เทศน์พระ

เทศน์พระ ๑๖

๑๘ มี.ค. ๒๕๕o

 

เทศน์พระ วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

คนหยาบก็หยาบ ถ้าคนหยาบมันก็หยาบไปวันยังค่ำเห็นไหม แต่คนละเอียด สิ่งที่ละเอียดมันส่อจากจิต สิ่งที่ออกมาจากจิตเห็นไหม มันเป็นจริตมันเป็นนิสัย คึกคะนองก็คึกคะนองมาจากจิต ถ้าจิตมันคึกคะนองนะ การแสดงออกมันก็คึกคะนอง แต่เจ้าตัวไม่รู้

เวลาครูบาอาจารย์เห็นไหม มันแสดงออกมาอย่างนั้น มันแสดงออกมาจากไหน? ครูบาอาจารย์ว่านะ เวลาเราเดินกันไป เราเคลื่อนไหวกันอยู่นะ เหมือนเอาหัวเดินต่างเท้า เพราะมันคิดกลับกับธรรมะไง ธรรมะไปอย่างหนึ่ง แต่ความเห็นเราไปอีกอย่างหนึ่งนะ แล้วก็คิดว่าความเห็นมันอยู่ในใจเรา ไม่มีใครจะรู้ได้ เห็นหน้าไม่รู้ใจ

แต่การแสดงออก การเคลื่อนไหวมันบอกหมด มันบอกถึงจิตที่คึกคะนอง จิตที่คึกคะนองเห็นไหม มันอยู่ในหัวใจของเรานะ เพราะจิตคึกคะนองก็คือตัวจิต ตัวจิตก็คือเรา เราไม่รู้ไง เราไปรู้เรื่องของคนอื่นนะ รู้เรื่องของโลกเรื่องของความเป็นไปของโลก แต่ไม่รู้เรื่องของตัวเองเลย สิ่งที่ไม่รู้เรื่องของตัวเองมันเลยเพลิดเพลินกับโลกไง

โลกเป็นไป ความเป็นไปของโลก แล้วเราก็เกิดกับโลก แต่มีอำนาจวาสนา มีอำนาจวาสนาว่า เราเป็นนักรบ ศากยบุตรพุทธชิโนรส มันต้องตื่นตัวนะ ถ้าเราตื่นตัว ดูสิเห็นไหม เราจะลงอุโบสถกัน อากาศร้อนไหม ถ้าอากาศร้อน ร้อนอึดอัด เพราะมันความร้อน ความร้อนมันประสบได้ เราเป็นคนอิสรภาพไง เราอยู่กับสิ่งที่เป็นไปในธรรมชาติ เราเป็นผู้รับรู้เย็นร้อนอ่อนแข็ง สิ่งใดที่ไม่พอใจก็อึดอัดขัดข้อง

แต่ถ้าเราตกนรกอเวจีนะ เราเป็นนักโทษติดอยู่ในคุก เราโดนขังเดี่ยว เราไม่มีสิทธิเรียกร้องนะ จะเดือดร้อนขนาดไหน ก็ต้องติดจนกว่าจะหมดโทษ หมดโทษจากการขังเดี่ยวแล้วออกมาในแดนปกติ ออกมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมาเห็นไหม

ถ้าเป็นคนดี นักโทษที่ดีเห็นไหม มีรางวัลให้ มีรางวัลให้เห็นไหม ทำตัวดีประพฤติดีได้เป็นนักโทษชั้นดี นักโทษชั้นเลว นักโทษเห็นไหม เวลาเราไปติดอยู่ในวัฏฏะ เวลาไปตกนรกอเวจีมันเป็นสภาวะแบบนั้น เวลามันอึดอัดขัดข้องไง เวลาอึดอัดขัดข้องเห็นไหม วัฏฏะมันแปรเปลี่ยนอย่างนี้ เราจะนอนใจไหม

ถ้าเราไม่นอนใจนะ อยู่กับงาน คนเราเกิดมาต้องมีงาน เพราะเราเกิดมาเราต้องกินต้องใช้นะ พระก็ต้องกินต้องใช้ เราต้องหาอยู่หากินของเรา หาอยู่หากินทางร่างกาย โลกเขาทำกัน มันไม่แตกต่างกับโลกเลย

แต่หาอยู่หากินทางจิต ถ้าหาอยู่หากินทางจิตนะ ความคิด เรามีสติควบคุมมันไป การเคลื่อนไหวควบคุมหัวใจ ความเดือดร้อน ความอึดอัดขัดข้อง ที่ไหนมันก็เป็น ในเมืองหนาวนะ เขาหนาวจนออกไปไหนไม่ได้ เขาต้องมีฮีตเตอร์ เขาต้องมีเครื่องทำความร้อน เขาอยู่ของเขาไม่ได้หรอกถ้าเขาไม่มีความอบอุ่น

แต่เราอยู่เมืองร้อนนะ เราก็อยากเย็น อยากเย็นเพราะมันร้อนมาก อยากดูหิมะตกเห็นไหม เขาไปท่องเที่ยวกัน ไปดูหิมะตกกัน ในปัจจุบันการสื่อสารมันสะดวก มันถึงเห็นไง แต่ถ้าโบราณนะ เราก็ไม่เข้าใจเรื่องอย่างนี้ ภูมิภาคใดอยู่ส่วนโลกไหนก็อยู่ส่วนโลกนั้นเห็นไหม

โลกในวัฏฏะก็เหมือนกัน เราไม่เห็นเราไม่รู้ แต่สิ่งสัจจะความจริงมันเป็นอย่างนั้นนะ ถ้าสิ่งสัจจะเป็นอย่างนั้น มันเรื่องของโลกเรื่องของวัฏฏะ แล้วถ้าเรายังแก้ไขตัวเราไม่ได้ ฟังสิ เรายังแก้ไขตัวเองไม่ได้ เราจะต้องขับเคลื่อนไปในสภาวะแบบนั้น เวลาเราไปเจอสภาวะแบบนี้ เราเดือดเนื้อร้อนใจ เราขัดข้อง แต่ตัวจิตที่จะต้องไปเจอสภาวะแบบนั้นมันจะต้องเจอสภาวะแบบนี้อีก เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด จะเกิดซ้ำๆ ซากๆ อยู่อย่างนี้

ถ้ายังแก้ไขตัวใจนี้ไม่ได้นะ ถ้ายังแก้ไขตัวใจไม่ได้ เราจะต้องขับเคลื่อนไปในสภาวะแบบนี้ มันต้องมาเจอซ้ำซากอย่างนี้ แล้วถ้าเกิดสังคมมันเลวร้ายกว่านี้ล่ะ ในสังคมสงฆ์เห็นไหม ฟังสิมาทุกวันเลยของสงฆ์นะ พระที่ทำไม่ดีอย่างนั้น หลอกลวงอย่างนั้น ฉ้อโกงอย่างนั้น ทำกันอย่างนั้น มันน่าสังเวชนะ เราก็เป็นพระเห็นไหม พวกเราก็เป็นพระเหมือนกัน เราก็เป็นศากยบุตรเหมือนกัน เราก็จะเป็นนักรบเหมือนกัน

แต่เราเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์ เราจะรบกับกิเลสของเรานะ รบกับความรู้สึกของเรา รบกับสิ่งที่ว่า มันยังอึดอัดขัดข้องกับใจอยู่อย่างนี้ มันยังต้องเกิดต้องตายอย่างนี้ มันยังเจอสภาวะแบบนี้ การรบอย่างนี้คือการรบด้วยธรรมะ

เรื่องของโลกเขานะ ที่เขาเป็นไปเห็นไหม ฟังสิ จะฉ้อโกง จะหลอกลวง จะอย่างนั้นมันรบกับอะไรล่ะ มันไปเห็นลาภไง มันไปเห็นเรื่องของเกียรติยศชื่อเสียง โลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ อยากมีหน้ามีตา อยากมีลาภมีสักการะ แล้วก็ไปรบนะ ไปหลอกลวงเขา ไปต้มตุ๋นเขา ไปรบไง ไปเล่นเล่ห์กล ไปเพื่อผลประโยชน์เห็นไหม รบอย่างนี้ยิ่งรบยิ่งจม จมไปในอเวจีไง เพราะอะไร? เราเป็นนักบวชเสียเอง เราเป็นพนักงานเสียเอง แล้วเราไปฉ้อโกงเอง เราไปทำลายตัวเราเองเห็นไหม เพราะอะไร เพราะแพ้ภัยตัวเอง

กิเลสมันน่ากลัวตรงนี้ น่ากลัวที่ไม่มีใครทำเราเลย ใจของเราเบียดเบียนเราเอง ใจของเราเหยียบย่ำเราเอง ใจของเราแล้วถ้าโดนกิเลสมันปิดตา มันจะเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์เห็นไหม เราแสวงหาเราได้สิ่งใดมา สิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเราได้อย่างไร มันเป็นภาระแบกหาม เหนื่อยยากนะ

ปัจจัย ๔ เห็นไหม สิ่งที่หามาปัจจัยเครื่องอาศัยเฉยๆ ดูสิ ดูบริขาร ๘ เราสิ สิ่งที่เป็นบริขาร ๘ มีผ้าครอง มีสิ่งอะไรต่างๆ ต้องรักษาเห็นไหม ต้องรักษาผ้าครอง ขาดครองไม่ได้อะไรต่างๆ เรายังต้องเป็นภาระรับผิดชอบเลย แม้แต่บริขาร ๘ คำว่าบริขาร ๘ เป็นสิ่งที่เราเป็นพระขาดไม่ได้ สิ่งนี้ต้องดำรงชีวิตไง แล้วดำรงชีวิตไม่ได้ดำรงชีวิตแบบสัตว์ ดำรงชีวิตแบบผู้ไม่รับผิดชอบ ดำรงชีวิตแบบภิกษุ ต้องครองผ้า ต้องรักษา ต้องทำความสะอาด ขาดชุนต้องปะเห็นไหม

อยู่แบบบัณฑิตไง อยู่แบบพรหมจรรย์ไง อยู่แบบผู้มักน้อย อยู่แบบผู้ที่ไม่ไปตามกระแสโลก ถึงมีน้อยแต่ก็ต้องสะอาด ถึงมีน้อยแต่ก็ต้องรักษาให้เรียบร้อย สิ่งนี้เป็นการบอกถึง มันดัดแปลงนิสัย ดัดแปลงหัวใจ ถ้าหัวใจมันหยาบนะ เป็นเรื่องเล็กน้อย สิ่งนี้เป็นเรื่องเล็กน้อยนะ

แต่จิตมันคึกคะนอง มันไปเอาสิ่งที่เป็นเรื่องของโลกๆ สิ่งที่เป็นบริขารร้อยแปด นะ มันไปเหยียบย่ำ มันไปขนมาเหยียบหัวใจ บริขาร ๘ อยู่กับตัวนะ มันไม่รักษา บริขาร ๘ อยู่กับตัวบริขารที่ต้องรักษาอยู่นะ สิ่งนี้ถ้าสร้างความสะอาดของมัน สิ่งนี้มันขัดเกลากิเลสนะ มันดัดแปลงใจเรานะ มันดัดแปลงเรา ถ้าสิ่งนี้มันดัดแปลงตัวเรานะ บริขารของเรา เรารักษาตัวเรา สิ่งนี้มันเป็นของของสงฆ์เห็นไหม ลาภ ลาภในสังฆะ ลาภในสงฆ์ สิ่งนี้เป็นของของสงฆ์

ครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมีเกียรติคุณ สิ่งนี้มันก็มาเพื่อหมู่คณะเห็นไหม ผู้ที่มีปัญญา ผู้ที่มีความรู้ แต่ว่าสิ่งที่ทางโลกเขาปัจจัยอ่อนด้อย อย่างนั้นมันก็เป็นเรื่องอำนาจวาสนาเห็นไหม สิ่งนี้มันเป็นเครื่องอาศัยเป็นปัจจัย แล้วเราไปประสบมา เราเห็นมา สิ่งนี้เราเก็บไว้ เราจับไว้เป็นประสบการณ์ของเรา

แต่ของเรา สมบัติของเรา บริขารของเราเห็นไหม ปตฺตํ อามะ ภันเต สิ่งนี้เป็นบาตรของเรา ไม่ใช่ยืมมา ไม่ใช่ของใครมา เราถึงต้องรักษาของเรา เห็นไหมบริขารรักษาของเรา ถ้าความสะอาดรักษาของเราดูแลของเรา สิ่งที่เป็นของเรามันก็เป็นภาระ

การขับเคลื่อนไปนะ การขับการถ่ายเป็นภาระทั้งนั้น เวลากินเป็นประโยชน์นะ เวลากินสิ่งต่างๆ เอร็ดอร่อย เป็นเรื่องของเรา สิ่งนี้เป็นลาภ แต่เวลาขับเวลาถ่ายล่ะ เห็นไหม วัจกุฎีวัตร ต้องทำความสะอาด สิ่งที่ทำความสะอาด วัตรของเรา ข้อวัตรปฏิบัติ คนเรามีเท่านี้ เกิดมามีเท่านี้ แต่คนมันเห่อเหิมไป เห่อเหิมจนลืมเนื้อลืมตัวไง ไม่มองเห็นตัวเราเองไง ไม่มองถึงความเป็นไป สัจจะความจริงไง

สัจจะ เห็นไหม หัวใจอยู่ในร่างของสัตว์มนุษย์ มนุษย์เรา เราเป็นนักรบ เราเป็นพระ หัวใจอยู่ที่เรา คุณธรรมมันอยู่ในนี้ คุณธรรมมันอยู่ในร่างกายเรานี่ มันอยู่ในหัวใจเรานี่ แล้วเราเจอมันไหม ถ้าเราเจอมันเห็นไหม เรามีสติสัมปชัญญะเข้ามา เราต้องเป็นผู้ที่รื่นเริงนะ การปฏิบัติต้องรื่นเริงอาจหาญ แม้แต่โลกจะร้อนขนาดไหน หนาวขนาดไหน ร้อนนักก็อ้างว่า หนาวนักก็อ้างว่า ถึงจะร้อนจะหนาว ถ้าเรามีความจงใจ เรามีสติสัมปชัญญะของเรา เราดูแลจิตของเราเห็นไหม เราจะย้อนกลับมาของเรา

สิ่งนี้มันเป็นเครื่องให้เราตื่นตัว ต้องตื่นตัวนะ อย่านอนจม ถ้านอนจมนะ นอนจมมันจะเป็นนิสัย ถ้านิสัยนอนจมมันจะจมกับเรา เป็นสักแต่ว่าทั้งหมดเลย สิ่งต่างๆ ก็ไม่ทำใช่ไหม สิ่งต่างๆ ปฏิเสธ สิ่งต่างๆ ใช้ปัญญาหลบหลีก ถ้าปัญญาหลบหลีกอย่างนี้ มันเป็นประโยชน์อะไรกับเราล่ะ มันเป็นเรื่องของดินพอกหางหมูนะ

ถ้ามันเป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกเรา สิ่งที่หลบหลีก แล้วเราไม่ต้องรับผิดชอบสิ่งใดๆ เลย มันเป็นดินพอกหางหมู เพราะอะไร เพราะกิเลสมันตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ นะ สิ่งนี้มันพอกหางหมู แล้วเรามีทางออกของเรา มันก็จะเป็นกับเราเห็นไหม เราจมกับกิเลส เราแพ้กับกิเลสนะ แต่ในทางโลกเราเป็นบัณฑิต เรามีทางหลบหลีก รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง

สิ่งที่หลบหลีกเป็นหางมันเป็นเรื่องของกิเลสไง แต่ถ้าเป็นสัจจะความจริงนะ ผจญปัญหาทุกปัญหา ปัญหาที่เราผจญเข้าไปมันมีอะไรบ้าง ไม่มีสิ่งใดเลย ปัญหาที่เกิดขึ้นมามันเป็นปัญหาของโลกเขาเห็นไหม แล้วปัญหาของใจ ใจเรามันไปบิดเบือนเขาเอง เสียง! รูป รส กลิ่น เสียง มันเป็นเรื่องปกติของเขานะ มันเป็นเรื่องของเขาอยู่แล้ว แต่เราเองเราไปบิดเบือนไง เราชอบสิ่งใด เราต้องการให้สมความปรารถนา เราไปบิดเบือน ถ้าเราไปบิดเบือนมันก็ไม่สมความเป็นจริง มันก็เป็นความเดือดร้อน ตัณหาความทะยานอยาก

ตัณหาความทะยานอยากมันเกิดแล้ว เกิดขึ้นมาจากใจเรา แต่เราแพ้ตัวเราเอง สิ่งที่แพ้ตัวเราเอง มันก็สร้างปม สร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาในหัวใจของเรา แล้วมันก็เหยียบย่ำเราไป แล้วเราก็ทุกข์เราก็ร้อนไง ธรรมะเป็นอย่างนี้ ธรรมะมันเจริญขึ้นมาเห็นไหม โลกจะร้อนขนาดไหน จะเย็นขนาดไหน เรื่องของเราเห็นไหม จะรื่นเริงจะอาจหาญจะตื่นตัว ถ้าไม่ตื่นตัวอย่าคอตกนะ ถ้าคอตกนะศาสนาเรียวแหลม เรียวแหลมที่ใจเรา

พระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้ข้างหน้า มันจะเรียวแหลมไปไหน พระศรีอริยเมตไตรยก็จะมาตรัสรู้ธรรมอันนี้ โลกมันก็เป็นอย่างนี้ ตะวันออกเรามี ๓ ฤดูเห็นไหม ในซีกโลกต่างๆ เขาไม่มี ๓ ฤดูเหมือนเราเห็นไหม ไม่มี ๓ ฤดูอย่างนี้ มันเป็นอย่างไรล่ะ? มันเป็นเพราะ ๓ ฤดู มันมีการหมุนเวียน มันมีการเปลี่ยนแปลง มันมีการเปลี่ยนแปลงชีวิตเราก็เปลี่ยนแปลง มันเหมือนวัฏฏะมันวนไป

ถ้าวนไป เราจะไม่จมอยู่กับสิ่งใด เราจะตื่นตัวตลอดเวลา อย่าจมกับกิเลส อย่านอนกับกิเลสนะ ถ้าเราจมกับกิเลส เวลาเราศรัทธา เราออกบวช เรามีความจงใจ ถ้าเรารักษาศรัทธาอันนี้ได้ เรามีความจงใจกับการออกบวช เราจะเอาตัวรอดได้นะ

เวลาเรามีศรัทธาขึ้นมา องอาจกล้าหาญมาก เราจะพ้นจากกิเลสเลยนะ บวชแล้วเราจะประพฤติปฏิบัติ จะถือเนสัชชิก รุกขมูล สิ่งต่างๆ กับธุดงควัตร จะปฏิบัติเต็มอกเต็มใจนะ เวลามันจนตรอกเวลามันทุกข์ มันอยากหาทางออก อะไรก็ได้ เหมือนคนทุกข์คนจนเลย เวลาจะกู้ยืมเขา อะไรก็ได้นะ จะต่อรองอย่างไร เขาจะบีบคั้นอย่างไร แต่เวลาได้มาแล้วโอดโอยเลยนะ ทำไมคิดแพงอย่างนั้น ทำไมคิดร้อยแปดเลย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราจะออกบวช เวลาเราตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ มันทำได้ทั้งนั้น คิดแต่ว่าจะทำได้เลย แล้วเวลาเข้ามา เวลาบวชไปแล้วเป็นอย่างไร มันยังก้าวเดินได้อยู่พักหนึ่ง เวลากิเลสมันเป็นดินพอกหางหมู มันหนักหางมันขยับไม่ไหวเลย นี่การปฏิบัติเรามันขยับไม่ไหวเลย

หัวใจนะมีคุณค่ามาก สมบัติใดๆ ดูสิเงินทอง ธนาคารมีมหาศาลเลย เราสร้างทุนเห็นไหม ดูสิ พระเขาแสวงหาทางโลกกัน ไปแสดงออกว่าทุกข์จนเข็ญใจขาดแคลนอย่างนั้น เขาก็เชื่อ เขาก็ศรัทธา เขาก็ทำให้ พอถึงกาลแล้ว เขามารู้ทีหลังว่าสิ่งนั้นมันไม่เป็นความจริง ศรัทธาเขาเสื่อมหมดนะ

สิ่งที่โลกเขาเจือจานกันได้ โลกเขาเป็นกันได้ แล้วเราไปแสวงหาสิ่งนั้นเห็นไหม แล้วเราสละสิ่งนั้นมา โลกมันก็หมุนอยู่อย่างนี้ มันจะเป็นสภาวะแบบนี้ แต่สิ่งที่เป็นอาศัยเห็นไหม เครื่องอาศัยไม่ใช่ถ้าเป็นกิเลสนะ มันสุดโต่งไง เวลาให้ขึ้นมาบนศาลามันก็ขึ้นมาบนหลังคาเลย เวลาให้ลงมามันก็ลงไปใต้ดินเลย

นี่ก็เหมือนกัน บอกให้ทำ มันก็ทำจนเกินกว่าเหตุ บอกว่าไม่ให้ทำ มันบอกทำไม่ได้ไม่ต้องทำเลย นกมีรวงรังไง เหมือนปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้าเราอาศัยเรารักษาของเรา เรารักษาของเรานะ รักษาเพื่อให้การแสดงออกของใจ ถ้าใจมันแสดงออกนะ รู้จักคุณประโยชน์มันจะแสดงออก มันจะรักษาสิ่งนั้นด้วยความชื่นชมนะ

เวลาจิตมันซาบซึ้งธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ แม้แต่ผ้านะ ดูสิ ท่านคิดมาได้อย่างไร มีกระดูกเพื่อให้ผ้ามีความทรงตัวมันได้ไง มีกระดูก มีอนุวาต มันแข็งแรง มันทนทาน ไม่ใช่ใช้ผ้าผืนอย่างนั้นเห็นไหม มีกระดูกมีตัดมีเย็บให้ถนอมให้รักษา มันเป็นประโยชน์ไปทั้งนั้นเลย เพื่ออะไร เพราะเราต้องถนอมต้องรักษา หัวใจมันหมักหมม ถ้าไม่มีการหมุนเวียน ไม่มีการถ่ายเท มันจะมีแต่เรื่องของกิเลสตัณหาเหยียบย่ำหัวใจ เวลาผ้ามันมีปัญหาขึ้นมา เราชุนของเรา เราเย็บของเรา เราซักของเราเห็นไหม มันมีการหมุนเวียนไง

สิ่งหมุนเวียน สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจัง เราเกิดมาเห็นไหม ขับถ่ายทุกวัน เซลล์มันปรับตัว ๗ ปีเซลล์เก่าตายหมด ตั้งแต่เกิดมา ๒๐ ปีได้บวชใช่ไหม บวชได้ตั้ง ๒๐ ปี แล้วเราบวชตั้งแต่อายุเท่าไหร่ แล้วบวชมากี่ปีเห็นไหม เซลล์เก่าๆ มันตายหมดแล้วเห็นไหม ที่นั่งอยู่นี้มันก็เป็นคนใหม่

คนใหม่แล้วอย่างไร? มันก็เป็นคนเก่านี่แหละ มันก็เป็นเรานี่แหละ แต่เป็นคนใหม่มันอนิจจังอย่างนี้ เราไม่เห็น เราไม่รู้ แล้วก็สืบต่อมา จิตก็อยู่ในร่างกายนี้ มันก็เป็นอันเก่าอยู่อย่างนี้

รากฐานของจิตมันอันเดิม ภวาสวะ ตัวภพ ถ้าจิตมันเป็นภพ มันเป็นตัวเดิม แต่มันได้เปลี่ยนแปลง ตกแต่งด้วยอะไร ถ้าเราตกแต่งด้วยคุณงามความดี มันก็จะตกแต่งให้จิตนี้มันดีขึ้น ถ้าเราตกแต่งด้วยความบาปอกุศลนะ คราบ! คราบของนักบวช คราบของนักรบ คราบของบัณฑิต คราบต่างๆ เรื่องเปลือกๆ ข้างนอกมันเป็นคราบ

แต่ถ้าเป็นความเป็นไปภายในหัวใจนะ ถ้าจิตมันได้ตกแต่งมันได้ดัดแปลงของมันเห็นไหม ด้วยสุภาพบุรุษ ด้วยสัมมาทิฏฐิ ด้วยความเห็นที่ถูกต้อง มันเป็นสัจจะความจริง สัจจะความจริงเป็นปัจจัตตัง สมาธิมันก็เป็นสมาธิขึ้นมาที่จิต ไม่ใช่เป็นสมาธิในตัวหนังสือ สมาธิที่เป็นตัวหนังสือนั้นมันเป็นชื่อของสมาธิเห็นไหม ปากก็พร่ำบ่นกันไป ประพฤติปฏิบัติกันไป ความสัมผัสของจิตไม่เคยมี ถ้าเคยมีนะ สมาธิจะไม่ถามกันเลย พูดถึงสมาธินะจะซาบซึ้งมาก ซาบซึ้งว่าจิตสงบเป็นอย่างนี้ มีสติสัมปชัญญะพร้อม มันจะมีความรู้สึกพร้อมเลย ไม่ลังเลสงสัยเลยในเรื่องของสมาธินะ ขั้นของสมาธิ

ถ้าขั้นของปัญญาเห็นไหม จิตมันน้อมไปในปัญญา น้อมไปในปัญญานะ น้อมไปในขั้นของปัญญา ปัญญาคืออะไร คือการแสดงออกของสังขาร สังขารนะ สังขารมันคืออาการของใจเห็นไหม ถ้าจิตมันสกปรก ความแสดงออกมันเป็นสกปรก ถ้ามันมีสมาธิขึ้นมา จิตมันสงบขึ้นมา กิเลสมันต้องสงบตัวลงเห็นไหม อาการของใจที่มันเป็นความสะอาดบางครั้งบางคราว เหมือนน้ำสะอาดเลย น้ำสะอาดทำในโรงงานเห็นไหม เอาไปใช้สอยน้ำสะอาดนั้นกลายเป็นน้ำเสีย น้ำเสียเอากลับมาใช้อีกมันก็ยิ่งเสียยิ่งไปมากขึ้น

ในความคิดของกิเลสเห็นไหม ความคิดที่หมักหมมในหัวใจมันเสียหาย มันก็คิดเบียดเบียนหัวใจ เบียดเบียนนะ เราทำอะไรไม่ได้เลย สมาธิก็ทำไม่ได้ สิ่งต่างๆ ก็ทำไม่ได้ ชีวิตนักบวชทุกข์ยากเข็ญใจ น้ำเสียมันก็เหยียบย่ำเห็นไหม

ถ้าเป็นน้ำดีนะ โลกนี้คนที่ร่ำรวยมหาศาล มีเงินเป็นเศรษฐีโลกนะ เขาก็มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เหมือนเรา การใช้จ่ายของเขาใช้สอยของเขาเพื่อชีวิตของเขาเท่านั้นแหละ แค่อิ่มเดียว แค่เสพสุขเท่านั้นแหละ คนทุกข์คนจน ถ้ามันเสพสุขแล้วมันก็มีความสุขเหมือนกัน โลกมีเท่านั้นแหละ

เพราะถ้าเราสละสิ่งนั้นมาสิ่งที่มีอยู่ พระเขาใช้อย่างนั้นไหม เป็นพระเขาใช้นะ เราก็ใช้ปัจจัยเครื่องอาศัยเหมือนกัน เราก็ฉันอาหารเหมือนกัน เราก็ใช้สิ่งต่างๆ เหมือนกัน แต่ใช้โดยสมมุติสงฆ์ โดยพระนะโดยภิกษุ ไม่ใช่คฤหัสถ์

ถ้าเป็นภิกษุเห็นไหม การใช้ของภิกษุ มันเป็นสัตว์ที่กลัวภัยเห็นไหม สัตว์เห็นไหม ไก่บ้าน ไก่ป่า ไก่บ้านเห็นไหม มันก็เป็นไก่ มันอยู่ในกรง มันอยู่อาศัยของมัน มีคนเป็นเจ้าของดูแลมัน ถ้าเป็นไก่ป่าล่ะ ไก่ป่ามันต้องอาศัยตัวเองนะ มันต้องจิตใจเข้มแข็งนะ ฝนตกฟ้าร้องมันต้องเอาตัวรอดได้ เวลาฝนตกมันจะซุกอยู่ในใบไม้อย่างไร เวลามันจะออกไข่ มันจะดำรงเผ่าพันธุ์ของมัน นี่ธรรมชาติของป่าเขา

ภิกษุกับคฤหัสถ์ การดำรงชีวิตเหมือนกัน แต่มันต่างกัน ต่างกันที่สัจจะความจริงไง สัจจะความจริงกับสมมุติไง เราเป็นภิกษุเราเป็นสมมุติสังคมของสงฆ์ น้ำเห็นไหม น้ำคือสังคม เราเป็นปลา เราเป็นปลาเราอยู่ในสังคมของชาวพุทธ ผิดถูกชั่วดีเขาเห็นนะ ทำดีทำชั่วเขารู้เห็นไหม

พระนะ เวลาเราห่มจีวรเดินเข้าไปในบ้าน เขาก็รู้ว่าพระ เจอเด็กเห็นไหม “ธุจ้ะๆ ไหว้พระๆ” ในสังคมเขารู้กัน ดูสิเวลาหลวงปู่มั่นท่านว่าเห็นไหม ปลวกกับมดมันเดินผ่านมา พระท่านกำลังตีตาดอยู่ “เราหลบเลยนะ พระธุดงค์เขาทำข้อวัตรอยู่” เพราะอะไร? เพราะดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรานะ ในภัทกัปองค์ที่ ๔ พระศรีอริยเมตไตรยเป็นองค์ที่ ๕ ในกัปนี้มี ๕ องค์ แล้วมีต่อไปอีกไหม จิตมันเวียนตายเวียนเกิดอย่างนี้ จิตมันเวียนตายเวียนเกิดมันก็รับรู้อย่างนี้ รับรู้สภาวะแบบนี้เห็นไหม แล้วถ้าจิตมันประพฤติปฏิบัติเข้ามา มันเรื่องของหัวใจเห็นไหม เรื่องของหัวใจถ้ามันย้อนกลับเข้ามาล่ะ

เวลาเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาเป็นชนชาติต่างๆ เราว่าชนชาตินั้นๆ เห็นไหม อันนั้นมันเป็นเปลือกนะ แต่สัจจะความจริงคือสุขกับทุกข์ในหัวใจเหมือนกัน นี่คือสมมุติทั้งนั้นเลย บวชก็เป็นสมมุติ เวลาบวชเป็นสงฆ์โดยสมมุติเห็นไหม แล้วถ้าเป็นสมมุติมันสัจจะความจริง ไก่ป่าไก่บ้าน ไก่ก็คือไก่ ไก่ป่าไก่บ้านก็คือไก่เหมือนกัน

ไก่เหมือนกัน แต่หัวใจของไก่มันไม่เหมือนกัน หัวใจของไก่มันต่างกันเพราะการดำรงชีวิตต่างกัน สิทธิมันต่างกัน เพราะไก่บ้านเห็นไหม ไก่บ้านมันมีเจ้าของ ลองไปยิงของเขาสิ ไปยิงของเขาไปลักของเขา ติดคุกนะ ไก่ป่าเขาไปล่าสัตว์กัน มันเป็นสมบัติสาธารณะ

นี่ก็เหมือนกับ ภิกษุเป็นบุคคลสาธารณะ เป็นชาวพุทธขึ้นมา เป็นภิกษุมีสิทธิออกบิณฑบาต มีสิทธิไม่ต้องเสียภาษี มีสิทธิไม่ต้องไปเลือกตั้ง มีสิทธิเห็นไหม เพราะอะไร? เพราะสังคมชาวพุทธ ในเมื่อบัญญัติในกฎหมาย กฎหมายยกเว้นให้อย่างนี้ เขายกเว้นให้ เขายกให้เป็นนักรบ ยกให้เป็นครูเป็นอาจารย์ของเขา เขายกมือไหว้นะ เขาหาอาหารมาเขาใส่บาตรให้เรานะ ปัจจัยเครื่องอาศัยเขาแสวงหามาให้ เพื่ออะไร ก็เพื่อให้เราแสวงหา ให้หาธรรมะในหัวใจ

พระไตรปิฎก เปิดตู้พระไตรปิฎกกัน ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษาธรรมกันปากเปียกปากแฉะ แล้วก็มาโต้เถียงกัน แต่ถ้าทำสมาธิขึ้นมา “นี่มันเป็นอะไร” ถ้าจิตมันมีสมาธิขึ้นมา จิตมันมีปัญญาขึ้นมา “มันอะไรนี่”

สิ่งนี้เห็นไหม เวลาธรรมะสอน ในพระไตรปิฎกสอนอะไร ก็สอนศีล สมาธิ ปัญญา แล้วศีล สมาธิ ปัญญา มันเกิดขึ้นทางหัวใจของเรา ตู้พระไตรปิฎกเปิดหรือยัง ถ้าตู้พระไตรปิฎกเปิดเราศึกษาจากพระไตรปิฎก เราค้นคว้าจากพระไตรปิฎกของเรา เพราะสภาวธรรมมันเกิดแล้วนะ สมาธิเกิดนี่คือธรรมเกิดแล้ว ปัญญาเกิดธรรมเกิดแล้ว เราเปิดตู้พระไตรปิฎกแล้ว เราทำไมไม่ศึกษาไม่วิเคราะห์วิจัย ธรรมมันคืออะไร มรรคญาณเป็นอย่างไร สัจจะเป็นอย่างไร กิเลสเป็นอย่างไร อริยสัจมันเปิดแล้วนะ

อริยสัจในหัวใจมันเปิดแล้ว ถ้าจิตเราเป็นสมาธิขึ้นมา มันเป็นปัญญาขึ้นมา มันเป็นอริยสัจขึ้นมาให้เราค้นคว้าไง มันจบกระบวนการไหม การวิเคราะห์วิจัยมันจบกระบวนการไหม ถ้ามันจบกระบวนการเห็นไหม ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จิตมันกลั่นออกมาเป็นอริยสัจ มันจะเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี

แล้วถ้ามันเข้าไปในกระบวนการเห็นไหม เหมือนเครื่องซักผ้า เราเอาผ้าเข้าไปซักในเครื่องซักผ้า โลกเขามีเครื่องซักผ้ากัน เวลาเขากดปุ่มเห็นไหม ใส่น้ำ ใส่ผงซักฟอก มันก็ปั่นของมันอยู่อย่างนั้น ปั่นของมัน อริยสัจมันเปิดนะ อริยสัจมันเปิด สิ่งต่างๆ มันเปิด ถ้ามันเปิดธรรมมันเปิด ปัญญามันเกิด มันหมุนเข้ามาจากภายในเห็นไหม นี่คือโลกุตตรปัญญา ปัญญาที่เป็นธรรมเหนือโลกเห็นไหม สิ่งนี้เกิดขึ้น ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้น

นี่ค้นคว้าอย่างนี้ ศึกษาอย่างนี้ เราเป็นนักรบ อกาลิโก ไม่ใช่กาล ไม่ใช่เวลา ตู้พระไตรปิฎกจะเปิดได้ทุกเวลา จะเปิดได้ตลอดเวลา แล้วไม่ต้องไปซื้อมาจากมหามงกุฎฯ แล้วไม่ต้องคอยเปิดประตู ไม่ต้องคอยอะไรต่างๆ เห็นไหม สิ่งนั้นเป็นกิริยา เป็นทฤษฎี เป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นปูนหมายปลายทาง เป็นชื่อของธรรมะทั้งหมดเลย

แล้วเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ธรรมเกิดขึ้นมาจากหัวใจ เป็นตัวธรรมทั้งหมดเลย ตัวธรรมเกิดขึ้นมา มันเกิดมาจากไหนล่ะ? มันเกิดมาจากความรู้สึก ความรู้สึกโดยกิเลสความรู้สึกโดยเรา เราคิดขึ้นมาเป็นกิเลสทั้งหมด คิดโดยกิเลสมันเป็นกิเลส คิดโดยโลกมันเป็นโลกียปัญญาเห็นไหม

ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ เราเชื่อในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศีล สมาธิ ปัญญา รักษาศีล ศีลจะทำให้บริสุทธิ์ ศีลเห็นไหม ศีลจากข้างนอก ศีลจากข้างใน ศีลจากข้างนอกคือศีลของข้อวัตรไง ศีลของพระไตรปิฎกไง ๒๑,๐๐๐ ข้อ พระสูตรในพระอภิธรรมพระไตรปิฎก สิ่งนี้มันเป็นแค่ภายนอก ศีลจากภายนอก

ศีลจากภายในเห็นไหม เราไม่เกิดบาปอกุศล เราไม่มีเจตนาทำชั่ว เราไม่มีเกิดเจตนาทำผิด เราตั้งสติไว้ตลอดเวลา ศีลมันเกิดที่นี่ ศีลมันคืออธิศีล ศีลคือจิตปกติ เวลากำหนดสมาธิ มีสติขึ้นมานี่ เวลาพุทโธๆ ขึ้นมา มันต้องพุทโธๆ ขึ้นมานะ เพราะอะไร เพราะของที่มันนอนอยู่ ดูสิเรานับตังค์เห็นไหม เขานับตังค์เขามีเครื่องนับตังค์ พรืดๆ เป็นล้านๆ เลย แต่เขานับกันแล้วถ้าไม่มีเครื่องนับ เขาต้องนับทีละใบๆ เห็นไหม

พุทโธๆๆ มันซับซ้อนๆๆ มันก็เกิดขึ้นมาเห็นไหม จาก ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๑๐ เป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นเป็นแสน คำบริกรรมก็เหมือนกัน พุทโธๆๆๆ ไปนะ จิตมันก็ย้ำ ย้ำไปๆ มันก็เกิดขึ้นมา มันก็เป็นกำลังของสมาธิขึ้นมา มันต้องมีการนับ เงินมากองอยู่เราจะรู้ไหมว่าเงินกี่บาท เงินมากองอยู่เราไม่นับเราจะรู้ไหมว่าเป็นเงินเท่าไหร่

จิตก็เหมือนกัน พุทโธๆ จิตมีสมาธินะ จิตว่างๆ ว่างๆ แล้วว่างๆ อะไรว่างๆ ล่ะ ทำไมไม่มีสติมันไม่คิดล่ะ ทำไมไม่มีคำบริกรรมขึ้นมาล่ะ ถ้ามีคำบริกรรมขึ้นมา ว่างไม่ว่างมันเป็นเรื่องอะไรของเรา ว่างไม่ว่างมันเป็นเรื่องอะไรของความรู้สึกล่ะ ความรู้สึกมันว่างของมันเอง มันมีสติของมันเองเห็นไหม

ถ้ามันมีสติของมันเองความว่างอันนี้มันเป็นอย่างไร มันพุทโธๆ มันก็เหมือนเขานับตังค์นะ เขานับมากเท่าไหร่ ตังค์นะ อยากได้มากๆ อยากจะนับจนไม่มีวันจะเลิก เวลาพุทโธๆ มันขี้เกียจ มันไม่ทำ เพราะมันต้องใช้พลังไง แต่ถ้านอนเฉยๆ มันเป็นหมูตายนะชอบอยู่เฉยๆ ดูจิต สบายๆ อย่างนี้มันเป็นสัตว์ตายนะ สัตว์ตายมันเคลื่อนไหวไม่ได้ ดูสิเราไปบิณฑบาต แล้วสุนัขมันอยู่ข้างถนน พอเราไปมันจะวิ่งหนี พอรถมามันต้องกระโดดหนี ไอ้นี่มันสัตว์ตาย รถมามันก็ไม่หนี มันนอนให้เขาทับ

กิเลสมันทับ ความยึดมั่นถือมั่นมันทับ มันว่าสิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นธรรม เปิดไม่ออกไง เวลาตู้พระไตรปิฎก เปิดตู้พระไตรปิฎกมันถึงได้ศึกษาธรรมในตู้พระไตรปิฎกนั้น ไอ้นี่ไปมัวก้มกราบกรานกับธรรม ธรรมคือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง มันไม่รับรู้ไง

สิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นธรรม มันเป็นความว่างไง แล้วเวลาเกิดสัจจะความจริงขึ้นมาก็ไม่รู้อะไรเลยนะ ทำอะไรมาแล้วอย่างนี้ มันไม่รู้เรื่องอะไรเลยเห็นไหม มันจะไปรู้อะไร มันก็ไปรู้เรื่องของกิเลสนะ เพราะกิเลสนำ มันเป็นโลกียะนะ แล้วก็โต้แย้งนะ นี่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษาแล้วก็ไม่เข้าใจ ทำให้อ่อนแอ สิ่งต่างๆ ทำให้ท้อแท้ต่ำใจ มันไปท้อแท้ต่ำใจก็ตัวเองไปเซ่อกับกิเลสเอง จะรบกับกิเลส แล้วไปเซ่อกับมันให้มันเหยียบย่ำอยู่อย่างนั้น การประพฤติปฏิบัติ

เวลาข้างนอกชนะไปหมด เวลาข้างนอกรู้ไปหมด เวลาต่างๆ เห็นไหม เรื่องโลกๆ ชำนาญการนัก ชำนาญการมันจะเป็นประโยชน์อะไร ก็เรื่องของโลกมันเกิดดับ มันเป็นอย่างนี้ โลกมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ใครจะไปศึกษามันจนหมดโลกล่ะ

ศึกษาขนาดไหนมันเป็นทฤษฎีนะ คือวิชาการ คือตลาด มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นไหวพริบ มันเป็นปฏิภาณ ขณะที่ต่อรองเท่านั้น กรรมมันเกิดตอนนั้น กรรมมันเกิดตอนที่ต่อรอง แล้วโอเคจบสิ้นกระบวนการนั้น นั่นแหละกรรมเกิดแล้ว ตรงนั้นมันเสียไปแล้ว มันจบไปแล้ว ตลาดก็คือตลาด โลกก็คือโลก เราจะไปรู้อะไรกับมัน เพราะเราไม่ได้ไปต่อรอง เราเป็นการคาดหมาย เราเป็นการจินตนาการเห็นไหม มันเป็นปัญญาเผาลนตัวเอง ปัญญาเผาลนตัวเองอย่างนี้เอามาทำไม ปัญญาเผาลนตัวเองยิ่งรู้มากยิ่งอยากทดสอบ รู้มาก คนนั้นจัดการไม่ได้ ฉันเองๆ จัดการกิเลสกลิ้งล้มหายไปกับโลกหมดเห็นไหม

ปล่อยมัน ปล่อยให้มันเป็นเรื่องของโลก เราสละมาแล้วนะ ถ้ามีถึงการจำเป็นจะต้องทำ มันก็จำเป็นต้องทำแบบนกต้องมีรวงรัง เราเป็นนักรบ เราเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ อาศัยปัจจัยเครื่องอาศัย แค่อาศัยไปมันเพื่ออาศัยได้ก็เอาแล้ว สิ่งนี้ถ้ามันชำรุดทรุดโทรมไป ถึงเวลามันก็ซ่อมแซมได้ทั้งนั้น

สิ่งที่ซ่อมแซมสิ่งที่บำรุงรักษาไป มันเรื่องของโลกนะ แต่สัจจะความจริงอันหนึ่งคือเรื่องของความรู้สึก คือเรื่องของใจ อันนี้สำคัญมากที่สุด ถ้าสำคัญมากที่สุดเราต้องถนอมรักษา อย่าให้สิ่งที่เป็นเรื่องโลกๆ มันมาเหยียบย่ำจนเกินไปนัก รักษาไว้พอเป็นอาศัยนะ สิ่งที่อาศัยให้ไปอาศัยแล้วไปประพฤติปฏิบัติกัน อ่อนแอไม่ได้ ถ้าอ่อนแอนะ เราจะไม่เหลือกันเลยนะ ถ้าจิตใจเข้มแข็ง ดูสิเห็นไหม

โลก ครูบาอาจารย์ท่านว่านะ พระหันหน้าออกหมดเลย ไปบวชเป็นพระ แล้วก็ให้โลกเขามาดูแลอุปัฏฐากอุปถัมภ์ แล้วจะอุปัฏฐากอุปถัมภ์ให้กลายเป็นโลก คือจะสะดวกสบายแบบโลกๆ เขาเลยไง

โลกนะ มันยังมีขาดแคลน ดูสิเวลาเกิดภัยพิบัติขึ้นมา เขาต้องช่วยเหลือเจือจานกัน โลกยังขาดแคลนนะ แล้วเราเป็นนักรบ เราอาศัยโลกเขาอยู่มันจะไม่ขาดแคลนมันเป็นไปได้อย่างไร สิ่งที่ขาดแคลนก็ขาดแคลนสิ มีก็มี ไม่มีก็ไม่มี มีก็มีเหมือนกัน ไม่มีก็ไม่มีเหมือนกัน ไม่เห็นมีใครดีใครเด่นกว่ากันเลย ถ้าเราไม่มีแต่คนอื่นมีอยู่ มันไม่เสมอภาค นี่มันก็ไม่เป็นธรรม ถ้าสิ่งที่ไม่เป็นธรรม มันจะปฏิบัติธรรมได้อย่างไร

มีก็มีด้วยกัน จนก็จนด้วยกัน ทุกข์ก็ทุกข์ด้วยกัน มีเสมอภาคกัน สิ่งนี้เป็นธรรมเห็นไหม แล้วมันก็ไม่มีความหวาดระแวง มันไม่มีความหวาดระแวงใดๆ เลย มันมีแต่ความอบอุ่น

ถ้าเรามีความเชื่อใจ มีการลงใจ ถ้าการลงใจเชื่อใจสิ่งต่างๆ เห็นไหม มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่ว่าจะมีสิ่งต่างๆ แล้วไม่มีการขาดแคลนไปเลย ดูสิเรามีน้ำไว้มันยังหมดได้เลย อะไรก็หมดได้ แต่ถ้าเรายังมีวาสนาอยู่ โลกเขาไม่ทิ้งนะ เขาก็หามาให้เราได้ ถ้าหาไม่ได้เราก็ใช้เท่าที่มีเห็นไหม ดูสิเวลามีอาหารขึ้นมา เรายังจงใจงดอาหารกันเลย

สิ่งที่มีอยู่สิทธิใช้สอยเรามีอยู่ เรายังต้องตัดทอนเห็นไหม มักน้อยสันโดษ มักน้อยสันโดษเพื่อฝึกฝนตนเองไว้ ถ้าถึงคราววิกฤติแล้วจิตนี้มันจะอาจหาญมาก จิตมันจะอาจหาญมากเลย เพราะอะไร เพราะมันฝึกฝนของมันไว้ มันไม่กลัวสิ่งใดๆ เลย ดูสิเราเดินจงกรมเห็นไหม เราเดินจงกรมกำหนดพุทโธๆ อานิสงส์มันเกิด ทำให้ร่างกายแข็งแรง จะเดินธุดงค์ก็ไม่กลัว ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา เสื่อมยาก

จิตสงบในทางจงกรม เดินจงกรม พุทโธๆ เดินไปเดินมา ถ้ามันสงบขึ้นมานะ แล้วถ้าปัญญามันหมุนในทางจงกรมนะ เดินจงกรมกี่วันก็ได้ กี่คืนก็ได้ ความเพียรที่ว่าเราทำกันไม่ได้ๆ เวลาจุดไฟมันติดแล้วเห็นไหม จนจะต้องขอเวลาพักเลยล่ะ

เต็มทีแล้วนะ ร่างกายมันจะทนไม่ไหวแล้ว อดอาหารมานะ เดินจงกรมเป็นวันเป็นคืนแล้วนะ ควรจะได้พักผ่อนบ้าง มันยังไม่ยอมเลย เวลาจิตมันหมุนแล้ว ธรรมจักรมันหมุนนะ มันหมุนอยู่ตลอดเวลา มันหมุนมันจะเอาผลงาน เหมือนคนงก มันงกนะกิเลสมันพางก งกว่าสิ่งนี้มันเป็นธรรมๆ มันจะเป็นธรรมไปไหนในเมื่อมันล้าไปหมดแล้ว มันเป็นธรรมไปไม่ได้ ถ้ามันไม่ผ่อน ถ้ามันไม่ดึงเข้ามาสมาธิ ถ้ามันไม่ดึงเข้าพุทโธ มันเป็นธรรมไปไม่ได้ เพราะมันไม่มัชฌิมาปฏิปทา มันเป็นสิ่งที่อ่อนล้า

เหมือนกับผลไม้ที่มันจะเน่า ของจะเน่ามันจะเอามากินได้อย่างไร มันจะเน่า แต่ถ้าของมันห่ามเห็นไหม ผลไม้ห่ามเราจะบ่มให้มันสุก ถ้ามันสุกพอดีมันกลมกล่อมมันหวาน มัชฌิมามันเป็นอย่างนี้ ขณะที่มันจะเน่า ผลไม้เน่ามันเน่าเลย เพราะมันเป็นวัตถุ แต่ถ้ามันเป็นจิตเห็นไหม ถ้ามันเหมือนผลไม้กำลังเน่า ถ้าเราไม่ทันมันนะ มันก็เสื่อมไปหมดเลย เสื่อมออกไปก็ตั้งต้นใหม่ ตั้งต้นใหม่ก็กลับมาพุทโธใหม่ กลับมาเริ่มต้นใหม่เตาะแตะขึ้นมาใหม่ สร้างขึ้นมาใหม่ สติขึ้นมาใหม่ ปัญญาขึ้นมาใหม่ หมุนขึ้นมาใหม่ เดี๋ยวมันก็หมุนไปอีกเห็นไหม ถ้าทำไปได้อีกมันก็เน่าขึ้นไปอีก

แต่ถ้ามันมีสติ มันมีการคุ้มครองนะ มันจะดึงกลับมา ดึงกลับมาเห็นไหม ถ้าน้อมไปอย่างนี้ ปัญญามันเป็นอย่างนี้ ถ้าอย่างนี้มันจะล้าอย่างนี้ ถ้าเราใช้ปัญญาอย่างนี้ เรากลับมาที่พุทโธก่อน มาพักก่อนเห็นไหม เหมือนขับรถเลย เวลาถึงจุดพัก จุดที่ว่าควรเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา มันต้องเป็นไปตามนั้น

นี่ก็เหมือนกัน พอปัญญามันเกิดขึ้นมา มันจะมีปัญญาหมุนของมันอย่างนั้นเห็นไหม ขั้นของปัญญามันพลิกแพลง มันพลิกแพลงให้จิตของเรามันใคร่ครวญไตร่ตรอง ในความเป็นไปของจิต แล้วมันย้อนกลับเข้ามา นี่คือธรรมจักร นี่คือโลกุตตรปัญญา ปัญญามันเกิดมันเกิดอย่างนี้ มันทำงานของมันอย่างนี้ มันหมุนของมันเป็นอย่างนี้เห็นไหม มันจะย้อนกลับมา

จิตนี้ต้องตายต้องเกิด ต้องตายต้องเกิดนะ ดูสิดูความบีบคั้นของฤดูกาล ดูความบีบคั้นของวัฏฏะ ดูความบีบคั้นแล้วจิตยังต้องตายต้องเกิด สลดใจไหม ถ้าสลดใจ สิ่งนี้ปัญญาอย่างนี้ มรรคญาณอย่างนี้ มันจะเข้ามา มันจะเข้ามาทำลายสิ่งที่เป็นภวาสวะเป็นภพที่ต้องไปให้เขาบีบคั้นนะ

วัฏฏะมันเป็นวัฏฏะอยู่อย่างนั้น แต่จิตนี้มันมีกิเลสอยู่มันต้องหมุนไปตามวัฏฏะอย่างนั้น มันเข้าไปจำยอมกับเขา เหมือนกับวัวในคอก มันต้องเข้าในคอก มันต้องอยู่คอก คอกนั้นครอบงำมัน นี่ก็เหมือนกัน จิตนี้อยู่ในวัฏฏะ มันต้องวนในวัฏฏะ วัฏฏะนี้บีบคั้นมัน ถ้าบีบคั้นมัน มันก็ต้องเย็นร้อนอ่อนแข็งอย่างนี้ มันจะทุกข์อย่างนี้ ต้องเกิด ต้องแก่ต้องชราภาพ ต้องจบอายุขัย ต้องโดนภพชาติมันบีบคั้นแล้วก็ต้องตายไป ก็โศกเศร้าวิลาศรำพันกัน แล้วก็ร้องห่มร้องไห้รำพันจะต้องพลัดพรากจากกันเห็นไหม

สมาธิจดไว้ก่อน แล้วใช้ปัญญาหมุนเข้ามา มันจะเริ่มไตร่ตรองเริ่มใคร่ครวญเข้ามาเห็นไหม ถึงจะอยู่ในคอก ร่างกายนี้ จิตอยู่ในคอก มันก็ใช้ปัญญาไปเปิดคอก เปิดคอกออก จะเปิดประตูคุก เปิดประตูคอกให้จิตนี้มันออกไปเห็นไหม

พยายามจะทำความสะอาดของใจ ให้ใจพ้นสภาวะทุกข์ยากอย่างนี้ ถ้าสภาวะทุกข์ยากอย่างนี้ มันพ้นออกไปบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี จนถึงที่สุดเห็นไหม ถึงที่สุดมันทำให้จิตนี้สะอาด

จิตนี้สะอาด อวิชชาปัจจยา สังขารา จิตเดิมแท้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยกิเลส จิตเดิมแท้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส ถ้าจิตนี้สะอาดเห็นไหม อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจิง สูติ จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส ถ้าจิตนี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส นี่มันสะอาดแล้ว แล้วอะไรที่เป็นเป้าหมาย อะไรเป็นสิ่งที่เริ่มต้นของความคิด อะไรเป็นสถานที่ที่จะให้พญามารมันบีบคั้นล่ะ

สิ่งที่จะบีบคั้นมันไม่มี มันโดนทำลายไปหมดนะ ถ้าโดนทำลายไปหมดเห็นไหม แม้แต่ว่าจิต จิตเดิมแท้ที่ผ่องใส มันจะรู้ว่าผ่องใสนะ มันมีธาตุรู้ มันมีตัวรู้ มันมีสิ่งที่กำหนดได้ มันถึงรู้ว่าผ่องใส ถ้าไม่มีตัวรู้ มันจะรู้ว่าผ่องใสได้อย่างไร

แต่พอมันทำลายของมันไปแล้ว ความผ่องใสนี้เป็นอาการ เป็นความรับรู้ของจิต ตัวจิตโดนทำลายสิ่งนั้นเป็นสภาวะแบบนั้น ดูสิเวลาฟ้าแลบ เวลาสิ่งต่างๆ เห็นไหม ฟ้าแลบฟ้าผ่าต่างๆ มันก็เป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้น ถ้าผ่องใสเห็นไหม ดูความสว่าง ดูฟ้าแลบมันแลบออกมามันก็ส่องแสงสว่างเหมือนกัน แล้วใครเป็นเจ้าของมัน ใครเป็นสิ่งต่างๆ ของมันเห็นไหม นี่เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง

จิตเดิมแท้ก็เหมือนกัน จิตเดิมแท้แต่มันมีกิเลส มีอวิชชามันเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นเจ้าของของมรรคญาณสำคัญกว่า ถ้ามันเข้ามาทำลายอย่างนี้ออกไปแล้ว ขนาดฟ้าร้องฟ้าผ่าไม่มีเจ้าของ แต่มันยังทำลายมนุษย์ มันยังทำลายคนตายได้เห็นไหม เวลาฟ้าผ่า ผ่าคนตายเลย

แต่อย่างนี้ ถ้าจิตผ่องใส แล้วอวิชชานะ มันเข้าไปทำลายตรงนี้ ถ้าทำลายแล้วมันไม่มี จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส ถ้ามันข้ามพ้นกิเลสแล้วมันก็หมด หมดสถานที่ให้มีการบีบคั้น วัฏฏะที่เป็นสิ่งที่จิตจะต้องมาเสวยในวัฏฏะที่ต้องให้เขาบีบคั้นอย่างนี้มันไม่มี ไม่มี ไม่เป็นไป อันนี้พ้นไปจากกิเลส

อยู่กับเราอยู่กับธรรมะนะ อยู่กับธรรมะ ธรรมะเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมเป็นอนัตตา มันเป็นอนัตตาเพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้สิ่งนี้ จิตเราเป็นอัตตา จิตเรามันคงที่ มันมีอยู่แน่นอน แต่มันโดนกิเลสครอบงำอยู่ มันเลยคงที่แบบอนิจจัง มันแปรสภาพๆ มันเกิดตายๆ แต่เพราะเวลามันมี สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวะที่คงที่มันคงที่ อัตตาเพราะมันเป็นอวิชชา มันเป็นอนัตตา สภาวธรรมสร้างเป็นอนัตตาขึ้นมา ค้นคว้าขึ้นมา ทำลายกันขึ้นมา ทำลายจนเป็นสัจจะความจริงเห็นไหม

สัจจะความจริงเป็นอริยสัจ อริยสัจมันเป็นธรรมชาติ เป็นความจริงอันหนึ่ง ความจริงอันหนึ่งที่เกิดจากสภาวะนามธรรมในหัวใจ แล้วมันทำลายกัน ทำลายอวิชชานี้ออกจากใจนะ เย็นร้อนอ่อนแข็ง ความทุกข์ความร้อนความเศร้าความโศก ที่เราต้องเผชิญกับมัน เราเผชิญกับมันแล้วนะ เราก็เศร้าโศกจากภายในหัวใจ แล้วก็อ่อนแอ แล้วก็หงอยเหงา ไม่รื่นเริง ไม่อาจหาญ นักรบนะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ สงบอยู่ในหัวใจ สงบเสงี่ยม นิ่งอยู่ในหัวใจเห็นไหม แต่ไม่ใช่อ่อนแอ จะรื่นเริงจะอาจหาญ จะเข้าใจโลกทั้งหมดเลย โลกเกิดจากเหตุ มีเหตุมีปัจจัย มันถึงเป็นอย่างนี้ ถ้าเหตุปัจจัยเป็นอย่างนี้ รู้จักที่มาที่ไป ไม่ตื่นเต้น มีเหตุปัจจัยมาเป็นอย่างนี้ แล้วถ้าเหตุปัจจัยตรงนี้ ตรงปัจจุบันนี้เราสร้างมันดี เหตุต่อไปผลต่อไป ก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าเหตุปัจจัยมันเป็นอย่างนี้ แล้วเราสร้างเหตุสร้างผลที่มันเป็นความอ่อนด้อย ที่จะทำให้เสื่อมสภาพ ผลของมันก็ต้องอ่อนด้อยเสื่อมสภาพไปเรื่อยๆ เห็นไหม อย่างนี้เข้าใจโลก เข้าใจโลก อยู่กับโลกไม่ตื่นเต้นไปกับโลก

เรานะถ้ามันตื่นเต้นไปกับโลก แม้แต่โลกภายนอกมันก็บีบคั้น โลกภายในก็บีบคั้น แล้วเราก็ยอมจำนนกับมัน เราไม่จำนนกับมันนะ ชีวิตเป็นอย่างนี้ ดูสิย้อนกลับไปตั้งแต่เราเกิด ตั้งแต่ในสังคมนะ ดูพ่อดูแม่เรา ดูความเป็นไปของเรา เป็นอย่างนี้ แล้วมีใครบ้างที่อยู่ค้างโลกนี้ ตายหมดนะ เกิดมาตายหมด

เราก็ต้องตายวันหนึ่งแน่นอน ช้าหรือเร็วเท่านั้น อย่านอนใจนะ ให้มั่นคง ให้แข็งแรง ให้ต่อสู้ ต่อสู้กับเรา ต่อสู้กับกิเลส หมั่นเพียรไง ความหมั่นความเพียรความขยันขันแข็ง มันจะทำให้เราเข้มแข็งขึ้นมา ถ้าเราเข้มแข็งขึ้นมาเห็นไหม เราจะจับอาวุธเข้าไปต่อสู้กับอวิชชา

ถ้าเราอ่อนแอขึ้นมานะ เราจะจับอาวุธของกิเลส แล้วก็ทำลายเรา จิตจะอ่อนแอไปทุกวัน ถ้ามันได้อ่อนแอมันจะอ่อนแอไปเรื่อยๆ ถ้ามันเข้มแข็งขึ้นมานะ เข้มแข็งขึ้นมามันจะมีถูกมีผิด เพราะเป็นมิจฉาหรือสัมมา แต่ก็มีโอกาสได้แก้ไข ถ้ามันมิจฉาทิฏฐิ เข้มแข็งเป็นมิจฉา คือเข้มแข็งแล้วมันไม่เป็นสัมมา มันไม่ลงเป็นปัจจุบัน เราก็ฝึกฝน มีการทดสอบ มีการตรวจสอบ ทดสอบตรวจสอบ ทดสอบตรวจสอบบ่อยๆ

ภาคปฏิบัติมันเป็นการปฏิบัติ มันรู้จากภาคปฏิบัติ มันรู้จริงขึ้นมา ความรู้จริงอย่างนี้จะเป็นสมบัติของใจ ถ้าใจได้ฝึกฝน ใจได้สมบัติเห็นไหม ใจได้สมบัติ ใจได้ปฏิบัติ สิ่งนี้เกิดขึ้นมามันจะเป็นสมบัติของใจ มันรื่นเริงอาจหาญนะ

ในสังคมใดมีปัญหาขึ้นมา เราสามารถชี้นำแก้ไขได้ เขามีปัญหาขึ้นมา เขาจะถามปัญหาเราได้ เพราะสิ่งนี้มันเป็นประสบการณ์ของจิต จิตได้ผ่านเหตุการณ์อย่างนี้มา จิตได้แก้ไขสภาวะอย่างนี้มา จนรอดพ้นวิกฤติมาเป็นชั้นเป็นตอน เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา

แล้วถ้าเขาเกิดเหตุการณ์วิกฤติ เขาอยู่ในเหตุการณ์วิกฤติ ทำไมเขาจะมาปรึกษาเราไม่ได้ ทำไมเขาจะมาฟังธรรมกับเราไม่ได้ เราทำได้เห็นไหม แต่ให้มันเป็นสัมมา ให้มันเป็นสัจจะความจริง ถ้าเป็นสัมมาเป็นสัจจะความจริง สัมมาดูสิเห็นไหม น้ำกับน้ำมัน มันเข้ากันไม่ได้หรอก กิเลสกับอวิชชา ธรรมกับวิชา

ธรรมกับอวิชชาเห็นไหม มันเข้ากันได้ไหม มันจะเป็นคู่โต้แย้งกัน สิ่งที่โต้แย้งกันเห็นไหม ธรรมแสดงออกมา แสดงออกมาโดยธรรม หรือแสดงออกมาโดยกิเลสเห็นไหม สิ่งนี้ถ้าแสดงออกมาโดยกิเลสมันก็เข้ากับกิเลส ในสังคมกิเลสก็ยกย่องกัน

ถ้าเป็นสภาวธรรมเห็นไหม เวลาแสดงออกมาในสังคมของนักบัณฑิต นักธรรมเขายกย่องกัน ยกย่องเห็นไหม เพราะสิ่งนี้เขาไปเชิดชู เพราะมันไปเข้ากับจริตเข้ากับนิสัย ธรรมกับกิเลสในหัวใจของเรา ธรรมกับกิเลสในหัวใจสังคม เราจะเข้าสังคมใด เราจะเชิดชูของเราอย่างไร เราตั้งสติของเรา เลือกเฟ้นแล้วรื่นเริง องอาจกล้าหาญในธรรม

ธรรมนะเห็นไหมดูสิ โลกเขาแย่งแหล่งน้ำกัน น้ำต่อไปจะมีปัญหามาก เพราะมันจะอัตคัดขาดแคลนไปเรื่อยๆ ที่ไหนมีน้ำที่นั่นมีชีวิต นี่ก็เหมือนกัน ที่ไหนมีธรรม เราก็แสวงหากัน เราก็แสวงหาธรรมนั้น ถ้าแสวงหาธรรมนั้น ธรรมนั้นจะเป็นเครื่องชุ่มชื่นรื่นเริงในหัวใจของเรา

ถ้าชุ่มชื่นรื่นเริงในใจของเรา เราจะที่นั้นเอาพรมให้ชีวิตเราสดชื่นขึ้นมา แล้วเราพยายามประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้ใจของเราเป็นธรรม ถ้าใจของเราเป็นธรรม เราจะเป็นผู้ที่มีความสุขในหัวใจเห็นไหม เราจะไม่ต้องไปมีความลังเลสงสัย เราจะไม่ต้องตื่นเต้นกับใคร

ตื่นเต้นเรื่องของโลกๆ มีเจริญมีเสื่อม แต่เรื่องของธรรม ธรรมไม่มีอกุปปธรรม ไม่มีการเจริญและเสื่อม คงที่ตลอดไป จะอยู่ในหัวใจของเรา ถ้าเราเข้มแข็งเราไม่อ่อนแอ เราจะเป็นนักรบ รบกับหัวใจของเรา รบกับทิฏฐิตัณหากิเลสมารในหัวใจของเรา

เรื่องของโลก เรื่องของสังคม เรื่องของหมู่คณะ ไว้ให้เป็นเรื่องของสังคม เรื่องของครูบาอาจารย์ เรื่องของสิ่งที่ว่าสงฆ์ปกครองกัน เราต้องปกครองใจเราให้ได้แล้วรักษาใจให้ได้ แล้วเราจะเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เราจะเป็นลูกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์ เอวัง