เทศน์พระ

เทศน์พระ ๒๘

๒๖ ก.ย. ๒๕๕o

 

เทศน์พระ วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจ ทำใจให้สงบ ทำใจให้นิ่ง ถ้าใจไม่นิ่งนะ มันเหมือนกับเราเปิดภาชนะ ถ้าเราเปิดภาชนะ เราก็ใส่สิ่งต่างๆ เข้าไปในภาชนะนั้นได้ ถ้าเราปิดภาชนะนั้นไว้ ภาชนะนั้นมีสิ่งของอยู่ เห็นไหม ในมหายานว่าชาล้นถ้วย ถ้าชาล้นถ้วยเติมเท่าไหร่ก็ไม่ลง เพราะมีน้ำอยู่ในถ้วยนั้นแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน เราทำใจเราให้ปกติ เวลาฟังธรรมไง เห็นไหม ทวนกระแส ปลาเป็นต้องดิ้นรนกันมา ดิ้นรนกันมาเพื่อมาชาร์ตแบตไง เราตอนเป็นพระเด็กๆ นะ ถึงเวลาแล้วเราจะไปหาพระผู้ใหญ่ประจำ ไปชาร์ตแบต เพราะเราไม่รู้หรอก เราก็ว่าเราถูกอยู่นะ ถูกขนาดไหนก็แล้วแต่ พอนานไปๆ มันเซื่องซึมลงๆ จิตใจมันหงอยเหงา

แต่ถ้าเข้าไปหาครูบาอาจารย์นะ เหมือนโดนไฟช็อต มันสะดุ้ง.. สะดุ้ง.. ตลอดเลย แต่มันมีความรู้สึกดีขึ้นตลอด เห็นไหม ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์นะ เราจะหาครูบาหาอาจารย์ให้คอยสปาร์คคอยช็อตเราตลอดเวลา

นี่ก็เหมือนกัน เราก็ต้องอยู่กันอย่างนี้ เวลาลงอุโบสถ สังฆกรรม เห็นไหม เข้าหมู่กัน หมู่จะพิสูจน์ตรวจสอบกันว่าสิ่งใดทำผิด มันเข้าหมู่แล้วมันเคอะมันเขิน เห็นไหม แล้วเวลาเราเข้าไป ความเป็นไป เห็นไหม ถ้าอย่างนี้ได้ สิ่งที่สังฆะ สงฆ์เจริญ เจริญตรงนี้

ในคารวะ ๖ เห็นไหม หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ เลิกประชุมพร้อมกัน เห็นไหม สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์กับเราทั้งหมดนะ สิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรา เพราะอะไร เพราะเรื่องของกิเลส เรื่องของความผิดของเรา ครูบาอาจารย์สอนตลอดนะ ความผิดของเราถ้าเรายังค้นหาเจออยู่ ผู้อื่นจะไม่เห็นไม่มีหรอก มันต้องเห็นอยู่

แต่ขณะที่เป็นอวิชชา เป็นความเห็นของเรา ตัวตนของเรา เราก็ว่าไม่ผิดหรอก สิ่งที่ทำมันคุ้นเคย ความคุ้นเคยความชินชาหน้าด้านเป็นเรื่องของกิเลสหมดนะ แต่ที่เป็นเรื่องของธรรมมันเลาะมันตัด เห็นไหม มันคอยกระตุ้นเราตลอดเวลา เพราะอะไร เพราะมันเป็นธรรม

ธรรมนี้เป็นอริยประเพณี เป็นประเพณีของอริยเจ้า แต่เราเป็นปุถุชน ปุถุชนคืออะไร ปุถุชนคือคนหนา คนหนา หนาด้วยอะไร หนาด้วยกิเลส ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษามาทั้งนั้น แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติไป เห็นไหม มันเป็นกระแสโลกหมด

โลกที่เขาทำกัน ดูสิ ดูเขาทำกัน มันเป็นการประชาสัมพันธ์หมด ความดีไม่ต้องประชาสัมพันธ์กัน ความดีคือดี แล้วกลิ่นของศีลมันหอมทวนลม เราพยายามจะให้มันดี เราพยายามประชาสัมพันธ์ มันเป็นเรื่องโลกๆ โลกเขาทำกันอย่างนั้น แล้วเราเห็นเขาทำกันแล้วเจริญรุ่งเรือง สังคมเขายอมรับ ทุกคนเขาทำกันแล้วมันมีประโยชน์ เราก็จะไปทำอย่างนั้น หรือเห็นไปดีกว่านั้น

ไม่ดีหรอก ไม่ดีเพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันมีการลงทุน การทำอะไรก็แล้วแต่มันต้องใช้พลังงานทั้งนั้น ถ้าทำไปมันเป็นเรื่องโลกๆ เรื่องโลกๆ คือโลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ แล้วเราไปรักษาไว้ เหมือนเราไปยืนบนปลายเท้า แล้วพยายามเขย่งไว้ เหนื่อยนะ

แต่ถ้าเป็นความจริงนะ เราไม่ต้องยืนด้วยปลายเท้า เรายืนได้เต็มเท้า เรายืนปกติของเรา มันเป็นความดี ความจริงคือความจริง ความดีเป็นความดี ความดีมันเป็นเรื่องของโลกธรรมเหมือนกัน แต่โลกธรรมนี้มันเป็นสัจจะความจริง เห็นไหม เราไม่ต้องยืนด้วยปลายเท้า

โลกเป็นอย่างนั้นนะ เราอย่าไปก่อเป็นธุรกิจ เราไม่ใช่พ่อค้า ถ้าเป็นพ่อค้าจะทำอย่างนั้น ไม่ใช่เห็นแต่เรื่องได้เรื่องเสีย เรื่องได้เรื่องเสียเป็นเรื่องของกิเลสทั้งหมดเห็นไหม แต่เรื่องของการเสียสละเราไม่ได้เสียกับใคร เราจะเอาชนะตนของเราเองไง เราจะรื้อค้นของเราเอง เราจะประพฤติปฏิบัติของเราเอง สิ่งใดที่มันขัดแย้ง สิ่งใดที่มันทำให้เราชินชามันไม่อยากกระทำหรอก ดูสิเวลาครูบาอาจารย์ท่านพูด เห็นไหม “เหมือนจูงหมาใส่ฝน” มันเปียก มันไม่ต้องการ

นี่ก็เหมือนกัน เข้าทางจงกรมนั่งสมาธิ มันไม่อยากทำ แต่เวลาคุยกันเวลาเล่นกันมันชอบนะ เพราะอะไร เพราะเรื่องนี้มันเรื่องเข้ากับกิเลสไง กิเลสมันชอบคลุกคลี เราอยู่ในหมู่คณะ ถึงคลุกคลีเราก็อยู่ของเราด้วยใจของเรา ให้มีสติสัมปชัญญะของเราตลอดไป นี่คือการรักษาเรา เพราะอะไร เพราะเราอยู่คนเดียวก็ได้ เราเข้าหมู่คณะก็ได้ ไม่ใช่อยู่คนเดียวจนเข้าหมู่คณะไม่ได้ เข้าหมู่คณะก็เข้า แต่เข้าหมู่คณะไปสิ่งใดมันเป็นประโยชน์กับเราทั้งนั้นนะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะสิ่งที่เขาพูดมาเป็นคติ เป็นสิ่งที่กระเทือนหัวใจเรา สิ่งนั้นเป็นประโยชน์หมด

เราคุยกันโดยธรรมวินัย บางทีเรานึกไม่ถึง มันมีแง่มุมของมันนะ “ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” เห็นไหม ถ้าเราเข้าหมู่แล้วคุยธรรมะกัน คุยเรื่องการประพฤติปฏิบัติกัน ก็เอามาเป็นแง่มุม เอามาเป็นคติกัน

คนหนึ่งดำรงชีวิตมานะ ต้องพยายามบึกบึนมา แล้วมาพูดให้เราฟัง แต่ถ้ามันเป็นสิ่งที่เราไม่ลงใจเราไม่เชื่อ เราก็ไม่ฟัง เราไปฟังคนอื่นก็ได้ สิ่งนี้มันเป็นเรื่องของสายบุญสายกรรมนะ บางทีสายบุญสายกรรมมันเชื่อกันมันฟังกัน ถ้าไม่ใช่สายบุญสายกรรมกันมันไม่ฟังกันนะ

แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม ที่ไม่ฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วไปฟังพระกัสสปะ ไปฟังครูบาอาจารย์ก็มี เห็นไหม สิ่งนี้เพราะสายบุญสายกรรม การสร้างกันมา ถ้าการสร้างกันมา จริตนิสัยมันไม่ลงกัน เราก็ไปฟังคนอื่น เรามีที่พึ่งที่อาศัย เพราะเราเป็นหมู่เป็นคณะ เรามีลำดับพรรษาลงมา อันไหนที่เราเป็นคติแก่เรา เราก็จับเป็นประโยชน์กับเรา

สิ่งที่เป็นประโยชน์ นี่ไง ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ แต่ถ้ามันเป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กับเรา เราหลีกเลี่ยง สิ่งที่หลีกเลี่ยงนะ เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้ในหัวใจเราก็มี สิ่งนี้เราก็เป็นอยู่แล้ว เราไม่ต้องการสิ่งนี้เลย สิ่งที่ไม่เป็นคุณงามความดี สิ่งที่จะทำให้เราเนิ่นช้า สิ่งที่ทำให้เรานอนจมไง ชักชวนกันให้ออกนอกลู่นอกทางกัน สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์

ถ้าสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ถ้าเรากลัวจะเสียมารยาทเราก็ฟังไว้เฉยๆ ถ้าเราไม่กลัวเสียมารยาทเราก็ลุกหนี เราไม่ฟังเลย สิ่งนั้นไม่เป็นประโยชน์กับเรา ในวงกรรมฐานเรา ครูบาอาจารย์ท่านคอยชี้นำเราตรงนี้นะ คอยชี้นำให้เราเห็นความเป็นไปของเรา การกระทำถูกกระทำผิด สิ่งที่การกระทำถูกกระทำผิดมันมาจากไหน มันมาจากความเคยใจ

กิเลสคือความเคยใจ มันนอนเนื่อง สิ่งที่นอนเนื่องมันนอนเนื่องกับใจ แล้วเราคุ้นชินกับมัน มันจะขี่คอเรา ถ้าเราไม่คุ้นชินกับมัน การปฏิบัติธรรมที่ไม่ได้ผล คือการปฏิบัติไม่เสมอต้นไม่เสมอปลาย ความปฏิบัติสม่ำเสมอ ไปอ่านพระไตรปิฎกสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติวินัยข้อนี้เพื่อที่คนเขาไม่ศรัทธาเขาจะได้มาศรัทธา คนที่เขาศรัทธาอยู่แล้วเขาก็ได้ศรัทธายิ่งขึ้นไป เพื่อข่มคนที่แก้ยาก เพื่อให้หมู่คณะมีความร่มเย็นเป็นสุข เพื่อข่มคนที่ควรข่ม เพื่อส่งเสริมคนที่ควรส่งเสริม

ธรรมวินัยทุกข้อจะเขียนไว้อย่างนั้นเลย แล้วการประพฤติปฏิบัติที่ไม่ได้ผลเพราะการประพฤติปฏิบัติไม่เสมอต้นไม่เสมอปลาย ไม่สม่ำเสมอ คือการปฏิบัติไม่เสมอต้นไม่เสมอปลาย

ในขณะเข้าพรรษาของเรา ๓ เดือน เราอธิษฐานได้ ดูสิเราจะถือธุดงค์ เราก็อธิษฐานว่าเราจะถือธุดงค์ แล้วเราจะอดนอนเราจะผ่อนอาหารของเรานะ เราทำของเราไป ความเสมอต้นเสมอปลาย เหมือนนักกีฬาเลย ในเมื่อเวลาของการแข่งขันยังไม่หมด เราไปทอดหุ่ย เราไม่ป้องกันของเรา คะแนนของฝ่ายตรงข้ามจะขึ้นมหาศาลเลย

ในการประพฤติปฏิบัติของเราไม่เสมอต้นไม่เสมอปลาย เห็นไหม เริ่มต้นก็เข้มแข็ง เวลานักกีฬาเขาลงแข่งขัน เริ่มต้นเราก็แข่งขันกับเขา เรามีคู่แข่งขันเราก็ต่อสู้ พอปฏิบัติไป พอแข่งขันไป เวลายังไม่หมด เราไปทอดหุ่ย คือเราไม่ปฏิบัติให้มันสมกับการประพฤติปฏิบัติแบบของเรา กิเลสมันถึงได้โอกาส มันถึงขี่คอเราไง มันขี่คอเรานะ เราก็เสียเปรียบมัน เราก็สู้มันไม่ไหว

“ก็ปฏิบัติดีอยู่แล้ว ก็ประพฤติปฏิบัติดีอยู่แล้ว ตั้งสติอยู่แล้ว ทำไมแพ้อีกล่ะ” เพราะอะไร เพราะกิเลสมันแก้ยาก สิ่งที่กิเลสแก้ยาก เราก็ต้องมีความมุมานะ แล้วถ้าอ่อนอกอ่อนใจ ไม่มีความสามารถที่จะต่อสู้กิเลสได้ ให้นึกถึงครูบาอาจารย์สิ ให้นึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นกษัตริย์ แล้วสละราชบัลลังก์มา อาหารในพระราชวังมันประณีตขนาดไหน แล้วอาหารที่ไปขอชาวบ้าน ชาวบ้านคนเข็ญใจเขาจะมีอะไรดีมากขนาดไหนที่จะมาใส่บาตรองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๖ ปีที่อยู่นี้ทำอะไรได้บ้าง ดูฤๅษีชีไพรสิ เขาถือศีล ๘ อยู่ในป่านะ เขาเก็บผลไม้กิน เขากินผลไม้มาทั้งชีวิตของเขา เขาอยู่ของเขาได้ เพราะเขาพอใจประพฤติปฏิบัติของเขา

นึกถึงครูนึกถึงอาจารย์ เวลาจิตมันท้อถอยนะ เวลาเราประพฤติปฏิบัติเราจะคิดถึงหลวงปู่มั่นประจำเลย เวลาเราเหนื่อยอ่อนมาก อดอาหาร มันท้อแท้ “ความเพียรเอ็งไม่ได้ขี้ตีนหลวงปู่มั่นหรอก ไม่ได้ขี้เล็บเลย” หลวงปู่มั่นทุกข์กว่าเรามากนะ เพราะการประพฤติปฏิบัติในสมัยหลวงปู่มั่น ในสังคม ในประชาชน ในสงฆ์ เขาอยู่กันเป็นแบบพิธีการเท่านั้นเอง มีพระเอาไว้ทำพิธีเท่านั้น แล้วเวลามีพระองค์หนึ่ง หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ออกมาประพฤติปฏิบัติ เขาก็เห็นเป็นเรื่องแปลกประหลาด แปลกประหลาดแล้วไม่เชื่อด้วยนะ

สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติมา “นั่นผีบุญมา” เห็นไหม เห็นแต่ห่มผ้าสีกรัก ห่มผ้าสีคล้ำๆ ยังวิ่งหนีกันกระเจิดกระเจิง แล้วคิดดูสิว่าหลวงปู่มั่นท่านจะเอาใครเป็นที่พึ่ง

สังคมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขณะที่สละราชบัลลังก์ออกมา จากกษัตริย์นะ ความเป็นอยู่ประณีตขนาดไหน แล้วออกมา ไม่มีศาสนาก็ต้องค้นคว้า ๖ ปีนี้สมบุกสมบันมาก แล้วกว่าจะบรรลุธรรมขึ้นมา แล้ววางธรรมวินัยไว้ เห็นไหม ที่เราได้บิณฑบาตที่เราได้ขบฉันอยู่นี้ มันเป็นบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ มรดกตกทอดของเรา ความเชื่อของชาวพุทธเรา

เราบิณฑบาตออกไปตอนเช้า เขาใส่บาตรให้อยู่แล้วเพราะเป็นประเพณีวัฒนธรรม เราได้อาศัยใบบุญขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในปัจจุบันนี้หลวงปู่มั่นก็ฟื้นฟูขึ้นมาอีก พระป่าเขาก็ยิ่งศรัทธาขึ้นมาอีก ขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกประพฤติปฏิบัติมันไม่มีใครส่งเสริมนะ เพราะศาสนายังไม่มี

หลวงปู่มั่นนะ ศาสนามีอยู่ ประเพณีวัฒนธรรมมีอยู่ แต่มันเป็นวัฒนธรรมเพียงเป็นพิธีกรรม แล้วออกประพฤติปฏิบัติมีแต่คนคอยติฉินนินทา มีแต่คนคอยโจมตี ท่านฟันฝ่าของท่านมา ท่านฟันฝ่าเพราะอะไร เพราะมันไม่มีผู้นำไง เวลาครูบาอาจารย์ท่านทำขนาดนั้น ท่านต้องต่อสู้กับสังคม ต่อสู้กับสิ่งแวดล้อม แล้วยังต้องมาต่อสู้กับกิเลสของครูบาอาจารย์ของเราเอง มีความลังเลสงสัยสิ่งใด ยังต้องรื้อค้นในพระไตรปิฎก แล้วมาทดสอบด้วยตัวเอง ประพฤติปฏิบัติมา

ของเรานะ ประวัติหลวงปู่มั่นก็มี ปฏิปทาธุดงค์กรรมฐานเราก็มี วางแนวทางไว้ให้แล้ว เห็นไหมสองชั้นสามชั้น ชั้นหนึ่งคือพระไตรปิฎก สิ่งนี้ศึกษามาเป็นเหตุ ศึกษามาเราก็งง เห็นไหม แต่ขณะที่ว่าในปฏิปทาเครื่องดำเนินของครูบาอาจารย์เรา ในปฏิปทาเครื่องดำเนิน เห็นไหม นี่คือการประพฤติปฏิบัติ นี่คือแนวทางเลย ดูสิ ฉันข้าวแล้วนะ เวลากลับไปถึงกุฏิ อย่าเอาบาตรขึ้นไปนะ อย่าเอาตัวขึ้นไป ไปถึงร้านถึงที่พักให้ผลักบาตรเข้าไป แล้วให้ผึ่งผ้า แล้วให้เข้าทางจงกรมเลย

เพราะพอขึ้นไปแล้วมันจะชวนให้พักก่อน เห็นไหม ปฏิปทาเครื่องดำเนินก็บอกไว้แล้วนะ สิ่งที่บอกไว้นี้ใครค้นคว้ามา แล้วค้นคว้ามานี้ค้นคว้ามาด้วยความด้นเดาเหรอ ค้นคว้ามาด้วยสัจจะความจริงนะ ค้นคว้ามาด้วยความรู้สึกจากภายใน เห็นประโยชน์ไง เห็นว่ากิเลสมันร้ายกาจขนาดไหน ขนาดว่าฉันมาแล้ว เก็บผ้าเก็บผ่อนแล้วเดี๋ยวจะลงเดินจงกรม มันยังชวนพักก่อน แล้วชวนพักนี้ใครชวน ก็กิเลสในหัวใจเรามันชวน ทั้งๆ ที่เราว่าเราเป็นพระปฏิบัตินะ

แล้วเวลาท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา หลวงปู่ขาว เห็นไหม มีทางเดินจงกรม ๓เส้น ในวันหนึ่งเดินนะ ถวายพระพุทธ ถวายพระธรรม ถวายพระสงฆ์ วันหนึ่งต้องเดิน ๓ เส้น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่ขนาดเป็นพระอรหันต์แล้วนะ หลวงปู่ขาว ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านยังอยู่ในวิหารธรรม อยู่ในทางจงกรมตลอดเวลา

แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติ เราจะฆ่ากิเลส ความเพียรของเราเป็นหางอึ่งของครูบาอาจารย์เรา สิ่งนี้มันเอามาปลุกเร้าได้ เวลาเราอ่อนด้อย เวลาหัวใจมันท้อแท้ คิดถึงครูบาอาจารย์สิ คิดถึงองค์ศาสดาของเรา องค์ศาสดาท่านบากบั่นท่านต่อสู้มาขนาดไหน แล้วเวลาเรามีศรัทธาความเชื่อ เราเชื่ออะไร เราเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม เราอยากพ้นกิเลสใช่ไหม เราอยากจะพ้นทุกข์ใช่ไหม แล้วความเพียรของเราล่ะ

ขนาดที่ว่าหลวงปู่ขาว เห็นไหม ครูบาอาจารย์ ในวิหารธรรมคือเหมือนเราอุ่นเครื่องรถตอนเช้า เวลาเขาใช้รถ ดูสิเวลาเราใช้รถ รถมันติดหล่มๆ เราเร่งเครื่อง เราพยายามจะเอารถเราขึ้นจากหล่มขนาดไหน แต่รถที่อยู่ในที่จอดของเขา อยู่ในอู่ของเขา เช้าขึ้นมาเขาติดเครื่องเพื่อจะให้เครื่องมันได้ทำงาน เพื่อให้เครื่องมันมีอายุยืนยาวทั้งนั้น

วิหารธรรมของครูบาอาจารย์เราเป็นอย่างนั้น ท่านอุ่นเครื่องของท่าน เพื่อเป็นวิหารธรรม เพื่อให้ธาตุให้ขันธ์อยู่สุขสบาย ให้ธาตุขันธ์มันอยู่ตามสภาพของมัน เห็นไหม จิตเป็นจิต ขันธ์เป็นขันธ์ ธาตุเป็นธาตุ เห็นไหม ความเป็นไปของจิตมันอุ่นเครื่องขึ้นมา เพื่อให้ต่างคนต่างทำภาระหน้าที่ของตัว มันก็อยู่สุขสบายใช่ไหม

แต่เราจะแก้กิเลสนะ รถของเราบรรทุกหนักมา บรรทุกธาตุขันธ์บรรทุกกิเลสมา แล้วติดหล่ม ตกข้างทาง แล้วเราจะเอารถเราขึ้น เราจะทำเหมือนครูบาอาจารย์เราไหม ครูบาอาจารย์เราท่านอุ่นเครื่องเฉยๆ ไอ้เราจะแก้กิเลส เราจะเอารถเราขึ้นจากหล่ม เห็นไหม ความเพียรของเรามันต้องเหนือกว่าสิ การกระทำของเราต้องมีคุณค่ามากกว่านั้น แต่ทำไมเราทำไม่ได้อย่างท่านเลย ทั้งๆ ที่ของท่านทำเพื่อวิหารธรรมเท่านั้นนะ ท่านยังทำด้วยความมั่นคงเลย ท่านทำเพื่อความเป็นวิหารธรรม เพื่อความเป็นอยู่ เป็นเครื่องอาศัยของใจเท่านั้น ท่านยังทำด้วยความจริงจังขนาดนั้น

เราจะแก้กิเลส ความเพียรของเราอย่างนั้นมันใช้ไม่ได้นะ ถ้าเราอ่อนแอเราท้อแท้ ให้เราคิดถึงครูบาอาจารย์เรา เราคิดถึงแบบอย่าง คติตัวอย่างมี เห็นไหม พระกัสสปะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“กัสสปะ เธอก็อายุ ๘๐ ปานเรา แล้วทำไมต้องถือธุดงควัตรอยู่”

“ข้าพเจ้าถือเพื่ออนุชนรุ่นหลัง จะได้เป็นคติ ได้เป็นตัวอย่าง”

ได้เป็นตัวอย่างเอาไปปฏิบัติ เห็นไหม พระกัสสปะเป็นพระอรหันต์นะ ครูบาอาจารย์ของเราเป็นพระอรหันต์ แล้วท่านดำรงชีพของท่านด้วยวิหารธรรม เอาท่านมาเป็นแบบอย่างสิ เอาท่านมาเป็นแบบอย่างให้เรามีความมุมานะ ให้เรามีความรื่นเริงอาจหาญในการประพฤติปฏิบัติ ให้มีวิหารธรรม มีเครื่องอยู่ในใจไง

วิหารธรรมของครูบาอาจารย์ท่านสะอาดบริสุทธิ์นะ วิหารธรรมของเราคือแค่อาศัย แค่อาศัยกับต่อสู้ ต่อสู้กับกิเลสของเรา ต่อสู้กับการบากบั่น เพื่อจะเอาความเพียรของเราให้มันต่อเนื่อง ให้ปฏิบัติเสมอต้นเสมอปลาย

ในการปฏิบัติเราให้เสมอต้นเสมอปลายนะ กลางคืนไม่มีใครมายุ่งกับเรา เนสัชชิกได้สบายๆ เลย มันจะท้อแท้ มันจะเหนื่อยขนาดไหน ความเหนื่อยนี้จะเหนื่อยเพื่อฆ่ากิเลส เวลาเหนื่อยเวลามันอ่อนแอในหัวใจ มันอ่อนแอมันคอตก คอตกเพราะอะไรล่ะ ก็จะหากิเลสแล้วกิเลสมันอยู่ไหน ไอ้อ่อนแอไอ้ท้อแท้ไอ้คอตกนี้มันเป็นกิเลสไหม ไอ้เวลามันเหนื่อยมันล้า มันเหนื่อยมันล้ามันคือเวทนาไหม

แล้วเวทนานี้กิเลสมันพาใช้ด้วย สุขเวทนา ทุกขเวทนา เวลารื่นเริงอาจหาญ เวลาปฏิบัติเห็นไหม เดินจงกรม ตั้งสติอยู่ นี่ล่ะสุขเวทนา ศากยบุตรพุทธชิโนรส เราเป็นศากยบุตร เราเป็นบุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเดินจงกรม เรานั่งสมาธิภาวนาเพื่อจะเข่นฆ่ากิเลส เราจะสร้างมรรคญาณ เราจะทำธรรมะให้รู้แจ้งในหัวใจของเรา

มันก็มีความสุข มันก็รื่นเริงอาจหาญ เวลามีความสุขอยู่เราก็เดินจงกรมด้วยความทะนงองอาจ เห็นไหม เดินจงกรมไปๆ คอตกไง เหนื่อยท้อแท้ ความท้อแท้นั้นล่ะกิเลสมันแทรกเข้ามา ขณะที่เรารื่นเริงอาจหาญ เรามีความมุ่งมั่น มันมาจากไหน ก็มันมาจากความรู้สึกเรานะ มันมาจากที่เรารื่นเริงอาจหาญในความรู้สึกของเรา

แล้วเวลากิเลสมันมา มันมาจากไหน มันก็มาจากในหัวใจเรา กิเลสมันก็อยู่ในหัวใจเรา แต่ธรรมะมันจะต้องสร้างขึ้นมา พอธรรมะสร้างขึ้นมาจิตก็สงบชั่วครั้งชั่วคราว แต่กิเลสมันอยู่กับเราตลอดไป

ขณะที่ว่ามันรื่นเริงอาจหาญขึ้นมาชั่วครั้งชั่วคราว มันเป็นเพราะใคร เป็นเพราะเราตั้งสติอยู่ เรามีหัวใจอยู่ มันมีภาชนะอยู่เพื่อจะบรรจุธรรม เพื่อจะให้ธรรมนี้เข้าสู่ดวงใจ แต่ขณะที่กิเลสมันขึ้นมาล่ะ กิเลสมันแทรกอยู่กับใจโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เพราะมันเป็นสิ่งที่นอนเนื่อง เห็นไหม อวิชชานอนเนื่องมากับใจ สิ่งที่นอนเนื่องเห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเยาะเย้ยมาร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา” ความดำริไม่ใช่ความคิดเลย แล้วเดินจงกรมอยู่ดำริไหม ดำริว่าเมื่อย ดำริว่าเหนื่อย ดำริว่าเราไม่ไหวแล้ว นี่มันเป็นดำรินะ มันยังไม่ได้คิดเลย

พอดำริขึ้นมา เห็นไหม “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา” พอดำริว่าเป็นอย่างนั้นปั๊บมารมันก็กระทืบเลยไง “ใช่ หมด ไม่มีวาสนา เหนื่อยมาก ทุกข์มาก นั่งก่อนได้ไหม” เห็นไหม ถ้ามันไม่พลิกนะ เวลามารมันมา มันมีอำนาจอย่างนั้น ถ้าเราพลิกกลับ ปัญญามันจะตีกลับเลย “ครูบาอาจารย์เดินจงกรมมากกว่านี้ มีวิหารธรรมทั้งวันทั้งคืนเลย เนสัชชิกนี้ ท่านเดินทั้งคืนท่านยังทำได้เลย นั่งสมาธิทีหนึ่ง ๗ วัน ๗ คืนนะ”

นี่ไงมันพลิกขึ้นมาได้ ถ้าปัญญามันพลิกขึ้นมา เพราะอะไร เพราะการกระทำอย่างนี้มันกระทำเพื่อเรา การกระทำเพื่อต่อสู้กับกิเลส กิเลสชั่วครั้งชั่วคราวที่มันเกิด ขึ้นมา ถ้ามันพลิกขึ้นมามันก็รื่นเริงอาจหาญขึ้นมา ถ้าปัญญามันพลิกขึ้นมามันแก้ได้ เวลากิเลสมันสอดเข้ามา เห็นไหม กิเลสมันสอดเข้ามาในหัวใจของเรา แล้วเราไม่มีปัญญาพลิก กำลังเราไม่พอ กำลังเราไม่พอแล้วเราไม่เคยฝึกฝน

ถ้าเราเคยฝึกฝน ปัญญาพอขึ้นมา มันจะพลิกกลับ เวลามันมีความคิด สิ่งที่ไม่ดีไม่งามขึ้นมา ให้เราจะเลิกลดละสิ่งที่เป็นคุณงามความดีของเรา มันจะพลิกขึ้นมาเป็นมุมมองต่างๆ เป็นมุมมองที่ถูกต้องกลับมา กลับมากระทืบมัน เห็นไหม มันมีการต่อสู้ ถ้ามีการต่อสู้ กำลังมันขึ้นมา ปัญญามันเกิดขึ้นมาอย่างนี้ มันก็ทำให้ความเพียรเราเริ่มต้นต่อไปได้

เวลาธรรมมันเกิด มันเกิดอย่างนี้นะ เวลากิเลสเกิด มันจะกระทืบหัวใจเราให้ยอมจำนนกับมัน แต่ถ้าเวลาธรรมเกิดขึ้นมา มันเป็นปัญญาขึ้นมา พลิกแพลงขึ้นมาให้เห็นคุณเห็นโทษ ถ้าปัญญาเกิดขึ้นมาอย่างนี้ ทางจงกรมนี้นะเลื่อมเลยล่ะ เพราะอะไร เพราะมันรื่นเริง มันตื่นเต้น เหมือนกับนักมวยเขาได้ให้น้ำ พอให้น้ำออกจากมุมมา มันจะสดชื่น มันจะต่อสู้ได้

แล้วเวลามันทุกข์ขึ้นมา มันเข้าใจทุกข์ เห็นไหม เวลากิเลสมันเหยียบย่ำเวลาคอตก เพราะความคิดเราเหยียบย่ำหัวใจ แล้วเวลามันรื่นเริงอาจหาญโดยธรรมพลิกขึ้นมา ธรรมมันต่อสู้กับกิเลส มันพลิกขึ้นมาในหัวใจของเรา เราจะรื่นเริงอาจหาญมาก ทางจงกรมที่มันไม่อยากเดินเลย มันคอตกเลย มันจะย่ำไปเลยนะย่ำไปเลย รื่นเริงอาจหาญ แต่มันจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป เพราะกิเลสมันอยู่ในใจ เห็นไหม ธรรมมันเกิดขึ้นมาเพราะเราตั้งใจ แล้วเรามีปัญญาขึ้นมาพลิกแพลงตลอดเป็นครั้งคราว เราถึงต้องฝึกฝนอย่างนี้ ฝึกฝนบ่อยครั้งเข้า ธรรมมันก็จะอยู่กับเราใกล้ชิดกับเรา เวลาอะไรเกิดขึ้นมามันจะคอยยับยั้งไว้ได้ตลอด

การทำงานมันเหนื่อย เหนื่อยจริงๆ เพราะเราก็ทำมาแล้ว เดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน หลายๆ วันหลายๆ คืนเดินมันตลอดเวลา เวลาปัญญามันหมุนมันอยู่ไม่ได้เลย อยู่ไม่ได้หรอก นั่งสมาธิเดินจงกรมตลอด มันนอนไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ เพราะปัญญามันเคลื่อนตลอด มันเหมือนคนไฟไหม้บ้าน แล้วเราหนีออกจากบ้านนั้น มันจะตื่นเต้นมันจะฟู นี่มหาสติมหาปัญญาเป็นอย่างนั้น เวลาเป็นมหาสติมหาปัญญานะมันจะตื่นตลอดเวลา พักไม่ได้เลย มันจะตื่นตัวตลอดเวลาแล้วมันจะเร่งตลอดเวลาเลย แล้วมันพักไม่ได้ จะทำอย่างไร มันพักไม่ได้ มันพักไม่ได้มันก็ต้องหาทางพักจนได้ เพราะมันต้องหาทางพัก มันเป็นสภาวะแบบนั้น

นี่คือถ้ามันรื่นเริงอาจหาญไง เพราะขณะที่ปัญญามันจุดติดแล้วนะ มันจะเป็นอย่างนั้นเลย ขณะที่ภาวนายังไม่ติดมันจะท้อถอย มันจะท้อแท้ตลอดเวลา แต่ขณะที่ภาวนาไปๆ เป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป จนถึงปัญญามันหมุนแล้วนะ เอาไม่อยู่เลยล่ะ เอาไม่อยู่จนคอตก ไม่ใช่คอตกเพราะไม่ได้ภาวนา แต่คอตกเพราะว่ามันหยุดไม่ได้

เวลาทำความเพียรไปมันหยุดความเพียรไม่ได้เลย แล้วทำอย่างไรมันหยุดไม่ได้ มันก็ต้องหาเทคนิคจนเอาตัวเองหยุดได้เหมือนกัน ต้องเอาตัวเองหยุดอยู่ในอำนาจให้ได้ เพราะถ้าไม่หยุดมันตาย ถ้ามันตายมันก็อยู่ในอำนาจกิเลสใช่ไหม ดูสิอำนาจกิเลส อันหนึ่งคือมันไม่ยอมทำเลย มันก็นอนจมกับกิเลส แล้วขณะที่ปัญญามันติดแล้ว มันหมุนแล้วมันจะฆ่ากิเลส กิเลสมันยิ่งฉลาดเลย เอาเราไว้ให้อยู่ในอำนาจของมัน เห็นไหม ให้ยอมจำนนกับมัน ไม่ให้ภาวนาไปได้ เห็นไหม มันจะให้ตายคาอำนาจของมัน เราก็ต้องหาหนทาง มันเป็นปัญญาของเรานะ

“ใช่” ครูบาอาจารย์ท่านเคยเทศนาว่าการไว้ในเทป มีมากเลยว่าพลิกแพลงอย่างไร ไอ้พลิกแพลงนะมันเป็นธรรมของท่าน มันเป็นธรรมของท่าน เราเอามาทั้งดุ้นมันก็เป็นสัญญาทั้งดุ้นนะ แล้วเอาไม่อยู่หรอก เอาความรู้อันนี้ไม่อยู่ แล้วไม่รู้ด้วยว่า สิ่งที่เครื่องมือเขาซ่อมเครื่องยนต์กลไก มันต้องขนาดเท่ากันนะ อย่างเช่น ปากกาเบอร์อะไรใช้ขันกับนอตอะไร

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เราเอาเข้ามามันหลวม เหมือนแหวน เหมือนปากกา มันใหญ่กว่านอตนั้น มันขันไม่ได้หรอก สิ่งที่เราจำมาของครูบาอาจารย์นะ “ใช่” เป็นเครื่องมือ แต่เวลาเอามาขันเอามาใช้กับเรามันไม่ได้ผล มันไม่ตรงกัน มันไม่ลงกัน มันขันไม่ได้เลย ยิ่งขันมันยิ่งหลวม ยิ่งขันมันหวานไปเลย เห็นไหม

มันถึงต้องให้เป็นสมบัติของเราไง ถ้าไม่เป็นสมบัติของเรา ยืนได้เป็นประเด็นได้ เป็นประเด็นให้เราค้นคว้าไง เป็นประเด็นให้เราสนใจ ประเด็นว่าสิ่งนี้ในเมื่อเราจะขันนอต นอตนี้เราจะขันอย่างนี้ ขันเพื่ออะไร เพื่อจะเปิดฝาสูบ เพื่อจะเอาฐานของเครื่องให้แน่นขึ้นมา มันเป็นแต่ละชั้นแต่ละตอน ข้างนอกหรือข้างในเครื่องยนต์

นี่ก็เหมือนกันเวลามรรคมันเดิน มันเดินข้างนอกหรือเข้าไปข้างใน ถ้าเป็นข้างนอกเราว่าเป็นข้างในเห็นไหม เป็นข้างนอกเพราะอะไร เพราะโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี มันละเอียดเป็นชั้นๆ เข้าไป แต่เราคิดว่ามันเป็นข้างใน มันละเอียดใช่ไหม เช่น การผ่าตัด ดูสิ การผ่าตัดที่ละเอียดขึ้นมา เครื่องมือของเขา ดูสิ เขาใช้เลเซอร์นะ เขาใช้เครื่องมือผ่าตัดที่เป็นเทคโนโลยีอันเล็กๆ สอดเข้าไปในร่างกายของเรา แล้วถ้าเกิดมันเป็นที่ผิวหนังภายนอก ก็ไม่ต้อง เขาใช้เครื่องมือปกติเขาก็ผ่าตัดได้

นี่ก็เหมือนกันในเรื่องการแก้กิเลส มันมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด มีละเอียดลึกซึ้งเข้าไป มันเป็นขั้นเป็นตอนเข้าไป ปัญญานี้มันแตกต่างมากนะ ขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขต ไม่มีขอบเขตแล้วยังมีความลึกตื้นต่างกันเป็นขั้นเป็นตอนไป แต่ขณะที่เราปฏิบัติมันเป็นเรื่องลึกทั้งหมดเพราะอะไร เพราะกิเลสมันอยู่ลึกอยู่แล้ว แล้วขณะที่เราปฏิบัติมันเป็นชั้นอย่างนั้น มันคือลึกทั้งหมด

เราว่ามันลึกอยู่แล้ว แต่เวลาเราผ่านขั้นตอนไปแล้ว ไปเจออะไรข้างหน้ามันละเอียดกว่านี้อีกนะ มันลึกกว่านี้อีก แล้วลึกอย่างนี้มันลึกอย่างไร ถ้าจิตมันไม่ลงไป สมาธิไม่ลงไป แล้วมันจะจับต้องได้อย่างไร มันจะไปจับกิเลสที่เป็นละเอียดได้อย่างไร

สิ่งที่เป็นกิเลสละเอียด เห็นไหม ถึงบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมามันเป็นธรรมกับเรา แล้วเวลาของครูบาอาจารย์ท่าน นี่ไงถึงบอกว่าวิทยานิพนธ์ของใครของมันนะ เราจะไปจำมาทั้งดุ้นอย่างนี้ ใช้กับเราไม่ได้หรอก แต่เป็นประเด็นได้ เป็นสิ่งที่เราเอามาเป็นแบบอย่าง เอามาเป็นสิ่งที่ปลุกปลอบใจเรา นึกถึงครูบาอาจารย์ให้เป็นแบบอย่าง ท่านทุกข์มาทั้งนั้น การกระทำมาไม่มีใครชุบมือเปิบหรอก

การชุบมือเปิบเป็นเรื่องของกิเลส เรื่องของกิเลสจะเข้ากับธรรมไม่ได้ เรื่องกิเลส เรื่องความมักง่าย เรื่องความชุบมือเปิบ เป็นเรื่องของกิเลส กิเลสมันทำอย่างนั้นให้การกระทำเราเข้ากับกิเลสอยู่กับกิเลส แล้วมันจะไม่เจริญก้าวหน้าไปเลย มันจะอยู่อย่างนั้น มันจะแช่อยู่อย่างนั้น

ขณะที่จิตมันดีขึ้นมา เวลาภาวนาขึ้นมาจิตมันดีขึ้นมา มันมีกำลังขึ้นมา มันก็ว่าสิ่งนี้เป็นธรรม มันปล่อยวางได้หมด มันมีความสุขได้เหมือนกัน แต่ถ้ามันยังไม่มีการสรุปลงด้วยการสมุจเฉท ขาดเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป เดี๋ยวมันเสื่อม มันต้องเสื่อมแน่นอน เพราะสิ่งนี้มันเป็นอนิจจัง สัพเพ ธัมมา อนัตตา เห็นไหม นิพพานเป็นอนัตตาๆ แล้วธรรมก็เป็นอนัตตา การกระทำก็เป็นอนัตตา กิริยาในหัวใจก็เป็นอนัตตา สมาธิก็เป็นอนัตตา ปัญญาก็เป็นอนัตตา อนัตตาคือมันแปรสภาพ มันไม่คงที่ แม้แต่ขณะที่ปัญญาหมุนแล้วมันก็เป็นอนัตตา สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา

สภาวธรรมเป็นอนัตตา มันจะไปแก้อัตตา แล้วผลของการที่เกิดขึ้นจากอนัตตาล่ะ ผลของการที่จิตมันมรรคสามัคคี มันรวมตัวแล้วมันสมุจเฉทปหานแล้วมันทำลายกิเลสออกไป มันเป็นอย่างไรล่ะ ถ้ามันทำไปแล้ว อย่างนั้นต่างหากล่ะมันถึงเป็นอกุปปธรรม มันถึงเป็นผลงานของเราขึ้นมา ถ้าครูบาอาจารย์ไม่มีสิ่งนี้ในหัวใจจะสอนได้อย่างไร

กิริยาและการกระทำของใจมันทำอย่างไร มันถึงจะพ้นจากกิเลสได้เป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมา แล้วธรรมของครูบาอาจารย์ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แน่นอนเป็นของจริงทั้งนั้น เราฟังได้ เราเอาเป็นคติได้ แต่เราต้องทำของเราขึ้นมา ปัญญามันต้องเกิดกับเราขึ้นมาเอง ถ้าธรรมจะเกิดกับเราขึ้นมา มันต้องมีเหตุมีผล มีเหตุมีผลที่เราทำอย่างไร เรารื่นเริงอาจหาญกับธรรมะอย่างไร ไม่ใช่เรายอมจำนนกับมัน เรายอมจำนนแล้วเราพอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยกิเลสพาใช้อย่างนี้ มันเป็นธรรมอยู่ แต่มันมีกิเลสแทรกเข้ามาด้วยไง มันถึงไม่สะอาดบริสุทธิ์

มัชฌิมาปฏิปทามันเป็นอย่างไร อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค มัชฌิมาปฏิปทา ความสะอาดบริสุทธิ์ที่เป็นมรรคญาณ ขณะที่จิตมันรวมตัวมันทำอย่างไร มันเป็นได้ มันเป็นจริงสำหรับคนที่รู้จริง คนรู้จริงมันเป็นสัจจะความจริงอันนั้นขึ้นมา แล้วมันเป็นอฐานะเลย มันจะกลับคืนสู่สภาพแบบนั้นอีกไม่ได้ มันจะไม่มีการแปรปรวนอีกแล้ว มันจะคงที่อย่างนี้ตลอดไป

ถ้ามันคงที่ตลอดมันมาจากไหนล่ะ มันมาจากใจที่ล้มลุกคลุกคลานจากเราไง มันมาจากที่ว่าอ่อนอกอ่อนใจ ทุกข์อยู่อย่างนี้ เราทุกข์ไหม...ทุกข์ ประพฤติปฏิบัติทุกข์ไหม...ก็ทุกข์

สิ่งที่เป็นธรรมนะ ให้ฟังธรรมให้รื่นเริงอาจหาญ อย่าไปเป็นพ่อค้า กรรมฐานธุรกิจของเขา เห็นไหม ดูเขาทำกัน เขาทำกันเพื่ออะไร อย่างนี้มันน่าเศร้านะ เพราะการฆ่ากิเลสมันเป็นมรรคญาณ มันเป็นธรรมจักรในหัวใจที่จะชำระกิเลส มันไม่เกี่ยวกับแก้วแหวนเงินทอง ไม่เกี่ยวกับระบบการประชาสัมพันธ์ ไม่เกี่ยวกับการนับหน้าถือตา ไม่เกี่ยวกับอะไรเลย มันไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติเลย มันมีแต่ทำให้เนิ่นช้า ทำให้เราหลงระเริงไปกับโลก เห็นไหม โลกธรรม ๘ สรรเสริญ ลาภ สักการะ เขายกมือไหว้ เขามีความเคารพนบนอบ ตื่นไปกับเขาแล้ว พอตื่นไปกับเขาแล้วทำอย่างไรล่ะ พอตื่นไปกับเขาก็ต้องบริหารจัดการไง เขามาก็ต้องดูแลเขา ต้องวุ่นวายไปหมด เห็นไหม มันไม่เกี่ยวกับมรรคญาณเลย ไม่เกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติเลย ถ้าเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติมันคือเรื่องของความรู้สึก มันเรื่องของปัญญาในหัวใจทั้งนั้นเลย ฉะนั้นต้องย้อนกลับมาที่นี่

เรื่องของโลกนะ มันเป็นหน้าที่ของครูบาอาจารย์ เป็นหน้าที่ของผู้นำ ผู้นำจะบริหารอย่างนั้นไปเอง ถ้าผู้นำที่ฉลาด จะไม่เอาสิ่งนี้มาคล้องคอพวกเรานะ แต่ถ้าผู้นำที่ไม่ฉลาด จะไปเอาโลกเป็นใหญ่ เราจะต้องไปยุ่งกับเขาไปหมดเลย

แต่ขณะที่เราประพฤติปฏิบัติกัน ทำไมเวลาที่มีญาติโยมมา ทำไมเราต้องไปดูแลเขาล่ะ ไปดูแลก็ไม่ใช่ไปดูโดยให้เขาเป็นใหญ่ไง แต่ในเมื่อมันเป็นคารวะ ๖ เห็นไหม มันเป็นอาจริยวัตรเป็นอาคันตุกวัตร สิ่งที่มันเป็นมา ถ้าคนไม่มีคุณธรรมในหัวใจ สิ่งที่มีแขกเขาไปมา ก็ต้องต้อนรับเขาเป็นปฏิสันถาร

ปฏิสันถาร คือ การต้องรับ ต้อนรับเขาก็เท่านั้น ไม่ใช่จะให้เขามาบงการเลย “จะต้องเป็นอย่างนั้น” ถ้าอย่างนั้นก็ไปนอนโรงแรมสิ โรมแรมที่ไหนก็ได้มันสะดวกอยู่แล้ว มาวัดทำไม มาวัดใจ มาวัดแล้วไม่พอใจ ความไม่พอใจในหัวใจคืออะไร มันคือกิเลสทั้งนั้น แล้วเอากิเลสมาปฏิบัติธรรมได้อย่างไร

สิ่งที่เราต้อนรับอยู่บ้าง มันก็ต้องต้อนรับเพราะเราอยู่ในสังคม ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา อุบาสกอุบาสิกาเข้ามาเห็นไหม ศรัทธาไทย ภิกษุทำให้ศรัทธาไทยตกร่วง คือ เขาศรัทธาแล้วทำให้เขาเสื่อมศรัทธาไป เป็นอาบัตินะ

แต่ทีนี้เราไม่ได้ทำให้เขาตกร่วง เรามีกฎกติกาของเรา มีกฎกติกาในวัตรปฏิบัติเห็นไหม เราก็ทำได้เท่านี้ ถ้าเขาต้องการมากกว่านี้ เขาก็ไปหาสิ่งที่เขาพอใจสิ เห็นไหม เราไม่ได้ทำให้เขาตกร่วง แต่ถ้าจะเอาใจเขาไปหมดเลย เอาใจกิเลสไม่ได้หรอก! ตัณหาความทะยานอยากล้นฝั่ง ไม่มีสิ่งใดที่จะให้พอ เป็นไปไม่ได้

สิ่งที่จะให้กิเลสมันบอกว่าพอแล้วพอดีไม่มี สิ่งนี้ไม่มีเราถึงต้องตัดทอนมัน ต้อนรับเขาในกติกาของวัดเรา แล้วเขาจะพอใจหรือไม่พอใจนั้นเรื่องของเขา แล้วเรื่องของเขานะ เขาอยู่ได้หรือไม่ได้ก็เรื่องของเขา นี่คือการต้อนรับของวัดป่าเรานะ ไม่ใช่ว่าพอพูดแล้วไม่เอาอะไรแล้วก็ปิดตายเลย เห็นไหม อย่างนี้มันไม่ใช่ธรรม

ถ้าเป็นธรรมขึ้นมา มันรู้ว่าอะไรควรและไม่ควร สมควรหรือไม่สมควร และเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมขึ้นมา ให้ก็ให้ด้วยความเป็นธรรม รับด้วยความเป็นธรรมไหม ถ้าเป็นธรรมกับธรรมขึ้นมามันก็สมดุลกัน ให้เป็นธรรม แต่รับด้วยกิเลส รับเป็นตัณหาความทะยานอยาก มันจะเป็นธรรมขึ้นมาได้อย่างไร

มันต้องเอาหัวใจเราคิด เราเป็นครูบาอาจารย์กันไหม เราเป็นสัทธิวิหาริกกันหรือเปล่า เราจะเอาอะไรเป็นที่พึ่ง ที่พึ่งของเราจะอยู่ที่นี่เห็นไหม ถ้าอยู่ที่นี่มันก็เป็นความจริงขึ้นมา ศาสนาเจริญๆ ตรงนี้ หลักการ ธรรมวินัยเลย เอาธรรมวินัยเป็นตัวตั้ง แล้วผู้ประพฤติปฏิบัติ เวลาออกพรรษานะ มหาปวารณา “มีความผิดอะไร ขอให้เตือนมา ขอให้เตือนมา” เราจะเตือนกันได้ เราจะดูแลกัน เราจะสงเคราะห์กัน เตือนในความผิด เตือนกันได้หมด มหาปวารณานะ ปวารณาว่าถ้าเขาจะมีความผิดขอให้บอกๆ ไม่มีใครสูงใครต่ำกว่าใครทั้งสิ้น

นี่คือศาสนาของพระพุทธเจ้า เห็นไหม พระพุทธเจ้าท่านให้เตือนกัน ให้ดูแลกันให้รักษากัน ศาสนาเจริญๆ ตรงนี้ เจริญตรงที่รับฟังกัน รับฟังเหตุรับฟังผล ถ้ารับฟังเหตุผลเราก็ดูแลด้วยเหตุและผล ในเมื่อเขาทุกข์มา เขาไม่มีที่พึ่งอาศัยก็ให้อาศัย แต่ต้องเป็นธรรม ต้องเป็นสิ่งที่อยู่ในกฎกติกาของกรรมฐานเรา อย่าให้มันออกไปเป็นโลกๆ ถ้าเป็นโลกๆ น่าเกลียดมากๆ

สิ่งที่เราทำอยู่ตรงนี้ก็เหมือนกัน เราต้องการให้มันอยู่ในกรอบ เราถึงต้องเป็นผู้กระทำเสียก่อน เราชิงทำให้เสร็จให้หมดเลย แล้วไม่ให้ใครเข้ามายุ่ง ให้มาอยู่เฉยๆ ให้มาปฏิบัติ ให้มาค้นหากิเลส ไหนว่าเป็นนักปฏิบัติไง แล้วกิเลสมันอยู่ไหน เอามาให้ดูหน้าหน่อยสิ เอามันมาแล้วฆ่ามัน ถ้าฆ่ามันนี่คือการชำระกิเลสไง

แล้วเราเป็นนักรบ เราเป็นศากยบุตร เราเป็นผู้นำ ถ้าเรามีชีวิตเป็นผู้นำเราต้องเป็นแบบอย่าง การสั่งสอน หลวงตาท่านสอนบ่อย “การสอนที่ประเสริฐที่สุดคือการไม่ต้องสอน” ชีวิตการเป็นอยู่ของเรานี่แหละสอนเขา ทำไมฉันมื้อเดียว ทำไมอดอาหาร ทำไมมาอดนอน ทำไมมันอยู่ของมันได้

การสอนโดยไม่สอน การดำรงชีวิตของเราอยู่นิ่งๆ อยู่ในธรรมวินัย เทวดา อินทร์ พรหม เขาเคารพนับถือนะ คนเขาจะเห็นหรือไม่เห็นก็เรื่องของเขานะ แต่เทวดาฟ้าดินเห็น ทำอยู่ในศีลในธรรมนี้มันต้องมีคนเห็น มีคนเห็นอยู่แล้ว เขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เรื่องของเขา

ถ้าเราอยู่นิ่งๆ อยู่ในธรรม นี่ล่ะสอนโดยไม่ต้องสอน ถ้าสอนก็สอนโดยการกระทำของเรา สอนด้วยความเป็นอยู่ของเรา อย่างเช่น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์ไม่เทศน์นะ แต่ชีวิตหลวงปู่เสาร์ แล้วเวลาครูบาอาจารย์ไปถาม

“ทำไมหลวงปู่เสาร์ไม่เทศน์ล่ะ”

“โอ้...ทำให้มันดูมันยังไม่เอาเลย!”

ชีวิตของหลวงปู่เสาร์ ทั้งชีวิตให้มันดู ทำให้มันดูอยู่แล้วมันจะทำตามหรือเปล่า

“ทำให้มันดู มันยังไม่เอาเลย แล้วจะไปสอนมัน”

นี่ก็เหมือนกัน เห็นไหม ชีวิตแบบอย่าง ถ้าเราสอนไม่ได้ เราอยู่ในธรรมวินัย เชื่อมั่นอริยประเพณี ธุดงควัตรของครูบาอาจารย์นี่คืออริยประเพณี

เราอยู่ในธรรมวินัยของเรา เขาดูอยู่ ทุกคนนะโดยธรรมชาติของกิเลส อยากรู้สอดรู้สอดเห็น กิเลสนะสอดรู้สอดเห็น แล้วเราทำดีอยู่ มันต้องเห็น มันต้องสอดมาดู ดูหมดว่าใครดีไม่ดี แต่ดีนี่กูไม่พูดนะ ดีกว่ามันไม่ยอมพูดหรอก แต่ถ้าเลวกว่านะ มันจะวิจารณ์มากเลย

การสอนนะเราอยู่ในศีลในธรรม อยู่ในร่องในรอยมันต้องดูตลอด ทุกคนต้องจับผิดทุกคนต้องดู ยิ่งดียิ่งจับผิดมาก เราอยู่กับครูบาอาจารย์ ถ้าภาวนาดีนะ เช่นหลวงปู่มั่น ถ้าภาวนาดีคนที่มีแวว จะคอยจี้คนนี้เลย “เป็นอย่างไร จิตเป็นอย่างไร”

แต่ถ้าคนภาวนาไม่ดี มันเป็นอำนาจวาสนาไง ถ้าภาวนาไม่เข้า ภาวนาแล้วยังถูไถอยู่ ท่านก็ดูอยู่ห่างๆ เพราะเหมือนเด็กๆ ถ้าไปจี้เข้ามันจะร้องไห้ จี้เข้ามันจะตื่นตัว บางทีมันถึงกับเป็นลมได้นะ ถึงบอกว่าถ้าภาวนาดีเราก็คุยกันสูงขึ้น ถ้าภาวนาอย่างนั้นเราก็ปล่อยไว้ เห็นไหม

ท่านจะคอยดูของท่านนะ ครูบาอาจารย์ท่านจะคอยดูการประพฤติปฏิบัติของเรา แล้วโลกเขาจะไม่ดู เป็นไปไม่ได้หรอก ถ้าเราทำของเรา เรามีอำนาจวาสนา เราอยู่ในร่องในรอยนะ นี่ล่ะสอนโดยไม่สอน ไม่จำเป็นว่าต้องไปเทศน์ ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องสอนเขา ถ้าเราไม่มีอำนาจวาสนาเราสอนคนไม่ได้

ความเป็นอยู่ของเรา เราอยู่ในธรรมวินัย แล้วเราพยายามทำตัวของเราให้ดีขึ้น อยู่จนเป็นนิสัย ถึงจะปฏิบัติไม่ได้มันก็เป็นนิสัย ถ้าปฏิบัติได้ก็สุดยอดเลย ถ้าปฏิบัติได้นะ จิตมันสงบเข้ามา แล้วน้อมเอาไปวิปัสสนา แล้วมันจะฆ่ากิเลส.. ฆ่ากิเลส.. ฆ่ากิเลส.. จนจิตนี้บริสุทธิ์ เอวัง