เทศน์พระ

เทศน์พระ ๙

๕ ธ.ค. ๒๕๔๙

 

เทศน์พระ วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจ ถ้าตั้งใจมันก็มีสติ ถ้าไม่ตั้งใจมันสักแต่ว่า ตั้งใจในความรู้สึกอารมณ์หนึ่ง กับตั้งใจในชีวิตหนึ่ง ในชีวิตนะ ชีวิตนี้การเกิดมาถ้ามีสติสัมปชัญญะการเกิดจะมีคุณค่า รกป่าเห็นไหม ป่ารกชัฏ กับรกมนุษย์ รกมนุษย์แสนยาก รกป่านะ คนอยู่ในป่าในเขา เขายังมีอาหารของเขา

รกมนุษย์เห็นไหม มนุษย์ต้องมีอาหารการดำรงชีวิต การดำรงชีวิตถ้าไม่มีจะกิน โรคหิวมันเบียดเบียน นี่คือชีวิต ถ้ามีสติตั้งแต่อารมณ์หนึ่งความรู้สึกหนึ่ง กับมีสติสัมปชัญญะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาท่านจะปรินิพพาน

“ภิกษุทั้งหลาย จงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด”

ความประมาทในชีวิตนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัจฉิมโอวาทคำสุดท้ายเลย “ไม่ประมาทในชีวิต”

เราต้องมีสติ ถ้ามีสติมันจะมีคุณค่าขึ้นมาเลย การทำอะไรด้วยสติสัมปชัญญะทุกอย่างจะไม่ผิดพลาด การกระทำของมนุษย์นะ นี่สักแต่ว่าทำเพราะความเคยชิน ความคุ้นเคย ความคุ้นเคยทำให้ไม่เกิดความเกรงใจ ความเกรงใจนี่สมบัติผู้ดี ความเกรงใจรู้สึกถึงความเกรงใจหมู่คณะ รู้สึกความเกรงใจคนอื่น คนๆ นั้นจะไม่มีความผิดพลาด

แต่ถ้าความคุ้นเคย ไม่มีปัญหา คนนั้นเป็นคนคุ้นเคยกัน คนนี้มีความสำคัญต่อกัน นี่ดูสิ ดูเห็นไหม เวลาชีวิตในครอบครัวยิ่งคนใกล้ชิดยิ่งว่าไม่เป็นไร แต่คนที่โดนกระทบกระเทือนจะคิดมากเลยว่า คนมีความรู้สึกใกล้ชิดกันมาก ทำไมทำได้ขนาดนี้

เวลามุมกลับนะ เวลาความรู้สึกจากภายใน มันจะมีความคิด ความคิดถึงเรา เพราะเราหวังไง หวังว่าถ้าเรารักเขา เราสนิทคุ้นเคยกับเขา เขาต้องเกรงใจเรา เขาต้องทำแต่สิ่งที่ดีงามกับเรา แต่การกระทำของความเคยชิน ความประมาท ทำเพราะสิ่งที่สักแต่ว่าทำ ทำอะไรก็ได้ที่มีความสะดวกสบาย มีความมักง่าย ทำแต่มันสักแต่ว่าทำพ้นๆ ไปจากหน้าที่ของเรา มันก็ไปกระทบกระเทือนคนอื่น เพราะอะไร เพราะความคิดอยากจะสะดวกสบาย ความคิดว่าเรามีอำนาจ

กิเลสมันเผาตัวเอง พลังงานทุกอย่างนะมันเผาตัวมันเอง เพราะพลังงานทุกอย่างใช้แล้วมันต้องหมดไป นี่กิเลสมันก็เผาตัวมันเอง แต่กิเลสมันเผาแล้วไม่มีวันหมด ยิ่งเผายิ่งมากนะ ดูสิ ดูคนที่เขาออกไปเที่ยวกันทางโลก เคยไปหนหนึ่ง เคยไป ๒ หน ๓ หน ต้องให้มากขึ้นๆ ไง กิเลสมันยิ่งเผาไหม้ มันยิ่งต้องการมากขึ้นๆ แต่ถ้าเรามีสติเรายับยั้งมัน ยับยั้งนะ ยับยั้งความประมาท ยับยั้งสิ่งที่มันเคยใจ

สิ่งที่เคยใจเห็นไหม ชีวิตก็มีคุณค่า เพราะเรามีสติสัมปชัญญะเคลื่อนไหวไปตลอด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวไว้ในปัจฉิมโอวาท “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด” ความประมาทเพราะมันขาดสติ ถ้ามีสติมันจะประมาทไหม? มันไม่ประมาท แต่สติมันเกิดดับ..เกิดดับ..ตลอดไปใช่ไหม

สติไม่ใช่จิต สติเกิดจากจิต แล้วเวลามีชีวิตอยู่จิตมันเกิดแล้วมันก็มีสติ เราไม่ใช่เด็กน้อยนะ เด็กน้อยต้องอาศัยพ่อแม่ สัตว์เวลามันเกิดมามันหากินเองได้เลยนะ มนุษย์เกิดมาต้องอาศัยการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่ไม่ลี้ยงดูนะ มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้ แต่ขณะที่จากเด็กน้อยขึ้นมา ทำอะไรก็ทำตามใจของตัว พ่อแม่จะรักมาก ยิ่งเด็กอ่อนด้วย พ่อแม่ถึงต้องถนอมรักษามาก เพื่อไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย แล้วดำรงชีวิตขึ้นมาจนเป็นวัยรุ่นขึ้นมา จนมีอายุขึ้นมา ปัญญามันเกิดขึ้นมานะ ถ้าเป็นคนดีจะเป็นผู้นำของโลก ถ้าเป็นคนชั่วมันจะทำลายทั้งหมดเลย เพราะอะไร เพราะมันใช้ปัญญา มันใช้ความคิด มนุษย์เวลาจะคดโกงกัน จะทำลายกันด้วยกลอุบาย

แต่สัตว์หรือสังคมต่างๆ เขาทำลายกันด้วยกำลังของเขา สัตว์ถ้ามีกำลังมากมันก็เป็นผู้นำฝูงของมัน แต่มนุษย์นะถ้ามีปัญญา ขณะที่จะนำนะ ผู้นำนำตรงไหน? นำโดยปัญญา นำโดยนโยบาย แต่ถ้าผู้นำของเราจะไปเดินแบบสัตว์ จะก้าวอยู่บนขณะที่อยู่หน้าฝูงแล้วให้ฝูงมันเหยียบย่ำเอา นั่นมันเป็นการนำของสัตว์นะ

แต่ถ้าหากว่าเป็นการนำของมนุษย์ ดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์ ในป่าในเขานะ เวลาแสดงธรรมจักร เทวดา อินทร์ พรหม ส่งข่าวเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป เพราะอะไร? เพราะเขาต้องการตรงนี้ไง ต้องการเพราะอะไร? เพราะสิ่งที่ว่ามันมืดมน สิ่งที่มืดมนนะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ศึกษามาทั้งหมด ศึกษาขนาดไหนมันก็มืดบอด มันไปไม่ได้เพราะมันไม่มีแสงสว่าง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทเวเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนที่ไม่ควรเสพ อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค เวลาประพฤติปฏิบัติไป ถ้าใช้ความเห็นของตัว มันก็ต้องทรมานตน การทรมานตนโดยเปล่าๆ การอดอาหาร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอดอาหารโดยที่ไม่ใช้ปัญญา การทรมานตนโดยที่ไม่มีปัญญา

แต่ขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ภิกษุไม่ให้อดอาหาร แต่ถ้าใครอดอาหารเพื่อเป็นกลอุบายวิธีการ การอดอาหารนี่มันเป็นอุบายนะ เป็นเครื่องมือส่งเสริม ตัวมันเองไม่ใช่คุณสมบัติที่จะฆ่ากิเลสได้ แต่ตัวของมันเองเป็นอุบายส่งเสริม เปิดช่องทางไง เวลาเราประพฤติปฏิบัติกันแสนทุกข์แสนยาก โน่นก็ทำไม่ได้ นี่ก็ทำไม่ได้

แต่เวลากลอุบายที่จะทอนกำลังของกิเลส ทอนกำลังของการต่อต้าน เราก็ไม่ทำ เราไม่ทำนะ เพราะอะไร เพราะว่าเราคิดว่าสิ่งนี้คือเป้าหมายไง มันเป็นวิธีการ วิธีการอะไรก็ได้ วิธีการที่เราจะชนะตนเอง เราต้องมีหลายๆ วิธีการ ไม่ใช่ว่าเอาวิธีการของกิเลสจะมาชนะกิเลส

วิธีการของกิเลสคือว่ามันพอใจ ทำอะไรที่มันสะดวกสบาย ทำอะไรที่มันพอใจ แล้วเอาสิ่งที่เป็นเครื่องมือของกิเลสจะมาฆ่ากิเลสมันเป็นไปได้อย่างไร? มันต้องเป็นเครื่องมือของธรรม เครื่องมือของธรรมเอามาฆ่ากิเลส อดนอนผ่อนอาหารกิเลสไม่พอใจหรอก คนเรามีที่ไหนที่จะทำให้ตัวเองทุกข์แล้วจะพอใจ แต่ทุกข์อย่างนี้ไม่ใช่ทุกข์เพื่อโศกเศร้า ทุกข์ของโลกนะ รำพันกัน ทุกข์กันในหัวใจ ทุกข์อย่างนั้นทุกข์เพื่อจะทุกข์ซ้ำทุกข์ซาก เพราะทุกข์อย่างนี้มันไม่เข้าใจ

แต่นี่ไม่ใช่ทุกข์ นี่เป็นวิธีการ แต่วิธีการในเมื่อกระทำไปแล้วมันก็ต้องหิว มันก็ต้องโหยหา โหยนะ ร่างกายเวลาผ่อนอาหารไปเหมือนคนฟื้นไข้ คนไข้ฟื้นจากไข้มันจะต้องบำรุงตัวเองขึ้นมาให้แข็งแรงใช่ไหม เวลาเรากินอิ่มนอนอุ่น มันก็ทำให้ส่งเสริมกิเลส พอความกินอิ่มนอนอุ่น กิเลสในความรู้สึกของเรามันไม่เดือดร้อนกับการดำรงชีวิต มันก็ต้องคิดสิ่งที่เป็นกิเลส สิ่งที่มันแสวงหารูป รส กลิ่น เสียง เพื่อผู้ปรนเปรอความรู้สึกมันไง

แต่ขณะที่ว่าเราผ่อนอาหาร เราผ่อนที่มันไม่ให้มีกำลังของมัน มันก็ต้องการแสวงหา สิ่งนี้มันมาเสริมกำลังมันใช่ไหม มันก็ต้องการแสวงหาแค่อาหารเท่านั้นล่ะ เอาอาหารมาเพื่อดำรงชีวิตเพราะเราหิวเหลือเกิน..เราหิวเหลือเกิน.. ท้องยังไม่มีอาหารเลย ต้องการแค่นี้ เราก็มีขอบเขตให้ความคิดไม่ออกไปข้างนอก เราก็มีขอบเขต ขอบเขตของกิเลสที่ไม่ต้องวิ่งไปไกลให้เราตะครุบสิ่งที่ไกล ตะครุบสิ่งที่ใกล้ๆ ตัวเองนี้ ทำให้ได้

สิ่งนี้ถ้ามันทุกข์ มันหิว มันกระหายอย่างนี้ มันเป็นกลอุบายที่เราพอใจจะทำ ที่เราทำเพื่อให้ใจของเราอยู่ในอำนาจของเรา ถ้าเราอยู่ในอำนาจของเรา เวลาเครื่องมือกิเลสก็ว่าอัตตกิลมถานุโยค เวลาอดอาหารก็หิว หิวก็เป็นทุกข์ ทุกข์นี่อัตตกิลมถานุโยค พระพุทธเจ้าไม่ให้ทำ

นี่เครื่องมือของกิเลส กิเลสมันเอาความรู้สึกมัน เอาธรรมะนี่มาเชือดคอตัวเองนะ ทั้งๆ ที่เป็นวิธีการ เหมือนกับเราเป็นพาหนะที่เราจะดำเนินทางไป เราไปกล่าวโทษ รถรานี้เป็นสิ่งที่เป็นโทษหมด สิ่งนี้เป็นความเสียหายทั้งหมด แล้วเราจะก้าวเดินไปได้อย่างไร

นี่ก็เหมือนกัน ขณะที่ว่าเราอดนอนผ่อนอาหารอย่างนี้ มันเป็นวิธีการ มันไม่ใช่เป้าหมาย ใช่! มันไม่ใช่ธรรม.. ใช่ มันไม่ใช่ธรรม แต่มันเป็นอุบาย มันเป็นวิธีการ นี่เอาธรรมแก้กิเลสไง ไม่ใช่เอากิเลสแก้กิเลส เอาความเห็นของเราแก้เรา มันจะเป็นไปได้อย่างไร กามสุขัลลิกานุโยค ทำตามสะดวกสบาย ตอนนี้เป็นอย่างนั้นหมดนะ เวลาประพฤติปฏิบัติกัน ต้องสะดวกต้องสบาย ต้องอำนวยความสะดวก ต้องทำให้เพื่อปฏิบัติธรรม ถ้าปฏิบัติธรรมก็ไปไหว้ตอไม้สิ ไปไหว้ตอไม้ก็ได้ ไปไหว้วัตถุอะไรก็ได้ กราบไหว้แล้วมันเป็นบุญกุศลไง

นี่ก็เหมือนกัน ทำอะไรแล้วก็ต้องไปกราบไหว้กิเลส ต้องขออนุญาตกิเลสก่อนแล้วค่อยปฏิบัติใช่ไหม เวลาขออุบายต้องสะดวกสบายใช่ไหม ต้องปูที่นอนไว้เลยเพื่อสะดวกจะได้นอนง่ายๆ ใช่ไหม กามสุขัลลิกานุโยคทำอะไรก็ต้องสะดวกสบาย การสะดวกคือปฏิบัติง่าย ปฏิบัติไปเพื่อไปยอมจำนนกับมัน ปฏิบัติเพื่อเป็นพิธีกัน แม้แต่ปฏิบัติก็เป็นพิธี แล้วก็บอกว่าอย่างนี้เป็นการปฏิบัติธรรม

กิเลสมันร้ายอย่างนั้นนะ แล้วกิเลสไม่ต้องไปดูใคร กิเลสให้ดูใจเรา ใจเรานะ เราเป็นชาวพุทธ เราเป็นนักรบ เราเป็นผู้ที่จะสู้กับกิเลส ถ้าเราสู้กับกิเลสเราต้องไม่ชินชากับมัน อะไรที่เกิดขึ้นมาในหัวใจ ความคิดจากข้างนอก ความคิดจะกระทบจากข้างนอก

ดูสิ เราเห็นสังคมไหม เขาทุกข์เขายากกัน นี่เขาทุกข์เขายาก เขาต้องหาอยู่หากินของเขา ดังนั้นมันเป็นความทุกข์เราไหม? มันเป็นความทุกข์ของเขา แต่เป็นคติเตือนใจเราได้ มันเป็นคติเตือนใจเราได้ แต่ความทุกข์ของเขานะ

แต่ถ้าความทุกข์ของเราคือใจเรามันหาเรื่อง มันไปเอาเรื่องของเขามาแบกทำไม มันเป็นเรื่องของเขา มันเป็นเรื่องของวัฏฏะ มันเป็นเรื่องของสังคม ขณะที่เราอยู่ในสังคม ถ้าเราเป็นสมมุติเราอยู่กับเขามันก็เป็นสังคมไป แต่ถ้าเราจะเอาช่วยเหลือตัวเอง อัตตกิลมถานุโยคการลำบากเปล่า นี่ก็ลำบากเปล่าแล้วนะ เพราะอะไร เพราะเป็นเรื่องคนอื่นแล้วเราไปแบกรับภาระ นี่แหละอัตตกิลมถานุโยคของธรรม

เพราะธรรมบอกว่า “อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ตนเป็นคนทุกข์แล้วตนก็จะเป็นคนพ้นทุกข์ ขณะที่ตนเป็นคนทุกข์ แล้วจะกำจัดทุกข์จะทำทุกข์อย่างไร ถ้าทำทุกข์อย่างไรก็ย้อนมาที่ตัวเรา ขณะที่เราออกไปรับรู้เรื่องของเขา เพียงแต่เป็นคติได้

เขาว่า “ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะมีอยู่ทั่วไป เห็นเป็นธรรมะ”

คนที่เป็นธรรม ใจเป็นธรรม เห็นเป็นธรรมะมันสะเทือนใจทั้งนั้นล่ะ ดูสิ ทำไมคนนี้ทุกข์ๆ ยากๆ ทำไมคนนี้เขามีความสุขของเขา มันคติเตือนใจนะ เพราะอะไร เพราะเขาทำของเขามา เขามีของเขามา เขาทำบุญกุศลของเขามา เขาทำบาปอกุศลของเขามา สิ่งนี้เป็นกรรมทั้งนั้นนะ

สิ่งใดในโลกนี้เกิดจากกรรม ไม่มีสิ่งใดลอยมาจากฟ้า ไม่มีสิ่งใดเป็นของไม่มีเหตุไม่มีผล สาวไปเถอะ ผลที่เกิดขึ้นมาในปัจจุบันนี้ คนทุกข์คนยากเพราะอะไร? เพราะสาวไปหาเหตุสิ คนสุข สุขในปัจจุบันนี้สุขเพราะอะไร? ก็สาวไปหาเหตุสิ มันต้องมีที่มาสิ มันไม่มาจากฟ้าหรอก

ถ้าใจเป็นธรรมเห็นแล้วมันจะเป็นธรรมนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาออกโปรดสัตว์ วาระของใคร ดูสิ ดูอย่างองคุลิมาล ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ถ้าลองได้ฆ่าแม่ ฆ่ามารดาแล้วมันเป็นการปิดกั้น หมดโอกาสเลย เพราะอะไร? เพราะทำลายสิ่งที่มีคุณค่า เกิดมาจากมารดานี่แดนเกิด แล้วไปทำลายตรงนั้นมันเป็นการปิดกั้นเลย

แต่ขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปทรมาน ไปทรมานเพราะอะไร? เพราะเขามี เขามีของเขา เขามีใจที่พร้อมที่จะบรรลุธรรมได้ ใจที่เขาจะมีดวงตาเห็นธรรมได้ แต่ขณะที่กิเลสมันปกปิดอยู่เห็นไหม ดูสิ ระหว่างศาสดาเป็นครูเอกของโลก กับผู้ที่เป็นคนมืดบอด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปโปรดนะ ออกไป พอไปองคุลิมาลมาเห็นเข้า ด้วยความมืดบอดของใจ ใจมืดบอดเพราะโดนกิเลสบังตา ทั้งๆ ที่มีอำนาจวาสนา ถ้าไม่มีอำนาจวาสนาจะไปเข้าญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างไร

อำนาจวาสนาอยู่ในดวงจิตนั้น แต่ในดวงจิตนั้นทำไมคิดแต่จะล้างผลาญเขาล่ะ คิดล้างผลาญเพราะมันมืดบอด เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป ด้วยความคิดขององคุลิมาลจะเอานิ้วสุดท้ายไง จะเอานิ้วสุดท้ายครบพันให้ได้ จะตามไปเห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปโดยฤทธิ์ วิ่งขนาดไหนก็ไม่ทัน

เพราะว่าเขามีศักยภาพของเขามาก ม้าจะเร็วขนาดไหนก็วิ่งไม่ทันองคุลิมาล องคุลิมาลวิ่งได้เร็วกว่า แต่วิ่งไม่ทันองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็แปลกใจ ด้วยความแปลกใจนะ

“สมณะหยุดก่อน สมณะหยุดก่อน”

“เราหยุดแล้ว เธอต่างหากไม่หยุด”

ทั้งๆ ที่วิ่งอยู่นั่นแหละ ฤทธิ์อย่างนั้นหยุดไม่ทันเพราะอะไร เพราะสิ่งนี้คือยา คือธรรมโอสถ นี่คือธรรมนะ ขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมอยู่นั้น นี่แสดงธรรมแล้ว เพราะต้องการให้ธรรมบาทหนึ่ง บาทหนึ่งคือคำพูดหนึ่ง นี่บาทของธรรมแทงเข้าไปในหัวใจนะ “เราหยุดแล้ว” องคุลิมาลนี่งงเลย หยุดอย่างไรวิ่งขนาดนี้ยังไม่ทันเลย หยุดได้อย่างไร?

“เราหยุดจากบาปจากกรรม! เราหยุดจากการกระทำ องคุลิมาลยังวิ่งจะฆ่าเขาอยู่ ไม่ได้หยุด” มันสะเทือนใจนะ สะเทือนใจหยุดเลย พอหยุด องคุลิมาลวางดาบกราบแล้วขอบวช เวลาบวชไปแล้วเข้าอริยสัจ ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ทุกข์อย่างไร ทุกข์สิ เพราะแสวงหา แสวงหาอยากได้วิชา เพราะอาจารย์สอนมาว่าถ้าได้พันนิ้วมาจะให้วิชา

วิชาอะไรมันก็เป็นเรื่องของโลกียปัญญา ปัญญาของโลก วิชาอย่างนี้มันแก้กิเลสไม่ได้หรอก แต่วิชาที่แก้กิเลสก็แก้ตัวอยากได้นั่นนะ อยากได้วิชา อยากได้ความรู้นั่นนะ ตัวนั้นมันเป็นตัวใจ ตัวใจอันนี้ที่มีอำนาจวาสนาเข้าข่ายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปเข้าญาณอันนั้น ไปเข้าญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีอำนาจวาสนา แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการอริสัจ ก็เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา

ถ้ากิเลสมันบังตานะ มันมืดบอดทำอะไรไปโดยกิเลสชักนำ “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” สิ่งที่ว่าเป็นคุณงามความดีของเรา ธรรมของกิเลส กิเลสเอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอ้างอิงแล้วว่าสิ่งนี้เป็นธรรม แล้วเราก็เชื่อกิเลสอันนั้นไป มันก็หมุนไปตามกิเลสอันนั้น

แต่เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมที่เข้าไปชำระกิเลส เพราะอะไร เพราะธรรมถ้าสถิตอยู่ในใจของใคร สถิตอยู่ในใจของปุถุชนมันก็แปดเปื้อนไปด้วยกิเลส ธรรมนี้มันสถิตอยู่ในใจของพระโสดาบันมันก็ได้ความสะอาดบริสุทธิ์ส่วนหนึ่ง ถ้าสถิตอยู่ในใจของพระสกิทาคามี ของพระอนาคามี อยู่ในจิตใจของพระอรหันต์ ธรรมบริสุทธิ์ล้วนๆ เลย การเคลื่อนไหว การก้าวเดิน กิริยาออกมาจากจิตที่สะอาดบริสุทธิ์ มันเป็นธรรมล้วนๆ เพราะมันไม่มีกิเลสเจือปน

แต่ถ้ามันมีกิเลสอยู่บ้างมันก็เจือปนออกมา นี่ก้าวบาทของธรรมอันนั้น แล้วเรามีโอกาสมีอำนาจวาสนา เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้เวลามันแสดงออกมามันถึงกัน ใจสู่ใจ ใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ขณะกิริยาออกมาจากใจที่สะอาดไปถึงใจที่มืดบอด ใจที่มืดบอดเพราะว่าสิ่งนี้เป็นธรรม เพราะอยากได้วิชา..อยากได้เป็นตัณหา

ถ้าการกระทำนั้นเป็นตัณหาแล้วเราทำความเพียรกันเป็นตัณหาไหม? มันเป็นมรรค สิ่งที่เรากระทำอยู่นี่ ขณะที่เราก้าวเดินอยู่ ธรรมดาของจิตของคนที่มีกิเลสนะ เหรียญมี ๒ ด้าน หัวกับก้อย ขณะที่เราทำความดีเป็นหัวมันก็เป็นบวก มันก็เป็นมรรค ขณะที่ทำไปแล้วก้อย กิเลสมันสวมรอยเข้ามา มันก็เป็นลบ ขณะที่การก้าวเดิน ขณะที่วิธีการทำไปมันมีบวกมีลบไปทั้งนั้น เพราะอะไร เพราะกิเลสมันอยู่ในหัวใจ

แต่ธรรมะยังไม่เกิด ธรรมะเกิดเพราะอะไร เพราะเราต้องแสวงหาสมาธิหาสติขึ้นมา แต่เพราะสิ่งที่หา หามาจากไหน? สมาธิไปเอามือกว้านมาเหรอ สมาธิจะไปเก็บเอาจากโกดังที่ไหน? สมาธิก็เกิดจากใจ สมาธิเกิดจากใจ เพราะใจสงบมันเป็นสมาธิโดยตัวของใจเป็นสมาธิ โดยสมาธิขึ้นมาเพราะอะไร เพราะมันต้องสะอาดบริสุทธิ์จากตัณหาความทะยานอยาก จากสิ่งที่ว่ากิเลสใช้ธรรมไง ธรรมของกิเลส เพราะกิเลสมันอ้างอิงขึ้นมามันก็ไม่สะอาดบริสุทธิ์ แต่คำนวณขนาดไหน ใช้ปัญญาไปขนาดไหน สิ่งนี้มันก็เริ่มจางลง จางลงเพราะอะไร กิเลสจางลงนะ จางลงเพราะมันไม่มีผล จางลงเพราะปฏิบัติออกมาแล้วก็ซึมเซื่อง ท้อถอยหงอยเหงา

แต่ถ้าจิตขณะที่มันเป็นธรรม มันจะมีความองอาจกล้าหาญ มันจะมีความสว่างไสว มันจะมีความสุขของใจ แม้แต่จิตเป็นสมาธิ ดูสิ เวลาเราออกจากนั่งสมาธิบางหนมันเศร้าหมอง มันไม่สดชื่น แต่ขณะที่มันเป็นสมาธิโดยธรรมโอสถ โดยสัจธรรม มันจะมีความสดชื่น มันจะมีความตื่นเต้น “อ๋อ เป็นอย่างนี้เอง เป็นอย่างนี้เอง” นี่สันทิฏฐิโก มันเป็นปัจจัตตังกับจิตดวงนั้นนะ ถ้าจิตดวงนั้นได้สภาวะแบบนี้ขึ้นมา สิ่งนี้มันเป็นบวก การก้าวเดินมันก็มีบวกมีลบไป ขณะที่มีบวกมีลบไปเราก็ต้องต่อสู้ไป ไม่ใช่เริ่มต้นกระทำมันเป็นไปได้หมด อันนี้คือเรื่องของมรรค

แต่ขณะที่เรื่องจริตนิสัย ขิปปาภิญญา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ จุตูปปาตญาณ สิ่งนี้เป็นอดีตอนาคต ขณะอดีตอนาคตนะ แล้วเวลาไปอาสวักขยญาณทีเดียวเห็นไหม ทีเดียวสำเร็จเลย ขิปปาภิญญา พาหิยะฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนเดียวก็เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลย

แต่ทำไมพระสารีบุตรฟังธรรมของพระอัสสชิเป็นพระโสดาบันขึ้นมาก่อน แล้วพระสารีบุตรไปบอกพระโมคคัลลานะ ธรรมะที่ฟังมาจากพระอัสสชิ พระสารีบุตรเป็นพระโสดาบัน “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ไปดับที่เหตุนั้น” ต้องไปถึงที่เหตุ ธรรมส่วนธรรม ผลมันเป็นผลมาแล้ว ต้องกลับไปดับที่เหตุ ดับที่ไหนล่ะ เหตุมาจากใจ

พระสารีบุตรเป็นพระโสดาบัน ธรรมอันนี้เพราะมันเป็นธรรมที่ว่า มันเป็นทองคำที่ว่าสะอาดขึ้นมาส่วนหนึ่ง พระสารีบุตรไปเอาธรรมอย่างนี้ ธรรมบาทนี้ไปพูดให้พระโมคคัลลานะฟัง พระโมคคัลลานะก็เป็นพระโสดาบันขึ้นมา แล้วถึงไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขอบวชแล้วประพฤติปฏิบัติต่อ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป แม้แต่พระอัครสาวกก็ยังเดินเป็นบุคคล ๘ จำพวก เดินขึ้นไปจนมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

สิ่งนี้เกิดจากไหน? สิ่งนี้เกิดจากใจ ในเมื่อใจเรามีนะ ถ้าใจมีเราเป็นนักรบ มีสติตั้งแต่เริ่มต้น สตินะ สติเริ่มต้น ต้องฝึกสติ ขณะที่ข้อวัตรปฏิบัติมันเป็นเครื่องดำเนินนะ เรามีรถอยู่คันหนึ่ง เราจะใช้ประโยชน์จากรถนั้น เราต้องดูลม เราต้องดูน้ำมัน เราต้องดูไฟให้มันพร้อม เวลาจำเป็นขึ้นมาเราจะใช้ประโยชน์จากเขา

นี่ก็เหมือนกัน เราจะมีข้อวัตรปฏิบัติ ตื่นขึ้นมาเราจะมีสติสัมปชัญญะ เราจะเหยียดคู้ไปออกบิณฑบาต มันจะมีความระวังตัวอยู่ตลอดเวลา มันก็เหมือนรถคันหนึ่งนะ มรรค ๘ ไง สติ สมาธิ ความเพียร ความเห็นต่างๆ เราต้องถนอมรักษา

หลวงปู่มั่นพูดไว้ในมุตโตทัย เราจะต้องมีสติแม้แต่เหยียดคู้ ความดำรงชีวิตของเรา เราจะมีสติสัมปชัญญะตลอดไป ถ้ามีสติสัมปชัญญะมันก็เหมือนกับถนอมรักษาไว้ เราจะใช้รถนั้นก็สะดวกนะ ถ้าเราไม่มีสติสัมปชัญญะ เราไม่ถนอมรักษา รถเราจะใช้ เวลาติดเครื่องยางไม่มีลมเลย รถจะวิ่งไปได้อย่างไร ทั้งๆ ที่เครื่องติดนะ แต่ยางไม่มีลมรถจะวิ่งไปได้หรือ?

นี่ก็เหมือนกัน เวลามีความอยากปฏิบัติ เวลามีความสดชื่นอยากจะปฏิบัติ โน่นก็ไม่พร้อม นี่ก็ไม่พร้อม เพราะอะไร? เพราะเราไม่ถนอมรักษา เพราะเราไม่มีสติควบคุมตัวเราเอง นี่ข้อวัตรปฏิบัติ ปฏิปทาเครื่องดำเนินสำคัญมากนะ ถ้าไม่สำคัญมากหลวงปู่มั่นไม่วางแนวทางไว้นะ หลวงปู่มั่นวางแนวทาง หลวงปู่มั่นท่านห่วงหมู่คณะนะ บอกว่า “ให้ศึกษาปฏิปทาเครื่องดำเนิน เดี๋ยวมันจะไม่มีข้อวัตรประจำตัวมัน มันจะไม่มีสิ่งใดติดใจมันไปเลย”

เราจะทำอะไร ทางวิชาการเขาศึกษามาเลย สุตมยปัญญานี้นะต้องไปศึกษาวิชาการที่เขาทำวิจัยกันไว้แล้ว แล้วจำของเขามา แล้วทำวิจัยได้ไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าเราชำนาญ เราเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นบวก สิ่งนี้ทำแล้วถูกต้อง สิ่งที่เป็นบวกนั้นถูกต้องไม่ใช่ทุดัน ดันไปเรื่อย รู้ไม่รู้ดันมันไปเรื่อย เข้าใจว่าถูก เขาเจตนาดี มีเจตนาทำเพื่อหมู่คณะ ..เจตนาของกิเลสนะ เราเจตนาดีแต่เราไม่รู้ว่ามันถูกหรือผิด แต่ถ้าเป็นข้อวัตรปฏิบัตินะ สิ่งนี้มันเป็นสากล อยู่ในบุพพสิกขา บุพพสิกขาเขียนไว้หมดเลย

แต่เวลาพูดถึงวินัย ๒๑,๐๐๐ ข้อในพระไตรปิฎก วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก อภิธรรมปิฎก สิ่งนี้อยู่ในพระไตรปิฎก แต่มันก็เป็นสิ่งที่เราจะไปค้นคว้าเป็นหมื่นๆ ข้อจะจำได้อย่างไร? ไม่ต้องไปจำ ชีวิตประจำวันการเหยียดคู้ การอยู่ของเรา ถ้าศึกษาแล้วเราจะไม่ทำสิ่งนั้น เราจะควบคุมตัวเอง พอควบคุมตัวเองเราก็เติมลมในล้อของเรา ล้อเราก็พร้อม ไฟพร้อมไหม ทุกอย่างพร้อมไหม สตาร์ทเครื่องมันก็ไปได้ นี่ถ้าไปได้ ถ้าเกิดสมาธิขึ้นมา เวลาน้อมไปวิปัสสนามันจะเป็นไป

ถ้าไม่เคยเตรียมการสิ่งใดๆ ไว้เลย เวลาขึ้นรถแล้วก็จะขับไปเลย รถมันก็ไปไม่ได้ ใจอยากไป ไปเดี๋ยวนี้..ไปเดี๋ยวนี้.. ใจมาถึงที่หมายแล้วแต่รถยังไม่ขยับเขยื้อนเลย นี่ก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติ มรรค ผล นิพพานที่นั่น ความเป็นไปอย่างนั้น มันเป็นข่าวของคนอื่นนะ มันเป็นข่าวมาตั้งแต่ ๒,๐๐ กว่าปีของพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒,๕๐๐ กว่าปีนี่มันเป็นข่าวของคนอื่น มันเป็นสิ่งที่ว่าเราไปฟังของคนอื่น ใจมันถึงเป้าหมายไง จะไปๆ แต่รถมันยังอยู่ที่นี่เลย มันขยับไม่ได้เลย เพราะเราไม่บำรุงรักษาตัวเราเอง เราไม่บำรุงรักษาข้อวัตรปฏิบัติของเรา เราต้องมีข้อวัตรปฏิบัติของเรา เพื่อจะให้โอกาสกับใจดวงนี้ เปิดทางให้ใจมันก้าวเดินไปได้สะดวก

ถ้าใจมันก้าวเดินได้สะดวก นี่อำนาจวาสนาอยู่ในมือของเรา กรรม! กรรมคือการกระทำ กรรมอยู่ในมือของเรานะ เราจะกำหรือเราจะแบ ถ้าเราจะกำเราทำให้ดี กรรมของเรา

ถ้าเราไม่กำไว้เลย เราไม่ทำอะไรเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้ยึดถือ อะไรก็ให้ว่างหมดเลย

...นี่เห็นไหม กิเลสมันอ้างธรรมะ ลมพัดมามันก็ว่างแล้ว ลมพัดมาวัตถุมันมีกิเลสที่ไหน? มันไม่ทุกข์ด้วย เราต่างหากมันทุกข์ “ว่างๆ” ..ว่างแต่ปาก แต่ใจมันไม่ว่าง..ใจมันไม่ว่าง.. มันต้องทำ ไม่ทำเลยแล้วจะปล่อยวาง เป็นไปไม่ได้! ต้องทำให้รู้แจ้งแล้วมันจะวางของมันเอง อย่างเช่น พุทโธๆ เวลาเราพุทโธๆ พุทโธคือสมาธิ ถ้าพุทโธกับจิตเป็นอันเดียวกันแล้วมันจะเป็นสมาธิ พุทโธๆๆๆ แล้วก็หลับไปเลย ว่าง...เพราะอะไร? เพราะกิเลสมันหลอก กิเลสมันคือเรานะ

พุทโธๆ ตะโกนเลยพุทโธๆๆ ไปนี่ ถ้าจิตมันสงบมันสงบของมันเอง พุทโธเราตะโกนขนาดไหนมันตะโกนไม่ได้หรอก เพราะจิตมันเป็นไป ดูสิ เวลาน้ำเต็มตุ่มแล้ว เราจะใส่น้ำไปในตุ่มน้ำมันจะเข้าได้ไหม ตะโกนพุทโธขนาดไหนมันก็เข้าไปในตุ่มนั้นไม่ได้ เพราะจิตมันเต็ม นี่จิตมันไม่เต็มเลย น้ำไม่มีสักหยดหนึ่ง เราบอกพุทโธๆ น้ำมันไปปั่นป่วนอยู่ในโอ่งนั้นนะ แล้วก็บอกว่าว่างๆ

ความคาดหมายกับความจริงไม่เหมือนกันหรอก ความคาดหมายของเราถ้าพุทโธกับจิตนี้เป็นอันเดียวกันแล้ว มันว่าง มันว่างที่ไหน? สติมันอยู่ที่ไหน? มันไม่มีสติเลย มันยังไม่รู้ตัวเองว่าเป็นสมาธิยังไงเลย มันยังไม่รู้จักตัวเองเลย มันไม่มีสิ่งใดๆ เป็นเครื่องการันตีว่าสิ่งนี้เป็นสัมมาสมาธิเลย

ถ้าเป็นสมาธินะ มีสติพร้อมอยู่ตลอด พุทโธๆๆ เริ่มพุทโธไป พยายามพุทโธขนาดไหนจิตมันเริ่มสงบตัวลง..สงบตัวลง.. มันก็ยังพุทโธไปเรื่อยๆ เพราะอะไร เพราะเราต้องส่งเข้าไป เวลาเราเทน้ำเข้าไปในโอ่ง ในโอ่งในไหเราเทน้ำเข้าไปมันจะหมุนดังมาก แล้วเราเทเข้าไปเรื่อยๆ เราเทของเราเข้าไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะเต็ม พอเต็มขึ้นมาน้ำมันก็เต็ม น้ำชุ่มชื่นจะรักษาโอ่งนั้นไม่ให้แตกร้าว

นี่ก็เหมือนกัน พุทโธๆๆ มันไปของมันนะ จิตมันสงบของมันขนาดไหน ขณิก อุปจาระต่างๆ นี่เป็นเครื่องหมายที่เรามาคุยกันเฉยๆ ว่าระดับของมัน แต่ความเป็นไปของมันนะ มันสงบเข้ามาเราจะรู้ตลอดเวลา สติจะพร้อมตลอด ลงไปขนาดถึงที่ว่าดับหมดเลย ดับอายตนะ ดับความรู้สึก ลมพัดมาขนาดนั่งสมาธิจิตมันลงหมดนะ ลมพัดจะรุนแรงขนาดไหน ผิวกายจะไม่รับรู้ถึงความเย็นเลย ไม่รู้จักสิ่งใดๆ เลย แต่หัวใจจะรู้อยู่ สติจะรู้อยู่พร้อม นี่สมาธิมันเป็นอย่างนี้

ไม่ใช่ว่า “ว่างๆ” ...กิเลสพาปฏิบัตินะ ถ้ากิเลสพาปฏิบัติเราก็จะเวียนอยู่ในกรอบของกิเลสนี้ ไม่ใช่ความรู้ของเรา กรอบของกิเลส ฟังสิ นี่ปริยัติ กรอบของกิเลส กิเลสอ้างธรรม

แต่ถ้าเป็นความจริงนะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบไหว้ตลอดเวลา แต่ความจริงของเราอย่างนี้ เกิดขึ้นมาอย่างนี้เพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยนี้ไว้เป็นศาสดาของเรา เป็นครูเอกของโลก เป็นผู้ชี้นำทางของเรา

เราเป็นสาวก สาวกะ ออกมาก็เห็นร่องรอย แล้วมีความเข้มแข็ง มีสติสัมปชัญญะ ไม่ประมาทในชีวิต ไม่ประมาทในการเกิดในชีวิตนี้ทั้งชีวิตเลย แล้วไม่ประมาทในอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดดับในหัวใจนี้ด้วย สิ่งต่างๆ นี้ควบคุมใจเข้ามา แล้วจิตสงบเข้ามาอย่างนี้จะซึ้งธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก

ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา แล้วธรรมนี้มันสถิตในใจของเรา สถิตในใจของเราที่เป็นธรรมแท้ๆ ธรรมแท้ๆ ความรู้สึกแท้ๆ ไม่มีเชื้อนะ ดูสิ คนจะเกิดจะตายเพราะมันมีแรงขับ แล้วธรรมตัวนี้เข้าไปชำระสิ่งที่แรงขับทั้งหมดเป็นธรรมล้วนๆ สิ่งที่ใจ ใจดวงหนึ่งมีกิเลสทั้งตัวนะ เวลาเกิดตาย..เกิดตาย..ต้องเวียนไป

ใจดวงหนึ่งไม่มีกิเลสเลย มีใจเหมือนกัน แต่ใจดวงหนึ่งต้องเวียนตายเวียนเกิด ใจดวงหนึ่งไม่มีกิเลสเลย แล้วมันก็อยู่ที่ใจของเรามีโอกาส มีอำนาจวาสนาที่จะได้ชำระกันอยู่เดี๋ยวนี้ แล้วเราประมาททำไม? เรามีโอกาสมาก ชีวิตเรานี่มีโอกาสมาก ตรงนี้มันเป็นบุญกุศลมหาศาล

เราไปมองกันข้างนอกว่าคนอื่นเขามีโอกาส คนอื่นเขาประสบความสุขทางโลก เขาตายเกิดนะ ตายเกิดทั้งนั้น ถ้ามองแล้วนะคนกับสัตว์ต่างกันตรงไหน? ดูสิ สัตว์มันก็ตายเกิดเหมือนกัน คนก็ตายเกิดเหมือนกัน แต่คนเรามีอำนาจวาสนาว่าเรามีโอกาสได้ศึกษา เหมือนคนไข้ คนไข้ทั้งหมดเลย คนเกิดมามีโรคกิเลสทั้งหมดเลย แล้วมีมนุษย์อยู่กลุ่มหนึ่งเห็นว่าเป็นโรค แล้วพยายามจะรักษาตัวเอง ใครมีโอกาส

แล้วเราเป็นคนหนึ่งในกลุ่มนั้น เราเป็นคนหนึ่งที่จะชำระไข้ออกจากใจนั้น แล้วเราทำไมจะไม่รื่นเริง ไม่องอาจกล้าหาญในการประพฤติปฏิบัติของเรา ไม่องอาจกล้าหาญในชีวิตของเรา นี่ชีวิตมีคุณค่าตรงนี้

งานของโลกทำไปเถอะ ทำอย่างไรก็ไม่จบ นี่ว่าโลกเจริญ เทคโนโลยีออกมาทุกวัน ทุกๆ อย่างจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มันจะเปลี่ยนแปลงไปตลอด..เปลี่ยนแปลงไปตลอด.. โลกนี้เป็นอจินไตย เปลี่ยนแปลงจนถึงทรัพยากรหมดนะ แล้วเปลี่ยนแปลงไปถึงจุดหนึ่ง มันจะหมุนไปตามความเป็นไปของสัตว์โลกที่สร้างกรรมกันมาเป็นสภาคกรรม แล้วสุดท้ายแล้วมันย้อนกลับมาใหม่ พระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้อยู่ข้างหน้า แล้วนี่วันเวลาอีกขนาดไหน

สิ่งนี้เห็นไหม วัฏฏะเป็นสภาวะแบบนั้น เป็นอนิจจัง เป็นการหมุนเวียนไป มันเป็นอจินไตยที่คงที่ คงที่ที่แปรสภาพ มีอย่างนั้นแน่นอน คงที่แล้วแปรสภาพ แล้วถ้าเราดับเสียเดี๋ยวนี้ เราทำชนะกิเลสเดี๋ยวนี้ เราจะไม่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการเวียนไป เราไม่ต้องเป็นส่วนหนึ่งไปรับรู้สิ่งที่ต้องเป็นไป สิ่งนี้จะเกิดขึ้นมาได้จากความเห็น จากญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม

แล้วความเห็นของเราล่ะ ความสุขทุกข์ขึ้นมา ญาณของเราคือญาณแก้กิเลสโลกใน โลกของเราคือโลกกิเลสที่อยู่ในใจนี้ ถ้าดับโลกนี้ โลกในดับแล้ว โลกในดับแล้ว โลกนอกมันเป็นเรื่องของอนิจจัง โลกในคงที่ โลกในคงที่เพราะใจมันไม่เกิด เพราะใจมันสว่างไสว ใจพ้นจากกิเลสนะ สติเห็นไหม เริ่มต้นจากสติ แล้วมีสติควบคุมตัวเอง ประพฤติปฏิบัติมีครูมีอาจารย์ชี้นำนะ

มีครูมีอาจารย์ มีโอกาส ทุกอย่างพร้อมหมด เหมือนกับที่ว่าเราจะรักษาถนอมรถของเรา ดูสิ เดินจงกรมเท้า ๒ ข้างก็เหมือนรถก้าวไปก้าวมา รถมันจะเดินของมันตลอดเวลา ถ้ามีสติสัมปชัญญะ สติเหมือนกับพวงมาลัย ปัจจุบันรถเขามีคอมพิวเตอร์ที่นำร่องเอง ปัญญาให้นำร่อง ให้เราเข้าสู่ธรรม แล้วเราประพฤติปฏิบัติเพื่อเรา เพื่อเรานะ เพื่อใจดวงนี้ ใจสู่ใจ ใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง

ถ้าใจดวงหนึ่งสว่างไสว เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอานนท์ร้องไห้นะ “ดวงตาของโลกดับแล้ว” ดวงตาของโลกดับนะ ทุกข์มาก เพราะพระอานนท์ยังต้องมีคนชี้นำอยู่

ถ้าเราทำใจของเราสว่างไสว ปฏิบัติตนนี่แหละจะเป็นที่พึ่งของหมู่คณะ ปฏิบัติตนนี่แหละจะเป็นที่พึ่งของโลก แต่ให้มันปฏิบัติตนได้จริง เราไม่สงสัยใดๆ ในหัวใจเลย โลกในสว่างไสว โลกนอกเป็นผู้นำได้ โลกในมืดบอด โลกนอกก็คลำกันไป มีแต่เรื่องความลังเลสงสัย ฉะนั้นปฏิบัติขึ้นมา ต้องปฏิบัติ ปฏิบัติเรานะ อย่ามองคนอื่น (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)