เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๕ ส.ค. ๒๕๖๑

เทศน์เช้า วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๑

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต



 ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี


 ตั้งใจฟังธรรมๆ นะ ฟังธรรม เวลาคนเราเกิดมาปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ ถ้าปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ ก็ขวนขวายกันๆ มีสิ่งใดมามันหายหมดล่ะ เรามีวัตถุข้าวของเงินทองมานะ เราใช้จ่ายไป สูญหายไป โดนลักขโมยไป สิ่งที่เราแสวงหามาก็แสวงหามาเพื่อการดำรงชีพๆ แต่ดำรงชีพแล้วมันต้องแสวงหา มันต้องมีสิ ถ้ามันไม่มีมันก็เป็นทุกข์ไง มีก็เป็นทุกข์ มีเป็นทุกข์นะ เพราะไม่รู้จักจับจ่ายใช้สอย ถ้ารู้จักจับจ่ายใช้สอย หามามากน้อยขนาดไหน เรารู้จักประหยัดมัธยัสถ์ คำว่า รู้จักประหยัดมัธยัสถ์” เราไม่ใช่คนสุรุ่ยสุร่าย

คนสุรุ่ยสุร่าย คนใช้จ่ายโดยไม่มีสติปัญญาหาเท่าไรก็ไม่พอ เวลาเข้า เข้าเล็กน้อย เวลาออก ออกบานกะโล่โท่ แล้วมันจะไปจบกันที่ไหนล่ะ เวลาเข้ามา เข้ามามหาศาลเลย เวลาออก ออกเล็กน้อย พอออกเล็กน้อย ออกเพราะอะไร เพราะนี่สุขภาพกายไง สุขภาพกายมันก็อาศัยแค่นี้แหละ สุขภาพกาย ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาจะบัญญัติให้พระภิกษุฉันอาหารมื้อเดียว แต่พระที่อยู่สมัยพุทธกาลบอกว่าอยู่ไม่ได้ๆ ท่านมีความปรารถนา ท่านมีความปรารถนาว่าพระนี้ฉันมื้อเดียวก็พอ

คนเรานะ อาหารมันแค่ดำรงชีพเท่านั้น ถ้าเป็นเด็กน้อย เป็นวัยรุ่น มันก็สมควรที่จะให้บำรุงเพื่อให้มันเจริญเติบโต เวลาคนแก่คนเฒ่าขึ้นมาแล้วมันก็แค่ดำรงชีพเท่านั้นน่ะ แต่กิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจมันล้นฝั่ง มันไม่มีวันพอหรอก มันจะต้องการปรนเปรอมันเต็มที่ของมันไง ถ้าปรนเปรอเต็มที่แล้วมันได้ประโยชน์สิ่งใดมา ก็ได้โรคภัยไข้เจ็บนี้มาไง ถ้าโรคภัยไข้เจ็บ เห็นไหม

เราแสวงหาสิ่งใดมา เรารู้จักประหยัดรู้จักมัธยัสถ์ เรามีสิ่งใดก็แล้วแต่ ข้าวของเงินทองมันสูญหายได้ทั้งนั้นน่ะ เวลาความสูญหาย เราต้องเก็บต้องรักษาไว้ ถ้าบอกว่ามันไม่หามันก็เป็นทุกข์ มันไม่หาก็ไม่มีไง แต่ถ้ามันมี มันมีความจริงๆ อยู่

พระพุทธศาสนาเราสอนเรื่องบุญเรื่องบาป เรื่องบุญกุศลๆ ทำสิ่งใดมาเป็นบุญกุศลคุณงามความดีของเรามา สะสมแต่คุณงามความดีไป สะสมคุณงามความดีไป จริตนิสัย ถ้ามันย้ำคิดย้ำทำจนเป็นจริตนิสัยของเธอ ถ้าคนเรามันคิดดี คิดแต่เป็นแง่บวก ชีวิตก็คือชีวิตเท่ากันไง สิ่งที่เราเกิดมา คนเราเกิดมาเป็นญาติกันโดยธรรม ต้องแสวงหาด้วยกันทั้งนั้นน่ะ แต่บางคนต้องแสวงหามาแล้วใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายมากมายถึงจะมีความสุข

ดูสิ ดูพระเรา ดูสิ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่าในเขา ท่านบิณฑบาตมามีสิ่งใดก็เท่านั้น เวลาบิณฑบาตไป ชาวป่าชาวเขา เขาเป็นคนซื่อนะ เขาก็คิดว่าพระพระธุดงคกรรมฐานไม่ฉันเนื้อสัตว์ เขาก็ใส่แต่ข้าวเปล่ากับเกลือๆ จนสุดท้ายแล้วเขารู้ หลวงปู่มั่นทำอุบายให้เขาเข้าใจได้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาห้าม ห้ามสัตว์ ๑๐ ชนิดไง เช่น เสือ เช่น ช้าง เช่น สุนัข นี่ห้ามฉันๆ งูห้ามฉัน แต่สุดท้ายแล้วเพราะอะไร เพราะว่าประชาชนเขาอยู่กันอย่างนั้น ประชาชนเขาเลี้ยงชีพของเขาอย่างนั้น เวลาเขาจะทำบุญกุศลขึ้นมา เขาทำอาหารของเขาแล้ว สิ่งใดที่เป็นปากหม้อ เขาก็ตักไปให้ผู้ทรงศีลนั้นไป

เราบอกว่านู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้นะ ท่านก็ให้ความสะดวก ไม่กดทับกัน ไม่เบียดเบียนกัน ชาวบ้านเขาอยู่อย่างไร เขาใช้อย่างไร เราก็ใช้อย่างนั้น เราใช้อย่างนั้นนะ เว้นไว้แต่สมณสารูป ภิกษุประพฤติตนแบบฆราวาสไม่ได้ ฆราวาส โลกเขาทำกันอย่างไร พระทำไม่ได้ ถ้าทำได้ พระมันก็เหมือนชาวบ้านน่ะสิ ชาวบ้านเป็นชาวบ้าน พระเป็นพระ ถ้าพระเป็นพระขึ้นมา แต่ความดำรงชีพของเรา เรามีสติมีปัญญา เราทำตัวให้เลี้ยงง่ายๆ ไง เพื่อประโยชน์กับเรา

นี่พูดถึงว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาไง จะบัญญัติไว้ให้พระฉันมื้อเดียวเลย แต่อยู่ในพระไตรปิฎก มีพระคัดค้าน ผมอยู่ไม่ได้ๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังไม่บัญญัติเป็นวินัย แต่มีแนวโน้มว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบัญญัติวินัยข้อนี้ไง บัญญัติวินัยข้อนี้ไว้เพื่อสุขภาพกาย เพื่อความกังวล เพื่อความคลุกคลี เพื่อต่างๆ ตัดมันออกไปๆ ไง เพื่อให้พระมีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติ ให้พระได้ค้นคว้าหาตัวเองไง ถ้าหาตัวเอง หาสัจจะความจริง เห็นไหม

มีสิ่งใด หามามันมีแต่ความสูญหาย ถ้าไม่มีมันก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้ามีสติมีปัญญา แผ่นดินธรรมๆ ไง ถ้าคนเรานะ มีธรรม มีธรรมคือมีน้ำใจต่อกัน มีน้ำใจต่อกันนะ ให้คนอื่นเขามีความสุขนะ เขายิ้มแย้มแจ่มใสนะ เรามีความสุขมาก โลกเขาอุดมสมบูรณ์ โลกเขาไม่เบียดเบียนกันนะ มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุขนะ เรามีความสุขมาก ไอ้ความสุข ความสุขที่เรากระทำ ความสุขที่หัวใจเรา หัวใจมันเป็นธรรมไง หัวใจเป็นธรรม เห็นไหม ดูสิ เราคนทุกข์ คนจน คนเข็ญใจก็แล้วแต่ ผู้มีใจบุญเขาทำบุญกุศลของเขา อนุโมทนาๆ หัวใจเรายิ่งใหญ่ อนุโมทนา ถ้าหัวใจเป็นธรรมๆ อย่างนี้มันไม่สูญหาย

เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา สิ่งที่ว่าการกระทำๆ ความคิด จิตส่งออกทั้งหมดนี้เป็นสมุทัย ความคิดทั้งหมดนี้เป็นสมุทัยทั้งนั้นน่ะ เวลาสมุทัยมันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากไง นี่ไง ความคิดทั้งหมดเป็นสมุทัย ผลของมันเป็นความทุกข์ นี่อริยสัจ เวลาเป็นความจริงๆ ขึ้นมา จิตเห็นจิตนี้เป็นมรรคเป็นอย่างไร จิตตัวเองก็ไม่รู้จัก

จิตก็คือสัมมาสมาธิ ภวาสวะ ภพ ผู้รู้ สัจจะ นี่พุทธะ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นี่คือจิต จิตของเรา จิตเห็นจิต เวลาจิตเห็นจิตมันเป็นคำว่า เป็นธรรม” เป็นธรรมเพราะอะไร ดูสิ ทุกศาสนาจะบอกเลยสอนทำสมาธิ ศาสนาพุทธอย่ามาถือลิขสิทธิ์นะ ศาสนาพุทธถือลิขสิทธิ์ไม่ได้ ทุกศาสนาเขาสอนทำสมาธิทั้งนั้นน่ะ ศาสนาไหนก็อ้างว่าทำสมาธิ เพราะสมาธิทำให้คนมีความร่มเย็นเป็นสุข ศาสนาไหนก็สอนว่าทำสมาธิ แต่มีศาสนาเดียว ศาสนาแห่งปัญญา ทำสมาธิแล้วให้ฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาอย่างนี้ในลัทธิศาสนาอื่นไม่รู้จัก ไม่มี ไม่รู้จักหรอก รู้จักแต่พระเจ้า รู้จักแต่การอ้อนวอน รู้จัก เห็นไหม เราก็เห็นนิมิตๆ ที่ว่าพระเจ้าๆ พูดถึงพระอินทร์ พรหมต่างๆ มันมีทั้งนั้นน่ะ พระพุทธเจ้าก็รู้ พระพุทธเจ้าสอนด้วย พระพุทธเจ้าเป็นผู้อบรมสั่งสอนเขาอีกต่างหาก

เวลาคนที่ทำบุญกุศลขึ้นมา จากปุถุชนขึ้นมา เวลามีบุญกุศล เวลาไปเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม เป็นทั้งนั้นน่ะ ถ้าเวลาทำบาปอกุศลมันก็ไปเกิดในนรกอเวจี ไปทั้งนั้นน่ะ มันไปด้วยผลของกรรม มันไปด้วยผลของการกระทำ มันไปด้วยการกระทำของเราเองนั่นแหละ

นี่ไง พระพุทธศาสนาถึงบอกว่าจิตเห็นจิตเป็นมรรค แล้วเห็นอย่างไรล่ะ คนไม่เคยเห็นมันไม่รู้จักหรอก แล้วถ้าจิตเห็นจิตเป็นมรรค ถ้าจิตเห็นจิตเป็นมรรค ผลของจิตเห็นจิต ผลของมัน ผลของมันคือการกระทำของมัน คือการภาวนาของมัน ผลของมันคือนิโรธ นี่ไง เวลากรรมฐานเรา ขณะจิตๆ ถ้ามันไม่มีการดับทุกข์ ทุกข์มันจะพ้นไปได้อย่างไร

แต่สิ่งที่เป็นจริงๆ การฝึกหัด วิธีการประพฤติปฏิบัติของเราไง ถ้ามันมีวิธีการประพฤติปฏิบัติของเรา มีการกระทำของเรา นี่ไม่สูญหาย ประสบการณ์ของจิต ใครทำ ใครประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ใครทำสมาธิได้ คนนั้นก็ได้แค่สมาธินั่นแหละ พูดได้แค่นั้นน่ะ

ถ้าใครฝึกหัดใช้ปัญญาได้ก็ใช้ปัญญา ถ้าใครจิตเห็นจิต มันพิจารณาไปแล้วเป็นมรรค เวลามันนิโรธมันดับทุกข์ไปแล้ว มันเห็นความเป็นจริง มันจะบอกถึงนิโรธะ ความรู้แจ้งเห็นจริง อันนั้นน่ะเป็นอย่างไร อย่างนี้ไม่หาย ของอย่างนี้ไม่หาย อกุปปธรรม อฐานะที่ไม่แปรสภาพ มันจะไม่หาย แล้วของอย่างนี้พวกเรารื้อค้น ค้นหาแล้วไม่เจอหรอก ไม่มี แล้วในโลกนี้ไม่มี มันมีอยู่บนหัวใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ มันจะมีอยู่บนหัวใจของสัตว์โลก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์ รื้อหัวใจของสัตว์ หลวงตาท่านไปไหนท่านบอกไปเอาน้ำใจคนๆ คนที่สำคัญที่สุดคือจิตนี้ คือความรู้สึกนี้ แล้วศาสนาสอนเรามา สอนเรามาที่นี่ สอนเข้าไปหัวใจ

แต่ดูสิ วัฒนธรรมประเพณีต่างๆ สภาวะแวดล้อมไง นี่ก็เหมือนกัน เราก็มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน นี่ก็เหมือนกัน คนเราเกิดมามีความรู้สึกนึกคิดแตกต่างกัน ความรู้สึกนึกคิดก็มีศีล ศีลเข้ามาก็จัดระเบียบมัน พอจัดระเบียบแล้วทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบแล้วมันก็เข้าไปสู่หัวใจดวงนั้น ถ้าเข้าไปสู่หัวใจดวงนั้น ถ้าเป็นสัมมาสมาธิมันถึงจะเป็นจิต แล้วถ้าจิตเห็นจิต จิตเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริงนั้นน่ะ

แต่ส่วนใหญ่แล้วจิตสงบมันก็ไม่รู้จักสงบ จิตมันยังค้นคว้าหาจิตมันไม่เป็น จิตมันยังไม่รู้จักจิตมันเอง มันรู้แต่อารมณ์ รู้แต่เงา รู้แต่สมุทัย รู้แต่กิเลส สิ่งที่มันรู้ๆ นั่นน่ะกิเลสพารู้ คนเราเกิดมาโดยสัญชาตญาณ โดยธรรมชาติความรู้มันมี มันมีแล้วมันก็โดนกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ความมักใหญ่ใฝ่สูง ความมักมาก ความอยากได้ ความอยากใหญ่มันพาไป พอมันพาไป มันจะเอาอะไรเป็นบาทฐานให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับ มันก็อ้างธรรมะไง อริยสัจๆๆ ไม่รู้ว่าสัตว์ ๔ เท้าหรือสัตว์ ๒ เท้า ไม่รู้ว่าสัตว์เลื้อยคลานหรือสัตว์มนุษย์ อริยสัจของเอ็งเป็นอย่างไร พูดปากเปียกปากแฉะ พูดจากคัมภีร์ จากคัมภีร์แล้วก็มาขยายความ ขยายความแล้วกลับไปคัมภีร์ คัมภีร์แล้วมาขยายความ ต่างคนต่างโต้ต่างแย้งกันมา

ในพระพุทธศาสนา ๒,๐๐๐ กว่าปีนะ ในรัฐชาติต่างๆ เวลาเขานับถือลัทธินิกายใดในพระพุทธศาสนา เขาปกครองของเขาด้วยความรู้ความเห็นของเขา แล้วมันมีความขัดแย้งกัน ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์จะเห็นความขัดแย้ง ความขัดแย้ง ทิฏฐิมานะของผู้นำ แล้วมันมีการกระทำในรัฐชาติต่างๆ มีอยู่ในประวัติศาสตร์เยอะแยะเลย เรื่องอัตตา อนัตตา มันมีมาตั้ง ๒๐๐-๓๐๐ ปี ในทิเบตก็มี ความเห็นผิดมันมีมาตลอด มันมีมาตลอด แต่คนเรามันชักนำพากันไปเสียหาย

นี่ไง จิตเห็นจิตเป็นมรรค แล้วมันเห็นอย่างไรล่ะ เพราะสิ่งที่เห็น แผ่นดินธรรมๆ พุทธะ ถ้ามันมีคุณธรรม มันศึกษาศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาที่อบรมบ่มเพาะมันจะไปทำร้ายใคร มันเห็นโทษนะ เวลาหลวงตา หลวงปู่มั่นท่านพูดเลย ไม่มีสิ่งใดร้ายกาจเท่ากับกิเลสในใจของสัตว์โลก ไม่มีอะไรร้ายกาจหรอก คนส่วนคน คนเหมือนกัน ความคิดเหมือนกัน แต่กิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจของคนร้ายกาจมาก มันทำลายคนคนนั้นก่อน เพราะมันเป็นนามธรรมใช่ไหม มันทำลายคนนั้นด้วยความรู้สึกนึกคิด ด้วยเล่ห์กลของมัน นี่ไง พอมันคิดแล้วมันก็จะทำแล้ว มันมักมากมันอยากใหญ่ มันอยากมีการกระทำ ไปแล้ว แล้วบิดเบือนเลยนะ เพราะมันไม่รู้ไง เพราะมันไม่รู้มันเลยบิดเบือนคัมภีร์ บิดเบือนให้มันผิดห่างไกลออกจากพระพุทธศาสนา แล้วมันยังอ้างพระพุทธศาสนาอยู่นะ จิตเห็นจิตๆ

คำว่า จิตเห็นจิต” เวลาหลวงปู่ดูลย์ท่านพูดเรียบง่าย แต่คนภาวนาเป็นฟังแล้ว อื้อหืม! มันกินใจนะ มันเหมือนเลย เหมือนอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคเลย จิตส่งออกทั้งหมด จิตส่งออกคือความรู้สึกเรานี่ เริ่มขยับ เริ่มความคิด เพราะมันมาจากอวิชชา มันมาจากจิตของเรา จิตส่งออกทั้งหมดเป็นสมุทัย ความคิดที่เกิดขึ้นจากจิตทั้งหมดเป็นสมุทัย ผลของมันคือทุกข์ไง ก็ผลของมันที่เราทำกันอยู่นี่ไง ประพฤติปฏิบัติกันเกือบเป็นเกือบตาย ได้อะไร ว่างเปล่า ยังดีนะ ไม่ทำให้หลงผิดไป ไม่ทำให้ตัวเองเชื่อในไสยศาสตร์ ในความเห็นผิดไปหมด แต่ถ้ามันมีสติปัญญา มีความขวนขวาย มีการกระทำ

จิตดูจิต จิตดูจิตจนจิตเห็นจิต จิตดูจิตคือจิตมันพิจารณา แต่นี่มันไม่ใช่จิตดูจิต อารมณ์สมุทัยดูความเพ้อเจ้อ สร้างเหตุ สร้างจินตนาการ สร้างสมกิเลสในหัวใจไม่รู้ตัวนะน่ะ แต่ความเป็นจริงมันมีอยู่ไง ถ้าความเป็นจริงมันมี ย้อนกลับมานี่ๆ จิตเห็นจิตเป็นมรรค แล้วพอเป็นมรรคแล้ว การฝึกหัดใช้ปัญญา โอ้โฮ! ครูบาอาจารย์ท่านพยายามส่งเสริมมาก

คำว่า ส่งเสริม” ขั้นของสมาธินี่น้ำล้นแก้ว มันเหมือนเขื่อน น้ำมีขอบมีเขตของสมาธิ สมาธิคือสมาธิ แต่น้ำที่เราจะไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมาก ดำรงชีพ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม ความชุ่มชื้นในบรรยากาศ อู๋ย! ร้อยแปดเลยนะ นี่ไง ขั้นของปัญญา เวลาจะไปใช้ปัญญา ปัญญาไม่มีขอบเขต หลวงตาท่านบอกสมาธิจับ ปัญญาตัด ปัญญาไม่มีขอบเขต เหมือนตาข่าย เหมือนเรดาร์ มันจับทุกสิ่งเคลื่อนไหวที่เข้ามาในรัศมีของมัน นี่เวลาปัญญามันพิจารณาของมันนะ มันค้นคว้าของมัน พลิกแพลงของมัน

จิตเห็นจิตๆ จิตเห็นจิตเป็นมรรค เวลาเป็นมรรคขึ้นมา อู้ฮู! มันมหาศาล เวลามันสรุปลง นิโรธ ความดับทุกข์ มัชฌิมาปฏิปทา ชำระล้างกิเลส มันเป็นนิโรธ นิโรธะ สิ่งที่เวลาอริยสัจ ฝ่ายกิเลสกับฝ่ายธรรม แล้วมีการกระทำขึ้นมาเป็นความจริงของเราขึ้นมา

เห็นไหม เราแสวงหาทรัพย์สมบัติ แสวงหาสิ่งใดก็แล้วแต่ สูญหายหมดล่ะ มีทองเท่าหนวดกุ้ง นอนสะดุ้งจนเรือนไหว รักษาทรัพย์สมบัติอย่างใดก็แล้วแต่ มันอยู่ข้างนอก อ้าว! แล้วถ้าไม่รักษาไม่ดูแลจะเอาอะไรอยู่อะไรกินล่ะ มีก็ทุกข์ ไม่มีก็ทุกข์ แต่มันก็ต้องแสวงหามาเพื่อชีวิต

แล้วหาเวลาของเรา หาโอกาสของเรา หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ เพราะเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เรามีชีวิต แล้วสิ่งมีชีวิตสิ่งนี้มีคุณค่า ลมหายใจ ออกซิเจนสำคัญมากนะ ดำรงชีพด้วยอะไร ด้วยอาหารละเอียด แต่อาหารละเอียด ถ้ามีสติสัมปชัญญะ มีอาหารเข้าไปหล่อเลี้ยงหัวใจด้วย สูบเข้าไปในปอดด้วย แล้วตั้งสติหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ พยายามค้นคว้า พยายามรักษาของเรา เพิ่มกำลังของเรา ให้เรามีสติสัมปชัญญะของเรา นี่สิ่งที่รักษา

สิ่งที่มีมันก็สูญหาย สิ่งที่ไม่มีก็ทุกข์ แล้วสิ่งที่มันจะเป็นความจริงๆ มันมีใครลักขโมยไม่ได้ ไม่มีใครแย่งชิงได้ นี่ไง แก้กรรม แก้กรรมด้วยสติด้วยปัญญาของเรา แก้กรรม เพิกถอนมัน โคตรภูญาณ เพิกถอนโคตรเหง้าของกิเลสในใจ ทำลายให้มันสิ้นไป แล้วมันจะเป็นสมบัติบนหัวใจดวงนี้ เอวัง