เทศน์พระ

พระวินัย

๒๒ มิ.ย. ๒๕๕๒

 

พระวินัย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เรามาลงอุโบสถปักษ์นี้นะ ปักษ์หน้าจะเข้าพรรษา เข้าพรรษา ในพรรษา ออกพรรษาเห็นไหม เข้าพรรษานี้ต้องการให้พระไม่เดินทางไง การที่พระเดินทางหมายถึงว่าออกวิเวกค้างแรมค้างคืนเห็นไหม แต่ในพรรษาไม่เดินทาง ให้เร่งความเพียร

ออกพรรษาแล้วมันเป็นประเพณีนะ ถ้าออกพรรษาแล้วพระไม่ออกธุดงค์ สมัยพุทธกาลนะไปฟ้องพระพุทธเจ้าเลย ต้องออกธุดงค์ ไม่ให้ชินชาอยู่กับที่ใดที่หนึ่ง ไม่ให้จม ไม่ให้แช่ ไม่ให้จิตนอนจมอยู่กับความโลภ ความโกรธ ความหลง ในการขับเคลื่อนของเรา ให้จิตมันตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ในการเข้าพรรษา ออกพรรษานี่เป็นประโยชน์ของมันนะ

แต่ในปัจจุบันนี้ สมัยครูบาอาจารย์ของเรามันยังมีป่ามีเขาให้ได้เที่ยวออกวิเวก การออกวิเวกเห็นไหม บวชขึ้นมาแล้วอยู่กับวัดอยู่กับวา การธุดงค์ก่อนหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ก็มี แต่เขาธุดงค์กันเป็นครั้งเป็นคราว ดูสิ ในปัจจุบันนี้เขาจัดกิจกรรมของเขาเห็นไหม อยู่มนัสอะไรกันต่างๆ นั่นความเห็นของเขานะ

สิ่งต่างๆ ของเขา เขาทำกันเป็นประเพณีเป็นครั้งเป็นคราว แต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านออกของท่าน ท่านเคลื่อนของท่าน ท่านอยู่ป่าท่านของท่าน ท่านประพฤติปฏิบัติของท่าน นี่ภิกษุเห็นไหม แม้แต่พระก็แตกต่างกัน

แม้แต่คนก็เหมือนกัน ดูสิ เราเป็นคนเห็นไหม เรามาบวชเป็นพระ ทำไมฆราวาสเขาถึงยกมือไหว้เราล่ะ การที่เขายกมือไหว้เขาเคารพบูชา เรามีสิ่งใดให้เขาเคารพบูชาไหม ถ้าเรามีสิ่งใดให้เขาเคารพบูชา เราตรวจสอบความประพฤติของเรา ถ้าความประพฤติของเรามันผิดศีลผิดธรรม สิ่งที่มันผิดความประพฤติ มันเป็นความถูกต้องไหม

ถ้ามันเป็นความถูกต้องเห็นไหม เพราะมนุษย์เวลาเราบวชเป็นพระ ทางโลกเขาว่ากันว่า “ไหว้พระก็ไหว้ลูกชาวบ้าน” นั่นมันเป็นความเห็นของเขา จิตใจเขาเป็นโลก เขามองโดยวิทยาศาสตร์ไง เขามองด้วยว่าพระก็มาจากคน คนก็มาจากพ่อจากแม่ เห็นไหมพ่อแม่เป็นใหญ่

เวลาลูกบวชแล้วทำไมพ่อแม่ยกมือไหว้ลูกล่ะ เวลาเราเป็นฆราวาสกัน มีแต่เราไหว้พ่อแม่ก่อน ผู้ใหญ่ไม่ไหว้เด็กก่อน เด็กต้องไหว้ผู้ใหญ่ก่อนเห็นไหม ผู้ใหญ่ถึงไหว้รับตอบนั้น แต่เราบวชเป็นพระแล้ว ทำไมพ่อแม่ต้องไหว้ลูกล่ะ เพราะพ่อแม่เป็นญาติกับศาสนา เพราะมีเลือดเนื้อเชื้อไขของเขามาบวชในศาสนา พอบวชในศาสนาก็เป็นญาติกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นญาติไง เขาได้บุญกุศลอันนี้ เห็นไหม เรามาบวชเป็นพระเป็นเจ้า ประเพณีวัฒนธรรมของคฤหัสถ์เขา เขาถือเคารพบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

แต่ปัจจุบันนี้เราเป็นสมมุติสงฆ์ เพราะบวชเป็นพระโดยสมมุติ โดยญัตติจตุตถกรรม เป็นจริงตามสมมุติ คนเกิดก็เกิดโดยสมมุติ ชีวิตนี้ก็เป็นสมมุติอันหนึ่งแต่มันมีจริง มันทุกข์ มันยาก มันทุกข์ร้อนอยู่จริงๆ เกิดมาจริงๆ สมมุติจริงๆ จริงตามสมมุติ บวชเป็นพระก็เป็นพระโดยสมมุติ เป็นพระโดยที่ว่าใจยังไม่ได้เป็นพระ

ใจที่ไม่เป็นพระนะ ในการประพฤติปฏิบัติของเรา เรามีกิเลสอยู่ คนเขารู้ทันเรานะ สิ่งที่เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันรู้ทันกันได้ ดูทางการศึกษาสิ เรียนทันกันได้ วิชาการเรียนทันกันได้ ความรู้ความเห็นเรียนทันกันได้

แต่เวลาเราเป็นสมมุติเห็นไหม สิ่งที่แสดงออกมา ผู้รู้จริงมี ครูบาอาจารย์ของเราที่มีหัวใจที่เป็นธรรมมองเห็นกิริยาความประพฤติก็เข้าใจได้ เพราะอะไร เพราะพ่อแม่กับลูก เห็นไหม พ่อแม่ครูอาจารย์

พ่อแม่เราเลี้ยงอาหารเลี้ยงให้เราเติบโตขึ้นมาในร่างกาย ให้เรามีทางวิชาการให้มีวิชาชีพ แต่หัวใจของเราเร่าร้อนมาก ไม่มีใครดูแลเราได้ แต่ครูบาอาจารย์เห็นไหม พ่อแม่ครูอาจารย์ ท่านเป็นทั้งพ่อทั้งแม่ด้วย พ่อแม่เลี้ยงดูมา ครูบาอาจารย์เลี้ยงทางหัวใจ ให้หัวใจเราเข้มแข็งขึ้นมา ให้หัวใจเรามันมีความจริงขึ้นมา ถ้ามีความจริงขึ้นมาอยู่ที่ไหนก็อยู่ได้นะ ความปกติสงบสุข บุญกุศลนะ ความนิ่งอยู่ของเราเห็นไหม ถ้าเป็นความจริงอยู่ที่ไหนมันก็มีความนิ่งอยู่ ด้วยศักยภาพของทางโลกนะ

ดูสิ ดูพระอัญญาโกณทัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลก เป็นพี่ใหญ่ของพระสงฆ์ เวลาสำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาก็อยู่ในป่าในเขา เอาพระปุณณมันตานีบุตรมาบวชองค์เดียว ซึ่งเป็นหลานที่เป็นเอกทางการเทศนาว่าการ นี่ไงเป็นสงฆ์องค์แรกนะ แต่อยู่ในป่าในเขา เราจะมาวัดกันด้วยสิ่งที่เป็นวัตถุ ด้วยอำนาจวาสนาบารมีจากภายนอก มันไม่มีประโยชน์อะไรหรอก

คนที่เป็นธรรมขึ้นมา ในหัวใจเป็นธรรมนะ เขาไม่เอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นว่าเป็นการเชิดชูศาสนาหรอก การเชิดชูศาสนาคือการดำรงชีวิตของเราโดยความปกติสุขเห็นไหม มันน่าเคารพเลื่อมใส

แล้วพระอรหันต์แต่ละองค์เห็นไหม ในสมัยพุทธกาล พระอรหันต์ที่ว่าฉันข้าวไม่เคยอิ่มเลยก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน คำว่าพระอรหันต์มันปกติสุขในหัวใจ มันเป็นที่เคารพบูชาของสังคมสงฆ์ที่เขารู้เขาเข้าใจกัน ฉะนั้นถ้าจิตใจของเราไม่ปกติสุข จิตใจของเราไม่เป็นสงฆ์จริง มันเป็นโลก พอเป็นโลกขึ้นไป แม้แต่บริขารเราก็ต้องสวยๆ งามๆ ทัดเทียมหน้าเทียมตาเขา อะไรก็ต้องทัดเทียมหน้าเทียมตาเขา

แต่ถ้ามันเป็นธรรมวินัยนะ ถ้ามันผิดศีลผิดธรรม เห็นไหม ดูสิ ผ้าครองเห็นไหม ถ้ามันจะขาดครองอะไรต่างๆ สิ่งนี้มันผิดธรรมผิดวินัย เราจะอยู่กันได้ด้วยทิฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน ทิฐิไม่เสมอกัน ความเห็นมุมมองของศีลต่างกัน เราจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร พออยู่ด้วยกันมันก็ประดักประเดิด อีกคนหนึ่งมันรังเกียจรังงอน ความรังเกียจรังงอนอันนั้นมันไม่เป็นความปกติสุข

ถ้าจิตใจมันเป็นความปกติสุข เราทำตามธรรมวินัย ถ้าอยู่ตามธรรมวินัยเห็นไหม สังคมสงฆ์ สังคมเราก็ร่มเย็นเป็นสุข มันวางใจกันได้ไง เราอยู่กันด้วยความไว้วางใจ มันมีความสุขนะ เราอยู่กันด้วยความไม่ไว้วางใจกัน หัวใจเรามันเร่าร้อนนะ เพราะอะไร เพราะจิตเรา เราเป็นพระโดยสมมุติไง เราถ้าเป็นพระโดยความเป็นจริง เป็นพระที่ใจเห็นไหม พอเป็นพระอยู่ที่ใจมันร่มเย็นเป็นสุขจากภายใน อยู่คนเดียวก็อยู่ได้ อยู่กับหมู่คณะก็อยู่ได้ อยู่อย่างไรก็อยู่ได้

ความอยู่ได้ของเราอันนี้ เราปกติสุขแล้วคนอื่นก็ปกติสุขไปกับเรา เราเร่าร้อนเอง เราร้อนของเรา เราไม่ปกติสุขของเรา ความไม่ปกติสุขของเรา เราเองเราก็ไม่มีความสบายใจ พอไม่มีความสบายใจมันก็ไม่ลงใจ ใจมันก็ดิ้นรน มันก็อาศัยข้างนอกเห็นไหม พออาศัยข้างนอกมันหวังพึ่งคนอื่นไง หวังพึ่งโน่น หวังพึ่งสังคม หวังพึ่งหมู่คณะ หวังพึ่งเครื่องอยู่อาศัยว่าจะมีความสุข อะไรจะมีความสุขไปหมดเลย แล้วร้อนหมด ไม่มีอะไรมีความสุขเลย

แต่ถ้าเรารักษาใจของเราให้มีความสุข นั่นแหละคฤหัสถ์เขา เขายกมือไหว้เราทำไม เขายกมือไหว้เราเพราะเราเป็นภิกษุนะ เป็นผู้สงบสงัด ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร แล้วเราเห็นภัยในวัฏสงสารไหม ถ้าเราเห็นภัยในวัฏสงสาร ธรรมวินัยมันสำคัญมาก ธรรมวินัยเป็นปฏิปทาเครื่องดำเนิน

ในโลกนี้เขาหาเงินกันนะ เพราะเงินนี่เป็นศาสนาหนึ่งเลย ศาสนาแห่งเงิน เงินตราเนรมิตทุกอย่างให้เขาได้เห็นไหม เขายิ่งแสวงหาเงินกันเพื่อความสงบสุขของเขา แล้วเราจะหาสิ่งใด เราจะหาสิ่งใด โลกเขาหาเงินมาเพื่อความสุขของเขา เพื่อเป็นเงินตราเนรมิตทุกๆ อย่างให้เขาได้

แต่ถ้าหัวใจเรา เราจะหาสิ่งใดเป็นที่พึ่งอาศัยของเรา ไม่มีหรอก พระเรามีศีลมีธรรมเป็นที่พึ่ง มีความสงบสุขเป็นที่พึ่ง มีใจเป็นที่พึ่ง ถ้ามีธรรมเป็นที่พึ่งที่อาศัยของเราเห็นไหม เราจะเคารพตัวเราเอง แล้วเราอยู่คนเดียวได้สบายๆ เลย

สิ่งใดข้างนอกนะ เราเป็นผู้รับผิดชอบ เราเป็นหัวหน้า เราก็ต้องบริหารจัดการไป แม้แต่ผ้านะ เราได้บริหาร ๑๐ วัน ผ้าตั้งแต่ ๔ นิ้ว กว้าง ๔ นิ้ว ยาว ๘ นิ้วขึ้นไป ต้องวิกัป ถ้าไม่วิกัปเราถือไว้เห็นไหม เราได้บริหาร ๑๐ วัน ถ้า ๑๐ วันนั้นไม่วิกัปเป็นนิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ แม้แต่ผ้า ๓ ผืนเราก็ต้องบริหารมัน บาตรทุกอย่างก็ต้องบริหารจัดการทั้งนั้น เพื่อให้ตรงกับธรรมวินัย

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อข้อวัตรปฏิบัติ เราเป็นหัวหน้า เราก็ดูแลของเรา แต่ต้องดูแลของเราโดยธรรมไง มันเป็นอย่างนี้นะ สรรพสิ่งในโลกนี้มันเป็นอนิจจัง ทุกอย่างเกิดขึ้นมาแล้วมันต้องเสื่อมสภาพเป็นธรรมดา เราต้องดูแลเห็นไหม ถ้าเราไม่ดูแลนะ ดูสิ ของของสงฆ์เอามาใช้ ถ้าจากไปแล้วไม่เก็บเองก็ดี ไม่วานให้ผู้อื่นเก็บก็ดี เป็นปาจิตตีย์ นี่ของของสงฆ์เราต้องบริหารจัดการ

การบริหารจัดการมันเพื่อธรรมวินัย เพื่อไม่ให้เป็นอาบัติของเราเห็นไหม ของที่เราเอามาใช้มาสอย เราเก็บเข้าที่ไหม ถ้าเก็บเข้าที่เห็นไหม เราเองเราก็มีจุดยืนของเรา เพราะธรรมวินัยอันเดียวกันเสมอกัน เราเอาสิ่งใดเอามาใช้แล้วเราก็เก็บเข้าที่ คนอื่นจะใช้สอยก็มาใช้สอยเพราะมันเป็นส่วนกลาง เป็นของของสงฆ์ ของสงฆ์คือส่วนกลาง ทุกคนมีสิทธิใช้สอยเสมอกัน

พระเรามีพรรษามาก เรากันท่าเขา เรานั่งไว้ก่อน ภิกษุมีพรรษาที่อ่อนกว่านั่งที่สูงกว่าเป็นอาบัติทุกกฎ แล้วเราไปนั่งกันท่าเขาเป็นอาบัติทันทีเลย อาบัติคนที่กันท่า ของของสงฆ์ก็เหมือนกัน ของของสงฆ์ของสาธารณะสงฆ์เป็นของใช้ร่วมกัน ใครจะเอามาใช้ เราเอามาใช้เราต้องเก็บเข้าที่ การเก็บเข้าที่นี่การได้บริหาร เราอยากบริหาร วัดเราบริหาร สรรพสิ่งเราบริหารขึ้นมา

เราสร้างวัดขึ้นมาเพื่อขอให้สงฆ์จากจตุรทิศ ผู้ที่ไม่ได้มาขอให้มาเถิด ผู้ที่มาแล้วให้อยู่สุขสบาย เพราะอะไร เพราะมีความเห็นเสมอกัน ของที่เราใช้เสมอกัน เราใช้ร่วมกัน เราดูแลรักษาด้วยกัน สิ่งใดมันก็เป็นประโยชน์ มันก็เป็นของของสงฆ์ ของของสงฆ์ไม่รักษาไม่เอื้อเฟื้อในธรรมวินัยเป็นอาบัติปาจิตตีย์

ถ้าทิฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน มันจะมีความสุขไหม สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติจากภายนอก ข้อวัตรปฏิบัติเป็นเครื่องดำเนินเราทิ้งไม่ได้นะ ธรรมวินัยที่มีอยู่แล้วเห็นไหม ดูสิ ดูพระเห็นไหม ดูฝ่ายมหายาน อาจริยวาท เขาทำแต่ความเห็นของเขา อาจริยวาทอาจารย์ คือถือบุคคลเป็นใหญ่

แต่เราเป็นเถรวาท ตั้งแต่สังคายนาแล้วเห็นไหม พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ สังคายนาเสร็จแล้วตั้งญัตติเลยว่า “พวกเรามีความเห็นร่วมกันว่า สิ่งใดที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้แล้ว เราจะไม่ตัดทอน สิ่งใดที่ไม่ได้บัญญัติ เราจะไม่เสริมเข้ามา” ตั้งเป็นญัตติไว้เลย

เถรวาทจะถือจากพระไตรปิฎกตามธรรมวินัยนี้ ถ้าถือตามธรรมวินัยนี้ไม่ใช่อาจริยวาท ต้องเอาธรรมเป็นใหญ่ ครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมไหม ถูกต้องตามธรรมวินัยไหม ถ้าถูกต้องตามธรรมวินัยนะ เรายิ่งเคารพบูชาใหญ่ อาจารย์ของเราเป็นผู้ที่มีราตรีที่ยาว ได้ผ่านความเห็นมาในธรรมวินัย ท่านนำพาอย่างไร

แล้วเราปฏิบัติตามท่าน แล้วเราไปเปิดพระไตรปิฎก ไปเปิดนวโกวาท ไปเปิดบุพพสิกขา โอ้โฮ ตรงกันๆๆ แสดงว่าครูบาอาจารย์ของเราท่านเคารพธรรมวินัย แล้วมันก็เป็นที่น่าไว้ใจ เป็นที่น่าเชื่อถือ น่าไว้วางใจ โอ้โฮ อยู่ร่มเย็นเป็นสุขนะ อย่างนี้ใจเป็นธรรม ถ้าใจเป็นธรรมทุกอย่างจะเป็นธรรม จะอยู่ร่มเป็นสุขนะ ถ้าใจเป็นโลกล่ะ ใจเป็นโลกมันเหยียบย่ำ ความเป็นโลกคืออารมณ์ความรู้สึก โลก โลกทัศน์ โลกของเรา จะให้เขายอมรับๆ ไม่มีใครยอมรับใครนะ

การยอมรับคือยอมรับคุณงามความดีของเรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านไม่ต้องการให้ใครยอมรับเลย ดูสิ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นเวลาท่านพูดกับหลวงตามาว่า “ภิกษุที่มีพรรษามากก็ให้อยู่เบื้องหลัง ให้ภิกษุที่มีพรรษาน้อยได้เข้ามาฝึก มันจะได้มีธรรมวินัยติดหัวมันไป”

ธรรมและวินัยติดหัวมันไปไง ติดหัวคือความรับรู้ ว่าสิ่งใดถูกต้องสิ่งใดดีงาม สิ่งใดที่ทำแล้ว ไปทำที่ไหนมันก็ทำได้ถูกต้อง เพราะธรรมวินัยนี้เป็นอันเดียวกัน เราจะธุดงค์ไป เราจะไปที่ไหน เราใช้ธรรมวินัยอันนี้ เราไปที่ไหนเราก็ไม่เก้อไม่เขิน เพราะเรารู้ อะไรผิดอะไรถูก อะไรควรไม่ควร

สิ่งใดที่ควรหยิบมาใช้หรือไม่ควรหยิบมาใช้ เอามาใช้แล้วจะใช้อย่างไร วัจกุฎีวัตร เวลาเข้าส้วม เข้าส้วมอย่างไร มันมีหมดนะ เวลาจะขบจะฉันมันมีทั้งนั้น สิ่งที่ฉันเห็นไหม เวลาไปบิณฑบาต วัตรบิณฑบาต วัตรทุกอย่างมีพร้อมหมดเลย ถ้าเรามีธรรมวินัยเราจะไปอยู่ที่ไหนนะ เราเคลื่อนที่ไปเห็นไหม เพราะอะไร เพราะมันเป็นประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น เราก็สังเกตเอา

สังเกตเอาว่าเขาควรทำอย่างไร แล้วเราก็ทำตามนั้น ทำตามนั้นเสร็จแล้ว เราก็มาดูธรรมวินัยถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ไปอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ ถึง ๖ ราตรีให้ดูกันว่า เราจะรับพฤติกรรมของวัดเขาได้ไหม ถ้าไม่ได้วันราตรีที่ ๖ เราต้องเก็บบริขารไป เพราะราตรีที่ ๗ ถ้าไม่ขอนิสัยเจ้าอาวาสที่เขาพรรษามากกว่าเรา เราจะเป็นอาบัติปาจิตตีย์เลย

เห็นไหมถือนิสัยไง เราต้องถือนิสัย พ้นนิสัยแล้วใครเป็นคนพ้นนิสัย ถ้าพูดถึงภิกษุผู้ที่ฉลาดพ้นนิสัย หมายถึงว่า ภิกษุ ๕ พรรษาขึ้นไปแล้วท่องปาติโมกข์ได้รู้ธรรมวินัย ถ้าภิกษุ ๑๐๐ พรรษา ๒๐๐ พรรษาถ้าไม่รู้ธรรมวินัย ไม่ถึงกับพ้นนิสัย คำว่าพ้นนิสัย ๕ พรรษา ๑๐ พรรษา ถือว่าพ้นนิสัยแล้ว เราพ้นนิสัย นิสัยใครล่ะ ถ้ามันไม่รู้อะไรมันจะพ้นนิสัยใคร ก็นิสัยกิเลสไง นิสัยทิฐิมานะ ทิฐิมานะมันยึดมั่นถือมั่นของมัน แล้วมันจะรู้อะไรขึ้นมา พอไม่รู้แล้วมันจะเอาอะไรไปคุ้มครองตัวเอง

ธรรมวินัยที่ศึกษากันมาคุ้มครองตัวเรานะ ให้ตัวเรารับรู้ ให้ตัวเราเข้าสังคมได้ เหมือนกฎหมายไทย คนไทยต้องรู้กฎหมายไทย ดูขับรถไปสิ จับความเร็วทั่วประเทศไทย จับหมด จับหมดเลย ใครเร็วมาจับหมดเลย จับความเร็วต้องเสียค่าปรับทั้งนั้นนะ

นี่ก็เหมือน ในสังคมของเถรวาทเรา เราไปอยู่ที่ไหน เราไปทำสิ่งใดก็แล้วแต่ สิ่งนี้เราศึกษาไว้ ให้มีข้อวัตรติดหัวมันไป ติดหัวมันไป ติดหัวว่าเราควรทำได้หรือควรทำไม่ได้ สิ่งใดควรทำได้ สิ่งใดควรทำไม่ได้

นี่มันรู้ มันเข้าใจ มันต้องศึกษา ถ้าไม่ศึกษามัน เราบวชมาแล้วเราไม่รู้อะไรเลย แล้วยิ่งพรรษามากๆไปอย่างนี้อายเขาตายห่าเลย ไปไหนไม่กล้าทำอะไร ทำอะไรกลัวผิดกลัวถูก เก้อๆ เขินๆ แล้วเป็นพระอะไร ไหนว่าเป็นพระๆ เห็นไหม เป็นผู้ประเสริฐ พระเป็นผู้ประเสริฐแม้แต่กฎหมายบังคับตัวเองยังไม่เข้าใจตัวเอง แล้วบอกบริหารจัดการจะเอาอะไรมาบริหารจัดการ บริหารจัดการให้ความรู้ของตัวเอง บริหารจัดการตัวเองให้ได้ก่อนเห็นไหม

นี่แค่เรื่องโลกๆ นะ มันยังไม่เข้าเรื่องของธรรมะเลย ธรรมะเห็นไหม ดูสิ...ความที่สงบของใจ บวชแล้วเรียนแล้ว บวชมาต้องศึกษานะ ศึกษาขึ้นมาเพื่อให้รู้เป็นอันเดียวกันไง ไม่ใช่ว่าใครรู้ถูกรู้ผิด ใครรู้อย่างไร ไม่จำเป็น

ธรรมของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกเลยนะ “ไม่มีกำมือในเรา” แบตลอดเลย ไม่มีกำมือ ธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าวางไว้ เพื่อให้เราศึกษาเล่าเรียน เพื่อให้เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ให้ใจมันเป็นธรรมขึ้นมา แต่ไม่มีกำมือในเรา พระพุทธเจ้าบอกเลยไม่มีกำมือในเรา มีแต่พวกเราศึกษาไม่เข้าถึง ศึกษาไม่ได้ ศึกษาไม่รู้ พระพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้แล้วนะ แบไว้หมดเลย เราจะต้องศึกษาขึ้นมาเพื่อเป็นข้อวัตรปฏิบัติขึ้นมา แล้วตั้งใจทำให้ได้นะ ตั้งใจทำขึ้นมา

คำว่าทำขึ้นมา ดูสมบัติใครก็อยากได้ คุณธรรมใครก็อยากได้ เราทำขึ้นมาให้จิตใจมันเข้มแข็งขึ้นมา อย่าให้มันอ่อนแออย่างนี้ วิตกกังวล จิตวิตกกังวลจนไม่กล้าทำอะไร จนแสดงออกจากจิต จิตแสดงออกมาโดยที่ไม่เป็นอิสรภาพเลย จิตของเราต้องเข้มแข็งขึ้นมา สิ่งใดผิดสิ่งใดถูก ผิดทั้งนั้นนะ ทำผิดแล้วก็ปลงอาบัติมันจะเป็นอะไรไป ถ้าเราตั้งใจ เราทำเลย ทำเลย!

เรานี่เวลาออกธุดงค์มานะ เมื่อก่อนไปทางอีสานไม่กล้า เห็นเขากินบ๊วยกัน เราจะถามก็ไม่กล้าถาม เดี๋ยวหาว่าจับผิดกัน เราก็ฉันกับเขาเลย พอถามเสร็จแล้วยกมือสาธุเลย “ผมขอถามซิ ทำไมถึงฉันได้” เขาอธิบายให้ฟังหมดนะ บอกฉันได้เพราะเถรสมาคม วัดบวรฯ ท่านอนุญาต อย่างนี้ๆ ถึงฉันได้ เราบวชใหม่ๆ เราจะรู้อะไร เพราะบวชมาพรรษาเดียว ทางอีสานเห็นเขากินบ๊วยกัน เพราะตอนเราเป็นเด็กๆ บ๊วยเรากินเล่นนะ

อ้าว พระกินบ๊วยได้ด้วยเหรอ ก่อนจะถามเขาถ้าไปถามเขาเหมือนจับผิดกัน เรานี่ฉันก่อนเลย เขากินกันเราก็กิน พอกินเสร็จแล้ว ถามนี่เพราะอยากรู้นะ เพราะกินด้วยกันก็ทำด้วยกัน ถ้าผิดก็ผิดด้วยกันอยู่แล้ว กินเข้าไปเลย กินเสร็จแล้วก็ถามเขา

ถามเขาเขาก็อธิบายให้ฟัง โอ้ มันกินได้เพราะเหตุนั้นๆๆ เวลาเราไปเราทำของเราอย่างนั้น เพื่ออะไร ก็เพื่อไม่อย่างนั้นก็สงสัยอยู่อย่างนั้นนะ จะบอกว่าผิด ไม่ต้องกลัวว่ามันจะผิด เราทำมาแล้ว มันลังเลสงสัยเห็นเขากินอยู่ “เอ...มันกินได้หรือไม่ได้วะ เอ้า...เขากินกูก็กินโว้ย”

พอกินเสร็จแล้วก็ถาม ทำไมถึงกินได้ กินได้เพราะเหตุใด อะไรคือกินไม่ได้ อ๋อ...พอกินได้ พอกินได้เท่านี้กินได้แล้วนะ กินได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเลย เพราะกินได้ๆ แต่ทีแรกไม่กล้า ละล้าละลังเพราะอะไร เพราะเราเป็นคนจีนใช่ไหม เราก็เห็นอยู่ นี่ของเรากินเล่นตั้งแต่เด็กๆ แล้วเรา เอ๊ะ!บวชมาแล้วทำไมพระกินขนมได้วะ เอ๊ะ! เห็นเขากินกันก็กิน กินเสร็จแล้วค่อยถามเขา

นี่ไง เพราะเราไม่รู้ นี่ถ้ามันละล้าละลังมันก็ผิดอยู่อย่างนั้นนะ ฉันเลย ฉันกับเขานั่นแหละแล้วถามเขา เพราะเขาทำอยู่แล้ว หัวหน้าทำอยู่แล้ว ทำเสร็จแล้วเพราะเราไม่ได้ถามด้วยความสบประมาท ไม่ได้ถามด้วยความจับผิดใคร เราถามเพราะอยากรู้จริงๆ เพราะเราสงสัยจริงๆ

นี่ไง ถ้าเราไม่รู้ผิดหรือถูกเราทำไม่ได้นะ เราทำเลย เราทำมาแล้ว เราธุดงค์มานี่ ใครมีอะไรเข้าไปศึกษาๆๆ มาเลย แล้วศึกษามาแล้วก็มากรอง “ฮื่อ...อันนี้ไม่เข้ากับธรรมวินัย อันนี้เข้ากับธรรมวินัย สิ่งใดที่ผิดก็ปลงอาบัติกันไปแล้ว”

นี่ไง เราตั้งใจทำของเรา แล้วเวลาเราปฏิบัติเหมือนกัน จริงจังกับมันๆ เราต้องจริงจังกับเรา เราถึงจะทำของเราได้ เราไม่จริงจังกับเราเอง เราอ่อนแอของเราเห็นไหม ทำตั้งแต่ศึกษาจากภายนอก ภายนอกคือธรรมวินัย

ธรรมวินัยเห็นไหม ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมวินัยของเรายังไม่มี ความรู้จริงของเรายังไม่มี ถ้าความรู้จริงของเราไม่มีเห็นไหม เราปฏิบัติไป บุพพสิกขาเราอ่านตั้งแต่พรรษาแรกเลย พรรษาแรกนี่อ่านบุพพสิกขาจบแล้ว ทุกอย่าง ประวัติครูบาอาจารย์ แต่พระไตรปิฎกไม่ได้รื้อ ไม่ได้ไปค้น ไม่ทำเลย จนปฏิบัติไปถึงเข้าใจว่าตัวเองมีหลักมีเกณฑ์แล้ว ถึงกลับมาดูพระไตรปิฎก มาดูหมดเลย ดูตั้งแต่เริ่มต้นเลย ดูเล่มแรกหมุน ๒ รอบ ๓ รอบเลย พระไตรปิฎกดูมาหมด ดูมาแล้วมันถึง ฮื้อฮือๆ ความเข้าใจมันเกิด เกิดเพราะเรามีหลักมีเกณฑ์ของเราแล้ว

เราจะบอกว่าไม่ต้องไปห่วงว่าจะถูกจะผิด มันต้องมีการกระทำ ผิดหรือถูกมันต้องแก้ไข เราจะทำถูกไปหมดเลยมันไม่มี แล้วละล้าละลังไม่กล้าทำอะไรเลย ละล้าละลัง ทำอะไรก็ไม่ได้กลัวถูกกลัวผิด ไม่ได้! ทำไปเลย! มีครูบาอาจารย์อยู่ หมู่คณะมีอยู่

ระบบไง ระบบระบอบเป็นโลก ธรรมวินัยเป็นโลก เป็นประเพณีวัฒนธรรม นี่สิ่งนี้มันกองอยู่แล้ว ถ้าพูดถึง นี่ดูสิ ในร่างกายของเรา สังคมสังคมหนึ่ง วัดวัดหนึ่ง เหมือนร่างกายมนุษย์ เราเหยียบขวากเหยียบหนามไป เราจะเดินไปไม่ได้เลย เราจะกะโผลกกะเผลกไปหมดเลย

ใครคนใดคนหนึ่งทำผิดวินัยสิ คนใดคนหนึ่งทำผิดวินัยมันจะขัดแย้งกันทันทีเลย ในวัดนี้ใครทำอะไรที่ไม่ถูกต้องตามธรรมวินัย มันจะขัดแย้งกับสังคมขัดแย้งกับพระทั้งหมด นี่มันขัดแย้งกันล่ะ พอมันขัดแย้ง นั่นนะเหยียบหนามไปแล้ว ร่างกายนี้ไปไม่ได้แล้ว หมู่คณะมันขัดแย้งกันแล้ว มันตรวจสอบกันแล้ว นี่ไงระบบมันกรองอยู่แล้ว

ถ้าเราอยู่ในวัดในวาระบบมันกรองอยู่แล้วนะ เพราะระบบของเราคือข้อวัตรปฏิบัติมันกรองอยู่แล้วชั้นหนึ่ง ถ้ามันผิดมันถูกมันจะขัดแย้งทันทีเลย แต่ถ้ามันไปตามมันก็ขัดแย้งเรานะ “ฮื่อ ลำบากนะ ฮื่อ ทำอย่างโน้นจะดีกว่าอย่างนี้ ทำไมเขาไม่ทำอย่างนั้น อย่างนั้นมันจะดีกว่า” มันดีกว่าของเรา แต่มันไม่ดีกว่าของธรรมวินัยหรอก มันดีกว่าของกิเลสไง มันไม่ดีเท่ากับธรรมของพระพุทธเจ้า สิ่งนี้พระพุทธเจ้าฝึกไว้หมดแล้ว ดูสิ ใครบวชมาก็แล้วแต่ บริขารจะเอาให้แตกต่างคนอื่นเลย จะตัดให้แปลกประหลาดมหัศจรรย์ ดูสิ เห็นไหม เขาทำแตกต่าง

มันมีมา ๒,๐๐๐ กว่าปีนะ จีวรเรานะ พระอานนท์เป็นผู้ออกแบบ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้เป็นผู้ออกแบบเอง พระห่มจีวรกันอย่างไร ห่มสังฆาฏิกันอย่างไร แล้วนี่ตั้งแต่ ๒,๐๐๐ กว่าปีนะ ใครบ้างไม่คิดแบบเรา ลูกเศรษฐีมหาเศรษฐีผู้ที่เขามีทางวิชาการ เขาจะดัดแปลงพวกบริขารไปมากกว่าเราอีก แต่ดัดแปลงไปแค่ไหน ถ้าดัดแปลงโดยกิเลสก็ไปไม่รอด กลับมาเป็นบริขาร ๘ เราอยู่นี้ กลับมาเป็นอยู่อย่างนี้ ของอย่างนี้ได้พิสูจน์มาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว

แต่ทิฐิมานะมันจะเป็นอย่างนั้นได้หมด มันจะต้องการความแตกต่าง ต้องการจุดความสนใจ กิเลสเป็นอย่างนั้น กิเลสของสัตว์โลกเป็นอย่างนั้นทุกๆ คน กิเลสมันต้องการให้คนยอมรับไง แม้แต่ตัวมันเองมันอยากจะแตกต่าง มันจะมีความแตกต่าง มีความแปลกประหลาดกับเขา แล้วมันเป็นจริงไหม

นี่ไงระบบมันกรองเห็นไหม สิ่งที่ระบบระบอบนี้มันกรองอยู่แล้ว ธรรมวินัยนี้มันกรองอยู่แล้ว พอสิ่งนี้มันหมุนไปได้ โลกนี้มันหมุนไปได้ ความเป็นอยู่ในวัดในวาเห็นไหม ร่างกายหนึ่งมันร่างกายแข็งแรง การขับเคลื่อนเลือดลมเดินดีนะ คนนั้นจะแข็งแรง ระบบในวัด ความเสมอภาคกันในวัด ความเห็นทิฐิมานะในวัดมันลงตัวกันเห็นไหม

ในการประพฤติปฏิบัติมันไว้ใจได้แล้ว มันลงใจได้แล้ว พอลงใจได้การปฏิบัติมันก็ง่ายขึ้น ในการประพฤติปฏิบัติ ขัดแย้งกันมาแต่ข้างนอกเลย อะไรก็มีความขัดแย้งกันไปหมดเลย แล้วก็พุทโธๆ “เมื่อกี้ไอ้โน่นก็ขัดขากู ไอ้นี่ก็ขัดขากู” แล้วพุทโธๆ เห็นไหม ปล่อยให้ระบบมันไปได้ ข้างในมันก็จะมาได้

สิ่งใดๆ ร่างกายมันไม่ขัดแย้งกัน การภาวนามันก็จะไปได้ด้วยดี ถ้าใจมันสงบขึ้นมา ความสงบมันมีหนึ่งเดียว สัมมาสมาธิมันก็คือถ้าลงสมาธิมันก็เป็นสมาธิ ถ้าจิตมันสงบขึ้นมามันก็เป็นความสงบของใจเห็นไหม ถ้ามันสงบบ้างไม่สงบบ้าง มันมีความเห็นต่างๆ กัน เวลาเราสนทนาธรรมกันมันเป็นจริตวาสนาของเรานะ ปรึกษาหารือกันได้ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ พูดสิ่งใดที่เป็นสัจธรรม ความเป็นเจตนาดีต่อกัน การคุยกันโดยธรรมเห็นไหม คือเหมือนกับทางวิชาการเขาทดสอบกัน เขาปรึกษาหารือกัน

นี่ก็เหมือนกัน ประพฤติปฏิบัติกัน ใครมีมุมมอง ใครมีความคิดเห็นเอามาคุยกัน แต่! แต่อย่าเอาทิฐิมานะมาคะคานกัน เวลาเอาทิฐิมานะมาคะคานกัน อันนั้นมันเป็นหมากัดกัน หลวงตาท่านพูดอยู่ว่า “ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ไอ้ธรรมะหมากัดกันเอาทิฐิมานะมาเถียงโต้แย้งกัน มันมีประโยชน์อะไร หมามันกัดกันมันเป็นหมา เราเป็นคน แล้วยังมีศรัทธาความเชื่อมาบวชเป็นพระอีกด้วย แล้วเราจะกัดกันอย่างกับหมา เอาวิชาหมามาใช้มันใช้ประโยชน์ได้อย่างไร”

วิชาหมาไม่เอามาใช้ เอาวิชาคนมาใช้ เอาวิชาของภิกษุมาใช้ ถ้าเอาวิชาของภิกษุมาใช้เห็นไหม เอาเหตุเอาผลมาพูดกัน ถ้าเหตุผลเขาดีกว่า เหตุผลเขาน่าเชื่อถือกว่า “ฮื่อ จริงหรือไม่จริงเราก็ต้องพิสูจน์กัน”

เราคุยกันเพื่อสัจจะเห็นไหม ถ้าเราคุยกันด้วยสัจจะ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ นี่คือการสนทนาธรรม แต่ถ้าใจเราสัมผัสธรรมล่ะ ใจเราเป็นสมาธิขึ้นมาล่ะ ใจเรามีความสงบร่มเย็นขึ้นมาล่ะ ความสงบก็คือความสงบนะ ถ้าปัญญามันออกก้าวเดินขึ้นไปนะ ผู้รู้จริงมี เราอย่าคิดนะว่าผู้รู้จริงไม่มี ผู้รู้จริงเขามองพฤติกรรมเราออกหมดนะ

ผู้รู้จริงเห็นไหม คนรู้ไม่จริงเหมือนเด็กนะ เด็กมันเล่นขายของเด็ก มันเล่นกันตามประสา มันมีความสนุกสนานของมันโดยความไร้เดียงสานะ มันใสสะอาดบริสุทธิ์เพราะมันไม่มีเล่ห์เหลี่ยม แต่กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันมีเล่ห์กลของมัน แล้วแสดงออกมาเรื่องกิเลสตัณหา มันน่าสะอิดสะเอียนทั้งนั้น ไม่มีใครต้องการหรอก แต่เราแสดงออกมาได้อย่างไร พฤติกรรมมันแสดงออกมาเราไม่อายใครเลยหรือ ไม่อายตัวเองไม่อายฟ้าดินเลยหรือ

ถ้ามันอายฟ้าดินมันน่าละอายใจนะ ถ้าละอายใจต้องระงับยับยั้งโดยสติปัญญา สติปัญญายับยั้งใจเราไว้ อย่าให้มันแสดงออก สิ่งนี้เป็นของที่ไม่ดี ต้องละออก วางได้ ไม่ทำมัน ฝืนมันขึ้นไป เพื่อเราจะเป็นคนดีนะ

คนดีเห็นไหม ถ้าใจมันดีขึ้นมาแล้วมันมีแต่ความสงบร่มเย็นนะ เพราะอะไร เพราะเราบวชเป็นพระ สมมุติสงฆ์เราเป็นสงฆ์โดยสมมุติเห็นไหม เราถือธรรมวินัยเป็นศาสดา เรามีเป้าหมายเดียวกัน เราอยู่ด้วยกันเป็นสังคมจากธรรมวินัย ถ้าจิตใจมันประพฤติปฏิบัติเข้ามา ร่มเข้ามา เห็นไหมได้สัมผัสธรรม พอได้สัมผัสธรรมจิตใจที่มันสงบร่มเย็นเข้ามา มันมีความสัมผัสธรรม แต่มีความร่มเย็นจากภายนอก

ความสงบร่มเย็นจากภายใน ถ้าความสงบร่มเย็นจากภายใน แล้วเราออกวิปัสสนาให้เกิดปัญญาขึ้นมา ปัญญามันเกิดขึ้น พอปัญญามันเกิดขึ้นนะ คนเราถ้ามันมีอริยทรัพย์จากภายใน มันจะถนอมรักษามากนะ ดูสิ ในโรงพยาบาลที่เขารักษาโรคเห็นไหม คนไข้นอกเขามารับยาแล้วเขาก็กลับไป คนไข้ที่มีโรคภัยไข้เจ็บเขาก็จะรับไว้เป็นคนไข้ใน

คนไข้ในคือคนที่เจ็บไข้ได้ป่วย คนที่เข้าไอซียู คนที่เข้ารับการผ่าตัด เขาก็มีการฆ่าเชื้อ มีห้องปลอดเชื้อไว้สำหรับการผ่าตัด ดูสิ ในโรงพยาบาลหนึ่งๆ เขายังมีระดับของเขา เขายังมีความป้องกันเชื้อโรคแตกต่างกัน

นี่ใจก็เหมือนกัน ใจที่มันจะละเอียดเข้าไปในหัวใจมันมีระยะของมัน มันมีการพัฒนาการของมัน แล้วพอธรรมะมันก็เอาสีข้างเข้าถู ปัญญาๆๆ มันปัญญาของใคร? มันปัญญากับคนไข้นอก คนไข้นอกมันอยู่นอกโรงพยาบาล มันมารับยาเสร็จแล้วมันกลับไป มันบอกว่า “โอ้ รับยาเสร็จเป็นพระอรหันต์นะ โอ้ กินยาแล้วก็หายนะ” มันไม่มีวันหายหรอก ถ้าเป็นไข้หนักๆ ไอ้คนไข้นอกคือคนไข้เล็กน้อย คนไข้ที่ไม่รักษาก็หาย ถึงเป็นคนไข้นอกมารับยาเอาเฉยๆ

แต่ถ้ามันมีโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมา เขาตรวจเห็นว่ามันมีโรคอุกฤตต่างๆ เขาต้องรับไว้เป็นคนไข้ในเพื่อดูตามอาการ เพื่อรักษาของเขา แล้วกิเลสเรามันอยู่ในจิต มันยิ่งกว่าคนไข้ในนะ มันเป็นเชื้อโรคที่ว่าฝังมาตั้งแต่ปฏิสนธิจิตเลย

แล้วมรรคญาณที่จะเอาไปแก้ไขมันเอาความรู้เห็นหยาบๆ อย่างนั้นมาแก้ไขได้อย่างไร ความรู้เห็นอย่างหยาบๆ นะ นี่ไงมันถึงแบ่งแยกเห็นไหม ไม่ได้แบ่งแยก มันเป็นแนวทาง คันถธุระ วิปัสสนาธุระ

คันถธุระก็ศึกษาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามวินัย วินัยธร พระวินัยธรใช้วินัยนี้บังคับต่างๆ เวลาเกิดอธิกรณ์ขึ้นมา ต้องตัดสินกันด้วยวินัย นี่คันถธุระ

วิปัสสนาธุระ..ศึกษาธรรมวินัยไว้แล้ว สิ่งที่ผิดที่ถูกก็ศึกษาแล้ว ศึกษาเข้าใจแล้ว แล้วชีวิตเราเราไม่ต้องการให้เกิดตายเกิดตายอีก ชีวิตเราต้องถึงที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ ชีวิตเราต้องไม่เกิดอีกเห็นไหม วิปัสสนาธุระ วิปัสสนาธุระมันก็ต้องเอาชนะตนเองให้ได้ ตัดสินกันด้วยธรรมและวินัยในหัวใจของเรา กิเลสกับธรรมที่ต่อสู้กัน มันเป็นกิเลสกับธรรมในหัวใจของเราแล้วนะ จากข้างนอกการบริหารจัดการ

คันถธุระเขาปกครองสงฆ์ ในการปกครองสงฆ์ สงฆ์หมู่ใหญ่ สงฆ์มีการประพฤติปฏิบัติ สงฆ์ตั้งแต่สงฆ์บวชใหม่เข้ามา สงฆ์อายุพรรษา มหาเถระขึ้นไปเห็นไหม ต้องปกครองต้องดูแลเพื่อให้สังคมสงฆ์นี้เจริญรุ่งเรืองให้เป็นที่พึ่งอาศัยของสังคม แต่วิปัสสนาธุระมันเป็นเรื่องของเรา เป็นการต่อสู้กับกิเลสของเรา เป็นการต่อสู้จากภายใน มันก็ต้องย้อนกลับเข้ามาต่อสู้จากภายใน ต่อสู้ด้วยสติปัญญานะ ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ไม่มีสมาธิ ไม่มีหลักเกณฑ์ในหัวใจ จะเอาอะไรไปต่อสู้กับมัน

ต่อสู้กับกิเลส กิเลสที่มันไหลลง กระแสที่มันออกมาจากอวิชชา มันขับเคลื่อนออกมาในหัวใจ มันรุนแรง มันทับถมใจ มันเหยียบย่ำหัวใจของเรานะ มารเป็นใหญ่ มารเป็นใหญ่แล้วธรรมวินัยมันอยู่ไหน วินัยที่จะต่อสู้กับมัน ธรรมที่จะเกิดขึ้นมา

ถ้ามันตั้งสมาธิได้จิตมันสงบขึ้นมา มันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน มันยับยั้งของมัน มันจะถนอมรักษานะ คนภาวนาเป็นเขาจะปลีกวิเวก เขาจะไม่คลุกคลี ความคลุกคลีเห็นไหม กิเลสของเรามันก็โดนกระตุ้นโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว แล้วเอาไปคลุกคลีกับใคร มันเวล่ำเวลา แล้วดูสิเวลาเรากินข้าว เวลาเราฉันอาหารเห็นไหม เราจะไปคุยกับใคร จะให้ใครมายุ่งกับเราเสียเวลาไหม

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราประพฤติปฏิบัติ ใจของเราต้องต่อสู้ ไปคุยกับเขาไปคลุกคลี มันก็เหมือนเวลาที่มันต้องเสียไปกับการประพฤติปฏิบัติ คนที่เขาต้องการพ้นจากทุกข์ เขาจะไม่เอาเวลาที่เสียไปกับเรื่องไร้สาระอย่างนั้นนะ ถ้าเป็นธรรม ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เวลาสนทนาธรรมกันนะ มันเป็นที่เราออกจากสมาธิภาวนา แล้วเราจะมีเวลาที่จะมานั่งถกปัญหากัน

แต่เวลาปฏิบัติแล้วมันไม่ใช่เวลานั้น เวลากินก็กิน เวลานอนก็นอน เวลาขับถ่ายก็ขับถ่าย มันเป็นเวล่ำเวลาเห็นไหม ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน เวลาของเราที่ต่อสู้กับเรา เราต้องสงวนเวลาของเราสิ นี่ก็พระป่า ข้อวัตรปฏิบัติเห็นไหม ฉันเสร็จแล้วทำข้อวัตรเสร็จแล้วกลับไปกุฏิ จะดูหนังสือก็ได้ จะปฏิบัติก็ได้ ถึงเวลาฉันน้ำร้อนเสร็จแล้วลงมาทำข้อวัตรปฏิบัติ เสร็จแล้วกลับไปก็แบ่งแยกเวลาให้ถูก

นัดกันสิ เวลาไหนที่เราจะคุยกัน เวลาไหนที่เราจะบริหารจัดการอย่างไร เราต้องทำของเรา เป็นที่ยอมรับ ถ้าเราทำแล้วนิสัยเราเสมอต้นเสมอปลายเป็นที่ยอมรับ หมู่คณะเขาจะเกรงใจ เขาจะเข้าหาเราเป็นเวลา ถ้าเราไปคลุกคลีกับเขา เราไม่มีเวลากับเขา เขาก็ไม่มีเวลากับเรา มาได้ทุกเวลาเลย

มันได้ปฏิบัติแล้ว คนเราปฏิบัติมันมีหลักมีเกณฑ์นะ คำว่า “มีหลักมีเกณฑ์” จิตมันมีจุดยืน ของจริงกับของปลอมดูง่ายๆ เลย ถ้าของจริงนะ ผู้รู้จริง รู้จริงอยู่ในธรรม เขาว่ารสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง ถ้ามันมีความจริง มันมีรสของธรรมชนะรสทั้งปวง ทำไมมันเร่าร้อนอย่างนั้นล่ะ? ทำไมมันมีแต่ความตรอมใจอย่างนั้นล่ะ? ทำไมมันไม่สงบสุขล่ะ?

ถ้าความสงบสุขเห็นไหม มันก็เย็นของมันนะ นี่ไงเราบริหารได้ วัดของเราก็บริหารได้ ถ้าใจมันเป็นจริงนะ อยู่คนเดียวก็อยู่ได้ อยู่กับใครก็อยู่ได้ด้วยความสบายใจทั้งนั้น แล้วไม่ต้องวิตกกังวล ถ้าวิตกกังวลแล้ว ไม่ใช่ดูถูกกันนะ มันจะไปแคร์ใครล่ะ เราอยู่ได้ อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้! อยู่คนเดียวก็อยู่ได้! อยู่กับหมู่คณะก็อยู่ได้ อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ มันถึงซื่อตรงกับธรรมตลอดไป ธรรมเป็นใหญ่ ความถูกต้องเป็นใหญ่ ความถูกหนึ่งเดียวเป็นใหญ่ตลอดไป

แต่ถ้าเราต้องการพึ่งพาอาศัยคนอื่นเห็นไหม เป็นโลก โลกคือระบบระบอบที่เราสร้างขึ้นมานะ มันต้องอาศัยกัน มันต้องไหว้วานกันเห็นไหม ต้องจัดให้ระบบอยู่อย่างนั้น ระบบระบอบอยู่อย่างนั้นตลอดไป มันก็ต้องอาศัยบุคลากรอะไรต่างๆ เราก็ต้องเอียงกันไปทางโน้น เอียงกันมาทางนี้ มันก็ไหลกันไปตามโลกไปหมดเลย แล้วก็บอกว่าธรรมเป็นใหญ่ๆ ธรรมที่ไหนเป็นใหญ่

เพราะใจไม่เป็นธรรมมันถึงเป็นโลก เพราะใจไม่เป็นธรรมมันถึงไม่มีหลักเกณฑ์ของมัน ถ้าใจมันเป็นธรรม มันมีหลักเกณฑ์ของมันแล้ว มันเข้าใจเองหมด

๑. ใจเป็นธรรม

๒. สัจธรรมมันเป็นอย่างนั้น

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับไปเป็นธรรมดา” สิ่งต่างๆ ในโลกนี้มันแปรสภาพอยู่ตลอดเวลา ไม่มีใครจะมีสถานะยืนเด่นอยู่อย่างนั้นตลอดไปไม่ได้ ถึงเวลาแล้วต้องตายไปหมด ถึงเวลามันต้องเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น จะไม่มีสิ่งใดคงที่อย่างนี้ตลอดไป

เพียงแต่ว่าเหมือนกับกระแสไฟ เหมือนกับเทียน เริ่มต้นจุดไฟ ความสว่างของมันจะขนาดไหน นี่ก็เหมือนกัน เริ่มต้นจากการประพฤติปฏิบัติของเรา เริ่มต้นจากการเกิดของเรา เริ่มจากการบวชของเรา บวชแล้วเริ่มจุดเทียน แล้วเทียนนี้มันจะสว่างไปทั้งเล่มไหม มันจะเผาไหม้เทียนตลอดเล่มไหม ชีวิตของเราทั้งชีวิต เราจะดำรงชีวิตของเราอย่างไร เราจะทำตัวของเราอย่างไร เราจะอยู่กับโลกนี้อย่างไร

อยู่กับโลกนี้ นี่เป็นเทียนนะ มันต้องเผาไหม้เป็นธรรมชาติของมัน แต่ของเรานะมันเป็นชีวิต มันมีความสุขความทุกข์ มันมีการกระทำของมัน มันจะแก้ไขของมันอย่างไร ถ้ามันแก้ไขของมันแล้ว มันจะยืนตัวของมันเองได้เห็นไหม

เทียนมันเผาไหม้แล้วมันต้องหมดไปเป็นธรรมดานะ แต่ถ้าเราเผากิเลสหมด จิตใจมันชำระกิเลสหมดนะ มันไม่มีการเกิดไม่มีการตาย เทียนที่สว่างอยู่อย่างนั้นตลอดไป ไม่มีการเผาไหม้ ไม่มีการย่อยสลาย มันเป็นความมหัศจรรย์ สิ่งที่มหัศจรรย์อย่างนี้มันเกิดมาอย่างไร แล้วมันมีอยู่ที่ไหน ธรรมะมันมีอยู่ที่ไหน แล้วธรรมะความจริงอย่างนี้มันเกิดขึ้นจากใคร แล้วมันจะลงลงอย่างไร เราจะรู้ของเราหมดเลย

แล้วมันเป็นอย่างไร มันเป็นนามธรรม พอสิ่งนี้เป็นนามธรรมเห็นไหม เพราะเทียนมันเป็นวัตถุที่มันจับต้องแล้วมันมีพลังงานของมัน สิ่งที่เป็นนามธรรมมันอยู่กับใจ แล้วถ้ามันรู้จริงเห็นจริง นี่คือความจริง ถ้าไม่จริงมันก็พูดถึงแต่บุคลาธิษฐาน พูดถึงเทียนอันนั้น เวลาอธิบายมากเรื่องมากความไป มันยิ่งอธิบายเป็นโลกเข้าไป อธิบายเป็นวัตถุไปใหญ่ มันก็ไหลไปเป็นเรื่องโลกๆ เลย

แต่ถ้าเป็นธรรมเห็นไหม มันชักนำเข้ามาความรู้สึกที่เรารู้จริงอันนั้นนะ ถ้าความรู้จริงอันนั้นมันอาศัยใครล่ะ มันอาศัยตัวมันเองตลอดเวลา ธรรมะที่พึ่งตัวเองได้ มันอาศัยตัวมันเองตลอดเวลา สิ่งที่อาศัยตัวเองตลอดเวลา แล้วสิ่งที่ว่าที่ธรรมจักร จักรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เทศนาว่าการไป เทศน์ธรรมจักรขึ้นไป เทวดาย้อนจักรนี้คืนไม่ได้ เพราะมันเป็นในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นความจริง

ถ้าจิตใจเราเป็นจริง ใครมันจะมาย่อยสลาย ใครมันจะมาเคลื่อนไหว ใครมันจะทำอะไรสิ่งที่เป็นอกุปปธรรมที่เป็นสัจธรรมอันนี้ได้ล่ะ ในเมื่อไม่มีสิ่งใดที่จะมากระเทือนมันได้ สิ่งใดมากระเทือนทำลายมันไม่ได้เลย สิ่งนี้มันคงที่ของมัน เป็นความจริงของมัน มันเป็นสมบัติของเราที่มันอยู่กับเรา ทีนี้เราจะไปตื่นเต้นอะไรกับใคร ความจริงอย่างนี้มันจะไปตื่นเต้นอะไรกับใคร

นี่ไงสิ่งที่ว่า เราเป็นพระๆ เราเป็นพระนะ เขายกมือไหว้เรา ทำไมเขาจึงต้องยกมือไหว้เรา แล้วเราจะเห็นคุณค่าความจริงของเราแค่ไหน เราจะเห็นสัจจะความจริงในหัวใจเรามากน้อยแค่ไหน สัจจะความจริงในหัวใจของเรา สิ่งที่มันเกิดขึ้นมา สิ่งนี้มีชีวิต สงวนรักษานะ

เราเป็นพระ เราจะลงอุโบสถกัน เรามาเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ ธรรมวินัย ๒๒๗ ข้อ เราจะมาลงอุโบสถเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ของสังฆะ ของสังคมสงฆ์ สงฆ์ของเราเห็นไหม ทิฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน สิ่งต่างๆ ที่เราทำขึ้นมาเพื่อประโยชน์กับสังคม เพื่อประโยชน์กับสงฆ์ของเรา เพื่อหมู่คณะ เพื่อความเป็นไป เพื่อให้องค์กรสงฆ์ของเราเข้มแข็ง เพื่อหัวใจของเรานะ

ถ้าหัวใจของเราเข้มแข็งเห็นไหม หมู่คณะเข้มแข็ง เราพึ่งพาอาศัยกันได้ สิ่งต่างๆ เราอาศัยกันเพื่อประโยชน์นะ นกยังมีรวงมีรัง นกมันยังมีที่อาศัยนะ นกมันเกิดมาจากไข่ พ่อแม่มันฟักไข่ขึ้นมาแล้วเกิดมาเป็นนก ชีวิตหนึ่งมันยังมีรวงมีรังของมัน มันมีที่อยู่ที่อาศัยของมัน

เราเป็นมนุษย์ สังฆะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติแล้ว วัจกุฎีวัตร กุฏิกุฎีวัตร สิ่งต่างๆ มันมีอยู่แล้ว วัตรปฏิบัติ วัตรเป็นเครื่องอยู่ของเรา ท่านอนุญาตหมดนะ อนุญาตให้มีที่อาศัย อนุญาตให้มีกุฏิ อนุญาตให้มีวิหาร อนุญาตเห็นไหม ของของสงฆ์อนุญาตลงไฟ อนุญาตหมดนะ แต่อนุญาตแล้วก็มีกติกาให้เราดูแลรักษา

แล้วเราอยู่เป็นสังคมกันไป เราศึกษาในธรรมวินัย เพื่อเป็นความสงบสุขของเรา นกมันยังมีรวงมีรัง เราก็มีที่อาศัยของเรา มีวัดมีวา มีครูมีอาจารย์ เราบวชเป็นพระเห็นไหม มีอาวุโส ภันเต ผู้บวชก่อน ผู้บวชหลัง บวชก่อนบวชหลังใครชักนำใคร เตือนกัน สั่งสอนกัน

เวลาเข้าพรรษา แล้วจะออกพรรษา พอออกพรรษาจะมีมหาปวารณานะ เราปวารณาต่อสงฆ์ “ถ้าข้าพเจ้ามีความผิดสิ่งใด ให้ตักให้เตือนกัน ให้บอกกัน” เห็นไหม อริยประเพณี ประเพณีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งใดที่ผิดแล้วใครตักใครเตือนช่วยบอกกัน

แต่นี่เราบอกกันไม่ได้นะ บอกหาว่าจับผิด ไอ้คนโดนบอกก็แหม “ฉันก็คนนะ! มาบอกได้อย่างไร ฉันก็เรียนนะ ฉันมีศักดิ์ศรีนะ” ถ้าเขาบอกมาด้วยคุณงามความดี เขาบอกมาเพื่อเรานะ สิ่งใดที่บอก บอกสิ่งที่ดี ธรรมวินัย อริยวินัย ผู้ใดทำผิด ผู้ใดมีความผิดพลาดขึ้นไป แล้วปลงอาบัติเห็นไหม

การปลงอาบัติ ทำไมเราปลงอาบัติ เราก็รู้ว่าผิด พอเรารู้ว่าผิดแล้วเราจะปลงอาบัติของเรา นี่ก็เหมือนกัน การปลงอาบัติ สาธุ ภันเต สาธุ..สาธุ.. “ข้าพเจ้าจะไม่ทำอีกแล้ว ข้าพเจ้าจะตั้งสติวินัย” นี่ไง เวลาเราแปลออกมา คำว่าปลงอาบัติก็คือสำรวมตน ระวังตน แล้วจะไม่ทำอย่างนี้อีกต่อไป คือประจานตนนั่นล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน เหมือนกับคนสำนึกผิดไง เวลาเราเตือนกันสำนึกผิดไหมล่ะ คำว่าสำนึกผิด พอสำนึกผิดเราก็ขอขมากัน นี่คืออริยประเพณี ผิดแล้วยอมรับผิด หมู่คณะเขาก็จะให้อภัย แต่อย่าดื้อด้าน ความดื้อด้านหาญธรรมไง ดื้อด้านฝืนขืนไป แรงเสียดสีมันทำให้ถูไถไปนะ ผิดยอมรับผิดแล้วแก้ไขกันไป เพื่อหมู่คณะของเรา เพื่อความเป็นไปของเรา เพื่อสังคมของเรา เพื่อความสงบสุขร่มเย็นในสังคมของเรา

ถ้าสังคมร่มเย็นสงบสุข สมณะ ชี พราหมณ์ มีโอกาสได้ภาวนา วัดเราไม่มีการกระทบกระเทือนกัน ไม่มีการแก่งแย่งกัน ไม่มีอะไรกระทบกระเทือนกัน โอ้ หัวใจมันไม่มีการกระทบกระเทือนมันจะภาวนาได้ง่าย มันภาวนาดี

เราต้องมองจากข้างนอกเห็นใจกัน ทุกคนหาที่ที่จะสงบสงัด ความกระทบกระเทือนกันอย่าให้เกิดขึ้น ถ้ามันจะเกิดกับใจเราพยายามยับยั้งมัน ถ้ามันจะคิดอะไรขึ้นมา คุยกับมันเลย พูดกับมันนะ

ไอ้พาล มึงจะไปพาลคนอื่นแล้วนะ ไอ้พาล ไอ้พาลพาโลในใจมันเกิดขึ้นกับใจเราแล้วนะ มันพาลในหัวใจของเรา แล้วมันก็จะไปพาลคนอื่น จะไปก้าวก่ายคนอื่น เตือนมัน ความคิดนี่เตือนมัน ปัญญานี่เตือนมัน แล้วยับยั้งมัน เพื่อสังคมร่มเย็นสงบสุข สงบสุขจากใจเรา เราจะเป็นตัวต้นเหตุจะเกิดการกระทบกระทั่งกัน แล้วเรายับยั้งตัวเราได้

สังคมนะ ในสังคมสงฆ์นั้นก็จะไม่มีการกระทบกระเทือนกัน เรานะไอ้พาลมันเหยียบย่ำหัวใจ มันพาลแล้ว มันเหยียบย่ำตัวเองก่อนแล้ว มันทำลายตนเองแล้วจะทำลายคนอื่น ไอ้พาลตัวนี้มันทำลายเราแล้ว แล้วมันก็จะทำลายคนอื่นเห็นไหม ยับยั้งมันให้ได้ ถ้ายับยั้งได้ประเสริฐที่สุด นี่อริยประเพณี ผู้ใดทำความผิดแล้วยอมรับผิด สิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญ คำว่าสรรเสริญเห็นไหม สรรเสริญว่าคนคนนั้นจะมีโอกาสแก้ไข คนคนนั้นจะเป็นคนดี

นี่เป็นพระนะ เขายกมือไหว้เรา เราต้องมีคุณธรรมให้สมกับที่เขายกมือไหว้ นี่แล้วถ้าเรายกมือไหว้เราเองได้นะ เพราะเราค้นหาความผิดในใจเรามันไม่มี เอ็งคิดผิดอะไรบ้างล่ะ เอ็งทำผิดอะไรบ้างล่ะ เอ็งตั้งใจจะไปหลอกลวงใคร เอ็งตั้งใจจะไปหาผลประโยชน์ที่ไหน มันเข้ามาในใจ มันไม่มีเห็นไหม

เราค้นหาความผิดของเราไม่มี นี่เรายกมือไหว้เราด้วยความเต็มหัวใจนะ ถ้าข้างในเราสกปรกโสโครก เราเองก็เห็นเราเองก็รู้ เราจะยกมือไหว้เราลงไหม เขายกมือไหว้เราจากข้างนอก เราจะยกมือไหว้ตัวเราเอง

ค้นหาความคิดเรานะ ว่ามันมีความวิตก มันมีความฉ้อฉลสิ่งใดที่จะไปหาผลประโยชน์จากใครแม้แต่เล็กน้อยมีไหม ถ้ามีไอ้นั่นมันชั่ว ถ้าความชั่วนี้ไม่มี เออ เอ็งประเสริฐ แล้วเอ็งเป็นพระด้วยความสมบูรณ์ เอ็งเป็นคนดีจริงจากภายใน เอวัง