เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๔ ต.ค. ๒๕๖๑

เทศน์เช้า วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๑

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะนะ ตั้งใจฟังธรรมๆ ฟังธรรม เราเกิดมาเป็นมนุษย์เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงจำธรรมวินัยๆ แล้วถ้าใครทรงจำธรรมวินัยคิดว่ามีปัญญา อวดว่าตัวเองมีปัญญา แต่มีแต่ฟืนแต่ไฟในหัวใจเต็มหัวใจไง เห็นไหม ทรงจำธรรมวินัย

แต่ถ้ามันมีคติมีตัวอย่างไง กึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง เราก็ได้เห็นหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เราได้เห็นครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม

หลวงปู่ฝั้นท่านเป็นพระผู้ที่มีบารมีมาก มหากษัตริย์ยังเป็นลูกศิษย์ของท่าน เพราะอะไร เพราะจิตใจของท่านเป็นธรรม หนึ่ง สองท่านมีอำนาจวาสนาบารมี ท่านได้บรรเทาความทุกข์ร้อนของกษัตริย์ ความทุกข์ร้อนของประชาชน ได้บรรเทาความทุกข์ร้อน เห็นไหม นี่คือตัวอย่าง

เราศึกษาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงจำธรรมวินัย ทรงจำธรรมวินัยแต่มันไม่มีตัวอย่าง มันไม่มีข้อเท็จจริงไง แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมาตามความเป็นจริงขึ้นมา ท่านมีคุณธรรมในใจอันนั้น ถ้าท่านมีคุณธรรมในใจอันนั้น ธรรมอันนั้นมันเหนือโลก เหนือโลกเหนือสงสาร เป็นที่พึ่งที่อาศัยของสัตว์โลก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้พระองค์เดียวสอน ๓ โลกธาตุ ครูบาอาจารย์ของเราเวลาท่านใจเป็นธรรมๆ ของท่าน เป็นธรรม เป็นธรรมเพื่อประโยชน์กับสังคม ประโยชน์กับโลก ร่มโพธิ์ร่มไทร เป็นที่พึ่งที่อาศัย นี่ที่พึ่งที่อาศัย เห็นไหม

ในสมัยปัจจุบันนี้ ดูสิ ในการพัฒนาที่ยั่งยืนๆ เศรษฐกิจพอเพียงๆ ถ้าเศรษฐกิจพอเพียง เรามีอาชีพ มีการทำมาหากินแล้วมันยั่งยืน มันยั่งยืน คำว่า ยั่งยืน” การพัฒนานั้นต้องยั่งยืน การพัฒนาสภาพแวดล้อมก็ไม่ทำลาย ประชาชนก็มีน้ำใจที่เป็นธรรม ประชาชนก็มีหัวใจที่เอื้ออาทรต่อกันแบบจิตอาสาๆ

เวลาจิตอาสาขึ้นมาเราจะช่วยเหลือเจือจานกัน แต่เวลาเราอยู่บ้านเรือนของเรา เราจะมาเอารัดเอาเปรียบกัน เราจะมาทำลายกัน ทำไมไม่คิดถึงเวลาเราจิตอาสาล่ะ ทำไมเราไม่คิดถึงหัวใจที่เราเห็นคนทุกข์คนยาก คนที่เขาต้องการความสะดวกสบาย แล้วเราบริการเขาๆ ถ้าหัวใจอย่างนั้น หัวใจที่เป็นจิตอาสาๆ

การพัฒนาที่ยั่งยืนมันต้องมีการพัฒนาจากหัวใจด้วย ถ้าหัวใจพัฒนาแล้วมันมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ถ้าเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ขึ้นมาแล้ว เวลาทำสิ่งใดแล้วมันก็เป็นประโยชน์ นี่การพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาโดยธรรม

เราศึกษาธรรมๆ ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วไม่มีแบบอย่างไม่มีตัวอย่างที่จะให้เราประพฤติปฏิบัติ ไม่มีตัวอย่างที่ให้เราทำตามไง

แต่ในสมัยปัจจุบันนี้มันมี มีครูบาอาจารย์ของเรา มีในหลวงรัชกาลที่ ๙ ท่านทำเป็นตัวอย่าง การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ไหนที่รกร้าง ที่ไหนที่มันเป็นภัยแล้ง ที่ไหนที่มันทำมาหากินไม่ได้ ดินเปรี้ยวดินต่างๆ ท่านก็ไปพัฒนาไปปรับปรุงขึ้นมาเพื่อให้เป็นสิ่งที่ทำมาหากินได้ เป็นสิ่งที่เป็นการดำรงชีพได้ มีอาชีพได้ การพัฒนาที่ยั่งยืน

กิเลส กิเลสการเห็นแก่ตัว การแย่งชิง การเอารัดเอาเปรียบ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว เวลารื้อสัตว์ขนสัตว์ รื้อสัตว์ขนสัตว์จนมีความน่าเชื่อถือ มีความมั่นคงในพระพุทธศาสนา

เทวทัต เทวทัตก็บวชมาในพระพุทธศาสนานั่นน่ะ พระพุทธศาสนาบวชแล้วก็มาแย่งมาชิง อยากจะปกครองสงฆ์ อยากจะมีอำนาจวาสนาเป็นผู้ที่อยากใหญ่ไง นี่ไง เวลาทำสิ่งใดแล้วก็สอพลอไปกับทางโลก ไปหลอกไปลวงอชาตศัตรู ก่อนที่เทวทัตจะทำอย่างนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พระสารีบุตรไปประกาศในนครราชคฤห์ บอกว่า เทวทัตกับสงฆ์แยกจากกัน เทวทัตกับสงฆ์แยกจากกัน เพื่อไม่ให้มีภัยเข้ามาถึงคณะสงฆ์

เวลาเทวทัตไปยุแหย่ให้อชาตศัตรูไปปฏิวัติ คือเอามีดขึ้นมาจะไปฆ่าพ่อ เขาจับได้ พวกมหาดเล็กเขาจับได้ เขาสอบสวน พอสอบสวนเสร็จแล้วเขาบอกว่า สิ่งที่ผู้ที่ให้กำลัง ผู้ที่วางแผนคือเทวทัต จะต้องฆ่าอชาตศัตรู แล้วก็จะต้องฆ่าพระทั้งหมด

นี่ไง เวลาพระเจ้าพิมพิสารถามว่า มาประชุมๆ เราตรวจสอบๆ กันแล้วไง สุดท้ายแล้ว พระเจ้าพิมพิสารเป็นโสดาบัน “เธอไม่ได้ยินหรือ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วที่พระประกาศในนครราชคฤห์ไง บอกว่า เทวทัตกับสงฆ์ไม่เกี่ยวกัน เทวทัตกับสงฆ์ไม่เกี่ยวกัน

นี่เวลากิเลส กิเลสมันแย่งชิง มันอยากได้โดยที่ไม่ต้องทำ อยากได้โดยอาศัยอำนาจของคนอื่น อาศัยสังคมเหยียบย่ำเขาขึ้นไปไง การพัฒนาที่เลวร้าย การพัฒนาที่มีแต่หนี้สิน มีแต่ภาระต้องรับผิดชอบของสังคม นั่นการพัฒนาอย่างนั้นใช่ไหม เราต้องการการพัฒนาอย่างนั้นใช่ไหม ถ้าการพัฒนาอย่างนั้น นี่ไง เพราะการพัฒนาอย่างนั้น ธรรมดาสังคมนี้เป็นเหมือนกับสิ่งที่แหล่งผลประโยชน์ที่ใครจะมาฉกฉวยเอาๆ ใช่ไหม ใครเข้ามาก็ฉกฉวยได้ทั้งนั้นน่ะ เพราะว่ามันเป็นหนี้สาธารณะ มันเป็นของสาธารณะ ทุกคนต้องร่วมกันใช้จ่าย ทุกคนต้องร่วมกันใช้หนี้ แต่คนที่มันฉลาดมันก็มาตักมาตวงของมันเพื่อประโยชน์ของมันคนเดียวไง นี่ไง นี่การพัฒนาโดยกิเลส การพัฒนาโดยการเห็นแก่ตัว สิ่งนี้มันเป็นตัวอย่างให้เราพิจารณาได้

นี่ไง ฟังธรรมๆ เราฟังธรรมของเรา เวลาเราฟังธรรมของเราแล้ว เรามีศรัทธามีความเชื่อของเรา เราสร้างบุญกุศลของเรา เราเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราเกิดมาเป็นมนุษย์เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาถือว่าชาวพุทธมีแก้วสารพัดนึก มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

พระพุทธคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม รู้แจ้งในกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้แจ้งด้วยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเทศนาว่าการขึ้นมา พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรมเป็นสงฆ์องค์แรกของโลกๆ นี่ไง รัตนตรัยของเรา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ของเรา นี่เป็นแก้วสารพัดนึก เป็นการศึกษา เวลาศึกษาขึ้นมา เราศึกษาเราก็มีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เราก็ศึกษา การทรงจำ ทรงจำขึ้นมาแล้ว สิ่งใดที่ชอบใจมันก็ว่าเป็นของมัน มันเป็นของดี ถ้าสิ่งใดที่ไม่ชอบใจมันก็ผลักไส แต่สิ่งที่ไม่ชอบใจๆ นั่นน่ะมันขัดแย้งกับกิเลส มันขัดแย้งกับความเห็นแก่ตัว ขัดแย้งกับกิเลสตัณหาความทะยานอยากของเรา

เราศึกษามาๆ ชาวพุทธ แก้วสารพัดนึก มันสารพัดนึก นึกได้มากน้อยแค่ไหน นึกได้แบบฆราวาส ฆราวาสก็แสวงหาบุญกุศลเพื่อตัวของตน เวลาไปทำบุญๆ อยากร่ำอยากรวย อยากปลดหนี้ปลดสิน

อยากร่ำอยากรวย อยากปลดหนี้ปลดสิน ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกต้องมีสติมีปัญญา มีสติปัญญา มีการรู้จักประหยัดรู้จักมัธยัสถ์ขึ้นมา เราเก็บหอมรอมริบ เห็นไหม

คนเราได้เงินเดือนมาเท่ากัน อีกคนหนึ่งเขาสร้างบ้านสร้างเรือนของเขาได้ เราก็ได้เงินเดือนมาเท่าเขา ทำไมเรายังเป็นหนี้เป็นสินขึ้นมา เห็นไหม เงินเดือนเท่ากันแต่ทำไมคนคนหนึ่งเขาถึงประสบความสำเร็จของเขา เขารู้จักกระเหม็ดกระแหม่ เขารู้จักประหยัดมัธยัสถ์ เขารู้จักเก็บบำรุงรักษา เขาดูแล ไม่ฟุ่มเฟือยไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมเหมือนเราไง

นี่พูดถึงถ้ามีสติมีปัญญาขึ้นมา ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาใครศึกษามากน้อยแค่ไหน ถ้าศึกษามามากน้อยแค่ไหนขึ้นมาแล้ว ถ้าใครมีสติมีปัญญาขึ้นมา สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี เราต้องการสัจจะความจริงของเรา ผลของวัฏฏะๆ นี่ไง สิ่งที่ผลของวัฏฏะ

ฟ้าร้องฟ้าผ่ามันเป็นเรื่องปรากฏการณ์ธรรมชาติใช่ไหม การเวียนว่ายตายเกิดของเรามันก็เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติใช่ไหม แต่ปรากฏการณ์ธรรมชาติขึ้นมาแล้ว เราเกิด เกิดมั่งเกิดมี เกิดทุกข์เกิดยากขึ้นมา เกิดด้วยเวรด้วยกรรมไง แล้วมันมีเวรมีกรรมเข้ามาบวกกับปรากฏการณ์ธรรมชาติไง

ปรากฏการณ์ธรรมชาติคือการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ คือผลของวัฏฏะไง คือการสิ่งมีชีวิตที่มันต้องเป็นไปไง แต่มันบวกขึ้นมากับกรรมดีกรรมชั่ว กรรมดีกรรมชั่วมันถึงมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบุญญาธิการมาเป็นพระโพธิสัตว์ๆ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย

ถ้าใครมีการศึกษา ศึกษาเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียสละชีวิต เป็นกระต่ายป่าโดดเข้ากองไฟเพื่อให้นายพรานได้รอดชีวิตไปจากเนื้อของตน นี่เป็นหัวหน้าสัตว์คุ้มครองดูแลสัตว์ของตนไม่ให้ใครมาล่า เวลาใครจะล่า เอาตัวเองเข้าไปเป็นเหยื่อล่อให้ฝูงของตนได้รอดพ้นไป นี่ปัญญาของสัตว์ สัตว์ที่เป็นพระโพธิสัตว์ๆ นี่สิ่งที่เขาสร้างมาอย่างนั้น สร้างมาอย่างนั้นมันถึงได้เป็นพันธุกรรมของจิตๆ ไง

ที่ว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่มันบวกด้วยกรรมดีกรรมชั่ว แล้วบวกด้วยกรรมดีกรรมชั่ว ปรากฏการณ์ของเรา ปรากฏการณ์ชีวิตนี้มันถึงเป็นการกระทำของเราไง ใครจะสูงส่งต่ำต้อยขนาดไหน เราทำมา กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา เราทำอย่างนี้มาๆ เราทำอย่างนี้มา ทำมาตอนไหน

นี่ไง ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชีวิตหนึ่ง จิตหนึ่ง ถ้าเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ถ้าแต่ละภพแต่ละชาติร้องไห้เสียใจ แต่ละภพแต่ละชาติน้ำตานั้นเก็บไว้นะ มากกว่าน้ำในทะเล การที่เราร้องห่มร้องไห้ด้วยความเสียใจทุกข์ใจน้อยใจ ถ้าเก็บไว้แต่ละภพแต่ละชาติ นี่ไง สิ่งที่จิตเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ แล้วเวลามันเกิดมาจากกรรมดีกรรมชั่ว ถ้ากรรมดีกรรมชั่ว เราถึงบอกว่าการเกิด เกิดเพราะเราเกิดนี่แหละ เราเป็นคนทำถึงได้เกิด เราทำของเรามาเอง ถ้าทำของเรามาเอง

นี่ไง พระโพธิสัตว์ๆ สิ่งที่ได้สร้างสมบุญญาธิการมา แล้วเวลารู้แจ้งแทงตลอดในวัฏฏะ บุพเพนิวาสานุสติญาณ คือกำหนดอดีตชาติตั้งแต่พระเวชสันดรไป เราได้ทำมาอย่างนี้ๆๆๆ แล้วมาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ถ้ายังไม่ได้สิ้นกิเลสไปก็ยังต้องไปเกิดอย่างนี้ๆๆ แต่เวลาท่านทำของท่านสิ้นไปๆ เราได้ศึกษา นี่แก้วสารพัดนึกๆ เราทำของเรา

ใช่ เรามาวัดมาวาเราก็ต้องอยากมีความสุข ความสุขของเรา ถ้าเรามีสติปัญญาเท่าทันกับจิตของเรา เท่าทันความคิดของเรา เราก็บรรเทาความทุกข์ความยาก ความทุกข์ความยากเกิดจากทิฏฐิ เกิดจากมานะ เกิดจากการยึดมั่น เกิดจากการเห็นผิด แต่ถ้ามันเห็นถูกแล้ว ปัญหาชีวิตของเราแต่ละปัญหามันแก้ไขได้ทั้งสิ้น จะมีหนี้สินอย่างไรก็ประนอมหนี้ได้ จะมีหนี้สินอย่างไรก็แก้ไขได้ จะมีความทุกข์ร้อนขนาดไหนก็แก้ไขได้

กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา เกิดมาเพื่อแก้ไข เกิดมาเพื่อกระทำ อย่าเกิดมาซ้ำเติม เกิดมาซ้ำเติมให้มันทุกข์หนักไปกว่านั้น เกิดมาซ้ำเติมให้มันเหลวไหลไปกว่านั้น ถ้ามันเกิดมา มันอยู่ที่พันธุกรรมของจิตๆ คือสันดาน สันดานของคนที่ดีมันจะแก้มันจะไข มันจะพลิกมันจะแพลงของมัน เราเกิดมาใฝ่ดี ศึกษาความดีนะ แต่ถ้าสันดานมันตกต่ำ ไม่ได้ เราโดนเอาเปรียบ ไม่ได้ เราต้องเอาชนะเขา ไม่ได้ ไม่ได้...ไม่ได้ๆ น่ะฟืนไฟทั้งนั้น

หลวงตา พระอรหันต์ พระที่เป็นครูบาอาจารย์ท่านพูดประจำ ไอ้พวกกว้านฟืนกว้านไฟมาเผาตนเองน่ะมันคิดว่ามันเป็นผลประโยชน์ มันคิดว่าเป็นความดีของเรา เป็นผลประโยชน์กับเราน่ะ

ผลประโยชน์คือวัตถุ แต่ถ้ามันได้มาด้วยความชอบธรรม ได้มาด้วยความชอบธรรม เพราะคนเรานะ ความชอบธรรมคือสุจริต ถ้าสุจริตนั้น นี่มันเป็นความชอบธรรมใช่ไหม ความชอบธรรมเป็นเกราะป้องกันเรานะ ความถูกต้องชอบธรรมเป็นเกราะป้องกันในชีวิตของเรา นี่ถ้ามันชอบธรรมๆ มันถูกต้องทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้ามันไม่ชอบธรรม ไม่ต้อง เราปฏิเสธ

แล้วเวลาคนเราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะมันเกิดมาแล้วมันอยู่ในสังคม สังคมมีทั้งดีและชั่ว สังคมที่มีทั้งดีและชั่ว สังคมที่แบบว่า เราไปอยู่ในสังคมที่ว่าผู้ที่มีอำนาจเขาเป็นคนที่เห็นแก่ตัว แล้วเราไปอยู่ในสังคมอย่างนั้น เราจะเอาตัวรอดอย่างไร

เราไปอยู่ในสังคมที่คุณงามความดี สังคมที่ผู้นำเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นผู้นำที่ดี เขาจะพาเราไปในสิ่งที่ดี นั่นก็เป็นบุญกุศลของเรา นี่ไง มันต้องมีสติมีปัญญาแก้ไข เป็นทั้งหมดน่ะ พระก็เหมือนกัน เวลาพระธุดงค์ไป ไปเจอวัดใดก็แล้วแต่ ถ้าหัวหน้าที่ดีจะขอนิสัยๆ ขอให้ดูกัน ๗ วันก่อน ถ้าเข้ากันได้ถึงขอนิสัย ถ้าเข้ากันไม่ได้ให้เก็บของไป ไม่ใช่พระจะเจอแต่พระดีๆ ทั้งนั้น ไม่มี พระก็ต้องเลือก เราธุดงค์มาเราเลือกทั้งนั้นน่ะ ถ้าไม่ดี เก็บของไป ถ้าดี ขออยู่ด้วย ถ้าท่านไล่ ไล่ก็ขอกลับมาอยู่ใหม่ โดนไล่ประจำ ไล่ทั้งนั้นน่ะ เพราะอะไร เพราะครูบาอาจารย์ท่านจะฝึกท่านจะปั้น

คนเราจะโตขึ้นมามันต้องประสบการณ์ชีวิตทั้งนั้นน่ะ ธรรมะในหัวใจของเราถ้ามันจะเป็นความจริงของเรามันต้องมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ใครทำความสงบของใจขึ้นมาสูงส่งขนาดไหนมันเสื่อมหมด เพราะมันอยู่ใต้ในกฎของอนัตตา มันอยู่ใต้กฎของอนิจจัง อยู่ใต้กฎของอนัตตา มันเจริญแล้วเสื่อมทั้งนั้น ความคิดของเราเดี๋ยวก็คิดได้ เดี๋ยวก็ลืม ไม่มีสิ่งใดคงที่หรอก มันแปรปรวนไปตลอด ถ้ามันแปรปรวนไปตลอด

เวลาเราปฏิบัติของเรา ถ้ามันเจริญงอกงามขึ้นมามันเจริญมาจากอะไร มันเจริญมาจากเหตุ ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้จำพฤติกรรม จำเหตุอันนั้น จำการตั้งสติ การวางอารมณ์ การกำหนด การกระทำ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ มันต้องมีเหตุมีผล มันไม่ลอยมาจากฟ้า ไม่มีสิ่งใดได้มาฟรีๆ ชีวิตนี้ด้วย การประพฤติปฏิบัติด้วย ถ้าเป็นสัจจะความจริงด้วย ต้องมีเหตุมีผล ไม่มีสิ่งใดลอยมาจากฟ้า ฉะนั้น เราทำสิ่งใดเราต้องมีสติปัญญาทบทวนใคร่ครวญดูแลของเรา นี่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นี่การพัฒนาที่ยั่งยืน

แล้วการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน พอมันวูบไปนะ “โอ้โฮ! นิพพานเป็นเช่นนั้นเอง” เวลามันเผลอนะ นอนไปฝันนะ ตื่นขึ้นมา “นิพพานเป็นเช่นนั้นเอง”...นี่มันไร้สาระ

การพัฒนาที่ยั่งยืนมันต้องมีเหตุมีผล การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ใช่พัฒนาโดยกิเลส พัฒนาโดยกิเลสนะ มันทิ้งแต่หนี้สินไว้ให้พวกเราทั้งนั้นน่ะ เวลาประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน เราจะชนะใจตัวเราเองเอามาจากไหน ถ้าการชนะใจตัวเองมันก็เริ่มต้นมาจากอำนาจวาสนานี่แหละ คำว่า อำนาจวาสนา” คือจิตใจคนที่มั่นคง จิตใจคนที่โลเล จิตใจมันมีทั้งนั้นน่ะ

ดูสิ ในทางการแพทย์ เป็นไปโดยธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ คนเป็นธาตุไหน ถ้าธาตุไฟ อย่างเรานี่ธาตุไฟ ธาตุไฟคือฉุนเฉียวรุนแรง แต่มีปัญญา ธาตุดิน ธาตุดินนุ่มนวล ธาตุดินน่ะ แต่พื้นดิน เห็นไหม เป็นไปโดยธาตุๆ แม้แต่ในทางการแพทย์ในแผนโบราณเขายังทำสถิติได้เลย

แต่ในธรรม ในธรรมมันลึกซึ้งกว่านั้น มันละเอียดอ่อนกว่านั้น ถ้ามันลึกซึ้งละเอียดอ่อน เพราะอะไร เพราะมันเข้าถึงเนื้อของจิต มันเข้าถึงจิตที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ เวลาคนเข้ามา เรื่องของจิตเป็นอย่างไร มีเนื้อด้วยหรือ จิตมีเนื้อด้วยหรือ

มี ถ้าจิตไม่มีเนื้อ ไม่มีภวาสวะ หลวงปู่มั่นบอก “อวิชชามันเกิดบนอะไร อวิชชาคือความหลงผิดมันเกิดบนอะไร”

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเริ่มต้นจากอวิชชาคือความไม่รู้ แต่หลวงปู่มั่นท่านพิจารณาของท่านไปนะ อวิชชาเกิดจากฐีติจิต ฐีติจิตนี่จิตเดิมแท้ อวิชชามีที่เกิด แล้วเกิดบนอะไร เกิดบนฐีติจิต ภวาสวะ ภพ ภพมันคืออะไร

เวลาศึกษา ศึกษาทรงจำธรรมวินัยก็เรื่องหนึ่งนะ เวลาปฏิบัติไปถ้าไม่รู้ไม่เห็น ไม่รู้ไม่เห็นจะฆ่ากิเลสได้อย่างไร ไม่รู้จักกิเลสจะฆ่ากิเลสได้อย่างไร ไม่รู้จักคนทำผิดจะเอาคนทำผิดมาไต่สวนได้อย่างไร ขณะไต่สวน ระหว่างกิเลสกับธรรมต่อสู้กันเป็นอย่างไร แล้วเวลามันปล่อยวางชั่วคราว คือกิเลสกับธรรมมันต่อสู้กันมันก็ต้องหาเหตุผลมาโต้แย้งทั้งนั้นน่ะ เวลาใครชนะขึ้นมาก็ตทังคปหาน ปล่อยวางๆๆ มันไม่จบหรอก เพราะมันไม่สิ้นสุด แต่ถ้ามันสมุจเฉทปหาน มันขาด มันขาดอย่างไร นี่การพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาโดยธรรม

นี่ไง เราเกิดมาด้วยบุญกุศลนะ เกิดมาได้พบในหลวงรัชกาลที่ ๙ ท่านพัฒนามา ๖๐-๗๐ ปี ตั้งแต่เราเกิดมา ตอนนี้เราเป็นบุคคลในแผ่นดินที่ ๒ บางคนเกิดมา ๒ แผ่นดิน ๔ แผ่นดิน ๖ แผ่นดิน เด็กๆ มันเพิ่งเกิดมาแผ่นดินเดียว ในหลวงรัชกาลที่ ๙

ก่อนหน้านั้นประเทศไทยมีภัยแล้ง มีแต่ความแห้งแล้ง การเกษตรกรรมก็ไม่สมบูรณ์ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ท่านมาพัฒนาให้ทั้งหมด ใครไม่มีที่ทำกิน ทำกินไม่ได้ ท่านพัฒนาให้ แล้วเรามีที่ทำกิน แล้วด้วยความอยากได้ อยากร่ำอยากรวย ขายที่ขายทาง อยากเอาแต่ประโยชน์เฉพาะหน้า แล้วก็ไปกู้หนี้ยืมสิน หนี้สินพะรุงพะรังไปหมดเลย เพราะอยากเป็นแผ่นดินทอง

แต่ถ้าในหลวง ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเศรษฐกิจพอเพียงไง แผ่นดินธรรม แล้วถึงจะเป็นแผ่นดินทอง แผ่นดินธรรมคือเราอยู่กับสัจจะอยู่กับความจริง การพัฒนาที่ยั่งยืน รู้จักเก็บหอมรอมริบ รู้จักประหยัดมัธยัสถ์ มันจะมั่นคงกับชีวิต ชีวิตของเราไม่ต้องทุกข์ร้อนจนเกินไป

แล้วถ้าใครมีจิตใจที่อยากจะประพฤติปฏิบัติก็ต้องประพฤติปฏิบัติให้มันปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมให้เป็นสัจธรรม อย่าให้กิเลสมันหลอก ข้างนอกก็เป็นหนี้ ข้างในก็เป็นหนี้ หนี้เวรหนี้กรรม ไอ้นั่นเป็นหนี้ทรัพย์สมบัติ ไอ้นี่หนี้เวรหนี้กรรม หนี้เพราะมันปลดหนี้ตัวเองไม่ได้ นี่ไง การพัฒนาที่เหลวไหล

การพัฒนาที่ยั่งยืน เศรษฐกิจพอเพียง การประพฤติปฏิบัติให้เข้าสู่สัจจะเข้าสู่ความจริง ให้เราได้สัจจะความจริง เกิดมาเป็นมนุษย์เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ให้ได้มรรคได้ผลสู่หัวใจของเรา เอวัง