เทศน์บนศาลา

ค่านิยม-ค่าธรรมะ

๙ ก.พ. ๒๕๕๒

 

ค่านิยม-ค่าธรรมะ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังเทศน์ ฟังเทศน์นะ ธรรมะนี่มันจะกล่อมใจ ใจเรามันดีดดิ้น ใจของเรา เราคิดเป็นความลับนะ เราเป็นอิสระใช่ไหม ใจของเรา ความคิดเรา เราคิดแล้วจะไม่มีใครทันความคิดเรา มันว่ามันเป็นอิสระ มันดีดดิ้น แต่เวลาธรรมะมันแทงเข้าไปที่ใจ ธรรมะนี้แทงเข้าไปที่ใจนะ เพราะธรรมะออกมาจากใจของครูบาอาจารย์เรา ทิ่มเข้ามาที่ในหัวใจเรา ให้เบรกมันให้ได้

ถ้าใจของเราเบรกได้นะ นี่ฟังธรรม มันเครื่องกล่อมใจไง ใจมีที่พักที่อาศัย เราตากแดดตากฝน มันหนาวมันร้อนเต็มที่ล่ะ ได้เข้าบ้านเข้าเรือน ได้ร่มที่พักอาศัย ทำความสงบของใจก็เหมือนกัน ถ้าใจสงบนะ ได้มีเรือนของใจที่พักอาศัย เรือนของใจ ฟังคำว่า ”เรือนของใจ” สิ เรือนของใจ มันเรือนของใจนะ เรือนยอด ๓ หลัง ได้รวมเรือนยอด ๓ หลังแล้วได้หักเรือนยอดนั้นนะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมอยู่ในป่านะ อยู่องค์เดียวนะ อยู่โคนต้นไม้องค์เดียวมีความสุขมาก มีความสุขมาก แต่เผยแผ่ธรรมมา พอเผยแผ่มาเพื่อสังคม จะมารื้อสัตว์ขนสัตว์ เวลารื้อสัตว์ขนสัตว์เผยแผ่ธรรมไป วันนี้วันมาฆบูชา สิ่งที่เป็นวันมาฆบูชา ถ้าพูดถึงเราสืบค้นในประวัติศาสตร์ มันเกิดที่ในประเทศไทย พระจอมเกล้าฯ เป็นคนริเริ่มขึ้นมา ในการทำวันสำคัญวันมาฆบูชา ก่อนหน้านั้น ดูอย่างเถรวาท มหายาน ต่างๆ ที่เขาทำกันไป มันแล้วแต่ประเพณีวัฒนธรรมของเขา

แต่ความจริงของเราล่ะ ความจริงวันสำคัญทางพุทธศาสนา เราตั้งใจไง ถ้าเราตั้งใจ เรามีจุดยืนของเรา แม้แต่วันพระวันเจ้าเราประพฤติปฏิบัติ วันพระวันเจ้า ภาษาบาลีภาษากลางนะ เวลาเทวดา อินทร์ พรหม จะมาฟังเทศน์ครูบาอาจารย์นึกภาษาอะไร? มันพูดภาษาใจ นึกเอา อยากฟังเทศน์ธรรมะข้อใด นึกมา ทางนี้รับแล้ว แล้วเทศน์ไปเลย เทศน์โดยไม่ต้องอ้าปาก มันเป็นความรู้สึก มันภาษาใจ ภาษาใจภาษานึก นึกนี้นึกลั่นขบวนการของมัน จบขบวนการของมัน นึกเต็มที่ไปเลย นี่ไง นี่ภาษาใจ ภาษาใจภาษากลาง ภาษาบาลี สิ่งต่างๆ ในวัฏฏะ

เพราะในธรรมบท พระอินทร์เป็นผู้ปกครองเขา แต่ผู้ใต้ปกครองแสงสว่างมากกว่า แสงสว่างมากกว่าเพราะอะไร เพราะเคยได้ทำบุญกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนไว้ ขณะที่พระอินทร์ลงมาใส่บาตรพระกัสสปะ พระกัสสปะเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ พระกัสสปะออกจากฌานสมาบัติ เป็นพระอรหันต์ด้วย ออกจากสมาบัติ พระอินทร์ปลอมตัวเป็นคนจนมาใส่บาตร มาใส่บาตรพระกัสสปะ

นี่คำว่า”ปลอม” คนมีสติปัญญาขึ้นมา ปลอมขนาดไหน เราก็รู้ทันทั้งนั้นน่ะ พออาหารใส่มาในบาตร มันไม่ใช่คนจน คนจน...เพราะใส่บาตรด้วยความศรัทธาใช่ไหม พอใส่บาตรมา อาหารทิพย์มันจะคนจนได้อย่างไร พระกัสสปะเห็นอาหารรู้เลยว่านี่ไม่ใช่คนจนหรอก กำหนดจิตดูเลย

“มหาบพิตร มหาบพิตร อย่าขี้โกงสิ อาตมาภาพจะมาบิณฑบาตกับคนทุกข์คนยาก อยากช่วยเหลือคนยากคนจนให้มีที่พึ่งอาศัยไง”

“ข้าพเจ้าเป็นคนทุกข์คนยาก เป็นคนจน”

จนเพราะอะไร เป็นพระอินทร์จนอย่างไร จนเพราะว่าอะไร เพราะทรัพย์สมบัติน้อยกว่าไง น้อยกว่าเทวดาที่ปกครองอยู่ แสงสว่างเขามากกว่า สิ่งที่แสงสว่างมากกว่า เขาทำบุญกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นี่ไง วัฏฏะมันวนอย่างนี้ มันซ้อนกัน ทำบุญมากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ที่แล้ว แต่มาเป็นเทวดาอยู่ สมณะโคดม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราเกิดแล้ว เวียนไปเวียนมาอย่างนี้ ภาษานี่มันเป็นความรู้สึกจากภายใน รู้สึกจากภายในจิต จิตนั้นมีความรู้สึกอย่างนั้น สิ่งนั้นทำขึ้นมา เพื่อประโยชน์กับใคร ประโยชน์กับคนที่มีสติสัมปชัญญะ

ในปัจจุบันนี้เรามีสติ เราเป็นชาวพุทธ วันนี้วันสำคัญทางพุทธศาสนา เราจะตั้งใจของเรา ตั้งใจฟังธรรม ให้ธรรมกล่อมใจเรา ถ้ากล่อมใจเรา ฟังธรรมนะทำให้เราหูตาสว่างนะ ในทางโลก สังคมไหนก็สังคม ผู้บริหารจัดการ ผู้ปกครอง เขาต้องการให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข สังคมร่มเย็นเป็นสุข คำว่า ”สังคม” มันหลากหลายมันรวมกันขึ้นมา เวลาเผยแผ่ธรรมไป ศาสนพิธี ศาสนบุคคล ศาสนวัตถุ ศาสนธรรม ศาสนพิธีต้องมีพิธีกรรม ไม่มีพิธีกรรมจะเริ่มต้นกันอย่างไร

ศีล สมาธิ ปัญญา ทาน ศีล ภาวนา ทานให้รู้จักเสียสละ ในลัทธิศาสนาต่างๆ เขาก็มีการทำทานของเขา มีการเสียสละของเขา แต่มันอยู่ที่วิธีการเสียสละอย่างไรกัน แต่ของเราเสียสละทาน ปฏิคาหกผู้ให้ ให้ด้วยความบริสุทธิ์ บริสุทธิ์เพราะอะไร บริสุทธิ์เพราะเราศึกษาธรรม เราเห็นคุณค่าของมัน เราเห็นคุณเห็นโทษนะ ถ้าเราไม่เห็นคุณเห็นโทษ เราจะทำคุณงามความดีได้อย่างไร เราทำคุณงามความดีเพราะเราเห็นว่าทำคุณงามความดี ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว แล้วทำชั่ว ใจมันอยากทำตัณหาความทะยานอยาก อยากสะดวก อยากสบาย อยากลัดขั้นตอน อยากทำดีทั้งนั้น ทำดีของกิเลสไง

แต่เราก็ฝืนมัน เราไม่ทำ เราทำคุณงามความดีของเรา ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เพราะเราศรัทธา เราเชื่อในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจึงฝืน พอเราฝืนขึ้นมา นี่ไง เราถึงทำคุณงามความดี เราถึงเสียสละ เสียสละเพราะมันมีเป้าหมาย หัวใจมันมีการศึกษาขึ้นมา มันมีการกระทำขึ้นมา

นี้การกระทำ มันก็เป็นโลกๆ ค่านิยม ค่านิยมของโลก มีความนิยมของโลก โลกจะมีความนิยมนะ คนทำคุณงามความดีจนเขาสร้างภาพจัดฉากกัน จัดฉากอยากเป็นคนดี ทั้งๆ ที่ว่าใจเป็นกิเลสทั้งนั้น ใจมันเป็นความหมักหมมของใจ แต่จัดฉากกันเป็นดีอย่างนั้นๆ นี่มันดีฉาก มันดีเป็นค่านิยม ค่านิยมอย่างนั้นทำ ทำความดีของโลกเป็นของค่านิยม มันไม่ใช่คุณค่าของธรรมนะ ศีลธรรม จริยธรรม วัฒนธรรมไม่ใช่ธรรม มันเป็นประเพณีวัฒนธรรม

ประเพณีวัฒนธรรมมันมาจากไหน? มันมาจากใจของผู้ที่ทรงธรรมวินัย ทรงความรู้สึกอันนั้นไว้ ดูสิ ในการกระทำของเขา ค่านิยมของเขา ค่านิยมของโลกมันทำให้เราเวียนอยู่ในโลกนี้ ถ้าใจเราจะพัฒนาของเราขึ้นไปนะ มันต้องคุณค่าของธรรม เราจะสัมผัสนะ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปริยัติคือ การศึกษาเล่าเรียนมา การศึกษาเล่าเรียนมาเราจะทำอย่างไร มันไม่เหมือนจริงหรอก มันเป็นอย่างนั้นไปไม่ได้ เพราะธรรมนี้เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่ขณะที่เราทำขึ้นมา เราต้องย้อนกลับมาที่ตัวเรา เราต้องตั้งฐานของเราให้ได้ ทำความสงบของใจนะ แค่ใจมีความสงบ พออยู่พอกินนะ พระเรานี่นะ พระเราถ้าใจไม่สงบไม่ทรงศีลทรงธรรม ไม่ทรงธรรมทรงวินัยใครจะทรง แม้แต่สมาธิเราทำความสงบของใจไม่ได้ มันเร่าร้อนนะ ถ้าทำความสงบของใจได้นะ ความสงบของใจไม่ใช่สิ่งที่ว่าเราชื่นใจ เราชอบใจ ความชื่นใจมันเป็นสอง ความคิดกับเรา ความคิดไม่ใช่เรา อารมณ์ความรู้สึกไม่ใช่เรา เพราะมีเราถึงมีอารมณ์ความรู้สึก แล้วเราตื่นไปกับอารมณ์ความรู้สึกนั้น มันจะเป็นเราได้อย่างไร

แต่ถ้าเป็นสมาธินะ ตัวเราเป็น เราไม่ใช่ตื่นไปกับเขา ถ้าเราตื่นไปกับเขาค่านิยมเขาเป็นอย่างนั้นนะ ค่านิยมสร้างธรรมะเสมือนจริง ต้องสร้างความจริงของเราขึ้นมา ความจริงของเรานะ เวลาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลัวจะผิดพลาดต้องเป็นอย่างนั้นไปหมดเลย มันเป็นอย่างนั้นไปไม่ได้หรอก ถ้าเป็นอย่างนั้นไป มันไม่ใช่ของเรา

เงินในกระเป๋าของคนอื่น ทรัพย์สมบัติของคนอื่นเป็นของเราไหม เราเห็นทั้งนั้น เราเห็นของเขาหมดเลย เราไปเห็น ดูสิ เราไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ ไปเที่ยวโบราณวัตถุ เราก็ไปดู มันสวยงามนะ มันมีคุณค่า มันมีประวัติศาสตร์ มันมีที่มาที่ไป ศึกษา ไม่ศึกษามันก็เป็นประวัติศาสตร์อย่างนั้น

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนกัน สิ่งนี้มันเป็นอย่างนั้น เราทำของเราขึ้นมานะ เราสร้างของเราขึ้นมา เรือนของเราขึ้นมา เราทำความสงบของใจขึ้นมา เรามีที่พักของเราขึ้นมา เราจะรู้ของเราขึ้นมาเลยล่ะ ความสงบของใจ ถ้าความสงบของใจ มันมีความสงบ มันมีความสุข ไม่มีความสุขนะพระติดได้อย่างไร เวลาจิตสงบขึ้นมา มันแล้วแต่จิตด้วย จิตถ้ามันคึกมันคะนอง คำว่า ”คึกคะนอง” คือมันมีคุณสมบัตินะ คุณสมบัติ ดูสิ ดูอย่างนักกีฬา เขามีทักษะของเขาที่เลิศกว่าคนอื่น มันเป็นพรสวรรค์ของเขา

จิตของเราก็เหมือนกัน จิตที่คึกคะนองมันมีคุณสมบัติของจิตดวงนั้น จิตดวงนั้นได้สร้างบุญกุศลมา มันมีของมัน แต่มีหนเดียว อย่างเช่น เวลาจิตสงบขึ้นมา เห็นเราเองไปนั่งบนก้อนเมฆ เราเดินจงกรมบนอากาศ พูดไปใครไม่เชื่อนะ ไม่เชื่อเพราะอะไร เพราะเขาไม่เคยเป็น เพราะคุณสมบัติของจิต

ดูสิ เห็นนักกีฬาอาชีพไหม เขาเล่นกีฬาอาชีพ เขามีสมบัติ เขาเป็นเศรษฐีนะ เป็นนักกีฬาที่มีผลตอบแทนมหาศาลเลย ทุกคนก็เป็นอย่างนั้น อยากเป็น เราอยากเป็นนักกีฬาอาชีพนะ เราได้รางวัล เราได้ทั้งกล่องด้วย ได้เงินด้วย ทุกๆ อย่างเลย แล้วมันมีกี่คนในโลกนี้ นี่มันเป็นบุญ พรสวรรค์ของเขา เป็นสะสมของเขามา

นี่ก็เหมือนกัน จิตเราว่าจะไม่เป็นอย่างนั้นๆ ไม่เป็นหรอก มันเป็นตามที่มันเป็นนี่แหละ จิตเรามันเป็นตามที่เราเป็น แต่ต้องให้เป็นตามความจริง ถ้าเป็นความจริง ถ้าจิตเราตั้งสติให้ได้ คำว่า”สติ” สำคัญมากนะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย” เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาท ความประมาท ความพลั้งเผลอ ความเลินเล่อ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ตัดทอนพวกเราหมด พระพุทธเจ้า...เป็นธรรมครั้งสุดท้ายที่ฝากไว้เลยนะ คำสุดท้ายที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากไว้กับภิกษุ ฝากไว้กับพวกเรา

เราต้องมีสติ คำว่า ”มีสติขึ้นมา” ถ้ามีสติขึ้นมา มันจะผิดนะ มันจะผิด ผิดเพราะเราไม่รู้ แต่มันก็จะพัฒนาขึ้นมา เพราะเวลาปฏิบัติขึ้นมา มันจะผิด มันจะถูก มีสติมันจะผิดน้อยลง แล้วสติทำให้เราไม่ผิดพลาดมากไป มันผิดเพราะไม่รู้ เพราะเราไม่รู้มันจะถูกได้อย่างไร มีสติอยู่แต่ไม่รู้มันก็ผิดอยู่ เพราะอะไร ปัญญามันเกิดขึ้นมา มันก็ผิดตามกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่เพราะมีสติใช่ไหม ถ้าไม่มีสติ ถ้าผิด ผิดมันก็ถลำไปเลยไง เพราะไม่มีสติ ถลำไปมันก็ผิดมากไปกว่านั้น

แต่ถ้ามีสติอยู่ เพราะสติ สมาธิ สติ มันแก้กิเลสไม่ได้ แต่มันเป็นพื้นฐานนะ ดูที่ใจลงธรรม ใจลงธรรม ถ้าใจเราไม่ลงธรรม เราจะไม่ฟังธรรม เพราะใจมันไม่ลงนะ เราฟังเสียงโลกดีกว่า เสียงเพลิดเพลินในทางโลกเขา มันว่ามันเป็นความสุขของเขา ความสุขอะไร จนน้ำหูน้ำตาไหลนะ เวลามันสะเทือนใจขึ้นมา แต่เราฟังธรรมนี่ขนลุกขนพอง ขนลุกขนพองนะ ขนนี่มันลุกหมดเพราะมันแทงหัวใจ พอมันแทงหัวใจ ขนลุกขนพองเลย

มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่จริง ทำไมไม่พิสูจน์ล่ะ ถ้าพิสูจน์ คุณค่าของธรรมมันจะเกิดนะ คุณค่าของธรรมมันเกิดจากข้อเท็จจริงในการประพฤติปฏิบัติของเรา เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เรารู้แค่ไหน คุณค่าของธรรม สิ่งที่เราศึกษามาไม่ใช่ทั้งหมด ถ้ามันใช่ขึ้นมาทำไมมันมีสุตมยปัญญา มีจินตมยปัญญา มีภาวนามยปัญญา เวลาทำความสงบของใจขึ้นมาจะมีขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ

แล้วเวลาทำบอกว่า ว่างๆๆ กัน นั่นไม่ใช่สมาธิ ถ้าเป็นสมาธิทำไมจิตมันรู้ว่าว่างล่ะ แล้วตัวจิตมันว่างมันเป็นอย่างไร ถ้าตัวจิตมันว่างนะ มันมหัศจรรย์ แม้แต่ความสงบ เดี๋ยวนี้ทำความสงบกันไม่เป็นแล้ว จิตมีพื้นฐานเป็นความสงบ ทำกันไม่เป็น แต่ไปสร้างอารมณ์กัน มันไปสร้างค่าอีกอันหนึ่งขึ้นมา ไปสร้างอารมณ์ความรู้สึกอีกอันหนึ่งขึ้นมา ว่าสิ่งนั้นเป็นความว่างๆๆ เพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้ว่าง

จนชาวพุทธเราปัจจุบันนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ว่าง ว่างหมดเลย สอนเป็นคนดี เป็นคนดีแล้ว ไม่ต้องทำอะไรเลย ว่างๆ มันว่างอย่างนี้มันว่างแบบปฏิเสธ มันว่างแบบโลกๆ ไง ปฏิเสธว่า สร้างภาพขึ้นมาให้มันว่าง มันก็ว่าง จิตนี้มหัศจรรย์นะ คนไม่เคยรู้จักกิเลสนะ กิเลสมันจะหลอกเราตลอดไป ในการประพฤติปฏิบัติของเรา กิเลสมันบังเงา บังเงาเอาธรรมะมาบัง ธรรมะของพระพุทธเจ้า เวลาพูดธรรมะของพระพุทธเจ้านะ ไปเถียงพุทธพจน์ได้อย่างไร

ในกาลามสูตร แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดยังไม่ให้เชื่อเลย ในกาลามสูตร ไม่เชื่อแม้แต่อาจารย์เรา ไม่ให้เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น แล้วเราเชื่อเขาไปทำไม เราไม่ได้คัดค้านพุทธพจน์ ไม่ได้คัดค้าน แต่ใจเราไม่เป็นตามค่าอย่างนั้น เราให้ค่ามันเอง ค่านิยมไง

ดูสิ เวลาหลวงปู่ฝั้นท่านพูด ซึ้งใจมาก “เวลาพูดธรรมะกัน มรรคผลนิพพานทั้งนั้น ผมศีรษะมันยังสละไม่ได้เลย เพศของมันยังสละไม่ได้เลย”

ถ้าพูดถึงคนที่มีคุณธรรมในหัวใจนะ ใจที่เป็นธรรมขึ้นมา มันจะออกบวชนะ ออกบวชเพราะอะไรรู้ไหม ออกบวชเพราะมันป้องกันได้หลายๆ อย่างเลย ป้องกันกรรมของเขา ดูสิ ในสังคมของชาวพุทธเรา พระสงฆ์เราเคารพบูชาใช่ไหม แล้วตามประเพณี นี่ค่านิยม เกรงใจผ้าเหลือง ไหว้ผ้าเหลือง ถ้าไหว้ผ้าเหลืองทำไมไม่ไปไหว้ที่เสาชิงช้าสิ เสาชิงช้าเต็มตู้อยู่นั่นน่ะ

นี่ทั้งๆ ที่เป็นวัฒนธรรมที่ใจมันเป็น กิเลสมันยังคัดค้านเลย คัดค้านเพราะมัน... โดยวัฒนธรรมของเราชาวพุทธใช่ไหม พระสงฆ์เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร ท่านเสียสละในการดำรงชีวิตแบบฆราวาส ท่านออกศึกษาธรรม ออกประพฤติปฏิบัติเพื่อจะพ้นจากทุกข์ เราให้เกียรติท่านใช่ไหม ท่านไม่มีอาชีพ ท่านไม่ประกอบอาชีพแบบเรา ท่านเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้งของท่าน ท่านออกไปค้นคว้า

ดูสิ ดูเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกมาจากกรุงกบิลพัสดุ์ พระเจ้าพิมพิสารเห็นมา ให้กองทัพครึ่งหนึ่งเลย ให้กลับไปเอาสมบัติคืน ไม่ใช่ๆ ออกหาโมกขธรรมจริงๆ ถ้าอย่างนั้นแล้ว ถ้าค้นคว้าเจอแล้ว ขอให้กลับมาสั่งสอนด้วย ขอให้กลับมาบอกด้วย พระเจ้าพิมพิสารขอร้องไว้เลยนะ ขอบรรลุธรรม ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ขอให้กลับมาสอนด้วย แล้วกลับมาสอนจริงๆ ด้วย สอนขึ้นมาจนได้เป็นพระโสดาบัน เห็นไหม เขาเรียกร้อง ขออยากได้ เขาอยากประพฤติปฏิบัติ เขาอยากหา

นี่ก็เหมือนกัน ในพระออกประพฤติปฏิบัติ เราเองเราก็ส่งเสริม นี่วัฒนธรรม แต่กิเลสมันรับไม่ได้ ไหว้พระก็ไหว้ลูกชาวบ้าน ไหว้พระก็ไหว้ผ้าเหลือง ผ้าเหลืองเป็นธงชัยพระอรหันต์นะ บุคคลทำผิดมันก็ผิดเฉพาะบุคคลนั้น บุคคลทำผิดก็เป็นบุคคลที่ทำผิด ในสังคมมันก็มีคนดีคนเลวปนกันทั้งนั้น แต่ผู้ที่ทำดีจะกราบก็ไม่กล้ากราบ กราบไปโดนลูกชาวบ้าน จะกราบแล้วไปโดนผ้าเหลือง

แล้วผ้าเหลืองที่ร้านขายผ้าเหลือง อย่างนั้นร้านขายสังฆภัณฑ์ เขาก็เป็นพระอรหันต์หมดเลย เพราะผ้าเหลืองเขาเต็มบ้านเลย มันก็ไม่เป็น นี่กิเลสเรามันขัดแย้งไปหมด การประพฤติปฏิบัติกิเลสของเรามันขัดแย้ง มันไม่ยอมรับ ทั้งๆ ที่ว่าจิตใต้สำนึกมันก็มี ถ้าไม่มีเราจะกราบพระทำไมชาวพุทธ ชาวพุทธเราก็กราบพระ เคารพพระใช่ไหม เพราะพระเจ้าท่านออกไปเผชิญกับกิเลสของท่าน นั่งสมาธิภาวนาท่านจะสู้ไหวไหม ถ้าท่านสู้ของท่านไปท่านจะมีความสุขของท่าน ถ้าท่านสู้ของท่านไม่ไหวนะ มันจะกัดกร่อนในหัวใจของท่าน

นี่ไง ว่าบวชพระสบาย บวชพระสบาย งานของพระ งานเอาชนะตนเองนะ งานของเรา จะละเอียดขนาดไหน บริหารจัดการขนาดไหน มันก็ใช้สมองทั้งนั้น แต่เวลาเอาชนะตนเองสมองเอาชนะตนเองไม่ได้ เพราะสมองมันเป็นสัญญา นี่จำธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้หมดเลย แล้วก็สร้างภาพหมดเลย นิพพานเป็นอย่างนั้น นิพพานเป็นอย่างนั้น นิพพานของกิเลสไง

แต่นิพพานเป็นความจริง มันต้องชำระกิเลส ชำระกิเลสเอาอะไรไปชำระมัน เขาจับผู้ร้าย เขาจับโจรเขายังมีอาวุธนะ นี่เอาแต่ความคิด เอาความคิดจินตนาการเข้าไปจับมัน มันจะจับมันได้อย่างไร เจอตัวมันยังไม่เคยเจอตัวมัน ยับยั้งมันยังยับยั้งมันไม่ได้เลย สิตนี่ยับยั้งมันไว้ ความคิดที่มันคิด มันทุกข์ มันยากอยู่นี่เพราะอะไร เพราะขาดสติ ถ้าสติ น้ำล้นฝั่งขนาดไหน สติมันกั้นได้อยู่หมด กั้นได้อยู่หมด สตินี่ กั้นได้อยู่แล้ว เราจะควบคุมมันอย่างไรต่อไป สติมันยับยั้งความคิดเราได้ ความคิดที่มันเป็นฟืนเป็นไฟ เอาแต่ฟืนไฟมาเผาตัวเองเพราะอะไร เพราะมันโง่ไง เพราะมันไม่เข้าใจในตัวมันเองไง

แต่ถ้ามันความคิดเกิดขึ้นมา เรามีสติสัมปชัญญะ ความคิดมันก็หยุดได้ แล้วสิ่งที่เผามา เราว่าเรานักปฏิบัติธรรม เราเป็นชาวพุทธ แล้วชาวพุทธสอน นี่ไง บุรุษเรา พวกคฤหัสถ์ ถือดุ้นไฟมาคนละดุ้น ดุ้นไฟแล้วมันก็ร้อนเผาผลาญตัวเองใช่ไหม แล้วก็ถือดุ้นไฟไป แล้วก็ตระโกน “ร้อนๆ”

มีบุรุษคนหนึ่งเป็นผู้ที่ฉลาดมากคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา บอกว่าให้ทิ้งสิ ดุ้นไฟให้ทิ้งๆ นี่กิเลส โทสะ โมหะ ความเร่าร้อนในหัวใจทำไมไม่ทิ้งก็อยากจะทิ้งก็ทิ้งไม่เป็นก็ทิ้งไม่ได้ แล้วไปศึกษากันว่างๆ ว่างๆ

ว่างๆ มันเผาใจอยู่นั่นน่ะ ว่างๆ มันเล่ห์เหลี่ยม กิเลสมันฉ้อฉล นี่ค่านิยม ปฏิบัติกันเป็นค่านิยม เป็นพิธีกรรมกันเฉยๆ เห็นสงบเสงี่ยมกัน เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เป็นค่านิยมทั้งนั้น มันเป็นพิธีกรรม มันไม่ทำจริงทำจัง ถ้าทำจริงทำจังขึ้นมา มันอยู่ที่ไหนมันก็อยู่ของมันได้ สิ่งใดๆ ให้เป็นสัจธรรมสิ ดูสิ ดูพระปฏิบัติเรา ทุกคนเห็นแล้วสงสารนะ ไม่ต้องมาสงสาร อย่าเอานิสัยโลกๆ มาสงสาร เพราะอะไร เพราะสิ่งที่สงสารจะบริการไง จะทำให้สุขสบาย

ดูสิ ดูเดี๋ยวนี้นะ ปัจจุบันนี้นะ พิมพ์หนังสืออสุภะแจกกันว่า นี่เป็นอสุภะ อสุภะ แล้วพระก็ได้คนละเล่มใส่ย่ามไป มีอสุภะในย่ามไง แต่มันมีอสุภะที่ใจไหม อสุภะมันเกิดที่กระดาษนั่นเหรอ ถ้าอสุภะมันเกิดที่กระดาษนะ โรงพิมพ์อสุภะเป็นพระอรหันต์หมดแล้ว แท่นพิมพ์เป็นพระอรหันต์เลย เพราะมันพิมพ์อสุภะมาให้พระ มันไม่เป็นหรอก ตำราเป็นตำรา กระดาษเป็นกระดาษ มันกระดาษเปื้อนหมึก

ถ้ามันจะเป็นอสุภะขึ้นมา จิตมันต้องสงบเข้ามา พอจิตมันสงบเข้ามา มันไปเห็นสภาวะขึ้นมา มันแทงหัวใจนะ มันแทงหัวใจมากเพราะอะไร เพราะโดยสัญชาติญาณของเรา เราพอใจ เราไม่ชอบหรอกอะไรที่มันเละเทะ มันไม่ชอบหรอก มันอยากได้สวยงามทั้งนั้น เกิดมาแล้วไม่อยากจะตาย จะค้ำฟ้า มันเป็นไปไม่ได้หรอก คนเราเกิดมา ชาติปิ ทุกฺขา ความเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง แล้วไม่เกิดไม่ได้ เราปฏิเสธว่าไม่เกิดๆ ตายเดี๋ยวนี้ก็เกิดเดี๋ยวนี้ เราปฏิเสธเป็นความคิด

แต่รากเหง้า สัจจะความเป็นจริงของมัน ภวาสวะ ตัวภพ ใครไปปฏิเสธมันได้ ใครไปทำลายมันได้ ไม่มีใครสามารถทำลายตัวนี้ได้เลย ถ้าทำลายตัวนี้ได้มันต้องเป็นสัจจะ เป็นข้อเท็จจริงของมัน ถ้าเป็นข้อเท็จจริงของมัน มันเป็นความจริงของมัน ถ้าเป็นความจริงของมันทำอย่างไร ตรงนี้ ตรงนี้สำคัญมาก ค่าของธรรมจะเกิดๆ ตรงนี้

แต่ถ้าค่านิยมมันเกิด มันเกิดทำตามค่านิยมไง ค่านิยมมันจะเป็นไปๆ อีก ๑๐๐ ปีก็ไม่เป็น เป็นไปไม่ได้หรอก มันจะเป็นไปได้อย่างไร มันไม่ใช่เนื้อหาสาระ ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เราสร้างภาพกันขึ้นมา ค่านิยมทำกันขึ้นมา

นี่ไง แต่ก่อนใครประพฤติปฏิบัติไม่ได้นะ เดี๋ยวบ้าๆ ไม่มีคนสอน ครูบาอาจารย์เราท่านก็ทำของท่านมา ประคองมา หลวงปู่มั่นพยายามประคองหัวใจมาเลย ปฏิบัติไปๆ ถึงทางตันๆ ไปไม่ได้เลย ไปไม่ได้ทั้งนั้น เพราะอะไร เพราะท่านสร้างบารมีของท่านมา มันเป็นคำพยากรณ์ในพระไตรปิฎกเลย

ในพระไตรปิฎกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้ว่า กึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง แล้วเจริญมาจากไหน เจริญมาจากหนังสือใช่ไหม เจริญมาจากพิมพ์พระไตรปิฎกให้มันล้นโลกนี่ใช่ไหม เอากระดาษมาพิมพ์ๆๆ แล้วก็แจกกันทั่วโลกนี่ไง มันจะเจริญไหม มันก็เป็นค่านิยมไง คนอ่านแล้วก็ อืม! ศาสนาพุทธนี้ดีมาก ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งเหตุและผล เป็นทางวิชาการ พิสูจน์ได้ทั้งหมดเลย นี่ค่านิยม

หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเพราะว่าอะไร เพราะท่านสร้างมา ท่านย้อนดูของท่าน ย้อนดูของท่านอย่างไร จิตเรานี่เวลาสงบนะ ทุกคนเวลาเราทุกข์เรายาก เราคิดของเรา เราตรอมใจของเรา ลองเราตั้งสตินะ แล้วมาทบทวนชีวิตของเราสิ เราจะเห็นเลยว่ามันผิดพลาดอย่างไร ชีวิตเรามันผิดพลาดอย่างไร ทำไมมันทุกข์มันยาก เราจะทบทวนได้หมด

จิตเวลาสงบเข้าไปมันลึกกว่านี้ พอจิตสงบเข้าไป ข้อมูลของใจ มันไปทบทวนข้อมูลนั้น พอทบทวนข้อมูลนั้น เราทำอะไรมา บุพเพนิวาสานุสติญาณ จิตนี้มันเคยสร้างสมอะไรมา ทำไมมันจะไม่รู้ คนที่มีบุญญาธิการรู้เลยว่า ท่านเคยสร้างสมบุญญาธิการมาเป็นพระโพธิสัตว์เหมือนกัน ถึงได้ลาพระโพธิสัตว์ ลาสิ่งที่สร้างมา

ดูที่ประวัติหลวงปู่มั่นสิ เวลาสร้างมา เวลาประพฤติปฏิบัติเข้าไปแล้ว ลาแล้วมันตัดความอาลัยอาวรณ์ต่อกัน พอย้อนกลับมาพิจารณามันจะเข้าทางแล้ว เวลาท่านปฏิบัติตนจนถึงที่สุดแล้ว ดูคู่บารมีมาสิ มาต่อว่าในประวัติหลวงปู่มั่น “นี่ก็พาสร้างสมบุญญาธิการมาตลอด แล้วก็มาตัดช่องน้อยแต่พอตัว หนีไป แล้วสิ่งที่พามา แล้วให้ทำอย่างไร” หลวงปู่มั่นท่านเทศน์อยู่ในประวัติหลวงปู่มั่น เอ้า ! สิ่งที่ทำมาก็ทำมาเพื่อดี แล้วถ้ายังก้าวหน้าต่อไป ยังปรารถนาพระโพธิสัตว์ต่อไป ก็ยังจะเกิดจะตาย ก็มันทุกข์ มันยาก สิ่งที่จะเกิดจะตาย ใช่ สิ่งที่ทำมาเป็นคุณงามความดี

คุณงามความดีมันเป็นค่านิยมของวัฏฏะ เรานี้ค่านิยมในโลกนะ ค่านิยมในชาวพุทธที่เป็นโลกเป็นปัจจุบันเป็นมนุษย์ แต่ค่านิยมในวัฏฏะ คือว่าพระโพธิสัตว์ไง พระโพธิสัตว์มันก็สร้างค่านิยมในวัฏฏะ เพราะมันก็เกิดก็ตายในวัฏฏะ มันก็เป็นค่านิยมอันหนึ่ง มันก็ต้องทุกข์ต้องยากต่อไป มันยังเกิดยังตายอยู่ เราถึงสละไม่เกิดไม่ตายเลยดีกว่าเพราะ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดาของเรา ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแล้วก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน คือถ้ามันสิ้นทุกข์ มันก็สิ้นทุกข์เหมือนกัน

เพียงแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมีอำนาจวาสนา มีบารมีสูงกว่าพวกเรา สูงส่งมาก ฉะนั้นพิจารณาดูแล้วถึงได้ลาพระโพธิสัตว์อันนี้ไง ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นี่ไง ในการประพฤติปฏิบัติมันก็เข้าทาง เข้าทางเพราะอะไร เข้าทางเพราะสร้างมาเป็นพระโพธิสัตว์ สิ่งที่สร้างมาเป็นพระโพธิสัตว์มันมีกำลังของมัน มีกำลัง มีเชาวน์ปัญญาของมัน เหมือนสมบัติ เหมือนเราฝากในธนาคารไว้ ในบัญชีเรา...ในธนาคารเราฝากไว้มหาศาลเลย เราจะเบิกใช้เมื่อไหร่มันก็ได้

แต่ถ้าในธนาคารมีตัวแดงหมดเลย แล้วทำอย่างไร มันก็ต้องลบตัวแดงก่อนใช่ไหม อย่างพวกเรามีแต่ตัวแดง มันไม่ได้สร้างบุญญาธิการมา เวลาสร้างบุญญาธิการมา มันต่อสู้ มันค้นคว้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านมาค้นคว้าในศาสนา มันมีตัวศาสนาอยู่ มีศาสนาอยู่ ศาสนาก็คัมภีร์ไง ศาสนธรรมคำสั่งสอนนี่ไง

แต่คำสั่งสอนผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมาเอาตัวรอดกันได้ไหม เอาตัวรอดอย่างไร เอาตัวรอดก็เอาตัวรอดเฉพาะตน เพราะอะไร เฉพาะตน เพราะมันลึกซึ้ง ลึกลับไง แต่ถ้าผู้ที่มีอำนาจวาสนา เอาตัวรอด ขณะที่เอาตัวรอด มันมีประสบการณ์ของจิต จิตมันมีความสงบอย่างไร มันวิปัสสนาอย่างไร คุณค่าของธรรมะที่มันเกิด สมาธิธรรมเกิดอย่างไร ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต เห็นตถาคต จิตที่มันสงบเห็นตถาคตอย่างไร เวลาจิตมันออกวิปัสสนา คำว่าวิปัสสนาๆ มันพูดกันปากเปียกปากแฉะ

วิปัสสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วิปัสสนาแบบผู้ที่มีคุณธรรม จิตมันสงบที่ว่าอสุภะ อสุภะนี่ไง จิตไม่สงบอะไรเป็นคนเห็น จิตไม่สงบ สร้างภาพทั้งนั้น ค่านิยมทั้งนั้นเพราะอะไร เพราะในธรรมะมันมีใช่ไหม พิจารณากายๆๆ ก็เหมือนกับสร้างภาพหนหนึ่งก็เป็นพระโสดาบัน สร้างภาพอีกหนหนึ่งก็เป็นพระสกิทาคาฯ อันนั้นมันเป็นสัญญาอารมณ์ จิตมันสร้างหมด มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ถ้าธรรมะเป็นความจริงขึ้นมา จิตมันสงบเข้ามา จิตสงบ นี่ไง คุณค่าธรรมะมันจะเกิด สิ่งที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้ กึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง ถ้ามันไม่เจริญขึ้นมาจากใจของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น มันจะเจริญมาจากไหน ธรรมะมันเจริญขึ้นมา โดยศาสนาเจริญๆ นี่ไง ธรรมะเป็นสิ่งธรรมอันเหนือโลก ธรรมะไม่เสื่อมหรอก มันเสื่อมแต่โลกๆ

ธรรมะไม่มีวันเสื่อม สัจธรรม พระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้ข้างหน้า อนาคตวงศ์อีก ๑๐ องค์จะมาตรัสรู้ข้างหน้า สัจธรรม สิ่งที่สัจธรรม คือว่าสิ่งที่เกิดเป็นอวิชชา เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันจะแก้ได้อย่างเดียวคืออริยสัจ มรรคญาณมันจะแก้ของมันได้ แต่มรรคญาณ มรรคญาณของใคร มรรคญาณของกิเลสมันก็สร้างภาพ สร้างภาพหมดเลย แล้วสร้างภาพไม่สร้างภาพเปล่านะ สร้างภาพแล้วเรากลัวผิดด้วย ต้องให้ดั่งภาพนั้น มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้เพราะอะไร

มันเป็นไม่ได้ เพราะว่าสิ่งที่...พุทธวิสัย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ธรรมอย่างนั้นเป็นธรรมของใคร เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม แล้วอย่างพวกเราขี้กาก ไอ้พวกสาวก-สาวกะ มันขี้กาก ขอให้พ้นทุกข์ก็พอ ขอให้จิตมันเป็นความจริงก็พอ แล้วถ้าจิตมันเป็นความจริง มันเป็นความจริงอย่างไร ถ้าจิตมันเป็นความจริงขึ้นมา สงบๆ อย่างไร อย่างว่า จิตคึกคะนอง เวลาสงบขึ้นมา มันออกรู้อะไร สิ่งที่ออกรู้มันเป็นจริตนิสัย มันต้องเป็นอย่างนั้น มะม่วงปลูกลงไปมันก็ต้องเป็นมะม่วง ผลไม้ชนิดใดปลูกลงไปแล้วมันต้องเป็นผลไม้ชนิดนั้น

จิตของคนถ้ามันสร้างสมบุญญาธิการมาอย่างไร ทำไปต้องเป็นอย่างนั้น นี้พอเป็นอย่างนั้น นี้มันพื้นฐานนะ มะม่วงเป็นมะม่วงใช่ไหม มะม่วงเวลาปลูกเป็นมะม่วงไปแล้ว มะม่วงออกมาได้ผลมา ผลมะม่วงเราจะไปทำอะไร เราจะกินสดก็ได้ เราจะแปรรูปก็ได้ เราไปทำสิ่งต่างๆ ได้หมดเลยใช่ไหม ผลไม้ชนิดไหนก็แล้วแต่ เราแปรรูปได้ เราทำได้หมด แต่ถ้าไม่เป็น มันแปรไม่เป็น จิตถ้าเป็นสมาธิมันก็เหมือนผลอันนั้นน่ะ ผลไม้ที่เกิดจากจิตนั้น ถ้าผลไม้ที่เกิดจากจิตนั้น เราจะแปรรูปอย่างไร

แปรรูปคือ วิปัสสนาไง แปรรูปคือ เราออกแสวงหาให้เป็นการเป็นงาน มันเป็นวิปัสสนาญาณขึ้นมา แต่ถ้ามันไม่มีผลไม้เอาอะไรไปแปรรูป ก็นึกว่าแปรรูปไง ก็นึกว่ามันทำแล้ว มันก็นึกเอาน่ะสิ เพราะอะไร เพราะในโลกมันมีใช่ไหม ถ้าไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครจะนึกได้ สิ่งที่มันนึกได้ก็มันมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวตั้ง พระไตรปิฎกเป็นตัวตั้งไง ถ้าไม่มีพระไตรปิฎกเป็นตัวตั้ง ใครจะรู้ได้

ขนาดมีพระไตรปิฎกนะ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ยังค้นคว้ามาขนาดไหน ค้นคว้านะ เพราะสิ่งนั้นใจมัน...กิเลสเรามันร้ายกาจมาก แล้วสภาพของจิต จิตมหัศจรรย์มาก มันเป็นไปอย่างนั้นหมดล่ะ พอมันเป็นไปอย่างนั้นหมด เราทำไป มันจะเป็นสภาวะแบบนั้น แล้วใครเป็นคนชี้นำเราล่ะ ใครเป็นคนจัดการให้เราล่ะ ไม่มีคนจัดการของเรา นี่มันถึงต้องขวนขวาย

หลวงปู่มั่นท่านถึงบอกว่า มันเป็นคำพยากรณ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก กึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง การเจริญนี่มันก็เจริญมาจากใจคนที่รู้จริง ถ้ามีความรู้จริงอันนั้น มีแม่พิมพ์ มีแม่แบบที่ดี ทุกคนเป็นแม่พิมพ์ได้หมด ทำไมเป็นแม่พิมพ์ไม่ได้ ก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ปฏิบัติเหมือนกัน

พระโพธิสัตว์ พระปัจเจก ดูสิ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ครูบาอาจารย์ท่านเล่าสืบต่อกันมา ว่าหลวงปู่เสาร์ท่านปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า หลวงปู่มั่นท่านปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ดูคำสอน ดูการชี้นำ ดูการสั่งสอนลูกศิษย์ นี่ไง มันเป็นอย่างนั้นเอง เพราะสร้างมาอย่างนั้น มันเป็นผลไม้อย่างนั้น มันเป็นจริตนิสัยอย่างนั้น การสร้างมามันเป็นอย่างนั้น

ในปัจจุบันเราสร้างมาอย่างนี้ เรามาพบพระพุทธศาสนาแล้ว เราเป็นมนุษย์ขึ้นมาแล้ว แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไปให้มันเป็นคุณประโยชน์ต่อเรา ถ้าเป็นคุณประโยชน์ต่อเรา ค่านิยมนะ ค่านิยมเราต้องศึกษา เราต้องรู้ ไม่ใช่ว่าเราจะปฏิเสธ เราจะปฏิเสธโลก แล้วตามืดบอด จะเอาหัวชนภูเขาแล้วว่า ฉันปฏิบัติ ฉันปฏิบัติ มันก็ไม่ถูก ไม่ใช่เอาหัวชนภูเขา เราดู เราศึกษาสิ

ดูสิ ดูหลวงปู่มั่นสิ หลวงปู่มั่นท่านไปแก้หลวงปู่เสาร์ มันเป็นประเพณีของชาวอุบลฯ นะ การปฏิบัติที่ว่าครูบาอาจารย์เรายังไม่ตรัสรู้ธรรม ไม่บรรลุถึงธรรม มันก็ต้องปฏิบัติกันตามประเพณี ค่านิยมของโลกๆ นี่แหละ หลวงปู่เสาร์ท่านเป็นอาจารย์หลวงปู่มั่น เวลาจะประพฤติปฏิบัติต้องสวดมนต์ก่อน ขอให้ธรรมมาสถิตที่ตา ขอให้ธรรมมาสถิตที่ใจ ขอๆๆ สวดมนต์นี่ ๓-๔ ชั่วโมงนะ แล้งขึงสายสิญจน์ ขึงสายสิญจน์ในทางจงกรม แล้วก็เดินจงกรม

หลวงปู่มั่นบอก คำที่ขออยู่ทำอยู่นี่มันหมดไป ๓ ชั่วโมงแล้ว ถ้า ๓ ชั่วโมงเราเดินจงกรมเลย เรากำหนดพุทโธเลยมันจะเป็นประโยชน์กับเรามากกว่า มากกว่าการขอเอา คุยหรือพยายามปรับความเข้าใจกัน ๓ ปี หลวงปู่เสาร์ท่านถึงจะทิ้งที่ว่าต้องมาขอเอา ขอเอา ทิ้งหมดเลย แล้วเวลาเราปฏิบัติ เราก็ปฏิบัติเลย เพราะเราปฏิบัติ เราปฏิบัติ ขอๆๆ คำว่า”ขอ” ใจมันขอ มันนึก สร้างภาพ แต่ถ้าเราปฏิบัติ เราเผชิญกับความจริงนะ

ดูสิ เวลาหลวงปู่มั่นท่านสอนในมุตโตทัย การดื่ม การเหยียด การคู้ ต้องมีสติตลอดเวลา อย่างที่คำสอน เขาก็สอนต้องรู้ตัวทั่วพร้อมเหมือนกันตลอดเวลา รู้ตัวทั่วพร้อมมันสร้างอารมณ์ความรู้ตัวทั่วพร้อม ก็การอยู่การกินก็เป็นปกติ ไม่ต้องไปรู้ตัวหรอกก็ตั้งสติไว้ ความจริงเป็นความจริง จี้เข้าไปสิ ไฟจี้เข้าไปมันก็ร้อน ไฟจี้เรามันก็ร้อนใช่ไหม ไอ้นี่บอกไฟร้อน ไฟร้อน ร้อน ร้อน โน่น ไฟ... มันไปสร้างอารมณ์อีกอารมณ์หนึ่งไหม มันเป็นความจริงขึ้นมาไหม นี่ไง ค่านิยมไง

ปฏิบัติโดยค่านิยมเพราะอะไร เพราะผู้สร้างภาพค่านิยมอันนี้ขึ้นมา แต่ถ้าเป็นค่าของธรรมะล่ะ ไฟจี้เข้าไปที่ไหนมันก็ร้อน จี้... กระโดดนั่นล่ะ เวลาไฟจี้เข้าไปมันก็สะดุ้งทั้งนั้นล่ะ การดื่ม การเหยียด การคู้มันก็เป็นอารมณ์ปกติเราใช่ไหม ก็สติก็ตามมันไปสิ สติก็เห็น มันก็เป็น มันก็ยับยั้งได้หมด นี่ก็ยับยั้ง มันจะควบคุมตัวเองได้ แล้วควบคุมตัวเองได้ มันก็เป็นความจริงขึ้นมา เป็นความจริงของเราขึ้นมาเลย เป็นความจริงสัจจะความจริงขึ้นมา นี่ไงค่าของธรรม

ถ้าเป็นความจริงขึ้นมามันเห็นนะ จิตมันหยุด จิตมันปล่อย สิ่งที่เร่าร้อน คุณค่าของธรรมนะ คุณค่าของธรรม เวลาประพฤติปฏิบัตินะ มันประพฤติปฏิบัติเหงื่อไหลไคลย้อย ทุกข์มาก แต่ถ้าจิตมันสงบขึ้นมานะ คุณค่าของมันนะ มันพอใจมาก มีความสุข มีความพอใจ ความสุขต้องพยายามรักษาๆ ความสุขนี่มาจากไหน? ความสุขนี่เกิดจากการเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา พอเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา จิตมันสงบเข้ามา สงบเข้ามานี่ถนอมรักษา

ครูบาอาจารย์เราที่ท่านประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ นะ เวลาจิตสงบเข้ามาแล้ว ถ้ามันจะถอนอย่าไปกระตุกมัน ตั้งสติไว้ ดูซะ ดูตะกอนในแก้ว ตะกอนในแก้วเวลานิ่งอยู่ ตะกอนมันจะรวมก้นแก้ว เราเขย่าตะกอนมันก็จะขึ้นมา ความสงบของจิตมันสงบอย่างนี้ ความฟุ้งซ่านมันเหมือนกับทำให้ตะกอนน้ำขุ่น เราตั้งไว้โดยปกติตะกอนนั้นมันจะต้องนอนก้นเป็นธรรมดาเวลาเป็นสมาธิจิตที่มันฟุ้งซ่าน มันฟุ้งซ่านออกมา ความรู้สึกมันออกไปรับรู้หมดเลย แล้วเวลาสติควบคุมมันโดยกำหนดพุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิ ตะกอนนั้น...เพราะอะไร เพราะสมาธิมันไม่ได้แก้กิเลส สมาธิมันไม่ได้แก้กิเลสอะไรเลย แต่สมาธิจะทำให้น้ำนั้นใส

เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติที่ไม่มีครูบาอาจารย์ หรือค่านิยมในกิเลสมันให้ค่านิยม เวลาจิตมันสงบแล้วนะ ก็ให้มันสงบ พอสงบเสร็จ จิตมันสงบแล้วเหมือนน้ำใสจะเห็นตัวปลา นี่ไง ค่านิยม ไม่มีทาง จิตสงบขนาดไหนจะไม่เห็นกิเลส ไม่เห็น ถ้าไม่น้อมไปเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม จิตสงบน้ำใส น้ำใสก็คือ น้ำใส ปลามันก็คือ ปลา แต่คำว่า”น้ำใสจะเห็นตัวปลา” ปลานี้เราไปเห็นด้วยตาของเรานี่ ปลาก็ปลา น้ำมันคนละส่วนใช่ไหม

แต่ถ้าเป็นกิเลสนะ เพราะกิเลสมันไม่ใช่ปลา ไอ้นี่มันเป็นบุคลาธิษฐาน ให้ว่าถ้าจิตสงบแล้วต้องยกขึ้นวิปัสสนา เราตีความว่า จิตสงบแล้วต้องยกขึ้นวิปัสสนา น้ำมันใสแล้วต้องค้นหาตัวปลา แต่พอเราไปตีกันว่าน้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา เราก็รอไง รอปลาจะวิ่งมาชนเราไง เราไม่ต้องออกไปทำประมงนะ เดี๋ยวปลามันจะวิ่งเข้ามาในครัวเรา มันจะนอนในหม้อเลย มันจะให้เราต้มเลย นี่ความคิดของเรา นี่ไง ถ้าคนไม่ปฏิบัติมันจะไม่เข้าใจเรื่องอย่างนี้เลย น้ำใสจะเห็นตัวปลานะ จิตสงบแล้วเดี๋ยวจะเห็นกิเลสนะ อีก ๑๐๐ ชาติก็ไม่เห็น

ถ้าจิตสงบจะเห็นกิเลสนะ อาฬารดาบสเข้าสมาบัติ เป็นอาจารย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฤๅษีชีไพรในสมัยพุทธกาลเป็นพระอรหันต์ไปหมดแล้ว ฤๅษีชีไพรในสมัยพุทธกาลไม่ได้เป็นพระอรหันต์เลย เพราะอะไร เพราะเป็นความสงบของเขา เขาปฏิบัติเป็นความสงบของเขา ความสงบของใจไง ขนาดพอสงบแล้ว เข้าฌานสมาบัติเหาะเหินเดินฟ้าได้ด้วย เขาทำของเขามาแล้ว แล้วเราคิดของเราเอง นี่ไง ค่านิยม

แต่ถ้าเป็นความจริงนะ มีครูมีอาจารย์ท่านจะคอยกระตุ้น คอยให้เราออกไง ให้เราออกวิปัสสนา ถ้าจิตมันสงบแล้ว เพราะจิตสงบ เราไม่เข้าใจ พอจิตสงบ เราก็ไปคิดว่าความสงบนั้นเป็นนิพพาน เป็นนิพพานเพราะอะไร เป็นนิพพานเพราะเรากำหนดพุทโธแล้วไง เราใช้ปัญญาแล้วไง อู๋ย! ปัญญาเราใช้หมดเลย เราต่อสู้กับกิเลสหมดเลย อันนั้นเป็นปัญญาอบรมสมาธินะ อันนั้นเป็นปัญญา ที่ว่าเราจำธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามานี่ ธรรมของใคร นี่ไง ธรรมมารมณ์ไง ธรรมะกับอารมณ์ ความรู้สึกมันกระทบ แล้วจิตมันค้นหาของมัน แล้วมันปล่อยวางเข้ามา

ความปล่อยวางเข้ามา นี่ไง การประพฤติปฏิบัติทุกแขนง การประพฤติปฏิบัติทุกแนวทาง ผลของมันคือสมถะ แต่มีมิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิ มิจฉาสมถะกับสัมมาสมถะไง ถ้ามิจฉา มันก็ว่างๆ ว่างๆ มันเป็นมิจฉาเพราะอะไร เพราะมันไม่มีสติ มันควบคุมไม่ได้ มันไม่มีสติ มันก็บังคับ...เหมือนรถ เบรกแตก พวงมาลัยไม่มี ไหลไปเรื่อยเลย มันจะไปไหน รถมันต้องมีพวงมาลัย มีเบรก มันจะประคองรถตัวมันไปได้

สมาธิ ถ้ามันมีสติเพราะเราทำตามข้อเท็จจริง ค่าของธรรมไง เพราะจิตมันเป็นสมาธิเข้ามา จิตมันมีกำลังของมัน รถมันเคลื่อนไหวใช่ไหม ล้อมันหมุนมันเคลื่อนไหวไป รถอยู่เฉยๆ เราก็คุมไม่ได้ เราจะกลับรถอะไรไม่ได้ รถมันไม่เคลื่อนไหว แล้วรถมันเคลื่อนไหวไป เราบังคับให้รถเคลื่อนไหวไป แล้วมันออกรู้อย่างไร มันออกเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมอย่างไร พอมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม โอ้โฮ! มันทิ่มเข้าไปหัวใจเลย เพราะกิเลสอวิชชามันครอบคลุมใจไว้ แล้วมันหลงผิด มันหลงผิดว่า มันรู้จริง มันเห็นจริง นี่ธรรมะรู้หมด เข้าใจหมดเลย

ความรู้ความเข้าใจอันนี้ มันเป็นค่านิยม ค่านิยมในวัฏฏะนะ เพราะมันเกิดมันตาย พญามารมันควบคุมใจไว้ มันไม่ต้องการให้ใจรู้อะไรทั้งสิ้น มันต้องการศึกษาธรรมะมันก็สร้างภาพให้ศึกษานี่ไง ศึกษาแล้วธรรมพระพุทธเจ้าไง ก็ศึกษา นี่ก็ศึกษาแล้วไง ก็รู้แล้วไง นี่ก็เป็นธรรมะแล้วไง แล้วก็ตายเปล่า ตายอยู่ในอำนาจของพญามาร เพราะพญามารยังครอบงำอยู่ แต่ถ้าเราไม่เชื่อมัน กิเลสกับธรรมในหัวใจของเรา ถ้าจิตสงบเข้ามานะ เวลามันเป็นธรรมขึ้นมา ธรรมต้องสร้างขึ้นมา ธรรมต้องเกิดขึ้นมา สมาธิก็ต้องสร้างสมาธิขึ้นมา ปัญญาก็ต้องฝึกฝนขึ้นมา ปัญญาเกิดเองไม่ได้

ถ้ามีสมาธิแล้วเกิดปัญญาเอง อีก ๑๐๐ ชาติ ก็ไม่เกิด เพราะถ้ามันจะเกิดก็เกิดปัญญาโลกียปัญญา เกิดเป็นสัญญาไง เกิดเป็นสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง เกิดธรรมะพระพุทธเจ้าเทียบเคียงนี่ไง ถ้าเกิดอย่างนี้มันก็เป็นโลกียปัญญา ปัญญาอย่างนี้ ปัญญาค่านิยม ปัญญากิเลสมันพาใช้ แล้วเราก็กลัวผิดนะ พอเกิดปัญญาอย่างนี้ขึ้นมา ใช่ๆๆๆ มันจะใช่อะไร มันปัญญากิเลส ปัญญาเกิดจากภพ ปัญญาเกิดจากเรา

แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามา พอจิตสงบเข้ามาเดี๋ยวมันก็เสื่อม เดี๋ยวมันก็คลายภาพ จิตสงบหนหนึ่ง ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลที่สะอาดบริสุทธิ์จะเกิดสมาธิที่สะอาดบริสุทธิ์ที่เป็นสัมมาสมาธิ สมาธิที่สะอาดบริสุทธิ์จะส่งผลให้เกิดปัญญาญาณ ปัญญาญาณส่งให้ผลนี้เกิดแต่มันไม่เกิด มันจะเกิดต้องมีการฝึกฝน การฝึกฝนคือการออกแสวงหาในสติปัฏฐาน ๔ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม กายานุวิปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตาวิปัสสนาสติปัฏฐาน คำว่า”สติปัฏฐานๆ” มันมาจากไหน จิตมันต้องสงบ แล้วจิตมันออกไปรู้ มันฝึกของมันขึ้นมา พอมันฝึกของมันขึ้นมา มันแยกแยะของมัน

มันต้องแยกแยะของมันนะ เพราะจิตใต้สำนึกใช่ไหม มันก็ต้องคิดสรรพสิ่งนี้เป็นเรา สรรพสิ่งนี้มันพอใจไปหมด มันพอใจแล้วมันยึดไปหมด มันปฏิบัติไปแล้วมันยังว่าเก่งกว่าพระพุทธเจ้าด้วยนะ พระพุทธเจ้าสอนผิด กิเลสสมันบอกมันสอนถูกนะ มันสอนถูกให้ไปยอมจำนนกับมันไง สอนให้จิตนี้ โอกาสของเราไปยอมจำนนกับมัน เอาตัวเองรอดไม่ได้

แต่ถ้าเป็นสัจธรรมขึ้นมานะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นปูนหมายป้ายทาง เป็นการชี้ทาง ในการประพฤติปฏิบัติกิเลสมันเป็นกิเลสของเรา พญามารมันปกคุมใจของเรา เกิดมา มนุษย์คนหนึ่งนะ ถ้าพูดถึงสิ่งที่เราเกิดเราตาย ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้เลย บุพเพนิวาสานุสติญาณ ชีวิตของคนๆ หนึ่งถ้าเกิดตาย เกิดตายน้ำตาที่ร้องไห้อยู่นี่น้ำทะเลสู้ไม่ได้ น้ำตาที่เกิดแต่ละชาติ ภพชาติที่เราเสียใจแล้วเก็บไว้ แล้วกระดูก โครงกระดูกร่างกายนี้มันเกิดตายๆ ในธรรมของพระพุทธเจ้าบอกเลย เราเกิดมานั่งอยู่บนกองกระดูกของตัวเอง เพราะอะไร

เพราะร่างกาย สภาพพอมันเสื่อมมันกลับไปสู่สภาพของดิน มันคือธรรมชาติของมัน แล้วเราก็กลับมานั่งบนกองดิน นั่งบนกองกระดูก การเกิดการตายมันไม่มีที่สิ้นสุดมันยาวไกลมหาศาล สิ่งที่ยาวไกลมหาศาล สิ่งนี้มันเป็นจริตนิสัย มันเป็นมาแล้วเราจะต่อสู้กับมันอย่างไร คำว่าจะต่อสู้ สิ่งนี้มันฝังใจมา จนพญามารมันควบคุมอย่างนี้ แล้วถ้าสงบเข้ามา มันจะให้รู้ให้เห็น มันเป็นไปไม่ได้หรอก ถ้าเราไม่มีสติสัมปชัญญะที่เราจะบังคับมัน

ดูสิ ดูอย่างเรือ อย่างรถ เขาต้องมีการบังคับมัน ให้เป็นไปตามความต้องการของเรา ถ้ามันไม่เป็นไปตามความต้องการของเรา มันจะไปตามแรงพลังงานของมัน ที่มันจะขับดันของมันไป กิเลสก็เป็นอย่างนั้น มันชนดะไปหมดเลย ชนว่าสิ่งนั้นมันทะลุไป มันนึกว่าทะลุเป็นธรรมะไปนะ ไม่ใช่หรอก มันทะลุไปจะเอาภพเอาชาติต่อไปไง

แต่ถ้ามันเป็นธรรมขึ้นมา มันย้อนไป จิตสงบแล้วย้อนออก เห็นกาย ถ้ามีอำนาจวาสนาคนที่สร้างบุญญาธิการมา เห็นกาย กายมันจะเกิด กายคืออะไร นี่ไง เวลาคนปฏิบัติ ทุกคนจะพูดอย่างนี้เลย ไม่อยากเห็นกายเพราะกลัวผี เห็นผีนะ ผีลิ้นยาว โอ้โฮ! น่าหวาดน่ากลัวไม่ต้องการเห็นไง ปฏิบัติไม่เป็น

ถ้าปฏิบัติเป็น สิ่งนี้คือ สิ่งยอดปรารถนาเลย สิ่งที่ยอดปรารถนาเพราะอะไร เพราะมันจะทำให้เราพ้นจากกิเลส การเห็นกายโดยสัจธรรม มันไม่ได้เห็นผี การเห็นผี นั่นเห็นจิตวิญญาณ ผีคือจิตวิญญาณ เราเห็นจิตวิญญาณดวงหนึ่ง จิตวิญญาณที่มีเวรมีกรรมต่อกัน แล้วเวลาจิตเราสงบเห็นเทวดา อินทร์ พรหม เห็นนางฟ้า ชอบไหม เห็นนางฟ้าแล้วอยาก นางฟ้าก็เป็นจิตวิญญาณหนึ่งนะ ผี จิตวิญญาณมันไม่ใช่กาย กายไม่เป็นอย่างนั้นหรอก เพราะจิตใต้สำนึกมันคิดอย่างนั้นกัน แล้วทุกคนกลัวไม่อยากพิจารณากายๆ กลัวกายมันจะเฟะ กายมันจะเน่า

กายเน่า กายต่างๆ สิ่ง...ถ้าเห็นนะ มันเห็นสัจธรรม สัจธรรมมันไม่กลัวหรอก มันจะขนลุกขนพอง ขนลุกขนพองนะเวลาเห็น ขนลุกหมดเลย จะว่ากล้าก็ไม่ใช่ จะว่ากลัวก็ไม่ใช่ ไม่กล้าไม่กลัว แต่ดูสิเวลาเราช็อก เราไปเจอสภาพแบบเราช็อกเลยนะ เห็นแล้วช็อกพูดอะไรไม่ออกเลย นี่เหมือนกัน เวลามันเจอเข้ามันสะเทือนใจมาก อึ๊ก...แล้วถ้าจิตมันดีนะ ถ้าจิตไม่ดีมันจะหลุดเลย ถ้าจิตมันดีปั๊บ อึ๊ก ถ้ากำลังดีนะ รำพึงในจิต ความรู้สึก สมาธินี่รำพึง

เขาบอกสมาธิคิดไม่ได้ สมาธิคิดไม่ได้ สมาธิคิดไม่ได้คือคนภาวนาไม่เป็นไง ถ้าภาวนาภาษาใจคิดได้ไหม ภาษาใจสื่อสารกับเทวดา อินทร์ พรหมได้ไหม ภาษาของจิต เวลาจิตมันรำพึงขึ้นมา มันให้เป็นไป พอมันเป็นไป ความเป็นไปอันนั้น ความเคลื่อนไป งานชอบ เพียรชอบ สติชอบ สมาธิชอบ ความเพียรชอบของมัน มันชอบเพราะอะไร มันชอบเพราะมันสมดุล สัจธรรม นี่มรรค มรรคญาณมันหมุนไป ธรรมจักรมันเริ่มหมุนแล้ว พอเริ่มหมุนเห็นกาย กำลังมันมีใช่ไหม เพราะมันมีกำลัง พอมันมีกำลัง ความคิดของเราเวลาเริ่มคิด มันเป็นอดีต-อนาคตแล้วเพราะอะไร

เพราะความคิดมันเกิดจากฐานของจิต ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันเป็นตัวฐานใช่ไหม พอตัวฐานมันมีสติ มีกำลังของมัน มันเป็นปัจจุบัน มันไม่ใช่อดีต-อนาคต พอเป็นปัจจุบันมันให้กายแปรสภาพ พอกายแปรสภาพ สิ่งที่เห็น ใครเห็น นี่ไง มันเอ๊อะ! เอ๊อะ! เอ๊อะ! มันก็ปล่อย มันเป็นปัจจุบันอันเดียว เร็วมาก แล้วมันมีความชำนาญ ฝึกฝนบ่อยครั้งเข้าๆ นี่ไง ที่มันเป็นไตรลักษณ์ที่เป็นไตรลักษณะ “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา” แล้วมันเหลืออะไร? เหลือที่ไม่ธรรมดา อะไรมันไม่ธรรมดา

จิตมันไม่ธรรมดา จิตที่มันปล่อยวางมา อะไรมันไม่ธรรมดา นี่มันไปแก้กันที่ก้นบึ้งของใจนะ สิ่งที่แก้ก้นบึ้งของใจ ภาวนามยปัญญามันต้องเกิดจากใจ ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนา นี่ไง คุณค่าของธรรม คุณค่าของธรรม ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลก็เป็นคุณค่าของธรรมอันหนึ่งนะ จิตเป็นปกติของใจ ใจเป็นปกติ ใจมันไม่หวั่นไหวไปกับโลก ดูคนที่มีจุดยืน คนที่มีปัญญา กระแสโลกจะตื่นเต้นขนาดไหน เราไม่ไปกับเขาหรอก อย่ามาหลอก หลอกไม่ได้ เพราะอะไร

เพราะสิ่งนั้นมัน...เราเองก็อนิจจังอยู่แล้ว โลกก็เป็นอนิจจังอยู่แล้ว เราจะไปตื่นเต้นกับอะไร ถึงเป็นความจริงมันก็แปรสภาพ แล้วความจริงของเราล่ะ ในจิตใต้สำนึกของเราล่ะ มันจริงหรือเปล่า ไม่ต้องมาหลอกกัน ไม่ต้องมาหลอกกันหรอก นี่มันจุดยืน แต่ถ้าคนที่อ่อนแอล่ะ คนที่จิตมันโลภจริต ไม่ต้องเข้ามาชวนนะ ไม่ต้องเข้ามาหลอก มันจะวิ่งไปให้เขาหลอกเลย เพราะมันเชื่อเขาอยู่แล้วไง คือโลภจริต โลภะ สิ่งต่างๆ มันยืนตัวเองไม่ได้ คืออ่อนแอมาก เป็นคนอ่อนแอ คนที่พึ่งตัวเองไม่ได้เลย

ไอ้นี่มาจากไหน พูดอย่างนี้ปั๊บก็อย่างว่า อย่างนี้เขาว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งกรรม มันก็เลยเป็นกรรม ก็เลยยกให้กรรมไปหมดเลย ใช่ กรรมทำมาอย่างนั้น แต่ในปัจจุบันนี้เราต้องแก้ไขสิ ในปัจจุบันนี้เราฝึกได้ การฝึกปัญญา นั่งสมาธิ คนจะมีปัญญามาก คนจะมีเชาวน์ปัญญามาก พุทโธนี่แหละ กำหนดพุทโธนั่งสมาธิ ปัญญามันจะเกิด จะทำคุณงามความดีมาขนาดไหน จะสร้างบุญกุศลมามากขนาดไหน ถ้าไม่ได้ภาวนานะ ละกิเลสไม่ได้ มีแต่การตบะธรรม การภาวนาเท่านั้นเองที่จะชำระกิเลสได้ อย่างอื่นไม่มี

แล้วอย่างอื่นไม่มี เราภาวนากันมา ทุกคนว่าเราภาวนามาเยอะมาก ทำบุญมาเยอะมาก ทำแล้วมันอะไรล่ะ เพราะทำผิดก็ได้ ทำถูกก็ได้ ถ้าทำถูกมันต้องเข้าไปสู่เป้าหมายที่ถูกต้องสิ ไอ้นี่ว่าทำไว้เยอะ เยอะไม่เยอะ อย่าเอาเวลามาคำนวณกัน มันอยู่ที่ความถูกต้อง สมดุลของใจ มัชฌิมาปฏิปทาความพอดีของมันที่มันลงตัวพอดี เพราะจิตมันลงตัวพอดีกัน อันนั้นต่างหากล่ะ เราทำเพื่ออันนี้ จิตสว่างโพลงๆ ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น แต่เวลามันจะกระดิกหู งูแลบลิ้นมันเกือบตาย งูแต่ละตัวกว่ามันจะโตมา กว่าเอาลิ้นมาแลบให้เราดู

จิตเหมือนกัน สัจธรรมที่มันจะเกิดขึ้นมาจากใจเรา สติขึ้นมา สร้างขึ้นมา สมาธิสร้างขึ้นมา แล้วต่อสู้กับมันอย่างไร แล้วกว่ามันจะสมดุลกัน ตทังคปหาน ปล่อยๆๆๆ เราทำของเราต่อเนื่องๆ เพราะเราไม่ยอมจำนนกับมัน เราอย่าไปยอมจำนนนะ เวลามันเป็นไปขึ้นมา เราจะดีใจ กิเลสมันบังเงาทันทีเลย กิเลสบังเงามันหลอกอยู่อีกชั้นหนึ่งไง

นี่เวลาปฏิบัติไปนี่นิพพาน โอ๋ย...อย่างนี้ปล่อยแล้ว อย่างนี้ใช่หมดเลย พอเชื่อ คำว่า “เชื่อ” เราก็ถอย ถอยคือถอนสติไง ถอนสติ ถอนกำลังของมันหมดเลย พอถอนขึ้นมากิเลสมันก็กระทืบซ้ำเลย พอกระทืบซ้ำ พอจิตเสื่อมขึ้นมา นั่งเกาหัวเลย โอ๋ย...ไม่เอาแล้วเลิกดีกว่า ทำมาขนาดนั้นยังเลิกดีกว่า กิเลสมันหลอกไปตลอดนะ ในการปฏิบัติไม่ใช่ว่ากิเลสมันจะนอนหงายท้องให้เรากำจัดมันนะ

การประพฤติปฏิบัตินี่นะ ทำจิตให้สงบอันหนึ่ง การขุดคุ้ยหากิเลสอันหนึ่ง ขุดคุ้ยหากิเลสแล้วเราใช้ปัญญาวิปัสสนาญาณ ใช้ปัญญาคือการตรวจสอบ สอบสวน หาข้อเท็จจริง แล้วการตรวจสอบสอบสวนเราจะทำงานอยู่ตลอดเวลาไม่ได้ พอเราใช้ทำงานมาก ถึงเวลาพัก เรากลับมาทำความสงบของใจ พอทำความสงบของใจพอมีกำลังเข้าไปแล้ว เราเข้าไปตรวจสอบ ตรวจสอบอีก

แต่ขุดคุ้ย เวลาขุดคุ้ย ดูสิ รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้ของมาร รูป รส กลิ่น เสียงที่เราพอใจเราอยากได้ขึ้นมานี่ มันกระทบเราตลอดเวลา มันก็ดึงเอาพลังงานออกไปตลอดเวลา แต่เราใช้สติสัมปชัญญะของเราตามปัญญา ตามความคิดของเรา กำหนดพุทโธเข้าไปจนเห็น ทำไมพุทโธแล้วมันไม่สงบ มันไม่สงบก็เพราะมันฟุ้งเข้ามา มันคิดเข้าในรูป รส กลิ่น เสียง รูป รส กลิ่น เสียงคืออะไร

รูป รส กลิ่น เสียง คือ สิ่งที่คิดขึ้นมา สิ่งที่กระทบกับใจมา มันมีข้อมูลในใจ มันก็คิดขึ้นมา อันนี้มันกระตุ้นขึ้นมา ทำไมถึงกระตุ้นขึ้นมาล่ะ เพราะมันเป็นบ่วงของมาร มารมันชอบ กิเลสมันชอบ ความพอใจมันชอบ สัญชาตญาณมนุษย์มันเคยเป็นมาอย่างนั้นตลอดไป ธรรมะนี่พึ่งจะมาเกิด ธรรมะพึ่งจะมาทำ กิเลสมันตัวใหญ่ๆ อ้วนๆ มันกระทืบแบนๆ อยู่ทุกวันๆ แล้วจะเอามันอยู่ มันก็ไม่อยู่ไง มันไม่อยู่เราก็ตรวจสอบมัน เราพยายามสร้างขึ้นมา สร้างขึ้นมาจนถึงที่สุด

รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร พวงดอกไม้มันบูชา มันล่อ มันหลอก เป็นบ่วงของมารมันก็รอ คอยกระตุกคอ มันรัดคอไว้ พอขยับมันก็ดึง ดึงก็ไปไม่รอด เลิกดีกว่าๆ จนถึงที่สุดนะ มันขาดเลย ขาดออกจากใจเลยนะ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร จิตกับรูป รส กลิ่น เสียง รูป รส กลิ่น เสียงเป็นตัวกระตุ้น กระตุ้นเป็นอารมณ์ มันขาด มันปล่อยเลย นี่กัลยาณปุถุชน

มันเห็นชัดเจนนะ จากปุถุชนที่ทำสมาธิได้ยาก จากปุถุชนที่ว่าทำถูกทำผิด ภาวนามาก ภาวนาน้อย ภาวนามากภาวนาน้อยอย่าเอามาเทียบกัน เพราะอะไรรู้ไหม เพราะพระโพธิสัตว์ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๐ อสงไขย ใครมากกว่ากัน ใครน้อยกว่ากันล่ะ แต่เวลาเป็นพระอรหันต์เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน แต่...แต่บารมีของแต่ละองค์ไม่เหมือนกัน ความมั่งคั่งในบารมีธรรมมันจะกว้างขวางต่างกัน

ดูสิ เวลาพระอรหันต์ที่มีบารมี อภิญญา ๖ เสียงต่างๆ รู้ไปหมด เพียงแต่ว่าจะรับรู้ ไม่รับรู้ ถ้าบรรลุรู้ที่เป็นเอตทัคคะนะ มันจะรู้โดยปกติเหมือนนกบินได้ ดูสิ พระอนุรุทธะนั่งอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน พระอรหันต์ทั้งนั้นเลย บัดนี้ไม่ใช่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วเหรอ พระอนุรุทธะบอกไม่ใช่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่นิพพานหรอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน กำลังเข้าฌาน พระอนุรุทธะชำนาญในทางวาระจิต

แล้วพระที่ถามก็พระอุบาลีก็พระอรหันต์เหมือนกัน พระอรหันต์แต่ละองค์ไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันเพราะสิ่งที่สร้างมาไม่เหมือนกัน พอไม่เหมือนกัน จริตนิสัยความถนัดของคนไม่เหมือนกัน แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้หมด

นี่ไง ที่ว่าประเด็นภาวนามากภาวนาน้อย ภาวนามากภาวนาน้อยคือว่าท่านสร้างสมของท่านมา เราสร้างสมของเรามาในปัจจุบันนี้ ไม่ต้องไปคิดน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่ต้องไปคิดเปรียบเทียบใดๆ ทั้งสิ้น เพราะปัจจุบันนี้เราแก้ประวัติศาสตร์กันไม่ได้ เมื่อวานนี้แก้ไม่ได้แล้ว วันนี้ เราจะทำวันนี้ให้ดีที่สุด ในชาติปัจจุบันนี้ เราเกิดมาแล้วในปัจจุบัน เราต้องแก้ตรงนี้ สิ่งที่ผ่านมาๆ ถ้าเราไม่มีความดีเลย ทำไมเราเชื่อศาสนา ทำไมเราตั้งใจแล้วมาประพฤติปฏิบัติล่ะ

ถ้าเราเชื่อศาสนา เราตั้งใจประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นี่เพราะอะไรรู้ไหม เพราะโอกาสของคนเริ่มต้นใช่ไหม ถ้าคนไม่นับหนึ่งขึ้นมา มันจะเริ่มสอง สาม มาจากไหน ถ้าเราศรัทธามีความเชื่อขึ้นมา แล้วเราค้นคว้าของเรา แต่ค้นคว้าแล้วมันไม่ได้ มันทุกข์มันยาก ทุกข์ยากเพราะว่ากิเลสมันดื้อ ทุกข์ยากเพราะว่ากิเลสเรามันหนา พอกิเลสมันหนาก็ต้องทอนกำลังมันสิ ทอนกำลังกิเลส พอทอนกำลังกิเลสขึ้นมา มันก็บอกไม่ได้อีกแล้ว เพราะทอนกำลังกิเลสก็เท่ากับทอนตัวเราไง จะทำอะไร เราลำบากไปหมดเลย จะทำอะไรก็ไม่ได้ จะลำบากเลย แล้วพอไปเห็นพระปฏิบัติก็สงสารเข้าไปอีก อู๋ย...จะให้สะดวกสบาย กิเลสก็อ้วนๆ ไง

นี่เราทอนกำลังมัน ทอนกำลังมันสิ ทอนกำลังคือเราจะต่อสู้กับกิเลส เราต่อสู้กับกิเลสมันต้องลงทุนลงแรง ไม่ใช่ว่าจะมาเพิ่ม จะให้มันสะดวกสบาย ไม่ได้หรอก ไม่มี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทดสอบ นี่เราก็เข้าข้างกิเลส ถ้าทำประพฤติปฏิบัติก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำมาแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรมานตนว่าไม่ใช่ๆ ให้มัชฌิมาปฏิปทา

อัตตกิลมถานุโยคนะ เวลาทำจิตสงบเข้าไป เวลาต่อสู้เข้าไป มันทำให้ไม่ยอมดำรงชีวิตเลยล่ะ มันทำให้เราฆ่าตัวตายได้เลยล่ะ ดูสิ ดูพระสมัยพุทธกาล เวลาพิจารณาไปเห็นกายเป็นอสุภะแล้วขยะแขยง พระพุทธเจ้า...มันเป็นกรรมนะ พระพุทธเจ้าก็เลยเข้าหลีกเร้นไง พอพระปฏิบัติเข้าไปแล้ว เห็นร่างกายมันสะอิดสะเอียนขยะแขยงทนไม่ไหว ไปจ้างกัลบก เอาบริขารจ้างเขา ให้เขาเชือดคอตาย ให้เชือดคอพระ เชือดเลยๆ พอพระพุทธเจ้าออกมาจากวิเวก ทำไมพระมันร่อยหรอไปเยอะมากล่ะ พระอานนท์บอกเลย เวลาพระพุทธเจ้าเข้าวิเวก พวกนี้ไปเห็นเข้า เห็นอสุภะ นั่นกรรมของเขา

ถ้าไม่ใช่กรรมของเขา ทำไมพระพุทธเจ้าเข้าวิเวก ทำไมพระพุทธเจ้าถึงได้หลีกเร้นไป เวลากรรมของเขาขึ้นมา สิ่งที่เห็นมันขยะแขยง มันทนไม่ไหว นี่ไง มันไม่ลงความจริงไง ถ้าลงความจริง ลงความจริงนะ พอจิตมันสงบเข้ามา มันเห็น เห็นอย่างไร แล้วจะแก้ไขอย่างไร จะแก้ไขขึ้นมา มันจะทำลายถอดถอนอวิชชา ถอดถอนไอ้อุปาทานในหัวใจที่ปักเสียบในใจ มันจะถอดถอนขึ้นมาได้อย่างไร

ถอดถอนขึ้นมาเพราะอะไร เพราะความเห็นผิดใช่ไหม สักกายทิฏฐิความเห็นผิด จิตใต้สำนึกมันผิด ปากมันถูก ปากนี่พูดธรรมะจ้อยๆๆ เลย ทำไมจิตใต้สำนึกทำไมมันสงสัยล่ะ ทำไมจิตใต้สำนึกมันลังเลล่ะ แต่ถ้าคนมันถอนที่อุปาทานนะ ถอนที่จิตนะ กิริยามารยาทของเขาปกติ แล้วสิ่งนั้นจะสะเทือนใจเขาไม่ได้ จะกระเทือนใจเขาไม่ได้เลย

นี่กัลยาณปุถุชน รูป รส กลิ่น เสียงไม่ใช่บ่วงของมาร ไม่ใช่พวงดอกไม้แห่งมาร ควบคุมใจได้ ทำจิตสงบได้ง่าย เวลาวิปัสสนาไปด้วยสักกายทิฏฐิ ด้วยความเห็นผิดในกาย พอพิจารณากายไป จิตมันเป็นสัจธรรมนะ พอพิจารณาไปกายก็ไม่มี เพราะมันละลายหมด มันละลายกลับไปสู่สภาพเดิมของมันเลย สภาพเดิมถ้าพิจารณาไปกำลังไม่พอ เนื้อหนังมังสาก็หลุดไป กระดูกก็หลุดไป กระดูกป่นเป็นผุยผงไป เอ้...มันไม่ไปๆ เป็นปุถุชนทั้งนั้น กำลังไม่พอ

ถ้ากำลังพอนะ ไปสู่สภาพเดิมของเขา เป็นดินของเขาไป มันมีอะไร มันไม่มีอะไรเลย เอ๊ะ... ไม่มีอะไร เราไปยึดมั่นทำไม เอ๊ะ...พอเราไม่ยึดมันก็เริ่มปล่อย เริ่มถอน เริ่มถอน จนถึงที่สุดนะ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย กายไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่กาย จิตไม่ใช่กาย กายไม่ใช่จิต มันปล่อยหมด ขาดหมด อฐานะ สิ่งที่เป็นอฐานะนะมันจะกลับคืนเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้

ถ้ายังปฏิบัติไปไม่ได้อย่างนางวิสาขา อีก ๗ ชาติเท่านั้น เพราะจิตนี้พาดสู่กระแสนิพพานแล้ว จะไม่เสื่อมจากนี้ไป จะไปเกิดเป็นใครก็แล้วแต่ จะไปเกิดมาเป็นโสดาบันตลอดไป จะเกิดเป็นเทวดาก็เป็นเทวดาพระอริยเจ้า เป็นเทวดาที่เป็นพระโสดาบัน ถ้าไปเกิดเป็นมนุษย์ จะเกิดเป็นใคร ก็ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานแน่นอน อบายภูมิไปไม่ได้เพราะจิตนี้มันมีสติสัมปชัญญะของมัน

แล้ววิปัสสนาขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป มันจะถอนๆๆๆ ถอนมัน ถ้ามันวิปัสสนาแบบนางวิสาขาเป็นพระโสดาบันแล้วพอใจในพระโสดาบันของตัว พระอานนท์เป็นพระโสดาบัน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอานนท์เสียใจมาก พระโสดาบันละสักกายทิฏฐิได้ แต่กิเลสอย่างละเอียดในหัวใจมันไม่เข้าใจหรอก ผู้ที่สูงกว่าเท่านั้นที่จะดึงผู้ที่ต่ำกว่าได้ เราอยู่ต่ำกว่า เราจะดันคนที่ต่ำกว่าเราให้สูงกว่าเป็นไปได้อย่างไร ดันขึ้นไป เขาเอง เขาไม่มีความสามารถเกาะสิ่งใดใด เดี๋ยวก็ตกมาทับเราอีกล่ะ

นี่เหมือนกัน พระอานนท์เป็นพระโสดาบัน สิ่งต่างๆ ในหัวใจ รู้ รู้ตัวเองเป็นพระโสดาบัน ดูสิ ขณะที่อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ มีวาระที่ต้องเข้าไปเทศน์นางภิกษุณี นางภิกษุณีโดยธรรมวินัยนะ นางภิกษุณีจำพรรษาอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ นางภิกษุณีต้องจำพรรษาอยู่ที่ข้างๆ วัดของพระ เพราะอะไร เพราะนางภิกษุณีเวลาออกธุดงค์ไป ออกไปจำพรรษาเองจะโดนคนอื่นเขารังแก นี่นางภิกษุณีจำพรรษาอยู่ พระต้องมีวาระเข้าไปสอนนางภิกษุณี

เวลาพระอานนท์ต้องเข้าไปสอนนางภิกษุณี พระอานนท์ ดูสิ ถ้าเป็นพระทั่วไปเขาก็ไม่อยากเข้าไปสอน มันไปขายความโง่ของตัวเอง ส่วนใหญ่ที่เข้าไปสอนนางภิกษุณีก็เป็นพระอรหันต์นะ มีพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลที่ไปสอนภิกษุณี อยู่ในพระไตรปิฎก ไปถึงก็พิจารณากาย พิจารณากาย นางภิกษุณีก็เบื่อไง พระอรหันต์พูดไม่เป็นพูดแต่กายๆๆ พูดน่าเบื่อมาก นี้พระอรหันต์รู้วาระจิตของภิกษุณี พอเห็นภิกษุณีไม่ฟัง ไม่สนใจ เหาะก่อน เหาะขึ้นไปเหาะลงมานั่ง เหาะขึ้นไปแล้วลงมานั่ง

โอ้! ภิกษุณีตาหูพองหมดเลยนะ เออ! คราวนี้จะฟังแล้ว พิจารณากาย คราวนี้จะฟังหน่อยแล้ว คำพูดเราภาวนาไม่เป็นฟังแล้วมันไม่สนุกไง แต่ถ้าคนมันรื่นเริงนะ ถึงเวลาพระอานนท์จะต้องมีวาระที่ต้องไปสอนนางภิกษุณี ถ้าไปสอนนางภิกษุณี นางภิกษุณีก็มีฤทธิ์ นางภิกษุณีเป็นพระอรหันต์ก็มี ถ้าเราไปพูดกันขึ้นมา เราไปขายหัวใจเราหมดเลย พระอานนท์จึงนิมนต์พระกัสสปะไปแสดงแทน เป็นพระโสดาบันก็รู้เป็นพระโสดาบันนะ ไปเกาะประตูร้องไห้อยู่

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามพระไง ภิกษุทั้งหลาย อานนท์ไปไหน อานนท์ไปเกาะประตูร้องไห้อยู่พระเจ้าค่า ภิกษุไปเรียกอานนท์มา อานนท์เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือว่าเธอทำคุณงามความดีกับเราไว้มหาศาลเลย เรานิพพานไป ๓ เดือนเธอจะเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา อานนท์อย่าเสียใจ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับไปเป็นธรรมดา แม้แต่ตถาคตต้องตายในคืนนี้ เพราะว่าได้ปลงอายุสังขารแล้ว มันฟื้นกลับมาไม่ได้ ฟื้นกลับมาไม่ได้ในร่างกายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่นิพพาน ธรรมธาตุในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันจะบุบสลายไปไหน มันละทิ้งแต่ร่างกายนี้ไปเท่านั้น เพราะร่างกายนี้มันร่างกายของมนุษย์ ร่างกายที่อยู่ในสังคมโลกนี่ สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ สิ่งที่พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็สื่อสารธรรมะให้กับสังคมโลก แต่เราสร้างบุญญาธิการมาอย่างนี้ เราได้ปลงอายุสังขารแล้ว เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือตั้ง ๑๖ หน ให้เธอนิมนต์เราไว้ ถ้าเธอนิมนต์เราไว้ เราจะปฏิเสธเธอ ๒ หน หนที่ ๓ จะรับกิจนิมนต์ของเธอ เธอก็ไม่นิมนต์ไว้แล้วเธอมาร้องไห้ทำไม

นี่ไงจะบอก จะว่าพระโสดาบัน สติสัมปชัญญะก็ไม่สมบูรณ์ไง พระโสดาบันก็เป็นสติสัมปชัญญะของพระโสดาบัน พระสกิทาคามี ก็เป็นสติสัมปชัญญะของพระสกิทาคามี พระอนาคามี เป็นมหาสติ-มหาปัญญา พระอรหันต์สติเป็นอัตโนมัติ เพราะจิตมันกระเพื่อม จิตเป็นธรรมธาตุ มันเป็นธรรมธาตุอยู่แล้ว วิมุตติมันเป็นธรรมธาตุอยู่แล้ว มันจะขยับไปไหน มันขยับไปไหน มันรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา มันจะขยับไปไหน แต่เวลาใช้สมอง ภาษาสมมุติมันก็ลืมได้ พระอรหันต์สวดมนต์ผิดได้ พระอรหันต์ให้ความผิดก็ได้

เพราะอันนั้นมันเป็นสมมุติบัญญัติ มันเป็นคำสมมุติขึ้นมา แต่หัวใจที่เป็นพระอรหันต์มันจะผิดไม่ได้ มันเป็นธรรมธาตุอยู่อย่างนั้น มันเป็นสัจจะ มันคิดอกุศลไม่ได้ มันเป็นกุศลตลอดเวลา มันเป็นความจริงของมัน กุศล-อกุศลมันเป็นสมมุติด้วย ตัวธรรมธาตุมันเป็นธรรมธาตุของมันต่างหาก นี่สติปัญญาของแต่ละคน ดูสติปัญญาของพระอานนท์ ขนาดว่าพระอานนท์เวลาตรัสรู้แล้วนะ ได้ตั้งเอตทัคคะตั้งหลายแขนง เป็นผู้อุปัฏฐากโดยเลิศ เป็นผู้ที่ทรงจำพระวินัยได้ดีมาก เป็นผู้ที่จำธรรมะ

สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมา มันเกิดขึ้นมา มันเป็นสติสัมปชัญญะนะ คุณค่าของธรรมแต่ละระดับแต่ละชั้นไม่เหมือนกัน ค่านิยมทางโลก เราอยู่กับโลก เราศึกษามันเป็นอำนาจวาสนาของคนนะ ถ้าอำนาจวาสนาของคนมันเชื่อ เห็นคุณค่าของโลก เห็นคุณค่าของทางวิทยาศาสตร์ว่าสุดยอด สุดยอด

ดูสิการเจริญของโลก ว่าทุกอย่างเจริญมากๆ แล้วคิดน้อยเนื้อต่ำใจ ร่างกายเราจะไปขึงให้มันตึงขนาดไหนก็ได้ มันก็เจริญนั่นน่ะ แล้วมันหย่อนไหม ความเจริญของโลกมันต้องแปรสภาพ มันไม่มีอะไรคงที่หรอก มันเป็นไปไม่ได้

แต่ความเจริญของใจนี่สิ ถ้าใจมันเจริญขึ้นมาคุณค่าของใจมันเจริญขึ้นมา สมบัติมันจะมีคุณค่าอะไร แต่คนที่ใจเจริญ ใจเราเจริญอยู่แล้วด้วย แล้วเราบริหารจัดการสมบัติที่เราเห็นนั้นด้วย มันยิ่งเป็นประโยชน์ใหญ่ใช่ไหม คุณค่าของธรรม พวกเรานะ ในชาวพุทธเราไม่เห็นคุณค่าตรงนี้ไง

ความดีเรามีมหาศาล ในศาสนาเราของดีเราเยอะแยะเลย มีแต่ของดีๆ ทั้งนั้นเลย แต่มันโง่ โง่ไปเอาวัตถุไง เห็นเขามีกันอยากจะมีกับเขา ทิ้งของดีของเราไปเอาของขี้เท่อ ของขี้เท่อมันเจริญๆ ก็น้อยเนื้อต่ำใจ เขาเองเขาทุกข์นะ ในเมื่อหัวใจเขาว้าเหว่ หัวใจเขาไม่มีที่พึ่ง เขาทุกข์ทั้งนั้นน่ะ จะมีสมบัติพัสถานขนาดไหน มันจะมีสมบัตินะ มีหอปราสาทไปนอนอยู่บนนั้น มันก็ไปทุกข์อยู่บนนั้น

ดูสิ หิมะตกมีความเย็นมันทุกข์ไหม มันก็ทุกข์ของมันทั้งนั้น แล้วของเรามัน ๓ ฤดูกาล ให้เราได้แก้ไข ให้เราได้สัมผัส ฤดูกาลมันเปลี่ยนแปลง แล้วเราเปลี่ยนแปลงไหม สิ่งใดข้างนอกถ้าเรารู้จัก แล้วเราทวนกระแสกลับมา ถ้าใจเป็นธรรม จะมองสรรพสิ่งนี้เป็นคุณธรรมไปหมดเลย แต่ถ้าใจเราเป็นกิเลสนะ มองสิ่งใดไปมันก็ทุกข์ยากนะ นี่น้อยเนื้อต่ำใจ เสียใจ เราไม่เท่าเขา เขาไม่เท่าเรา มันจะใครเท่าใครล่ะ

เราคนทุกข์จนเข็ญใจนะ แต่จิตใจเราพอแล้วนะ เรารวยกว่ามหาเศรษฐีอีก มหาเศรษฐีเขามีเงินล้นฟ้าเลยนะ แต่เขาอยากได้ เพราะอะไรนะ เพราะเงินของเขาถ้าไม่ได้ตามเปอร์เซ็นต์ที่เขาคำนวณแล้วนะ เขาคิดว่าเขาขาดทุนนะ เขาทุกข์ เขาร้อนมากเพราะเขามีมาก เขามีมากเขาต้องเพิ่มยอดของเขาไปเรื่อยๆ ทุกข์มากๆ เลย แต่โลกมองเขาว่าเป็นเศรษฐีนะ แต่ถ้าธรรมมองเขาแล้วนี่คนขี้ทุกข์ ไอ้พวกเรานี่คนที่มีคุณธรรมในหัวใจ ใช่ เราจะมีกินมีใช้ขนาดไหน มันก็อำนาจวาสนาเราเว้ย มันก็อยู่ที่คน

พระนะ ปฏิบัติขึ้นมา ผู้ที่มีศรัทธามีความเชื่อถือก็ดูแลอย่างดี ไอ้นี่ก็พระสร้างมา พระสร้างมานะ แต่ถ้าพูดถึงเราเป็นพระมีคุณธรรมเรารู้เราคนเดียว ใครมีคุณธรรมไม่มีคุณธรรมเจ้าตัวนี่รู้ก่อน เจ้าตัวนี่รู้ คนที่พูด คนที่พูดอยู่ คนที่แสดงอยู่ ต้องรู้ แล้วถ้ารู้อยู่แล้ว เราก็รู้คุณธรรมเราแค่ไหนใช่ไหม แล้วในเมื่อเรามีคุณธรรมในหัวใจข้างนอกมันเรื่องเล็กน้อยมาก ถ้ามีคุณธรรมคนเขาไม่เข้าใจ เขาไม่สนใจก็เรื่องของเขา มันกรรมของสัตว์

มันกรรมของสัตว์ใช่ไหม ดูสิ เพชรนิลจินดามันตกอยู่ในตม เขาไม่รู้จัก เขาไม่เอา จะทำอย่างไร ถ้าคนเขามีปัญญานะ เขาอยู่ในเหมือง ดูสิ เขาขุดเป็นกิโลๆ เขาไปหาเพชรกันนะ เขายังไปเอาเพชรขึ้นมาจากเหมือง มันขุดไปในดินเท่าไร ไอ้นี่เพชรมันตกอยู่โคนตมเขายังไม่รู้จัก ไอ้นี่กรรมของสัตว์ เวลากรรมของสัตว์มันเกิดขึ้นมา กรรมของเขา มันเป็นประวัติศาสตร์เราแก้ไขอะไรไม่ได้ คุณค่าอย่างนี้เราพยายามสร้างของเราขึ้นมา คุณค่าของธรรม ถ้าเราเชื่อ เราเห็นคุณค่าของโลกเราจะเป็นไป มันเป็นกรรมของสัตว์ สัตว์มองอย่างนั้น สัตว์เข้าใจอย่างนั้น

ถ้าสัตว์เข้าใจอย่างนั้น สัตว์มองอย่างนั้น กำไปในอากาศมันจะไม่ได้อะไรติดมือมาเลย พระพุทธเจ้าบอก สมัยพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พราหมณ์ไปหา พราหมณ์นั่น พระพุทธเจ้า สงฆ์องค์แรกคือ พระอัญญาโกณฑัญญะ กับพราหมณ์นี่ พราหมณ์มีทิฏฐิมานะมาก จะไม่หาใครเลย คิดว่าตัวเองมีปัญญามาก สุดท้ายแล้วคืนนี้พระพุทธเจ้าจะนิพพาน ข่าวมันก็ร่ำลือใช่ไหม คืนนี้พระพุทธเจ้าจะนิพพานนะ ถ้าเราไม่ไปหาพระพุทธเจ้า เราจะไม่ได้ประโยชน์นะ บังคับให้ตัวเองไปหาพระพุทธเจ้า ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไงว่าลัทธิศาสนาไหนก็บอกว่าดีๆ หมดเลย นี่ไง การกระทำ โน่นก็ว่าดี นี่ก็ว่าดี ใครก็ว่าเก่ง ว่ายอดเยี่ยมไปหมด

พระพุทธเจ้าบอกเลยนะ เธออย่าถามให้มากไปเลย เราจะตายคืนนี้แล้วล่ะ ใกล้จะตายอยู่แล้ว เราจะอธิบายอยู่ มันไม่มีเวลานะ เอาเหตุ เพราะเขาเป็นพราหมณ์ เขาเป็นผู้มีปัญญาไง “ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล” มรรคผล มันไม่มีรอยเท้าบนอากาศ รอยเท้าไปปักอยู่บนอากาศไม่ได้ รอยเท้าต้องอยู่บนดิน บนดิน มรรคผลต้องมี

“ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล”ไอ้อย่างที่ปฏิบัติกัน ค่านิยมทางโลกมรรคอะไร มรรคของใคร มรรคคิดขึ้นเองไง มรรคสร้างขึ้นมาไง มันเป็นมรรคจริงหรือเปล่า “ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นจะไม่มีผล เธออย่าถามเราให้เสียเวลาเลย” อานนท์บวชให้ คืนนั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์เลย เพราะเขามีปัญญามากแล้วเขาสร้างไง

นี่ปัญญาโลกๆ ไง มีปัญญามากทำไมเรื่องแค่นี้เข้าใจไม่ได้ ทำไมมีปัญญามาก ทำไมเรื่องนี้ต้องมาถามพระพุทธเจ้า คนมีปัญญามากต้องแยกแยะได้สิว่าอะไรถูกหรืออะไรผิด แต่เพราะเป็นปัญญากิเลสไง เพราะปัญญาของเรามันมีแต่กิเลสเต็มหัวใจ เวลาปัญญาเกิดก็ปัญญาของกิเลสทั้งนั้นเลย ศาสนาไหนก็ว่าดี ก็ทดสอบตรวจสอบทดสอบศาสนาไปเรื่อย มันก็หมดไปเรื่อย นี่ยังดีนะ ยังลงใจพระพุทธเจ้า ยังมาหาพระพุทธเจ้านะ ถ้าไม่มาหาพระพุทธเจ้ายังเชื่อตัวเองอยู่นะ มันจะตายฟรีๆ ไง ตายเปล่าๆ ตายก็เกิดอีกไง

สิ่งที่การกระทำเราต้องคิด ถ้าคิดขึ้นมา คิดเทียบค่ากาลามสูตรนี่ล่ะ อย่าเชื่อๆๆๆ ใครพูดก็ไม่เชื่อ ธรรมะพระพุทธเจ้าทุกคนก็พูดได้ นกแก้วนกขุนทองมันก็พูดได้ ลองฝึกให้มันพูดสิ พูดธรรมะ พูดอริยสัจสิ นกแก้วพูดไม่ได้เหรอ บอกให้พูดสิ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค บอกมันทุกวัน เดี๋ยวนกแก้วมันจะพูดให้เราฟัง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แล้วถามมึงรู้ไหม ไม่รู้ ก็พูดไปอย่างนั้น แล้วไปเชื่อใคร เราต้องกาลามาสูตร ต้องพิสูจน์ จริงเหรอ เป็นอย่างนั้นจริงหรือ ถ้ามันทำแล้วเป็นอย่างนั้นจริง มันต้องได้จริงสิ นี่กาลเวลามันมีอยู่แล้ว ถ้าคนฉลาดนะ

ดูสิ ดูวงศ์ปฏิบัติดูครูบาอาจารย์ของเราที่ได้ผลที่จริงมาเป็นจริงหมด แล้วคำพูดจริง แล้วมีวงศ์ไหนบ้างที่เป็นอย่างนี้ วงศ์ไหนมีปฏิบัติแล้วได้จริงบ้าง ไม่เคยเห็นนะ จริงๆ เราไม่เคยเห็นเลยนะ เราไม่เห็นในโลกนี้ที่เป็นกันเลยนะ แต่เขาพูดกันอย่างนั้น เราก็ฟังมารยาททางสังคมเท่านั้นน่ะ แต่ใจไม่เชื่อ ใจนี้ไม่ลงใครเลย มันไม่ยอมลงกิเลส มันจะลงแต่ธรรมะของครูบาอาจารย์ที่เป็นจริง

ถ้าธรรมะของครูบาอาจารย์ที่เป็นจริง โอ๋ย! ฟังแล้วลงทันทีเลยนะ มันอันเดียวกันไง ไฟจี้ก็ร้อนใช่ไหม ไฟจี้เราเราก็ร้อน แล้วจะบอกไฟเย็นๆ กูไม่เชื่อ ถ้าไฟจี้ที่ไหนมันก็ต้องร้อน ธรรมะปฏิบัติ ตบะธรรมมันต้องเกิด ตบะธรรมปฏิบัติไปมันต้องเป็นความจริง นี่คุณค่าธรรมนะ

คุณค่ากิเลส คุณค่าของโลก โลกเป็นอย่างนี้ ธรรมะมันเป็นการสอนตัวเราเอง โลกเขาเป็นอย่างนี้ เราอยู่กับโลกเขา เราจะไปขวางโลกเขา ในผู้ปฏิบัติธรรมทำไมไม่มีสติสัมปชัญญะขนาดนี้ เราปฏิบัติธรรมแล้วทำไมขวางโลก ทำไมไม่ยอมรับอะไรเลย เวลาออกไปสังคมก็ยอมรับเขา

ดูเวลาสอนเด็กสิ เด็กมา พยายามสอนเด็ก ให้เด็กมันรู้จักมารยาทสังคม ให้เด็กมันรู้จักธรรมะ ให้เด็กมันรู้นะ เด็กมันก็รู้ภาษาเด็ก ทำไมต้องสอนเด็กล่ะ เพราะเด็กมันจะโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา มันจะเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา มันจะสืบทอดศาสนาต่อไป แล้วถ้ามันจะเข้าได้มากได้น้อย ตอนเด็กๆ นี่ดีไปหมด กราบพระดีไปหมด พอโตขึ้นมาไม่เอาแล้ว มันจะไปทางสังคมแล้ว จนกว่ามันจะมีทุกข์ของมัน มันจะมีกระเทือนใจของมัน มันถึงจะได้คิดของมัน มันถึงเป็นไปตามวัย วัยของคนมันเป็นอย่างนี้โดยธรรมชาติ แต่เราจะควบคุมอย่างไร

แล้ววัยของจิตล่ะ จิตของเรานี้มันอ่อนแอ จิตของเรามันขี้ทุกข์ขี้ยากอยู่นี่ วัยของเรามันจะล้มลุกคลุกคลานอยู่นี่ มันปฏิบัติก็ปฏิบัติอย่างนี้ ไม่ใช่ปฏิบัติแล้วเราจะมีมรรคมีผลเลยนะ ไม่ใช่นะ มันต้องมีพื้นฐาน เริ่มจากเสียสละทาน เริ่มจากตั้งสติ มันต้องมีพื้นฐาน มันต้องปรับพื้นฐาน

นี้การปรับพื้นฐาน เวลาเราปรับพื้นฐาน ดูสิ เวลาเราซื้อที่ทาง เราจะสร้างบ้านขึ้นมา มันมีบ้านหลังเก่า เราทำอย่างไร เราก็รื้อออก พอรื้อออกมันบอก ว่าง นิพพานเลย มึงยังไม่ได้สร้างบ้านเลยนะมึง มึงยังไม่ได้ทำอะไรเลย มึงจะว่างได้อย่างไร มึงจะมีบ้านได้อย่างไร ว่างๆ ว่างเพราะมันรื้อไง

นี่ไง การปฏิบัติของเราโลกียปัญญามันทำให้ปรับพื้นฐานของเราขึ้นมา การปรับพื้นฐานมันยังไม่ได้ทำอะไรเลย ปรับพื้นฐานแล้วเรายังจะต้องสร้างบ้านสร้างเรือนต้องตีเข็ม ต้องสร้างคานคอดินขึ้นมา จะต้องสร้างบ้านสร้างเรือนเป็นโครงสร้างขึ้นมาแล้ว ยังจะต้องตบแต่งมันอีกนะ ตบแต่งเสร็จแล้วยังต้องซื้อเฟอร์นิเจอร์เข้าไปอีก นี่ไง แต่เวลาไปรื้อบ้าน โอ้โฮ! ว่างๆ โลกคิดกันง่ายๆ เปรียบเทียบไง ถ้าเราไม่ได้ทำมา มันจะเป็นอย่างนั้นน่ะ การรื้อการถอนมันก็เป็นการปฏิบัติ ใช่ รื้อถอนต้องลงทุนลงแรงไหม ใช่ๆ

นี่ไง การรื้อถอนกิเลสไง ให้ปรับพื้นที่ ปรับพื้นที่ให้พื้นที่เรียบ ให้พื้นที่ควรแก่การทำงาน จิตควรแก่การงาน จิตไม่ควรแก่การงานวิปัสสนาไม่ได้ พื้นที่ของเรา เราซื้อที่ซื้อทางมามีบ้านอยู่ จะไปสร้างคร่อมไปเลยหรือ สร้างคร่อมไปเลย ลมพัดมาก็ปลิวนะ บ้านเราจะไปคร่อมบ้านเขาได้อย่างไร มันไม่มีฐานลงดิน

นี่ไง แล้วฐานของจิตอยู่ไหน จิตของตัวอยู่ไหน ภวาสวะ กิเลสสวะ อวิชชาสวะ กิเลส อวิชชามันยังเห็นๆ นะ ภวาสวะตัวภพตัวเกิดตัวตาย ไอ้ตัวเวียนตายเวียนเกิดอยู่ไหน

แต่เวลาปฏิบัติไปนะ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส เวลาเป็นพระอนาคาฯ ขึ้นมา จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส เป็นพระอนาคาฯ ก็ไม่เห็นจิต ถ้ามันไม่มีอรหัตมรรคเข้ามาจับตัวจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส ว่าผ่องใส ๆ จิตว่างๆ มันว่างมาจากไหน “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส” จิตเดิมแท้ทำลายมันหมดเลย แต่ถ้าไม่ทำลายจิตเดิมแท้นี้ก็ปฏิสนธิจิต

ถ้าคนปฏิบัติแล้วมันจะรู้เลยว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันต่างกันอย่างไรกับ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ ในอวิชชามันก็มีวิญญาณใช่ไหม ในปัจจยาการก็มีวิญญาณ ในขันธ์ ๕ มันก็มีวิญญาณ แล้ววิญญาณใครล่ะ มันก็เหมือนภาษาพูด กิน รับประทาน เสวย แต่มันคนละอันกันหมดเลย เพราะเสวยก็ต้องกับกษัตริย์เท่านั้น ไอ้เราจะเสวยอะไร เราจะกินยังไม่มีจะกินเลย นี่ไง ถ้ามันไม่รู้ มันจะเอาอะไรมารู้ แต่ถ้ามันรู้ขึ้นมาแล้วนะ มันเข้าใจหมดเลย นี่ปฏิบัติ

คุณค่าของธรรมนะ ไม่พ้นจากการประพฤติปฏิบัติของเรา ไม่พ้นจากความตั้งใจของเราเรามีโอกาสทุกคน เราปฏิบัติได้ทุกคนนะ เราถึงจะให้กำลังใจ

วันนี้วันมาฆบูชานะ วันสำคัญทางพุทธศาสนา เราต้องเป็นคนสำคัญ เราถึงมีความจงใจ เวียนเทียนขึ้นมา เมื่อกี้เขาเวียนเทียนกัน จัดดอกไม้ธูปเทียนเวียนเทียนกันจบแล้ว งานเขาจัด เขาเกิดขึ้นได้ เขาเริ่มต้นได้เขาจบได้ เราภาวนาจะขึ้นที่ไหนล่ะ แล้วเมื่อไหร่จะจบ นี่งานมันละเอียดไง งานมันต้องรื้อค้นไง งานมันทำสืบต่อเนื่องไง นี่ไง พระพุทธเจ้าถึงบอกจะสอนอย่างไร จะว่าอย่างไร แต่ทำได้ สอนได้ ถ้าเราเป็นชาวพุทธด้วยกัน เอวัง