เทศน์เช้า วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจฟังธรรมนะ วันนี้วันพระ พระผู้ประเสริฐ เป็นพระ เห็นไหม พระนอก พระใน พระในบ้านของเราก็พ่อแม่ของเรา พ่อแม่ของเราเป็นพระอรหันต์ในบ้านของเรา ถ้าพระนอกบ้านเราก็แสวงหาของเราจะได้พบได้เจอหรือไม่ ถ้าพระในใจของเรา เราแสวงหาพระในใจของเรา ถ้าพระข้างนอก พระข้างนอกก็พระพุทธรูป พระพุทธรูปเขาหล่อขึ้นมา ไม่ต้องให้อาหาร ไม่ต้องคุ้มครองดูแล เว้นไว้แต่พระศักดิ์สิทธิ์ ทุกคนจะไปขโมย
วันนี้วันพระเป็นผู้ประเสริฐ ประเสริฐในหัวใจของเรา ถ้าประเสริฐในใจของเรา ถ้าเป็นคนจริงนะ ถ้าเป็นคนจริงนะ มันจริงตามสมมุติ จริงตามสมมุติ ศีลก็เป็นศีลจริงๆ สมาธิก็เป็นสมาธิจริงๆ ถ้าเป็นปัญญา เป็นปัญญาจริงๆ แต่ถ้าเป็นปัญญาๆ กิเลสตัณหาความทะยานอยากของเรามันหลอกลวงเราว่าสิ่งนี้เป็นปัญญาๆ ปัญญานี้ปัญญาวิชาชีพ ปัญญาโลก
ปัญญาในพระพุทธศาสนาเป็นปัญญาที่ถอดถอนกิเลส เวลาถอดถอนกิเลสขึ้นมา คนเวลาพูดกับทางโลกเขาเหน็บแนมกันไง “แล้วไปวัดไปวามีแต่เสียหาย มีแต่ต้องควักกระเป๋า สู้เราแสวงหาทางโลกดีกว่า มันได้ประโยชน์กับเรา” เขามองประโยชน์แค่นั้นไง เขาไม่มองประโยชน์ถึงความสุขความทุกข์ในหัวใจของคนไง เขาไม่มองบ้านของคนที่มีบุญกุศลนะ บ้านของคนที่มีบุญกุศล ในบ้านนั้นเขามีความสุขความสงบในบ้านของเขา พ่อแม่ปู่ย่าตายายเขาก็สามัคคีกัน เขาคุยกันรู้เรื่อง เขามีความสุขของเขา เขาไปไหนมีแต่ความยิ้มแย้มแจ่มใส ในบ้านบางคนทะเลาะเบาะแว้ง คนสองคนมันก็ทิ่มก็ตำกันอยู่อย่างนั้นน่ะ มันเป็นเวรเป็นกรรมทั้งนั้นน่ะ
เวลาบุญกุศลมันไม่มองถึงบุญกุศลไง คิดแต่ว่า “โอ๋ย! ไปวัดไปวาแล้วเราจะเสียหาย”
ไปวัดไปวานะ ถ้าคนทุกข์คนจนคนฉลาดนะ อนุโมทนาทาน ไม่ต้องเสียอะไรเลย เห็นเขาทำคุณงามความดีแล้วอนุโมทนาไปกับเขา มีความดีใจไปกับเขา พอใจไปกับเขา เห็นไหม สิ่งที่อนุโมทนาทาน
แล้วเวลาถ้าจะเอาจริงเอาจังขึ้นมา ทำทานร้อยหนพันหนไม่เท่าถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง ถือศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหนไม่เท่ากับทำสมาธิได้หนหนึ่ง มีสมาธิร้อยหนพันหนนะ
มีสมาธิร้อยหนพันหนคือยกขึ้นสู่วิปัสสนาไม่เป็น ทำประโยชน์กับตนไม่ได้ มันไม่มีประโยชน์ขึ้นมา แต่มันก็มีความสุขนะ สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี แต่ถ้ามันยกขึ้นสู่วิปัสสนาไม่ได้ เกิดปัญญาไม่ได้ เห็นไหม
ปัญญาเท่านั้นที่ชำระล้างกิเลส ปัญญาเท่านั้น แต่ปัญญาต้องเกิดจากสัมมาสมาธิ
ไอ้นี่ปัญญาของเราเกิดจากอีโก้ เกิดจากตัวตนของเรา เกิดจากความสำคัญตนของตน เกิดจากทิฏฐิมานะของตน โอ้โฮ! แน่มาก ทุกคนเก่งหมดเลย ทุกคนเก่งมาก แน่มาก ยอดเยี่ยมมากโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก
แต่ถ้าเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ อ่อนน้อมถ่อมตน เวลาไปเห็นจิตของตน โอ้โฮ! เวลาเป็นสัมมาสมาธินะ โลกเขาจะรู้ได้อย่างไร ถ้าเป็นสัมมาสมาธินะ เว้นไว้แต่เป็นมิจฉา ว่างๆ ว่างๆ
ว่างๆ คนนอนฝันมันก็ว่าง คนเพ้อเจ้อมันก็ว่าง นี่ไง เพราะอะไร เพราะวุฒิภาวะของเรามันอ่อนแอไง สังคมแมลงเม่าไง เจอไฟก็บินเข้าไปๆ ไง บินเข้าสู่กองไฟตายหมดเลย
นี่ก็เหมือนกัน เกิดมาเป็นมนุษย์เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เราต้องการสัจจะเราต้องการความจริงของเรา ทำสิ่งใดแล้ววิ่งเข้าไปหากิเลสหมด วิ่งเข้าไปหากระแสสังคมทั้งสิ้น กระแสสังคมมันเป็นโลกไง นี่โลกสมมุติไง สมมุติตามความเป็นจริง เห็นไหม ชีวิตเกิดมา ทุกคนเกิดมาแล้วหนึ่งอายุขัย หนึ่งอายุขัย วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้ทำอะไรอยู่ ชีวิตของเรา เราจะทำเพื่อประโยชน์อะไรกับเราบ้าง
ถ้าเราทำเพื่อประโยชน์กับเรา เราแสวงหามา จะร่ำรวยมั่งมีศรีสุขขนาดไหนก็ใช้อยู่ใช้กินหนึ่งปากหนึ่งท้องเหมือนกัน คนจะมีสูงส่งมากน้อยขนาดไหนก็นอนบนเตียงเตียงนั้นเท่านั้น เวลาตึกสูงๆ มีแต่ความทุกข์ความยากอยู่บนตึกสูงนั้น บนตึกสูงๆ นั้นไปฆ่ากันทำลายกันอยู่บนตึกสูงๆ นั้น เราอยู่กระท่อมห้องหอ เราอยู่ในที่โคนไม้ ถ้าเราควบคุมหัวใจของเราได้ เรามีความสุขของเรา ถ้าความสุขในหัวใจของเราเกิดขึ้นมาได้ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเข้ามาในใจของคนนะ
วันนี้วันพระๆ มาวัดมาวาอุตส่าห์ขวนขวายกันมา ขวนขวายกันมานี่เพื่อตักตวง ตักตวงสติ ตักตวงสมาธิ ตักตวงปัญญาเข้ามาในหัวใจของตน ถ้าตักตวงสติ สมาธิเข้ามาในหัวใจของตน มันจะไม่ฟุ้งซ่าน มันจะไม่เดือดร้อน ความคิดที่มันแผดเผาหัวใจ ความคิดที่มันเบียดเบียนตัวเรา นี่ความคิดของกิเลสตัณหาความทะยานอยากไง ทุกข์ สมุทัย สมุทัยคือนันทิราคะ ตัณหาความทะยานอยากนี่เป็นสมุทัย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ”
เราเกิดมาเราทุกข์ยากไหม คนนะ ในสโมสรสันนิบาตทุกดวงใจว้าเหว่ การเกิดทั้งหมดเป็นทุกข์ทั้งสิ้น ที่ไหนมีการเกิด ที่นั่นมีทุกข์ทั้งนั้น นี่มันเป็นสัจจะเป็นความจริงอยู่แล้ว นี่ไง ทุกข์กับสมุทัย
ทุกข์ควรกำหนดๆ เพราะเราเกิดมาแล้วไง ในเมื่อเรามีตัวตนของเราแล้ว เรามีของเราแล้วควรกำหนดของเรา ควรกำหนด กำหนดเพื่ออะไร เพื่อแสวงหาสิ่งที่ชำระล้างมัน สิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับเราไง
ไม่ใช่ว่าผลักมันๆๆ ก็สมุทัยไง ตัณหา วิภวตัณหาไง อยากได้อยากดีไง ไม่ต้องการก็ผลักมันๆๆ ไม่ให้มีทุกข์ๆๆ กำจัดทุกข์ แล้วทุกข์กำจัดที่ไหนล่ะ กำจัดไม่เป็นไง แมลงเม่า “ทำอย่างนั้นก็ได้ ทำอย่างนี้ก็ได้”...แมลงเม่า แมลงเม่าทั้งนั้น
แต่ถ้าเป็นความจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาสอนนะ อนุปุพพิกถา ให้เขาทำทานบุญกุศลของเขา ทำบุญกุศลของเขาแล้วเขามีสติปัญญาของเขา ถือเนกขัมมะ ถ้าจิตใจเขาควรแก่การงานแล้วถึงแสดงอริยสัจไง
นี่ก็เหมือนกัน แสดงอริยสัจไป อริยสัจต่อเมื่อจิตใจที่มันสมควร จิตใจที่มันเป็นประโยชน์ไง แต่นี่จิตใจมันมีแต่กิเลสตัณหาความทะยานอยากไง ภาชนะที่จะใส่อาหารของเรามีแต่ความสกปรกโสโครกทั้งนั้นเลย เอาอาหารดีเลิศขนาดไหนใส่ไปก็สกปรกทั้งนั้นน่ะ นี่ภาชนะของเราล้างให้มันสะอาด ทำให้สะอาดขึ้นมา ถ้ามีสิ่งใดจะมากน้อยแค่ไหนใส่ในภาชนะนั้นมันก็จะไปอยู่กับเรา จิตของเรา เราทำสมาธิของเราขึ้นมาให้มันสะอาดของมัน
นี่มันมีแต่ความหยาบ มีแต่ความต้องการ มีแต่ความปรารถนาไง มีแต่การทิฏฐิมานะของตนไงว่าตัวเองยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ไง “อู๋ย! จะบรรลุธรรม จะรู้ธรรมๆ”...ธรรมอะไร กิเลสทั้งนั้น ภาชนะสกปรกด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ภาชนะสกปรก ภาชนะสกปรกอะไรใส่เข้าไปเสียหายหมด
ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐ ธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์นะ ไอ้พวกเราปุถุชนก็ไปอ่าน “นั่นก็ไม่ใช่ อรชุนมันแต่งเข้ามา อันนั้นก็ไม่ใช่”
ใช่หรือไม่ใช่มันเป็นหน้าที่ของเราหรือ มันเป็นประโยชน์กับเราหรือไม่เป็นประโยชน์กับเราต่างหาก ถ้ามันระงับยับยั้งกิเลสตัณหาความทะยานอยากของเราได้มันเป็นประโยชน์ทั้งนั้นน่ะ
นี่ไง สิ่งที่จารึกมาสองพันกว่าปี ไอ้ความคลาดเคลื่อนเป็นเรื่องธรรมดา ของมันสองพันกว่าปีมันจะไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงไปเลยมันเป็นไปได้อย่างไร มันก็มียุคคราวสมัยหนึ่ง ดูสิ ในเมืองไทยกว่าจะพิมพ์พระไตรปิฎกได้สมัย ร.๕ นู่นน่ะ นี่ไง พม่ารบแล้วรบอีก มันกระจัดกระจายไปหมดล่ะ ศึกสงครามมันเกิดตลอด การแย่งชิงมันเกิดมาตลอด จะให้มันสมบูรณ์แบบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ไม่มีการผิดพลาดไปเลย เอามาจากไหน แต่สิ่งใดที่เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์กับเราไง
ถ้าไม่เป็นประโยชน์กับเรา ถ้ามันมีกิเลสอยู่น่ะ มันเก่ง นู่นก็ไม่ใช่ นี่ก็ไม่ใช่ แต่ถ้าถูกใจกูน่ะใช่ แมลงเม่าตายห่าหมด
แต่ถ้าเป็นความจริงๆ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นปูนหมายป้ายทาง เราศึกษามา ศึกษามาเพื่อแนวทาง เวลาจะศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็กลัวว่าเราทำไปแล้วเราไม่มีครูไม่มีอาจารย์ ทำแล้วมันจะผิดพลาดขึ้นไปไง เราก็ต้องการศึกษาเพื่อให้มีความเข้าใจ ศึกษามาแล้วศึกษาเป็นแนวทางแล้ววางไว้ แล้วปฏิบัติขึ้นมาให้เป็นความจริงของเรา
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ “อานนท์ เธอบอกเขานะ ให้ปฏิบัติบูชาเราเถิด ปฏิบัติบูชาเราเถิด”
เขาศึกษามาแล้วเขาหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ เขาปฏิบัติแนวทางไหนก็แล้วแต่ นั่นน่ะคือการปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วมันจะถูกมันจะผิดขึ้นมาเป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกไง ถ้ามันเป็นความจริงๆ เห็นไหม
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นเจ้าชายสิทธัตถะไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ เขาศึกษาจนหมดไส้หมดพุงเขา ถามว่า “มีอะไรสอนอีกไหม” บอกว่า “หมดแล้ว มีแค่นี้” ท่านก็เปลี่ยนสำนักไปเรื่อยๆ ไง จะหาความจริงๆ แล้วมันหาความจริงไม่ได้ เห็นไหม ไปศึกษากับเขา สอนจนหมดไส้หมดพุง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปตรัสรู้ ตรัสรู้ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง
นี่ก็เหมือนกัน เราศึกษา ศึกษามานี่ เราศึกษามา เราประพฤติปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะไปปฏิบัติกับสำนักไหนแล้วมันว่า “มีอะไรต่อเนื่องอีกไหม” “หมดแล้ว” ถ้าหมดแล้วท่านก็ลาจาก ลาจากไปหาสำนักใหม่ๆ หกปี ค้นคว้าอยู่หกปีมันไม่มีอะไรจริงอะไรจังสักอันหนึ่ง
เวลาจะจริงจังขึ้นมามันจริงจังในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ใช่ไหม เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบุญญาธิการมา เห็นไหม มีจุดยืนไง อะไรเป็นจริงเป็นจังขึ้นมามันต้องเป็นจริงในหัวใจของเรา คนจริงต้องการความจริง ศีลเป็นศีลจริงๆ สมาธิก็สมาธิจริง ถ้าเกิดปัญญาก็ปัญญาในพระพุทธศาสนาจริงๆ
ไม่ใช่ปัญญาแบบว่าสวมเขา ปัญญาที่เราสร้างขึ้นมาเอง สัญญา สัญญาคือความจำได้หมายรู้ ภาพจำไง ภาพจำ โอ๋ย! ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่รู้อะไรเลยนะ จินตนาการไปแล้วต้องเป็นอย่างนั้น แล้วปฏิบัติจะให้เป็นอย่างนั้นนะ แล้วพอมันเป็นความจริงขึ้นมา “อย่างนี้ไม่ใช่ อย่างนี้ไม่ใช่”
มันเป็นความจริงขึ้นมา ความจริงเป็นปัจจุบันน่ะ ถ้าจิตมันสงบ มันสงบอย่างไร ถ้ามันรู้ มันรู้อะไร ถ้ามันรู้ขึ้นมามันก็เป็นเรื่องธรรมดา เห็นไหม ในเมื่อภาชนะมันสกปรก มันทำความสะอาดขึ้นมามันก็ต้องมีความสกปรกหลุดลอยออกไป ความสกปรกหลุดลอยออกไปเพราะอะไร เพราะมีสิ่งสกปรกในภาชนะนั้นแต่ความจริงขึ้นมา สัจธรรมยังไม่เกิดขึ้นเลย
ถ้าสัจธรรมเกิดขึ้นมา ยกขึ้นสู่วิปัสสนา ใช้ปัญญาๆ ถ้าเกิดภาวนามยปัญญา ปัญญาที่ชำระล้างกิเลสไง ไม่ใช่เป็นปัญญาแบบพวกเรานี่หรอก ปัญญาที่ว่าแจ๋วๆ นี่กิเลสหลอกทั้งนั้นน่ะ เวลาไปเจอปัญญาจริงๆ เข้า โอ้โฮ! ไก่ตาแตก มันเซ่อไปเลยนะ เอ๊อะ! เพราะอะไร เพราะมันไม่ใช่เราทำ ไม่ใช่ตัวเราของเรา มันเป็นจริงขึ้นมาจากเรา เห็นไหม
เวลาธรรมะมันจะเกิด ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น พับๆๆ แต่กว่าจะช้างกระดิกหู ช้างมาจากไหน เรามีช้างไหม ถ้าเราไม่มีช้าง เราจะเอาอะไรไปกระดิกหู เราไม่มีงูสักตัว เราจะเอางูอะไรไปแลบลิ้น กว่าจะสร้างสมขึ้นมาให้มันเป็นจริงขึ้นมาในใจของเรา มีศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นมา ศีล สมาธิ ปัญญาฝึกหัดแล้วฝึกหัดเล่าๆ ถ้ามันเป็นจริงมันขาด มันขาดหนเดียว การขาดคือกิเลสขาดจากใจ ขาดหนเดียว แล้วขาดอย่างไร ถ้าขาดอย่างไร ขาดเป็นความจริง ถ้าผู้ประเสริฐ ประเสริฐอย่างไร ถ้าเป็นความจริงๆ อย่างนั้นไง
อธิศีล เกิดที่นั่นเป็นอธิศีลนะ ศีลโดยตัวมันเองเลยล่ะ นี่ศีลแท้ๆ เลยล่ะ แล้วถ้าเป็นธรรมๆ เป็นธรรมในหัวใจอันนั้นมันประเสริฐขนาดไหน ถ้าประเสริฐขนาดไหน เห็นไหม ถ้าไม่อย่างนั้นน่ะ ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเสวยวิมุตติสุขๆ เจ็ดวันๆ มันมีความสุข ความสุขเกิดขึ้นอย่างไร
แต่ของเรา เราก็แสวงหาความสุขอยู่นี่ ความสุขอย่างนี้สุขแบบโลก สุขเวทนา ทุกขเวทนา สุขเพราะมันเป็นอามิส สุขเพราะเราปรารถนาสิ่งใด ตัณหาความทะยานอยากได้สิ่งใดสมความปรารถนาก็เป็นความสุข แล้วเป็นความสุขชั่วครั้งชั่วคราว ความสุขอย่างนี้ความสุขตื่นเงาของตน มันไม่เป็นความจริงสักที แต่ถ้ามันปล่อยวางหมด คนเราไม่มีอะไรจะมีความสุขไหม
ดูสิ เรามีเงินมีทอง มีทุกอย่างมากมายมหาศาลเลย มีความสุขไหม แล้วคนไม่มีอะไรเลยมันมีความสุขได้อย่างไร คนไม่มีอะไรสักชิ้นหนึ่งเลย แล้วเขามีความสุขๆ อะไรเป็นความสุข สุขจริงหรือ เอ็งไม่มีอะไรเอ็งมีความสุขจริงหรือ เอ็งดูข้าสิ อู๋ย! ข้ามีเต็มไปหมดเลย แต่ทุกข์น่าดูเลย เพราะอะไร
เพราะวัตถุมันเป็นวัตถุนะ จิตใจเป็นจิตใจนะ อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของคนมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ แล้วมันก็จริตนิสัยโทสจริต โมหจริต โลภจริต จริตแต่ละคน ความทุกข์แต่ละคนมันไม่เหมือนกันนะ ความทุกข์เป็นอันเดียวกัน ความทุกข์เหมือนกัน แต่เหตุให้เกิดความทุกข์แตกต่างกัน
เหตุให้เกิดความทุกข์นั้นแตกต่างกัน แต่ทุกข์เหมือนกัน ร้องไห้ บีบคั้นหัวใจ ตรอมตรมใจเหมือนกัน แต่เหตุ เหตุที่มาแตกต่างกัน เพราะที่จริตนิสัย ความชอบ ความสงวน ความแสวงหาแตกต่างกัน มันเลยเหตุแตกต่างกัน
เหตุอันเดียวกัน คนหนึ่งทุกข์มากทุกข์น้อยนะ ทุกข์ไม่เท่ากัน แต่เหตุอันเดียวกันน่ะ แต่เพราะจริตนิสัย แต่เวลาทุกข์ ทุกข์เหมือนกัน เวลาทุกข์เหมือนกันมันเป็นความทุกข์ใช่ไหม เวลานั่งสมาธิภาวนาเป็นความทุกข์ไหม บอกว่านั่งสมาธิภาวนาแล้วจะเลอเลิศเหมือนปุยนุ่นลอยมา ไม่ใช่
เวลานั่งสมาธิภาวนาดัดแปลงตน ทรมานตน ทรมานกิเลส ทรมานกิเลส บังคับกิเลสให้อยู่ในอำนาจของเรา พออยู่ในอำนาจของเรา เวลามันสงบระงับเข้ามามันปล่อยวางหมดจนเป็นอิสระ จิตถ้าเป็นสัมมาสมาธิไม่พาดพิงอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น คำว่า “ไม่พาดพิงอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น” แล้วว่างๆ ว่างๆ นั่นเป็นอารมณ์หรือเปล่า
แต่เวลาเป็นธรรมๆ บอกว่า มันเป็นความว่าง ความว่างที่เป็นหนึ่ง ที่ไม่พาดพิงอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น แล้วเวลามันยกขึ้นสู่วิปัสสนา มันยกขึ้นสู่วิปัสสนาอย่างใด นี่ถ้าเป็นผู้ประเสริฐมันต้องประเสริฐตรงนั้น ถ้าประเสริฐตรงนั้นมันจะรู้เห็นตามความเป็นจริงของมัน ถ้ามันยังไม่รู้เห็นตามความเป็นจริงของมันก็ฝึกฝนไง
ที่เราทำๆ กันอยู่นี่เราฝึกฝนใช่ไหม ที่เรามาทำบุญกุศลกันอยู่นี่เพราะเรายังมีชีวิตใช่ไหม เรามีชีวิตเราก็แสวงหาสมบัติของเรา ที่เรามาเสียสละ เสียสละเพื่ออำนาจวาสนา เพื่อหัวใจเราเข้มแข็งขึ้นมา หัวใจนี้ให้เข้มแข็งขึ้นมานะ วัดก็ไปแล้ว ทำบุญก็เคยทำ จิตใจของเรา เราก็มีสติสัมปชัญญะพอสมควร อะไรจะเกิดขึ้นเราก็มีสติยับยั้งไว้ ยับยั้งด้วยสติด้วยปัญญาของเรา
ถ้ายับยั้งด้วยสติปัญญาของเรา เราไม่ทุกข์ เขาเป็นเขา เราเป็นเรา มันอยู่ข้างนอก แต่ถ้ามันทุกข์จากข้างในๆ เพราะข้างในไม่มีสติควบคุมดูแลมันเลยนะ มันลามปามไปอยู่ข้างนอก ไปหยิบฉวยว่าเป็นของเราทั้งหมดเลย แล้วว่าฉลาดนะ...โง่ตายเลย ของมันอยู่ข้างนอกไปแบกทำไม ไฟไปเอาเข้ามาเผาลนทำไม แต่มันก็ดับไม่ได้ ดับไม่เป็น มันไม่รู้ว่านั่นเป็นไฟ มันบอก “โอ๋ย! ของเราๆๆ” แต่ความจริง ไฟๆๆ แต่มันไม่รู้ แต่ถ้ารู้เมื่อไหร่นะ อ้าว! ไฟอยู่นู่น ฉันอยู่นี่ แล้วจะดับไฟอย่างไร
มีเหตุการณ์นะ บ้านเราถ้ามีทรัพย์สมบัติ ถ้ามีใครมาแย่งชิง เราจะแก้ไขอย่างไร ไฟ เราจะดับมันอย่างไร คนเข้ามาขโมยของ คนเข้ามารังแกเขามาจากข้างนอก แล้วเราจะดับไฟอย่างไร เราแจ้งตำรวจ เราหาคนช่วยป้องกัน ดับไฟๆ นั่นมันอยู่ข้างนอก แล้วหายใจแรงนะ ตกใจไง นั่นไง แต่ถ้ามันดับไฟได้ๆ ไอ้นี่พูดถึงสถานการณ์นะ แต่ถ้าพูดถึงอารมณ์ล่ะ พูดถึงความขุ่นมัวในใจล่ะ เราไม่เห็นนะ
หลวงตาท่านพูดประจำ เราฟังแล้วเอามาพูดบ่อยเลย “กิเลสมันขี้รดหัวใจ แล้วมันก็ไปแล้ว เหลือแต่ขี้มันน่ะ เวลาทุกข์น่ะ”
นี่ไง ทุกข์ๆๆ นี่คืออาการ นี่คือวิบาก ที่เราทุกข์ๆ กันอยู่นี่มันวิบาก มันต้องมีที่มาสิ มันเกิดจากเหตุ เหตุอะไรให้มันทุกข์อย่างนี้ เห็นไหม กิเลสมันขี้รดมันไปแล้วเราค่อยทุกข์ไง
เวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านภาวนาเป็นนะ ไอ้ที่จะทุกข์ หนึ่ง เอ็งคิดเรื่องอะไร เอ็งไปคิดมาทำไม เอ็งไปขุดคุ้ยขึ้นมาทำไม สิ่งที่เป็นสัญญาในหัวใจไปรื้อฝอยหาตะเข็บทำไม ถ้าเอ็งรื้อฝอยหาตะเข็บมา เอ็งไปปรุงขึ้นมาเพื่อคิด เอ็งก็โง่ไง ปรุงขึ้นมาแล้วเอ็งก็ทุกข์ไง เวลาทุกข์ขึ้นมา นี่ไง กิเลสมันขี้แล้ว แล้วกิเลสคิดแล้วปรุงแล้ว มันไปแล้ว ตอนนี้ก็ โอ้โฮ! อารมณ์เกิดแล้ว ทุกข์ โอ๋ย! ทุกข์ๆ นี่กิเลสมันขี้รดหัวใจแล้วมันก็ไปแล้ว แล้วเราก็ว่าทุกข์ๆๆ
แต่ถ้ามันจะเป็นความจริง ทุกข์มันมีเหตุที่มา ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ อะไรจะเกิดขึ้นมันมีเหตุมีปัจจัยทั้งนั้น ถ้ามันมีสติมีปัญญา มาฝึกใจ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเข้ามาที่หัวใจของสัตว์โลกนะ แล้วมันจะสอนเข้ามาที่หัวใจของสัตว์โลก แล้วสัตว์โลกต้องเป็นผู้ที่รื้อค้นหัวใจของเราขึ้นมาเอง ถ้าค้นหัวใจขึ้นมาเองได้แล้วเราจะใช้ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญาคือมรรค ๘ งานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ ปัญญาชอบ
เราขวนขวายการทำงาน เราทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ คนที่ทำงานด้วยสมองคิดงานๆ แต่เวลาภาวนาขึ้นมา ภาวนามยปัญญานี่งานของจิต งานเหมือนกัน งานอย่างนี้ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ไม่มีงาน มันจะมีผลหรือ ไม่มีการกระทำ มันจะมีผลมาจากไหน แล้วผลจากการกระทำแบบนี้ ถ้าคนฉลาดนะ
เราต้องมีหน้าที่การงานทุกๆ คน เรามีหน้าที่การงาน เราทำงานทุกๆ คน แล้วคนที่จะพ้นจากทุกข์ก็ต้องทำจากหัวใจของตน หัวใจดวงนี้ๆ หัวใจดวงนี้ถ้าทำได้แล้วนะ ร่มโพธิ์ร่มไทร เพราะอะไร มันเป็นที่พึ่งของตนและเป็นที่พึ่งของคนอื่น ตอนนี้มันเผาเราแหลกลาญเลย แล้วจะไปเผาเขาใช่ไหม จะให้ใครพึ่ง มันต้องพึ่งตัวเองได้ก่อนไง หัวใจของเรา เราต้องรู้จักเหตุรู้จักผล รู้จักวิธีการแก้ไขรักษา แล้วเราจะแนะนำเขา
นี่ร่มโพธิ์ร่มไทร เราแสวงหาครูบาอาจารย์แบบนั้นเพื่อเป็นประโยชน์กับหัวใจดวงนี้ไง พระพุทธศาสนา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นนามธรรม เป็นความรู้สึก ความรู้สึกอันนี้มันเกิดจากไหน เกิดจากใจของครูบาอาจารย์ของเรา เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เกิดขึ้นมาได้จากการกระทำ เกิดขึ้นมาได้จากการประพฤติปฏิบัติ แล้วเราก็พยายามจะประพฤติปฏิบัติให้เป็นความจริงขึ้นมาในใจของเรา เอวัง