เทศน์บนศาลา

พุทธพจน์กิเลสอ้าง

๗ ต.ค. ๒๕๕๑

 

พุทธพจน์กิเลสอ้าง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ธรรมะปฏิบัติ เวลาเทศน์ธรรมะปฏิบัติ มันจะเข้าถึงใจนะ ถ้าเป็นธรรมะปริยัติ อ่านหนังสืออ่านตำรับตำรา เทศนาว่าการกันอย่างนั้นเป็นทางวิชาการ แต่ถ้าเทศน์ปฏิบัติ มันเป็นภูมิของครูบาอาจารย์ที่เทศน์ ถ้าภูมิของครูบาอาจารย์มีเท่าไร มันก็ออกได้เท่านั้น

ทีนี้เวลาฟังธรรม ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า การได้ยินได้ฟังธรรมนี้แสนยาก เพราะอะไร เพราะธรรมสมัยพุทธกาล ออกมาจากพระโอษฐ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูสิ พระอัสสชิเทศนาว่าการพระสารีบุตรเป็นพระโสดาบัน นี่ออกจากปากของพระสาวกด้วย แต่จะออกจากปากพระสาวก ต้องผู้รู้จริง ถ้ารู้จริงออกมาจากใจออกมาจากความรู้สึก อันนั้นมันเป็นธรรมล้วนๆ ไง แต่ถ้าเป็นปริยัติ เราไปศึกษาเล่าเรียนมา ศึกษาเล่าเรียนมาขนาดไหนนะ กิเลสมันก็แอบอ้างมาทั้งนั้น กิเลสมันแอบอ้างพุทธพจน์ ว่านี่เป็นพุทธพจน์ๆ แล้วกิเลสมันก็ชักใยอยู่เบื้องหลัง แล้วโลกก็เป็นอย่างนั้น

ในทางเถรวาท ทางวิชาการเขาบอกว่า เถรวาทนี่คับแคบ เป็นการท่องจำ มหายานของเขา เขาเปิดกว้างให้มีการศึกษากัน ให้มีการค้นคว้ากัน มันเป็นอาจริยวาท เชื่อตามอาจารย์กันมา ให้ใครคิดค้นคว้าขนาดไหน เป็นการค้นคว้าไป นับถือกันไป จริงบ้างเท็จบ้างก็ว่าตามนั้น

แต่ถ้าเป็นเถรวาท เป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขนาดท่องจำ ก็ท่องจำให้ได้เถอะ เพราะท่องจำอันนี้มันเป็นพุทธพจน์ คำว่าพุทธพจน์นะ เป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราซื่อสัตย์นะ เราจะเคารพบูชานะ เคารพบูชาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพียงแต่เราต้องทำใจเราเข้าให้ถึงธรรม

ถ้าใจเราเข้าไม่ถึงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราท่องแค่ไหนนะ มันก็เป็นแค่นกแก้วนกขุนทองเท่านั้น พุทธพจน์ พุทธพจน์ อ้างว่าพุทธพจน์ แต่กิเลสเรามันยุบยอบไปบ้างไหม มันเจ็บปวดแสบร้อนขนาดไหน ใจของเรามันเจ็บขนาดไหน แล้วมันได้อะไรขึ้นมา แต่ถ้าเราศึกษานะ เราศึกษาของเรา เรามีศรัทธาความเชื่อ มันเป็นอำนาจวาสนานะ ถ้าอำนาจวาสนาของเรา เราศึกษามา ดูสิ ดูพระเราบวชมา อุปัชฌาย์อาจารย์สอนไว้แล้ว ในการบวชนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฉลาดมาก เวลาบวชขึ้นมา อุปัชฌาย์องค์ใด ถ้าไม่บอกกรรมฐาน ๕ การบวชนั้นสำเร็จไปไม่ได้

นิสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ สิ่งนี้เป็นหัวใจของศาสนานะ นักรบจะรบกับกิเลสของตัว มีอาวุธพร้อมหรือยัง เวลาบวชไปแล้ว อุปัชฌาย์ทุกองค์ต้องบอกนะ รุกขมูลนี่ แล้วมูลกรรมฐานนี่ สิ่งนี้มันต้องบอก ถ้าไม่บอก การบวชนั้นไม่สำเร็จประโยชน์

ถ้าไม่สำเร็จประโยชน์ เราบวชแค่นี้แล้วเราตั้งใจทำของเรา อุปัชฌาย์บอกแล้ว อุปัชฌาย์บอกมาจากไหนบอกมาจากธรรมวินัย.. ธรรมวินัยใครเป็นคนวางไว้? พุทธพจน์ไง! องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ไง ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่วางไว้ มันมาจากไหนล่ะ

ถ้าเราทำจริง เหลือเฟือแล้ว.. เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ.. เรามองกันไม่ทะลุหรอก เราทำกันไม่ได้ เราทำสิ่งนี้ไม่ได้ แต่เราไพล่ไปเอาทางโลกไง ศึกษาธรรมะกัน ไพล่เอาไปทางโลกนะ เอากระดาษแผ่นหนึ่ง เอาความรู้กัน ความรู้อะไรน่ะ

เวลาประพฤติปฏิบัติกัน ทุกคนจะบอกว่า ต้องมีการศึกษาก่อน ถ้าไม่มีการศึกษาก่อน ปฏิบัติไปแล้วมันจะหลง มันจะไม่เข้าใจ แต่เวลาไปศึกษาขึ้นมาแล้วมันไม่ใช่หลง มันยึด! มันยึดว่านี่เป็นความรู้ของมัน มันไปยึดธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยิ่งศึกษามากเท่าไรยิ่งไปยึด ยิ่งไปยึดมั่นถือมั่นว่านี่พุทธพจน์ กระดิกไม่ได้เลย นั่นน่ะนั่นมันเป็นอะไร

เขาศึกษามาเพื่อเป็นแผนที่เครื่องดำเนิน เขาไม่ได้ไปศึกษามาให้ไปกอดยึดมั่นอย่างนั้นหรอก เขาศึกษามาเป็นเครื่องดำเนิน ดำเนินเพื่ออะไร ดำเนินเพื่อกิเลสของเราไง

ถ้าเราชำระกิเลสของเรา เราต้องตั้งใจ ดูสิ ปริยัติแล้วมันต้องมีการปฏิบัติ ในเมื่อมีปริยัติแล้วมันไม่มีการปฏิบัติ ในเมื่อพอจะมาปฏิบัติก็ปฏิบัติแบบปริยัติ “พุทธพจน์ว่าอย่างนั้น ต้องทำอย่างนั้น” นี่ไง มันไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้นะแล้วยังอวดรู้ไง

ในกรรมฐานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “กรรมฐาน ๔๐ ห้อง” ในลัทธิศาสนาต่างๆ ในอาจริยวาท ในเถรวาท ในสิ่งต่างๆ ก็แล้วแต่ การตรึกในธรรม การกำหนดพุทโธ เวลากำหนดพุทโธ วิตกวิจาร วิตกขึ้นมามันก็ตรึกในธรรม เวลาศึกษาขึ้นมาแล้วก็ตรึกในธรรม การตรึกในธรรม การใช้ปัญญา สิ้นสุดกระบวนการของมันคือสมถะทั้งนั้น สิ้นสุดกระบวนการมันก็คือสมถะ

แต่เพราะมันไม่รู้ของมัน มันถึงบอกว่านี่เป็นการปฏิบัติ เป็นปัญญาสายตรง ใช้ตรรกะ ใช้ปัญญาสายตรงขึ้นไป ผลของมันคือสมถะ ผลของมันคือความว่าง แต่เพราะคนไม่เคยปฏิบัติ ไม่มีครูบาอาจารย์ ถ้าคนมีครูบาอาจารย์นะ ศีล สมาธิ ปัญญา

แม้แต่สมาธิเขายังไม่รู้จัก เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไป เขาบอก ว่างๆ ว่างๆ สมาธิยังไม่รู้จักว่าเป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธิ คำว่า ว่างๆว่างๆ ใครบอก แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เรามีครูอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์เราจะสอนไปมากกว่านั้นอีก

นี่พุทธพจน์กิเลสมันอ้าง พอมันอ้างขึ้นมานะ มันน่าสังเวช ดูสิ ปากพูดพุทธพจน์ มือถือ สากปากถือศีล เวลามือถือสากปากถือศีลนะ “พุทธพจน์ พุทธพจน์” กิเลสมันถลอกไปสักตัวหนึ่งไหม นี่กิเลสมันอ้างนะ มันชักใยอยู่หลังม่าน กิเลสกับธรรมมันคนละเรื่องกัน

เวลาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่กิเลสมันเต็มหัว กิเลสมันเต็มหัวแล้วกิเลสมันทำอะไรล่ะ กิเลสมันก็อ้างพุทธพจน์ใช่ไหม กิริยามารยาทสังคมใช่ไหม เป็นผู้ที่มีศีลมีธรรม มีจรรยาบรรณ อย่าเผลอกิเลสนะ กิเลสมันขี่หัวเลย แล้วอ้างอิงกันอย่างนั้นมันเป็นประโยชน์อะไร พุทธพจน์กิเลสมันอ้าง พอกิเลสมันอ้างขึ้นมา ถือตัวถือตน ถือว่าเป็นความรู้ มีความรู้มาก มีขนาดไหน ยึดมั่นถือมั่นในความรู้ของเรา ยึดมั่นถือมั่นนั่นมันกิเลสทั้งนั้น เพราะมันยึดมั่นถือมั่น มันไม่เป็นความจริงหรอก

แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติ ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ท่านรื้อค้น ของท่านขึ้นมา ท่านรื้อของท่าน ท่านศึกษานะ ศึกษาค้นคว้าขนาดไหน ศึกษาแล้วตรวจสอบ ทดสอบ.. ตรวจสอบ ทดสอบ.. ท่านจะทำของท่านมาตลอดไป เพราะไม่มีครูมีอาจารย์คอยสอน ครูบาอาจารย์ก็ไม่รู้เท่าท่าน

เวลาหลวงปู่มั่นนะ ครูบาอาจารย์มีอยู่ แต่ครูบาอาจารย์รู้อะไร? ครูบาอาจารย์ก็รู้พุทธพจน์นั่นแหละ แล้วกิเลสมันก็บังเงาอยู่นั่น มันก็ชักใยอยู่นั่น ต่างตรึก ต่างสงสัย ต่างพิจารณากันไป แล้วต่างค้นคว้ากันไป มีอะไรปรึกษากัน หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านจะปรึกษากันตลอดเวลาว่า ไปทางไหนจะไปอย่างไร จะทำอย่างไรให้เป็นไปได้ จิตมันสงบขนาดไหน ทดสอบเข้ามาแล้วมันไม่ได้ชำระกิเลสอะไรเลย มันสงบเข้ามาขนาดไหน พิจารณาขนาดไหน มันเป็นไปไม่ได้ทั้งนั้น มันเป็นไปไม่ได้เลย ถ้ามันไม่ตรงกับสัจจะความจริง

ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทดสอบตรวจสอบอยู่กับเจ้าลัทธิต่างๆ อยู่ ๖ ปี ในสมัยนั้นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติก็เป็นเรื่องของโลก โลกเป็นใหญ่ ไม่ใช่ธรรมเป็นใหญ่ ถ้าโลกเป็นใหญ่นะ สิ่งใดที่มันถูกใจ ใครทำอุกฤษฏ์ ใครทำต่างๆ ใครทรมานตนขนาดไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไปศึกษากับเขาทั้งนั้น ศึกษามาขนาดไหน มันไปไม่ได้ เพราะว่าอะไร เพราะตรึกในโลก โลกกับธรรม โลกคืออะไร โลกคือความคิด ความคิดที่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยากคือโลก โลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากโลก ปัญญาเกิดจากเรา มีความสงบขนาดไหน แต่ยังไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา ยังไม่มีโลกุตตรธรรม

โลกุตตระมันเป็นอย่างไร โลกุตตระมันอยู่ที่ไหน ไม่มีใครรู้ แต่บอกว่าเป็นธรรม เป็นสัจธรรม ศาสดาองค์ใดก็เป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น

มันหันไปไหน มันหันอยู่ในวัฏฏะไง มันหันออกจากวัฏฏะไม่เป็น มันไม่รู้จักวัฎฎะ วิวัฏฏะ แม้แต่การเวียนตายเวียนเกิด ดูสิ เวลาฤาษีชีไพรเขาระลึกอดีตชาติได้ นี่ไงมันหันเข้าวัฏฏะ มันไม่หันออกจากวัฏฏะ มันหันออกจากวัฏฏะไม่เป็น สิ่งนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษามาขนาดไหน สิ่งที่ศึกษามาเพราะอำนาจวาสนา สิ่งนี้มันไม่ได้ทำให้กิเลสยุบยอบเลย ยังไม่สะกิดถึงกิเลสเลย มีแต่กิเลสเท่านั้นใหญ่โตกว่ามัน กิเลสยึดมั่นถือมั่นอยู่ในความเห็นอันนั้น มันจะสงบ มันจะร่มเย็นขนาดไหน มันคลายออกมามันก็ปุถุชนธรรมดา

สิ่งที่เป็นปุถุชน เห็นไหม เราต้องเกิดใช่ไหม เราต้องเกิด ถึงไม่ไว้ใจ ถึงหาช่องทางของตัวเอง ถึงที่สุดด้วยอำนาจวาสนา กลับมาฉันอาหารของนางสุชาดา บุญกุศลในศาสนาพุทธ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ล่ะพุทธพจน์ เวลาโลกธรรม ๘ เวลาพระที่ไปเจอโลกธรรม ๘

“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายไม่ต้องไปวิตกวิจารมาก โลกธรรม ๘ เป็นธรรมะเก่าแก่ ไม่มีใครโดนโลกธรรมกระทบเท่ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา ในเมื่อเผยแผ่ธรรมไป เจ้าลัทธิต่างๆ เขามีการโต้แย้ง เขามีการขัดแย้งกัน เขาใส่ความองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามหาศาลเลย เขาได้รับกรรมไปตกนรกอเวจีก็มี เขาได้รับกรรมของเขาในปัจจุบันก็มี เขาได้รับกรรมของเขาไปตามธรรมชาติของเขา เพราะสิ่งที่เขาทำมันคือกรรมทั้งนั้น

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมะเก่าแก่ สิ่งที่มันมีอยู่โดยดั้งเดิม มันของเก่าแก่ ไม่มีใครโดนกระทบเท่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เป็นธรรมะเก่าแก่ “ภิกษุทั้งหลาย ! เธอจงพิจารณาสังขารทั้งหลายด้วยความไม่ประมาทเถิด” สอนภิกษุเป็นประจำ

ศึกษามาขนาดไหน บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ ฉันอาหารของนางสุชาดาแล้วถึงได้ธรรมอย่างนั้นนะ เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า บุญกุศลในพุทธศาสนาที่มีกุศล ๒ คราว คราวหนึ่งได้ฉันอาหารของนางสุชาดา เราถึงซึ่งกิเลสนิพพาน กิเลสมันตายไปจากใจเพราะฉันอาหารมื้อของนางสุชาดา แล้วนั่งคืนนั้น

พอฉันอาหารของนางสุชาดา ปัญจวัคคีย์ ด้วยความคิดของโลก โลกคิดว่าในการถืออุกฤษฏ์ ในการต่อสู้กับกิเลส มันต้องต่อสู้ด้วยความเข้มแข็ง นี่ความเห็นของโลก แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหันมาฉันอาหารของนางสุชาดา หันมามักมาก จึงทิ้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเลย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยายามฝึกฝนค้นคว้าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ตรัสรู้ขึ้นมา บุพเพนิวาสานุสติญาณ อดีตชาติระลึกกันมาขนาดไหน มันก็เป็นบุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณขนาดไหนก็แล้วแต่ มันเป็นอดีตอนาคต แต่อดีตอนาคตมันอยู่ที่ไหน อดีตอนาคตมันก็อยู่ที่หัวใจไง หัวใจที่มันเก็บข้อมูลมาทั้งหมด อดีตอนาคต แล้วเขาก็ไปรู้อดีตอนาคต แค่นี้เอง ฤาษีชีไพรทำได้มากแค่นี้เอง ศาสดาในลัทธิต่าง ๆ ก็ทำได้เท่านี้ ธรรมะของเขาคือธรรมะที่เป็นตรรกะ ที่เขาคิดขึ้นมาเพื่อจะให้เป็นวิธีการเข้าไปถึงจุดนี้ แต่มันทำไม่ได้ มันไปไม่สิ้นสุดหรอก มันเป็นไม่ได้ มันเป็นผู้วิเศษอีกต่างหาก เวลาจิตสงบขึ้นมา มันก็เป็นความสุขของมัน

จิตเวลาสงบมีความสุขนะ ความสุขขณะที่จิตมันสงบ แต่เวลามันคลายตัวออกมาล่ะ สิ่งที่ไปรู้ข้อมูลสิ่งใดๆ มา ไปรู้อดีตชาติของตัวเอง ไปรู้อดีตชาติของคนอื่น แล้วมันเป็นอะไรขึ้นมาล่ะ มันก็เป็นผลของวัฏฏะไง วัฏฏะที่มันเวียนอยู่นี่ล่ะหันเข้าวัฏฏะ พระอรหันต์หันเข้าวัฏฏะ หันออกจากวัฏฏะไม่เป็น แล้วหันออกจากวัฏฏะทำอย่างไรล่ะ ?

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบุญญาธิการมา ถึงที่สุดศึกษากับใครมาแล้วไม่มีใครช่วยเราได้เลย คิดถึงตัวเอง ถึงบุญกุศลของตัวที่ทำไว้ที่โคนต้นหว้า แล้วกลับมาอานาปานสติ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง เวลาทำสมาธิ ทำกรรมฐาน มันไม่เป็นพุทธพจน์ที่ไหน มันเป็นพุทธพจน์ชัดๆ เลย เวลาพูดชัดๆ แล้วปฏิเสธพุทธพจน์ได้อย่างไร

แล้วเวลากิเลสมันอ้าง “พุทธพจน์จะต้องใช้ปัญญาสายตรง ทำอย่างอื่นไม่ได้” พุทธพจน์ พุทธพจน์ สิ่งนี้พุทธพจน์กิเลสมันชักใยอยู่ ชักใยโดยตัวเองไม่รู้จักอะไรเลย ทำเองก็ทำไปแบบโลกๆ ทำไปโดยความเห็นของตัว ถ้าความเห็นของตัว ก็เอาสีข้างเข้าถู ว่างๆ ว่างๆ มีความสบาย

ฤาษีชีไพรนะ เขาทำถึงบุพเพนิวาสานุสติญาณ เขาระลึกอดีตชาติ เขายังไปไหนไม่รอดเลย เขายังคอตกเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทดสอบแล้ว ตรวจสอบเลยแล้วมันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะจิตมันมีแรงขับเพราะมีอวิชชาอยู่ ย้อนเข้าไป อาสวักขยญาณ ย้อนเข้าไปอย่างไร อาสวักขยญาณ ย้อนอย่างไร

สิ่งที่ย้อนอาสวักขยญาณเข้าไปชำระกิเลส อวิชชาปัจจยา สังขารา สังขาราปัจจยา วิญญาณัง ในเมื่อมีอวิชชา มันมีนาม-รูป มีผัสสะ มีต่างๆ กระทบเป็นนามเป็นรูป เป็นภพเป็นชาติ ย้อนกลับไปจนอวิชชาดับเป็นชั้นๆ เข้าไป จนถึงที่สุด อวิชชาต้องขาดไป ขาดไปจากใจ ใจที่สะอาดพ้นออกไปจากอวิชชาเนี่ยอาสวักขยญาณ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เสวยวิมุตติสุข สุขมาก สุขอย่างนี้วิมุตติสุข ไม่ใช่สุขแบบโลกๆ

ดูสิ ดูฤาษีชีไพรเขามีความสงบ เขาสุขของเขา พอคลายออกมาก็ทุกข์ รู้ข้อมูลอดีตชาติ รู้เข้ามาแล้วมีประโยชน์อะไร รู้ขึ้นมาถ้าเกิดที่ดีมา มันก็มีความภูมิใจมีกิเลสตัณหา แต่ถ้าเคยเกิดขึ้นมาโดยสิ่งที่เราเคยทุกข์เคยยากขึ้นมา มันก็ท้อแท้ใจ มันจะมีประโยชน์อะไรขึ้นมา แล้วมันเป็นอดีตอนาคตมันจะแก้กิเลสอะไรได้

แต่เวลาวิมุตติสุข มันสุขอย่างไร มันสุขพ้นไปออกไปจากสุขเวทนา ทุกข์เวทนา มันมีความสุขของมัน เสวยวิมุตติสุขจนถึงที่สุด เห็นคุณเห็นบุญคุณ จะเผยแผ่ธรรม จะสอนใครดี อาฬารดาบสก็ตายไปแล้ว ไปสอนปัญจวัคคีย์ดีกว่า เพราะปัญจวัคคีย์มีคุณต่อกัน ไปเทศน์ธรรมจักรให้ปัญจวัคคีย์ฟัง นี่ล่ะพุทธพจน์ องค์สมเด็จพระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้แสดงเอง ขณะที่แสดงเองขึ้นมาแสดงธรรมจักรไป พระอัญญาโกณฑัญญะ บรรลุธรรมขึ้นมา นี่พุทธพจน์นะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้บรรยายเอง แล้วผู้รับ ๕ องค์ทำไมได้อัญญาโกณฑัญญะก่อน แล้วอีก ๔ องค์ทำไมไม่ได้ ถ้าเป็นพุทธพจน์เป็นของตายตัว ยื่นออกมามันก็ต้องรับได้หมดสิ

มันเป็นไปไม่ได้เพราะอะไร เพราะอำนาจวาสนาของคนไม่เหมือนกัน “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” ทำไมพระอัญญาโกณฑัญญะบรรลุธรรมเป็นเพราะโสดาบันล่ะ พระอัสสชิ พระมหานามะ ยังไม่ได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม สั่งสอนเป็นบุคคลขึ้นไป จนได้ทั้งหมดแล้วเป็นพระโสดาบันทั้งหมด แล้วเทศน์อนัตตลักขณสูตร ก็เป็นพระอรหันต์ทั้งหมดเลย สิ่งที่เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด เพราะเป็นอำนาจวาสนาคนต่างๆ กัน

คำว่า “พุทธพจน์” นี้ใครเป็นคนรับ พุทธพจน์เป็นความจริง แต่จิตของพระอัญญาโกณฑัญญะรับรู้ก่อน จิตของแต่ละดวง สิ่งที่จะรับรู้ความเป็นไป เพราะรับรู้ไง ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต แล้วคำว่า “พุทธพจน์” กับคำว่า “ผู้เห็นธรรม” มันต่างกันอย่างไร พุทธพจน์เป็นความจำธรรมจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วมันเห็นธรรมไหม

มันไม่เห็นธรรมสิ เวลาศึกษาขึ้นมา ศึกษามาขนาดไหน เวลาปฎิบัติไปสมาธิ ยังไม่รู้จักสมาธิเลย เพราะคิดว่าเป็นปรัชญา เป็นความว่าง เป็นความเข้าใจของตัวว่าสิ่งนี้เป็นธรรม ถ้ามันเป็นธรรม กิเลสมันต้องอยู่ไม่ได้! มันจะไม่มีม่านบัง! ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสัจธรรมนะ เรากล่าวธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ใจเราไม่เป็นธรรม ใจเราไม่รู้อะไรหรอก มันรู้ไม่ได้

ถ้ามันรู้ได้ มันก็ต้องเห็นธรรม ถ้าเห็นธรรมแล้วมันจะไม่พูดอย่างนั้น เพราะผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต คำว่าพุทธพจน์เป็นคำพูดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วตัวเองได้เห็นธรรมไหม ตัวเองได้สัมผัสกับธรรมไหม ตัวเองไม่ได้สัมผัสกับอะไรเลย ไม่รู้จักกับสิ่งใดๆ เลย ดูสิ ดูอย่างโปฐิละสิ โปฐิละมีการศึกษามาก จดจำธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มาก เทศนาว่าการนะ ลูกศิษย์ลูกหา ๕๐๐-๖๐๐ องค์นะ ไปไหนนะ มีความโอ่อ่ามาก เพราะอะไร เพราะมีลูกศิษย์ลูกหา เวลาไปกราบสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“โปฐิละ ใบลานเปล่ามาหรือ?”

“โปฐิละใบลานเปล่ากลับแล้วหรือ?”

ทำให้ตัวเองสนเท่ห์นะ ทำให้ตัวเองคิดขึ้นมา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเทศนาว่าการจะเตือนใคร ท่านมองถึงบารมี มองว่าวันนี้พระโปฐิละจะมีโอกาส เพราะอำนาจวาสนามี แต่ตัวเองไปติดคำว่าพุทธพจน์ พุทธพจน์ นี่แหละเพราะไปจำมา ไปจำธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้หมดเลย แล้วเทศนาว่าการ ดูสิ ศึกษาต่อวิชากันด้วยปาก ทุกคนจะศึกษาก็ต้องไปหาครูบาอาจารย์ใช่ไหม ท่องจำกันมา ท่องจำกันเป็นสำนักท่องจำกันมา จนถึงที่สุดนะ ใบลานเปล่า! ใบลานเปล่า!

พุทธพจน์ เราจะเอาอย่างนั้นเหรอ เราจะเอาของเปล่าๆ ใช่ไหม เราจะเอาความจำมาเฉยๆ อย่างนั้นใช่ไหม แล้วเราท่องจำให้แม่นๆ อย่างนั้นใช่ไหม แล้วมันได้อะไรขึ้นมา เพราะกิเลสเต็มหัวแล้วมันยังชักใยด้วยนะ ถ้ากิเลสชักใยอยู่เบื้องหลัง มันน่าสลดสังเวช

เพราะอย่างนี้การประพฤติปฏิบัติของนักปฏิบัติเรา มันถึงไม่เป็นความจริง พอมันไม่เป็นความจริงขึ้นมานะ มันก็อ่อนอกอ่อนใจ มันก็ท้อถอย

เราไม่คิดอย่างนั้น ในหมู่กรรมฐานของเรานะ ครูบาอาจารย์ท่านถึงบอกว่า ศาสดาองค์เอก ให้คิดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ถ้าคิดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง อ่านประวัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ แล้วเราจะสลดสังเวชขนาดไหน เวลาท่านบอกถึง ๑๐ ชาติ สิ่งที่ท่านสร้างสมบุญญาธิการมา แล้วเวลาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธิถะแล้วยังโดนพระเจ้าสุทโธทนะพยายามจะเอาไว้ในราชวัง ด้วยอำนาจวาสนาเห็นนางสนม เวลาเล่นดนตรีแล้วนอน เห็นเป็นซากศพ เห็นเป็นต่างๆ มันสะเทือนใจนะ

เหมือนเวลาเรามีความทุกข์ขึ้นมา เราไปติดกับสิ่งใดขึ้นมา เราจะคอตกไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านผ่านประสบการณ์อย่างนั้นมา เวลาท่านออกค้นคว้าของท่านมา ๖ ปี ศึกษาขนาดไหน ดูสิ การทรมานตนในสมัยพุทธกาล ในสมัยปัจจุบันยังมีนะ กำจนเล็บทะลุหลังมือเลย ยืนอยู่เฉยๆ จนปลวกขึ้นมาถึงเอว ยืนกินลมอย่างนั้นทรมานตน ไปศึกษามาทั้งนั้น

ทีนี้เราไม่ได้คิดอย่างนั้นสิ เราคิดโดยกิเลส อัตตกิลมถานุโยค คือการนั่งสมาธินี่แหละ การประพฤติปฏิบัติเป็นอัตตกิลมถานุโยค มันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าของศาสนา เป็นเจ้าของความรู้ความเห็นเรื่องมัชฌิมาปฏิปทา ในเมื่อมัชฌิมาปฏิปทา เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราไปประพฤติปฏิบัติจากที่ไหนล่ะ เราก็ประพฤติปฏิบัติจากธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธุดงควัตร ถือเนสัชชิก ฉันมื้อเดียว ฉันอาสนะเดียว ฉันหนเดียว มันก็มาจากธรรมวินัยทั้งนั้น แล้วมันจะเป็นอัตตกิลมถานุโยคไปได้อย่างไร

แต่ถ้าเราปล่อยตัวสิ เราปล่อยตัวของเรานี่เป็นกามสุขัลลิกานุโยค เราถือว่ากิเลสชักใย พุทธพจน์ พุทธพจน์ เบื้องหลังก็บังเงากัน บอกว่านี่เป็นอัตตกิลมถานุโยค เป็นการประพฤติปฏิบัติให้ตนลำบากเปล่า ลำบากเปล่าเพราะเขาไม่เคยเห็นธรรม ลำบากเปล่าเพราะเขาไม่รู้คุณค่าของธรรมวินัย ลำบากเปล่าเพราะเขาไม่รู้คุณค่าของข้อวัตรปฏิบัติ

ข้อวัตรปฏิบัติเป็นเครื่องขัดเกลา กิเลสมันเต็มหัวนะ ทิฏฐิมานะ ใครมีการศึกษามาก ใครรู้มากจะอวดว่าตัวเองเก่ง ตัวเองรู้ ตัวเองเก่งแล้วเอาตัวรอดได้ไหม ตัวเองเก่งทำไมไม่มีสติสัมปชัญญะเลย ตัวเองเก่งทำไมการแสดงออกมาขาดสติสัมปชัญญะขนาดนั้น ตัวเองเก่งทำไมเลินเล่อขนาดนั้น

การเลินเล่อ การเหม่อ การลอย มันบ่งบอกถึงว่าไม่มีสติ แล้วบอกว่าตัวเองรู้ รู้อะไร มันเหม่อลอยขนาดนั้นมันจะรู้ได้อย่างไร สิ่งที่มันรู้มันต้องมีสติสัมปชัญญะใช่ไหม มันต้องตั้งตัวของเราใช่ไหม ถ้าเราตั้งตัวของเราขึ้นมา มันไม่เป็นอัตตกิลมถานุโยคหรอก

อัตตกิลมถานุโยค สมัยพุทธกาล ในสมัยปัจจุบันนี้ฮินดูเขาก็ยังทำของเขาอยู่ทั้งนั้น คำว่า “อัตตกิลมถานุโยคคือทรมานตนให้ลำบากเปล่า แล้วไม่มีอะไรติดไม้ติดมือมา” คือมันไม่ได้อะไรเลย มันทำตนให้เป็นวัตถุธาตุอันหนึ่ง ดูภูเขาเลากาสิ ดูสิ ต้นไม้บนภูเขา เวลาลมพัด ลมมันก็ธรรมดา แล้วเราทำตัวอย่างนั้น

เพราะอะไร เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจ กิเลสไม่ได้อยู่ที่กาย กิเลสไม่ได้อยู่ที่วัตถุต่างๆ กิเลสอยู่ที่ใจ แล้วจะเอาอะไรไปชำระมันล่ะ สิ่งที่เอาไปชำระมัน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันถึงเกิดที่ใจไง ถ้าเกิดที่ใจนะ เราถึงตั้งสติให้เป็นคุณงามความดีของเรา ให้เป็นความจริงของเราขึ้นมา ถ้ามันจะเป็นความจริงของเราขึ้นมา กำหนดพุทโธ เพราะในการประพฤติปฏิบัติทุกแนวทาง สิ้นกระบวนการของมันคือสมาธิทั้งนั้น

แต่เพราะเขาไม่รู้จักว่าสมาธิเป็นอย่างไร เขาถึงติดว่าเป็นนิพพาน เขาถึงติดว่าของเขาเป็นความว่าง ของเขาเป็นสุญตา มันจะสูญไปไหน มันไม่ได้มีกิจญาณ ไม่มีการกระทำ มันสูญไปไม่ได้ ถ้ามันจะสูญขึ้นมา มันต้องมีศีล ศีลคือความปกติของใจ ถ้าใจปกติอยู่ขึ้นมา ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงวางศีลไว้ก่อนเลย ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ศีลเป็นความปกติของใจเพราะมีศีลมีข้อวัตร มีศีลขึ้นมามันก็มีรั้วกั้นให้เราไม่เป็นอิสระ

คำว่าอิสระนี่นะมันเป็นพลังงาน จิตนี้เป็นพลังงานส่งออกตลอดเวลา ผู้รู้ส่งออกตลอดเวลา แล้วมันมีกิเลส มีอวิชชา มันขับดัน พอมันขับดันไป มันก็ต้องการตามแรงปรารถนาตัณหาความทะยานอยาก สิ่งที่เป็นตัณหาทะยานอยากมันเป็นตามจริตนิสัยของคน คนที่โทสจริต โมหจริต โลภจริต มันจะขับดันไปตามแรงขับของกิเลส มันคิดไปตลอดเวลา

ถึงต้องมีศีลกำหนดมัน ล้อมรั้วมันไว้ ล้อมรั้วใจไว้ ในการเป็นชาวพุทธอย่างน้อยต้องมีศีล ศีลเพื่ออะไร เพื่อความปกติของใจ ศีลเพื่อไม่ให้สังคมเดือดร้อน สังคมมีความขัดแย้งกัน เพราะต่างคนต่างมีศีล ต่างคนต่างเป็นคนดี จะขัดแย้งกันได้อย่างไร แต่นี่มันอ้างไง กิเลสมันชักใยไง ในเมื่อกิเลสมันชักใย ศีลคือศีลไง ศีลคือข้อบังคับแต่ตัวเองเป็นสูญ ตัวเองมีแต่ทำลายตัวเอง ตัวเองมีแต่หาสิ่งทุศีล สิ่งใดเป็นสิ่งทุศีล สิ่งใดที่เป็นโทษ นั่นล่ะใจมันจะคว้าใจมันจะทำ ใจมันจะคิด ใจมันจะต้องการ ต้องการตามแรงขับของตัณหาความทะยานอยาก อย่างนี้หรือพุทธพจน์!?

ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามีศีลขึ้นมามันต้องหักห้ามใจเรา พุทธพจน์มันอยู่ที่ใจ ธรรมะมันอยู่ที่ใจ ถ้าธรรมะมันอยู่ที่ใจ มันย้อนกลับมาอยู่ที่นี่ ถือศีลให้บริสุทธิ์ ถ้าศีลบริสุทธิ์ ศีลเป็นข้อบังคับ ตั้งสติไว้ มีสติสัมปชัญญะ มันเป็นศีลโดยสมบูรณ์ ศีลคือความปกติของใจ ถ้ามีศีลความปกติของใจใช่ไหม มันจะมีข้อเปรียบเทียบ ถ้าจิตเราเป็นสมาธิ เรารังแกใคร เราจะคิดอย่างไร นั่นมันผิดศีล ถ้ามันไม่ผิดศีล มันก็ไม่ออกนอกลู่นอกทาง

การกระทำทั้งหมดในการประพฤติปฏิบัติทั้งหมด ขบวนการของมันคือสมถะ คือปล่อยวาง คือความว่าง แต่เป็นความว่างที่มีสติ ความว่างที่มีคนรับรู้ ความว่างที่มีเจ้าของ นี้เพราะมีสติ แต่นี่ไม่มีสติเพราะความเข้าใจผิด

เข้าใจผิดว่า ความว่างนั้นเป็นนิพพาน เข้าใจผิดว่าความว่างนั้นเป็นผล ในเมื่อว่าความว่างเป็นผล มันขาดสติ เพราะมันเป็นความเข้าใจผิด เข้าใจผิดคืออะไร คือมิจฉาทิฏฐิ ความมีมิจฉาทิฏฐิ ในสิ่งที่เป็นความว่างก็เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะมีมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิด เพราะอะไร เพราะกิเลสมันชักใยพุทธพจน์ มันไม่เป็นความจริง

แต่ถ้าเรามีครูมีอาจารย์ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านเป็นผู้ชี้นำมา สิ่งที่ชี้นำมา ศีล สมาธิ ปัญญา ท่านถึงต้องทำให้จิตเป็นปกติก่อน ถ้าทำให้จิตเป็นปกตินั่นคือสมาธิ สิ่งที่เป็นสมาธิทำให้จิตมันมีกำลัง ถ้าจิตมีกำลังขึ้นมามันจะออกไปใคร่ครวญในสติปัฏฐาน ๔ มันถึงจะเป็นวิปัสสนา ขั้นของสมาธิ ขั้นของปัญญา

“สมาธิก็ไม่จักรู้จักสมาธิ ปัญญาก็ไม่รู้จักปัญญา อ้างว่าพุทธพจน์”

มันเป็นคำพูดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นกแก้วนกขุนทองมันก็พูดได้ สอนนกมันพูด มันก็พูดเป็น นกมันพูดแล้วมันเข้าใจอะไร นี่ก็เหมือนกันเราไปศึกษามา เราก็อ่านพุทธพจน์ อ่านออกแต่ไม่รู้ความหมาย สมาธิก็ไม่รู้จักสมาธิ ปัญญาก็ว่าเรานี่แก่กล้า เรามีความรู้มาก เรามีปัญญามาก ปัญญาอย่างนี้เขาเรียกว่าโลกียปัญญา ถ้าทางโลกมันเป็นวิชาชีพ ดูสิ ดูพระปฏิบัติมา พระศึกษามา ศึกษามาทำไม ก็ศึกษาเอามาเขียนตำราขายไง แปลบาลีมาทำไม ก็แปลบาลีมาเขียนตำรากันไง มันเป็นวิชาชีพไหม

เขาไม่ได้เรียนมาเป็นวิชาชีพ เขาเรียนมาแก้กิเลส เขาเรียนมาเพื่อประพฤติปฏิบัติ ถ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นี่ไง “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” ไม่ใช่ว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นแบงค์ เห็นเงิน เห็นทอง เห็นลาภสักการะ แย่งตำแหน่ง แย่งความดีความชอบกัน นี่เหรอพุทธพจน์

พุทธพจน์ให้เสียสละใช่ไหม ให้ทาน ศีล ภาวนา ให้มีการเสียสละ มีการโอบอ้อมอารี ให้มีการดูแลเกื้อกูลกัน เป็นผู้ใหญ่ก็ดูแลผู้น้อย เป็นหัวหน้าก็ดูแลลูกน้อง ผู้ใหญ่ต้องดูแลผู้น้อย ผู้ที่มีกำลังมากกว่าต้องดูแลผู้ที่อ่อนแอกว่า พุทธพจน์สอนอย่างนั้น พุทธพจน์ไม่ได้สอนให้มาแย่งกัน พุทธพจน์ไม่ได้สอนให้หาผลประโยชน์

สิ่งที่เป็นผลประโยชน์นี่กิเลสมันชักใยไง ถ้ากิเลสมันชักใยอยู่เบื้องหลัง อ้างพุทธพจน์ สิ่งต่างๆ อย่างนี้ถ้าอ้างพุทธพจน์มีเหตุมีผล เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมาธิใครๆ ก็พูดได้ เด็กก็พูดสมาธินะ เด็กมันก็พูดปัญญา แต่มันรู้จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ นี่ก็เหมือนกัน เราก็อ้างพุทธพจน์ มันก็เหมือนกับขี่หลังเสือไง อ้างอิงไปเรื่อย แต่ถ้าพูดถึงธรรมะปฏิบัตินะ เวลาพูดออกมาถ้าไม่มีธรรมนะ มันเหมือนหมาห่มหนังเสือ มันคิดว่ามันจะคำรามบันลือสีหนาทไง แต่มันเห่าออกมาเป็นเสียงหมา

เสียงหมาไม่ใช่เสียงเสือ เพราะมันไม่มีข้อมูล มันไม่รู้ตามความเป็นจริง ในเมื่อแสดงออกมามันไม่เป็นธรรมหรอก ไม่เป็นธรรมแต่เป็นสัญญาไง เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง แล้วแก้ไขได้ไหม มันแก้ไขไม่ได้หรอก มันไม่รู้ความเป็นจริง ถ้ารู้ตามความเป็นจริงนะ มันแสดงออกมานี่มันสะเทือนหัวใจเรานะ ถ้าเราติดในตัวเรา เราไม่รู้ไม่เข้าใจในตัวเรา เราพูดสิ่งใดไปมันเป็นตรรกะ มันจะตรงกับความรู้สึกเขาไหม มันจะตรงกับความเห็นเขาไหม มันวิตกวิจาร มันติดตัวเองก่อนไง มันต้องขออนุญาตกิเลสก่อนมันถึงจะพูดนะ เพราะพูดเพื่อประจบสอพลอ พูดเพื่อเอาอกเอาใจเขา พูดเพื่อให้เขาเข้าใจว่า “ฉันมีธรรม”

อวิชชา อวิชชาน่ะ ศีลสักตัวมันยังไม่รู้จักเลย ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันเคยรู้จักไหม ถ้ามันรู้จักมัน มันจะบอกว่าว่างๆๆ ทำไม ถ้ามันรู้จักว่างๆ นะ สมาธิมันว่างอย่างไร ทำไมมันเป็นอย่างนั้น ทำไมมันถึงเป็นความว่าง สมาธิเป็นอย่างไร ถ้าเป็นสมาธิขึ้นมาแล้วมันเป็นความสุขขนาดไหน

แล้วมันจะบอกว่าเป็นสุญตาได้อย่างไร มันจะบอกว่าเป็นความว่างได้อย่างไร มันจะบอกว่าเป็นนิพานได้อย่างไร เพราะมันมีทุกข์ในหัวใจ นั่งทับกิเลสไว้ นั่งทับความทุกข์ไว้ อ้างอิงนะทำ หน้าชื่นตาบาน แต่ในหัวใจมันว้าเหว่ ในหัวใจมันทุกข์ร้อนมาก ทุกข์ร้อนในหัวใจของเรา แต่ทำหน้าชื่นตาบานไปอย่างนั้นเอง ด้วยมารยาทสังคม

แต่ถ้าเราอยู่ของเราด้วยตัวของเราเอง เราพยายามต่อสู้กับเราเอง อย่าให้กิเลสมันอ้างพุทธพจน์ กิเลสมันเป็นกิเลส พุทธพจน์เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราต้องซื่อสัตย์ เราต้องประพฤติปฏิบัติ โดยที่อุปัชฌาย์อาจารย์ท่านสอนไว้แล้ว เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ท่องก็ได้ ท่องเกสา โลมา นขา ทันตา ก็ได้ ท่องพุทโธก็ได้ ท่องเพื่ออะไร ท่องเพื่อให้เป็นคำบริกรรม ถ้าจิตไม่มีคำบริกรรมนะ จิตมันส่งออกไป

แต่ถ้าเขาใช้ปัญญาโดยที่เขายังไม่มีสมาธิขึ้นมา มันก็เป็นสัญญาทั้งนั้น มันเป็นสัญญานะ เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเห็นคติธรรมมันก็สะเทือนใจ ความสะเทือนใจอย่างนี้ ดูสิ ดูอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า ใช้มากๆ ปั๊บ มันก็มีความร้อนของมันนะ เราต้องพักเครื่องมัน นี่เหมือนกัน ใจที่เราใช้มาก ใจที่เรามีความกระทบกระเทือนมาก สิ่งใดที่มันไปซึ้งใจ มันก็ได้พักแค่นั้น มันไม่มีอะไรเข้ามาถึงใจหรอก มันไม่มีอะไรเข้าไปถึงข้อมูลตามความจริงในหัวใจได้

ฉะนั้นคำบริกรรมมันจะเข้าไปถึงข้อมูลของใจ ดูสิ ดูเวลาบุพเพนิวาสานุสติญาณ อานาปานสติ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เวลามันสงบเข้าไป กำหนดอานาปานสติไปเห็นบุพเพนิวาสานุสติญาณ ญาณหยั่งรู้ถึงบุพเพฯ ถึงอดีตสิ่งที่เคยทำมา จตูปปาญาณเห็นต่างๆ สิ่งนี้มันมี ถ้าจิตมันมี มันก็คือมี แต่ถ้าจิตไม่มี ว่างเฉยๆ ก็มี อย่างเช่น สุกขวิปัสสโก ความว่างก็ว่างกันไปปกติ ความว่างที่ไม่เห็นอะไร

ถ้าเราไปวิตกวิจาร ถ้าจิตมันสงบ ถ้าจิตมันเป็นสมถะ มันจะเห็นนิมิต มันจะเห็นสิ่งต่างๆ ไปตกอกตกใจ เห็นก็คือเห็น ในเมื่อเรากรีดหนังเรา มันต้องมีเลือดออกเป็นธรรมดา หนังเราลองกรีดดูสิ ไม่มีเลือดเป็นไปได้อย่างไร นี่ก็เหมือนกันในเมื่อจิตมันจะเข้าไปถึงเนื้อของจิต ในเมื่อสมาธิมันคือตัวจิต แล้วอาการของจิตคือผิวหนัง แล้วมันจะเข้าไป ถ้ามันจะมีเลือดบ้าง มันจะมีสิ่งใดที่เกิดขึ้นมา มันจะเป็นอะไรไป สิ่งที่มีเลือดออกมานะ มันก็เป็นการพิสูจน์ว่ามันผ่านหนังจริงหรือเปล่า

ถ้ามันมีนิมิตขึ้นมา เราก็แก้ไขสิ แต่ถ้าคนเข้าใจแล้วว่าในใต้ผิวหนังมีเลือด มีเส้นเลือดต่างๆ โดยที่มีความเข้าใจแล้ว มันก็ไม่เป็นไร คือมันไม่มีนิมิต คนที่ไม่มีนิมิตก็คือไม่มีนิมิต มันจะเป็นอะไรไป แต่มันก็สงบเหมือนกัน มันก็มีความจริงเหมือนกัน เพราะจริตนิสัยของคนมันไม่เหมือนกัน แต่ถ้าบอกว่า พอจิตเป็นสมถะแล้วมันจะเห็นนิมิต มันจะเป็นความผิด

เวลาวิปัสสนากายนะ คนที่วิปัสสนากายโดยปัญญาวิมุตติ มันไม่เห็นกายก็ได้ ก็มันไม่มีนิมิต แต่ถ้าคนที่เป็นเจโตวิมุตติ เวลาจิตสงบขึ้นมามันเห็นกายขึ้นมา นั่นก็คือนิมิต ถ้าจิตมันสงบเข้าไปแล้วนิมิตมันก็มีถูกมีผิด ถ้าเป็นนิมิต มันเป็นสิ่งที่หลอกลวงเพราะเรามีอวิชชา เรามีกิเลส มันจะหลอกลวงเพราะอวิชชา ที่ว่าพุทธพจน์กิเลสอ้าง พอมันหลอกลวงๆ มันรู้ของมัน มันไปเห็นนิมิตของมัน มันก็สร้างภาพสิ นี่เป็นอย่างนั้นๆๆ ก็อ้างอิงว่าเป็นธรรมะ เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

นี่ไง มันก็อ้างไป กิเลสมันอ้าง ถ้ากิเลสมันอ้างกับจิตเรา ขณะทำ กิเลสมันมีปัญหาของมัน มันก็ออกรู้สิ่งต่างๆ สิ่งที่เราไปออกรู้ ไปเห็นสิ่งต่างๆ นั้นน่ะมันเป็นความผิด ความผิดเพราะอะไร เพราะพลังงานส่งออกใช่ไหม เราลืมตาขึ้นมามองภาพสิ เราเห็นภาพทั้งนั้น จิตมันสงบเข้ามา เวลาจิตมันเห็น จิตมันรู้ของมัน พอจิตไปรู้สิ่งใดแล้วมันเป็นประโยชน์ไหมล่ะ

สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์จิตมันไปรับรู้ มันเป็นพลังงานที่จิตส่งออกไป เราประพฤติปฏิบัติ เราจะทำสมาธิ เราจะพักใจ เราทำสมาธิคือการพักใจให้มีกำลัง ถ้าสมาธิมันพักใจขึ้นมา พอมันมีกำลังขึ้นมา มันส่งออกไปรู้สิ่งต่างๆ เราอุตส่าห์สร้างกำลังเราขึ้นมาแล้วไปรู้สิ่งนั้น มันเหมือนกับเราใช้จ่ายฟุ่มเฟือย คือพลังงานมันส่งออก แล้วมันมีประโยชน์อะไรกับเราขึ้นมา

ใหม่ๆ จะไม่รู้นะ ถ้าเห็นนิมิตเห็นสิ่งต่างๆ อวดรู้ อวดดี เป็นผู้วิเศษได้รู้เห็นสิ่งต่างๆ มันก็ตามไปพักหนึ่ง แต่ถ้ามันมีครูมีอาจารย์คอยเตือนหนึ่ง ถ้าเป็นคนมีอำนาจวาสนาหนึ่ง มันมาคิดสิว่า สิ่งนี้มันมีประโยชน์อะไร ไปรู้มันแล้วจริงไหม มันไม่จริงอะไรเลย เพราะมันไปรู้ไปเห็นนะ เห็นคนนั้นไปเกิดที่นั่น เห็นคนนี้เป็นอย่างนี้ เห็นคนนี้เป็นอย่างนั้น เห็นต่างๆ มันไร้สาระมากเลย มันเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะมันเป็นเรื่องของคนอื่น มันไม่ใช่เรื่องของใจเรา

แต่ถ้ามันอย่างนั้นปั๊บ เรากลับมาที่พุทโธ หายหมด เพราะจิตมันออกไปเห็น จิตมันออกไปรู้ เหมือนเราลืมตา เหมือนจิตเวลามันเปิดตาขึ้นมา จิตมันจะรู้มันจะเห็นถ้าเห็นนะ ถ้าไม่เห็นมันว่างๆ เฉยๆ มีสติ ว่างๆ ว่างเฉยๆ แต่มีสติ สติจะรู้ตัวตลอดเวลา ถ้าสติขาดปั๊บตกภวังค์ เพราะจิตมันสันตติ เร็วมาก ความคิด ดูสิ เราคิดถึงโลกพระจันทร์ เดี๋ยวนี้ก็ถึงโลกพระจันทร์ ความคิดมันจะเร็ว แล้วมันพุ่งไปได้เร็วมากเร็วกว่าแสง ฉะนั้นถ้ามันเร็วกว่าแสง ความที่เร็วกว่าแสง ถ้าสติมันทันนะ สติเร็วยิ่งกว่าแสง เพราะมันสามารถเอาความคิดไว้ในอำนาจสติได้

สิ่งที่เร็วกว่าแสงแล้วสติมันทัน มันจะเอาสิ่งนั้นไว้ในอำนาจของมัน เรามีสติควบคุม มันก็หยุดของมันเรื่อย มันก็มีกำลังของมันขึ้นมาเรื่อยๆ กำลังมันจะมีขึ้นมา ถ้ามันจะไปรู้เห็นสิ่งต่างๆ เราย้อนกลับมาพุทโธๆๆ ย้อนจิตกลับมาที่นี่ ย้อนจิตกลับมาที่ฐาน ที่พุทโธ ภาพที่เห็นเป็นนิมิตนี่จะหยุดหมด ดับได้เพราะจิตมันเห็นจิตมันรู้ ถ้าเรามีสติปั๊บ เราดึงกลับมา มันจะจบหมดเลย

แต่ขณะที่จิตสงบ เราก็พยายามทำให้มันมีความชำนาญในวสี ให้มีกำลังมากขึ้น พอมีกำลังมากขึ้น มันจะเป็นเอกัคคตารมณ์ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ มันเกิดปีติ สิ่งที่เกิดปีติ ถ้ามันเป็นข้อเท็จจริง เกิดปีติไปรู้ ปีตินี่นะมันจะเกิดขนพองสยองเกล้า เกิดตัวเบา เกิดอาการต่างๆ เกิดอาการรู้วาระจิตคนอื่น เกิดรู้ไปหมด เห็นสิ่งต่างๆ มันเป็นปีติ สิ่งนี้มันเป็นข้อเท็จจริงไม่ใช่กิเลสหลอก ไม่ใช่กิเลสมันอ้าง มันเป็นความจริง

ถึงเป็นความจริงก็ไม่เป็นประโยชน์ เป็นความจริงเพราะอะไร ดูสิ เรามีแบงค์ปลอมเราไปใช้ที่ไหนเราต้องแอบซ่อนเขา เพราะเรารู้ว่าแบงค์ของเราปลอม เราต้องการสินค้า เราต้องเอาแบงค์ปลอมไปซื้อของเขา เราต้องแอบทำใช่ไหม แต่ถ้าเรามีแบงค์จริงขึ้นมา เราจะไปซื้อของเขา เราจะซื้อด้วยความองอาจกล้าหาญใช่ไหม เพราะแบงค์ของเราจริง

นี่ก็เหมือนกัน นิมิตที่มันปลอม นิมิตที่มันไม่มีคุณค่าคือแบงค์ปลอม แต่ถ้ามันเป็นปีติมันเหมือนเงินจริง แต่เงินจริงจะใช้จ่ายฟุ่มเฟือยก็ไม่ได้ การที่มีปีติแล้วมันไปรู้ มันก็ไม่เป็นประโยชน์ เพราะเราจะไม่ใช้จ่ายเงินนั้น เราหาเงินนั้นเพื่อเก็บ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ มันผ่านปีติเข้าไป มันจะเป็นความสุข ผ่านความสุขเข้าไปมันจะเป็นจิตตั้งมั่น จิตตั้งมั่นจิตมีกำลังแล้วน้อมออกไป น้อมออกไปเห็น พยายามน้อมออกไปที่กาย ถ้าเห็นกายอย่างนี้มันไม่ใช่นิมิต มันเป็นสัจธรรม เพราะจิตมันสงบ มันเป็นอุคคหนิมิต

ในตำรา ในพุทธพจน์ ในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นอุคคหนิมิต แล้วก็วิภาคะ สิ่งที่เป็นนิมิต นิมิตคือจิตเห็น จิตเห็นต่างๆ จากภายนอก แต่นี่ไปเห็นกาย ถ้าเห็นกายมันไม่เป็นโทษ เห็นกายมันเป็นอริยสัจ อริยสัจคืออะไร คือกาย สติปัฎฐาน ๔ ไง ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ถ้าจิตมันเห็น มันเริ่มวิภาคะ เริ่มมีการขยายส่วนแยกส่วนด้วยกำลังของจิต ถ้าจิตมีกำลังนะมันจะขยายส่วนแยกส่วนให้มันแปรสภาพ ให้มันเป็นไตรลักษณ์ ลักษณญาณ แต่ถ้ามันเป็นไปไม่ได้ คือจิตมันอ่อนแอ จิตไม่มีกำลัง ก็กลับมาที่พุทโธ ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาที่พุทโธ ทำจิตให้มันสงบเข้ามา

นี่ไง ถ้ามันเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาเป็นอย่างไร ปัญญาคือข้อมูลของใจที่มันเทียบเคียง เพราะในความเห็นของจิตใต้สำนึกของมนุษย์ที่เกิดมา มันมีความเห็นผิดในสักกายทิฏฐิ คำว่าทิฏฐิ ทิฏฐิคือสิ่งที่ฝังอยู่ในหัวใจ ทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ ความคิดถูก ความคิดผิด สัมมาทิฏฐิมันคือความถูกต้อง นี่พุทธพจน์ สัมมาทิฏฐิ เราก็คิดดีอยู่แล้ว เราก็ทำดีอยู่แล้ว มันก็เป็นพุทธพจน์ พุทธพจน์โดยกิเลสมันอ้าง เพราะกิเลสมันยังไม่โดนทำลาย พุทธพจน์นี่กิเลสอ้างนะ เพราะกิเลสมันยังไม่ได้เป็นความจริง กิเลสมันเป็นกิเลสของเรา

แต่ถ้าเราศึกษา เรามีการกระทำขึ้นมา ปริยัติ ปฏิบัติ การปฏิบัติทำจิตให้สงบเข้ามา มันเข้าไปถึงข้อมูลของจิต จิตที่มันมีอวิชชา ทิฏฐิความเห็นผิดมันอยู่ที่ใจ ทีนี้มันเข้าไปชำระ เข้าไปทำลาย เข้าไปชำระด้วยปัญญา ปัญญามันเห็นกาย มันวิปัสสนากายให้เป็นวิภาคะ แยกส่วนขยายส่วน มันเป็นทิฏฐิ ที่มันฝังอยู่ มันจางลงจางลง เป็นตทังคปหาน ทำบ่อยครั้งบ่อยครั้ง ตรวจสอบทดสอบบ่อยครั้งเข้า อย่าชะล่าใจ อย่าชะล่าใจนะ เราต้องหมั่นตรวจหมั่นสอบของเรา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบุญญาธิการมาเป็นพระโพธิสัตว์เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังรื้อค้นอยู่ ๖ ปี เราเป็นใคร เราเป็นสาวกสาวกะผู้ได้ยินได้ฟัง สาวก ชาวพุทธ พุทธศาสนา เราเป็นสาวกสาวกะผู้ได้ยินได้ฟัง ได้ยินได้ฟังแล้วต้องพยายามฝึกฝน พยายามประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ไม่ใช่ว่าพุทธพจน์แล้วกิเลสมันฝังอยู่เต็มหัวใจ พุทธพจน์แล้วเราต้องเอามาฝึกเอามาซ้อม พุทธพจน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าน่ะจริง แต่ต้องฝึกต้องซ้อมตามข้อเท็จจริง

อย่าให้กิเลสมันแอบอ้าง พุทธพจน์กิเลสมันแอบอ้าง เราทำกันล้มลุกคลุกคลาน ทำไปสักแต่ว่าทำ เหมือนขอนไม้ท่อนซุง ทำไปโดยแบบไม่รับรู้สิ่งใด ทำใจให้มันเป็นเหมือนท่อนไม้ท่อนซุง เหมือนกับแร่ธาตุอันหนึ่ง แล้วก็ภูมิอกภูมิใจกันนะ แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติแบบกรรมฐานเรา ถ้าจิตมันไม่สงบเข้ามา เราจะรู้อย่างไรว่าเราจะแก้กิเลสอย่างไร เราจะหาตัวตนเราที่ไหน

ทุกคนอยากได้ผลในการประพฤติปฏิบัติ แล้วใครเป็นคนปฏิบัติล่ะ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนานี่ใคร ก็ตัวตนเราประพฤติปฏิบัติ ตัวเราเป็นใคร ตัวเราเป็นผิวหนังใช่ไหม เดินจงกรมอยู่นี่มีแต่ฝ่าเท้าเหยียบไป เย็น ร้อน อ่อน แข็ง อยู่นี่ นั่งสมาธิก็ก้นด้าน มันเป็นใครนั่งล่ะ มันเป็นเรานั่ง เรากายกับใจเป็นอันเดียวกัน

แต่พอเวลาจิตมันสงบเข้ามา อัปปนาสมาธิ จิตมันหดเข้ามาจนไม่รับรู้กายเลยนะ แล้วมันมีความสุขแค่ไหน มันจะมีความร่มเย็นแค่ไหน สมาธิก็เป็นสมาธิไง อัปปนาสมาธิสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเลย อุปจารสมาธิพอเข้าไปรู้แล้ว พอมันสงบเข้าไปมันจะออกรู้สิ่งต่างๆ รู้อย่างไร แล้วจะควบคุมมันอย่างไร ควบคุมกำหนดอย่างไร จิตมันสงบแล้วมันสว่างวับขึ้นมา มันสว่างโพลงขึ้นมา แล้วตามความสว่างไปได้ไหม ถ้าตามความสว่างไป มันก็หมดเลย ออกไปไม่มีที่สิ้นสุด แล้วเดี๋ยวมันก็เสื่อม

มันต้องกลับมาที่พุทโธ กลับมาที่จิต รั้งจิตไว้ สิ่งสว่างมันสว่างขนาดไหน เดี๋ยวมันก็หดมาที่ใจเรา หดกลับมาที่ต้นเหตุ พอกลับมาที่ต้นเหตุ พอจิตมันจะออกวิปัสสนาสิ่งใด มันมีกำลังไง ถ้าไม่มีศีล สมาธิ ปัญญา ก็พุทธพจน์กิเลสอ้างทั้งนั้น แต่ถ้ามันเป็นสมาธิ มันเป็นฐานขึ้นมา เดี๋ยวตัวเองจะเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต คนทำจริง คนรู้จริงขึ้นมา มันถึงเป็นความจริง กราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยหัวใจ

เพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกแนวทางไว้ ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวัดระยะไว้ แล้วเราเดินทางไป เดินทางตามระยะทางที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ แล้วพอมันเข้าไปถึงจุดเป้าหมายปลายทาง เราจะซึ้งใจองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม นี่มันถึงเป็นข้อเท็จจริง

ไม่ใช่พูดแต่ปาก หัวใจด้าน หัวใจมีแต่ความทุกข์นะ เราต้องซื่อสัตย์กับตัวเราเอง เราฟังธรรม ภาคปฏิบัติมันทิ่มเข้ามาในหัวใจเรานะ หัวใจเราต่อต้านไหม แม้แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษามาแล้ว “อื้ม หมดยุคหมดกาลหมดสมัย มันจะจริงหรือไม่จริง”

นี่กิเลส พุทธพจน์กิเลสมันอ้างอิง อ้างชักนำ แล้วก็ว่าเป็นชาวพุทธ ยิ่งในยุคปัจจุบันนี้ การประพฤติปฏิบัติในครูบาอาจารย์เรากำลังเจริญรุ่งเรือง ผู้ใดปฏิบัติเห็นไหมมีคุณธรรมก็กราบไหว้บูชากัน แต่ถ้าไม่มีใครประพฤติปฏิบัติ ไปปฏิบัติเขาก็หาว่าคนบ้าอีก เขาไม่ทำกัน เขาอยู่ในวัดในวาสงบเสงี่ยม เขาอยู่ด้วยความสุขสบายของเขา นี่พระอะไรออกไปธุดงค์ ออกไปเที่ยวป่าเที่ยวเขา มันจะหาความทุกข์มาใส่ตัวทำไม

เวลาถ้ามันไม่สนใจนะ พอเห็นคุณธรรมของครูบาอาจารย์ของเรา ธรรมที่ครูบาอาจารย์เราได้มา ได้มาจากไหน ก็ได้มาจากท่านค้นคว้าของท่าน ออกป่าออกเขาไปก็เพื่อหาใจ ออกธุดงค์ไปเพื่อหาใครล่ะ มันทุกข์ มันว้าเหว่ มันวิเวก มันอาลัยอาวรณ์ ทั้งนั้นเลยเวลาไปอยู่คนเดียวนะ ไปอยู่ในป่าในเขาคนเดียวไปคอตกอยู่ในป่าในเขานะ ไปทำไม ? ก็หามัน หามันให้เจอ นี่ไง หามันคือใคร

ถ้าเจอจิตก็เจอสมาธิ สมาธิกับจิตมันก็เหมือนกันนั่นล่ะ ถ้ามีสติขึ้นมา พอสงบขึ้นมา นี่ไง หาไอ้ตัวนี้หามาตลอดเลย แล้วเวลาจะหามันเจอนะ จะอยู่ในที่คลุกเคล้าก็หามันไม่เจออีก ต้องแยกตัวมันออกมา พอเจอขึ้นมาแล้วจะให้มันทำอะไร ถ้ามีสติ เราหามันเจอแล้ว เราควบคุมมันได้ เราจะทำอย่างไร

แต่ถ้าไม่มีสตินะ ว่างๆ ว่างๆ จนเผลอว่านี่คือนิพพานนะ เผลอไปนะว่าเราบรรลุธรรม เพราะจิตมันว่างๆ จิตมันจับต้องสิ่งใดไม่ได้ นี่ไงธรรมะขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า นิพพานเป็นความว่าง นี่ก็เป็นความว่าง ไร้สาระมาก นี่ไง เพราะกิเลสมันอ้างอิง กิเลสมันอ้างกันไป

แต่ครูบาอาจารย์ที่ท่านผ่านมาแล้ว ขณะจิตที่มันเปลี่ยนไป โสดาบัน สกิทา อนาคา พระอรหันต์นี่มันมีความเป็นไปของมัน พูดถูก มันต้องถูกเหมือนกันหมด สัจธรรมมีอันเดียว สัจธรรมไม่มีสอง จะปฏิบัติแนวทางไหนก็แล้วแต่ เวลาประพฤติปฏิบัติตามจริตนิสัย ตามบารมีที่สร้างมา ปฏิบัติง่ายรู้ยาก ปฏิบัติยากรู้ง่าย ปฏิบัติไปมันมีขั้นมีตอน มันแล้วแต่อำนาจวาสนานะ เหมือนเราทำบุญมา เกิดมาสูงต่ำดำขาวไม่เท่ากัน แต่มีหัวใจเหมือนกัน มีร่างกายเหมือนกัน แต่ทำไมไม่เหมือนกันล่ะ

มันไม่เหมือนกัน ก็เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมาบุญกรรมมันสร้างมา แล้วในเรื่องของปัญญาก็เหมือนกัน เรื่องของจิตก็เหมือนกัน ถ้าเรื่องของจิตมันสูงต่ำดำขาวนะ คือมันสูงด้วยจิตใจมันสูง ต่ำคือใจมันต่ำ ดำขาวนี่กุศลอกุศล ถ้ามันเป็นอกุศล มันคิดอย่างไร มันก็คิดอกุศลวันยังค่ำ ถ้ามันเป็นกุศล มันมองอะไร มันก็เป็นกุศล กุศลเป็นความดีความชอบไปหมด สิ่งที่มันคิดเป็นกุศลไปหมด มองโลกในแง่ดีไป จิตใจสูง จิตใจมีเมตตา จิตใจที่ทำอะไรมันเป็นแง่บวก จิตใจต่ำ มันก็ต่ำช้าต่ำทราม คอยกีดขวางเขาไป คอยทำลายเขาไป

คนเหมือนกันทำไมไม่เหมือนกันล่ะ แล้วประพฤติปฏิบัติกันแต่ละแนวทางมา คนจิตใจมันต่ำจะทำอะไร มันก็ทำแต่เรื่องต่ำๆ คนจิตใจมันสูงมันก็ทำเรื่องสูงๆ สูงๆ คืออะไร สูงๆ คือมันระวังตัวมันไง มันมีสติสัมปชัญญะไง มันรักษาใจของมัน รักษาใจเพื่อให้ใจมีหลักมีเกณฑ์ ให้ใจมีหลักมีฐาน ถ้าใจมีหลักมีฐานมันเป็นประโยชน์กับใคร ก็เป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น ใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่งนะ ผู้ประพฤติปฏิบัติถ้าใจเป็นธรรมขึ้นมาแล้วนะ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เป็นที่พึ่งของเราแล้วเป็นที่พึ่งของหมู่คณะ

ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้มาองค์เดียว สอนตั้งแต่พรหมลงมาเลย สอนได้สามโลกธาตุ ครูบาอาจารย์บรรลุธรรมขึ้นมาแต่ละองค์เป็นประโยชน์กับโลกขนาดไหน นี่ไง อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าเอาตนได้ เอาใจให้ได้ก่อน ถ้าเอาใจของเราได้ก่อน มันเป็นประโยชน์กับโลกมหาศาลเลย มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข

ผู้มีศีลมีธรรมอยู่ที่ไหน ฝนฟ้าจะตกต้องตามฤดูกาล สิ่งต่างๆ มันจะดีขึ้นไปหมด มันจะฉุดรั้งกันขึ้นมา เพราะอะไร เพราะสิ่งที่ดี คนดีผีคุ้ม คนที่มีคุณธรรมสิ่งต่างๆ คุ้มครอง มันก็ร่มเย็นไปโดยธรรมชาติของมัน แต่ใครจะมีดวงตาเห็นล่ะ เรามันดวงตาบอด มันก็ตาของโลกไง แล้วตาของโลกก็ไม่เชื่อ พูดสิ่งนี้มันพูดสิ่งที่เหลวไหล พูดจริงเป็นวิทยาศาสตร์สิ พูดสิ่งที่พิสูจน์กันได้สิ

นี่! เวลาปัญญาโลกมันจะคิดอย่างนั้นไง นี่มันโคตรวิทยาศาสตร์เลยนะ ธรรมะโคตรวิทยาศาสตร์เลย วิทยาศาสตร์มันมีอะไร วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่พิสูจน์กันขึ้นมา แล้วแร่ธาตุมันเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา มันจะมีทฤษฎีใหม่มาลบล้างทฤษฎีเก่าตลอดไป

แต่สัจธรรม พระศรีอาริยเมตไตรยก็จะมาตรัสรู้อันนี้ อนาคตวงศ์ก็จะมาตรัสรู้อย่างนี้ เพราะอะไร เพราะมันเป็นมรรคญาณ มันเป็นการชำระกันที่จิต มันเป็นการชำระที่หัวใจ เพราะปฏิสนธิจิต มันเกิดในวัฎฎะ มันจะเวียนตายเวียนเกิด มันไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าธรรมะไปลบล้างอวิชชาจนไม่มีแรงขับ มันถึงพ้นออกไป นี่ไงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่พระอรหันต์ที่ออกจากวัฎฎะนะ

แต่ก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ขึ้นมา ไปศึกษากับเขานะ มันหันเข้าวัฎฏะ หันเข้าโลก หันเข้าโลกธรรม หันเข้าสิ่งสรรเสริญของโลกเขา แต่พระอรหันต์หันออกนอกวัฎฏะ สิ่งนี้มันเป็นเศษเดน มันเป็นของเหลือทิ้ง สอุปาทิเสสนิพพาน โลกธรรม ๘ มันมีสรรเสริญนินทา มันเป็นของเหลือทิ้ง ของเหลือเดน ของที่ไม่รับรู้ แต่โลกมองกันไม่ออก โลกมองไม่เป็นว่าใจของใครมันจะทิ้งได้ถ้าทิ้งได้ขึ้นมา เรื่องของโลกก็คือเรื่องของโลก จะมีอะไรไปติดมัน มันติดไม่ได้เพราะใจมันสูงส่ง ใจมันหลุดพ้นออกไปแล้ว หลุดพ้นออกไปแล้วด้วยวิธีการใด

นี่ไง พระอรหันต์ต้องรู้วิธีการ ถ้าไม่รู้จักวิธีการเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกิทาคา เป็นพระอนาคา จะเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาอย่างไร สิ่งที่เป็นครูบาอาจารย์มันต้องสอนเขา นี่ไงมันเป็นที่พึ่งไง จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ใจของผู้ที่บรรลุธรรมขึ้นมา สิ่งนี้มันเป็นจริง ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ถ้าเห็นตถาคต เห็นตั้งแต่ตอนไหน ?

เห็นตั้งแต่สมาธิธรรม นี่ไง สมาธิธรรม ปัญญาธรรม สัมมาทิฏฐิ สัมมากัมมันโต สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สิ่งต่างๆ มันเป็นสัมมา มันรวมตัวอย่างไร มรรคญาณมันรวมตัวอย่างไร มันทำอย่างไร นี่ต่างหากอริยสัจ มรรคญาณมันสำคัญมาก ถ้ามันไม่สำคัญ มันจะไม่ไปรู้ไปเห็นสิ่งต่างๆ หรอก สิ่งที่ไปรู้ไปเห็น เว้นไว้แต่เห็นกาย เห็นกายมันเห็นอริยสัจเพราะอะไร เพราะเราเห็นกาย เห็นกายเพราะอะไร เพราะจิตมันติดที่กาย สักกายทิฏฐิก็ติดเรื่องที่กาย กามราคะก็ติดเรื่องที่กาย กายทั้งนั้น สิ่งที่สัมผัสได้ทางโลกๆ มันสัมผัสกันได้ โอฆะ สิ่งที่เป็นโอฆะข้ามพ้นยาก

ถ้าหัวใจมันข้ามพ้นล่ะ ข้ามพ้นจากโอฆะ มันจะเอาอะไรไปข้าม มันก็ข้อวัตรปฏิบัตินี่ไง มรรคญาณนี่ไง สิ่งที่เป็นธรรมจักร สิ่งที่เป็นคุณธรรม มันจะยกใจนี้ให้ข้ามพ้น ข้ามพ้นจากโอฆะสิ่งที่เกิดในวัฎฏะ เกิดในกามภพ สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมาจากไหน เราต้องฝึกฝน เราต้องมีการกระทำ ถ้าพูดถึงศึกษาธรรมขึ้นมานะ เราพอพูดถึงมรรคผลนิพาน ก็บอกว่า สุดเอื้อม จะพูดอะไร มรรคผลนิพานเชียวเหรอ พูดธรรมะก็พูดถึงแต่บุญกุศลก็พอ

โลกเขาคิดอย่างนั้น เวลาพูดเรื่องบุญกุศล เรื่องกุศลอกุศล แต่พอพูดถึงสมาธิ ก็บอกว่า “เอ้ นี่มันตกไปสมถะ” พอบอกปัญญา ปัญญาเขาก็ปัญญาวิเคราะห์วิจัยในศาสนา

อันนั้นมันเป็นวิธีการนะ ในพระไตรปิฎกทั้งหมดเป็นวิธีการเข้าไปหาเป้าหมาย เป้าหมายคือสัจธรรม แต่ก็ไปวิเคราะห์วิจัยกันที่วิธีการ แล้วก็เถียงกันปากเปียกปากแฉะนะ เวลาตั้งวงขึ้นมาก็เถียงกัน อภิธรรมเถียงกันไปเถียงกันมา

เถียงกันแล้วได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา นี่พุทธพจน์ทั้งหมด ต่างคนต่างพูด ต่างคนต่างตีความ ทั้งๆ ที่ศึกษามาเล่มเดียวกัน ตีความขึ้นมา นี่พุทธพจน์กิเลสมันอ้าง กิเลสใครหยาบกิเลสใครหนาล่ะ กิเลสคนหยาบก็ตีความหยาบๆ กิเลสคนละเอียดก็ต้องสูงส่งอย่างนั้น ต้องว่ากันไปอย่างนั้น นี่มันเป็นโวหาร มันเป็นสัญญา มันเป็นเรื่องของโลก

ถ้าเรื่องของธรรม เราศึกษามาเวลาเราปฏิบัติจะทุกข์จะยากนะ ทุกข์ยากเพราะอะไร เพราะทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ความเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร เพราะจะพ้นจากทุกข์ แต่โลกเขาทุกข์อยู่ แต่เขาพอใจจะทุกข์ ดูสิเขาแสวงหากัน เขาทำหน้าที่การงานกัน เขาแสวงหากัน นั่นเป็นทุกข์ไหม ทุกข์นะ เครียดมาก วิตกวิจารมาก ต้องบริหารจัดการขึ้นมา แล้วถ้าบริหารจัดการขึ้นมาไม่ได้สมความปรารถนา ไม่ถึงเป้าหมายก็ทุกข์อีก ทุกข์แล้วไม่มีวันจบนะ ดูสิ ดูตลาดเงินล้มแล้วล้มเล่า รอบแล้วรอบเล่า เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลงอยู่อย่างนั้น แล้วมันมีจบที่ไหน งานของโลกไม่มีวันจบนะ

แต่ถ้าทุกข์ของเรานี่จบ ถ้าจิตมันเข้ามาเป็นสัมมาสมาธิ แล้วมันออกแสวงหาของมัน งานนี้คืองานรื้อภพรื้อชาติ รื้อภพรื้อชาติที่หัวใจ ไม่ใช่รื้อภพรื้อชาติที่ทะเบียนบ้าน ทะเบียนบ้านเห็นไหมโอนสัญชาติได้ โอนไปแล้ว โอนข้ามสัญชาติ ได้เชื้อชาติกัน แต่ถ้ารื้อภพรื้อชาติของเรา ทะเบียนบ้านไม่เกี่ยว ทะเบียนบ้านเป็นทะเบียนบ้าน เราเกิดมาเราก็เป็นสัญชาติไทย เราก็มีเชื้อชาติ เราก็มีทะเบียนบ้านของเรา ทะเบียนบ้านเป็นกฎหมายการปกครอง แต่ภพชาติเราอยู่ไหนล่ะ

ภวาสวะ ตัวภพ ความคิดมาจากภพ ความคิดมาจากใจ ที่ว่าความคิดให้ทุกข์กับคนนี้เป็นของหยาบๆ ความคิดให้ความทุกข์กับคนนะ ทุกข์เพราะคิด ที่เราทุกข์กันอยู่นี่เพราะความคิดของเรา แล้วเราว่าสิ่งนี้เป็นความทุกข์ แล้วความคิดมันเกิดมาจากไหน

ความคิดมันเกิดมาจากภวาสวะ ถ้าไม่มีภพ ไม่มีใจ ความคิดจะเกิดกับเราไม่ได้ ความคิดเกิดกับเราไม่ได้หรอก มันไม่มีฐานที่ตั้ง มันไม่มีสิ่งใดให้มันคิดขึ้นมาได้ ทีนี้มันคิดขึ้นมา ภพชาติอยู่นี่ งานรื้อภพรื้อชาติมันต้องต่อสู้กับความคิดก่อน ให้ความคิดสงบตัวลง พอความคิดสงบตัวลงขึ้นมา มันก็ไปถึงตัวจิต ตัวจิตนั้นถ้ามันออก นี่ไงที่ว่าปัญญาเกิดจากจิต ไม่ใช่ปัญญาเกิดจากสมองไง

โดยสามัญสำนึกปัญญาเกิดจากสมองก่อน เพราะเราเกิดโดยสมมุติใช่ไหม โดยสามัญสำนึกเรามีสมองเราคิดไปก่อน คิดไปนี่เป็นปัญญาอบรมสมาธิ นี่ไงปัญญาอบรมสมาธิ พุทโธๆ นี่ก็คิด วิตกวิจารในพุทโธๆ ไม่ได้คิดเหรอ ถ้าไม่ได้คิด พุทโธมันจะมาได้อย่างไร คิดพุทโธด้วยแล้วมีสติด้วย พุทโธๆๆ เดี๋ยวพุทโธก็อ่อนลง สติอ่อนลงพุทโธก็หายไป พอพุทโธหายไปก็ตั้งขึ้นมาใหม่ ฝึกจนชำนาญนะ เคลื่อนไหวเป็นพุทโธ เหมือนเราสวดมนต์เลย สวดมนต์จนชำนาญ มันท่องไปเลย รู้เลยว่าคำต่อไปเลย พุทโธๆๆ นี่มันก็เป็นความคิด

นี่ไง เราทุกข์เพราะคิดใช่ไหม เราถึงเอาความคิดเรามาไว้กับธรรม นี่ล่ะพุทธานุสติ อยู่กับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทโธนี่สะเทือนสามโลกธาตุ สะเทือนสามโลกธาตุเพราะอะไร เพราะใจเราเคยเกิดในสามโลกธาตุ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ปฏิสนธิจิตมันเคยเกิดเคยตาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกนะ บุพเพนิวาสานุสติญาณย้อนได้ไม่มีต้นไม่มีปลาย เกิดในนรกอเวจี เคยเกิดมาหมดแล้วในสามโลกธาตุนี้

พอเราพุทโธ เพราะจิตตัวนี้มันไปเกิดใช่ไหม จิตมันมีข้อมูล ถ้าใครเข้าถึงข้อมูลของจิตบุพเพนิวาสานุสติญาณจะรื้อข้อมูลออกมาได้ทั้งหมดเลย แล้วมันสะเทือนไปทั้งหมดเลย สะเทือนจิต พุทโธสะเทือนสามโลกธาตุ สะเทือนหัวใจ ยิ่งหัวใจมันสะเทือนจนหัวใจสั่นไหว สั่นไหวจนมันสงบนิ่ง แสงสว่างว่างหมด ว่างก็เป็นสมาธิ นี่ศีล สมาธิ ปัญญา

แล้วภพ ความคิดที่มันเป็นความทุกข์ ทุกข์เพราะคิด มันคิดขึ้นมาจากภพ ทีนี้ภพมันสว่างไสว ภพมันไม่มีอวิชชา มันก็เป็นวิชชา วิชชาคืออะไร วิชชาคือปัญญา อวิชชากับวิชชา วิชชาจะแก้ไง วิชชา จรณสัมปันโน สิ่งที่เป็นวิชาการ วิชาธรรมไม่ใช่วิชาของโลก ไม่ใช่โลกียปัญญา ความคิดมันเกิดจากภพ ความคิดเกิดจากเรา โลกียปัญญาความคิดที่เกิดจากเรา มันเกิดแล้วเป็นความทุกข์ มันสร้างแต่ผลเป็นทุกข์ขึ้นมา มันคิดซ้ำคิดซาก มันขี้ มันถ่าย มันเหยียบหัวใจอยู่นี่ มันเหยียบหัวใจ เหยียบภพอยู่นี่ มันเหยียบ มันขับ มันถ่าย เราก็ไม่รู้ ชื่นอกชื่นใจมีความสุข

โลกเป็นอย่างนั้น โลกเขาพอใจจะทุกข์ แต่เรามาศึกษาธรรม พุทธพจน์เราต้องซื่อสัตย์ เราไม่ให้กิเลสมันอ้างเป็นพุทธพจน์ แล้วเราก็เชื่อมัน แล้วก็คิดฟุ้งคิดซ่าน คิดไปประสากิเลส ให้กิเลสมันแอบอ้างไป กิเลสแอบอ้างเพราะว่าตัณหาความทะยานอยากเราเข้มแข็ง เพราะเรามีแต่ตามกิเลสของเราไป

แต่ถ้าพอเราศึกษาธรรม มีครูบาอาจารย์คอยยับยั้งให้ตั้งสติ ถ้าสติมันยับยั้งความคิด หรือถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ความคิดมันไล่ความคิด ทุกข์เพราะความคิด สติก็ไล่ความคิดไปสิ มันทุกข์เพราะอะไร? สิ่งที่เกิดขึ้นมามันเป็นประสบการณ์ของชีวิตเรา แล้วมันกระทบกระเทือนกันมา สิ่งนั้นมันก็ผ่านมาแล้ว มันเป็นอดีตอนาคต เราจะไปคิดขึ้นมาเพื่อให้มันทุกข์อีกทำไม ถ้าคิดขึ้นมาแล้วทุกข์ ถ้าเรายังไม่เข้าใจ เวลาคิดขึ้นมามีอารมณ์ไหม มันสะเทือนหัวใจไหม มันสะเทือน แล้วถ้าเราเข้าใจแล้วไม่คิดล่ะ พอไม่คิดมันก็จบ แล้วเดี๋ยวคิดอีกรอบหนึ่งก็ทุกข์อีก แล้วก็คิดอยู่อย่างนี้ เนี่ยหาประสบการณ์

ถ้าคิดแล้วทุกข์ แล้วคิดทำไม? แล้วถ้าไม่คิด จะยับยั้งอย่างไร? จะยับยั้งก็ตั้งสติไง ก็ตั้งสติตามความคิดไป ก็ไปเห็นโทษของมัน เห็นโทษว่าคิดก็ทุกข์ ไม่คิดก็ไม่ทุกข์ แต่ถ้าไม่คิดมันก็มีตัวตัณหาความทะยานอยากขึ้นมาเร้า ถ้าตัวเร้าขึ้นมา เราก็ไล่เข้าไปๆ ไล่เข้าไปที่ไหน ไล่เข้าไปจนเอาที่ภพนั่นไง ไล่เข้าไปจนที่ใจนั่นไง พอไปจนที่ใจ เวลามันปล่อยวางๆๆ จนไปถึงที่ใจ พอไปถึงที่ใจปั๊บ มันก็เห็นโทษ โอ้ ว่างๆ เราก็มีความสุขเพราะมีสติ เป็นสัมมาสมาธิ ไม่ใช่มิจฉาสมาธิ

เป็นสัมมาสมาธิเพราะมีสติมีสัมปชัญญะ มีการใคร่ครวญ มีการศึกษา ถึงบอกว่านี่เป็นสมาธิไม่ใช่นิพพาน แต่ถ้าพุทธพจน์ที่กิเลสมันอ้าง “ว่างๆ ว่างๆ นิพพานเป็นอย่างนั้น ขั้นตอนเป็นอย่างนั้น” นี่กิเลสมันจัดฉาก เป็นฉากๆ ไปเลยว่าถึงที่สุดแล้ว เดินตามสูตรเลย พิจารณาแล้วปล่อยวางอย่างนั้น จบสิ้นกระบวนการอย่างนั้น รอบหนึ่ง รอบสอง

กิเลสมันก็หลอกซ้ำสองซ้ำสาม ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ถ้ามีสติสัมปชัญญะหลอกไม่ได้ สุขปล่อยวางได้ขนาดไหน ขณิกะก็รู้ว่าขณิกะ ขณิกะคือมันปล่อยวางชั่วคราว ปล่อยวางแล้วมีสติ อ้อนี่คือสติ แล้วเราก็ใช้สติตามความคิดไปเรื่อยๆ พอมันปล่อยวางลึกเข้าไป คำว่าลึกเข้าไป ลึกหมายถึงว่ามันปล่อยวางได้นาน ช่วงการปล่อยวางมันนาน อารมณ์ความรู้สึกมันลึกซึ้งกว่า อุปจารสมาธิเพราะมันยังรับรู้อยู่ แต่ถ้ามันใช้กำหนดเข้าไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุดนะ มันคิดไม่ได้เลย มันสักแต่ว่ารู้ นี่อัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธิมันสักแต่ว่ารู้ ภพอันนี้มันเป็นภพที่สะอาด มันไม่มีสิ่งกระทบ มันถึงต้องถอยร่นออกมาเป็นอุปจารสมาธิ ถึงจะวิปัสสนาได้

นี่ไง แล้วเราสังเกตจิตเรา จิตเวลามันคิด มันเสวยอารมณ์ เพราะความคิดไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ความคิด ความคิดเกิดจากภพ ความคิดเกิดจากจิต ทีนี้ความคิดเกิดจากจิต พอจิตมันสว่างขึ้นมา จิตมันเป็นเอกเทศขึ้นมาแล้ว ถ้ามันจะคิด มันมีสติขึ้นมา เวลามันคิดออกมา นี่ไงสัจธรรม มันเสวยอารมณ์ มันมีการกระทบๆ มันทุกข์เพราะว่ามันคิด พอมันทุกข์เพราะว่ามันคิด มันไม่รู้ว่ามันคิดว่าอย่างไร แต่พอมันจับได้มันเห็น จิตมันกระทบกัน อารมณ์ความรู้สึก ธรรมารมณ์กับจิตมันกระทบกัน พอกระทบกันแล้วมันก็ตามไปแล้ว แต่ถ้ามีสติปั๊บ มันกระทบกัน ถ้ามีกำลัง เราตามเลย ตามดูกระบวนการความคิดมันประกอบไปด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

สิ่งที่เป็นความคิด ความคิดเรานี่ที่ว่าจิตนี้เร็วกว่าแสง ความคิดที่เกิดขึ้นมาแว็บๆๆ มันจะรวมไปด้วยรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สติมันจะทัน สติเร็วกว่าแสง สติมันจะยับยั้งสิ่งนี้ แล้วเอาสิ่งนี้มาตีแผ่ เหมือนตีเหล็ก แผ่มันออกไป อารมณ์ความรู้สึกหนึ่ง ความคิดหนึ่ง ตีแผ่มันออกไป

ในความคิดมีอะไร มีรูปคืออารมณ์ความรู้สึก มีเวทนาคือความสุขความทุกข์ คือดีใจเสียใจ มีสัญญาคือข้อมูลที่เราคิดขึ้นมา มีสังขารที่มันจะปรุงเป็นความคิดที่ ๒ มีวิญญาณรับรู้ มันก็วนเป็นกระบวนการหนึ่ง

นี่! นี่! ถ้าไม่มีกระบวนการ เราไม่เห็น เราแยกแยะมันไม่เป็น มันก็คือความคิด นี่ไงที่ว่าความคิดมาจากไหน ทำไมคนเราถึงคิด ถ้ามันทัน พอมันมีความรู้สึก มันทันขึ้นมา นี่ล่ะพุทธพจน์แท้ๆ มนุษย์เกิดขึ้นมามีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ทำไมมนุษย์มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ใจ แล้วทำไมมนุษย์เกิดมามีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ล่ะ ทำไมเทวดามีขันธ์ ๔ ล่ะ ทำไมพรหมมีขันธ์ ๑ ล่ะ ขันธ์ ๑ ก็มีจิตเหมือนกัน จิตปฏิสนธิจิตไง จิตไปปฏิสนธิในพรหม ปฏิสนธิในเทวดา มาปฏิสนธิเป็นมนุษย์ แล้วธรรมะนี่ทำไมไม่พูดถึงจิตเลย ทำไมไปพูดถึงขันธ์ ๕ มนุษย์มีแต่ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มหาภูตรูปคือร่างกาย นี่รูปซ้อนมา รูปซ้อนมา ก็โม้กันไป

จิตหนึ่งเดียว ทำถึงจิตสงบแล้วจะแยกแยะ จะค้นคว้า จะค้นหาสิ่งที่การกระทำมันจะย้อนกลับมาถึงตัวมันเอง นี่ศึกษา เห็นกระบวนการของความคิด เห็นกระบวนการต่างๆ นี่ทันหมด แยกได้ จี้เข้าไปที่รูปก็ได้ เวทนาก็ได้ สัญญาก็ได้ สังขารก็ได้ วิญญาณก็ได้ ดับหมดๆ ดับอย่างนี้มันยังไม่รู้แจ้ง มันต้องแยกแยะจนถึงที่สุด ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ พระโสดาบัน

พระโสดาบันเกิดที่ไหน พระโสดาบันเกิดที่ใจของมนุษย์ เกิดจากใจของคนที่สกปรกโสโครกนี่แหละ แต่เพราะประพฤติปฏิบัติตามธรรมวินัย ไม่ใช่เอาพุทธพจน์มาอ้างจนปากเปียกปากแฉะ ปากเปียกปากแฉะนี่มันตะครุบเงาไปวันยังค่ำ แล้วมันจะไม่ได้อะไรเลย เพราะมันเป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดของใจ

อ้างพุทธพจน์เป็นมิจฉาทิฏฐิตรงไหน?

ก็พุทธพจน์แต่ใจมันเป็นกิเลส ใจมันแอบอ้าง แล้วมันจะเป็นความจริงไปได้อย่างไร แต่ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมานะ มันต้องมีชื่อไหม ความจริงต้องมีชื่อไหม นาย ก นาย ข นายแดง นายดำนี่ สมมุติขึ้นมาเท่านั้นเอง แต่พอไปถึงไปจับตัวนาย ก นาย ข นายแดง นายดำ แล้วนาย ก นาย ข นายแดง นายดำ มันจะมีประโยชน์อะไร

พุทธพจน์ก็เหมือนกัน พุทธพจน์เป็นคำสอนขององค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราเข้าถึงธรรมแล้ว ดูสิ ดูพระสารีบุตร ไม่เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พูดจนหมู่พระเขาสะเทือนกัน ไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าพระสารีบุตรท่านไม่เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลยให้เรียกพระสารีบุตรเข้าเฝ้า

“สารีบุตรเธอไม่เชื่อเราเหรอ”

“ไม่เชื่อ เพราะความเชื่อฆ่ากิเลสไม่ได้ ข้าพเจ้าปฏิบัติของข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้ารู้เห็นเอง”

แต่เวลาพูดถึงต้นกระบวนการ เวลาพระอัสสชินี่ พระสารีบุตรได้เป็นพระโสดาบันจากพระอัสสชิ กตัญญูรู้คุณนะ พระอัสสชินอนอยู่ทิศไหน จะกราบพระอัสสชิก่อนแล้วนอน นี่ไงแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนเทศนาว่าการสอนขึ้นมาตั้งแต่สกิทา อนาคาจนถึงที่สุด ทำไมจะไม่มีความกตัญญูกตเวทีกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า! ถ้าไม่มีความกตัญญูกตเวทีจะปรารถนามาเป็นอัครสาวกเบื้องขวาได้อย่างไร! ปรารถนามาเป็นอัครสาวกเบื้องขวา เป็นธรรมเสนาบดี เป็นผู้เผยแผ่ธรรม เป็นแม่ทัพใหญ่ในการเผยแผ่ธรรมในพระพุทธศาสนา จะไม่เคารพกตัญญูกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นไปไม่ได้

แต่ว่าไม่เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะท่านมีคุณธรรม ท่านมีธรรมในหัวใจของท่าน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ อัครสาวกต่างๆ ก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน แต่อำนาจวาสนาบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบุญญาธิการมากว้างขวาง ๔ อสงไขย ลึกซึ้งต่างกัน กำลังมหาศาล การใช้ปัญญาแทงทะลุจะรวดเร็วกว่า จะสุดยอดกว่า แต่ก็ออกจากใจพระอรหันต์นั้นล่ะ

พระอัครสาวกเบื้องซ้าย-เบื้องขวา ก็มีฤทธิ์กว่าเพื่อน มีปัญญากว่าเพื่อน สิ่งต่างๆ มีมากกว่าเพื่อน ก็สร้างสมขึ้นมาเป็นอัครสาวก อัครสาวกก็ต้องเป็นความปรารถนา แล้วเราสาวกที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ขอให้มันเป็นไป ขอให้เราทำซื่อสัตย์กับเรา ในศาสนาพุทธของเรา ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราต้องประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา ด้วยความสัจจะจริงของเรา อย่าไปจำมา จำมาแล้วต้องวางไว้ก่อน เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้เป็นความจริง นี่เหมือนกับเราทำงาน เราไปดูงานกันมา ดูงานแล้วเรามาทำงานกันไหม

ไปดูงานมันก็ไปเที่ยวนะ มันเที่ยวไปเที่ยวแล้วอ้างว่าไปดูงาน นี่ก็เหมือนกันพุทธพจน์เป็นอย่างนั้น มันก็อ้างพุทธพจน์เป็นอย่างนั้น กิเลสทั้งนั้นเลย มันถึงไม่เป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมานะ เราต้องซื่อสัตย์เป็นสุภาพบุรุษ สุภาพบุรุษสุภาพสตรีเราต้องซื่อสัตย์ แล้วเราทำโดยข้อเท็จจริงของเรา มันจะยาก มันจะง่าย มันก็อยู่ที่เราทำมา อาหารแต่ละมื้อ กินได้มากกินได้น้อยก็แล้วแต่ว่าเราปรารถนาจะกินมากน้อยแค่ไหน เรามีสติของเรา

ในการประพฤติปฏิบัติมันจะเป็นสมาธิ มันจะมีความสุข มันจะมีทุกข์ร้อน ถ้ามันทุกข์เพราะกิเลสมันหยาบ มันต้องการความสงบเย็น ถ้าเราไปติดว่าอยากสงบเย็น แต่เราเดินจงกรมอยู่มันก็ร้อน แต่ถ้าเราเดินจงกรมอยู่กับพุทโธ อยู่กับปัญญาอบรมสมาธินะ เดี๋ยวมันก็เย็น เย็นเพราะอะไร เพราะเรามีคำบริกรรม เพราะเราอยู่กับสติ เพราะเราอยู่กับปัจจุบัน

แต่ถ้าเราไปคิดนะ สมาธิเป็นความเย็นอย่างนั้น คิดไปอดีตอนาคต พอการคิดอดีตอนาคตพลังงานมันส่งออกไปแล้ว ส่งออกไปแล้วเราก็ทำอยู่นี่ เหมือนคนบ้านร้าง เหมือนกับเราไม่เฝ้าประตูบ้านเรา ขโมยมันขนไปหมดเลยนะ สติมันก็ขนออกไปแล้ว สมาธิมันก็ขนออกไปเผาทิ้งแล้ว เหมือนกับคนบ้านร้าง เดินไปเดินมาเหมือนคนบ้านร้าง

แต่ถ้าเรามีสติอยู่กับเรานะ นั่งสมาธิก็มีสติอยู่กับเรา เดินจงกรมก็มีสติอยู่กับเรา พุทโธก็พุทโธใช้ปัญญาก็มีสติพร้อมไป มันจะเกิดอะไรขึ้น มันจะเป็นไปโดยสมดุลของมัน พอสมดุลของมันปั๊บมันจะเป็นสมาธิทันที ถ้าไม่สมดุลของมัน นี่ไงมัชฌิมาปฏิปทา ความสมดุล ความเป็นกลาง ถ้ามันทุกข์ร้อนไป มันก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค มันพอใจกับสิ่งที่มันเคยเป็น กามสุขัลลิกานุโยค ไม่ได้ทั้ง ๒ ฝั่ง

แต่ถ้าเราอยู่ของเราโดยปกติมีสติสัมปชัญญะแล้วเดินจงกรมไป บางวันก็ลงได้ดี บางวันมันก็ขัดแย้ง คำว่าบางวัน นี่ไงชำนาญในวสี คนประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เขาถึงจะต้องคอยตรวจตราความคิดเราตลอดนะ คิดดีคิดชั่ว คิดชั่วขึ้นมาก็ขออโหสิกรรม ไม่อยากคิด ไม่อยากทำ แต่มันเป็นเรื่องสุดวิสัย มันเป็นนามธรรม มันเป็นเรื่องมโนกรรมที่ไม่มีสติยับยั้งพอ

แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์นะ “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา” ความคิดทุกความคิด สติสัมปชัญญะทันหมด เพียงแต่จะหยุดหรือไม่หยุด ถ้าหยุดมันก็จบ แต่เวลาเทศนาว่าการต้องปล่อยไปตามธรรม ไม่ใช่หยุด เวลาธรรมมันเกิด ปล่อยมันไปเลย ออกไปเต็มที่ เพราะมันเป็นสิ่งที่ว่าเอาสมมุติ มาแสดง สมมุติคือธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ความรู้สึกนี้แสดงมันออกไป แต่มันออกมาจากธรรมที่รู้จริงมันถึงเป็นสัจธรรม

ถ้ามันออกจากธรรมไม่รู้จริง สิ่งนั้นมันเป็นสัญญา มันเป็นพุทธพจน์กิเลสมันอ้าง เป็นพุทธพจน์ฟังแล้วเป็นธรรมทั้งนั้น แต่กิเลสที่มันซ่อนเงื่อนมา มันจะหาผลประโยชน์ของมัน เอวัง