เทศน์พระ

สงฆ์

๒๒ ก.ค. ๒๕๕๒

 

สงฆ์
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมนะ ฟังธรรมให้มันสะเทือนใจไง ถ้ามันสะเทือนใจ เราจะมีการเปลี่ยนแปลง เราอยู่ทางโลกเห็นไหม เราเป็นมนุษย์เหมือนคนเขานี่แหละ แต่เราเห็นภัย ในวัฏสงสาร เราถึงมาบวชเป็นพระเป็นเจ้า ชาวบ้านเขาตักบาตรให้กินทุกวัน ก่อนที่เขาจะใส่บาตรเขาเอาอาหารเทินบนศีรษะแล้วอธิษฐาน อยากได้ส่วนบุญส่วนกุศลกับเรา

เรานี่ฉันอาหารเขาแล้ว อาหารนี่สัมมาอาชีวะ เราเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง ปลีแข้งนี้ได้มาจากธรรมและวินัย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยนี้เป็นประเพณีวัฒนธรรมมา ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางเป็นประเพณีวัฒนธรรมมา เราจะเลี้ยงชีพของเราอย่างไร เลี้ยงชีพด้วยวัตถุ เลี้ยงชีพด้วยอาหารการกิน แต่เราเห็นภัยในวัฏสงสารเราถึงมาบวช บวชเพื่ออะไร เพื่อจะบวชกายและบวชใจ

เรามาจากมนุษย์ มนุษย์ต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย เป็นพระก็ต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย มนุษย์มีสังคม พระก็มีสังคม สังคมของพระเรียกว่าสงฆ์ สังคมของมนุษย์เรียกว่าสังคมของเขา

นี่สังคมของพระเห็นไหม เราบวชมาแล้วพระก็เป็นสังคมๆ หนึ่ง แต่สังคมนี้เป็นสังคมด้วยธรรมวินัย ธรรมวินัยนี้เป็นบทบัญญัติเลย แล้วเราต้องทำตามธรรมวินัยนั้น ภิกษุบวชใหม่ทนได้ยากกับคำสั่งสอน คำตักเตือน เพราะอะไร เพราะนิสัยของเรา เราเป็นคฤหัสถ์มา เราเคยตามใจมาตลอดเวลา

แต่พอบวชขึ้นมา คนที่สั่งสอน คนที่บอกเขานี้ไม่ใช่เอาอารมณ์ความรู้สึกเขามาสั่งสอน เขาเอาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาคอยบอกเรา เพราะถ้าเสมอกันด้วยทิฐิมานะ ความเห็นเสมอกัน เพราะอะไร เพราะสิ่งที่ทำไปนะ มันมีความละอาย มันมีความไม่เห็นด้วยในธรรมวินัย เวลาเราลงอุโบสถเราปลงอาบัติทั้งหมดเลย เราปลงอาบัติสิ่งที่เป็นอาบัติที่ผ่านมา

แต่สมัยพุทธกาลไม่ทำอย่างนี้ ถ้าไม่เป็นอาบัติแล้วเราไปปลงอาบัติเราโกหกตัวเองหรือเปล่า แต่เพราะปัจจุบันเราฟังบาลีไม่ออก แต่สมัยโบราณเขาฟังบาลีออกนะ พออาบัติตัวไหนเราผิด เราสะกิดกัน อันนี้เราผิด เราจะขอปลงอาบัติ อันนี้ผิดเราจะขอปลงอาบัติสิ่งที่ผิด

ก่อนที่เราจะลงสังฆกรรม เราปลงอาบัติกันเราทำอย่างไร เพื่ออะไร เพื่อทิฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน มันไม่เป็นโมฆะ ไม่เป็นโมฆียะในการกระทำนั้น ในการกระทำนั้นมันได้บุญกุศลตรงไหน

เวลาสวดปาติโมกข์ แต่เดิมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้สวดปาติโมกข์เอง แล้วมีอยู่คราวหนึ่งถึงเวลาพระพุทธเจ้าจะสวดปาติโมกข์ จนตั้งแต่ปฐมยาม มัชฌิมายาม จนยามสุดท้ายนะ พระอานนท์มาอาราธนาตลอดเลย

พระพุทธเจ้าบอกว่า “เราแสดงปาติโมกข์ไม่ได้ ถ้าแสดงปาติโมกข์ไป มีพระอยู่ ๒ องค์ที่ศีลไม่บริสุทธิ์ ศีรษะจะแตกเป็น ๘ เสี่ยงเลย”

พระโมคคัลลานะกำหนดจิตดู พอดูเสร็จเข้าไปคว้ามือ ๒ องค์นั้นออกไปเลย แล้วให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้แสดง บอกว่า “เดี๋ยวนี้สงฆ์บริสุทธิ์แล้วครับ ขอให้พระพุทธเจ้าจงแสดงปาติโมกข์เถิด”

ท่านสลดใจนะ ท่านบอกว่า “ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปเราจะไม่แสดงปาติโมกข์ ให้ภิกษุเป็นผู้แสดงแทน” ตั้งแต่นั้นมาพวกเราสวดปาติโมกข์กันมา นี่ทำการแทนนะ เพื่อความสะอาด เพื่อสังฆะของเรา

สังคมของสงฆ์ไง ถ้ามีสังคมของสงฆ์มันก็มีตั้งแต่อาวุโส ภันเต มันมีกิจของสงฆ์ต่างๆ มันต้องมีการกระทำ ถ้ามีการกระทำจากภายนอก การกระทำจากภายในเห็นไหม ตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ กิริยาการเคลื่อนไหวเป็นการบอกถึงนิสัย ความเป็นอยู่ ความเอื้ออาทรต่อกัน จิตใจสาธารณะ จิตใจคับแคบ จิตใจกว้างขวาง มันฟ้องหมดเลย จิตใจของเราการแสดงออกมันฟ้องหมด ว่าคนๆ นั้นนิสัยเป็นอย่างใด

ถ้าคนคนนั้นนิสัยเป็นอย่างใด มันต้องเปลี่ยนแปลง ต้องมีการกระทำ เพราะเป็นสังคมของสงฆ์ สงฆ์นี่เป็นสังคมแล้วเราอยู่ในสังคมนั้น เราเป็นอวัยวะหนึ่งในร่างกายนั้น สังคมของสงฆ์เหมือนร่างกายของมนุษย์

ถ้าหัวหน้าเป็นผู้นำ เป็นสมอง ถ้าสมองไม่มีเลือดขึ้นไปเลี้ยงสมองมันก็ตาย นี่พูดถึงสังคมของสงฆ์นะ ในเมื่อสงฆ์ สังฆะสงฆ์ เราจำพรรษา เราปลงใจ ลงใจ เราจำพรรษากันแล้ว เพราะก่อนจำพรรษาให้ดูให้แล สังเกตว่าที่ไหนมันดีหรือไม่ดี ถ้าไปอยู่แล้วเราไม่ขอนิสัย เราก็แยกย้ายไป

แต่ถ้าสังคมของสงฆ์เป็นอย่างนี้ ถ้าพูดถึงสมองมันจะไม่มีเลือดไปเลี้ยงสมอง สมองมันจะตาย สมองก็คือสมองนะ คืออยู่คนเดียวได้ไง สบายมาก สมองอยู่ส่วนของสมอง ลอยไปเลย ไม่เกี่ยวกับใครเลย สบายมาก

แต่มันเป็นเรื่องของสงฆ์ มันเป็นเรื่องของสังคมนะ มันไปไม่ได้ พอมันไปไม่ได้เรื่องของโลกมันต้องบริหารจัดการใช่ไหม ถ้าอยู่คนเดียวสบายมากนะ ทีนี้มันอยู่คนเดียวมันก็ต้องอยู่ป่าอยู่เขา แต่นี่มันอยู่เพื่อสังคมไง อยู่เพื่อสงฆ์ไง

เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่ามันเป็นขี้ ต้องไปคลุกกับขี้นี่มันเหม็นนะ ถ้าอยู่โดยเราไม่ต้องคลุกกับใคร สบายมาก แต่ถ้าลงไปคลุกขี้ ขี้มันเหม็น มันก็เปื้อนกันไปหมดนะ ถ้าเราเป็นขี้ล่ะ ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง แล้วมันเป็นขี้อยู่อย่างนี้ แล้วมันจะนอนจมขี้อยู่อย่างนี้ไหมล่ะ มันจมขี้ไม่ได้ เราจะขุดรูอยู่ไม่ได้นะ ถ้าจิตใจของเราเป็นอย่างนี้เราจะไม่เอาอะไรเลย เราจะขุดรูของเราอยู่ มันก็อยู่คนเดียวสิ

แต่นี่เราขุดรูอยู่ไม่ได้ เราต้องอาศัยวัตรปฏิบัติ วัตรในโรงทาน วัตรในศาลา วัจกุฎีวัตร มันมีข้อวัตรปฏิบัติอยู่ บุพพสิกขาอ่านสิ เปิดอ่านเลย ตามสิทธิเสรีภาพเลย สังคมของสงฆ์นี้สะอาดบริสุทธิ์มาก มันเป็นธรรมาธิปไตย เป็นธรรมหมดเลย

ดูสิ เราจะมีบริขาร ๘ กัน เราจะไม่มีทรัพย์สมบัติเลย เงินที่ได้มา เขามาถวาย ถ้าถวายเป็นผ้าป่า ถวายเป็นกระถิน ก็เป็นของของสงฆ์ แต่นี่เขาถวายเป็นบุคคล เขาถวายเพื่อเป็นปัจจัยไว้ใช้สอยในวัด จะบอกว่าต้องตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบไหม

นี่มันสะอาดบริสุทธิ์ในตัวของมัน เพราะมันไม่มีใครไปจับต้องมันอยู่แล้ว เขาบริหารจัดการ เราเช็คกันอยู่ตลอดเวลา นี่พูดถึงถ้าว่าผลประโยชน์ๆ ไง เราไม่มีผลประโยชน์ เราไม่ได้อยู่เพื่อบุคคล

ธรรมาธิปไตยมันเป็นธรรม ว่าเราอยู่กันด้วยความเสมอภาค ไม่มีสมบัติส่วนตน มีบริขาร ๘ สิ่งใดที่ใช้อาศัยถ้าเข้ามาถึงสงฆ์แล้วเราเจือจานกันทั้งหมด อวัยวะเห็นไหม ถ้าข้าวมันเข้าไปที่ปาก มันก็ตกไปที่กระเพาะ สารอาหารมันเข้าไปในร่างกาย มันสูบฉีดไปตามสายเลือด

นี่ก็เหมือนกัน มันเข้ามาในสงฆ์มันก็ต้องไปตามนั้นนะ แล้วเราเป็นอันหนึ่งอยู่ในร่างกายนั้น มันจะไปอุดตันไม่ให้เลือดมันไปได้อย่างไร ถ้ามันอุดตันเลือดมันไปไม่ได้มันก็พิการหมด ถ้าสมองทำงานไม่ได้ มันขยับเขยื้อนไปไม่ได้ ฉะนั้นถ้าเราคนใดคนหนึ่งไปอุดตันอยู่ มันต้องทะลุ มันต้องทะลวง ให้มันออกไปให้ได้

นี่พูดถึงสังคมสงฆ์นะ นี่พูดถึงข้อวัตรปฏิบัติของเรา เราขุดรูอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ มันมีวัตรปฏิบัติ ในวัดนี้เรามีการใช้การสอยกันอยู่ เราต้องร่วมกันทำด้วยจิตใจที่เป็นสาธารณะ การกระทำมันทำอยู่แล้วของมันเล็กน้อย ไอ้คนทำก็ทำจนตายไง ไอ้คนไม่ทำมันก็นอนจมอยู่นั่นไง แล้วของมันต้องใช้ร่วมกัน นี่พูดถึงของแค่นี้นะ แค่ของหยาบๆ ข้างนอกแล้วจะขวนขวายทำอะไรกัน เราจะมาชำระกิเลสนะ ไอ้นี่มันความเห็นแก่ตัว กิเลสปลายแถวเลยนะ

แต่ถ้าความเห็นแก่ตัวมันหมักหมม มันเหยียบย่ำหัวใจให้ใจเราเศร้าหมอง ใจเราไม่เปิดโล่ง ถ้าจิตใจของเรามันเปิดโล่งนะ เราก็ทำของเรา ข้อวัตรปฏิบัติเราก็ทำของเราให้ถูกต้องตามหน้าที่ของเรา

เรื่องของสมอง เรื่องของมือ สิ่งใดที่มีความสำคัญ เขาต้องบริหารจัดการ เขาต้องรับผิดชอบมาก อย่างเรามันรับผิดชอบแค่เคลื่อนไหว แค่ไม่ให้ขัดขวาง เลือดมันไหลเวียนได้ดีเท่านั้นก็พอแล้ว เลือดให้มันไหลเวียนให้ร่างกายสูบฉีดคล่องตัวหมด ประสาททุกส่วนมันรับรู้หมด มันขับเคลื่อนได้ มันก็สะดวก

ในสังคมเห็นไหม ทิฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน เสมอกันตรงไหน เสมอกันในการประพฤติปฏิบัติ แล้วปฏิบัติจริงไหมล่ะ เวลาบอกปฏิบัติ โอ้โฮ เวลาให้ไปทำหน้าที่การงาน โอ้โฮ ไม่มีเวลาปฏิบัติเลย โอ้โฮ บวชมาปฏิบัติ บวชมาเพื่อภาวนา บวชมาเพื่อจะต่อสู้กับกิเลสทั้งนั้นเลย

เอ้า เวลาปฏิบัติไปไหนล่ะ ให้เวลาปฏิบัติ ๒๔ ชั่วโมง ตอนนี้ไม่มีอะไรเลย จะปิดกั้นไว้ หน้าที่การงานความรับผิดชอบไว้ ไอ้เรื่องข้อวัตรมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะ! เพราะภัตกิจ การเคี้ยวอาหารก็เป็นงานอันหนึ่ง การกินเป็นงานอันหนึ่ง เวลาภัตกิจเห็นเต็มเลย เวลาข้อวัตรไม่เห็น

นี่สิ่งต่างๆ อย่างนี้ เราเป็นพระเด็กมาก่อนนะ เรื่องอย่างนี้เราเห็นมาตลอด เราทำมาตลอด เราเป็นพระเด็กอกจะแตก รับผิดชอบแล้วทำอยู่คนเดียว แล้วคนอื่นเขาทำบ้างไม่ทำบ้าง ไม่ทำเลยก็มี ฉะนั้นสิ่งนี้เราเห็นมาตลอด เราไม่ต้องไปคลุกคลีเราก็รู้ มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ สังคมของโลกเห็นไหม สังคมโลกเขาก็เป็นการเมืองอย่างนั้น มนุษย์ตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ความเห็นต้องแตกต่างกันเป็นธรรมดา

เราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วความเห็นแตกต่างอันนี้ เราก็เรียกกรรมของสัตว์สิ กรรมของสัตว์คือมุมมองในหัวใจไง กรรมของสัตว์นะ ดูสิ สังคมของเรา เพื่อนของเรา เวลาวัยรุ่นรักกันน่าดู วัยรุ่นจะรักกันมากเลย แล้ววัยรุ่นจะแตกกันอยู่ ๒ ประเด็น คือเรื่องผู้หญิงกับเรื่องเงิน ไม่มีอะไรหรอก! มันจะแตกกันเอง ถ้าเป็นผู้หญิงนะ ไม่เรื่องผู้ชายก็เรื่องเงิน มันจะต้องแตก รักกันแค่ไหนมันก็แตก เพราะความเห็นส่วนตนไง ความเห็นของเราผู้หญิงคนนี้หรือว่าสิ่งต่างๆ เงินของเรา เราเห็นว่าถูกต้อง ไอ้คนที่จิตใจเขาสูงกว่า ดีกว่า เขาว่าสิ่งนี้ไม่ถูกต้อง

ความถูกต้องมันดีกว่าเงิน ดีกว่าความเห็นของเรา กิเลสของเรา นี่มันจะไปแตกแยกกันตรงนั้น นี่โลกมันเป็นอย่างนั้นใช่ไหม แล้วเราบวชมาแล้ว เราอยู่ในสังคมของเรา ทิฐิมานะมันมีหลากหลายนัก

นี่การกระพฤติปฏิบัติเราพูดบ่อย เราเข้าใจอยู่นะ บางคนจะรำคาญ เราพูดซ้ำๆ ซากๆ คำว่าพูดซ้ำๆ ซากๆ มันยังไม่รู้เรื่องเลยนะ พูดซ้ำๆ ซากๆ นี่แหละ เพราะอะไร เพราะเราตอกย้ำ อะไรเป็นประเด็นที่เราพูดซ้ำๆ ซากๆ อยู่ เพราะว่าเริ่มต้น ถ้ามุมมองอย่างนี้เห็นไหม หลวงปู่มั่นบอกแล้ว ต้นมันคดปลายมันจะชี้ไปไหน ถ้าเราเคลียร์ตรงนี้ได้ เราเคลียร์ตรงจุดสตาร์ท ถ้ามันออกตรงนี้ได้ ต้นมันตรงนะ มันจะลำบากทุกข์ยากขนาดไหน มันจะมีเป้าหมายของมัน มันจะไปสู่เป้าหมายของมัน

ถ้าเราเคลียร์ตรงนี้ไม่ได้ พูดซ้ำๆ ซากๆ พูดจนตายเห็นไหม ดูสิ ละความชั่ว ทำความดี ธรรมะมีเท่านี้เองนะ มันของง่ายๆ สอนแค่นี้เองเหรอ แต่เวลาทิฐิมานะมันเกิดล่ะ ความเห็นในใจมันเกิด มันเป็นอย่างนั้นไหม มันเห็นตามความจริงไหม มันไม่เห็นตามความจริงเลย เพราะอะไร เพราะมุมมองของเราไง กิเลสไง

“มารเอย เจ้าเกิดจากความดำริของเรา บัดนี้เราเห็นตัวเจ้าแล้ว เจ้าจะเกิดในใจของเราอีกไม่ได้เลย”

มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เรายังไม่ทันคิดเลยนะ แค่คิดว่าดำริจะทำอะไร มารมันขี่คอออกมาแล้ว แล้วเราจะไปรู้ทันมันได้อย่างไร ความรู้ความเห็นของเรากิเลสมันเอาไปกินหมดนะ กิเลสมันเอาไปกินหมด! แล้วเราจะทำตัวกันอย่างไร เราจะสู้มันอย่างไร ทุกคนว่าจะต่อสู้กับกิเลส ต่อสู้กับกิเลส แล้วกิเลสมันอยู่ที่ไหนล่ะ กิเลสก็อยู่ที่ความคิด การกระทำของเราทั้งหมดนั่นคือกิเลส

ความคิด การกระทำที่เราทำออกไปเป็นกิเลสทั้งหมดเลย เพราะกิเลสเห็นไหม “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา” กิเลสมันเกิดแล้วไง แล้วมันก็ขี่ความคิด เอาความคิด เอาความเห็น เอาการกระทำทุกๆ อย่างไปใช้เป็นกิเลสหมดเลย เราถึงต้องฝืนมันไง

นี่ไง แล้วก็บอกว่า “ก็ทำถูกต้องตามธรรมวินัยแล้วหลวงพ่อ อะไรก็ดีหมดแล้ว หลวงพ่อเอ็ดทุกวันเลย เอ็ดอะไร”

ก็เอ็ดความคิดมึงนั่นแหละ! เอ็ดการกระทำที่มันไม่เปลี่ยนแปลง

หลวงตาท่านพูดนะ ไปปูที่นอนให้หลวงปู่มั่น ปูอย่างไรก็ผิด ปูให้ถูกอย่างไรท่านก็จับผิด ปูอย่างไรท่านก็จับว่าผิด หลวงตาท่านมาคิดได้ว่า “อ๋อ มันผิดเพราะความคิดเรา” ผิดที่คนปู มันไม่ได้ผิดที่ที่นอนนี้ผิดหรอก ผิดเพราะว่าใจคนปูมันผิด

หลวงตาท่านพูดบ่อยนะ ที่นอนเอาไม้บรรทัดขีดไว้เลยว่าต้องปูอย่าให้ขยับเลยนะ ท่านมาท่านก็บอกว่า “ผิด” ท่านจะขยับหนี ก็สะบัดพรึบๆๆ อยู่อย่างนั้นนะ “เอ...มันผิดตรงไหน ก็วัดซะดีเลย” “อ๋อ...” เห็นไหมกว่าคนจะรู้ มันผิดเพราะคนปูมันผิดไง มันไม่ได้ผิดที่นอนมันผิดนะ ความคิดของคนปูจับที่นอน.. อันนี้คนที่เป็นธรรมนะ

แต่ถ้าคนที่ไม่เป็นธรรม หยาบมาก.. ขึ้นไปเหยียบไปย่ำบนที่นอนนั้น จนครูบาอาจารย์ท่านพูดต่อๆ กันมานะ ไปดูแล้วทนไม่ไหว จนหลวงตาท่านไปดู ท่านบอกว่า “ท่านทำกันอย่างนั้นผมรับกันไม่ได้ มันเหยียบหัวใจกัน ท่านทำอย่างนี้ได้อย่างไร” คนมันหยาบ มันไม่ได้ดูที่การปูที่นอนหรอก

...ว่า “ทำไมจะทำไม่ได้ โธ่ ของง่ายๆ” แล้วขึ้นไปเหยียบไปย่ำเลย

หลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดบ่อย การเก็บที่นอนต่างๆ เพราะอะไร เพราะหลวงปู่มั่นท่านเป็นภูมิแพ้ มีฝุ่นละอองไม่ได้เลย ชั้นแรกพับก่อน เพราะอยู่ในกลด พับเป็นชั้นๆ ขึ้นมา เพราะกลดนั้นมันปิดกันฝุ่นละอองไว้ก่อน แล้วพอพับที่นอนเสร็จแล้วค่อยยกมุ้งขึ้น

ไอ้คนที่มาจากไหนไม่รู้ ทำกันง่ายๆ ของแค่นี้ตลบมุ้งเลยไง พอตลบมุ้งฝุ่นมันก็ลงหมด เย็นนั้นปูที่นอน พอเช้าขึ้นมาหลวงปู่มั่นบอกว่า “เจี๊ยะ นี่คันหมดเลย คันหมดเลยนะ คันหมดเลยนะ” แต่คนนอกมันไม่รู้ ไอ้คนที่อยู่ไกลๆ มันไม่รู้เรื่องหรอก

“ทำไมจะทำไม่ได้ โอ๊ย...ปูที่นอน โธ่ ของมันง่ายๆ ก็แค่ปูที่นอน...” แต่คนทำไม่เป็นเสียหายหมดเลย แต่คนทำเป็นมันทำถูกต้องอย่างไร มันทำถูกต้องเพราะอะไร เพราะหัวใจมันเคารพบูชา

อะไรที่กระทบกระเทือน อะไรที่ทำให้ท่านเดือดร้อน อะไรที่ทำให้ท่านเจ็บช้ำ.. ไม่ได้เจ็บช้ำหรอก มันเป็นภูมิแพ้ จะไม่ทำเลย แล้วอย่างสิ่งต่างๆ อันนี้อย่างหนึ่ง นี่จิตใจที่หยาบนะ พอจิตใจที่ดีขึ้นมาก็จะปูให้ดีเลย จะปูให้ถูกต้องเลย

แต่ท่านก็ต้องการพัฒนาให้ใจนั้นดีขึ้นไปอีก เห็นไหม นั่นก็ผิด นี่ก็ผิด ผิดอยู่นั่นนะๆ ผิดจนใจมันภาวนาได้ พอมันทำได้ “เออ ถูกไง” เริ่มถูกเพราะใจมันถูกแล้ว ที่นอนปูอย่างไรก็ได้ ครูบาอาจารย์ท่านไม่ติดหรอก เพราะใครปูท่านก็นอนได้ ใครทำความสะอาดท่านก็นอนได้ แต่ท่านต้องการเอาสิ่งนี้มาอบรมลูกศิษย์ให้หัวใจมันได้มีการกระทำ มันมีการไหลเวียน มันได้มีการพัฒนา

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ ในความเป็นอยู่ของเรา สิ่งที่มันเป็นอยู่ของเรา ถ้าทำคุณงามความดี ถ้าเป็นความดีของเราล่ะ ทำดีเพื่อเรา เพราะเราทำของเราเอง ถ้ามันดีขึ้นมา ดีเพื่อใคร ไม่มีใครทำให้ใครดีไปได้ เราต้องทำของเราเอง

ทีนี้ถ้าทำเองเห็นไหม เราเป็นสงฆ์ นี่ธรรมวินัยบังคับเราแล้ว เราต้องย้อนกลับมาดูที่ใจเรา เราต้องมีธรรมของเรา ใช่ ของเล็กน้อยมากใครก็ทำได้ แต่เขาทำ เราไม่ได้ทำ

ถ้าเราทำภาระหน้าที่ของหมู่คณะมันจะเบาลง คนที่มีความรับชอบเขาไม่ต้องมาดูแลอย่างนี้ เขาไปดูแลสิ่งที่ดีกว่านี้ได้ สิ่งที่ต้องรับผิดชอบมันมีเยอะแยะไปหมด ไอ้เราแค่อยู่แค่อาศัย เราไม่ต้องทำตัวเราให้เป็นภาระกับคนอื่นนี่สุดยอดแล้ว นี่ครูบาอาจารย์ไม่ต้องการอะไรเลย ต้องการแค่ ๑. เราไม่ต้องเป็นภาระของใคร ๒. เราต้องพัฒนาตัวของเรา ทำใจของเรา เพราะเรามาบวชเป็นสงฆ์ สังฆะ

ศาสนทายาทจะเกิดขึ้นมาจากใคร ศาสนทายาทก็เกิดขึ้นมาจากการกระทำของเรานี่แหละ เราเข้มแข็งของเรา เราทำของเราขึ้นมา เราจะเป็นคนดีของเราขึ้นมา ถ้าเป็นคนดีขึ้นมา นี่สังฆะ! สงฆ์เห็นไหม สงฆ์มันจะเกิด สงฆ์ควรจะเกิดที่ไหน สมมุติสงฆ์เห็นไหม บวชมาเป็นพระ พระโดยสมมุติ แล้วสังฆะมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ถ้ามันไม่มีการกระทำของจิต มรรคญาณไม่เกิดเห็นไหม

เวลาพระอัญญาโกณทัญญะฟังธรรมมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับไปเป็นธรรมดา” ก่อนหน้านั้นปัญจวัคคีย์ปฏิบัติมาตลอด อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตลอด ทำความสงบของใจมาตลอด ทรมานจิตมาตลอด แต่มันไม่มีปัญญาญาณที่จะเข้ามาพิจารณาการเกิดและการดับของจิต การเกิดและการดับของจิตมันมีใครเกิด ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงแสดงธรรมจักรล่ะ แสดงธรรมจักรนั้นมันเป็นปัญญา

เวลาประพฤติปฏิบัติ มรรค ๘ เห็นไหม จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิฯ ถ้ามรรครวมตัวมันจะเกิดญาณ เกิดทัศนะ เกิดวิชชา เกิดความเห็น พอมันฟัง เพราะฟัง เพราะจิตมันพร้อม พอจิตมันพร้อม จิตมันมีการกระทำขึ้นมามันเห็นตามความเป็นจริง

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา” สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นคือความคิดไง ความคิดที่มารมันใช้ ขันธ์ที่มารมันใช้ มันเกิด พอมันเกิดมันมีตัณหาความทะยานอยากมันก็พอใจ มันก็คิดต่อไปใช่ไหม

แต่ถ้าเป็นธรรมมันเข้าไปชำระล้าง มันเกิดแล้วมันก็ดับ เพราะอะไร เพราะมันไม่มีตัณหาความทะยานอยากกระตุ้น พอมันเกิดมันดับแล้วเหลืออะไรล่ะ อันนี้มันก็เกิดมันดับ สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดามันก็ดับเป็นธรรมดา.. มันก็อากาศไง มันก็ฝนตกแดดออกไง ฝนตกแดดออกมันก็เกิด มันก็ดับเหมือนกัน นี่ไงมันเป็นความเห็นอันนั้น

แต่ถ้าเป็นจริงขึ้นมา ถ้าใจมันเห็นขึ้นมานะ พอสังฆะเกิด เกิดเพราะอะไร เกิดเพราะจิตมันหมุนเข้ามา จากมรรคมันหมุนเข้ามา หมุนเข้ามา จนถึงที่สุดเห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปล่งอุทานเลย “อัญญาโกณทัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณทัญญะรู้แล้วหนอ”

แล้วพระมหานาม พระอัสสะชิ ก็นั่งฟังอยู่นั่น ทำไมไม่บอกว่าอัสสะชิรู้แล้วหนอล่ะ ก็ฟังด้วยกัน พระอัสสะชิยังไม่รู้ อัญญาโกณทัญญะรู้คนเดียว ปัญจวัคคีย์ ๕ คนรู้อยู่คนเดียว แต่อีก ๔ คนไม่รู้

นี่ปัญญามันไม่เท่ากัน ความเห็นมันไม่เท่ากัน มันไม่เหมือนกัน นี่สังฆะมันเกิดเห็นไหม สงฆ์เกิดในหัวใจ สังฆะเกิดจากใจ ถ้าใจเป็นสังฆะขึ้นมา เราบวชมานี้อุปัชฌาย์ต้องญัตติเข้ามา สงฆ์ยกเข้าหมู่เข้ามา อันนั้นบวชโดยจตุตถกรรม โดยวินัยกรรม โดยสงฆ์ แต่เวลาจิตวิปัสสนาเข้ามาโดยธรรม โดยมรรคญาณ มันเข้าไปทำลายจิตใจเข้าไป มันเข้าไปมันทำลายขึ้นมาเห็นไหม นี่บวชใจ

ถ้าใจมันบวช นี่งานจากข้างนอกนะ มันเป็นธรรมอย่างหนึ่ง เราจะมีงานข้างในกันอีก เราไม่ใช่ว่าเราทำเห็นไหม บวชมาแล้วบิณฑบาตมาฉัน ฉันแล้วก็อยู่ไปวันๆ หนึ่ง มันไม่ใช่นะ บวชมาฉัน บวชนี่มันเป็นการแสดงออก เป็นเรื่องของสงฆ์ เรื่องของหมู่คณะ เรื่องของหัวใจให้หัวใจมันหมุนเวียน

นี่การกระทำอิริยาบถ ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน เราหมุนของมันเพื่อให้ใจมันหมุนเวียน ให้มีการกระทำ ร่างกายเลือดหมุนเวียนทุกอย่าง ประสาท ลมหายใจต่างๆ มันทำให้คล่องตัว มันก็อยู่สุขสบาย การประพฤติปฏิบัติมันก็ต้องมีอิริยาบถ ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน การเคลื่อนไหว จังหวะเวลาเคลื่อนไหวออกไป แล้วกลับมาเรานั่งสมาธิภาวนาของเรา เข้าทางจงกรมของเรา

นี่เหมือนกับทางการแพทย์นะ การออกกำลังกายก็คือการทำงานอย่างหนึ่ง แต่การออกกำลังกายมันให้ผลกับความแข็งแรงของร่างกาย การทำงานให้เสื่อมค่ากับร่างกาย การออกกำลังกายกับการทำงาน ผลของร่างกายแตกต่างกัน

นี่ก็เหมือนกัน การเดินเคลื่อนไหวเป็นปกติ มันเคลื่อนไหวเราก็ตั้งพร้อมไว้ แต่เวลาเราเข้าทางจงกรม นั่นนะเช้าขึ้นมาก็ออกกำลังกายกัน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง แต่เวลาทำงานนะ มันผลาญแต่พลังงานไปหมด

เวลาเราทำงานของเรา ออกมาเคลื่อนไหว แล้วเราเข้าไปทางจงกรมนั่งสมาธิภาวนา อันนั้นมันจะมีผลกับจิตใจของเรา เพราะมีสติสัมปชัญญะ มีการกระทำของเรา เราต้องพยายามสร้างของเรา เราต้องทำของเรา นี่เป็นงานส่วนบุคคลแล้ว งานส่วนตน งานส่วนเราจะบวชใจ งานของใจ ใจต้องมีการกระทำ ใจมันจะบวชตัวมันเองด้วยศีล สมาธิ ปัญญา

งานจากข้างนอกเป็นงานของสงฆ์ งานของส่วนรวม สังฆะของสงฆ์ สังฆะจากข้างนอกคือสงฆ์รวมกันตั้งแต่ ๔ องค์ขึ้นไปเป็นสงฆ์ แต่เราเป็นวัด ๒๐-๓๐ องค์ ก็เป็นสงฆ์ขึ้นมา สงฆ์อยู่ด้วยกันมันก็ต้องดูแลกัน ต้องมีน้ำใจต่อกัน สิ่งใดกระทบกระเทือนกันก็ให้อภัยกันตั้งแต่ยังไม่ทำแล้ว เราให้อภัยเขาเลย จิตใจคนเราสูงต่ำแตกต่างกัน ความเห็นมุมมองก็แตกต่างกัน อยู่ด้วยกันรู้ถึงธาตุถึงขันธ์ ถึงความต้องการ ถึงความปรารถนาของคน นิสัยของคน

เราให้เขาไป ทุกอย่างให้เขาไป แต่คนที่ได้รับต้องคิดถึงน้ำใจ คิดถึงความเป็นอยู่ ถ้าจิตใจไม่มีการกระทบกระเทือนกัน เวลาไปนั่งสมาธิภาวนามันก็นั่งง่าย เราไม่มีอะไรสะเทือนใจเลย

นี่ทิฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน เพราะ! เพราะเป้าหมายของเราคือความสุขของใจ เป้าหมายของเราคือทำสมาธิภาวนา เพื่ออะไร นี่มันจะเข้าอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค! งานข้างนอกเป็นงานของข้างนอก เป็นงานของการเคลื่อนไหว เป็นงานของการให้เห็นนิสัยใจคอกัน งานของข้างใน ถ้าจิตมันสงบมันสงบอย่างไร ถ้างานของข้างในไม่มี ศาสนานี้มีคุณค่าที่ไหน

ศาสนานี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดที่โคนต้นโพธิ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาจากกำหนดอานาปานสติ แล้วกำหนดวิชชา ๓ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาจากใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้เกิดขึ้นมาจากลูกศิษย์ลูกหายกย่องให้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีสิทธิ์!

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาด้วยการนั่งภาวนาอยู่โคนต้นโพธิ์นั้นด้วยใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราเป็นสาวก สาวกะ ที่มีบุญญานะ มีบุญจริงๆ เราชาวพุทธนี้มีบุญมาก ศาสนามันไม่ใช่หาได้ง่ายๆ สิ่งที่เขาได้กันมาศาสนาทั้งๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางศาสนาไว้แล้ว สาวก สาวกะ มันยังดัดแปลง เปลี่ยนแปลงแก้ไขของมันไปเรื่อย ศาสนามันมีอยู่แล้วมันก็จะเปลี่ยนแปลงไปให้ผิด

แล้วนี่ปัจจุบันเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา มีครูบาอาจารย์ที่ทดสอบแล้ว ชีวิตคนกี่ชีวิตคน ๒,๕๐๐ ปี นี้มันตกทอดมากี่ชั่วอายุคน แล้วภพในปัจจุบันครูบาอาจารย์ของเรา ท่านมีบุญญาธิการของท่าน ท่านถึงศึกษาของท่าน แล้วทำของท่านได้ เราเอาใจของเรา เอาความเห็นของเราเปรียบเทียบสิ เทียบเข้าไปเลย

เวลาทดสอบคนภาวนา เอาความเห็นของเรา สมาธิของเรา ถามท่านเลยว่า “จิตเป็นอย่างนี้ๆ” ท่านตอบมา ถ้าถูกคนหนึ่งอีกคนหนึ่งต้องผิด อริยสัจมีหนึ่งเดียว ความเห็นจริงมีอันเดียว ไม่มี ๒ หรอก มีหนึ่งเดียวเท่านั้น! ถ้ามีหนึ่งเดียวเท่านั้นมันตรวจสอบกันได้ชัดๆ เลย แล้วเราปฏิบัติเอาความเห็นความรู้ ถ้าเราตรวจสอบไปแล้ว เราเอาคุณธรรมของเรา ความเห็นของเรา ประสบการณ์ของเราทั้งหมดถามท่าน

ถ้าท่านบอกว่า ถ้าทำมาอย่างนั้น แล้วควรต่อเติม ควรต่อยอดขึ้นไปอย่างไร จิตเราจะได้พัฒนาขึ้นไป นี่เรามีครูบาอาจารย์ไว้คอยชี้แนะ มันเป็นโอกาสเป็นวาสนานะ มีโอกาสมากๆ จริงๆ

เราเคยไปอยู่บ้านตาด เราเคยไปปฏิบัติตามสำนักต่างๆ ถ้าไปนะ ปีนี้ดี ปีหน้าพระมากขึ้น หรือว่ามีอุปสรรคต่างๆ นาๆ มันจะอ่อนแอไปเรื่อยๆ ไง ความเข้มข้นมันจะน้อยลงไปเรื่อยๆ

นี่ก็เหมือนกัน ในปัจจุบันนี้มันเป็นอย่างนี้ แล้วความเข้มข้นที่จะเป็นปัจจุบันนี้มันจะอยู่ได้ต่อไปไหม ถ้าอนาคตมันจะเป็นอย่างนั้นมันจะมีการเปลี่ยนแปลงไหม แล้วเราจะเสียดายโอกาสอย่างนี้ไหม ถ้าใครมีโอกาสเราต้องรีบขวนขวายของเรา มีโอกาสเห็นไหม ดูสิ ฉันข้าวเสร็จแล้ว ทำข้อวัตรเสร็จเรากลับกุฏิแล้ว นี่สิ่งนี้เราต้องตื่นตัว ปลุกเร้าเราให้ตื่นตัวขึ้นมา

เราต้องตายในวันใดวันหนึ่ง แล้วผู้ที่บวชพอออกพรรษาแล้วทุกคนมีภาระหน้าที่ก็ต้องสึกไปเป็นธรรมดา ไอ้นี่มันเป็นเรื่องกรรมของสัตว์ ไม่มีให้ทุกคนเหมือนกันได้หมดหรอก ใครจะสึกไป ใครมีธุระจำเป็นมันต้องออกไป แล้วเวลาที่มีอยู่นี่ ตอนนี้มันยังไม่สึกไป ในปัจจุบันทุกๆ วินาทีมีคุณค่าทั้งหมด เราตั้งสติตลอดแล้วเราดูแลใจของเราไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ในธรรมตลอดเวลา “ผู้ที่มีสติวินาทีเดียว ดีกว่าคนที่พลั้งเผลอทั้งชั่วอายุ”

๑๐๐ ปี เห็นไหม ผู้ที่มีสติแม้แต่ความรู้สึกเดียว ดีกว่าคนที่เผลอสติทั้งชีวิตของเขาเลย ปัจจุบันเรามีเวลา เราตั้งของเรา เราดูแลของเรา เรารักษาของเรา คำว่ามีวาสนา วาสนามากจริงๆ เรามีโอกาสใช่ไหม

แต่ถ้าเป็นกิเลสล่ะ มันอัดอั้นตันใจนะ โอ้โฮ เข็มนาฬิกามันเดินช้ามาก วันคืนมันไปช้ามากเลย เพราะอะไร เพราะปัจจุบันเราไม่ได้มองไง เราคิดว่าเรามีเป้าหมายในอนาคตไว้ใช่ไหม แล้วเราว่าเราจะทำไปสู่เป้าหมายในอนาคตนั้น แต่ไม่ได้คิดเลยว่าพรุ่งนี้เราจะได้ตื่นขึ้นมาหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ เพราะคนนอนไปแล้วหัวใจวายไปในคืนนั้นมีเยอะมาก แล้วอายุขัยมันมาเมื่อไหร่ล่ะ

ถ้าเราตั้งสติอย่างนี้ได้ ไม่ต้องไปคิดสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น ในปัจจุบันนี้ทำให้ดีที่สุด วันนี้ดี พรุ่งนี้ก็ดี ถ้าวันนี้ดีมันต้องดีต่อไปเรื่อยๆ ไม่ต้องวิตกกังวลสิ่งใดทั้งสิ้น

นี่เข้าพรรษามาแล้ว เราต้องตั้งใจตรงนี้ สังฆะเห็นไหม สังฆะจากข้างนอกเราได้มาด้วยการญัตติมา เราได้มาจากการยกเข้าหมู่ นี่สังฆะข้างนอก ถ้าสังฆะข้างในมันมี มันจะแจ่มแจ้งกับใจเรานะ เพราะเราได้มา เราได้มาอย่างไร เราจะมองใจคนอื่นออกหมดเลย กิริยาการเคลื่อนไหว กิริยาการกระทำของเขาเห็นไหม

นี่ทางโลกเขาบอกแล้วว่า ตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ แต่เวลาการประพฤติปฏิบัติครูบาอาจารย์เราบอกเลยนะ “ใจคึกใจคะนอง มันแสดงออกมาจากกิริยา” แสดงออกมาจากของใช้ของสอยเรา ถ้าเราเก็บใช้สอยด้วยความเรียบร้อย กับเราเก็บใช้สอยด้วยความมักง่ายเห็นไหม ใจมักง่ายมันแสดงออกด้วยความมักง่าย นี่ขณะที่ปฏิบัติเห็นไหม

เวลาหลวงตาท่านปฏิบัตินะ ท่านเอาจริงเอาจังมาก แต่เวลาท่านหลุดพ้นไปแล้วนะ ท่านพูดเลย “นั้นก็บ้าอันหนึ่ง เราเคร่งครัดขนาดไหนนั้นก็บ้าอันหนึ่ง แต่! แต่บ้านั้นเป็นถนนหนทาง เป็นข้อวัตร เป็นสิ่งที่เราจะเดินไป ถ้าเราไม่มีบ้าอย่างนี้ เราจะไม่ถึงเป้าหมายได้เลย”

นั้นก็บ้าอันหนึ่ง คือรู้สิ่งใดทั้งหมด ต้องทิ้งทั้งหมด! ถ้าไม่ทิ้งทั้งหมดเรากอดไว้ เราจะไม่รู้สิ่งใดเลย เพราะสิ่งที่เรากอดไว้คือสัญญา คือความจำ สิ่งที่เป็นความจำจะพยายามจำเท่าไรมันอยู่กับเราไม่ได้

แต่ถ้าได้ทิ้งไปแล้วนะ มันเป็นสัจจะ มันเป็นความจริง มันจะระลึกได้ตลอดเวลา เวลาปฏิบัติต้องจริงจัง สิ่งที่จริงจังมันจะทำให้เราไปถึงเป้าหมายนั้น ถ้าจริงจังมันผิดมันก็ชี้ให้เป้าหมายนั้นผิดไปไกลมาก ถ้าความจริงจังนั้นมันถูกต้อง แต่โดยธรรมชาติของมันมันก็มีผิดมีถูกเป็นธรรมดา ทุกคนทำงานต้องมีความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์อยู่แล้ว ครูบาอาจารย์ท่านรู้ ท่านจะเอาเรื่องจากที่ผิดพลาดหรือเรื่องที่ไม่ธรรมดาให้เข้าสู่ความเป็นธรรมดาให้ได้ ให้เข้ามาสู่ความเป็นจริงให้ได้

เขาว่า “ธรรมดาเป็นธรรมชาติไง”

เป็นไปไม่ได้หรอก เพราะอะไร ธรรมชาติมีหยาบ มีละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ ความเป็นธรรมดา ความเป็นความจริงอันหนึ่ง แล้วมันต้องพัฒนาของมันขึ้นไป ผู้ที่เป็นโสดาบัน ผู้ที่เป็นสกิทาคามี อนาคามี มันต้องมีเหตุการณ์ มีการกระทำ

ถ้ามีการกระทำขึ้นมามันมองจิตออก เพราะอะไร เพราะเราเคยผ่านมา คนเคยฝ่าดงหนามมา ฝ่าฟันอุปสรรคมา มันต้องรู้เรื่องว่าการฝ่าอุปสรรคมามันต้องทำอย่างไร แต่นี่เราไม่เคยฝ่าอุปสรรคมาแล้วพูดเห็นไหม คนที่พูดว่าเคยฝ่าอุปสรรคมา แต่ไม่เคยฝ่าอุปสรรคอย่างหนึ่งนะ เพราะเป็นคำพูด มันไม่รู้จริง

แต่ถ้าคนรู้จริงมันต้องมีการกระทำอันนั้น ถ้าจิตมีการกระทำ นี่สงฆ์จากภายใน สงฆ์จากภายนอกอันหนึ่ง สงฆ์จากภายในอันหนึ่งนะ เราทำของเรา เราตั้งใจของเรา ชีวิตนี้มีค่ามาก ความรู้สึกมีค่ามาก ต้องตายแน่นอน ทุกคนเกิดมาต้องตายแน่นอน

แต่การตายเห็นไหม คนที่ผ่านโลกมา ผ่านอะไรมา มันพอใจแล้ว สิ่งต่างๆ พอใจแล้ว ถ้าจะตายคิดว่าตายด้วยสงบ แต่จริงๆ มันสงบจริงไหม แต่ถ้าพูดถึงถ้าเรารู้ทันมันแล้วนะ ถ้ากิเลสมันตายไปแล้ว เราฆ่ามันไปเรื่อยๆ แล้วเราจะรู้เลยว่าชีวิตเรามีคุณค่าแค่ไหน เพราะวัฏฏะมันแสนไกลมาก วัฏฏะที่จะมาเป็นเรา แล้ววัฏฏะข้างหน้ามันจะต่อไปของมันอีก

แล้วในปัจจุบันเรารักษา เราแก้ไข งานคืองาน! งานจากข้างนอก หน้าที่การแบกหาม นี่ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่ตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์ แล้วท่านเผยแพร่ธรรมมา ๔๕ ปี วางศาสนา ดูสิ ไปนี่เขาถวายวัด ถวายต่างๆ เยอะแยะไปหมด เอาไว้เป็นสมบัติสาธารณะ เป็นสมบัติศาสนา นี่เพราะท่านสิ้นกิเลสแล้วใช่ไหม อันนั้นเป็นงานไหม เวลาไปเทศนาว่าการ ไปทรมานชฎิล ๓ พี่น้อง อันนั้นเป็นงานไหม งานอะไร งานที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสิ้นกิเลสแล้วนะ

แต่งานของเราตอนนี้คือต่อสู้กับกิเลสของเรานะ มันไม่ใช่ แล้วที่เราทำกัน ไอ้พวกปัจจัยเครื่องอาศัยเห็นไหม แล้วทำทำไม เราทำเพราะอะไร เพราะมันยังไม่มีจะใช้ เวลามันมามันพอใช้ไหมล่ะ ถ้ามันพอใช้เมื่อไหร่มันก็หยุด เราทำเพื่อพอใช้เท่านั้น มันไม่ใช่พอล้นเหลือหรอก

หลวงตาท่านพูดประจำที่วัดนะ ท่านบอกเลยว่า “คน ๖๐ ล้านคน คนทั้งประเทศเรารับเขาไม่ไหวหรอก เรารับคนทั้งประเทศไม่ได้หรอก เรารับเท่าที่จะรับได้” นั่นก็เป็นความเห็นของท่านอันหนึ่ง

แต่ในปัจจุบันของเรา เราคิดว่าเราทำของเราเห็นไหม จะบอกว่างานจากข้างนอกถ้ามันไม่ดีจริงแล้วไปทำทำไม ก็ทิ้งมันไปสิ

มันต้องรักษาไว้บ้าง เพราะมันเป็นที่สาธารณะ อาวาส อาราม ที่อาศัยของคน ที่อาศัยของการประพฤติปฏิบัติ มันเหมือนสถานที่ทำงาน ถ้าเรามีสถานที่ทำงาน มีตำแหน่งหน้าที่การงาน

นี่ก็เหมือนกัน ใครอยากประพฤติปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติโดยธรรมชาติเราเข้าป่าเข้าเขาไปเลย แต่เดี๋ยวนี้เขามันก็ไม่มี ฉะนั้นเราถึงทำสถานที่ของเราไว้พอประมาณ ในความเห็นของเรานะ คำว่า “พอประมาณ” เพราะ! เพราะตอนนี้เขายังไม่เห็นภาพหรอก แต่ในอนาคตใครจะรู้ว่ามันจะพอหรือไม่พอ ถึงตอนนั้นทุกคนจะบ่นเสียใจทีหลังทั้งนั้นนะ

เราถึงต้องทำของเราไว้ก่อน แล้วถ้ามันเสียใจก็เสียใจเท่าที่มันทำไม่ได้ ที่ทำไว้แล้วก็คือได้ทำแล้ว ที่ทำไม่ได้มันเสียใจก็สุดวิสัย มันสุดวิสัย เราทำได้เท่านี้ เรามีกำลังเท่านี้ เราสู้ของเราเท่านี้ สู้เพื่อใครเห็นไหม

นี่งานจากข้างนอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔๕ ปี เผยแผ่ธรรมตลอด ครูบาอาจารย์ของเราประพฤติปฏิบัติก่อน ในวงกรรมฐานเรา เอาตัวให้รอดให้ได้ก่อนนะ ถ้าเอาตัวรอดได้แล้วเราถึงจะทำประโยชน์กับสาธารณะ เราพยายามเอาตัวเรารอดให้ได้ เพียงแต่เราเป็นสงฆ์ อย่างที่ว่าร่างกายมนุษย์ ความรับผิดชอบของตำแหน่ง ความรับผิดชอบในการบริหารจัดการ ใครบริหารเราเห็นใจนะ เห็นใจคนทำงาน

คนที่อยู่อาศัยด้วยกัน ก็ต้องช่วยเหลือเจือจาน คืออย่าให้เป็นภาระ เราขออย่างเดียวเท่านั้น ไม่ให้เป็นภาระของคนอื่นเท่านั้นเอง อย่าเป็นภาระของใคร ช่วยกันไม่ให้เป็นภาระ แล้วไม่ต้องเข้ามาทำงาน ไม่ต้อง ให้ภาวนาให้หมดเลย ภาวนาอย่างเดียว! แต่ขออย่าเป็นภาระเท่านั้น เพราะคนที่ทำงานอยู่เขาหนักแล้ว เท่านี้เอง ขอเท่านี้!

แล้วไม่ได้ขอเท่านี้นะ แล้วภาวนาเราแก้เอง เราจะปฏิบัติ เราดูแลเอง เราแก้ไข รับผิดชอบหมดทุกอย่าง เพราะ! เพราะเป็นหัวหน้า ในเมื่อว่าเป็นหัวหน้าแล้วต้องเป็นหัวหน้า! ไม่ใช่ว่าเป็นหัวหน้าแล้วเป็นอีแอบอยู่ข้างหลัง เป็นหัวหน้าก็คือหัวหน้า! รับผิดชอบทั้งความเป็นอยู่ข้างนอก รับผิดชอบทั้งการประพฤติปฏิบัติ

จิตใจเป็นอย่างไรบอกมา ถ้าแก้ไม่ได้ปลดเราออกจากหัวหน้า! แก้จิตไม่ได้ไม่ต้องนับถือ! นี่เป็นหัวหน้าเห็นไหม รับผิดชอบทั้งข้างนอก รับผิดชอบทั้งข้างใน นี่สังฆะนะ เราเป็นสงฆ์ด้วยกัน นี่พูดไว้แต่ต้น ทำเพื่อทุกๆ คน

อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ความสะอาดความบริสุทธิ์เป็นสมบัติส่วนตน ความสะอาดความบริสุทธิ์เราเป็นคนกระทำ ไม่มีใครทำความสะอาดหรือความไม่สะอาดให้เราได้ ใจของเราเท่านั้นทำความสะอาดและความไม่สะอาดในหัวใจของเรา

ทุกคนต้องดูแลรักษาใจของตัวให้ได้ หัวหน้าตอนนี้มีชื่อเสียงการันตีใครก็รับฟังทั้งนั้นนะ หัวหน้าตายไปแล้วนะไอ้ที่รักษาไว้การันตีไว้มันก็เน่าไปด้วยกัน ไม่มีใครดูแล ถ้ามันสะอาดบริสุทธิ์ใครจะการันตีหรือไม่การันตี ผู้สะอาดอันนั้นมันจะทำความดีต่อไป ถ้ามันสะอาดจริงมันจะทำความดีของมันไปเรื่อยๆ ศาสนทายาทเกิดขึ้นจากการกระทำของเรา เอวัง