จุดยืน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์พระ วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ฟังธรรม ธรรมะเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ไม่ใช่ของใคร ธรรมะเห็นไหม เขาพูดว่า ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิมแล้ว แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามารื้อค้น วิธีการรื้อค้นนั่นนะ ธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิม แต่การรื้อค้นที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านพิสูจน์ตรวจสอบมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้รื้อค้นเอง
เหมือนผักมีอยู่แล้ว แต่ชาวสวนทำสวนครัวเห็นไหม ได้ผักนั้นมา ผักนั้นมีอยู่แล้ว ทางทฤษฎีมันมีอยู่แล้ว แต่วิธีการที่ทำให้ได้ผักนั้นขึ้นมา นี้ธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิมอยู่แล้ว แต่ถ้ามีอยู่โดยดั้งเดิม ถ้าไม่มีการทำสวนผักขึ้นมา ผักมันจะเกิดขึ้นมาไม่ได้ นี่สิ่งที่มีอยู่ดั้งเดิมอยู่แล้ว มันดั้งเดิมที่ลึกซึ้งจนเราจะเข้าถึงไม่ได้ นี่ธรรมะมีอยู่ดั้งเดิมอยู่แล้วเห็นไหม นี่ฟังธรรม !
ธรรมไม่เป็นของใคร ธรรมเป็นสัจธรรมอันนั้น เวลาจิตของเราทำความสงบของใจเข้ามา พอใจสงบ ใจเป็นของใคร ความสงบ จิตที่สงบเป็นสากลเห็นไหม ไม่มีใครเป็นเจ้าของเห็นไหม แต่ไม่มีใครเป็นเจ้าของแล้วใครเป็นเจ้าของล่ะ มีสติเป็นของใคร จิตนั้นเป็นของใคร นี่ไงสิ่งที่มันเป็นสากล คือมันเป็นสัจธรรม มันเป็นความจริงอันหนึ่ง นี่ฟังธรรมเห็นไหม
ไม่ใช่ว่าฟังธรรมนี้ เราจะต้องฟังธรรม แล้วก็ครูบาอาจารย์น่ะท่านก็เทศนาว่าการ ท่านก็ด่าเอา ด่าเอา ไม่ใช่นะ ! ไม่ใช่ ! เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านเทศน์ ท่านบอกเลยนะ พอท่านเทศน์ให้หมู่คณะนะ ทั้งหมดฟังธรรม ฟังธรรม แล้วทั้งผมด้วย ทั้งผมด้วยคือผู้เทศน์ด้วยไง มันสะเทือนใจผู้เทศน์ด้วยไง ผู้เทศน์มันก็ได้สิ่งนั้น มันก็สะเทือนใจผู้เทศน์เห็นไหม มันมีค่าเท่ากันไง
เราฟังธรรม ฟังธรรมเพื่อเป็นจุดยืนเห็นไหม สัจจะความจริงมันเป็นอย่างนี้ ชีวิตมันเป็นอย่างนี้ โลกก็เป็นอย่างนี้ เข้าพรรษา ออกพรรษาเห็นไหม ผู้บวชใหม่เดี๋ยวนี้ ผู้บวชใหม่วันนี้ เริ่มต้นผู้บวชใหม่เห็นไหม จะนับ ๑ ตั้งแต่เข้าพรรษาไป นับ ๑ พรรษาไป ๕ พรรษา ๑๐ พรรษาไปนี่เห็นไหม
แต่ในปัจจุบันนี้เหมือนกัน นี่ไงโลกนี้เป็นอย่างนี้ ความจริงเป็นอย่างนี้ ชีวิตเป็นอย่างนี้ ถ้าชีวิตเป็นอย่างนี้เห็นไหม เราดิ้นรนไปไหนมันก็เป็นอย่างนี้ ถ้ามันเป็นอย่างนี้ สัจธรรมมันเป็นอย่างนี้
แต่ที่มันไม่เป็นอยู่นี้ ปัจจุบันนี้มันไม่เป็นสัจธรรมเพราะอะไร เพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ความลังเลสงสัยไง มันยังสงสัยอยู่ มันยังสงสัยอยู่ มันอยากทดลอง มันอยากตรวจสอบ มันอยากจะกระทำเห็นไหม มันก็ต้องมีการกระทำไปจากข้างนอก
แรงขับของใจเห็นไหม แรงขับของใจ ตัณหาความทะยานอยากภายในหัวใจ กิเลสตัณหาความทะยานอยาก นี่ฟังธรรมเพื่อจะได้สติ มีสติ มีสติยับยั้ง ถ้ามีสติยับยั้งนะ โลกเป็นอย่างนี้ ชีวิตก็เป็นอย่างนี้ เราก็ผ่านชีวิตอย่างนี้มา แล้วเราเกิดตายเกิดตายมา ไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ เราได้บวชซ้ำบวชซากมากี่รอบแล้วเห็นไหม
การบวชมาเห็นไหม บวชมาจนมีจริตนิสัยขึ้นมา มันคุ้นเคยเห็นไหม ดูซิ อย่างทางทิเบตเขา ลามะเห็นไหม ลามะที่ตายไป เวลาเขาตายไปแล้วเขาจะไปเกิดใหม่ พวกนี้เขาอธิษฐานมาเกิดใหม่ ขนาดเกิดของเขานี้ เขาไปเกิดบนภูเขาสูง ก็ภูเขาสูงสิ่งแวดล้อมมันสะอาดบริสุทธิ์ไง เวลาเกิด ที่ไหนมีเด็กเกิดใหม่เห็นไหม เขาจะตามกันไป พอตามกันไปเขาจะเอาของใช้ประจำตัวของผู้ที่ตายไปน่ะเอามาให้เด็กนั้นเลือก ถ้าเด็กที่มันไม่ใช่ มันจะเลือกแต่ของเล่นของมันไป มันจะซุกอยู่ในกองของเล่นนั้นน่ะ
นี่เขาตรวจสอบเป็นขั้นๆๆๆ เข้ามาไง ขั้นๆ เข้ามาคือเขาตรวจสอบได้ คือว่าตายแล้วเกิดตายแล้วเกิดเห็นไหม จะบอกว่า ตายแล้วเกิด ในลามะเขาว่า ตายเกิด ตายเกิด เป็นพระแล้วพระเล่า พระแล้วพระเล่า เห็นไหม เขาศึกษาซับซ้อนกันมาเป็นจริตเป็นนิสัยของเขา
นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราบวช มันเป็นอย่างนี้ เราบวชซ้ำบวชซาก เคยตายแล้วบวช เคยบวชเป็นพระมากี่รอบแล้ว แล้วในปัจจุบันเราเกิดมามันก็เป็นอย่างนี้ ถ้ามันเป็นอย่างนี้เราจะดิ้นรนไปไหน ถ้าเราดิ้นรนไปข้างนอกมันจะไม่จบ แต่ถ้าเราดิ้นรนเข้ามาในหัวใจของเรา ฟังธรรมเพื่อเตือนสติใจเรา เตือนสตินะ
ดูซิ นี่เห็นไหม ยังสงสัยอยู่ทางโลกเขาจะเป็นอย่างไร สึกขาลาเพศไปน่ะ สึกขาลาเพศไป ดูซิ ดูครูบาอาจารย์ของเราหลายองค์เลยนะ เวลาสึกไปเห็นไหม พอสึกไปมีครอบครัว พอแก่ชราภาพก็กลับมาบวชใหม่ เพราะอะไร เพราะสึกไปแล้วมันก็เท่านั้นน่ะ มันมีแต่ความทุกข์น่ะ แต่มันเป็นความสงสัยเห็นไหม แต่ถ้าเราฟังธรรมตั้งแต่เดี๋ยวนี้ จิตใจมันเตือนสติเราซะเดี๋ยวนี้
ชีวิตเป็นอย่างนี้ ถ้าชีวิตมันเป็นอย่างนี้นะ เราต้องมีขันติ มีความตั้งใจ ถ้ามีความตั้งใจแล้วต้องตรวจสอบ มีความตั้งใจแล้วตรวจสอบเห็นไหม สิ่งต่างๆ มันเกิดขึ้นมาด้วยความมักง่าย ด้วยความไม่มีสติสัมปชัญญะ ในการทำสิ่งใดมันจะไม่เป็นประโยชน์กับเรานะ เราอย่าทำตามอารมณ์ตัวเอง อารมณ์ตัวเองมันฉุนเฉียว พอฉุนเฉียวมีการกระทำบ่อยครั้งเข้ามันจะมีการเป็นจริต มันจะเป็นนิสัย จะทำบ่อยครั้งเข้าจนกระทบกระเทือนกันไปหมดเห็นไหม
แต่ถ้าเราควบคุมมันเห็นไหม สิ่งใดๆ เกิดขึ้นมา ตั้งสติ.. จริงหรือไม่จริง ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง อารมณ์เกิดขึ้นมาหนหนึ่ง มีความรู้สึกหนหนึ่ง ฉุนเฉียวหนหนึ่ง ทำตามสนองตอบอารมณ์ไปหนหนึ่ง นี่มันสะใจ แล้วเดี๋ยวมันก็เกิดตอบสนองอย่างนี้ ทำซ้ำเข้าไปมันก็สะใจมากขึ้น มากขึ้นๆ ทำจนเป็นจริตนิสัย นี่มันทำลายตัวเองเห็นไหม
แต่ถ้าเรามีจริตนิสัย เรามีสติสัมปชัญญะของเรา เรามีสตินะ เรายับยั้งมัน เห็นไหม มันจะทุกข์ มันจะยากขนาดไหนเราก็ฝืนมันเห็นไหม มันก็ไม่ยอมทำ ไม่ยอมสิ่งใด เราก็พยายามพามันฝืนทำไปอย่างนั้น ดัดแปลงมัน ถ้าเราดัดแปลงมันเห็นไหม
เพราะถ้าไม่ดัดแปลงมัน ดูซิ เพราะชีวิตประจำวันก็เป็นอย่างนี้ วันคืนล่วงไปๆ เห็นไหม บิณฑบาตมาฉันเป็นการทำภัตกิจ กิจในศาลาเห็นไหม กิจของการแจกอาหาร กิจของอะไรต่างๆ มันเป็นกิจกรรมของสงฆ์ มันเป็นกิจของสงฆ์ กิจของเรา นี่ภัตกิจ
เราทำภัตกิจนั้นมันก็เป็นวันคืนล่วงไปเห็นไหม เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาวันหนึ่งเห็นไหม เวลาฉันข้าวเสร็จแล้ว เวลาปวดถ่ายก็เข้าห้องน้ำ ก็ขับถ่าย ก็ราดน้ำ ตกเย็นก็ทำข้อวัตร ก็ทำความสะอาดก็ขัดถูมัน ขัดถูมัน เช้าขึ้นมาแล้วก็ฉันอาหารแล้วมีความปวดท้องก็ขับถ่ายมัน นี่มันเป็นอย่างนี้ เพราะข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนี้
แล้วชีวิตเราล่ะ ชีวิตเราเป็นอย่างไร สภาวะแบบนี้เห็นไหม จะไปอยู่ที่ไหน จะไปอยู่บน.. หลวงตาท่านพูดบ่อย ถ้ามันทุกข์ยากเห็นไหม เจ็บไข้ได้ป่วยไปอยู่บนโรงพยาบาล ตึกสูง ๑๐๐ ชั้น ไปอยู่ชั้นที่ ๑๐๐ ก็ไปร้องโอดโอยคร่ำครวญอยู่บนตึกนั้น มันทุกข์คนยากไง จิตใจมันทุกข์มันยากเห็นไหม นี่เหมือนกัน ถ้าดีดดิ้นขนาดไหน มันจะดีดดิ้นไปที่ไหนมันก็คือใจเรานี่ แต่เพราะมันสงสัย สงสัยที่ไหนนะ ดูสิ สภาวะแวดล้อมทุกอย่างมันเปลี่ยนไป
เมื่อก่อนนั้นนะครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ป่าเขามันเยอะมาก ออกจากถนนหนทางไปมันก็เป็นป่าทั้งนั้นน่ะ มันเป็นที่สาธารณะไม่มีใครเป็นเจ้าของ มันเป็นของประเทศชาติ มันเป็นสมบัติของชาติ ใครจะไปอยู่ที่ไหน ใครจะธุดงค์อย่างไรมันก็มีความร่มเย็นเป็นสุข เดี๋ยวนี้ไปไหนได้ล่ะ เห็นไหม มันเปลี่ยนแปลงไง สรรพสิ่งมันเปลี่ยนแปลงไป ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไป
เว้นไว้แต่กิเลสมันไม่เปลี่ยนแปลง กิเลสมันจะเอามากขึ้นๆ มันจะเอาแต่เอาตามใจตัวมันมากขึ้นๆ เราจะต้องยับยั้งมัน เห็นไหม เราจะพยายามยับยั้งตั้งสติไว้ ตั้งสติไว้ปัจจุบันเท่านั้นนะ ชีวิตมีเท่านี้ ชีวิตมีเท่านี้นะ วันคืนล่วงไปๆ ตั้งแต่เราอายุยังเด็กน้อยอยู่ เราโตขึ้นมาเห็นไหม พรรษาจะมากขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะมันเป็นประสบการณ์ของเราเห็นไหม เราจะมีจุดยืนของเรา
เราจะเห็นว่า ดูพระที่มีพรรษามากเห็นไหม ถ้ามีพระที่บวชใหม่เข้ามา การแสดงออกอย่างนั้นเห็นไหม เพราะอะไร เพราะเราเคยเป็นอย่างนี้มา เราเคยคับแค้นมา เราเคยขัดข้องใจมา มีต่างๆ มันบีบคั้นเรามา แล้วมันบีบคั้นเรามา เวลาเราตั้งสติไว้สิ่งนั้นก็ผ่านไป สิ่งนั้นมันผ่านไปแล้วเรายังอยู่ของเราได้เห็นไหม สิ่งที่มันเกิดขึ้นมาถ้าเรามีสติของเรา แล้วเราพิจารณาของเรานะ มันเป็นอย่างนี้
ในปัจจุบันนี้ ร่างกายเรา ความรู้สึกของเราเป็นอย่างนี้ ในร่างกายนี้ เราไปอยู่ที่ไหนก็ร่างกายนี้ไปอยู่ที่นั้น นี่เหมือนกัน ถ้าอยู่ที่ไหนมันมีสติสัมปชัญญะมันก็เป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นอย่างนี้นะ เราตั้งสติของเราไว้ ตั้งสติแล้วใคร่ครวญของเราไว้ บังคับมัน ถ้าบังคับจิตได้นะ บังคับได้หนหนึ่ง บังคับได้ ๒ หน ๓ หน มากขึ้นเห็นไหม เราควบคุมมันได้ดีขึ้น พอควบคุมมันได้ดีขึ้นการกระทำของเราเห็นไหม มันไม่กระทบกระเทือนนะ
สังเกตได้ไหม เวลาวันไหนที่อารมณ์เรากระทบกระเทือนกัน เรามีความกระทบกระทั่งกัน แล้วเราไปนั่งภาวนามันจะทำได้ง่ายไหม วันไหนอารมณ์ของเรามันสุนทรีมากเลย เวลาเราไปนั่งสมาธิภาวนามันจะลงของมันได้ มันจะสะดวกสบาย การกระทำของเรามันจะเรียบง่ายขึ้น มันจะทำได้ง่ายขึ้น
เราเทียบอารมณ์อย่างนั้นมา แล้วก็ดูชีวิตของเรา ถ้าเรารักษาใจของเราเห็นไหม รักษาใจของเราแล้วการกระทบกระเทือนกันกันมันจะน้อยลง แล้วถ้าเรารักษาใจของเราได้ ความกระทบกระเทือนจากภายนอก ถ้าเราไม่เอาไฟมาเผาเรามันก็เข้ามาหาเราไม่ได้หรอก ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะนะ ถ้าเราเข้าใจว่าสิ่งที่เขากระทบกระเทือนกันน่ะ เขาพูดเล่น เขาพูดเล่นด้วยความไม่เข้าใจ หรือความเข้าใจผิดของเขา มันก็ไม่กระทบกระเทือนใจเรา
แต่ถ้าเรามีความคิดว่า สิ่งนี้เขาจงใจ เขากระทำต่อเราเห็นไหม อารมณ์ความรู้สึกมันแตกต่างเลย อารมณ์ความรู้สึกถ้าเป็นการกระทบกระเทือนกันโดยที่เขาไม่เข้าใจ หรือเขาพูดเล่น หรือเขาไม่ได้พูดเพื่อจะเป็นความจริงจังกับเรา ความรู้สึกเรามันไปอีกอย่างหนึ่ง เห็นไหม
แต่ถ้าเราเข้าใจว่า เขาจงใจ เขาวางยา เขาพยายามขุดหลุมล่อให้เราตกเลยนะ มันมีความคิดอีกอย่างนะ นี้เพราะอะไร เพราะเราเอาไฟมาเผาตัวเอง แต่ถ้ามีหัวใจของเรา เรารักษาใจของเรานะ สิ่งนั้นเป็นเรื่องของภายนอก รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร
แต่ถ้าเราคุมจิตของเราได้เห็นไหม เราดูใจเราได้ เรารักษาใจของเราได้ สิ่งนั้นมันอยู่ข้างนอก รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้ของมาร มันล่อเราน่ะ มันฉุดกระชากเราน่ะ มันจะทำให้เราเสียหายไป เราจะตามมันไปไหม
ถ้าเรารักษาจิตของเราได้เห็นไหม เราไม่ตามสิ่งนั้นไป ไม่ตามสิ่งนั้นไป เราก็เป็นปกติเรา ถ้าเป็นปกติของเรา เรารักษาใจของเรานี่วุฒิภาวะในการฝึกฝน มันจะเห็นคุณค่าของสิ่งอย่างนี้มันขึ้นมาเรื่อยๆ
แต่ถ้าเราไปบวชใหม่เห็นไหม เราบวชใหม่ เราพึ่งบวชเข้ามา มันเป็นวิทยาศาสตร์ มันเป็นศักดิ์ศรี มันเป็นอะไรนี่ มันคิดอะไร มันจะต้องเสมอกัน จะต้องเป็นสิ่งที่พิสูจน์ตรวจสอบ พิสูจน์ตรวจสอบมันก็ไฟไง เอาไฟมาพิสูจน์ตรวจสอบ มันไม่ได้อะไรหรอก เราไม่ต้องพิสูจน์ตรวจสอบขนาดนั้น
เราพิสูจน์ตรวจสอบในหัวใจของเรา พิสูจน์ตรวจสอบในความทุกข์ความร้อน ในความสงบความร่มเย็นในใจของเรา ในความฟุ้งซ่าน ในความกระทบกระเทือนในใจของเรา สิ่งนี้มันเป็นปัจจัตตัง มันรู้ในใจของเราเห็นไหม หน้าตาของเราน่ะมันเรียบร้อยดี แต่ในหัวใจของเราทำไมมันเดือดร้อนล่ะ ในหัวใจเรานี่ นี่เราแก้ไขที่นี่เห็นไหม อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนนะ มันที่พึ่งที่นี่ ที่พึ่งแห่งตน
ภาชนะที่ใส่ธรรม ภาชนะที่สัมผัสธรรมได้คือหัวใจของเรา หัวใจของเราสัมผัสได้ แต่สิ่งต่างๆ สัมผัสได้ ศึกษามาขนาดไหนก็เป็นทฤษฎีเห็นไหม ธรรมะเป็นธรรมชาติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปรื้อค้นขึ้นมาแล้ววางไว้
นี่พระปัจเจกพุทธเจ้าวางอย่างนี้ไม่ได้นะ พระปัจเจกพุทธเจ้าก็รู้จริง รู้จริงเพราะตรัสรู้ด้วยตนเองเหมือนกัน รู้จริงแล้วสอนได้เหมือนกันในชีวิตนั้น แต่วางเป็นบัญญัติขึ้นมา เป็นทฤษฎี วางบัญญัติศัพท์ขึ้นมาให้เป็นทฤษฎีอย่างนี้ให้เราศึกษาเห็นไหม
พอศึกษาขึ้นมามันก็เป็นทฤษฎี ทฤษฎีมันก็เป็นความจำ พอความจำขึ้นมา นี่เทียบเคียงเข้ามา พอเทียบเคียงเข้ามามันก็เหมือนกับคำสั่งสอนเห็นไหม เราฟังพ่อฟังแม่เวลาสั่งสอนเราเห็นไหม นี่พ่อแม่เราผ่านประสบการณ์ชีวิตมาสั่งสอนเรา เราก็ไม่ค่อยเชื่อ
นี่ก็เหมือนกัน เราศึกษาทฤษฎีมา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนเป็นพ่อแม่ของเรา เป็นศาสดาของเรา แต่ใจเราเชื่อไหมล่ะ ถ้ามันเชื่อเพราะมันเลือกมุมที่เชื่อไง เลือกมุมที่พอใจ เลือกมุมที่เห็นด้วย ฮื่อ ! อย่างนี้เข้าท่า
พอเข้าท่ามันก็ร่มเย็นเห็นไหม พอร่มเย็นเราก็ว่านี้เป็นธรรม ยัง ! ยังไม่เป็นธรรม เพราะมันไม่เป็นจริงของเราขึ้นมา เพราะอะไร เพราะเหตุผลมันยังไม่เกิดขึ้นกับใจ เหตุคืออะไร เหตุคือตัวเจ้าปัญหา ตัวเจ้าปัญญาคือใจของเรามันเป็นตัวเจ้าปัญหา
แล้วมันกระทบกับสิ่งใด รูป รส กลิ่น เสียง มันกระทบกับสิ่งใด มันมีผลตอบสนองใจมันขึ้นมา แล้วถ้าใจที่ไม่มี รูป รส กลิ่น เสียง กระทบมันเลยเห็นไหม ตัวมันเองก็รู้ตัวมันเองเห็นไหม อายตนะต่างๆ ที่รับรู้ ผลตอบสนองมันต้องมีใจรับรู้นะ วิญญาณน่ะ วิญญาณในอายตนะ ถ้าไม่มีวิญญาณในอายตนะ อายตนะกระทบเฉยๆ วิญญาณไม่รับรู้ วิญญาณคือตัวจิต
ถ้าตัวจิตเห็นไหม แล้วตัวมโนวิญญาณล่ะ เห็นไหม มโนวิญญาณมันครอบจิตไว้อีกทีหนึ่ง แล้วมโนวิญญาณก็ตัวจิตรับรู้ คือจิตหยาบ ถ้าจิตละเอียดเข้าไปล่ะ ฐีติจิตมันละเอียดเข้าไปลึกซึ้งเข้าไป ถ้าลึกซึ้งเข้าไปมันเห็นนะ มันสัมผัสได้ มันเห็นได้ มันเข้าใจได้ เข้าใจว่าจิตมันหยาบละเอียดต่างๆ กันไป
เวลาเราบวชใหม่ หรือเวลาเราฟังครูบาอาจารย์ท่านพูดนะ มีหยาบ มีละเอียด มันจะหยาบละเอียดไปไหน มันก็ความคิดมันเหมือนกันน่ะ เวลาเราคิดกันอย่างนี้กันทุกคนน่ะ แต่เวลาปฏิบัติไปมันไม่เป็นอย่างนั้นนะ มันหยาบ มันละเอียดจริงๆ
ความหยาบของมันเห็นไหม ความหยาบก็คือปุถุชนน่ะ นี่กำปั้นทุบดิน แต่ถ้ามันละเอียดขึ้นมานะ อ้าว ! ความคิดอันหนึ่ง ความรู้สึกอันหนึ่ง พอความคิดมันคิดขึ้นมาแล้วมันให้ผลทุกข์กับใจเห็นไหม
ใจที่มันเกิดความทุกข์ขึ้นมารับผลมาจากไหนล่ะ แล้วเวลามันสลัดออก มันสลัดออกอย่างไรเวลามันปฏิบัติไปนะ มันเห็นเป็นขั้นเป็นตอน มัน อ๋อ...มันมีหยาบมีละเอียดจริงๆ น่ะ ความคิดหยาบๆ ก็เปลือก ถ้ามันลอกคราบเปลือกนี้ออกไปมันก็มีความคิดอยู่ ถ้าความคิดมันลอกคราบออกไปเห็นไหม มันก็ละเอียดเข้าไป แล้วลอกคราบไปล่ะ มันยิ่งละเอียดเข้าไป ละเอียดมาก ละเอียดขนาดไหน
นี่ผู้รู้คือผู้รู้ เวลาพูดกันโดยสัจจะความจริงมันซึ้งใจมากนะ แต่นี้มันแบบว่า ผู้รู้คนหนึ่ง หลวงตาท่านพูดบ่อย อยากให้หมู่คณะปฏิบัติให้มันเป็นขึ้นมา เวลาพูดขึ้นมาจะได้มีพยานว่ะ เวลาคุยกัน มันจะได้คุยกันรู้เรื่อง ไอ้นี่มันคุยอยู่คนเดียวไง ไอ้ผู้ที่ทำมามันก็คุยอยู่คนหนึ่ง ไอ้ผู้ที่จะรับรู้ ฮื่อ ! มันเป็นไปอย่างไรก็จินตนาการไปเห็นไหม
จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นมากับเรา สิ่งต่างๆ ที่พูดนี้จะเกิดขึ้นจากความมุมานะ ความตั้งใจ ความเจตนา ความจงใจของเรา อย่ามักง่าย เราจะบอกว่าชีวิตนี้มันเป็นอย่างนี้ เวลาเรากินข้าว เราฉันอาหารต่างๆ เห็นไหม มันก็ต้องเคี้ยว ต้องกลืน ต้องทั้งนั้นล่ะ มันก็เป็นอย่างนี้ คือมันต้องมีการกระทำไง
นี่ก็เหมือนกัน ชีวิตนี้มันเป็นอย่างนี้ ถ้าชีวิตเป็นอย่างนี้แล้วนี่ การกระทำของเราต้องให้มีสติ ทำอะไรทำให้มันจริงให้มันจัง อย่าทำเหลาะๆ แหละๆ อย่าทำพอสักแต่ว่าให้มันพ้นๆ ไป ยิ่งคำว่า พ้นๆ ไป ยิ่งเห็นการกระทำนะ มันจะหลบจะหลีกด้วย จะหลบจะหลีกว่าเราไม่ต้องทำคนอื่นทำแล้ว ไอ้คนอื่นทำแล้วเป็นเรื่องของเขา ไอ้เรื่องของคนอื่นทำก็เป็นเรื่องของคนอื่นทำนะ ถ้าเราทำเห็นไหม หัวใจน่ะมันได้กระทบ ดูซิ เราหยิบต้องสิ่งใดต้องใช้น้ำหนักเห็นไหม ของหนักขึ้นมาต้องยก ต้องออกแรง
นี่ก็เหมือนกัน จิตมันได้สัมผัสสิ่งใด มันกำลังใจน่ะ กำลังใจที่ได้ทำแล้ว กำลังใจที่ได้รับรู้นะ มันองอาจกล้าหาญนะ เราสิ่งใดๆ ที่ในหัวใจเราน่ะไม่มีสิ่งใดบกพร่อง เราจะเข้าสังคมไหน มันจะเข้าด้วยความองอาจกล้าหาญ แต่เราไปเข้าในสังคมไหนด้วยความไม่องอาจกล้าหาญเห็นไหม มันไม่เป็นความจริงขึ้นมา
ฉะนั้นมันจะทุกข์มันจะยาก มันต้องออกกำลังต่างๆ ให้มันเป็นไป ให้มันรับรู้ไป อย่ามักง่าย อย่าทำสักแต่ว่า ชีวิตมันเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ แต่ต้องให้มันเป็นจริงตามนี้ ถ้าเป็นตามจริงเห็นไหม เราก็เป็นพระจริงๆ เราบวชมาจริงๆ นะ เราต้องใช้สอยบริขาร ๘ เราต้องดูแลรักษาจริงๆ เพราะอะไร ปฏิสังขาโยนะ เวลาเราห่มผ้าเห็นไหม เราห่มผ้านี่ ผ้านี้ได้มาเพราะสิ่งใด ปฏิสังขาโยน่ะ ห่มเพื่ออะไร ห่มเพื่อมีสติสัมปชัญญะไง พิจารณาแล้วใช้สอยมัน
ถ้าพิจารณาแล้วใช้สอยมัน อย่าลืมตัวนะ เราใช้บ่อยครั้งๆ จนลืมตัวนะว่าของนี้มันใช้จนชินชา ถ้าชินชามันก็หน้าด้าน ถ้าหน้าด้านเห็นไหม สรรพสิ่งใช้ ปฏิสังขาโย จะอยู่จะอาศัยสิ่งนี้ได้มาอย่างไร ผู้ที่เขามีศรัทธา เขามีความเชื่อของเขา เขาสละทานของเขา เขาสละของเขานะ เขาเห็นว่าสิ่งนี้ก็เพื่อบุญกุศลของเขา
เห็นไหมเวลาเขาสร้างวัดสร้างวาขึ้นมาก็เพื่อใคร นี่ภิกษุมาจากจตุรทิศ ที่ไม่มาขอให้มา ที่มาแล้วขอให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ผู้ที่มาให้ร่มเย็นเป็นสุข เพื่อให้ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เพราะอะไร เพราะเขาสร้างเสนาสนะ สร้างวัดขึ้นมาเพื่อให้พระสงฆ์ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติให้ได้บรรลุธรรม ให้ได้เข้าถึงสัจจะตามความจริง เขาจะได้บุญกุศลไปด้วยเห็นไหม
แล้วถ้าถึงสัจจะความจริง เอาสัจจะความจริงมาสอนเขา แล้วพวกเขาถึงสัจจะความจริงได้เห็นไหม ถ้าพวกเขาเข้าถึงสัจจะความจริงได้มันร่มเย็นไง ดูซิ เราธุดงค์กันมาทั้งนั้นล่ะ วัดทั่วไปเป็นวัดร้างไม่มีพระอยู่เยอะแยะไปเห็นไหม เขาสร้างขึ้นมาแล้วเขาอยากให้พระอยู่ แล้วเขาก็ไปขอร้องให้พระมาอยู่ เขาขอร้องให้พระมาอยู่เพื่ออะไร เพื่อเขาสร้างมาแล้วให้เป็นประโยชน์เห็นไหม
นี่ก็เหมือนกัน เขาสร้าง นี่มันได้มาสิ่งใด ปัจจัย ๔ เราจะใช้สอย เราต้องปฏิสังขาโย ต้องมีสติสัมปชัญญะใช้สอยมัน แล้วพอใช้สอย ใครเป็นคนใช้สอย ใช้สอยเพื่ออะไร แล้วใช้สอยแล้วซ่อมบำรุงรักษาเห็นไหม แม้แต่ผ้าต้องปะต้องชุน เวลาผ้ามันต้องซัก ต้องพับ ต้องดูแลรักษา มันบอกถึงมารยาทของภิกษุ มารยาทของสมณสารูปนะ เราดูแลรักษาของเรา เราพับผ้าของเรา
ครูบาอาจารย์ท่านสอนหมดนะ สอนตั้งแต่ตัดผ้า เย็บผ้า ย้อมผ้า ตั้งแต่เก็บผ้า พับผ้า ถ้าพับผ้าใครเป็นคนพับ จิตทำทั้งนั้น หัวใจมันเป็นผู้ดูแลรักษาทั้งนั้น แล้วดูแลรักษามันจะย้อนกลับมาเห็นไหม มีธรรมมีวินัย มีศีลมีธรรม มันจะย้อนกลับมา เขาดูกันที่นี่ ดูกิริยามารยาทของพวกเรานี่ เราทำอย่างไร ถ้าเราทำอย่างไรอย่าไปชินชา เราทำอะไรเราต้องทำจริงทำจัง เราต้องรักษาของเรา แล้วถ้ามันจะละเอียดมาจากข้างนอก แล้วข้างในมันจะละเอียดไหมล่ะ
ถ้าข้างนอกมันหยาบนะ มันหยาบขึ้นมาเห็นไหม ดูซิ มันเป็นอาบัตินะ อย่างผ้าที่มันไม่ปะไม่ชุน ถ้ามันขาดน่ะ แล้วมันอรุณขึ้น ต้องเสีย ต้องสละต่างๆ เห็นไหม พระพุทธเจ้าบังคับไว้หมดแล้ว ความเป็นอยู่จากข้างนอกเห็นไหม ความเป็นอยู่ข้างนอก จากวัดจากวา ที่อยู่ที่อาศัย ถ้ามันสะอาดทั้งนั้น ถ้าเรามีข้อวัตรของเรา ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านไปเห็นข้อวัตรเขา ท่านรู้อยู่แล้ว แล้วเข้ามาปัจจัยบริขาร ๘ ของเรา เราก็ต้องดูแลรักษา
แล้วหมู่คณะของเราล่ะ หมู่คณะของเรา ความเป็นอยู่ในสังคม ทิฏฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน มันจะอยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ทิฏฐิเสมอกัน ดูในพรรษาเห็นไหม เวลาทิฏฐิมันไม่เสมอกันน่ะ ความเห็นมันไม่เสมอกันมันก็แยกออกไปอย่างนั้นล่ะ แล้วมันก็ขัดแย้งกันไปหมดน่ะ ทิฏฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน
แล้วถ้าทิฏฐิมาจากไหนล่ะ สัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ แล้วทิฏฐิมาจากไหน ทิฏฐิมันมาจากความเห็นของใจ ทิฏฐิเห็นไหม ทิฏฐิเกิดจากพลังงาน เกิดจากฐีติจิตทั้งนั้นน่ะ ต้องมีจิต ต้องมีใจมันถึงเกิด ความคิดความเห็น ถ้าเกิดความคิดความเห็น นี่สัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ แล้วทิฎฐิเกิดขึ้นมาอย่างนี้ เราตรวจสอบได้
ตรวจสอบในพระไตรปิฎก ตรวจสอบกับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ มันเข้ากับความรู้สึกเราไหม มันขัดแย้งกับทิฏฐิความเห็นเราไหม ถ้ามันขัดแย้งครูบาอาจารย์ท่านพูดออกมาได้อย่างไร
ถ้าครูบาอาจารย์พูดออกมา เดี๋ยวเวลาท่านเทศน์เสร็จแล้ว เราจะไปถาม หาความรู้ไง มีความเห็นอย่างไร ไม่ใช่ตีความเอาเอง กิเลสเรามีนะ นี่ทิฏฐิของเราเป็นอย่างนี้ ความเห็นของเราเป็นอย่างนี้ มันก็เก็บไว้ในใจเราของเรา มันก็เผาเราอยู่นั้นน่ะ แต่ถ้าเราถาม มีครูบาอาจารย์เห็นไหม ถ้าทิฏฐิมันแก้ได้ไง มันแก้ได้ด้วยเหตุด้วยผล เหตุผลที่ใครเหนือกว่าต้องฟังความเห็นนั้น
เหตุผลที่เหนือกว่าเห็นไหม เพื่อประโยชน์ที่สูงกว่า ประโยชน์ที่สูงกว่าคือประโยชน์สาธารณะ ถ้าประโยชน์ของเรา เราก็ใช้สอยของเราคนเดียวน่ะ ของเรามีมากมายมหาศาลเลย เราก็กินก็ไม่หมด ใช้ไม่หมด ก็พยายามตระหนี่ไว้ไม่อยากใช้มันก็เน่าเสียเห็นไหม แต่ของเราหามาได้แล้ว นั้นน่ะเราใช้ประโยชน์พอดำรงชีวิตเห็นไหม ที่อยู่นี้เป็นประโยชน์กับสาธารณะ เป็นประโยชน์กับหมู่คณะ เป็นประโยชน์กับใคร นี่เป็นประโยชน์กับสาธารณะ
ถ้าจิตใจเป็นสาธารณะขึ้นมา ทิฏฐิที่เป็นสาธารณะ ทิฏฐิที่เห็นแก่สังคมเห็นไหม เห็นแก่สังคม เห็นแก่สงฆ์ เห็นแก่สังคมนี่ มันก็เป็นประโยชน์กับเรา แต่ถ้าทิฏฐิของเราเห็นไหม นี่ทิฏฐิ นี่ความเห็น บริหารจัดการในธรรมวินัยนะ แล้วกิเลสล่ะ กิเลสมันก็อยากจะให้คนยอมรับ การที่จะให้เขายอมรับเราก็อยู่ที่การกระทำของเรานี่แหละ
ถ้าทำของเราให้มันเป็นจริง ข้อเท็จจริง คนเราน่ะมันชอบความจริง ถ้าความจริง คำพูดเรานี่ พูดแล้วต้องทำ ทำแล้วต้องพูด คำพูดมันเป็นนายเห็นไหม ถ้าพูดแล้วไม่จริงอย่าพูด ถ้าพูดไม่จริงออกไป คำพูดนั้นน่ะมันกระเทือนใจนะ
ภิกษุต้องมีศีล มีศีลแล้วพูดออกมาอย่างนี้แล้วทำไม่ได้ แล้วพูดออกมาทำไม ถ้าพูดทำไม อย่างนี้แหละมันจะผลักหมู่คณะให้ออกไปนะ จำคำนี้เอาไว้ ! ถ้าทำไม่ได้อย่าเพิ่งพูด ถ้าพูดแล้วทำไม่ได้ มันจะผลักหมู่คณะออกไปเพราะความน่าเชื่อถือมันจะไม่มีไง มันไม่มีความน่าเชื่อถือ แล้วถ้าทำยังไม่ได้อย่าเพิ่งพูด
แต่ถ้าพูดแล้ว ถ้าเราพูดคำไหน ความจริงจังของเรา สัจจะมันมีไง นี่มันเป็นบารมีธรรมอันหนึ่งนะ สัจจะ.. ถ้าเราตั้งสัจจะขึ้นมา เราจะนั่งสมาธิ เราจะภาวนา เราตั้งสัจจะแล้วเราทำไม่ได้
นี่พูดบ่อย จากหลวงปู่หล้า หลวงปู่หล้าบอกเลย ถ้าเราคิดจะทำ ตั้งสัจจะแล้วทำไม่ได้ต้องเป็นปาจิตตีย์ เพราะอะไร เพราะโกหกตัวเอง ฟังเทศน์หลวงปู่หล้า หลวงปู่หล้าท่านพูดอย่างนี้เลยนะ ฮื่อ...ถ้าพูดด้วยเหตุผล ถ้าศีลข้อนี้บังคับตัวเองเราว่าใช้ได้ แต่ศีลข้อนี้จะบังคับกับคนอื่นใช้ไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติ เราบัญญัติเอง ในศีลมันไม่มี เห็นไหม
แต่ท่านพูดคำนี้มาใช้ได้เลย ถ้าเราตั้งสัจจะแล้วเราทำไม่ได้เป็นอาบัติ เป็นอาบัติเพราะเราพูดเอง แล้วเราทำไม่ได้เป็นอาบัติปาจิตตีย์ นี่หลวงปู่หล้าเทศน์นะ มันเป็นประโยชน์ มันเป็นประโยชน์กับเรา เอามาเตือนเราได้ไง ถ้าเราพูด คำพูดสิ่งต่างๆ เห็นไหม ถ้าพูดแล้ว แล้วทำไม่ได้ถ้าทำไม่ได้นะ
แต่ถ้าเป็นอุบายเห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านบอกเป็นอุบาย อุบายบอกกล่าว ถ้าเป็นอุบายบอกกล่าว บอกคนอื่นให้ทำอย่างนั้น ถ้าบอกตรงๆ มันก็กระเทือนใจกัน บางทีพูดตรงเกินไปมันก็ถากกัน มันก็ต้องพูดแบบใช้อุบาย แต่การใช้อุบายเพื่อบอกกันนั้นอีกอย่างหนึ่ง
แต่ถ้าเราพูดเพื่อตัวเราล่ะ พูดเพื่อตัวเราหมายถึงเราทำอย่างนี้ๆ แล้วพูดๆ คนข้างเคียงมันฟังอยู่นะ คนข้างเคียงมันฟังอยู่ แล้วคนข้างเคียงจะจับสิ่งนี้ไปคิดไง ไปคิดว่า ฮื่อ...มีศีลหรือเปล่า ศีลถูกต้องไหม ฉะนั้นถ้ามีศีลหรือเปล่านี่ เวลาพูดนะ เวลาเทศน์ในวงกรรมฐานเราเห็นไหม สิ่งที่จะพิสูจน์กันก็คือเทศน์ คือเทศน์นะ
หลวงตาท่านบอกว่า เวลาเทศน์น่ะเหมือนเปิดอกเลย ใครรู้แค่ไหนก็พูดแค่นั้น แล้วคำว่ารู้แค่ไหนก็พูดแค่นั้น มันเป็นข้อเท็จจริงที่เขารับรู้แล้ว แล้วมันจริงหรือไม่จริง ตอนนี้มันพฤติกรรมเราน่ะมันบอกแล้ว นี่ไง กัณฑ์เทศน์นี่แหละ ปัญญาจะรู้ได้ ธรรมะจะรู้ได้ต่อเมื่อมีการสนทนาธรรมกัน ศีลจะรู้ได้ต่อเมื่อเราอยู่กันนานๆ เห็นไหม
สิ่งที่เราอยู่กัน ทิฏฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน จะอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ฉะนั้นเราจะต้องรักษาสิ่งนี้ แล้วประสบการณ์มันจะบอกเราเอง ใครมาก็แล้วแต่นี่เขาดูเราทั้งนั้นแหละ ทุกคนก็จะดูกันทั้งนั้นแหละ ดูกันเพราะทุกคนอยากจะนอนใจ ถ้ามันไว้ใจ นอนใจได้เห็นไหม ถ้ามันนอนใจได้มันอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ถ้ามันไว้ใจไม่ได้ เราก็ยังไม่ไว้ใจที่ไหน เพราะอะไร
เพราะดูสิ ในวินัย ขอนิสัยน่ะ ถ้าธุดงค์ไปที่ไหน ขอให้ดูกัน ๗ วัน ถ้าดูกัน ๗ วันนะถ้ายังอยู่ในนิสัยนะ ถ้าดูกัน ๗ วัน ถ้าเรานิสัยลงกันได้ก็ขอนิสัย ถ้าลงกันไม่ได้เราไม่ต้องขอนิสัย เราต้องเก็บของไปเลยเห็นไหม เขายังให้ดูกันน่ะ เพราะเขาต้องให้ดูกันก่อน ลงกันก่อน แล้วถึงให้ขอนิสัย พอขอนิสัยแล้ว ได้นิสัยแล้วเราก็ต้องดูแลเขาไป เพราะเราอาศัยกันเห็นไหม นี่อุปัชฌายวัตร อาจริยวัตร สัทธิวิหาริก เราต้องดูแลรักษากัน เพื่ออะไร เพื่อสังคม
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้เพื่อสงฆ์ วางธรรมวินัยไว้เพื่อคนหน้าด้าน ข่มขี่คนหน้าด้านที่เอารัดเอาเปรียบเขา เพื่อให้คนที่เป็นธรรมเพื่ออยู่ร่มเย็นเป็นสุข เพื่อสังคมที่เขาศรัทธาอยู่แล้ว เห็นสังคมสงฆ์ เห็นสังคมของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มีคุณธรรมเห็นไหม เขาจะเคารพศรัทธา เขาจะศรัทธาขึ้นมา คนที่เคารพศรัทธาอยู่แล้วให้ศรัทธามั่นคงขึ้นไป พระพุทธเจ้าบัญญัติธรรมวินัยเพื่อเหตุนี้
แล้วเราตอนนี้เราบวชมาในธรรมวินัยเห็นไหม เราเอาธรรมวินัยนี้เป็นศาสดา เป็นที่พึ่งที่อาศัย เป็นศาสดาของเรา เป็นที่พึ่งของเรา ที่เราจะยึดเหนี่ยวในชีวิตของเรา ถ้ายึดเหนี่ยวในชีวิตของเราเห็นไหม เราก็ต้องทดสอบเรา เปรียบเทียบเรา เอาเราเป็นที่ตั้ง เอาความจริงจังของเราเป็นที่ตั้ง อย่าทำสักแต่ว่าทำ อย่าทำเหลาะแหละ อย่าทำสักแต่ว่าพอให้มันเป็นไป พอพ้นๆ จากไป ให้มันจริงจัง ให้มันจริงจังที่นี่
ถ้าเราทำจริงจังของเรา เดี๋ยวเวลาเราไปภาวนามันจะจริงจังขึ้นมา ฝึกได้ ! คนเราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร มันอยู่ที่การฝึกหัด ดัดแปลง พยายามต่อสู้กับเรา พยายามต่อสู้กับกิเลส สิ่งใดไม่ทำเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา มันไม่อยากทำหรอก แดดร้อนก็ร้อน ทุกอย่างมันก็ร้อนไปหมดน่ะ แต่ถ้ามันร้อนขนาดไหนเราก็หาที่พอทำได้เห็นไหม มันร้อนข้างนอก
แต่ถ้าจิตพอมันลงมันจะเย็นข้างใน มันพออยู่ของมันนะ มันร้อนแต่หัวใจมันหาที่พึ่งได้ แต่ถ้าข้างนอกเขาร้อน ข้างในก็ร้อน ร้อนเพราะเราไม่มีความเพียร ไม่มีการกระทำ ไม่มีการกระทำจิตมันก็หมักหมม ความรู้สึกความคิดมันก็หมักหมมใช่ไหม มันก็เหยียบแล้วเหยียบเล่า ยิ่งไปเหยียบบ่อยๆ เข้า มันก็จมดินไปเลย
นี่กิเลสมันเหยียบหัวใจอยู่ หัวใจมันเรียกร้องความช่วยเหลือเห็นไหม ถ้าเรียกความช่วยเหลือ เอาอะไรไปช่วยเหลือมัน ก็สติปัญญาจะช่วยเหลือมัน ถ้าสติปัญญาช่วยเหลือมัน พอสติปัญญามันทำจนพ้นจากกิเลส พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนเห็นไหมหลบกิเลส หลบ.. นักหลบ หลบจนจิตมันลงได้ พอจิตมันลงได้ มันปล่อยได้หมด เห็นไหม กิเลสไปไหน ? กิเลสไปไหน ? มันร่มเย็นเป็นสุขเห็นไหม
มันเรียกร้องความช่วยเหลือจากคำบริกรรม เอาจิตเกาะคำบริกรรมไว้ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิให้มันมีความสงบได้ ถ้ามันใช้ปัญญาขึ้นมา ปัญญาที่มันเกิดจากสัมมาสมาธิ มันเกิดมรรคขึ้นมามันเป็นธรรมจักร แต่ถ้าปัญญาของโลก ปัญญาของกิเลส มันเป็นกงจักร มันเป็นกงจักรมันก็ทำลายตนเองทั้งนั้นน่ะ มันก็เหยียบย่ำตัวเองทั้งนั้นน่ะ
แต่ถ้ามันเป็นธรรมจักรเห็นไหม มันก็ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ไง เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของใจไง ถ้าเป็นความร่มเย็นเป็นสุขของใจมันเกิดจากอะไร เกิดจากความจริงจัง เกิดจากความฝึกหัดดัดแปลงไง เกิดจากความฝึกหัดจากข้างนอก ข้างนอกอะไรมันก็หนักหนาสาหัสกันไปทั้งนั้น
แต่ถ้ามีสติสัมปชัญญะมันก็หัดทำ หัดทำมันก็เป็นกิริยามารยาทเห็นไหม อะไรที่วางแล้วพลั้งเผลอก็อย่าทำ อะไรที่มันตกไม้ตกมือหนหนึ่งน่ะ หนที่ ๒ ไม่ควรมี มันตกแล้วตกเล่ามันก็ไม่ถูกใช่ไหม ความผิดพลาดของคนมันมีธรรมดา แต่ถ้ามีธรรมดาครั้งหนึ่ง มันโอ๋...อันนี้ผิดมาก วันหลังจำไว้นะ ต้องตั้งสตินะ ต้องทำอย่างนี้นะ เราต้องแก้ไขเราซิ
ความแก้ไข มันดัดแปลงเราไปเรื่อยๆ นะ อะไรที่ผิดน่ะ ครั้งแรกน่ะ ไม่สมควรจะมีครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ไปอีก ไอ้อย่างที่มันมีครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ครั้งที่ ๔ ครั้งที่ร้อย ครั้งที่พัน มันชินชาหน้าด้านน่ะ ถ้ามันชินชาหน้าด้าน นี่ไงในธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา เป็นที่พึ่งของเรา เราพยายามดัดแปลงแก้ไขของเรา แล้วเราทำของเรามันเป็นประโยชน์กับเรานะ
นี่สันทิฏฐิโก มันเป็นปัจจัตตัง มันรู้จากหัวใจเรานี่ ถ้าใจมันเย็นแล้ว ใจมันมีหลักเกณฑ์แล้ว อยู่ที่ไหนมันก็เย็น แต่ถ้าใจมันร้อนเพราะอะไร เพราะเราไม่ดัดแปลง เราไม่แก้ไขน่ะ เราไม่แก้ไข ธรรมวินัยมันอยู่ในพระไตรปิฎก ธรรมวินัยมันอยู่ในตำรา ไอ้เราก็เป็นตัวเราต่างหากอีกอันหนึ่ง ไอ้ตัวเราต่างหากนี่มันโดนครอบงำไว้ด้วยอะไร มันโดนครอบงำด้วยอวิชชา เพราะเราเกิดมาจากอวิชชานะ อวิชชาพาเรามาเกิด
แต่ถ้าธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยเป็นประเพณีวัฒนธรรม เป็นทฤษฎี เป็นธรรมะสาธารณะ เป็นธรรมะธรรมชาติที่วางไว้ให้เราศึกษา เราก็ไปศึกษามาแล้วนี่ ธรรมวินัยก็อยู่ที่นั้นน่ะ อยู่ในตู้พระไตรปิฎกไง ลั่นกุญแจเอาไว้แล้วเอาไว้กราบ กราบพระพุทธเจ้า กราบพระพุทธรูปตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบพระธรรม กราบตู้พระไตรปิฎก กราบพระสงฆ์ กราบพระอริยสงฆ์ กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็กราบกันอยู่ที่นู้น แต่หัวใจเราก็เร่าร้อน
แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธ พุทโธ เราตั้งใจทำของเราเห็นไหม พุทโธมันจะเกิดขึ้นที่ใจ เวลาใจมันพุทโธเข้ามา โอ้โฮ... มันเย็น มันสงบ มันว่าง เดินไปเหมือนตัวลอยไปเลยนะ เวลาเดินเหมือนไม่ได้เดิน ลอยไปเองเลย เพราะใจมันเบา ก็มนุษย์นี่แหละ
แต่เวลามันหนักขึ้นมา เดินขึ้นมานี่มันจะลากถนนพังไปเลยนะ ตีนมันจะเหยียบจมถนนลงไปนู้นนะ เพราะมันหนักตัวเองเห็นไหม แต่เวลาพุทโธ พุทโธ มันเบาขึ้นมา มันเหมือนลอยไป มันเป็นไปได้ของมันนะ นี่ไงนี่มันที่ไหนล่ะ มันอยู่ในตู้พระไตรปิฎกไหมล่ะ มันอยู่ในหัวใจเรา มันอยู่ในหัวใจคนที่เป็น ในหัวใจที่เบาน่ะ มันรู้สึกนะ
เวลามันทุกข์มันยากขึ้นมา มันกดถ่วงใจจนหนักนะ เดินไปขามันจะลาก เหมือนจะนอนให้เขาลากไปเลยนะ ซากศพเดินได้เลย เวลามันหนักหน่วงถ่วงใจนี่ เวลากิเลสมันหนักหน่วงถ่วงใจมันทำได้ทุกข์ยากขนาดนั้นน่ะ แล้วพุทโธ พุทโธ พุทโธ ตั้งสติไว้ จะฝึกหัดมาจากภายนอกนี่แหละ ฝึกหัดมาจากเราเป็นพระ สมมุติสงฆ์ ฝึกหัดมาจากธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้ แล้วเราฝึกหัดของเรา ทำขึ้นไป
จากความประณีต จากข้างนอกเห็นไหม จากความจงใจ จากความตั้งใจ ทำมันไปบ่อยๆ ครั้งเข้ามันจะเป็นนิสัย ทำมันไป ดูซิ เราฉันน้ำร้อนกันเห็นไหม เราออกทำข้อวัตรกันน่ะ ทำทุกวันๆ เห็นไหม ทำไปเรื่อยๆ ถึงเวลาทำ ถ้าไม่มีสติเหมือนหุ่นยนต์เลยนะ หุ่นยนต์เขาตั้งโปรแกรมไว้มันทำอย่างนี้ นี่เราเป็นพระนะ ไม่ใช่หุ่นยนต์
แต่มันก็ต้องมีกติกา เพราะเราเป็นพระแล้วเราอยู่กันหลายองค์ใช่ไหม เราก็ต้องมีกติกาว่าถึงเวลาแล้วทำอย่างนั้น ทำพร้อมกัน พร้อมกัน เพราะมันจะได้ไม่กระเทือนกัน ไม่อย่างนั้นเวลาอีกคนนั่งภาวนา อีกคนทำข้อวัตร อีกคนนั่งพุทโธ พุทโธอยู่ อีกคนตีตาดเข้าไปหาพุทโธ เดี๋ยวมันก็ทะเลาะกัน ทิฏฐิไม่เสมอกัน ความเห็นไม่เสมอกัน มันทุกข์อย่างนั้นเห็นไหม มันอยู่ด้วยความขัดแย้ง เราไม่ใช่หุ่นยนต์
แต่เรามีกติกาขึ้นมาก็เพราะว่าด้วยความสมานฉันท์ในสังคมสงฆ์ ในความสมานฉันท์ความพร้อมเพรียงกัน เราก็ต้องมีสติของเรา มีสติสัมปชัญญะ ถึงมันจะทำทุกวันๆ แต่ก็มีสติ เหมือนพุทโธ พุทโธ เป็นหมื่นๆ คำ ล้านๆ คำ ตั้งแต่คำแรกจนถึงคำสุดท้าย มันก็มีสติพร้อมของมันไปตลอด มันมีสติสัมปชัญญะตลอดเห็นไหม พุทโธ พุทโธ มันถึงจะเอาใจเราไว้ได้
นี่พุทโธคำแรกนะ พอมาคำที่ ๒ ก็ลืมไปแล้ว แล้วไอ้คำที่พัน คำที่หมื่น มันยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย มันจะไม่มีด้วย แต่นึกเอาไง จดไว้ เราพุทโธ ๕๐,๐๐๐ คำ แต่มันจะพุทโธจริงน่ะคือคำแรกคำเดียวนอกนั้นน่ะก็หลับไปเลย
นี่ก็เหมือนกัน เราทำทุกวันๆ ก็แล้วแต่ เราไม่ใช่หุ่นยนต์ หุ่นยนต์เขาตั้งโปรแกรมไว้แล้วทำอย่างนั้นตลอดไป แต่เราทำข้อวัตรกติกาของเรานี่เราทำด้วยสติสัมปชัญญะ เพราะมีสติ เพราะมีความรู้สึก เพราะมีความต้องการทำคุณงามความดี เพราะต้องการ นี่ชีวิตประจำวันมันเป็นอย่างนี้ ต้องกินแล้วก็ต้องขับต้องถ่ายอยู่อย่างนี้ตลอดไป ต้องบิณฑบาตมา ถ้ายังบิณฑบาตได้อยู่ก็จะบิณฑบาตฉันอย่างนี้ตลอดไป แล้วถ้าปฏิบัติขึ้นมาถ้าใจมันเป็นขึ้นมานี่ ถึงมันจะซ้ำมันจะซากขนาดไหน ถ้ามันมีสติสัมปชัญญะมันก็เป็นใหม่ตลอดเวลา
ถ้ามันเป็นใหม่ตลอดเวลาเห็นไหม เราตั้งใจ เราเป็นคนใหม่ เราตั้งสติของเราใหม่ สติสัมปชัญญะมันจะเป็นคนใหม่ นี่คือธรรม ! เราตั้งสติขึ้นมา มันแตกต่างกับหุ่นยนต์นะ หุ่นยนต์มันทำตามที่โปรแกรมที่เขาตั้งไว้ มนุษย์สร้างขึ้นมา สร้างเป็นวัตถุ มันไม่มีหัวใจ ไม่มีชีวิต
ไอ้เราปฏิสนธิจิตตั้งแต่ในไข่ของมารดา ปฏิสนธิจิตในไข่นะ แล้วมันฟักตัวเป็นน้ำมันข้น น้ำมันใส ต้องไปเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาในครรภ์ มันเติบโตขึ้นมาน่ะ นั่นน่ะมีชีวิต ชีวิตมันเกิดมามันทุกข์มาตั้งแต่เกิดอยู่ในท้อง ๙ เดือนแล้วมันคลอดออกมา แล้วมันก็ทิฏฐิมานะของมันด้วย ทั้งๆ ที่มันมีจริตนิสัย มีอำนาจวาสนา เกิดเป็นชาวพุทธ พบพระพุทธศาสนา แล้วพุทธศาสนาสังคมมีตระกูลมีครอบครัวทั้งนั้นน่ะ ตระกูลครอบครัวก็อยากให้เราดำรงชีวิตในตระกูลในครอบครัว เรายังเสียสละออกมา
สิ่งใดที่เป็นสมบัติสาธารณะเห็นไหม สิทธิของมนุษย์ สิทธิของผู้ที่จะครองเรือนมีประโยชน์ทุกคนๆ ที่มีสิทธิครองได้ เราก็เสียสละออกมา มาประพฤติพรหมจรรย์ เราไปบวช บวชมาแล้วยังเป็นพระกรรมฐานด้วย บวชขึ้นมาเป็นพระกรรมฐานด้วยเพื่อจะมาประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ เรามีอำนาจวาสนาไหม แล้วกิเลสมันฟังเราไหม
แล้วกิเลสมันจะคิดนะ เวลามันน้อยเนื้อต่ำใจ ก็หุ่นยนต์มันก็ทำอยู่แล้วก็ตั้งโปรแกรมกันสิ เดี๋ยวนี้ถ้าจะทำข้อวัตรนะ จ้างหุ่นยนต์ไว้เลย สร้างโปรแกรมหุ่นยนต์ไว้เลย ทุกอย่างทำให้พร้อมเลย โลกนี้เป็นโลกเทคโนโลยีเลย แต่พระอยู่ในนรกไง มันทุกข์ยากไง กิเลสมันบีบขยี้หัวใจไง
แต่ถ้าเราทำข้อวัตรหุ่นยนต์เราไม่ต้องมีเลย แล้วความสะอาดนี้มันเกิดมาจากไหนล่ะ ก็เกิดมาจากเหงื่อจากไคลนี่ไง เห็นไหมถูกันอยู่นี่ ก็ถูกันอยู่ รักษากันอยู่ มันเกิดอะไร ก็เกิดจากน้ำมือพระนี่ไง น้ำมือพระ แล้วพระมันต่ำต้อยที่ไหนล่ะ พระไม่ต่ำต้อยเพราะมันเคารพธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าใช่ไหม พระพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้เป็นศาสดาของเรา แล้วเราทำบูชาใคร แล้วเราทำข้อวัตรปฏิบัตินี่บูชาใคร บูชาธรรมและวินัย ธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง แล้วบูชาใคร บูชาหัวใจ หัวใจพุทธะนี่ไง
ถ้ามันมีสติสัมปชัญญะ มันจะไม่น้อยเนื้อต่ำใจ ไม่ใช่ว่า อู้ฮู....ทำงานอย่างนี้มันงานโยธาน่ะ มันไม่ใช่บวชพระมาล้างส้วมน่ะ บวชพระน่ะ บวชพระขึ้นมาเป็นพระ บวชพระขึ้นมาจตุตถกรรม ญัตติขึ้นมาเป็นพระ แต่พระเขาก็มีข้อวัตรปฏิบัติ แล้วนี่วัจกุฎีวัตร ข้อวัตรอันนี้พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้เอง แล้วก็บวชมาตามธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า แล้วพระพุทธเจ้าบัญญัติข้อวัตรไปแล้วไม่เอา มันจะเป็นพระได้อย่างไร ไม่ใช่เป็นพระที่บวช ถ้าพระที่จะบวช ก็ตุ๊กตาน่ะ ตุ๊กตาพระเยอะแยะไป เขาปั้นตุ๊กตาพระขาย เขาเผา สวยด้วย
แต่นี้เราเป็นคนน่ะ เราบวชพระ เป็นผู้ประเสริฐ แล้วบวชขึ้นมาแล้วข้อวัตรปฏิบัติ เราบวชเข้ามาในสังคมในหมู่สงฆ์ แล้วพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ให้หมู่สงฆ์ต้องทำอย่างนี้ ถ้าหมู่สงฆ์ต้องทำอย่างนี้เราทำตามหมู่สงฆ์อย่างนั้นแล้วมันจะต่ำต้อยไปไหน มันยิ่งขาวสะอาด เราเชิดชูธรรมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเชิดชู เราทำตามนั้น เราทำตามพระพุทธเจ้า ไม่ได้ทำตามใคร ไม่ได้ทำตามสายตาโลก
ถ้าสายตาโลกเห็นไหม ดูสิ ทำบุญกันได้ทั้งวัดเลย แล้วก็เช็ดถู ขัดถูเลย ใครเข้ามานะ โอ้โฮ วัดนี้เทคโนโลยีสูงมาก โอ้โฮ พระนี้เรียบร้อยมาก โอ้โฮ จริตนิสัยเรียบดีงาม เขามองทางโลก เห็นไหม โอ้โฮ วัดนี้เจริญมากเลย เพราะหุ่นยนต์เต็มวัดเลย เพราะช่วยทำความสะอาด พระก็นั่งเป็นพิธีเฉยๆ น่ะ แต่พอมาเจอพระกรรมฐานเราน่ะ โอ้โฮ พระนี่กรรมกรเลยน่ะ หัวแดงๆ นั้นน่ะ ตีตาดกัน โอ้โฮ น่ะ ไม่มีคุณค่าเลยเห็นไหม นี่โลกเขามอง !
แต่ถ้าธรรมมองน่ะ แต่ถ้าหัวใจพระพุทธเจ้าน่ะ เราเชื่อในธรรมวินัย เราทำตามธรรมวินัยของเราน่ะ ตามธรรมตามวินัย ที่เราบวชมาในพุทธศาสนาเราเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันลงตามธรรมลงตามวินัย เราทำของเรา จะทุกข์จะยากจะเหนื่อยยากขนาดไหน แต่เราฝึกใจของเราน่ะ
หัวใจมันกระทำขึ้นมาเพื่อหัวใจผ่องแผ้วน่ะ ถ้าหัวใจมันผ่องแผ้วขึ้นมา เวลามานั่งสมาธิภาวนามันก็ดีขึ้นเห็นไหม นี่ธรรมะ เรานั่งสมาธิภาวนา เพราะเราได้ทำตามวินัยมา ได้ฝึกสติมา ได้ต่อสู้กับความขัดข้องของใจ ใจมันจะเอารัดเอาเปรียบ ใจมันจะไม่ยอมทำ ใจมันบอกมันแดดร้อน ใจมันบอกที่นู้นก็ไม่ดี ที่นี่ก็ไม่ดีเห็นไหม บังคับให้มันอยู่กับเรา
ปัจจุบันอย่างนี้ โลกเป็นอย่างนี้ ชีวิตเป็นอย่างนี้ ถ้าเราเข้าใจสภาวะแบบนี้แล้ว เราตั้งสติของเรา มันเป็นปัจจุบันนะ แล้วต่อสู้กับเรา แล้วทำชีวิตของเรา ไปอยู่ที่ไหนมันก็เกิดก็ตาย ไปอยู่ที่ไหนก็ต้องกินต้องอยู่ ไปอยู่ที่ไหนถ้าเป็นพระที่ดีก็ต้องประพฤติปฏิบัติ
ไปอยู่ที่ไหนเห็นไหม ดูซิ รอบโลกในจักรวาล อยู่ที่ไหนถ้าเป็นพระเขาอยู่ต่างประเทศกันก็พระไตรปิฎกตู้เดียวกันนี่แหละ พระไตรปิฎกตู้นี่แหละ พระไตรปิฎกที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้นี่ เหมือนกันทั้งนั้นแหละ แต่มันอยู่ที่ประเพณีวัฒนธรรม วัฒนธรรมพื้นถิ่น สิ่งต่างๆ เราจะทำได้หรือไม่ได้ เราจะมีความเข้มแข็งมากน้อยขนาดไหน เวลาเราไปอยู่ที่ต่างๆ มันจะไปเจอสภาวะแบบนั้น
แต่ในปัจจุบันประเพณีวัฒนธรรมเราอยู่ในสังคมของพระกรรมฐานเรา ในสังคมของสงฆ์เรา ในสังคมหมู่ครูบาอาจารย์เรา ท่านปกป้องดูแลรักษาเราอยู่นะ เรามีพระผู้ใหญ่ มีผู้ดูแลรักษาเราอยู่ เรามีพ่อมีแม่ เรามีที่มาที่ไป เราถึงอยู่ได้ด้วยความอบอุ่น ด้วยความสบายใจเห็นไหม แล้วถ้าเราสบายใจ แล้วถ้าเราไม่ฝึกใจเราขึ้นมา เราไม่เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา ใครจะดูแลเราตลอดชีวิตล่ะ
เราก็ต้องทำตัวเราขึ้นมา พยายามศึกษาขึ้นมาให้เป็นความจริงขึ้นมา ซื่อสัตย์กับตนเอง ทำอะไรทำขึ้นมาด้วยความจริงจัง อย่าทำด้วยความเหลาะแหละ อย่าด้วยความมักง่าย ชีวิตมันจะดีขึ้นมาเพราะการกระทำนะ การกระทำจากภายนอก ถ้าทำจากภายนอกมันก็ย้อนกลับเข้าไปให้ความร่มเย็นเป็นสุข ถ้าใจมันร่มเย็นเป็นสุขใจมันดีงามแล้ว การกระทำออกมาภายนอกมันจะเรียบง่าย มันจะดีงามมาก
ถ้าใจจากข้างนอกเห็นไหม มันทำด้วยความทุกข์ความยาก พอเข้าไปภายในใจมันก็เดือดร้อน พอใจมันเดือดร้อน มันทำออกไปข้างนอก ออกมามันก็หยาบอีก เห็นไหม มันส่งเสริมกัน ระหว่างข้อวัตรปฏิบัติเข้ามาถึงใจ ธรรมและวินัยนี้เป็นเครื่องอยู่ของจิต เป็นเครื่องอยู่ของใจที่มันฝึกหัด ฝึกหัดจนมันยืนของมันได้แล้วนี่ มันจะทำธรรมวินัยด้วยความแช่มชื่นแจ่มใส ด้วยความดีงามทั้งนั้นเลยนะ หัวใจของเรามันจะดีขึ้นมาจากนั้น นี่ฟังธรรม
เตือนสติสัมปชัญญะไว้ ว่านี่เราฟังธรรมขึ้นมาแล้วมันจะลงอุโบสถขึ้นมา อุโบสถเป็นวินัยกรรม เป็นสังฆกรรม เพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ของหมู่คณะเรา เพื่อความมั่นคงในพุทธศาสนา เพื่อความดีงามของเรา เราเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา ทำดีเพื่อเป็นความดี เพื่อให้เรามั่นคงในศาสนานี้ เอวัง