เทศน์บนศาลา

ธรรมะไม่กลับกรอก

๒๕ ม.ค. ๒๕๕๒

 

ธรรมะไม่กลับกรอก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันพระนะ วันพระผู้ประเสริฐ พระแปลว่าผู้ประเสริฐ เป็นพระได้ด้วยทุกๆ คน เพราะทุกคนมีหัวใจ เป็นพระนะ พระในหัวใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เอกํ นาม กึ หนึ่งไม่มีสอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมานะ พระโพธิสัตว์ต้องเวียนตายเวียนเกิด การสร้างนะ การสร้างบุญกุศล การสร้างเพื่อให้หัวใจควรแก่การงาน การสร้างในวัฏฏะอย่างหนึ่ง

ในปัจจุบันนี้ ในหัวใจเรามันเงี่ยหูลงฟังไหม เราไปฟังธรรมะกัน ประพฤติปฏิบัติกัน เราประพฤติปฏิบัติกันเป็นกากเป็นเดนหรือเปล่า มันทำเป็นว่าเป็นพิธีกรรมเฉยๆ ไง แต่มันเข้าไม่ถึงธรรม ไม่เข้าถึงเนื้อของใจ ถ้าเข้าถึงเนื้อของใจ ใจของเรามันลงไง ลงธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะทำสิ่งใด ใจมันละอาย มันเกรงกลัว

ถ้าใจเป็นธรรม ใจฟังธรรมนะ ใจฟังธรรมแล้วประพฤติปฏิบัติมันจะเป็นธรรมขึ้นมา แต่เป็นกากเป็นเดนนะ ทำเป็นพิธีกันเฉยๆ เหมือนกาก เหมือนของเหลือทิ้ง เอาเวลาว่างมาประพฤติปฏิบัติไง ดูพระบวชสิ บวชเพื่อพักผ่อน บวชพระไป บวชเพื่อพักผ่อน ดูศาสนานี้ไม่มีคุณค่าใดๆ เลย

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กว่าจะรื้อค้นศาสนาขึ้นมานะ เป็นพระโพธิสัตว์ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย อีกแสนกัป นี่กว่าจะได้ หัวใจที่ควรแก่การงาน ตรัสรู้เองโดยชอบ จะลงทุนลงแรงมาขนาดไหน กว่าจะมาตรัสรู้นะ กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน มันเป็นไปโดยกรรมจัดสรรนะ “ธรรมะจัดสรร”

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ พ่อแม่ที่ไหนบ้าง อยากจะให้ลูกออกไปเป็นศาสดาอย่างนั้น ขาดจากตระกูลไป...ไม่มีหรอก ก็อยากให้อยู่เป็นกษัตริย์เป็นจักรพรรดิ เพื่อเชิดชูตระกูลไง จะได้มีชื่อเสียงไว้ในประวัติศาสตร์

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ “ธรรมะจัดสรร” พระเจ้าสุทโธทนะจะทำอย่างไรก็แล้วแต่ พยายามจะเหนี่ยวรั้งไว้ เพื่ออะไร? เพื่ออกของพ่อแม่ ความคิดของโลกไง ความคิดของโลก ในเมื่อตระกูลของเรา ลูกของเรา สิ่งที่มีชื่อเสียงในสังคม สิ่งนั้นเป็นความพอใจของโลก โลกเป็นใหญ่ไง โลกเป็นใหญ่คิดได้แบบโลกๆ คิดได้ในหัวใจของเรา คิดได้ด้วยโลกธาตุของพวกเรานี่แหละ

แต่ธรรมะไม่เป็นอย่างนี้หรอก ธรรมะที่เราใช้ความคิดกัน ที่ว่าเราไปศึกษาธรรม ศึกษาธรรม ใช้ไม่ได้หรอก ใช้ไม่ได้ เพราะอะไร เพราะสิ่งที่ทำมา เห็นไหม ถ้าไม่มีภาคปฏิบัติ ปริยัติเป็นการศึกษาเล่าเรียน ปริยัติเป็นการศึกษา ศึกษามาเพื่อประพฤติปฏิบัติ ศึกษามาเป็นทฤษฎีแล้วออกไปค้นคว้าหาเอา ศึกษามาแล้วเป็นสิ่งที่เรารู้ไม่ได้

นี่ไง สิ่งที่ เอกํ นาม กึ พระพุทธเจ้าพูดไว้ถูกต้องหมด แต่พวกเรามันกลับกรอก เหลือเศษเหลือเดน ปฏิบัติก็เหลือเศษเหลือเดน แล้วปฏิบัตินะ เราเป็นคนประสบความสำเร็จทางโลก เราเป็นคนมีชื่อเสียง เราเป็นคนสังคมยอมรับ พอเดินผ่านเข้าไปวัด เป็นพระอรหันต์แล้ว ออกมานิพพานเลย เพราะทุกคนยอมรับไง ทุกคนก็ยอมรับเกียรติศักดิ์ เกียรติคุณของเราใช่ไหม เราเป็นฆราวาส เราเป็นผู้มีอิทธิพล เราเป็นผู้มีอำนาจบาตรใหญ่ เดินเฉียดวัดเข้าไปเท่านั้นแหละ ออกจากวัดมาเป็นพระอรหันต์เลย ทุกคนยอมรับหมด นี่ความคิดโลกๆ

โลกเป็นใหญ่ โลกไปยอมจำนนกับเขา เขามีอิทธิพล เขามีอำนาจวาสนา เราไปยอมจำนนกับเขาได้อย่างไร นี่ธรรมะมันกลับกรอก มันกลับกรอกเพราะอะไร เพราะผู้ปฏิบัติมันไม่มีหลักมีเกณฑ์ ถ้าผู้ปฏิบัติมีหลักมีเกณฑ์ ครูบาอาจารย์ของเรานะ หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ หลวงตา ใครจะเข้ามาในวัดนะ ถอดเขี้ยวถอดเล็บไว้ที่ประตูนะ ถอดเขี้ยวถอดเล็บไว้ที่ประตูนั้นก่อน แล้วเข้ามาวัด เข้ามาวัดเพราะอะไร เข้ามาวัดเพื่อดูหัวใจของตัวไง

คนเหมือนคน คนเท่าคน เวลาบวชขึ้นมา พระบวชขึ้นมา ศีล ๒๒๗ เหมือนกัน ศักดิ์ศรีเท่ากัน ศักดิ์ศรีเท่ากันเพราะเป็นธรรมนะ แต่ถ้ามันมีทิฏฐิมานะขึ้นมา มันจะเป็นธรรมได้อย่างไร ในเมื่อทิฏฐิไม่เสมอกัน สังคมนั้นอยู่ไม่มีความร่มเย็นเป็นสุขหรอก สังคมจะมีความร่มเย็นเป็นสุขต้องทิฏฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน ถ้าความเห็นเสมอกัน สิ่งนี้จะเป็นธรรมขึ้นมา นี่ใจมันลงธรรม

ถ้าใจมันลงธรรม ใจมันลงธรรมเพราะอะไร เพราะเราสร้างบุญกุศลมานะ ถ้าเราไม่สร้างบุญกุศลมา เราจะไม่เงี่ยหูลงฟังหรอก พูดอะไรกัน ธรรมะพูดลงมาให้เสียสละๆ ไม่มีไม่เห็นเราจะได้อะไรขึ้นมาเลย เราไปอยู่ทางโลกดีกว่า โลก เรามีอำนาจมีวาสนา เรามีอิทธิพลขึ้นมาใครๆ ก็ยอมรับ ไปไหนมีแต่คนนับหน้าถือตา...ตายหมดนะ

คนเรานะ มีอำนาจวาสนาขนาดไหน ถึงเวลานะ ในสมัยพุทธกาล เป็นกษัตริย์ เป็นทหารออกรบไง ออกรบแล้วกลับมา ขอพรกษัตริย์ ให้เลี้ยงดูอย่างดีเลย เมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเดินผ่านมา “นี่จะเป็นพระอรหันต์” เมาหยำเปเลยนะ นี่จะเป็นพระอรหันต์ นี่ไง ธรรมะจัดสรร เขาทำของเขามา เขาทำคุณงามความดีของเขามา

แต่ถึงเวลามา ฉลอง ๗ วัน เมาหยำเปทั้งวันเลย แต่ภรรยาตายเดี๋ยวนั้น วันที่ ๗ ภรรยาตายเดี๋ยวนั้น พอตายเดี๋ยวนั้นมันสะกิดใจเดี๋ยวนั้นเลย มันปลงธรรมสังเวชเดี๋ยวนั้นนะ บรรลุพระอรหันต์เดี๋ยวนั้น ตายเดี๋ยวนั้นเหมือนกัน สิ่งที่ทำมา สิ่งที่มีอำนาจวาสนามา แต่ถ้ามันถึงเวลาไหม

แล้วเรา เราเป็นชาวพุทธ เทวดาอวยพรกัน เวลาหมดอายุขัย ให้เกิดเป็นมนุษย์เถิด แล้วพบพระพุทธศาสนา จะได้ทำ เห็นไหม โลกเป็นใหญ่ วัฏฏะนี้คือโลก เทวดาก็เป็นโลก พรหมก็เป็นโลก พอเป็นโลก ความคิดได้แค่นั้น ความคิดของโลก ทำคุณงามความดีมาเป็นเทวดา ตายแล้วเกิดเป็นเทวดา ทำไมเรามาเกิดเป็นเทวดาล่ะ? เพราะเราได้ทำบุญในพุทธศาสนา เราได้ทำบุญกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราได้ทำบุญไว้แล้วมาเกิดเป็นเทวดา เวลาคนหมดอายุขัยจะอวยพรกัน ก็วุฒิภาวะเราได้แค่นี้

ขอให้หมดอายุขัยไปเกิดเป็นมนุษย์เถิด แล้วพบพระพุทธศาสนาจะได้ทำบุญกุศลขึ้นมา จะได้มาเกิดเป็นเทวดาอีก มันก็เป็นโลกอยู่อย่างนั้นน่ะ โลกเป็นใหญ่ แต่ธรรมเป็นใหญ่ล่ะ ธรรมเป็นใหญ่ เราเกิดมาเป็นมนุษย์

ถ้าเรามีอำนาจวาสนานะ มันจะเป็นคนรับผิดชอบ มันจะยอมรับผิดชอบ มันจะมีความรับผิดชอบสูง รับผิดชอบสูง ชีวิตเรา มีความสำคัญไหม เรามีพ่อแม่ไหม เรามีทุกอย่างพร้อม เรามีพ่อมีแม่ ทุกคนถ้าไม่มีพ่อมีแม่เราเกิดมาได้อย่างไร เราก็เกิดจากพ่อจากแม่ เราจะรักพ่อเราไหม เราจะรักวงศ์ตระกูลเราไหม? ทุกคนก็รักทั้งนั้น ทุกคนรัก ทุกคนก็แสวงหาเพื่อวงศ์ตระกูลของเรา

แต่เวลาธรรมมันเกิดขึ้นมาเราจะเสียสละออกไปไหม เราจะเสียสละออกไปจากตระกูลไหม เราจะมีเวลาประพฤติปฏิบัติไหม oujจิตใจคนเข้มแข็งไหม มันออกไปด้วยความสะเทือนใจนะ ไม่ใช่ว่าเราเป็นคนไม่รับผิดชอบ เราจะเอาตัวเรารอดอยู่คนเดียว เราไม่รับผิดชอบสิ่งใดเลย เราจะเอาแต่ความสะดวกสบายของเรา เราจะทิ้งครอบครัวตระกูลของเราเพื่อไปบวชพระ เพื่อจะให้เรามีศักยภาพขึ้นมา

พรหมจรรย์นี้เพื่ออะไร พรหมจรรย์บวชแล้วเพื่ออะไร พรหมจรรย์นี้บวชเพื่อจะให้คนยอมรับเหรอ บวชแล้วจะไปแก้ทิฏฐิของใคร? ไม่ใช่นะ พรหมจรรย์เพื่อพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ของเราเพื่อแก้กิเลสของเรา ถ้าเราแก้กิเลสของเราไม่ได้ ธรรมะยังกลับกรอกอยู่ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หนึ่งไม่มีสอง

แต่เราไปศึกษาธรรมมา กลับกรอกในหัวใจของเรา จิตใจเรากลับกรอก เวลาประพฤติไปมันกลับกรอก ถ้ามันกลับกรอกมามันกลับกรอกมาจากไหน? กลับกรอกมาจากต้นความคิด ความคิดที่จะออกประพฤติปฏิบัติ ออกมาด้วยเป้าหมายไม่เป็นความเป็นจริง

ถ้าเป้าหมายเป็นความเป็นจริง เราตั้งเป้าเลย แล้วทำจริงของเรา มันจะสะเทือนใจขนาดไหน ขนาดที่ออกบวชมันต้องมีความกระทบกระเทือนกันเป็นธรรมดา ถ้าไม่กระทบกระเทือนกันนะ เวลาเจ้าชายสิทธัตถะสละราชบัลลังก์ออกมา พระเจ้าสุทโทธนะเจ็บปวดไหม นางพิมพารู้สึกอย่างไรบ้าง สามเณรราหุลรู้สึกอย่างไรบ้าง รู้สึกอย่างไรบ้าง นางพิมพาคอยฟังข่าวเลย ฟังข่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะอยู่ที่เมืองใด ปฏิบัติอย่างไร นอนกับดินกินกับทราย ก็ตัวเองก็ไปนอนกับดินกินกับทราย ทำเหมือนกันหมดเลย

ถึงที่สุดแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นขึ้นมา ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สละครอบครัวออกมา ปฏิบัติอยู่ในราชวัง ปฏิบัติอยู่ในราชวัง จักรพรรดิก็รออยู่นั่น งานการปกครองมันรออยู่นั่น จะไปปฏิบัติอะไร มันต้องเสียสละออกมา นี่เหมือนกัน ถ้าจิตใจเรามีอำนาจวาสนา มันเสียสละออกมาด้วยความสะเทือนใจนะ สิ่งที่สะเทือนใจเพื่ออะไร

เพราะชีวิตนี่นะ เราอยู่ทำงานทางโลก เราอยู่กับโลกเขา มันมีตระกูล มีพ่อแม่ มีปู่ย่าตายาย คอยอุดหนุนจุนเจือ เราออกไป ออกไปบวชกับอุปัชฌาย์ กับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านจะเป็นพ่อเป็นแม่เราหรือเปล่า ท่านจะดูแลเราไหม แล้วถ้าเกิดเราไปเจอครูบาอาจารย์ ในการประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์เดี๋ยวนี้เยอะมากนะ “ธรรมะกลับกรอก” กลับกรอก พูดธรรมะ แต่พฤติกรรมมันสอนธรรมะหรือเปล่า พูดธรรมะนะ ถ้าพูดธรรมะแล้วสอนธรรมะนะ แล้วธรรมะสอนที่ไหน

ขอนิสัยๆ ขอนิสัยที่อะไร ถ้าขอนิสัยขึ้นมา เพราะความเป็นอยู่ของท่านมันเป็นตัวอย่างของเรา พ่อแม่คนแรก ครูคนแรกของเราคือใคร? คือพ่อแม่ของเราใช่ไหม พ่อแม่ของเรา กรรมพันธุ์ จริตนิสัยได้มาจากพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ทำอะไรลูกมันจำหมดล่ะ ยิ่ง ๓ ขวบ ๓ ปีแรก สมองมันเริ่มจะเก็บข้อมูล พอพ้นจาก ๓ ปีแรกไปนะ ตอนนี้มีแต่บำรุงให้มันโตขึ้นมาเท่านั้นน่ะ แต่ข้อมูลมันเต็มสมองมันแล้ว

นี่เหมือนกัน เราบวชเข้าไป เราอยู่กับครูบาอาจารย์ของเรา ท่านประพฤติปฏิบัติอย่างไร นี่ขอนิสัยอย่างนี้ การขอนิสัย นิสัยของเรา เราบวชเข้ามา เราพึ่งมาเจอครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านจะวางแบบอย่างอย่างไรให้เรา ถ้าวางแบบอย่างให้เรา นี่ได้นิสัยมา ได้นิสัยครูบาอาจารย์มา ในการประพฤติปฏิบัติได้นิสัยครูบาอาจารย์มา

แต่เวลาเราคิดขึ้นมา เราออกไปแล้ว เราจะมีใครเป็นที่พึ่ง คิดไปร้อยแปดนะ การออกไป มันอยู่ที่อำนาจวาสนาของคนนะ ถ้าไม่เสียสละออกมาเราจะมีเวลาของเราไหม เราจะประพฤติปฏิบัติได้อย่างไร เวลาเราอ่านพระไตรปิฏก หรือเราอ่านธรรม เวลาเราประพฤติปฏิบัติกัน เราจะน้อยเนื้อต่ำใจนะ เราไม่มีอำนาจวาสนา เราเป็นคนวาสนาน้อย คิดไปร้อยแปดล่ะ

กิเลสมันเจาะยางเราตลอดเวลา เจาะยางเรานะ ให้เราอ่อนแอตลอดเวลา แล้วจิตใจเราเข้มแข็งเราจะฝืนออกไป สังคมก็เสียดสี สังคมก็ติฉินนินทา สังคมติฉินนินทาเพราะสังคมเป็นโลก เราเอาใครเป็นใหญ่ ถ้าเอาโลกเป็นใหญ่ เราจะอยู่ในโลกนี้ เราออกจากโลกนี้ไม่ได้ แต่ถ้าจิตใจเรานะ เราเอาธรรมเป็นใหญ่ ธรรมเรายังไม่เกิดแหละ ธรรมะที่ยังไม่เกิดจากเรา แต่เพราะเราสร้างบุญญาธิการมา ถ้าไม่สร้างบุญญาธิการมานะ มันจะฝืนสังคมไม่ไหว

ดูสิ ใครพูด ดูลมปาก โลกธรรม ๘ นินทา สรรเสริญ เป่าพรวดๆ ไป ล้มหมดน่ะ เขารักกันขนาดไหนดูสิ วัชชี สิ่งที่ตระกูลในเวสาลี พระเจ้าอชาตศัตรูจะไปตี ไปถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกเลย “ตีไม่ได้หรอก ในเมื่อสิ่งที่...เคารพผู้ใหญ่ สังคมประชุมกันเนืองนิตย์ สิ่งที่ทำมา ธรรมที่ให้ไว้ กี่ข้อ แล้วถ้าคนในเมืองนี้ยังทำอยู่ ตีไม่แตกหรอก” ตีไม่แตกนะ วัสสการพราหมณ์เข้าไปยุแหย่ ยุแหย่ให้มันแตกแยก พอยุแหย่ให้มันแตกแยกขึ้นมา ตีหมด ราบหมดเลย

โลกธรรม ๘ สิ่งที่ติฉินนินทามันไม่ไว้ใจ เพราะคนมันมีกิเลส มันคลอนแคลนอยู่แล้ว มีอะไรมายุแหย่ขึ้นไปมันไหลไปตามกิเลส ตามโลกหมดเลย นี่โลกเป็นใหญ่นะ แล้วธรรมเป็นใหญ่ เราธรรมเป็นใหญ่ เรามีจุดยืนไหม ถ้ามีจุดยืนนะ เราเชื่อมั่นเราขนาดไหน ถ้าเราเชื่อมันเรา เชื่อมั่นเรา เราทำของเราได้ ถ้าเราทำได้ เราออกได้ ถ้าเราออกได้นะ ออกมาด้วยความสะเทือนใจ ถ้าออกมาด้วยความสะเทือนใจแล้วเราแสวงหาของเรา สิ่งที่สะเทือนใจ ถ้ายังไม่ได้สะเทือนใจ ไม่สะเทือนใจ มันจะอยู่กับโลกเขา มันจะได้เท่านั้น จะได้อย่างนั้นอยู่ในวงศ์ตระกูลอย่างนั้น นี่ตระกูลนะ

แต่เวลาเราบวชเข้ามาแล้ว ศากยบุตรพุทธชิโนรส คำว่า “ไม่มีตระกูล” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เป็นศาสดาของเรา เป็นพ่อของเรา เป็นครูเอกของโลก แล้วเรามาเป็นศากยบุตร เป็นบุตรของท่าน เราจะเอาตัวอย่างไหม

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ไว้ในธรรมนะ “ผู้ใดปฏิบัติตามเรา ถึงอยู่ที่ไหนเหมือนกับอยู่ใกล้เรา ผู้ใดจับชายจีวรเราไว้ แต่ไม่ทำตามเรา...” เพราะอะไร เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสุดยอดอยู่แล้ว ไม่ต้องเอาปัญญาเข้ามาเทียบหรอก ไม่มี พุทธวิสัยจะไม่มีใครเสมอเหมือนได้ เป็นไปไม่ได้ที่ใครจะมีปัญญาเสมอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเป็นไปได้ เขาก็ต้องไปตรัสรู้เองโดยชอบของเขา

นี่ไง เราเป็นสาวก-สาวกะ ขณะเราฟังธรรมนะ ถ้าเราฟังธรรม ถ้าเราประพฤติปฏิบัติกันมา สิ่งที่มันกลับกรอกในใจของเรามันคือกิเลสเราทั้งนั้น กิเลสของเราฟังธรรมขึ้นมาแล้วให้คะแนน ไปตัดคะแนน ลดคุณค่า-เพิ่มคุณค่ากับธรรมะอันนั้น เพราะทำตามใจชอบของตัว ถ้าตัวมีความใจชอบอย่างไรมันก็ว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมะ ถ้าสิ่งใดไม่ตามความใจชอบของตัว สิ่งนี้เป็นการจดจารึกมาผิดพลาด

จะผิดพลาดหรือไม่ผิดพลาดเราต้องทดสอบก่อนสิ เราต้องทดสอบ ทดสอบว่าสิ่งนั้นจริงหรือเปล่า สิ่งนั้นจริงไหม แล้วธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กว้างขวางนัก กว้างขวางนะ ขนาดที่ว่า ประพฤติปฏิบัติแล้ว ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “พระไตรปิฏกเหมือนใบไม้ในกำมือ” ใบไม้ในกำมือนะ แค่ใบไม้ในกำมือ แต่สิ่งที่เราจะไปประสบของเรานะ มันเหมือนใบไม้ในป่า

คำว่า “ใบไม้ในป่า” ดูมองไปในป่าสิ ใบไม้มันมากขนาดไหน จิตของเราประพฤติปฏิบัติไป อุปสรรค เทคนิคต่างๆ ที่มันจะเกิดกับเรายังอีกมหาศาลเลย มันจะต่อต้านนะ เพราะเราจะต้องมาชำระกิเลส สิ่งที่เป็นกิเลส กิเลสมันตัวยุแหย่ มันตัวยุแหย่นะ แล้วเราจะปฏิบัติธรรม เราจะประพฤติปฏิบัติธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเรามาประพฤติปฏิบัติมันไม่เป็นธรรมของเรา แล้วมันยุแหย่ขึ้นไปนะ นี่เราโกหกตัวเองตลอดเวลานะ ถ้าเราไม่โกหกตัวเองนะ เรามีสัจจะกับเรา เรามีสัจจะ

ดูพระสิ พระเวลาเข้าพรรษา ถือธุดงควัตร แล้วอธิษฐานธุดงค์ แล้วเรายืนอยู่ไหวไหม อธิษฐานธุดงค์นะ เวลาสดชื่น เวลาจะเข้าพรรษา มีความสดชื่น มีความรื่นเริงอาจหาญมาก เวลาอธิษฐานธุดงค์ไป มันก็อยู่ที่อำนาจวาสนา บิณฑบาตไป มีใครมาดูแลไหม มีอะไรมาต่างๆ กันไป น้อยเนื้อต่ำใจ “ทำไมเราทำดีแล้วไม่เห็นได้ดีเลย เราถือธุดงค์ เราฉันแต่ข้าวเปล่าๆ พวกนั้นเขาไม่ถือธุดงค์เลย แต่ทำไมอาหารเขาครบหมู่หมดเลย ทุกอย่างเขาได้ตามปรารถนา”

นี่ไง กิเลสมันเริ่มเจาะยางเราแล้ว แล้วเราก็น้อยเนื้อต่ำใจ “เลิกดีกว่า...” เลิกดีกว่า เพราะอะไร เพราะว่าเราอ่อนแอ เราไม่ซื่อสัตย์ เราไม่ซื่อสัตย์กับเรา เราโกหกเรา ถ้าเราโกหกเรานะ เราจะโกหกคนอื่นได้ไหม? โกหกคนอื่นได้หมด นี่มันกลับกรอก มันกลับกรอกกับเราเอง พอเรากลับกรอก ธรรมะมันจะเกิดกับเราแล้วเราก็กลับกรอก เสียหน้าเสียตาก็พูดไป พูดกะล่อนปลิ้นปล้อนกันไป กลับกรอกไปหมดเลย

แต่ถ้ามันเป็นธรรมนะ สิ่งที่เป็นธรรมนะ ของนี้ไม่เคยกินเหรอ ทุกอย่างเราเคยทุกคน ของอะไรที่เราเคยได้สัมผัส พอมีอะไรฝังใจมา เราก็ปฏิบัติต้องการสิ่งนั้นอีก สิ่งที่เรากินนะ “หมาแทะกระดูก” หมาแทะกระดูกนะ มันได้แต่น้ำลายมัน สิ่งที่เป็นสัญญาข้อมูลในใจ แล้วเราก็คิดตามความข้อมูลนั้น เหมือนหมาแทะกระดูกเลย มันไม่มีอะไรหรอก เราเองไปหลงอารมณ์ความคิดเราเอง ความคิดของเรา แล้วเราไปติดมันเอง

พอเราไปติดความคิดเราเอง เหมือนหมาแทะกระดูก มันมีเนื้อไหม แล้วหมามันแทะกระดูกมันกินอะไร? มันก็กินน้ำลายมันนั่นน่ะ กินแต่ความพอใจของมัน มันขบเคี้ยวมันได้อะไร มันก็ได้น้ำลายมัน นี่ก็เหมือนกัน อาหารที่เคยกิน ข้อมูลที่เคยมีในหัวใจ ก็คิดตามนั้น คิดหรือเห็นสิ่งที่เคยเห็นได้ เคยคิดได้ก็เท่านั้น แล้วก็คิดซ้ำคิดซาก แล้วก็ว่า มาน้อยเนื้อต่ำใจ เราไม่เคยเป็น เราไม่เคยได้ นี่มันทำลายตัวเอง มันโกหกตัวเอง มันทำลายตัวเอง

แต่ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัตินะ เราจะเห็นคุณค่าของมัน ถ้าปัญญามันเกิดนะ สิ่งนี้มันเป็นอาหารของกาย การกินเป็นพระอรหันต์ไม่ได้หรอก การกินการบังคับขนาดไหน สิ่งนี้เป็นมรรคผลไม่ได้ ไม่ใช่มรรคผล แต่มันเป็นวิธีการ มันเป็นอุบายวีธีการเข้าไปถึงธรรม สิ่งที่เป็นอุบายวิธีการนะ เราถึงนะ อาหารอย่างหยาบ-อาหารอย่างกลาง-อาหารอย่างละเอียด แล้วอดนอนผ่อนอาหารเพื่อเราต้องการสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่านี้ ถ้าเราเห็นคุณค่า มีเป้าหมายมากกว่านี้ พรหมจรรย์เพื่ออะไร เราประพฤติปฏิบัติพรหมจรรย์ แล้วสิ่งนี้มันเป็นข้อวัตรปฏิบัติ

สิ่งที่เป็นข้อวัตรปฏิบัติ เสขิยวัตร ข้อวัตรต่างๆ เป็นข้อวัตรปฏิบัติ แล้วสิ่งที่เป็นข้อวัตรปฏิบัติมันเพื่ออะไร? ก็เพื่อดัดแปลงใจของเราให้เข้ารูปเข้ารอย ใจของเราเข้ารูปเข้ารอยนะ เราบวชใหม่ขึ้นมา นิสัยของคฤหัสถ์มันมาเต็มตัวล่ะ ในเสขิยวัตร ห้ามฉันดังจั๊บๆ ห้ามฉันดังซู๊ดๆ ห้ามหมดเลย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนถึงกิริยามารยาททั้งหมด ทีนี้คำว่า “กิริยามารยาท” กิริยามารยาทอันนั้นมาจากไหน? ก็มาจากพุทธวิสัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรามันสาวกวิสัย สาวกะ มันทำไม่ได้อย่างนั้นหรอก

สิ่งที่ทำไม่ได้ แต่เราไม่ได้ตั้งใจทำความผิด เราไม่ได้ตั้งใจทำความผิด แต่ทำไปมันก็คือผิด เห็นไหม อาบัติต้องด้วยไม่รู้ ต้องด้วยความลังเลสงสัย ต้องเพราะเจตนาทำ อาบัติต้องไปหมดล่ะ ถ้าปลงอาบัติต้องไปหมด เราก็ปลงอาบัติของเรา เพราะเราสาวก-สาวกะวิสัย อำนาจวาสนามีเท่านี้ สิ่งที่ผิดเราก็ปลงอาบัติ แล้วเราประพฤติปฏิบัติของเราไป มันจะปฏิบัติแล้วไม่ผิด มันไม่มีหรอก

สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติแล้วจะถูกต้องไปหมด...ไม่มี ทีนี้ธรรมวินัยมันเป็นกรอบให้เราเดิน เราเดินไปตามกรอบนั้น ถึงหัวใจมันจะกลับกรอกอยู่ แต่ถ้าเรายอมรับ เพราะเรามีอำนาจวาสนา เดินไปชนกับความจริง เผชิญกับความจริง ถ้าเราเผชิญกับความจริง เราจะพ้นจากทุกข์ได้ เราจะไม่เผชิญกับความจริง เราจะเผชิญอยู่กับความจอมปลอม มีแต่ความกลับกรอกของใจนะ

เวลามีความทุกข์ทรมานขึ้นมา หลบหลีกเลย หาทางออกเลย เราเป็นผู้มีปัญญา ต้องมีทางลัด มีทางลัด...ลัดลงนรกน่ะ

แต่ถ้ามันเผชิญกับความจริงนะ พอเราเผชิญกับความจริง ความจริงมีอะไร พอเผชิญกับความจริง ดูความมืดสิ จินตนาการไปเลย จะมีสัตว์ จะมีภูตผีปีศาจ มีสัตว์สิ่งจะทำร้ายเรา จินตนาการไปทั่วเลย ลองเดินเข้าไปในความมืดมีอะไร? ไม่เห็นมีอะไรเลย

นี่ก็เหมือนกัน เราไม่กล้าเผชิญกับความจริง เพราะกิเลสมันหลอกเรา ถ้าเราเผชิญกับความจริง เราอยู่ในกรอบ อยู่ในกรอบธรรมวินัย กิเลสมันหลอกเราไม่ได้ มันหลอกเราไม่ได้หรอก แต่เพราะกิเลสมันเจาะยางเรา จะให้เราอ่อนแอต่างหากล่ะ ถ้ากิเลสมันเจาะยางเราให้อ่อนแอ เรามีปัญญาต่อสู้กับมัน

พอมีปัญญาต่อสู้กับมันนะ นี่มันเป็นอาหารของกาย สิ่งที่เป็นอาหารของกาย การกินการอยู่ ถ้าเรามีธรรมวินัย เราอยู่ในศีลในธรรม เรากับความชุ่มชื่นใจของเรา ถ้าเราไปกะล่อนกับตัวเอง ไปหลอกตัวเอง ปลิ้นปล้อนกับตัวเอง กลับกรอกกับตัวเอง สิ่งที่เราได้มา เราได้เสพ แล้วมันขุ่นใจไหมล่ะ ถ้ามันได้เสพมา มันทุกข์ใจไหมล่ะ

พอมันทุกข์ใจจะมานั่งประพฤติปฏิบัติ “ศีลไม่บริสุทธิ์” ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์เราก็ปลงอาบัติซะ แล้วฝืนมัน เตือนมัน ให้มันมีความละอาย มีความเกรงกลัว ถ้ามีความละอายมีความเกรงกลัว เราซื่อตรงกับเรา เราซื่อตรงกับเราเราเป็นสุภาพบุรุษ ในการประพฤติปฏิบัติ มันเกิดขึ้นมามันเกิดขึ้นจริง ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา มันเห็นสิ่งใด มันจะเห็นตามความเป็นจริง

ถ้าจิตของเรามันวอกแวกวอแว มันจริตนิสัย คนเรานะ ถ้าจิตคึกคะนองนะ ถ้าทำความสงบของใจขึ้นมา มันจะเห็นตัวเองหลุดลอยไปนั่งสมาธิภาวนาอยู่บนก้อนเมฆนะ เป็นไปได้ แต่สิ่งนี้ไม่ใช่ความลึกลับมหัศจรรย์สิ่งใดๆ เลย สิ่งนี้มันเป็นอำนาจวาสนา มันเป็นจิตที่มันสร้างสมมานะ เวลาพูดถึงอภิญญา ความรู้วาระจิตต่างๆ กลัวเราจะไปตื่นเต้นกัน

เราชาวพุทธนะ เราต้องการอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์

เราไม่ต้องการฤทธิ์เดช เราไม่ต้องการสิ่งคุณวิเศษ สิ่งผู้วิเศษใดๆ ต่างๆ เลย

แต่ขณะที่จิตมันมี ดูสิ เราเกิดมาจริตนิสัยของเรามันหลากหลายมันแตกต่างกัน สิ่งที่มันหลากหลายแตกต่างกัน มันจะให้มันเหมือนกันได้อย่างไร ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา มันจิตคึกคะนอง จิตที่มันมีคุณสมบัติอย่างนั้น คุณสมบัติอย่างนั้นมันจะรู้เห็นสิ่งใด รู้เห็นสิ่งใด เห็นไหม ใครเป็นคนรู้ ใครเป็นคนเห็น ใครเป็นคนไปนั่งบนก้อนเมฆ? ก็จิตทั้งนั้นน่ะ ในเมื่อเรารู้เราเห็น ถ้ามีสติสัมปชัญญะ สิ่งนั้นมันจะทำให้เรากระเทือนได้อย่างไร มันจะทำให้เรากระเทือน ให้เราหวั่นไหว

แต่ถ้ามันโง่ไง ถ้าจิตมันกะล่อนของมัน มันปลิ้นปล้อนไป มันจะบอก นี่คือธรรมนะ

ดูสิ “ฉันเคยกลัว แล้วฉันชนะความกลัว ฉันเป็นพระอรหันต์”

ความกลัวนะ มันเกิดดับ แต่เราจะมีความองอาจกล้าหาญด้วยใช้ปัญญาขนาดไหน ชนะความกลัวไปรอบหนึ่ง เราชนะความกลัวสิ่งนี้ มันจะไปกลัวสิ่งอื่นต่อๆ ไป ในเมื่อมันยังมีความรู้สึกอยู่ มันยังเป็นอนิจจังอยู่ มันยังแปรปรวน แปรสภาพอยู่ตลอดเวลา เราจะมีฤทธิ์มีเดช เราจะรู้สิ่งใดก็แล้วแต่ สิ่งนั้นเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นอนิจจังเพราะอะไร

เพราะจิตเรา เวลาจิตเรามันแปรสภาพ จิตเรา สมาธิเราอ่อนแอลง กำลังเราอ่อนแอลง ค่าของจิตเรา ค่าของใจเรา กำลังของเรา มันด้อยลง มันมีกำลังมากขึ้นความรู้จะชัดเจนมากขึ้น นี่ไง อนิจจังโดยจิตของเรา ๑

อนิจจังในสิ่งที่เห็น สิ่งที่เห็น ดูสิ วินาที เวลามันเคลื่อนไหวไป สิ่งนี้มันคงที่ไหม เหาะเหินเดินฟ้าชั่ววินาที ดูความเร็วของแสงสิ มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันจะจริงอยู่ให้เราเห็นตลอดไปอย่างนั้นไหม? มันเป็นอนิจจังทั้งหมด อนิจจังในสิ่งที่เห็น อนิจจังในความรู้สึกของเรามันก็เป็นอนิจจัง ในเมื่อสิ่งที่เห็นมันเป็นอนิจจัง แต่มันมีอยู่ใช่ไหม มีอยู่ก็รับรู้

นี่จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน ในเมื่อจริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน แต่พื้นฐานล่ะ พื้นฐานในสัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคืออะไร? คือสติปัฏฐาน ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สิ่งที่กาย เวทนา จิต ธรรม สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ถ้ามันเกิดขึ้นมา นี่มันจะไม่กลับกรอกนะ มันจะไม่กลับกรอกตรงนี้

แต่ถ้ามันไปรู้เห็นนะ มันเป็นอภิญญา มันกลับกรอกแน่นอน ดูเทวทัตสิ เทวทัตมีเหาะเหินเดินฟ้าได้นะ แปลงตัวเองเป็นงูไปพันหัวอชาตศัตรู ให้เขายอมรับนับถือของตัว นี่เพราะจิตมันเป็นอกุศล จิตอกุศลเพราะเหตุใด จิตเป็นอกุศลเพราะว่าเห็นแต่พวกคหบดีเขามา เขามาหาแต่พระอานนท์ พระต่างๆ มาหามาเคารพบูชา แล้วเราก็เป็นใคร เราก็ลูกกษัตริย์เหมือนกัน

นี่จิตอกุศลไง อยากให้เขาเคารพนับถือ แล้วเขาเคารพนับถือ ต้องเอาใครก่อน ก็ไปเอาอชาตศัตรู เวลาทำไปแล้ว เพราะจิตอกุศล สิ่งที่จิตอกุศล ตัวเองทำฌานโลกีย์ได้ สิ่งที่ทำฌานโลกีย์ได้ ทำอกุศลไปแล้วเสื่อมหมดเลย สิ่งนี้เสื่อมหมด พอเสื่อมหมดไปทำไม่ได้แล้ว นี่กลับกรอก กลับกรอกก็หาทาง หาวิธีการเรื่องโลกๆ เอาสิ่งนี้มาธรรมะ

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาไม่กลับกรอก ธรรมแท้ไม่กลับกรอก

ผู้รู้ รู้จริง รู้แล้วพูดได้สอนได้ ๑

ผู้รู้ รู้แล้วสอนไม่ได้

คำว่า “รู้แล้วสอนไม่ได้” รู้ อธิบายได้ ในวงแคบ ด้วยอำนาจวาสนาของตัว

แต่ที่ไม่รู้เลย พูดจ้อยๆ จ้อยๆ เลย เห็นไหม อย่างนี้กลับกรอกแน่นอน

ถ้ามันกลับกรอกขึ้นมา มันจะให้ผลเป็นโทษกับเรานะ เป็นโทษตั้งแต่พื้นฐาน เป็นโทษเพราะเหตุใด เป็นโทษเพราะสิ่งนี้ไม่เข้าสัจจะความจริงเลย แล้วบุญกุศลนะ เราบวชมาเป็นพระเป็นเจ้า เวลาประพฤติปฏิบัติ การทำบุญคุณงามความดีของเราก็มี การทำความผิดพลาดของเราก็มี สิ่งที่มี สิ่งที่ผิดพลาด ถ้าเป็นพระเรา ปุถุชนเรายังปลงอาบัติได้นะ

แต่ถ้าเป็นพระโสดาบันล่ะ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจจา สีลัพพตปรามาส ไม่ลูบคลำในศีลนะ ศีลพรต มันเป็นโดยธรรมชาติ มันสมุจเฉทศีลเลย ศีลมันขาด ไม่ทำสิ่งนั้น สิ่งที่มันผิดพลาดต่อไป แต่สิ่งที่เป็นอาบัติจากภายใน สิ่งที่เป็นความผิดพลาดจากภายในมันก็ต้องคอยดูคอยรักษากันไป เพราะมันยังมีหนทางที่เราต้องเจริญขึ้นไปอีก วุฒิภาวะของจิตมันจะพัฒนาของมันขึ้นไป สิ่งถ้าพัฒนาขึ้นไปมันจะรักษา เหมือนเราทำสิ่งใด แล้วเป็นผลประโยชน์ เราก็ต้องการให้ได้มากกว่านั้น

จิตของเรานะเวลามันดิ้นรนนี่นะ มันทุกข์ไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบจิตของเรา มนุษย์เหมือนกับช้างสารที่มันตกมัน ช้างสารที่มันตกมัน ควาญช้างเขาเลี้ยงช้างของเขา ประจำช้างของเขา เขาคุมช้างของเขาได้นะ เวลาตกมัน เขาไม่กล้าบังคับมันนะ เขาจะต้องจับมัน ให้จนกว่ามันจะหายตกมันนะ นี่ควาญช้างคือสติ แล้วเวลามันตกมันขึ้นมา เราจะเอามันไว้ไหม เราจะเอาจิตเราไว้อยู่ได้ไหม ถ้าเราจะเอาจิตเราไว้อยู่นะ เราต้องหมั่นฝึกหัด

การฝึกหัด การกระทำของเรา มันจะทำให้เราเข้มแข็งขึ้นมา แล้วเราจะไม่เชื่อใครง่ายๆ เราไม่เชื่อใครง่ายๆ นะ เพราะถ้าเราไม่เข้มแข็งขึ้นมา เราไม่มีสิ่งใดพิสูจน์ แต่ถ้าเราเข้มแข็งขึ้นมานะ จะไม่เชื่อใครง่ายๆ เลย เพราะเราทำความสงบของใจแต่ละหนมันลำบากไหม แล้วในวงปฏิบัติเรา ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะเห็นคุณค่าแล้วจะให้โอกาสกันไง คือเราจะไม่กวนกัน เราจะให้โอกาสกัน มันกวน มันเบียดเบียนมันกวนกัน ด้วยการกระทำ ด้วยเสียงต่างๆ กระทบกระเทือนกัน

แต่ถ้าผู้ประพฤติปฏิบัติ เขาจะให้โอกาส ถึงเวลา ถ้าครูบาอาจารย์เราที่เป็นหลัก ถึงเวลาทำข้อวัตรต้องมาพร้อมกัน คำว่า “มาพร้อมกัน” คือออกจากที่ปฏิบัติมา หรือถ้าเราอดอาหาร เราจะไม่มาทำข้อวัตรนะ เราอยู่ที่กุฏิของเรา ขณะที่ทำข้อวัตร นี่มันเป็นเวลาของการทำข้อวัตร ถ้าเป็นเวลาการทำข้อวัตร เสียงกระทบกระเทือนมันต้องมีมาเป็นธรรมดา

สิ่งที่มีมาเป็นธรรมดา ถ้ามันล่วงเวลานี้ไป เวลาที่เราจะประพฤติปฏิบัติมันอีกมากมากมหาศาลเลย ถ้ามันสะเทือนเรา มันมีสติ มันตั้งสติทัน สิ่งใดกระเทือนมามันไม่พุ่งออกไป จิตนะ ถ้ามันต้องการ มันมีความปราถนา มันต้องการความสุขของมัน แล้วมีอะไรมากวนมัน ถ้าปฏิบัติมาโดยที่ว่าหมู่คณะไม่เข้าใจกันนะ เราปฏิบัติ เราลงทุนลงแรงขนาดนี้ จิตเราเคยสงบได้ขนาดนี้ ทำไมเขามาทำเราขนาดนี้ มันน้อยใจนะ มันทั้งน้อยใจตัวเองด้วย แล้วน้อยใจหมู่คณะ ทำไมหมู่คณะไม่เห็นประโยชน์ตรงนี้ไง

แต่ถ้าผู้ที่ปฏิบัติด้วยกัน หัวอกเดียวกัน นักปฏิบัติดัวยกันนี่นะ มันจะมีหัวอกเดียวกัน มันต้องการความสงบสงัด มันต้องการทุกๆ อย่าง เราถ้ามีความสงบสงัด มันจะทำให้กายวิเวก จิตวิเวก ถ้ากายวิเวก จิตวิเวกแล้ว มันวิเวก เราแสวงหากัน ถ้าเวลาประพฤติปฏิบัติ เวลาครูบาอาจารย์ เวลาจิตมันเริ่มจุดไฟติด ภาวนาเป็นขึ้นมาแล้ว มันต้องการเวลามากนะ เราประพฤติปฏิบัติกัน เวลาแต่ละวัน แต่ละชั่วโมง เวลานั่งสมาธิกัน

จุดเทียนไว้ จุดธูปไว้ เมื่อไรมันจะหมดดอกสักที ทำไมเวลามันนานเหลือเกิน เพราะอะไร เพราะเราปฏิบัติด้วยความทรมาน เพราะกิเลสมันขับไส เพราะกิเลสมันต่อต้านในหัวใจ แต่ถ้าเวลาครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัตินะ วันเวลา ๒๔ ชั่วโมง แป๊ปๆ แป๊บๆ มันเร็วมากนะ เพราะมันเพลิน มันรื่นเริง มันอาจหาญนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เดินจงกรมอยู่ตลอดชีวิต

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเดินจงกรมอยู่ อชาตศัตรู เวลาเข้าไปหานะ เวลาหมอชีวกพาไปหา เงียบสงัด แล้วอชาตศัตรูได้ฆ่าพระเจ้าพิมพิสาร แล้วเสียใจมาก พอระลึกได้นะ หมอชีวกพาไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้าไปนี่เสียวมาก เพราะมันสงบสงัด เวลาตกใจ หมอชีวกบอก “ไม่ต้องตกใจ นั่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเดินจงกรมอยู่นั่น”

นี่ผู้ที่ไม่มีกิเลสในหัวใจ เขายังเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาเป็นวิหารธรรม แล้วเราปฏิบัติเพื่อจะฆ่ากิเลส ถ้าเราจะปฏิบัติเพื่อจะฆ่ากิเลส ทำไมเราอ่อนแออย่างนี้ล่ะ ขนาดคนผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเพื่อเป็นวิหารธรรม เพื่อให้ความสุข เพื่อให้ธาตุขันธ์มันอยู่สุขสบาย ท่านยังเดินจงกรมของท่าน นั่งสมาธิของท่านได้แบบสบายๆ เราจะฆ่ากิเลส เราจะชำระกิเลส เราจะต้องทำจริงนะ เพราะกิเลสมันจะคอยเจาะยาง คอยจะทำให้เราอ่อนแอตลอดเวลา

แต่ถ้าเรามีเป้าหมายของเรา เรามีเป้าหมายของเรานะ เราจะไม่เชื่อฟังมัน เราจะมีเหตุผลคัดง้าง อย่างเช่น อย่างถือธุดงค์ อย่างทำความดีแล้วมันไม่ได้ความดีตอบ เพราะความดีที่เราคิดว่าจะเป็น เราทำความดีแล้วเราจะได้ความดีตอบ อันนั้นมันเป็นโลกธรรม ไม่มีใครหรอก เขาจะเห็นว่าเราทำคุณงามความดี เว้นไว้แต่หัวใจของเรา เราทำดีทำชั่ว เรารู้ของเรา ถ้าเราทำดีทำชั่วนะ

ในครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติ ขณะที่จะประพฤติปฏิบัติ ยังต้องหาที่หลีกเร้น เวลาหมู่คณะเขาอยู่กันที่ไหน เราจะหลีกเร้นไป จะไม่ให้เขาเห็น จะไม่ให้เขาเห็นเพราะอะไร เพราะหมู่คณะกันมันก็เกรงใจกันเป็นธรรมดา เวลาออกธุดงค์ เขาจะไปองค์เดียว ไปองค์เดียวเหมือนนอแรด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชมมาก เวลาไปองค์เดียว เหมือนนอแรด

เพราะไปคนเดียวนะมันมีโอกาสมาก พอไปคนเดียว ความคิดน่ะ “อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด” แต่เราไป ๒ องค์ ๓ องค์นี่มันอุ่นใจ ความคิดมันจะไม่โลดแล่นเหมือนไปคนเดียว ไปคนเดียวนี่ความคิดจะโลดแล่นมาก มันวิตกกังวลไปทุกๆ เรื่อง จะมีปัญหาอะไรที่จะประสบการณ์ข้างหน้า เราจะไม่รู้สิ่งใดๆ เลย นั่นล่ะเป็นปัจจุบันธรรม สิ่งใดที่เกิดขึ้นมา “ธรรมะจัดสรร” ถ้าเรามีอำนาจวาสนา มันจะมีผู้ดูแล มันจะเป็นไปได้ แต่ถ้าเราไม่ได้สร้าง ธรรมะไม่จัดสรรให้เรามันก็เป็นอำนาจวาสนาของเราน่ะ

เวลาประพฤติปฏิบัตินะ เวลาสิ่งใดเกิดขึ้นมาเราจะพูดตลอดเวลา “อย่าน้อยเนื้อต่ำใจ สิ่งใดที่เกิดขึ้นมาคือการกระทำเราทำมาทั้งนั้น” สิ่งที่ทำมานะ กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน อำนาจวาสนาแต่ละคน ไม่เหมือนกัน

ทีนี้อำนาจวาสนาแต่ละคนไม่เหมือนกัน เรามีครูบาอาจารย์ที่เป็นครูบาอาจารย์ของเรา โดยธรรมะ โดยความเป็นจริงนะ จะแก้ไขกันเป็นทีละขั้นทีละตอน การประพฤติปฏิบัติ ดูสิ ในวงปฏิบัติเรา เวลาครูบาอาจารย์ท่านภาวนาติดขึ้นมา ท่านจะไปหาครูบาอาจารย์ ขึ้นไปปั๊บ พูดได้เลย ครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมจะตอบทันที ตอบแล้วเข้าใจไหม ถ้าเข้าใจ ลงไปปฏิบัติต่อ ถ้าไม่เข้าใจ

คำว่า “เข้าใจไหม” มันแก้ความกังวลของใจไง เวลาเราประพฤติปฏิบัตินะ มันจะมีสิ่งที่กระทบกับใจ หรือใจเป็นอย่างไรมันจะเกิดความฝังใจ เกิดความฝังใจนี่มันจะติด มันจะเป็นอย่างนั้น เราได้อย่างนี้ เราต้องประสบผ่านมาตรงนี้ ถึงตรงนี้แล้วจะเดินต่อไป มันก็จะมีความคิด มันเป็นจินตมยปัญญาของเราเอง แล้วมันถ้ามันมีความกังวลนะ กว่ามันจะปลดเปลื้องความวิตกกังวลอันนี้ได้ มันไม่รู้จะใช้เวลากี่วัน

แต่เวลาไปหาครูบาอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์ท่านจะบอกเลย ความเห็นนั้นจริง เห็นนี่จริงหมด สิ่งที่เห็นนี่จริงหมดล่ะ แต่ในเมื่อมันมีกิเลสบวกเข้ามา มันมีสมุทัยซ้อนเข้ามามันจะเป็นความจริงไปได้อย่างไร ฉะนั้น ถ้ามันจะเป็นความจริงได้อย่างไร ถ้าเราไม่เชื่อ ไม่เชื่อก็ลองดูสิ ต้องตรวจสอบสิ มันจะสงบอย่างนี้ได้อีกไหม ปัญญามันจะเกิดอย่างนี้อีกไหม ถ้าไม่เชื่อทำไป เดี๋ยวจะไปทุกข์เอาข้างหน้า เพราะจิตมันจะเสื่อม

ถ้าจิตมันเสื่อมขึ้นมา กำลังเราอ่อนแอขึ้นมา เราจะทำขึ้นมาให้ดีขึ้นมา เราต้องกลับมาตรงนี้ กลับมาตรงที่ครูบาอาจารย์สอนเรานี่แหละ แต่ทีแรกเรายังไม่เชื่อ เพราะคิดว่าเราทำกับเรา เราเห็นมากับเรา เราจะผิดไปได้อย่างไร แต่พอทำไปแล้วน่ะผิดจริงๆ ผิดจริงๆ เพราะกิเลสของเรามันหลอกลวงเรา เราไม่เข้าใจหรอก นี่ครูบาอาจารย์มีคุณประโยชน์อย่างนี้

พวกเรา พวกพระปฏิบัติ จะติดครูบาอาจารย์ แล้วจะออกไปหาวิเวก พยายามฝึกฝนตัวเราเข้ามา แล้วถ้ามีเหตุขัดข้องจะเข้ามาครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะบอกชี้นำทันที นี่ธรรมะไม่กลับกรอกเป็นอย่างนี้ หนึ่งเดียวไม่มีสอง อริยสัจมีหนึ่งเดียว พระอรหันต์ทุกๆ พระองค์จะต้องรู้อริยสัจเหมือนกัน การประพฤติปฏิบัติต้องเหมือนกัน เหมือนกันโดยผล แต่เหตุประพฤติปฏิบัติ มันจะต่างกัน เพราะมันเป็นจริตนิสัย เพราะความชอบของตัว

ดูสิ เวลาประพฤติปฏิบัติ ชอบเข้าป่า ป่าสร็จแล้ว พื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน อากาศโปร่ง อากาศทึบ อากาศชื้น ภูมิอากาศ ความชอบต่างๆ กัน นั่นขนาดความชอบจากข้างนอกนะ แต่ถ้าจริตข้างใน การพิจารณา พิจารณากายแต่ละคนมันก็ไม่เหมือนกัน การพิจารณากายนะ ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันถึงจะได้พิจารณากายได้ ถ้าจิตไม่สงบเข้ามา สิ่งที่เห็นมันเห็นโดยสามัญสำนึก เห็นโดย...

ดูสิ เวลาเรามองกัน เห็นร่างกาย เห็นแล้วมันเป็นอย่างไร เห็นแล้วนะ ดูสิ เราไปเที่ยวป่าช้า ไปเที่ยวป่าช้าไปดูซากศพ ไปดูซากศพว่าเพราะให้เปรียบเทียบ ใช้ปัญญาเราเปรียบเทียบนะ ถ้าเราตายไปแล้วเราก็เหมือนซากศพที่นอนอยู่นี่ แต่ปัจจุบันนี้เรายังไม่ตายใช่ไหม ถ้ายังไม่ตาย เรายังมีชีวิตอยู่ ร่างกายเรายังมีไออุ่น ยังมีพลังงานมันรักษาอยู่ มันก็ไม่เป็นเหมือนซากศพที่นอนอยู่นี่ เปรียบเทียบให้เกิดปัญญาไง

พอเปรียบเทียบเหมือนกับมรณัสสติไง ว่าเราก็ต้องตาย พอเราตายแล้วก็เป็นอย่างนี้ แล้วถ้าจิตนะ ผู้ที่มีอำนาจวาสนา เพราะจิตมันมีพื้นฐานอยู่ พอมองไปที่กาย เพราะขณะที่ไปพิจารณาซากศพนี่นะ พระอรหันต์เกิดขึ้นได้เพราะเหตุนี้ เหตุที่เกิดจากกายนอก แต่ถ้าเวลาจิตเราสงบขึ้นมา ถ้าเราเห็นกายขึ้นมา มันจะเห็นจากกายใน เหมือนซากศพ แต่มันเป็นความเห็นจากข้างใน เห็นจากตาของใจ เห็นแล้วจะสะเทือนหัวใจมาก ถ้าสะเทือนหัวใจมาก มันวิปัสสนาต่อไปไม่ได้

แต่ถ้ากลับมาทำความสงบของใจ แล้วน้อมไปที่กาย จะเห็นสภาวะแบบนั้นอีก แล้วถ้ามีกำลังให้มันแปรสภาพให้เราดู การแปรสภาพนี่มันเป็นไตรลักษณ์นะ ความเป็นไตรลักษณ์เพราะอะไร เพราะจิตใต้สำนึก จิตใต้สำนึกมันเห็นสภาวะแบบนี้ ทีนี้จิตใต้สำนึกใช่ไหม มันมีความเข้าใจแบบนี้ แต่เวลาสัจธรรมมันเกิด สัจธรรมเกิดเพราะเหตุใด

สัจธรรมเกิดเพราะจิตมันสงบไง จิตมีศีล สมาธิ ปัญญาไง มีดำริ งานชอบ เพียรชอบ การงานชอบ การงานชอบ ชอบตรงไหน? งานชอบในสมถะ การทำความสงบของใจ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ หรือใช้คำบริกรรมก็แล้วแต่ นั้นเป็นงานชอบของขั้นของความสงบ เพราะเราตั้งสติไว้ เพราะจิตเรายังฟุ้งซ่านอยู่ จิตของเรายังไม่มีหลักมีเกณฑ์ เราตั้งสติของเราด้วยปัญญาของเราที่เราใช้ปัญญาไล่ต้อนกลับเข้ามา พอจิตมันสงบเข้ามา พอสงบเข้ามา นี่ไง ปัญญาของขั้นของสมถะ

ถ้าเป็นขั้นของวิปัสสนาล่ะ? ถ้าเป็นขั้นของวิปัสสนา ถ้าจิตมันสงบ ความเห็น ความเห็นกาย ความเห็นต่างๆ มันสลดหดตัวเข้ามาๆ จนเป็นตัวของมันเองนะ สิ่งที่เป็นตัวมันเอง ใครเป็นคนรู้ พรหมจรรย์ปฏิบัติเพื่อใคร จิตสงบใครเป็นคนรู้ว่าจิตสงบ จิตฟุ้งซ่าน เรารู้อยู่ทุกๆ คน เพราะจิตมันฟุ้งซ่าน จิตมันคิดออกไป จิตมันฟุ้งซ่านอยู่แล้ว พอมันฟุ้งซ่าน มันให้อะไรมา? ให้แต่ความทุกข์ใจมา

แต่เวลาจิตสงบเข้ามา พอถ้ามันจะสงบเข้ามา ใครเป็นคนรู้? ก็ต้องจิตเราเป็นคนรู้ ถ้าจิตเราเป็นคนรู้ พอมันหดเข้ามา เรารู้ เรามีความรู้สึกเอง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นปัจจัตตัง จิตมันรู้ของมัน มันมีพื้นฐานของมัน พอมีพื้นฐานของมัน มันมีกำลังของมัน เหมือนเราออกกำลังกาย ร่างกายของเราแข็งแรง เราเจอสิ่งใด เราเคลื่อนไหวได้สะดวกสบายมาก แต่ถ้าคนพิการ คนพิการคนที่ไม่มีกำลัง มันจะเคลื่อนไหวได้สะดวกสบายไหม? มันก็เคลื่อนไหวไม่ได้สะดวกสบายเหมือนกับคนที่แข็งแรงใช่ไหม

จิตที่มันอ่อนแอ พอจิตอ่อนแอ อารมณ์อะไรผ่านเข้ามาในหัวใจมันยึดหมดล่ะ ความคิดผ่านเข้ามา มันคิดเลย คิดซ้อน คิดต่อ คิดต่อเนื่องตลอดเวลา เพราะอะไร เพราะมันหิวโหย แต่ถ้าพอมันอิ่มเต็มขึ้นมา จิตมันมีหลักมีเกณฑ์ จิตสงบ อะไรผ่านมา คนกินอิ่มแล้วนะ อาหารอะไรมา มันไม่เอาหรอก มันปล่อยผ่านไป อารมณ์มันจะเกิดขึ้นมา อารมณ์มันกวนใจไม่ได้หรอก ถ้าอารมณ์กวนใจไม่ได้ นี่จิตตั้งมั่น

ถ้าจิตตั้งมั่น น้อมไปที่กาย เห็นกาย จิตเห็นกาย พอจิตเห็นกายจิตวิปัสสนากาย วิปัสสนาอย่างไร วิปัสสนา เวลามันไป มันเป็นไตรลักษณ์ขึ้นมา มันปล่อยขึ้นมา มันจะมีความสุขของมันนะ มันปล่อย เวลามันปล่อยขึ้นมา ปล่อยนี้เป็นตทังคปหาน ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นะ เพราะเราอ่านพระไตรปิฏกมาใช่ไหม เราเรียนปริยัติมา แล้วเรามาประพฤติปฏิบัติ เวลาปล่อยขึ้นมาทีหนึ่ง เราก็ว่าเป็นโสดาบันนะ

จะเข้าใจว่าเป็นโสดาบัน แล้วถ้าเข้าใจว่าเป็นโสดาบัน มันปล่อย ถ้าเราศึกษาธรรมมานะ ถ้าจิตมันเป็นนะ เราจะจินตนาการได้ดีกว่านั้นอีก เราจะให้ค่าของเรานะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติแล้วผิดพลาด ส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้มาก เวลาจิตจับประเด็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วใช้ปัญญาใคร่ครวญไป พอมันปล่อยทีหนึ่ง เราก็ให้ค่าว่าปล่อยหนหนึ่ง ก็ได้ศักยภาพอันหนึ่ง คือได้เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี อนาคามี

ปล่อยหนหนึ่งก็ให้คุณค่าหนหนึ่ง เราให้ค่าเอง พอเราให้ค่าของเราเองนะ นี่มันกลับกรอก กลับกรอก เวลาจิตมันเสื่อม พอจิตมันเสื่อมขึ้นมา เหมือนขี่หลังเสือ ลงจากเสือไม่ได้ เสือมันตะปบ พอเสือตะปบ แล้วเราจะสอนอย่างไร เราจะบอกเขาอย่างไร เพราะอะไร เพราะพรรษาเราจะมากขึ้นไปเรื่อยๆ มันจะต้องมีคนมาถามปัญหาเราแน่นอน พอถามปัญหา แล้วบอกไม่รู้ก็ไม่กล้าบอกนะ ก็ต้องอ้างไง นี่สอนตามตำรา

สอนตามตำรานั้นอย่างหนึ่งนะ แต่นี้จิตมันจินตนาการ จิตมันเห็นของมัน มันก็สอนตามที่มันเห็น สอนตามที่มันเห็นนะ เราให้ค่าเอง มันเป็นความจริงไหม? นี่อริยสัจมีหนึ่งเดียว อริยสัจมีหนึ่งเดียว หนึ่งเดียวเพราะเหตุใด เวลามันปล่อย มันเวลามันขาดไป กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕

สิ่งที่เหลือ อะไรเป็นคนเหลือ สิ่งที่เหลือ สิ่งที่มันหลุดพ้นออกมา อะไรมันออกไป สิ่งที่เหลือ สิ่งที่หลุดออกไปมันเป็นคุณธรรมนะ สิ่งที่เป็นคุณธรรมอันนั้นมันเหมือนกันหมด จะพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐาน ๔ สิ่งใด ถ้าพิจารณาสิ่งใด เวลามันเป็นพระโสดาบัน เหมือนกันหมด เหมือนกันหมดเพราะมันละสังโยชน์ ๓ ตัว เหมือนกัน

สิ่งที่เป็นสัจธรรมมันเป็นอันเดียวกัน สิ่งที่อันเดียวกัน ทำไมมันถึงจะพูดไม่ได้ สิ่งที่เป็นอันเดียวกัน ถ้าพิสูจน์แล้วมันต้องเหมือนกัน ถ้าไม่เหมือนกัน เราแตกต่าง เราไม่เคยระลึกถึงจุดนี้ เวลาเราพูดถึงสัจธรรม เราก็ว่าของเราไง มันปล่อย มันปล่อยเป็นตทังคปหานนี่นะ สังโยชน์ไม่ขาด ในเมื่อสังโยชน์ไม่ขาด เชื้อสิ่งที่มีอยู่ในใจ สิ่งที่กิเลสอยู่ในใจมันก็อยู่ของมันอย่างนั้น แต่พอเราปล่อยจริง เราให้ค่าของเราเอง ครั้งที่ ๒ เราว่าสกิทาคามี ครั้งที่ ๓ อนาคามี ครั้งที่ ๔ เราเป็นพระอรหันต์

ธรรมะกลับกรอก กลับกรอกเพราะอะไร กลับกรอกเพราะกิเลสมันไม่ได้ชำระ เหมือนเราทำความสงบของใจ พอใจมันสงบเข้าไป “ตะกอนในแก้ว” ตะกอนในแก้วเวลาเราตั้งไว้ ตะกอนนี้มันต้องลงสู่ก้นแก้วเป็นธรรมดา เวลามันเคลื่อนไหว ตะกอนนั้นก็ต้องขุ่นขึ้นมาเป็นธรรมดา

กิเลสที่มันอยู่ในหัวใจ ถ้ามันยังไม่ได้ชำระออกไป เราได้เกลื่อนไว้เฉยๆ เราได้ให้ค่ามันเอง เราตีความธรรมะเอง เราให้ค่าของเราเอง แล้วมันก็...ตะกอนในแก้วมันอยู่ของมันนะ มันได้ชำระออกไป นี่ก็เหมือนกัน กิเลสในหัวใจเรา เราไม่ได้ชำระสิ่งใดๆ เลย เพียงแต่ว่ามันมีความสงบ ตะกอนในแก้วก็อารมณ์ของเราโดยปกติ น้ำขุ่นมันก็มีอารมณ์มีความรู้สึกของเราไป เวลาน้ำมันใส มันก็สะอาดดี เวลาเราใช้ปัญญาของเรา เราใช้คำบริกรรมของเรา มันก็ใส มันก็ใสเพราะตะกอนมันนอนอยู่ในใจ

เวลาจิตมันเสื่อม มันก็ฟุ้งออกมา พอฟุ้งออกมา เหมือนคนตาบอดนะ จะไม่รู้อะไรเลย พูดธรรมะก็ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันถึงได้เป็นธรรมะกลับกรอกไง กลับกรอกเพราะใจมันกลับกรอกก่อน กลับกรอกเพราะใจของผู้ที่ปฏิบัตินั้นมันกลับกรอก

พอมันกลับกรอกขึ้นมาแล้วสิ่งที่ออกมา พูดธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ขณะที่พูดธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่หัวใจเราไม่รู้จริง เราจะสามารถอธิบายให้คนที่ประพฤติปฏิบัติ ที่ลูกศิษย์ลูกหาที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ ที่เขามีปัญหาของเขา เราจะวินิจฉัยได้อย่างไร ถ้าเราวินิจฉัยไม่ได้ มันก็เกลื่อนไปอย่างนั้น กลับกรอกไปอย่างนั้น ธรรมะกลับกรอก ถ้าเรากลับกรอกกับเราแล้ว เราจะเสียหายเราเองนะ แล้วประพฤติปฏิบัติไปแล้วมันจะไม่สมกับความจริงของเรา ถ้ามันไม่สมกับความจริงนะ

ดูสิ เวลาเราเกิดเป็นมนุษย์ เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วเรายังออกมาประพฤติปฏิบัติ ว่าเรามีกำลังใจของเรา เราออกจากตระกูลมา ออกมาจากสิ่งต่างๆ เพื่อจะมาค้นคว้าของเรา จะอยู่ในตระกูล หรือจะออกมาเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส มันก็ต้องตายเหมือนกัน อยู่ที่ไหนก็ตาย แต่ทรัพย์ ทรัพย์ของโลก กับอริยทรัพย์ ทรัพย์สิ่งที่เป็นคุณงามความดีของเรา เราจะเอาไหม ถ้าเราเอาสิ่งนี้ เราเชื่อมั่นสิ่งนี้ ศาสนานี่นะมีมา ๒,๕๐๐ กว่าปี แล้วศาสนา จะ ๕,๐๐๐ ปีไปข้างหน้า

พระอานนท์ถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “เมื่อไรจะหมดยุคหมดกาลของมรรค ผล นิพพาน”

“อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม”

แล้วนี่มีครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นของเรา ท่านปฏิบัติของท่าน แล้วท่านล่วงไปแล้ว ท่านวางมรดกตกทอดมาถึงเรา เราจะเอาไหม ถ้าเราไม่เอานะ ผู้ที่จะรื้อค้นขึ้นมาสดๆ ร้อนๆ อย่างนี้ หาได้ยาก

สดๆ ร้อนๆ เพราะท่านอธิบายให้เราฟัง ท่านชี้ให้เราเลย เราไปศึกษาในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระไตรปิฏก เราตีความเองนะ นี่ไง ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หนึ่งไม่มีสอง แต่กิเลสของเรามันกลับกรอก พอมันตีความมันก็ตีความเข้าตัวเอง ถ้าตีความเข้าตัวเอง ตีความเข้าตัวเอง แล้วไปเจอครูบาอาจารย์ที่กลับกรอกอีกนะ ตกไปในทางเดียวกันเลยนะ กลับกรอกเหมือนกัน เพราะมันเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เป็นไปไม่ได้นะ

สิ่งที่เป็นไปไม่ได้อยู่ที่ไหน? อยู่ที่ค่าของเวลาที่แสดงออกมานั่นแหละ ค่าของใจที่แสดงออกมา ถ้ามีธรรมะ จะพูดกลบเกลื่อนไว้ มีธรรมะนะ คนที่มีธรรมะในใจเป็นธรรม เวลาแสดงธรรมออกไป สิ่งที่เขารับหรือเขาไม่รับ เขาพยายามจะเกลื่อน พยายามจะพูด ไม่มีประโยชน์ สีซอให้ควายฟัง ไม่มีประโยชน์ ถ้าสีซอให้ควายฟัง เราก็ต้องพูดเพื่อจะให้จบกระบวนการนั้นๆ ไป แต่ขณะพูดจบกระบวนการ มันก็มีธรรมะไหลออกมาโดยธรรมชาติ โดยธรรมชาติ

แต่ถ้าพูดถึงนะเราไม่มี เราอยากจะอวดเขา อวดอย่างไร ออกมามันก็โกหกหมด เพราะมันไม่เป็นความจริงหรอก สิ่งที่ไม่เป็นความจริงมันกลับกรอกอย่างนี้ แล้วคนรู้จริง คนรู้จริงมีนะ ถ้าคนรู้จริงมี เห็นสภาวะแบบนี้มันเข้าใจได้กับสัจจะความจริง ถ้าใจเรายังไม่มีหลักมีเกณฑ์ เราจะต้องยึดธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน ยึดไว้นะ เวลากาลามสูตร ไม่ให้เชื่อใคร ไม่ให้เชื่อแม้แต่ครูบาอาจารย์เรา แต่เราต้องมีศรัทธา

มีศรัทธา เงี่ยหูลงฟัง ใจลงธรรม ถ้าใจลงธรรม ในการประพฤติปฏิบัติเรา เหมือนกับถ้าพูดถึง เราทำสักแต่ว่าทำ เหมือนเหลือเศษเหลือเดน เอาเวลาที่ว่างมาปฏิบัติธรรมไง เอาเวลาส่วนใหญ่ของเราไปทำอย่างอื่นไง แต่เวลาเราปฏิบัติธรรม เอาความจริง เอาเวลาที่ความจริง เอาเวลาของเรามาปฏิบัติธรรม สิ่งที่ว่าเป็นเวลาว่างของเรา ว่างไม่เอาเลย ไม่มีเลย เพราะว่างไม่ได้

เวลาเรากำหนดกันนะ พุทโธๆ ตลอดทั้ง ๒๔ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมงเลย เว้นไว้แต่หลับ หลับขึ้นมาเอาเลย ทำอยู่อย่างนั้นจนเห็นผลขึ้นมา พอเห็นผลขึ้นมา เราทำกันขนาดนั้นนะ เราทำขนาดนั้นมันถึงจะควบคุมใจได้ ถ้าเราไม่ทำขนาดนั้น สติมันอยู่ที่ไหน เวลา อารมณ์มันเกิดตลอดเวลา อารมณ์เกิดตลอด กิเลสมันยุแหย่ตลอดเวลา แต่เราทำเป็นเวลาว่าง แล้วกิเลสที่มันยุแหย่ตลอดเวลา มันว่างกับเราไหม มันไม่ว่างกับเราหรอก นี่ถ้าเราเห็นว่าเราจะเอามรรคผลนิพพาน เราจะถึงที่สุดแห่งทุกข์ เราต้องตั้งใจของเรา แล้วทำได้ ทำสิ่งนี้ เราแก้ไขของเราได้ ถ้าเราแก้ไขของเราได้ นี่พรหมจรรย์เพื่อเรา

ถ้าพรหมจรรย์เพื่อเรา “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” แล้วพอสมควรแก่ธรรม เราปฏิบัติเอง เราสมควรเอง แล้วคนอื่นเขาปฏิบัติไม่สมควรแก่ธรรม มันจะเป็นธรรมขึ้นมาได้อย่างไร มันเป็นธรรมขึ้นมาไม่ได้หรอก สิ่งที่เป็นธรรมไม่ได้ สิ่งที่แสดงออกมามันคืออะไร ก็กลับกรอกไง ในเมื่อนะ ชีวิตของเขานะ เขากลับกรอกของเขา เขาทำไม่ได้จริงของเขา แล้วเขามาสั่งสอนเรา แล้วเราไปเชื่อเขาทำไม เราไม่ควรไปเชื่อใครเลย

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมานะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเป็นผู้ชี้ทางเอง แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติไปถึงแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามบ่อยมาก เพราะพระสมัยพุทธกาลนะ ใครก็เคารพใช่ไหม

“ธรรมนี้มาจากไหน”

ดูพระสารีบุตรสิ ไปถามพระอัสสชิ “ใครเป็นศาสดา”

พระอัสสชิบอกเลยนะ “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา”

“แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะสอนอย่างไรล่ะ”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่า “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ให้แก้ที่เหตุนั้น”

เวลาพระสารีบุตรฟังแล้ว ยังไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปขอบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนถึงที่สุดแห่งทุกข์ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติต่างองค์ ต่างจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามว่า “ใครทรมานมา” ผู้ที่ทรมานมา ทรมานมาถูกต้อง ถ้าทรมานมาถูกต้อง ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ถ้าทรมานมายังไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ พระพุทธเจ้าจะสอนต่อไป

สอนต่อไปนะ เพราะเราเป็นสาวก-สาวกะ เป็นผู้ที่ต้องการคนชี้นำ เหมือนลูกเลย ลูกต้องการอยู่กับพ่อแม่ ลูกต้องการให้พ่อแม่ดูแลตลอดเวลา แต่นี่ครูบาอาจารย์ของเรานะ ชีวิตของคนมันสั้นนัก ชีวิตของคนทุกคนต้องสิ้นไปเป็นธรรมดา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว แต่ธรรมวินัยยังอยู่

ธรรมวินัยยังอยู่ เพราะให้เราค้นคว้า ค้นคว้าธรรมวินัย ถ้าเวลาปฏิบัติไป ใจเราเป็นธรรม ใจของเราเองนี่เป็นธรรมเสียเอง ถ้าใจของเราเป็นธรรมเสียเอง มันจะต่างไปกับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่หนึ่งไม่สองได้อย่างไร หนึ่งเดียวไม่มีสอง เอกํ นาม กึ หนึ่งไม่มีสอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดคำไหนคำนั้นเด็ดขาด เด็ดขาดทั้งนั้นเลย ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นไป พอใจเป็นธรรมขึ้นมานะ มันเหมือนกัน พอมันเหมือนกันขึ้นมา มันเข้ากันได้สนิทแนบแน่น

แต่ขณะที่ปัจจุบันนี้ใจเราเป็นกิเลสล้วนๆ ศึกษาธรรมขึ้นมา มันลังเลสงสัยไปหมด ลังเลสงสัย แล้วจะบอกมันจะเป็นไปได้หรือ มันจะมีโอกาสหรือ มันจะเป็นความจริงหรือ นี่มันมีความคิดของมันตลอดไปนะ

ใครทำลายเรา? เราจะคิดนะว่าทุกคนทำร้ายเรา ทุกคนทำร้ายเรา แต่จริงๆ คือกิเลสมันทำร้ายเรา ถ้ากิเลสทำร้ายเรา เราต้องต่อสู้มัน เราต้องต่อสู้กับกิเลส ถ้าเราทำลายกิเลสได้ จะไม่มีใครทำร้ายเราได้ เพราะในเมื่อเราประพฤติปฏิบัติมา เรามีประสบการณ์ของเรา คนอื่นจะพูดอย่างไร มันเรื่องของเขานะ

ยิ่งคนโง่ ครูบาอาจารย์ท่านสอนบ่อย คนโง่นะ คนโง่มากเขาจะติเตียนขนาดไหน มันเรื่องคนโง่ เราไปฟังคนโง่ไม่มีประโยชน์หรอก แต่คนฉลาดคนเดียวติเตียนเรา คนฉลาดเขาบอกจุดบอดเราได้ คนฉลาดเขาจะชี้เลยว่านี่ผิดอย่างนั้น ถูกอย่างนั้น แล้วเหตุผลเราเถียงไม่ขึ้น ถ้าเหตุผลเราเถียงไม่ขึ้น เราควรจะพัฒนาแล้ว สิ่งนี้เราเปรียบเทียบได้ไง เพราะเขาชี้ขุมทรัพย์ของเรานะ เขาชี้ถึงความจุดบอดของเรา ชี้ถึงความบกพร่องของเรา

แล้วความบกพร่องนี่เราจะถมไหม ถมความบกพร่องนั้นให้เต็ม ถ้าถมความบกพร่องนั้นให้เต็มขึ้นมา เราพัฒนาขึ้นมาแล้ว ถ้าเราพัฒนา สิ่งนี้เป็นประโยชน์กับเรานะ นี่คบบัณฑิต อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา ไม่ควรคบคนพาล พาลนอก-พาลใน พาลจากนอก คบคนพาลข้างนอก คนพาลพาให้พาล คบบ่อยๆ ฟังบ่อยๆ เราจะพาลไปกับเขานะ ถ้าคบบัณฑิตนะ เขาจะพาเราไปในสิ่งที่ดี แล้วความคิดเรา พาลภายในหัวใจ สิ่งที่เป็นในหัวใจมันคิดของมัน กิเลสมันคิดธรรมชาติของมัน กิเลสต้องคิดอย่างนั้น

แต่ธรรมะล่ะ ธรรมะถ้าเราลงได้ลึกขนาดไหน ธรรมะมันจะพิสูจน์ขึ้นมาจากใจ ลงได้ลึกนะ จิตสงบมากสงบน้อย เราจะรู้เลยว่ามันจะรู้ได้ลึกขนาดไหน คนเราจิตสงบมันก็ไม่เท่ากัน ปัญญาของคนก็ไม่เท่ากัน ปัญญาของคนนะ เพราะกิเลสมันหยาบมันละเอียดต่างกัน

ถ้าคนหยาบมันต้องใช้ปัญญามาก

ถ้าคนละเอียด ปัญญาที่ละเอียดเข้าไป ซับซ้อนเข้าไป

นี่พูดถึงจริตนิสัยของแต่ละคน

แต่เวลาปฏิบัติทุกๆ คน เวไนยสัตว์มันต้องมรรค ๔ ผล ๔ เวลากิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างกลาง กิเลสอย่างละเอียด กิเลสอย่างละเอียดสุด มันก็ใช้มรรคผลต่างกัน ใช้ปัญญาต่างกัน ปัญญาที่ต่างกันมันจะต่างกันอย่างไร ถ้าพูดถึง ถ้าเราไม่เคยปฏิบัติ มันจะรู้ปัญญาต่างกันอย่างไร

มันถึงว่า สุตมยปัญญา ปัญญาการศึกษาอย่างหนึ่ง จินตมยปัญญา เป็นปัญญาอย่างหนึ่ง ภาวนามยปัญญา ปัญญาอีกอย่างหนึ่ง แล้วภาวนามยปัญญายังมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด ละเอียดสุดอีก ทีนี้มันถึงสติ-มหาสติ ปัญญา-มหาปัญญา มหาปัญญามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? มันเกิดขึ้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นมานี่เป็นสภาวธรรมนะ “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา” สภาวธรรมนี้เป็นอนัตตา สิ่งต่างๆ ในโลกนี้เป็นอนัตตา มันแปรสภาพตลอด

สภาวธรรมเราต้องสร้างขึ้นมา สมาธิใครเป็นคนทำ ถ้าเกิดสมาธิแล้วไม่ฝึกฝนปัญญา ปัญญาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไร เอาน้ำไปตั้งบนเตา แล้วให้มันเดือดขึ้นมา มันจะเดือดขึ้นมาได้อย่างไรถ้าเราไม่ติดไฟขึ้นมา ถ้าน้ำเดือดขึ้นมาแล้ว เราไม่เอาไปใช้ประโยชน์ มันจะเกิดประโยชน์ขึ้นมาได้อย่างไร น้ำก็อยู่บนเตา

สมาธิเป็นสมาธินะ ปัญญาเป็นปัญญา แต่ถ้าไม่มีสมาธิ ปัญญาจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ปัญญาเกิดขึ้นมา มันก็เป็นปัญญาโลกๆ เป็นปัญญาเกิดจากเรา เรากลัวนักกลัวหนา กลัวเราจะเสีย เราจะผิดพลาดกลัวจะเสียหาย แล้วมันเกิดขึ้นมาก็ดึงไว้ให้เป็นปัญญาจากเราตลอดไป แล้วเวลาเป็นปัญญาที่ขึ้นเกิดจากธรรมะ เป็นโลกุตตรปัญญา จะเกิดขึ้นมา มันไปเป็นปัจจุบันธรรม มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมา คาดหมายไม่ได้ มันคาดหมาย ถ้าการคาดหมายคือสัญญานะ การคาดการหมายการควบคุมนี่เป็นสัญญา เป็นสิ่งที่เราควบคุมหมด มันเกิดจากตัวตนของเราทั้งนั้นน่ะ

แต่เวลาจิตมันสงบขึ้นมา แล้วมันเกิดเป็นการภาวนาขึ้นมา เกิดเป็นปัญญาขึ้นมา มันเกิดขึ้นมา ไม่ใช่ควบคุมไม่ได้นะ คำว่าสติ-มหาสติ ปัญญายิ่งละเอียดขนาดไหนนะ มันยิ่งละเอียดเข้าไป เพราะเป็นมหาสติ-มหาปัญญา แล้วมันเป็นปัญญาญาณที่ละเอียดเข้าไปอีก สิ่งนี้มันมาจากไหน

คำว่า “สภาวธรรม” สภาวธรรมคือสิ่งที่เราสร้างขึ้น ผลจากสภาวธรรมต่างหาก ธรรมไม่ใช่สภาวธรรมนะ ธรรม โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ ไม่ใช่สภาวธรรม...คือตัวธรรม สภาวะคือสภาวะที่เกิดขึ้น ปัญญาที่เกิดขึ้น แล้วเกิดขึ้นมา เห็นไหม ด้วยกำลังของสมาธิ ด้วยกำลังของปัญญา มันสัมปยุตเข้าไป ทำลายกิเลสที่ไหน? กิเลสมันอยู่ที่ใจ พอกิเลสอยู่ที่ใจ สิ่งที่เห็น เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม

แต่มันปัญญาที่ธรรมจักรมันหมุนเข้าไป แล้วมันสัมปยุตเข้าไป แล้ววิปยุตคลายตัวออกมา มันคลายตัวออกมา “อรหัตตมรรค อรหัตตผล” สิ่งที่เป็นอรหัตตมรรค เวลามันสัมปยุตเข้าไป มันกลืนตัวเข้าไป แล้วมันคลายตัวออกมา อรหัตตผล

ทำไมมันไม่ใช่ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ล่ะ อรหัตตผล ทำไมมีนิพพาน ๑?

นิพพาน ๑ คือตัวธรรมไง ไม่ใช่สภาวธรรม

อรหัตตมรรค อรหัตตผลนี้เป็นสภาวธรรม นิพพานเป็นตัวธรรม

นี่ไง “โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล” โสดาปัตติมรรคนี่เป็นสภาวะ สภาวะที่จิตมันเริ่มทำลายกันแล้ว แล้วสิ่งที่ทำลาย จบสิ้นกระบวนการของการทำลายมันเหลืออะไร? เหลือธรรม เหลือจิตที่เป็นพระโสดาบัน เหลือจิต

“สกิทาคามรรค สกิทาคาผล” ระหว่างสภาวะที่มันทำลายกันมันก็เหลือสกิทาคาผล

เวลา “อนาคามรรค อนาคาผล” ที่มันทำลายกัน มันก็อนาคาผล จิตที่มันเหลือ จิตที่มันเหลือเพราะอะไร

เพราะจิตเดิมแท้นี้ ผ่องใส จิตคือตัวภพ จิตคือตัวเริ่มต้น จิตปฏิสนธิจิต จิตที่ตัวเกิดตัวตายอยู่นี่

“ธรรมะมีอยู่แล้ว ธรรมะมีอยู่แล้ว” ธรรมะมีอยู่ที่ไหน?

ธรรมะมีอยู่แล้วเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมะที่ธรรมชาติ แต่ธรรมะเราไม่มี ธรรมะเราไม่มีหรอก สิ่งที่เกิดขึ้นมา สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา คำว่า “เป็นอนัตตา” สิ่งที่เป็นอนัตตามันแปรสภาพ มันจะเป็นความจริงมาได้อย่างไร

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สิ่งที่เป็นสภาวะ สภาวะมันยังเปลี่ยนแปลงอยู่ สภาวะที่มันเคลื่อนอยู่ ดูสิ ดูอย่างโลกเราหมุนอยู่ พระอาทิตยขึ้น พระอาทิตย์ตกอยู่ สภาวะมันก็ขึ้นมาอยู่ มันจะหมุนอยู่อย่างนี้ตลอดไปไหม สิ่งที่เป็นอยู่

นี้จิตมันกลั่น เวลาปัญญามันหมุนขึ้นมา มันหมุนขึ้นไปเป็นสภาวะของมัน สภาวธรรม แล้วผลที่เป็นธรรมล่ะ? ผลที่เป็นธรรมมันถึงจะไม่กลับกรอก ผลที่เป็นธรรมมันถึงเป็นความจริงไง ถ้าสิ่งที่ผลมันเป็นธรรมขึ้นมา ผลเกิดมาจากอะไร?

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” ถ้าผลมันเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่รู้จักเหตุ ผลมันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ในเมื่อเหตุมันไม่ถูกต้อง ผลมันเกิดขึ้นมา มันจะเป็นธรรมได้อย่างไร มันก็เป็นธรรมที่กลับกรอกไง ธรรมของกิเลสไง ธรรมของกิเลส ธรรมของการขี่หลังเสือ ไม่ใช่ธรรมะโดยสัจธรรม

ถ้าธรรมะโดยสัจธรรม มันเกิดขึ้นมาโดยสัจจะความจริงที่เราทำของเราขึ้นมา เราทำของเรา แล้วเราเห็นของเรา แล้วเวลาครูบาอาจารย์ของเรา ดูสิ สิ่งที่ “ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” สมัยที่ประพฤติปฏิบัตินะ กึ่งพุทธกาล ศาสนาเรียวแหลมมา ในการประพฤติปฏิบัติมา คนที่เข้าถึงสัจธรรมมันมีน้อย เวลาหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ท่านรื้อค้นของท่านขึ้นมา แล้วเวลาเราไปกราบครูบาอาจารย์กัน เหมือนกับสมัยพุทธกาล เขาจะไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่นี่เพราะว่าหลวงปู่มั่นสอนลูกศิษย์ลูกหามา ก็คิดถึงครูคิดถึงอาจารย์ ไปกราบท่าน ธมฺมสากจฺฉา เวลาเจอหน้ากันนะ “อ้าว! ปฏิบัติอย่างไร” อย่างเช่น ลูกศิษย์องค์นี้ได้ถึงขั้นใด ครูบาอาจารย์ เหมือนประวัติคนไข้อยู่กับหมอ เวลามาได้พัฒนาขึ้นไหม ถ้าพัฒนาขึ้นพัฒนาถูกต้องไหม พัฒนาขึ้นมาแล้วมันพัฒนาในทางที่ถูกก็ได้ พัฒนาไปแล้วมันไม่เข้าหนทาง หรือมันไม่ถูกก็แก้ไขกันไป แล้วครูบาอาจารย์ เขาจะธมฺมสากจฺฉา คุยธรรมะกันนะ

ประสบการณ์ชีวิตนะ เราเข้าป่าเข้าเขากัน ทั้งชีวิตเลย แล้วเราไปประสบการณ์สิ่งใดมา เอามาเล่าสู่กันฟังเป็นคติธรรม ให้ปลุกปลอบใจให้พวกเราองอาจกล้าหาญ เหมือนเรามีความชอบสิ่งใด ชมรมสิ่งใด เวลาเรามานั่งคุยกันก็คุยกันทั้งวันทั้งคืน ถ้ามีความเห็นอย่างเดียวกัน ทิฏฐิเสมอกัน ความเห็นเหมือนกัน มันคุยด้วยความไม่มีขัดคอกัน มันจะไปได้ดีมาก นี่เหมือนกัน ธมฺมสากจฺฉา ด้วยสภาวธรรม เพราะคุณธรรมในครูบาอาจารย์ของเรามี

ในเมื่อคุณธรรม ในครูบาอาจารย์ของเรามี เวลาเปรียบเทียบกันแล้วมันจะเข้าทางกัน นี่การตรวจสอบกันอย่างนี้ทำให้ศาสนาเจริญ เช่น เวลาลงอุโบสถ สวดปาฏิโมกข์ สวดปาฏิโมกข์กลั่นกรอง กลั่นกรองว่าผู้ทำผิดจากปาฏิโมกข์ ศีล ๒๒๗ นี้คือผิด นี่เหมือนกัน ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ในการประพฤติปฏิบัติ สมาธิเป็นอย่างไร แล้วเป็นสมาธิแล้วเกิดปัญญา ปัญญาถูกปัญญาผิด ตรวจสอบได้ง่ายๆ เลย

ถ้าปัญญามันผิดขึ้นมา มันก็มีมิจฉาปัญญา ถ้าปัญญามันถูกมันก็สัมมา แล้วปัญญาผิด-ปัญญาถูก ถูกตรงไหน? ถูกที่มันลงอริยสัจนี่ไง มันลงที่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ ดับอย่างไร?

วิธีการดับทุกข์ วิธีการดับทุกข์ถ้ามันถูก มันดับ ถ้าไม่ถูกล่ะ ไม่ถูกมันไม่ดับ ไม่ถูกมันยิ่งเร้า ทำไมปฏิบัติแล้วทุกข์ขนาดนี้ๆ ปฏิบัติทุกข์นี่กิเลสมันพาทุกข์นะ แต่ถ้าปฏิบัติด้วยความสุข ถ้ามันถึงที่สุดนะ มันปล่อยได้ มันวางได้ มันปล่อยได้วางได้ตามความเป็นจริง

เพราะเราเกิดมา เรามีโอกาส เรามีวาสนา มันปล่อยได้วางได้โดยข้อเท็จจริง นี้ถ้ามันไม่เป็นข้อเท็จจริง มันเป็นเพราะเรา มันเป็นเพราะความเห็นของเรา มันเป็นเพราะความจินตนาการของเรา สิ่งต่างๆ มันปล่อยไม่จริง เราจินตนาการว่าปล่อย มันปล่อยไม่จริง ปล่อยไม่จริง แล้วโดยข้อเท็จจริงของมัน มันก็จะมี มีตทังคปหาน

เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติ มันต้องทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ เหมือนเราทำทางวิชาการเลย ทางวิชาการเราตรวจสอบทดสอบ ตรวจสอบทดสอบ ด้วยความชำนาญของเรา พอชำนาญปั๊บ มันจะคล่อง ทำได้ด้วยความคล่องตัวมาก แต่ถ้ายังไม่มีความชำนาญ มันก็ยังเงอะๆ งะๆ แต่ก็ทำได้ มันก็ปล่อยๆ มันไม่ถึงที่สุด ถ้าสมดุลแล้วมันปล่อย

พอขาด “การปล่อย” กับ “การขาด” ต่างกันนะ

การปล่อยนี่มันตทังคปหาน ปล่อยแล้วมันมีเศษส่วนเหลืออยู่ ปล่อยโดยไม่ชอบ

แต่ถ้าเป็นการขาด มันปล่อยโดยชอบ

ดูสิ เวลาเราโดดจากหน้าผา เราโดดลงจากหน้าผามา เราโดดหน้าผามา เราตกมาจากหน้าผาด้วยความสูง หน้าผาเราจะย้อนกลับขึ้นมาอย่างไร นี่เหมือนกันเวลาจิตมันขาด มันตก มันขาดออกไป แล้วจะกลับมาต่ออีกไม่ได้ แต่เป็นการขาดมี ไม่ใช่ขาดสูญ

มันสูญจากกิเลส ขาดมีเพราะสภาวธรรมมันมี ตัวธรรมมี ทุกอย่างมี การขาดมีนี่คนไม่เข้าใจ ไม่ใช่ขาดสูญนะ ขาดมี ขาดไปแล้ว สังโยชน์ขาดไป แต่สิ่งที่มีอยู่คือสัจธรรม ขาดมี แล้วจะต่อกลับไปอีกไม่ได้ เป็นพระโสดาบันในชาตินี้ จะเกิดชาติไหนก็คือพระโสดาบันทั้งนั้น จะไปเกิดเป็นอะไร ก็เป็นพระโสดาบัน ตามที่พระโสดาบันจะเกิดได้ จะไม่เสื่อมจากพระโสดาบันเด็ดขาด แล้วเป็นสกิทาคามี อนาคามี ยิ่งคงที่ของมัน

แล้วถ้าสิ้นกิเลสล่ะ สิ้นกิเลสล่ะ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส ขณะที่จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส่มันยังเป็นตัวอวิชชาเลย แล้วทำลายจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส ทำลายมันหมดแล้ว มันเหลืออะไร มันเหลือสิ่งใด นี่ไง หนึ่งเดียว เป็นหนึ่งเดียว

แต่ถ้าเป็นหนึ่งไม่มีสอง สิ่งที่เป็นหนึ่งไม่เป็นสอง เป็นธรรมอันเอก ถ้าเป็นเอก อันนี้มันเป็นความจริง มันไม่มีสอง โลกเป็นของคู่หมด ดีคู่กับชั่ว มืดคู่กับสว่าง กรรมดีกรรมชั่ว กุศลกับอกุศล ทำให้จิตนั้นหมุนไป เพราะมันมีสิ่งที่กระทบมันไปได้ มีรูปมีนามมันหมุนไปตลอด

ถ้าไม่มี รูปไม่มี นามไม่มี ทุกอย่างไม่มี แต่มี มีโดยธรรมแท้ โดยธรรมแท้นะ “ธรรมะนี้ไม่กลับกรอก” เป็นตามความจริงนะ มันเกิดขึ้นมาจากการกระทำของเรา เกิดขึ้นมาจากการฟังธรรม

สิ่งที่เป็นคุณธรรม ธรรมนี้เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครจะพูดธรรมขนาดไหนก็แล้วแต่ ในกาลเวลาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันมีอยู่แล้ว คือได้ยินได้ฟังไง ของมีอยู่ ของเป็นไป แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ไม่มี สิ่งนี้ไม่มี แล้วค้นคว้าที่ไหนก็ไม่มี ใครจะสอนก็สอนไม่ได้ ขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างบุญญาธิการมาถึงตรัสรู้เองโดยชอบ

แต่ของเรามีอยู่ ยิ่งมีอยู่ยิ่งสงสัย ยิ่งมีอยู่ยิ่งโต้แย้ง ถ้าไม่มีศาสนานะ เราจะทุกข์มากกันกว่านี้อีก เพราะผลของศาสนา ถึงทำให้มันตกผลึกเป็นประเพณีวัฒนธรรม เพราะตกผลึกเป็นประเพณีวัฒนธรรม เราจะไม่รังแกกัน เราจะไม่ทำลายกัน ถ้าสังคมร่มเย็น สมณะชีพราหมณ์จะมีโอกาสประพฤติปฏิบัติ

ถ้าสังคมไม่ร่มเย็น เราจะเอาอะไรไปประพฤติปฏิบัติ สังคมมีแต่ความเร่าร้อน เราจะมีเวลามานั่งหลับหูหลับตา เป็นไปไม่ได้หรอก แต่นี้เราเกิดมาในพระพุทธศาสนา พุทธศาสนานี่เกิดเป็นชาวพุทธ เราเห็นพ่อเห็นแม่ไหว้พระมาตั้งแต่เด็กๆ เราก็ทำตามกันมา สิ่งที่เราทำกันมานะ สิ่งนี้มันทำให้ตกผลึกในสังคม เราจะยกเว้นกัน ดูสิ คนเวลาคนเขาทำโทษ เวลาเขาบวชแล้วทุกคนอภัยให้หมดนะ ถ้าเขาบวชแล้ว เขายอมรับผิด

“อภัยทาน” เราอภัยทาน ในปัจจุบันนี้ เรายอม เราให้อภัยตัวเราไหมล่ะ เราเปิดตัวให้เราประพฤติปฏิบัติไหมล่ะ ถ้าเราเปิดตัวของเราให้ประพฤติปฏิบัติ งานหน้าที่การงาน มันทำเพราะอาศัยที่อยู่ แต่เวลาจริงจังของเราขึ้นมา เราทำใจเราขึ้นมาให้ได้ แล้วเราจะพ้นจากทุกข์ เอวัง