วันแล้วไม่ได้อย่างใจนะ โอ๋ย.. ทุกข์มาก นี่โรคจิต แล้วมันก็ทำลายจิต โรคของจิตนะ อยากเป็นอยากไป แล้วเวลาเอาสิ่งที่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เอามาทำลายตัวเอง ทำอย่างโน้นไม่ได้ ทำอย่างนี้ไม่ได้ ก็ให้เหยียบย่ำตัวเองไปอีก เหยียบย่ำหัวใจไปอีก เหยียบไปให้เรื่อยๆ

แต่ถ้าเป็นภาคปฏิบัติครูบาอาจารย์จะบอกเลยว่า “วางให้ได้” คำว่า “วาง” คือ วางตัณหาความทะยานอยาก แต่ความเพียรที่เราเป็นความชอบตามเป้าหมายนี่ อธิษฐานบารมีนะ

บารมี ๑o ทัศเห็นไหม ทานบารมี ศีลบารมี อธิษฐานบารมี อธิษฐานเป้าหมาย เป้าหมายมันมีแล้ววางไว้ แล้วทำให้ถึงเป้าหมายนั้น เราตั้งเป้าหมายไว้แล้วอย่าไปห่วงมัน แต่นี่ตั้งเป้าหมายไว้แล้วเอาก็เป้าหมายมาเปิด วันหนึ่งก็ดูแต่เป้าหมายๆ แต่สติไม่มีเลย แต่ไม่เคยคิดถึงคำบริกรรมเลย ทิ้งมันไปเลย จะเอาแต่นิพพานเลย “ของนี้ของต่ำๆ กรรมฐานนี่ฐานที่ตั้ง พุทโธนี่ของต่ำๆ ไม่มีความหมายเลย”

แล้วความคิดเกิดขึ้นมามันก็เป็นธรรมสร้าง เป็นสมาธิสร้าง ถ้าจิตมันยังดีอยู่มันก็สร้างได้ แต่ถ้าจิตมันตกนะ สร้างอย่างไรมันก็ไม่ขึ้น สร้างอย่างไรทุกข์ท่วมหัว เวลาทุกข์ท่วมหัวขึ้นมามันจะทุกข์มากเลย

มันถึงต้องเริ่มต้นจากเรา ถ้าเราทำความสะอาดของใจ ใจเราสะอาด ทำความปกติของใจ แล้วเราพยายามตั้งสติ สำคัญคือสติเลย ตั้งไว้แล้วกำหนดพุทโธไป แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาชนนะเวลาพุทโธๆ มันจะไม่อยู่ พอมันไม่อยู่มันก็อึดอัด พออึดอัดให้เราลุกขึ้นมาแล้วเดินจงกรม เดินจงกรมเลยให้มันคิดไป

ถ้าเราคิดนะ จะว่าคิดก็คิดเรื่องธรรมะหรือคิดเรื่องโลกก็ได้ เพราะอะไร เพราะความคิดโดยธรรมชาติของมัน มันก็คิดของมันเป็นธรรมชาติของมัน แต่มันไม่มีสติ มันไม่มีการใช้ประโยชน์ ดูสิ แรงลมต่างๆ แหล่งน้ำถ้ามันไม่เป็นประโยชน์มันก็ไหลลงทะเลไปหมด ถ้ามีใครฉลาดกักไว้ แรงลมเขาทำกังหันเขาปั่นไฟได้ เขาเอาแรงลมมาใช้ประโยชน์ขึ้นมา เขาทำได้ทั้งนั้น ดูดน้ำก็ได้ เอาน้ำเข้านาก็ได้ ต่างๆ ก็ทำได้ เพราะสิ่งที่มันเป็นประโยชน์ รู้จักใช้ประโยชน์มัน

ความคิดก็เหมือนกัน ความคิดที่มันเคยคิด มันคิดทิ้งขว้าง คิดไปทิ้งไป คิดแล้วก็ทิ้งไป แล้วก็บอกความคิดนี่เป็นความทุกข์ แต่ถ้ามีสติขึ้นมาเราดูความคิดไป แต่เดิมมันคิดแล้วมันพ่นพิษให้ใจ โรคจิตนี่มันคิดนะแล้วมันก็คายพิษไว้ แล้วก็พิษนั้นมันก็ขยายแผลในหัวใจ แต่เราตั้งสติไว้ เวลามันคิดตามมันไป ตามมันไปเก็บมันได้ แรงลมเราตั้งกังหันให้ได้ ลมมาแต่เดิมนี่มันพัดสิ่งต่างๆ ต้นไม้เลากานี่ล้มระเนระนาด เราตั้งกังหันขึ้นไปลมมากังหันมันจะหมุนของมันทันที แล้วมันจะเกิดพลังงานของเราขึ้นมา

เวลามันคิดปล่อยมันคิดไป แล้วสติตามมันไป ตามมันไป สิ่งที่ตามมันไป มันมีสติคุมมันเป็นพลังงาน ความคิดเหมือนกัน ความคิดอันหนึ่งคิดโดยธรรมชาติของมัน แล้วมันจะคายพิษไว้ในหัวใจ ทุกข์ร้อนมาก ความคิดอันหนึ่งคิดเหมือนกันนี่แหละ แต่คนคิดเป็นผู้คิดที่มีสติปัญญา ผู้คิดเป็นศากยบุตร ผู้คิดเป็นสมณะ ผู้คิดตามความคิดนี้ไป ความคิดนี้มันคิดถึงจนจบสิ้นกระบวนการของมัน อะไร? คิดมาทำไม? คิดมาแล้วใครเป็นผลของความคิด? คิดขึ้นมามีความทุกข์ขึ้นมามันเกิดจากใคร? เห็นไหมผลตอบสนองมันมี มันมีความเห็นในใจ หูตามันสว่างขึ้นมา

แต่เดิมตามืดบอดไม่เคยรู้จักตัวเองเลย ตัวเองจะคิดขนาดไหนก็เหยียบย่ำหัวใจ คายพิษทุกข์ร้อนแล้วก้มหน้ายอมรับความจำนนกับมันอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าพอสติมันตามทันไป ตามความคิดไป มันจะเห็นผลงานของมัน การเห็นนี่คือปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิเท่านั้น เพราะผลของการสิ้นสุดกระบวนการของมัน คือ พลังงาน สิ้นสุดกระบวนการของมัน คือ กรรมฐาน เพราะอะไร เพราะจิตมันไม่ปกติ คิดขนาดไหนจิตมันก็กลับมาเป็นปกติ สิ่งที่กลับมาเป็นปกติ เห็นไหม

ในการผ่าตัด เตรียมตัวผ่าตัดแล้วเข้าห้องผ่าตัด ห้องผ่าตัดอยู่ที่ไหน? ถ้าใครเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม ด้วยใจ! ไม่ใช่เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม ด้วยสร้าง! ความเห็นที่สร้างด้วยสามัญสำนึกมันเห็นโดยธรรมชาติ ดูสิ มันเห็นแล้วมันไม่สะเทือนหัวใจ เหมือนพลังงานที่เขาใช้สูญเปล่า พลังงาน ดูสิ แม่น้ำ แหล่งน้ำมันไหลลงทะเลไปเฉยๆ อย่างนั้นเลย แต่ถ้าเราเอามาเป็นประโยชน์ขึ้นมา เรามีการทำฝายต่างๆ มันจะใช้ประโยชน์อะไรขึ้นมา นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่มันเป็นประโยชน์กับเราขึ้นมา ประโยชน์ขึ้นมาคือมันเห็นความเป็นไป

จิตถ้าเป็นกรรมฐานแล้ว จิตที่มันมีทางมาแล้ว จิตที่เป็นสมาธิแล้ว “ศีล สมาธิ ปัญญา” ปัญญาจะเกิดขึ้นมาถ้าจิตมันสภาวะ.. ความคิดมันเกิดมาจากไหน? “ความคิดไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ความคิด” แล้วเวลาความคิดมันเกิดขึ้นมา ใครไปเอาความคิดมาล่ะ ความคิดมันไม่มีมันก็ไม่เผาเรา ไฟอยู่เฉยๆ เอามาเผาเราทำไม ไฟมันอยู่ข้างนอกแล้วเอามาเผาลนเราให้เราทุกข์ร้อนทำไม แล้วมันไปเผาลนใครไปเอาไฟมาล่ะ ก็มือไปเอามาใช่ไหม?

นี่ก็เหมือนกัน ความคิดใครมันคิดได้อย่างไร ขันธ์ อาการของใจกับใจมันเกิดขึ้นมาอย่างไร? มันสัมพันธ์กันอย่างไร? แล้วมันสืบต่อกันอย่างไรมันถึงเป็นความคิด ถ้าเห็นสภาวะแบบนี้ นี่วิปัสสนา คำว่า “วิปัสสนา” คือ เห็นอาการของใจ ใจและอาการของใจที่มันสืบต่อกันจนให้ผล การทำงานโดยสัญชาตญาณของขันธ์กับจิต ที่มันเสวยอารมณ์ที่มันกระทบกระเทือนกัน ถ้าจิตมันเข้าไปจับต้องสภาวะแบบนี้มันแยกได้ จากปัญญาอบรมสมาธิ เวลามันคิดนี่มันคิดไปแล้ว เหมือนพลังงานที่มันมีไปแล้วเราตามมันไป เหมือนกับเราทดสอบวิทยาศาสตร์ในหัวใจของเรา

เราตั้งกังหัน เวลากังหันมันหมุนขึ้นมา มันหมุนมันมีพลังงาน แล้วเรามีแหล่งน้ำ มันเห็นผลงาน พอเห็นผลงาน.. “อ้าว ทำไมเป็นประโยชน์อย่างนี้” นี่ก็เหมือนกัน ถ้าสติมันทำขึ้นไป มันตามความรู้สึกไปมันปล่อยอย่างนั้น มันปล่อยมา มันปล่อยมา จนจิตเป็นปกติ พอจิตเป็นปกติแล้วถ้าจะวิปัสสนามันจะเห็นอาการที่จิตมันเสวยอารมณ์ เสวยอารมณ์นะ ถ้าไม่เสวยอารมณ์เราจะพิจารณาอะไร อะไรเป็นสมุฏฐานของโรค เราจะผ่าตัดใคร แล้วคนไข้เขาเป็นโรคอะไร ถ้าคนไข้หมอจะผ่าตัดหมอก็ต้องวินิจฉัยก่อนนะ ว่าคนไข้เป็นโรคอะไร ไม่ใช่จะผ่าทั้งตัวแล้วหาโรคนะ

นี่ก็เหมือนกัน มันไม่ใช่ว่าเราไม่เข้าใจแล้วจะจับต้องสิ่งใดได้ ไม่ใช่! มันจะเห็นนะ ถ้าจิตมันเห็นอาการ มันเสวยอารมณ์ อารมณ์เห็นไหม ขันธ์ อารมณ์ความรู้สึกมันแบ่งแยกได้ ความรู้สึกนะ อารมณ์โกรธนี่ถ้าสติทันมันหยุดได้หมด หยุดนี้ คือ การหยุดโดยกำลัง แต่ถ้าใช้ปัญญามันจะแยกเลย โกรธเพราะอะไร โกรธเพราะมีข้อมูล มีสัญญา แล้วเวลาสัญญามันมีเวทนารับรู้ดีหรือชั่ว แล้วทำไมถึงปรุงแต่ง ปรุงแต่งเพราะว่ามันรับรู้แล้วมันก็ปรุงแต่งไป นี่มันวนไปตามธรรมชาติของมันอย่างนั้น

แล้วถ้าปัญญามันเข้าไปแยกออกไป จากปัญญาอบรมสมาธิ เป็นการตามทันความรู้สึกแล้วมีพลังงานเท่านั้น กับขณะที่วิปัสสนาไปมันมีการใคร่ครวญการแยกออกไป เช่นการกระทำของมัน จากสิ่งที่เป็นน้ำ ในน้ำนั้นมีเชื้อโรค ในน้ำนั้นมีสี มีกลิ่น มีอะไรต่างๆ ความคิดก็เหมือนกัน ในความคิดอันหนึ่งมันมีขันธ์ ๕ มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วกิเลสมันสอดเข้ามาได้อย่างไร เพราะความเน่าเสียของมันทำให้บูดเน่า นั่นผลของการตอบสนองของกิเลส แล้วเราแยกให้ออกจนเห็นสัจจะความจริงอันนั้นขึ้นมา มันปล่อยวางเข้ามาเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา การปล่อยวางคือปัญญามันเกิด นี่วิปัสสนามันเกิดอย่างนี้

ถ้าวิปัสสนาเกิดนี่คือปัญญาวิมุตตินะ ปัญญาวิมุตติมันใช้ปัญญาใคร่ครวญ แต่ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ พุทโธๆๆๆ จิตมันสงบเข้ามาเป็นพื้นฐาน จิตต้องสงบเป็นพื้นฐานนะ สงบเข้ามา สงบเข้ามา แล้วสงบขึ้นมาอย่างนี้จิตมันมีกำลัง ถ้ามันจะสุขสงบเข้ามาโดยไม่มีอาการต่างๆ ก็สงบเข้ามา แล้วฝึกทำความสงบบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้าจนมันเป็นฐานตั้งมั่น! ถ้าฐานไม่ตั้งมั่นสมาธิเราคุมไม่ได้ สมาธิเกิดขึ้นมาเดี๋ยวสมาธิก็เป็นอนิจจัง สมาธิก็เสื่อมไป สมาธิเสื่อมไปเพราะเหตุใด เพราะเราไม่มีสติ เราคุมไม่เป็น เราไม่มีโอกาสรักษาสมาธิของเรา

ถ้าเราไม่มีโอกาสรักษาสมาธิของเรา เพราะเวลามันเสื่อม มันเสื่อมต่อหน้านะ พยายามพุทโธๆ แล้วมันก็ถอยกรูดๆ เสื่อมหมดเลยเพราะอะไร เพราะพุทโธส่วนพุทโธสิ กิเลสมันไม่ฟังพุทโธหรอก กิเลสมันก็ต่อต้าน กิเลสมันก็สร้างสถานการณ์ของมัน สร้างเหตุตัวแปรของมันในหัวใจ หัวใจมีตัวแปรนะ เราเคยพุทโธๆ แล้วพุทโธวันนี้ดีมาก ลงมากเลย พรุ่งนี้พุทโธใหม่ พุทโธไม่ลงเลย กิเลสมันรู้ทันแล้วมันจะมีความโต้แย้งในหัวใจเรา ความรู้สึกนี่เพราะอะไร เพราะกิเลสมันอยู่หลังความคิด กิเลสเป็นคนใช้ความคิดเรานะ กิเลสมันอยู่กับเรา

ดูสิ เวลาเราศึกษาปริยัติขึ้นมา เวลาเราทำไปมันก็สร้างภาพไป สร้างภาพไป ถ้าสร้างภาพไปมันไม่เป็นความจริงเลย แต่ขณะที่เราพุทโธๆๆ ไป ถ้ามันสงบขนาดไหน เวลาพุทโธซ้ำอีก กิเลสมันรู้ทันแล้วมันก็ต้องมีอุบายวิธีการว่าเราจะต้องตั้งสติ เราจะต้องพุทโธให้เร็วขึ้น หรืออุบายให้พอประมาณ หรือช้าลง หรือออกไง นี่มันมีการเปลี่ยนแปลง เพราะกิเลสมันอยู่กับเรานะ โรคมีในเรา โรคจิตนี่จิตเราเป็นโรคอยู่ แล้วถ้าเราไม่เอายาคุมมัน ไม่ทำอะไรเลย โรคมันจะยิ่งหนักหนาสาหัสสากรรจ์ไปเรื่อยๆ ถ้าเรากินยาคุม โรคจิตเขาต้องกินยาคุมนะ เขาต้องรักษาตลอดนะ แต่คนที่เป็นโรคจิตมันก็ไม่ยอมรับสภาวะแบบนี้

นี่ก็เหมือนกัน กิเลสมันไม่ยอมรับหรอก กิเลสมันอยู่กับจิต กิเลสมันเป็นตัวตนของจิตเลย แล้วธรรมะเราสร้างขึ้นมา สติเราก็สร้างขึ้นมา สิ่งต่างๆ เราก็สร้างขึ้นมา สร้างขึ้นมาเป็นชั่วครั้งชั่วคราว ถ้ามีสติสร้างขึ้นมามันก็เป็นเนื้อหาสาระ ถ้าไม่มีสติสร้างขึ้นมามันก็เป็นการสร้างภาพ กิเลสมันก็เลยเอามาหลอกใช้อีก มันก็เลยฟาดใส่หน้าเราอีก เราก็ล้มลุกคลุกคลาน เราก็ต้องพลิกแพลงใหม่ พลิกแพลงของเราตลอดไป อย่าให้สิ่งที่เป็นหัวใจกับเรา อย่าให้ทิฏฐิมานะว่าเรารู้มาก เราเข้าใจมาก จะรู้มากจนสุดขอบฟ้าขนาดไหน ขณะที่พุทโธไม่ต้องการใช้ความรู้อันนั้น

ขณะที่พุทโธต้องการคำบริกรรมคำเดียว สิ่งที่รู้มากมหาศาล ที่เป็นความเข้าใจที่เราเข้าใจมา เราเป็นคนเหนือโลกขนาดไหน ทิฏฐิมานะอันนี้มันทำให้สมาธินี้เสื่อม มันทำให้เราเข้าสมาธิแล้วสมาธิมันเกิดๆ ดับๆ เกิดดับนะเพราะอะไร เพราะมันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญอยู่อย่างนั้น ขณะที่เรารู้มาก เวลาเราสื่อสารกัน เรามาคุยกัน เรามาวินิจฉัย เช่น คราวนี้เรานั่งสมาธิแล้วเวลามันเป็นไปไม่ได้อย่างที่เราพอใจเลย ออกมาก็ต้องหาสมุฏฐาน มันเป็นเพราะอะไร

เพราะเราฟั่นเฟือน เพราะเรามัวแต่ไปคิดแต่เรื่องไร้สาระ เพราะเราจะไปคิดแต่สมบัติของคนอื่น เห็นเขานับตังค์ก็ไปดูแต่ตังค์คนอื่น เห็นคนอื่นเขามีเงินก็ไปมองเงินคนอื่น สิ่งนี้มันได้ประโยชน์อะไร ได้ประโยชน์ที่ทำให้เราเสียพลังงานเปล่าๆ เราไม่ได้ประโยชน์อะไรกับเราเลย ถ้าอย่างนั้นปั๊บเดี๋ยวเรากำหนดพุทโธใหม่ เราจะไม่เอาสิ่งนั้นให้เข้ามาตอบสนองกับอารมณ์ความรู้สึกกับเราเลย เราตั้งสติให้ดี กำหนดให้ดี ทำให้ดี ทำไปเรื่อยๆ ทำบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้ง จากจิตสงบบ่อยครั้ง การรักษานะ

การตีเมืองตีได้ง่าย การรักษาเมืองที่ตีได้แล้ว รักษาได้ยาก

นี่ก็เหมือนกัน สมาธิทำได้แสนยากเลย แต่การรักษาสมาธิอยู่กับเราบ่อยครั้ง บ่อยครั้ง ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เพราะยากเข้าไปอย่างนี้มันถึงยกขึ้นวิปัสสนากันไม่ได้ไง! เวลาสมาธิที่ปฏิบัติกัน กับปฏิบัติเป็นประเพณีวัฒนธรรมก็บอกว่า “ว่างๆ ว่างๆ” แล้วทำอะไรไม่เป็นเลย ไม่เคยเห็นกาย! ไม่เคยเห็นต่างๆ เห็นโดยสามัญสำนึก ไม่เคยเห็นเป็นสัจจะความจริงเลย! แต่ถ้าจิตมันสงบนะ เราพยายามทำบ่อยครั้งๆ เข้า ให้กรรมฐานให้ฐานมันตั้งมั่น “ฐานที่ตั้งแห่งการงาน” งานจะเกิดจากตรงนี้ ถ้าเห็นกาย กายจะลอยเข้ามาเลยนะ

ถ้าคนมีอำนาจวาสนาทำสมาธิ มันก็มีอำนาจวาสนาของคนทำ ประเด็นของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน เวลาเป็นวิปัสสนาก็เหมือนกัน บางคนนะสงบแล้วก็สุขสงบอยู่อย่างนั้น นึกว่าสงบนี้เป็นนิพพานนะ จนต้องมีครูบาอาจารย์คอยกระชาก คอยเคาะให้ออกวิปัสสนา

“ยืนมาตั้งนานแล้ว ทำไมไม่หัดเดินเสียที! ให้ก้าวออกไปสิ! ขานี่ยกขึ้นก้าวออกไปมันก็เดินไปแล้ว ทำไมไม่ยอมเดิน?”

“อ้าว.. เดินมันเหนื่อย เดินมันต้องก้าวใช่ไหม ยืนเฉยๆ นี่นิพพาน อันนี้สุขสงบมาก”

มันฝังจมอยู่อย่างนั้นแหละ นี่กิเลสทั้งนั้น! แต่ถ้ามันจะหัดเดิน เดินอย่างไร? ถ้าจิตมันย้อนมันมีภาพเข้ามา “อุคคหนิมิต” เจโตวิมุตติจะเห็นอุคคหนิมิต มีนิมิตเข้ามา ถ้าสมาธิดีจะจับได้ ถ้าสมาธิไม่ดีจับอุคคหนิมิต มันก็แปรปรวนแปรสภาพ แต่ถ้ามันไม่มีล่ะ ถ้าไม่มีก็รำพึงสิ! รำพึงเห็นไหม เรามีกำลังแล้ว เราอยากทำงาน อยากจะเดิน อยากจะก้าว นี่เรารำพึงขึ้นมา

เขาบอกว่า “สมาธิคิดไม่ได้..."

ศีล สมาธิ ปัญญา! ถ้าสมาธิคิดไม่ได้มันมีปัญญาขึ้นมาได้อย่างไร! ปัญญาเกิดจากสมาธิมันเกิดอย่างไร ถ้ามันไม่มีสมาธิ สมาธิมันเป็นพื้นฐาน โลกุตตรปัญญาเกิดอย่างไร ภาวนามยปัญญาเกิดอย่างไร “ภาวนามยปัญญา” ปัญญาที่จะแก้กิเลส โลกุตตรปัญญาอันนี้มันแก้กิเลส ไม่ใช่ปัญญาจำมาอย่างนั้นหรอก! ปัญญากิเลสใช้อย่าเอามาใช้! มันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาของโลก ปัญญาของกิเลส กิเลสพาใช้อยู่

แล้วเวลาโลกุตตรปัญญาถ้ามันน้อมไป สิ่งที่มันน้อมออกไป คือรำพึงออกไป ถ้าสมาธิรำพึงไม่ได้ มันจะเกิดปัญญาได้อย่างไร? “ศีล สมาธิ ปัญญา” แล้วสมาธิมันเป็นมรรค ๘ อย่างไร มรรคเห็นไหม ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ปัญญาชอบ สมาธิชอบ แล้วมันชอบอย่างไร นี่ไงหมอผ่าตัดมันอยู่ที่นี่ เวลาเข้าห้องผ่าตัด ถ้าขาดหมอ เอาคนไข้เข้าห้องผ่าตัด หมอดมยาไม่มาแล้วใครจะผ่าล่ะ หมอศัลยกรรมไม่มาใครจะผ่า แล้วหมอมาแต่พยาบาลไม่มีใครมาช่วยเลย ใครจะผ่า?

เหมือนกัน มรรค ๘ มันจะมรรคสามัคคีอย่างไร มันจะรวมตัวอย่างไร เวลาน้อมจิตให้เห็นกาย เห็นกายขึ้นมาถ้าสมาธิดี เหมือนหมอมีกำลังจะผ่าตัด มรรคญาณมีกำลัง สดชื่นจะทำอย่างไรก็ได้ ให้มันแปรสภาพไปจากอุคคหนิมิตเป็นวิภาคนิมิต วิภาคะ เป็นนิมิตแต่มันแยกส่วนขยายส่วน นิมิตมันขยายเล็กได้ใหญ่ได้ ถ้าเล็กใหญ่โดยสร้างภาพนะ มันก็เล็กใหญ่โดยไม่มีความหมาย แต่ถ้าเป็นสัจจะความจริง เวลามันเล็กมันขยายภาพมันจะสะเทือนหัวใจตลอดไป แค่เห็นกายนี่นะ ขนพองสยองเกล้า เพราะมันเห็นมาจากจิตที่ปกติ ไม่ใช่เห็นมาจากโรคจิต โรคจิตเห็นภาพมันหลอน มันหลอนตัวเอง มันสร้างภาพจนตัวเองตกอกตกใจ

แต่ถ้ามันเป็นธรรม มันเป็นจิตปกติแล้วมันเห็นกาย มันเป็นวิปัสสนา มันสะเทือนหัวใจ ขนพองสยองเกล้า! การเห็นกายโดยเจโตวิมุตติกับการเห็นกายโดยการสร้างภาพ ฟ้ากับดิน! ครูบาอาจารย์มีพื้นฐานอย่างนี้ เพราะครูบาอาจารย์องค์ไหน ถ้าไม่เคยผ่านอย่างนี้ ไม่เคยผิดมาก่อนมันจะถูกมาได้อย่างไร ไม่เคยผิดไม่เคยถูกแล้วจะเอาอะไรมาสอนเขา มันผิดมันถูกมาทั้งนั้น แล้วคนที่ปฏิบัติมันผิดมาทั้งนั้น! เพราะมันเป็นโรคจิต! มันจะถูกได้อย่างไร? ถ้าไม่ทำสมาธิขึ้นมาให้เป็นปัจจุบันขึ้นก่อน มันโรคจิตทั้งนั้น!

การชำระกิเลสมันโรคจิตทั้งหมดเลย ทำความสงบของใจเข้ามานี่มันเป็นปกติ แล้วมันน้อมไป ความเห็นของใจ วิภาคะนี่มันสะเทือนหัวใจมาก มันสะเทือนหัวใจ มันสะเทือนกิเลสนะ มันปล่อยๆๆๆ ปล่อยแล้วอย่าชะล่าใจ คำว่าปล่อย ถ้าพอปล่อยแล้วนี่กิเลสมันซ้อนมา เวลาขาด ขาดหนเดียว เวลาปล่อยหนแรกมันยังไม่ทำอะไรเลยนะ มันเอาเปลปูนอนก่อนแล้ว นี่บอกขาดแล้ว เพราะอะไร เพราะกว่าจะสร้างสมาธิได้ กว่าจะรำพึงให้เห็นกายนี่มันเป็นงานที่หนักหนาสาหัสสากรรจ์มาก แล้วพอทำทีเดียวมันก็จะสุกเอาเผากินไง แล้วก็ว่านี่เป็นโสดาบัน นี่เป็นสกิทาคา นี่ว่าเป็นนิพพาน

ดูสิ ขนาดที่เราฟื้นตัวเราขึ้นมาแล้วนะ โรคของเรามันยังตามมารังแกได้ขนาดนี้นะ เวลาประพฤติปฏิบัติมันจะรังแกกันไปตลอด เด็กเห็นไหม โดนเขารังแกโดนผู้ใหญ่หลอก มันจะหัวหมุนเลย นี่ก็เหมือนกัน ขนาดว่ากิเลสหยาบๆ อย่างนี้ พอมันแสดงตัวขึ้นมา เรานี่งงหมดเลยนะ โอ้.. นี่โสดาบัน นี่ก็ว่ากันไปนะ แล้วเดี๋ยวมันก็เสื่อม แล้วจะเริ่มต้นประพฤติปฏิบัติ จิตเสื่อมแล้วพยายามทำขึ้นมา ทุกข์กว่าจิตที่ปกติที่เขาทำกัน เหมือนคนที่เรามั่งมีศรีสุขนะ แล้วเราต้องทุกข์ยากออกไป แล้วเราจะกลับมาทำใหม่ เป็นอย่างนั้นเลย

ฉะนั้นถ้ามันเป็นไป มันจะปล่อยวางขนาดไหน มันไม่มีผลตอบสนอง การผ่าตัดเขาต้องตัดเนื้อร้ายนั้นทิ้งออกมา ไส้ติ่ง.. เขาต้องตัดไส้ติ่งนั้นออกมา แล้วเขาต้องเย็บ เย็บเสร็จแล้วเขาต้องเย็บปากแผลอีกนะ แล้วนี่เหมือนกัน ถ้ามันปล่อยมันมีเหตุผลอะไรถึงปล่อย มันปล่อยมันเป็นเพราะอะไร ปล่อยเพราะว่าเราทำมาถูกต้อง ถูกต้องเพราะมีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ ถูกต้องเพราะจิตของเรามันมีหลักมีเกณฑ์

มีหลักมีเกณฑ์นะ ความเปลี่ยนแปลง เวลาจิตเป็นสมาธิมันก็เปลี่ยนแปลงมา จากปกติจากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน ความเป็นไปที่การควบคุมจิตมันควบคุมง่าย การที่ว่าเราวิปัสสนาไป ที่มันปล่อยขึ้นมาอย่างไร มันปล่อยแล้วมันมีผลตอบสนองอย่างไร ต้องหมั่นคราดหมั่นไถ หลวงปู่มั่นพูดไว้ในมุตโตทัยมากๆ เลย “ต้องซ้ำ ต้องหมั่นคราดหมั่นไถ หมั่นกระทำ” แต่ขณะขาดมันขาดหนเดียวจริงๆ หนเดียวจริงๆ แต่ต้องให้มันเป็นสัจจะความจริงสิ

เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ “ตทังคปหาน” การปหานชั่วคราว การเป็นไปชั่วคราว คำว่าชั่วคราวมันไม่สมุจเฉทปหาน ถ้าสมุจเฉทปหานมันปหานแท้จริง ถ้าสมุจเฉทปหานมันถึงต้องแยกต้องแยะ ต้องหมั่นใคร่หมั่นครวญไง หมั่นใคร่หมั่นครวญให้มันเป็นไป เราสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาขนาดนี้แล้วเราทำอะไรไม่เสร็จ แล้วเราก็จะท้อถอย ท้อถอยมันก็หมดเนื้อหมดตัวสิ หมดเนื้อหมดตัวนะมันก็เกิดตายไปข้างหน้านะ แต่ถ้าเราวิปัสสนาของเราไปถึงที่สุดนะมันขาด ถ้าขาดนะมันเป็นการกังวานในหัวใจ

สิ่งที่ขาดขึ้นมาแล้ว สมุจเฉทปหาน ขาดออกไปเลยนะ เพราะอะไร เพราะสังโยชน์มันขาด ขาดจริงๆ ขาดออกไปอย่างนั้น มันเป็นอฐานะที่มันจะไม่กลับมาต่อกันอีกแล้ว มันจะกลับมาประสานกันเป็นอย่างเดิมอีกไม่ได้ สิ่งที่ประสานกันไม่ได้ มันเกิดมาจากอะไร ก็เกิดขึ้นมาจากมรรคญาณ เกิดขึ้นมาจากกำลังของใจ เกิดขึ้นมาจากศีล สมาธิ ปัญญา ที่มันหมุนมาในหัวใจ มันไม่เกิดจากตำราเล่มไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าเป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น ผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่จะพ้นจากทุกข์ต้องทำขึ้นมาจากใจทั้งนั้นเลย

แล้วในการผ่าตัด ผ่าตัดเล็ก ผ่าตัดน้อย ผ่าตัดใหญ่ ในการผ่าตัดมันก็มีโรคภัยไข้เจ็บแต่ละโรคมันก็ไม่เหมือนกัน โสดาบัน สักกายทิฏฐิความเห็นผิดมันขาดออกไป วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสจะไม่มีแล้ว แต่สิ่งที่เป็นอุปาทาน สิ่งที่เป็นกามราคะ สิ่งที่เป็นอวิชชาในหัวใจ การก้าวเดินของเรายังอีกยาวไกลมากเลย มรรค ๔ ผล ๔ บุคคล ๘ จำพวก มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ มันอยู่ที่ไหน? ก็จิตดวงนี้! ไอ้จิตที่โง่ๆ นี่ ไอ้จิตที่มันเป็นโรคภัยไข้เจ็บอยู่นี่ แต่อำนาจวาสนาเพราะมันสร้างสมบุญญาธิการมา ถ้าไม่สร้างสมบุญญาธิการมา เรื่องศาสนาเขาก็สงสัยแต่ศาสนากันที่เป็นพิธีกรรม ที่นับหน้าถือตากันที่เชิดชูกัน เพื่อเป็นประชาสัมพันธ์ทางโลกเท่านั้นแหละ

กรรมฐานเรา ครูบาอาจารย์ของเราบอกว่า “ให้ปิดทองก้นพระ” เพราะอะไร เพราะในการประพฤติปฏิบัติ มันเป็นการชำระกิเลสของเรา แล้วกิเลสของเรานะให้มันมีทางออกได้ที่ไหน ทำอะไรให้มันรู้ตัวก่อนมันก็ขี่คอสิ ทำบุญก็ต้องมีชื่อมีเสียง ทำอะไรก็ต้องมีคนรู้จัก ภาวนาก็ไปภาวนากลางสนามหลวง อยากให้เขารับรู้ ไอ้นั่นมันเป็นเรื่องโลกๆ มันเป็นการกิเลสหลอกทั้งนั้นเลย

ครูบาอาจารย์เราเข้าป่า เห็นไหม ความดีของเราทำกันในป่าในเขา ทำกันในกุฏิที่ไม่มีใครรู้ แล้วตั้งสัจจะขึ้นมา เนสัชชิกนั่งตลอดรุ่ง นี่มันจะฆ่ากิเลส โดยที่ไม่ต้องให้กิเลสให้ใครมาส่งเสริมมัน กิเลสนะถ้ามีใครมาส่งเสริมมันจะขี่คอเราอีกทีหนึ่ง คนที่มาชื่นมาชมไง อยู่กับครูบาอาจารย์นะท่านจะคอยกำราบ กำราบเพราะอะไร เพราะถ้าชมขึ้นมา กิเลสมันชูหาง มันชูหางนะ ถ้ามันชูหางขึ้นมามันเป็นประโยชน์กับใคร แม้แต่ตัวเองมันก็พยายามจะชูหางของมันอยู่แล้ว แล้วเราไปช่วยเขาชูหาง หางก็จรดฟ้าสิ

มันต้องข่มขี่มัน กิเลสต้องข่มขี่มันเท่านั้น ข่มขี่มันกดมันไว้ เพื่อไม่ให้มันทำลายโอกาสของเรา ถ้าไม่ให้มันทำลายโอกาสของเรา เราก็ตั้งสติของเรา นี่มันถึงว่ามีวาสนาไง วาสนาคือทำงานส่วนของเรา วิปัสสนาของเรา ปัญญาของเรา การชำระกิเลสของเรา เรื่องของคนอื่นเป็นเรื่องของคนอื่นนะ ธรรมของครูบาอาจารย์ก็เป็นของครูบาอาจารย์ ธรรมของใคร นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์

“อานนท์ เราไม่ได้เอาสมบัติของใครไป เราเอาของเราไปคนเดียวนะ”

ดูพระสารีบุตรสิ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะมาลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนด้วย ลาจะเข้านิพพาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาตเลย “แล้วแต่กาลเวลาของเธอเถิด” แล้วแต่จังหวะแล้วแต่โอกาสของแต่ละบุคคลมันไม่เหมือนกัน ถ้าจะบอกว่าอย่าพึ่งไป หรือไปเลยนี่ไม่ได้ทั้งนั้น เวลาธรรมพูดมันเสมอภาคมากเลย อยู่ก็ไม่ใช่ ไปก็ไม่ใช่ ถ้าไปก็ขับไส ถ้าอยู่ก็อาลัยอาวรณ์ “แล้วแต่กาลเวลาของเธอเถิด” พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะก็นิพพานไปก่อนแล้ว แล้วเอาธรรมของพระพุทธเจ้าไปหรือเปล่าล่ะ แล้วเอาธรรมวินัยที่ส่งมาถึงพวกเรากึ่งพุทธกาลนี่เอาไปด้วยไหม? ไม่ได้เอาของใครไปเลย ของใครของเขา

ใจเราก็เหมือนกัน เราก็ทำของเรา กิเลสของเรา เราก็ข่มขี่มันอย่าให้ใครมาชูหางมัน นี่ก็แล้วแต่เรา เราเองเรายังต้องกดมันไว้เลย เพื่อไม่ให้มันทำลายความเพียรของเรา แล้วทำไมต้องให้คนอื่นรับรู้กับเราด้วยล่ะ นี่ไง ถึงบอกว่า “ปิดทองก้นพระ” ไง การประพฤติปฏิบัตินะ ถ้ามีใครมารับรู้ ถ้ามีใครมาส่งเสริมมันภาวนายาก เราภาวนาของเรา เราแก้กิเลสของเรา เราก็ต้องทำของเรา เราก็ต้องสู้ของเรา สู้ของเราทำของเราขึ้นมา มันเป็นประโยชน์กับเรา

การทำของเรา การทำกรรมฐาน กรรมฐานเขาไม่ทำกันกลางตลาดนะ! ไม่ต้องทำประชาสัมพันธ์หรอก กรรมฐานทำอยู่ที่โคนไม้ กรรมฐานทำที่หัวใจของเรา กรรมฐานทำที่เรา มันเป็นสัจจะความจริงของเรา แล้วมันจะเป็นผลงานที่แท้จริง ไม่ใช่ผลงานเทียมๆ โรคจิตก็ไม่ยอมรับว่าโรคจิต แล้วเวลาปฏิบัติขึ้นไปก็สร้างภาพกัน แต่ถ้าเป็นความจริงนะ มันจะเห็นเลยว่าโรคจิตเป็นอย่างนี้ จิตปกติเป็นอย่างนี้ มรรคญาณทำลายกันเป็นอย่างนี้ สิ้นสุดแล้ว จบกระบวนการแล้ว มรรคผลนิพพานอยู่กับหัวใจดวงนั้น เอวัง