เทศน์บนศาลา

หมาเห่าใบตองแห้ง

๗ ก.ย. ๒๕๕๑

 

หมาเห่าใบตองแห้ง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เอ้า นั่งภาวนา ตั้งใจฟังธรรม เราไปวัดไปวานะ ความสำคัญของพระปฏิบัติ ความสำคัญของวัดปฏิบัติ การแสดงธรรมสำคัญที่สุด

การแสดงธรรมนะ เราเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนากันมาทั้งวันทั้งคืน เราพยายามเร่งความเพียรของเรามาตลอด แล้วความเพียรของเรามันเป็นไปได้อย่างไร ความเพียรเป็นไปได้ไหม ถ้าใจเราดี ความเพียรของเราจะดี ความเพียรของเราไง เราเข้าถึงรสของธรรม รสของสัจธรรม เราจะมีความสุข เราจะมีความรื่นเริง

แต่ถ้ากิเลสมันเหยียบย่ำ เราพยายามทำความเพียรของเรา เราตั้งใจของเรา แต่มันทุกข์มันยาก มันทุกข์ยากเพราะกิเลสมันเหยียบย่ำ ในการฟังธรรมของครูบาอาจารย์ “ธรรมะกล่อมดวงใจของเรา” เพราะกิเลสมันเหยียบย่ำ แล้วธรรมะจะเกิดขึ้นมาจากเรานี่แสนยาก

เราเกิดมามีบุญกุศลมากนะ เพราะว่าเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา กว่าพระพุทธศาสนาจะเกิดได้ เห็นไหม เกิดได้คราวเดียว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เผยแผ่ได้หนึ่งเดียว พระพุทธเจ้าจะเกิดได้องค์เดียว แต่ละครั้งจะเกิดได้องค์เดียว แล้วกว่าจะสร้างสมได้

ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการไว้ในพระไตรปิฎกว่า “เรามีอายุน้อยแค่ ๘๐ ปี เราสร้างบุญกุศลมา ๔ อสงไขย ชีวิตของเรามันถึงสั้น ความเป็นไปเห็นไหม แต่เราวางศาสนาไว้ ๘๐ ปี” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานไปแล้ว วางศาสนาไว้อีก ๕,๐๐๐ ปี แต่ถ้าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระทีปังกร หรือองค์ต่างๆ ที่แล้วๆ มา อายุ ๘๐,๐๐๐ ปี แต่ไม่ได้วางธรรมและวินัยไว้

๘๐,๐๐๐ กับ ๕,๐๐๐ ปี เราเกิดมาช่วง ๕,๐๐๐ ปี ช่วงที่พบพระพุทธศาสนา เราไม่ได้พบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีชีวิตอยู่ แต่เราได้พบธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วางไว้ ธรรมวินัยนี้จะทำให้เรารื้อค้นเข้าไปสร้างเป็นปูนหมายป้ายทาง คือเป็นการชี้นำให้เราประพฤติปฏิบัติ

เราเกิดมาพบพุทธศาสนา ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเธอ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์นะ “อานนท์! ถ้าเราปรินิพพานไปแล้ว ธรรมและวินัยจะเป็นศาสดาของเธอ” ธรรมและวินัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้ จะเป็นศาสดาของเรา

แล้วเราเกิดมา สิ่งนี้มีอยู่ สิ่งที่เป็นทฤษฎี สิ่งที่เป็นสัจธรรม สัจธรรมที่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ส่งต่อๆ กันมาชั่วอายุขัยของพระแต่ละองค์ แต่ละองค์มา เห็นไหม ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไป ภิกษุไม่เคยขาดนะ ภิกษุไม่เคยขาด ถ้าขาด.. ภิกษุบวชกันไม่ได้

บวชคืออะไร บวชคือจตุตถกรรม ญัตติจตุตถกรรม ต้องมีสงฆ์ยกขึ้นเข้าหมู่ สงฆ์ยกเข้าหมู่นะ ตั้งญัตติยกเข้าหมู่ มันเป็นสมมุติ แต่สมมุติตามความเป็นจริง

ดูสิ ดูลังกาวงศ์ สยามวงศ์ สิ่งต่างๆ เวลาลังกาเขาขาดแคลน ก็เอาจากสยามวงศ์ไป สมมุติก็จริงตามสมมุติ ถ้าเราไม่จริงตามสมมุติ วัดวาอารามเรานี่ก็เป็นสมมุติ นี่อารามิกะ! อารามเป็นที่อยู่ของผู้ทรงธรรมทรงศีล เป็นอารามที่อยู่ เห็นไหม แล้วอยู่กันอย่างไร ถ้าอยู่กันโดยตื่นตัว อยู่โดยการประพฤติปฏิบัติ อยู่โดยการเห็นภัยในวัฏสงสาร มันจะมีกะจิตกะใจไง มีครูบาอาจารย์เป็นผู้นำ ถ้ามีครูบาอาจารย์เป็นผู้นำ เป็นผู้ชี้ทาง เป็นผู้คอยขับกล่อมดวงใจของเรา แสดงธรรมเพื่อให้ใจของเรามันรื่นเริง มันอาจหาญ เอาสิ่งนี้เป็นเครื่องเกาะนะ ถ้าเอาเป็นเครื่องเกาะของเรา แล้วทำตามความเป็นจริง

ในโลกปัจจุบัน “เวลากึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง” หลวงปู่มั่นบอกไว้ เจริญตั้งแต่พระจอมเกล้าฯ พระจอมเกล้าฯมาฟื้นฟูในธรรมวินัย หลวงปู่มั่นพูดไว้ในประวัติหลวงปู่มั่นมีนะ ว่า “กึ่งพุทธกาลศาสนาเจริญจะอีกหนหนึ่ง” พระจอมเกล้าฯนี้ตั้งพ.ศ. เท่าไหร่ มันก่อนกึ่งพุทธกาลใช่ไหม แล้วกึ่งพุทธกาล หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ มารื้อค้นขึ้นมา

ธรรมมีจริงขึ้นมาจากหัวใจ ก่อนที่หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นจะรื้อค้นขึ้นมา ศาสนาเป็นพิธีกรรม เป็นสิ่งที่ว่าเป็นพิธีเฉยๆ คนเราหมดโอกาส เวลาศึกษาธรรมวินัยขึ้นมา คิดถึงมรรคผลนิพพาน นี่มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ มันมีอยู่ สัจจะ อริยสัจจะ มีทั้งนั้นน่ะ แต่ในหัวใจเราก็ไม่เชื่อกัน

ในหัวใจเรา.. “มันจะเป็นไปได้ไหม... เราประพฤติปฏิบัติ อำนาจวาสนาอย่างเรานี้ได้ไหม…” เพราะเราเห็นว่ามรรคผลนิพพานมันอยู่สุดเอื้อม สุดจะไขว่คว้า เพราะเราว่าเราเป็นคนบุญน้อยไง เราเป็นคนมีอำนาจวาสนาน้อย เราไม่มีโอกาส

แต่ไม่ได้คิดเลยว่าสัจธรรมมันเกิดที่ไหน มันเกิดที่กลางหัวใจของของมนุษย์นะ ของสัตว์โลก สิ่งที่เกิดจากหัวใจของมนุษย์และสัตว์โลกเพราะอะไร เพราะการเกิดและการตาย เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา วิชชา ๓ บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดที่ไหน.. เกิดในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม แล้ววางไว้เป็นธรรมวินัยไว้

ใจองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีใช่ไหม สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติมา อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจิง สูติ อาสวะสิ้นไป.. เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมจักร อาสวะสิ้นไป จิตตานิ.. จิตโดนทำลาย อาสะเวหิ จิตตานิ วิมุจจิงสูติ แล้วเรามีจิตกันไหม เรามีหัวใจกันไหม เรามีสิ่งทุกข์สุขในหัวใจไหม เรามีทั้งนั้นน่ะ

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นทุกข์ ทุกข์ในหัวใจ สิ่งที่เป็นความเศร้าหมอง สิ่งที่เป็นความเหยียบย่ำในหัวใจ กิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ มันก็มีอยู่จริง ในสมัยพุทธกาลก็มีอย่างนี้ ในสมัยปัจจุบันเราก็มีอย่างนี้

ในเมื่อสัจธรรมเกิดจากหัวใจ สัจธรรมเกิดจากการประพฤติปฏิบัติ ที่เราเชื่อมั่นในศาสนา เราเชื่อมั่นในครูบาอาจารย์ของเรา เราถึงพยายามขวนขวายของเรา เพราะ! เพราะมีผู้นำทางไป หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นเป็นผู้นำทางไปแล้วนะ หลวงปู่เสาร์เวลาท่านเทศน์นะ เวลาไปอยู่ที่ไหน ธุดงค์ไป จะมีคฤหัสถ์ จะมีภิกษุ อ้อนวอนขอให้ท่านเทศนาว่าการมหาศาลเลย หลวงปู่เสาร์บอกเลย บอกว่า เวลาท่านเทศน์นะ “เราทำให้ดูอยู่แล้ว ทำไมไม่ทำตาม”

สิ่งที่เป็นตัวอย่างที่มีอยู่ ทำตาม ทำเถิด ทำแล้วจะเข้าใจ แต่หลวงปู่มั่น เวลาท่านเทศนาว่าการ ท่านพยายามเทศนาว่าการให้เราหมดความลังเลสงสัย ให้เรามั่นใจเราเชื่อใจในสัจธรรมความจริง ถ้าเราเชื่อใจ ท่านพิสูจน์ของท่าน ด้วยสัจจะความจริงของท่าน ท่านพิสูจน์ของท่านด้วยการกระทำของท่าน ท่านสามารถบอกชี้ทางลูกศิษย์ลูกหาที่ไปประพฤติปฏิบัติกับท่าน เวลาครูบาอาจารย์ไปหาหลวงปู่มั่นนะ ชื่อเสียงกิตติศัพท์ของหลวงปู่มั่นมีชื่อเสียงมาก

หลวงปู่พรหมท่านเคยไปหา ในประวัติหลวงปู่พรหม เวลาไปเจอหลวงปู่มั่นครั้งแรก โอ้โห.. หลวงปู่มั่นมีชื่อเสียงมาก เห็นร่างเห็นสรีระของหลวงปู่มั่นเป็นบุคคลตัวไม่ใหญ่ เล็กๆ ไง “โอ้โห มีชื่อเสียงขนาดนี้ ตัวก็ไม่ใหญ่ จะมีความรู้จะสอนเราได้อย่างไร” เวลาแสดงธรรมให้หลวงปู่พรหมฟังนะ ท่านพูดออกมาจนหลวงปู่พรหมสะดุ้งเลย

“อย่ามองกันที่รูปร่างสัณฐานของมนุษย์ ให้มองสัจจะความจริงที่ท่านแสดงออกมาด้วยสัจธรรมอันนั้น”

มนุษย์ไม่มองกันที่รูปร่างกาย เราไปมองกันที่รูปร่างกาย ไปวัดกันที่รูปร่างกายของคน มันไม่ได้ นี่สัจธรรมเห็นไหม แล้วฟื้นฟูมา สั่งสอนมา ทำมาจนสังคมเชื่อถือศรัทธา ในเมื่อสังคมเชื่อถือศรัทธาขึ้นมาแล้ว ในวงการประพฤติปฏิบัติถึงเกิดขึ้น ฝ่ายคันถธุระ ในการปกครอง ในฝ่ายปริยัติ ในการศึกษาในทางทฤษฎี

ในฝ่ายปฏิบัตินะ สมัยตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระไตรปิฎก ภิกษุจะเข้าป่า ภิกษุบวชเมื่อแก่ ภิกษุบวชแล้วอยากจะออกพ้นจากทุกข์ จะมาขอกรรมฐานจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเข้าป่าเข้าเขาไป สุดท้ายแล้วประพฤติปฏิบัติ ถ้ามีปัญหาจะมาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะให้แก้ไขตลอดไป นี่สิ่งที่แก้ไข

ถ้าปริยัติคือการศึกษา ฝ่ายคันถธุระ ถ้าฝ่ายปฏิบัตินี้คือกรรมฐาน การประพฤติปฏิบัติ เมื่อมีคนศรัทธามีความเชื่อถือ ในเมื่อมีผู้ชี้นำอยู่ มีผู้ที่แสดงธรรม ผู้ชี้นำจนให้เรามั่นใจ ให้เราลงใจ แล้วเราประพฤติปฏิบัติได้ จนสังคมเชื่อถือ ในวงการปฏิบัติเราถึงเจริญรุ่งเรืองมา

“วัดปฏิบัติ” ต้องมีข้อวัตร มีข้อวัตร มีปฏิบัติ มีสิ่งต่างๆ ให้เรายึดมั่น ข้อวัตรปฏิบัติเป็นเครื่องอยู่อาศัย เป็นเครื่องอยู่ของใจ ใจมันมีกิเลสเป็นเครื่องอยู่นะ กิเลสมันเหยียบย่ำ

เราศึกษาธรรมกัน ในภาคปริยัติเราศึกษามา เราเห็นมา เราเชื่อถือศรัทธา เราอยากจะพ้นจากทุกข์ แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะให้เกิดขึ้นมาโดยการท่องบ่น โดยการกระทำ.. โดยการท่องบ่นของเรามันเป็นไปไม่ได้ ในเมื่อมันเป็นไปไม่ได้ มันต้องเข้ามาในภาคปฏิบัติ

ถ้าในภาคปฏิบัติ ดูสิในวิชาช่าง เขาศึกษากันมาทางทฤษฎีแล้ว เขาจะจบวิชาการของเขา เขาต้องฝึกงานของเขา เขาต้องทำงานของเขา ทางวิชาช่างเดี๋ยวนี้ทางวิชาชีพทางครู ในวิชาชีพทางหมอทางต่างๆ เขาต้องฝึกงานของเขาทั้งนั้นน่ะ ฝึกมาให้ทำงานเป็น ในทฤษฎีเราก็เรียนมา ทฤษฎีเราก็เรียนของเรา แต่ในภาคปฏิบัติ เราต้องออกไปฝึกงาน

ในศาสนาก็เหมือนกัน “คันถธุระ” ในการศึกษาทฤษฎี เราศึกษาแล้ว ในภาคปฏิบัติ เราลงปฏิบัติ แต่เราบวชมาแล้ว เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ อุปัชฌาย์ก็บอกแล้วให้ถอยเข้าถอยออก แล้วเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เราระลึกถึงวันละกี่หน เราได้ตั้งใจจริงปฏิบัติของเราไหม เราทำของเราไหม เราศึกษาทฤษฎีมา มันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาของเราน่ะศึกษาธรรมขึ้นมา มันซาบซึ้งนะ ถ้าจิตใจของเรา ดูสิ มนุษย์ของเรา เกิดถ้ามีการกระทบกระทั่ง หัวใจที่มันทุกข์ยาก พอศึกษาธรรมขึ้นมานี่มันจะซึ้งใจ มันจะมีความสุข มีความเข้าใจ มันปล่อยอารมณ์ความรู้สึกอันนั้นได้ ถ้าปล่อยอารมณ์ความรู้สึกอันนั้นได้ นี่ความเข้าใจของโลกมีเท่านี้

คำว่า “โลกียปัญญา” มันเป็นสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ในการศึกษาในการประพฤติปฏิบัติของเราก็เหมือนกัน ถ้าเราเชื่อมั่นของเรา เราศรัทธาของเรา เชื่อมั่นศรัทธานะ เราต้องทำตามความเป็นจริงนะ ถ้าเราทำความไม่จริง การประพฤติปฏิบัติของเรา เราจะไม่มีเครื่องอยู่ พอไม่มีเครื่องอยู่ก็เป็นคนเร่ร่อน หัวใจเร่ร่อน หัวใจไม่มีจุดยืน หัวใจเร่ร่อนไปตามกิเลสมันจะบังคับบัญชา ตามแต่กิเลสตัณหาความทะยานอยาก

ชอบใจธรรมะข้อไหนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรึกธรรมข้อนั้น ใหม่ๆ เวลาเราตรึกขึ้นมา เราศึกษา เราค้นคว้าขึ้นมา มันก็ซาบซึ้งใจนะ แต่พอมันคิดบ่อยครั้งเข้า มันตรึกบ่อยครั้งเข้ามันก็จืด มันก็จืดเห็นไหม แต่ถ้าเรามีข้อวัตรปฏิบัติ เราอยู่ข้อวัตรปฏิบัติ สัลเลขธรรม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม ให้คุยกันด้วยเรื่องธรรมะ ให้คุยกันเรื่องการเสียสละ ให้คุยกันเรื่องการออกจากกิเลส ให้คุยกันเรื่องมักน้อยสันโดษ ให้แสวงหา ให้คุยกันอยู่ในเรื่องธรรมะ

ดูสิ “ธุดงควัตร” มักน้อยสันโดษเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส ถ้าเรามีข้อวัตรปฏิบัติ เราจะคุยกันเรื่องอย่างนี้ ถ้าเราไปคุยกัน เราไปศึกษากันเรื่องติรัจฉานวิชา ติรัจฉานวิชาคือวิชาทางโลก วิชาชีพ วิชาอะไรต่างๆ นี้เป็นติรัจฉานวิชา ในการประพฤติปฏิบัติ ในวงปฏิบัตินะ มันเสียโอกาส เสียเวลา แม้แต่คุยกันเรื่องโลก คุยกันเรื่องการคมนาคม นี่ไงติรัจฉานวิชา ติรัจฉานคือทำให้เนิ่นช้า เพราะถ้าเราคิดส่งออก คุยกันแต่เรื่องโลก มันออกโลก

แต่เราตรึกในธรรม เราคิดว่าสัจธรรมเป็นธรรม เราตรึกของเรา นั้นก็เรื่องโลก โลกียปัญญา โลกียะมันก็ปัญญาโลก มันจะซาบซึ้งแค่ไหน มันก็เรื่องโลก ซาบซึ้งอย่างนี้ มันไม่มีจุดยืน ไม่มีหลักใจ พอไม่มีหลักใจมันก็โลเลนะ “ศรัทธา อจลศรัทธา” แต่ถ้ามีครูอาจารย์เป็นผู้ปลุกเร้า มีครูมีอาจารย์เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ นี่กรรมฐานของเรา

ครูบาอาจารย์ของเราศึกษามา เราเชื่อมั่น เรามีครูบาอาจารย์ของเรา เรามั่นใจของเรา แล้วเรามาประพฤติปฏิบัติของเรา เราทำจริงไหม ถ้าเราทำของเราจริง เรามีข้อวัตรปฏิบัติของเรานี้มันเป็นเครื่องอยู่

คำว่า “เครื่องอยู่” มันผูกมัดใจเราให้อยู่กับหลักธรรม แต่ถ้าเราไม่มีเครื่องอยู่ เราปล่อยใจให้เร่ร่อน ถ้าปล่อยใจให้เร่ร่อน เราจะมีจุดยืนไหม จะมีหลักธรรมไหม

หลักธรรม.. ดูสิ เวลาเขาตามหนี้กัน เขาต้องหาลูกหนี้ เขาต้องทวงหนี้กัน นี่ก็เหมือนกัน เราจะใช้หนี้กรรม เราจะใช้หนี้กิเลส เราจะประพฤติปฏิบัติของเรา แต่เราปล่อยให้ใจเราเร่ร่อน เราไม่มีจุดยืนของเรา เราทำอะไร เรามาวัดมาวา มาทำไมกัน

วัดปฏิบัตินะ วัดไม่เหมือนบ้าน บ้านไม่เหมือนวัด บ้านก็คือบ้าน เราอยู่บ้านกัน เราโอ้โลมปฏิโลมกัน เราช่วยเหลือเจือจานกัน นั่นคือบ้าน! สิ่งที่เป็นบ้าน บ้านคือพูดคุย คือเมตตา

แต่ในเมื่อเราเข้าวัดไปแล้ว คำว่า “วัด” วัดปฏิบัติ เราต้องการความสงบ ต้องการความสงัด เราต้องเห็นใจกัน เราอย่าไปกวนกัน การกวนกันมันไปทำลายความสงบของฝ่ายตรงข้าม เหมือนเรา เรานี่ต้องการความสงบสงัดของเรา เราก็ไม่ต้องการให้ใครมากวนเรา เราก็ไม่กวนเขา นี่วัดปฏิบัติมันเป็นอย่างนั้น

ถ้าวัดปฏิบัติ เราเห็นเขาสงบเสงี่ยมแล้ว เรากลับสงสารไง คนนี้เป็นคนอมทุกข์ คนนี้เป็นคนที่... ไม่ใช่! ปัญญาของเขา มันหมุนธรรมจักรของเขา ปัญญาของเขาหมุนจะฆ่ากิเลสของเขา

หลวงปู่มั่น.. หลวงปู่พรหมไปพบหลวงปู่มั่นครั้งแรก “โอ้..ชื่อเสียงคับทั่วประเทศไทย ตัวเล็กๆ ผิวดำแดง ไม่ใช่ตัวใหญ่ขนาดไหนเลย” ไปมองกันที่รูปร่างสัณฐานของคน

นี่เหมือนกันเราไปเห็นหมู่คณะของเราประพฤติปฏิบัติ เคร่ง.. ขรึม.. เพื่อพยายามจะใช้ปัญญาของเขา เขาจะอมทุกข์... ไปสงสารเขาน่ะ ไปชวนเขาคุยน่ะ ไปชวนเขาน่ะ อย่าไปทำให้เคร่งครัดอย่างนั้นเลย มันเป็นการอมทุกข์...

นี่ไง ถ้าจิตใจของเราต่ำต้อย จิตใจของเราไม่ถึงหมู่คณะ เราจะไม่รู้จักหรอกว่า เขาทำอะไรของเขาอยู่

ถ้าเราเห็นเขาทำของเขาอยู่ เราควรจะส่งเสริมเขา การหลีกเร้น การสิ่งต่างๆ “ไปเหมือนนอแรด” ถึงอยู่ด้วยกันก็เหมือนอยู่คนเดียวนะ

การอยู่ด้วยกัน เราประพฤติปฏิบัติของเราเหมือนอยู่คนเดียว เราทำของเราเถอะ จนหมู่คณะเห็นดีเห็นงามด้วยน่ะ เขาจะส่งเสริมเรา เขาจะดูเรา แล้วเราประพฤติปฏิบัติเข้าไป ต้องมีสตินะ มีสติสัมปชัญญะ แล้วคอยดูใจเรา การประพฤติปฏิบัติ ถ้าเรามีข้อวัตรปฏิบัติเป็นพื้นฐาน พอมีข้อวัตรปฏิบัติเป็นพื้นฐาน มีข้อวัตร สัลเลขธรรมเป็นเครื่องอยู่ เป็นเครื่องอยู่แล้วมักน้อยสันโดษ สิ่งต่างๆ เราจะเสียสละออกไป

ความเสียสละออกไป จิตใจมันเริ่มประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แล้วเราตั้งใจจริง ตั้งสติให้ดี เวลาจิตมันสงบเข้าไปน่ะ ถ้ามันสงบนะ แล้วแต่จิต จิตที่มีคุณธรรม จิตที่เราสร้างเสริมบุญญาธิการมา มันไปรู้เห็นสิ่งต่างๆ เห็นไหม

กรรมฐาน ฐานที่ตั้งของการงาน เราต้องมีจุดยืน มีสติของเรา เห็นสิ่งใดเราจะรู้ไปตามความเป็นจริงของเรา จิตสงบมากน้อยแค่ไหน จะเป็นตามความจริงของจิตเราที่มันจะเป็นไป ในเมื่อจิตของเราจะเป็นไปขนาดไหน เราตั้งสติไว้ เราจะรู้จะเห็นของเราตลอดไป

มีครูบาอาจารย์เป็นที่ปรึกษาเป็นที่พึ่ง พ่อแม่ครูอาจารย์รักษาดูแลเราตั้งแต่ข้อวัตรปฏิบัติ ดูแลเราตั้งแต่ความเป็นอยู่ของชีวิต “ภิกษุผู้ขอ ผู้ดำรงชีวิตเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง ภิกษุผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร” นี่เลี้ยงชีวิตเราด้วยหัวใจ “สัมมาอาชีวะ” เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง คือเลี้ยงร่างกายให้ดำรงชีวิตไว้เพื่อจะประพฤติปฏิบัติ

ขณะที่ทำความสงบของใจเข้ามา เราเลี้ยงหัวใจเราด้วยธรรมะ ด้วยข้อวัตรปฏิบัติ ด้วยสิ่งที่ผูกไว้กับใจ ให้ใจมีจุดยืนของเรา ถ้าจิตมันสงบเข้ามา.. สงบเข้ามา.. ถ้ามันไม่รู้เห็นสิ่งใด สงบเข้ามาโดยธรรมชาติ สิ่งนี้ก็เป็นประโยชน์สำหรับเรา เราจะรู้จริงของเรา

นิพพานว่าสุดเอื้อม... เพราะเราไม่มีสิ่งใดสัมผัส ไม่มีสิ่งใดค้นคว้า ไม่มีสิ่งใดเพื่อพิสูจน์สัจจะความจริง แต่เวลาจิตเราสงบเข้ามา สิ่งที่พิสูจน์สัจจะความจริง มันมีของมัน มันรู้ของมัน มันต่างจากโลกไง ต่างจากโลก ถ้าจิตมันสงบเข้ามา สงบโดยธรรมชาติของมัน สงบโดยมีสติ สงบโดยมีคำบริกรรมของมัน มันสงบเข้ามา จะมีความสุข มีความรู้ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ สงบเข้ามาเป็นพื้นเป็นฐานจนกว่าเราจะออกวิปัสสนา จนเป็นกำลังของเรา จนเป็นประโยชน์กับเรา

แต่ถ้ามันสงบเข้ามา.. “จิต” จิตของแต่ละบุคคล วิญญาณปฏิสนธิจิต ที่เวียนตายเวียนเกิด มีกรรมของแต่ละบุคคลมาต่างๆ กัน สร้างสมบุญญาธิการมาต่างกัน สร้างสิ่งที่เป็นบุญเป็นบาปมาในหัวใจ บุพเพนิวาสานุสติญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย้อนไปอดีตชาติไม่มีต้นไม่มีปลาย

สรรพสิ่ง... จิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับจิตของเราก็คือจิต ในเมื่อจิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนไป บุพเพนิวาสานุสติญาณ ไม่มีต้นไม่มีปลาย.. จิตของเรามันก็ต้องเป็นอย่างนั้น จิตของเราก็ไม่มีต้นไม่มีปลายเหมือนกัน

การสร้างสมบุญญาธิการมา การสร้างสิ่งต่างๆ มา มันก็ฝังมากับหัวใจของเรา ในเมื่อมันฝังมากับหัวใจของเรา เวลาจิตมันสงบเข้าไป ถ้ามันรู้เห็นสิ่งใด เห็นนิมิตสิ่งใด อย่าตื่นเต้น อย่าตกใจ “ตื่นเต้นตกใจเหมือนหมาเห่าใบตองแห้งไง” หมามันเห่าใบตองแห้งนะ

หมา... ด้วยสติของหมา ด้วยเชาว์ปัญญาของหมา ด้วยหูด้วยตาของหมา หูตาของหมาจะเห็น จะได้กลิ่น ได้ดีกว่ามนุษย์ สิ่งที่ลมพัดมาใบไม้ไหวมันก็เห่า มันเห่ามันตกใจของมัน มันเห่าแล้วเห่าเล่า นี่หมาเห่าใบตองแห้ง!

จิตที่มันสงบเข้าไป ที่มันรู้สิ่งใดแล้ว มันไปติด มันไปหลง มันไปเห่า หมาเห่าใบตองแห้ง! จิตมันไปเห่า ไปตื่นเต้นตกใจกับเขาว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม สิ่งนั้นเป็นธรรม ไม่ใช่! หมาเห่าใบตองแห้ง ไร้สาระมาก!

จิตถ้ามันจะสงบเข้ามา ถ้ามันไปรู้เห็นสิ่งใด “รู้เห็นสิ่งใด” เราก็ดูเราก็เข้าใจของเรา มีสติสัมปชัญญะดูของเรา หมาเห่าใบตองแห้ง เพราะมันไม่รู้คุณรู้โทษ ไม่รู้จักสิ่งใดเลย เห็นแต่เสียงดังขึ้นมา พอลมพัดมา เสียงใบตองโดนลมพัดเสียงมันกระทบกัน เสียงดังขึ้นมา ตกอกตกใจ มันก็เห่า

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตกำหนดสมาธิเข้าไป ไปรู้สิ่งใดแล้วอวดรู้อวดเห็น ไร้สาระ !หมาเห่าใบตองแห้ง ! เพราะมันยังไม่เป็นสาระสิ่งใดๆ เลย ที่เกิดขึ้นมาจากการวิปัสสนาญาณ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ธรรมะนี้ลึกซึ้งมาก “จะสอนใครได้หนอ สอนใครได้หนอ” จนทอดธุระนะ แต่ในเมื่อตัวองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสร้างบุญญาธิการมาเพื่อจะเป็นศาสดา มันก็ต้องสอนเป็นธรรมดา แต่ในเมื่อบุญญาธิการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลึกซึ้ง ลึกซึ้งกว้างขวางขนาดนั้น “พุทธวิสัย” ยังบอกว่ามันลึกซึ้ง เห็นความลึกซึ้งต่างกันระหว่างโลกียปัญญา กับโลกุตตรปัญญา

แต่ในเมื่อเรากำหนดพุทโธเข้าไป เห็นไหมเราเป็นพระ เรามีข้อวัตรปฏิบัติเป็นพื้นฐาน เรามีการศึกษา เรามีครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำ แต่เวลาจิตเราสงบเข้าไป ไปรู้เห็นสิ่งใด ทำไมไปตื่นเต้นตกใจ ไปตะครุบเงาว่าสิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นธรรมล่ะ มันหมาเห่าใบตองแห้ง มันไม่ใช่สัจจะความจริงเลย มันต้องมีสัจจะความจริง ถ้ามีสัจจะความจริง มันจะมีสติปัญญา เราได้ยินเสียงใบตองมันพัดมันไหว.. เสียงใบตองมันพัดมันไหวมันมีสิ่งใด ถ้ามันมีงู มีสัตว์ ร้ายมีเสือที่มันมากระทบ แล้วสิ่งนั้นมันเป็นโทษกับเรา เราก็ควรเห่า

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันเห็นโทษของมันไง จิตถ้ามันเป็นสัมมาสมาธิ แล้วมันออกวิปัสสนา ออกวิปัสสนานะ เห็นสัจจะ เห็นกิเลสมันทำให้จิตนั้นเจริญแล้วเสื่อม จิตนี้ทำให้เราออกนอกลู่นอกทาง กิเลส! กิเลสทำให้เจริญแล้วเสื่อม กิเลสที่มันอยู่ในจิตที่ว่าจิตมันสงบไปแล้ว กิเลสเห็นไหม เป็นสมาธิเพราะเหตุใด เป็นสมาธิเพราะจิตมันสงบตัวลง กิเลสมันสงบตัวลง ถ้ากิเลสมันสงบตัวลง มันก็เป็นสมาธิ พอเป็นสมาธิขึ้นมา มันจะรู้เห็นสิ่งใด เราก็ไม่ตื่นเต้นตกใจเหมือนหมาเห่าใบตองแห้ง

แต่ถ้าจิตมันสงบแล้ว จิตมันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน มันรู้เห็นสิ่งใด เป็นเสือเป็นสาง เป็นสิ่งต่างๆ ที่มันจะลอบเข้ามาทำร้ายเรา มันเข้ามาเหยียบย่ำ เสียงใบไม้แห้ง เสียงกระทบถึงเรา เราก็รู้ตัว เราก็ออกแสวงหาออกแก้ไข นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันเป็นไปอย่างนั้น มันจะเป็นประโยชน์นะ ไม่ใช่หมาเห่าใบตองแห้ง ไปรู้สิ่งใด ไปกระทบสิ่งใด แล้วจะไปตื่นเต้น มันยังต้องมีการแก้ไข มีการต่อสู้กันไปเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไปนะ

นี่ไง ถ้าทำพุทโธๆๆ จิตมันสงบมา จิตนี้เป็นพื้นฐาน สัมมาสมาธิเป็นพื้นฐานของการวิปัสสนา ถ้าไม่มีสมาธิเป็นพื้นฐานของการวิปัสสนา มันจะเป็นโลกียปัญญาตลอดไป จะตรึกในธรรม จะรับรู้สิ่งใดมา มันเป็นเรื่องของโลกียปัญญา ถ้าไม่มีสมาธิ เพราะมรรค ๘ สัมมาทิฏฐิ ความดำริชอบ ความเพียรชอบ งานชอบ นี่สมาธิชอบ ต้องเป็นมรรค ๘ มันเป็นสัจธรรม มันสัจจะความจริง มันเป็นมรรคญาณ เป็นธรรมจักร เห็นไหม

เทวเม ภิกขเว ทางสองส่วนเธอไม่ควรเสพ ความสุข... สุขในกามสุขัลนิกานุโยค เป็นความพอใจ เป็นความคาดหมาย เป็นความคิด อัตตกิลมถานุโยค... กิเลสมันหลอก พอวิปัสสนาไป จิตมันสงบเข้าไปแล้ว มันตกออกไปอีกทางหนึ่งว่า สิ่งนั้นเป็นโทษ สิ่งนั้นเป็นโทษ เป็นโทษหมดเลย... กิเลสมันเอาสิ่งที่จิตเรามีพื้นฐาน แล้วก็มาทำลายเรา กิเลสมันร้ายกาจขนาดนี้ไง แต่ถ้าทางมัชฌิมาปฏิปทาจะทำอย่างไร นี่ไงมันถึงไม่เป็น “หมาเห่าใบตองแห้ง”

หมาได้ยินเสียงใด เห็นสิ่งใดที่เกิดขึ้นมา ต้องตั้งสติ แล้วคัดเลือกว่าสิ่งใดถูกต้อง สิ่งใดผิด แล้วดำเนินการขึ้นไปออกวิปัสสนา.. วิปัสสนาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม จนเป็นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามรรค สกิทาคาผล อนาคามรรค อนาคาผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล เป็นมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เห็นไหม

นี้ในการกระทำ ในทางเจโตวิมุตติ โดยการทำกรรมฐาน โดยการทำโดยสัมมาสมาธิ โดยการ ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ๘ รวมลงแล้วเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ในเมื่อ ศีล สมาธิ ปัญญา เราวิปัสสนาไป เราประพฤติปฏิบัติขึ้นไป ศีล สมาธิ ปัญญา จะมรรคญาณ รวมตัวกันเป็นมรรคสามัคคี แล้วทำลายกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป

นี้ในการประพฤติปฏิบัติ แบบหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เป็นกรรมฐานของเราที่วางไว้เป็นแนวทาง แล้วในการประพฤติปฏิบัติ จริตนิสัยของคนมันมีมหาศาลใช่ไหม ในวงการประพฤติปฏิบัติมันมีชื่อเสียงขึ้นมา มันเป็นที่ยอมรับของสังคม ในการประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา นี่แล้วโลกว่ากันไป เพราะอะไร เพราะเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาแล้ว

สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติ ถ้าเป็นหมาเห่าใบตองแห้ง ถ้าเป็นทางจิตสงบแล้ว ไปติดในสมาธิ ถ้าจิตไม่มีอำนาจวาสนา พอสิ่งใดเกิดขึ้นมาก็เข้าใจว่าไปติดในนิพพาน แล้วจิตเสื่อม พอจิตเสื่อมขึ้นมา จิตเสื่อมมันก็กลับมาเป็นปกติ เป็นสมาธิของปุถุชน เป็นความเห็นของเรา แล้วสิ่งที่เคยเป็นเคยไป เรามีสัญญา เราก็ใช้สิ่งนั้นไป นี่มันไปหาประโยชน์ทางโลก จนทำให้สังคมเขาไม่เชื่อถือ เขาไม่เคารพศรัทธา

ไม่ใช่แต่เขาต้องหาวิธีการเพื่อจะเป็นหลักเขามานะ ก็เลยต้องเรียนการประพฤติในการปฏิบัตินามรูป ในการปฏิบัติใช้ปัญญากัน.. แล้วบอกว่าเป็นวิปัสสนาสายตรง เป็นการใช้ปัญญาวิปัสสนาสายตรง ตรงเพราะอะไร ตรงเพราะไม่ติดในสมาธิ ไม่ไปเห็นลมพัด ใบไม้ไหว ไม่ไปเห่าใบตองแห้ง ใบตองแห้งมันกระทบกันเห็นไหม ต้องใช้ปัญญา ใช้ปัญญาจะได้ใคร่ครวญว่า ใบตองนั้นมันจะแห้งหรือไม่แห้ง ใบตองนั้นจะมีโทษหรือไม่โทษ ต้องใช้ปัญญาไปเลย...

ถ้าใช้ปัญญาไปเลย ก็เป็นความเห็นของการประพฤติปฏิบัติ มันเป็นความเห็นของเรา ไม่ใช่สัจจะความจริง

ในเมื่อเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใช่ไหม พระพุทธเจ้าบอกว่าใช้ปัญญา การชำระกิเลสต้องใช้ปัญญา ปัญญาเท่านั้น ในศาสนาพุทธจะล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยปัญญา นี้ปัญญา เราก็ใช้ปัญญาของเรา...

ปัญญาของเรา ปัญญาจากใคร.. ปัญญาจากตัวตนของเรา ปัญญาจากกิเลสของเรา ดูสิ ดูกระต่าย กระต่ายนี่มันถือตัวนะ เวลามันไปวิ่งแข่งกับเต่า มันว่ามันวิ่งเร็วกว่า มันก็ชะล่าใจ มันก็ไปนอนซะกลางทาง มันก็แพ้เขา มันไปนอนอยู่ที่ใต้ต้นตาล

เวลาต้นตาลตกมา ตกมาถูกใบตาลเสียงดังมาก พอเสียงใบตาลมันดังมาก กระต่ายมันตื่นตูม มันตกใจ มันวิ่งไปเลยนะ “ฟ้าถล่ม! ฟ้าถล่ม!” แล้วสัตว์ทั่วๆ ไป ได้ยินเสียงกระต่ายว่า “ฟ้าถล่มๆ” ก็ตกใจตามกัน วิ่งตามกันไปนะ ขาหักตกเหวตายกันเป็นแถวเลย จนไปเจอราชสีห์ “เป็นอะไรกันมา” กระต่ายก็ยังตื่นตูมมา

“ฟ้าถล่มๆ”

“ที่ไหนถล่ม หยุดเดี๋ยวนี้ กลับไปดูสิว่า มันถล่มจริงไหม”

นี่ย้อนกลับไป เห็นไหม กลับไปที่กระต่ายนอน มันมีอะไร เดินย้อนกลับไป นี่สัจธรรมบังคับให้เดินย้อนกลับไป ราชสีห์นี่คือสัจธรรม

พิจารณาสายตรง ใช้ปัญญาสายตรงๆ น่ะ พิจารณากันไป มันเป็นกระต่ายตื่นตูม! กระต่ายตื่นตูม เพราะกระต่ายถือตัวถือตนว่าตัวเองวิ่งเร็ว ตัวเองมีปัญญาไป สิ่งใดนึกคิดของเราแล้ววิปัสสนาไป สิ่งต่างๆ เกิดนามรูป เกิดวิปัสสนาสายตรง ในปัญญา ในสัจธรรม ในการใคร่ครวญออกไป เป็นพุทธพจน์ เป็นสิ่งต่างๆ …

กลับไปถึงที่โคนต้นตาล มีอะไร... มีลูกตาล ตกลงมาใส่ใบตาล

ลูกตาลเห็นไหม ตัวฐานของจิต ตัวสิ่งที่กระต่ายนอนอยู่ที่โคนต้นตาลนั้นน่ะ สิ่งที่กระต่ายนอนอยู่โคนต้นตาลมันก็คือสัจธรรม คือสัมมาสมาธิ ถ้าจิตกลับไปถึงที่โคนต้นตาลนั้น มันจะรู้เลยว่า สิ่งที่เห็นจริง ว่าสิ่งที่ตกลงมา ลูกตาลที่ตกมาใส่ใบตาลมันคืออะไร มันเป็นฟ้าถล่ม หรือมันเป็นความหลงผิดของเรา หรือเป็นความเข้าใจผิดของใจของเรา

นี่ไง วิปัสสนาสายตรงมันมาจากไหน วิปัสสนาสายตรงมันเกิดขึ้นมาจากความเห็นของเรา มันเป็นไปได้อย่างไร ความเห็นของเรามันเป็นอะไร ในการประพฤติปฏิบัติ คนเกิดมาเห็นไหม คนเกิดมามีอวิชชา อวิชชามันครอบงำจิตใจมา คนคิดขนาดไหน การประพฤติปฏิบัติทั้งวิปัสสนาสายตรง ทั้งสมถกรรมฐานในกรรมฐานของเรา ก็คือกิเลสทั้งหมด! เริ่มต้นการปฏิบัติเป็นกิเลสทั้งหมดเพราะอะไร เพราะอวิชชามันอยู่ที่ใจ

จิต.. ถ้าอวิชชามันอยู่ที่ใจ ดูสิส้ม เปลือกส้ม ในเมื่อเราจะหยิบส้ม ส้มหนึ่งผลวางอยู่ข้างหน้า เราจะหยิบส้ม หยิบในแง่มุมใด ก็ต้องหยิบโดนเปลือกส้ม จะไปโดนเนื้อส้มไม่ได้เลย เพราะเปลือกส้มมันหุ้มเนื้อส้มอยู่ อวิชชา มันครอบคลุมจิตใจของสัตว์โลกอยู่ จะประพฤติปฏิบัติอย่างไร มันก็คือเปลือกส้ม เปลือกส้มมันคือกิเลส มันคืออวิชชา จะวิปัสสนาสายตรงหรือไม่ตรง มันก็คืออวิชชาทั้งนั้น “อวิชชา คือ ความเห็นผิด” ทั้งๆ ที่ตรึกธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในการประพฤติปฏิบัติเรามันก็เป็นกิเลสทั้งหมด เป็นกิเลสเพราะอะไร เป็นกิเลสเพราะมันเป็นเปลือกส้มใช่ไหม ในเมื่อเปลือกส้มมันห่อหุ้มหัวใจเราอยู่ เราจะรอดพ้นจากเปลือกมันไปได้อย่างไร ครูบาอาจารย์กรรมฐานเราถึงต้องกำหนดพุทโธๆ เพื่อจะปลอกเปลือกส้ม

ขันธ์ ๕ ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เป็นความคิด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันห่อหุ้มตัวจิตไว้

เพราะฉะนั้น กำหนดพุทโธๆ ทำความสงบของใจ ถ้ามันเป็นสัมมาสมาธิ มันจะต้องทะลุขันธ์ ๕ นี้เข้าไป ขันธ์ ๕ นี้เห็นไหม ความฟุ้งซ่านคือสังขาร เวทนา มีเวทนามีความรู้สึกมีข้อมูลคือสัญญา นี่ไง สิ่งนี้มันทำให้เราลังเลสงสัย พุทโธๆ มันจะคิดแว็บออกข้างนอก มันจะแฉลบไปแฉลบมา มันจะอยู่ด้วยสัจจะความจริงตัวด้วยมันเองไม่ได้ เพราะมันมีกิเลส เราถึงพยายามพุทโธๆ ด้วยสติของเรา เราทำของเราขึ้นไป จนฝึกบ่อยครั้งเข้า

นี่ในการประพฤติปฏิบัติ ในภาคปฏิบัติ มันอยู่ที่ประสบการณ์ ถ้าประสบการณ์ของจิตมันได้ทำบ่อยครั้งเข้า จากสมมุติ จากกิเลส มันจะเบาตัวลงเป็นสัมมาสมาธิ ถ้ามันเป็นสัมมาสมาธิเห็นไหม แล้วใช้สมาธิ สัมมาสมาธิแล้วมีครูมีอาจารย์ หรือมีอำนาจวาสนา มันจะออกวิปัสสนา ถ้าทางของเจโตวิมุตติ เป็นแนวทางของพระโมคคัลลานะ พระอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา เป็นตัวแทนของเจโตวิมุตติกับปัญญาวิมุตติ

ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ ในแนวทางของในปัญญาวิมุตติอย่างพระสารีบุตร พระสารีบุตรใช้ปัญญา ใช้ปัญญาหมายถึงว่า ใช้ปัญญานำ นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ ในเมื่อปัญญาอบรมสมาธิ สิ่งที่ตรึกกันมันต้องเป็นปัญญาอบรมสมาธิ

ในการกระทำ ในการประพฤติปฏิบัติ จะแนวทางใดก็แล้วแต่ สิ่งที่ใช้ปัญญา มันใช้สิ่งต่างๆ ใคร่ครวญไป เหมือนกระต่ายตื่นตูม มันจะพุ่งออกไปข้างนอกโดยธรรมชาติของมัน แต่ถ้าสัจธรรมบังคับให้กลับไปที่โคนต้นตาลนั้น ในการใช้ความคิด ในการใช้ปัญญา คือปัญญาอบรมสมาธิ ต้องกลับไปที่โคนต้นตาลนั้น ถ้ากลับไปที่โคนต้นตาลนั้น มันก็จะไปเป็นฟ้าถล่ม มันจะเป็นต้นตาลตกมาโดนใบตาลนั้น

ในเมื่อเราใช้ปัญญาใคร่ครวญขนาดไหน ในการประพฤติปฏิบัติทุกแนวทางทุกวิธีการ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้ว่า กรรมฐาน ๔๐ ห้อง วิธีการทำความสงบของใจ วิธีการจะกำหนดด้วยคำบริกรรม จะกำหนดด้วยปัญญา จะกำหนดด้วยสิ่งใดก็แล้วแต่ ผลของมันคือสมถะ! ผลของมันคือสมาธิไง แต่คนไม่เข้าใจว่าเป็นสมาธิ เพราะไปปฏิเสธว่า “สมาธิทำเนิ่นช้า สมาธิไม่มีประโยชน์ หลวงพ่อหลวงตาสอนสมาธิไร้สาระ”

แต่ถ้าหลวงพ่อหลวงตาสอนสมาธิไร้สาระ... องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน ศีล สมาธิ ปัญญา ทำไม ในเมื่อสมาธิ... ศีล สมาธิ ปัญญา กระบวนการของการภาวนา กระบวนการของมรรคญาณ กระบวนการของธรรมจักร มีสัมมาสมาธิ เราไปตัดกระบวนการอันหนึ่งทิ้ง ตัดตอนมันทิ้ง แล้วกระบวนการนั้น มันจะดำเนินการไปได้อย่างไร กระบวนการนั้นมันดำเดินการไม่ได้ มันก็เลยกลายเป็นฟ้าถล่ม

ฟ้าถล่มคือการส่งออก ฟ้าถล่มคือความเข้าใจผิด เข้าใจว่ามันเป็นธรรมะ ความฟ้าถล่ม.. ผลของการปฏิบัติมันถึงไม่มี

แต่ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติแบบพระสารีบุตร การใคร่ครวญการประพฤติปฏิบัติ โดยเจโตวิมุตติหรือปัญญาวิมุตติ ผลของการประพฤติปฏิบัติเริ่มต้นต้องเป็นศีล คือความปกติของใจ มีข้อวัตรปฏิบัติเป็นเครื่องอยู่ พระเรานี้มีข้อวัตรปฏิบัติเป็นเครื่องอยู่ ไม่ให้เร่ร่อน มันจะมีศีล “ศีลวัตร” มีศีลขึ้นมาแล้วมันทำเป็นปกติของใจโดยธรรมชาติของมัน ถ้ามีสติแล้วกำหนดพุทโธๆ เข้าไป มันจะเกิด ศีล สมาธิ

ถ้าเกิดสมาธิ มันจะเปลี่ยนจากโลกียปัญญา เป็นโลกุตตรปัญญา ถ้ามันเปลี่ยนจากโลกียปัญญาเป็นโลกุตตรปัญญา มันถึงจะเป็นกระบวนการสัจธรรม

แต่ถ้าปัญญาอบรมสมาธิก็เหมือนกัน ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ปัญญาใคร่ครวญไป ไม่ใช้ไปเพ่งดู จ้องดู การเพ่งดู จ้องดู เป็นกสิณ แล้วถ้าไม่มีสติมันก็จะตื่นตูมไป ว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ ว่างนี้เป็นธรรม ว่างขนาดไหนนะ อากาศมันก็ว่าง ในห้องว่างมันก็ว่าง ในตุ่มในไหมันก็ว่าง สิ่งที่ว่างมันว่างของใคร ว่างเพื่ออะไร ว่างทำไม!

ผลของการกระทำของทุกๆ วิธีการ การตอบสนองคือสมาธิ แต่ไม่เข้าใจว่าเป็นสมาธิ ไม่เข้าใจเพราะไม่มีมีสติ เพราะมันเป็นการเข้าใจว่าเป็นฟ้าถล่ม

ถ้าเป็นการฟ้าถล่มเพราะเข้าใจผิด ความเข้าใจผิดเพราะไม่มีสมาธิ ไม่มีสมาธิ ไม่มีสติ ถึงปฏิเสธว่าสมาธิไม่จำเป็น ทั้งๆ ที่มันเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะมันไม่ใช่ฟ้าถล่ม มันเป็นลูกตาลตกถูกโดนใบตาล ถ้าลูกตาลตกลงโดนใบตาล มันมีปัญญาที่ถูกต้อง มันเป็นปัญญาที่เป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันจะใคร่ครวญของมัน ใคร่ครวญสิ่งที่ตก ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ มีความรื่นเริงอาจหาญ ในการใช้ปัญญาแล้วมีสติสัมปชัญญะ ใคร่ครวญดูแลมันเข้าไป เหมือนกับเรามีความตั้งใจจงใจ เดินกลับเข้าไปที่โคนต้นตาล

ในเมื่อเราเข้าใจว่าเป็นฟ้าถล่ม ด้วยความเข้าใจผิดมันจะวิ่งหนีออกไป วิ่งออกไปแล้วก็ตะโกนว่าฟ้าถล่มๆ โดยปากของเขา โดยความคิดของเขาว่า “สิ่งนั้นเป็นธรรม.. สิ่งนั้นเป็นธรรม..” ตะโกนออกไปแล้วคนที่ไม่เข้าใจก็วิ่งตามกันไป หกล้มหกลุก ตกเหวตกบ่อ ตายเป็นเบือ

แต่ถ้ามันมีสัจจะความจริง สัจจะความจริง คือสัจธรรม ถ้าสัจธรรมเป็นความจริงขึ้นมา สัจธรรมถามขึ้นมาว่า แล้วฟ้าถล่มมันคืออะไร สิ่งนั้นมันอยู่ที่ไหน ตอบไม่ได้.. จนสัจธรรมถึงต้องบังคับให้กลับไปอยู่ที่จุดเดิมของโคนต้นตาล คือฐานของจิต

ถ้าเกิดกลับเข้าไปถึงฐานของจิต มันจะย้อนกลับมาที่ฐานของจิตเห็นไหม ถ้าเป็นฐานของจิต ด้วยปัญญาอบรมสมาธิ คำว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” จะเห็นความคิด ความคิดคือเปลือกส้ม เปลือกส้มน่ะขมนะ แต่เปลือกส้มทำยาได้ เปลือกส้มนี้เขามาใช้ประโยชน์ได้ ถ้าคนใช้ประโยชน์มันเป็น โลกเขาใช้

ถ้าไม่มีเปลือกส้ม.. เปลือกส้มนั้นจะมาเป็นอาหารของเรา จะถนอมอาหารจนส่งต่อให้กับโลกไม่ได้ ในเมื่อโลกเขาต้องมีเปลือกส้ม ต้องสื่อสารกัน

ในเมื่อมันเกิดเปลือกส้ม มันเกิดขันธ์ ๕ มันเกิดโดยสัญชาตญาณ แต่ถ้าสัญชาตญาณมันเป็นสัจธรรม มันเป็นความจริง เพราะ! เพราะพระอรหันต์ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ ๕ เป็นภาระเป็นหน้าที่ มันเป็นเปลือกส้มเฉยๆ ไม่ให้โทษกับใคร แต่ถ้ามันเป็นปุถุชนเรา “ขันธมาร” เปลือกมันเป็นโทษ เปลือกมันมีสารพิษ เปลือกมันกินเข้าไปน่ะ มันมีพิษ ตายหมดเลย

ความคิดเรา ความหลงผิดเราของเรา ความเห็นผิดเรา มันหลอกเรา หลอกทั้งชีวิต หลอกทุกอย่างเลย เราจะตายไปกับมัน เราจะเป็นกระต่าย “ฟ้าถล่มๆ” ไปอยู่กับมันเสียเวลาเปล่า ถ้ามาตรึกในธรรม แต่ถ้าตรึกในโลกโดยสามัญสำนึกที่โลกเขาใช้กัน ดูสิ ฉลาดแกมโกง ไปโกงเขาทำลายเขาน่ะ อะไร.. ก็ขันธ์ ๕ ทั้งนั้นน่ะ ความคิดทั้งนั้นน่ะ นี่มันเป็นเปลือกส้ม มันมีสารพิษ!

แต่ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ความคิดเรานั้นเป็นสารพิษ มันเป็นพิษเพราะอะไร พิษเพราะมีอวิชชา พิษเพราะมีความเข้าใจผิด เราก็แยกแยะสิ คิดทำไม สิ่งที่คิด คิดเพราะเหตุใด ดูสิ “ความคิดเป็นวัตถุอันหนึ่ง” ความคิดอารมณ์ความรู้สึก มันจับต้องได้จนเป็นวัตถุอันหนึ่ง จนเราปล่อยวางมัน ปล่อยวางความคิด

ความคิดคืออะไร ความคิดคือขันธ์ ๕ ถ้าปล่อยวางแล้วไปอยู่ที่ไหน ปล่อยวางความคิดทั้งหมด มันก็เปลือกส้มไง พอมันปอกเปลือกส้ม มันก็เข้าถึงเนื้อส้มไง มันก็ว่าง เดี๋ยวเดียว ว่างชั่วคราว เพราะอะไร เพราะจิตนี้เร็วมาก “สันตติ” เกิดดับๆๆๆ เร็วๆ สุดๆ เลย เราถึงย้อนกลับกันไม่ได้

อำนาจวาสนา คนมีมากมีน้อย ถ้าอำนาจวาสนาของคนผู้มีมาก สติมันก็ตั้งได้ง่าย การกระทำก็เกิดขึ้นได้ง่าย แต่ถ้าวาสนาเราน้อย การกระทำของเราก็ต้องล้มลุกคลุกคลานเป็นธรรมดา สิ่งนี้คือต้นทุน ต้นทุนคือการกระทำของเรามา ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนไป บุพเพนิวาสานุสติญาณ นั่นคือต้นทุนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เตรียมองค์ท่านจะมาเป็นพระพุทธเจ้า เพราะท่านมีต้นทุนหนุนมา จะไม่มีใครสามารถไปทำได้อย่างอื่นเลย

แต่เวลาพระสุทโธทนะให้พราหมณ์มาพยากรณ์ เห็นไหม พราหมณ์พยากรณ์ว่า “ถ้าไม่ได้บวช จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แต่ถ้าบวชจะเป็นศาสดา”

นี่ไงยัง “ถ้า” อยู่ ถ้าเพราะอะไร ถ้าเพราะการกระทำที่ออกมาบวชแล้วค้นคว้าอยู่ ๖ ปีนั่นต่างหาก ถึงเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้นทุนคือต้นทุน ต้นทุนแล้วมันต้องมีการกระทำต่อไป แต่ถ้าต้นทุนดี มันจะทำให้เราอยู่ในกรอบ อยู่ในลู่ในทางที่จะทำให้เราไม่ออกไปติดโลกมากเกินไปนัก แต่ถ้าต้นทุนเราต่ำ โลกจะดึงเราไป กว่าเราจะถอนตัวออกมา กว่าเราจะดึงตัวเราเข้ามาเพื่อประพฤติปฏิบัติ มันก็ต้องลงทุนลงแรง เราเหนื่อยตั้งแต่เราจะเตรียมตัวเลยล่ะ นี่ต้นทุนสูง ต้นทุนต่ำ มันอยู่ที่นั่น

ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ มันจะย้อนกลับมา ในการประพฤติปฏิบัติ ทุกกระบวนการ ทุกการกระทำ ผลของมันคือสมถะ! แต่เพราะคนไปปฏิเสธกระบวนการของมัน เลยมีความหลงผิดว่าสิ่งที่สงบ ว่างๆๆๆ นั้น เป็นมรรค เป็นผล มันเลยเป็นมิจฉาสมาธิ เป็นมิจฉาเพราะไม่มีสติ เป็นมิจฉาเพราะตัวเองไม่เข้าใจ เป็นมิจฉาเพราะความหลง

แต่ถ้ามีครูมีอาจารย์ที่เคยผ่านกระบวนการการกระทำมา มันจะรู้เลยว่า กระบวนการอย่างนี้มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เป็นปัญญาปอกเปลือกส้ม ปอกเปลือกส้มให้เข้าถึงส้ม พอเข้าถึงส้ม เข้าถึงสัมมาสมาธิ ถ้าเข้าถึงสัมมาสมาธิ นี่ฐานของการงาน

จะเป็นพุทโธ จะกำหนดพุทโธ เป็นกรรมฐาน เป็นพระป่า หรือ จะกำหนดด้วยปัญญา หรือสิ่งใดก็แล้วแต่ ถ้าทำผิดก็คือผิด เป็นหมาเห่าใบตองแห้ง! เป็นกระต่ายตื่นตูม!

แต่ถ้าทำถูกมันก็คือถูก สิ่งที่การกระทำ เริ่มต้นมันจะผิดมาก่อนเพราะ! เพราะทุกคนเกิดมามีอวิชชา

คำว่าอวิชชาคือมันไม่รู้ถึงสัจจะความจริง ทั้งๆ ที่ท่องบ่นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนปากเปียกปากแฉะอยู่นั่นล่ะ มันเหมือนนกแก้วนกขุนทองไง “แก้วจ๋า.. แก้วจ๋า..” ไม่รู้หรอกว่า “แก้วจ๋า” มันคืออะไร แต่ก็จ๋าไปกับเขานั่นแหละ

มันจะบ่นปากเปียกปากแฉะขนาดไหน มันก็คืออวิชชา ! มันจะบ่นปากเปียกปากแฉะขนาดไหน มันก็ไม่เป็นสัจจะความจริง !

แต่ถ้าเรามีการกระทำที่ถูกต้อง กระบวนการของมันคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าไม่มีศีล การกระทำของเรา เกิดสมาธิขึ้นมาแล้ว เพราะมันออกเป็นอกุศลได้ อกุศลเห็นไหม ดูสิ ดูอย่างการทำคุณไสย สิ่งที่เขาต้องใช้สมาธิ นักวิทยาศาสตร์ยังต้องใช้สมาธิเลย ทุกอย่างใช้สมาธิหมดน่ะ ถ้าไม่มีศีล มันออกไปเป็นทางโลก แต่ถ้ามีศีลขึ้นมา มันจะเข้ามา

ศีล สมาธิ เกิดสมาธิสิ่งที่ดีขึ้นมา สิ่งที่ดีคือมีสติ ถ้าขาดสติ มันไม่เป็นสมาธิ มันเป็นภวังค์ มันเป็นสัญญาอารมณ์ มันไม่เป็นสัจจะความจริง

แต่ถ้ามันเป็นความจริงมันมีสตินะ สติมันจะรับรู้ “รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” รสของสมาธิธรรม ถ้าสมาธิไม่มีรสชาติไม่มีสิ่งที่เป็นความสุข ทำไมพระเราติดในสมาธิ ทำไมพระเราเข้าใจว่าสมาธิคือนิพพาน นิพพานมันมีรส มันมีความรู้สึก ทีนี้พอมันมีรส ถ้าคนไม่มีพื้นฐาน พอเข้าถึงสมาธิก็คิดว่านี่คือนิพพาน ถ้าเป็นสมาธิจริงนะ นี่คือหลง หลงในสมาธิ ติดในสมาธิ

แต่ถ้าพูดถึงมิจฉาไม่ใช่หลงในสมาธิ มันเข้าไม่ถึงสมาธิ มันเข้าถึงภวังค์ เข้าถึงสัญญาอารมณ์ ที่กระต่ายตื่นตูมนั่นน่ะ ฟ้าถล่มๆ นั่นน่ะ นั่นคือสัญญาอารมณ์นะ อารมณ์ความรู้สึกของเรา อารมณ์ขี้ทุกข์ขี้ยาก อารมณ์ที่เราขุ่นมัว แต่เราพิจารณาของมันให้อารมณ์นั้นผ่องใส มันก็อยู่ในอารมณ์นั้นเห็นไหม นี่คือสัญญาอารมณ์ คือเปลือกส้มไง

มันไปดูการเกิดดับที่ความคิด ดูเกิดดับที่ขันธ์ ๕ มันถึงเข้าไม่ถึงตัวเนื้อส้ม เพราะความหลงผิด

เหมือนกับเข็มทิศ มันชี้ไปทางที่ผิด เราต้องทำผิดตลอดไป ถ้าเข็มทิศที่มันชี้ถูกทาง เราเดินตามเข็มทิศนั้นเราจะเข้าไปถึงทางนั้น นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ เราตั้งเป้าหมายของเรา เราเข้าให้ถึงสัจจะความจริง เราต้องเข้าถึงโคนต้นตาลนั้น นั่นไง นี่คือสัมมาสมาธิไง

ถ้าสัมมาสมาธิ มีความขยันหมั่นเพียร มีสติสัมปชัญญะ เพราะกำหนดพุทโธๆ หรือกำหนดเป็นกรรมฐาน มันมีศรัทธาจริต ศรัทธาความเชื่อมัน เราตั้งสติให้ดี มันจะแว็บขนาดไหน เราจะตั้งสติของเรา ตั้งสติพุทโธๆ พุทโธๆๆๆ มีจังหวะ มีอุบาย มีวิธีการ

เพราะการกระทำ กิเลสมันฉลาดมากนะ กิเลสมันอยู่กับเราแล้วมันฉลาด เราทำสิ่งใดมันจะรู้ทันกับเรา เราต้องมีอุบาย มีวิธีการ มีการกระทำของเรา นี่ไง “วัดไม่เหมือนบ้าน บ้านไม่เหมือนวัด” หมั่นเพียร แล้วดูเหตุดูผล อย่าทำแต่สักแต่ว่า ทำซ้ำทำซาก กิเลสมันหัวเราะเยาะนะ “หมูตัวนี้ทำไมมันโง่ขนาดนี้ เดินมาชนมีดทุกทีเลย”

นี่ก็เหมือนกันพุทโธๆ ทำอยู่อย่างนั้นน่ะ มันไม่มีอุบายวิธีการหลบหลีก หลบหลีกขึ้นมาให้เป็นอุบาย ให้เข้าถึงเนื้อส้มให้ได้ นี่คือสติสัมปชัญญะ

ในการใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็เหมือนกัน เราจะต้องใช้ปัญญาใคร่ครวญของเราโดยสติ ให้เห็นโทษของมัน เห็นโทษว่าความคิดนี้มันให้โทษ ถ้าความคิดนี้ให้โทษเห็นไหม โทษเพราะอะไร เพราะมันเป็นสารพิษ เพราะมันมีกิเลส มีอวิชชาครอบงำ มันออกมาจากสารพิษ คือออกมาจากต้นขั้วคืออวิชชา เราก็ใช้ปัญญาใคร่ครวญเข้าไป พอใคร่ครวญเข้าไปจนมันเห็นโทษ พอเห็นโทษแล้วมันก็ปล่อย เห็นโทษของสารพิษ มันปล่อยเข้าไป ปล่อยสิ่งนั้น ปล่อยสิ่งที่ปลายเหตุ เพราะจิตมันเป็นอวิชชา มันผ่านขันธ์ผ่านอะไรต่างๆ มันถึงปลายเหตุใช่ไหม มันปล่อยปลายเหตุ มันปล่อยบ่อยครั้ง มันก็ได้สมาธิ ปล่อยปลายเหตุ มันเห็นโทษของมัน ตั้งมั่นของมันขึ้นมา แล้วพอตั้งขึ้นมา นี่จิตเห็นจิต

ถ้ามันปล่อยปลายเหตุ ปลายเหตุคือสิ่งที่เป็นอายตนะ สิ่งที่เห็นเป็นการสื่อสารมวลชน เห็นรูป เวทนา เห็นรูป รส กลิ่น เสียงจากภายนอก มันเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร แล้วถ้ามันมีบ่วงของมาร อยู่เฉยๆ มันก็คิดได้ จิตอยู่เฉยๆ มันก็คิดนะ ใจเดี๋ยวมันก็คิด คิดว่าอะไร คิดว่าข้อมูลเดิมไง คิดว่าสิ่งที่ข้อมูลของเรา ดูสิ สิ่งที่ฝังหัวใจอยู่ สิ่งนี้มันคายพิษออกมา แล้วก็คิดทุกที

นี่ไงเราเห็นโทษจากข้างนอก เห็นโทษจากข้างใน เห็นโทษจากสรรพสิ่งต่างๆ เห็นโทษของมัน สติมันทันบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า สิ่งนี้มันทันมันก็ปล่อย.. ปล่อย.. ปล่อยตามสัจจะความจริง คำว่าปล่อย คือมันเห็นโทษแล้วมันปล่อยวาง

“จิตเสวยอารมณ์” จิตกับอารมณ์ มันเหมือนกับกิเลสเป็นเรา เราเป็นกิเลส เราทำสิ่งใดไม่ได้เลย แต่ถ้าเราใช้สติสัมปชัญญะนะ เวลาเราโกรธ เวลาเราหลง เวลาเรามีความเห็นผิด นี่คือกิเลส ถ้ามีปัญญาขึ้นมา มันเห็นโทษของการเห็นความหลง เห็นความเห็นผิด เพราะเห็นความเห็นผิดทีไรก็สะเทือนหัวใจทุกที เวลาหลงไปทีไร ก็เสียใจทุกที นี่คือเราเห็นโทษอย่างนี้ไง

ถ้าเห็นโทษบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า นี่คือสติมันมีมากขึ้น จิตมันก็มีหลักการมากขึ้น พอจิตมันมีหลักการมากขึ้น มันก็ปล่อยวางเข้ามา ปล่อยวางเข้ามา มันเป็นสัมมาสมาธิ

สมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิ กับปัญญาในการกำหนดพุทโธ จะเป็นคำบริกรรม ความรู้สึกมันต่างกัน ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันปล่อยวางความคิดทั้งหมด แล้วมันทรงตัวของมันอยู่ ถ้ามันทรงตัวของมันอยู่คือตัวจิต คือตัวส้ม แล้วมันออกไปรับรู้เปลือกส้มอย่างไร

ออกไปรับรู้... เพราะส้มกับเปลือกส้มมันอยู่ที่เดียวกันใช่ไหม ตัวส้มนี้มันเป็นวัตถุที่มันตายตัว แต่จิตมันเป็นนามธรรม เปลือกส้มคือความคิด แล้วเราพิจารณาจนเห็นโทษของมัน มันปล่อยเปลือกส้มเข้ามาเป็นเนื้อส้ม แล้วเนื้อส้มกับเปลือกส้มมันอยู่ด้วยกัน คือความคิดกับเรา ความคิดกับจิตมันอยู่ด้วยกัน “ความคิดไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ความคิด” แต่ทำไมมันคิดอยู่ตลอดเวลา

แต่พอจิตมันสงบเข้ามาแล้ว มันเป็นเนื้อส้มแล้ว ส้มกับเปลือกส้มมันอยู่ด้วยกัน มันสัมผัสกันใช่ไหม จิตเห็นจิตไง

จิตเห็นอาการของจิต ตัวจิตเห็นไหม ตัวส้มกับตัวเปลือกส้มมันไม่ใช่อันเดียวกัน พอไม่ใช่อันเดียวกัน มันจับสิ่งนี้ได้ มันรับรู้มันจับสิ่งนี้ได้ มันก็หาเหตุหาผล ในการหาเหตุหาผลคือการวิปัสสนา วิปัสสนาว่าความคิด ที่ว่าความคิด มันคิดแล้วมันทุกข์ทุกที ทำไมมันให้ความทุกข์กับเราขนาดนั้น ในเมื่อความคิดมันมีความทุกข์กับเราขนาดนั้น ในความคิด มันต้องประกอบไปด้วยอะไร ความคิดเกิดขึ้นมาเพราะเหตุใด

ถ้าเวลาเรานั่งอยู่ เรามีความสบายใจ เราเห็นภาพต่างๆ เรายังเห็นภาพแต่จิตไม่รับรู้ ภาพนั้นเรายังไม่เข้าใจว่าคือภาพอะไร แต่ถ้าเราเห็นแล้วจิตมันรับรู้ ความคิดที่เกิดขึ้น ถ้าไม่มีตัวจิตออกรับรู้ มันจะไม่มีอารมณ์รู้สึกไปทับถมจิตหรอก แต่เพราะต้องมีจิตออกรับรู้เห็นไหม “จิตเสวยอารมณ์ไง” จิตกับความคิดที่มันเสวยกัน มันถึงเป็นความคิดออกมา ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ จนมันเห็นโทษ มันปล่อยเข้าไปเป็นตัวจิต ถ้ามันปล่อยเข้าไปเป็นตัวจิต

เวลาจิตมันเห็นอาการของจิต คือมันจับจิตได้ พอจับจิตได้ อารมณ์ความคิดนี่ วิปัสสนามันเกิด อารมณ์ความคิดมันจับขึ้นมาเป็นวัตถุอันหนึ่ง แล้วแยกแยะออกว่า ความคิดมันประกอบไปด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ส่วนประกอบของอารมณ์ความรู้สึก นี่ธรรมารมณ์ ธรรมะ-อารมณ์ที่เป็นธรรมะ ธรรมารมณ์ไง

กาย เวทนา จิต ธรรม เราพิจารณาธรรม พิจารณาธรรมกันที่ไหน “ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ” ธรรมชาติมันให้โทษกับใคร.. ธรรมชาติมันให้โทษกับวัตถุนะ

แต่ธรรมารมณ์ ธรรมะ-อารมณ์ มันให้โทษกับความสุข ความทุกข์ ที่มันเหยียบย่ำ บีบบี้หัวใจอยู่นี่ แล้วเราใคร่ครวญ มันแยกออก อารมณ์ความคิดที่มันให้โทษ มันมีส่วนประกอบของมัน มันถึงแยกออกจากกัน “เกลียวเชือก ๕ เกลียวฟั่นเป็นเส้นเชือก” เราพยายามจะดึงขนาดไหน ถ้าเราไม่มีกำลังพอ.. ไม่ขาดหรอก มือเราจะขาดต่างหาก

แต่ถ้าเกลียวเชือกนี่เราคลายมันออก จากเกลียวเชือกเส้นหนึ่งเป็น ๕ เส้น ๕ เส้นคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วเราพยายามทำความสงบของใจ ให้มีความมั่นคง มีความแข็งแรง เราดึงขาดได้ทีละเส้น เส้นนั้นก็ขาด เส้นนี้ก็ขาด ดึ๊งออก ดึ๊งออก

วิปัสสนาก็เหมือนกัน เราจะไปตามความคิดอย่างที่ว่า ปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นกำปั้นทุบดิน มันเห็นความคิดเป็นโทษโดยสมาธิใช่ไหม โดยสติยับยั้งใช่ไหม โดยเห็นโทษของมัน มันก็ปล่อยวางโดยไม่มีเหตุมีผลที่มันจะคายสังโยชน์ได้ แต่ขณะที่จิตมันสงบบ่อยครั้งเข้า จนเรามีสติสัมปชัญญะ เราเห็นจิต กับอาการของจิต แล้วเราจับมัน ตัวจิตต้องเป็นตัวจิตนะ ตัวจิตคือโคนต้นตาลนั้น ต้นตาลนั้น เห็นลูกตาล เห็นใบตาล เห็นการกระทบ เห็นการตก เห็นเสียงที่เกิดขึ้น

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันจับอารมณ์ความรู้สึกได้ จิตเสวยอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ในความคิด มันต้องแยกแยะ ถ้าไม่แยกแยะ เราจะไม่ถึงรู้ส่วนประกอบของมันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันประกอบที่ไหน แยกอย่างไร ถ้าปัญญาสอดแทรกเข้าไป มันจะแยกออกจากกัน อารมณ์ความรู้สึกไม่มีเลย เห็นไหม เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิน่ะ เป็นกำปั้นทุบดินที่มันปล่อยมาเฉยๆ ปล่อยมา...

ถ้ามีครูอาจารย์คอยชี้นำ คอยบอก มันก็จะสงบให้เป็นเอกัคคตารมณ์ ให้จิตนี้ตั้งมั่น ให้จิตนี้มีกำลังแล้วค่อยออกวิปัสสนา แต่เวลาจิตเราวิปัสสนา เพราะจิตเราสงบแล้วเราเห็นอาการของจิต แล้วเราใคร่ครวญของมัน อาการของจิตจนมันแยกออกไป

อารมณ์ความรู้สึกนะ “ธรรมารส” รสในสมาธิธรรม รสในปัญญาธรรม

รสในปัญญาธรรม คือขณะที่ปัญญามันแยกความคิด มันจับความคิดตั้งเป็นวัตถุแล้วมันแยกส่วนประกอบของมัน แล้วมันปล่อยออกไป ปล่อยออกไป วิปัสสนาเห็นไหม ที่ว่าฟ้าถล่มๆ คือไม่มีเหตุมีผล ถ้ามันมีเหตุมีผล นามรูปเกิดอย่างไร ในนามในรูปมันมีอะไรด้วย ในนามมันมีสิ่งใดเป็นส่วนประกอบนั้น ในนามในความคิดมันมีส่วนประกอบอะไร มันมีอวิชชาความหลงที่ไหน แล้วส่วนประกอบที่เป็นความคิด สันตติที่มันเกิดดับ เกิดดับ ที่มันพุ่งออกไป เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ออกไปกระทบกระเทือนกัน ออกไปหาโทษหาภัย

นี่ถ้าฉลาดแกมโกง ไปโกงความรู้สึก ไปโกงอะไรต่างๆ เขามา มันไปจากไหนมันไปจากอวิชชาที่นี่ แล้วตัวจิต มันวิปัสสนามัน มันใคร่ครวญของมัน มันแยกแยะของมัน พอแยกแยะของมัน มันก็ปล่อย นี่คือวิปัสสนา

ปัญญาวิมุตติ วิปัสสนาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปน่ะ ขันธ์ ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด แล้วอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชชาเป็นปัจจยาการอันหนึ่งที่ไม่ใช่ขันธ์ แต่มันก็เป็นความคิด มันจะไล่เข้าไปเป็นชั้นๆ เข้าไป นี่มรรค ๔ ผล ๔

ถ้ามรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ แล้วมันทำของมันเข้าไปได้อย่างไร มันทำเข้าไป เป็นชั้นเป็นตอน ขนาดที่ว่าความคิดเริ่มต้น ความคิดของเปลือกส้ม เราก็ว่าละเอียดลึกซึ้งขนาดนั้นแล้ว แล้วเวลามันลึกซึ้งเข้าไป สังโยชน์มันละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ นะ

พระโสดาบันละสังโยชน์ได้ ๓ ตัว พระสกิทาคามีก็ละสังโยชน์ได้ ๓ ตัว แต่กามราคะ ปฏิฆะอ่อนลง พระอนาคามีละสังโยชน์ได้ ๕ ตัว แล้วเวลาพระอรหันต์.. ขันธ์นอก ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์คืออะไร ขันธ์คือสิ่งที่ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่มันแยกแยะ ที่มันปล่อยว่าง ที่มันชำระความสะอาดเข้ามาเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา แล้วไปถึงขันธ์อย่างละเอียดแล้ว มันเป็นอะไร จิตมันปล่อยเข้ามา ตัวจิตมันอยู่ที่ไหน ตัวจิตน่ะ ตัวจิตมันอยู่ที่ไหน ตัวจิตที่มันเป็นปัจจยาการน่ะ

สิ่งที่มันละเอียดเข้ามา ที่มันซับซ้อนเข้ามา มันถึงมีสติปัญญา มหาสติ มหาปัญญา ปัญญาที่เป็นอัตโนมัติ ที่มันจะใคร่ครวญเข้าไป นี่ไง มันมีขั้นตอนของมัน ถ้าเราไปปฏิเสธ ถ้ามันมีขั้นตอนของมัน แล้วมันทำของมันเป็นขั้นเป็นตอน มรรค ๔ ผล ๔ แล้วโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติมรรคส่วนประกอบมันเป็นอย่างไร สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค ถ้าส่วนของอรหัตตมรรคนี่มันมีส่วนประกอบของอะไร มันมีอะไรขึ้นมาเป็นส่วนประกอบ แล้วเกิดกระบวนการของมัน มันเป็นอย่างนั้น

ถ้าเราไปปฏิเสธ ศีล สมาธิ ปัญญา ในเมื่อเราไปปฏิเสธ สมาธิ ส่วนประกอบของมรรคนั้น มันเป็นไปไม่ได้ ส่วนประกอบของมรรคน่ะ แล้วมรรคะมันรวมตัวเป็นมรรคสามัคคี มรรคสามัคคีที่สมุจเฉทปหาน ที่จะทำลายกิเลส มันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มรรคญาณจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ถ้ามรรคญาณ จะไปปฏิเสธธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไหม บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ ถ้ามันปฏิเสธมรรค ๘ ปฏิเสธธรรมจักร ปฏิเสธสิ่งต่างๆ ปฏิเสธสมาธิ แล้วมรรคมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อส่วนประกอบของมรรค มันขาดตอนไป เพราะเราไปปฏิเสธกระบวนการของสมาธิ

ในเมื่อเราไปปฏิเสธกระบวนการของสมาธิ มันจะเป็นมรรคญาณขึ้นมาไม่ได้

แต่ถ้าเราเป็นปัญญาอบรมสมาธิ กระบวนการสมาธิที่เป็นปัญญาอบรมสมาธิ กระบวนการของมันทำไมมันไม่ลึกซึ้งแบบเจโตวิมุตติ ถ้าแบบเจโตวิมุตติน่ะ มันอาศัยฐานของสมาธิเป็นที่ตั้ง ฐานของสมาธิ คือ ฐานของจิต แล้วพอจิตมันสงบเข้ามาแล้ว ตัวจิตย้อนออกไป เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นสิ่งใดก็ได้ เพราะมันใช้ฐานของสมาธิ พอใช้ฐานของสมาธิ ความเห็นอันนั้น มันจะไม่เป็นหมาเห่าใบตองแห้งไง

ถ้าหมาเห่าใบตองแห้งมันไม่มีเหตุมีผล สิ่งต่างๆ ก็ตื่นตูมกันไป แล้วว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมๆ เหมือนกัน

ถ้าบอกว่าผิด.. กิเลสมันคุมอยู่ มันก็ผิดทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าเราทำสมาธิเข้าไป แล้วเราต่อสู้เข้าไปนะ กระบวนการที่เราทำถูกต้อง นี่ไง ใจของเราที่เป็นสัจธรรม ที่ประพฤติปฏิบัติกัน ถ้าใจมันเป็นธรรมขึ้นมา สิ่งที่เป็นธรรมขึ้นมามันก็คือธรรม แต่ถ้าสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันเป็นกิเลสน่ะ มันเป็นกิเลส.. กิเลสมันครอบหัวอยู่น่ะ แล้วก็ประพฤติปฏิบัติไปโดยกิเลส มันจะเป็นธรรมไปได้อย่างไร

มันก็เป็นกิเลสไง มันก็เป็นมิจฉาทิฏฐิไง มันก็เป็นความเห็นผิดไง แล้วการประพฤติปฏิบัติมันจะไปถึงเป้าหมายได้อย่างไร

สิ่งที่จะถึงเป้าหมาย สิ่งที่ปฏิบัติ เราต้องทำตามข้อเท็จจริง เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครปฏิเสธไม่ได้ มรรค ๘ ศีล สมาธิ ปัญญา มรรคแยกออกแล้วเป็นศีล สมาธิ ปัญญา

สมาธิคือสมาธิ ต้องมีสมาธิ สิ่งที่เป็นสมาธิมันถึงจะเป็นโลกุตตรปัญญา ถ้าเป็นโลกุตตรปัญญาขึ้นมา พอทำให้จิตมันสงบเข้ามา มันเป็นฐานของสมาธิ.. “ความลึกซึ้ง” ที่โต้แย้งกันที่เถียงกันอยู่นี่ เพราะอะไร เพราะมันเป็นคนถนัดซ้าย กับคนถนัดขวา มันเป็นเรื่องของพระอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา

มันมีตัวแทนเลยว่า พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวา เวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว พระโมคคัลลานะ เวลาให้ไปทรมาน ให้ไปเผยแผ่ธรรมโดยฤทธิ์ ด้วยความเห็นของจิตที่มันเป็นเจโตวิมุตติ ในเอตทัคคะ ๘๐ องค์ พระโมคคัลลานะเลิศในทางฤทธิ์ มีฤทธิ์มีเดชที่จะเผยแผ่ศาสนาได้ส่วนหนึ่ง

พระสารีบุตร เวลามีการโต้แย้งเรื่องทางธรรมะ นี่พระสารีบุตร ในเรื่องธรรมของพระสารีบุตร พระสารีบุตรจะเป็นผู้ออกไปโต้แย้ง ออกไปเผยแผ่ธรรมในทางของปัญญา ในทางทฤษฎีที่ออกไป เพราะรู้จริง

สิ่งที่รู้จริง เวลาพระอัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวา เป็นผู้ช่วยเหลือ เป็นผู้ดำรงศาสนา ให้ศาสนามั่นคงมาถึงเรา เป็นผู้ที่ผ่อนกำลังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้รู้จริง เป็นผู้ประกาศสัจธรรม เอาสัจธรรมนี่เป็นสัจจะความจริง แล้วอาศัยกำลังของพระอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา และอาศัยกำลังที่พระอัครสาวกต่างๆ ส่งเสริมกันมา

แต่แนวทางในการปฏิบัติที่เป็นหัวขบวน เป็นหัวขบวนที่แยกออกมาเห็นชัดเจน สิ่งที่มันเห็นชัดเจนแล้ว เพียงแต่ในปัจจุบันนี้ ที่ว่าเป็นเรื่องของโลกเจริญๆ ทฤษฎีเจริญ สิ่งต่างๆ เจริญ ปัญญาเจริญ แต่เจริญขึ้นมาก็เจริญโดยกิเลส เจริญโดยอำนาจของกิเลส เจริญโดยอำนาจของอวิชชา แต่มันไม่เจริญในธรรม

ถ้าเจริญในธรรม มันต้องย้อนกลับไปต้นขั้วของสมาธิไง ต้นขั้วสมาธิคืออะไร คือฐานของจิต คือจิตใต้สำนึก คือปฏิสนธิจิต “นี่ธรรมเหนือโลก เหนือโลกที่นี่” เพราะโลกคือหมู่สัตว์ โลกคือเรา เราหนึ่งก็คือจักรวาลหนึ่ง ถ้าเกิดย้อนอดีตชาติได้จะเห็นว่าตัวเรา เกิดเป็นแสนๆ ชาติ

กระดูกกองหนึ่ง มนุษย์คนหนึ่ง ถ้าเกิดตาย เกิดตาย ในวัฏฏะ การเกิดตายที่ผ่านมา เอาแต่เฉพาะของเราคนเดียว กองไว้นะ.. เท่ากับโลก เพราะการเกิดการตาย แต่นี่มันย่อยสลายไป..

ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกไว้นะว่า “เราเกิดมานั่งอยู่บนกองกระดูก มากินกันอยู่บนกองกระดูก” เพราะดิน สิ่งที่ป็นกองกระดูกมันย่อยสลายไปมันก็คือดิน เรากลับมานั่งทับกองกระดูกของเรา น้ำตาที่หลั่งไหลออกมาแต่ละภพแต่ละชาติ ถ้าเก็บไว้ น้ำทะเลสู้ไม่ได้ เพราะอะไร เพราะมันยาวไกลนัก มันสิ่งที่ยาวไกล แต่เราก็ไม่เชื่อ โดยข้อเท็จจริงเราก็ไม่เชื่อ ถ้าไม่เชื่อนะ มันก็เป็นความลังเลสงสัย มันเป็นนิวรณธรรม แต่ในการประพฤติปฏิบัติ มันจะเข้าไปชำระตรงนี้

ถ้าการประพฤติปฏิบัติไม่ชำระตรงนี้นะ มันจะไม่เป็นมรรค ๔ ผล ๔ เพราะพระโสดาบันเข้าใจธรรมะส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังมีสิ่งที่ไม่รู้ สิ่งที่เหนือกว่า ยังมีความลังเลสงสัยอยู่ พระสกิทาคามีก็เข้าใจได้ส่วนหนึ่ง พระอนาคาก็เข้าใจส่วนหนึ่ง แล้วส่วนมากด้วยคิดว่าตัวเองว่าง คิดว่าตัวเองนี้สิ้นไป

แต่เพราะคิดว่าว่าง ตัวเองว่าง มันเป็นความคิด ว่าง... แล้วใครมันรู้ว่าว่าง นี่ว่างจากข้างนอก เป็นผู้ที่ไม่มีเรือน นี่อนาคา สิ่งที่เราปล่อยมาหมด แต่ตัวมันไม่ว่าง ไม่ว่างเพราะมันรับรู้สิ่งนั้น แล้วติดอยู่ในสิ่งนั้น แล้วติดในสิ่งที่ละเอียดด้วย ละเอียดมาก..

ถ้าไม่ละเอียด เพราะมันไม่มีสิ่งใดเลย ว่างหมดๆ แล้วเวลากิเลสมันพาศึกษานะ มันบอกว่าพระพุทธเจ้าสอนไว้แล้วไง.. “นิพพานเป็นความว่าง” เราก็เป็นความว่าง แต่ ไม่ได้ว่างจากตัวมัน ว่างจากข้างนอก

แต่เราจะย้อนกลับเข้ามา ถ้าย้อนกลับเข้ามา.. จิตเห็นอาการของจิต ที่พยายามพิจารณาต่อสู้ จิตเห็นจิต.. แล้วตัวจิตล่ะ ตัวจิตที่มันรู้จักจิตน่ะ ตัวจิตกับตัวจิตที่มันจับกันเอง จิตมันรู้เขาไปหมด มันปล่อยว่างเข้ามาหมด นี่ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด เห็นไหม ทั้งที่ว่ามันก็เป็นตัวจิตนั่นล่ะ แต่มันเป็นอาการของจิต

แล้วพอถึงตัวจิต.. ไม่มีอาการ เป็นตัวมันเอง เป็นตัวจิตล้วนๆ เลย “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส” เวลาเราเข้าถึงความผ่องใสของสมาธิ พอจิตมันเข้าไปถึงสมาธิ ฐีติจิตมันก็เข้าถึงตรงนี้ ! แต่สิ่งที่มันรับรู้มา ขันธ์ ๕ มันไม่ได้ขาด เพียงแต่มันผ่านทะลุเข้ามาเหมือนส้ม “เปลือกส้ม” แล้วเราผ่านเปลือกส้มเข้ามาถึงตัวส้ม มันเป็นฐานของสมาธินะ

แต่ถ้ามันเป็นอนาคามี มันทำลายขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ สักกายทิฏฐิ ๒๐ ขาดออกไป สังโยชน์ขาดไป ๓ ตัว

พิจารณาจิตซ้ำเข้าไป ถ้าจับอาการของจิตได้ก็พิจารณาซ้ำเข้าไปอีก พอพิจารณาซ้ำเข้าไปอีก มันจะแยกออก ขันธ์ ๕ กลับสู่สภาวะของเขา จิตกับกายแยกออกจากกันโดยธรรมชาติของมัน นี่สกิทาคามี

แล้วจะว่างมาก โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง ว่างหมดเลย แต่ถ้ามันมีวุฒิภาวะ มีครูบาอาจารย์ มีอำนาจวาสนา ย้อนกลับเข้าไปจับถึงตัวจิต จับถึงตัวจิตเห็นไหม ที่ว่ากายกับจิตแยกออกจากกัน จับถึงตัวจิต ตัวจิตนั้นน่ะมันมีขันธ์อันละเอียด ขันธ์อันละเอียดคือสังขาร คือข้อมูล ปฏิฆะกามราคะ ต่อสู้กัน ต่อสู้กัน.. วิปัสสนากันทำ

มันไม่ใช่กระต่ายตื่นตูม ที่ว่าฟ้าถล่มๆ จะเป็นธรรมะ... ไม่ใช่หรอก มันมีเหตุมีผล มีการกระทำของมัน เพราะความลับไม่มีในโลกนะ ถ้าเราไม่ได้ทำมา เราไม่ได้ชำระมา เราไม่ได้ทำลายกามราคะในหัวใจ มันก็มีอยู่วันยังค่ำน่ะ

ที่บอกว่าไม่มี นี่คือคำพูด นี่คือสัญญาอารมณ์ที่คิดกันเอาเองว่ามันไม่มี “ ว่างๆ ว่างๆ ” มันไม่มีหรอก ! แต่ความจริงมันมี

มันมีเพราะอะไร ที่มันว่างๆ อยู่นี่ เพราะมีสติ มีสิ่งต่างๆ รักษาอยู่ มันก็ว่าง มันก็กดทับไว้ แต่ถ้ามันคายตัวออกมา มันมี ! มีทั้งหมด แต่ด้วยสามัญสำนึก ด้วยกิริยามารยาท เราก็เก็บสงวนรักษากันไว้ มันไม่เป็นความจริงหรอก

แต่ถ้าเป็นความจริง ความจริงเพราะอะไร ความจริงมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ความจริงที่เกิดขึ้น เกิดมาอย่างไร

ก็เกิดขึ้นมาจากมหาสติ มหาปัญญา มันจะเป็นมหาสติแล้วเพราะจิตกับกายมันแยกออกจากกัน โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง แล้วต่อสู้มันเข้าไปจับต้องของมันได้ พอมันจับต้องของมันได้นะ โอ้โห.. สิ่งที่ว่าไม่มีๆ น่ะ โห.. มารยาทผู้ดี สังคมนิ่มนวลมากเลย แต่พอไปเจอกามราคะ มันเป็นสัญชาตญาณ..

จะผู้ดีมีจนขนาดไหน มันเป็นธรรมชาติของจิต ! มันเป็นสิ่งที่โอฆะ ข้ามโอฆะ จิตจะข้ามโอฆะไม่ได้ มันจะฝังอยู่ตรงนี้ แล้วถ้าจับมันได้ พิจารณามันได้ เพราะอะไร เพราะมันเป็นกามราคะ ตัวมันเป็นกาม เพราะมันเป็นกามราคะ เพราะมันพอใจไง

“กามฉันทะ” ถ้าเรามีความพอใจ ดูสิ โลกเขาที่มีความพอใจ เรายังรักษาความสวยความงามกันอยู่นี่ มันเป็นกามราคะทั้งนั้นน่ะ มันเป็นความพอใจของใจ

แต่ถ้าพูดถึงตัดทิ้งได้แล้ว ไม่สน มันเป็นสสาร มันเป็นธรรมชาติที่เราเกิดมาโดยกรรม ที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ มันก็มีร่างกายและจิตใจเป็นธรรมดา เป็นธรรมดาทั้งนั้นน่ะ อยู่ดูแลมันโดยไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วยเท่านั้นน่ะ ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วมันเป็นทุกข์ ก็ดูแลมันโดยไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย ดูแลมันแต่ไม่ใช่พอใจมันไง ดูแลเป็นภาระหน้าที่ไง หน้าที่เราต้องดูแลมัน ดูแลมันเพื่อไม่ให้มันกระเพื่อม ไม่ให้มันเหยียบหัวใจเรา

สิ่งที่เป็นกามฉันทะ พอมีกามฉันทะมันก็เป็นกามราคะ แล้วมีการต่อสู้กันมีการทำลายกันน่ะ ด้วยวิปัสสนาญาณ เกิดอย่างไร ถ้าเราไม่ได้สมุจเฉทปหาน ไม่ได้ทำลายหัวใจ มันก็จะหลบซ่อนอยู่ที่นั่น หลบซ่อนเพราะอะไร เพราะมันเป็นโอฆะ มันเป็นการต่อสู้ มันเป็นสิ่งต่างๆ ที่มีอำนาจรุนแรง

ในการประพฤติปฏิบัตินะ ขั้นของกามราคะนี่คือขั้นของแม่ทัพ ขั้นของกองทัพ สิ่งที่เราปฏิบัติมา ขั้นเริ่มต้นขึ้นมา มันเป็นเรื่องของพื้นฐาน ของกองทัพที่เริ่มต้นจากที่ไม่เป็นแม่ทัพมา เป็นสิ่งที่โดนบังคับบัญชามา แล้วถึงขึ้นมาเป็นหน่วยกองพล

แต่ถ้าขึ้นไปถึงแม่ทัพ แม่ทัพนี่สั่งได้หมดนะ แต่แม่ทัพนี่ทำลายได้ยาก การต่อสู้ทำได้ยาก ถ้าทำลายกองทัพหมดแล้ว ถ้าเรายังปล่อยให้อวิชชามันอยู่ ถ้ายังปล่อยให้เจ้าอำนาจนั้นยังอยู่ เขาจะไปรวมกองทัพใหม่ขึ้นมา เขาจะไปรวมพล รวมกองพลขึ้นมา แล้วเข้ามาทำสงครามกันต่อไป

แต่ถ้าเราทำลายกองทัพนั้น กองทัพนั้นคือกามราคะ กามราคะนี่แม่ทัพมีกำลังมากมีอาวุธมาก มีการบังคับบัญชาที่เคยต่อสู้กับข้าศึกมามาก มันจะมีเล่ห์กลของมันมาก ทำลายนี่มันถึงต้องต่อสู้ ถึงต้องเป็นมหาสติ มหาปัญญา แล้วแยกแยะกันอย่างไร ทำอย่างไร พอมันทำลายกันครืนในหัวใจแล้วนะ

นี่ไง ความลับไม่มีในโลก ผู้ที่จะเป็นอนาคามี มันจะเห็นว่า สิ่งที่เป็นกามฉันทะ สิ่งที่เป็นกามราคะ สิ่งที่เป็นข้อมูล สิ่งที่เป็นความพอใจ มันขาดออกไปจากใจอย่างไร มันขาด มันเข้ามาทำลายกันที่หัวใจนั้น แล้วมันปล่อยออกไป คายพิษนั้นออกไปจากหัวใจนั้น หัวใจนี้มันเลยว่างหมดเลย

แล้วพิจารณาซ้ำๆๆๆๆ เข้าไป พระอนาคา ๕ ชั้น.. เพราะมันมีเศษส่วน มันเทคนิค มันมีวิชา มันมีการกระทำ

การกระทำ... ทำไมหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ท่านผ่านสภาวะอย่างนี้มาได้ ถ้ามันผ่านสภาวะอย่างนี้ได้ ก็ไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ผ่านมาแล้วใช่ไหม สิ่งที่ผ่านมานี่.. เพราะเราทำเศษส่วนที่มันเหลือ เราเข้าใจว่าจะเป็นมรรค ๔ ผล ๔ ไง นิพพาน ๑ เพราะมันว่าง..ว่าง..

ว่างเพราะอะไร ว่างเพราะเป็นอวิชชา ว่างเพราะมันเป็นเจ้าวัฏจักร ว่างเพราะมันเป็นผู้คุมนโยบาย มันเป็นจักรพรรดิ์ที่คุมแม่ทัพ ผู้คุมแม่ทัพนั้น เขาต้องมีความลึกซึ้งละเอียดอ่อนถึงจะคุมแม่ทัพนั้นได้ ถึงจะสั่งให้แม่ทัพนั้นออกทำการรบ ออกยึดอำนาจได้

แต่ตัวเองเป็นเจ้าวัฏจักร ตัวเองเป็นอวิชชา มันยิ่งละเอียดอ่อน มันยิ่งแนบเนียน ความเล่ห์กลของมันยิ่งแนบเนียน ถึงต้องใช้ความละเอียดอ่อน เป็นญาณ-มรรคญาณ เข้าไปค้นคว้า เข้าไปจับต้อง แล้วเข้าไปทำลายกัน

สิ่งที่ทำลายเห็นไหม ทำลายด้วยการพลิกฟ้าคว่ำดิน “วัฏจักร” สิ่งนี้เป็นวัฏจักรนะ มันพลิกฟ้าคว่ำดิน มันไม่รุนแรงเหมือนกับกามราคะ กามราคะนี่เป็นฝ่ายแม่ทัพ ต้องกองทัพปะทะกัน ต่อสู้กันจนแหลกละเอียด เหยียบจนแหลกละเอียดทำลายกันจนราบเป็นหน้ากลอง มันถึงจะยอมแพ้ แพ้ชนะกันเป็นธรรมชาติ

แต่ขณะที่ผู้ที่เข้าไปอันละเอียดอ่อน กำหนดนโยบาย สิ่งที่คุมนโยบาย สิ่งที่มันจะเป็นไป มันเข้ามาทำลายในตัวมันเอง มันเป็นสิ่งที่ว่าเป็นมัธยัสถ์ ถ้ามันออกซ้ายออกขวา เห็นไหม มันไม่เป็นอรหัตตมรรค สิ่งที่เป็นอรหัตตมรรคมันจะเข้ามาเป็นมัธยัสถ์ คือเข้ามาถึงจุดส่วนตัวของมัน สิ่งที่จะนิ่งตัวเข้ามา สิ่งที่จะทำลายตัวเอง เห็นไหม

รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ.. อุทธัจจะคือความขยันหมั่นเพียร คือการกระทำขึ้นมา อุทธัจจะคือการกระเพื่อม อุทธัจจะ อวิชชา เพราะมีอุทธัจจะ มีการสั่น มีการกระเพื่อม มีการเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวมันไม่เป็นกลาง ไม่เป็นมัธยัสถ์ ไม่เป็นจุดของภวาสวะของภพ มันเลยเป็นอวิชชา พอมันมาถึงจุดมัธยัสถ์ สิ่งที่เป็นอุทธัจจะ แล้วเข้าถึงอวิชชา อุทธัจจะคือนิ่งอยู่ แล้วอวิชชาคือไม่รู้ แล้วมันทำลายกัน ครืน!!!ในหัวใจนะ

นี่ไง สิ่งที่เป็นธรรมแท้.. ไม่ใช่หมาเห่าใบตองแห้ง ไม่ใช่กระต่ายตื่นตูม

ทั้งหมาเห่าใบตองแห้ง ทั้งกระต่ายตื่นตูม เพราะมันเกิดจากกิเลสของเรา มันเกิดจากอวิชชาโดยสัจธรรม โดยสัจจะนะ มันปฏิเสธข้อเท็จจริงอย่างนี้ไม่ได้ ในเมื่อเราเกิดมา เรามีอวิชชา มีอวิชชาเป็นพญามารที่ครอบคลุมใจมา ในการประพฤติปฏิบัติมันถึงมีอวิชชาเป็นตัวนำ เป็นตัวคอยสอดแทรก

ฉะนั้นในการประพฤติปฏิบัติถึงจะต้องต่อสู้ไปด้วยพร้อมกัน ต่อสู้คือการกระทำไปโดยสมมุติ การกระทำไปโดยอวิชชา แล้วมันถ้ามีสมาธิขึ้นมา อวิชชาก็เริ่มเบาลง อวิชชาก็เริ่มเปิดโอกาสให้ปัญญา ให้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ก้าวเดิน

เห็นไหม เวลาเราประพฤติปฏิบัติ ธรรมะ.. เราต้องต่อสู้ เราต้องขวนขวายถึงจะเกิดสัจธรรมขึ้นมากลางหัวใจ แต่กิเลสไม่ต้อง กิเลสน่ะมันคอยแต่จะทำให้เราล้ม จะทำให้การประพฤติปฏิบัติของเราเหลวแหลก จะทำให้การประพฤติปฏิบัติของเราคลอนแคลน ถ้าเราอ่อนแอ พอคลอนแคลนแล้วมันก็เหยียบซ้ำเลย เห็นไหม กิเลสมันมีโดยธรรมชาติของมัน เพราะมันเป็นสัจจะความจริง

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “กิเลสนี้น่ากลัวมาก” สิ่งที่เป็นกิเลส สิ่งที่หมักหมมในหัวใจของสัตว์โลก น่ากลัวมาก..

“การกระทำสิ่งใด ถ้ามีสติ มีความรู้สึกแม้แต่วินาทีเดียว ดีกว่าคนประมาททั้งชีวิต”

ถ้ามีการขวนขวาย มีการประพฤติปฏิบัติ แม้แต่ตั้งใจจริง แค่เราตั้งใจ สิ่งนี้มันเหมือนพยับแดด มันเหมือนกับฟ้าแลบ สิ่งที่ฟ้าแลบเหมือนกับโลกนี้มืด ความเห็นของอวิชชามันมืดบอด มันควบคุมใจเรา แค่มีความคิดให้เกิดสายฟ้าแลบ ให้เกิดแสงขึ้นมาชั่วครั้งชั่วคราว มันก็เป็นสิ่งที่ได้พบได้เห็นได้มีการกระทำ หัวใจเราถึงจะมีสัจจะ มีความจริง สัจจะความจริงนี้เกิดจากการประพฤติปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิบัติ เห็นไหม

ปริยัติ กับ ปฏิบัติ ปริยัติคือศึกษาทฤษฎี ศึกษาอย่างไร ศึกษาโดยอวิชชา ศึกษาเท่าไหร่ก็งงเท่านั้น ในภาคปฏิบัติ ในการกระทำของเรา จะทำมากทำน้อยก็แล้วแต่ ถ้าเกิดพยับ เกิดฟ้าแลบ เกิดต่างๆ มันเกิดมาจากอะไร.. เกิดจากการกระทำ

สิ่งที่เกิดจากการกระทำ เราเป็นคนกระทำขึ้นมา เรารู้เองใช่ไหม ถึงรู้โดยอวิชชา รู้โดยความไม่เข้าใจ เราก็ถามครูบาอาจารย์ รู้ทีแรกมันยังลังเล เพราะอวิชชามันครอบงำอยู่ เพราะเราไม่เคยเห็นสิ่งนี้ สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมันจะลังเล มันจะไม่เข้าใจทั้งสิ้นน่ะ

แต่มีครูบาอาจารย์คอยชี้คอยแนะ แล้วเราคอยถามท่าน เพราะท่านจะเป็นครูบาอาจารย์เราได้ ท่านต้องผ่านประสบการณ์ในการปฏิบัติ

ปฏิบัตินะ ครูบาอาจารย์ในภาคกรรมฐาน ถ้าไม่รู้จริง ไม่ปฏิบัติจริง สอนเขาไม่ได้หรอก เขายิ่งถามนะ ครูบาอาจารย์ก็ยิ่งงง แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่ได้ผ่านการประพฤติปฏิบัติมา ได้ฝึกงานมา เหมือนกับหมอเลย หมอเห็นไหม ถ้าคนไข้ได้ผ่านหมอคนนี้มา แล้วคนไข้นั้นเละไปหมดเลย ดูไม่ได้เลย เราจะเชื่อใจหมอคนนั้นได้ไหม แต่ถ้าคนไข้ผ่านหมอคนนี้มา โอ้โห.. สุขภาพแข็งแรง ทำทุกอย่างเรียบร้อยดี หมอคนนั้นเป็นหมอที่รักษาโรคเป็น

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติถ้าเรามีครูบาอาจารย์นะ ถ้าครูบาอาจารย์สั่งสอนเรา คอยแนะนำเรา เราประพฤติปฏิบัติแล้วได้หลักได้เกณฑ์ เห็นไหม ครูบาอาจารย์เราถึงจะมีคุณธรรมจริง ครูบาอาจารย์ของเราถึงจะมีวุฒิภาวะสอนเราได้จริง แล้วเราจะเชื่อครูบาอาจารย์นั้น

แล้วเราจะเป็นประโยชน์กับเรา เพราะเรามีหลักใจ มีหลักจากข้างนอก มีหลักจากข้างใน แม้แต่กิเลสอวิชชามันครอบงำอยู่ แต่ก็มีครูมีอาจารย์คอยชี้นำเรา คอยปลอบประโลมเรา คอยปลอบขวัญเรา คอยให้กำลังใจเรา เราก็จะมีที่พึ่งจากข้างนอกและข้างใน เอวัง