เทศน์บนศาลา

ธรรมะสดๆร้อนๆ

๒ ก.ค. ๒๕๕๑

 

ธรรมะสดๆ ร้อน ๆ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมนะ ขวนขวายมาแล้วน่ะ เราขวนขวายมาแล้ว ขวนขวายมาหาอะไร ชีวิตนี้มีเท่านี้แหละ อยู่กันไปก็มีเท่านี้ วันคืนล่วงไปๆ เกิดมาก็ตายไป เหมือนปุยนุ่น ปุยนุ่นมันพัดไป มันเปลี่ยนแปลงตามสภาพของมัน ชีวิตเรา จิตวิญญาณเหมือนปุยนุ่น มาตกในภพนี้เท่านั้นเอง มาตกในภพที่เป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์ เศษมนุษย์ มนุสสติรัจฉาโน เป็นมนุษย์แต่ใจเป็นสัตว์ เศษมนุษย์ไม่เข้าใจถึงชีวิตของตนเอง มนุสสเทโวเห็นไหม ใจเป็นเทวดา ร่างกายเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เศษมนุษย์ มนุษย์ที่เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ความเป็นคุณค่าของมนุษย์คือมันมีชีวิต

ซากศพเขาเรียกว่าเป็นมนุษย์ไหม คนตายแล้วเขาเรียกว่าเป็นมนุษย์ไหม คนตายไปเรียกว่าซากศพ ซากของสัตว์ เวลาเขาทำมา ดูสิ เราส่งออกเป็นสินค้าน่ะ ถ้าเนื้อที่ดี เขาทำสิ่งที่มีคุณค่า ราคามันยิ่งแพง สัตว์เนื้อมันยังเป็นประโยชน์นะ แต่เวลาถือศีลขึ้นมาแล้วดัดจริต นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ มันมีผิดศีลๆ

สัตว์มันตายนะ เนื้อของมันเป็นประโยชน์ ในพระไตรปิฎกนะ สัตว์เวลามันจะตาย มันบอกเลย มันเป็นสัตว์ เกิดมาเป็นสัตว์แล้วมันมีความทุกข์ มันไม่มีโอกาสได้ทำบุญกุศลของมัน เนื้อของเราจะเป็นประโยชน์บ้าง ขอให้ครูบาอาจารย์ ขอให้ผู้ทรงศีลได้กินเนื้อของเราเพื่อประโยชน์ของเราบ้างเถอะ สัตว์หัวใจของมัน มันยังต้องการเนื้อมันเพื่อต้องการทำประโยชน์

แต่ถือศีลแล้วโน่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ สิ่งที่มันไม่ได้ คือมันไม่ได้ที่เรา เห็นไหม เนื้อ ๓ อย่าง ไม่ได้จงใจเพราะเรา เขาไม่ได้จะฆ่าเพราะเรา เขาไม่ได้จงใจฆ่าเพราะเรา เราไม่รู้ เราไม่เห็น สิ่งนั้นเวลาสะอาดบริสุทธิ์ บริสุทธิ์ที่ไหน? บริสุทธิ์ที่ใจ ในเมื่อใจคนสะอาดบริสุทธิ์นะ มันเป็นธรรมชาติของมัน ทุกคนเกิดมาต้องการปรารถนาคุณงามความดี มนุษย์เกิดขึ้นมา ต้องทำ ต้องเห็นคุณงามความดีของความเป็นมนุษย์

ถ้าความเป็นมนุษย์ มนุษย์อยู่ที่ไหน มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ประเสริฐที่ไหน? ประเสริฐที่ใจ ถ้าใจมันประเสริฐขึ้นมา มันจะมีประโยชน์ของมันขึ้นมา ถ้ามีประโยชน์ขึ้นมา ไม่ใช่สัตว์นะ สัตว์มันเกิดมา มันใช้ดำรงชีวิตของมันตามสัญชาตญาณของมัน ขนาดที่มันเป็นสัญชาตญาณของมัน มันยังมีคุณงามความดีของมันนะ สัตว์ที่มีนิสัยดี สัตว์ที่เกเร สัตว์ที่มันเบียดเบียนสัตว์ในฝูงของมัน

สัตว์ที่เป็นหัวหน้าฝูง เห็นไหม พระโพธิสัตว์ เวลาเกิดเป็นสัตว์ขึ้นมาเป็นประโยชน์ ถ้าเกิดเป็นสัตว์ อย่างชีวิตอย่างนี้ มันแล้วแต่เวรแต่กรรม เราจะกำหนดไม่ได้หรอกว่าเราจะไม่เกิดเป็นสัตว์เลย ไม่เกิดเป็นสิ่งต่างๆ เลย พระโพธิสัตว์เกิดเป็นสัตว์นะ เกิดเป็นกระต่าย เกิดเป็นกวาง เกิดเป็นอะไรต่างๆ เกิดทั้งนั้นน่ะ แม้แต่พระโพธิสัตว์ เวลาบุพเพนิวาสานุสติญาณ ย้อนไป มันเห็นไปหมด เกิดเป็นสัตว์ สัตว์มันยังใช้สัญชาตญาณ มันยังคุมสติของมันได้ มันยังทำคุณงามความดีของมันได้

นี่เราเกิดมาเป็นมนุษย์นะ ยกย่องกันว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ...โง่กว่าสัตว์ สัตว์มันเวลามันจะตายขึ้นมา มันยังรู้ว่าเนื้อมันจะเป็นประโยชน์กับมันบ้าง มันยังมาเข้านิมิต เข้าฝัน ให้ได้กินเนื้อของมัน เพื่อประโยชน์ของมันบ้าง เวลาเกิดไปจะได้มีบุญกุศลติดเนื้อติดตัวไป ถ้ามีบุญกุศลติดเนื้อติดตัวไป แล้วนี่เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์แล้ว มีบุญกุศลแล้ว มีบุญกุศลแล้วทำไมทำให้ตัวเองเหมือนไม่มีค่า ชีวิตไม่มีค่าเลย ลอยกันไปวันๆ หนึ่งนะ คิดว่าเราทำคุณงามความดีแล้ว...ใครเขาว่าตัวเองคุณงามความดีทั้งนั้นนะ ใครก็ว่าตัวเองทำงานหนักหนาสาหัสสากรรจ์

มันกิเลสนั่นน่ะ หนักหนาสาหัสสากรรจ์มันมีขนาดไหน เครื่องยนต์กลไกทำมากกว่าเราอีก ดูสิ เวลาเครื่องยนต์เขาติดขึ้นมา เขาหยุดไม่ได้เลย เวลาเครื่องยนต์มีเปลี่ยนแปลงออกไป เขาถึงต้องให้งานมันต่อเนื่อง แม้แต่เครื่องยนต์มันยังทำได้เลย มันไม่มีชีวิตด้วย มันทำประโยชน์ได้มากขนาดนั้น เราเป็นมนุษย์ เราทำงานเหนื่อยล้าแสนสาหัส ชีวิตมีแต่ความรับผิดชอบ

นี่มันไม่เห็นคุณค่าของความเพียรชอบ ของการกระทำนะ ถ้าเห็นคุณค่าของการกระทำ ธรรมะ ธรรมะไง ธรรมะมันอยู่ที่ไหน? ธรรมะมันอยู่ในตู้พระไตรปิฎกใช่ไหม “ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ” ถ้าธรรมะเป็นธรรมชาติ เขาไปอวกาศก็เป็นธรรมชาติ ดูสิ จรวดเขายิงกระสวยอวกาศไปดาวอังคารนู่นน่ะ เป็นธรรมชาติไหม? มันเป็นวิทยาศาสตร์มันเป็นสิ่งที่เขาไปค้นคว้าหาเหตุหาผลของเขา สิ่งอยากรู้อยากเห็นเพราะมันยังโง่อยู่ไง

รู้ไปหมดทุกเรื่อง รู้ไปหมด อยากรู้อยากเห็นไปเรื่องข้างนอก ตัวเองนี่ เรื่องของตัวเอง มันเรื่องในบ้านของตัว เรื่องในบ้านของตัว เห็นไหม ทำความสะอาดบ้านไหม บ้านนี่ซ่อมแซมบำรุงไหม บ้านเราเวลาเกิดพายุฝนขึ้นมามันจะรั่ว มันจะมีที่ไหนมันได้มีอาศัยได้ไหม นั่นเป็นบ้านของเรา แล้วชีวิตของเรา แล้วร่างกายของเรา แล้วความเป็นไปของในหัวใจล่ะ นี่รู้ไปหมดเรื่องข้างนอก แต่ไม่รู้เรื่องของตัว ถ้ารู้เรื่องของตัวนี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนมาธรรมะมันอยู่ที่นี่

ธรรมะไม่อยู่ที่วิทยาศาสตร์ ธรรมะ ธรรมชาติ ธรรมชาติส่งออกไปข้างนอกหมด ธรรมชาติคือการเกิดและการตาย เกิดมาแล้วมีจิตศรัทธาได้บวชเป็นพระเป็นเจ้า ได้บวชขึ้นมา ได้ออกมาประพฤติปฏิบัติเพื่อจะแสวงหาธรรม มันแสวงหาที่ไหนล่ะ แสวงหาที่ไหน ด้วยปัญญา ด้วยความรู้ ด้วยอะไรต่างๆ สถิติ ดูสิ วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้เลย ฟอสซิลเป็นล้านๆ ปีนะ ๔๐ ล้านปี ๕๐ ล้านปีพิสูจน์ได้ ยุคไหนๆ แล้วนี่มันเป็นอดีต อนาคตเห็นไหม

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอกาลิโกนะ สดๆ ร้อนๆ ถ้าทุกข์ก็ทุกข์เดี๋ยวนี้ ทุกข์เดี๋ยวนี้ เจ็บช้ำเดี๋ยวนี้ ถ้าสุขมันก็สุขเดี๋ยวนี้ สุขด้วยอะไร? สุขโดยไม่เป็นอามิสนะ โลกเขาต้องสุขด้วยเป็นอามิส อามิสต้องมีตอบสนองตัณหาความทะยานอยาก ถ้าได้เสพ ได้มีตัณหาเข้ามาแล้วมันจะมีความสุขของมัน นี่ต้องพอใจของมัน แล้วมันเคยพอไหม? ตัณหาความทะยานอยากมันล้นฝั่งเห็นไหม ถ้ามันล้นฝั่ง ไม่เคยสิ่งใดจะถึงเมืองพอเลย ไม่มี ยิ่งเสพมาก ยิ่งสะสมมาก ยิ่งต้องการมาก ยิ่งอยากใหญ่ ความอยากใหญ่ ความอยากโต มีแต่ทับถม

แล้วว่ามนุษย์ฉลาดนะ...โง่กว่าสัตว์ เหยียบย่ำหัวใจของตัวเอง สิ่งใดแสวงหามา หน้าที่รับผิดชอบนั่นน่ะมันเหยียบหัวใจ เงินทองขึ้นมา หยิบตัวเลขขึ้นมา มือไม้สั่นเลย ของของเรา ของของเรา...โง่กว่าสัตว์

สัตว์มันเห็นไหม ฤดูกาลของมันนะ ดูสินกมันเห็นที่ไหนผลไม้มันสุก มันไปถึงมันก็เกาะลงไปต้นไม้ที่ไหนมีผล มันกินเสร็จมันก็ไป ปีหน้าออกใหม่ก็จะมากินใหม่นะ ปีหน้าที่ไหนมี สัตว์มันรู้มันนะ ดูสิ สัตว์อพยพของมัน อพยพของมันไป

ไอ้นี่ของเรา ของเรา แล้วใช้สอยให้มันเป็นประโยชน์ไหม ถ้าของเราเราใช้สอยให้เป็นประโยชน์สิ ดูสิ ดูเลือดลมของเราในร่างกาย ถ้าปกติมันหมุนเวียนดีเรายังสบายใจเลย ถ้ามันคั่งขึ้นมา ดูสิ เวลาเลือดมันคั่งสิ่งต่างๆ เลือดคั่งในสมองเขาไปผ่าตัดนะ ต้องไปดูดมันออก...เงินก็สะสมไว้ ไม่ใช้สอย ไม่หมุนเวียนให้มันเป็นประโยชน์ขึ้นมา ถ้าประโยชน์ขึ้นมา สิ่งที่เป็นประโยชน์

ว่า “เป็นของของเรา” อะไรเป็นของของเรา แล้วความดีความชอบที่เป็นของเรา ของเรามันอยู่ที่ไหน? ธรรมะก็เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประพฤติปฏิบัติก็เป็นเรื่องของพระของสงฆ์ ธรรมะมันไม่ใช่เรื่องของเรา สิ่งนี้สุขสบายแล้ว เราก็สุขสบายแล้ว เงินทองก็มีแล้ว...นี่กิเลสมันเหยียบ เหยียบหัวเอาไว้ เหยียบว่า เงินก็มี ทุกอย่างก็มี สมบัติก็มี

สมบัติก็มีแล้ว แล้วมันทุกข์ไหม สมบัติก็มี ชีวิตมันล่วงไปนะ หายใจขึ้นมา วันนี้กี่ร้อยหน กี่พันหน แล้วไม่ได้หายใจพรุ่งนี้จะตายแล้วนะ แล้วสมบัติมันช่วยอะไรได้ สิ่งประโยชน์มันช่วยอะไรได้? มันช่วยอะไรไม่ได้เลย มันโง่กว่าสัตว์ มีเวลาอยู่นี่เหยียบย่ำ เราอยากทำบุญเห็นไหม ซื้อของถวายพระ สร้างวัดสร้างวา โอ้โฮ! ลงทุนลงแรงหลายร้อยล้านหลายพันล้าน แล้วตัวเองได้อะไร ตัวเองได้อะไร

บุญกุศลนี่เป็นอามิสนะ สิ่งที่สร้างขึ้นมา...ใช่ ถ้าเราสร้างด้วยศรัทธาของเรา เราคิดว่ามีเงินมีทองจะทำเป็นประโยชน์ตรงนั้นไง ไอ้นี่ทำบุญมากมายขนาดไหนก็แล้วแต่ ถึงที่สุดแล้วนะ มันต้องล่วงพ้นด้วยการภาวนา ถ้าภาวนาเห็นไหม ถ้าภาวนาขึ้นมา เอาใจเราพ้นจากกิเลสได้ ธรรมะมันอยู่ที่นี่ มันสดๆ ร้อนๆ ที่นี่ เวลาเดินจงกรมขึ้นมา เวลามันทุกข์มันยากขึ้นมา เดินจงกรมล้มลุกคลุกคลานมา ทุกข์ทั้งนั้นเลย

แล้วถ้าจิตมันสงบขึ้นมาเห็นไหม สมาธิธรรมมันก็สดๆ ร้อนๆ นะ ไม่ใช่สมาธิอยู่ในตู้พระไตรปิฎก เวลาได้สมาธิขึ้นมาก็ไม่เชื่อ ว่าตัวเองเป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธิ “สมาธิเป็นอย่างนั้น ขณิกสมาธิ อุปาจารสมาธิ” ไอ้นั่นมันยี่ห้อทั้งนั้น มันเป็นชื่อทั้งนั้นน่ะ มันเป็นของอดีต อนาคตนะ มันไม่เป็นของสด ไม่เป็นธรรมะปัจจุบันหรอก

ธรรมะปัจจุบันสดๆ ร้อนๆ นะ สมาธิขึ้นมาก็สุข ฟุ้งซ่านขนาดไหน ทุกข์ยากขนาดไหน แล้วคนปล่อยวางความฟุ้งซ่าน ปล่อยวางสิ่งๆ ต่างๆ ขึ้นมา ความสุขมันเกิดมาจากใจ ความสุขอันนี้มันมาจากไหน? นี่มันสดๆ ร้อนๆ นะ ของสดๆ ธรรมะสดๆ ถ้าปัญญาเกิดขึ้นมามันยิ่งสดๆ ร้อนๆ เลย ไม่ใช่เป็นอดีต อนาคตหรอก

นี่ฟังธรรมๆ ฟังธรรมเข้ามา มันเป็นประเด็นได้ มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “เราเป็นผู้ชี้นำเท่านั้นนะ เราบอกทางกับเธอ แล้วเธอเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ มันจะถึงไม่ถึงนั้นอีกเรื่องหนึ่ง” “ถึงไม่ถึง” ฟังสิ “ถึงไม่ถึง”

อาหารของเขาเก็บไว้นะ ดูสิ เขาแช่แข็งไว้ เวลาเขาจะมาทำประโยชน์ของเขา เขาต้องเอามาให้อุณหภูมิให้ได้ประโยชน์ก่อนนะ เขาถึงมาทำของเขา เขาแช่แข็งไว้ นี่ธรรมะแช่ไว้ในหัวใจ แช่แข็งเลย เกิดมามีบุญกุศล ศึกษาธรรม ศึกษาเข้าใจธรรมะ ธรรมะนี่...นกแก้วนกขุนทอง มันเป็นการท่องจำ

แล้วศึกษาธรรมมา เวลาแสดง ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เวลาสนทนาธรรม “คนโน้นผิด คนนี้ผิด คนโน้นผิด คนนี้ผิด” ผิดของใคร ผิดของใคร สิ่งที่ผิด วางไว้ผิด ผิดของใคร? ความผิด ความถูก ใครจำได้ ใครขยายความลึกลับซับซ้อนได้มากน้อยกว่ากัน มันเป็นโวหารทั้งนั้นน่ะ ไม่มีใครถูกสักคน มันไม่ใช่ธรรมะของเรา ไม่ใช่ของสด

ธรรมะสดๆ ร้อนๆ นี่มันเป็นปัจจุบัน มันจะเป็นประโยชน์กับเรานะ ถ้าเป็นสมาธิขึ้นมานี่มันรักษา แค่จิตสงบมันก็มีความสุขแล้ว ความสุขมันยับยั้งกิเลสได้ ถ้าไม่มีสติ สิ่งที่ฟุ้งซ่าน ที่เราทำกันอยู่นี้ มันตรึกในธรรม เอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรึก พอตรึกขึ้นมา ปัญญามันเกิด มันเกิดไปไหน ปัญญามันเกิดที่ไหน มันเกิดนอกโลกนะ เขาไปดาวอังคารกัน ยานอวกาศเขาไป มนุษย์ไปกันตั้งกี่ปีกว่าจะไปถึง ถึงเสร็จแล้ว ดาวอังคาร มันจะส่งข้อมูลมันมา

นี่ก็เหมือนกัน “อู๋ย! รู้นู่น รู้นี่” รู้อะไร? อาการของใจทั้งนั้น ไม่ใช่ใจ มันรู้ออก รู้ออก รู้เรื่องอะไร? ในเรื่องปัจจุบัน เรื่องสมาธิเรายังไม่รู้จักเลย ในเรื่องความเป็นไปของเรา ชีวิตของเรานี่เป็นอะไร? เป็นสมมุติสงฆ์ บวชมาแล้วเป็นสมมุติสงฆ์ เป็นสมมุติ เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เป็นโดยสมมุติ มันไม่เป็นความจริง ไม่เป็นความจริงมันจะรู้อะไร? มันจะรู้แต่ข้างนอก รู้แต่อาการของใจ รู้แต่เปลือก เขาเอาผลไม้มา ผลไม้มันมีเปลือกนะ เวลามะพร้าว สิ่งที่ทุเรียนเขามา เขาฉีกออก เปลือกเขาโยนทิ้ง เขากินเนื้อมัน

ไอ้นี่เหมือนกัน เปลือกทุเรียนเอาไว้ทำไม? เอาไว้ฟาดใส่หัวตัวเองหรอ หนามทุเรียนนะ ฟาดใส่หัวตัวเองมันได้อะไร? มันก็ได้เลือดน่ะสิ นี่ก็เหมือนกัน ไปรู้แต่ข้างนอก มันเป็นเปลือก สิ่งใดที่มันรับรู้ออกไป มันได้ประโยชน์อะไร มันสงบเข้ามาหรือยัง? นี่เพราะมันไม่สงบ มันไม่เข้ามาถึงตัวของมันเอง ไม่รู้จักเนื้อทุเรียนเป็นอย่างไรเลย แล้วเนื้อทุเรียนรสชาติอย่างไร มันมีรสหวานอย่างไร มันกินแล้วเอร็ดอร่อยขนาดไหน เห็นไหม เปลือกทุเรียนกินได้ไหม หยิบขึ้นมาก็เป็นหนามนะ เวลามันฟาดใส่หัวเรามันยังมีแผลขึ้นมาเลย นี่มันเป็นวัตถุ มันเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ ที่มองเห็นได้

แต่เวลาจิตมันประพฤติปฏิบัติขึ้นไปเห็นไหม รู้โน่นรู้นี่ อาการของใจทั้งนั้นน่ะ มันเสียเวลา นี่เป็นนามธรรมที่เราไม่เข้าใจไง มันถึงเป็นอดีต อนาคต มันเป็นของเน่า มันเน่ามันบูดนะ อาหารที่เก็บไว้เห็นไหม ของที่ทำขึ้นมาสดๆ ใหม่ๆ รสชาติจะดีมากเลย แล้วกินจะเป็นประโยชน์มากเลย เก็บไว้จนเน่าจนบูด จนเน่าจนบูด แล้วยังมากิน “อู๋ย! อร่อย” ของมันบูด กินเข้าไปมีแต่ทำให้ร่างกายเสียนะ มันจะเจ็บไข้ได้ป่วยเพราะเรากินของเสีย ของเน่า ของไม่ดี

นี่เหมือนกัน จิตมันรู้นู่นรู้นี่...มันจะรู้ขนาดไหน มันเป็นของเน่า มันไม่เป็นประโยชน์กับเราหรอก มันไม่เป็นประโยชน์กับเราเป็นเพราะอะไร เพราะมันส่งออก ส่งออกขึ้นมาแล้ว ถ้าเห็นแล้วมันเป็นความจริงน่ะ ในปัจจุบันที่เห็นมันก็ตื่นเต้น สิ่งที่ตื่นเต้นขึ้นมา สิ่งสภาวะแบบนั้น แล้วพอมันผ่านไป ชักเริ่มสงสัยแล้ว “มันเป็นอะไร มันเป็นอย่างไร ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น” นี่ไง ผลเสียที่เขากินอาหารเสีย กินอาหารเน่าบูด ทำให้ร่างกายเสีย เจ็บไข้ได้ป่วย

นี่ก็เหมือนกัน จิตออกไปรู้ พอรู้ขึ้นมาทำให้จิตโลเล ทำให้จิตเรานี่ยิ่งสงสัย ถ้ามันเป็นอาหารที่เป็นคุณประโยชน์กับร่างกาย กินเข้าไปในร่างกาย ร่างกายมันจะแข็งแรง เรื่องกายมันจะเป็นประโยชน์กับเรา จิตก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นความเพียรชอบ มันเป็นสมาธิชอบ มันเป็นปัญญาชอบ ครูบาอาจารย์ท่านบอกนะ เราสนทนาธรรม หน้าที่เราพูดมา ครูบาอาจารย์ท่านรับว่าจริงหรือไม่จริงเท่านั้นเอง ไม่ใช่ท่านจะมาดัดแปลงของเรา ทำให้ธรรมะเราเกิดขึ้นมา...นี่เพราะมันเป็นของเน่าของบูด มันไม่ใช่ของสด ของปัจจุบัน

ถ้าเป็นของสด ของปัจจุบัน มันสงบเข้ามาเราจะรู้ว่ามันสงบ มันสงบเพราะอะไร เพราะมันปล่อยความลังเลสงสัยเข้ามา เพราะอะไร ของมันซึ่งๆ หน้านะ ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา มันรู้ของมันโดยธรรมชาติของมัน รู้โดยสัจจะความจริงเลย ถ้ารู้โดยสัจจะความจริง เราจะสงสัยไหม เราจะสงสัยไหม แล้วมันความสุขอันที่เกิดจากความสงบขึ้นมา มันจะฝังใจไหม เว้นไว้แต่สิ่งที่มันเป็นศรัทธา อจลศรัทธาความเชื่อ ความเชื่อของเรา แล้วพอมันประสบสิ่งใดขึ้นมา แล้วผ่านอยู่ประจำมันก็เห็นอยู่ แต่มันก็ยังไม่เชื่อ

ดูเวลาเราประพฤติปฏิบัตินะ ถ้าคนที่มีอำนาจวาสนาจิตมันสงบไป จิตมันสงบเข้ามานี่ธรรมมันจะผุด พอธรรมผุดขึ้นมาสิ่งใด ผุดขึ้นมาแล้วเป็นอย่างไร ผุดขึ้นมาแล้ว ธรรมมันผุด ถ้าธรรมผุด มันเกิดสิ่งใดขึ้นมา? มันไม่เป็นทุกๆ คนไป แล้วคนที่เป็นก็ไม่เป็นตลอดไป เป็นบางครั้งบางคราว จิตเข้ม จิตแข็งแรง จิตอ่อนแอ จิตสติมั่นคง สติเจือจาง สติที่มันไม่คง การสงบของสมาธิ มันก็ต่างๆกันไป ถ้ามันเกิดขึ้นมา สิ่งที่มันเกิดขึ้นมา คนที่รู้จริงเห็นจริง มันรู้จริงแล้วมันเข้าใจจริง นี่เป็นธรรม ธรรมสภาวธรรมแบบนี้ แล้วถ้าเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรม มันก็ติดเห็นไหม แล้วอยากได้ อยากดี อยากให้เป็นอีก มันไม่เป็นหรอก

สิ่งที่ว่าเป็นสมาธิแล้ว ถ้ายังสงสัยอยู่ ความไม่เป็นสมาธิ มันปล่อยให้เสื่อม มันปล่อยไป พิสูจน์ไง เพราะสงสัย สงสัยก็ต้องพิสูจน์ ปล่อยจิตคิดวิตกวิจารไป พอวิตกวิจารไปมันก็ฟุ้งซ่านไป สมาธิมันก็เสื่อมไปเป็นธรรมดา พอสมาธิเสื่อมไปแล้ว “อ้าว! ก็ไม่ใช่แล้ว เอ...นี้พอสมาธิมันก็ไม่ใช่ธรรมะ สิ่งที่ปฏิบัติขึ้นมามันก็ไม่ใช่ความจริง ไม่ใช่ความจริง”...นี่อันนี้เกิดขึ้นมาได้เพราะอะไร อันนี้เกิดขึ้นได้เพราะว่านี้คืออวิชชา นี่ความไม่รู้จริงของจิตทุกๆ ดวงมันจะเป็นอย่างนี้ ในเมื่ออวิชชามีพญามารอยู่ในหัวใจนะ ในการประพฤติปฏิบัติของเรา เราว่าเราปฏิบัติธรรมอยู่ เราเข้าใจว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติธรรม เป็นความถูกต้อง แต่ในขณะที่ปฏิบัติไปนี่มารมันขี่หัวไปตลอด

ธรรมะไม่เคยให้โทษกับใคร ธรรมะเป็นของประเสริฐ ธรรมะเป็นของดี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา กราบธรรมอยู่ตลอดเวลา แต่นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ตรัสรู้ธรรมคืออะไร? คืออาสวักขยญาณ ได้ทำลาย ได้ชำระกิเลสออกไปจากใจแล้ว เห็นคุณธรรมด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ คุณค่าของธรรมแท้ๆ คุณค่าของธรรมแท้ๆ นี่สดๆร้อนๆ อยู่ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ครูบาอาจารย์ของเราที่ปฏิบัติขึ้นมาก็เป็นสดๆ ร้อนๆ สดๆ ร้อนๆ มันสดๆ ร้อนๆ ขึ้นมาจากใจของครูบาอาจารย์ของเรา

แต่ของเรานี่มันของเน่า ของเน่าของจำ ของสิ่งที่ประพฤติ สิ่งที่เอามาสวมมาโดยกิเลสไง ถ้ามันเป็นธรรมขึ้นมา เราต้องเตาะแตะ ทุกคนเกิดมา เราคนเกิดมา ทุกคนที่เป็นมนุษย์ เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ ไม่ใครมีใครเดินได้ เว้นไว้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่าประสูติมาก็ย่างได้ ๗ ก้าว “เราจะไม่กลับมาเกิดอีก จะไม่กลับมาเกิดอีกเลย” นี่พระโพธิสัตว์สร้างบุญกุศลมา

เราเกิดมาทุกคนเป็นเด็กอ่อนทั้งนั้นน่ะ ต้องหัดนั่ง หัดคลาน หัดเดินทั้งนั้น จิตทุกดวงจิตที่มันประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันไม่ใช่ว่าลอยมาจากฟ้าหรอก มันไม่ได้เกิดมาเป็นโอปปาติกะเหมือนเทวดานี่ เกิดมาก็เป็นร่างกายสมบูรณ์เลย

นี่ก็เหมือนกัน “ภาวนาแล้วจะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนี้” ทำไปเถิด ทำไป ทำไป จิตที่มันเป็นโลกียปัญญาอย่างนี้ ปัญญาที่มันเป็นสภาวะแบบนี้ มันจะเข้าไม่ถึงธรรมหรอก มันเข้าไม่ได้สัจจะความจริงหรอก มันเข้าไม่ถึงสัจจะความจริง แล้วกิเลสน่ะ กิเลสมันครอบหัว พอมันครอบหัว สภาวธรรม สภาวธรรม สิ่งที่กาย เวทนา จิต ธรรม ธรรมะ ธรรมารมณ์ สภาวธรรมที่มันเกิดขึ้น สัจจะความจริงมันต้องมีสมาธิขึ้นมาก่อน ถ้ามีสมาธิขึ้นมาก่อน

เรากินข้าวนะ เรากินข้าว เราทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ เราทำธุรกิจ เราทำงานของเรา เสร็จก็รู้ว่าเสร็จ ไม่เสร็จก็รู้ว่าไม่เสร็จ เสร็จแล้ว งานนี่สมบูรณ์ไม่สมบูรณ์ คราวนี้ทำแล้ว ดูสิ งานของเราทำแล้วลวกๆ แต่มันก็เสร็จ เสร็จแต่มันดูแล้วไม่เข้าท่า ทำต่อไปงานเราก็เสร็จขึ้นมา มันก็ดูเรียบร้อยขึ้น ดีขึ้น เจริญขึ้น งามขึ้น ดี ส่วนใหญ่เพราะประสบการณ์ จิตก็เหมือนกัน ภาวนาไป อย่าคาดหมาย อย่าคาดหมาย อย่าหวังสิ่งใด การคาดการหมายนี่กิเลสซ้อนกิเลสนะ ในอภิธรรมบอก เวลาประพฤติปฏิบัติ ห้ามอยาก ห้ามอยาก ถ้าอยากนี้เป็นกิเลสหมด

นี่เหมือนกัน ในเมื่อมันมีความอยากอยู่ ทีนี้มีความอยากอยู่มันต้องอยากในเหตุ อยากในประพฤติปฏิบัติ แต่อย่าไปอยากในผล ไอ้นี่พอทำขึ้นไปแล้วคาดไปหมดเลยนะ “ธรรมะจะเป็นอย่างนั้น นิพพานจะเป็นอย่างนั้น สมาธิ...” นี่สร้างเรื่องหนึ่งนะ ผู้กำกับสร้างหนังเรื่องหนึ่งเลย เราไปสร้างภาพขึ้นมาเรื่องหนึ่งเลย แล้วมันเน่าบูด เน่าบูดเพราะทำให้หัวใจเสียเวลาไป ถ้าเน่าบูด แต่เราไม่รู้ นี่หลง ถ้าจิตมันหลง จิตมันไม่เข้าใจ เราจะไม่รู้สิ่งใดๆ เลย เพราะถ้ามันรู้มันก็ต้องไม่หลงสิ นี้เพราะมันหลง หลงแล้วกิเลสยังซ้อนมาอีก

ในอภิธรรม ถ้ามีความอยากปฏิบัติไม่ได้ ปฏิบัติไม่ได้ เราไม่ต้องการให้มันอยากหรอก ความอยากนี่ควบคุมไม่ได้ แต่อย่าได้ประสบอะไรในสิ่งใดนะ ประสบสิ่งใดแล้วมันจะฝังใจ ถ้าเป็นสมาธิหรือว่าธรรมะเกิด หรือว่าสิ่งใดเกิด ฝังอกฝังใจ อยากได้ นี่ไง พออยากได้ขึ้นมานี่พยายามบังคับ บังคับไม่ได้แล้ว อย่างเริ่มต้นเราประพฤติปฏิบัติไป นั่นเป็นความอยาก ในเมื่อมีความอยากโดยสามัญสำนึกของคนน่ะ มันมีกิเลส มันก็ต้องมีความอยากเป็นธรรมดา

แต่อยากนี่เราพยายามควบคุม แล้วอยากในเหตุ เหตุคือนั่งสมาธิ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ปัญญาอบรมสมาธิ หรือตรึกในธรรม ตรึกไปเรื่อยๆ ตรึกไปเรื่อยๆ มันฝึกฝน เหมือนเด็กอ่อนที่มันจะต้องฝึกเดิน มันต้องฝึกหัดนั่ง หัดคลาน หัดเดินของมันไป จิตที่มันพยายามฝึกของมันไป พอมันเดินได้ก้าวสองก้าว พ่อแม่ดีใจตบมือให้ ดีใจหกล้ม

นี่ก็เหมือนกัน จิตมันไปสัมผัสสิ่งใด พอจิตมันเริ่มสัมผัสสิ่งใดมันก็มีความอยากขึ้นมา พอสัมผัส ตัณหาซ้อนตัณหา ตัณหาความทะยานอยากถ้ามันเป็นฉันทะ เป็นความพอใจ นี้มันก็เป็นตัณหาอันหนึ่ง เราควบคุมมัน นี่วิธีการฝึกนะ คนจะต้องผ่านประสบการณ์อย่างนี้ ถ้าประสบการณ์อย่างนี้ เวลาเราปฏิบัติไปจะล้มลุกคลุกคลาน เดี๋ยวดีเดี๋ยวไม่ดี เพราะเดี๋ยวดีเดี๋ยวไม่ดี วางใจอย่างไร วางใจให้เป็นธรรม อย่าไปอยากในผลนัก อยากในเหตุ ทำไป ก้มหน้าก้มตาทำของเราไป เหมือนเราทำหน้าที่การงานน่ะ เสร็จก็ช่าง ไม่เสร็จก็ช่าง แต่ต้องมีสติ แล้วฝึกฝนของเราไป

พอมันไปประสบสิ่งใดที่มันเข้าไปกระทบ เป็นสมาธิ หรือเป็นนิมิต เป็นสิ่งเห็นต่างๆ มันก็มีฟู จิตใจก็จะฟูขึ้นมา อยากได้ นี่กิเลสมันโดนกระตุ้น โดนกระตุ้นโดยประสบการณ์ของจิต จิตมันไปเห็นสิ่งต่างๆ ขึ้นมาแล้วมันก็ฝังใจ พอฝังใจ ความอยากมันก็เพิ่มขึ้นมา นี่กิเลสที่มันให้ผลในทางลบกับเราเป็นผลอย่างนี้ ประพฤติปฏิบัติไป นึกว่าเราตั้งใจแล้ว ทำคุณงามความดี เห็นไหม เวลาลูกศิษย์กับอาจารย์น่ะ ปรารถนาดี ปรารถนาดี...ปรารถนาโดยกิเลส อย่าเอามาปรารถนา ปรารถนาแล้วเราต้องมีปัญญา ควร ไม่ควร

คนไข้ที่เจ็บป่วยเล็กน้อย เราจะอุปัฏฐากดูแลเขาอย่างไร คนไข้ที่โคม่า คนไข้ที่มีความทุกข์มาก คนไข้ที่จวนเจียนที่ชีวิตจะออกจากร่าง เราจะดูแลเขาอย่างไร นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ของเรา ท่านก็...“ปรารถนาดีๆ” ปรารถนาดีเก็บไว้ในหัวใจนะ วุฒิภาวะของคนมันไม่เหมือนกันหรอก ความรู้สึกของคนไม่เหมือนกัน เราต้องว่าควร ไม่ควร สูงต่ำอย่างไร ควร ไม่ควร เป็นถึงคราว ไม่ถึงคราว ต้องกาลเทศะ มันต้องดูหมดน่ะ ไม่ใช่ปรารถนาดี เขาจะนอนหลับอยู่ก็จะไปป้อนอาหารเขา ปรารถนาดี นอนอยู่ก็ปลุกขึ้นมากินข้าว...ไม่ใช่ ปรารถนาดี เขานอนอยู่เราก็หลบเลี่ยง นอนหลับให้ตื่นขึ้นมาก่อน

นี่ก็เหมือนกัน คำว่า “ปรารถนาดี” นี่กิเลสมันเอามาฟันหัวเรา นี่เปลือกทุเรียน นึกว่ามันเป็นประโยชน์หมด ปรารถนาดี เป็นประโยชน์ เอาเปลือกทุเรียนฟาดใส่หัวตัวเอง แล้วก็ว่าเป็นคนดีอีก แล้วคนอื่นเขาจะช่วยใส่แผล เขาจะช่วยเยียวยาให้ เพราะหนามทุเรียนมันตำหัว ไปเอ็ดเขาอีก “อู๋ย! คนนั้นไม่ปรารถนาดีกับเรา คนนี้ไม่ปรารถนาดี...” เลือดเต็มหน้ายังไม่รู้เลย นี่เป็นวัตถุ

แต่ถ้าเป็นนามธรรมเห็นไหม ความคิดของเรา ความคิดในใจเรานี่ เราไม่รู้ตัวเราเลยว่าเราคิดแล้วมันทำลายใคร มันทำลายตัวเราเอง ทำลายหัวใจตัวเราเอง ทำลายทุกอย่างเลย ทำลายที่ว่ามนุษย์ที่ประเสริฐๆ มนุสสติรัจฉาโน มันไม่เข้าใจชีวิตของมัน มันไม่รู้จักคุณประโยชน์ของชีวิตนี่มันมีขนาดไหน ดูสิ สัตว์มันยังเข้าใจเลยว่าเนื้อมันยังเป็นประโยชน์

ในพระไตรปิฎกนะ สัตว์มันตายมาเข้านิมิตในพระ “ตายแล้ว อยากให้ได้กินเนื้อของตัวบ้าง เพื่อประโยชน์ของเรา” สัตว์มันยังมีความคิดดีๆ นะ แต่ถ้าเรา ชีวิตของเรา เราปล่อยทิ้งๆ ขว้างๆ แล้วก็คิดอ้างกันไง อ้างว่าก็ไม่มีเวลา ต้องประกอบสัมมาอาชีวะ หน้าที่การงาน หน้าที่การงาน...อย่าตายนะ ห้ามตาย ต้องอยู่กับมันตลอดไป เป็นห่วงมันมาก ห้ามตาย...ตายเดี๋ยวนี้ หน้าที่การงานก็มีคนรับผิดชอบ งานของโลกไม่มีวันจบหรอก งานของพระก็เหมือนกัน เกิดตายๆ แล้วเมื่อไหร่จะเกิดเมื่อไหร่จะตาย อ้างแต่งาน อ้างแต่ความรับผิดชอบ นึกว่าคนมีรับผิดชอบดีมากจะทำหน้าที่การงาน

ความรับผิดชอบมันเป็นอำนาจวาสนา คนรับผิดชอบดี เห็นไหม ดูสิ พระที่มีประพฤติปฏิบัติ ถ้ามีข้อวัตร รับผิดชอบ ดูแลหมดน่ะ เข้าใจได้ รับสิ่งต่างๆ ได้ แต่ถ้าคนจิตใจมันอ่อนแอนะ หลบๆ หลีกๆ เลี่ยงๆ ไปเรื่อยน่ะ จะเป็นอย่างนี้ๆ...เพราะอะไร ความรับผิดชอบ ความรับผิดชอบของเรานะมันทำแล้ว มันดูได้ สิ่งใดถึงควรไม่ควรนี่มันทำได้ ทำเสร็จแล้วก็จบ นี่ทำงานเพื่องาน ทำดีเพื่อดี ไม่ใช่ทำดีเพื่อใคร

เพราะทำดีเพื่อดี มันก็ย้อนกลับเข้ามาที่ใจเรา ย้อนกลับมาที่ใจเราเพราะอะไร เพราะใจมันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน หน้าที่การงานก็หน้าที่การงานของโลกเท่านี้เอง แต่หน้าที่ของเรา เห็นไหม มีสัจจะไหม วันคืนล่วงไป ทำอะไรอยู่ ๒๔ ชั่วโมงได้นั่งสมาธิภาวนาไหม ถ้านั่งสมาธิภาวนาจิตใจมันจะพัฒนาไหม เวลาล่วงหมดไป ดูนักกีฬาสิ ดูสิ เวลาเขาหมดการแข่งขันแล้วเขาก็จบของเขานะ นี่ก็เหมือนกัน กี่ปีกี่เดือนขึ้นมานี่ ใจมันพัฒนาขึ้นมาอย่างไร ถ้ามันทำอยู่ทำไมใจมันไม่พัฒนา ถ้าทำอยู่ทำไมใจจะไม่พัฒนา ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี พระพุทธเจ้าบอกว่าอย่างน้อยต้องเป็นพระอนาคา แล้วความเพียรอย่างนี้ทำไม่ได้เหรอ ถ้าทำได้เราประโยชน์เรามันจะอยู่ที่ไหน

นี่ไง มันถึงว่าคุณค่าของมนุษย์นี้ไง คุณค่าของมนุษย์ เราปล่อยชีวิตของเราไปเอง ในเมื่อเราปล่อยชีวิตของเราไปเอง เราไม่รับผิดชอบตัวเราเอง แล้วมาบ่นว่า “เรามีหน้าที่การงานต้องรับผิดชอบ” นี่กิเลสอ้างทั้งนั้นนะ หน้าที่การงานของโลกนะ ดูสิ ดูบริษัทบริหารจัดการเขารับผิดชอบ เขาบริหารให้หมดเลย เราจ้างใครบริหาร สิ่งเราทำ เราจะได้ประโยชน์กี่เปอร์เซ็นต์ เดี๋ยวนี้เขามีรับ มีบริษัททั้งนั้นน่ะ รับทำให้ได้หมดเลย ไม่ต้องทำอะไรเลย

แต่การประพฤติปฏิบัติทำอย่างนั้นได้ไหม เราก็คิดว่าบริหารจัดการ ทุกคนคิดบริหารจัดการ ทางโลกเราก็ทำได้ ทำไมประพฤติปฏิบัติธรรมไม่ได้ เอาพิมพ์เขียวมาเลย จะทำประพฤติปฏิบัติ...ไม่มีหรอก สมาธิเอามาจากไหน สติเอามาจากไหน ปัญญาเอามาจากไหน ปัญญา ปัญญา มันเป็นสัญญาทั้งนั้นน่ะ พอเป็นสัญญาขึ้นมา แล้วเราคิดขึ้นมา นี่โลกียปัญญา ปัญญาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ตรึกในธรรมๆ ตรึกในธรรม

ความมหัศจรรย์ของจิต จิตนี้มหัศจรรย์มาก แม้แต่ในคิดในทางโลก แม้แต่สิ่งที่เขาเป็นไสยศาสตร์กัน เขายังทำได้ความมหัศจรรย์ขนาดนั้น แล้วเรามาประพฤติปฏิบัติ เวลามันทุกข์มันก็ทุกข์นะ มันทุกข์มาก เวลาคนมีสติสัมปชัญญะขึ้นมา ถ้ากำหนดขึ้นมานี่ มันมีอำนาจวาสนาขนาดไหน ถ้าไม่มีอำนาจวาสนา ดูสิ ในศาสนาเขาเรียกว่าหมดกาลหมดเวลา มันจะเป็นไปไม่ได้ มันจะทำไปไม่ได้...ด้วยความเห็นของกิเลส

แต่ถ้าคนประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราปฏิบัติแล้วสิบปี ยี่สิบปี หลายสิบปี แล้วเราปฏิบัติไม่ได้ ใครมันจะไปปฏิบัติได้ มันไม่เชื่อเลยนะว่าคนอื่นจะปฏิบัติได้ แต่ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมา การกระทำของเรา เรามีเจตนาของเรา เจตนานะ ถ้ามีเจตนา มีสติขึ้นมา เราย้อนกลับของเราขึ้นมา ถ้าเราทำของเราขึ้นมา เราปฏิบัติขึ้นมา ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมามันก็เรื่องของเรา ถ้ามันเรื่องของเรา คนอื่นมันจะลังเลสงสัยขนาดไหน นี่มันเรื่องของเขานะ ถ้ามันเรื่องของเขา สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมานนี่ เดินจงกรมเท่ากัน ทำบุญกุศลเหมือนกัน

บุญกุศลไม่เท่ากันทั้งนั้นน่ะ มันอยู่ที่เจตนา อยู่ที่การทำจริง อยู่ที่ความเพียร วิริยอุตสาหะ ทำไมมันมีความเพียรชอบ ความเพียรไม่ชอบล่ะ เห็นไหม เวลาความเพียรไม่ชอบ ด้วยกิเลส...อัตตกิลมถานุโยค ทำอะไรก็เป็นการลำบากเปล่า ลำบากเปล่า...ก็ต้องลำบากก่อน ถ้าไม่ลำบาก กิเลสมันจะหัวเราะเยาะ มันจะขี่เอา เห็นไหม มันต้องเคร่งครัดก่อน อยู่ในกฎระเบียบ อยู่ในต่างๆ ขึ้นมา การกฎระเบียบข้อวัตรปฏิบัติ มันก็เหมือนกับการฝึกใจ ถ้าใจเรานะ ดูสิ ดูอย่างทางวิชาการ ในทหาร เขาจะจบจากการศึกษาในทหารนะ เขาต้องฝึกเขาต้องฝนของเขามา แล้วร่างกายเขาแข็งแรงมาก เขารู้ถึงกฎระเบียบ ยุทธวิธีในการรบ

จิตก็เหมือนกัน ไอ้ข้อวัตรปฏิบัติ มันยุทธวิธี จิตที่มันจะผ่านกิเลสอย่างไร ใครบ้างมันอยากจะเป็นเบี้ยล่าง ใครบ้างอยากจะให้คนอื่นติฉินนินทา...ไม่มีทาง นี่มันไม่ยอมเป็นเบี้ยล่างอยู่แล้ว มันมีแต่กิเลส กิเลสมันอยู่ในใจตลอดเวลา ไอ้ข้อวัตรนี่เวลาทำลงไปมันจะยอมรับไหม ถ้าจิตมันยอมรับ จิตมันทำได้ มันเห็นนะ เห็นคุณค่าเลยล่ะ นี่ข้อวัตรปฏิบัติ ถือนิสัย นิสัยมันคืออะไร ทำไมต้องขอนิสัย แล้วนิสัยมันเป็นประโยชน์อะไรกับเรา

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “มนุษย์ ในบรรดาสัตว์สองเท้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด” ถ้าใครคบเป็นมิตร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะพาพ้นกิเลส จะไปถึงสิ้นกิเลสทั้งหมด นี่เหมือนกัน เพราะนิสัยไง ข้อวัตรปฏิบัติที่มันฝึกไง นี่ฝึกยุทธวิธี ยุทธวิธีให้จิตมันยอมรับสิ่งนี้ ถ้ามันไม่ยอมรับสิ่งนี้ มันเห็นงานต่ำต้อย งานนี้มันงานต่ำต้อย...ใจมันไม่ลง ใจมันกระด้างไง ถ้าใจไม่ลง ใจมันกระด้าง ใจมันว่ารับมันรู้ มันเก่ง แล้วมันเก่งอะไร? เก่งในกิเลสไง นี่มนุสสติรัจฉาโน มันคิดทั้งๆ ที่ปฏิบัติธรรมอยู่นี่ ทั้งๆ ที่ประพฤติปฏิบัติ มันว่ามันถูกต้อง ว่ามันดีไปหมดเลย นี่มารทั้งนั้นน่ะ มนุสสติรัจฉาโน เพราะมันเป็นเปรต เป็นผี เพราะอะไร เพราะมันตายไปมันเป็นผีเพราะอะไร เพราะสิ่งที่มันประพฤติปฏิบัติ มันไม่เข้าถึงใจ

พอมันไม่เข้าถึงใจ ดูสิ ดูอย่างการเกิดการตายของจิตในวัฏฏะ จิตที่มันหนักหน่วงด้วยโกรธด้วยความลุ่มหลง มันตกนรกอเวจีทั้งนั้นน่ะ จิตที่มีคุณธรรมมันเบา มันจะขึ้นสูง นี่ก็เหมือนกัน ถ้าในหัวใจมันคิดหมักหมมขึ้นมาอย่างนั้นมันจะไปไหนน่ะ มันถึงเป็นติรัจฉาโน มันจะเป็นเดรัจฉานที่ใจไง สวรรค์ในอกนรกในใจ ในเมื่อใจมันคิดหยาบช้า มันเป็นสัตว์นรกอยู่ในหัวใจแล้วมันจะไปเกิดที่ไหน? มันก็ลงไปในนรกอเวจีทั้งนั้นน่ะ

แต่ถ้ามันคิดถึงคุณงามความดี ข้อวัตรปฏิบัติ คิดถึงสิ่งที่ดีๆ เห็นไหม “กิจของสงฆ์” สงฆ์ควรทำสิ่งใด หน้าที่ของเราควรทำสิ่งใด ทำถวายใคร? ทำถวายธรรมวินัย ธรรมวินัยคืออะไร? คือศาสดาของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรานะ เราถือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ดูสิ หลวงตาท่านบอก “เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไป” เหยียบหัวธรรมและวินัยไป ธรรมและวินัยเป็นศาสดาที่คุ้มครองเรา...เหยียบมันไป นู่นก็ไม่สำคัญ นั่นก็ไม่จำเป็น นู่นก็เป็นเรื่องของคนอื่นหมด ไม่ใช่เรื่องของเรา...เหยียบไปหมดเลย แล้วว่าตัวเองมีคุณธรรม คุณธรรมมาจากไหน? เพราะจิตมันกระด้าง จิตมันไม่ยอมลง ถ้าจิตมันยอมลงนะ หน้าที่การงานต่างๆ ทำถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นครูบาอาจารย์ของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางข้อวัตรปฏิบัติไว้ เราทำข้อวัตรปฏิบัติ นี่ไง ถ้าจิตมันลง มันลงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ามันลงนะ

มันลงเห็นไหม ดูสิ เราหมัก เราทำสิ่งใด สิ่งที่เป็นอาหาร ถ้าสิ่งที่หมักได้ที่แล้ว เราทำสิ่งใดมันก็เป็นประโยชน์หมด ถ้าจิตมันลง จิตมันมีคุณค่าของมัน เห็นไหม จิตมันลง จิตมันมีคุณค่าของมัน มันเก็บหอมรอมริบนะ สิ่งใดเป็นประโยชน์หมดนะ สิ่งใดเป็นประโยชน์ ทำเพื่ออะไร? ทำเพื่อธรรมวินัย ไม่ได้ทำเพื่อใครเลย

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะฝากธรรมวินัยไว้กับใคร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ฝากไว้กับใคร เทวทัตอยากได้ อยากจะให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ชราแล้ว ให้พักผ่อนเถิด ให้พระเทวทัตเป็นผู้ปกครองสงฆ์

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า แม้แต่อัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา พระอัญญาโกณฑัญญะ พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ให้ปกครองสงฆ์เลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ธรรมและวินัยเป็นศาสดา เป็นผู้ปกครอง ธรรมและวินัยคือศาสดาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้แล้ว

นี่เหมือนกัน แล้วใครจะปกครองใคร สิ่งใดต่างๆ ถ้าเราเคารพลงธรรมลงวินัย ธรรมวินัยปกครองเรา สิ่งที่ปกครองเรา พระทุกๆ องค์อยู่ในธรรมและวินัย ธรรมและวินัย ทิฏฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน สังคมร่มเย็นเป็นสุขหมดเลย มันไปในทางเดียวกันหมด เพราะอะไร เพราะเราปรารถนาประพฤติที่สิ้นแห่งความทุกข์หมด เราปรารถนาประพฤติปฏิบัติให้พ้นจากทุกข์ให้ได้ แล้วพ้นจากทุกข์ จะเอามือเปล่าๆ ไปสู้เสือเหรอ ทำไมไม่เอาธรรมและวินัยล่ะ ทำไมไม่เอาสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เป็นธรรมอาวุธเอาไว้แล้ว

สิ่งที่ธรรมาวุธ ข้อวัตรปฏิบัติมันก็เป็นอาวุธหนึ่ง มันให้จิตมันได้ฝึกได้ฝนขึ้นมา ให้รู้จักยุทธวิธี ยุทธวิธีการทำอะไร? ยุทธวิธีฆ่ากิเลส ยุทธวิธีทำให้ใจมันลงในธรรมวินัยไง ยุทธวิธีทำให้ใจมันยอมรับธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง ไม่เหยียบหัวองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป ยอมรับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ้ายอมรับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หัวใจมันก็เปิดขึ้นมา หัวใจมันก็เปิดขึ้นมา การกระทำมันก็มีโอกาส แล้วธรรมะมันเกิดขึ้นมาก็เป็นธรรมะของใคร มันจะสดๆ ร้อนๆ ขึ้นมาที่หัวใจ ถ้าสมาธิขึ้นมาก็เป็นสมาธิสดๆ ร้อนๆ เป็นสมาธิจริงๆ ไม่ใช่เป็นสมาธิแต่ชื่อ ไม่ใช่เป็นสมาธิที่เพ้อเจ้อเพ้อฝัน เพ้อฝันออกไป พอจิตมันสงบปุ๊บ จิตสงบ จิตพ้นจากกิเลส มันยิ่งมหัศจรรย์ใหญ่เลย เพราะอะไร เพราะมันฆ่ากิเลสเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป

เราฆ่าเองนะ ตั้งแต่หลาน ตั้งแต่ลูกมัน ตั้งแต่พ่อมัน ตั้งแต่ปู่มันน่ะ ฆ่าเป็นชั้นเป็นตอน แล้วกิเลสมันหยาบ มันละเอียด การฆ่ากิเลส การทำลายกิเลส มันเห็นเป็นชั้นเป็นตอน มันเห็นความมหัศจรรย์ของจิต เทวดา อินทร์ พรหมเกิดอย่างไร โสดาบันอีก ๗ ชาติเกิดอย่างไร สกิทาคามีเกิดอีกกี่ชาติ อนาคามีไปเกิดบนพรหม ไม่เกิดในกามภพ แล้วเวลาสิ้นจากกิเลสไปมันทำอย่างไร นี่ความมหัศจรรย์ของจิตขณะที่มันพ้นไป

แต่ขณะที่จิตมันเป็นกิเลส เป็นปุถุชน มันก็มหัศจรรย์ของมัน มหัศจรรย์ของมัน ดูสิ ดูเวลาเขาทำไสยศาสตร์กัน เวลาเขาเข้าทรงเจ้า ดูกาฬเทวิลเข้าสมาบัติ จะไปนอนอยู่บนพรหมได้ ฤๅษีชีไพรเข้าสมาบัติเหาะเหินเดินฟ้าได้ ฤๅษีชีไพรเวลาเข้าสมาบัตินี่ทายจิตได้ รู้จากวาระจิตของตัว ความมหัศจรรย์หมด ทั้งๆ ที่เป็นปุถุชนที่กิเลสเต็มหัวนี่ เวลาถ้าจิตมันสงบขึ้นมามันจะออกรู้ ออกต่างๆ มันเป็นประโยชน์ มันเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ เป็นเรื่องของโลกๆ เป็นฌานโลกีย์ สิ่งที่ฌานโลกีย์นะ มันยังไป...แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติ

แล้วระหว่างฌานโลกีย์ โลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญา สิ่งที่เป็นมิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิมันต่างกันตรงไหน มันต่างกันตรงไหน นี่ไง เพราะสิ่งที่สดๆ ร้อนๆ มันเป็นประโยชน์ขึ้นมา มันทำอะไรขึ้นมา มันก็เป็นอาหารการกินใช่ไหม ของบูด ของเน่า ของเสียเอาไปทำกัน นี่ของเน่าของเสีย เขาก็ว่าอร่อยกันนะ ทางโลก เขากินของเน่า ของหมัก ของดอง เน่าขึ้นมามันเป็นของเสีย แต่ถ้าธรรมะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ ธรรมะมันไม่มีของเน่าของเสีย มันต้องเป็นสัมมาอาชีวะ มันต้องเป็นความสุข มันสะอาดบริสุทธิ์เข้ามา ถ้าสะอาดบริสุทธิ์เข้ามา นี่ความมหัศจรรย์ของใจ

ใจที่สกปรก แม้แต่มันสงบขึ้นมามันก็มีความออกรู้ของมัน ออกรู้ ออกรู้สิ่งต่างๆ ออกรู้ได้ประโยชน์ขึ้นมา ออกรู้ไปข้างนอกมันได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา? ก็ได้ทิฏฐิมานะไง ได้ความอหังการ ได้ความอหังการว่าสิ่งนั้นเป็นคุณธรรม ได้ความอหังการมา ได้กิเลสตัณหามา ได้ทิฏฐิมา แล้วก็คิดว่าตัวเองมีคุณธรรม ตัวเองเป็นผู้รู้นะ...รู้โดยอยู่ใต้กิเลส เห็นไหม นี่มันไม่เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงล่ะ ความจริงที่มันเกิดขึ้นมา ความจริงนี้เกิดจากสัจธรรมนะ สัจธรรมมันเกิดที่ไหน สัจธรรมในพระไตรปิฎก สัจธรรมนั้นมันก็เป็นชื่อเป็นวิธีการ เป็นสิ่งที่ธรรมวินัย เป็นศาสดาของเรา

เราจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ไหน ดูสิ ทางโลกเขาไปนะ สังเวชนียสถานทั้ง ๔ เขาไปอินเดียกัน เขาไปกราบไปไหว้...ไปกราบไปไหว้มันเป็นเรื่องของคฤหัสถ์เขา เรื่องคนที่มันเลื่อนลอย เรื่องคนที่ไม่มีจุดยืน เห็นไหม แต่ถ้าเราจะเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ในหัวใจของเรา ถ้าเราเข้ามา “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มันอยู่ที่ไหน แล้วเจอพระพุทธเจ้าที่ไหน จะเคารพพระพุทธเจ้าอย่างไร แล้วพระพุทธเจ้าเป็นธรรมวินัยที่จะอนุโมทนากับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ อนุโมทนาอย่างไร

ถ้าอนุโมทนาเห็นไหม อนุโมทนา จิตมันสงบเข้ามา ถ้าจิตมันสงบเข้ามา สิ่งที่ว่าเห็นนิมิตไม่ได้ เวลาเห็นครูบาอาจารย์มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นนิมิต สิ่งต่างๆ มันเป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรม เวลาจิตมันสงบ ธรรมนั่นน่ะ ธรรมเกิด คำว่า “เป็นธรรม” ถ้ามีสติสัมปชัญญะมันจะเป็นธรรม เป็นธรรม “ธรรม” ดูสิ ดูเราเจ็บไข้ได้ป่วยนี่ต้องการยาไหม แล้วถ้าเราไม่เจ็บไข้ได้ป่วย เราต้องการยาไหม เราไม่เจ็บไข้ได้ป่วยได้ยาขึ้นมา กินเข้าไปก็ตายเลย ยากินมากไปมันก็ตายนะ แต่ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วย กินยาเข้ามาเป็นประโยชน์ใช่ไหม

สิ่งที่เป็นธรรม ถ้าจิตมีสติสัมปชัญญะ ธรรมมันเกิดขึ้นมา มันมีปัญญา มันใคร่ครวญได้ว่าสิ่งนี้เป็นธรรม มันเข้าไปชำระความลังเลสงสัยในใจ นี่เราสงสัยสิ่งใดขึ้นมา ครูบาอาจารย์ท่านมาสอน มาสอนกันได้ มาสอน...ถ้าเป็นกิเลสเรา เราก็ไม่เชื่อ ครูบาอาจารย์ จิตสอนจิต วิญญาณสอนวิญญาณเหรอ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาต้องให้เป็นสัมมาทิฏฐิ ต้องให้เป็นความเห็น เป็นให้จิตเราสงบขึ้นมา ไม่ใช่จิตกดทับ ถ้าอาศัยครูบาอาจารย์ จิตกดทับ...อาศัยไม่ได้ สิ่งที่อาศัยไม่ได้

แต่จิตเราสงบเอง จิตสงบมานี่มันออกรู้สิ่งต่างๆ จิตมันเข้าไปอีกมิติหนึ่ง มันเป็นจิตบางประเภทที่จะเห็นสภาวะแบบนั้นได้ แต่ก็ไม่เห็นกันทั่วไป เห็นขณะที่สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ ครูบาอาจารย์ท่านจะมาแนะนำ ถ้าแนะนำขึ้นมานี่ เราก็แก้ไขของเรา แก้ไขของเรา นี่เวลาเกิดที่ว่าธรรมเกิดๆ ธรรมเกิดไง สิ่งที่ธรรมเกิด สิ่งที่ตาเห็น นี่ไง จิตที่มีสติมันมีกำลัง มันไม่ความเชื่อไปกับความเห็นนั้น ความเห็นนั้นมันเป็นนิมิตใช่ไหม นิมิตเป็นเครื่องบอกใช่ไหม เครื่องบอกว่าสิ่งนี้ถูกหรือผิด แล้วควรจะทำอย่างไร แค่เป็นการชี้ทางบอกเท่านั้น แต่ถ้าคนไม่มีสติ ไม่มีสติคือว่าความไม่รู้จักตัวของเรา ไม่รู้จักตัวเรา...ก็สิ่งนั้นเป็นธรรม สิ่งนั้นเรารู้ธรรม สิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับเรา...มันไม่ใช่หรอก

เหมือนกับเรามีการศึกษา อาจารย์สอนนักเรียนในห้อง สิ่งที่อาจารย์สอนวิชาการมา แล้วเด็กมันศึกษามา ความรู้ของเด็กกับความรู้ของอาจารย์ต่างกันไหม อาจารย์ทุกคนก็อยากสอนวิชาอะไรก็แล้วแต่ ก็อยากให้ลูกศิษย์นี่รู้ ลูกศิษย์เข้าใจ ให้มีองค์ความรู้ นี่เหมือนกัน ขณะที่จิตมันมีปัญญาขึ้นมา ถ้าเรามีสติขึ้นมา เราได้องค์ความรู้นั้นมา นิมิตก็คือนิมิตไง ก็เหมือนอาจารย์สอนศิษย์ มันเป็นอะไรไป เวลาเราเข้าห้องเรียนกัน อาจารย์มาเลกเชอร์อยู่หน้าห้องนะ อาจารย์ผิดหรอ? อาจารย์ก็ไม่ผิด

แต่ถ้าเราบอกว่าเรารู้จักอาจารย์แล้ว ความรู้ในอาจารย์เป็นของเรา...ก็ผิด เพราะความรู้ในสมองของอาจารย์ ในความรู้ของอาจารย์ ก็เป็นของอาจารย์ไม่ใช่ของเรา แต่ถ้าอาจารย์นี้เลกเชอร์มาแล้วเราเข้าใจ นั่นคือความรู้ของเราใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เราเห็นในนิมิต ถ้ามันเห็นสภาวะแบบนั้นแล้วเราเข้ามาใคร่ครวญหาประโยชน์กับเรา หาประโยชน์ หาความรู้กับเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเรา นิมิตก็คือนิมิต มันเสียหายตรงไหน แต่ถ้าคนไม่เข้าใจ...ก็ผิด ผิด นิมิตก็ผิด นั่นก็ผิด

มันไปเอาธรรมะตายตัว สิ่งที่เป็นตายตัว เป็นกฎตายตัว เป็นกรอบ สิ่งที่เป็นกฎเป็นกรอบ มันก็เลยไม่ใช่ของปัจจุบัน มันเลยไม่เกิดธรรมะ ธรรมะก็เลยเป็นเน่าๆ ธรรมะที่มีกลิ่นเหม็นไปตลอด เหม็นเพราะอะไร เหม็นเพราะเดี๋ยวมันเสื่อม พอเสื่อมแล้วเราก็แบกสิ่งเน่าๆ ไว้ในหัวใจ แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ มันเป็นความจริงตลอด เป็นสมาธินะ มันจะฝังใจเราตลอดเลย ว่าสิ่งนี้เรารู้ สิ่งนี้เราเข้าใจ

ถ้าสมาธินะ มันสงบขนาดไหน เวลาสงบไปแล้ว แล้วเวลามันถอนออกมา แล้วเราไม่สามารถออกวิปัสสนาได้ มันเสื่อมไปต่อหน้าต่อตาก็เห็น สิ่งที่เราสร้างมาแล้วหลุดไม้หลุดมือไป หลุดไปจากเราเลย ไม่ได้ประโยชน์อะไรกับเราเลย ได้แค่เข้าไปเสวยความสุข ไปรู้รสชาติของความเป็นสมาธิ แล้วเรารักษาสมาธิไม่เป็นเพราะไม่ชำนาญในการกระทำ ไม่ชำนาญในวสี ถ้าชำนาญในวสีเราต้องตั้งสติ ตั้งสติกลับมากำหนดคำบริกรรมก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” ถ้าเรารักษาเหตุของเราไว้ สมาธิมันจะหนีไปไหน ไล่มันไปมันยังไม่ไปเลย ถ้าเรารักษาเหตุไว้ เห็นไหม เราจูงสัตว์อยู่ เราจูงไว้ เราไล่ไปไหน เราจูงโซ่มันไว้ มันจะไปไหนได้ นี่ก็เหมือนกัน ตั้งสติไว้ แล้วเรากำหนดพุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิ เรารักษาเหตุไว้ มันจะเสื่อมไปได้อย่างไร นี่ที่ไม่เสื่อมเพราะอะไร เพราะใจเราลงธรรมและวินัย แต่ที่มันเสื่อมๆ เพราะอะไร เสื่อมเพราะใจมันไม่ล้ม ใจมันอยากทดสอบ ใจมันอหังการ ใจมันออกไปรับรู้สิ่งภายนอก นี่ไง ที่ว่าเห็นนิมิต เห็นอะไรต่างๆ ถ้าเห็นแล้วคิดว่าสิ่งนั้นเป็นความจริง...ผิดหมด

แต่ถ้าเห็นแล้วเราเอาประโยชน์จากมัน เอาประโยชน์จากสิ่งที่เห็น เอาประโยชน์สิ่งนั้นมันถูกหรือผิด มันได้คุณประโยชน์สิ่งใด มันเตือนเราด้วยวิธีการใด มาเตือนนะ มาเตือนมาบอก สิ่งนั้นถูก สิ่งนี้ผิด แล้วถ้าเราทำได้ ทำได้ผ่านมา โอ้โฮ! เห็นมาแล้ว รู้มาแล้วแต่ปัญญาไม่มี ยังไม่เข้าใจ ตะครุบเงามันไปเรื่อยๆ แต่ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมาแล้วนะ อันเดียวกัน รู้! รู้เข้าใจ นี่รู้ นิมิตที่มันบอกนะ แต่ที่รู้ๆ รู้เข้าใจจากอะไร? ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเรามีสมาธิขึ้นมาแล้ว สมาธิเราออกรู้ในสิ่งใด ถ้าสมาธิเกิดขึ้นมา สมาธิก็คือสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิ เราจะไม่เข้าถึงฐานของจิต

“กรรมฐาน” งานกรรมฐาน ฐานเกิดที่ไหน งานเกิดที่ไหน งานในออฟฟิศเราก็งานในออฟฟิศเรา งานในหน้าที่การงาน ชาวนาเขาทำงาน เขาทำงานลงในพื้นนาของเขา ชาวไร่เขาก็ทำในไร่ของเขา นักภาวนาทำงานที่ไหน ในเมื่อไปทำงานที่เปลือกทุเรียน เปลือกกินไม่ได้ นึกว่าหนามทุเรียนเป็นทุเรียนเอาปากไปกัด ปากฉีกนะ

นี่ก็เหมือนกัน เห็นอาการของใจ คิดว่ามันใช้ตรรกะ ใช้ความคิด นึกว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม สิ่งนั้นเป็นธรรม...ทำจนตาย ตายก็ตายเปล่า เพราะมันเป็นอาการของใจ มันไม่ใช่ใจ แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามาๆ หน้าที่การงานนี่ ฉีกมันออกมา ฉีกเปลือกทุเรียนออกไป พอฉีกเปลือกทุเรียน เนื้อทุเรียนกินได้ เนื้อทุเรียนเป็นอาหาร จิตถ้ามันสงบเข้ามาแล้ว ถ้ามันเป็นเข้ามาแล้ว มันออกไปรู้กาย เวทนา จิต ธรรม...กาย เวทนา จิต ธรรม เนื้อต้องกิน เนื้อมีกลิ่นหอม เนื้อมีรสชาติอย่างไร พิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรมด้วยวิธีการใด

ถ้าพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม แม้แต่ในการคิดพิจารณากายก็แตกต่างกันไปแล้วแต่จริตนิสัยของแต่ละบุคคล ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ พิจารณากายโดยไม่เห็นกาย พิจารณากายโดยปัญญา ปัญญาเทียบเคียง เห็นไหม จิตสงบเข้ามาแล้ว จิตสงบขึ้นมา แล้วเห็นอาการของจิต จับอาการของจิตได้ แล้วอาการของจิตมันเป็นขันธ์ อาการของจิตมันเป็นอารมณ์ความรู้สึก ในอารมณ์ความรู้สึกนั้นเพราะมันเป็นโลก แต่ถ้ามันมีสติสัมปชัญญะ ไล่จากอารมณ์ความรู้สึก หยุดอารมณ์ความรู้สึกเข้ามา อารมณ์ความรู้สึกเกิดขึ้นบนอะไร? เกิดขึ้นมาในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดมาจากความคิด ความคิดนี้มันเป็นขันธ์ ๕

แต่ถ้ามันเป็นทางโลกๆ มันไม่ได้เห็นขันธ์ ๕ มันเห็นอารมณ์ความรู้สึก แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันเห็นอารมณ์แล้วมันแยกอารมณ์นั้น ประกอบส่วนไปด้วย ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถ้าไม่ประกอบส่วนไปด้วยขันธ์ ๕ อารมณ์เกิดไม่ได้ เพราะขณะที่จิตมันใช้ปัญญาวิมุตติใคร่ครวญเข้าไปแล้ว มันจะไปแยกขันธ์ ๕ อารมณ์สงบตัวลง เพราะขันธ์ ๕ มันไม่ประกอบเป็นอารมณ์ขึ้นมา มันจะแยกออกเป็นส่วนของมัน ไม่ประกอบขึ้นมาเป็นอาหาร

แต่ถ้ามันประกอบขึ้นเป็นอาหารแล้ว มันเป็นอารมณ์ความรู้สึกออกไป แล้ววิปัสสนาย้อนกลับๆ ย้อนกลับมันจะแยกออก เห็นไหม ในอารมณ์ความรู้สึกมันมีขันธ์ ๕ นี่คือปัญญาวิมุตติ ขันธ์ ๕ คืออะไร? ขันธ์ ๕ คือการเปรียบเทียบร่างกายไง ร่างกายมันดำรงชีวิตอย่างไร เราเกิดมา เกิดมาแล้วเราติดในอะไร เราไปติดกันข้างนอก เห็นไหม เราติดที่กาย เพราะมีฐาน เวลาจิตมันสงบเข้ามา “กรรมฐาน” ฐานการทำงาน คือฐานที่ทำงานของจิต จิตมันทำงานที่นั่น มันไปแก้กิเลสที่นั่น

แต่กิเลส ขณะที่แก้ไขๆ เพราะต้องเอาออกมาชำระสะสาง กิเลสมันไปติดในอะไร ในเมื่อมีใจใช่ไหม ใจนี้เป็นนามธรรม แต่ใจมันอยู่ในร่างกายนี้ ถ้าอยู่ในร่างกายนี้ ทรัพย์สมบัติทั้งหมด ดูสิ แก้วแหวนเงินทอง เครื่องเพชรนิลจินดาเราประดับที่ไหน? เราประดับที่กายนี่นะ...หมามันใส่โซ่นะ เราก็เอาสร้อยมาใส่คอกัน หมามันมีโซ่ใส่ไว้ เขาจูงหมากัน ไอ้นี่เราเอาสร้อยนะ เอาเครื่องประดับมาคล้องไว้ที่ร่างกายนี่ ร่างกาย ซากศพมันคล้องขึ้นมา เวลาศพที่เขาตายแล้ว เขาฝังแล้ว เขาประดับศพ มันมีประโยชน์อะไร ศพมันไม่รู้ว่าสวยว่างามนะ

แต่จิตใจของเรา มันอยู่ในร่างกายของเรา เราเอาเครื่องประดับมาประดับมันก็ว่าสวยว่างาม มันก็ติด นี้มันติดในกายไง เพราะมันมีหัวใจ มันมีความรู้สึก มันถึงติดในร่างกายนี้ ร่างกายนี้ถึงเป็นสักกายทิฏฐิ คือความเห็นผิด ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ มันไล่เข้ามา มันใช้ปัญญาหมุนเข้ามา เห็นไหม มันเป็นปัญญา ปัญญานี้มันจะเป็นปัญญา มันเป็นจินตมยปัญญา มันเป็นปัญญาที่ยังไม่เป็นของสด ของร้อน ไม่เป็นปัญญาปัจจุบัน มันเป็นปัญญาที่เรากำลังฝึกอยู่

ขณะที่กำลังฝึก ปัญญา ขั้นของสมาธิ เรากำหนดพุทโธหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ทำเกือบเป็นเกือบตายเพราะอะไร เพราะไม้ดิบๆ สิ่งที่มันดิบๆ กิเลสมันหนา กิเลสมันมีความต้องการ เราพยายามทำให้มันสงบเข้ามาเพื่อเป็นตัวตน เป็นอิสรภาพเข้ามา อิสรภาพในขั้นของสมาธิ ขณะที่เราใช้ปัญญาเข้าไป เราฝึกอีก ฝึกขั้นสมาธิเข้ามาแล้ว ถ้าสมาธิไม่ได้ฝึกแล้ว สมาธินั่นก็เป็นสมาธิเฉยๆ เป็นสมาธิ เราไปเห็นที่ทำงานของเรา เราไปเห็นฐานของจิต แต่เราทำไม่เป็นขึ้นมา ฐานของจิตนั้นมันก็เสื่อมไปเป็นธรรมดา

แต่ในเมื่อเรารักษาฐานของจิตของเราแล้ว เราทำขึ้นไปเห็นไหม มันของสดของ ของร้อน สด ๆ ร้อนๆ ในขั้นของสมาธิ สดๆร้อนๆ ในขั้นของปัญญา ในขั้นของปัญญา ในการฝึกฝนของปัญญา ในการพลิกแพลง ในการค้นคว้าในปัญญาวิมุตติ คิดเข้าไปในความรู้สึก ในความเห็น ในความคิด ในความคิดที่มันมีส่วนประกอบขึ้นไปเป็นอารมณ์ เราใช้ปัญญาใคร่ครวญเข้าไป ใคร่ครวญเข้าไป

นี่ในขั้นของปัญญา ฝึกฝนปัญญาขึ้นไปบ่อยครั้งเข้า “ตทังคปหาน” การปล่อยแล้วปล่อยเล่า ปล่อยแล้วปล่อยเล่า ในความชำนาญของมัน ชำนาญของมัน นี่พิจารณากาย พิจารณากายโดยไม่เห็นกาย พิจารณากายโดยปัญญา พิจารณากายโดยปัญญามันปัญญาเทียบเคียงๆๆ มันเห็นผล จะเทียบเคียงได้ต่อเมื่อจิตเป็นสมาธินะ จะเทียบเคียงได้ต่อเมื่อจิตมันเห็นฐานของมัน เห็นฐานของมัน เอาตัวฐานของมัน เอาตัวฐานนั้นออกเป็นความคิด เอาตัวฐานนั้นออกมาชำระล้าง

เอาตัวฐานมาชำระล้าง พอมันชำระล้างเข้าไป แล้วมันก็ถอนอัตตานุทิฏฐิ ถอนตัวฐาน ถอนทิฏฐิความเห็นผิด ถอนไปบ่อยครั้ง ตทังคปหาน ถ้าถอนบ่อยครั้งเห็นไหม มันเป็นอดีต อนาคต มันเป็นจินตมยปัญญา มันยังไม่เป็นปัจจุบันธรรม สิ่งที่เป็นปัจจุบันธรรม ถึงที่สุดแล้วมันเป็นอกุปปธรรม อกุปปธรรมนะมันขาดหนเดียว ถ้าหนเดียว นี่ธรรมะร้อนๆ ธรรมะสดๆ ธรรมะจริงๆ ไม่มีกาล ไม่มีเวลา เป็นของสดๆ ร้อนๆ

ในปัจจุบันไม่มีกาลเห็นไหม จะทำได้เดี๋ยวนี้ วินาทีนี้ ก็เป็นสมบัติในวินาทีนี้ ทำได้มาตั้งแต่...ผู้ที่ผ่านมาแล้วทำได้มันก็สดๆ ร้อนๆ มา เพราะมันเป็นอกุปปธรรม สิ่งที่มันเป็นอดีต อนาคต เห็นไหม มันเป็นกุปปธรรม กุปปธรรม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่คงที่ มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันถึงเป็นของที่มันเป็นอดีต ของเป็นกาลเวลา แต่ถ้าขณะที่เป็นปัจจุบันขึ้นมา มันไม่มีกาลเวลา เห็นไหม นี่การพิจารณากายโดยปัญญาวิมุตตินะ

ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ เห็นไหม จิตสงบ พุทโธๆๆๆ ตลอด คำบริกรรม ถ้าเป็นคำบริกรรม เราพุทโธๆๆๆๆๆ ไป เพราะความคิดมันออกตลอดเวลา เอาความคิดมาไว้ที่พุทโธ ใช้คำบริกรรม จิตของคนต้องมีจุดยืนนะ การกระทำของเรา เราปล่อยเลื่อนลอยกัน “จิตมันเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ ก็เอาจิตเร่ร่อนกันไป เร่ร่อนกันไป มีความรู้ มีความรู้สึก มีตรรกะ...” เลื่อนลอยเห็นไหม แต่ถ้าตั้งสติ เราตั้งสติ เรากำหนดพุทโธๆๆ ของเราไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อย คำบริกรรม

เพราะธรรมชาติของนามธรรม ธรรมชาติของธาตุรู้ คำว่า “ธาตุรู้” ธาตุที่มีชีวิต สสารธาตุ มันแปรปรวนตามสภาพของมัน มันเป็นสสารที่มันแปรสภาพของมัน นี่เป็นเรื่องของวัตถุ แต่ถ้ามันเป็นธาตุรู้ ธาตุรู้เห็นไหม “ธาตุรู้” เวลาเกิดตายๆ ธาตุรู้เป็นตัวเกิดตัวตาย เป็นธาตุ เป็นสสารที่มีชีวิต วิญญาณ นามธรรมนี่ แต่มันจับต้องได้ด้วยนามธรรม จับต้องได้นะ จับต้องได้ด้วยสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิ พุทโธๆๆ จิตตัวนี้มีกำหนดพุทโธ มีคำบริกรรม คือสิ่งที่กรองมันเข้ามา ต้องอาศัยนี้กรองเข้ามา ถ้าไม่เอาสิ่งที่พุทโธเข้าไปกรอง โดยสามัญสำนึกของความคิด โดยสามัญสำนึกของคน มันคิด คิดต่อเนื่อง คิดเป็นอารมณ์ความรู้สึก

จริงไหม สิ่งที่ว่า อารมณ์เป็นวัตถุอันหนึ่ง...เป็นวัตถุอันหนึ่งนะ มันเกาะวัตถุอันหนึ่ง เกาะความรู้สึก เห็นไหม คิดเรื่องวิชาชีพ คิดเรื่องหน้าที่การงาน คิดเรื่องมักมากอยากใหญ่ คิด คิดไปเรื่อย คิดจนตาย คิดจนตายก็ไม่จบ ไม่มีวันจบหรอก คิดซ้ำคิดซาก ของเก่าของใหม่ คิดตลอด แต่ถ้าเป็นพุทโธเห็นไหม “พุทธานุสติ” พุทธ คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือชื่อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ อนุสติ ๑๐ สิ่งที่อนุสติ ๑๐ จิตก็เกาะตรงนี้

นี่พุทโธๆ จิตมันมีจุดยืนขึ้นมา เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้เป็นกำแพง เป็นสิ่งที่กรองความรู้สึกเข้ามา ให้เข้าไปถึงตัวของฐาน ถ้าเข้าไปถึงตัวของฐาน นี่ไง ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิก็เกิดตรงนี้ไง พุทโธๆๆ เวลาจิตมันลงมันจะเห็นหมดเลย ถ้าจิตมันลง กำลังของจิตที่มันลง มันลงต่างกับปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิมันจะปล่อยวางเฉยๆ ปล่อยวางเพราะอะไร เพราะมันใช้ปัญญา คำว่า “ปัญญา” มันใช้ปัญญาไล่ต้อนเข้ามา มันจำนนด้วยปัญญาของเรา จำนนด้วยข้อมูลที่เหนือกว่า มันจะยอมแพ้ปัญญา แต่ถ้าเป็นพุทโธๆ มันมีกำลังของมัน เพราะมันเป็นคำบริกรรมที่จิตมันสะสมตัว สะสมตัว ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ จะดิ่งลงลึกตื้นขนาดไหน มันมีกำลังขึ้นมา

พอกำลังขึ้นมา เพราะมีกำลัง มันกำลังขึ้นมา กำลังอันนี้เวลาเราออกทำงาน ออกทำงาน สิ่งที่ออกทำงาน มันออกทำงานด้วยตัวจิต ด้วยตัวจิต ด้วยการเห็น ด้วยการดูกาย นี่พิจารณากายโดยเจโตวิมุตติ เห็นกาย เห็นกายขึ้นมา ถ้าพิจารณาไปที่กาย เห็นกาย ถ้าเห็นกาย ถ้าสมาธิไม่มั่นคง สมาธิไม่มีฐาน กายนั้นเห็นแวบหายแล้ว ผ่านแวบเดียวเลย แล้วก็ฝึกใหม่ พยายามทำให้เกิดขึ้นมา เหมือนกับที่เขาไปเที่ยวป่าช้า ถ้าจิตมีสมาธิ ถ้ามันไม่เกิดปัญญา ให้ไปป่าช้า ให้ไปเหนือลม ไปเหนือลม ไปดูซากศพแล้วหลับตา เห็นไหม ถ้าดูนี่ดูด้วยตาเนื้อ

แต่ขณะที่หลับตานี่ หลับตา เป็นตาใจ ดูซากศพนั้นแล้วหลับตา ภาพนั้นติดไหม ถ้าภาพนั้นติดให้กลับมาที่อยู่อาศัยแล้ว เป็นอุคคหนิมิต แล้วขยายส่วน แยกส่วนเป็นวิภาคะ หลับตาแล้วเห็นไหม ถ้าจิตสงบ จิตมีฐาน หลับตาแล้วจะติดภาพนั้นมา ติดภาพนั้นมานะ แต่ถ้าเรากำหนดของเรา จิตสงบขึ้นมาแล้วน้อมออกไป ออกไปหากาย ถ้าเข้ามาหากาย คิด เราตั้งโปรแกรมไว้ คือรำพึงในจิต คิดในสมาธิ น้อมไปหากาย ถ้าหากายนะ แล้วแต่มันจะเป็นปัจจุบันธรรม ถ้าเราหากายโดยคาดหวังจะเห็นชิ้นกระดูก เห็นสิ่งใดของร่างกายนี้ อันนั้นเป็นอดีตอนาคตแล้ว อันนั้น สิ่งนั้นมันเกิดขึ้นมา

แต่ถ้าเราน้อมไป ถ้ามันเกิดขึ้นมาในปัจจุบันนั้น ถ้าปัจจุบันนั้นถ้าสมาธิดี มีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา ภาพนั้นไม่แวบ จากที่มันแวบ แวบ แวบ มันจะตั้งขึ้นมาได้ แล้วเป็นปัจจุบัน เดี๋ยวเห็นโครงกระดูก เห็นกะโหลกศีรษะ เห็นเนื้อ เห็นตับ เห็นไปหมด เห็นขน เห็นเล็บ เห็นผิวหนัง เห็นรูขุมขน จะเป็นสิ่งใดก็ได้ คำว่า “ปัจจุบันธรรม” ปัจจุบันเป็นธรรม สดๆ ร้อนๆ ในปัจจุบันนั่น ถ้าดูแล้วในปัจจุบันนั้นถ้าจิตมันตั้งได้ เห็นสภาวะแบบนั้นมันสะเทือนหัวใจมาก สะเทือนหัวใจเพราะอะไร สะเทือนหัวใจเพราะว่ากรรมฐาน ฐานที่ตั้ง ภวาสวะ ภพคือใจ สำคัญที่สุด การเกิดและการตาย จิต วิญญาณที่พาเกิด พาตาย มันเข้าไปถึงตัวมโนวิญญาณ

ถ้ามโนวิญญาณเห็นไหม ถ้าเป็นวิญญาณจากข้างนอก ขันธ์ วิญญาณรับรู้จากข้างนอก วิญญาณในขันธ์ นี่มันเข้าไปถึงมโน เข้าไปถึงตัวฐาน ตัวพุทโธๆๆ เข้าไปถึงตัวจิต ถ้าตัวจิตมันออกเห็น มันสะเทือน มันกระเทือนถึงจิต นี่ไง กรรมฐาน ศีล สมาธิ ปัญญา จุดยืนมันอยู่ที่นี่ จุดยืนมันอยู่ที่ภาวะของจิต ถ้าภาวะของจิตที่มันออกเห็น มันสะเทือนถึงตัวมันเอง

ถ้าตัวมันเองเห็นไหม ถ้ารักษา พยายาม ถ้ามันหลุดมือไป มันทำสิ่งนั้นไม่ได้ มันหลุดมือไป กำหนด...แวบๆ หาย กำหนดแล้วเดี๋ยวเลื่อนไป เลื่อนมา จับไม่ได้...ทิ้งเลย กลับมา พุทโธอย่างเดียว ถ้ากลับมาพุทโธ ให้จิตมันตั้งมั่น จิตมีฐานขึ้นมา ให้ฐานนี่มั่นคง ถ้าฐานมั่นคง มันออกมั่นคงเสร็จแล้ว ถ้ามั่นคงก็อยู่กับสมาธิเฉยๆ นั้นเหรอ? เวลาจิต สมาธิ มันเข้าใจ มันเห็นกายแล้วเข้ามาสมาธิ มันก็ว่าง มันก็ปล่อย แล้วสมาธิมันก็ลึกลับซับซ้อน

สมาธิเห็นไหม มันตื้นลึกต่างๆ กัน พอมันตื้นลึกต่างๆ เราคิดว่าเราเห็นกายแล้วกลับเข้ามาสมาธิ นึกว่าสิ่งนี้เป็นนิพพาน...ก็ไม่ใช่ ไม่ใช่เพราะอะไร ไม่ใช่เพราะว่านี่ไง มันไม่เป็นธรรม มันไม่เป็นธรรมเพราะอะไร เพราะมันไม่มีขณะ ไม่มีความเป็นไป ถ้าไม่มีขณะความเป็นไปนี่ เราฝึกบ่อยครั้งเข้า พอพิจารณากายไปให้มันแปรสภาพ ให้มันขึ้นอืดขนาดไหน ให้มันทำลายเอาไฟเผาขนาดไหน เอาไฟเผา ขณะที่เผา ถ้าไฟเผา เรานึกถึงไฟ ไฟจะเกิดพั๊บ! มันจะเผาทันทีเลย ถ้าเป็นน้ำ น้ำจะมากลบพั๊บ! ทันทีเลย ถ้ากำลังดี กำลังของจิตมันดี สิ่งที่มันเป็นน้ำ เป็นไฟ ที่เข้ามาทำลาย ทำลายเพราะอะไร นี่เป็นสภาวธรรม เพราะมันเป็นอริยสัจ

สิ่งที่เป็นอริยสัจ นี่ไง ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญามันเกิด ปัญญาในการเห็น ปัญญาเกิดจากเจโตวิมุตติ เจโตมันเห็นสภาวะที่มันแปรสภาพ สิ่งที่เรายึดถือ ยึดมั่น เราเคยสิ่งนี้ หลงใหลในสิ่งนี้ว่ามันเป็นของของเรา มันเป็นสิ่งที่เราถนอมรักษา แล้วมันทำให้เราเห็นโดยปัจจุบัน ให้มันกระเทือนถึงหัวใจ มันคลายออกนะ อัตตานุทิฏฐิ ทิฏฐิความเห็นผิด “นี่ของเราๆๆ” อันนี้มันทำลาย มันไปทำลายที่ฐาน ทำลายที่จิตใต้สำนึก จิตใต้สำนึกนี่มันยึดมั่น

ทั้งๆ ที่ศึกษาธรรมะปากเปียกปากแฉะ ปากเปียกปากแฉะเลย ธรรมะเน่าๆ ธรรมะที่แช่แข็งมา ธรรมะที่แช่แข็งมา แล้วมันของอดีตน่ะ สิ่งที่เราศึกษาธรรมะของครูบาอาจารย์มา มันแช่แข็งมานะ แช่แข็งมานะ เอามาใช้ประโยชน์ไม่ได้หรอก มันต้องเอามาทำให้อุณหภูมิมันได้คงที่ของมัน แล้วมันถึงจะเอามาใช้ประโยชน์ได้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันเป็นเอง มันเป็นประโยชน์ของเรา สิ่งที่แช่แข็งมาเป็นของครูบาอาจารย์ท่าน เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรา แล้วมันเกิดขึ้นมากับเรา เราดูของเรา เราแก้ไขของเรา มันแปรสภาพขนาดนั้น ปัจจุบันนั้นมันละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไปก็ไปตื่นเต้นไปกับมัน ตื่นเต้นนั่นเป็นอย่างนั้น นี่เป็นอย่างนี้ ทำไม่ได้ ถ้าสมาธิมันไม่พอ สมาธิไม่พอ เวลามันไปยันกัน พิจารณาไปแล้ว มันไปยันกันไว้เฉยๆ ก็มี ถ้ามันไปยันกันเฉยๆ ถ้าต่อไปยันไปอย่างนี้ มันจะเสื่อมไปข้างหน้าแน่นอน เพราะอะไร

เพราะเรามีเงินอยู่จำนวนหนึ่ง แล้วเราใช้ตลอดเวลา เงินจำนวนนั้นต้องหมดไปเป็นธรรมดา จิตที่มันมีกำลัง เป็นฐานของสมาธิ แล้วเราไปแยกแยะมัน ถ้าเรา มันไปยันกันอย่างนั้น ถ้าเรายังต่อสู้ต่อไป กำลังของจิตมันต้องอ่อนล้าไปเป็นธรรมดา มันต้องปล่อย ปล่อยเลย ปล่อยคือว่าเรากำหนดจิต ปล่อยมันก็ปล่อย กำหนดจิตคำว่าพุทโธ ภาพมันจะหาย พอภาพมันหายเรากลับมาที่พุทโธๆ เรามาสร้างกำลังของเราขึ้นมา แล้วมีกำลังแล้ว เราออกไปฝึกฝน ออกไปทำ

ต้องทำซ้ำทำซากนะ ทำบ่อยครั้ง ต้องบ่อยครั้ง ต้องทำ ต้องฝึกฝน ต้องมีการชำนาญ ดูการกีฬาสิ นักกีฬาที่มีแววนี่เขามาฝึกหัดน่ะ เริ่มต้นคนนี้เทคนิคดีมาก มีอนาคต มีพรสวรรค์ แต่ถ้าประสบการณ์ของเขา เวลาเขาไปลงแข่งขันกับผู้ที่มีประสบการณ์เหนือกว่า เขาก็เป็นลูกไล่ตลอด จนกว่าถ้าวันใดประสบการณ์เขาดีขึ้นมา เวลาไปลงแข่งขัน เขาจะเป็นคนที่มีประสบการณ์ แล้วคลื่นลูกใหม่มา นักกีฬาคนใหม่มาก็ต้องแข่งขันกันมาอย่างนี้ตลอดไป

จิตก็เหมือนกัน ในเมื่อเราฝึกฝน เราหัดทำของเรา มันจะปล่อยวางขนาดไหน มันต้องปล่อยวางมีความสุข นักกีฬาชนะทีหนึ่งได้เหรียญทอง ได้รางวัล พอใจไหม แล้วถ้านักกีฬาคนไหนไม่มีสตินะ ไปตื่นเต้นกับรางวัลของตัว หมดอนาคตเลย หมดอนาคตเลยเพราะเสียคนไปเลย นี่ก็เหมือนกัน จิตถ้ามันวิปัสสนาไปครั้งใดครั้งหนึ่ง ถ้ามันปล่อยแล้ว ถ้าไปตื่นเต้นกับมัน ถ้าไปดีใจกับมัน แล้วไปเห็นแต่ผลงานว่าสิ่งนั้นมีความสุข เดี๋ยวก็หมด หมดเนื้อหมดตัว เพราะมันตทังคปหาน มันเสื่อมได้ มันไม่เป็นสมุจเฉทปหาน มันถึงต้องทำบ่อยครั้งเข้าๆ ทั้งนักกีฬา ทั้งการแข่งขันของกีฬา เขาไม่มีวันสมุจเฉทปหานนะ เพราะในเรื่องกีฬานั้นเขาจะมีแข่งขันตลอดไป มีแต่คลื่นลูกใหม่ซัดตลอดไป

แต่จิตของเรามันหนึ่งเดียว จะเกิดกี่หมื่นกี่แสนชาติก็ไอ้จิตดวงนี้ แต่เกิดต่างๆ กัน แต่ในปัจจุบันนี้มาเกิดเป็นเรา มันไม่มีคลื่นลูกไหนจะมาซัดได้หรอก มันมีแต่กรรมเก่ากรรมใหม่มันซัดอยู่ กรรมเก่ากรรมใหม่คือการรู้การเห็นจากภายในที่ประพฤติปฏิบัติ นี่มันซัดอยู่ มันถึงเรรวนอยู่นี่ไง เดี๋ยวดีเดี๋ยวชั่ว เดี๋ยวปฏิบัติได้ผลไม่ได้ผล ไอ้กรรมเก่ากรรมใหม่มันซัดอยู่นี่ แล้วนี่เอาธรรมะของเราในปัจจุบันนี่ต่อสู้กับมัน เอาธรรมในปัจจุบันที่เราประพฤติปฏิบัติ ต่อสู้กับมัน ให้มีความมั่นคง

มันจะปล่อยวางขนาดไหน พอจิตมันสงบเข้าไปแล้ว มันปล่อยวาง มันเป็นความสุขมาก การปล่อยวาง ตทังคปหาน พอทำงานเสร็จหนึ่ง ดูสิ เราทำอาหารเสร็จ เราเก็บล้างหมด เรามีความสุขมาก เออ! วันนี้เสร็จแล้ว พรุ่งนี้ต้องทำใหม่อีกแล้ว เพราะคนมันต้องกิน นี่ก็เหมือนกัน มันปล่อยวางขนาดไหน สังเกตไว้ มันจะมีอยู่ ถ้าเรากำหนดจิตไปดูมันจะเห็น มันจะเห็น มันจะเป็นสภาวะแบบนั้น สิ่งที่มีนะ มันปล่อยวางขนาดไหน บางทีมันเข้าใจว่าเสร็จแล้ว แล้วมันไม่ยอมทำอีก ถ้าไม่ยอมทำมันก็จะเสื่อมไปเป็นธรรมดา

แต่ถ้ามันสงบแล้วมันปล่อยวางขนาดไหนนะ เรารื้อค้น คือให้จิตมันพิจารณา ให้รื้อค้นขึ้นมา ของที่มีอยู่ กิเลสมันบังเงาไง กิเลสมันคิด ธรรมะมันเข้มแข็งขึ้นมา มันมีการต่อสู้กัน กิเลสมันก็บอก ยอมแพ้แล้ว ปล่อยวางแล้ว แล้วก็ยังสร้างนะ “สวมมงกุฎให้เลย เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคาเลย โอ๋ย! สิ่งนี้เป็นธรรมแล้วๆ” กิเลสมันหลอก นี่กิเลส เวลาปฏิบัติไป ปฏิบัติธรรมะนี่ลำบากลำบน...ไม่ใช่หรอก กิเลสทั้งนั้น แม้แต่จะฆ่ามันนะ มันยังมาบังเงา มันยังหลอกซ้ำหลอกซาก ถ้าไม่มีสติ ต่อไปมันจะเสื่อมเป็นธรรมดา

แต่ถ้าเรามีสติ ขณะที่จิตมันเข้มแข็งอยู่นี่ เรารื้อค้นไป ของมีอยู่ต้องเจอ กิเลสยังมีอยู่ในขั้นตอนไหนต้องเจอหมด โสดาบันนะ มรรค โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล ถ้าในขั้นของโสดาบัน พิจารณาไปจนมันขาด กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แยกออกจากกันหมด ขาดหมด จิตรวมลงหมดเลย กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แล้วจิตหนึ่งรวมลงไป สังโยชน์ขาดออกไปจากใจเลย ขาดจากใจแล้ว สิ่งนี้ถ้ารื้อค้นอีกไม่มีแล้ว ไม่มีแล้ว แต่ละขั้นๆ ขึ้นไป พอเริ่มต้นขึ้นไป สูงขึ้นไป ถ้าจิตสงบขึ้นไป สูงขึ้นไป มันก็เป็นอุปาทานในกาย

กายนอก กายใน กายในกาย...กายนอก กายใน กายนอก คือสักกายทิฏฐิ คือร่างกายเนื้อ ร่างกายต่างๆ แต่ถ้าเป็นกายในล่ะ กายในเป็นอสุภะเห็นไหม กายในเป็นอสุภะคือมันเป็นกายนามธรรม มันเป็นกายของจิต เพราะจิตมันติดในกาย จิตที่เป็นนามธรรม มันอาศัยอยู่ในอะไร? มันอาศัยอยู่ในความรู้สึกใช่ไหม ความรู้สึกคืออะไร? คือความคิด ความคิดเป็นนามธรรมไหม แล้วสิ่งที่มีนามธรรมเวลามันคิดพอใจ มันเป็นอะไร มันจากความรู้สึกอันหนึ่ง มันจะไปกระทบกับความรู้สึกอันหนึ่ง

หญิงกระทบกับชาย ชายกระทบกับหญิง แล้วชายหญิงมันอยู่ที่ไหน ชายหญิงมันเกิดเป็นอะไร มันเกิดเป็นมนุษย์ถึงเป็นชายหญิงใช่ไหม จิตมีชายมีหญิงหรอ จิตที่เป็นสมาธินี่มีชายหญิงไหม เวลาเป็นโสดาบัน สกิทาคา อนาคามันมีชายหญิงไหม แต่ในขณะที่สามัญสำนึกว่าเราเป็นชายหรือเป็นหญิงนี่มันเป็นอะไร? มันเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง มันหลงใช่ไหม มันไม่รู้ว่าจิต ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา แต่ขณะที่มันเป็นเรานี่มันเป็น เพราะจิตเรามันถึงกระทบกับจิตนอก จิตนอกเป็นนามธรรม

สิ่งที่เป็นนามธรรมมันกระทบกระเทือนกัน กระทบกระเทือนกันมันก็ออกรับรู้ไป สิ่งที่รับรู้ สิ่งที่เป็นไป สิ่งที่มันเป็นไปเห็นไหม กระทบกระเทือนไป นี่มันคือกามราคะไง ถ้าเป็นกามราคะ มันออกไปรับรู้ มันก็เป็นไปจากกามราคะ มันก็หมุนออกไป สิ่งที่หมุนออกไปๆๆ พอหมุนออกไป มันก็กระทบกัน ถ้ามันย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามาด้วยมหาสติ มหาปัญญา สิ่งที่เป็นมหาสติ มหาปัญญา ย้อนกลับเข้ามา

ธรรมะสดๆ ร้อนๆ นะ ใครรู้สภาวะแบบใดต้องรู้สภาวะแบบนั้น ขึ้นตอนของจิตที่มันพัฒนาเข้าไป เป็นโสดาบัน โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค มรรค ๔ ผล ๔ ความเป็นไปของสติปัญญาต่างกันหมด แล้วผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะรู้อย่างนี้ได้อย่างไร ขณะที่เราก้าวเดินอยู่ เราประพฤติปฏิบัติอยู่เราจะไม่รู้สิ่งนี้เลย ไม่รู้สิ่งนี้เพราะอะไร เพราะเราทำไป โสดาปัตติมรรคก็ต้องเต็มที่ เหมือนนักกีฬา นักกีฬาสมัครเล่นของเขา เขาก็ต้องลงทุนลงแรงเต็มที่ ขณะนักกีฬาสมัครเล่นเขาเป็นนักกีฬาอาชีพ เขาก็ต้องต่อสู้ในนักกีฬาอาชีพของเขา เต็มที่ของเขา เต็มที่ของเขาเพราะคู่ต่อสู้ นักกีฬาชนิดใดไปเจอคู่ต่อสู้ที่เหนือกว่า ที่เข้มแข็งกว่า

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติใหม่ กิเลสมันเข้มแข็งกว่า กิเลสที่มันมีกำลังมากกว่า มันก็ต้องเหยียบย่ำเป็นธรรมดา คนที่อ่อนแอกว่าจะไปชนะคนที่เข้มแข็งกว่าได้อย่างไร แต่ถ้าคนอ่อนแอกว่ามีการสะสม มีการประพฤติปฏิบัติ มีการแสวงหา มีการฝึกฝนขึ้นมา คนที่อ่อนแอกว่าเดี๋ยวก็ต้องทันกับผู้ที่เข็มแข็งกว่า แล้วคนที่อ่อนแอกว่าถ้าพัฒนาอยู่บ่อยครั้งเข้ามันต้องมีกำลังเหนือกว่าผู้ที่เข้มแข็งกว่า ผู้ที่เข้มแข็งกว่ากลายเป็นผู้ที่อ่อนแอกว่า

นี่ก็เหมือนกัน ในการฝึกฝนใจของเรา ในการประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา ใจเรามันจะพัฒนาขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป สิ่งที่พัฒนาขึ้นมานะ จะมรรค ๔ ผล ๔ ขนาดไหน มันทำไปเต็มที่ ขณะที่ทำมันเป็น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ตลอด แต่ขณะที่พ้นจากการชำระกิเลสไปทั้งหมดแล้ว เห็นไหม ครูบาอาจารย์ที่ท่านสิ้นจากกิเลสแล้ว ท่านถึงจะมองครบวงจร แต่ขณะที่เราประพฤติปฏิบัติอยู่ เราจะรู้ได้เฉพาะความรู้ของเรา ความรู้ที่เรารู้นี่ เรารู้ได้หมดเลย เพราะถ้าเราไม่รู้มันจะเป็นความจริงไม่ได้ จริงรู้จริง นี่มันสดๆ ร้อนๆ ของแต่ละบุคคล สดๆ ร้อนๆ แล้วแต่ขั้นแต่ตอนของการประพฤติปฏิบัติ มันเป็นของสดของร้อนตลอดเวลา ไม่มีกาล ไม่มีเวลา เห็นไหม อกาลิโก ธรรมะไม่มีกาล ไม่มีเวลา เป็นความจริงตลอดเวลา

แต่เพราะใจเราไม่จริง ใจเราเป็นของปลอม การกระทำออกมามันก็เลยเป็นของปลอมๆ ถ้าของปลอมมันยังเป็นปลอมนะ แต่ถ้าเป็นเรื่องกิเลสมันเน่าเลย มันเน่า มันหมักหมม มันทำให้เราอ่อนแอ มันทำให้เราล้มลุกคลุกคลานนะ ล้มลุกคลุกคลาน ถ้ามันเสื่อมไป เราก็ยังต้องตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ทั้งๆ ที่เราประพฤติปฏิบัติธรรมนะ

ธรรมะ ธรรมะเป็นของเลิศ ของประเสริฐมาก ในธรรมะ เห็นไหม ทุกลัทธิ ทุกศาสนาว่าเป็นธรรม มีสภาวธรรม แต่ศาสนาของเขา ศาสนาที่ศาสดาเป็นผู้มีกิเลส การแสดงธรรมออกมาเป็นธรรมของโลก ธรรมของโลกียปัญญา มันเป็นธรรมของโลก ธรรมของโลก มันเป็นตรรกะ มันเป็นความเห็น สิ่งที่เป็นคุณธรรม ศีลธรรมเท่านั้น มันทำมา เพราะอะไร เพราะขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับพวกฤๅษีชีไพร เขาก็มีอยู่แล้วนะ การทำสมาธิเป็นพื้นฐาน เพราะคนมีศาสนา ไม่มีศาสนา แต่ทุกคนใฝ่ดี คนอยากมีความสุข เขาก็ทำความสงบของใจของเขา แต่เขาไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ไม่มี ไม่มีหรอก

สิ่งที่มีเห็นไหม เพราะมันเป็นปัญญาจากภายใน ถ้าปัญญาจากภายใน มันเป็นโลกุตตร ธรรม มันเป็นโลกุตตรปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาจากสัจจะความจริง มันถึงว่า คำว่า “สดๆ ร้อนๆ” มันไม่มีขายในท้องตลาดหรอก มันไม่มีที่ไหนที่จะทำแทนกันได้ มันจะเป็นความจริงขึ้นมาจากใจของเรา นี่ไง คุณค่าของมนุษย์มันอยู่ตรงนี้ไง คุณค่าของมนุษย์มีวัตถุดิบ คือมีกายกับใจ หัวใจสำคัญมาก

ธรรมะที่...สื่อเห็นไหม ทางโลก ทางวิชาการบอก “ผู้ใดปฏิบัติธรรมแล้วควรจะทิ้งร่องรอยไว้เพื่อเป็นประโยชน์กับโลก” ทิ้งไว้ขนาดไหน มันก็เป็นแค่กิริยา เพราะความจริง ความจริงมันอยู่ในใจเท่านั้น ความสดๆ ร้อนๆ มันอยู่กับใจ ใจผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ธรรมะจริงๆ มันอยู่ที่หัวใจ

แล้วเวลาตายไป จิตดวงนี้มันตายไป สิ่งนี้มันเป็นความจริงอันนี้มันตายไป มันตายไป ตายไปไหน เราเป็นปุถุชน การตาย หมดภพชาติหนึ่ง การตายเห็นไหม ตายจากชาตินี้ก็ไปเกิดชาติใหม่ แต่ถ้าถึงที่สุดแล้ว กิเลสตาย ถ้ากิเลสตายแล้ว ไม่มีสิ่งใดๆ จะตายอีกแล้ว เพราะกิเลสตายแล้ว จิตมันบริสุทธิ์ จิตมันบริสุทธิ์ สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ เห็นไหม ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕...ขันธ์ ๕ คือความคิด ความคิดเป็นเศษส่วน ความคิดเป็นส่วนของเรา เพราะความคิด ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ตั้งแต่เทวดา อินทร์ พรหม เขาสื่อสารกันด้วยสามัญสำนึก เขาสื่อสารด้วยภาษาใจ ภาษาตั้งแต่พรหมลงมาถึงเทวดา ภาษาคำพูด ภาษาสมมติ ภาษาในโลก แล้วจิตวิญญาณล่ะ นี่คือภาษา นี่ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มันเป็นภาษาที่สื่อสารกัน

แต่ถ้าสิ้นกิเลสไปแล้ว สิ่งนี้มันขาดไปแล้ว ความคิดมันขาดไปแล้ว ขันธ์นอก ขันธ์ใน ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด ขันธ์อย่างละเอียด เห็นไหม สิ่งที่ข้อมูล ปฏิฆะ ข้อมูล สิ่งที่ความพอใจของใจ ถ้ามันชำระหมดแล้ว ขันธ์อย่างละเอียดขาดหมด อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ นี่ปัจจยาการของจิตที่มันไม่มีขันธ์

ขันธ์เป็นกองเห็นไหม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นกอง ส่วนแยก เป็นส่วนผสมของกัน มันถึงเป็นความรู้สึก เป็นความคิดขึ้นมา แต่ปัจจยาการ ปัจจยาการหมายถึงว่าส่วนผสม แต่มันเป็นอันเดียว ปัจจยาการ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ มันเป็นปัจจยาการ ที่เป็นถึงนามรูป เป็นอุปาทานออกมา สิ่งนี้ถ้าเข้าไปมันละเอียดกว่า ละเอียดกว่ามันถึงเป็นนามธรรมล้วนๆ ที่ต้องอรหัตตมรรคเข้าไปจับมัน

นี่ไง “พุทธะ” พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส สิ่งที่ผ่องใสก็ต้องทำลาย นี่ไง ทำลายกิเลส ทำลายอวิชชา ถ้าทำลายอวิชชาทั้งหมดนะ สิ่งที่หมดแล้วเป็นธรรมล้วนๆ เลย ธรรมสดๆ ร้อนๆ ในดวงใจ ในหัวใจ ในความรู้สึกที่นั่งอยู่นี่ ในดวงใจของมนุษย์ มนุษย์มันมีการบีบบังคับด้วยร่างกาย ด้วยสิ่งที่ต้องแสวงหาอาหาร แล้วมันมีความบีบคั้นด้วยความทุกข์ใจ “ทุกข์กาย ทุกข์ใจ”

“ทุกข์กาย” เห็นไหม เจ็บไข้ได้ป่วย ทุกข์กาย สิ่งต่างๆ กระเทือนร่างกาย หิวๆๆ ก็ทุกข์กาย

“ทุกข์ใจ” ทุกข์ใจคือความทุกข์ที่มันหมักหมมอยู่ในหัวใจ ขณะที่เราอยู่ในป่าในเขา เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่มันทุกข์ใจ ถ้าทุกข์ใจเห็นไหม ความอาลัยอาวรณ์ สิ่งสุดท้าย...ไม่มีสิ่งใดเลย พระอนาคานะปล่อยหมด กามราคะต่างๆ รสของกามต่างๆ เข้ามาเหยียบย่ำใจดวงนี้ไม่ได้เลย แต่มันก็เฉา มันก็หงอยเหงาของมัน ความอาลัยอาวรณ์ ความผ่องใส ความเศร้าหมองต่างๆ ถ้ามันเข้ามาถึงตรงนั้น มันทำลายความเศร้าหมอง ความผ่องใส สิ่งต่างๆ ผ่องใส ผ่องใสคู่กับเศร้าหมอง สิ่งที่ว่านิพพานเป็นเมืองแก้วๆ เมืองแก้วคู่กับความขุ่น ไม่มีหรอก

สิ่งต่างๆ พ้นไปแล้วเห็นไหม อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจึสูติ อาสวะสิ้นไป จิตนี้เป็นผู้ข้ามพ้น จิตไม่มี จิตทำลายหมดเลย จิตเป็นผู้เข้าถึงนิพพาน...ตัวจิตเข้าไม่ได้ ตัวทำลายจิต จิตเป็นนิพพานได้ แต่จิตเข้านิพพานไม่ได้ แต่จิต จิตทำลายตัวเองได้ เพราะทำลายตัวความผ่องใส เพราะทำลายจิตใจ มันถึงเป็นนิพพาน มันถึงเป็นธรรม ธรรมมันถึงสดๆ ร้อนๆ กับใจดวงนั้น

แล้วเรามี เรามีใจ เรามีความรู้สึก เราเป็นคนมีอำนาจวาสนา เราถึงมาค้นคว้า มาหาสิ่งที่เป็นอริยทรัพย์ หาสิ่งที่เป็นความจริง อาศัยโลกเขาอยู่...ใช่ คนเกิดมา มันก็มีหน้าที่การงาน มันก็ต้องทุกข์ต้องร้อน มันต้องทำงาน ทำมาหากินต่างๆ พระก็ต้องบิณฑบาต พระก็มีปัจจัยเครื่องอาศัย ปัจจัย ๔ คือการดำรงชีวิต ปัจจัย ๔ ขาดไม่ได้ สิ่งนี้ให้มี สิ่งที่มีเกินกว่านั้นมันเป็นอำนาจวาสนาของคน ถ้าเราทำบุญกุศล มันมีอำนาจวาสนา มันเป็นสิ่งที่เราสร้างมา สิ่งที่เราสร้างมาก็คือผลบุญ แล้วสิ่งนั้นก็เป็นประโยชน์กับเรา

ถ้าเราไม่ได้สร้างมา แต่ใจเรามี ทุกข์เรามี แล้วเรามีอริยทรัพย์ ถ้าเราทำขึ้นมาได้ มันจะเป็นของเรา ฉะนั้นคุณค่าของใจ สมบัติของใจ ถึงมีคุณค่าจริงๆ เป็นสมบัติของเราจริงๆ สมบัติที่อาศัยข้างนอกเป็นสมบัติที่ฝากไว้กับโลก เอวัง