เทศน์พระ

เทศน์พระ ๑๓

๒ ก.พ. ๒๕๕o

 

เทศน์พระ วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันอุโบสถ วันอุโบสถ ทางโลกเขาทำสังคายนาเพื่อความบริสุทธิ์ แต่ของเราล่ะ ของเราเพื่อความสะอาดนะ “ธรรมวินัย”

ทะเล คือคลื่นจะพัดสิ่งที่เป็นซากศพ สิ่งที่สกปรกขึ้นฝั่ง ทะเลมันไม่ยอมรับรู้ถึงสิ่งสกปรก สิ่งที่สกปรกในทะเลมันจะซัดเข้าฝั่งหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน ในธรรมวินัย ถ้าไม่ซัดเข้าฝั่ง ไม่ซัดเข้าฝั่งเพราะอะไร เพราะเราไม่เห็นธรรมนะ ถ้าธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐ ทางฆราวาสเขามองนะว่าถ้าเป็นสิ่งที่ประเสริฐ พระที่บวชแล้วทำไมทำตัวเหลวไหลกันอย่างนั้น เพราะอะไร? แล้วเวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คลื่นมันจะซัดสิ่งที่เป็นซากศพ สิ่งที่เป็นความชั่วร้ายขึ้นฝั่ง จะอยู่ในธรรมวินัยไม่ได้

แต่ปัจจุบัน ดูสิ ดูสังคมของพระสิ ทำไมเป็นสภาวะแบบนั้นล่ะ เราก็บอก ธรรมและวินัยมันก็เหมือนกับเราดองผลไม้ ถ้าผลไม้นั้นได้น้ำดองผลไม้ อย่างเราดองสมอกัน ถ้าเกลือเราต้มพอดีก็จะเป็นสิ่งที่เป็นผลดี ถ้าอ่อนไปมันก็ไม่เป็น ไม่เป็นหมายถึงมันเน่า มันจืด แต่ถ้ามันเค็มเกินไปมันก็แก่ เห็นไหม ธรรมวินัยมันจะซัดซากสิ่งที่ไม่ดีไม่งามเข้าฝั่ง

ดูสิ ดูเรื่องของวัยรุ่น คนจะทำงาน คนมีไฟ คนมีไฟนี่มันอยากทำงานมากนะ ผู้ที่มีอำนาจเขาว่านะ “ขนาดที่เขามีอำนาจ เขาไม่มีประสบการณ์ เวลาเขามีประสบการณ์ขึ้นมาเขาก็หมดจากอำนาจไปแล้ว” นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีความจงใจ เรามีความตั้งใจ อย่าอยู่เฉื่อยชา อย่าหมดไฟ เพราะเราหมดไฟนะ เราไม่ตั้งใจทำอะไรเลย เราอยู่กันไปวันๆ หนึ่งนะ นี่นอนจมกองมูตรกองคูถไง กองมูตรกองคูถมันอยู่ที่ใจนะ ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง เรานอนจมอยู่กับมันเพราะอะไร? เราเฉื่อยชา

ครูบาอาจารย์นะ อยู่กับหลวงตานะ ที่หลวงตาทำอยู่นะเพราะอะไร เพราะสิ่งที่ท่านได้ประสบของท่านมาไง เพราะอยู่ที่เราไม่เฉื่อยชา มีสติสัมปชัญญะ ลุกเร็ว นั่งเร็ว ไม่จมอยู่กับสิ่งใด การฝึกให้เป็นนิสัย แม้แต่นอนนะ เวลาท่านเล่าถึงประวัติของท่าน เวลาท่านนอน ท่านนอนตื่นแล้วจะไม่ยอมนอนอีก แล้วฝึกกันจนแบบว่าขนาดตื่นแล้วดีดขึ้นมาเลย

ถ้าเราทำของเราอย่างนั้น เราทำจงใจของเราอย่างนั้น เราไม่ชินชากับสิ่งต่างๆ แล้วพอจะมาฝึกลูกศิษย์ท่านก็ทำอย่างนั้น แต่โลกมองว่ามันเกินไป ทำไมทำอะไรแบบว่าคนที่มีความรู้สึกโกรธ รู้สึกรุนแรง ถ้าเราไม่รุนแรงกิเลสมันเกาะกินนะ “ดินพอกหางหมู” ดินมันพอกหางหมูมันจะก้อนโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันจะจมดิน มันแห้งมันก็พอกขึ้นไป ดินก็พอกขึ้นไป

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราจมกับความรู้สึกเราอย่างนี้ เราชินชาอย่างนี้ มันไม่เห็นภัย ถ้าคนเห็นภัยนะ เวลาเราประกอบสัมมาอาชีวะทางโลก มันมีแรงเสียดสีนะ ยิ่งเป็นข้าราชการมีเจ้านาย ถ้าเจอเจ้านายไม่ดีนะทุกข์มากเลย เจ้านายบีบคั้น แล้วทำสิ่งต่างๆ ทางโลกนะมันมีผลประโยชน์ เพราะอะไร เพราะเรามีหน้าที่รับผิดชอบ รับผิดชอบปากท้องของเรา รับผิดชอบครอบครัวของเรา รับผิดชอบพ่อแม่ของเรา เราจะตัดสินใจด้วยตัวเองไม่ได้เลย เราไม่พอใจสิ่งใดๆ เราก็ต้องอดทนอดกลั้น เพราะเรามีหน้าที่รับผิดชอบ ถ้าเราไปเจอจนตรอกอย่างนั้น มันก็เป็นชีวิตอย่างนั้นนะ

เวลาอายุมากขึ้น แก่เฒ่ามากขึ้น เวลาพ่อแม่ คนรัก คนใกล้ชิดต้องพลัดพรากจากกัน มันจะมีความเสียใจนะ สิ่งที่รักพลัดพรากจากไปมันจะมีความเสียอกเสียใจ น้ำตาจะไหลพรากอยู่กับโลกเขาอย่างนั้น แต่ขณะที่เราออกบวช เราเป็นนักรับ รบ.. ไม่ได้รบกับอะไรเลย รบกับความเคยชินในหัวใจ รบกับความหมักหมมของใจ ใจมันหมักหมม มันคุ้นชินกับความรู้สึกอย่างนี้ มันไม่ตื่นตัว มันไม่เห็นภัย ถ้าคนมันเห็นภัยนะ มันจะตื่นตัวตลอดเวลา

การจะทำอะไรของเรา หมดเวลานี่มันเป็นเรื่องของส่วนรวม ถือเป็นข้อวัตร ถึงเวลาข้อวัตรต้องเป็นตามนั้นเลย เพราะอะไร? เพราะเราอยู่กับส่วนรวม ส่วนรวมเขามาพร้อมกัน เขาไปพร้อมกัน เพราะเราคนเดียวจะไปเป็นภาระเขาไม่ได้ เวลาเก็บกวาดสิ่งต่างๆ ถ้าเราเสร็จพร้อมกันมันจะเป็นความพอดี ถ้าเราไปช้ากว่า - เร็วกว่า สิ่งที่ช้ากว่ามันเป็นภาระเขา ถ้าเร็วกว่าเราไปช่วยเหลือเขา เราไปช่วยเหลือเขาสิ่งนั้นเป็นประโยชน์นะ ถ้าเราไปขวางเขาสิ่งนั้นไม่เป็นประโยชน์ นี่สังคมเป็นอย่างนั้น ถ้าข้อวัตรปฏิบัติเราต้องทำให้เป็นส่วนรวม

แต่ถ้ากับตัวเราเองเราจะต้องมีการตรวจสอบตลอดเวลา เราจะไม่คุ้นชินกับความรู้สึกของเรานะ ถ้าความรู้สึกของเรามันคุ้นชินเพราะอะไร แม้แต่ทางโลก เขาบอกว่า “ไปนั่งบ้านใครอย่านั่งนาน เจ้าของบ้านเขาเบื่อ เขาต้องมาต้อนรับเรา” เราไปเยี่ยมเขา เราไปอยู่กับใครเราต้องเกรงใจเขาเลย แต่นี่กิเลสมันเกรงใจเราไหม? มันเบียดเบียนเรานะ มันเบียดเบียนหัวใจเราเลย

เวลาเราลงอุโบสถสังฆกรรม เวลาสวดทำสังฆกรรม อุโปสถกรณโต กิจของสงฆ์ทำหรือยัง? เวลากิจของสงฆ์นะ การจัดสถานที่ การทำความสะอาด เวลาสวดถึงบุพกิจ บุพกิจนะ กิจของสงฆ์ กิจของการทำอุโบสถ เราทำกันบ้างหรือเปล่า?

ถ้าเราทำ.. สาธุ ภันเต.. สาธุ ภันเต.. เราทำอะไรกัน? ถ้าเราทำสิ่งสภาวะแบบนั้น มันไม่มุสา ถ้าไม่หลอกตัวเองไง “สาธุ ภันเต” เราทำพร้อมกัน แต่ทำแล้วอุโบสถนี่ ผู้สวดต้องสวดอย่างนั้น เสร็จแล้วเป็นความสะอาดของเรา ใจนี้มันสะอาดไหม ถ้าใจมันสะอาด เราเข้าไปที่ไหนมือเราไม่เป็นแผล เราทำอะไรด้วยความองอาจกล้าหาญ ถ้าศีลเราบริสุทธิ์นะ

การธุดงควัตรของเรา ที่ไหนนะ ผีเปรตต่างๆ ไม่เคยกลัวสิ่งใดเลย แต่ถ้าเราไม่บริสุทธิ์แล้วเราก็โลเล วินัย ต้อง..เพราะไม่รู้ โลเลนะนี่มันไม่รู้ ต้อง..เพราะผิด ทำผิดวินัย ต้อง..เพราะผิด ทำผิดวินัย ต้อง..เพราะลังเลสงสัยแล้วทำ ถ้ามันไม่ทำอะไรเลย มันไม่เข้าใจอะไรเลย มันไม่เข้าใจอะไรเลยมันก็โลเล มันก็ไม่รู้จักอะไรเลย แล้วจะทำอะไรก็ไม่กล้าทำ จะไปในที่ไหนก็ไม่กล้าไป เพราะมันเป็นความหมักหมมของใจไง

น้ำทะเลมันพัดสิ่งต่างๆ เข้าฝั่ง ถ้าในธรรมวินัยมันเกิดจากใจของเรา สิ่งลังเลสงสัย ความโลเล เห็นไหม นิวรณธรรม ถ้าเกิดนิวรณ์ การทำสมาธิของเรา กรรมฐาน ถ้าฐานของความคิดออกมาจากสิ่งที่บริสุทธิ์ นี่ปัญญาเกิดขึ้นมันจะเป็นสัมมาสมาธิ เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นสัมมาปัญญา

แต่ถ้ามันออกมาจากความโลเล เริ่มต้นรากฐาน “กรรมฐาน” ฐานอันนี้มันคลอนแคลน ฐานอันนี้มันไม่ตั้งมั่น เวลาความคิดออกมามันจะจริงหรือ? มันจะเป็นไปได้หรือ? แล้วมันทุกข์จริงไหม? มันทุกข์น่ะจริงไหม เวลามันเป็นไปในหัวใจนี่มันจริงไหม? มันจริงทั้งนั้นเลย มันจริงเพราะอะไร เพราะเรารู้สึก แต่เวลาจะทำอะไรเราไม่กล้าทำอะไรเลย เพราะไฟในตัวเรามันไม่เข้มแข็ง มันไม่เป็นความจริง

ถ้ามันเข้มแข็งนะ ความเข้มแข็งมันต้องติดด้วยปัญญา

“ความเข้มแข็ง” เข้มแข็งในอะไร? เข้มแข็งในทรมานตนไง เข้มแข็งในสิ่งที่มันจะทำความผิดแล้วไม่ยอมทำไง เข้มแข็งที่มันจะทำสิ่งชั่วแต่ไม่ยอมทำไง สติยับยั้งมันไว้ ถ้ามันจะดื้อ มันจะเป็นไป เราก็ยับยั้งมันไว้ ถ้าสิ่งที่ดีเราต้องมีคันเร่ง เดินจงกรม เห็นไหม แหม สมาธิมันกำลังจะเต็มที่นะ มันกำลังลงนะ มันกำลังสบายๆ มันกำลังจะเป็นไป ..ทำไมเราไม่ตั้งสติให้ดีๆ ล่ะ ทำไมเราไม่จงใจทำให้ดีๆ ขึ้นไปล่ะ คันเร่งมันมีอย่างนี้ไง

ถ้าขณะที่เราทำความสงบของใจ ถ้าฐานมันตั้งมั่นนะ คนเราถ้าจิตมันสงบสักหนสองหนไง จิตมันเข้ามาถึงตัวเราสักทีสองที ไม่ต้องถามใครเลย สมาธิเราเป็นอย่างนี้ ถ้าสมาธิอย่างนี้มันมีความสุขอย่างนี้ ความสุขอย่างนี้มันก็เข้าใจว่าเป็นธรรมะแล้ว

“สภาวธรรม..สภาวธรรม..มากเลย”

“ว่างๆ สบายๆ” ..นี่กรรมฐานก็ไม่ตั้งมั่นแล้ว ว่างๆ สบายๆ แสดงว่าตัวเองสงสัย ถ้าตัวเองไม่สงสัยนะ จิตมันสงบนะ โอ้โฮ.. นี่ความรู้สึก มันดึงใจ ใจมันสักแต่ว่า มันปล่อยหมดเลย เห็นไหม เขาไม่ว่างๆ ว่างๆ

ว่างๆ นะ มันออกมาจากจิตที่ลังเลสงสัยแล้ว แต่ถ้ามันเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น เพราะจิตมันเข้าไปสัมผัส นี่ฐานที่ตั้ง “ฐีติจิต” จิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้มันจะเข้าถึงอัปปนาสติ ถ้าจิตมันถึงฐานของมันไม่ถามใครจริงๆ นะ รู้อันนี้ รู้ไว้ในหัวใจของเรา แล้วสิ่งที่เคยสัมผัสเราเข้าได้ลึกขนาดไหน แต่เราเข้าถึงไม่ถึงลึกขนาดนั้น สิ่งนี้จะฝังใจเราตลอดไป

สิ่งที่ฝังใจเรา ทั้งๆ ที่อยู่กับใจเรา นี่เป็นสมบัติในหัวใจของเราเหมือนกับของอยู่ในที่ของเราแล้วเราไปค้นเจอ มันอยู่กับเรา ถ้าเราตั้งสมาธิ เราตั้งสติเข้าไป กำหนดพุทโธเป็นคำบริกรรม แล้วมีสติเข้าไป มันก็ค้นมาจากใจ ค้นมาจากหัวใจของเรา นี่มันอยู่กับเรา แต่เราไม่เคยเจอมัน เพราะเราไม่จริงจัง เราไม่ทำอะไร

ไฟอ่อน ไม่เห็นโทษ ไม่เห็นภัย ไม่เห็นอะไรทั้งสิ้น สมบัติจากนอก สมบัติจากในก็ไม่เข้าใจ อยู่ไปวันๆ นะ ถ้าอยู่ไปวันๆ น่ะคนหมดไฟนะ ถ้าคนหมดไฟ ถ้ามีครูบาอาจารย์กระตุ้น มันจะเกิดความองอาจกล้าหาญนะ องอาจกล้าหาญในความเพียรชอบ ไม่ต้องไปหาที่ไหน เวลาเขาจุดไฟกัน เวลาหนาวเขาจะจุดไฟผิงกันเขากันหนาว มันร้อนมันก็ทำให้เราอบอุ่นขึ้นมา ถ้าเราไปหาความอบอุ่น ไปหาจากข้างนอก สิ่งนั้นมันเป็นเรื่องฤดูกาลมันเปลี่ยนแปลง เวลาหน้าร้อนมันร้อนมาก เราอยากหาความร่มเย็น เวลาหน้าหนาวเราก็อยากหาความอบอุ่น แล้วก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นี่ฤดูกาลนะ แต่อารมณ์ความรู้สึกของเรามันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราจะไปหาที่ไหน

แต่ถ้าเราเข้ามา ผ่านจากกำแพงการกีดกั้นของขันธ์ “สัญญา” สัญญาความจำได้หมายรู้ สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง อย่างนี้ ถ้าเรากำหนดคำบริกรรม เอาสิ่งนี้แหละ เอาสิ่งที่มันเป็นอาวุธดาบสองคมนี่ คมนี้มันบาดเราเพราะอะไร? เพราะมันไปยึดหมดเลย รูป รส กลิ่น เสียงจากข้างนอก เขาไม่ให้โทษเราเลย คือธรรมชาติของมันเป็นอยู่อย่างนั้น แต่เราไม่พอใจกับพอใจ พอใจนี่ก็เป็นสิ่งที่เห็นชอบ ไม่พอใจเราก็ปฏิเสธสิ่งที่เราไม่พอใจ เราไปพอใจนี่บ่วงของมาร พอใจและไม่พอใจ พอพอใจแล้วมันก็ชอบ มันก็รัก รักแล้วปรารถนามันก็ให้ผลเป็นทุกข์ เราก็ต้องดิ้นรนไปหามัน ถ้าเรามีสติเรายับยั้งสิ่งนี้ นี่เข้มแข็งกับตรงนี้ เข้มแข็งกับใจของเรา

เรื่องของคนอื่นนะ นี่ความเพียรของเขา การกระทำของเขา มันเป็นเรื่องของเขานะ กรรมก็กรรมของเขา ถ้าเขาทำแล้วเขาถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์ก็เป็นผลบุญของเขา เขาทำความสงบของใจเข้ามาก็เป็นบุญของเขา เรานี่ได้แต่ฟังนะ ฟังแล้วเอามาเป็นเครื่องเตือนใจ ข่าวของคนอื่นไง ข่าวของเรานะ ทุกข์ก็ทุกข์ของเรา ในหัวใจของเรานี่มันเป็นเรื่องของเรา ถ้าเรื่องของเรา เราถึงต้องมีคำบริกรรม เพราะคำบริกรรมมันเป็นจุดยืน เวลามันมีเหตุ เกิดเหตุวิกฤต เกิดเหตุต่างๆ ขึ้นมามันมีที่พักที่อาศัย มีที่เกาะ

ถ้ามีที่เกาะ เราไปเรือแตกกลางทะเล มีซากศพหมู่คณะที่ไปด้วยกันแล้วตาย เรายังต้องเกาะซากศพไว้เพื่อดำรงชีวิตเลย ถ้าเราต้องทรงตัวอยู่ในน้ำนี่เราต้องออกแรงตลอดไป เดี๋ยวเราก็หมดกำลัง เดี๋ยวเราก็จะตาย นี่ซากศพนี่ที่มาด้วยกันแล้วเรือแตก นี่เขาตายแล้ว แล้วลอยทับมาเจอกัน เราต้องเกาะไปก่อน เกาะไปนี่มันพยุงให้เราไม่ต้องออกกำลังมาก อย่างน้อยเราก็ได้ดำรงชีวิตยาวขึ้น แล้วเกิดถ้าเราเอาตัวเองรอดเข้าเกาะหรือหาฝั่งได้ หรือมีเรือลำใดมาช่วยเหลือเรา เราจะรอดชีวิตได้

คำบริกรรมก็เหมือนกัน เขาว่า “คำบริกรรมพุทโธไม่สำคัญ อะไรก็ไม่สำคัญนะ”

นี่เรามีความชำนาญมาก คนที่มีความชำนาญ ชำนาญในวสี กำหนดเฉยๆ นี่ทำได้ แต่เริ่มต้นใครจะกำหนดเฉยๆ คนที่มีความชำนาญ คนที่กำหนดชำนาญในวสีอีกเรื่องหนึ่ง คนที่ยังทำไม่ได้เริ่มต้นต้องมีคำบริกรรมก่อน นี่ซากศพก็เกาะไป พุทโธ พุทโธ นี่เกาะไปก่อน เกาะสิ่งนี้ไป เกาะไป ถ้าจิตมันมีกำลังเข้ามา จิตมีกำลังเข้ามา เกาะเขานี่แหละ ตัวเองจะมีกำลังขึ้นมา เกาะเขานี่แหละ ตัวเองจะมีจุดยืนขึ้นมา

แต่ถ้าไม่เกาะสิ่งใดเลย ซากศพขยะแขยง สิ่งนี้ไม่มีคุณค่า ไม่จับสิ่งใดเลย แล้วพยายามทรงตัวอยู่ในน้ำนะ เดี๋ยวมันก็จะหมดกำลัง เดี๋ยวจิตดวงนี้มันก็จะโลเล มันไม่มีจุดยืนไง ต้องมีจุดยืน มีคำบริกรรมก่อน เกาะคำบริกรรมนี้เข้าไว้ แล้วตั้งสติไว้ เดี๋ยวรู้เอง เดี๋ยวจะรู้เองว่าจิตนี่เวลาถ้ามันสงบเข้ามา มันสงบเข้ามาอย่างไร นี่คำบริกรรมทิ้งไม่ได้ ถ้าเรามีจุดยืนอย่างนี้นะ

เว้นไว้แต่คนที่พยายามบริกรรม เราบริกรรมพุทโธ พุทโธ แล้วมันมีความรู้สึก มันมีแรงเสียดทานต่างๆ นี่มันสุดวิสัย ต้องทดสอบจนสุดวิสัยนะ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ความคิด ความคิดปัญญาที่มันให้โทษเรานี่ ดาบสองคมนี่ ที่ว่าเป็นบุญๆ อยู่นี่ ที่การปฏิบัติอยู่นี่มันจะให้โทษเรา ให้โทษตรงไหน ให้โทษว่านี่ทำแล้วก็ไม่ได้ผล โน่นก็ไม่เป็นประโยชน์ นี่ก็ไม่เป็นไร เห็นไหม กิเลสมันจะว่าอย่างนั้น นี่สิ่งนี้เป็นสมมุติ สิ่งนี้เป็นสมมุติ เราจะปฏิบัติธรรม แล้วสิ่งที่เป็นสมมุติเราไม่สนใจมันเลย นี่เดี๋ยวก็ไปตาย ไปตายข้างหน้านั่นแหละ เพราะอะไร เพราะเริ่มต้น เด็กมันไม่มีจุดยืนเลย ไม่มีกำลังเลย

ถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธินะ เราตั้งสติไว้เลย อะไรที่มันคิดขึ้นมา ในข้อวัตรปฏิบัติเรา ในการกระทำของหมู่คณะ สิ่งใดที่ไม่ดี ไม่ดีไม่มีใคร เขารับรู้อะไรกับเราไหม มันไม่ดีของเขาใช่ไหม ถ้ามันไม่ดีของเขา ในอาวาสๆ หนึ่งต้องมีเจ้าอาวาส ต้องมีผู้นำ ทำไมเราไม่เอาเรื่องนี้ไปบอกผู้นำ มันเป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง มันเป็นหน้าที่ของเรา

สิ่งนั้นเราต้องเห็นโทษสิ เขาทำเอง ทำไมเขาไม่เห็นโทษ เราไม่ได้เป็นผู้กระทำ เรายังเห็นโทษเลย ถ้าเห็นโทษสิ่งนั้นดีไหม ถ้าสิ่งนั้นไม่ดี ทำไมเราไม่ย้อนไปดูใจเรา เราอย่าทำอย่างนี้อีกนะ นี่กิริยาอย่างนี้ การกระทำอย่างนี้เราทำไม่ได้! เพราะทำไปแล้วมันไปเบียดเบียนคนอื่น เพราะเขาทำเองเขาไม่รู้ แต่เราเป็นคนดูเรารู้ ถ้าเรารู้สิ่งนี้เราทำทำไม เราทำไม่ได้ใช่ไหม นี่ปัญญามันจะหมุนอย่างนี้ มันจะเห็นโทษ ถ้าเห็นโทษ นี่ปัญญาอบรมสมาธิ

พอเห็นโทษปั๊บนี่ มันเป็นสิ่งที่ไม่ดี เขาทำเอง เขาว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เขาทำเองเขายังไม่รู้ตัวเลย เราเห็นเป็นคนเห็นว่าสิ่งนั้นไม่ดี เราเห็นโทษของเรา เราเห็นโทษของเขา แล้วใจของเราล่ะ มันเป็นเรื่องของเขาหรือเรื่องของเรา ถ้าเรื่องของเรา เราเห็นแล้วเราไม่ทำ เราก็เป็นคนดีขึ้น เราจะเห็นจุดยืนของเรา

“ปัญญาอบรมสมาธิ” ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญามันใคร่ครวญเข้าไปที่สุด ถึงเท่าไหร่แล้วนี่มันจะปล่อยวาง..ปล่อยวางเข้ามา

การปล่อยวางหมายถึงว่า รถถ้าเราใส่เกียร์ รถเราติดเครื่องแล้วอยู่ในเกียร์ เราเหยียบคันเร่ง รถจะวิ่งทันทีเลย แต่ถ้าเราปลดเกียร์ว่าง พอเราปลดเกียร์ว่างได้ คันเร่งเราเหยียบเท่าไรรถมันก็วิ่งไปไม่ได้ นี่ปัญญาอบรมสมาธิเป็นอย่างนี้ เพราะความคิดมันลากให้เราทุกข์ คนนั้นทำไม่ดี คนนั้นทำผิดพลาด คนนั้นทำไมทำอย่างนี้ นี่เราก็ไม่ควรทำอย่างนั้น มันอยู่ในเกียร์ ความคิดมันเร่ง จิตมันเร่งขึ้นมา อารมณ์มันก็หมุนตามไป พอตามไป พอรถมันวิ่งไปมันก็ชนดับไปเลย อารมณ์ความรู้สึกมันชนดับไปเลย นี่ถ้าปัญญามันไล่เข้าไปอย่างนั้น

ถ้าเรารู้ทันปั๊บ มันปลดเกียร์ว่าง พอปลดเกียร์ว่าง มันเรื่องของเขา คันเร่งเร่งเท่าไรนะรถมันก็ไม่เดิน นี่มันถึงกระทบ หมู่คณะเป็นสภาวะแบบนั้น จิตมันไม่มีอารมณ์ความรู้สึกไปกับเขาไง มันสังเวชด้วยนะ นี่ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ พอมันเข้าใจขึ้นมามันจะปล่อย ปล่อยความเห็นต่างๆ มันเห็นแล้วมันสลดสังเวช

การสลดสังเวชนี่ธรรมสังเวช การปลงธรรมะ ปลงธรรม เราได้พิจารณาธรรมโดยปัญญาอบรมสมาธิ เพราะเราพิจารณาโดยปัญญาของเรา ปัญญานี้เป็นโลกียปัญญา ปัญญาสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นโลกียปัญญา มันใช้ปัญญาอย่างนี้พิจารณาไป มันไม่ใช่วิปัสสนา มันเป็นโลกียปัญญา ถ้าโลกียปัญญามันหมุนไปอย่างนี้แล้วพอมันปล่อยมา..มันปล่อยมา.. มันก็เป็นกรรมฐาน กรรมฐานเพราะมันสงบเข้ามาไง มันปล่อยวางเข้าบ่อยครั้ง นี่ถ้าปัญญาอบรมสมาธิเป็นอย่างนี้

ถ้าเรากำหนดจุดยืนของเราไม่ได้ด้วยคำบริกรรม สิ่งที่เป็นคำบริกรรม ถ้าเรามีคำบริกรรม เรามีสติไป พุทโธ พุทโธ นี่เรายืนอยู่บนแผ่นดิน สรรพสิ่งในโลกมันสร้างทุกอย่าง ทุกสิ่งก่อสร้างมันจะสร้างอยู่บนแผ่นดิน ถ้ามันจะไปสร้างบนอากาศ มันก็ต้องออกไปจากแรงดึงดูดของโลกเลย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิมันเหมือนออกไปแรงดึงดูดของโลก มันเป็นปัญญา มันเป็นความคิดไง แต่ถ้าเป็นพุทโธ พุทโธ เราทำงานบนดิน สิ่งนี้มันเป็นกรรมฐาน ๔๐ ห้อง ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ให้พวกเรามีช่องทางก้าวเดินนะ

จิตปกติของปุถุชน ความคิดของจิตปกติปุถุชน มันคิดโดยความรู้สึกของเรา ความรู้สึกของเรามันมาจากอวิชชา อวิชชา เห็นไหม อวิชชาคือความไม่รู้จริง บอกอวิชชาคือความไม่รู้ ไม่รู้คือคนนอนหลับสิ คนนอนหลับมันไม่รู้เรื่อง มันนอนหลับ แต่นี่จิตมันไม่ได้หลับ จิตมันรู้ มันคิดของมันตลอดเวลา แต่ความคิดอย่างนี้มันเป็นความคิดของเรา เป็นความคิดของกิเลสไง แม้แต่ปลงธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างนี้มันก็เป็นความคิดของกิเลส เพราะมันมีเราอยู่ไง ถ้ามันคิดไปโดยปัญญาอบรมสมาธิมันแค่สมถะเท่านั้นเอง

แต่เพราะเราไม่รู้ เราเข้าใจสภาวะของเราไป มันก็หมุนของเราไป.. ถ้าเราทำบ่อยครั้งเข้า เราใช้สันทิฏฐิโก สันทิฏฐิโกคือความสัมผัสของจิต จิตนี่มันสัมผัส พอมันคิดอย่างนี้ มันปล่อยวางอย่างนี้ เราจับอย่างนี้แล้วพิสูจน์เข้ามา แล้วไต่สวนกับจิต ไต่สวนกับความรู้สึกของเรา เราทำอย่างนี้บ่อยครั้งเข้าๆ สิ่งนี้มันจะประสบกับความรู้สึกของเรา แล้วมันจะเข้ามาจากความรู้สึกของเรา ถ้ามีครูมีอาจารย์คอยตรวจสอบสิ่งนี้เพราะมันไม่เสียเวลา แต่ถ้าทำเองนะ ทำเองมันเสียเวลามากเพราะอะไร เพราะสิ่งที่มันเกิดขึ้นมาเรารู้ไปหมด

สิ่งที่เรารู้นี่ รู้จริง เห็นจริง สัมผัสจริงได้หมดเลย แต่ความเห็นไม่จริงเพราะมีกิเลส คนมีกิเลสอยู่นะ เพราะกิเลสมันมีส่วนผสมอยู่ มันมีสิ่งผสมอยู่ เหมือนกับคนเป็นไข้แล้วมันมีโรคภัยไข้เจ็บอยู่ในตัว แล้วของแสลงเวลากินเข้าไปมันแสดงอาการ แต่เราก็ไม่รู้ เราก็กินโดยปกติของเรา ร่างกายปกติเราก็กินอาหารนี้ก็ปกติ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็กินปกติ เพราะเราไม่มีประสบการณ์ไง จนกว่าไข้มันจะกำเริบ แล้วเราก็ค่อยมาพิจารณาของเรา อ๋อ.. เพราะเป็นอย่างนั้น กว่าเราจะรู้นะ มันก็ไข้ไปแล้วนะ เราต้องไปแก้ไข้ของเรา มีครูมีอาจารย์คอยตรวจสอบ สิ่งนี้เพราะครูบาอาจารย์เคยผ่านมา ของเคยผ่านมานะ ถ้าของไม่เคยทำไม่เคยผ่านจะเอาอะไรมาพูด สิ่งที่พูดออกมามันพูดจากประสบการณ์ออกมา

เหมือนพ่อแม่เราเลย พ่อแม่นะโตมาก่อน จริงอยู่ พ่อแม่เรานี่มีการศึกษาน้อยกว่าเราก็ได้ แต่ชีวิตของพ่อแม่เราก็ผ่านโลกมาเยอะเหมือนกัน สิ่งที่พ่อแม่สั่งสอน สิ่งต่างๆ มันมีคุณประโยชน์ ถ้ามีคุณประโยชน์อย่างนั้น เราโตขึ้นไปเป็นพอประสบการณ์เราเป็นอย่างนั้น เราก็จะเห็นสภาวะแบบนั้น สิ่งนี้มันเป็นการงานของสมณะ

ถ้าเป็นงานของสมณะนะ นี่งานจากภายใน ถ้างานของสมณะเห็นไหม ในวิสุทธิมรรค ไม่ไปวัดสร้างใหม่ ไม่ไปแหล่งน้ำ ไม่ไปที่ที่ต้นที่มีผลไม้ เพราะนกกา คนเขาไปหาผลไม้ นั่นมันเป็นสิ่งที่เราแสวงหา ถ้าเราสร้างที่อยู่อาศัย จบแล้วก็คือจบ สิ่งที่ยังไม่จบคือหน้าที่การงานจากภายนอก ถ้ามันเป็นธรรมต้องเป็นงานภายใน แล้วงานภายนอกเราไม่ต้องทำเลย ใช่ ไม่ต้องทำเลย ถ้างานมันจบแล้ว

แต่ในเมื่อขณะที่เราออกมาเพื่อจะก่อร่างสร้างตัวกันอย่างนี้ ไอ้เรื่องงานภายนอกก็เป็นงานภายนอก งานภายนอกเราใช้ร่างกายทำ ใช้หัวคิดบ้าง แต่งานภายในนะ ร่างกายนี่แค่ยืน เดิน นั่ง นอน แต่ปัญญามันหมุนอยู่ข้างใน แม้แต่นั่งอยู่นะ นั่งอยู่เฉยๆ ปัญญามันจะหมุนอยู่ข้างใน

งานของสมณะ สร้างธรรมจักร ถ้าธรรมจักรนะจักรมันเคลื่อน ปัญญามันเคลื่อนนะ ทำความสงบของใจ ถ้ามันสงบเข้ามานี่น้ำล้นแก้ว น้ำเต็มแก้วแล้วแค่นั้น เติมเท่าไรก็ล้น สมาธิมันมีแค่นั้นแหละ แค่ถึงที่สุดแล้วอัปปนาสมาธิ สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่ารู้แล้วถ้าเกิดจิตมันมีอำนาจวาสนา มันเห็นแสง เห็นต่างๆ เห็นความว่างนะ แล้วก็เข้าใจว่านี่คือผล นี่ไปติดนะ แต่ขั้นตอนของปัญญานะไม่มีขอบเขตเลย ขั้นของปัญญา เพราะจริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน จริตนิสัยของคน อำนาจวาสนาของคนไม่เหมือนกัน

การเริ่มต้นตั้งแต่โจทย์ เห็นไหม ตั้งโจทย์ กาย เวทนา จิต ธรรม กายอย่างเดียวนี่มันยังมีกายนอก กายใน กายในกาย มันมีกายหลายชั้นมาก เพราะหลวงปู่เจี๊ยะท่านพิจารณากายอย่างเดียว ท่านถึงเป็นพระอรหันต์ได้ ครูบาอาจารย์บางองค์พิจารณาจิตอย่างเดียว อย่างครูบาอาจารย์พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม แต่ละอย่างแต่ละขั้นตอนไม่ปะปนกัน อย่างเดียวจบ จบอันเดียวกันอย่างนั้น มันขยายได้กว้างขวางมากเลย เรื่องขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขตเลย เพราะว่ามันตื้น ลึกซึ้ง หยาบ หนาต่างกันมหาศาลเลย

ขณะที่ปัญญามันจะออกก้าวเดินโดยมีฐานที่สมาธิรองรับ ถ้าไม่มีฐานสมาธิรองรับ มันจะเป็นโลกียปัญญาทั้งหมดเลย ฉะนั้นเราถึงต้องหากรรมฐาน ฐานที่ตั้งนี่ ฐานที่ตั้งมันจะพัดซากศพไง พัดสิ่งเศร้าหมอง พัดสิ่งที่เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยากขึ้นฝั่ง

ถ้าเราเข้าถึงฐาน เราทำความสงบของใจเข้ามา แล้วเราพยายามวิปัสสนาย้อนไป กาย เวทนา จิต ธรรม แล้วถ้าปัญญามันเกิด ปัญญามันเกิดหมายถึงว่าเราน้อมไป ถ้าจิตมันสงบน้อมไปนะ น้อมไป ถ้าคนมีอำนาจวาสนาจิตสงบปั๊บ มันจะเห็นกายนะ นี่ดีมากเลย พอจิตมันสงบ เห็นแว็บ เห็นเป็นปอด เป็นกระดูก เป็นกะโหลก เห็นแว็บเดียว ขณะที่เห็นแว็บเดียวมันจะสะเทือนกิเลสมาก สะเทือนถึงความรู้สึกมาก มันจะขนพอง จะตื่นเต้นมากเลย แต่! แต่แว็บเดียว เพราะอะไร? เพราะฐานไม่แน่น ฐานใช้ไม่ได้ ถ้าฐานไม่ได้เราจะตามสิ่งนี้ไปมันจะไม่ได้ประโยชน์ นั่นล่ะเห็นอย่างนั้น ถ้าเห็นอย่างนั้นถือว่าเห็นกาย

ถ้าเห็นกายอย่างนั้นก็จับได้แล้ววิปัสสนาได้ นั่นเป็นวิปัสสนา! แต่ถ้ายังเห็นโดยสัญญา เห็นโดยการคาดหมาย เห็นไหม เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เห็นเกสา นี่ลอกหนังออก เห็นเนื้อ เห็นหนัง สิ่งที่นี้เป็นสัญญา

ถ้าจิตมันเริ่มวิปัสสนา จิตที่เริ่มทำกรรมฐาน ถ้าเรา พุทโธ พุทโธ บางทีมันเครียด มันเบื่อหน่าย เราใช้ปัญญาอย่างนี้ได้ ปัญญาที่เป็นโลกียปัญญา โลกียปัญญาคือปัญญาโดยสังขาร ปัญญา โดยสัญญา ปัญญาคือข้อมูลจากกิเลส แต่ถ้าเราพยายามโดยขัดเกลา สิ่งนี้เราเป็นอุบายวิธีการแหวกเข้าไปหาจิตไง สิ่งนี้ทำได้หมดแหละ เพียงแต่ว่าทำได้แล้วว่าสิ่งนี้มันเป็นการสิ้นสุดของมัน คือสมถะทั้งหมด

แต่ถ้าจิตมันสงบ เห็นกายจริงๆ นะ มันสะเทือนกิเลส การสะเทือนกิเลสนี่พอมันแว็บเดียวนี่มันทำไม่ได้ นักปฏิบัติส่วนใหญ่จะไปจนตรอกตรงนี้ มันจะก้าวเดินไปอีกไม่ได้ เพราะอะไร เพราะมันทำอีกไม่ได้เลย จะทำสมาธิ จะทำความสงบมันก็ทำไม่ได้ เพราะเหตุไม่พอบ้าง ศรัทธาเสื่อมบ้าง ทำไปแล้วมันต้องออกแรงบ้าง มันก็ขี้เกียจ มันก็ทำไม่ได้ เป็นคนหมดไฟไง คนหมดไฟ คนทำสักแต่ว่า คนนอนแช่ นี่มันต้องสลัดนะ สลัดความรู้สึกอย่างนี้ทิ้ง เพราะอะไร?

ดูสิ ดูจีวรเรานี่ เราซักทุกปักษ์เลย เราซัก เราทำความสะอาด เราย้อมอยู่ตลอดเลย แม้แต่ผ้าที่ใช้มันยังสกปรก เรายังต้องซักต้องย้อมอยู่ตลอดเวลาเลย แล้วหัวใจเวลามันมีประสบการณ์อะไรเข้าไปแล้วมันไปหมักหมม มันไปนอนแช่อยู่อย่างนั้น ทำไมเราไม่สะบัดมันทิ้งล่ะ เราสะบัดมันทิ้ง ตั้งต้นใหม่ ตั้งสัจจะใหม่ ตั้งสติใหม่ ทำใหม่ เริ่มต้นกันใหม่ แล้วพยายามตั้งสัจจะ แล้วพยายามทำให้ได้ นี่เราสลัดมันทิ้งสิ สิ่งที่สกปรกยังซักออกได้เลย แล้วหัวใจอย่างนี้ ทำไมไม่ทำ ทำไมไม่ทำ ไม่เห็นภัยเหรอ? จะกลับมาเกิดอีกเหรอ? จะต้องมาเกิดมาตายอย่างนี้อีกใช่ไหม?

เกิดมาแล้วก็จะมาบวชซ้ำ ก็ปรารถนาพุทธภูมิ ก็เกิดตายนี่สร้างบารมี ก็อยากจะเป็นพระพุทธเจ้า กิเลสมันก็อ้างไปโน้น เวลาจะทำคุณงามความดีกิเลสมันก็ต่อรองนะ เวลากิเลสมันต่อรองมันไม่ต้องอ้าปากเลย เราอ้าปากต่อรองนะ อ้าปากพูดตลอดเวลานะ กิเลสมันไม่ต้องอ้าปากเลย มันคิดในหัวใจนะ ล้มแผละ ล้มแผละ ยอมจำนนกับมันหมดเลย นี่เพราะเราไม่เห็นภัย เพราะเราไม่เห็นภัยนะ

ตอนนี้เรานั่งอยู่ในหม้อกระทะทองแดงนะ ภพชาตินี้ ชีวิตนี้ ในร่างกายหายใจอยู่ อาหารกินอยู่ทุกวัน นี่ก็หายใจนี่เผาผลาญ เห็นไหม ธาตุไฟเผาผลาญร่างกายตลอดวัน เพียงแต่ว่าปกตินี้มันยังไม่มีโรค มันยังไม่แสดงอาการ เดี๋ยวเวลามันเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาจะรู้จักมันอยู่ นี่นึกว่าร่างกายมันจะให้ประโยชน์กันเรา เราอยู่สุขสบาย กินอิ่มนอนอุ่น เรายังขับเคลื่อนได้ ยังมีความสุข เดี๋ยวเวลาเดินไม่ได้ เวลาแก่ขึ้นมาแล้วจะรู้สึกตัว เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาแล้วจะรู้สึกตัวนะ นี่มันประมาทนอนใจไง เราประมาทนอนใจกับชีวิตนะ เราประมาทนอนใจกับเพศของเรานะ

ดูสิ บวชมาเป็นนักรบ บวชมาในพุทธศาสนา พุทธศาสนาเขาก็พร้อม เขาก็ส่งเสริม ปัจจัยเครื่องอาศัยที่ไหนจะให้เราไปหาเอง เขาส่งเสริมตลอดเวลา เพราะเขาก็อยากมีบุญกุศลกับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ แล้วเราประพฤติปฏิบัติ เราจะมานอนแช่อยู่กับไอ้ความหมดไฟอย่างนี้ ไอ้ความไม่เห็นภัยกับหัวใจอย่างนี้ ก็ให้มันหมักหมมอยู่อย่างนี้น่ะเหรอ

มันต้องสลัดมันทิ้งไป! แล้วเริ่มต้นของเราตลอดเวลา ล้มก็ลุกใหม่ ล้มก็ลุกใหม่ “ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน” คนบวชแล้วสึก สึกแล้วบวช เขายังทำได้เลย แล้วขนาดเรามีอารมณ์ในหัวใจ ทำไมจะสู้มันไม่ได้ ทำไมจะไม่รบกับมัน ทำไมจะทำไม่ได้ ถ้าทำได้ขึ้นมา มันก็มีกำลังใจขึ้นมา มันทำได้! คนจะทำนี่มันทำได้ แต่มันไปนอนจมเอง มันไปยอมแพ้เอง คนไปยอมแพ้เอง

ถ้าการศึกมันแพ้มาจากข้างใน กองทัพจะดีขนาดไหนก็แล้วแต่ ถ้าในเมืองนั้น ในกองทัพนั้นมีไส้ศึกมาก ไม่มีการร่วมมือกัน ก็แพ้วันยังค่ำ มันทำให้กองทัพนั้นต้องล่มสลายไป

หัวใจของเราก็เหมือนกัน มรรคญาณที่มันจะก้าวเดินออกมานะ ความดีความชอบ งานชอบ ดำริชอบ สติชอบ สมาธิชอบ นี่มรรค ๘ นี่กองทัพธรรมจักรที่จะเคลื่อนไปฆ่ากิเลส มันโดนกิเลสเสี้ยมอยู่นี่ มันทำลายอยู่ข้างใน แล้วก็ยอมแพ้มันหมดเลย แล้วก็ตายอยู่กับกิเลสอย่างนี้ แล้วจะเอาอะไรไปสู้มัน ไม่มีใครเป็นโทษกับเราเลย

เวลาเรามองคนอื่น คนโน้นไม่ดี คนนี้ไม่ดี แล้วไอ้กิเลสที่มันไม่ดีทำไมไม่พูดถึงมัน ไอ้ที่มันอยู่ในใจทำไมไม่สู้มัน ถ้าไม่สู้มัน สู้มันขึ้นมาแล้วถ้ามันสะอาดขึ้นมา ถ้าใจดวงนี้สะอาดนะ มันสะอาดขึ้นมามันรู้หมดนะ เพราะสรรพสิ่ง เห็นไหม ใจเหมือนกัน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมา สิ่งนี้สะอาดบริสุทธิ์แล้วเมตตามาก เมตตาสั่งสอนมาก สัตว์โลก เห็นไหม รื้อสัตว์ขนสัตว์ สัตว์ที่มีสัตตะเป็นผู้ข้อง แล้วเราสัตตะเราก็ข้องในหัวใจเรา นี่ออกมาจากใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้น.. เหมือนกับผ้า จีวรด้วยกัน เราก็จีวรเหมือนกันหมด เวลาซักจีวรใครจีวรใครก็ย้อมสีเหมือนกันหมด จีวรก็คือจีวรเหมือนกัน นี่ตัดจากผ้าไม้เดียวกัน นี่คนละผืน ถึงเวลาก็ใช้ด้วยกัน

ใจก็เหมือนกัน ใจก็เหมือนผ้า ใจเหมือนกัน สกปรกเหมือนกัน ซักได้เหมือนกัน สะอาดได้เหมือนกัน แต่จะซักหรือไม่ซักไง จะทำหรือไม่ทำไง เขาซักผ้าในน้ำแก่นขนุน ไอ้เราไปซักในกะละมังเปล่าๆ ไม่มีน้ำไง เราว่าเราซัก เราว่าเราซัก แล้วมันซักจริงหรือเปล่าล่ะ? นี่มันทำเหมือนกัน แต่ทำไม่เหมือนกันมันก็ไม่ได้ผลน่ะสิ ถ้าทำเหมือนกันโดยเหมือนกัน มันจะไม่ได้ผลไปได้อย่างไร ถ้าไม่ได้ผล เราก็ต้องตั้งใจจงใจของเราไง ถ้าจงใจมันเป็นประโยชน์กับเรานะ

สรรพสิ่งถ้าเรารู้จักเป็นประโยชน์ มันจะเป็นประโยชน์ ถ้าเราไม่เห็นประโยชน์ของมัน เราปฏิเสธนะ มันไม่ทำเลย โน้นก็เล็กน้อย นั่นก็ไม่จำเป็น นั่นก็คนโน้นทำแล้ว ไม่เอาอะไรเลย! แล้วมันจะไปชำระกิเลสตรงไหน มันมีแต่สะสม มีแต่กองอยู่ในหัวใจ คนอื่นเขาทำหมดเลย เขาได้หมดเลย ไอ้เราไม่ได้อะไรเลย แต่ว่ากูได้ ก็ไปซักผ้าในกะละมังน้ำที่ไม่มีน้ำเลย ซักอยู่นั่น ไม่มีน้ำเลย ผ้าเขาสะอาด แต่ผ้ากูเหม็นฉิบหายเลย นี่กิเลสทั้งนั้น แล้วจะไปโทษใคร นี่ธรรมะเป็นอย่างนี้ “ธรรมะ”

“อัตตา หิ อัตตโน นาโถ” ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนเป็นผู้แก้ไขตน ตนเท่านั้นนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกแล้วเห็นไหม ผู้ชี้ทาง คนเดินถึงก็ได้ คนเดินไม่ถึงก็ได้ เห็นไหม ดูซักผ้าสิ ผ้าในน้ำ เวลาซักมือ ร้อนไหม ซักผ้าที จุ่มน้ำที มันร้อน ถ้าไปซักผ้าในกะละมังที่ไม่มีน้ำ หรือซักน้ำเย็น ซักน้ำเย็นก็ไม่ได้ น้ำเย็นซักมันก็ไม่สะอาด ทางโลกเขามองกันนะ

เราเคยเป็นอยู่ พระบวชใหม่มาแล้วก็บอกว่าพระพวกนี้โง่ อะไรกัน เอาน้ำร้อนๆ มาแล้วเอามือไปจุ่มกัน เดี๋ยวนี้เขาไม่ซักแล้ว น้ำอย่างนี้เขาไม่ใช้กันหรอก แต่เวลาใช้ประโยชน์แล้วนี่มันเป็นอย่างนั้นไหม นี่เป็นข้อวัตรของเรา ย้อมน้ำฝาดแก่นขนุน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ดำรงชีวิตแบบนี้ แล้วเราทำตามครูบาอาจารย์ของเรา มันผิดตรงไหน โลกนี้โลกเจริญนะ มีเครื่องซักผ้า ซักผ้าได้สะอาดด้วย แล้วไปซักกับมัน ไปซักกับกิเลสเหรอ ทำไมต้องเอาชีวิตเราไปยอมจำนนกับเขา ทำไมชีวิตเราไม่ฝากไว้กับธรรมวินัย ทำไมชีวิตเราไม่ฝากไว้กับพระพุทธเจ้า

เราจะเอาธรรมะ เราไม่ฝากไว้กับพระพุทธเจ้าเราจะฝากไว้กับใคร เวลาธรรมะจะเอาพระพุทธเจ้า เวลาดำรงชีวิตๆ แบบโลก มันกิเลสทั้งนั้น แล้วมันเอาโลกมาทำไม มันเรื่องของกิเลสแล้วเราจะไปเชื่อเขาทำไม

ทุกคนเข้ามาวัดต้องมาคิดอย่างนี้ทั้งนั้น เพราะโลกกับธรรมมันขัดแย้งกันมาก เรื่องของธรรมนี้ทวนกระแสเลย ถ้าเรื่องของโลก เรื่องความดำรงชีวิตของโลก เขาคิดกันอย่างนั้นเลย แล้วเขามาดูพระนี่ พวกนี้ไม่ทำอะไรกันเลย อยู่ว่างๆ มาอยู่มากินเสียประโยชน์ เกิดมาแล้วใช้ปัจจัยอาศัยโดยที่ไม่เป็นประโยชน์ โลกเป็นอย่างนั้น เราไม่เอาโลกเป็นใหญ่ เราเอาธรรมเป็นใหญ่ เอาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง

ธรรมวินัยมันจะพัดซากศพเข้าฝั่งตลอด มันจะพัดความเลวทราม กิเลสตัณหาความทะยานอยากออกจากใจเรา ถ้าเรารู้จักใช้ รู้จักหาประโยชน์ รู้จักใช้นะ รู้จักใช้โดยสัมมา ด้วยสัมมาสมาธิ ด้วยสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง ขณะที่ปัจจุบันกิเลสในหัวใจเรามาก มันธรรมดา มันต้องขัดแย้ง มันต้องโต้แย้ง เพราะมารไง

กิเลสคือมาร พญามารมันควบคุมใจเราอยู่ แล้วธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันชำระกิเลสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้ววางธรรมและวินัยไว้ ให้เรามาเป็นปูนหมายป้ายทางไว้ก้าวเดิน แล้วปูนหมายป้ายทางคือสิ่งที่เป็นนิมิตบอกชี้ทาง แล้วหัวใจเรากิเลสเต็มหัว

นี่ว่าธรรมของพระพุทธเจ้า ธรรมพระพุทธเจ้านี่แหละกิเลสเต็มหัว แล้วถ้ามันพยายามจะก้าวเดิน แล้วพยายามจะขัดแย้ง มันขัดแย้งอยู่แล้ว แล้วเราต้องโต้แย้ง แล้วเราพยายามต้องมีสติ ต้องต่อสู้ให้เห็นโทษเห็นภัย ถ้าเห็นโทษเห็นภัยการกระทำของเรา ทำได้เต็มไม้เต็มมือ เพราะเราเห็นโทษเห็นภัย เราเห็นภัย เราเห็นคุณ เราอยากทำดี เราอยากสู้กับกิเลส แล้วจะเป็นประโยชน์กับเรา เอวัง